
The Collector (1967)
: Éric Rohmer ♥♥♥♥
La Collectionneuse (แปลว่า The Collector) คือคำเรียกหญิงสาวที่ชื่นชอบสะสมแฟนหนุ่ม เก็บแต้มผู้ชายไม่เลือกหน้า แต่แท้จริงแล้วเธอเป็นเช่นนั้นหรือไหม? คว้ารางวัล Silver Bear: Extraordinary Jury Prize จากเทศกาลหนังเมือง Berlin, “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย”
ภาพยนตร์ลำดับที่สี่ของ ‘Six Moral Tales’ แต่ออกฉายเป็นเรื่องที่สาม เพราะว่า Jean-Louis Trintignant ติดพันโปรเจคอื่น ไม่มีคิวว่างถ่ายทำ My Night at Maud’s (1969) ผกก. Rohmer เลยตัดใจเลื่อนตารางงานออกไป
แต่จะให้อยู่ว่างๆเฉยๆก็สูญเสียเวลาเปล่า เลยครุ่นคิดพัฒนาโปรเจค La Collectionneuse (1967) ที่มีเรื่องราวเกี่ยวกับวันพักผ่อนว่างๆ แล้วถูกรุกรานโดยหญิงสาวคนหนึ่ง เข้ามาทำลายความสงบสุข พบเจอแต่เหตุการณ์วุ่นๆวายๆ เพราะเธอนำพาผู้ชายมาค้างคืนไม่ซ้ำหน้า
ระหว่างรับชมผมไม่ชอบหนังเท่าไหร่เลยนะ ไอ้พระเอกนี่ตัวเxยเลยละ ชอบพูดเสียดสีถากถาง มองด้วยสายตาดูถูกเหยียดยาม เห็นฝ่ายหญิงดั่งวัตถุทางเพศ (object of desire) ตีตราให้เธอเป็น ‘La Collectionneuse’ ยกยอปอปั้นตนเองว่ามีคุณธรรมสูงส่งค้ำฟ้า
กระทั่งพอดูหนังจบ ก็ทำให้ผมตระหนักได้ว่านี่คือ ‘Moral Tales’ เต็มไปด้วยข้อคิด คติสอนใจ พบเห็นตัวละครแบบนี้ย่อมสร้างจิตสามัญสำนึกถูก-ผิด ชอบ ชั่ว-ดีให้กับผู้ชม อีกทั้งความงดงามระดับวิจิตรศิลป์ของ La Collectionneuse (1967) แทบทุกช็อตฉากราวกับคอลเลคชั่นภาพวาดงานศิลปะ (Art Collection) เลยต้องจัดเข้าพวก “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย”
Éric Rohmer ชื่อเกิด Jean Marie Maurice Schérer หรือ Maurice Henri Joseph Schérer (1920-2010) นักเขียน นักวิจารณ์ ผู้กำกับภาพยนตร์ สัญชาติฝรั่งเศส เกิดที่ Nancy (บ้างก็ว่า Tulle), Meurthe-et-Moselle ในครอบครัวคาทอลิก (แต่เจ้าตัวบอกว่าเป็นอเทวนิยม) โตขึ้นร่ำเรียนประวัติศาสตร์ วรรณกรรม ปรัชญา และศาสนศาสตร์
ปล. Éric Rohmer เป็นคนไม่ชอบเปิดเผยเรื่องส่วนตัว อย่างชื่อจริงและสถานที่เกิด จงใจบอกกับนักข่าวถูกๆผิดๆ ขณะที่ชื่อในวงการเป็นส่วนผสมระหว่างผกก. Erich von Stroheim และนักเขียน Sax Rohmer (ผู้แต่ง Fu Manchu)
หลังเรียนจบ Rohmer ทำงานครูสอนหนังสือที่ Clermont-Ferrand พอสิ้นสุดสงครามโลกตัดสินใจย้ายสู่กรุง Paris กลายเป็นนักข่าวฟรีแลนซ์ ตีพิมพ์นวนิยาย Les Vacances (1946) ระหว่างนั้นเองเรียนรู้จักภาพยนตร์จาก Cinémathèque Française สนิทสนม Jean-Luc Godard, François Truffaut, Claude Chabrol, Jacques Rivette, จากนั้นเข้าร่วมนิตยสาร Cahiers du Cinéma, โด่งดังจากบทความ Le Celluloïd et le marbre (1955) แปลว่า Celluloid and Marble ทำการสำรวจความสัมพันธ์ระหว่างภาพยนตร์กับศิลปะแขนงอื่น, นอกจากนี้ยังร่วมกับ Chabrol เขียนหนังสือ Hitchcock (1957) เกี่ยวกับศาสตร์ภาพยนตร์เล่มแรกๆที่ทำให้ผู้อ่านตระหนักว่า สื่อชนิดนี้ไม่ได้แค่ความบันเทิงเท่านั้น
Rohmer เริ่มสรรค์สร้างหนังสั้น Journal d’un scélérat (1950), จากนั้นเขียนบท/ร่วมทำหนังสั้นกับ Jean-Luc Godard อยู่หลายเรื่อง, จนกระทั่งมีโอกาสกำกับภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่องแรก Le Signe du lion (1959) แม้ไม่ประสบความสำเร็จสักเท่าไหร่ แต่ก็ถือว่าเป็นหนึ่งในผลงานยุคแรกๆของ French New Wave
สำหรับ Contes Moraux หรือ (Six) Moral Tales ได้แรงบันดาลใจจากโคตรหนังเงียบ Sunrise: A Song of Two Humans (1927) ของปรมาจารย์ผู้กำกับ F. W. Murnau ที่มีเรื่องราวชายหนุ่มแต่งงานครองรักภรรยา แต่แล้วถูกเกี้ยวพาราสีจากหญิงสาวอีกคนจนหลงผิด พอถูกจับได้ก็พยายามงอนง้อขอคืนดี ก่อนจบลงอย่างสุขี Happy Ending
[these stories’ characters] like to bring their motives, the reasons for their actions, into the open, they try to analyze, they are not people who act without thinking about what they are doing. What matters is what they think about their behavior, rather than their behavior itself.
Éric Rohmer
เกร็ด: คำว่า moraliste ในภาษาฝรั่งเศสไม่ได้มีความหมายแบบเดียวกับ moralist (ที่แปลว่าคุณธรรม ศีลธรรม) แต่คือลักษณะความเชื่อมั่นทางความคิดของบุคคล อาจจะอ้างอิงหรือไม่อ้างอิงศีลธรรมจรรยาของสังคมก็ได้ทั้งนั้น หรือเรียกว่าอุดมคติส่วนตน/ความเชื่อส่วนบุคคล
a moraliste is someone who is interested in the description of what goes on inside man. He’s concerned with states of mind and feelings. I was determined to be inflexible and intractable, because if you persist in an idea it seems to me that in the end you do secure a following.
เนื่องจาก My Night at Maud’s (1969) มีเรื่องราวคาบเกี่ยวเทศกาลคริสต์มาสถึงวันขึ้นปีใหม่ ปกคลุมด้วยหิมะขาวโพลน สภาพอากาศหนาวเหน็บ, La Collectionneuse (1967) ผกก. Rohmer เลยต้องการปรับเปลี่ยนบรรยากาศมาถ่ายทำช่วงวันหยุดฤดูร้อน (Summer) ยังบ้านพักตากอากาศริมทะเล French Riviera
เกร็ด: ความสนใจเกี่ยวกับสภาพอากาศ ทำให้อีกสองทศวรรษถัดมาผกก. Rohmer สรรค์สร้างภาพยนตร์ 4 เรื่องเกี่ยวกับ ‘Tales of the Four Seasons’ ประกอบด้วย A Tale of Springtime (1990), A Winter’s Tale (1992), A Tale of Summer (1996) และ A Tale of Autumn (1998) ไว้เมื่อมีโอกาสอาจจะเขียนถึงนะครับ
ปัญหาใหญ่ของหนังคือการสรรหางบประมาณ ขณะที่ My Night at Maud’s (1969) ได้รับความอุปถัมภ์จาก François Truffaut แต่สำหรับ La Collectionneuse (1967) กลับไม่มีใครอยากสนับสนุนทุนสร้าง ด้วยเหตุนี้ผกก. Rohmer จึงจำยอมขายลิขสิทธิ์หนังสั้น The Bakery Girl of Monceau (1963) และ Suzanne’s Career (1963) ให้สถานีโทรทัศน์แห่งหนึ่ง ได้เงินมา $60,000 เหรียญ เพียงพอแค่ค่าฟีล์ม อุปกรณ์ถ่ายทำ เช่าบ้านพัก และแม่ครัวทำซุปผักสไตล์อิตาเลี่ยน (Minestrone)
The only expenses that summer were for film stock and rent for the house in Saint-Tropez, which was the set and which also housed cast and crew. There was also a small budget line for the salary of the cook, who, the stories go, cooked nothing but minestrone during the entire shooting schedule.
James Monaco จากหนังสือ The New Wave: Truffaut, Godard, Chabrol, Rohmer, Rivette (1974)
เมื่อได้สถานที่ถ่ายทำแถวๆ Saint-Tropez จึงรวบรวมทีมงาน นักแสดงสมัครเล่น (ที่เคยร่วมงานตั้งแต่ทำหนังสั้น และสามารถไม่รับค่าตัว –“) ใช้ข้ออ้างมาท่องเที่ยวพักผ่อน แต่เป้าหมายคือสุมหัว ระดมความคิด ช่วยกันครุ่นคิดพัฒนาบทหนัง จากนั้นทำการซักซ้อมจนพักพร้อม เพื่อเวลาเดินกล้องจักได้ถ่ายทำน้อยเทค ไม่เปลืองค่าฟีล์ม … วิธีการทำงานดังกล่าวได้กลายมาเป็นแนวทางของผกก. Rohmer มักให้นักแสดงได้ร่วมครุ่นคิดบทพูดของตนเอง ซักซ้อมจนพักพร้อม และถ่ายทำน้อยเทค
เกร็ด: ในเครดิตบทหนังจะมีขึ้นเครดิต Dialogue By ชื่อของสามนักแสดงนำ Haydée Politoff, Patrick Bauchau และ Daniel Pommereulle
เรื่องราวของ Adrien (รับบทโดย Patrick Bauchau) ชักชวนแฟนสาวให้มาพักผ่อนช่วงวันหยุดฤดูร้อน ยังบ้านเช่าของเพื่อนที่เมือง Saint-Tropez แต่เธอกลับบอกปัดปฏิเสธเพราะต้องบินไปทำงานกรุง London เป็นเหตุให้เขาต้องอยู่อย่างโดดเดี่ยวอ้างว้าง ร่วมกับเพื่อนสนิท Daniel (รับบทโดย Daniel Pommereulle) วันๆเลยใช้ชีวิตอย่างเรื่อยเปื่อย เอื่อยเฉื่อย เต็มไปด้วยความสงบสันติสุข
จนกระทั่งการมาถึงของหญิงสาวแรกรุ่น Haydée (รับบทโดย Haydée Politoff) ทุกค่ำคืนมักนำพาเพื่อนชายคนใหม่ ส่งเสียงครวญครางจนสร้างความหงุดหงิดรำคาญใจ สองหนุ่มจึงออกคำสั่งห้ามเธอนำพาใครมาหลับนอน หญิงสาวจึงเบนเข็มมาเกี้ยวพาราสี Adrien แต่เขาไม่ต้องการนอกใจแฟนสาวจึงแนะนำให้ไปอ่อยเหยื่อ Daniel ช่วงแรกๆก็เหมือนเข้ากันได้ดี แล้วจู่ๆฝ่ายชายเกิดความไม่พอใจอะไรบางอย่าง พ่นคำด่าทอเสียๆหายๆ ก่อนตัดสินใจหนีออกจากบ้านเช่า
Adrien จึงจำต้องครุ่นคิดแผนการใหม่ ด้วยการชักชวนนักสะสมชาวอเมริกันชื่อ Sam (รับบทโดย Seymour Hertzberg) แรกพบเจอก็มีความลุ่มหลงใหล Haydée หลังจากปล่อยให้ใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันสองวัน จู่ๆเธอดันทำแจกันราคาแพงตกแตก สองหนุ่มเลยต้องเร่งรีบหลบหนีหัวซุกหัวซน และระหว่างทางกลับพบเจอเพื่อนอีกกลุ่มของของหญิงสาว พบเห็นเป็นโอกาสที่จะปล่อยทอดทิ้ง ขับรถกลับบ้านเช่าเพียงลำพัง เพื่อว่าต่อจากนี้ฉันจะได้พักผ่อนวันหยุดฤดูร้อนอย่างสงบสันติสุขเสียที!
Patrick Nicolas Jean Sixte Ghislain Bauchau (เกิดปี 1938) นักแสดงสัญชาติ Belgian เกิดที่ Brussels, ครอบครัวอพยพสู่ประเทศอังกฤษในช่วงสงครามโลก โตขึ้นสอบได้ทุนเรียน Oxford University คณะภาษาสมัยใหม่ (Modern Languages), ช่วงต้นทศวรรษ 60s ค้นพบความสนใจด้านการแสดง ออกเดินทางสู่ฝรั่งเศสแล้วมีโอกาสร่วมงานผกก. Éric Rohmer ตั้งแต่หนังสั้น Suzanne’s Career (1963) [ไม่มีเครดิต], La Collectionneuse (1967), ผลงานเด่นๆ อาทิ Der Stand der Dinge (1982), A View to a Kill (1985), Panic Room (2002) ฯลฯ
รับบท Adrien เทพบุตรผมยาว นักสะสมวัตถุโบราณ อ้างความจงรักแฟนสาว สร้างกำแพงศีลธรรมอันสูงส่งขึ้นมากีดขวางกั้น Haydée ปฏิเสธที่จะสานสัมพันธ์ พยายามออกคำสั่งโน่นนี่นั่น แถมยังตีตราว่าร้ายให้เธอเป็น ‘La Collectionneuse’ พูดตำหนิต่อว่า เสียดสีถากถาง แถมยังครุ่นคิดแผนการผลักไสให้ออกห่าง เชื่อมั่นอย่างแรงกล้าว่าตนเองถูกต้องทุกสิ่งอย่าง
การแสดงของ Bauchau เต็มไปด้วยภาษากายมากมายนับไม่ถ้วน นั่ง-ยืน-เดิน แหวกว่ายน้ำในท้องทะเล มองด้วยสายตาไม่ยี่หร่าอะไร บ่อยครั้งใช้มือลูบไล้ รุกล้ำเรือนร่างกายหญิงสาว (นี่คือลักษณะของ ‘sexual harassment’) ไฮไลท์ต้องยกให้การใช้น้ำเสียง บรรยายด้วยความเนิบนาบ แต่เต็มไปด้วยอคติ รังเกียจเดียดชัง Haydée ไม่รู้เธอไปทำอะไรให้เขาโกรธเกลียดเคียดแค้นขนาดนั้น
พฤติกรรมสารพัดจะร้ายของ Adrien ไม่ใช่เรื่องง่ายในการอดรนทน เชื่อว่าผู้ชมส่วนใหญ่ย่อมเต็มไปด้วยอคติ ไม่เข้าใจว่าหนังต้องการจะสื่ออะไร แต่สำหรับคนเคยรับชม ‘Six Moral Tales’ น่าจะเกิดข้อฉงนสงสัย เพราะตัวละครนี้ไม่มีความเห็นอกเห็นใจตามสไตล์ผกก. Rohmer เช่นนั้นแล้วมันย่อมต้องมีอะไรบางอย่างเคลือบแอบแฝง เมื่อสามารถขบไขปริศนา ย่อมตระหนักถึงบทเรียนอันทรงคุณค่า
Haydée Politoff (เกิดปี 1946) นักแสดงสัญชาติฝรั่งเศส เกิดที่ Saint-Denis, บิดาเป็นชาวรัสเซีย ตั้งชื่อบุตรสาวจากนางเอกวรรณกรรม The Count of Monte Cristo (1844), เธอไม่ชอบวิชาคณิตศาสตร์ เลยตัดสินใจลาออกจากโรงเรียน ระหว่างทำงานร้านกาแฟ Café de Flore บังเอิญพบเจอผกก. Éric Rohmer ชักชวนมาแสดงภาพยนตร์ La Collectionneuse (1966) แจ้งเกิดโด่งดังโดยทันที! ต่อมาประสบความสำเร็จอย่างล้นหลามที่อิตาลี Bora Bora (1968), หลังจากนั้นพอมีผลงานการแสดงประปราย จนได้แต่งงาน แล้วปักหลักใช้ชีวิตอยู่สหรัฐอเมริกา
รับบท Haydée วัยรุ่นสาวที่ไม่ได้สวยเลิศเลอ (ถ้าตามมาตรฐาน ‘beauty standard’ สมัยนั้นถือว่าผอมกระหร่อง) แต่เป็นที่หมายปองของหนุ่มๆ อีกทั้งอุปนิสัยใจง่าย ไม่ได้รักนวลสงวนตัว บรรดาบุรุษทั้งหลายจึงมองเธอดั่งวัตถุทางเพศ (object of desire) เพียงต้องการครอบครองเป็นเจ้าของ และร่วมรักหลับนอน
รูปร่างหน้าตาของ Politoff ไม่ได้สวยสะเด็ด ยั่วเย้ายวนอย่าง Brigitte Bardot แต่ดูเหมือนหญิงสาวใจง่าย พร้อมไปกับชายทุกคน พูดตรงๆก็คือกระหรี่ โสเภณี หญิงโสมม ‘slut’ สำหรับคนที่มีกำแพงคุณธรรมสูงส่ง พบเห็นแล้วย่อมบังเกิดอคติ รังเกียจเดียดชัง ไม่ต้องการอยู่เคียงชิดใกล้ พยายามตีตนออกให้ห่างไกล
แต่ตัวตนแท้จริงของ Haydée หาใช่ผู้หญิงเก็บแต้มอย่างที่ถูกตีตราว่าไว้! ผมรู้สึกว่าใบหน้าของเธอดูเศร้าๆ เหงาๆ บอกว่ายังไม่เคยมีคนรัก กำลังพยายามค้นหาใครสักคนสามารถเป็นที่พึ่งพักพิง ถึงอย่างนั้นชายใดๆที่พานผ่านเข้ามา ล้วนสนเพียงเรื่องอย่างว่า ไร้บุคคลซื่อสัตย์ มั่นคง จริงใจ ใกล้เคียงที่สุดอาจคือ Adrien แต่หมอนี่กลับพยายามขับไล่ ผลักไส แสดงพฤติกรรมเลวร้ายยิ่งว่าผู้อื่นใด
อาจมีบางคนรู้สึกสาสมน้ำหน้ากับตัวละคร เพราะทำตัวเองเปลี่ยนผู้ชายไม่เลือกหน้า เลยสมควรถูกตีตราว่าร้าย ‘La Collectionneuse’ แต่นั่นเพราะหนังนำเสนอเรื่องราวผ่านมุมมองของ Andrien ทุกคำพูด เสียงบรรยาย ล้วนสะท้อนความครุ่นคิดที่เป็นอคติ โดยไม่ได้พยายามเรียนรู้จัก ทำความเข้าใจหัวอกหญิงสาว นั่นไม่ใช่สิ่งถูกต้องสักเท่าไหร่ แถมยังมีการบุกรุกล้ำเรือนร่างกาย (sexual harassment) เราควรรู้สึกสงสารเห็นใจ Haydée มากกว่านะครับ
ถ่ายภาพโดย Néstor Almendros Cuyás (1930-92) ตากล้องสัญชาติ Spanish เกิดที่ Barcelona แล้วหลบลี้หนีภัย (จากจอมพล Francisco Franco) มาอาศัยอยู่ประเทศ Cuba จากนั้นไปร่ำเรียนการถ่ายภาพยังกรุงโรม Centro Sperimentale di Cinematografia, หวนกลับมาถ่ายทำสารคดี Cuba Revolution (1959) พอถูกแบนห้ามฉายก็มุ่งสู่ Paris กลายเป็นขาประจำผู้กำกับรุ่น French New Wave ร่วมงานขาประจำ Éric Rohmer และ François Truffaut ผลงานเด่นอื่นๆ อาทิ Days of Heaven (1978) ** คว้า Oscar: Best Cinematography, Kramer vs. Kramer (1979), The Blue Lagoon (1980), Sophie’s Choice (1982) ฯ
ตั้งแต่ที่ Almendros อพยพย้ายสู่ฝรั่งเศส ก็มีโอกาสร่วมถ่ายทำสารคดีฉายโทรทัศน์ของผกก. Rohmer เลยชักชวนมาเป็นผู้ควบคุมกล้อง ‘camera operator’ ให้กับ La Collectionneuse (1967) แต่เพราะโปรเจคนี้ต้องทำฟรีไม่มีค่าจ้าง รวมถึงความขัดแย้งด้านวิสัยทัศน์ระหว่างผู้กำกับและตากล้องคนก่อน Almendros จู่ๆได้รับโอกาสขึ้นมาลองถ่ายภาพ ตาสีตาสา ใช้ทุกสิ่งอย่างที่เพียงมี ทดลองถ่ายทำจนออกมาดูเป็นธรรมชาติ สร้างความโคตรๆประทับใจ กลายเป็นขาประจำร่วมงานกันอีกหลายครั้ง
The film had to have a ‘natural’ look, whether we wanted it to or not, because we had only five photoflood lamps.
His criterion (Rohmer) is that if the image portrays the characters simply, and as close to real life as possible, they will be interesting.
Néstor Almendros
สไตล์อันจะกลายเป็นจุดขายของ Almendros คือลีลาการใช้แสงธรรมชาติ ใครช่างสังเกตจะสามารถแยกแยะได้ว่า
- เมื่อตอนมีแดดจะพยายามขับเน้นโทนสีส้ม น้ำตาลอ่อนๆ มอบสัมผัสนุ่มนวล อบอุ่น ละมุนไม มักเป็นช่วงเวลาแห่งความเพลิดเพลิน ผ่อนคลาย กระทำสิ่งสร้างความสุขเกษมสำราญ
- พอแดดหาย หรือหลบซ่อนตัวใต้ร่มเงา มักเป็นช่วงเวลาเหน็ดเหนื่อยเบื่อหน่าย ขี้เกียจคร้าน ไร้ความสดชื่นชีวิตชา
- ยามค่ำคืน ส่วนใหญ่ถ่ายตอนเย็นๆไร้แดด ใช้แสงจากหลอดไฟให้น้อยที่สุด (เพราะมันไม่มีให้ใช้) โทนสีน้ำเงินสร้างความรู้สึกหนาวเหน็บ เยือกเย็นชา
หนังปักหลักถ่ายทำอยู่ยัง Mas de Chastelas บ้านพักหรูสไตล์ Provencal ในย่าน Gassin, Saint-Tropez ทางตอนใต้ของฝรั่งเศส สร้างขึ้นช่วงศตวรรษที่ 18 (ในอดีตย่านนี้คือสถานที่ทำฟาร์มไหม, Silkworm) อยู่ห่างจากชายหาด San Tropez Beach เพียง 4 กิโลเมตร และย่านเมือง Saint-Tropez ระยะทาง 6 กิโลเมตร … ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1967 ได้เปลี่ยนมาเปิดกิจการโรงแรม 5 ดาว (ในมิชลินไกด์ให้ 3 ดาว) มีห้องพัก 14 ห้องนอน 9 ห้องสูท เพิ่มเติมสระว่ายน้ำ สิ่งอำนวยความสะดวกมากมาย มีเว็บไซด์ทางการ สามารถจองผ่านเว็บท่องเที่ยว Agoda, Booking ฯลฯ



La Collectionneuse (1967) คือภาพยนตร์เรื่องแรกของผกก. Rohmer ถ่ายทำด้วยฟีล์มสี Eastmancolor ด้วยเหตุนี้เลยทดลองละเลงสีสันกับตัวอักษรชื่อหนัง แต่จะว่าไปเราสามารถมองว่านี่คือ ‘คอลเลคชั่นสี’ ได้ด้วยเช่นกัน
ขณะเดียวกันหนังก็ใช้อัตราส่วนภาพ Academy Ration (1.37:1) ที่นิยมในโปรดักชั่นฝั่งโทรทัศน์ (คือขนาดของจอตู้โทรทัศน์สมัยก่อน) แต่เหตุผลของผกก. Rohmer น่าจะต้องการทำให้มีลักษณะเหมือนเฟรมผ้าใบ สำหรับใช้วาดภาพงานศิลปะ

หนังเริ่มต้นด้วยการขึ้นข้อความอารัมบท (Prologue) แนะนำสามตัวละครหลัก Haydée, Daniel และ Adrien (ตามลำดับ)
สำหรับ Haydée เริ่มต้นด้วยการเดินแฟชั่นชุดว่ายน้ำริมชายหาด (สีชุดช่างกลมกลืนไปกับผืนน้ำทะเล) กล้องพยายามเก็บรายละเอียดทางกายภาพของเธอ ขณะก้าวเดิน ยืนเหมือนเทพี (แลดูคล้ายๆรูปปั้นแกะสลัก) และถ่ายระยะใกล้แทบเห็นรูขุมขน ในลักษณะของ ‘male gaze’ เพื่อสื่อถึงการจับจ้องมองหญิงสาว (คอลเลคชั่นชุดว่ายน้ำ) แลดูราวกับวัตถุทางเพศ (object of desire)



อารัมบทของ Daniel มีสองสิ่งที่น่าสนใจ
- สรรค์สร้างงานศิลปะด้วยการติดใบมีดโกนโดยรอบกระป๋อง ในหนังมีการอธิบายถึงคำพูดเฉียบแหลมคม แต่ผมมองว่ามันคือพิษสงรอบตัว พร้อมทำให้ใครก็ตามที่สัมผัสถูกกรีดเลือดไหล ไม่ว่าจะโดยตั้งใจหรือไม่ (ไม่ได้ตั้งใจให้ชายคนนี้ถูกบาดแต่ก็โดนจนได้)
- สามารถสะท้อนถึงพูดของตัวละครที่ราวกับอสรพิษพ่นพิษใส่ Haydée สรรพสรรหาถ้อยคำเพื่อสร้างความเจ็บปวด บาดลึกทรวงใน
- ระหว่างการสนทนา สังเกตว่า Daniel ถอดเสื้อไหมพรมสีเหลือง มาเป็นเชิ้ตแขนยาวสีน้ำเงิน ซึ่งถือว่ามีลักษณะแตกต่างตรงกันข้าม! สะท้อนตัวตนของเขาที่จากเคยพูดน้อย สงบนิ่งเงียบ แต่หลังจากสานสัมพันธ์กับ Haydée ก็เปลี่ยนแปลงราวกับคนละคน



อารัมบทของ Adrien เริ่มต้นด้วยการสนทนานิยามความรัก เปิดประเด็นคำถาม คนเราชื่นชอบบุคคลที่มองว่าน่ารังเกียจ ‘ugly’ ได้อย่างไร? ฟังไปฟังมาผมก็ตระหนักว่าความครุ่นคิดของหญิงสาวคนนี้ สะท้อนตัวตนของ Adrien (ที่นั่ง-นอนคอเอียงๆ รับฟังอย่างเงียบๆ) ซึ่งตรงกันข้ามกับแฟนสาว (ของ Adrien) บอกว่าความรักคือเรื่องของจิตใจ ไม่เกี่ยงว่าภายนอกจะอัปลักษณ์สักแค่ไหน
นี่ถือเป็นสไตล์ของผู้กำกับ Rohmer ชักชวนให้ตั้งคำถาม โดยมีสองทางเลือกให้ผู้ชมลองครุ่นคิด นิยามความรักขึ้นอยู่กับรูปร่างหน้าตา เพศสภาพ เชื้อชาติพันธุ์ ชนชั้นฐานะ สิ่งที่สายตามองเห็น หรืออุปนิสัยใจคอ ความงดงามที่อยู่ภายในจิตใจ ต้องเรียนรู้จักกันไปสักพัก ถึงสามารถพบเห็นตัวตนแท้จริงของอีกฝั่งฝ่าย


รับชมภาพยนตร์ของผกก. Rohmer ต้องสังเกตภาษากาย สามารถบ่งบอกความสัมพันธ์ระหว่างตัวละคร! อย่างฉากนี้ Adrien กับแฟนสาว
- เริ่มต้นก้าวเดินมาถึงตำแหน่งนี้ ต่างฝ่ายต่างโอบกอด หันหน้าสบตา แสดงความรักต่อกันอย่างดูดดื่มด่ำ
- แต่หลังจากเธอบอกว่าไม่สามารถอาศัยอยู่ร่วม ต้องเดินทางกลับไปทำงานประเทศอังกฤษ ปฏิกิริยาฝ่ายหญิงต้องการที่จะแยกตัวออกห่าง หันเอียงด้านข้าง แต่เขาโอบเหนี่ยวรั้ง พยายามโน้มน้าวให้เปลี่ยนใจ สุดท้ายเธอยังคงผลักไส ทอดทิ้งเขาไป และเดินกลับตัวคนเดียว
- ผมรู้สึกว่าเธอไม่ค่อยชอบพฤติกรรมเจ้ากี้เจ้าการ ชอบควบคุมบงการของ Adrien สักเท่าไหร่ แม้ยังรักมากแต่ก็น่าจะใกล้การเลิกรา
แซว: ใครตั้งใจรับฟังซีนนี้จะได้ยินเสียงเครื่องบินแล่นผ่าน ผมครุ่นคิดว่าน่าจะคือสัญลักษณ์การเดินทางของความสัมพันธ์ สถานที่แห่งนี้ราวกับสรวงสวรรค์ จุดสูงสุดที่พวกเขาพากันมาถึง … ก่อนแยกย้ายจากกันไป


หลังแยกทางกับแฟนสาว Adrien เดินตรงมายังสระว่ายน้ำ ทำท่าเหมือนจะกระโดดแต่กลับแค่จับจ้องมองแล้วเดินจากไป นี่อาจสร้างความฉงน เพื่ออะไร?? แต่ไม่นานหลังจากเข้าพักที่ Saint-Tropez พบเห็นกิจวัตรประจำวันยามเช้า ออกไปว่ายน้ำยังชายหาด San Tropez Beach อธิบายว่าคือกิจกรรมสร้างความผ่อนคลาย เพลิดเพลินไปกับวิถีธรรมชาติ
สาเหตุที่ไม่กระโดดน้ำก็เพราะว่า สระแห่งนี้เป็นบ่อขุด ไม่ใช่สายน้ำธรรมชาติ เลยมิอาจทำให้ความว้าวุ่นวายภายในจิตใจสงบลง และอาจไม่ได้เตรียมชุดมาด้วยกระมัง –“


ระหว่างการแหวกว่ายน้ำอยู่ในทะเล จะมีการร้อยเรียงชุดภาพก้อนหิน ประการัง พื้นผิวน้ำพริวไหว ฯลฯ เพื่อสร้างสัมผัสการเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ หรือคือ Adrien ต้องการใช้ชีวิตช่วงวันหยุดอย่างอยู่นิ่งเฉย ไม่ต้องการครุ่นคิดทำอะไร … นี่คือลักษณะของบทกวีภาพยนตร์ ไม่รู้กลายเป็นแรงบันดาลให้ผกก. Andrei Tarkovsky หรือเปล่านะ



แซว: ใครติดตามภาพยนตร์ของผู้กำกับยุค French New Wave น่าจะมักคุ้นลีลาการแนะนำสื่อประเภทอื่น แทรกใส่เข้ามาในหนัง อย่างหนังสือเล่มนี้ Œuvres Complètes (ค.ศ. 1786) แปลว่า Complete Work รวบรวมผลงานของ Jean-Jacques Rousseau (1712-78) นักเขียน/นักปรัชญา นักทฤษฎีการเมืองชาว Geneva
Rousseau โด่งดังจากนวนิยายแนวการเมือง มักสอดแทรกคำสอนให้คนหันกลับไปหาธรรมชาติ (back to nature) ยกย่องคุณค่าของคนว่า “ธรรมชาติของมนุษย์มีดีอยู่แล้ว แต่สังคมทำให้คนไม่เสมอภาคกัน” พัฒนาการความรู้ทำให้รัฐบาลมีอำนาจมากขึ้น ซึ่งจะทำลายเสรีภาพของปัจเจกชน และยังให้ข้อสรุปว่าพัฒนาการเชิงวัตถุนั้น จะทำลายโอกาสของความเป็นเพื่อนที่จริงใจ โดยจะทำให้เกิดความอิจฉา ความกลัว และความระแวงสงสัย … การอ้างอิงนวนิยายเล่มนี้ ก็เพื่อสื่อถึงการหันเข้าหาธรรมชาติของ Adrien นั่นเองละครับ

ในภาพยนตร์ของผกก. Rohmer การสัมผัส กอดจูบลูบไล้ ‘Physical Contact’ ระหว่างชาย-หญิง ไม่ได้แปลว่าต้องมีฝั่งฝ่ายไหนบังเกิดอารมณ์ทางเพศ หรือพฤติกรรมเอารัดเอาเปรียบ ‘sexual harassment’ เสมอไปนะครับ! แต่คือสัญลักษณ์หนึ่งของภาษากาย สื่อถึงระยะความสัมพันธ์ สนิทสนมใกล้ชิด
อย่างฉากนี้ Haydée ยินยอมให้ Adrien สัมผัสลูบไล้เรียวขา เพราะคาดหวังว่าจะเป็นการสานความสัมพันธ์กับเขา แต่ฝ่ายชายไม่เพียงไม่มีอารมณ์ร่วมใดๆ ตรงกันข้ามลูบไล้เสร็จก็พูดคำหยามเหยียด พยายามให้อีกฝั่งฝ่ายรู้สึกรังเกียจ จะได้ตีตนออกห่างไกล ไม่อยากอยู่เคียงชิดใกล้
แซว: ไม่รู้ทำไมพบเห็นฉากนี้แล้ว ชวนให้ผมนึกถึงภาพยนตร์เรื่อง Claire’s Knee (1970) ชายวัยกลางคนพยายามครุ่นคิดหาวิธี เพื่อจะได้สัมผัสกับเข่าของวัยรุ่นสาวชื่อ Claire โดยไม่ให้ถูกมองว่าเป็นการเอารัดเอาเปรียบ

ขณะที่ Haydée นอนอ่านหนังสือบนเตียงผ้าใบอยู่เงียบๆ สองหนุ่มนั่งเอนตัวอยู่บนเนินเขา (ตำแหน่งสูงกว่าราวกับพระราชา) ก็เริ่มครุ่นคิดให้คำนิยาม “She’s a collector!” เพราะพฤติกรรมสำส่อน ร่วมหลับนอนผู้ชายไม่เลือกหน้า ขัดย้อนแย้งต่อศีลธรรมมโนธรรมทางสังคม สิ่งแรกที่ฝ่ายหญิงกระทำคือขาขึ้นมาข้างหนึ่ง (ภาษากายที่สามารถสื่อว่า ส้นตีนเถอะ!) แล้วพูดคำแก้ตัวว่าฉันไม่ใช่คนแบบนั้น เพียงกำลังค้นหาบางสิ่งอย่าง/ใครบางคน
เกร็ด: หนังสือของ Haydée ชื่อว่า Le Romantisme allemand (1966) แปลว่า German Romanticism ซึ่งได้ทำการรวม ‘คอลเลคชั่นเรื่องสั้น’ แนวโรแมนติกของชาวเยอรมัน แปลโดย Albert Béguin (1901-1957) สัญชาติ Swiss ตีพิมพ์ลงนิตยสาร Cahiers du Sud ตั้งแต่ปี 1949 (รวมเล่มตีพิมพ์หลังการเสียชีวิต)


ผมรู้สึกว่าบรรดาท่านั่ง-ยืน-นอน ที่พบเห็นในหนัง ล้วนมีการโพสท่วงท่าที่ดูแปลกๆ ชวนให้ระลึกถึงรูปแกะสลัก ภาพวาดงานศิลปะยุคสมัย Renaissance หรือผลงานของ Michelangelo ซึ่งก็สามารถเหมารวมถึงการนำเสนอ ‘คอลเลคชั่นงานศิลปะ’ ได้เช่นกัน
ผมเลือกสองช็อตนี้มาอธิบายเคียงคู่กัน เพื่อให้สังเกตถึงตำแหน่งสูง-ต่ำ ในการนั่งนอนของตัวละคร ซึ่งสะท้อนการวางตัว ทัศนคติของชายทั้งสองที่มีต่อหญิงสาว
- Adrien มักวางตัวหัวสูงส่งกว่า Haydée อยู่เสมอๆ
- แม้หลังจาก Daniel มีความสัมพันธ์กับ Haydée เขายังคงนั่งครองบัลลังก์บนโซฟาใหญ่ ปล่อยให้เธอนั่งเก้าอี้ตัวเล็ก แถมยังเอาขาวางพาดด้านบน เพื่อให้เห็นว่าหญิงสาวคือบุคคลต่ำต้อยด้อยค่ากว่า


อาชีพนักสะสมวัตถุโบราณของ Adrien สามารถสะท้อนมุมมองทัศนคติ ความเชื่อส่วนบุคคล ยึดถือมั่นในขนบกฎกรอบ ขนบประเพณีทางสังคม เลยไม่แปลกที่จะแสดงพฤติกรรมรังเกียจต่อต้าน Haydée ซึ่งเป็นตัวแทนหญิงสาวรุ่นใหม่ โหยหาเสรีภาพ กระทำสิ่งตอบสนองความต้องการของหัวใจ
แจกันสมัยราชวงศ์ซ่ง (ค.ศ. 960-1279) คือสิ่งที่ Adrien จับจ้องมองหามาแสนนาน สิ่งของรักของหวง ราวกับแฟนสาวในอุดมคติ! ผิดกับ Haydée ถูกเปรียบดั่งแจกันอีกใบที่เป็นเพียงของแถม ของปลอม ให้ไปฟรีๆโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย … ด้วยเหตุนี้ แจกัน จึงคือสิ่งสัญลักษณ์ที่สามารถสะท้อนค่านิยมทางสังคม (ของ Adrien)
- แจกันสมัยราชวงศ์ซ่ง คือตัวแทนขนบธรรมเนียมทางสังคมที่ยึดถือปฏิบัติมายาวนาน (ข้ออ้างศีลธรรมของ Adrien)
- แจกันปลอม แทนค่านิยมของคนสมัยใหม่ ไร้มูลค่า ไร้ราคา สามารถผลิตซ้ำได้ทั่วไป
ด้วยเหตุนี้ การทำลายแจกันสมัยราชวงศ์ซ่งของ Haydée สามารถสื่อถึงคนรุ่นใหม่ จักเป็นผู้ทำลายล้างระเบียบทางสังคมที่เคยยึดถือปฏิบัติสืบทอดต่อกันมา … นี่เป็นการพยากรณ์อนาคตของ Mai ’68 ได้เลยนะครับ!


ค่ำคืนที่ Daniel อดรนทน Haydée ไม่ไหวอีกต่อไป (เอาจริงๆผมก็ไม่เข้าใจว่าเขามีอคติอะไรกับเธอนะครับ) ยืนย่ำเท้าอยู่หน้ากระจก (เหมือนการนับถอยหลังเวลาที่อยู่บ้านพักแห่งนี้) สร้างความรำคาญ พร่ำพูดเสียดสีถากถาง ขณะที่หญิงสาวสวมชุดสีดำ (มวลรวมแห่งความชั่วร้าย ตรงข้ามกับสีขาวบริสุทธิ์) นอนแผ่ผังพาบอยู่บนโซฟา (ไม่รู้ทำไมทำให้ผมนึกถึงบรรดาภาพนู้ดของ Amedeo Modigliani) และหลังจากนี้จะมีละเล่นกับหลอดสีแดง (เลือด?)
เกร็ด: หนังสือเล่มนี้คือ Dracula (ค.ศ. 1897) ต้นฉบับแต่งโดย Bram Stoker, นี่น่าจะสื่อถึงพฤติกรรม ‘Vamp’ (มาจากคำเต็มๆว่า Vampire) หมายถึง หญิงที่ล่อลวงชายด้วยเสน่ห์, จะว่าไปชุดสีดำที่สวมใส่อาจจะอ้างอิงถึง Les Vampires (1915–16) โคตรหนังซีเรียนคลาสสิกของ Louis Feuillade (ที่ Irma Vep สวมใส่ชุดยางสีดำ ซึ่งยังคือจุดเริ่มต้นของคำเรียก ‘Vamp’ อีกด้วยนะ)

ฉากเล็กๆชวนฉงนของคนถามทาง ขับรถทิศไหนถึงสามารถออกไปยังท้องทะเล? ดูจากภาษากายของ Adrien เหมือนว่าเขาจะไม่รับรู้อะไร แต่กลับพยายามชี้บอกมั่วๆไป แล้วถูกโต้ตอบกลับว่าทะเลมันอยู่ฝั่งตรงข้ามไม่ใช่หรือ … อ้าว ถ้ารู้แล้วจะถามทำไม?
ผมมองนัยยะของฉากนี้ ล้อกับทิศทางการตัดสินใจของ Adrien สิ่งที่เขาครุ่นคิดว่าถูก มันอาจไม่จำเป็นว่าต้องถูกต้องเสมอไป อย่างการตีตราว่าร้าย Haydée ตัวตนแท้จริงของเธออาจไม่ใช่ ‘La Collectionneuse’ ซึ่งก็ไม่น่าใช่จริงๆนะแหละ!
และการเลือกกล้องมุมนี้ให้ถ่ายติดทะเล (นี่มันแม่น้ำมากกว่านะ) เหมือนต้องการสื่อว่าก็พบเห็นปลายทาง/ข้อเท็จริง (เกี่ยวกับ Haydée)อยู่ทนโท่ แต่ก็ยังเลือกบอกทิศทางอย่างผิดๆ/ตีตราหญิงสาวอย่างเสียๆหายๆ

แม้ว่าตำแหน่งที่นั่งจะหันกันคนละทิศทางสามเส้า แต่การสนทนาส่วนใหญ่เกิดขึ้นระหว่าง Adrien กับ Sam ขณะที่ Haydée ทำได้เพียงรับฟังอย่างสงบเงียบงัน (แสดงถึงความไม่สนใจ ไม่รับรู้ ไม่ประสีประสาอะไรทั้งนั้น)
- Adrien พยายามจะอธิบายหลักการ อุดมการณ์ความเชื่อ ‘moral’ ของตนเอง
- ขณะที่ Sam จักค่อยๆตระหนักถึงเบื้องหลังของ Adrien เลยพยายามกระชากหน้ากาก เปิดโปงตัวตนแท้จริง
แต่มีสิ่งหนึ่งที่ผมรู้สึกว่า Adrien พูดถึงตัวเองได้น่าสนใจมากๆ
I think sincerely, that I serve mankind better by resting.
Adrien
ผมมองถึงสิ่งที่ถือเป็นนัยยะของตัวละคร นั่นคือบุคคลผู้ยึดถือมั่นในกฎกรอบ ขนบประเพณี วิถีทางสังคม อนุรักษ์นิยม ขวาจัด คนประเทศนี้สามารถทำประโยชน์แก่มวลมนุษยชาติด้วยการพักผ่อน ลงโลง ไปตายซะ! … นี่แอบสะท้อนความหัวก้าวหน้าของผกก. Rohmer ได้อย่างคมคายมากๆ



ผมไม่ได้จะอธิบายซ้ำนะครับว่าแจกันสมัยราชวงศ์ซ่งสื่อนัยยะอะไร แต่อยากให้สังเกตชุดของ Haydée ท่อนบนมีโทนสีใกล้เคียงแจกันมากๆ (สามารถสื่อถึงเปลือกภายนอกที่เธอยังต้องแสดงออกตามขนบประเพณีทางสังคม) แต่ท่อนล่างตั้งแต่หน้าอกลงมากลับเป็นอีกสีน้ำเงิน (ธงชาติฝรั่งเศสคือสัญลักษณ์ของ ‘เสรีภาพ’) สะท้อนความต้องการของคนรุ่นใหม่ โดยเฉพาะสิทธิ์ในเรือนร่างกายของตนเอง
แซว: เสื้อของ Adrien ก็เขียวล้วนเลยนะครับ (คงไม่ต้องอธิบายกระมังว่าสื่อถึงอะไร)

I break whatever I wish.
Haydée
ผมชอบประโยคนี้นะ ไม่ใช่แค่การทำแจกันตกแตก แต่รวมไปถึงการแหกกฎกรอบ ขนบประเพณี ทุกสิ่งอย่างที่ขัดย้อนแย้งต่อวิถีความเชื่อส่วนบุคคล และภาพสะท้อนในกระจกเงาสองบาน ก็สามารถสื่อถึงสภาพจิตใจที่แตกร้าว (กระจกสองบาน = สองตัวตนที่อยู่ภายในจิตใจ) เพราะเป็นอีกครั้งที่หญิงสาวสูญเสียชายคนรัก (Sam) ที่คาดหวังจะพึ่งพักพิง

ล้อกับตอนที่ Daniel ยืนย่ำเท้าส่งเสียงสร้างความรำคาญ ก่อนหลบหนีออกจากบ้านพักวันถัดมา, Adrien ก็เฉกเช่นเดียวกัน มิอาจอดรนทนต่อเสียงบีบแตรไล่รถคันหลัง เลยตัดสินใจปล่อยทอดทิ้ง Haydée ที่กำลังสนทนากับเพื่อนฝูงไว้ข้างหลัง จากนั้นได้ยินเสียงบรรยายทำการยกย่องปอปั้น สรรเสริญหนทางเลือกของตนเอง กล่าวอ้างว่าคือสิ่งถูกต้องเหมาะสม ด้วยภาพใบหน้าเต็มกระจกมองหลัง (สามารถสื่อถึงอีโก้ที่เอ่อล้น จิตใจอันคับแคบ แสดงออกถึงตัวตนไม่ใคร่สนความรู้สึกของ Haydée เลยสักนิด!)
การกระทำดังกล่าวของ Adrien ถือเป็นจุดแตกหัก/ตัดหางปล่อยวัด Haydée ซึ่งสะท้อนพฤติกรรมของบุคคลที่มีความ ‘สุดโต่ง’ ยึดถือมั่นในอุดมการณ์ความเชื่อของตนเองอย่างแรงกล้า จนไม่สามารถโอนอ่อนผ่อนปรน ให้การยินยอมรับอีกฝั่งฝ่ายขั้วตรงข้าม ในบริบทนี้คืออนุรักษ์นิยม ขวาจัด!


หลังจาก Adrien ตัดสินใจตัดหางปล่อยวัด Haydée เขาก็ได้รับอิสรภาพสนองความต้องการ อาศัยอยู่บ้านพักหลังนี้ตัวคนเดียว สามารถใช้ชีวิตอย่างสงบสุข สันโดดเดี่ยว เคียงข้างธรรมชาติ แต่เพราะมนุษย์มิอาจธำรงอยู่ได้ด้วยตัวคนเดียว เกิดความอ้างว้างเปล่าเปลี่ยว เมื่อตระหนักถึงความจริงข้อนี้ จึงมิอาจอดรนทนแม้เสียววินาทีเดียว! … โทรศัพท์ไปยังสายการบิน ต้องการเดินทางไปหาแฟนสาวที่อังกฤษโดยพลัน!
ความน่าสนใจของช็อตสุดท้ายนี้ก็คือ ภายในห้องพักมีความอึมครึม มืดครื้ม ขณะที่ภายนอกกลับส่องแสงแดดจร้า (มีความตัดกันระหว่างภายนอก-ใน) เพื่อต้องการสื่อว่าตัวคนเดียวมันเปล่าเปลี่ยวหัวใจ โลกภายนอกต่างหากที่เต็มไปด้วยความอบอุ่น อิ่มเอมหฤทัย

ตัดต่อโดย Jacky Raynal หรือ Jacquie Raynal ขาประจำในผลงานยุคแรกๆของ ผกก. Éric Rohmer ตั้งแต่ The Bakery Girl of Monceau (1963) จนถึง La Collectionneuse (1967)
หลังจากอารัมบท หนังดำเนินเรื่องผ่านมุมมองสายตาพร้อมเสียงบรรยายของ Adrien ระหว่างอาศัยอยู่บ้านพักตากอากาศย่านเมือง Saint-Tropez ช่วงแรกๆมีเพียงเพื่อนสนิท Daniel กระทั่งการมาถึงของ Haydée นำพาความวุ่นวายเข้ามาในชีวิต จึงครุ่นคิดสารพัดแผนการเพื่อขับไล่ ผลักไส ตีตนออกให้ห่างไกล
ผมแบ่งแยกองค์ประกอบของหนังจาก ‘La Collectionneuse’ ของ Haydée ที่พยายามเกี้ยวพาราสีชายทุกคนที่พบเจอ โดยจะมีอยู่ 3 บุคคลหลักๆประกอบด้วย Andrien (ไม่สำเร็จ), Daniel และ Sam
- อารัมบท แนะนำตัวละคร
- ถ่ายแบบชุดว่ายน้ำของ Haydée
- ตรรกะของ Daniel
- สนทนาเรื่องความรักของ Adrien แล้วชักชวนแฟนสาวไปพักผ่อนฤดูร้อนร่วมกัน
- ช่วงเวลาแห่งความสงบสันติสุข
- กิจวัตรประจำวันของ Adrien และ Daniel ยังบ้านพักตากอากาศ
- การมาถึงของ Haydée
- นำพาชายหนุ่มแวะเวียนเข้ามายังบ้านพักตากอากาศไม่ซ้ำหน้า สร้างความไม่พึงพอใจต่อ Adrien และ Daniel ออกคำสั่งห้ามไม่ให้เธอนำใครมาอีก
- Haydée เกี้ยวพาราสี Andrien
- เมื่อถูกบีบบังคับเช่นนั้น Haydée จึงพยายามเกี้ยวพาราสี Adrien ใช้เวลาอยู่ร่วมกันสองต่อสอง แต่เขากลับสร้างกำแพงศีลธรรมขึ้นมาขวางกั้น และชี้แนะนำให้ไปคบหากับ Daniel
- Haydée เกี้ยวพาราสี Daniel
- เมื่อสานสัมพันธ์กับ Daniel ช่วงแรกๆก็ดำเนินไปด้วยดี แล้วจู่ๆเขากลับเกิดความไม่พึงพอใจ Haydée และตัดสินใจออกไปจากบ้านพักแห่งนี้
- Haydée กับพ่อค้าของสะสม Sam
- พ่อค้าของสะสม Sam เพื่อนของ Andrien เมื่อแรกพบเจอ Haydée ก็เกิดความชื่นชอบหลงใหล แต่หลังจากอาศัยอยู่ร่วมกันเพียงสองวัน เธอพลั้งพลาดทำของสะสมชิ้นหนึ่งตกแตก เลยต้องหลบหนีหัวซุกหัวซุน
- ปัจฉิมบท การตัดสินใจของ Adrien
- ระหว่างทางกลับบ้านพัก Haydée พบเจอเพื่อนชายอีกกลุ่มหนึ่ง Adrien เลยตัดสินใจปล่อยทอดทิ้งเธอไว้ตรงนั้น
- แต่พอกลับมาบ้านพัก หลงเหลือเพียงตัวคนเดียว ก็มิอาจทนความโดดเดี่ยวอ้างว้างได้อีกต่อไป
การที่หนังนำเสนอเรื่องราวผ่าน’มุมมอง’ของ Adrien แต่เพียงผู้เดียว ก็เพื่อสร้างความรู้สึกอึดอัด ด้วยโลกทัศน์อันคับแคบ (อัตราส่วนภาพก็แค่ Academy ratio, 1.37:1) กำแพงศีลธรรมอันสูงส่งห้อมล้อมรอบตนเอง สนเพียงเปลือกภายนอกพบเห็น แล้วทำการวิพากย์วิจารณ์ ใช้ถ้อยคำด่ากราดรุนแรง ไม่พยายามเรียนรู้จัก ทำความเข้าใจตัวตนของอีกฝั่งฝ่าย
ลีลาการตัดต่อหนังขนาดยาว (feature length) ของผกก. Rohmer แตกต่างจากหนังสั้นอย่างมากๆ เมื่อตอน The Bakery Girl of Monceau (1963) มีความรวดเร็ว กระชับ ฉับไว ‘jump cut’ ก็ยังมี! แต่ตั้งแต่ La Collectionneuse (1967) ให้เวลากับบทพูดสนทนา แช่ภาพค้างไว้หลายวินาที บางซีนใช้เพียงช็อตเดียวเท่านั้น! เพื่อผู้ชมสามารถซึมซับบรรยากาศสถานที่ ราวกับได้ไปท่องเที่ยวพักผ่อนฤดูร้อนยัง French Riviera
หนังถือว่าไม่มีบทเพลงประกอบ นอกเสียจาก ‘diegetic music’ ดังขึ้นจากเครื่องเล่นแผ่นเสียง และตอน Opening Credit เห็นว่าเรียบเรียงโดย Giorgio Gomelsky จากวงดนตรีสัญชาติอังกฤษ The Blossom Toes ที่ทำเพลงแนว Psychedelic Pop
Adrien คือชายหนุ่มที่มีคู่หมั้นหมายปอง พยายามชักชวนเธอมาอาศัยอยู่ด้วยกันช่วงวันหยุดฤดูร้อน แต่เมื่อถูกบอกปัดปฏิเสธก็เลยต้องการใช้ชีวิตอย่างเงียบๆ เรื่อยเปื่อยไปวันๆ จนกระทั่งการมาถึงของ Haydée สร้างความหงุดหงิดรำคาญใจ (ผสมความอิจฉาริษยาด้วยกระมัง) เลยวางแผนขับไล่ ผลักไส ชี้ชักนำให้ไปเกี้ยวพาราสีชายอื่น ไม่ต้องการสานสัมพันธ์ นอกใจหญิงสาวคนรัก
วิธีการของ Adrien ว่ากันตามตรงก็ไม่แตกต่างจากเรื่องอื่นๆของ ‘Six Moral Tales’ บุรุษมีสตรีคนรักอยู่แล้ว กำลังถูกท้าทายโดยหญิงสาวแปลกหน้า แต่ด้วยความยึดถือมั่นในหลักการ อุดมการณ์ความเชื่อ ข้ออ้างศีลธรรมอันสูงส่ง จึงพยายามกีดกันผลักไส ไม่ต้องการกระทำสิ่งขัดแย้งต่อ ‘moral’ ของตนเอง
แต่บทเรียนของ La Collectionneuse (1967) คือพฤติกรรมแสดงออกของ Adrien อยู่ดีไม่ว่าดี เริ่มจากการตำหนิต่อว่า พูดจาเสียดสีถากถาก มองด้วยสายตาดูถูกเหยียดหยาม ตีตราว่าร้าย Haydée เปรียบดัง ‘La Collectionneuse’ ชื่นชอบสะสมแต้มชาย แถมยังพยายามขับไล่ ผลักไส ปฏิบัติกับเธอราวกับไม่ใช่มนุษย์มนา … นั่นใช่สิ่งที่ ‘สุภาพบุรุษ’ สมควรกระทำเสียที่ไหน
แม้จะมีส่วนจริงที่ Haydée แสดงพฤติกรรมสำส่อน เปลี่ยนผู้ชายไม่เลือกหน้า แต่มันก็ไม่ใช่เรื่องที่ใครควรตำหนิต่อว่า ตีตราให้ร้าย เธออาจมีเหตุผลบางอย่างของตนเอง ต้องการมองหาใครสักคนเคียงข้างกาย เราควรกล่าวโทษบุรุษทั้งหลายมากกว่า สนเพียงจะครอบครองเป็นเจ้าของ ร่วมรักหลับนอน น้ำแตกแล้วแยกทาง นั่นต่างหากคือสิ่งผิดหลักศีลธรรม มโนธรรม สะท้อนความต่ำตมของสังคมในปัจจุบัน
การแสดงความคิดเห็น วิพากย์วิจารณ์ เอาจริงๆมันไม่ได้ผิดอะไรนะครับ ก็เหมือน raremeat.blog วิจารณ์ภาพยนตร์ คนคอมเมนต์ใน Social Media ฯ แต่สิ่งที่มันไม่เหมาะสมคือการวิพากย์โดยใช้มุมมองของตัวเราเองเพียงด้านเดียวมาตัดสินคนอื่น! Adrien มองเพียงเปลือกภายนอก พฤติกรรมเปลี่ยนผู้ชายไม่ซ้ำหน้าของ Haydée หาได้พยายามครุ่นคิดเข้าใจ ‘เอาใจเขามาใส่ใจเรา’ ที่เธอแสดงออกแบบนี้เพราะอะไร
แซว: ลักษณะของการวิพากย์วิจารณ์ผู้อื่นและตัวตนเอง คือสไตล์ลายเซ็นต์ภาพยนตร์แห่งยุคสมัย French New Wave
ผมมีความโคตรๆประทับใจต่อ Haydée แม้รับฟังคำตำหนิต่อว่า ติเตียนด่าทอ แต่เธอกลับไม่เคยโต้ตอบกลับ แสดงออกทางอารมณ์ หรือฉันต้องพิสูจน์อะไรให้ใครเห็น … Social Media เป็นสื่อสาธารณะแบบเปิด ผมเองก็ชอบเข้าไปอ่านข้อความกล่าวถึง raremeat.blog ทั้งแง่ดีและลบ แต่หลังๆมานี้รู้สึกว่ามันมีความ ‘toxic’ อันเกิดจากความคิดเห็นที่แตกต่างขึ้นเรื่อยๆ ใจจริงก็ไม่ได้อยากโต้ตอบกลับอะไรเพราะรำลึกถึงคำสอนท่านพุทธทาสไว้เสมอว่า “หมาเห่าอย่าเห่าตอบ เพราะมันจะทำให้มีหมาเพิ่มอีกตัว” แต่บางครั้งความรุนแรงมันก็สามารถแก้ปัญหา
คนที่ติดตาม raremeat.blog มาสักระยะน่าจะรับรู้ว่างานเขียนของผมมีลักษณะ ‘provocative’ กระตุ้นให้เกิดปฏิกิริยา อารมณ์ร่วม มักแสดงความคิดเห็นในลักษณะนอกกระแส สวนทางสังคม เพื่อให้ผู้อ่านได้เกิด’ปัญญา’สำหรับทำความเข้าใจสิ่งนั้นๆโดยรอบด้าน
“ไม่รู้ว่าน่ายินดีหรือสมเพศเวทนา กับชาร์ทภาพยนตร์ที่เคยได้รับการยกย่องว่าน่าเชื่อถือที่สุดในโลก”
ลองไปหาตามเพจ เว็บไซต์ นักวิจารณ์ส่วนใหญ่ไม่มีใครกล่าวถึงชาร์ท Sight & Sound: The Greatest Films of All Time 2022 ในทิศทางด้านลบเลยนะครับ มีแต่คนยกยอปอปั้นว่าสามารถสะท้อนบริบททางสังคมยุคสมัยนี้ได้อย่างน่าสนใจ ทั้งๆในมุมมองของคนรักหนังทั่วๆไป ผลลัพท์ของชาร์ทนี้ถือว่าโคตรๆน่าผิดหวัง ยิ่งเมื่อลงรายละเอียดคนโหวตจะสังเกตพบเห็นความผิดปกติมากมาย หลายคนมักเลือกผลงานจากประเทศตนเอง 1-2 เรื่อง, กำกับโดยผู้หญิง 1-2 เรื่อง, LGBT+ คนผิวสี 1-2 เรื่อง, หรืออย่าง Wes Anderson บอกว่าตอนนี้ฉันอยู่ฝรั่งเศสก็เลยเลือกเฉพาะหนังฝรั่งเศส ฯลฯ มันไม่ผิดอะไรที่จะโหวตแบบนี้นะครับ แต่ลองถามใจตัวเองดูว่าชาร์ทที่ใครต่อใครมี ‘mindset’ เปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆตามบริบททางสังคม มันยังคงมีความน่าเชื่อถือของ The Greatest Film of All Time อยู่อีกไหม?
บทความลักษณะนี้ถือว่ามีลักษณะของการสวนกระแสสังคม ย่อมมีทั้งคนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย แต่คุณมองเห็นสาระของมันหรือเปล่า? คนบางคนเกิดอารมณ์เพราะไม่เห็นด้วยที่ผมแสดงความคิดเห็นอย่างแรงๆ พยายามชี้ชักนำผู้อ่าน แต่มันต่างอะไรกับหนังของ John Cassavetes, Andrzej Żuławski ฯลฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Possession (1981) ที่เต็มไปด้วยอารมณ์เกรี้ยวกราด รับชมแล้ว/อ่านแล้วทำให้คุณเปิดมุมมองที่อยู่อีกฟากฝั่งขั้วตรงข้าม เออเว้ยเห้ยมันทำแบบนี้ได้ด้วยว่ะ มีคนไม่ชอบชาร์ทนี้ด้วยอ่ะ … เหรียญมีสองด้านเสมอนะครับ!
กลับมาที่ La Collectionneuse (1967) พฤติกรรมของ Andrien จะว่าไปก็ยังสะท้อนค่านิยมของสังคม อดีต vs. ปัจจุบัน ยุคสมัยก่อนที่ชายเป็นใหญ่/ช้างเท้าหน้า จึงมักออกกฎระเบียบ ข้ออ้างทางศีลธรรมมากมาย หญิงสาวต้องรักนวลสงวนตัว ปฏิบัติตามกฎกรอบข้อบังคับ ห้ามแต่งตัวโป๊เปลือย รักษาความบริสุทธิ์ รวมถึงแต่งงานครองรักกับบุรุษเพียงหนึ่งเดียว … เหล่านี้คือข้ออ้างทางศีลธรรม ‘moral’ อันสูงส่งของคนสมัยก่อน
แต่มันก็เพราะบุรุษเองนะแหละที่กระทำสิ่งขัดย้อนแย้งต่อหลักการของตนเอง คบชู้สู่หญิง นอกใจภรรยา เมื่อพบเห็นอะไรไม่น่าพึงพอใจก็ใส่อารมณ์ ใช้กำลังความรุนแรง มาจนถึงปัจจุบันวิถีทางดังกล่าวจึงเสื่อมกระแสนิยม ได้รับการโต้ตอบกลับ ตาต่อตา ฟันต่อฟัน ทำไมหญิงสาวต้องรักนวลสงวนตัว มันก็เสรีภาพของฉันจะแต่งตัวโป๊เปลือย มีเพศสัมพันธ์ไม่ซ้ำหน้า แต่งงาน-หย่าร้าง แลกคู่ รวมกลุ่ม ไม่จำกัดเพศสภาพ ฯลฯ
ประสบการณ์จากเคยเป็นครูสอนหนังสือ ทำให้ผกก. Rohmer สามารถสังเกตพฤติกรรมวัยรุ่นหนุ่มสาวยุคสมัยนั้น 60s แม้เจ้าตัวอายุกว่า 40+ (ขณะสร้าง La Collectionneuse อายุ 45-46 ปี) แต่ก็ยังสามารถกลายเป็นส่วนหนึ่งของ French New Wave (แก่สุดในรุ่น) สรรค์สร้างผลงานสะท้อนวิถีทางสังคมที่กำลังปรับเปลี่ยนแปลงไป … อารัมบทก่อนเข้าสู่เหตุการณ์ Mai ’68
หนังฉายรอบปฐมทัศน์ในฝรั่งเศสช่วงเดือนมีนาคม ค.ศ. 1967 ก่อนได้รับเลือกเข้าร่วมเทศกาลหนังเมือง Berlin (ช่วงเดือนมิถุนายน) คว้ามาสองรางวัลอย่างไม่มีใครคาดคิดถึง
- Silver Berlin Bear: Special Prize of the Jury เคียงข้างกับ Next Year, Same Time (1967)
- Youth Film Award: Best Feature Film Suitable for Young People
แม้หนังได้เสียงตอบรับอย่างยอดเยี่ยมจากผู้ชม/นักวิจารณ์ในยุโรป แต่เมื่อเข้าฉายสหรัฐอเมริกากลับมีเพียงเสียงบ่น ‘boring’ ถึงอย่างนั้นกาลเวลาก็พิสูจน์คุณค่าของภาพยนตร์เรื่องนี้ โดยเฉพาะนักวิจารณ์ Roger Ebert ให้คะแนน 4/4 และจัดเป็น Great Movie
ปัจจุบันหนังได้รับการบูรณะ ‘digital restoration’ ร่วมกับ ‘Six Moral Tales’ เรื่องอื่นๆ คุณภาพ 2K สามารถหาซื้อแบบ Boxset หรือรับชมได้ทาง Criterion Channel
อย่างที่บอกไปว่า ผมไม่ค่อยประทับใจเรื่องราวของหนังระหว่างรับชมสักเท่าไหร่ สันดานตัวละครแม้งเxยสุดตรีนจริงๆ แต่หลังจากครุ่นคิดทบทวน หาอ่านบทความวิจารณ์ต่างประเทศ ก็ระลึกได้ว่านี่คือ ‘Moral Tales’ ที่นำเสนอความไม่ถูกต้องของอุดมการณ์/หลักการ ข้ออ้างศีลธรรม โดยไม่รู้ตัวเกิดความขนลุกขนพอง ตระหนักว่าสามารถใช้เป็นบทเรียนสอนจิตสามัญสำนึกได้อย่างทรงคุณค่าโคตรๆ … จะว่าไปนี่อาจเป็น Contes moraux ยอดเยี่ยมที่สุดในทั้งหกเรื่องเลยกระมัง!
‘Six Moral Tales’ เป็นซีรีย์แนะนำกับวัยรุ่น คนหนุ่มสาว รับชมให้เกิดความตระหนักถึงหนทางเลือก การตัดสินใจ ไม่ได้ชี้แนะว่าอะไรถูก-ผิด ขึ้นอยู่กับตัวเราจะขบครุ่นคิด ยึดถือปฏิบัติตาม บทเรียนสอนการดำรงชีวิต
“ต้องดูให้ได้ก่อนตาย” นี่เป็นภาพยนตร์ที่นำเสนอข้ออ้างทาง ‘moral’ ที่ไม่ถูกต้อง ซึ่งสามารถใช้เป็นบทเรียนสอนตัวเราให้รู้จักมีสติ ไม่ลุ่มหลงงมงายความเชื่อแบบผิดๆ จนปฏิเสธครุ่นคิดทำความเข้าใจผู้อื่น บุคคลประเภทนี้สุดท้ายแล้วจะเหลือเพียงตัวตนเอง ใครกันจะอยากอยู่เคียงข้าง
จัดเรต 15+ กับคำพูดเสียดสี ถากถาง รังเกียจผู้หญิง มองเธอดั่งวัตถุทางเพศ
Leave a Reply