The City of Lost Children (1995) : Jean-Pierre Jeunet & Marc Caro ♥♥♥
ตื่นตระการไปกับงานออกแบบภาพและเสียง Steampunk จินตนาการอนาคตที่ระบอบทุนนิยมได้กลืนกินโลกทั้งใบ ใครๆต่างหลงทาง สูญเสียความเป็นเด็ก สนเพียงกอบโกยผลประโยชน์ สนองตัณหาพึงพอใจ อนาคตคงหลงเหลือไว้เพียงความหมดสิ้นหวัง
The City of Lost Children (1995) นำเสนออาการ ‘หลงทาง’ ของมวลมนุษยชาติ ความน่าจะเป็นที่ถ้าระบอบทุนนิยมเข้ามาควบคุมครอบงำ สามารถกลืนกินโลกทั้งใบ แล้ววิถีชีวิต สภาพสังคม จิตสำนึกความเป็นคน (และความเป็นเด็ก) จะเกิดการปรับเปลี่ยนแปลง แตกต่างจากที่เป็นอยู่เฉกเช่นไร
ดูหนังจบผมก็รู้สึกว่าโลกเราทุกวันนี้มีสภาพแทบไม่แตกต่างจาก The City of Lost Children (1995) คนส่วนใหญ่กำลังหลงทางชีวิต จมปลักยึดติดอยู่ในความเพ้อฝัน สนเพียงกอบโกยผลประโยชน์ ไม่สนถูก-ผิด ดี-ชั่ว ศีลธรรม-มโนธรรม แม้ร่างกายเติบโตเป็นผู้ใหญ่ แต่จิตใจไม่ต่างจากเด็กน้อยร้องเรียกความสนใจ (ขณะที่เด็กเล็กบางคนกลับมีความเป็นผู้ใหญ่มากกว่าเสียอีก!) ต้องการโน่นนี่นั่น โหยหาความสำเร็จ ชื่อเสียงเงินทอง อำนาจชาติตระกูล ประชาธิปไตย พอหมดลมหายใจไม่มีอะไรเอาไปได้สักอย่าง
น่าเสียดายที่ภาพยนตร์เรื่องนี้มีดีแค่ ‘visual’ ภาพสวย อลังการงานสร้าง แต่เนื้อเรื่องราวกลับเอื่อยเฉื่อย ยืดยาว หาวแล้วหาวอีก ให้ความรู้สึกเหมือนดูอนิเมะตอนๆ แล้วนำมาประติดประต่อกลายเป็นหนังขนาดยาว ทำให้ขาดอารมณ์ร่วม ไร้ความต่อเนื่อง ไม่ยินดียินร้ายกับตัวละคร ใครจะเป็นยังไงก็ตามสบายใจผู้สร้าง
Jean-Pierre Jeunet (เกิดปี 1953) ผู้กำกับ สัญชาติฝรั่งเศส เกิดที่ Roanne, Loire เมื่ออายุ 17 สามารถเก็บเงินซื้อกล้อง Super8 เริ่มถ่ายทำหนังสั้น แล้วไปร่ำเรียนอนิเมชั่นยัง Cinémation Studios รู้จักสนิทสนมนักวาดการ์ตูน Marc Caro ร่วมงานสรรค์สร้างอนิเมชั่น(ขนาดสั้น) L’évasion (1978), Le manège (1980) ** คว้ารางวัล César Award: Best Animated Short Film, นอกจากนั้นยังมีโฆษณา, Music Video, และภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่องแรก Delicatessen (1991)
Marc Caro (เกิดปี 1956) นักวาดการ์ตูน อนิเมชั่น สัญชาติฝรั่งเศส เกิดที่ Nantes ซึ่งเป็นบ้านเกิดของ Jules Verne สร้างแรงบันดาลใจให้ชื่นชอบหลงใหล Sci-Fi, โตขึ้นเริ่มจากเขียนการ์ตูน ตีพิมพ์ลงนิตยสาร L’Écho des savanes และ Fluide Glacial, กระทั่งปี 1974 มีโอกาสพบเจอ Jean-Pierre Jeunet จึงก้าวเข้าสู่วงการอนิเมชั่นและภาพยนตร์
การร่วมงานของทั้งสองจะแบ่งแยกตามความถนัด Jeunet เป็นผู้กำกับ ให้คำแนะนำนักแสดง ปรับบทพูดสนทนา, ส่วน Caro เป็นนักออกแบบ Storyboard ให้คำแนะนำทีมงานจัดแสง มุมกล้อง งานสร้างพื้นหลัง, กระบวนการอื่นๆ เขียนบท ตัดต่อ pre/post production ถึงค่อยทำงานร่วมกัน
Jean-Pierre handles direction in the traditional sense of the word, that is, the direction of the actors, etc., while I do the artistic direction. Beyond that, in the day-to-day workings of the shoot of preproduction, it’s obviously much more of a mixture. We write together, film together, edit together. According to each of our specialties, sometimes we’ll be drawn to what we do best. There’s a real complicity between us.
Marc Caro
ตั้งแต่ประมาณต้นทศวรรษ 80s ที่ทั้ง Jeunet & Caro ต่างครุ่นคิดพัฒนาเรื่องราว เตรียมงานสร้าง The City of Lost Children แต่ติดปัญหาขาดแคลนงบประมาณ คาดการณ์ว่าต้องใช้ทุนสร้างมหาศาล ไม่มีสตูดิโอไหนยินยอมจ่ายเงินแพงขนาดนี้ให้ผู้กำกับไม่เคยมีผลงานภาพยนตร์ขนาดยาวมาก่อน ด้วยเหตุนี้ทั้งสองเลยร่วมกันสรรค์สร้าง Delicatessen (1991) ประสบความสำเร็จทั้งรายรับและคำวิจารณ์ เลยมีโอกาสเติมเต็มความฝันรอยคอยมาเป็นทศวรรษ
จุดเริ่มต้นของหนัง เกิดจากความต้องการนำเสนอเรื่องราวบุคคลผู้ไม่มีความฝัน ไม่สามารถนอนหลับฝัน จึงลักพาตัวเด็กๆแล้วขโมยความเพ้อฝันพวกเขา
It was the idea that we had. That someone who didn’t dream but, just the same, lived very well, yet would want to see, in dreams, a greater dimension of the imagination. For us, someone who is deprived of that is condemned to die. That’s part of what we wanted to say…If one cannot dream and imagine things, and if one is sentenced to the everyday, to reality, it’s awful.
I think of men incapable of dreaming…There have always been men to put on fantasy festivals, or to make films, to make others dream; and there are others who have never dreamed.
A lot of people lose the spirit of childhood. Every child has a lot of imagination and you lose it little by little.
Jean-Pierre Jeunet
ในทัศนะของ Jeunet ภาพยนตร์ก็คือความเพ้อฝันของผู้สร้าง ซึ่งจักทำให้ผู้ชมสามารถบังเกิดจินตนาการ (ด้วยการลักขโมยความเพ้อฝันของผู้สร้างนั้นเอง)
นักวิทยาศาสตร์สติเฟื่อง Krank (รับบทโดย Daniel Emilfork) อาศัยอยู่ยังแท่นขุดเจาะน้ำมันกลางทะเล แม้เป็นคนที่มีอัจฉริยภาพ แต่มิอาจนอนหลับฝัน จึงสรรค์สร้างโคลนทั้งหกให้เป็นคนรับใช้ ออกคำสั่งให้ลักพาตัวเด็กๆอายุต่ำกว่า 5 ขวบ เพื่อนำเข้าเครื่องขโมยความฝัน
เรื่องราวของ One (รับบทโดย Ron Perlman) ชายร่างใหญ่ นักพละกำลัง (Strongman) หลังจากน้องชาย Denree ถูกลักพาตัวโดยองค์กรศาสนา Cyclops (เพื่อขายต่อให้ Krank) พยายามติดตามหาจนได้พบเจอเด็กหญิง Miette (รับบทโดย Judith Vittet) อาศัยอยู่ยังสถานรับเลี้ยงเด็กกำพร้าของแฝดสยาม Octopus (แท้จริงเสี้ยมสอนให้เด็กๆเป็นหัวขโมย นำสิ่งของมีค่ามาจ่ายค่าเลี้ยงดู) ทั้งสองร่วมออกเดินทาง ผจญภัย พานผ่านอุปสรรคขวากหนาม พบเจอผู้คนมากมาย ท้ายที่พวกเขาจะให้ช่วยเหลือน้องชายที่สูญหายได้สำเร็จหรือไม่
Ronald Francis Perlman (เกิดปี 1950) นักแสดงสัญชาติอังกฤษ เกิดที่ Manhattan ในครอบครัวเชื้อสาย Jewish บิดาเป็นมือกลอง ช่างซ่อมโทรทัศน์ พยายามผลัดดันบุตรชายให้กลายเป็นนักแสดง โตขึ้นร่ำเรียนการละคอน University of Minnesota จบออกมาเริ่มจากแสดงละครเวที ภาพยนตร์เรื่องแรก Quest of Fire (1981), The Name of the Rose (1986), แจ้งเกิดโด่งดังจากแสดงซีรีย์ Beauty and the Beast (1987-90), Cronos (1993), แต่กว่าจะได้รับบทนำก็ The City of Lost Children (1995), Hellboy (2004) ฯ
รับบท One ชายร่างใหญ่ นักพละกำลัง (Strongman) แต่จิตใจเหมือนเด็กน้อยโหยหาใครสักคนเป็นที่พึ่งพักพิง หลังสูญเสียนายจ้างคณะละครสัตว์ ทำให้ต้องพลัดพรากจากน้องชาย Denree จึงพยายามติดตามแต่ไม่รู้ว่าจะหาหนทางไหน จนกระทั่งได้พบเจอเด็กหญิง Miette ร่วมด้วยช่วยกันออกเดินทางผจญภัย กลายเป็นอีกหนึ่งสมาชิกในครอบครัว พร้อมต่อสู้เอาชนะทุกอุปสรรคขวากหนาม
แซว: ทรงผมของ One มีกระจุกอยู่ด้านหน้า (สื่อถือภาพลักษณ์ภายนอกที่เป็นผู้ใหญ่) ส่วนด้านหลังจะราบเรียบ สกินเฮด (เหมือนเด็กน้อย บริสุทธิ์ ว่างเปล่า) เฉกเช่นเดียวกับเสื้อไหมพรมสีเขียวเอวลอย (ออกแบบโดย Jean-Paul Gaultier) มีขนาดเล็ก ไซส์เด็ก
ไม่ใช่ว่า Jeunet & Caro ต้องการนักแสดงระดับนานาชาติเพื่อหนังจะขายได้ในวงกว้าง (ถ้าจะทำอย่างนั้น ให้หนังพูดภาษาอังกฤษไม่ดีกว่าหรือ?) ประเด็นคือพวกเขาหาบุคคลที่มีภาพลักษณ์สูงใหญ่ บึกบึน แต่มีความอ่อนไหว ภายในเหมือนเด็กน้อย จากนักแสดงฝรั่งเศสแทบไม่ได้ ซึ่งถือเป็นความบังเอิญที่ Caro รับชม Cronos (1993) แล้วพบเห็น Perlman เลยเชื่อว่าต้องชายคนนี้แหละ ไม่มีตัวเลือกอื่น
แซว: Perlman พูดภาษาฝรั่งเศสไม่ค่อยได้ แต่เขาใช้วิธีท่องบท ซักซ้อมสำเนียง จนผลลัพท์ออกมาแนบเนียนสุดๆ (แต่เจ้าตัวก็ยังยืนกรานว่า ตนเองพูดฝรั่งเศสไม่ดีสักเท่าไหร่)
หลังรับชมผลงานของ Jeunet มาสองสามเรื่องก็ทำให้ผมตระหนักได้ว่า เขาเลือกนักแสดงจากภาพลักษณ์เป็นหลัก ไม่ได้ต้องมีฝีไม้ลายมือโดดเด่น แค่สามารถถ่ายทอดบุคลิกภาพตัวละครออกมาก็เพียงพอแล้ว, เฉกเช่นเดียวกับ Perlman แค่ภาพลักษณ์นักพละกำลัง [คล้ายๆจาก La Strada (1954)] ก็ไม่มีใครในปัจจุบันสามารถเทียบแทน แถมบุคลิกภาพ ตัวตนแท้จริงก็แบบในหนังเปี๊ยบๆ ใครเคยรับชมผลงานอื่นๆของพี่แก ก็น่าจะเข้าถึงตัวละครได้ไม่ยาก
Judith Vittet (เกิดปี 1984) นักแสดงเด็ก สัญชาติฝรั่งเศส ก่อนหน้านี้เคยถ่ายทำโฆษณา เล่นบทสมทบเล็กๆเรื่อง Personne ne m’aime (1994) ใจจริงไม่ได้อยากเป็นนักแสดง (เพ้อฝันอยากเป็นสถาปนิก ออกแบบเสื้อผ้า ไม่ก็นักโบราณคดี) แต่เพราะยังอายุยังไม่มาก เมื่อได้รับโอกาสก็พร้อมทดลองผิดลองถูก ลองมาทดสอบหน้ากล้องเป็นที่ถูกอกถูกใจสองผู้กำกับ เพราะสามารถจดจำบทพูดได้อย่างแม่นยำ สีหน้า ท่าทาง วาทศิลป์ ดูเติบโตเกินวัย
รับบทเด็กหญิง Miette หัวโจ๊กของกลุ่มเด็ก อาศัยอยู่ในสถานรับเลี้ยงเด็กกำพร้า ‘the Octopus’ แต่ถูกบีบบังคับให้ต้องจ่ายค่าเลี้ยงดูหลังการลักเล็กขโมยตู้นิรภัย จับพลัดจับพลูพบเจอ One ที่แม้ร่างกายเป็นผู้ใหญ่แต่มีจิตใจเหมือนเด็กน้อย ไม่เชิงว่าตกหลุมรัก (เพราะยังเด็กเกินไป) แค่เกิดความสัมพันธ์ฉันท์ครอบครัว เลยให้ความช่วยเหลือ ออกติดตามหาน้องชายคนเล็ก (ที่ไม่เคยพบเจอหน้ามาก่อนด้วยซ้ำ)
เกร็ด: เสื้อไหมพรมลายขวางสีแดงของ Miette น่าจะได้แรงบันดาลใจส่วนหนึ่งจาก Gelsomania เรื่อง La Strada (1954) เพิ่มเติมคือกระโปรง jumpsuit คอยปกปิดบังตัวตน/ความบริสุทธิ์จากภายใน
ต้องชมเลยว่า Vittet คือสีสันที่แท้จริงของหนัง ทำให้เรื่องราวดูมีชีวิตชีวา เป็นผู้นำทาง/แสงสว่างท่ามกลางความมืดมิด เข้มแข็งแกร่งจากภายใน ความคิดอ่านแบบผู้ใหญ่ (ในร่างเด็กหญิง) และสามารถเอาชนะนักวิทยาศาสตร์สติเฟื่องด้วยจินตนาการอันสู่งส่งของตนเอง
เฉกเช่นเดียวกับ One เด็กหญิง Miette ลึกๆก็โหยหาบุคคลสามารถเป็นที่พึ่งพักพิง การได้พบเจอกันและเห็นว่าเขายินยอมทำทุกสิ่งอย่างเพื่อน้องชาย ก็เลยอยากได้พี่แบบนั้น และท้ายสุดก็สมความปรารถนา แม้ต้องเจ็บตัวสักเล็กน้อยก่อนก็ตามที
Daniel Emilfork ชื่อจริง Daniel Zapognikof (1924-2006) สัญชาติ Chilean เกิดที่ San Felipe ครอบครัวเชื้อสาว Jews มีความชื่นชอบการแสดงตั้งแต่เด็ก แต่พอตระหนักว่าตนเองเป็นเกย์ เลยตัดสินใจอพยพสู่ฝรั่งเศส (เพราะเป็นดินแดนเสรี เปิดกว้างเรื่องเพศมากกว่า) มีผลงานละครเวที ภาพยนตร์ ส่วนใหญ่รับบทตัวร้าย อาทิ The Devil’s Nightmare (1971), Travels with My Aunt (1972), Fellini’s Casanova (1976), Pirates (1986), Taxandria (1994), The City of Lost Children (1995)
รับบทนักวิทยาศาสตร์สติเฟื่อง Krank เพราะไม่สามารถนอนหลับฝัน จึงต้องการทำลายความฝันของเด็กๆ สรรค์สร้างมนุษย์โคลนทั้งหมกสำหรับเป็นคนรับใช้ รวมไปถึงอุปกรณ์เพิ่มขีดความสามารถในโสตประสาทให้องค์กรศาสนา Cyclops แลกกับการลักพาตัวเด็กๆ ส่งขึ้นเรือมายังแท่นขุดเจาะน้ำมันกลางทะเล
แท้จริงแล้ว Krank ก็คือหนึ่งในมนุษย์โคลนของนักประดาน้ำ (โคลนที่เจ็ด) ถูกออกแบบให้มีความเฉลียวฉลาด อัจฉริยภาพเหนือใคร แต่ข้อบกพร่องหนึ่งเดียวคือไม่สามารถนอนหลับฝัน ร่างกายจึงเจริญเติบโตจนสูญเสียพัฒนาการช่วงวัยเด็ก กลายเป็นผู้ใหญ่/สูงวัยอย่างรวดเร็ว
ผู้กำกับ Jeunet เล่าว่าเขียนบทนี้โดยมีภาพของ Emilfork อยู่ในใจตั้งแต่แรกเริ่ม เพราะใบหน้าอันเป็นเอกลักษณ์ ไม่มีใครสามารถเทียบแทนที่ และในชีวิตจริงก็ไม่ต่างจากตัวละครสักเท่าไหร่ (ฉากที่เด็กๆร่ำร้องไห้ ไม่ต้องครุ่นคิดหาวิธีการอะไร เพียงแค่ Emilfork ยื่นหน้าเข้าไปก็ทำให้พวกเขาหวาดกลัวจนตัวสั่นแล้ว)
ผมชอบฉากที่ Emilfork สวมชุดซานต้าแล้วพยายามจะ Merry Christmas คือพี่แกพยายามสุดๆที่จะทำให้เด็กๆหัวเราะ ยิ้มร่า แต่กลับกลายเป็นว่าพวกเขาทะยอยร่ำร้องไห้ทีละคนสองคน วินาทีนั้นจากควรเป็นตัวร้ายโหดโฉดชั่ว กลับรู้สึกน่าสงสารเห็นใจ คงไม่มีใครสักคนเข้าใจความรู้สึก แม้กระทั่งตอนพ่ายแพ้ต่อ Miette ยังไม่ได้รับความเห็นอกเห็นใจเลยสักนิด!
แซว: ไม่รู้ทำไมผมเห็นเครื่องขจัดฝัน (dream-extracting machine) แล้วชวนให้ระลึกถึงทรงผมของ Elsa Lanchester จากเรื่อง Bride of Frankenstein (1935)
ถ่ายภาพโดย Darius Khondji (เกิดปี 1955) สัญชาติ Iranians-French, บิดาเป็นชาวอิหร่านแต่งงานกับมารดาชาวฝรั่งเศส เกิดที่ Tehran แล้วมาปักหลักอยู่ Paris ตั้งแต่เด็กมีความสนใจเล่นกล้อง Super-8 พอโตขี้นเดินทางสู่สหรัฐอเมริกา ร่ำเรียนสาขาภาพยนตร์ UCLA ตามด้วย New York University และ International Center of Photography, หลังสำเร็จการศีกษาเดินทางกลับฝรั่งเศส เริ่มจากเป็นผู้ช่วยตากล้อง, ถ่ายหนังทุนต่ำ, โด่งดังกับ Delicatessen (1991), The City of Lost Children (1995), Se7en (1995), Stealing Beauty (1996), Evita (1996), Midnight in Paris (2011), Amour (2012), Okja (2017), Uncut Gems (2019) ฯ
งานภาพของหนังแพรวพราวด้วยเทคนิค ลีลา ภาษาภาพยนตร์ มีความโฉบเฉี่ยว ฉวัดเฉวียน มุมมองแปลกๆ Dutch Angle, Fisheye Lens และ Close-Up สะท้อนความบิดๆเบี้ยวๆภายในจิตใจมนุษย์ และลักษณะผิดปกติของโลกในหนัง ซึ่งการออกแบบฉาก (Production Design โดย Jean Rabasse) ให้ความรู้สึกเหมือน German Expressionism ดูหมองหม่น อึมครึม ทะมึน สร้างทั้งเมือง/ท่าเรือ และภายในแท่นขุดเจาะน้ำมัน ขนาดเท่าของจริงในสตูดิโอ Studios 91 Arpajon
การเลือกโทนสีก็มีเฉด (color palette) ที่แตกต่างออกไปตามสถานที่ และเรื่องราวขณะนั้นๆ ซึ่งนักแสดงทุกคนจะถูกแต่งหน้าจนซีดขาว (เหมือนตัวตลกทา แต่ก็ไม่ได้ขาวจั๋วขนาดนั้นนะครับ) แล้วค่อยไปปรับโทนสี (color correction) ในกระบวนการ post-production … วิธีการดังกล่าวจะทำให้ความเข้มของสีอื่นๆจืดจางลง ซึ่งถ้าสังเกตกันดีๆหนังแทบไม่พบเห็นสีฟ้า/น้ำเงิน หลักๆคือน้ำตาล แดง เขียว และความมืดมิดเข้าปกคลุม
สำหรับ Visual Effect ติดต่อว่าจ้างบริษัท Duran Duboi สัญชาติฝรั่งเศส (ถือเป็นบริษัท VFX แรกของฝรั่งเศสเลยก็ว่าได้) ก่อตั้งโดย Bernard Maltaverne และ Pascal Hérold เมื่อปี 1983 ซึ่ง The City of Lost Children น่าจะเป็น ‘Mega Project’ ภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่องแรกๆเลยก็ว่าได้
เรื่องราวของ Krank เพราะเป็นคนไม่สามารถนอนหลับฝัน จึงต้องการขโมยความฝันของเด็กๆ ผมคิดว่านี่เหตุผลที่ตรงไปตรงมา ตามกฎธรรมชาติ ไม่ได้ดี-ชั่ว ถูก-ผิดประการใด แต่ในมุมมองของมนุษย์ผู้มีความฝัน ย่อมรู้สึกว่าชายคนนี้เป็นตัวร้าย บุคคลอันตราย ไร้จิตสำนึกมโนธรรม กระทำสิ่งอย่างเพียงสนองความต้องการส่วนตน
แต่เราควรต้องย้อนไปที่จุดเริ่มต้นของปัญหา, Krank คือร่างโคลนสุดท้ายของนักประดาน้ำไร้นาม นักวิทยาศาสตร์สติเฟื่องตัวจริง ผู้ครุ่นคิดพัฒนา ต้องการสรรค์สร้าง’ชีวิต’จนสูญสิ้นตัวตน ความทรงจำ ปัจจุบันต้องอาศัยอยู่ใต้จิตสำนึก (ใต้น้ำ) หวาดกลัวการเผชิญหน้ากับผู้อื่นใด
ทำไมต้อง Santa Claus? เพราะซานต้าคือสัญลักษณ์ของการให้ มอบของขวัญ ความสนุกสนาน สวมชุดสีแดงซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของเลือด ความบริสุทธิ์ และสิ่งดีงาม … เหล่านี้เป็นสิ่งที่ Krank ไม่เคยได้รับ บังเกิดอคติ (สังเกตกล่องของขวัญจะมีสีเขียว ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของสิ่งชั่วร้าย) แทนที่จะเป็นผู้ให้ก็ฉกแย่งชิงมาครอบครองของตนเอง
หลายคนอาจสงสัยว่านักแสดงโคลน (รับบทโดย Dominique Pinon) ใช้ตัวแทนหรือ CGI หรืออย่างไร? ถ้าสังเกตดีๆจะพบเห็นเทคนิคภาพยนตร์ทั่วๆไป มุมกล้องเดิม ถ่ายทำสองครั้ง (หรือ 3-4 ครั้ง ขึ้นอยู่กับปริมาณโคลนที่ต้องการให้เห็นในช็อตเดียว) แล้วฉายขึ้นจอด้านหลัง (Rear Projection)
โคลนทั้งหก ถูกสร้างขึ้นเพื่อเป็นคนรับใช้ ไม่ได้มีสติปัญญาเฉลียวฉลาดนัก แต่ก็สามารถทำสิ่งต่างๆในชีวิตประจำวันได้เหมือนคนทั่วไป (และผมรู้สึกว่าหนังจงใจเปรียบเทียบกับการสร้างโลกใน 7 วัน คือมีโคลนทั้งหมด 7 ตน ยกเว้นคนสุดท้ายที่ผิดแผกแตกต่าง เฉลียวฉลาด แลดูเหมือนมนุษย์กว่าใครอื่น)
Uncle Irvin (ให้เสียงโดย Jean-Louis Trintignant) ผมไม่แน่ใจว่าคือโคลนสมอง หรือสมองจริงๆของนักประดาน้ำ แต่มีความเฉลียวฉลาดไม่น้อยไปกว่า Krank เพียงแค่ไร้ร่างกายเหมือนมนุษย์ แต่สามารถใช้กลไกในการมองเห็น (กล้อง) ได้ยิน (ลำโพง) ขยับเคลื่อนไหวเล็กๆน้อยๆ (มีแขน-ขา)
นี่เป็นตัวละครที่ชวนให้ผู้ชมตั้งคำถามว่า ‘จิตวิญญาณ’ คืออะไร? แม้มีเพียงมันสมอง แต่สามารถพูดคุยสื่อสาร แสดงความคิดเห็น ว่าไปมีความเป็นมนุษยมากกว่า Krank เสียอีกนะ!
แซว: เวลาพบเห็นกล้องที่แทนด้วยดวงตาของปัญญาประดิษฐ์ (ถ้าสมองนี้คือโคลน ก็ถือว่าเป็นปัญญาประดิษฐ์ในเชิงชีวภาพได้เหมือนกันนะ) มันก็ชวนให้นึกถึง 2001: A Space Odyssey (1968) ขึ้นมาทุกที
ทำไมต้องแท่นขุดเจาะน้ำมันกลางทะเล? น่าจะเพราะเป็นสถานที่ที่เจาะลงไปใต้พื้นผิวโลก หรือคือเข้าไปเนื้อหนัง จิตใต้สำนึก ความเพ้อฝันของเด็กๆ จินตนาการของตัวละคร
การออกแบบทั้งภายนอกในฉากนี้ เน้นโทนสีเขียวซึ่งดูโฉดชั่วร้าย อันตราย ผืนน้ำราวกับยาพิษ เพียงสัมผัสก็อาจถึงแก่ความตาย … จะว่าไปช็อตนี้ทำให้ผมระลึกถึง Vampire Hunter D (1985) คฤหาสถ์แวมไพร์บดบังพระจันทร์ (สิ่งชั่วร้ายบดบังแสงสว่างแห่งความหวัง)
เป็นความ Ironic เล็กๆที่หนังจงใจใช้ Fisheye lens แทนสายตาของ Uncle Irvin ซึ่งก็คือสมองในถังน้ำ/ตู้ปลา (Fish Tank) มองออกไปพบเห็นโลกทั้งใบ (หรือคือห้องแห่งนี้)
และลักษณะภาพที่ถ่ายผ่าน Fisheye lens ให้ความรู้สึกเหมือนโลกที่บิดเบี้ยว จักรวาลในหยดน้ำ หรือคือหยาดน้ำตา ที่มีการกล่าวถึงครั้งแรกในซีน Happy Birth Day (ของ Uncle Irvin) ให้คำแนะนำ Krank ลองศึกษาดูว่า ‘หยดน้ำตา’ มันมีความลึกล้ำค่าสักเพียงใด … ผู้กำกับ Jeunet ให้คำอธิบาย ทฤษฎีความอลวน (Chaos theory) ที่สามารถให้กำเนิดโลก/จักรวาล บิ๊กแบง มีความเป็นไปได้ทั้งหมดทั้งสิ้น!
เมืองริมท่าเรือแห่งนี้ เต็มไปด้วยสิ่งก่อสร้าง ตรอกซอกซอย โครงเหล็ก กำแพงสูง และบันไดเต็มไปหมด จนมองไม่เห็นท้องฟากฟ้า รับรู้ทิศเหนือ-ใต้ ออก-ตก ใครทำอะไรที่ไหนอย่างไร ดูสับสนงุนงง รู้สึกแออัดคับแคบ รกรุงรัง ซ่อนเร้นภยันตรายแอบแฝง ไม่มีสถานที่แห่งหนไหนสามารถมอบความสุขสบาย ผ่อนคลาย หรือปลอดภัยจะสิ่งชั่วร้าย
แฝดสยามที่ไม่ใช่แฝดสยาม คือพี่น้องฝาแฝดทั่วๆไป(แค่ไม่ได้ตัวติดกัน) Geneviève Brunet และ Odile Antoinette Brunet แต่หนังต้องทำให้พวกเธอมีขาติดกัน (มัดขาสองข้างเข้าด้วยกัน ) เวลาเดินเลยค่อนข้างยุ่งยากลำบาก เหตุนี้เลยมักพบเห็นแค่ยืน-นั่ง ไม่ขยับเคลื่อนไหวท่อนล่างสักเท่าไหร่
หนังไม่ได้ตั้งชื่อให้ตัวละคร แต่ใช้ฉายาขณะเคยเป็นนักแสดงละครสัตว์ (ในคณะของ Marcello) และตั้งเป็นชื่อสถานรับเลี้ยงเด็กกำพร้า the Octopus ซึ่งก็ถือว่าเข้ากับมือทั้งสี่ที่ยั้วเยี้ยเหมือนหนวกปลาหมึก เวลาเห็นสิ่งของมีค่า เงินๆทองๆ ก็คว้าขวับจับเข้ากระเป๋าอย่างรวดเร็วไว
สำหรับนัยยะที่ต้องให้ตัวละครนี้เป็นแฝดสยาม สองตัวตนในบุคคลเดียว ก็เพื่อสะท้อน ‘คนสองหน้า’ หรือ ‘นกสองหัว’ ภายนอกเปิดสถานรับเลี้ยงเด็กกำพร้า สร้างภาพให้ดูดีน่านับถือ แต่แท้จริงแล้วกลับเสี้ยมสอนเด็กๆให้กลายเป็นขโมยกะโจร เรียกร้องค่าเลี้ยงดูแล ใครไม่จ่ายก็พร้อมกำจัดให้พ้นทาง
หลังจาก One ไม่สามารถติดตามทันรถของ Cyclops จึงยุติการไล่ล่าตรงบันได กำหมัดทุบท่อน้ำจนได้รับบาดเจ็บ แล้วถูกเจ้าของห้องพักด้านบนสาดน้ำราดใส่ศีรษะ (ทำให้ฟื้นคืนสติขึ้นมา) ในตอนแรก Miette ต้องการร่ำลาจากไป แต่พอปรับเปลี่ยนมุมกล้อง พบเห็นภาพทิวทัศน์ด้านนอก เด็กหญิงจึงยินยอมเปลี่ยนใจ ให้ความช่วยเหลือร่วมออกผจญภัย ค้นหาน้องชาย Denree แม้ไม่เคยพบเจอหน้าคาดตาเลยสักครั้ง
Cyclops อสูร/ยักษ์ตาเดียว สัตว์ประหลาดในตำนานกรีก ชอบกินมนุษย์เป็นอาหาร ซึ่งหนังนำมาใช้เป็นสัญลักษณ์องค์กรศาสนา ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี (จากผลงานประดิษฐ์ของ Krank) เพื่อชวนเชื่อให้สาวกมองเห็นคลื่นอินฟาเรด และได้ยินเสียงชัดเจนกว่าปกติ สามารถใกล้ชิดพระเป็นเจ้า สัมผัสสิ่งเหนือธรรมชาติ
แต่แท้จริงแล้วองค์กรศาสนาก็เป็นเพียงฉากบังหน้า (เหมือนกับ the Octopus) นอกจากลักพาตัวเด็กๆเพื่อแลกเปลี่ยนเทคโนโลยี ยังมีลักษณะคล้ายลัทธินอกรีต ลวงล่อหลอกให้ผู้คนบังเกิดความเชื่อศรัทธา กลายสภาพเป็นอสูร/ยักษ์ สูญสิ้นความเป็นมนุษย์ (ทั้งร่างกาย-จิตใจ)
ตรงกันข้ามกับองค์กรศาสนาที่พยายามควบคุมครอบงำสาวกด้วยความคิดจิตใจ เรื่องราวของคนเลี้ยงเห็บ/หมัด Marcello ผมก็ไม่รู้ฝึกฝนทำได้อย่างไร (แต่ก็อย่าไปเสียเวลาครุ่นคิดจริงจังกับมันมาก) เมื่อได้ยินเสียง Street Organ ก็จักฉีดสารเคมีบางอย่างเข้าร่างกาย ให้สามารถขยับเคลื่อนไหว ปฏิบัติตามคำสั่ง กลายเป็นหุ่นเชิดชัก สูญเสียสิ้นความสามารถในการกระทำอะไร
ตัวตนแท้จริงของนักประดาน้ำ ก็คือนักวิทยาศาสตร์สติเฟื่องผู้ครุ่นคิดพัฒนาร่างโคลนทั้งเจ็ด (และมันสมองของตนเอง) แต่การสรรค์สร้างสิ่งมีชีวิตที่เฉลียวฉลาดเกินไป เลยทำให้สูญเสียตัวตน จมอยู่ใต้จิตสำนึก เกิดความหวาดกลัวเกรงที่จะอาศัยใช้ชีวิตบนพื้นผิวโลก … ใครเคยรับชม Delicatessen (1991) ก็อาจมักคุ้นกลุ่มคนกินพืช Troglodistes ที่อาศัยอยู่ตามท่อใต้ดิน (ไม่ค่อยจะขึ้นมาบนพื้นโลกที่เต็มไปด้วยมลพิษแห่งหายนะ)
ซึ่งงานอดิเรกของนักประดาน้ำ คือเก็บสะสมขยะ สิ่งของมีค่า/ไม่มีค่าที่ถูกทอดทิ้งลงทะเล นั่นรวมไปถึงเด็กหญิง Miette สามารถช่วยเหลือไว้ได้ทัน ซึ่งเหตุการณ์ต่อจากนั้นจักทำให้เขาค่อยๆหวนระลึกความทรงจำ และเตรียมตัดสินใจทำบางสิ่งอย่างเพื่อเผชิญหน้าตัวตนเอง … อารมณ์เหมือนผู้ป่วย ‘Shell Shock’ ที่ได้กาลเวลาเยียวยา และพร้อมเผชิญหน้าก้าวข้ามผ่านอดีตอันเลวร้าย
นี่เป็นอีกฉากที่โคตรล่อแหลม (แต่เป็นการกระทำอันบริสุทธิ์ใจ) ถูกตั้งชื่อว่า ‘radiateur scene’ (เหมือนจะได้แรงบันดาลใจจาก Eraserhead (1977)) ความที่ One และ Miette ไร้สถานที่ซุกหัวนอน จึงแอบมาพักผ่อนอยู่ … (สักแห่งหนไหน) … ด้วยสภาพอากาศหนาวเหน็บ ผ้าห่มกระสอบทรายย่อมมิอาจต้านทาน จึงมีเพียงไออุ่นจากร่างกาย ลมหายใจอันเร่าร้อน รดต้นคอ จากด่านหลัง –“
ระหว่างออกติดตามหาร้านรอยสัก Miette บ่นพึมพังว่าเจ็บเท้าจึงนั่งลงตรงบันได แล้ว One เดินเข้ามา เท้าสะเอว แล้วนั่งลงถอดรองเท้าที่มีรู เอานิ้วแย่ จากนั้นนวดคลึงสร้างความผ่อนคลาย … นี่มันเป็นฉากสองแง่สองง่าม 18+ กับเด็ก! ที่ผู้กำกับ Jeunet อ้างว่าเพิ่งตระหนักได้ระหว่างการตัดต่อ จะปรับแก้ไขอะไรก็สายเกินไปแล้ว
The whole scene on the staircase with the shoe is overloaded with sexual connotations, but it’s unconscious on the part of the little girl…and with us, too: it was while editing that we realized it!
Jean-Pierre Jeunet
ผู้กำกับ Jeunet ดูมีความชื่นชอบทฤษฎีความอลวน (Chaos theory) สิ่งเล็กๆหนึ่งสามารถส่งผลกระทบลูกโซ่/โดมิโน่ เชื่อมโยงต่อเนื่องกันเหมือนหยากใย้แมงมุม (ซึ่งเป็นวัตถุแรกที่น้ำตาของ Miette กระเด็นกระดอนมา) ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงระดับมหภาค หรือทิศทางเรื่องราวโดยสิ้นเชิง … แต่ไดเรคชั่นดังกล่าวกับหนังเรื่องนี้ผมรู้สึกว่าไม่ค่อยลงตัวเท่าไหร่ ทำให้หนังดูเยิ่นเย้อยืดยาว ผิดกับ Amélie (2001) ที่ใช้ประโยชน์จากความบังเอิญได้โคตรสมเหตุสมผล
นอกจากความบังเอิญระดับหลุดโลก ผมรู้สึกว่าผู้กำกับต้องการให้เรือขนส่งสินค้าลำนี้ เข้าจอดในตำแหน่งระหว่างแฝดสยาม สะท้อนถึงการไม่สามารถแบ่งแยก/ไม่มีกี่งกลางในโลกทุนนิยม ยกตัวอย่างประเด็นการเมืองที่คนยุคสมัยนี้ถูกบีบบังคับใหม่เลือกข้าง ไม่ซ้ายจัด-ขวาจัด ก็เผด็จการ-ประชาธิปไตย ถ้าคุณไม่พวกเดียวกับเราก็คือศัตรู … นั่นคือทัศนคติที่ the Octopus มีต่อ One และ Miette ถึงต้องการกำจัดให้พ้นภัยพาล
ซึ่งโชคชะตากรรมของแฝดสยาม หลังจากผลกรรมตามสนอง (พยายามควบคุมคนอื่น เธอคนหนึ่งเลยถูกควบคุม) ทั้งสองบังเกิดความขัดแย้งกันเอง (เพราะคนหนึ่งถูกควบคุม อีกคนหนึ่งไม่ได้ถูกควบคุม) ระหว่างร่างกาย-จิตใจ ภายนอก-ใน เป็นเหตุให้พลัดตกลงน้ำ แล้วถูกเปลวเพลิงมอดไหม้ และรองเท้าคู่หนึ่งลอยขึ้นมา (น่าจะเป็นรองเท้าที่อยู่กึ่งกลางระหว่างทั้งสอง)
มีบางสิ่งอย่างที่เด็กทำได้แต่ผู้ใหญ่ทำไม่ได้ เช่นเดียวกับบางสิ่งอย่างเด็กทำไม่ได้แต่ผู้ใหญ่ทำได้ นั่นแสดงว่าทั้งเด็ก-ผู้ใหญ่ ต่างต้องพึ่งพาอาศัย มีความสัมพันธ์ เชื่อมโยงถึงกันด้วยเส้นใยบางๆ (จริงๆแล้วมันเป็นนามธรรม แต่หนังนำเสนอในเชิงสัญลักษณ์ให้เห็นภาพด้วยการใช้เส้นด้าย/ไหมพรม ดึงจากเสื้อของ One) แต่ถึงอย่างนั้นเด็ก-ผู้ใหญ่ ก็ไม่สามารถตัวติดกันได้ตลอดไป เมื่อถึงจุดๆไกลเกินเอื้อม (ด้ายหมด) พวกเขาก็ควรมีศักยภาพเพียงพอในการต่อสู้ดิ้นรนเอาตัวรอดด้วยตนเอง
ไคลน์แม็กซ์ของหนัง Miette ยื่นข้อเสนอแลกเปลี่ยนตัวประกัน เอาความฝันตนเองแทนที่ Denree, โดยปกติแล้วอัจฉริยะอย่าง Krank ไม่เคยลักขโมยความฝันของเด็กอายุเกินกว่า 5 ขวบ (ก็น่าจะเพราะเหตุผลนี้นี่แหละ!) แต่ไม่รู้ทำไมครั้งนี้ถึงยินยอมให้ Miette (สิบกว่าขวบแล้วกระมัง) นั่นเองทำให้เขาพ่ายแพ้จินตนาการของเธอ แปรสภาพจากสูงวัยย้อนกลับสู่เด็กทารก (The Curious Case of Benjamin Button (2008)) จึงไม่สามารถดึงเชือกส่งสัญญาณปลุกตื่นจากความฝัน เกิดภาพเหตุการณ์เวียนวนซ้ำไปซ้ำมา เร่งความเร็วขึ้นเรื่อยๆ เรียกว่าติดอยู่ใน Limbo (แบบ Inception (2010)) จนเกิดความคลุ้มบ้าคลั่ง สูญเสียความครุ่นคิด สติสมประดีโดยพลัน
ความพ่ายแพ้ของ Krank มันช่างมีความ Ironic ยิ่งนัก! เพราะตัวเขาไม่สามารถนอนหลับฝัน กลับพ่ายแพ้ให้กับจินตนาการเพ้อฝัน เวียนวนภาพเหตุการณ์เดิมซ้ำไปซ้ำมา ไม่สามารถตื่นขึ้นจากความฝัน (ติดอยู่ใน Limbo ก้นเบื้องสุดใต้ความฝัน)
ตัดต่อโดย Hervé Schneid (เกิดปี 1956) สัญชาติฝรั่งเศส เริ่มมีชื่อเสียงจาก Europa (1991), จากนั้นกลายเป็นขาประจำ Jean-Pierre Jeunet ตั้งแต่ Delicatessen (1991)
ดำเนินเรื่องโดยใช้เมืองท่าเรือ(และแท่นขุดเจาะน้ำมัน)เป็นจุดศูนย์กลางของหนัง ร้อยเรียงภาพเหตุการณ์เกี่ยวพันตัวละคร โดยมี One และ Miette ออกติดตามหาน้องชาย Denree ที่ถูกลักพาตัวโดยองค์กรศาสนา Cyclops แล้วส่งตัวไปให้นักวิทยาศาสตร์สติเฟื่อง Krank ปลายทางคือแท่นจุดเจาะน้ำมันกลางมหาสมุทร
- อารัมบท, ฝันร้ายของเด็กชาย
- แนะนำตัวละคร ติดตามหาที่มาที่ไป
- เริ่มต้นด้วยการแสดงคณะละครสัตว์
- Denree ถูกลักพาตัวโดย Cyclops ทำให้ One ออกติดตามหาจนมาพบเจอ Miette
- Uncle Irvin เล่าที่มาที่ไปของโคลนทั้งหกและ Krank ว่ามีต้นกำเนิดจากไหน (ในฉาก Happy Birth Day)
- One แอบติดตาม Miette มาจนถึงสถานรับเลี้ยงเด็กกำพร้าของ the Octopus
- เรื่องของการลักขโมย สิ่งของมีค่า (ทั้งวัตถุสิ่งของ-ความเพ้อฝันเด็กๆ, ร่างกาย-จิตใจ)
- One และเด็กๆลักขโมยตู้นิรภัย
- Krank ลักขโมยความฝันของเด็กๆ
- Cyclops ลักพาตัวเด็กๆเพื่อแลกเปลี่ยนเทคโนโลยีกับโคลนของ Krank
- ไม่มีใครสามารถเอาตัวรอดด้วยตนเอง ต้องพึ่งพาอาศัย ให้ความช่วยเหลือผู้อื่นอยู่เสมอๆ
- Marcello ถูกว่าจ้างให้ช่วยเหลือ Miette (และ One) กำลังจะถูก Cyclops กำจัดทิ้งลงท้องทะเล
- นักประดาน้ำ เก็บสะสมสิ่งข้าวของที่ถูกทองทิ้งลงท้องทะเล และช่วยเหลือ Miette ได้ทันท่วงที
- Miette ให้ความช่วยเหลือ One จากสาวชุดแดงและฟื้นตื่นอาการมึนเมา
- การเผชิญหน้า ต่อสู้ดิ้นรนเพื่อพิสูจน์คุณค่าของตนเอง
- One และ Miette ร่วมกันออกติดตามหาน้องชาย แล้วกลายเป็นครอบครัวเดียวกัน
- Denree พยายามต่อสู้ดิ้นรนกับ Krank
- เผชิญหน้ากับ the Octopus และได้รับการช่วยเหลือจาก Marcello
- เรื่องวุ่นๆที่แท่นขุดเจาะน้ำมัน ต่อสู้ศัตรูแห่งความฝัน
- นักประดาน้ำ เดินทางไปถึงก่อนใครเพื่อน
- One และ Miette พายเรือติดตามไปจนถึง
- One ใช้ร่างกายเผชิญหน้าต่อสู้กับโคลนทั้งหก
- Miette เข้าไปในความฝันของ Denree และขับไล่ Krank จนสูญเสียสติแตก
- วาระสุดท้ายของแท่นขุดเจาะน้ำมัน
ผมสังเกตว่าหนังพยายามนำเสนอทุกๆเรื่องราว ตัวละคร รายละเอียดที่มาที่ไป เพราะเหตุใดทำไมผู้ร้ายแต่ละคนถีงกลายปลายมาตนเองในปัจจุบัน ให้ความเท่าเทียมกันทุกอย่าง … วิธีการดังกล่าวดูดีในหน้ากระดาษ หรือถ้านำเสนอแบ่งแยกเป็นตอนสั้นๆ (แบบอนิเมะซีรีย์) มันจะมีความลงตัวมากกว่า แต่เมื่อต้องรับชมต่อเนื่องภาพยนตร์ขนาดยาว การแตกแขนงเรื่องราวอื่นจากเส้นพล็อตหลัก ควรต้องหาจุดสมดุล/เพียงพอดีให้มากกว่านี้ ไม่เช่นนั้นจักทำให้รู้สีกเยิ่นเย้อยื่นยาว (ให้ความสำคัญกับรายละเอียดยิบย่อยมากเกินไป) เมื่อหวนกลับสู่เหตุการณ์หลัก ก็แทบหลงลืมไปแล้วว่าดำเนินมาถึงตรงไหนแล้ว
มันเหมือนว่าหนังให้ความสำคัญกับช่วงเวลา ‘moment’ สร้างประสบการณ์ขณะนั้นๆให้ผู้ชม อยากนำเสนอทฤษฎีความอลวน (Chaos theory) จู่ๆก็ทำให้เพียงหยดน้ำตา กระเด็นกระดอน ส่งผลกระทบต่อเนื่องเป็นลูกโซ่/โดมิโน่ จนบังเกิดเหตุการณ์คาดไม่ถีง … คือถ้าดูเฉพาะซีนนี้มันเจ๋งมากๆ แต่พอมองภาพรวมแล้ว ไม่ได้มีความจำเป็นต้องเว่อวังอลังการขนาดนั้น!
เพลงประกอบโดย Angelo Badalamenti (เกิดปี 1937) เชื้อสายอิตาเลี่ยน สัญชาติอเมริกัน สำเร็จการศึกษาจาก Eastman School of Music ตามด้วยปริญญาโท สาขาแต่งเพลง, French horn และเปียโน Manhattan School of Music, เริ่มทำงานเขียนเพลงให้ Perrey and Kingsley, ตามด้วยเพลงประกอบภาพยนตร์เกรดบี, กระทั่งแจ้งเกิดโด่งดังจาก Blue Velvet (1986) เลยกลายเป็นขาประจำ David Lynch, และมีโอกาสประพันธ์ Opening Theme ให้ 1992 Barcelona Summer Olympics
ผู้กำกับ Jeunet มีความประทับใจ Badalamenti จากภาพยนตร์ Blue Velvet (1986) โดยเฉพาะบทเพลง Mystery of Love ฟุ้งๆด้วยบรรยากาศเหมือนฝัน ให้คำแนะนำต้องการบรรยากาศหมองหม่น (somber) ไม่ใช่มืดมนหมดสิ้นหวัง
The film is somber, the idea is not to darken it but rather to elevate it, to make it lyrical.
Jean-Pierre Jeunet
ผมแนะนำให้ลองหาฟังบทเพลง Mystery of Love แล้วมาเปรียบเทียบ L’anniversaire D’irvin (แปลว่า Irvin’s Birthday) ซี่งมีสัมผัสละม้ายคล้ายคลีงกันมากๆ ปรับเปลี่ยนเพียงเครื่องดนตรี (เพราะหนังเรื่องนี้มีความเป็นแฟนตาซี จีงใช้เครื่องดนตรีที่มีความสดใสกว่า) และท่วงทำนองเล็กๆน้อยๆ แต่สามารถมอบความลีกลับ (สยองขวัญเล็กๆ) วาบหวิวถีงทรวงใน
Miette น่าจะเป็นบทเพลงไพเราะสุดใน OST อัลบัมนี้ ถ่ายทอดจิตวิญญาณของเด็กหญิง แม้ภายนอกดูเข้มแข็งแกร่ง แลดูเฉลียดฉลาด วางมาดเหมือนผู้ใหญ่ แต่แท้จริงก็ยังเด็กน้อยอ่อนวัยไร้เดียงสา ยังต้องการใครสักคน พี่ชายแสนดี ที่สามารถเป็นที่พี่งพักพิง ทั้งร่างกาย-จิตใจ … ฟังไปก็น้ำตาซีมไป หัวใจหวิวๆ ทำไมโลกอนาคตถีงได้โหดร้ายกับเธอเช่นนี้
ขณะที่บทเพลงตราตรีงสุดของหนัง L’execution/Execution เริ่มจากเสียง Street Organ สร้างความวาบหวิวให้ผู้ชมโดยทันที เพราะ(น่าจะ)ตระหนักว่านั่นคือท่วงทำนองแห่งหายนะ ยาควบคุมประสาทถูกฉีดเข้าผิวหนัง ทำให้สูญเสียการควบคุมร่างกาย ต้องปฏิบัติตามผู้ออกคำสั่ง (กลไกเป็นยังไง ผมก็ไม่ค่อยเข้าใจสักเท่าไหร่) และช่วงเวลาเหี้ยมโหดร้ายที่สุดของหนัง One ทุบตี Miette (โดยที่ไม่สามารถควบคุมตนเอง) ท่วงทำนองแปรสภาพสู่ออเคสตร้า ไต่ไล่ระดับจนพุ่งทะยานสูงเฉียดฟ้า สร้างความขนลุกขนพอง เจ็บปวดรวดร้าว สั่นสะท้านถีงทรวงใน
สำหรับ Ending Song ชื่อบทเพลง Who Will Take My Dreams Away แต่งคำร้อง/ขับขานโดย Marianne Faithfull, แม้เนื้อเพลงจะเป็นภาษาอังกฤษ แต่ผมรู้สีกว่า Faithfull พยายามเปล่งออกเสียงเป็นคำๆ เพื่อให้มีสัมผัสเหมือนภาษาฝรั่งเศส (จะได้เข้ากับตัวหนัง) และน้ำเสียงอันหยาบกร้าน (ขณะนั้นเธออายุก้าวย่าง 50 ปี) เทียบแทนมิตรภาพ ความเพื่อน พี่-น้อง ครอบครัวเดียวกัน แม้ฉันไม่สามารถมอบทุกสิ่งอย่างให้เธอ แต่ก็พยายามให้เท่าที่ชีวิตจะถีงวันสิ้นสุดลมหายใจ
The City of Lost Children เมืองแห่งนี้ไม่ใช่แค่เด็ก/วัยเด็กที่สูญหาย หลงทาง หรือถูกทอดทิ้งขว้าง แต่ทุกตัวละครในหนังล้วนไขว้เขวออกนอกเส้นทางดำเนินชีวิตที่ถูกต้องเหมาะสม ต่างเลือกเชื่อมั่นในระบอบทุนนิยม สนเพียงสิ่งสามารถตอบสนองตัณหา ความต้องการ พึงพอใจส่วนตน ละทอดทิ้งศีลธรรม-มโนธรรม ถูก-ผิด ชอบ ชั่ว-ดี ราวกับไม่เคยมีผู้ใหญ่คอยเสี้ยมสอนสั่ง ผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ก็ไม่เคยปรากฎตัวออกมาเลยสักครั้ง
สามตัวร้ายของหนัง ล้วนเป็นตัวแทนด้านมืดของระบอบทุนนิยม
- นักวิทยาศาสตร์สติเฟื่อง Krank แม้มีความเฉลียวฉลาดอัจฉริยะ แต่กลับไร้ซึ่งศีลธรรมมโนธรรม สนเพียงกระทำสิ่งตอบสนองความต้องการ เติมเต็มความฝันที่สูญหายไปของตนเอง
- องค์กรศาสนา (Cyclopse) นำเอาความเจริญก้าวหน้าทางวัตถุ (ที่เพิ่มโสตประสาทในการมองเห็นและได้ยิน) มาเป็นหัวข้อในการชวนเชื่อ สร้างศรัทธา อ้างว่าจักได้ใกล้ชิด สัมผัสสิ่งเหนือธรรมชาติ
- สถานรับเลี้ยงเด็กกำพร้า (the Octopus) แฝดสยามสนเพียงความร่ำรวย เงินทอง สิ่งของสวยๆงามๆ เสี้ยมสอนสั่งสร้างค่านิยมผิดๆให้เด็กๆที่ยังอ่อนวัยไร้เดียงสา ทำในสิ่งขัดต่อหลักศีลธรรมมโนธรรม
ความเจริญก้าวหน้าทางวัตถุ/เทคโนโลยี ทำให้มนุษย์มีพัฒนาการ(ทางความคิด)รวดเร็วกว่า(ร่างกาย)ที่ควรเป็น เด็กๆสามารถรับเรียนรู้ เข้าใจสิ่งต่างๆรอบข้าง(ได้รวดเร็วกว่าผู้ใหญ่) หรือจะเรียกว่าเติบโตเป็นผู้ใหญ่ก่อนวัยอันควร นั่นทำให้พวกเขาสูญเสียช่วงเวลาแห่งความบริสุทธิ์ ไร้เดียงสา ก้าวกระโดดไปตามเส้นทางที่(ผู้ใหญ่)วางไว้ จนไม่อาจครุ่นคิด มีความเพ้อฝัน เป็นตัวของตนเอง(ตามวัย)
มองในมุมผู้ใหญ่ที่เติบโตอย่างก้าวกระโดดในระบอบทุนนิยม มักไม่ได้มีพัฒนาการทางจิตใจ/สามัญสำนึกควบคู่ไปกับร่างกาย หรือใครสักคนคอยเสี้ยมสอนศีลธรรม/มโนธรรม (เด็กสมัยนี้เชื่อถือสิ่งอยู่ในอินเตอร์เน็ต มากกว่าพ่อแม่/ครูอาจารย์เสียอีกนะ!) นั่นทำให้ภายใน(จิตใจ)ของพวกเขา(แม้ร่างกายเติบใหญ่กลับ)มีสภาพเหมือนเด็กน้อยยังโหยหาที่พึ่งพักพิง ต้องการทำอะไรบางอย่างเพื่อเติมเต็มสิ่งขาดหาย (ทั้งร่างกาย-จิตใจ)
สิ่งที่ผู้กำกับ Jeunet ทอดทิ้งไว้ช่วงท้าย เรือสองลำแล่นออกจากแท่นขุดเจาะน้ำมันที่กำลังจะระเบิด ประกอบด้วยสองครอบครัวประหลาดๆ
- กลุ่มมนุษย์โคลนพร้อมมันสมอง (ทั้งหมดมีความสัมพันธ์ทางสายเลือด DNA) ล่องลอยไปอย่างไร้จุดหมาย ต่อจากนี้จะไม่มีใครชี้นำทาง แล้วพวกเขาจะดำเนินชีวิตกันอย่างไร
- เด็กๆกำพร้า (ไม่ได้มีความสัมพันธ์ใดๆทางสายเลือด) กำลังจะกลายเป็นครอบครัวเดียวกันกับ One และ Miette (และ Denree) แม้ยังไม่รู้ว่าอนาคตจะเป็นเช่นไร แต่พวกเราทั้งหมดจะมีกันและกันตลอดไป
ครอบครัว ความสัมพันธ์ไม่ว่าจะทางสายเลือดหรือไม่ นั่นคือสิ่งทำให้มนุษย์มีพลัง(ใจ)ในการต่อสู้ดิ้นรน อดทนต่อความทุกข์ยากลำบาก ไม่ว่าอนาคตจะเหี้ยมโหดร้าย เต็มไปด้วยอันตราย เหน็ดเหนื่อยทุกข์ทรมานสักเพียงใด ขอแค่เรามีกันและกัน เพียงเท่านั้นย่อมบังเกิดความอิ่มอุ่นภายใน
ด้วยทุนสร้าง $18 ล้านเหรียญ สูงสุดในฝรั่งเศสขณะนั้น เข้าฉายเปิดงานเทศกาลหนังเมือง Cannes หลายประเทศซื้อลิขสิทธิ์ไปจัดจำหน่าย แต่ไม่มีรายงานรายรับ ดูแล้วคงยากจะประสบความสำเร็จคืนทุน
หนังได้เข้าชิง César Awards 4 สาขา คว้ามา 1 รางวัล
- Best Cinematography
- Best Production Design ** คว้ารางวัล
- Best Costume Design
- Best Music
แม้ว่าหนังจะมี ‘visual’ ที่ตื่นตระการตา อลังการงานสร้าง รายละเอียดให้ครุ่นคิดวิเคราะห์มากมาย แต่มันก็จะเฉพาะแค่ครั้งแรก ‘First Impression’ เพราะเนื้อเรื่องราวจับต้องได้ยาก เยิ่นเย้อยืดยาว หาวแล้วหาวอีก แทบไม่มีความต่อเนื่อง เฉพาะกลุ่มเกินไป ถ้าไม่คลั่งไคล้ก็คงเบือนหน้าหนี … ผมค่อนไปทางรู้สึกน่าเบื่อหน่าย
หนังอาจไม่ถูกจริตกับผู้ชมทั่วๆไป เว้นแต่ถ้าคุณชื่นชอบแนว Sci-Fi, Steampunk, จินตนาการโลกอนาคตอันสิ้นหวัง, ศิลปิน นักออกแบบ สรรค์สร้างงานศิลปะ ก็น่าจะลองหามารับชมดูสักครั้ง
จัดเรต 18+ กับบรรยากาศตึงๆ ความรุนแรง ลักพาตัวเด็ก ฝันร้าย
Leave a Reply