La Dolce Vita

La Dolce Vita (1960) Italian : Federico Fellini ♠♠♠♠♠

(31/1/2018) La Dolce Vita แปลว่า The Sweet Life, เรื่องราวเหมือนความเพ้อฝันของหนังเรื่องนี้จะทำให้คุณรับรู้ว่า ถึงชีวิตภายนอกจะหอมหวานเลิศหรูหราเพียงใด แต่ภายในจิตใจใช่ว่าจะพบเจอความสุขจริงแท้, ผลงาน Masterpiece ที่คว้ารางวัล Palme d’Or ของปรมาจารย์ผู้กำกับสัญชาติอิตาเลี่ยน Federico Fellini ถึงดูไม่รู้เรื่องก็ทนไปเรื่อยๆ สักวันหนึ่งคุณอาจเข้าใจเหตุผลที่ “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย”

ถึงผมจะเคยรับชม La Dolce Vita มาแล้วหลายรอบ แต่บอกเลยว่าไม่เคยเข้าถึงใจความสำคัญของหนังสักที อ่านจากบทความที่เคยเขียนคราก่อน ก็พบว่ามิได้นำเสนอสาระอะไรเลยนอกจากจุดสังเกตและเหตุผลที่ชื่นชอบ หวนกลับมารับชมครานี้ แม้ไม่ถึงขั้น 100% ที่เข้าใจ แต่ด้วยประสบการณ์ในการรับชมภาพยนตร์ที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้รู้จักครุ่นคิดคิดติดตาม สังเกตพบเห็นภาษาภาพยนตร์หลายๆอย่างร่วมด้วยช่วยอธิบายเรื่องราว จนเกิดความตระหนักถึงคุณค่าอันเอ่อล้นของหนัง ไม่ใช่แค่ด้านศิลปะแต่รวมถึงศาสตร์แห่งการใช้ชีวิต, โดยไม่รู้ตัว ต้องถือว่าผู้กำกับ Fellini มีความเข้าใจในวัฎจักรชีวิต มากๆคนหนึ่งเลยละ

“Movies do not change, but their viewers do.”

– Roger Ebert

นักวิจารณ์ชื่อดังสัญชาติอเมริกา Roger Ebert ตอนรับชม La Dolce Vita ครั้งแรก มอบคะแนน 3 จาก 4 ดาว ด้วยความที่ไม่ค่อยเข้าใจอะไรมาก แต่เมื่อกาลเวลาผ่านไปเปลี่ยนมาให้ 4 ดาวเต็ม พร้อมกับคำอธิบายที่กลายเป็นตำนาน บอกว่าหนังเรื่องนี้เมื่อกาลเวลาผ่านไป หวนกลับมารับชมจะทำให้คุณมีทัศนคติต่อ’ชีวิต’ และตัวละคร Marcello แตกต่างออกไป
– ตอนที่ Ebert รับชมครั้งแรกเมื่อปี 1960 ขณะนั้นยังวัยรุ่นหนุ่มแน่น คำว่า The Sweet Life จึงสะท้อนถึงทุกสิ่งอย่างคนที่ตัวเขาใฝ่ฝัน สุรา, นารี, ปาร์ตี้ยันสว่าง ตัวละคร Marcello ราวกับไอดอลคนโปรด
– รับชม 1970 เมื่อ Ebert อายุพอๆกับ Marcello อาศัยเข้าไปอยู่ในโลกใบเดียวกัน เกิดความเข้าใจในชีวิตที่เต็มเปี่ยมด้วยสีสัน เพลิดเพลิน เคลิบเคลิ้ม สุขสันต์
– รับชม 1980 แก่กว่าตัวละคร 10 ปี ด้วยวัยที่เพิ่มขึ้นทำให้ Ebert ต้องเลิกเหล้า เลิกเที่ยว พบเห็นสิ่งต่างๆที่ Marcello กระทำราวกับตกเป็น ‘เหยื่อ’ ของการค้นหาความสุขที่ไม่มีวันค้นพบ
– รับชมปี 1991 คล้ายกับพ่อของ Marcello หวนระลึกถึงความทรงจำครั้งเก่าก่อน อิจฉาในความหนุ่มแน่นเยาว์วัย ขณะเดียวกันก็รู้สึกสงสารเห็นใจตัวละคร
– รับชมอีกครั้งหลังจาก Marcello Mastroianni เสียชีวิตเมื่อปี 1996 ถึงได้ค้นพบความอมตะของหนัง

“There may be no such thing as the sweet life. But it is necessary to find that out for yourself.”

ถ้าคุณสามารถทำความเข้าใจคำอธิบายนี้ของ Ebert น่าจะเกิดความคิดขึ้นอย่างหนึ่ง ‘จะเกิดอะไรขึ้นกับตัวเราในอีก อีก 10-20 ปี ข้างหน้า’ เมื่อหวนกลับมารับชมหนังเรื่องนี้ หรือมุมมองทัศนคติเกี่ยวกับชีวิตจะเปลี่ยนไปมากน้อยแค่ไหน นั่นเป็นสิ่งที่แม้แต่ตัวเราเองก็ไม่สามารถให้คำตอบได้ในขณะนี้

ภาพจากหนังที่อธิบายทุกสิ่งอย่างให้เข้าใจง่ายสุดก็คือ

Federico Fellini (1920 – 1993) ผู้กำกับภาพยนตร์สัญชาติอิตาเลี่ยน หนึ่งในบุคคลทรงอิทธิพลสุดในวงการภาพยนตร์ เกิดที่ Rimini, Italy ในครอบครัวชนชั้นกลาง อาศัยอยู่บ้านติดทะเล Adriatic Sea ตั้งแต่เด็กมีความชื่นชอบวาดรูป อ่านการ์ตูน เล่นหุ่นเชิด ตอนอายุ 6 ขวบ ได้รู้จักเปิดโลกทัศน์กับ Grand Guignol (โรงละครเวที) พบเห็นการแสดงของตัวตลกคณะละครสัตว์, รับชมภาพยนตร์, การแสดงละครเวที ฯ ในช่วงผู้นำเผด็จการ Benito Mussolini ร่วมกับน้องชาย Riccardo สมัครเป็นสมาชิก Avanguardista (Fascist Youth)

พออายุ 17 เปิดร้านเล็กๆที่ Rimini รับจ้างวาดภาพ Portrait ทำโปสการ์ด เขียน Gag Writer ช่วงหนึ่งเป็นนักเขียนการ์ตูนรายสัปดาห์ สมัครเข้าโรงเรียนกฎหมายที่ University of Rome แต่ไม่เคยเข้าเรียนสักครั้ง เอาเวลาไปเขียนบททความ ตีพิมพ์ลงในนิตยสาร Marc’Aurelio, มีชื่อขึ้นเครดิตเขียนบทครั้งแรก Il pirata sono io (1943) ของผู้กำกับ Mario Mattoli, หลังสงครามโลกจับพลัดจับพลูพบเจอร่วมงานกับ Roberto Rossellini เขียนบทภาพยนตร์เรื่อง Rome, Open City (1945) เปิดประตูสู่ Italian Neorealism ตามด้วย Paisà (1946), ร่วมกำกับภาพยนตร์ครั้งแรกกับ Alberto Lattuada เรื่อง Variety Lights (1951), ฉายเดี่ยว The White Sheik (1952), ตามด้วย I Vitelloni (1953), La Strada (1954), Nights of Cabiria (1957)

สำหรับผลงานเรื่องที่ 7 มีนักข่าวถาม Fellini ว่ามีจุดเริ่มต้นแรงบันดาลใจจากอะไร? พี่แกตอบแบบกวนๆ หนึ่งปีก่อนหน้านี้ วงการแฟชั่นที่อิตาลีมีการเปลี่ยนแปลงแบบพิศดาร ทำให้ผู้หญิงมีลักษณะเหมือนดอกไม้บานขนาดใหญ่ (สังเกตจากปกเสื้อของตัวละคร มันจะมีความเว่อวังอลังการเสียเหลือเกิน) เลยต้องการลองนำ Costume เหล่านั้นใส่เข้าไปในหนัง

แซว: ไม่รู้พูดแบบนี้เพราะหนังเพิ่งคว้า Oscar: Best Costume มาด้วยหรือเปล่านะ

แต่มันก็มีความเป็นไปได้สูงอยู่ เพราะถ้านำความคิดนี้มาต่อยอด เพิ่มเรื่องราวของบรรดาช่างภาพ/นักข่าว Journalist ที่พอพบเห็นแฟชั่นอลังการขนาดนี้ ก็รีบกรูเข้าไปถ่ายรูปเพื่อนำไปขายให้กับหนังสือพิมพ์ จนกลายเป็นที่มาของคำว่า Paparazzi

ร่วมงานกับทีมนักเขียนหน้าประจำ Ennio Flaiano, Tullio Pinelli, Brunello Rondi (และ Pier Paolo Pasolini ไม่ได้เครดิต) ไม่เชิงว่าเขียนกันคนละเรื่อง ร่วมด้วยช่วยกันหาข้อมูลและแรงบันดาลใจ

หนึ่งในทีมนักเขียน Brunello Rondi ให้สัมภาษณ์ยืนยันจุดเริ่มต้นแรงบันดาลใจของหนัง ‘ความสวยงามระดับบินได้ของเสื้อผ้าหน้าผมที่ปรากฎออกมาภายนอก มิได้บ่งบอกถึงตัวตนที่อยู่ข้างในของพวกเธอแม้แต่น้อย’

“the fashion of women’s sack dresses which possessed that sense of luxurious butterflying out around a body that might be physically beautiful but not morally so; these sack dresses struck Fellini because they rendered a woman very gorgeous who could, instead, be a skeleton of squalor and solitude inside.”

แทบทุกเรื่องราวได้แรงบันดาลใจจากเหตุการณ์จริงที่เคยเกิดขึ้นและเป็นข่าวใหญ่ อาทิ
– เรื่องราวของตัวละคร Steiner มาจากเพื่อนตั้งแต่สมัยเรียนของ Tullio Pinelli ที่เป็นนักเขียนนิยายชื่อ Cesare Pavese เพราะความเฉลียวฉลาด ครุ่นคิดมากไป ทำให้มีอารมณ์อ่อนไหวรุนแรง น่าจะเป็นเหตุให้ฆ่าตัวตายที่โรงแรมเมือง Turin เมื่อปี 1950
– ตอน ‘False Miracle’ มาจากเหตุการณ์ปี 1958 ทีมสืบสวนอ้างว่าเด็กสองคนได้รับการเยี่ยมเยือนจาก ‘พระเจ้า’ ที่หมู่บ้านฟาร์ม Maratta Alta อยู่ใกล้ๆเมือง Terni
– Epilogue เรื่องราวของ ‘Dead Sea Monster’ ได้แรงบันดาลใจจาก Wilma Montesi หญิงสาวอายุ 21 ปี ถูกฆาตกรรมพบศพลอยคอที่บนชายหาดใกล้ๆกรุง Rome ประมาณเดือนเมษายน 1953 ผลชันสูตรพบว่าเสพยา และน้ำกามจากผู้ชายหลายคน คาดการณ์ว่าน่าจะมาจากกิจกรรม Sex Orgy ของเหล่าไฮโซโรมัน (Roman High Society) แต่ก็มิสามารถตามหาจับตัวฆาตกรได้

สำหรับตัวละคร Paparazzo ได้แรงบันดาลใจจาก Photojournalist ชื่อ Tazio Secchiaroli สัญชาติอิตาเลี่ยน (ถือว่าเป็น Paparazzi คนแรกๆของโลก) เคยไปกินข้าวร่วมกับ Fellini และให้คำแนะนำเรื่องการทำงานของตนเอง, สำหรับคำว่า Paparazzo เครดิตกับ Ennio Flaiano บอกว่านำจากนิยายของ George Gissing เรื่อง By the Ionian Sea (1901) มีตัวละครชื่อ Signor Paparazzo ซึ่งภาษาอิตาเลี่ยนแปลว่าการก่อกวน สร้างความรำคาญ แมลงหรือยุง

“Paparazzo … suggests to me a buzzing insect, hovering, darting, stinging.”

เรื่องราวของ Marcello (รับบทโดย Marcello Mastroianni) นักข่าวหนังสือพิมพ์ อาศัยอยู่ในกรุงโรมปลายทศวรรษ 50s มีข่าวอยู่ 3 ประเภทที่อยู่ในความสนใจ ดาราดัง, ไฮโซคนชั้นสูง และเกี่ยวกับศาสนา ดำเนินเรื่องในช่วง 7 วัน 7 วันคืน (แต่มันอาจไม่ใช่ 7 วันที่ต่อเนื่องกันนะครับ) เกาะติดไลฟ์สไตล์ การใช้ชีวิต และสิ่งต่างๆที่เขาได้พบเจอ

ถ้าในเบื้องต้นคุณยังไม่สามารถทำความเข้าใจหนังได้ แนะนำให้ลองแบ่งจำแนกเรื่องราวออกเป็นส่วนๆ ซึ่งก็มีหลายวิธีสังเกต อาทิ
– มองเหตุการณ์แยกแต่ละวัน
– แบ่งแยกตามเรื่องราวออกได้เป็น 7 ตอน (ไม่รวม Prologue+Epilogue) นี่เป็นแนวคิดที่นักวิจารณ์หลายๆสำนักชอบแบ่งกัน ประกอบด้วย
Prologue) Marcello ขับเฮลิคอปเตอร์ ขนรูปปั้นพระเยซูคริสต์ไปส่งวาติกัน
1) Marcello ใช้เวลายามค่ำคืนกับ Maddalena
2) ทั้งวันและกลางคืนตามติดนักแสดงสัญชาติอเมริกัน Sylvia
3) พบเจอกับเพื่อนเก่า Steiner, งานปาร์ตี้, และโศกนาฎกรรม
4) เหตุการณ์ ‘False Miracle’
5) การมาเยี่ยมเยือนของพ่อ
6) ปาร์ตี้ไฮโซยังคฤหาสถ์หรู
7) งานปาร์ตี้ Orgy ที่บ้านริมทะเล
Epilogue) พบเจอสัตว์ประหลาด ติดแหชาวประมงดึงขึ้นริมชายหาด

  • แบ่งแยกตามความสัมพันธ์ของตัวละคร ซึ่งก็พบว่ามี 7 กลุ่มเช่นกัน
    1) เวลาส่วนตัวของ Marcello
    2) Marcello กับพ่อ
    3) Marcello กับแฟนสาว Emma
    4) Marcello กับชู้รักไฮโซ Maddalena
    5) Marcello กับเพื่อนเก่า Steiner
    6) Marcello กับดาราดัง Sylvia
    7) Marcello กับเพื่อนร่วมงาน Paparazzo

ถ้าคิดว่าตัวเองเจ๋งพอก็ไม่จำเป็นต้องไปจัดแบ่งเรื่องราวให้กับหนังนะครับ มองเป็นความท้าทายว่าจะสามารถมองเห็นภาพรวม เป้าหมายของทุกสิ่งอย่างได้หรือเปล่า เพราะชีวิตมันก็แบบนี้ ดำเนินไปข้างหน้าเรื่อยๆ พบปะผู้คน พบเจอเหตุการณ์หลากหลาย ไม่ค่อยมีความต่อเนื่องในเรื่องราวใดหนึ่งโดยเฉพาะ

Marcello Vincenzo Domenico Mastroianni (เกิดปี 1924 – 1996) นักแสดงยอดฝีมือสัญชาติอิตาเลี่ยน เกิดที่ Fontana Liri, Lazio โตขึ้นที่ Turin และ Rome แสดงภาพยนตร์เรื่องแรกเป็นตัวประกอบเรื่อง Marionette (1939) ระหว่างสงครามโลกครั้งที่สองหนีเอาตัวรอดจากค่ายกักกันไปซ่อนตัวที่ Venice กลับมาได้รับบทนำ Atto d’accusa (1951), มีชื่อเสียงระดับนานาชาติเรื่อง Big Deal on Madonna Street (1958), กลายเป็นดาราค้างฟ้ากับ La Dolce Vita (1960), 8½ (1963) ผลงานอื่นๆ อาทิ La Notte (1961), Divorce, Italian Style (1961), Marriage Italian-Style (1964), The Pizza Triangle (1970), Dark Eyes (1987) ฯ

รับบท Marcello Rubini นักข่าวหนุ่มหล่อ เพลย์บอย ที่พยายามแสวงหา ‘ความสุข’ พึงพอใจในชีวิต หลุดพ้นจากฐานะความยากจน รู้จักเพื่อนไฮโซ ดาราดัง ศิลปินยอดฝีมือมากมาย ไปงานเลี้ยงปาร์ตี้เฮฮาสังสรรค์ Orgy สุดเหวี่ยง คาดหวังว่าสักวันคงได้ทำอะไรสุดยิ่งใหญ่ แต่ทำไมนะดวงตาท่าทางของเขากลับช่างเหน็ดเหนื่อย เบื่อหน่าย อ่อนล้า นั่นใช่ความสุขหอมหวานที่ฉันพึงแสวงหาจริงๆนะหรือ

แม้เริ่มต้นมา Marcello จะมีอาชีพนักข่าว (Journalist) แต่คงเกิดความเบื่อหน่าย จึงมีความสนใจใคร่อยากเขียนหนังสือ/วรรณกรรม ขอคำปรึกษาจากเพื่อน Steiner ถึงขนาดลงทุนทิ้งทุกสิ่งอย่างแต่ก็ไม่สำเร็จเป็นชิ้นเป็นอัน จนเมื่อเกิดเหตุโศกนาฎกรรม ความเชื่อมั่นในตนเองสิ้นสูญ สุดท้ายเลยตัดสินใจกลายเป็นเจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์ (Publicity Agent)

ตอนที่ Fellini นำโปรเจคนี้ไปขอทุนสร้าง Dino De Laurentiis เสนอนักแสดงนำ Paul Newman แต่ได้รับการบอกปัดปฏิเสธ Gérard Philipe ก็ไม่เอาด้วย ซึ่งพอผู้กำกับเลือก Mastroianni ลุงแกกลับถอนตัวออกจากโปรเจค ด้วยทัศนะว่า

“[Mastroianni] was too soft and goody-goody; a family man rather than the type who flings women onto the bed.”

นี่เป็นการร่วมงานครั้งแรกจาก 4 ครั้งของทั้งคู่ ในตอนแรก Mastroianni หลังจากได้รับการติดต่อต้องการบทหนังเพื่อนำไปพิจารณา แต่สิ่งที่ Fellini ส่งไปคือกระดาษหนาเตอะหลายร้อยแผ่น ทุกหน้าเป็นกระดาษเปล่าเว้นหน้าแรก มีรูปวาด (Fellini วาดเอง) เป็นภาพของ Mastroianni ลอยคออยู่บนเรือท่ามกลางมหาสมุทร มือถือทิ่มที่ยาวไปถึงก้นทะเล หญิงสาวสุดสวย นางเหงือก? เวียนว่ายอยู่ภายใต้ … หลังจากเห็นภาพนี้

“It’s an interesting part. I’ll do it.”

ถึงนี่ไม่ใช่บทแจ้งเกิดของ Mastroianni แต่ก็ทำให้เขากลายเป็นดาวค้างฟ้า ราวกับเป็นร่างอวตาร ตัวตายตัวแทนของผู้กำกับ Fellini ทั้งสองมีอะไรหลายๆอย่างที่คล้ายคลึงกัน โดยเฉพาะดวงตาที่สะท้อนความเหน็ดเหนื่อยอ่อนล้าจากภายใน แม้ชีวิตจะประสบความสำเร็จ ได้รับการยกย่องอย่างสูง แต่นั่นหาใช่ความสุขจริงแท้ที่ต้องการไม่

ถึงการแสดงไม่ใช่สิ่งสำคัญเท่าไหร่ในหนังของ Fellini แต่ Mastroianni คือนักแสดงมืออาชีพที่มีความเป็นธรรมชาติสูง ท่าทาง ภาษากายและสายตาที่ถ่ายทอดออกมา สามารถสื่ออารมณ์ความรู้สึกของตัวละครได้อย่างสมจริงจัง

Annibale Ninchi (1887 – 1967) นักแสดงสัญชาติอิตาเลี่ยน เกิดที่ Bologna โด่งดังจากการเป็นนักแสดงละครเวที เข้าสู่วงการภาพยนตร์เรื่อง Scipione l’Africano (1937) กลายเป็นตำนานกับ La Dolce Vita (1960), 8½ (1963), รับบทพ่อยังคึกของ Marcello เพราะเป็นเซลล์แมน ฝีปากนัวเป็นเลิศ สามารถทำให้หญิงสาวหลงใหลในคารม แต่เพราะวัยที่สูงขึ้น โรคต่างๆรุมเร้า ดื่มเบียร์ ไวน์ แชมเปญ หลายอย่างมากเกินไปจนท้องไส้ปั่นป่วน ล่มปากอ่าว อาการไม่ค่อยดี นั่งเหม่อมองพระอาทิตย์ขึ้นแล้วรีบจากไปดีกว่า ไม่อยากให้ลูกชายต้องรู้สึกอับอายเสียหน้าเพราะตนเอง

Yvonne Furneaux (เกิดปี 1928) นักแสดงหญิงสัญชาติฝรั่งเศส เกิดที่ Roubaix, Nord-Pas-de-Calais, โตขึ้นย้ายไปอยู่อังกฤษกับพ่อ เข้าสู่วงการเมื่อปี 1952 มีชื่อเสียงจาก La Dolce Vita (1960), ประกบ Catherine Deneuve เรื่อง Repulsion (1965), Belle De Jour (1967) ฯ, รับบท Emma แฟนสาวของ Marcello เพราะรักมากเลยทำใจไม่ได้ที่คนรักนอกใจ เรียกร้องความสนใจด้วยการกินยาฆ่าตัวตาย โชคดีรอดมาได้ ชีวิตคู่ระหองระแหง เดินทางไป ‘False Miracle’ ร่วมงานเลี้ยงของ Steiner แต่ภายหลังก็มีเรื่องให้ทะเลาะจนเกือบเลิก สุดท้ายคืนดีเพราะพระเอกคงทนไม่ได้ที่จะต้องลาจากทิ้งเธอไป

Anouk Aimée (เกิดปี 1932) นักแสดงหญิงสัญชาติฝรั่งเศส เกิดที่ Paris ในครอบครัวนักแสดง เข้าเรียนเต้นและการแสดงที่ Marseille Opera ตามด้วย Andrée Bauer-Thérond มีผลงานการแสดงตั้งแต่อายุ 14 เรื่อง La Maison sous la mer (1947) มีชื่อเสียงกับ Le Rideau Cramoisi (1952), La Dolce Vita (1960), 8½ (1963), Lola (1961), A Man and a Woman (1966), A Leap in the Dark (1980) ฯ, รับบท Maddalena ไฮโซลูกคนหนูติดพ่อ ร่ำรวยเงินทอง ชีวิตเต็มไปด้วยความเบื่อหน่าย ใคร่สนใจ Marcello เหมือนของเล่นชิ้นหนึ่ง ขำๆไร้สาระมิเคยคิดซีเรียสจริงจัง ชื่นชอบการทำอะไรแปลกพิศดาร ขับรถส่งบ้านโสเภณี, ร่วมรักในห้องนอนคนแปลกหน้า, กอดจูบร่วมรักชายคนที่หนึ่งขณะกำลังสนทนากับชายคนที่สอง ฯ

Alain Cuny (1908 – 1994) นักแสดงสัญชาติฝรั่งเศส เกิดที่ Saint-Malo, Brittany เข้าสู่วงการด้วยการเป็นนักออกแบบเครื่องแต่งกายและฉาก ก่อนได้กลายเป็นนักแสดงละครเวที มีผลงานภาพยนตร์ Les Visiteurs du Soir (1942), โด่งดังกับ Les Amants (1958), La Dolce Vita (1960), Satyricon (1969) ฯ, รับบท Steiner เพื่อนเก่าที่ก็ไม่ได้สนิทเท่าไหร่ของ Marcello เป็นนักเขียนที่ชื่นชอบพาเพื่อนหลากหลายสาขาอาชีพมาร่วมสังสรรค์ปาร์ตี้ที่บ้าน แต่งงานแล้วมีลูกสองคน แต่เพราะรู้สึกตัวเองเหมือนนกในกรง ถูกบีบบังคับจากครอบครัวหลายๆอย่าง หมกตัวอยู่ในโลกจินตนาการ ดนตรี Bach และเทปบันทึกเสียงธรรมชาติ อดรนทนไม่ไหว ตัดสินใจก่อโศกนาฎกรรม

Marcello พบเห็นความสำเร็จชื่อเสียงของ Steiner จนยกย่องเขาให้เป็นไอดอลประจำใจ อยากที่จะเรียนรู้จัก ขอคำแนะนำการใช้ชีวิต แต่แล้วเมื่อโศกนาฎกรรมได้บังเกิดขึ้น ทำให้เขารับรู้ตัวเองโดยทันที ว่าสิ่งมีพบเห็นนั่นคือภาพลวงตา ความสำเร็จทั้งหลายหาได้อยู่บนพื้นฐานของความสุขแม้แต่น้อย นั่นทำให้เขาจมปลักอยู่ในความทุกข์ทันที

Kerstin Anita Marianne Ekberg (1931 – 2015) นักแสดงหญิงสัญชาติ Swedish เกิดที่ Malmö, โตขึ้นเป็น Fashion Model ประกวดชนะรางวัล Miss Sweden กรุยทางสู่ Miss Universe ทั้งๆที่พูดภาษาอังกฤษได้น้อยนิดแต่เข้าถึงรอบ 6 คนสุดท้าย จึงได้เซ็นสัญญากับ Universal Studio มีผลงานเด่นอย่าง Blood Alley (1955), War and Peace (1956), La Dolce Vita (1960) ฯ, รับบท Sylvia นักแสดงชื่อดังบินตรงจาก Hollywood เพื่อมาถ่ายหนังที่อิตาเลี่ยน แม้จะมีสามีแต่งงานแล้ว แต่ก็รักสนุกโลดโผนไม่กลัวตาย ออกเที่ยวเรื่อยเปื่อยแบบไม่คิดอะไรทั้งนั้นกับ Marcello ได้ยินเสียงหมาป่าก็เห่าหอนตอบ รักแมวเพราะความไร้เดียงสา (เหมือนตนเอง) ก่อนวิ่งเล่นลง Trevi Fountain แบบไม่กลัวหนาว

Walter Santesso (1931 – 2008) นักแสดงหนุ่มหน้าเด็ก เกิดที่ Padua ไม่มีผลงานใดน่าได้รับการจดจำยิ่งไปว่าหนังเรื่องนี้ในบท Paparazzo ช่างถ่ายภาพ ลูกน้องของ Marcello มีลีลาอย่างเด็ดในการหามุมกล้องดีๆ คงเพื่อนำไปขายได้ราคาสูงๆ, ความจุ้นจ้านวุ่นวายของตัวละคร ได้รับการกล่าวขวัญ จดจำ และถือเป็นต้นกำเนิดของช่างภาพแอบถ่าย ‘Paparazzi’ ที่มักคอยตามติดดารา หรือเหตุการณ์ที่มีความลึกลับไม่ได้รับอนุญาตให้เปิดเผยสู่สาธารณะ

ไดเรคชั่นการกำกับของ Fellini นิยมที่จะไม่บันทึกเสียง Sound-On-Film (เป็นเรื่องปกติหนังหนังอิตาเลี่ยนสมัยนั้น) ใช้การพากย์เสียงทับภายหลัง นักแสดงจะพูดตามภาษาปากของตนเอง
– Mastroianni, Ninchi, Santesso พูดอิตาเลี่ยน
– Aimée, Furneaux, Cuny พูดฝรั่งเศส
–  Anita Ekberg พูดภาษาอังกฤษบ้าง Swedish บ้าง

แต่พวกเขาก็ไม่ได้เสียเวลาท่องบทสนทนาให้วุ่นวาย มีคำเรียกเทคนิคนี้ว่า ‘Number System’ หรือ ‘Numerological Diction’ ถ้าบทสนทนานั้นความยาว 15 คำ นักแสดงจะพูดนับเลข 1-2-3 ไปจนถึง 30 ซึ่งเวลาแสดงอารมณ์ หันหน้าหรือเคลื่อนไหว ผู้กำกับจะส่งเสียงกำกับให้คำแนะนำออกมาเลย เช่น ‘ตอนนับถึงเลข 27 ให้หันมายิ้มเข้ากล้อง’

ผู้กำกับ Elia Kazan ที่เคยเห็นการทำงานเบื้องหลังของ Fellini เล่าให้ฟังจนเห็นภาพ

“He talked through each take, in fact yelled at the actors. ‘No, there, stop, turn, look at her, look at her. See how sad she is, see her tears? Oh, the poor wretch! You want to comfort her? Don’t turn away; go to her. Ah, she doesn’t want you, does she? What? Go to her anyway!’

… That’s how he’s able … to use performers from many countries. He does part of the acting for the actors.”

นี่คือเหตุผลที่ทำให้ Fellini สามารถร่วมงานกับนักแสดงหลากหลายประเทศได้ โดยไม่ต้องสนใจความแตกต่างทางภาษาการแสดง เพราะตัวเขาถือว่าได้กำกับอารมณ์แทนนักแสดงแล้ว

กระนั้นนี่ก็มีข้อเสียใหญ่ๆสำหรับผู้ที่คุ้นเคยภาพยนตร์ Hollywood มากเกินไป มักคาดหวังให้ปากนักแสดงขยับเคลื่อนตรงกับคำพูดที่ได้ยิน พอเห็นมันไม่ตรงก็เกิดอาการหงุดหงิดหัวเสียอย่างรุนแรง

ถ่ายภาพโดย Otello Martelli ตากล้องขาประจำของ Fellini ร่วมงานกันตั้งแต่ Variety Lights (1950), La Strada (1954), I Vitelloni (1953) ฯ

ส่วนใหญ่ของหนังถ่ายทำในสตูดิโอ Cinecittà Studios, Rome ออกแบบ Set Designer โดย Piero Gherardi สร้างขึ้นประมาณ 80 ฉาก แต่ก็มีหลายครั้ง (ฉากภายนอก) ออกไปถ่ายทำยังสถานที่จริง เพื่อให้เกิดการผสมผสานเข้ากันอย่างแนบเนียนจนสังเกตแทบไม่ออก

จริงๆก็มีหลายฉากสามารถถ่ายทำยังสถานที่จริงได้ อาทิ คาเฟ่ Via Veneto แต่เพราะความพลุกพล่านวุ่นวายของผู้คนที่สัญจรไปมาอยู่ตลอดเวลา มันคงไม่เป็นการสะดวกแน่ๆ และเวลาที่พวกเขาอนุญาตให้ใช้คือตี 2 ถึง 6 โมงเช้า แค่เตรียมความพร้อมสถานที่ จัดแสงไฟ ก็แทบไม่เหลือเวลาถ่ายทำแล้ว สร้างฉากขึ้นมาเองเลยย่อมสะดวกกว่า

Prologue: เริ่มต้นบนท้องฟ้า เฮลิคอปเตอร์ยกรูปปั้นพระเยซูคริสต์ บินไปส่งยังวาติกัน, Marcello พยายามตะโกนเรียกขอเบอร์หญิงสาว แต่จะไม่ได้ยินเสียงเขา (ลมพัดดังมาก) พอสาวๆอ่านปากออกก็ไม่ยอมมอบให้

ถ้าสังเกตให้ดีๆ รูปปั้นนี้ไม่ได้บินตรงไปถึงวาติกันนะครับ ใช้เทคนิคการตัดต่อ ภาพของรูปปั้นพระเยซู สลับกับเฮลิคอปเตอร์ที่เคลื่อนเข้าใกล้ St. Peter’s Square นี่เป็นการหลอกล่อผู้ชมให้เกิดความหลงเข้าใจผิด คิดว่ารูปปั้นนี้บินไปถึงจริงๆ (ทางวาติกันไม่มีวันอนุญาตแน่นอน)

ผมไม่รู้เหมือนกันว่า ฉากนี้มันเลียนแบบโขนหรืออะไร? แต่เชื่อว่านัยยะต้องการสื่อถึงการสวมหน้ากาก ตัวตนภายนอกกับจิตใจความรู้สึกภายใน หาใช่สิ่งเดียวกัน (ฉากนี้ก็สมมาตรนะครับ)

จุดกำเนิดของ Paparazzi มองจากภาพนี้ก็ครุ่นคิดจินตนาการตามได้เลย สืบเนื่องจากธุรกิจหนังสือพิมพ์/นิตยสาร กำลังได้รับความนิยมแพร่หลาย คงมีจำนวนหลายสิบเจ้าเลยกระมังที่ต้องแข่งขันกัน ต่างว่าจ้างตากล้องที่มีฝีมือ กล้าหาญ บ้าบิ่น ทำยังไงก็ได้ให้สามารถเก็บภาพเหตุการณ์สำคัญๆ มุมดีๆสวยๆ เพราะเหตุนี้มันก็เลยต้องแก่งแย่งชิงดีชิงเด่น มากด้วยลีลาแบบนี้แหละ

ฉากนี้ถ่ายทำยังสถานที่จริง Fontana di Trevi (Trevi Fountain) น้ำพุสไตล์ Baroque ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ตั้งอยู่เขต Trevi, กรุงโรม ออกแบบโดย Nicola Salvi ก่อสร้างตั้งแต่ปี 1629 เสร็จสิ้นโดย Pietro Bracci ปี 1762, สำหรับรูปปั้นไฮไลท์คือ Oceanus ยืนอยู่บนหอยเชลล์ขนาดใหญ่ ถือเป็นสัญลักษณ์พระเจ้าแห่งน้ำทั้งปวง

ช่วงเวลาที่ถ่ายทำฉากนี้คือมีนาคม ขณะนั้นยังอยู่ช่วงหน้าหนาว น้ำในบ่อเย็นจัด, Ekberg นั้นสบายๆเพราะเธอมาจากประเทศสวีเดน แต่ Mastroianni สวมชุด Wetsuit ใต้เสื้อสูท แถมด้วยซด Vodka เป็นขวดๆเพื่อให้ร่างกายอบอุ่น

ทั้ง Sequence ของ ‘False Miracle’ ชวนให้ผมนึกถึงหนังเรื่อง Ace in the Hole (1951) ของผู้กำกับ Billy Wilder นำแสดงโดย Kirk Douglas เพราะความบ้าเห่อของนักข่าว สร้างความสนใจให้ผู้คนมากมายแห่กันเข้ามารุมจับจ้อง สุดท้ายแล้วก็ลงเอยดั่งภาพช็อตนี้ เป็นการจัดวางตัวประกอบได้สวยงามมากๆ

นี่เป็นช็อตที่โดยส่วนตัวชื่นชอบสุดของหนัง เบื้องหน้ามีรถคันหรู ตัวเองนั่งชิวอ่านหนังสือพิมพ์ ปล่อยให้ลูกน้องทำงานถ่ายภาพอยู่เบื้องหลัง ลึกเข้าไปอีกไม่มีอะไรนอกเสียจากความว่างเปล่า และปลายสุดท้ายนั่นคือตึกสูง/ทางตัน, คือมันเป็นช็อตที่นอกจากการจัดวางสวยๆแล้ว ยังแฝงนัยยะสะท้อนถึงตัวละครได้อย่างลึกซึ้ง

Giorgio Morandi (1890 – 1964) จิตรกร นักพิมพ์ภาพสัญชาติอิตาเลี่ยน มีความถัดในภาพ ‘Still life’ (ภาพนิ่งของวัตถุ) ชื่นชอบการวาดแจกัน ขวด ชาม ดอกไม้ และทิวทัศน์

Fellini เคยให้สัมภาษณ์บอกว่าเป็นแฟนตัวยงของ Morandi (ตอนนั้นยังมีชีวิตอยู่ด้วย) ซึ่งภาพวาดสุดแสนเรียบง่ายนี้ อาจสะท้อนถึงความต้องการแท้จริงในจิตใจตัวละครก็เป็นได้

เห็นช็อตนี้ชวนให้ผมระลึกถึงหนังเรื่อง Smiles of a Summer Night (1955) ของผู้กำกับ Ingmar Bergman ทุกตัวละครที่ได้รับเชิญมาร่วมงานเลี้ยงปาร์ตี้เล็กๆ ปรากฎรวมตัวอยู่ในช็อตเดียวกันหมด

สป็อตไลท์สาดส่องมาถึงชายตัวตลก เป่าทรัมเปต (นึกว่า La Strada) ท่วงทำนองช่างมีความโหยหวนล่องลอย ก็เหมือนกับชีวิตของพระเอกที่มีความเศร้าสร้อย เรื่อยเปื่อย ไร้แก่นสาน

ขณะที่เหล่าไฮโซคนชั้นสูงทั้งหลายกำลังออกเดินตรงไปยังบ้านผีสิง สะดุดเข้ากับภาพการจัดสวนที่เป็นบันไดโค้งวงขึ้นไปนี้ มันเหมือนรูป ‘หัวใจ’ เป็นอย่างยิ่ง (ใช้จินตนาการเอาเองนะครับ)

สำหรับบ้านผีสิง คือการออกค้นหา ‘จิตวิญญาณ’ ของมนุษย์ ว่ามันมีอยู่จริงๆหรือเปล่า?

Marcello กำลังจะเลิกกับ Emma พวกเขาจอดรถทะเลาะกันริมถนนที่ไม่เห็นมีคันอื่นวิ่งผ่านสัญจร, นัยยะของฉากนี้ คงประมาณชีวิตคือการเดินทาง คู่รักเดินทางร่วมกันบนรถ แต่เมื่อถึงจุดแตกหักก็ต้องเลือกว่าจะทนหรือทิ้งใครสักคนไว้เบื้องหลัง (แต่ก็ยังย้อนกลับมาเก็บคืนไปได้นะ)

สำหรับฉาก Orgy Scene มีสามกิจกรรมใหญ่ๆที่เกิดขึ้น
1) สองหนุ่ม(เกย์) เต้นกระโดดเตะสูง (high kick) บทเพลง Jingle Bell บทเพลงเทศกาลคริสต์มาส ค่ำคืนแห่งการประสูติของพระเยซูคริสต์ (ผู้มาไถ่)

2) ระบำเปลื้องผ้า หญิงสาวเต้นรำดิ้นไปเรื่อยๆ พร้อมๆกับค่อยๆถอดเสื้อผ้าออกจนร่างกายเปลือยเปล่าไม่หลงเหลืออะไร, นัยยะของฉากนี้คือการพยายามปลดเปลื้องสิ่งที่อยู่ภายนอกออกจากตัวมนุษย์ เพื่อเปิดเผยให้เห็นถึงสิ่งที่อยู่ภายใน

2) Marcello ถูกขอให้นำเสนอกิจกรรมอะไรบางอย่าง ทุกสิ่งที่เขานำเสนอมาเต็มไปด้วยความบ้าระห่ำที่ทะลักออกมาจากภายใน (นี่หลังจากกิจกรรมแรก ที่ปลดเปลื้องสิ่งภายนอกออกหมดแล้ว) โยนจานแตก (ทำลายแนวคิด/ตัวตนบางอย่าง) ขึ้นขี่ควบม้าหญิงสาว (นิสัยชอบคอยควบคุมชี้ชักนำบงการผู้อื่น) ไฮไลท์คงเป็นการโปรยขนนกแต่งตัวให้กับหญิงสาว สื่อถึงการปรุงปั้นแต่งสิ่งที่ … ก็ไม่รู้ภายในหรือภายนอก สามารถมองได้ทั้งสองอย่าง … จนมีความอัปลักษณ์พิศดารแบบรับไม่ได้

Epilogue: จบสิ้นที่ฉากท้องทะเลริมชายหาด ชาวประมงกำลังดึงเอาปลากระเบน? ถูกมองว่าเป็นสัตว์ประหลาดที่มาจากขุมนรก, Marcello พบเห็นหญิงสาวคนหนึ่ง ก็ไม่รู้จดจำเธอได้หรือเปล่า แต่เสียงคลื่นซัดดังมากจนตะโกนไม่ได้ยิน ภาษามือก็ไม่เข้าใจเลยยอมแพ้ (หญิงสาวทำภาษามือประมาณว่า คุณยังพิมพ์หนังสืออยู่หรือเปล่า?)

ฉากนี้ถ่ายทำที่ Passo Oscuro รีสอร์ทเล็กๆอยู่ห่างจากกรุงโรมประมาณ 30 กิโลเมตร

ตัดต่อโดย Leo Catozzo หนึ่งในขาประจำของ Fellini ผลงานเด่นอาทิ War and Peace (1956), Nights of Cabiria (1957), La Dolce Vita (1960), 8½ (1963) ฯ

นี่เป็นหนังที่ไม่มีฉากย้อนอดีตหรือในความฝัน ทุกสิ่งอย่างดำเนินต่อเนื่องไปข้างหน้าเพียงอย่างเดียว ใช้มุมมองของ Marcello ที่จักปรากฎตัวอยู่ทุกฉาก บางช็อตจะแอบซ่อนอยู่ สังเกตดีๆก็จะพบเจอว่าไปหลบอยู่ตรงไหน

ความดูยากของหนังอยู่ที่การลำดับเรื่องราว เพราะวันๆหนึ่งบางครั้งมี 2-3 เหตุการณ์เกิดขึ้นพร้อมกันแบบไม่ได้ต่อเนื่อง และมีเรื่องราวเพียงเศษเสี้ยวหนึ่ง ซึ่งต้องรอจนอีกวันสองวันผ่านไปถึงจะมีเหตุการณ์อื่นเกิดขึ้นมาตามมา อาทิ
– เรื่องราวของ Emma: วันแรก พบเจอครั้งแรกกำลังฆ่าตัวตาย พาไปส่งโรงพยาบาลรอดชีวิต -> วันที่สองโทรศัพท์ตามตื้อขณะ Marcello ติดงานกับ Sylvia -> วันที่สาม เดินทางไป ‘False Miracle’ ร่วมกัน -> วันที่สี่ ร่วมงานเลี้ยงปาร์ตี้ Steiner -> วันที่ห้า โทรหาบอกไม่กลับบ้าน -> วันที่หก อยู่บนรถทะเลาะบอกเลิก แล้วกลับมาคืนดียังห้องนอน
– เรื่องราวของ Maddalena: วันแรก พบเจอในผับบาร์ ไปต่อกันที่ห้องของโสเภณี -> วันที่สอง ตอนกลางวันโทรไปไม่รับหลับอยู่ -> วันที่สอง ตอนกลางคืนโทรไปอีกครั้งรับสายอยู่กับพ่อ -> วันที่สี่ บังเอิญมาพบเจอในงานเลี้ยงของไฮโซคนชั้นสูง ลากพากันไปยังห้องพิศวง (แล้วเหมือนจะหายตัวไปเลย)
– เรื่องของ Steiner: วันที่สาม เริ่มต้นพบเจอที่โบสถ์ เล่นเพลง Bach -> วันที่สี่ เดินทางไปงานเลี้ยงปาร์ตี้ที่บ้าน -> วันที่เจ็ด เจออีกทีกลายเป็นศพไปเสียแล้ว

นี่เป็นหนังที่มีความจำเป็น ต้องอดทนรับชมครั้งแรกให้ได้จนจบก่อน ถึงสามารถครุ่นคิดวิเคราะห์ แยกแยะรายละเอียดเหล่านี้แบ่งออกเป็นส่วนๆได้ แล้วจักเห็นภาพรวมเกิดความเข้าใจทั้งหมด

เพลงประกอบโดย Nino Rota อัจฉริยะนักแต่งเพลงสัญชาติอิตาเลี่ยน ขาประจำของผู้กำกับ Fellini ตั้งแต่ The White Sheik (1952)

สำหรับหนังเรื่องนี้มีส่วนผสมที่หลากหลายของทั้ง Jazz, Rock, Pop, Classic, ร่วมสมัย ฯ มักมีท่วงทำนองซ้ำๆเดิมจนผู้ฟังจดจำได้ แต่มีหลากหลาย Variation ให้สัมผัสที่หลากหลายอารมณ์ แต่ทุกบทเพลงจะมีกลิ่นอายของความเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้า ทุกข์ทรมานทางกายอย่างแสนสาหัส

La Dolce Vita เป็นบทเพลงที่มีท่วงทำนองสั้นๆไม่ยาวมาก แต่เล่นวนซ้ำด้วยการเปลี่ยนเสียงเครื่องดนตรีไปเรื่อยๆ กลับให้สัมผัสอารมณ์เรื่องราวที่แตกต่างไม่ซ้ำเดิม นี่ราวกับวัฎจักรของชีวิต พระอาทิตย์ตกดิน พระจันทร์ขึ้นเหมือนเดิม แต่เหตุการณ์วันใหม่ไม่เคยซ้ำกัน

บทเพลงที่คงติดหูใครหลายคน ชื่อว่า Lola ตั้งแต่ประมาณนาที 1:11 เป็นเสียงเดี่ยวทรัมเป็ต ที่เต็มไปด้วยความโหยหวนล่องลอย สะท้อนชีวิตที่น่าเศร้าของใครบางคน

สำหรับเพลงที่ตัวละคร Steiner เล่นในโบสถ์ด้วยออร์แกน คือ Toccata and Fugue in D Minor, BWV 565 ประพันธ์โดย Johann Sebastian Bach ช่วงประมาณ ค.ศ. 1709 – 1707

นี่เป็นบทเพลงที่ได้รับความนิยมอย่างสูงในหนัง Horror พูดถึงพระเจ้าและความตาย … โอ้! เป็นการพยากรณ์สิ่งที่จะเกิดขึ้นกับตนเองสินะ

Finale ตราบใดที่ยังมีชีวิตอยู่ ก็ต้องดิ้นรนต่อสู้กันไป ไม่ว่าภายในจิตใจจะสุขทุกข์ เศร้า หรือว่าอะไร, แม้บทเพลงปิดท้ายจะไม่ตราตรึงระดับ Night of Cabiria (1957) แต่มีจุดประสงค์แบบเดียวกันเปะๆ เพราะหนังเรื่องนี้ไม่ได้มอบคำตอบอะไรให้ ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของผู้ชมไปค้นหาเอาเอง

La Dolce Vita คือเรื่องราวของการตั้งคำถามเชิงปรัชญา ‘อะไรคือความสุขในชีวิต?’ ด้วยการนำพาให้ตัวละครได้พบเจอกับสรวงสวรรค์ทั้งหมดที่สามารถบังเกิดขึ้นบนโลก
– แฟนสาว ทุ่มเทกายใจ รักเขามาก … แต่เขากลับไม่รักตอบ
– หญิงสาวสวยไฮโซชั้นสูง ร่ำรวยเงินทอง วันๆแทบไม่ต้องทำอะไร … แต่เธอก็มองเขาเป็นเพียงของเล่นขัดตาทัพ
– พบเจอดาราสาวชื่อดังระดับโลก … แต่เธอก็ไม่เห็นหัวสนใจเขา
– การปรากฎตัวของพระเจ้ายังสถานที่แห่งหนึ่ง … แต่เอาเข้าจริงก็โกหกหลอกลวงทั้งเพ
– เพื่อนสนิทที่ยกย่องนับถือเป็นไอดอล … แต่สุดท้ายกลับเกิดโศกนาฎกรรม
– พ่อที่ว่ายังแข็งแรง เจ๋งเป้ง … แต่ด้วยวัยโรยรา ใกล้สิ้นสังขาร
– ปาร์ตี้บ้านผีสิง … พอตะวันขึ้นงานเลี้ยงก็ต้องเลิกรา
– Orgy … ก็ใช่ว่าทุกคนจะยินยอมรับได้

ไหนอ่ะ! ความสุขจริงแท้ชั่วนิรันดร์ ไม่เห็นมันจะมีสักอย่าง หาให้ตายก็ไม่พบเจอ แล้วแบบนี้จะมีอยู่จริงหรือเปล่า?

นักวิจารณ์หลายๆสำนักมองว่า หนังทิ้งความหวังไว้เล็กๆตอนจบ นั่นคือเด็กหญิงสาวคนสุดท้ายที่ Marcello ได้พบเจอ ความสวยสดใสบริสุทธิ์ของเธอ ราวกับ ‘The Virgin’ นางฟ้า/พระแม่มารีย์ ณ อาณาจักรดินแดนของพระเจ้า ความสุขนิรันดร์บนโลกหลังความตาย แต่นั่นเป็นเรื่องที่ตอนยังมีชีวิตอยู่มิอาจเอื้อมไขว่คว้าถึงได้

ชื่อหนัง La Dolce Vita หรือ The Sweet Life มีความหมายถึงความสุขฉาบหน้าภายนอกเท่านั้น มิได้สะท้อนสิ่งที่อยู่ภายในของตัวละคร ใจความสำคัญของหนังออกมา ซึ่งนี่เป็นสิ่งอาจอยู่ที่วุฒิภาวะของผู้ชมด้วย คงมีบางคนยังหลงระเริงหลงผิด คิดว่าทั้งหมดของหนังเรื่องนี้คือความสุขแท้ แต่จนกว่าจะได้ค้นพบเข้าใจด้วยตนเอง สักวันหนึ่งย่อมรับรู้ว่า ความสุขกายมิเทียบเท่าสุขทางใจอย่างแน่นอน

เรื่องราวของหนังยังสะท้อนถึงภาพลักษณ์ ภาพพื้นหลังของประเทศอิตาลีในช่วงหลังสงครามโลก ในช่วงทศวรรษแห่งการฟื้นฟู สังเกตกว่าตึกรามบ้านช่องหลายแห่งกำลังก่อร่างสร้างขึ้น ‘glittery world rebuilt upon the ruins and poverty’ แม้หนังยังมีกลิ่นอายของ Italian Neorealism อยู่มาก แต่ถือว่าได้ก้าวผ่านจากสไตล์นั้น สู่ลายเซ็นต์ของผู้กำกับเองตามคำเรียก Felliniesque (ในโลกความจริงที่ราวกับความฝัน)

Federico Fellini เป็นผู้กำกับที่ชมชอบการตั้งคำถามเกี่ยวกับปรัชญาชีวิต ซึ่งส่วนใหญ่แล้วตัวเขาคงไม่ค้นพบคำตอบของตนเองอะไรหรอก ล่องลอยเรื่อยเปื่อยแบบตัวละครที่นำเสนอมานะแหละ แต่ก็ชักชวนให้ผู้ชมได้ครุ่นคิดติดตาม ท้าทายว่าจะเข้าใจในสิ่งที่เขากำลังค้นหาอยู่หรือเปล่า

สำหรับ Paparazzo และผองเพื่อน ถือเป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจทีเดียว เพราะ Fellini คงไม่ได้คิดว่าชื่อนี้จะกลายเป็นอิทธิพลต่อวงการสื่อได้อย่างมากคลั่งขนาดนี้, ความตั้งใจของผู้กำกับต่อเหล่า Photojournalist คงแค่ต้องการ ‘เก็บภาพ’ เน้นช่วงเวลาเหตุการณ์สำคัญของชีวิต สร้างสีสันให้กับเรื่องราว และสะท้อนภาพการลุกล้ำพื้นที่ส่วนตัวของสื่อสาธารณะ

คงเพราะการกระทำของ Paparazzo และผองเพื่อน เป็นการสะท้อนค่านิยม ‘เสรีภาพของสื่อ’ แม้จะเกิดการตั้งคำถามเชิงจรรยาบรรณตามมามากมาย แต่ก็ได้กลายเป็นสีสันของวงการสื่อ สามารถใช้ต่อรอง(เรียกค่าไถ่)สร้างมูลค่าได้มากมายมหาศาล มันจึงกลายเป็นเทรนด์กระแสนิยม เปรียบอาชีพนี้ได้เหมือนยุง แมลงวัน ตามความหมายตรงตัวเสียจริง

ไม่มีรายงานทุนสร้าง แต่หลังจากคว้า Palme d’Or จากเทศกาลหนังเมือง Cannes ก็ทุบหลายสถิติทำเงินในยุโรป, ผู้เข้าชม 13.6 ล้านคนในอิตาลี, 2.95 ล้านคนในฝรั่งเศส, เฉพาะอเมริกาทำเงินได้ $19.5 ล้านเหรียญ

เข้าชิง Oscar 4 สาขา คว้ามา 1 รางวัล
– Best Director
– Best Writing, Story and Screenplay – Written Directly for the Screen
– Best Art Direction-Set Decoration, Black-and-White
– Best Costume Design, Black-and-White ** คว้ารางวัล

สาเหตุที่ไม่ได้เข้าชิง Oscar: Best Foreign Language Film คงเพราะไม่ได้ถูกส่งในนามประเทศ ซึ่งอิตาลีปี 1960 ส่งเรื่อง Kapò (1960) ของผู้กำกับ Gillo Pontecorvo ก็ไม่รู้มีเบื้องหลังอะไรหรือเปล่า สุดท้ายก็ไม่ได้ลุ้นเข้ารอบใดๆ ผู้ชนะปีนั้นคือ The Virgin Spring (1960) ของผู้กำกับ Ingmar Bergman

(เชื่อว่าถ้า La Dolce Vita ได้เข้าชิง Oscar: Best Foreign Language Film น่าจะคว้ารางวัลแน่ๆ)

วาติกันไม่ชอบหนังเรื่องนี้ … ก็แน่ละเพราะทำให้ภาพลักษณ์ของกรุงโรมเสียๆหายๆ แถมนำเสนอพฤติกรรมอันรับไม่ได้ของเหล่าคนชนชั้นสูง ตั้งชื่อให้ใหม่ว่า La Schifosa Vita (แปลว่า The Filthy Life)

เหตุผลครั้งก่อนๆที่ผมตกหลุมรักหนังเรื่องนี้แม้จะไม่ค่อยเข้าใจมันสักเท่าไหร่ ก็คือเรื่องราวของ ‘พ่อ’ มีความซาบซึ้งกินใจ น้ำตาเล็ดร่วงแทบทุกครา, แต่สำหรับการรับชมครั้งนี้เมื่อสามารถทำความเข้าใจอะไรหลายๆอย่างได้แล้ว รับรู้ว่าฉากนั้นเป็นเพียง ‘Tip of the iceberg’ ส่วนกระจิดริดเมื่อเทียบกับทั้งหมดของหนัง ที่เป็นการตั้งคำถามปรัชญาลึกซึ้ง ไม่มีคำตอบแต่ชักชวนให้ค้นหา ผมน้ำตาซึมไห้ให้กับหนังทั้งเรื่องและผู้กำกับ ไม่ใช่แค่เฉพาะฉากนั้นอีกต่อไป

“ต้องดูให้ได้ก่อนตาย” อย่างน้อยที่สุดถ้าคุณดูหนังไม่รู้เรื่องอะไรเลย อดทนให้ถึงเรื่องราวความสัมพันธ์ระหว่าง Marcello กับ ‘พ่อ’ เกิดความซาบซึ้งน้ำตาซึม เบื้องต้นแค่นั้นก็เกินพอแล้วละครับ

แนะนำกับคอหนังดราม่า แฝงปรัชญาการใช้ชีวิต, นักออกแบบ Fashion Design หลงใหลเครื่องแต่งกายในยุค 50s, นักเรียน/ผู้สร้างภาพยนตร์ทั้งหลาย ศึกษาวิเคราะห์ทำความเข้าใจหนังให้ลึกซึ้งถ่องแท้, แฟนๆผู้กำกับ Federico Fellini นักแสดงนำ Marcello Mastroianni, Anouk Aimée และเพลงเพราะๆของ Nino Rota ไม่ควรพลาด

จัดเรต 15+ กับความพิศดารบ้าคลั่งของพฤติกรรมตัวละคร

TAGLINE | “La Dolce Vita ออกค้นหาปรัชญาแห่งความสุขในชีวิต ของผู้กำกับ Federico Fellini และนักแสดงนำ Marcello Mastroianni”
QUALITY | RARE-GENDARY
MY SCORE | LOVE


La Dolce Vita

La Dolce Vita (1960)

(31/12/2015) อีกผลงานระดับ Masterpiece จากผู้กำกับชาว Italian Federico Fellini นี่เป็นหนัง Palme d’Or เรื่องแรกและเรื่องเดียวที่ Fellini ได้ เข้าชิง Oscar 4 สาขา ได้มา 1 สาขา Best Costume Design: Black-and-White นิตยสาร Empire จัดหนังเรื่องนี้อยู่อันดับ 11 ของ The 100 Best Films Of World Cinema ส่วน Sight & Sound อยู่อันดับ 39 เท่านี้คงการันตีความยอดเยี่ยมของหนังได้ไม่น้อย

หลายปีก่อนหน้านี้ ผมได้ดูหนังของ Fellini มาหลายเรื่อง ในขณะที่ 8 1/2 ดูแล้วไม่เข้าใจเลย แต่ La Dolce Vita เป็นหนังที่ย่อยไม่ยาก ทำให้ผมชอบเรื่องนี้มากกว่ามาก แต่ปัจจุบันเมื่อได้กลับมาดูหนังทั้งสองเรื่อง ผมกลับรู้สึกว่า 8 1/2 เป็นหนังที่มีเทคนิคที่น่าสนใจกว่ามาก (คงเพราะกาลเวลาได้เปลี่ยนความคิดผมไปเสียแล้ว) แต่ไม่ใช่ว่า La Dolce Vita จะแย่กว่าหรือยังไง ผมยังคงแนวคิดเดิมคือ หนังเข้าใจง่ายกว่า 8 1/2 มาก แต่เทคนิค ลูกเล่น จังหวะและอารมณ์ ผมรู้สึกว่า 8 1/2 กินขาดเลยถ้าเราสามารถเข้าใจหนังได้

La Dolce Vita แปลว่า the good life … ดูคำแปลแล้วไม่รู้สึกว่าใช่เท่าไหร่ ในหนังเป็นเรื่องราวของ paparazzi หนุ่มกับการใช้ชีวิตประมาณ 7 วัน ในหนัง กับ 7 เหตุการณ์ที่แทบจะไม่สอดคล้องอะไรกันเลย ผมเชื่อว่าคนดู La Dolce Vita จะสามารถจับจุดนี้ได้ คือมีประมาณ 7 เรื่องราวเกิดขึ้นในหนัง แต่อาจจะข้องใจว่ามันเกี่ยวข้องสัมผัสกันยังไง เรามาลองหาคำตอบกันนะครับ

ผมคงไม่เขียนแยกไปนะครับว่า 7 เรื่องนั้นมีอะไรบ้าง สิ่งสำคัญคือ 7 เรื่องนี้มันคืออะไรกัน มีนักวิเคราะห์หลายคนพูดถึงว่า 7 เรื่องนั้นเปรียบเหมือน The Seven Deathly Sins หรือบาป 7 ประการ เราจะมองลงไปแบบนั้นก็ได้ แต่ผมไม่อยากคิดแบบนั้นนะ เพราะถ้าใครสังเกตหน่อยจะมีอีกจุดหนึ่ง คือตอนฉากเปิดเรื่องและฉากปิดเรื่อง ซึ่งมีความสมมาตรกันอย่างประหลาด เช่น เปิดเรื่อง ฉากเกิดขึ้นบนท้องฟ้า พระเอกตะโกนหาหญิงสาวไม่ได้ยิน สิ่งที่เฮลิคอปเตอร์บรรทุกคือพระเยซูสัญลักษณ์แห่งความดี บินวนรอบๆวาติกัน ส่วนปิดเรื่อง เกิดที่ทะเล หญิงสาวตะโกนหาพระเอกไม่ได้ยิน ชาวประมงพบกับสัตว์ประหลาดเปรียบได้กับสัญลักษณ์แห่งความชั่ว ชาวประมงดึงอวนเก็บล้อมรอบกลุ่มพระเอก เหล่านี้มันเป็นความสมมาตรที่ต้องใช้การสังเกตพอสมควรถึงจะเห็นได้ ซึ่งความสมมาตรนี้ไม่ได้มีแค่ฉากเปิดปิดเรื่องเท่านั้น แต่ใน 7 เรื่องราว ก็มีความสมมาตรซึ่งกันและกัน เช่น หญิงสาวผู้มีทุกอย่างยกเว้นความสุขในเรื่องแรก แต่เรื่องที่สองหญิงสาวผู้มีความสุขและไม่ต้องการอะไรสักอย่าง, พระเอกต้องตามง้อผู้หญิงในเรื่องที่สอง แต่เรื่องที่สาวแฟนพระเอกต้องตามง้อพระเอก ฯ ความสมมาตรนี้ผมมองว่ามันอยู่ในมิติที่เหนือกว่าการมองแค่ 7 เรื่องเปรียบเทียบกับอะไรสักอย่าง 7 สิ่งแน่นอน เพราะความสัมพันธ์ระหว่างแต่ละเรื่องมันจะมีรอยต่อที่เราต้องสังเกตมากๆ ว่ามันซ่อนอยู่ตรงไหน ซึ่งถ้าใครก็ตามหาเจอแล้ว ก็คงจะรู้สึกทึ่งในการเล่าเรื่องของ Fellini มาก

ในเครดิตของคนเขียนบทนั้นมีถึง 4 คน และ Fellini อีก 1 รวมเป็น 5 คน แต่ไม่ใช่ว่าคนหนึ่งเขียนเรื่องหนึ่งไม่ใช่แบบนั้นนะ โดยเครดิตที่ให้กับคนวางโครงเรื่องคือ Fellini, Ennio Flaiano และ Tullio Pinelli แต่ละคนก็ขาประจำของ Fellini ทั้งนั้น

Marcello Mastroianni ผมละเผลอคิดไปแล้วว่าพี่แกคือ Fellini หน้าตาไม่ได้เหมือนกันหรอกนะ แต่เหมือน Avatar มากกว่า คือเขาถ่ายทอดความคิด ความรู้สึก อัตลักษณ์ของผู้กำกับผ่านการแสดงได้อย่างสมจริงมากๆ หนังของ Fellini คนดูจะรู้สึกเหมือนว่าตัวเอกคือ Fellini เอง เรื่องราวที่เกิดขึ้นคือในฝัน จินตนาการ หรือความจริงที่ผู้กำกับได้พบประสบหรือเขียนขึ้นมา ใน La Dolce Vita ตัวละครของเขา ไปในจุดที่ไม่รู้ว่าเราจะรู้สึกยังไงกับตัวละครนี้ดี สุข เศร้า เหงา อมทุกข์ คือมีทุกอารมณ์ในตัวละครเดียว ตอนจบมันจะออกปลายเปิดสักหน่อย คือไม่รู้ว่าตัวละครนี้จะตัดสินใจต่อยังไง จะใช้ชีวิตต่อยังไง ราวกับว่าครั้งหนึ่งเขาเคยอยู่บนฟากฟ้า (บนเฮลิคอปเตอร์ที่ขนพระเยซู) ปัจจุบันเขาอยู่ติดดิน ติดริมทะเล พบกับปีศาจแห่งท้องทะเล (ที่นักวิเคราะห์มองว่าเป็น Leviathan) ที่กลายเป็นศพแล้วแต่สาวตายังจ้องมองมาที่เขา

อีกตัวละครหนึ่งที่ผมชอบมากๆ จากการแสดงของ Alain Cuny ที่เล่นเป็น Steiner ตัวละครที่สะท้อนความอิจฉาของพระเอก เขามีทุกอย่างที่พระเอกอยากมี อยากเป็น แต่แล้วสิ่งนั้นก็กลายเป็นภาพลวงตากับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น คนที่ดูเหมือนมีความสุขทุกอย่าง แต่ข้อในกลับกลวงโบ๋ ฤาว่านี่คือธรรมชาติของคน เสียงธรรมชาติที่ Steiner ชอบฟังมองได้ 2 แบบ คือ ความจริงที่ฉาบหน้า หรือ ความจริงที่ลึกลงไปข้างใน ความผิดหวังต่อ Steriner ทำให้เกิดเรื่องราวสุดท้ายของพระเอก ที่เขากลายเป็นตัวอะไรไปก็ไม่รู้แล้ว

Otello Martelli ปู่แกเป็นตากล้องของผู้กำกับในตำนานของอิตาลีหลายคนทีเดียว ใน La Dolce Vita ถือว่ามีการถ่ายภาพที่น่าสนใจมากๆ อย่างฉากเปิดเรื่อง สิ่งแรกที่แวบขึ้นมาในหัวผม มันเหมือนกับพระเจ้ากำลังมองมนุษย์จากบนท้องฟ้า แต่พอมาถึงฉากที่พระเอกบนเฮลิคอปเตอร์ตะโกนมาขอเบอร์สาว มันเหมือนกำลังบอกว่า พระเจ้าก็ไม่ต่างอะไรกับมนุษย์หรอก … แอบผิดหวังเพราะหนังไม่เกี่ยวอะไรกับที่ผมวิเคราะห์มานี้เลยนะครับ

ผมชอบฉากคนกระโดดไปมาในแต่ละซีนของหนัง Fellini มาก และ Paparazzi ในเรื่องนี้แม้งโคตรทุ่มเทเลย มันเหมือนประชดประชัน เสียดสี แต่ก็ไม่เกินความจริงมากมายนะครับ ตัวละครที่ชื่อ Paparazzo ในหนัง ก็กลายมาเป็นคำเรียกพฤติกรรมของนักข่าวสายนี้ว่า Paparazzi ด้วย

ตัดต่อโดย Leo Catozzo ผมชอบความไวของหนังเรื่องนี้นะครับ แม้หนังจะยาวเกือบ 3 ชั่วโมง แต่ละเรื่องก็จะมีสไตล์การตัดต่อที่แตกต่างกันตามเรื่องราว ซึ่งช่วงที่มี Paparazzo อยู่ ทุกจังหวะจะตัดเร็วมาก พร้อมกับเพลงประกอบที่จะทำให้เราตื่นถ้ากำลังสลึมสลืออยู่ ช่วงที่ผมชอบที่สุดคือช่วงที่พ่อพระเอกมาหา ช่วงนั้นมีการตัดต่อที่นุ่มนวลมากๆ เป็นช่วงที่ผมรู้สึกว่า Emotion ที่สุดแล้ว แม้ว่าเรื่องถัดไปจะมีเรื่องช็อคๆรุนแรงเกิดขึ้น แต่ผมกลับรู้สึกการตัดต่อมันคมชอบกล เหมือนมีดที่กำลังกรีดแทง รู้สึกเจ็บปวดมากกว่า

เพลงประกอบโดย Nino Rota คงไม่ต้องบรรยายสรรพคุณอะไรนะครับ บอกได้แค่ว่าสุดยอด ห้ามพลาดเด็ดขาด

ถ้าถามเรื่องไหนผมชอบสุด ก็คงหนีไม่พ้นเรื่องของพ่อที่กลับมาหาพระเอก ช่วงไหนเจ๋งสุด ผมชอบเรื่องแรกนะ มันระห่ำดี ฉากไหนที่น่าจดจำที่สุด หญิงสาวกระโดดลงไปว่ายน้ำเล่นในน้ำพุกลางเมือง หนังเรื่องนี้เต็มไปด้วยความคิดแปลกๆมากมาย ราวกับว่าไม่น่าเป็นความจริงได้ ถ้าวิเคราะห์ได้แบบนี้ นี่คือลายเซ็นต์ของ Fellini เจ้าพ่อแห่ง Reality และ Fantasy เพียงแต่เรื่องนี้อาจจะไม่มีฉากในความฝัน แต่มีเรื่องราวที่เหมือนกับความเพ้อฝันแทบทั่งเรื่อง

Oscar หนึ่งรางวัลเดียวที่ได้คือ Costume โอ้สาขานี้ หนังของ Fellini ได้อีกแล้ว (คุ้นๆว่า 8 1/2 ก็ได้สาขานี้) ผมว่าชัดเจนเลยนะ ผมอ่านเจอบทสัมภาษณ์ของ Fellini เกี่ยวกับการออกแบบ Costume คือ Fellini จะมีแคตาล็อกเสื้อผ้าเยอะมากที่เขาเอามาใช้ในหนัง เป็นแฟชั่นที่ไม่น่าจะเป็นแฟชั่น แต่มีความหมายสื่อออกในรูปแบบต่างๆมากมาย เช่น ความฟุ้มเฟ้อ ความสิ้นเปลือง บางทีก็ใส่ความแฟนตาซีเข้าไปใน Costume ให้นับคงนับไม่ถ้วน หนังเรื่องๆหนึ่งของ Fellini จะมีเสื้อผ้าเปลี่ยนกี่ชุดกัน แต่ละชุดก็เว่ออลังการแบบสังเกตได้ คงต้องยกให้เลยนะครับ หนังของผู้กำกับที่จะได้รางวัลจาก Costume มากที่สุด ก็ Fellini นี่แหละ

เหตุผลที่ปัจจุบันผมชอบ 8 1/2 มากกว่า La Dolce Vita เพราะความฉงนในการเล่าเรื่อง คงเพราะผมเข้าใจเรื่องราวของ La Dolce Vita โดยไม่ยากตั้งแต่ครั้งแรกที่ดู พอดูครั้งนี้ก็เห็นเพิ่มเติมในบางจุดที่ยังมีข้อสงสัย แต่กลับ 8 1/2 มันจากที่ไม่เข้าใจเลย มาเริ่มเข้าใจ ความรู้สึกมันเลยเปลี่ยนไปนะครับ ความท้าทายอันน่าทึ่งของ 8 1/2 มันมากกว่า La Dolce Vita มาก แต่ความรู้สึกนี้ใช้กับ The Rules of Games ไม่ได้ ที่ผมยังไม่รู้สึกชอบมันขึ้นมาสักนิดเลย แต่ถ้าถามระหว่าง 8 1/2 กับ La Dolce Vita เรื่องไหนดีกว่ากัน ผมให้เสมอกันในระดับสูงสุดนะครับ คือมันยอดเยี่ยมกันคนละอย่าง La Dolce Vita มีเรื่องราวที่ซับซ้อนเหนือชั้น แต่ 8 1/2 เมื่อเข้าใจเรื่องราวแล้วจะพบว่ามันไม่ได้ซับซ้อนเท่าไหร่แต่มีเทคนิคการเล่าเรื่องที่เหนือชั้นมากๆ สองจุดนี้คือความสุดยอดที่ผมว่าเท่าเคียงกันได้เลย

หนังเรื่องนี้ ใจจริงผมก็อยากแนะนำว่า “ห้ามพลาด” นะครับ แต่กับเฉพาะคนที่ชอบดูหนังมากๆเท่านั้น คนดูแบบทั่วๆไปก็คงจะไม่แนะนำ เพราะหนังมีแนวคิดที่ยากพอสมควร ดูจบแล้วคิดว่าคงไม่เข้าใจแน่ๆว่าหนังสื่อถึงอะไร แต่หนังเรื่องนี้มีอะไรให้พูดถึง ให้วิเคราะห์มากมาย ถ้าจัดเรต ก็ 15+ นะครับ ผมว่าความรุนแรงที่เกิดขึ้นในหนัง ถึงเด็กกว่านี้จะดูไม่เข้าใจ แต่ก็อย่าเสี่ยงเลยนะครับ และยิ่งฉาก Orgy ในเรื่องสุดท้าย ผมไม่ชอบเลย มันบ้าคลั่งเกินขอบเขตไปเสียหน่อย แต่ก็ถือว่าเป็น Climax ที่ไปถึง Climax จริงๆ

คำโปรย : “อีกหนึ่ง masterpiece จาก Federico Fellini หนังเรื่อง La Dolce Vita 7 เรื่องราวที่มองผิวเผินอาจจะไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกัน แต่ความสัมพันธ์ของมันกลับลึกซึ้งมาก การแสดงของ Marcello Mastroianni เพลงของ Nino Rota ใครเป็นแฟน Fellini จะพลาดได้ยังไง”
คุณภาพLEGENDARY
ความชอบLOVE

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: