La Chute de la maison Usher (1928)
: Jean Epstein ♥♥♥♥
ในบรรดาหนังเงียบแนว Horror ที่ยังคงทรงพลังตราตรึง สร้างความหลอกหลอน สั่นสะพรึง ‘Impressionist’ ประทับจิตใจผู้ชม มากยิ่งกว่า Nosferatu (1922) คงมีเพียง The Fall of the House of Usher (1928) ดัดแปลงจากเรื่องสั้นของ Edgar Allan Poe โดยมี Luis Buñuel เป็นผู้ช่วย Jean Epstein
ช่วงต้นเครดิตตรวจสอบให้ดีๆเสียก่อนรับชมนะครับ เพราะ The Fall of the House of Usher มีฉบับหนังเงียบของ Hollywood สร้างขึ้นออกฉายปีเดียวกัน กำกับโดย James Sibley Watson และ Melville Webber สร้างความสับสนอย่างแน่นอน และมีบน Youtube ทั้งสองฉบับเลยด้วย!
ก่อนหน้านี้ผมเคยเขียนถึงหนังเงียบ Impressionist เรื่อง Jujiro (1928) ของผู้กำกับ Teinosuke Kinugasa นำเสนอความคลุ้มคลั่งในรัก จนมืดบอดทั้งกาย-ใจ ที่สุดพบเจอโศกนาฎกรรมความตาย, ว่าไป La Chute de la maison Usher สร้างขึ้นปีเดียวกัน มีความละม้ายคล้ายคลึงอย่างมาก แต่เรื่องนี้ไม่ได้หมกมุ่นในความรักประเด็นเดียว เหมารวมถึงทุกๆความรู้สึก การกระทำผิด ช่วงขณะพยายามเก็บกดดันซ่อนเร้นมันไว้ภายใน อันเป็นชนวนเหตุให้เกิดการปะทุระเบิดออก ทำลายล้างทุกสิ่งอย่างขวางหน้าย่อยยับเยิน
แต่ก่อนจะรับชมหนังเงียบเรื่องนี้ แนะนำอย่างยิ่งให้หาอ่าน The Fall of the House of Usher (1839) เรื่องสั้นของ Edgar Allan Poe (1809 – 1849) นักเขียน กวี บรรณาธิการ วิจารณ์วรรณกรรม สัญชาติอเมริกัน โด่งดังจากงานรหัสคดี เรื่องสยองขวัญ สืบสวนสอบสวน และยังร่วมพัฒนาเรื่องแนวนิยายวิทยาศาสตร์ (Science Fiction) ที่กำลังถือกำเนิดขึ้นยุคสมัยนั้นด้วย ผลงานเด่นๆ อาทิ The Oval Portrait (1842), The Pit and the Pendulum (1843), The Tell-Tale Heart (1843), The Black Cat (1843), The Premature Burial (1844), The Raven (1845), The Cask of Amontillado (1846) ฯ
ผมไปเจอ Audiobook ทำเป็นอนิเมชั่นขนาดสั้น อ่านโดย Christopher Lee สำหรับคนขี้เกียจหาอ่านแต่อยากเข้าใจเรื่องราวของ The Fall of the House of Usher แบบคร่าวๆเสียก่อน
สาเหตุที่ผมแนะนำให้ทำความเข้าใจเนื้อหาโดยย่อของ The Fall of the House of Usher เสียก่อนรับชมหนังเงียบเรื่องนี้ เพื่อว่าเบื้องต้นจะได้จับแพะชนแกะให้ถูกเสียก่อนอะไรเป็นอะไร ถึงสามารถดื่มด่ำไปกับอรรถรส ไดเรคชั่น ภาษาหนังเงียบ ที่ถือว่าค่อนข้างดูยากม๊ากกก และไม่ต้องวิตกไป ถึงโครงสร้างเรื่องราวจะคล้ายคลึง แต่เนื้อในใจความหมายแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง
ขอวิเคราะห์ถึง The Fall of the House of Usher ฉบับเรื่องสั้นของ Edgar Allan Poe ก่อนแล้วกัน ประกอบด้วยสี่อรรถบท ความบ้าคลั่ง (Madness), ครอบครัว (Family), ความโดดเดี่ยว (Isolation) และสารัตถะของการมีตัวตน (Metaphysical Identity)
Poe ได้แรงบันดาลใจเรื่องสั้นนี้จาก Hezekiah Usher House บ้านของครอบครัว Usher ตั้งอยู่แถวๆ Boston, Massachusetts ก่อสร้างขึ้นเมื่อปี 1684 ถูกรื้อถอนทำลายปี 1830 และมีการค้นพบร่างชายหญิง (คาดว่าเป็นคู่รัก) เสียชีวิตอยู่ห้องใต้ดิน
เรื่องราว ณ คฤหาสถ์ตระกูล Usher ที่อยู่อาศัยของสองพี่น้อง Roderick Usher และ Madeline Usher ทั้งคู่ต่างไม่ยอมออกจากบ้าน แต่งงาน และมีทายาทสืบสกุล หมกตัวอยู่ภายในจนสภาพบ้านเต็มไปด้วยรอยร้าวแตกหักผุพัง, วันหนึ่ง Roderick เขียนจดหมายถึงเพื่อนสนิทวัยเด็ก (เรียกตัวเองว่า Narrator, ผู้บรรยาย) รีบเร่งเดินทางมาเยี่ยมเยียน พบเห็นสภาพคฤหาสถ์ทรุดโทรมลงจนแทบจดจำไม่ได้ พอดิบพอดีกับวันนั้น Madeline พลันด่วนเสียชีวิต ทั้งสองตัดสินใจเก็บร่างไว้ยังสุสานใต้ดิน แต่เหมือนว่าหญิงสาวยังไม่เสียชีวิต! ดิ้นรนทุกข์ทรมานอยู่ในโลงหลายวันจนกลายเป็นวิญญาณเคียดแค้น หวนกลับมาทำลายล้างธรณีสูบบ้านตระกูล Usher ทำเอาผู้บรรยายหนีตายรอดพ้นออกมาเพียงคนเดียว
เราสามารถวิเคราะห์เรื่องราวดังกล่าว คือสิ่งเกิดขึ้นภายในจิตใจมนุษย์
– คฤหาสถ์ตระกูล Usher เปรียบเสมือนร่างกาย สภาพอ่อนแอ ปรักหักพัง สืบเนื่องจากการไม่ทำนุบำรุงดูแลรักษา
– Roderick Usher คือตัวแทนของความหมกมุ่น คลุ้มคลั่ง รู้สึกผิดต่อการกระทำบางอย่างของตนเอง (ในเรื่องสั้นเล่าว่า Roderick ร่วมรักหลับนอน Incest กับพี่สาว Madeline)
– Madeline Usher ตัวแทนของด้านมืด/ความชั่วร้าย บางสิ่งอย่างที่ต้องการหลบซ่อน ปกปิดบังไว้ไม่ให้ได้รับการเปิดเผยออกมา ด้วยเหตุนี้ Roderick จึงอยากให้เธอเสียชีวิต ใส่โลงฝังเก็บไว้ในส่วนลึก (ใต้จิตสำนึก) แต่หญิงสาวกลับยังไม่ยอมตาย เมื่อถึงจุดๆหนึ่งจึงระเบิดความคลุ้มคลั่ง เกรี้ยวกราด ทำลายล้างออกมา
ผมจะลองอธิบายให้เข้าใจง่ายขึ้นแบบนี้แล้วกัน, Roderick ในอดีตได้กระทำบางสิ่งอย่างอันชั่วช้าเลวทราม เป็นเหตุให้มีความรู้สึกผิดอย่างรุนแรงหนักหน่วง ต้องการเก็บกดความทรงจำดังกล่าวไว้เบื้องลึกภายในจิตใจ แต่ก็มิอาจกระทำได้ เพราะมันได้กลายเป็นระเบิดเวลาที่พร้อมรอการปะทุออก เมื่อความอึดอัดอั้นสะสมแน่นถึงขีดสุด มันจึงทำลายทุกสิ่งอย่างขวางหน้า นั่นคือร่างกายและจิตใจของเขาเอง
Jean Epstein (1897 – 1953) นักสร้างภาพยนตร์สัญชาติ French-Polish ในยุค French Impressionist เกิดที่ Warsaw, Kingdom of Poland ครอบครัวเชื้อสายยิว โตขึ้นย้ายมาฝรั่งเศสเป็นนักเรียนแพทย์ University of Lyon จับพลัดจับพลูทำงานเป็นเลขานุการ/แปลภาษาให้ Lumière brothers ผู้สร้างภาพยนตร์ ‘Cinematograph’ ต่อมาเลยผันตัวกำกับหนังเรื่องแรก Pasteur (1922), รู้จักกับ Luis Buñuel ร่วมงานกันสองครั้ง Mauprat (1926) และ La Chute de la maison Usher (1928)
ส่วนที่แตกต่างระหว่างภาพยนตร์กับเรื่องสั้น
– เพื่อไม่ให้ถูกข้อครหารุนแรงในประเด็นศีลธรรม เปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ระหว่าง Roderick กับ Madeline จากน้อง-พี่ กลายมาเป็นสามี-ภรรยา
– ความตายของ Madeline มีสาเหตุอันพิลึกพิลั่นกว่า เกิดจากความลุ่มหลงใหลในการวาดรูปของ Roderick ที่ราวกับสูบวิญญาณของภรรยาไป
– สถานที่เก็บศพ Madeline ไม่ได้อยู่ภายใต้คฤหาสถ์ แต่คือสุสานแห่งหนึ่งที่ต้องเดินทาง/ล่องเรือ ห่างไกลพอสมควร
– ตอนจบแม้บ้านตระกูล Usher ถูกเผาพังทลายย่อยยับเหมือนเรื่องสั้น แต่ Madeline ไม่ได้มาทวงคืนวิญญาณ ฆ่าล้างแค้น Roderick พวกเขาได้ครองรักกันตราบจนวันตาย (มั้งนะ!)
นำแสดงโดย Jean Debucourt (1894 – 1958) โด่งดังพอสมควรในยุคหนังเงียบ แต่การมาถึงของยุคหนังพูด มักได้รับบทเพียงตัวประกอบสมทบ เลยหันไปทุ่มเวลาให้การแสดง/กำกับละครเวทีมากกว่า, รับบท Roderick Usher ชายผู้สะสมความคลุ้มคลั่ง เก็บกดดันไว้ภายใน(พบเห็นกำหมัดแน่น) แต่โรคร้ายที่ภรรยาป่วย เทียบไม่ได้กับงานศิลปะที่เขาต้องการวาดให้สำเร็จ หลังจากเสร็จสิ้นถึงรับรู้ว่าเธอพลันด่วนจากไปแล้ว ค่อยๆตระหนักระลึกได้ แปรสภาพเป็นความสำนึกผิด ขอโอกาสอีกสักครั้งได้ไหมจะไม่ทำแบบนี้อีก!
Marguerite Gance (1894–1986) นักแสดงหญิงสัญชาติฝรั่งเศส หลังจากมีผลงาน Napoleon (1927) แต่งงานกับ Abel Gance มีผลงานอีกเพียงเรื่องเดียวคือ The Fall of the House of Usher (1928), รับบท Madeline Usher หน้าที่ของเธอเหมือนวัตถุประกอบฉากชิ้นหนึ่ง ยืนโยกส่ายไปมา และนั่งเป็นภาพสะท้อนในกระจก แต่ทั้งๆควรคือภาพวาดหยุดอยู่นิ่ง สังเกตดีๆจะพบเห็นการกระพริบตา ขยับเขยื้อน หาความสงบไม่ได้สักนิด!
(จริงๆผู้กำกับ Epstein เป็นพวก Perfectionist ที่ถ้านั่นคือความผิดพลาดคงไม่ปล่อยผ่านอย่างแน่นอน แต่คงจงใจเพื่อมิให้เกิดความสมจริง แฝงนัยยะคือ ‘รูปภาพวาดที่มีชีวิต’ เลยปล่อยให้เธอกระพริบตาขยับเคลื่อนไหวได้ –)
Charles Lamy (1857-1940) นักแสดงรุ่นใหญ่สัญชาติฝรั่งเศส ผลงานเด่นอื่นๆ อาทิ Mysteries of Paris (1922), My Uncle Benjamin (1924), Black and White (1931), รับบท Allan (Narrator, ผู้บรรยาย) เพื่อนสนิทคนหนึ่งเดียวของ Roderick เป็นผู้อยู่ร่วมในเหตุการณ์ ให้คำชี้แนะนำ และคือประจักษ์พยานต่อหายนะที่เกิดขึ้นกับคฤหาสถ์ Usher
ถ่ายภาพโดย Georges Lucas และ Jean Lucas (ไม่ได้เป็นญาติหรือเกี่ยวดองอะไรกับผู้กำกับ Star Wars),
ออกแบบฉาก/Art Direction โดย Pierre Kefer
ตัดต่อ …ไม่มีเครดิต แต่คิดว่าคงเป็นผู้กำกับ Jean Epstein
ห้องโถงใหญ่ในคฤหาสถ์ Usher คือสถานที่สุดหลอกหลอนของหนัง มีความรโหฐานกว้างใหญ่ มนุษย์ขนาดตัวกระเปี๊ยก เฟอร์นิเจอร์ชิ้นเล็กๆวางกระจัดกระจายตรงโน้นนี่นั้น พื้นปูด้วนหินอ่อน เต็มไปด้วยที่ว่างมากมายเสียเหลือเกิน มอบสัมผัสอันอ้างว้างโดดเดี่ยวเดียวดายให้กับตัวละคร, ว่ากันว่าฉากนี้น่าจะเป็นแรงบันดาลใจให้ Xanadu คฤหาสถ์สุดเหี้ยนอีกหลังของ Citizen Kane (1941)
กองเทียนนับสิบตั้งตระหง่านอยู่เบื้องใบหน้าของ Madeline Usher สิ่งสัญลักษณ์เพื่อบ่งบอกความสำคัญของหญิงสาว ดั่งแสงส่องสว่างแห่งชีวิต แต่ชายหนุ่มคนรักกลับมืดบอดไม่พบเห็น สนแต่จะรังสรรค์สร้างผลงานศิลปะ สนองอารมณ์ตัณหาของศิลปินเพียงอย่างเดียว
สังเกตจากปริมาณเทียน นี่มันเป็นการเสียดสีประชดประชันเลยนะ ปกติดวงสองดวงก็เพียงพอแล้ว นี่มาเป็นสิบ สว่างจร้า ร้อนแรง แต่พระเอกมันดันตาบอดดันมองไม่เห็นอีก! สัญลักษณ์เทียนไข (และเปลวไฟ) ยังจะพบเห็นได้อยู่เรื่อยๆตลอดหนังทั้งเรื่อง
นี่เป็น Sequence เจ๋งมากๆ เสมือนทำให้ผู้ชมได้ยินสรรพเสียงที่ถูกนำมาเรียงร้อยต่อกัน ในช่วงขณะที่ Roderick Usher ขณะกำลังเกิด ‘อารมณ์ศิลปิน’
– กรีดกรายนิ้วลงบนสายกีตาร์ ภาพตัดไปผืนผิวน้ำ
– กลับมาขณะดีดนิ้วอีกที ตัดไปผืนผิวน้ำ ตามด้วยภาพต้นไม้
– กลับมาขณะดีดนิ้วอีกที ตัดไปผืนผิวน้ำ ตามด้วยภาพต้นไม้ ท้องฟ้า
ไดเรคชั่นการตัดต่อลักษณะดังกล่าวนี้ สามารถเรียกว่า Montage ก็ไม่ผิดอะไร แต่ผลลัพท์ออกมาคือการสร้างสัมผัส ‘Impressionist’ ให้ผู้ชมรับรู้เข้าใจความรู้สึกของตัวละคร ระหว่างกำลังดีดกีตาร์ช่างมีความเพลิดเพลิน สุนทรียะ จินตนาการถึงผืนน้ำ ต้นไม้ ท้องฟ้า ธรรมชาติ … ด้วยเหตุนี้เขาเลยหาทางพยายามไล่แขก เพื่อวาดภาพ Masterpiece ของตนเองนี้ต่อ
กรุงปารีส ฝรั่งเศสในช่วงทศวรรษ 20s ถือเป็นเมืองหลวงของงานศิลปะ จริงๆจะไปจ้างจิตรกรจากไหนก็ได้มาวาดรูปเสมือน แต่การใช้กระจกสะท้อนภาพหญิงสาวกำลังนั่งอยู่ (พบเห็นตากระพริบ ขยับเขยื้อน) นี่สามารถเหมารวมถึงการสร้างสรรค์งานศิลปะทุกแขนง จิตรกรรม สถาปัตยกรรม หรือแม้แต่ภาพยนตร์ ศิลปินจักนำเอาจิตวิญญาณของตนเองถ่ายทอดลงไปในผลงาน เพื่อให้ที่สุดแล้วผลลัพท์ราวกับสามารถ ‘มีชีวิต’ ขึ้นมาได้
ความหมกมุ่นในการสร้างสรรค์งานศิลปะของ Roderick Usher ย่อมสะท้อนถึงตัวตนของผู้กำกับ Jean Epstein ที่คงครุ่นคิดร่วมกับ Luis Buñuel และได้แรงบันดาลใจจาก The Picture of Dorian Gray (1890) นวนิยายเชิงปรัชญาของ Oscar Wilde ที่ผู้วาดขายวิญญาณของตนเองเพื่อสร้างสรรค์ผลงาน Masterpiece เมื่อสำเร็จเสร็จสิ้นก็จักหมดลมหายใจโดยทันที
ทุกครั้งที่พู่กันตวัด ราวกับพลังชีวิตของหญิงสาวค่อยๆเลือนลางจางไป นั่นสะท้อนถึงความหมกมุ่นในการสร้างสรรค์ผลงานของ Roderick ส่งอิทธิพลต่อคนรอบข้างเคียง สูบดึงเอาความเชื่อมั่น ศรัทธา จิตวิญญาณของเธอมาใส่ในรูปภาพวาด ซึ่งเมื่อทำงานศิลปะชิ้นนั้นสำเร็จเสร็จสิ้น หญิงสาวก็หมดสิ้นคุณค่า ลมหายใจ และตายจากไป (ในความเชื่อของเขา)
พูดถึงเรื่องความหมกมุ่นในการทำงาน ผมเองก็เป็นบ่อยเหมือนกันนะ เวลาเขียนบทความต่อหนังที่ชื่นชอบคลั่งไคล้มากๆ มักทุ่มเทกายใจจิตวิญญาณให้มันอย่างเต็มเปี่ยม ซึ่งพอเสร็จสิ้นงานวันนั้นแล้วก็จะตัดหางปล่อยวัด หมดความใคร่สนใจต่อมันโดยทันที (อารมณ์เหมือนพอถึงจุดไคลน์แม็กซ์ของการมี Sex ก็จะหมดอารมณ์ความต้องการไปชั่วขณะหนึ่ง)
การซ้อนภาพ เป็นเทคนิคที่พบเห็นบ่อยในหนัง (ถ่ายทำซ้ำสองครั้งด้วยฟีล์มม้วนเดิม) ซึ่งสร้างความหลอกหลอนสั่นสะพรึงแบบคลาสสิก, อย่างช็อตนี้เป็นขณะที่ Roderick กำลังวาดภาพของ Madeline แล้วเธอโยกตัวไปมาสูญเสียการทรงตัว ราวกับว่าจิตวิญญาณกำลังค่อยๆหลุดล่องลอยออกจากร่าง
Sequence ของการนำพาโลงศพ Madeline จะทำการซ้อนภาพเทียนไข เสมือนว่ากำลังล่องลอย เพื่อนำทางจิตวิญญาณของหญิงสาวไปสู่สุสานแห่งหนึ่ง (ที่ก็ไม่รู้อยู่ตรงไหน เดินไกลเหลือเกิน)
แต่ไฮไลท์คือขากลับที่จะมีการร้อยเรียงภาพ Montage ประกอบด้วย
– Allan โอบรั้งนำพา Roderick เดินขึ้นจากสุสาน
– ขณะบาทหลวง/หมอ ตอกฝาโลงปิดตาย
– กบสองตัวกำลังขึ้นขี่ ผสมพันธุ์ (แทนด้วย Roderick กับ Madeline)
– นกฮูก (สัตว์สัญลักษณ์กลางคืน รัตติกาล ความมืดมิด ความตาย)
ฯลฯ
เหล่านี้้ไม่เพียงเพื่อสร้างอารมณ์อันวาบหวิวสั่นสะท้าน ตอกย้ำความผิดพลาด เจ็บปวดรวดร้าวทุกข์ทรมานใจ แต่ยังสื่อสัญลักษณ์แทนความหมายของ ‘ชีวิต’ นี่ฉันมองข้ามผู้หญิงคนรักที่สุดนี้ไปได้ยังไง!
การกลับมามีชีวิตอีกครั้งของ Madeline เป็นเหตุให้ภาพวาด (ในกระจก) ลุกมอดไหม้ด้วยเปลวเพลิง นั่นแปลว่า Roderick ได้เกิดความเข้าใจในความหมายของ ‘ชีวิต’ สิ่งสำคัญสุดไม่ใช่มายางานศิลปะชิ้นเอกที่ตัวเขาสร้างสรรค์มันขึ้นมา แต่คือปัจจุบันที่อยู่ตรงหน้า ข้างกายมีเพื่อนสนิทดีสุดๆ และหญิงสาวคนรักผู้ยินยอมพร้อมพลีกายให้ทุกสิ่งอย่าง
ก็ด้วยเหตุนี้มันจึงลามไปถึงคฤหาสถ์ Usher ให้ค่อยๆมอดไหม้ พลังทลาย ย่อยยับเยิน จบสิ้นกันทีต่อความหมกมุ่นยึดติด กลายเป็นอิสระเสรีไร้ซึ่งกรงขัง กฎกรอบ พันธการเหนี่ยวรั้ง จักใช้ชีวิตต่อไปในวันข้างหน้าเพื่อตอบแทนบุญคุณของคนที่รักตน
La Chute de la maison Usher ฉบับภาพยนตร์ของ Jean Epstein นำเสนอเรื่องราวความหมกมุ่นของตัวละคร เป็นชนวนเหตุให้เกิดการสูญเสียบางสิ่งอย่างสำคัญมากๆใกล้ตัว ค่อยๆตระหนักรับรู้ได้จนเกิดความสำนึกผิด และสุดท้ายโชคชะตาเข้าข้างลงเอยแบบ Happy Ending
เทียบกับต้นฉบับของ Edgar Allen Poe แม้โครงสร้างเรื่องราวจะมีความคล้ายคลึง แต่สองสิ่งใจความสำคัญที่แตกต่างออกไป
– ชนวนสาเหตุที่ทำให้ Roderick Usher กลายเป็นคนคลุ้มคลั่งแทบเสียสติแตก, ต้นฉบับเรื่องสั้นจะคือประเด็น Incest ความรักเอ่อล้นที่มีต่อพี่สาวแต่ต้องกักเก็บมันไว้ส่วนลึกภายในเพราะมิอาจพูดบอกกล่าวต่อใครได้ ส่วนหนังเงียบเกิดจากอารมณ์ศิลปิน ความหมกมุ่นในการสร้างสรรค์งานศิลปะที่มีมากล้นเกินไป จนมองข้ามไม่ใส่ใจหญิงคนรักใกล้ตัว
– จุดจบโชคชะตาตัวละคร และเหตุผลการพังทลายของคฤหาสถ์ House of Usher, ต้นฉบับคือโศกนาฎกรรมที่เกิดจากการกัดกร่อนกินทำลายตัวเองของ Roderick ส่วนหนังเงียบคือการตระหนักรู้ถึงความผิดพลาด เกิดความสำนึกผิด ได้รับโอกาสสอง จึงพังทลายวิถีความเชื่อเดิม มุ่งสู่เช้าวันใหม่อนาคตสดใส
ชัดเจนในความตั้งใจของผู้กำกับ Jean Epstein (และ Luis Buñuel) สร้างสรรค์ภาพยนตร์เรื่องนี้เพื่อให้เป็น ‘กระจก’ สะท้อนเรื่องสั้นของ Edgar Allen Poe ความหมกมุ่นที่แม้เป็นพิษภัย กัดกร่อนกินทำลายล้างจิตใจคน แต่เมื่อไหร่ใครผู้นั้นสามารถตระหนักรับรู้เข้าใจ โอบกอดยินยอมรับความผิดพลาดนั้นแล้วรู้จักแก้ไขปรับปรุงตัว นั่นย่อมสามารถทำให้มนุษย์ก้าวย่างเดินต่อไปข้างหน้า โบยบินเป็นอิสระจากพันธนาการเหนี่ยวรั้งยึดติด
Jean Epstein คือผู้กำกับหนังที่มีความเปะๆ แม่นยำสูง ครุ่นคิดวิเคราะห์ทุกสิ่งอย่างช็อตฉาก ไม่ปล่อยให้เป็นเรื่องของโอกาส ความเป็นไปได้ นี่สร้างความเหน็ดเหนื่อยหน่ายให้ Luis Buñuel เป็นอย่างมาก ถึงขนาดปฏิเสธช่วยงาน Abel Gance ขณะกำลังสร้าง Napoléon (1927) โดนตำหนิต่อว่าอย่างรุนแรง
“How can a little asshole like you dare to talk that way about a great director like Gance? You seem rather surrealist. Beware of surrealists, they are crazy people”.
นี่เป็นเหตุให้ตอนสร้างภาพยนตร์เรื่องแรก Un Chien Andalou (1929) ร่วมงานกับ Salvador Dalí ตกลงกันว่า
“Our only rule was very simple: no idea or image that might lend itself to a rational explanation of any kind would be accepted. We had to open all doors to the irrational and keep only those images that surprised us, without trying to explain why”.
เมื่อกาลเวลาเคลื่อนผ่าน ค่อนข้างชัดเจนมากๆว่า Luis Buñuel เป็นผู้กำกับสร้างภาพยนตร์ ที่ได้รับการยกย่องจดจำมากยิ่งกว่า Jean Epstein หรือแม้แต่ Abel Gance แต่ในเรื่องของไดเรคชั่น ต้องถึงว่าพวกเขาต่างคือขั้วตรงข้าม ไม่มีทางไปด้วยกันได้นานอยู่แล้ว หลังจากปีกกล้าขาแข็งก็ดำเนินเดินโบยบินไปในวิถีความเชื่อ โลกทัศนคติของตนเอง ไม่มีใครถูกผิด ดีเลิศประเสริฐศรีกว่า
สิ่งที่ทำให้ผมคลุ้มคลั่งกับ La Chute de la maison Usher คือความสลับซับซ้อนซ่อนเงื่อน! ขนาดว่าเรื่องสั้นของ Edgar Allan Poe ชวนครุ่นคิดหัวแทบแตกแล้วนะ เจอหนังเงียบฉบับนี้เข้าไปท้องไส้ปั่นป่วนเลย และที่ต้องยกย่องสุดๆคือการตัดต่อและ Special Effect สูบพลังวิญญาณแทบจะหลุดลอยออกจากร่าง
แนะนำคอหนังเงียบ, Horror, หลงใหลในภาพยนตร์แนว Impressionist, เคยอ่านเรื่องสั้น The Fall of the House of Usher หรือประทับใจในผลงานเขียนของ Edgar Allan Poe, รู้จักผู้กำกับ Jean Epstein และแฟนคลับของ Luis Buñuel ไม่ควรพลาด
จัดเรต 18+ กับความคลุ้มคลั่ง เสียสติแตก Special Effect เว่ออลังการ
Leave a Reply