La Jetée

La Jetée (1962) French : Chris Marker ♥♥♥♥

หนังสั้นแนวทดลองเรื่องนี้ นำเสนอด้วยภาพนิ่งทั้งหมด (Photomontage) ได้รับการยกย่องคือหนึ่งในภาพยนตร์ Sci-Fi แนวย้อนเวลายอดเยี่ยมที่สุดในโลก และเป็นแรงบันดาลใจให้ผู้กำกับ Terry Gilliam สร้าง 12 Monkeys (1995)

ดูค่อนข้างยากนะครับหนังเรื่องนี้ แต่หากคุณเคยรับชม 12 Monkeys (1995) มาแล้ว เชื่อว่าคงสามารถดูจบเข้าใจได้อย่างไม่มีข้อกังขาใดๆ ไว้วันหลังผมจะเขียนถึง 12 Monkeys ด้วย ถือเป็นภาพยนตร์ไซไฟเรื่องโปรดเมื่อครั้งนานมาแล้ว ไม่รู้กลับมาดูรอบนี้จะยังชอบได้อีกหรือเปล่า

La Jetée (แปลว่า The Jetty คือบริเวณท่าเรือที่ยื่นออกไป, ถ้าพูดถึงสนามบินก็คือ จุดชมวิวด้านนอก) นำเสนอเรื่องราวของโลกหลังสงครามนิวเคลียร์ (Post-Nuclear Wars) หรือสงครามโลกครั้งที่ 3 ในประเทศฝรั่งเศสเรียกว่าราบเรียบเป็นหน้ากลอง อากาศด้านบนเต็มไปด้วยกัมตรังสี ผู้รอดชีวิตต้องอาศัยอยู่ใต้ดิน นักวิทยาศาสตร์ได้คิดค้นยาหรืออะไรสักอย่าง ที่สามารถส่งมนุษย์ทดลองย้อนเวลากลับไปอดีต/หรือไปอนาคต เพื่อหาทางแก้ไขป้องกันเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้

สร้างโดยผู้กำกับชาวฝรั่งเศส Chris Marker (1921 – 2012) นักเขียน ตากล้อง ศิลปิน หนึ่งในผู้กำกับยุค French New Wave แต่เป็นฝั่ง Left Bank แบบเดียวกับ Alain Resnais, Agnès Varda, Henri Colpi และ Armand Gatti

เพื่อนสนิทและร่วมงาน Alain Resnais เรียนชายผู้นี้ว่า “the prototype of the twenty-first-century man.” จริงๆการเรียกเขาว่าหนึ่งในผู้กำกับ French New Wave ถือว่าเป็นการลบหลู่ความสามารถไปเสียหน่อย เพราะเป็นคนที่มีเอกลักษณ์ไม่เหมือนใครโดยสิ้นเชิง (และไม่คิดว่าจะมีใครเหมือนด้วย) ดูอย่างภาพยนตร์เรื่องนี้ที่นำเสนอด้วยภาพนิ่งทั้งหมด มันเป็นเทคนิคที่เหมือนจะทำไม่ยากแต่ใครที่ไหนจะสร้างหนังปกติออกมาแบบนี้กัน (ไม่ใช่ presentation ประมวลภาพงานแต่งงาน, งานเลี้ยง ฯ อะไรแบบนั้นนะ!)

สำหรับผลงานที่”ต้องดู” ของผู้กำกับคนนี้ นอกจาก La Jetée ก็จะมี Le Joli Mai (1963), A Grin Without a Cat (1977) และ Sans Soleil (1983)** โดยเฉพาะเรื่องหลังนี้ ได้รับการยกย่องว่าเป็นหนึ่งในสารคดียอดเยี่ยมที่สุดในโลก

99.99% ช็อตของภาพยนตร์เรื่องนี้ ถ่ายโดยกล้องถ่ายภาพนิ่ง Pentax Spotmatic แล้วใช้การนำมาเรียงต่อกัน ตัดต่ออย่างมีจังหวะ (rhythm) แต่จะมีเพียง 1 ช็อตเดียว ที่ใช้การถ่ายด้วยกล้องบันทึกภาพเคลื่อนไหว นั่นคือขณะหญิงสาวกำลังนอนหลับอยู่บนเตียง (ภาพจะ Dissolves ไปเรื่อยๆ) แล้วอยู่ดีๆก็จะลืมตาขึ้นมา, เหตุผลที่ต้องถ่ายภาพเคลื่อนไหวไม่ได้มีเหตุผลนัยยะอะไรเป็นพิเศษ เพราะวันนั้นผู้กำกับหายืมกล้องถ่ายภาพนิ่งไม่ได้ จึงจำต้องใช้กล้องถ่ายภาพเคลื่อนไหว

เกร็ด: Pentax Spotmatic คือกล้องถ่ายภาพเลนส์เดียวขนาด 35mm ผลิตโดย Asahi Optical Co. Ltd. ที่ต่อมากลายเป็น Pentax Corporation มีขายช่วงปี 1964 ถึง 1976

เกร็ด: กล้องถ่ายภาพเคลื่อนไหวที่ใช้คือ 35mm Arriflex

สำหรับนักแสดงใช้สมัครเล่นทั้งหมด เพราะไม่ได้ต้องแสดงฝีมืออะไร แค่โพสท่าถ่ายรูปตามคำสั่งของผู้กำกับเท่านั้น, ซึ่งผมสังเกตดูหลายๆภาพมีลักษณะเป็น Expressionist คือต้องมีท่าทางที่ให้ผู้ชมสามารถสังเกตได้ว่าเกิดอะไรขึ้น มีอารมณ์ความรู้สึกเช่นไร ขณะเดียวกันก็มีการจัดแสง วางมุมกล้อง ทิศทางการถ่าย ที่สร้างสัมผัสอารมณ์ให้กับภาพได้ชัดเจน

ผมชอบฉากตกใจนี้เหลือเกิน หญิงสาวกุมมือปิดหน้า นี่คือลักษณะ Expressionist ของภาพถ่ายที่ผมบอกไปนะครับ

การเล่นกับแสง เพราะหนังถ่ายด้วยกล้องขาว-ดำ ทำให้สามารถควบคุมสีดำได้อย่างง่ายได้ อย่างช็อตที่พบกับมนุษย์จากอนาคต มันเหมือนเราจะเห็นแต่หัวของพวกเขาลอยได้ (เพราะตัวเขาใส่ชุดสีนำ ถ่ายกับพื้นหลังสีดำ ทำให้มองไม่เห็นเสื้อเลย)

สังเกตว่าหลายๆช็อต ใบหน้าของมนุษย์ครึ่งหนึ่งจะเห็นแสง อีกครึ่งจะมืดสนิทมองไม่เห็น นี่ย่อมหมายความถึงสองด้าน ขาว-ดำ, ดี-ชั่ว, เกิด-ตาย, อดีต-อนาคต ฯ

อีกช็อตที่ผมชอบ น่าจะเป็นการถ่ายผ่านกระจกกันกระสุนที่ถูกยิงแต่ยังไม่แตก, มีนัยยะถึงอนาคตที่แตกร้าว เพราะการย้อนอดีตเป็นสิ่งที่ไร้ค่า ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้จริงๆ

[นี่ความเห็นส่วนตัวล้วนๆเลยนะครับ] ทั้ง 4 จากโลกอนาคต ผมมองว่ามีนัยยะถึงบุคคลมิติที่ 4 (แบบเดียวกับ Interstellar ที่สามารถเดินทางล่องเวลาไปไหนมาไหน) พวกเขาจะมีจุดดำๆระหว่างคิ้ว คิดว่าอาจจะคือบุคคลที่ถูกทดลองก่อนหน้าแบบเดียวกับพระเอก แล้วสามารถมีชีวิตเหนือมิติเวลาได้ จุดดำๆคือร่องรอยกระสุนปืนที่ถูกยิงเสียชีวิตเพราะค้นพบความจริงของโลก/การย้อนเวลา

สถานที่ถ่ายทำ ใช้ Orly Airport ชื่อเต็มๆคือ Paris Orly Airport (Aéroport de Paris-Orly) เป็นสนามบินนานาชาติของประเทศฝรั่งเศส ตั้งอยู่ในเมือง Paris, ถือเป็นสถานที่เชิงสัญลักษณ์มีความหมายถึงการเดินทาง ซึ่งสามารถแปลว่า เกิด/ตาย ได้เช่นกัน

เกร็ด: กับฉากที่คู่พระนางยืนดูและชี้วงปีของต้นไม้ เสียงบรรยายพูดว่าเธอเกิดตรงนี้ ฉันเกิดตรงนี้ นี่เป็นฉากคารวะถึงหนังเรื่อง Vertigo (1958) ของ Alfred Hitchcock, และเหมือนว่าผู้กำกับจะชอบหนังเรื่องนี้มากๆ ถึงขนาดใส่ฉากนี้ลงไปในหนังอีกเรื่องคือ Sans Soleil (1983)

ตัดต่อโดย Jean Ravel ถือว่าหนังมีจังหวะ rhythm เพื่อสร้างสัมผัสความรู้สึก อารมณ์ และเหตุผลต่างๆให้กับหนัง

ขอเริ่มจากความเร็วก่อน โดยเฉลี่ยที่ผมลองจับดูประมาณ 2-3 วินาที ถ้าเร็วกว่านี้จะถือว่าตัดเร็ว เพื่อสร้างความรีบเร่ง ตื่นเต้น กระชับรัด, ถ้าช้ากว่านี้ ถือเป็นการปล่อยเวลาทิ้งไว้ ให้ผู้ชมซึมซับตราตรึงจดจำภาพนั้นไว้ (เหมือนการหยุดเวลา)

เทคนิคการเปลี่ยนภาพ
– เฉพาะช็อตแรกของหนังเท่านั้น ที่เป็นการซูมออกจากมุมหนึ่งของภาพ ถ่ายจากมุมสูงของสนามบิน Orly Airport แล้วจะมีเครดิตขึ้นพร้อมเสียงเพลง นี่มีลักษณะเหมือน Establish Shot ของหนังลักษณะนี้ มีนัยยะเป็นการขยาย เปิดโลกทัศน์ คิดรับรู้อะไรแบบใหม่
– ธรรมดาสุดคือการตัดเปลี่ยนภาพไปเลย นี่ไม่มีความหมายอะไรพิเศษ
– การ Cross-Cutting หรือ Dissolves เทคนิคนี้ทำให้เกิดช่วงขณะสองภาพซ้อนเหลื่อมกัน ซึ่งมีนัยยะถึง Time Lapse การเคลื่อนผ่าน เชื่อมต่อเนื่อง บางครั้งมองเห็นได้เป็นภาพลวงตา Illusion โดยเฉพาะช่วงนำเสนอภาพของผลลัพท์สงคราม ที่กรุงปารีสราบเรียบเป็นหน้ากลอง นี่เสมือนภาพความฝันมากๆ (ที่กลายเป็นจริง)
– Fade-ins กับ Fade-outs นี่ใช้กับจุดเริ่มและสิ้นสุดของฉาก/เรื่องราวนั้นๆมากกว่า จะไม่ใช่การเปลี่ยนช็อตภาพนะครับ แต่จะเป็นเฟดเข้าดำ หรือเฟสออกดำ นี่มีนัยยะถึงการเริ่มต้น-สิ้นสุด

การเล่าเรื่องจะใช้เสียงบรรยายประกอบภาพ บางครั้งเป็น Sound Effect ที่เป็นแบบ minimal มีแค่ไม่กี่อย่างเท่านั้นที่ได้ยิน อาทิ เสียงเครื่องบิน, เสียงกระซิบกระซาบ (เห็นว่าเป็นภาษา German), เสียงเหมือนหัวใจเต้นตุบตับ, เสียงนกร้อง ฯ

ส่วนเพลงประกอบโดย Trevor Duncan ชาวอังกฤษ ที่ปกติมักเขียนเพลงแนว light music แต่กับเรื่องนี้ถือว่ามีทำนองที่หนักพอสมควร โหยหวน สิ้นหวัง หมดอาลัย สะท้อนจิตวิทยาของตัวละคร, โดยเฉพาะเสียงร้องคลอรัส ที่ให้สัมผัสเหมือนวันสิ้นสุดของโลก (Judgement Day) แต่ก็มีทำนองผ่อนคลายอยู่บ้างนะครับ ตอนที่พระเอกได้พบกับหญิงสาว บทเพลงมีประกายแห่งความหวัง แต่สุดท้ายก็หาได้ happy ending ตอนจบไป

ภาพและเสียงของหนังเรื่องนี้ มีการผสมผสานกันได้อย่างมีจังหวะและลงตัวมากๆ เช่น ตอนพระเอกเป็นหนูทดลองเพื่อย้อนเวลา เสียงหัวใจเต้นตุบตับจะค่อยๆแรงขึ้น ดังขึ้นเรื่อยๆ งานภาพก็จะมีการตัดต่อที่รวดเร็วขึ้นสอดคล้องรับกับเสียงอย่างลงตัว

La Jetée เป็นเรื่องราวของ’เวลา’ ความทรงจำและข้อจำกัดของชีวิต, ชายคนหนึ่งมีเติบโตขึ้นผ่านสงคราม ความสูญเสีย เจ็บปวดทุกข์ทรมาน ในขณะที่เป็นนักโทษได้รับโอกาสให้สามารถย้อนอดีตหนีโลกกลับไปสู่วันเวลาอันสงบสันติสุข นั่นกลายเป็นโลกที่เขาหวนระลึกไคว่คว้าหา ช่วงเวลาเล็กๆที่แสนจะมีค่า แต่ใช่ว่ามันจะยืนยงคงถาวรอยู่นาน สุดท้ายก็แค่ได้เพ้อฝัน เพราะชีวิตมนุษย์ล้วนตกอยู่ เป็นนักโทษในห้วงของกาลเวลา

เกร็ด: ผ้าปิดตา มีนัยยะถึงการมืดบอด มองไม่เห็น (อดีตและอนาคต) ส่วนแว่นตารูปทรงประหลาดๆ นั่นคือการพยายามมอง สังเกตการณ์ เรียนรับรู้ (เวลา) แต่ไม่สามารถที่เอาชนะเหนือกว่ามันได้

ขอไว้วิเคราะห์แนวคิดละเอียดๆหน่อยใน 12 Monkeys ดีกว่านะครับ หนังเรื่องนี้ถือว่าคิดตามยากพอสมควร

ถ้าคุณกำลังเรียนหรือศึกษาภาษาการตัดต่อและการใช้เสียงของภาพยนตร์ นี่เป็นหนังที่แนะนำให้วนดูซ้ำๆ ทำความเข้าใจทุกภาพทุกช็อต ค้นหาความหมายของทุกสิ่งอย่าง จะพบว่ามีความลึกซึ้งไม่ธรรมดา ที่ถึงขนาด
– นิตยสาร Sight & Sound: Critic’s Poll 2012 ติดอันดับ 50
– นิตยสาร Cahiers du cinéma: Top 100 of all time ติดอันดับ 47
– นิตยสาร TIMEOUT: The 100 Best French Films ติดอันดับ 33

สำหรับภาพยนตร์ที่ได้แรงบันดาลใจจาก La Jetée เท่าที่รวบรวมได้อาทิ
– The Terminator (1984) เรื่องนี้ผู้กำกับ James Cameron ไม่ได้พูดบอกไว้ แต่นักวิจารณ์หลายคนมีความสนเท่ห์อย่างยิ่ง เพราะพล็อตเรื่องมีความเป็นไปได้สูงที่จะได้รับอิทธิพลแรงบันดาลใจมา
– The Red Spectacles (1987) อนิเมชั่นของผู้กำกับ Mamoru Oshii ผู้กำกับอนิเมชั่น Ghost in the Shell
– 12 Monkeys (1995) ของผู้กำกับ Terry Gilliam
– The Namesake (2006) หนังสั้นของผู้กำกับหญิงอินเดีย Mira Nair

ลองคิดตามว่าทำไมหนังถึงต้องใช้วิธีการนำเสนอแบบนี้? คงเพราะผู้กำกับจินตนาการภาพของ’เวลา’ ว่ามีลักษณะเป็นห้วงๆเสี้ยวๆแบบนี้ เพราะทุกวินาทีมันมีอะไรมากมายมหาศาลเกิดขึ้น ยากที่จะทำให้ต่อเนื่องไปเรื่อยๆตลอดเวลา (ถ้าทำเช่นนั้น เวลาคงไม่มีค่าอะไร) จึงทำให้เสมือนการประติดประต่อเฉพาะภาพที่มีความสำคัญๆในห้วงเวลานั้น (ในภาษาอนิเมชั่นเรียกว่า Key Frame/Key Image) มนุษย์ทุกคนไม่มีใครสามารถจดจำช่วงเวลาในชีวิตได้ทั้งหมด เราจะระลึกได้แค่ภาพที่มันสำคัญตราตรึง ขณะที่ช่วงเวลาอื่นก็จะหลงลืมเลือนไปอย่างรวดเร็ว

สมัยนี้มันฮิตมากนะครับ Presentation ที่นำภาพอดีต งานแต่งงาน เลี้ยงรุ่น เลี้ยงอำลา ฯ ประมวลภาพเหตุการณ์เก่าๆ ทำเป็นสไตล์เคลื่อนๆประกอบเพลง เปิดให้กลุ่มเป้าหมายเกิดความหวนระลึก ซึ้ง ประทับใจ (และอาจร้องไห้ตามมา) ผมเรียกภาพยนตร์ลักษณะนี้ว่า “การประมวลผลช่วงเวลาในความทรงจำ” ถึงคุณจะไม่เคยดูหนังเรื่องนี้ แต่จะบอกว่าเทรนด์นี้เริ่มต้นจาก La Jetée นี่แหละ

ส่วนตัวก็ชอบหนังเรื่องนี้นะครับ คงเพราะพอดู 12 Monkeys มาก่อน มันเลยประทับใจเรื่องนั้นมากกว่า แต่หนังเรื่องนี้ก็มีเทคนิค ลีลา วิธีการนำเสนอที่แปลกไม่เหมือนใคร ท้าทายผู้ชมให้ดูซ้ำแล้วซ้ำอีก แค่เวลา 20 กว่านาที ไม่คิดว่ามันจะออกมาลึกซึ้งได้ขนาดนี้

แนะนำกับคอหนังไซไฟ ย้อนเวลา โลกอนาคต, ชื่นชอบแนว Surrealist เหนือจริง, โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักเรียน คนทำงานสายภาพยนตร์ มีอะไรให้ศึกษาเยอะแยะมากมายเต็มไปหมด

จัดเรต 15+ กับความดูยาก และบรรยากาศที่ค่อนข้างอึมครึม เครียดเกินไป

TAGLINE | “La Jetée หนังสั้นโดยผู้กำกับ Chris Marker มีความแปลกประหลาดในการนำเสนอ ที่สร้างความลึกล้ำ สวยงาม ไม่เหมือนใคร”
QUALITY | RARE-GENDARY
MY SCORE | LIKE

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: