La Coquille et le Clergyman

La Coquille et le Clergyman (1928) French : Germaine Dulac ♥♥♥♥

ความสำเร็จอันล้นหลามของ Un Chien Andalou (1928) ทำให้ใครๆต่างครุ่นคิดเข้าใจว่าคือ ‘ภาพยนตร์ Surrealist เรื่องแรกของโลก’ แต่แท้จริงแล้ว The Seashell and the Clergyman (1928) เรื่องนี้ต่างหากออกฉายก่อนหน้าหลายเดือนทีเดียว

ขณะที่ Un Chien Andalou (1928) ของผู้กำกับ Luis Buñuel และนักเขียน Salvador Dalí มีฉากตราตรึงระดับตำนานคือ กรีดตาลูกวัว, La Coquille et le Clergyman (1928) ของผู้กำกับ Germaine Dulac และนักเขียน Antonin Artaud ใช้เทคนิคภาพยนตร์หั่นใบหน้ามนุษย์ออกเป็นสองส่วน

ถ้าไม่บังเอิญเขียนถึง La Souriante Madame Beudet (1922) ของผู้กำกับ Germaine Dulac ผมคงไม่มีโอกาสรับรู้จักภาพยนตร์เรื่องนี้ และทราบถึงข้อเท็จจริงลวงหลอกตาของ Un Chien Andalou (1928) หาใช่ครั้งแรกของแนว Surrealist ซะที่ไหน!

มันมีหลายสาเหตุผลที่ทำให้ La Coquille et le Clergyman (1928) ถูกหลงลืมมองข้าม อาทิ
– เกิดเหตุการณ์จราจลหลังฉายหนังจบ เพราะมีฉากผู้หญิงเปลือยอก และบาทหลวงวิ่งร่านแต๋วแตก
– ถูกแบนโดย British Board of Film Censors ด้วยเหตุผลซับซ้อนจนไร้สาระ “so cryptic as to be almost meaningless. If there is a meaning, it is doubtless objectionable”.
– และสร้างโดยผู้กำกับหญิง!

ความยากในการครุ่นคิดวิเคราะห์ภาพยนตร์เรื่องนี้อยู่ในระดับ มหาโหด! ผมรับชมรอบแรกพอรู้เรื่องประมาณ 30% แสวงหาบทวิจารณ์อ่านแล้วกลับไปดูซ้ำอีกรอบเพิ่มขึ้นมา 60% ยังอีกหลายส่วนที่ไม่ค่อยเข้าใจเท่าไหร่ แต่น่าจะพอเขียนบทความนี้อ่านรู้เรื่องอยู่บ้าง


Germaine Dulac ชื่อจริง Charlotte Elisabeth Germaine Saisset-Schneider (1882 – 1942) ผู้กำกับสร้างภาพยนตร์ นักทฤษฎี/นักวิจารณ์ สัญชาติฝรั่งเศส เกิดที่ Amiens ในครอบครัว Upper-Middle-Class พ่อรับราชการทหารต้องโยกย้ายไปมาหลายที่เลยส่งเธออาศัยอยู่กับย่ายังกรุงปารีส ทำให้มีโอกาสเรียนรู้จักงานศิลปะ ดนตรี วาดภาพ การแสดง ด้วยความสนใจในสภาพสังคมและสิทธิสตรี โตขึ้นทำงานนักข่าวหนังสือพิมพ์ นักวิจารณ์ บรรณาธิการนิตยสาร La Fronde (เลื่องลือชาในความเป็น Radical Feminist) ต่อมาหลงใหลการถ่ายภาพ และเริ่มสนใจภาพยนตร์จากคำแนะนำของ Stacia Napierkowska

ประมาณปี 1921 มีโอกาสพบเจอสนทนากับ D. W. Griffith บูรพาจารย์ผู้บุกเบิกวงการภาพยนตร์ เขียนบทความสองข้อสรุปที่กลายมาเป็นอุดมการณ์สร้างสรรค์ผลงานของเธอ
– ภาพยนตร์คือศิลปะที่มีอิสรภาพ (Independent Art) สามารถหลุดพ้นจากอิทธิพลของวรรณกรรม ภาพวาด หรือแม้แต่งานศิลปะแขนงอื่นๆ
– สิ่งสำคัญสุดของการสร้างภาพยนตร์ คือความเป็นส่วนตัว (Individual Artistic) และพลังเชิงประดิษฐ์ (Creative Force)

เป้าหมายของ Dulac คือต้องการสรรค์สร้างผลงานมีความเป็น ‘Cinema pur’ หรือคือ Pure Cinema นำเสนอสิ่งที่ ‘ภาพยนตร์’ สามารถทำได้เท่านั้น นั่นคือร้อยเรียงตัดต่อภาพเคลื่อนไหว ใช้ทุกเทคนิคที่มีก่อให้เกิดงานศิลปะชั้นสูง!

ผลงานของ Dulac สามารถแบ่งออกเป็นสามช่วงเวลา
– ก่อนปี 1921, คือช่วงแห่งการเรียนรู้ ทดลองโน่นนี่นั่น พบเจอความสำเร็จบ้างกับ Âmes de fous (1918)
– French Impressionist, นับตั้งแต่ได้พูดคุยกับ D. W. Griffith ทำให้ค้นพบเป้าหมาย/อุดมการณ์ ผลงานเด่นๆ อาทิ La Fête espagnole (1920), La Souriante Madame Beudet (1923) ฯ
– ก้าวสู่ Surrealist กับ La Coquille et le Clergyman (1928) *** เรื่องนี้สร้างขึ้นก่อน Un Chien Andalou (1929) แต่กลับถูกหลงลืมมองข้าม

ก้าวสู่ Surrealist ของ Dulac ถือว่าเกิดขึ้นจากประสบการณ์สร้างภาพยนตร์ เก็บเกี่ยวสะสม ทดลองโน่นนี่นั่นจนพัฒนากลายเป็น! ว่าไปแตกต่างตรงกันข้ามกับ Luis Buñuel สรรค์สร้าง Un Chien Andalou (1928) คือผลงานแรกแจ้งเกิด แสดงถึงอัจฉริยภาพ สามารถเริ่มต้นทันทีโดยไม่ต้องมีอารัมบท

การมาถึงของยุคหนังพูด ทำลายอุดมการณ์เป้าหมายของ Dulac ไม่สามารถปรับตัวเปลี่ยนแปลง เลยผันตัวสู่การทำโฆษณา สารคดีข่าว Newsreel จนกระทั่งเสียชีวิตปี 1942 สิริอายุ 59 ปี (กว่า Buñuel จะค้นพบหนทางพัฒนา Surrealist สู่ยุคสมัยหนังพูด ก็ใช้เวลาเป็นทศวรรษๆถัดจากนั้นเลยนะครับ!)


La Coquille et le clergyman ดัดแปลงจากบทละครเวที สร้างโดย Antonin Artaud (1896 – 1948) นักเขียน/นักแสดงสัญชาติฝรั่งเศส เจ้าของทฤษฎี ‘Theatre of Cruelty’

“a primitive ceremonial experience intended to liberate the human subconscious and reveal man to himself”,

– นิยามของ Theatre of Cruelty

เรื่องราวของบาทหลวง (รับบทโดย Alex Allin) มีความลุ่มหลงใหล ตกหลุมรักหญิงสาวคนหนึ่ง (รับบทโดย Genica Athanasiou) แต่เธอกำลังจะแต่งงานกับนายพล (รับบทโดย Lucien Bataille) ด้วยเหตุนี้จึงพยายามแก่งแย่งกีดกัน วิ่งไล่ล่าติดตาม สุดท้ายไม่สำเร็จเลยได้แต่เพ้อใฝ่ฝันทำใจ

ว่ากันว่าตอนแรก Artaud เขียนบทบาทนี้เพื่อรับบทนำบาทหลวงด้วยตนเอง แต่เพราะคิวงานไม่ว่างเลยถอนตัวออกไป ส้มหล่นใส่ Alex Allin แจ้งเกิดจากเคยร่วมงานกำกับ Jean Epstein เรื่อง The Adventures of Robert Macaire (1925), Mauprat (1926) ฯ

นักแสดงของหนังมีลักษณะเหมือนหุ่น ไม่ได้แสดงสีหน้าอารมณ์ใดๆ นอกจากการขยับเคลื่อนไหว คืบคลาน วิ่งไล่ล่าติดตาม ฯ ดูแล้วคงรับอิทธิพลจาก German Expressionist มาพอสมควร

ถ่ายภาพ/ตัดต่อ … ไม่มีเครดิต

ขอเริ่มต้นจากเปลือกหอย (Seashell) ก่อนแล้วกัน, ช่วงกลางๆเรื่องจะพบเห็นบาทหลวงฉุดดึงเสื้อผ้าของหญิงสาว จากหน้าอกเปลือย Cross-Cutting กลายเป็นเปลือกหอย นั่นแปลว่าเจ้าสิ่งนี้คือสัญลักษณ์แทนด้วยหญิงสาว (ผมว่าคนไทยพอเห็นเปลือกหอย น่าจะอัตโนมัติเข้าใจได้ทันทีว่าสื่อความถึงอะไร)

ตอนต้นเรื่อง บาทหลวงรินเทน้ำจากเปลือยหอย (คิดแบบหื่นๆไปเลยก็ได้นะ) ลงขวดแก้วแล้วโยนทิ้ง นั่นแสดงถึงความหมกมุ่น ไม่พึงพอใจต่อสิ่งที่เป็นอยู่ เขาอาจพบเจอรู้จักหญิงสาวมานมนามจากการรับฟังคำสารภาพบาป แต่มิอาจกระทำอะไรไปมากกว่านั้น จนกระทั่งนายพลเข้ามาฉกแย่งชิงสิ่งของล้ำค่านี้ไปจากตน (ท่าเดินสโลโมชั่นราวกับพระเอกมาแล้ว!) ท่วงท่าทางฟันก็คือเปิดบริสุทธิ์หญิงสาว ดาบยาวๆ แทนได้ด้วยอวัยะเพศชาย

บาทหลวงเมื่อเริ่มครุ่นคิดได้ เลยคืนคลานออกจากห้องไปตามท้องถนนหนทาง เมื่อพบเห็นรถม้าของนายพลและว่าที่ภรรยา ลุกขึ้นวิ่งไล่ติดตามไปจนถึงโบสถ์ แล้วพยายามขัดขวางฉุดรั้งให้ทั้งสองแยกจากกัน, คำอธิบายใบหน้าตัวละครถูกตัดแบ่งครึ่งก็ด้วยสาเหตุนี้ คือความพยายามทำลาย/ฉีกขาดความสัมพันธ์ของทั้งสองให้ต้องแยกจากกัน

ถัดจากนี้สามารถเหมารวมคือความเพ้อฝันของบาทหลวง นำเสนอในเชิงสัญลักษณ์ทั้งหมด
– เริ่มจากออกเดินทางติดตาม ข้ามน้ำข้ามทะเล เดินวิ่งไล่ล่า
– งานเลี้ยงเต้นรำในปราสาท ทำได้แค่จับจ้องมอง
– หลงทางในปราสาท/เขาวงกต แม้มีกุญแจแต่กลับค้นหาห้องของหัวใจไม่พบเจอสักที

พยายามสักเท่าไหร่ก็ไม่สามารถติดตามไขว่คว้า ครอบครองเป็นเจ้าของหญิงสาว เมื่อถึงจุดๆหนึ่งจิตใจของบาทหลวงได้แปรสภาพสู่ความอิจฉาริษยา รับไม่ได้กับการถูกล้อเลียนแลบลิ้น จินตนาการว่าตนเองกำลังบีบคอหญิงสาว ในอุ้งมือต้องการทำลายปราสาท(ของนายพล) และตลอดการเดินทางอันไร้ค่านี้

คริสตัลขนาดใหญ่ สามารถเทียบแทนด้วยจิตใจ/จิตวิญญาณของบาทหลวง เมื่อความเพ้อใฝ่ฝันไม่อาจประสบความสำเร็จ ถึงจุดๆหนึ่งเลยปล่อยตกแตก หลงเหลือเพียงเปลือกหอยและภาพซ้อนหญิงสาว ดื่มด่ำรสน้ำทิพย์ที่เพียงแค่ได้ชื่นชมในจินตนาการเท่านั้น

La Coquille et le clergyman นำเสนอเรื่องราวของบุคคล ผู้มิอาจหักห้ามเสียงเพรียกเรียกร้องจากใจ ต้องการครอบครองสิ่งที่ตนไม่ใช่เจ้าของ พยายามขวนขวายไขว่คว้า แม้สุดท้ายจักมิสำเร็จสมหวัง แต่แค่ในจินตนาการเพ้อฝันก็ยังดี

‘ความหมกมุ่น’ ดูจะเป็นใจความที่ผู้กำกับ Dulac ต้องการนำเสนอถ่ายทอดออกมา ใช้ตัวละครบาทหลวงที่สมควรเก็บกดซ่อนเร้นอารมณ์ความรู้สึก แต่กลับตะเกียกตะกาย คืบคลาน ออกวิ่งไล่ล่าติดตาม (ไม่ต่างจาก Stalker) เพื่อหวังครอบครองเป็นเจ้าของหญิงสาว แม้แต่งงานแล้วก็ช่าง ทำไมฉันถึงจะทำไม่ได้!

จากใจความของหนังดังกล่าว โดยส่วนตัวรู้สึกว่ามีความเป็น French Impressionist มากกว่า Surrealist เสียอีกนะ! แต่ความหมกมุ่นอันบ้าคลั่งของบาทหลวง ทำให้เกิดภาพเหมือนฝัน (Dream-like) ซึ่งสิ่งต่างๆที่เกิดขึ้นทั้งวัตถุเชิงสัญลักษณ์ และภาษาภาพยนตร์ มันมีความแปลกประหลาดพิศดาร นั่นคือวิวัฒนาการของผู้กำกับ Dulac เพื่อก้าวสู่เป้าหมาย Cinema pur

ทั้งๆตัวละครหญิงสาวมีลักษณะเพียง ‘วัตถุแห่งความต้องการ’ ไม่ได้มีจิตวิญญาณซ่อนเร้นในการแสดง แต่หนังกลับได้รับการยกย่องในแง่ Feminist อย่างล้นหลาม … นี่เป็นสิ่งที่บอกเลยว่าผมไม่ค่อยเข้าใจสักเท่าไหร่! เท่าที่อ่านจากคำอธิบายให้เหตุผล เพราะหญิงสาวกล้าที่จะผลักไส วิ่งหนี สามารถเอาตัวหลุดรอดพ้น ไม่ยินยอมรับการถูกบาทหลวงครอบครองเป็นเจ้าเธออย่างผิดหลังศีลธรรมมโนธรรม

มองมุมหนึ่งของหนัง ถือว่าโจมตีคริสตจักรอย่างรุนแรง บาทหลวงที่ควรยกย่องเทิดทูนเหนือเกล้า ได้รับการนำเสนอออกมาไม่ต่างจากคนธรรมดาสามัญ มักมากด้วยกิเลสตัณหา ทำทุกสิ่งอย่างเพื่อสนองราคะ ความต้องการพึงพอใจส่วนตน, ประเด็นต่อต้านศาสนา พบเห็นได้บ่อยครั้งในผลงานผู้กำกับ Dulac คาดคิดว่าที่เธอเกิดอคติขัดแย้งขนาดนี้ น่าจะเพราะตนเองเป็นเลสเบี้ยนด้วยกระมัง นั่นเป็นสิ่งที่สังคมยังไม่ค่อยให้การยินยอมรับสักเท่าไหร่ 

ขณะเดียวกัน หนังชักชวนให้ผู้ชมตั้งคำถามเกี่ยวกับศีลธรรม/มโนธรรมของมนุษย์ เพราะเหตุใด? ทำไม? คนเราถึงต้องเรียนรู้จักการหักห้ามใจตนเอง? อยากได้อะไรไม่ใช่ว่าสมควรต้องขวนขวายไขว่คว้า ทำทุกสิ่งอย่างให้ได้มาครอบครองเป็นเจ้าของหรอกหรือ?

ถ้าคนเราไม่หักห้ามใจตนเอง คงไม่ต่างอะไรจากบาทหลวงในภาพยนตร์เรื่องนี้ กระทำสิ่งน่าอับอายขายขี้หน้า อัปลักษณ์พิศดารวิกลจริตเหมือนคนบ้า! จริงอยู่บางครั้งมันอาจประสบผลสำเร็จ แต่คงต้องแลกด้วยการสูญเสียบางสิ่งอย่าง เรียนรู้จักความเพียงพอดีไม่ดีกว่าหรือ นั่นต่างหากคือสิ่งทำให้จิตสงบผ่อนคลาย สุขสบายร่มเย็นชื่นใจ

ออกฉายรอบปฐมทัศน์วันที่ 9 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1928 ณ Studio des Ursulines พอเปิดไฟสิ้นสุดเกิดการจราจลขึ้นในหมู่ผู้ชม บ้างเกรียวกราด ข้างปาสิ่งของ ตะโกนด่าทอ ส่วนใหญ่คงไม่เข้าใจว่ากำลังรับชมอะไร

ส่วนตัวมีความชื่นชอบหนังอย่างมาก ลุ่มหลงใหลในความสลับซับซ้อนซ่อนเงื่อน เทคนิคภาษาภาพยนตร์ตื่นตระการตา งดงามเลิศเลอค่าระดับ ‘High Art’

จัดเรต 18+ กับพฤติกรรม Stalker ดูโรคจิตสักหน่อย

คำโปรย | La Coquille et le Clergyman ของ Germaine Dulac วิ่งนำหน้าผู้ชมไปไกลเป็นโยชน์ จนใครๆต่างโอดครวญไม่เข้าใจว่าเพื่ออะไร 
คุณภาพ | ศิขั้สู
ส่วนตัว | ชื่นชอบ

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: