La Grande Illusion (1937)
: Jean Renoir ♥♥♥♥♡
(14/7/2018) เชื้อชาติพันธุ์ ขอบเขตแดน ภาษาพูด-เขียน ฐานะรวย-จน ชนชั้นสูง-ต่ำ เหล่านี้คือ ‘ภาพลวงตา’ ที่มนุษย์สร้างขึ้นเพื่อแบ่งแยกจัดหมวดหมู่ ทั้งๆที่ในสากลจักรวาลไม่มีอะไรขีดเส้นไว้ทั้งนั้น ถ้าพวกเราสามารถเข้าใจจุดนี้ได้อย่างลึกซึ้ง สงครามความขัดแย้งก็จักไม่มีวันบังเกิดขึ้น, “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย”
The Grand Illusion ได้รับการยกย่องอย่างเอกฉันท์ว่าคือ Masterpiece แห่งวงการภาพยนตร์ ติดแทบทุกชาร์ทที่จัดอันดับ สำนักวาติกันเลือกเป็นหนึ่งใน ’45 great films’ คือหนังภาษาต่างประเทศเรื่องแรกเข้าชิง Oscar: Best Picture และอัจฉริยะผู้กำกับ Orson Welles เคยถูกซักถาม ถ้าให้เลือกภาพยนตร์นำขึ้นเรือ Noah’s Ark เก็บไว้ให้อนุชนคนรุ่นหลัง ผู้สัมภาษณ์บอกหลายเรื่องก็ได้ แต่เจ้าตัวคิดออกแค่เรื่องนี้เรื่องเดียว!
ผมจดจำได้ลางๆ รับชมภาพยนตร์เรื่องนี้สองสามครั้งก่อนยังแค่น้ำตาซึมๆ แต่คราวนี้มันไหลพรากๆออกมาถึงสองครั้งครา ด้วยความซาบซึ้งใน ‘มนุษย์ธรรม’ จนมิอาจอดกลั้นความเห็นอกเห็นใจ อารมณ์แทบไม่ต่างจากตอนพบเจอทีมหมูป่า และชัยชนะหลังพาตัวออกจากถ้ำสำเร็จ
การรับชมทำความเข้าใจภาพยนตร์เรื่องนี้ ค่อนข้างจะมีความยากพอสมควร เพราะต้องใช้ทั้งการสังเกตภาษา และครุ่นคิดวิเคราะห์อย่างหนัก มองผิวเผินจะเห็นว่าคือเรื่องของการหลบหนีเอาตัวรอดจากค่ายกักกันเยอรมัน (ไม่ใช่นาซี เพราะพื้นหลังคือสงครามโลกครั้งที่ 1) แต่แท้จริงแล้วคือการพยากรณ์/นำเสนอแนวคิดต่อโลกอนาคต ที่คนชนชั้นกลาง-ล่าง จะขึ้นมามีบทบาทเทียบเท่าและแทนที่กลุ่มชนชั้นสูง กลายเป็นความเสมอภาคเท่าเทียมในสังคมต่อไป
ที่ผมเรียกว่าเป็นการพยากรณ์ เพราะตอนที่ภาพยนตร์เรื่องนี้ออกฉาย ค.ศ. 1937 ก่อนหน้าสงครามโลกครั้งที่สองจะปะทุขึ้นเพียงเล็กน้อย หลายประเทศยังปกครองด้วยระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ สืบเชื้อสายราชวงศ์ชนชั้นสูงมากมายเต็มไปหมดในยุโรป
ประเทศฝรั่งเศสแม้จะเริ่มมีการปฏิวัติมาตั้งแต่ French Revolution (1789 – 1799) แต่ก็มีช่วงฟื้นฟูระบอบกษัตริย์หวนกลับมามีอำนาจหลายครั้ง จนกระทั่งพระองค์สุดท้ายจริงๆคือ Napoléon III (1808 – 1873, ครองราชย์ 1852 – 1870) กระนั้นก็ใช่ว่าบรรดาขุนนางมียศทั้งหลายจะหมดสิ้นลงไปทันที เชื้อสายราชวงศ์ อภิสิทธิ์ชนยังคงหลงเหลือมีอำนาจอยู่มากในสังคม
ประเทศไทย ตอนที่ภาพยนตร์เรื่องนี้ออกฉาย ตรงกับ พ.ศ. ๒๔๘๐ ไม่กี่ปีหลังการปฏิวัติสยาม พ.ศ. ๒๔๗๕ เปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตย ในทางนิตินัยถือว่าคือจุดล่มสลายของคนชนชั้นสูง ชัยชนะของคนชนชั้นกลาง-ล่าง ได้รับสิทธิ์ในการบริหารประเทศโดยเลือกตัวแทนสู่รัฐสภา ถึงกระนั้นชาวเรายังคงยกพระมหากษัตริย์ให้ทรงเป็นองค์พระประมุข เทิดทูนจารึกไว้ในรัฐธรรมนูญ แม้มิได้มีอำนาจบริหารปกครอง แต่ยังคงเป็นศูนย์รวมจิตใจของประชาชน (ขณะที่ประเทศอื่นส่วนใหญ่ เมื่อล้มล้างสำเร็จมักจะขับไล่เนรเทศ สูญเสียสิ้นสภาวะผู้นำประชาชนโดยทันที)
สงครามโลกครั้งที่สอง ถือเป็นช่วงเวลาของการชำระล้างบาง ทำลายล้มล้างความเชื่อถือของประชาชนต่อกลุ่มอภิสิทธิ์ชนชั้นสูง ชัยชนะของฝ่ายสัมพันธมิตรและอเมริกา แพร่ขยายแนวคิดประชาธิปไตยสู่หลายๆประเทศ เฉกเช่นเดียวกับคอมมิวนิสต์ของสหภาพโซเวียต ต่างคือระบอบที่คนชนชั้นกลาง-ล่าง มีโอกาสได้รับสิทธิ์เทียบเท่าคนชนชั้นสูง นี่ต้องถือว่าคำพยากรณ์ของผู้กำกับ Jean Renoir ให้ไว้กับภาพยนตร์เรื่องนี้ ใกล้เคียงความจริงมากๆ แต่…
ในทางปฏิบัติใครๆก็น่าจะรับรู้ได้ โลกเราทุกวันนี้อภิสิทธิ์ชนชั้นยังคงมีอยู่ กลายเป็น’ภาพลวงตา’รูปแบบใหม่ ด้วยคำกล่าวอ้างว่าทุกคนเสมอภาคเท่าเทียมจากระบอบประชาธิปไตย แต่เมื่อผู้นำหลงใหลในอำนาจยศศักดิ์ศรี คดโกงกินเงินภาษีประชาชน เล่นพรรคเล่นพวกพ้อง นำคนชั่วคอรัปชั่นมาบริหารประเทศ นี่แหละหนาเรียกว่าประวัติศาสตร์ซ้ำรอยเดิม ครานี้ชำระล้างยังไงก็ไม่มีวันหมดไป
Jean Renoir (1894 – 1979) ผู้กำกับสร้างภาพยนตร์สัญชาติฝรั่งเศส เกิดที่ Montmartre, Paris ลูกชายคนรองของจิตรกรชื่อดัง Pierre-Auguste Renoir เติบโตขึ้นโดยการเลี้ยงดูของแม่เลี้ยง Gabrielle Renard ตั้งแต่เด็กพาเขาไปรับชมภาพยนตร์จนเกิดความชื่นชอบหลงใหล ไม่ชื่นชอบการเรียน ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 สมัครเป็นทหารม้า (French Cavalry) ถูกยิงที่ขาทำให้พิการ เลยเปลี่ยนมาเป็นนักขับเครื่องบินลาดตระเวน ระหว่างพักรักษาตัวเลยมีโอกาสนั่งดูหนังซ้ำแล้วซ้ำอีกของ Charlie Chaplin, D. W. Griffith, Erich von Stroheim นำเงินจากการขายภาพวาดของพ่อมาซื้อกล้อง ถ่ายทำหนังเงียบจนมีโอกาสได้นำออกฉาย เริ่มประสบความสำเร็จมีชื่อเสียงจาก La chienne (1931), Boudu Saved From Drowning (1932), Le Crime de Monsieur Lange (1935), โด่งดับระดับนานาชาติครั้งแรกกับ La Grande Illusion (1937), และกลายเป็นตำนานเรื่อง La Règle du Jeu (1939)
จุดเริ่มต้นของ La Grande Illusion ได้แรงบันดาลใจจากตอนเป็นนักขับเครื่องบินลาดตระเวน มีเพื่อนสนิทคนหนึ่ง Major Pinsard เคยช่วยชีวิตให้รอดพ้นจากการถูกศัตรูโจมตีหลายครั้งครา แต่ตนเองกลับถูกยิงตก 7 ครั้ง โดนจับเป็นเชลย 7 ครา และสามารถหลบหนีเอาตัวรอดออก 7 หน, ทั้งหมดนี้ Renoir กล่าวไว้ในคำเกริ่นเมื่อตอนนำหนังออกฉายครั้งใหม่ Re-Release ปี 1960
ร่วมพัฒนาบทภาพยนตร์กับ Charles Spaak (1903 – 1975) สัญชาติ Belgian ทำงานในฝรั่งเศสช่วงทศวรรษ 30s ก่อนหน้านี้ร่วมงานกับ Renoir ดัดแปลง Les Bas-fonds (1936) จากวรรณกรรมชื่อดังของ Maxim Gorky
สองนักบินสัญชาติฝรั่งเศส Captain de Boeldieu (รับบทโดย Pierre Fresnay) กับ Lieutenant Maréchal (รับบทโดย Jean Gabin) ถูกยิงตกโดยทหารเยอรมัน Captain von Rauffenstein (รับบทโดย Erich von Stroheim) ได้รับเชื้อเชิญมาร่วมวงรับประทานอาหารอย่างสมเกียรติ ก่อนเดินทางสู่ค่ายกักกัน Prisoner-Of-War พบเจอ Lieutenant Rosenthal (รับบทโดย Marcel Dalio) ร่วมมือขุดอุโมงค์ใต้ดินแต่ดันโชคไม่เข้าข้าง บังเอิญต้องย้ายค่ายในวันจะหลบหนีพอดี มุ่งสู่ป้อมปราสาท Wintersborn พบเจออีกครั้งกับ Major von Rauffenstein แม้ได้เลื่อนตำแหน่งแต่สภาพร่างกายแทบดูไม่ได้ โดนยิงตกไฟครอกครึ่งตัว ใช้เหล็กดามหลังให้คอตั้งตรงตลอดเวลา แม้การรวมญาติจะดำเนินไปด้วยดี แต่ทหารฝรั่งเศสทั้งสามก็ร่วมกันวางแผนหลบหนีอีกครั้ง จากสถานที่ที่ความเป็นไปได้แทบไม่มี
Jean Gabin ชื่อจริง Jean-Alexis Moncorgé (1904 – 1976) นักแสดงในตำนานผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดของฝรั่งเศส ‘the actor of the century’ เกิดที่กรุง Paris วัยเด็กไม่ชอบเรียนหนังสือ โดดออกมาเป็นกรรมกรใช้แรงงานจนอายุ 19 เกิดความสนใจในการแสดงละครเวทีได้รับบทตัวประกอบเล็กๆ กลับจากรับใช้ชาติทหารเรือ กลายเป็นนักร้องเลียนแบบ Maurice Chevalier เคยทำงานใน Moulin Rouge จนเข้าตาผู้กำกับมุ่งสู่วงการภาพยนตร์ เริ่มมีชื่อเสียงจาก La Bandera (1936), Les Bas-fonds (1936), โด่งดังเป็นที่รู้จัก Pépé le Moko (1937), ยิ่งใหญ่ระดับตำนาน La Grande Illusion (1937), กลายเป็น Iconic กับ La Bête Humaine (1938), Port of Shadows (1938) ฯ
รับบท Lieutenant Maréchal นักขับเครื่องบิน/วิศวกร ครอบครัวชนชั้นกลาง เมื่อถูกยิงตกได้รับอุบัติเหตุเข้าเฝือกที่แขน หายดีแล้วพยายามหลบหนีจากค่ายกักกันหลายครั้งแต่ไม่เคยสำเร็จจนถูกขังแยกเดี่ยว กลายเป็นโรคซึมเศร้าขาดคนคุยด้วย เมื่อออกมาพอดีกับวันย้ายค่าย เดินทางสู่ป้อมปราสาท Wintersborn หลังความพยายามหลบหนีอีกครั้งทำสำเร็จ เดินทางร่วมกับ Lieutenant Rosenthal จนพบเจอได้รับการอนุเคราะห์จากหญิงสาวชาวเยอรมัน Elsa (รับบทโดย Dita Parlo) คงเพราะความเหงาเหมือนกันพลันตกหลุมรักใคร่ แม้คุยภาษาไม่รู้เรื่องแต่ใจมันให้ และเมื่อถึงคราต้องแยกจากให้คำมั่นจะหวนคืนกลับมาหลังสงครามสิ้นสุด
ก่อนการมาถึงของสงครามโลกครั้งที่สอง บทบาทเด่นของ Gabin มักคือชายหนุ่มหล่อ(มั้ง) ตัวแทนคนชนชั้นกลาง-ล่าง ภายนอกดูเข้มแข็งแกร่ง แต่จิตใจนุ่มนวลอ่อนไหว เปี่ยมด้วยความมีคุณธรรมชั้นสูง, วินาทีที่ Maréchal โตเถียงอย่างรุนแรงกับ Rosenthal ระหว่างกำลังเดินเท้าหลบหนี ปากพูดบอกไม่รอแล้วเอาแต่ถ่วงเวลาชักช้า สุดท้ายกลับหวนมาพยุงเคียงข้างไปด้วยกัน ฉากนี้ผมไม่ถึงขั้นน้ำตาไหลพรากๆ แต่ก็แอบซึมๆอยู่นะ ลูกผู้ชายตัวจริงต้องแบบนี้แหละ!
เกร็ด: ชุดทหารที่ Gabin สวมใส่ในหนัง เห็นว่าคือชุดของผู้กำกับ Renoir ตอนรับใช้ชาติสงครามโลกครั้งที่ 1
นี่เป็นผลงานการันตีความเป็น ‘Superstar’ ของ Gabin และถือเป็นคนสำคัญที่ทำให้หนังได้ทุนสร้างด้วย เพราะตอน Renoir นำโปรเจคไปเสนอหานายทุนไม่มีใครไหนสนใจ แต่พอบอกนำแสดงโดย Gabin เลยได้งบประมาณมาพอสมควร (คือขณะนั้น Gabin ถือเป็นดาราแม่เหล็ก ตัวทำเงินเลยละ)
ผู้กำกับ Renoir เคยให้สัมภาษณ์ยกย่องการร่วมงานกับ Gabin
“There you have a true film actor. I’ve filmed many people in my life, and I have never met such a cinematic power; he’s a cinematic force, it’s fantastic, it’s incredible. It must come from his great honesty. He’s certainly the most honest man I’ve ever met in my life”.
Marcel Dalio ชื่อจริง Israel Moshe Blauschild (1899 – 1983) นักแสดงสัญชาติฝรั่งเศส เกิดที่ Paris ครอบครัวเชื้อสาย Jews อพยพจาก Romanian โตขึ้นเข้าเรียนการแสดงที่ Paris Conservatoire มีผลงานละครเวที ภาพยนตร์มีชื่อกับ Pépé le Moko (1937), La Grande Illusion (1937), La Règle du jeu (1939) ฯ
รับบท Lieutenant Rosenthal เชื้อสายยิว ครอบครัวประกอบกิจการธนาคารฐานะร่ำรวยค่อนข้างร่ำรวย แต่งงานแล้วรักภรรยามาก เป็นคนนิสัยเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ชอบการแบ่งปัน ให้ที่บ้านส่งอาหารกระป๋องมาให้ อยู่ดีกินดีกว่าทหารเยอรมันเสียอีก จับพลัดจับพลูพบเจอรู้จัก Captain de Boeldieu กับ Lieutenant Maréchal ในค่ายกักกัน บังเอิญอีกไปอยู่ป้อมปราการ Wintersborn เดียวกัน ร่วมครุ่นคิดวางแผนหลบหนี สำเร็จแล้วโชคร้ายลื่นไถลจนขาพลิกแพลงเดินต่อแทบไม่ไหว โชคดีได้เพื่อนแท้เลยพยุงกันไปพักอยู่บ้านของหญิงสาวชาวเยอรมัน อาสาบอกลาเธอให้ ถ้าชีวิตนี้ไม่พบเจอกันอีก็ขอให้โชคดี
หนวดเล็กๆของ Dalio ทำให้ตัวละครดูเป็นผู้ใหญ่ขึ้นมาก (ไม่เกลี้ยงเกลาเหมือนตัวตลกแบบ La Règle du jeu) แม้จะพึ่งพาอะไรไม่ค่อยได้มากนัก แต่ด้วยความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่น้ำใจงาม ใครๆเลยอยากให้การช่วยเหลือ ทิ้งกันได้ลงเสียที่ไหน, ตัวละครนี้ผู้กำกับ Renoir สร้างขึ้นเพื่อประชดประชัน Nazi Germany ที่รังเกียจเหยียดชาวยิวโดยเฉพาะ
Dita Parlo ชื่อจริง Gerda Olga Justine Kornstädt (1908 – 1971) นักแสดงหญิงสัญชาติ German เกิดที่ Stettin, Pomerania (ปัจจุบันคือ Szczecin, Poland) เข้าสู่วงการด้วยภาพยนตร์เรื่องแรก Heimkehr (1928) ไม่นานนักโด่งดังระดับประเทศ จนมีโอกาสข้ามมารับงานแสดงที่ฝรั่งเศสเรื่อง L’ Atlante (1934) ซึ่งคงไปเข้าตาผู้กำกับ Renoir จับมาให้แสดง La Grande Illusion (1937)
รับบท Elsa แม่หม้ายยังสาวสัญชาติ German สามีพี่น้องเข้าร่วมสงครามเสียชีวิตจากไปหมดสิ้น อาศัยอยู่บ้านฟาร์มบนเนินเขากับลูกสาว Lotte ไร้ซึ่งความหวาดกลัวทหารฝรั่งเศสทั้งสองที่แอบเข้ามาหลบภัย แถมยังให้การช่วยเหลือปกป้อง คงด้วยความเหงาอ้างว้างมองตาเลยโถมเข้าหา Maréchal แม้เป็นช่วงเวลาเล็กๆเดี๋ยวก็จากไป ก็ยังดีกว่าชีวิตจมปลักแต่ความทุกข์ทรมาน
ตรงกันข้ามกับตอนแสดง L’ Atlante ที่แววตามีความสดใสโลกสวย เรื่องนี้ Parlo เต็มไปด้วยมีความกร้านโลก สีหน้าเครียดกดดัน อัดแน่นไปด้วยความเหน็ดเหนื่อยอ่อนล้าทุกข์ทรมาน เหมือนคนผ่านอะไรๆมามาก ไร้ซึ่งความสุขสำราญในชีวิต ซึ่งเมื่อวินาทีหลบมุมกล้องโถมใส่ตัวละครของ Gabin ความอ้างว้างของทั้งสองมันเปลวเพลิงที่พุ่งเข้าหา เติมเต็มกันและกันในอ้อมแขนช่วงเวลานั้นได้อย่างอิ่มตัว
Pierre Fresnay ชื่อจริง Pierre Jules Louis Laudenbach (1897 – 1975) นักแสดงสัญชาติฝรั่งเศส เกิดที่ Paris เป็นทหารในสงครามโลกครั้งหนึ่ง กลับมาได้รับยกย่องว่าคือฮีโร่ ต่อมาเป็นนักแสดงละครเวที เข้าสู่วงการภาพยนตร์ในยุคหนังพูด Marius (1931), The Man Who Knew Too Much (1934), Street of Shadows (1937), La Grande Illusion (1937), Le Corbeau (1943), Monsieur Vincent (1947) ฯ
รับบท Captain de Boeldieu กัปตันขับเครื่องบิน เกิดในครอบครัวชั้นสูงสัญชาติ French ทำให้ได้รับการศึกษาดี มีความรอบรู้เฉลียวฉลาด ไม่ค่อยสุงสิงกับลูกน้องมากนัก แต่เมื่อมีปัญหาอะไรมักออกหน้าพึ่งพาได้โดยเสมอ ชื่นชอบการเล่นไพ่เสี่ยงดวงชะตา ครุ่นคิดแผนการเด็ดเพื่อช่วยให้สองทหารในสังกัด สามารถหลบหนีออกจากค่ายกักกันได้โดยสำเร็จ
ลีลาเคลื่อนไหว สำเนียงพูด การเชิดหน้าวางตัวของ Fresnay ปั้นแต่งตัวละครให้ดูเป็นคนชนชั้นสูงมีระดับฐานะได้อย่างสง่างามทุกท่วงท่า แม้ฝีมือการแสดงจะไม่โดดเด่นระดับ Stroheim แต่ความยียวนกวนขณะทำตัวเป็นเหยื่อล่อ เต็มไปด้วยความสำราญพึงพอใจระดับสูงสุด และยิ้มกริ่มกับชัยชนะที่ได้มา แม้นอนตายตาไม่หลับแต่จิตใจถือว่าปิดสนิทเลยละ
Erich von Stroheim ชื่อจริง Erich Oswald Stroheim (1885 – 1957) ผู้กำกับ นักแสดงและโปรดิวเซอร์ เกิดที่ Vienna, Austria-Hungary อพยพมาอยู่อเมริกาเมื่อปี 1909, เขาเคยเป็นผู้ช่วยผู้กำกับ D. W. Griffith ในหนังเรื่อง Intolerance (1916) จากนั้นก็เริ่มอาชีพเป็นผู้กำกับหนังเงียบ มีผลงานดังๆอย่าง Foolish Wives (1922), Merry-Go-Round (1923) ฯ หลังจากเปลี่ยนมาเป็นยุคหนังพูด เขาก็ไม่เคยกำกับหนังอีกเลย รับแต่งานแสดงเท่านั้น ผลงานที่ดังๆอาทิ La Grande Illusion (1937), Sunset Boulevard (1950) ฯ
รับบท Captain/Major von Rauffenstein นักขับขึ้นบินขับไล่ เกิดในครอบครัวชั้นสูงสัญชาติ German ทำให้ได้รับการศึกษาดี มีความรอบรู้เฉลียวฉลาด รับใช้ชาติด้วยความยึดมั่นในเกียรติ เมื่อได้รับอุบัติเหตุร้ายแรงปางตายขับเครื่องบินไม่ได้อีกต่อไปก็ไม่คิดเลิกรา รับงานเป็นผู้ดูแลค่ายกักกัน Wintersborn ทำให้มีโอกาสหวนพบเจอ Captain de Boeldieu พูดคุยกันอย่างถูกคอ (เพราะเป็นคนชนชั้นสูงด้วยกัน) ไม่เคยคิดจะฆ่าแกงทำร้าย แต่อุบัติเหตุผิดพลาดก็เกิดขึ้นได้ สุดท้ายนับถือน้ำใจแม้ต้องเสียศัตรู/เพื่อนแท้ ที่ดีสุดผู้นี้ไป
ภาพลักษณ์ของตัวละครนี้ได้กลายเป็นตำนานโดยทันที เดินหลังตรงคอแข็งทื่อ แทนด้วยทหารเยอรมันที่มิสามารถโอนอ่อนผ่อนตาม นอบน้อมโก้งโค้งคำนับใครได้ และยังการแสดงของ Stroheim ทำให้ผู้ชมเชื่อสนิทใจ ชายคนนี้มีระดับชนชั้น เฉลียวฉลาดรอบรู้ ภูมิฐานสง่างาม
ชีวิตจริงของ Stroheim เพราะเกิดในครอบครัวชนชั้นต่ำ ขอให้เพื่อนๆเรียกตัวเองว่า ‘von’ ฟังดูเหมือนคนมีระดับชนชั้นสูง ละทิ้งภาษาพูดเยอรมันตั้งแต่อาศัยอยู่อเมริกา แสดงหนังเรื่องนี้เห็นว่าต้องหัดพูดกันใหม่ ติดสำเนียง German-American ใครฟังออกก็จะรู้สึกได้ว่าทะแหม่งๆพอสมควร (เช่นกันกับขณะพูดฝรั่งเศสเหน่ออเมริกัน)
Stroheim ถือว่าเป็นไอดอล/อิทธิพล/แรงบันดาลใจของ Renoir กลายมาเป็นผู้กำกับสร้างภาพยนตร์ เมื่อติดต่อขอให้มานำแสดงก็ชักชวนให้เป็นผู้กำกับร่วมด้วย (เพื่อว่าจะได้เริ่มต้นกำกับภาพยนตร์ในยุคหนังพูดสักที) แต่เพราะวันแรกๆของการถ่ายทำ ทั้งสองเกิดการทะเลาะขึ้นเสียงอย่างรุนแรงในเรื่องความคิดสร้างสรรค์ จะให้มีหญิงโสเภณีในห้องพักของทหารเยอรมันหรือเปล่า? ไปๆมาๆ Renoir น้ำตาทะลักร้องไห้ออกมา Stroheim เห็นแล้วก็ทนไม่ได้ร้องตาม จากนั้นพวกเขาสวมกอดกัน … Stroheim ยอมลดบทบาทตนเองลงเหลือเพียงนักแสดง รับฟังคำแนะนำของ Renoir แต่ก็มีหลายๆอย่างปรับเปลี่ยนให้เข้ากับวิสัยทัศน์การแสดงของตนเอง (รวมถึงชุดที่สวมใส่เองด้วย) ภายหลังให้สัมภาษณ์บอกว่า
“I have never found a more sympathetic, understanding and artistic director and friend than Jean Renoir”.
ถ่ายภาพโดย Christian Matras ตากล้องยอดฝีมือ สัญชาติฝรั่งเศส ผลงานเด่นอาทิ La Grande Illusion (1938), Fanfan La Tulipe (1952), La Ronde (1950), The Earrings of Madame De… (1953), Swords of Blood (1962) ฯ
ความโดดเด่นของการถ่ายภาพ คือการเคลื่อนไหลของกล้องที่มักเก็บรายละเอียดโดยรอบ มีความเป็นธรรมชาติ Poetic Realism ราวกับภาพวาดงานศิลปะ และหลายครั้งมักถ่ายแค่ครึ่งเดียว อีกด้านที่เหลือปล่อยให้เป็นจินตนาการของผู้ชมครุ่นคิดทำความเข้าใจไปเองว่าเกิดอะไรขึ้น
เดิมนั้นฉากแรกของหนัง ผู้กำกับ Renoir ต้องการถ่ายทำการต่อสู้รบกลางเวหาระหว่างฝรั่งเศส vs. เยอรมัน (ตั้งใจจะให้ยิ่งใหญ่กว่า Hell’s Angle) แต่เพราะทุนสร้างไม่ถึง และสรรหาเครื่องบินรบไม่ได้ตามความประสงค์ เลยต้องล้มเลิกความตั้งใจ ใช้การตัดข้ามไปแบบที่หลายๆคนคงเกาหัวตามไม่ทัน มันเกิดบ้าอะไรขึ้นเนี่ย ฉับไวเหลือเกิน! (รับชมครั้ง 2-3 ก็น่าจะจับได้ไล่ทันแล้ว คือหนึ่งในไดเรคชั่นของหนังที่มักปล่อยให้ผู้ชมครุ่นคิดจินตนาการไปเองว่าเกิดอะไรขึ้น)
ผู้กำกับ Renoir ให้นิยามสงครามโลกครั้งที่หนึ่งว่า ‘สงครามสุภาพบุรุษ’ (Noble Wars) ฉากนี้คงได้แรงบันดาลใจจากเหตุการณ์จริงๆ เมื่อทหารเยอรมันยิงเครื่องบินฝรั่งเศสตก ถ้ายังมีชีวิตรอดจักเชิญมาพบปะรับประทานอาหารอย่างสมเกียรติก่อนส่งไปค่ายกักกัน, ผมเลือกช็อตนี้บนโต๊ะอาหารเพื่อจะชี้จุดสังเกตถึงความแตกต่างทางชนชั้น ซึ่งถือเป็นใจความหลักของหนัง
– Captain von Rauffenstein เมื่อสนทนากับ Captain de Boeldieu ก็คุยกันรู้เรื่อง หลายภาษา แสดงถึงความมีการศึกษา เป็นคนชนชั้นสูง
– Lieutenant Maréchal เพราะเป็นคนชนชั้นกลาง แทบไม่เคยหันไปคุยกับ Captain von Rauffenstein แต่กับอีกคนข้างๆ พอเล่าว่าเป็นวิศวกรเหมือนกันก็ถูกคอขึ้นมาทันที
และวินาทีนี้ เมื่อขณะมีพวงหลีดของทหารที่ถูกยิงตกเสียชีวิตนำออกมาจากห้อง สังเกตว่าสองกัปตันลุกขึ้นทำความเคารพให้เกียรติทันทีเลย ขณะที่ผู้หมวดแม้จะมองเห็นก่อนแต่รั้งรีทำตัวไม่ถูก ต้องรอให้คนมีตำแหน่งสูงกว่าลุกก่อนถึงยืนตาม
โต๊ะอาหารในค่ากักกันก็เช่นกัน มีหลายสิ่งชวนให้สังเกตเห็นไดเรคชั่น
– Captain de Boeldieu นั่งฝั่งตรงข้ามกับ Lieutenant Maréchal ทั้งสองแทบไม่คุยกันเลยในฉากนี้
– de Boeldieu ทานอาหารอย่างมีมารยาท ใช้ส้อมกับมีด ดื่ม Cognac
– Maréchal ทานอย่างมูมมามด้วยมือ (ใช้มืออีกข้างไม่สะดวกด้วยกระมัง) แถมเช็ดจานจนสะอาดเอี่ยม
มุมกล้องมักจะแบ่งฝั่งอย่างชัดเจน Maréchal กับอีกคนที่นั่งหัวโต๊ะ และอีกฝั่ง de Boeldieu กับเจ้าภาพอาหารมื้อนี้ Rosenthal
คุ้นๆว่าเคยไปอ่านเจอที่ไหนสักแห่งบอกว่า La Grande Illusion คือภาพยนตร์เรื่องแรกของแนวค่ายกักกัน (Prisoner of Wars) ที่พยายามขุดดินหนี อันกลายเป็นแรงบันดาลใจตามมาให้กับ The Wooden Horse (1950), Le Trou (1960), The Great Escape (1963) ฯ
ความน่าสนใจของช็อตนี้ ทุกคนต่างพยายามหลบแอบๆซ่อนๆเพื่อนำดินที่ขุดอุโมงค์เททิ้งพรวนดิน แต่กับ Captain de Boeldieu เป็นคนเดียวที่ไม่สนใจใคร่หวาดกลัวถูกจับได้ ยกออกมาเทซึ่งๆหน้าเลย (คงจะสื่อประมาณ ในมุมของคนชนชั้นสูงสงคราม/ค่ายกักกัน เป็นเพียงสิ่งสนุกสนานฆ่าเวลาเท่านั้น … ก็ขนาดเหตุผลที่ยอมเข้าร่วมขุดอุโมงค์ จะได้เป็นการออกกำลังกายไปในตัว)
การเคลื่อนกล้องวินาทีนี้จับใจมากๆ เมื่อมีใครคนหนึ่งทดลองสวมชุดผู้หญิง ก็ทั้งรู้ว่าหมอนั่นคือผู้ชาย แต่ทุกคนหยุดแน่นิ่ง สายตาหันมาจับจ้องมองอย่างพร้อมเพรียง กล้องเคลื่อน+แพนจากด้านข้าง มาแช่ค้างยังตำแหน่งนี้ หลงเหลือเพียงเธอคนเดียวเท่านั้นที่ขยับเคลื่อนไหว
นัยยะของฉากนี้ สะท้อนถึงความอดอยากปากแห้งของเหล่าทหารหาญ สถานที่แห่งนี้เต็มไปด้วยฝูงผู้ชายไม่มีอะไรสดชื่นสวยงามให้จับจ้องมอง ซึ่งแม้จะรับรู้ว่านั่นคือชายในชุดผู้หญิง แต่ความสมจริงมันทำให้รู้สึกอึ้งทึ่งอ้างปากค้าง ราวกับทุกสิ่งอย่างได้หยุดเวลาค้างไว้
นี่ถ้าเลนส์ Deep-Focus ได้รับการพัฒนาขึ้นสำเร็จเรียบร้อยแล้วนะ ช็อตนี้การันตีได้ว่าทั้งในและนอกห้องจะมีความชัดคมกริบ เพื่อเป็นการสะท้อนสองสิ่งที่เกิดขึ้นดั่งคำพูดของ Captain de Boeldieu
“On one side, children play at soldiers … On the other, soldiers play like children”.
หนึ่งในฉากสุดพิศวงของหนัง สิ่งที่พวกเขาจับจ้องมองคืออะไร? ตั้งใจฟังจาก Sound Effect คือเสียงขลุ่ย Fife เป่าประสานฝีเท้ารองเท้าบูตย่ำพื้น ซึ่งก็จินตนาการได้ถึงการเดินสวนสนามของทหารเยอรมัน
ต้องถือว่าเป็นการใช้ลีลา ภาษาภาพยนตร์ในการเล่าเรื่องอย่างมีชั้นเชิง โคตรอาร์ท ครุ่นคิดเอาตัวรอดไปได้ยังไง! แต่มันก็มีเหตุผลบางอย่างที่สามารถล้อกับครึ่งหลังของหนังได้ด้วยนะ
ฉากที่เป็นแรงบันดาลใจให้กับ Casablanca (1942) วินาทีที่อยู่ดีๆทุกคนลุกขึ้นมาขับร้องเพลงชาติฝรั่งเศส La Marseillaise เพื่อข่มขวัญทหารเยอรมันให้กระเจิง เพราะกองทัพของตนได้รับชัยชนะจาก…
การเคลื่อนกล้องของฉากนี้ เริ่มจากวงดนตรี/นักร้อง ถอดวิกถอดหมวกออกแสดงความเคารพ เคลื่อนถอยหลังผ่านหน้าเวที (ใช้เวทีเป็นจุดหมุน) มาจนถึงด้านหลังทหารเยอรมัน กล้องเคลื่อนลงเห็นพวกเขากระซิบกระซาบแล้วเดินหนีออกไป แต่ยังไม่จบเท่านี้ดำเนินต่อไปยังหน้าเวทีฝั่งผู้ชมการแสดง บรรดาทหารฝรั่งเศสที่ยืนขึ้นขับร้องเพลงชาติอย่างภาคภูมิใจ
ในบรรดาไดเรคชั่นการเคลื่อนไหลกล้อง ผมว่าช็อตนี้เจ๋งสุดในหนังแล้ว!
ค่ายกักกัน Wintersborn ถ่ายทำส่วนใหญ่ที่ปราสาท Château du Haut-Kœnigsbourg, Alsace ถือเป็นสถานที่ในอุดมคดี ยากจะหลบหนีเพราะตั้งอยู่บนเนินเขา ต้องใช้การปีนป่ายลงมาจากฝั่งหน้าผาเท่านั้น แต่ก็ใช่ว่าจะไม่มียามจับจ้องเฝ้ามองอยู่
การเดินทางจากค่ายกักกันเดิมมาสู่ Wintersborn เป็นอีกครั้งที่หนังใช้การกระโดดข้ามมาเลย (ปล่อยให้เป็นจินตนาการของผู้ชมว่าเกิดอะไรขึ้นบ้างระหว่างทาง) แต่ก็จะมีทัศนียภาพเคลื่อนผ่านสายตาไปเรื่อยๆ ราวกับเดินทางอยู่บนรถไฟ, ให้ข้อสังเกตสักนิดว่า ระหว่างนี้มีแทรกภาพป้ายชื่อค่ายกักกันหลายแห่งทีเดียว นั่นอาจสื่อถึงสถานที่ที่พวกเขาเคยแยกย้ายไปจองจำอยู่ ระหว่างนั้นคงเคยพยายามหลบหนีอยู่หลายครั้งแต่ไม่เคยทำสำเร็จ ทุกคนเลยมาจมปลักอยู่ป้อมปราการสุดท้ายแห่งนี้ ไม่เคยมีใครหนีสำเร็จมาก่อน
มันอาจดูไม่เห็นความจำเป็นที่ Major von Rauffenstein พาบรรดานักโทษของเขาเยี่ยมชมปราสาทแห่งนี้ แต่ด้วยสองเหตุผลคือ อวดอ้างให้ชื่นชมความสวยงาม และบอกเป็นนัยว่าไม่มีใครสามารถหลบหนีสำเร็จแน่ๆ แต่ของพรรค์นี้ไม่ลองไม่รู้สินะ!
“My men are not young, but they enjoy playing soldiers”.
แซว: คำพูดประโยคนี้ของ von Rauffenstein จงใจล้อกับที่ de Boeldieu เคยพูดไว้ตอนค่ายกักกันก่อน
การเผชิญหน้าระหว่าง Major von Rauffenstein กับ Captain de Boeldieu เบื้องหน้าไม่มีอะไรน่าสนใจ แต่ผนังพื้นหลังมีสองรูปม้าเป็นอะไรที่สะดุดตามากๆ ดูแล้วน่าจะเป็นตัวเดียวกันนะแหละ แต่ในมุมเต็มตัวกับเฉพาะส่วนหัว นี่ก็สามารถสื่อได้ถึงความแตกต่างระหว่างสองมุมมอง/ชนชั้น ระหว่างพวกเขาทั้งสอง กับ Lieutenant Maréchal และ Lieutenant Rosenthal
ช็อตนี้ก็ไม่ต่างจากด้านบนนะ ตำแหน่งกึ่งกลางระหว่างพวกเขามีดอก Geranium (คงเป็นดอกไม้ท้องถิ่น ขึ้นแถวๆฝรั่งเศส/เยอรมัน) ถือเป็นสัญลักษณ์แทนมิตรภาพของทั้งสอง ซึ่งตอนหลังที่ Major von Rauffenstein ทำการตัดดอกทิ้ง มุมหนึ่งมองได้คือการไว้อาลัย แต่อีกนัยยะสื่อถึงจุดสิ้นสุดของความสัมพันธ์
การสนทนาของทั้งคู่ฉากนี้ มันอาจดูเร่งรีบไปนิด แต่เนื้อหาที่พูดคุยกันสะท้อนถึงความแตกต่างทางชนชั้นอย่างชัดเจน
“A Maréchal and a Rosenthal, officers? Thanks to your French Revolution!”
ประโยคนี้ฟังดูเป็นการหยามเหยียดชนชั้นกลาง-ล่างอย่างเต็มแก่ ขอบคุณการปฏิวัติฝรั่งเศสที่เป็นจุดเริ่มต้นของความเสมอภาคเท่าเทียมในสังคม คนพวกนั้นเลยมีโอกาสขึ้นมาเป็นเจ้าขุนมูลนาย ทั้งๆที่ด้อยการศึกษา รสนิยมสุดแสนธรรมดา ไร้ซึ่งมารยาทสังคม เกียรติศักดิ์ศรี รวมถึงความสง่างามในการแสดงออก
เห็นบ่นตอนครึ่งแรกว่าไม่ชอบ Fife กลับนำมาใช้เป็นเครื่องมือเรียกร้องความสนใจ แต่ Sound Effect ที่ได้ยินเปลี่ยนการย้ำฝีเท้าเป็นจังหวะ กลายมาเป็นเสียงแห่งความสับสนวุ่นวายอลม่าน
Fife คือขลุ่ยขนาดเล็ก มีเสียงแหลมและดังกว่า เป็นสัญลักษณ์ของทั้งความเป็นระเบียบเรียบร้อย (ครึ่งแรก) และสร้างความปั่นป่วนอลม่านให้เกิดขึ้น (ครึ่งหลัง)
หลังจาก Maréchal กับ Rosenthal หนีเอาตัวรอดจาก Wintersborn สถานที่ที่พวกเขาทะเลาะขัดแย้งกัน ถ่ายติดพื้นหลังทิวทัศน์ Neuf-Brisach, Upper Rhine แถวๆชายแดน Germany-Switzerland (หนังไม่ได้รับอนุญาตให้ถ่ายทำใน Germany ก็คงเป็นฝั่ง Swiss ทั้งหมด)
คงต้องการสื่อถึงความขัดแย้งเป็นเรื่องธรรมชาติสามัญของมนุษย์ ขณะเดียวกันก็เป็นเรื่องปกติอีกนะแหละที่หลังจากครุ่นคิดได้แล้วจะกลับมาคืนดี ให้การช่วยเหลือพึ่งพากันและกัน
กล้องเริ่มเคลื่อนจากภาพสามีของ Elsa ชี้ให้เห็นพี่น้องทั้ง 5 ปัจจุบันไม่เหลือแล้ว หมุนต่อไปยังโต๊ะอาหารขนาดยาวแต่ไร้ซึ่งคนนั่ง สำหรับผู้หญิงยังสาวตัวคนเดียวเลี้ยงลูกในบ้านหลังใหญ่ นี่เป็นช็อตที่ทำให้รับรู้เห็นถึงความอ้างว้างเดียวดายของหญิงสาว … ช่างไม่ต่างอะไรกับ Maréchal
ถึงขณะนั้นจะยังไม่มีเลนส์ Deep-Focus แต่ช็อตนี้มีการทดลองปรับตำแหน่งโฟกัสถึงสองครั้งครา
– เริ่มต้นมา Rosenthal เข้ามาคุยกับ Elsa ใกล้ถึงเวลาร่ำลา ช็อตนี้หน้าต่างยังปิดอยู่ ภาพโฟกัสที่ทั้งสองเห็นคมชัด
– หลังจาก Elsa เดินหนีไป Rosenthal เปิดหน้าต่างออก ภาพที่ระยะของเขามีความเบลอๆ ตำแหน่งโฟกัสเด่นชัดที่ Maréchal ยืนอยู่ด้านนอก
– ขณะปิดหน้าต่าง ภาพตำแหน่งของ Rosenthal กลับมาคมชัดกริบอีกครั้ง
เทคนิคนี้อาจไม่ใช่ลูกเล่นใหม่ยากเท่าไหร่ในสมัยปัจจุบัน แต่ลองนึกถึงสมัยก่อนที่กล้องถ่ายภาพเต็มไปด้วยข้อจำกัดมากมาย ตากล้องต้องมีฝีมือเชี่ยวชำนาญขนาดไหน ไม่ใช่เรื่องง่ายๆกว่าจะออกมาได้แนบเนียนขนาดนี้
หลายครั้งทีเดียวที่หนังใช้ ‘หน้าต่าง’ ถ่ายจากในออกนอก หรือนอกออกใน เป็นสัญลักษณ์แทนความแตกต่างระหว่างของคนสองกลุ่ม อาทิ ชนชั้นสูง-ต่ำ ทหาร-นักโทษ ฯ
ช็อตสุดท้ายของหนัง ชัยชนะของคนชนชั้นกลาง-ล่าง สามารถหลบหนีจากการไล่ล่าติดตามตัวของทหารเยอรมัน มุ่งสู่อิสรภาพอันไร้ขอบเขต ขาวโพลนด้วยหิมะ แต่ย่ำทิ้งรอยเป็นทางไว้ ไม่มีใครคาดเดาพยากรณ์ได้ว่าเบื้องหน้าต่อจากนี้จะเกิดอะไรขึ้นต่อไป
ทำไมทหารเยอรมันถึงยินยอมปล่อยทั้งสองคนนี้ไป ด้วยเหตุผลแค่เพียงเขตแดนประเทศสวิตเซอร์แลนด์นะหรือ? เพราะนี่เป็นการสื่อความเชิงสัญลักษณ์ เมื่อผู้คนชนชั้นกลาง-ต่ำ สามารถก้าวข้ามผ่านเขตแดนอันไร้เส้นแบ่งนี้ได้สำเร็จ ก็เท่ากับมุ่งสู่โลกใบใหม่ที่ทุกสิ่งอย่างมีความเสมอภาคเท่าเทียม ผิดกับพวกทหารเยอรมันที่ยังคงจมปลัก ยึดมั่นในกฎกรอบระเบียบ ขีดเส้นแบ่งแยกดินแดนเอาไว้ มิสามารถออกย้ำเดินไปไกลกว่ากรอบที่กำหนดได้
เกร็ด: ตอนจบฉบับดั้งเดิมของหนัง Maréchal กับ Rosenthal ตกลงกันว่าจะพบเจอกันที่ร้านอาหารแห่งหนึ่งหลังสงครามจบเพื่อร่วมกันเฉลิมฉลอง แต่ตัดไปที่เก้าอี้ทั้งสองว่างเปล่า
ตัดต่อโดย Marthe Huguet และ Marguerite Renoir (คนหลังคือภรรยาของ Renoir แม้ไม่ได้แต่งงานแต่เปลี่ยนมาใช้นามสกุลของคนรัก), หนังใช้มุมมองของ Lieutenant Maréchal ในการเล่าเรื่องเป็นส่วนใหญ่ แทบทุกครั้งจะอยู่ใกล้ชิดกับหัวหน้า Captain de Boeldieu (เหมือนจะสนิทสนม แต่ก็มีบางอย่างแบ่งแยกพวกเขาออกจากกัน) ส่วนอีกสองตัวละครหลัก Major von Rauffenstein กับ Lieutenant Rosenthal ถือเป็นตัวสอดแทรก ช่วยเติมเต็มเรื่องราว
เราสามารถแบ่งหนังออกได้เป็น 3 องก์
– Prologue แนะนำ Lieutenant Maréchal, Captain de Boeldieu ตัดไปฝ่ายเยอรมัน Captain von Rauffenstein
– องก์ 1 ณ ค่ายกักกันแห่งแรก Maréchal กับ de Boeldieu มีโอกาสรู้จัก Lieutenant Rosenthal ร่วมด้วยช่วยกันขุดอุโมงค์ใต้ดิน
– องก์ 2 ณ ป้อมปราสาท Wintersborn รวมญาติครบทั้งสี่คน Maréchal, de Boeldieu, Rosenthal และ Major von Rauffenstein
– องก์ 3 ระหว่างที่ Maréchal กับ Rosenthal หลบหนี จนได้รับการอนุเคราะห์โดยสาวหม้าย Elsa จบที่แยกจากและสามารถข้ามผ่านเขตแดนสู่ประเทศ Switzerland
แต่ละองก์ของหนังก็สามารถแบ่งเรื่องราวออกเป็นตอนย่อยๆได้อีก อาทิ
– องก์ 1: การรับประทานอาหาร, แผนการขุดอุโมงค์, เตรียมงานแสดงละครเวที, Maréchal ถูกจับขังเดี่ยว, เปลี่ยนค่ายกักกัน
– องก์ 2: Major von Rauffenstein พาชมปราสาท, Maréchal กับ Rosenthal วางแผนหนี, ตรวจค้นห้อง ขณะที่ de Boeldieu นำเชือกไปซ่อนตรงหน้าต่าง, von Rauffenstein สนทนากับ de Boeldieu/Maréchal คุยกับ Rosenthal, ของขวัญจาก Queen of Russia, Fife เจ้าปัญหา
– องก์ 3: การทะเลาะกันของ Maréchal กับ Rosenthal, ได้รับการช่วยเหลือจาก Elsa, Merry Christmas กับ Lotte, การลาจาก, ข้ามสู่ Switzerland
ให้ข้อสังเกตว่า หลายๆอย่างขององก์ 1 กับองก์ 2 มักจะสะท้อนตรงกันข้าม ทั้งเรื่องราว คำพูดสนทนา หรือแม้แต่การกระทำของตัวละคร อาทิ
– องก์แรกขุดมุดใต้ดิน องก์สองปราสาทป้อมปราการอยู่สูง (ขุดดินไม่ได้ ต้องปีนป่ายลง)
– องก์แรกมีการแสดงร้องเล่นเต้น ขับร้องเพลง La Marseillaise องก์สองมีบทเพลง Il était un petit navire และร่วมกับเป่า Fife แสดงละครตบตา
ฯลฯ
เกร็ดที่น่าเศร้าเสียใจ: เด็กหญิง Lotte ไม่มีโอกาสได้รับชมภาพยนตร์เรื่องนี้ เธอเสียชีวิตจากไข้หวัดใหญ่ ก่อนหน้าหนังออกฉายไม่กี่สัปดาห์
เพลงประกอบโดย Joseph Kosma สัญชาติ Hungarian หลังจากนี้ยังได้ร่วมงานกับ Renoir เรื่อง La Bête Humaine (1938), La Règle du jeu (1939) ฯ แต่ผลงานโด่งดังสุดคือ Les Portes de la nuit (1946) กับบทเพลง Les feuilles mortes ต้นฉบับขับรองโดย Yves Montand และ Irène Joachim หลายคนอาจรู้จักในชื่อภาษาอังกฤษ Autumn Leaves
Kosma เป็นนักแต่งเพลงที่ต้องถือว่า สามารถเค้นเอาอารมณ์ด้านอ่อนไหวของมนุษย์ออกมาเรียบเรียงได้อย่างไพเราะเพราะพริ้ง สามบทเพลงไฮไลท์ประกอบด้วย
– Two Officers and Aristocrats การสนทนาระหว่าง Captain de Boeldieu กับ Major von Rauffenstein พวกเขาต่างล่วงรับรู้อนาคตของตนเอง กำลังจะไร้จุดยืนในโลกยุคใหม่
– Noblesse Oblige อีกครั้งกับ Captain de Boeldieu กับ Major von Rauffenstein แต่ครานี้คนหนึ่งกำลังจะหมดลมหายใจ จากไปด้วยความเกียรติและศักดิ์ศรี ทิ้งให้อีกฝ่ายทุกข์ทรมานทั้งกายใจ ในโลกใหม่ที่ไม่รู้จะมีที่ยืนของตนเองหรือเปล่า
– และ The Lover’s Farewell วินาทีร่ำไห้ลาจากระหว่าง Maréchal กับ Elsa ให้คำมั่นสัญญาสงครามจบจะหวนกลับมา
นอกจากนี้ยังมีการนำจากบทเพลงมีชื่อในอดีต อาทิ Frou-Frou (1898) ต้นฉบับแต่งโดย Henri Chateau (1841 – 1925) เนื้อร้องโดย Hector Monréal กับ Henri Blondeau ในหนังขับร้องโดย Fréhel แต่ผมหามาให้รับฟังไม่ได้ เลือกเอาฉบับขับร้องโดย Berthe Sylva, นี่เป็นบทเพลงอมตะของชาวฝรั่งเศสในทศวรรษนั้น ก็ขนาดว่า Jean Gabin ยังร้องตามได้ ซึ่งท่อนฮุค Frou-Frou ก็ติดหูมากๆ เป็นเสียงผ้าไหมขณะเสียดสีกัน?? คงประมาณว่า คือเสียงที่สะท้อนความเลิศหรูฟูฟ่อง เจิดจรัสอลังการ
หนึ่งในบทเพลงที่ระหว่างการแสดงคือ Si tu veux Marguerite (1913) แต่งโดย Albert Valsien เนื้อร้องโดย Vincent Telly ในหนังขับร้องโดย Julien Carette นำเอาต้นฉบับขับร้องโดย Fragson มาให้รับฟังกัน
ได้ยินบทเพลงนี้ชวนให้นึกถึง Je cherche après Titine/Gibberish Song ที่ Charlie Chaplin เคยร้องเล่นเต้นฟังไม่เป็นภาษาใน Modern Times (1936) มีความเป็นไปได้ที่ Renoir อาจรับแรงบันดาลใจมา
หลายคนน่าจะรู้จักเพลงชาติฝรั่งเศส La Marseillaise นำฉบับครั้งแรกสุดที่มีการบันทึกลงบนแผ่นฟีล์ม (ถือเป็นการ Synchronized เสียงให้ตรงกับภาพครั้งแรกๆด้วย) ขับร้องโดยนักร้องโอเปร่า Jean Noté กำกับโดย George Mendel เมื่อปี 1907 เชื่อว่าถ้าคุณดูหนังบ่อยๆ ย่อมต้องเคยได้ยินแน่นอน
เสียงเป่า Fife ที่สุดแสนน่ารำคาญ คือเพลง Il était un petit navire (แปลว่า There Once was a Little Ship) นี่เป็นบทเพลงพื้นบ้านฝรั่งเศส (Traditional Song) ประกอบเรื่องราวของกะลาสีที่เรือล่ม และต้องเอาตัวรอดด้วยการเสียสละใครคนหนึ่ง ซึ่งตรงกับเรื่องราวของหนังที่ Captain de Boeldieu เสียสละตนเองเพื่อให้ Maréchal กับ Rosenthal หลบหนีเอาตัวรอด
La Grande Illusion นำเสนอความแตกต่างระหว่างกลุ่มคนสองชนชั้น
– Captain de Boeldieu กับ Major von Rauffenstein เป็นตัวแทนของคนชนชั้นสูง มีการศึกษา เฉลียวฉลาดรอบรู้ ไม่ต้องต่อสู้ดิ้นรนในชีวิตมากเท่าไหร่ เข้าร่วมสงครามเพื่อคร่าเวลาว่าง ธำรงด้วยเกียรติศักดิ์ศรีลูกผู้ชาย เมื่อถูกฆ่าตายในหน้าที่ก็เท่ากับได้รับอิสรภาพ ไม่ต้องทนทุกข์จมปลักอยู่กับความเบื่อหน่าย
– Lieutenant Maréchal กับ Lieutenant Rosenthal เป็นตัวแทนของคนชนชั้นกลาง/ล่าง การศึกษาไม่สูงมาก ต้องต่อสู้ดิ้นรนมีชีวิต เข้าร่วมสงครามเพราะอาจถูกบีบบังคับ หรือแสดงอุดมการณ์รักชาติ การเสียชีวิตถือว่าเป็นโศกนาฎกรรมความพ่ายแพ้
ผู้กำกับ Renoir เคยให้ข้อสังเกตความแตกต่างระหว่างชนชั้น
“If a French farmer found himself dining with a French financier, those two Frenchman would have nothing to say to each other. But if a French farmer meets a Chinese farmer they will find any amount to talk about.”
สาเหตุที่ Renoir เกิดความเข้าใจเรื่องพรรค์นี้อย่างลึกซึ้ง ก็เพราะพ่อของเขา Pierre-Auguste Renoir คือศิลปินจิตรกรชื่อดังแห่งยุค ที่มีโอกาสวาดภาพให้กับทั้งคนรวย-จน ชนชั้นสูง-ต่ำ เลยรับรู้พบเห็นความแตกต่างทางชนชั้น วิวัฒนาการของสังคม จนทำให้สามารถพยากรณ์คาดเดาอนาคตต่อไปไม่ยากเท่าไหร่
สิ่งที่ Renoir ทำการพยากรณ์จากภาพยนตร์เรื่องนี้ คือความล่มสลายของคนชนชั้นสูง บุคคลผู้จะสามารถเอาตัวรอด(จากค่ายกักกันเยอรมัน)สู่โลกยุคสมัยใหม่ มีเพียงคนชนชั้นกลาง/ล่าง (Maréchal กับ Rosenthal) อนาคตต่อไปย่อมคงได้รับอิสรภาพอันไร้ขอบเขต บังเกิดความเสมอภาคเท่าเทียมกันในทุกๆระบอบสังคม
ทั้งนี้ทั้งนั้น Renoir ยังใส่ข้อสังเกตหนึ่งไว้ด้วยกับสองชนชั้นสูงอย่าง de Boeldieu และ von Rauffenstein พวกเขารู้ตัวและสามารถพยากรณ์อนาคตของตนเองได้ด้วยซ้ำ
“To be killed in a war is a tragedy for a commoner. For you and me, it’s a good way out”.
แต่มีสิ่งหนึ่งที่ผมรู้สึกว่าค่อนข้างทะแม่งแหม่งๆ ช่วงระหว่างองก์สอง ตัวละครหนึ่งที่เป็นคนผิวสี วาดรูปๆหนึ่งเสร็จยื่นให้ Maréchal กับ Rosenthal ก็ทำเป็นเพิกเฉยไม่สนใจหันมาแล ทั้งๆที่ใจความหลักของหนังเกี่ยวกับความเสมอภาคเท่าเทียม แต่นี่ราวกับจะสื่อว่าชาว African ทั้งหลาย คงไม่มีวันได้รับโอกาสนั้นอย่างแน่แท้ … wtf!
‘สงครามคือสิ่งที่จะทำให้โลกมนุษย์ดีขึ้น’ คำโปรยโฆษณาชวนเชื่อนี้ ใครๆน่าจะรับรู้ได้ว่าคือสิ่งหลอกลวงตา เช่นกันกับตอนที่ Maréchal พูดขึ้นว่า
“We’ve got to end this damn war and make it the last!”
ความเพ้อฝันที่ว่า สงครามนี้จบเมื่อไหร่โลกคงพบเจอความสงบสุข นี่ก็คือภาพลวงตาอีกเช่นกัน! เพราะตราบใดที่มนุษย์ยังคงมีความขัดแย้ง เห็นแก่ตัว สนแต่ผลประโยชน์ของตนเอง รวมถึงขีดเส้นแบ่งจัดหมวดหมู่ความเป็นมนุษย์ ความสงบสุขเสมอภาคเท่าเทียมก็ไม่มีวันเกิดขึ้นได้
เกร็ด: ชื่อหนัง La Grande Illusion อ้างอิงจากชื่อหนังสือเรื่อง The Great Illusion: A Study of the Relation of Military Power in Nations to their Economic and Social Advantage (1909) เขียนโดย Sir Ralph Norman Angell (1872 – 1967) สัญชาติอังกฤษ ภายในเป็นการแสดงทัศนะ โต้ถกเถียงถึงการสงคราม บอกว่าคือสิ่งที่ล้าหลัง ไม่ใช่วิทยาศาสตร์ และมีความไร้สาระสิ้นดี [หนังสือเล่มนี้ทำให้ Angell ได้รับ Nobel Peace Prize เมื่อปี 1933]
ทิ้งท้ายกับคำกล่าวแนวคิดของ Renoir (ที่อยู่ในคลิปแนะนำด้านบน)
“[La Grande Illusion is] a story about human relationships. I am confident that such a question is so important today that if we don’t solve it, we will just have to say ‘goodbye’ to our beautiful world”.
ออกฉายรอบปฐมทัศน์ในเทศกาลหนังเมือง Venice จริงๆคือตัวเต็งคว้ารางวัลใหญ่ Mussolini Cup [ชื่อดั้งเดิมของ Golden Lion] แต่คณะกรรมการรู้ตัวว่าคงถูกกุดหัวแน่ถ้ามอบให้ เลยสร้างรางวัลใหม่มอบให้ชื่อว่า Best Artistic Ensemble ซึ่งหลังจากท่านผู้นำ Benito Mussolini ได้รับชมก็สั่งแบนโดยทันที พอเรื่องไปเข้าหู Joseph Goebbels รัฐมนตรีว่าการกระทรวงโฆษณาแถลงข่าวและโฆษณาชวนเชื่อของนาซี มีหรือจะรอดพ้นแถมเรียกหนังว่า ‘Cinematic Public Enemy No. 1’
ขณะที่ในฝรั่งเศสได้รับความนิยมล้นหลามถล่มทลาย จำนวนผู้เข้าชมประมาณว่าสูงถึง 12.5 ล้านคน (ประสบความสำเร็จสุดในผลงานของ Jean Renoir) แต่การมาถึงของสงครามโลกครั้งที่ 2 ถูกถอดถอนออกจากโรงภาพยนตร์เพราะใจความต่อต้านสงคราม
ถึงอเมริกาปีถัดมา 1938 ได้รับเสียงวิจารณ์ดีล้นหลามเช่นกัน ทำเงินเท่าไหร่ไม่รู้ แต่กลายเป็นภาพยนตร์ภาษาต่างประเทศเรื่องแรกที่ได้เข้าชิง Oscar: Best Picture พ่ายให้กับ You Can’t Take It with You (1938) [สมัยนั้นสาขานี้มีเข้าชิง 10 เรื่อง เลยถือเป็นโอกาสอันน่าทึ่ง แม้จะไม่มีลุ้นคว้ารางวัลก็เถอะ]
ว่ากันว่าต้นฉบับ Negative และฟีล์มหนังสูญหายไปเมื่อถูกฝ่ายสัมพันธมิตรทิ้งระเบิดลงเมื่อปี 1942 (ขณะนั้น Paris ถูกยึดครองโดย Nazi German) จนกระทั่งได้รับการค้นพบฉบับหนึ่งเมื่อปี 1958 ได้รับการฟื้นฟูนำออกฉายใหม่ Re-Release ปี 1960
ประมาณต้นทศวรรษ 90s มีการค้นพบต้นฉบับ Negative โดยบังเอิญ เก็บอยู่ที่คลัง Toulouse Cinémathèque ซึ่งเป็นฉบับที่ส่งไปฉายประเทศเยอรมัน แต่ได้รับการตีกลับ (โดย Goebbels) คั่งค้างอยู่ในคลัง Reichsfilmarchiv หลังจากสหภาพโซเวียตเข้ายึดครองกรุง Berlin สิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง ส่งฟีล์มกลับฝรั่งเศสตั้งแต่กลางทศวรรษ 60s แต่ไม่เคยมีใครใคร่สนใจมาก่อน กลายเป็น ‘สมบัติของชาติ’ โดยทันที
ปัจจุบันได้รับการฟื้นฟูบูรณะคุณภาพคมชัดกริบ พร้อม Subtitle ใหม่โดย Lenny Borger ว่ากันว่าใกล้เคียงภาษาสนทนาที่สุดแล้ว กลายเป็น DVD/Blu-Ray โดย Criterion Collection เห็นว่าคือเรื่องแรกของบริษัทเลยนะ
สองครั้งของความมี ‘มนุษยธรรม’ ที่ทำให้ผมหลั่งน้ำตาออกมาก็คือ
– การเสียสละของ Captain de Boeldieu เพื่อให้ลูกน้องทั้งสองสามารถหลบหนีเอาตัวรอดได้สำเร็จ แต่ก็ต้องแลกมาด้วยชีวิตของตนเอง ก็ขนาดว่าผู้คุม Major von Rauffenstein เมื่อรับทราบทุกสิ่งอย่าง ก็เกิดความเศร้าโศกเสียใจอย่างล้นพ้น
– หญิงสาวชาวบ้านเชื้อสายเยอรมัน เป็นศัตรูกันแท้ๆแต่ยินยอมให้ความช่วยเหลือสองนักโทษพึ่งพักพิง แรกๆเต็มไปด้วยความหวาดหวั่นไม่นานกลับตกหลุมรัก พอถึงวันต้องแยกจากเลยเป็นอะไรที่รวดร้าวทุกข์ทรมานใจอย่างยิ่ง ถึงขนาดต้องให้คำมั่นสัญญาสงครามจบเมื่อไหร่จะหวนกลับมาหา
ทั้งสองเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นอะไรที่สั่นสะเทือนจิตวิญญาณของผมมากๆ แถมได้เพลงประกอบเร่งเร้าสร้างอารมณ์อันโหยหวนทุกข์ทรมาน ถ้าไม่เพราะสงครามความแยกจากคงไม่บังเกิด แต่ครุ่นคิดดูให้ดีๆ ถ้าไม่มีสงครามพวกเขาย่อมคงไม่มีโอกาสพบเจอกันอย่างแน่แท้
“ต้องดูให้ได้ก่อนตาย” ไม่มีอะไรในสากลจักรวาลนี้ที่ขีดเส้นแบ่งแยกความเป็นมนุษย์ ทุกคนเท่าเทียมกันทุกประการ ถ้าสามารถเข้าใจจุดนี้ได้อย่างลึกซึ้ง เชื้อชาติพันธุ์ ขอบเขตแดน ภาษาพูด-เขียน ฐานะรวย-จน ชนชั้นสูง-ต่ำ สงครามความขัดแย้งก็จักไม่มีวันบังเกิด
เพราะนั่นคืออุดมคติที่ไม่มีทางเกิดขึ้นจริงในโลกใบนี้ เพราะคนส่วนใหญ่ไม่ต้องมองไกลถามใจตนเอง อาจจะครุ่นคิดได้ว่ามนุษย์ทุกสิ่งมีชีวิตเท่าเทียมกัน แต่ในทางปฏิบัติสามารถแสดงออกเช่นนั้นได้หรือเปล่า? เห็นขอทานข้างถนน ไม่สงสารก็ดูถูกเหยียดหยาม, คนชั่วฆ่าข่มขืนเด็ก โกรธเกลียดอยากเข้าไปรุมประชาฑัณฑ์, รักหมาแมวสัตว์ที่เลี้ยงไว้ แต่ชอบเข้าร้านหมูกระทะ ยิงนกตกปลาจับมาเป็นอาหาร ฯ
เพราะเหล่านี้คือความเพ้อฝัน ‘ลวงตา’ ที่มนุษย์สร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นข้ออ้างมนุษยธรรมของตนเอง อุดมคติเสมอภาคเท่าเทียมจึงไม่มีวันเกิดขึ้นในยุคสมัยปัจจุบัน
จัดเรต 15+ กับบรรยากาศความตึงเครียด ของพื้นหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง
TAGLINE | “Jean Renoir ระบายสัจธรรมที่ถูกบดบังใน Le Grande Illusion ให้เป็นที่ประจักษ์ต่อมวลมนุษยชาติ”
QUALITY | RARE-GENDARY
MY SCORE | LOVE
La Grande Illusion (1937)
(1/1/2016) ผลงานที่ผมชื่นชอบที่สุดของ Jean Renoir กับ La Grande Illusion หรือ Grand Illusion นี่เป็นหนังสงครามที่ไม่มีฉากการต่อสู้ใดๆให้เห็นเลย หนังเรื่องนี้ Orson Welles บอกว่า ถ้าเกิดวันโลกแตกขึ้น นี่เป็นหนังเรื่องหนึ่งที่เขาจะเอามันขึ้น Noah (on the ark) ในปีนั้นหนังฉายที่ Venice Film Festival และได้รางวัล Best Artistic Ensemble หนังติดอันดับ 35 ใน The 100 Best Films Of World Cinema ของนิตยสาร Empire ใน Sight & Sound ให้ติดอันดับ 76 และนี่เป็นหนังภาษาต่างประเทศเรื่องแรกที่เข้าชิง Best Picture ของ Academy Award ถ้ามีโอกาสแนะนำให้ต้องลองหาดูเลยนะครับ
ในบรรดาหนังของ Jean Renoir นี่เป็นหนังที่ไม่ต้องอาศัยการตีความมากก็สามารถเข้าใจเนื้อเรื่องทั้งหมดได้ แต่หนังก็ยังมีอีกมุมหนึ่งที่เป็นสไตล์ของ Renoir ซึ่งสามารถตีความไปอีกแบบได้เลย La Grande Illusion เป็นหนังที่ inspire หนังหลายเรื่องมาก อาทิฉากขุดอุโมงหนีใน The Great Escape (1963) และฉากร้องเพลงชาติใน Casablanca
คงเป็นกรรมของ Renoir ที่หนังของเขามักจะได้รับการต่อต้านอยู่เสมอ ตอนหนังออกฉาย มีคำวิจารณ์หนึ่งออกมาว่า “Cinematic Public Enemy No. 1” นี่คือหนังที่เป็นศัตรูหมายเลข 1 ของรัฐ เพราะหนังมีสารที่แฝงไว้เกี่ยวกับการต่อต้านสงคราม ซึ่งช่วงนั้นตรงกับสงครามโลกครั้งที่ 2 พอดี เมื่อ Germany เข้ามายึดฝรั่งเศสสำเร็จ ฟีล์มของหนังเรื่องนี้จึงถูกเผาทำลายเกือบหมดสิ้น แต่ก็ยังมีหลงเหลือและถูกค้นพบในปี 1958
นักแสดงหลัก 4 คนของหนังเรื่องนี้ สุดยอดครับ เริ่มจากฝั่งฝรั่งเศส Jean Gabin เล่นเป็นผู้หมวดที่มีเบื้องหลังเป็นคนชั้นสูงของสังคม Marcel Dalio เล่นเป็นผู้หมวดที่มีเบื้องหลังเป็นคนรวยแต่เชื้อสายยิว Pierre Fresnay เป็นคนขับเครื่องบินที่มีเบื้องหลังเป็นคนชนชั้นธรรมดา ฝั่งเยอรมันมี Erich von Stroheim ผู้หมวดที่กลายเป็นนายพันผู้มีเบื้องหลังเป็นคนชั้นสูงของสังคม 4 ตัวละครนี้เป็นตัวละครที่มีความแตกต่างกันชัดเจนมากๆ เปรียบเสมือนตัวแทนของคนในแต่ละระดับ ซึ่งจุดจบของตัวละครแต่ละตัวในหนัง เราก็สามารถแทนด้วยระดับของสังคมที่เกิดขึ้นในยุคนั้น
สาสน์ของ Renoir พูดถึงการผลของสงครามต่อคนชนชั้นต่างๆ จากสังคมชั้นสูง จากนายทุน และจากคนธรรมดา ใน The Rules of the Games เราจะเห็นว่าสงครามเปรียบเสมือนเกมของคนกลุ่มหนึ่ง แต่ La Grande Illusion พยายามบอกว่าสงครามมันไม่ได้ขึ้นอยู่กับพวกคุณนะ คนธรรมดาๆทั่วไปนี่แหละที่จะเป็นจุดเปลี่ยน โลกในยุคถัดไปยศฐาบรรดาศักดิ์ ตำแหน่งมันไม่ได้ทำให้คุณชนะสงคราม แต่เป็นกลุ่มคนชนชั้นธรรมดาทั่วๆไปนี่แหละ ที่จะเป็นผู้กำหนดทิศทางของโลก … มาคิดดูว่าจริงไหมนะครับ สมัยนั้น Germany ยังเป็น Nazi ที่มีแนวคิดพวก Fascist อยู่ ซึ่งคนที่จะกำหนดทิศทางของประเทศคือกลุ่มผู้นำประเทศเท่านั้น หลังสงครามโลกผ่านไป เมื่อ Fascist ล่มสลายกลายเป็นประชาธิปไตย เราก็พูดได้ว่า ประชาธิปไตยคือประชาชน หมายความว่าแนวคิดของ Renoir ค่อยข้างถูกต้องเลย
การแสดงของ Jean Gabin นั่นนุ่มลึกมากๆ การแสดงของเขาทำให้เรารู้สึกถึงคนที่มีเบื้องหลังมาจากคนระดับสูง เป็นผู้มีความรู้ความสามารถ เป็นซุปเปอร์สตาร์ที่ดังมากๆในประเทศฝรั่งเศสที่เราควรจะรู้จักไว้ Erich von Stroheim เขามีเชื้อสาย Austrian-American จริงๆแล้วพูดเยอรมันไม่ค่อยได้เท่าไหร่ แต่ก็ฝึกพอสมควรเพื่อพูดในหนัง ผมชอบการแสดงของเขามาก โดยเฉพาะครึ่งหลังที่โผล่มาเข้าเฝือกไว้ครึ่งตัว ท่าเดิน น้ำเสียง กิริยาท่าทางแบบว่าสุดยอดมาก ในหนังเราอาจจะคิดแค่ว่าเขาเป็นตัวแทนผลลัพท์ของสงคราม แต่ผมคิดว่าการที่เขาขยับไม่ได้ เปรียบเหมือนสถานะทางสังคมของเขา ตัวแทนสังคมชั้นสูงของฝั่งเยอรมันที่เริ่มสูญเสียอำนาจ เพราะ คนชนชั้นธรรมดากำลังเข้ามามีบทบาทมากกว่าคนชั้นสูง การแลกคำพูดกันในฉากสุดท้ายระหว่าง Jean Gabin กับ Erich von Stroheim ผมถือว่าเป็นบทพูดที่สำคัญมากๆเรื่องหนึ่งของโลกเลย
“For a commoner, dying in a war is a tragedy. But for you and me, it’s a good way out”
อีกสองตัวละครที่เป็นตัวแทนของคนธรรมดา Dita Parlo และ Pierre Fresnay เมื่อเทียบกับสองตัวละครที่ผมเอ่ยมาย่อหน้าที่แล้ว สองคนนี้เหมือนตัวประกอบมากๆ แต่สองคนนี้นำไปสู่จุดจบของเรื่องซึ่งผมเรียกว่า “ชัยชนะของคนธรรมดา” หนังใส่ตัวละครมาอีกตัวหนึ่ง หญิงหม้ายชาวเยอรมัน นำแสดงโดย Dita Parlo ซึ่งเป็นตัวแทนของผู้หญิง (คนเดียวในเรื่อง) เธอเสียสามีไปจากสงคราม ผมชอบฉากนี้มากๆ เพราะมันเหมือนย้ำเตือนว่าคนที่ไปสงคราม แทบจะทุกคนมีบ้าน มีครอบครัว มีคนให้คิดถึง มีที่ให้กลับไป ซึ่งเป็นการย้ำคนดูอีกครั้งว่า สงครามมันไม่ได้มีประโยชน์อะไรเลย ชื่อหนังก็สื่ออยู่แล้วว่า Grand Illusion ซึ่ง Renoir ก็พูดเองว่าสำหรับเขา “That’s all an illusion”
Christian Matras ตากล้องหนังเรื่องนี้ หนังของ Renoir ยังคงสไตล์การกำกับภาพที่เป็นการทดลอง ผมชอบฉากการเลื่อนกล้องเป็นเส้นตรง คิดว่าน่าจะใช้รางเลื่อนเป็นเหมือนการค่อยๆพาคนดูให้เข้าไปในฉากนั้น หรือฉากที่ถ่ายภาพไกลๆ อย่างฉากสุดท้ายที่กล้องถ่ายไปเห็นสองตัวละครกำลังเดินอยู่ไกลๆลิบๆ ข้ามชายแดนเกินกว่าที่ทหารเยอรมันจะเอื้อมถึงได้ เป็นการถ่ายภาพที่มีความหมายแฝงอย่างลึกซึ้งทีเดียว
ตัดต่อโดย Marthe Huguet และ Marguerite Renoir คนหลังนี่เคยเป็นคนรักของ Jean Renoir อยู่ช่วงนึงนะครับ ทั้งสองไม่ได้แต่งงานกัน แต่เธอก็ใช้นามสกุลของเขา และตัดต่อหนังให้เขาหลายเรื่องทีเดียว สำหรับการทดลองในหนังเรื่องนี้อาจจะไม่เห็นชัดมาก แต่ช่วงแรกๆผมดูไม่ทันเลย หนังตัดต่อโดยไม่สนใจว่าคนดูจะเข้าใจแม้แต่น้อย เป็นการตัดสลับไปมาระหว่างฝั่งฝรั่งเศส และฝั่งเยอรมัน ผมว่ามันเป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งของหนังนะ คือผู้กำกับสามารถโยนอะไรใส่คนดูก็ได้ ถ้าคุณต้องการเข้าใจ ก็ต้องสังเกตเอาเอง ช่วงกลางๆและท้ายๆ การตัดต่อดูนุ่มนวลขึ้นมาก แต่ก็ยังมีการตัดสลับไปมาตามอารมณ์คนตัดบ้าง แต่เนื้อเรื่องถือว่าเรียงตาม Timeline เปะๆไม่มีฉากฝัน หรือย้อนอดีตแต่อย่างใด
เพลงประกอบที่เป็น Score ประพันธ์โดย Joseph Kosma นี่เป็นหนังที่ใช้ Score น้อยมาก แต่เราจะได้ยินเพลงที่ดังจากวิทยุ หรือเสียงร้องจากปากบ่อยครั้งกว่า ตามสไตล์ของ Renoir ที่ชอบทำให้หนังมีความเป็น Realistic ที่สุด ใครยังไม่เคยได้ยินเพลงชาติฝรั่งเศส La Marseillaise ลองฟังเวอร์ชั่นในหนังดูนะครับ
ฉากนี้ใน La Grande Illusion เป็นแรงบันดาลใจให้ฉากคล้ายๆกันใน Casablanca ด้วยนะครับ
สิ่งหนึ่งที่ผมอาจจะคิดต่างกับ Renoir คือ สิ่งที่เกิดขึ้นทุกอย่างในหนังเรื่องนี้ มันออกจะ Illusion ไปสักหน่อย เช่นว่า นายทหารชาวเยอรมันยิงเครื่องบินของฝรั่งเศสตก แล้วเชิญเขามาทานอาหาร… การปฏิบัติต่อนักโทษสงครามที่ดีเว่อของเยอรมัน… ทหารที่เสียสละตัวเองให้เพื่อนทั้งสองหนีเอาตัวรอด… หญิงชาวเยอรมันที่ให้ที่หลบภัยกับทหารฝรั่งเศส … ผมรู้สึกว่านี่เป็น Grand Illusion ของผู้กำกับเอง คือ ยากที่จะเกิดขึ้นจริงได้ (แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะเกิดขึ้นไม่ได้) ผมรู้สึกมันเหมือนเป็นแนวคิดของ Renoir มากกว่าที่ ถ้าสมมติมีคนหรือเรื่องราวเกิดขึ้นแบบนี้จริงๆ ผลลัพท์ของสงครามอาจเปลี่ยนไป แต่นี่มันก็แค่หนังนะครับ สารสำคัญที่ Renoir ต้องการนำเสนอคือ สงครามมันก็ข้ออ้างบางอย่างของคนชั้นสูงเท่านั้น
หนังเรื่องนี้มีใน Youtube นะครับ หาดูได้เลย แนะนำมากนะครับ ในบรรดาหนังของ Renoir ผมชอบเรื่องนี้ที่สุด เพราะหนังย่อยง่าย และเมื่อวิเคราะห์ลงไป สาสน์ของหนังคือเหตุผลที่ผมชอบมากๆ ใน The Rules of the Games ผมไม่สามารถมองตัวละครในหนังให้เป็นประเทศต่างๆได้ แต่กับ La Grande Illusion มันชัดเจนกับผมมาก ตัวละครทั้ง 4 ที่เสมือนชนชั้นต่างๆในสังคม สะท้อนออกมาได้เจ็บแสบ และหนังมีประโยคคำพูดที่กินใจหลายคำเลยนะครับ
คำโปรย : “La Grande Illusion หนังสงครามที่ไม่มีฉากสงครามของ Jean Renoir พบสุดยอดการแสดงของ Jean Gabin และ Erich von Stroheim ดูแล้วคุณจะเข้าใจว่า สงครามคืออะไร!”
คุณภาพ : LEGENDARY
ความชอบ : LOVE
[…] La Grande Illusion (1937) : Jean Renoir […]