La Pointe Courte

La Pointe Courte (1955) French : Agnès Varda ♥♥♥♥

Agnès Varda จากช่างถ่ายภาพนิ่ง เกิดแรงผลักดันบางอย่างหลังกลับจากเมืองท่า La Pointe Courte ต้องการสร้างภาพที่สามารถขยับเคลื่อนไหว แม้ไร้ซึ่งประสบการณ์ความรู้ใดๆ ทดลองจับผิดจับถูก จนสามารถรังสรรค์ผลงานแรกแจ้งเกิด กลายเป็นจุดเริ่มต้นแท้จริงของยุคสมัย Franch New Wave

ผู้กำกับ Agnès Varda ให้สัมภาษณ์บอกว่า เธอแทบไม่เคยรับชมภาพยนตร์เรื่องอื่นใด จนเกิดอิทธิพล/แรงบันดาลใจก่อนหน้ารังสรรค์สร้าง La Pointe Courte ทุกสิ่งอย่างเกิดจากการครุ่นคิด ทดลองผิดลองถูกด้วยตนเองทั้งหมด!

นั่นสร้างความอึ้งทึ่งให้ผมไม่น้อยเลยนะ เสมือนว่า Varda เป็นผู้บุกเบิกวงการภาพยนตร์ในมุมมอง/ความคิดสร้างสรรค์ส่วนตนเอง ด้วยเหตุนี้ La Pointe Courte จึงมีรสสัมผัสอันมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว กลิ่นอายคล้ายๆ Hiroshima Mon Amour (1959) ของผู้กำกับ Alain Resnais [เป็นคนตัดต่อ La Pointe Courte] โดดเด่นในสไตล์ลายเซ็นต์ที่เรียกว่า ‘Cinécriture’ (แปลว่า writing on film) ใช้กล้องเสมือนปากกา พรรณาด้วยการจัดวาง มีความลื่นไหล-กระโดดตามเรื่องราวอารมณ์ และทุกสิ่งในองค์ประกอบล้วนมีนัยยะแฝงซ่อนเร้นอยู่เสมอ

และความที่ภาพยนตร์เรื่องนี้มาก่อนเวลาแห่งยุคสมัย French New Wave แต่ด้วยลักษณะงานสร้าง เงินทุนน้อยนิด (เห็นว่าไม่จ่ายค่าตัวนักแสดงด้วยนะ!) ถ่ายทำยังสถานที่จริง มีความเป็นตัวตนเอง ‘ศิลปิน’ ของผู้กำกับ นั่นเองทำให้ Varda ได้รับการยกย่องกล่าวขวัญ ‘Grandmother and Mother of French New Wave’

“[La Pointe Courte’s] truly the first film of the nouvelle vague”.

– นักประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ Georges Sadoul


Agnès Varda ชื่อจริง Arlette Varda (เกิดปี 1928) ผู้กำกับสร้างภาพยนตร์สัญชาติ Belgian-French เกิดที่ Ixelles, Belgium ลูกคนที่สามจากพี่น้องห้าคน ช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่สองหลบซ่อนตัวอยู่ Sète (เมืองท่าทางตอนใต้ของฝรั่งเศส) โตขึ้นเรียนจบปริญญาตรี สาขาวรรณกรรมจาก Lycée Victor-Duroy และสาขาจิตวิทยาที่ Sorbonne ทีแรกตั้งใจสมัครเป็นผู้ดูแลพิพิธภัณฑ์ École du Louvr คงไม่สำเร็จกระมังเลยเปลี่ยนมาทำงานช่างถ่ายภาพนิ่ง ค่อยๆเกิดแรงผลักดันบันดาลใจ อยากร้อยเรียงเล่าเรื่องสร้างองค์ประกอบภาพเคลื่อนไหว

“I started earning a living from photography straightaway, taking trivial photographs of families and weddings to make money. But I immediately wanted to make what I called ‘compositions.’ And it was with these that I had the impression I was doing something where I was asking questions with composition, form and meaning”.

– Agnès Varda

Varda มีเพื่อนคนหนึ่งป่วยหนักใกล้ตาย อยากพบเห็นบ้านเกิดตนเองที่ La Pointe Courte (เมืองท่าที่ Varda เคยพักอาศัยในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง) เลยร้องขอให้เธอช่วยออกเดินทางไปบันทึกจัดเก็บภาพความทรงจำ ซึ่งหลังกลับจากทริปดังกล่าวคงรับรู้สึกถึงข้อจำกัดของภาพนิ่ง ไม่สามารถนำเสนอจิตวิญญาณของสถานที่ออกมาได้ทั้งหมด เลยเกิดความต้องการทดลองสร้างภาพยนตร์เพื่อเติมเต็มส่วนขาดหายดังกล่าว

บทหนังที่ Varda พัฒนาขึ้นแบ่งออกเป็นสองเรื่องราว นำเสนอคู่ขนานกันไป
– Lui (รับบทโดย Philippe Noiret) เฝ้ารอคอยภรรยา Elle (รับบทโดย Silvia Monfort) อยู่ที่ La Pointe Courte ห้าวันผ่านไปถึงค่อยปรากฎตัวยังสถานีรถไฟ ระหว่างเดินทางไปบ้านพักเธอพูดบอกกับเขาต้องการเลิกราอย่าร้าง แต่หลังจากสนทนากันไปเรื่อยๆ ค่อยๆเรียนรู้จักวิถีชีวิตชาวเมืองท่า ทำให้เกิดความเข้าใจพื้นหลังของสามี ทั้งคู่เลยเดินทางกลับ Paris ราวกับไม่มีอะไรบังเกิดขึ้น!
– ชายแปลกหน้าปรากฎตัวขึ้นที่ La Pointe Courte สร้างความฉงนสงสัยให้กับคนในหมู่บ้าน กระทั่งสืบทราบว่าคือเจ้าหน้าที่จากสาธารณสุข เข้ามาตรวจสอบสารปนเปลื้อนในหอยเชลล์ซึ่งเป็นผลผลิตส่งออก พยายามเรียกร้องให้ชุมชนตระหนักถึงเภทภัยอันตราย แต่ตราบใดยังไม่มีคนตาย เรื่องอะไรที่พวกฉันจะต้องสนใจ … พูดไม่ทันขาดคำ เหตุอันสลดก็ได้บังเกิดขึ้น!


เพื่อที่จะสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ Varda ก่อตั้งบริษัทโปรดักชั่นของตนเอง ตั้งชื่อ Ciné-Tamaris สรรหาเงินทุนจากเงินเก็บ หยิบยืมจากเพื่อนฝูง รวมแล้วเพียงน้อยนิดแต่ก็เหลือเฟือเพียงพอจะหยิบยืบกล้อง อุปกรณ์ถ่ายทำ ขณะที่นักแสดงคือส่วนผสมของมืออาชีพ-สมัครเล่น ตกลงเล่นให้แบบฟรีๆไม่คิดค่าตัว

Philippe Noiret (1930 – 2006) สัญชาติฝรั่งเศส ก่อนหน้านี้คือนักแสดงละครเวทีชื่อดัง ได้รับคำชักชวนจาก Varda แสดงภาพยนตร์เรื่องแรก La Pointe Courte (1955) แต่ไปแจ้งเกิดโด่งดังกับ Zazie dans le Métro (1960), Thérèse Desqueyroux (1962) แถมยังโกอินเตอร์ Topaz (1969), และบทบาทกลายเป็นตำนาน Cinema Paradiso (1988)

 “I discovered in him a breadth of talent rare in a young actor”.

– Agnès Varda

Silvia Monfort ชื่อเกิด Simone Marguerite Favre-Bertin (1923 – 1991) เริ่มเข้าจากแสดงภาพยนตร์ Les Anges du pêché (1943), L’Aigle à deux têtes (1948) ฯ แล้วไปโด่งดังกลายเป็นตำนานกับวงการละครเวที

“Curious and a pioneer by nature, she threw herself into the project with delight and discipline. I really think she was happy to fight for a cinema of the future”.

– Agnès Varda

สองนักแสดงนำเล่นบทบาทอย่างประดิษฐ์ประดอย แข็งกระด้าง ไร้ชีวาอารมณ์ (ใบหน้าของ Monfort ดูราวกับรูปปั้นเทพธิดา) คำพูดสนทนาดูคมคายราวกับหลุดลอกออกมาจากตัวหนังสือ ซึ่งจะตรงข้ามกับความเป็นธรรมชาติของนักแสดงสมัครเล่นอื่นๆในเมืองท่า La Pointe Courte ผู้ชมจะสามารถสังเกตแบ่งแยกออกได้อย่างชัดเจนเลยว่า ตัวละครทั้งสองกลุ่มมีความผิดแผก แตกต่าง ไม่เข้าพวกเลยสักนิด

นี่ย่อมเป็นความจงใจของผู้กำกับ Varda เพื่อแบ่งแยกแยะเรื่องราวออกเป็นสองส่วน สังคมเมือง-ต่างจังหวัด โก้หรูไฮโซ-บ้านนอกคอกนา เฉลียวฉลาดรอบรู้-ทึ่มๆใสซื่อ ฯ


ถ่ายภาพโดย Paul Soulignac, Louis Stein

แม้ไร้องค์ความรู้ด้านภาพยนตร์ แต่ Varda ก็นำเอาประสบการณ์ช่างภาพนิ่งมาปรับใช้ ทั้งการจัดแสง วางองค์ประกอบ เริ่มต้นด้วยการถ่ายภาพสถานที่ มุมมองนำเสนอ เลือกเลนส์ กำหนดระยะ จากนั้นค่อยเปลี่ยนมาบันทึกภาพด้วยกล้องฟีล์ม

“When I made my first film, La Pointe Courte — without experience, without having been an assistant before, without having gone to film school — I took photographs of everything I wanted to film, photographs that are almost models for the shots. And I started making films with the sole experience of photography, that’s to say, where to place the camera, at what distance, with which lens and what lights?”

– Agnès Varda

ด้วยข้อจำกัดด้วยงบประมาณ การถ่ายทำจึงไม่มีการบันทึกเสียงใดๆ ใช้การพากย์ทับภายหลังการถ่ายทำ ซึ่งจะมีฉากหนึ่งที่ผู้กำกับ Varda จงใจล้อเลียนตนเอง โดยให้ตัวละครหนึ่งพูดว่า

“At the movies l kept asking my wife… ‘What’s he saying?’ l could tell the lips moved but that’s all!”

ไดเรคชั่นการถ่ายภาพของสองเรื่องราว สังเกตว่า
– Lui & Elle กล้องมักไม่ขยับเคลื่อนไหว (คล้ายๆถ่ายภาพนิ่ง) แต่จะมีการจัดวางองค์ประกอบบางอย่างให้โดดเด่นมากๆ โดยเฉพาะใบหน้าสองตัวละครซ้อนทับ (แบบหนังของ Ingmar Bergman) และการใช้สถานที่สื่อความหมายบางสิ่งอย่าง
– เรื่องราวอื่นๆใน La Pointe Courte กล้องแทบจะขยับเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา มักไม่มี Close-Up ใบหน้าตัวละคร (หลายครั้งไม่พบเห็นการขยับปากสนทนา) แถมเต็มไปด้วยความมหัศจรรย์ อาทิ ถ่ายจากนอกบ้านเคลื่อนผ่านหน้าต่างเข้ามาในห้อง, ลอดผ่านแหดักปลา ฯ

ซึ่งเมื่อ Lui & Elle ค่อยๆปรับจูนเข้าหากัน เริ่มสนทนากับชาวเมืองท่า La Pointe Courte ก็จะพบเห็นการขยับเคลื่อนไหวกล้อง ไม่หยุดแน่นิ่งเหมือนตอนแรกๆอีกต่อไป

Lui เดินทางไปรับ Elle ที่มาโดยรถไฟ พบเห็นราง ทางแยก สื่อสัญลักษณ์ถึงชีวิตคู่ของพวกเขา กำลังถึงจุดที่ต้องตัดสินใจอะไรบางอย่าง (จะอยู่หรือหย่าร้าง?) … ทุกช็อตฉากในหนังล้วนสื่อความหมายบางสิ่งอย่าง ผมคงไม่นำมาทั้งหมด แต่จะเลือกเฉพาะที่น่าสนใจเท่านั้นนะครับ

แมว เป็นสัตว์เลี้ยงโปรดของผู้กำกับ Varda ชอบกินปลา … ถูกนำมาเป็นสัตว์สัญลักษณ์ที่คอยเดินไปเดินมา เชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างสองเรื่องราวให้สอดคล้องเข้าด้วยกัน

ช็อตนี้ต่อจาก Lui เดินทางไปรับ Elle พวกเขากำลังเดินเลียบเมืองท่า La Pointe Courte หวนระลึกนึกถึงอดีตที่เคยอาศัยอยู่ และแนะนำให้ภรรยาล่วงรู้จักชีวิตวัยเด็กของตนเอง … สังเกตทางเดินมีตาข่ายดักปลาอยู่กึ่งกลางถนน เส้นทางของพวกเขาถือว่าอยู่คนละฝั่งกับชาวเมือง ดำเนินคู่ขนานกันไป

ช็อตนี้ก็เช่นกัน บ้านพักของ Lui & Elle ต้องข้ามฝั่งแม่น้ำด้วยเรือ (สะพานอยู่ไกลไป) สื่อถึงการแบ่งแยกโลกสองใบออกจากกัน

ช็อตนี้อาจทำให้หลายคนครุ่นนึกถึง Persona (1966) และผลงานเรื่องอื่นๆของผู้กำกับ Ingmar Bergman แต่ท่านแม่ Varda ยืนกรานว่าครุ่นคิดไดเรคชั่นนี้ขึ้นมาเอง นำจากประสบการณ์ถ่ายภาพนิ่งที่ก็มีการจัดวางองค์ประกอบ ใบหน้านักแสดงซ้อนทับแบบนี้อยู่แล้วเป็นเรื่องปกติ

นัยยะความหมายถือว่าเป็นสากล สองตัวละครหันใบหน้าทิศทางตั้งฉาก เหลือมล้ำกันคนละครึ่ง แสดงถึงความครุ่นคิดเห็นต่าง กำลังอยู่ในช่วงขัดแย้ง ตรงกันข้าม ไม่ลงรอยกัน

ผมมีความชื่นชอบช็อตนี้เป็นพิเศษ เพราะเจ้าเหมียวสีดำโคตรจะแย่งซีน! มันคือสัญลักษณ์ของการเชื่อมความสัมพันธ์ที่กำลังแตกแยกของคู่รักชาย-หญิง (ก่อนหน้านี้จะมีช็อตแมวตาย สะท้อนความสัมพันธ์ของทั้งคู่ที่เจือจางหาย Elle พูดบอกต้องการหย่าร้างรา Lui) พวกเขานั่งลงอย่างหมดสิ้นหวังอาลัย แต่ต่อจากนี้อะไรๆมันก็จะเริ่มดีขึ้น

ช็อตที่ผมว่าสวยสุดในหนัง เป็นความโคตรจงใจเหวี่ยงแหให้เป็นรูปหัวใจ ซึ่งพอ Lui & Elle พบเห็น มันทำให้ความสัมพันธ์รักของทั้งสองค่อยๆกลับฟื้นคืนมา

เรือ คือสัญลักษณ์ของการเดินทาง มันถูกทิ้งร้างอยู่ริมฝั่ง พบเห็นโดย Lui & Elle เลยตัดสินใจออกสำรวจเข้าไปใต้ท้องโถงเรือ แม้มันว่างเปล่าไม่มีอะไร แต่ทำให้ทั้งสองตระหนักถึงบางสิ่งอย่างเกี่ยวกับชีวิตคู่

ซึ่งการเดินทางกลับปารีสของ Lui & Elle ด้วยการโดยสาร ‘เรือ’ สะท้อนถึงการออกเดินทาง/เริ่มต้นชีวิตใหม่ของทั้งคู่ ที่คงจะรักกันตราบชั่วกัลปาวสาน

สุดท้ายแล้วสถานที่ที่ทำให้ Lui & Elle หวนกลับมาคืนดีต่อกัน คือห้องนอนโรงแรม ทั้งสองอยู่บนเตียง สายตามองไปทิศทางเดียวกัน ซึ่งก็สามารถสื่อได้ถึง Sex สิ่งเชื่อมความสัมพันธ์ชาย-หญิง มันอาจดูจืดชืด เจือจาง ไร้ราคะ แต่ก็เฉพาะภาพที่ผู้ชมเห็นเท่านั้นละนะ

ตัดต่อโดยว่าที่สองผู้กำกับดัง Alain Resnais และ Henri Colpi, ดำเนินเรื่องคู่ขนานสองเหตุการณ์ โดยมีจุดหมุนคือเมืองท่า La Pointe Courte

เห็นว่า Resnais ไม่ค่อยอยากตัดต่อหนังเรื่องนี้สักเท่าไหร่ เพราะมีแนวคิด โครงสร้าง คล้ายคลึงภาพยนตร์ที่ตนต้องการทำอยู่มาก (ดูอย่าง Hiroshima Mon Amour มีความคล้ายคลึง La Pointe Courte มากๆ) พยายามกระแนะกระแหน Varda พูดถึงความคล้ายคลึงต่อผลงานผู้กำกับ Luchino Visconti, Michelangelo Antonioni ที่เธอไม่เคยรู้จักมาก่อนจนเกิดความรำคาญ

“until I got so fed up with it all that I went along to the Cinémathèque to find out what he was talking about”.

Varda กับ Resnais ก็ไม่ได้มีความขัดแย้งอะไรกันนะครับ ทั้งสองกลายเป็นเพื่อนสนิทตลอดชีวิตของทั้งคู่ (ไม่ทอดทิ้งขว้างเหมือน Jean-Luc Godard)

เพลงประกอบโดย Pierre Barbaud เพื่อนสนิทของ Alain Resnais, ใช้เพียงเครื่องเป่า (ปี่?) ซึ่งมักเป็นการดูโอ้ของสองเครื่องดนตรี เล่นตัดกันไปมาตามอารมณ์ของสองตัวละคร ด้วยลีลาหยอกเย้า ยั่วยวน บางทีก็กวนประสาท พอสุดท้ายทั้งสองปรับความเข้าใจกัน ก็สู่ค่ำคืนแห่งงานเลี้ยงปาร์ตี้ สนุกสุขหรรษา

La Pointe Courte เมืองท่าเล็กๆของฝรั่งเศส ร่องรอยต่อระหว่างแผ่นดิน-ผืนน้ำ การเดินทางรถไฟ-ทางเรือ เฉกเช่นเดียวกับชีวิตคู่ชาย-หญิง ชาวเมือง-ชนบท มนุษย์-ธรรมชาติ

นำเสนอเรื่องราวคู่ขนานที่สะท้อนกันและกันของ
– สามี-ภรรยา ชีวิตอยู่ในช่วงหนทางแยก ต่อจากนี้จะรักหรือเลิกรา La Pointe Courte คือสถานที่สุดท้ายเพื่อสัมพันธ์ของพวกเขา
– ชาวเมืองท่า La Pointe Courte พยายามที่จะแก้ปัญหามลพิษ เพื่อให้ชุมชนสามารถต่อสู้ดิ้นรนเอาตัวรอดต่อไปได้

ผู้กำกับ Agnès Varda คงมีสภาพไม่ต่างอะไรกับคู่รักหนุ่ม-สาว ถึงเคยใช้ชีวิตอาศัยอยู่ La Pointe Courte แต่ก็เสมือนคนนอก ผิดแผกแตกต่างจากชาวเมืองท่า ถ้าไม่เพราะการมาถึงของสงครามโลกครั้งที่สอง คงไร้โอกาสหลบลี้หนีภัยยังดินแดนไกลปืนเที่ยงแห่งนี้!

แต่ใช่ว่าเธอดูถูกดูแคลน จงเกลียดจงชัง La Pointe Courte นะครับ! ภาพยนตร์เรื่องนี้แทบจะเรียกได้ว่า ‘จดหมายรัก’ เพราะทำให้พานพบเจอ เกิดแรงบันดาลใจ คือชนวนเหตุให้ก้าวเข้าสู่วงการภาพยนตร์ และสรรค์สร้างเรื่องราว ‘สานสัมพันธ์รัก’ นี้ถือกำเนิดขึ้นมา

ใครที่เคยรับชมหลายๆผลงานของ Varda น่าจะคุ้นเคยความสัมพันธ์ของเธอกับชายหาด เมืองท่า ริมทะเล ก็ขนาดมีภาพยนตร์สารคดีเรื่องหนึ่งอุทิศให้ The Beaches of Agnès (2008) เรียกได้ว่าเป็นสถานที่ ‘จุดเริ่มต้นแห่งชีวิต’ สัตว์น้ำคืบคลานขึ้นบน และถือกำเนิดผู้กำกับชื่อ Agnès Varda


หนังใช้ทุนสร้างเพียง $14,000 เหรียญ ต่ำกว่าถึงหนึ่งในสี่ของ The 400 Blows (1959) และ Breathless (1960) เสียอีก! (ก็แน่ละ ไม่ได้จ่ายค่าแรงใครสักแดงเดียว) แม้ได้รับคำวิจารณ์ดีเยี่ยม แต่ไม่ประสบความสำเร็จทำเงิน ด้วยเหตุนี้ Varda เลยห่างหายจากวงการภาพยนตร์ไปถึง 7 ปี ถึงมีผลงานเรื่องถัดไป Cléo from 5 to 7 (1962)

“There is a total freedom to the style, which produces the impression, so rare in the cinema, that we are in the presence of a work that obeys only the dreams and desires of its auteur with no other external obligations”.

– André Bazin

ความสำเร็จในผลงานต่อๆมาของ Varda ทำให้เธอสามารถนำฟีล์มหนังเรื่องนี้ไปฉายตามสถานที่ต่างๆ เทศกาลหนัง มหาวิทยาลัย ฯ ซึ่งก็ได้รับการยกย่องเพิ่มขึ้นตามกาลเวลา จนมีสถานะ Cult Film

ส่วนตัวค่อนข้างชื่นชอบหนังพอสมควร ลุ่มหลงใหลในการจัดวางองค์ประกอบภาพ สามารถครุ่นคิดติดตามได้ไม่สิ้นสุด ซึ่งนั่นคือสไตล์ลายเซ็นต์ ‘Cinécriture’ ของผู้กำกับ Agnès Varda โดดเด่นเป็นสง่า ยิ่งใหญ่เหนือกาลเวลา

แนะนำคอหนัง Art House, ชื่นชอบเรื่องราวเกี่ยวกับความสัมพันธ์ ชาย-หญิง มนุษย์-ธรรมชาติ, สัมผัส Neorealist, จัดองค์ประกอบภาพสวยๆ งดงามดั่ง Poetic Film, และแฟนๆผู้กำกับ Agnès Varda ไม่ควรพลาดเลย

จัดเรต PG บรรยากาศตึงๆ การเล่นพรรคเล่นพวก และความเห็นแก่ตัวของมนุษย์

คำโปรย | ผู้กำกับ Agnès Varda พรรณาชีวิตกับเมืองท่า La Pointe Courte งดงามดั่งบทกวี
คุณภาพ | ดั่งวี
ส่วนตัว | ชื่นชอบ

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: