
La Ronde (1950)
: Max Ophüls ♥♥♥♥
ร้อยเรียงเรื่องราวความรักที่ต่างคนต่างมีสองความสัมพันธ์ นำเสนอในลักษณะส่งต่อกันเหมือนไม้ผลัด ก่อนเวียนวนกลับสู่จุดเริ่มต้นกลายเป็นวัฏจักร คล้ายเครื่องเล่นม้าหมุน หรือการเต้นจังหวะ Waltz (ที่มักเริงระบำไปรอบห้อง)
La Ronde (1950) คือความกระสันซ่านของผู้กำกับ Max Ophüls เพราะตั้งแต่เดินทางสู่ Hollywood (หลังสงครามโลกครั้งที่สอง) เซ็นสัญญาสตูดิโอ Universal-International กลับถูกควบคุมครอบงำ บีบบังคับโน่นนี่นั่น สูญเสียอิสรภาพในความคิดสร้างสรรค์ ‘สไตล์ Ophüls’ เรียกว่าเต็มไปด้วยความเก็บกด อึดอัดอั้น ต้องทนทุกข์ทรมานอยู่นานหลายปี จนเมื่อสิ้นสุดสัญญาทาส เดินทางกลับยุโรป ลงหลักปักถิ่นฐานอยู่ฝรั่งเศส (Ophüls คงอยากกลับบ้านเกิดเยอรมัน แต่สภาพปรักหักพังเช่นนั้นคงอีกหลายปีกว่าวงการภาพยนตร์จะเริ่มเฟื่องฟู) สรรค์สร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ด้วยไดเรคชั่น สไตล์ลายเซ็นต์ หวนกลับมาเป็นตัวของตนเองอีกครั้ง!
Reigen (ภาษาเยอรมัน), La Ronde (ภาษาฝรั่งเศส), Roundabout (ภาษาอังกฤษ) หมายถึงอะไรก็ตามที่เวียนวน เป็นวงกลม หวนกลับมาสู่จุดเริ่มต้น, สำหรับผู้กำกับ Max Ophüls ก็คือการเดินทางกลับยุโรป ทวีปบ้านเกิด แล้วได้รับโอกาสสรรค์สร้างภาพยนตร์(เรื่องนี้)ด้วยไดเรคชั่นของตนเอง อย่างมีอิสรภาพเต็มที่อีกครั้ง!
ผมสังเกตว่าบรรดาผู้กำกับระดับปรามาจารย์ มักต้องมีผลงานหนึ่งที่จัดจ้านด้านเทคนิค ด้วยสไตล์ลายเซ็นต์ของตนเอง ยกตัวอย่าง Akira Kurosawa มี Rashômon (1950), Alfred Hitchcock มี Psycho (1960), Federico Fellini มี 8½ (1963), Ingmar Bergman มี Persona (1966) ฯลฯ ในกรณีของ Max Ophüls ก็คือ La Ronde (1950)
Max Ophüls ชื่อจริง Maximillian Oppenheime (1902 – 1957) ปรมาจารย์ผู้กำกับสัญชาติ German เชื้อสาย Jews เกิดที่ Saarbrücken, German Empire ครอบครัวเป็นเจ้าของกิจการขายสิ่งทอทุกรูปแบบ ฐานะมั่งคั่ง แต่ด้วยความสนใจด้านการแสดงเลยเข้าร่วมคณะละครเวที Aachen Theatre ไต่เต้าเป็นผู้กำกับ ผู้จัดการโรงละคร จากนั้นมุ่งสู่วงการภาพยนตร์ กำกับหนังสั้น Dann schon lieber Lebertran (1931), ภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่องแรก Die verliebte Firma (1931), แจ้งเกิดโด่งดัง Liebelei (1933), La signora di tutti (1934) ฯ
หลังจาก Nazi ขึ้นมาเรืองอำนาจ อพยพสู่ฝรั่งเศส หนีไปสวิตเซอร์แลนด์ แล้วลี้ภัยยังสหรัฐอเมริกา เซ็นสัญญาสตูดิโอ Universal-International สรรค์สร้างภาพยนตร์ The Exile (1947), Letter from an Unknown Woman (1948), The Reckless Moment (1949), เมื่อหมดสัญญาหวนกลับมาปักหลักอยู่ฝรั่งเศส กลายเป็นตำนานกับ La Ronde (1950), Le Plaisir (1952), The Earrings of Madame de… (1953), Lola Montès (1955) และผลงานสุดท้ายสร้างไม่เสร็จ Les Amants de Montparnasse (1958)
ความสนใจของ Ophüls มีคำเรียกว่า ‘woman film’ ตัวละครนำมักเป็นเพศหญิง ชื่อขึ้นต้น ‘L’ (มาจาก Lady) เรื่องราวเกี่ยวกับความรัก ชู้สาว นอกใจ ในสังคมชั้นสูงที่ทุกสิ่งอย่างดูหรูหรา ฟู่ฟ่า ระยิบระยับงามตา แต่เบื้องลึกภายในจิตใจคน กลับซุกซ่อนเร้นอะไรบางอย่างอยู่เสมอๆ
ส่วนลายเซ็นต์ ‘สไตล์ Ophüls’ มีความโดดเด่นในการใช้ Long Take กล้องขยับเคลื่อนไหวด้วยเครนและดอลลี่ แม้ในฉากที่ดูเหมือนไม่มีความจำเป็น กลับซุกซ่อนเร้น mise-en-scène เพื่อสร้างความน่าตื่นตาตื่นใจ มลื่นไหลต่อเนื่อง และมักวนไปวนมา กลับซ้ายกลับขวา สิ้นสุดหวนกลับสู่เริ่มต้น
บทละครอื้อฉาว Reigen (1897) แต่งโดย Arthur Schnitzler (1862-1931) นักเขียนชาว Austrian เพราะเรื่องราวท้าทายหลักศีลธรรม อุดมคติทางชนชั้นสมัยนั้น ทำให้หลังจากตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี 1903 ยอดขายกว่า 40,000 ก็อปปี้ (เรียกว่าระดับ Best-Selling ได้เลยนะ!) เลยถูกสั่งแบนห้ามจัดจำหน่าย แต่ก็ยังได้รับการแปลภาษาฝรั่งเศสในชื่อ La Ronde เมื่อปี 1912 แล้วถูกสร้างเป็นภาพยนตร์ The Merry-Go-Round (1920) ติดตามด้วยละครเวที รอบปฐมทัศน์ปลายปี 1920
ฉบับภาพยนตร์/ละครเวทีแม้ได้รับความนิยมล้นหลาม แต่ Schnitzler ก็ถูกโจมตีอย่างหนักจากบรรดาผู้คนในสังคม ถึงขนาดตีตรา ‘Jewish Pornographer’ แล้วมีการฟ้องร้องขึ้นโรงขึ้นศาล (มีคำเรียก Reigen Scandal) แม้คำพิพากษาจะเข้าข้าง Schnitzler ให้ไม่ต้องหยุดจัดจำหน่าย แต่เขาก็ไม่ต้องการให้บทละครได้รับการเผยแพร่ไปมากกว่านี้
ถึงอย่างนั้น Schnitzler กลับไม่มีอำนาจถือครองลิขสิทธิ์ฉบับแปลภาษาอื่น นั่นทำให้ Ophüls ผู้มีความลุ่มหลงใหลในเรื่องราวชวนหัว ฉกฉวยโอกาสด้วยการอ้างว่าดัดแปลงจากบทละคร La Ronde (ฉบับภาษาฝรั่งเศส) ร่วมงานกับ Jacques Natanson (1901-75) ที่กลายเป็นเพื่อนสนิทขาประจำ ในช่วงบั้นปลายการทำงานในฝรั่งเศส
ทั้งสิบเรื่องราวของหนังจะประกอบด้วยสองตัวละครชาย-หญิง ซึ่งจะมีความแตกต่างทางชนชั้นวรรณะ (ตัวละครจะใช้คำเรียกแทนวิทยฐานะ) ด้วยกลเกมของกามเทพ ทำให้พวกเขาได้ร่วมรักหลับนอน โดยบุคคลหนึ่งในตอนก่อน จะมีความสัมพันธ์กับอีกบุคคลตอนถัดไป และเริ่มต้น-สิ้นสุด จะหวนกลับมาบรรจบเหมือนงูกินหาง
- The Whore and the Soldier
- The Soldier and the Parlor Maid
- The Parlor Maid and the Young Gentleman
- The Young Gentleman and the Young Wife
- The Young Wife and The Husband
- The Husband and the Little Miss
- The Little Miss and the Poet
- The Poet and the Actress
- The Actress and the Count
- The Count and the Whore
ส่วนเพิ่มเติมของภาพยนตร์ก็คือตัวละคร Master of Ceremonies (รับบทโดย Anton Walbrook) ดูราวกับพระเจ้า (god-like) ที่สามารถปรากฎตัวทุกแห่งหน ปลอมเป็นคนโน่นนี่นั่น เชื่อมโยงความสัมพันธ์เรื่องราวทั้งสิบเข้าด้วยกัน
เนื่องจากหนังเป็นการรวมนักแสดงถึง 10+1 คน (เล่นคนละสองเรื่อง) เลยขอกล่าวถึงเพียงคร่าวๆที่น่าสนใจ
- Léocadie, the Whore (รับบทโดย Simone Signoret) ยามค่ำคืน ยืนรอลูกค้าที่ไม่มาสักที พบเห็นนายทหารคน (The Soilder) หนี่งจึงเข้าไปยั่วเย้า ชักชวน ฟรีก็ได้ เลยไปร่วมรักกันใต้สะพาน
- Franz, the Soldier (รับบทโดย Serge Reggiani) ใช้ช่วงเวลาวันหยุดเพลิดเพลินไปกับงานเลี้ยง เต้นระบำ ลากพาหญิงสาว (The Maid) ร่วมรักยังบริเวณด้านหลังสวน พอเสร็จกามกิจก็หวนกลับมามองหาเป้าหมายถัดไป
- Marie, the Maid (รับบทโดย Simone Simon) หลังทำใจเลิกรากับนายทหาร ได้ทำงานเป็นสาวรับใช้นายน้อย (The Young Gentleman) ด้วยเรือนร่างอันยั่วเย้ายวนใย ทำให้เขามิอาจอดกลั้นความต้องการอีกต่อไป
- Alfred, the Young Gentleman (รับบทโดย Daniel Gélin) แอบลักลอบคบชู้กับหญิงสาวที่แต่งงานแล้ว (The Wife) พยายามทำทุกสิ่งอย่างเพื่อให้ได้ครอบครองรักกับเธอ แต่ดันล่มปากอ่าวเสียอย่างนั้น!
- Emma, the Wife (รับบทโดย Danielle Darrieux) ยามค่ำคืนแยกนอนคนละเตียงกับสามี (The Husband) พวกเขาแต่งงานตามหน้าที่ แล้วพยายามสร้างภาพผู้ดี ให้สังคมนับหน้าถือตา แต่ต่างโหยหาความรัก ใครสักคนสามารถตอบสนองความพีงพอใจอย่างแท้จริง
- Charles, the Husband (รับบทโดย Fernand Gravey) ทุกครั้งเดินทางมา Vienna ต้องนัดพบเจอหญิงสาวหน้าตาบ้านๆ (The Little Miss) ลุ่มหลงใหลในความน่ารัก บริสุทธิ์ไร้เดียงสา พามารับประทานอาหารยังห้อง(อาหาร)ส่วนตัว แถมเช่าห้องพักหรูราคาแพงไว้สำหรับเป็นรังรัก
- Anna, the Little Miss (รับบทโดย Odette Joyeux) วันหนี่งชักชวนนักกวี (The Poet) แอบมายังห้องพักหรู ลุ่มหลงใหลในคารม เต็มไปด้วยความสำบัดสำนวน มารยาร้อยเล่มเกวียน
- Robert, the Poet (รับบทโดย Jean-Louis Barrault) เขียนบทให้นักแสดงสาว (The Actress) เพื่อให้เธอประสบความสำเร็จ ชื่อเสียงโด่งดัง คาดหวังจะได้ครอบครองรัก เป็นของกันและกัน
- Charlotte, the Actress (รับบทโดย Isa Miranda) พยายามอ่อยเหยื่อท่านเคาน์ (The Count) เพราะลุ่มหลงใหลในลาภยศ ชื่อเสียง เครื่องประดับเต็มบ่า คาดหวังว่าจะได้แต่งงานครองคู่ ใช้ชีวิตอย่างเลิศหรูสุขสบาย
- The Count (รับบทโดย Gérard Philipe) ดื่มหนักจนมีนเมามาย โดยไม่รู้ตัว(เหมือนจะ)ร่วมรักกับโสเภณี (The Whore) ตื่นเช้าขี้นมาเลยจดจำอะไรไม่ได้สักอย่าง
สำหรับ MVP ไฮไลท์การแสดงขอยกให้ Danielle Darrieux ในบทบาท Young Wife เพราะแต่งงานตั้งแต่ยังเป็นสาว เลยมีความระริกรี้แรดร่าน โหยหาอิสรภาพ สุขอุราความรักหวานฉ่ำจาก Young Master (แม้เขาจะล่มปากอ่าวก็เถอะ!) ผิดกับเมื่ออยู่บนเตียงกับสามี (Old) Husband ต่างแสร้งว่าเบื่อหน่าย แค่เพียงจะจับมือยังยื้อยักตั้งท่า เล่นลีลาอยู่นมนาน … ตอนเธอพรรณาถีงความรัก (น่าจะครุ่นคิดถีง Young Gentleman ไปด้วย) ใบหน้าช่างอิ่มเอิบ เบิกบานหฤทัยยิ่งนัก!
แถมให้อีกคนคือ Daniel Gélin ในบท Young Gentleman ที่ถือว่าโคตรมีสีสัน เรียกเสียงขบขันมากสุดแล้ว ตั้งแต่ความหื่นกระหายต่อสาวใช้ (The Maid) ดูเหมือนเด็กน้อยเพิ่ง(ไม่)เคยขี้นครู ส่วนความสัมพันธ์กับ Young Wife พยายามสร้างภาพให้ดูดี แสร้งว่าตนเองเป็นผู้ใหญ่ แต่เมื่อขี้นเตียงกลับแห้งเหี่ยวเฉา ล่มปากอ่าว ซะงั้น! (หนังไม่ได้พูดบอกออกมาตรงๆ แต่นำเสนอในเชิงสัญลักษณ์เครื่องเล่นม้าหมุน จู่ๆพังครืน! หยุดทำงาน)
Anton Walbrook ชื่อจริง Adolf Anton Wilhelm Wohlbrück (1896 – 1967) นักแสดงสัญชาติ Austrian เกิดที่กรุง Vienna โตขึ้นได้กลายเป็นลูกศิษย์ของ Max Reinhardt กระทั่งการมาถึงของนาซี ทำให้เขาอพยพสู่สหรัฐอเมริกา ไปๆกลับๆยุโรปช่วงหลังสงครามจบ ผลงานเด่นๆ อาทิ Gaslight (1940), 49th Parallel (1941), The Life and Death of Colonel Blimp (1943), The Red Shoes (1948), La Ronde (1948), Lola Montès (1955) ฯ
รับบท Master of Ceremonies พิธีกรนำเข้าสู่เรื่องราวทั้งสิบ มีลักษณะเหมือนพระเจ้า (God-like) สามารถปรากฎตัวทุกแห่งหน ปลอมเป็นคนโน่นนี่นั่น คอยให้ความช่วยเหลือ/ชี้แนะนำคู่รัก ราวกับกามเทพแผลงศรให้พวกเขาบังเกิดความต้องการ สานสัมพันธ์ ร่วมรักหลับนอน โดยไม่สนถูก-ผิด ศีลธรรม-มโนธรรม ความแตกต่างทางชนชั้น-วรรณะ เพียงแค่สิ่งมีชีวิตชาย-หญิง เติมเต็มตัณหาราคะของกันและกัน
ระหว่างรับชมผมแอบตะหงิดๆ สงสัยว่าทำไมการแสดงของ Walbrook จึงดูสะดีดสะดิ้ง บิดไปบิดมา กระทั่งจับพลัดจับพลูได้ยินเรื่องเล่าจากบทสัมภาษณ์ของเพื่อนนักแสดง Daniel Gélin ยืนยันว่าชายคนนี้เป็นเกย์(ควีน) ปกปิดไว้เพราะยุคสมัยนั้นยังยินยอมรับกันไม่ได้ ซึ่งพี่แกก็แอบเตี้ยมผู้กำกับ Ophüls ว่าถ้าดูไม่แมนก็ให้กระแอ้มเตือน แต่พอถ่ายทำจริงได้ยินเสียงไอแล้วไออีก กลับดันลืมสนิทว่าเคยตกลงอะไรไว้ ผลลัพท์ออกมาก็อย่างพบเห็น ไม่ใช่เก้ง/ชะนีก็สามารถสังเกตออกไม่ยาก
ปล. ผมครุ่นคิดว่าตัวละครนี้ อาจเป็นแรงบันดาลใจละครเวที Cabaret (1966) และภาพยนตร์ Cabaret (1972) ที่ต่างมีตัวละคร Master of Ceremonies รับบทโดยยอดชาย Joel Grey
ถ่ายภาพโดย Christian Matras (1903-77) ตากล้องระดับตำนาน สัญชาติฝรั่งเศส เป็นที่รู้จักตั้งแต่ยุคหนังเงียบ ผลงานเด่นๆ อาทิ La Grande Illusion (1938), The Idiot (1946), และร่วมงานผู้กำกับ Max Ophüls ในสี่ผลงานสุดท้ายที่ฝรั่งเศส La Ronde (1950), Le Plaisir (1952), The Earrings of Madame De… (1953) และ Lola Montès (1955)
เนื่องจากพื้นหลังของหนังคือกรุง Vienna ค.ศ. 1900 ซึ่งไม่หลงเหลือสภาพเดิมหลังพานผ่านสงครามโลกทั้งสองครั้ง ด้วยเหตุนี้งบประมาณเกินครึ่งจึงหมดไปกับการออกแบบ สร้างฉากเมืองขึ้นมายัง Franstudio ตั้งอยู่ Saint-Maurice, Val-de-Marne (ชานเมืองทางตะวันออกเฉียงใต้ของกรุง Paris)
ผู้กำกับ Ophüls เมื่อไม่ถูกควบคุมครอบงำวิสัยทัศน์ จึงสามารถจัดเต็มกับการใช้เครน ดอลลี่ ถ่ายทำโคตร Long Take เอาให้มันหายอยาก สนองความกระสันต์ซ่าน เท่าที่ความยาวฟีล์มม้วนหนึ่ง(สมัยนั้น)จะสามารถบันทึกได้ แค่ฉากแรกก็ล่อไป 5 นาที … เอาที่สบายใจ
หนังเริ่มต้นด้วยการเดินของ Master of Ceremonies จากฟากฝั่งหนึ่ง ไปยังอีกฟากฝั่งหนึ่ง แล้วย้อนกลับมา ซึ่งสะท้อนถึงวิถีชีวิตที่มักเวียนวงกลม วนไปวนมาดั่งวัฏจักร พานผ่านโรงละคอน (แห่งชีวิต) สังเกตว่าพื้นหลังฝั่งขวาจะคือภาพคฤหาสถ์ที่ฉายผ่านเครื่อง Rear Projection ส่วนพื้นหลังฝั่งซ้ายคือเมือง Vienna ที่เป็นโมเดล+ภาพวาดบนพื้นกระจก Matte Painting
ความแตกต่างดังกล่าวสะท้อนถึง ‘มุมมอง’ ของชีวิต ระหว่างความจริง-เพ้อฝัน ความต้องการจากภายใน-สิ่งได้รับจากภายนอก เฉกเช่นเดียวกับเรื่องราวของหนัง ทุกตัวละครต่างมีสองบทบาทที่สามารถเปิดเผยออกมา-จำต้องปกปิดซุกซ่อนเร้น คนสองหน้า นกสองหัว
People never grasp reality in its entirety. Why? Because they see only one aspect of things.
Master of Ceremonies


หลังเกริ่นอารัมบทหน้าเวทีเสร็จสิ้น Master of Ceremonies ก้าวออกเดินมาเรื่อยๆ แล้วถอดเสื้อคลุม สวมสูท ใส่หมวก ถือไม้เท้า ให้ความรู้สึกเหมือนนักมายากล กำลังจะปลอมตัว กลายเป็นตัวละคร นักแสดง เล่นบทบาทแตกต่างกันไป ก็เหมือนมนุษย์ที่ต่างคนต่างมีตัวตน ภาระหน้าที่ วิทยฐานะในสังคมไม่เหมือนกัน แต่สิ่งหนึ่งที่สามารถประสานเชื่อมโยง คือสันชาตญาณพื้นฐาน การสืบเผ่าพงษ์เผ่าพันธุ์
ต้นฉบับบทละคร Reigen ถูกสังคมโจมตีตรา อ้างว่าขัดต่อภาพลักษณ์อันดีงาม มีเพียงความเสื่อมเสีย ไร้จิตสำนึกมโนธรรม แต่แท้จริงนั้นเพราะได้ฉีกกระชากหน้ากาก เปิดเผยสันดานธาตุแท้ของระบอบชนชั้นวรรณะ ต่อให้สร้างภาพเลิศหรู ผู้ดีสักเพียงไหน แต่สันชาตญาณพื้นฐานของมนุษย์/ทุกสิ่งมีชีวิต คือการสืบเผ่าพันธุ์ ชนชั้นสูงย่อมสามารถร่วมรักกับโสเภณี มันผิดอะไรกัน?

Master of Ceremonies ก้าวเดินมาถึงม้าหมุน ซึ่งใช้เป็นสัญลักษณ์วัฏจักรชีวิต (โลกที่หมุนวนไป) ทุกเรื่องราวล้วนดำเนินไปในลักษณะคล้ายๆกัน พบเจอ-ตกหลุมรัก-ร่วมหลับนอน-แล้วแยกจาก เวียนวนอยู่อย่างนั้นไม่รู้จุดจบสิ้น
ผมมองเพิ่มเติมคือ ‘วังวนแห่งรัก’ ใครก็ตามที่ได้ขึ้นบนม้าหมุน ย่อมมีความสนุกหรรษา เพลิดเพลินโอลัลล้า (มองเป็นสัญลักษณ์ของ Sex ก็ได้เช่นกัน) ซ้ำไปซ้ำมาอยู่อย่างนั้นจนกว่าจะรู้สึกเบื่อหน่ายถึงค่อยก้าวหลง หรือหมกมุ่นจนเครื่องพังก็ล่มปากอ่าวได้เช่นกัน


เรื่องราวแรกของหนัง The Whore and the Soldier ถ่ายทำในลักษณะโคตร Long Take อีกเช่นกัน! เดินจากฟากฝั่งหนึ่งไปอีกฟากฝั่งหนึ่ง แล้วหวนกลับมาแล้วก็ย้อนกลับไป เวียนวนอยู่อย่างนั้นสองสามรอบราวกับการละเล่นชักกะเย่อ โสเภณีต้องการใครสักคนเพื่อเติมเต็มราคะส่วนตน ส่วนนายทหารยื้อๆยักๆเพราะเหลือเวลาไม่มากต้องไปรายงานตัว
แม้กล้องจะเคลื่อนดำเนินไปเรื่อยๆ แต่ผู้กำกับ Ophüls ก็นิยมชมชอบใส่ mise-en-scène เพื่อแฝงนัยยะบางอย่าง
- ตำแหน่งแรกที่โสเภณียืนรอเรียกลูกค้า พบเห็นพื้นหลังคือสวนสนุก ชิงช้าสวรรค์ สื่อถึงการพาใครคนนั้นไปถึงจุดสูงสุด ไคลน์แม็กซ์ของ Sex
- ตำแหน่งที่นายทหารหันกลับมา ตอบตกลงถ้าเธอยินยอมให้ฟรี พอดิบพอดีกับต้นดอกหญ้า และเงาต้นไม้ด้านหลังกำลังพริ้วสั่นไหว (=จิตใจที่โอนอ่อน ยินยอมข้อเสนอ)
- วินาทีที่นายทหารตระหนักว่า ห้องพักของโสเภณีนั้นไกลเกินไป เลยหยุดยับยั้งชั่วใจ ในตำแหน่งที่เสาไม้อยู่กึ่งกลางระหว่างพวกเขาพอดิบดี
ฯลฯ



สงสัยเธอจะมีอารมณ์/ความต้องการรุนแรงมากๆ ถึงขนาดลากพานายทหารวิ่งลงบันได มายังบริเวณใต้สะพานลับตาผู้คน แล้วถาโถมพุ่งเข้าใส่ … นี่เป็นการใช้สถานที่เพื่อสื่อถึงกิจกรรมสนองความต้องการทางเพศ เป็นสิ่งที่สังคม(สมัยนั้น)ยินยอมรับไม่ได้ มองเป็นเรื่องต่ำตม จำต้องปกปิด ซุกซ่อนเร้น หลบอยู่ภายใต้ เบื้องล่างของชุมชนเมือง

สำหรับเพศหญิง/โสเภณี เมื่อกระทำเรื่องเสียๆหายๆเกี่ยวกับกิจกรรมทางเพศ มักถูกตีตราจากสังคมว่ามีความต่ำตม ไม่สามารถหวนกลับสู่โลกเบื้องบน ผิดกับบุรุษที่ต่อให้มั่วกาม ทำความชั่วช้าสามาลย์ขนาดไหน กลับยังได้รับโอกาส ให้อภัย สามารถเดินกลับขึ้นบันได ได้รับการยินยอมรับจากสังคม ซะงั้น!
มีเพียงเสียงตะโกนโหวกเหวกของโสเภณี แค่บุหรี่ม้วนเดียวก็ให้ไม่ได้ สะท้อนสันดานธาตุแท้ของชายชาติทหาร อ้างว่างเสียสละปกป้องประเทศชาติ แต่กลับมีเพียงความโคตรเห็นแก่ตัว เอาแต่พวกพ้อง เรียกร้องโน่นนี่นั่น ไม่สนหัวใครอื่นทั้งนั้น

หลายคนอาจไม่ทันสังเกตรูปปั้นนี้ในตอนที่สอง The Soldier and the Parlor Maid มันช่างมีความละม้ายคล้าย Master of Ceremonies ซึ่งเราสามารถมองว่าคืออวตารหนึ่ง (หลายๆรูปปั้นในตอนอื่นๆ ก็สามารถสื่อถึงกามเทพได้เช่นกัน) ที่คอยจับจ้องมองนายทหารกับหญิงสาวใช้ แถมแทรกคั่นระหว่างพวกเขากำลังพรอดรักในสวน (พอทั้งสองได้เก้าอี้นั่ง กำลังพรอดรักกอดจูบ ก็แทรกภาพรูปปั้นนี้ แล้วตัดกลับเมื่อพวกเขาเสร็จกามกิจ)
ความรักระหว่างนายทหารกับหญิงสาวใช้ เปลี่ยนสถานที่จากใต้สะพานมาเป็นในสวนสาธารณะ แม้ยังเป็นสถานที่รกหูรกตา แต่ก็ไม่ได้ต้องปกปิดซุกซ่อนเร้นอย่างมิดชิด (เหมือนกรณีของโสเภณี) สามารถสื่อว่านี่ไม่ใช่ความสัมพันธ์ต้องห้าม แค่ต้องลับหูหาตาจากผู้ชนสักนิดหน่อย

The Parlor Maid and the Young Gentleman เริ่มต้นด้วย Master of Ceremonies พาหญิงสาวใช้เดินขึ้นบันไดวน ซึ่งสามารถสื่อถึงพัฒนาการความสัมพันธ์/ทางชนชั้น ที่ค่อยๆขึ้นสูงขึ้นเรื่อยๆ เพราะบุคคลที่เธอกำลังจะพบเจอ(และร่วมรักนั้น) คือสุภาพบุรุษหนุ่มที่ยังอ่อนวัยไร้เดียงสาต่อโลก (ผิดกับเธอที่พานผ่านผู้ชายมานักต่อนัก)

ในห้องของเจ้านายน้อย จะรายล้อมด้วยเก้าอี้ที่มีลักษณะเหมือนซี่กรงขัง เช่นเดียวกับหน้าต่างลวดลายบานเกร็ด สาดส่องแสง-เงา อาบฉาบพื้นหลัง/ตัวละคร ล้วนสะท้อนถึงพันธนาการทางสังคม ที่พยายามควบคุมครอบงำ ไม่ให้เขาแสดงออก ตอบสนองตัณหา ความต้องการของหัวใจ
ช็อตที่ผมชอบมากๆคือภาพแรกที่นำมา พนักเก้าอี้ถูกจัดวางในตำแหน่งส่วนล่างของร่างกาย หรือคือการที่เขาต้องควบคุมตัณหา อารมณ์ทางเพศ ไม่ให้แสดงออกมากับหญิงสาวใช้ พยายามเรียกร้องขอดื่มน้ำเย็นๆ แต่เพราะอากาศที่อบอ้าว ก็มิอาจทำให้จิตใจอันลุ่มร้อนสลบลงได้
การปิดหน้าต่างก็มีความสองแง่สองง่ามในเชิงสัญลักษณ์ เพราะแดดร้อน/ลมแรง/ฝนตก เพื่อเป็นการพักผ่อนคลายให้สงบร่มเย็น ขณะเดียวกันในบริบทของหนังนั้นกลับตารปัตร เพราะเป็นการระบายความลุ่มร้อนจากทรงอก เจ้านายน้อยได้มีโอกาสร่วมรัก/เพศสัมพันธ์กับหญิงสาวใช้



The Young Gentleman and the Young Wife คือเรื่องราวของการลักลอบคบชู้ ของหนุ่ม-สาว(วัยเยาว์)ที่ต่างมีความรักต่อกัน แต่ด้วยพันธนาการสังคม เพราะฝ่ายหญิงแต่งงานมีสามีอยู่แล้ว จึงมีสภาพไม่ต่างจากนกในกรง ทั้งเงา และเสื้อผ้าหน้าผม (ดูเหมือนนกอะไรสักอย่าง) นั่นรวมไปถึงช็อตอื่นๆด้วยที่พยายามพันธนาการ ซุกซ่อนเร้น จำต้องปกปิดความต้องการของหัวใจ


แทนที่หลังเสร็จกามกิจ เจ้านายน้อยจะมีความกระหยิ่มยิ้มภาคภูมิใจ แต่กลับนำเสนอภาพช็อตนี้ที่บรรยากาศดูเศร้าๆ เซ็งๆ แถมมีการแทรกภาพเครื่องเล่นม้าหมุนเสียกลางคัน และเนื้อหาการสนทนาบ่งชี้ชัดไปในทิศทางเดียวว่า เป็นการล่มปากอ่าว … เหตุผลก็เพราะเขาสูญเสียน้ำไปให้หญิงสาวใช้จนเกลี้ยงหมดตัวตั้งแต่หัววัน

แม้ว่าเพศสัมพันธ์ระหว่าง The Young Gentleman and the Young Wife จะไม่ประสบความสำเร็จ ล่มปากอ่าว แต่หลังจากพูดคุย เรียนรู้จักความหมายของคำว่ารัก ที่ไม่จำเป็นต้องร่วมรัก แค่อาศัยอยู่ร่วมกัน สามวันสามคืน (หรือหกวันหกคืน) ก็เพียงพอแล้วละ ซึ่งหลังจากทั้งสองร่ำลาจาก ก็มีแทรกภาพพวกเขากำลังเริงระบำอยู่เคียงข้างเครื่องเล่นม้าหมุน นี่น่าจะคือจินตนาการหรืออีกโลกคู่ขนานที่ Master of Ceremonies ต้องการมอบให้ความรักแท้บริสุทธิ์ ไม่มีสิ่งอื่นใดเจือปน

เรื่องราวน่าเบื่อหน่ายที่สุดของหนัง แต่ก็โคตรจริงที่สุดเช่นเดียวกัน นั่นคือ The Young Wife and The Husband ดำเนินเรื่องในห้องนอนที่ทุกอย่างล้วนแบ่งแยกเป็นสอง (เรื่องราวตอนนี้ก็อยู่กึ่งกลางของหนังพอดิบดี) เพียงการพูดคุยสนทนา แสดงความคิดเห็นส่วนตัว (ที่เต็มไปด้วยคำโป้ปด หลอกลวง สร้างภาพ) ปฏิเสธรับฟังทัศนะอีกฝั่งฝ่าย นั่นแสดงว่าความสัมพันธ์ การแต่งงานของพวกเขานั้น ล้วนไม่อะไรเป็นจริงเลยสักอย่าง!

เรื่องราวของ The Husband and the Little Miss นำเสนอในห้องอาหารส่วนตัว โดยใช้คอร์ส(อาหาร)แทนความสัมพันธ์ ระยะชิดใกล้ของทั้งสอง ประกอบด้วย
- Hors d’oeuvre (ออเดิร์ฟ) นั่งอยู่คนละฟากฝั่งโต๊ะ จับจ้องมองอย่างลุ่มหลงใหล
- Entrée (อาหารเรียกน้ำย่อย, แต่เฉพาะสหรัฐอเมริกาจะถือเป็นอาหารจานหลัก) นั่งอยู่เคียงข้าง คอยพร่ำพรอดรัก และเมื่อสบโอกาส
- Desserts (ของหวาน) อาจจะหลังเสร็จกามกิจ ย้ายไปนั่งโซฟาด้านหลังเพื่อผ่อนคลาย หญิงสาวก็เมามายอิ่มสบาย
- หลังจ่ายเงิน The Husband ก็อาสาเป็นป๋าเลี้ยง บอกจากเช่าอพาร์ทเม้นท์ให้เป็นรังรักของเราสอง
การเปรียบเทียบกิ๊กสาวกับคอร์สอาหาร สะท้อนมุมมองของคนชนชั้นสูง เห็นพวกเธอเป็นเพียงมื้ออาหาร รับประทานเป็นเวลา พออิ่มหนำก็จากลา ไม่ได้ครุ่นคิดเอาจริงจังไปมากกว่านั้น



The Little Miss and the Poet ดำเนินเรื่องในอพาร์ทเม้นท์ (ที่ The Husband เช่าเป็นรังรัก) ที่มีความหรูหรา ประดับประดาด้วยสิ่งข้าวของราคาแพง แบ่งแยกชั้นบน-ล่าง ซึ่งหลังจากกิ๊กสาวพานักกวีมาถึงห้อง เธอนั่งลงบนพื้น(ชั้นล่าง) ส่วนเขาเดินไปเดินมา ขึ้นบันไดชั้นสอง พบเห็นมุมมองที่มีความแตกต่าง มิอาจเอื้อมกันและกัน
ความสัมพันธ์ของทั้งสองราวกับแฟนตาซี ชวนเพ้อฝัน แต่เรื่องราวของนักกวีนั้นต้องมีจุดเริ่มต้น-สิ้นสุด พบเจอ-พลัดพรากจาก มันจึงไม่ยั่งยืนยาว แค่สนองอารมณ์ ไม่นานก็หลงลืมกันและกัน

ผมค่อนข้างชื่นชอบ ‘มุมมอง’ ของนักกวีที่ถ่ายลงมาจากชั้นบน พบเห็นกิ๊กสาวอยู่ตำแหน่งกึ่งกลางระหว่างโคมระย้า สะท้อนถึงภาพที่เขาครุ่นคิดจินตนาการ แล้วพรรณาออกมาเป็นบทกวี ละครเวที ภาพยนตร์ มีความระยิบระยับ งดงามตา สามารถจับจิตจับใจผู้อ่าน และผู้รับชม

ในมุมของนักกวี เขียนบทละครเวทีให้นักแสดง เพื่อเธอจะได้เฉิดฉาย เจิดจรัส งดงามดั่งดาวดาราบนฟากฟ้า แต่ในมุมมองของนักแสดง ความรู้สึกต่อนักกวี เป็นเพียงบันไดไต่เต้าสู่เป้าหมาย เพื่อไขว่คว้าความต้องการที่แท้จริง
ทั้งสองช็อตที่ผมนำมานี้่ต่างเป็นภาพสะท้อนกระจก ตัวตนแท้จริงของนักแสดง
- ภาพแรกนักแสดงกำลังชะล้างเครื่องสำอางค์บนใบหน้า (กระชากหน้ากาก เปิดเผยธาตุแท้ตัวตน) พบเห็นนักกวียืนอยู่ด้านหลัง (บุคคลผู้ส่งเสริมสนับสนุน ผลักดันอยู่อยู่เบื้องหลัง)
- ภาพหลังนักกวีนั่งลงตรงบันได (เปรียบตรงๆถึงเขาเป็นได้เพียงบันไดให้เธอไต่เต้าสู่ความสำเร็จ) ส่วนตำแหน่งของนักแสดง จะบดบังภาพสะท้อนในกระจกด้านหลังพอดิบพอดี (นั่นหมายถึงภายนอก=ภายใน ต่างสวมบทบาท ปั้นแต่ง/เล่นละคอนทุกสิ่งอย่าง)


ความทะเยอทะยาน/เป้าหมายแท้จริงของนักแสดงหญิง คือการได้ครอบครอง แต่งงานกับท่านเคานท์ ผู้มียศฐาบรรดาศักดิ์ วงศ์ตระกูล ชนชั้นสูงในสังคม เพราะจะทำให้ได้รับความนับหน้าถือตา สามารถยกระดับตนเอง ซึ่งเธอพยายามใช้เล่ห์มารยา หยอกยั่วเย้า เรียกเข้ามาใกล้ชิดทีละลำดับ อ่อยเหยื่อให้มาติดกับสุดๆ (ซึ่งท่านเคานท์ ก็จะค่อยๆปลดเปลื้องเสื้อผ้าออกทีละอย่างสองอย่าง)


สำหรับนายทหาร บุคคลผู้มีฐานะ ยศศักดิ์ มักจะมีดาบประจำตัว ซึ่งสามารถใช้เป็นสัญลักษณ์แทนอวัยวะเพศชาย เพราะหนังไม่สามารถนำเสนอฉากร่วมรักใดๆ การที่นักแสดงหญิงเรียกร้องขอดาบจากท่านเคานท์ มันก็สื่อถึง Sex/Oral Sex ได้อย่างตรงไปตรงมาที่สุดแล้ว … ดูสีหน้าพี่แกสิ หื่นกระหาย พึงพอใจขนาดไหน

ท่านเคานท์จากตอน The Actress and the Count และ The Count and the Whore ต่างประสบโชคชะตาเดียวกัน คือเกิดอาการมึนเมาขาดสติสัมปชัญญะ ไม่รับรู้ตนเองว่าได้พลั้งเผลอกระทำอะไร เพียงมุมกล้องถ่ายจากด้านบนเพดาน ทั้งๆเจ้าตัวถือมีวิทยฐานะสูงสุด แต่กลับทำให้ตนเองให้นอนกลิ้งเกลือกอยู่บนพื้น
นี่เป็นมุมกล้องที่ผมรู้สึกเหมือนการดูถูก เหยียดหยาม ท่านเคานท์เป็นชนชั้นสูง ควรจะยึดถือมั่นในเกียรติภูมิของตนเอง แต่กลับปล่อยตัวปล่อยใจ มึนเมามายไปกับสุรานารี ตื่นขึ้นมาอีกทีต่างพยายามหลบหนีออกจากที่เกิดเหตุโดยเร็วไว


ท่านเคานท์กับสุนัขรับใช้ ผมรู้สึกว่าเป็นการนำเสนอในเชิงสัญลักษณ์ เปรียบข้าราชบริพาร/สามัญชนดั่งสุนัขรับใช้ ที่ต้องได้รับการชักจูงจมูก คอยติดตาม ปฏิบัติตามคำสั่ง ไม่มีสิทธิ์พูดออกเสียง แค่ทำหน้าที่เคยฝึกมาเท่านั้น!

ห้องพักใต้หลังคาของโสเภณี มีความคับแคบ เพดานลาดชัน ทำให้บดบังเสี้ยวส่วนศีรษะของท่านเคานท์ นี่น่าจะสื่อถึงความทรงจำที่หลงลืมเลือน (เพราะดื่มเหล้าจนมึนเมามาย) ไม่สามารถหวนระลึกเหตุการณ์บังเกิดขึ้นเมื่อช่วงข้ามคืน (มันเหมือนว่าท่านเคานท์จะล่มปากอ่าว แบบเดียวกับเจ้านายน้อยกลางเรื่อง)
ผมรู้สึกว่าน่าจะเป็นความจงใจ ให้แสงไฟสะท้อนเลนส์/แว่นตาที่ท่านเคานท์สวมใส่ เพื่อสะท้อนเหตุผลที่เขาจุมพิต(ดาวตา)ของโสเภณี นั่นคือสิ่งที่เขารู้สึกงดงาม น่าจดจำ เป็นค่าตอบแทนอะไรไม่รู้ที่บังเกิดขึ้นเมื่อเมื่อช่วงข้ามคืน

เมื่อเรื่องราวทั้งสิบครบถ้วนจบลง ท่านเคานท์ก็เดินผ่าน Master of Ceremonies ถอดเสื้อคลุมแขวนที่เก่า เตรียมตัวจะร่ำลาจากไป และช็อตสุดท้าย Fin (The End) แช่ภาพเครื่องเล่นม้าหมุน หรือคือวัฎจักรชีวิตที่ยังคงดำเนินต่อไม่มีวันจบสิ้น

ตัดต่อโดย Léonide Azar (1900-) เกิดที่ St. Petersburg แต่มาทำงานยังฝรั่งเศส ผลงานเด่นๆอาทิ The Idiot (1946), La Ronde (1950), Le Plaisir (1952), Love in the Afternoon (1957), Elevator to the Gallows (1958), The Lovers (1958) ฯ
เรื่องราวของหนังมีจุดศูนย์กลางคือกรุง Vienna ค.ศ. 1900 โดยมี Master of Ceremonies พิธีกรพูดเกริ่นนำเข้าสู่/แทรกคั่นเรื่องราวความรักทั้งสิบ ที่ต่างคนต่างมีสองความสัมพันธ์ (เปิดเผย-ซุกซ่อนเร้น) ดำเนินเรื่องในลักษณะส่งต่อกันเหมือนไม้ผลัด ก่อนเวียนวนกลับสู่จุดเริ่มต้นกลายเป็นวัฏจักร
- อารัมบทของ Master of Ceremonies
- The Whore and the Soldier
- นำเสนอราคาของเพศสัมพันธ์ แต่ถ้ามีความพึงพอใจ เงี่ยนสุดๆ ให้ฟรีก็ย่อมได้
- The Soldier and the Parlor Maid
- น่าจะเรียกว่า ONS (One Night Stand) ความสัมพันธ์เพียงชั่วข้ามคืน น้ำแตกก็แยกทาง
- หรือจะมองว่าคือรักข้างเดียวของ The Maid
- The Parlor Maid and the Young Gentleman
- ผมขอเรียกว่าการขึ้นครู (First Time) ก็แล้วกันนะ
- ส่วนสาวใช้ก็ทำตามหน้าที่ได้รับมอบหมาย
- The Young Gentleman and the Young Wife
- คงจะรักครั้งแรก (First Love) ของ Young Gentleman
- และการนอกใจสามี (ของ Young Wife)
- The Young Wife and The Husband
- การแต่งงาน ความสัมพันธ์ฉันท์สามี-ภรรยา
- เหมือนจะสื่อว่าความรัก, เพศสัมพันธ์ และการแต่งงาน มันคนละเรื่องเดียวกัน!
- The Husband and the Little Miss
- ความสัมพันธ์แบบผู้ดูแล เสี่ย/ป๋า ซุกกิ๊ก เลี้ยงดูแลเด็กในสังกัด
- ซึ่งเป็นการนอกใจภรรยา Young Wife
- The Little Miss and the Poet
- The Little Miss คือความลุ่มหลงใหลในโลกมายา ลีลา/พรอดคำหวานของ The Poet
- สำหรับ The Poet สนเพียงมองหาแรงบันดาลใจเพื่อสรรค์สร้างเรื่องราว มุมมองความรักของเขามีจุดเริ่มต้น-สุดท้าย เมื่อตกหลุมรัก-ต้องเลิกราจาก
- The Poet and the Actress
- The Poet สรรค์สร้างบทบาทเพื่อส่งให้ The Actrees ได้เจิดจรัสประดับฟากฟ้า น่าจะเรียกว่า FWB (Friend with Benefit)
- ตรงกันข้ามกับ The Actress ครองรักกับ The Poet เพราะสามารถส่งเธอให้กลายเป็นดาวดารา
- The Actress and the Count
- การแสดงในชีวิตจริงของ The Actress ต้องการไต่เต้า ไขว่คว้า ครองคู่กับผู้มียศฐาบรรดาศักดิ์สูงส่ง (the Count)
- ส่วน The Count คือความหลงใหลในการแสดง โลกมายา สิ่งที่ The Actress แสดงออกมา
- The Count and the Whore
- นี่ก็ ONS แต่ในลักษณะเมาไม่รู้เรื่อง ได้หมดถ้าสดชื่น
- ปัจฉิมบทของ Master of Ceremonies
ทุกการเปลี่ยนผ่านเรื่องราว จะต้องมี Master of Ceremonies ปรากฎตัวในรูปแบบหนึ่งใด อย่างน้อยที่สุดก็คือเสียงพูดชื่อตอน/ความสัมพันธ์ตัวละครที่กำลังจะได้รับชม และหลายๆครั้งมักแทรกคั่น ขัดจังหวะกำลังเข้าได้เข้าเข็ม อาทิ
- The Whore and the Soldier เป่าทรัมเป็ตเรียกรวมพล ขัดจังหวะขณะกำลังร่วมรักพอดิบดี
- The Young Gentleman and the Young Wife ม้าหมุนเสียกลางคัน = ล่มปากอ่าว
- The Actress and the Count มาเป็นนักตัดต่อฟีล์ม = เซนเซอร์เหตุการณ์บังเกิดขึ้น
ฯลฯ
เพลงประกอบโดย Oscar Straus (1870-1954) คีตกวีสัญชาติ Viennese (ไม่ได้มีความสัมพันธ์ใดๆกับครอบครัว Strauss) ร่ำเรียนดนตรีกับ Max Bruch ที่กรุง Berlin มีชื่อเสียงจากผลงาน Operettas, Cabaret Song, Chamber Music และประกอบภาพยนตร์ อาทิ The Smiling Lieutenant (1931), Sarajevo (1940),
La Ronde (1950) ฯ
La Ronde (1950) ไม่ได้มีจุดเด่นในเนื้อเรื่องราว หรือการนำเสนอปฏิกิริยาอารมณ์ตัวละคร แต่คือโครงสร้างที่ร้อยเรียงหลากหลายความสัมพันธ์ งานเพลงจึงต้องมีหน้าที่ในการประสาน เชื่อมโยงแต่ละเหตุการณ์ถึงกัน ด้วยเหตุนี้(แทบ)ทั้งหมดจึงใช้ดนตรีจังหวะ Waltz เพราะท่วงทำนองลื่นไหล ฟังแล้วรู้สึกเคลิบเคลิ้ม เหมือนกำลังล่องลอยไป ซึ่งยังสามารถมอบสัมผัสถึงชีวิต ไม่สามารถหยุดอยู่นิ่ง อาศัยอยู่ตัวคนเดียว จำต้องหาใครสักคนเคียงข้าง เพื่อเติมเต็มความเวิ้งว่างเปล่าของร่างกาย-จิตใจ
เกร็ด: ลักษณะเด่นของ Waltz คือมี 3 จังหวะใน 1 ห้องเพลง (¾, triple meter) ซึ่งจะได้ยินเสียงเคาะจังหวะ พั่ม-แท๊ก-แท๊ก (mm-BAP-BAP) ซึ่งจะมีความเร็ว-ช้า ต่อเนื่องตั้งแต่ต้นจนจบ
เกร็ด2: ส่วนการเต้น Waltz ถือกำเนิดราวทศวรรษ 1750s ในแว่นแคว้น Bavaria, German Empire โดยพัฒนามาจากลีลาศหมุนตัว ระหว่างชาย-หญิง คู่เต้นจะต้องเกาะแขนกันและสืบเท้าไปด้านข้างพร้อมกับหมุนตัวอย่างรวดเร็ว
ปฏิสัมพันธ์ระหว่างสิ่งมีชีวิต สามารถบังเกิดขึ้นโดยไม่มีการแบ่งแยกอายุ วิทยฐานะ เชื้อชาติพันธุ์ หรือแม้แต่เพศสภาพ(ในปัจจุบัน) เพียงคนสองมองหน้าถูกชะตา ต้องการเติมเต็มความต้องการของกันและกัน ซึ่งมันก็มีหลากหลายรูปแบบ ค่ำคืนแรก (First Sex) ค่ำคืนเดียว (One Night Stand) เพื่อนผลประโยชน์ (Friend with Benefit) โสเภณี (Prostitute) ครองคู่แต่งงาน (Married) ฯลฯ
La Ronde (1950) ภาพยนตร์ที่รวมรวบเรื่องราวระหว่างชาย-หญิง พบเจอถูกชะตาแล้วถาโถมเข้าใส่ จะสามารถบังเกิดปฏิสัมพันธ์ใดๆกับพวกเขาได้บ้าง โดยจุดประสงค์เพื่อชี้ให้เห็นถึง Sex เป็นสิ่งสากล คือธรรมชาติของชีวิต ไม่ว่าคนประเภทไหน ชนชั้นอะไร อายุเท่าไหร่ ย่อมต้องมีกิเลสตัณหา มักมากในกามคุณ โหยหาบางสิ่งเพื่อเติมเต็มสี่ห้องหัวใจ
การที่คนสมัยก่อนไม่สามารถยินยอมรับบทละคร/ภาพยนตร์เรื่องนี้ เพราะมองว่ามีความหมิ่นเหม่ ล่อแหลม ทำลายศีลธรรม/มโนธรรมของสังคมยึดถือปฏิบัติ มิอาจยินยอมรับความสัมพันธ์ระหว่างท่านเคานท์กับโสเภณี หรือสามี-ภรรยา ต่างแอบคบชู้นอกใจ ไม่มีใครสามารถเป็นแบบอย่างที่ดี เอาแต่ทำตัวให้ป่นปี้ น่ารังเกียจ รับไม่ได้!
กาลเวลาน่าจะทำให้ผู้ชมสามารถยินยอมรับเรื่องราวของหนัง เพราะมันกลายเป็นความปกติ พบเห็นได้ทั่วไป ใครไม่คบชู้ นอกใจแฟน เลี้ยงกิ๊ก เลี้ยงเด็ก นั่นสิแปลก! ถูกจับได้ค่อยเลิกราหย่าร้าง ศีลธรรม/มโนธรรมไม่ได้มีมูลค่าสักเท่าไหร่ในปัจจุบัน แต่แปลกที่คนพวกนี้กลับยังแอบอ้าง ยึดถือมั่นในผัวเดียวเมียเดียวว่าคือสิ่งถูกต้องเหมาะสม
ผู้กำกับ Ophüls ในชีวิตแต่งงานเพียงครั้งเดียว อาศัยอยู่ร่วมกับภรรยาตราบจนวันตาย น่าสนใจทีเดียวว่าความชื่นชอบสรรค์สร้างภาพยนตร์ที่ท้าทายขนบประเพณี วิถีความเชื่อ ระบอบชนชั้นทางสังคม มาจากประสบการณ์ส่วนตน หรือต้องการให้เป็นบทเรียนสอนการใช้ชีวิตต่อผู้คน
For me, life is movement
Max Ophüls
แต่ไม่ว่า Ophüls จะซุกซ่อนเร้นอะไรไว้หรือไม่ สิ่งหนึ่งที่เขามีความเชื่อ เป็นอุดมการณ์สำหรับสรรค์สร้างภาพยนตร์ ‘ชีวิตคือการเคลื่อนไหว’ ก้าวเดินไปข้างหน้า-ถอยหลัง เลี้ยวซ้าย-เลี้ยวขวา แต่ไม่ว่าจะออกเดินทางไกลขนาดไหน ท้ายที่สุดแล้วก็ต้องหวนกลับสู่จุดเริ่มต้น เวียนวนดั่งวัฎจักร ‘Circle of Life’
ภรรยาตกหลุมรักเจ้านายน้อย ขณะเดียวกันสามีก็แอบเลี้ยงกิ๊กสาว นี่เรียกว่ากงเกวียนกรรมเกวียน ต่างคนต่างลักลอบคบชู้นอกใจ ใครทำอะไรไว้ย่อมได้ผลลัพท์นั้นคืนตอบสนอง เมื่อทั้งสองร่วมหลับนอนอยู่ในห้อง นั่นเป็นเพียงการสร้างภาพ ผลประโยชน์ทางธุรกิจบางอย่าง แต่ความสัมพันธ์ที่เลือนลาง ความรักที่จืดจาง เห็นแล้วช่างน่าเศร้าสลด (และสมน้ำหน้า)
จะว่าไปสองมุมมองความรักของแต่ละตัวละคร ยังสะท้อนถึงความเหงาหงอยเศร้าซึม อ้างว้างเดียวดาย ชีวิตเสี้ยวส่วนหนึ่งไม่สามารถเติมเต็มอีกฟากฝั่งที่ขาดหาย สามี-ภรรยาแต่งงานอาศัยอยู่ร่วมกัน แต่กลับยังหาเวลาคบชู้นอกใจ หรืออย่างโสเภณีหาเงินไม่ได้ แต่ถ้าอีกฝ่ายสามารถตอบสนองความต้องการ ค่ำคืนนี้ก็เพียงพอแล้วละ!
ฉายรอบปฐมทัศน์ยังเทศกาลหนังเมือง Venice ได้เสียงตอบรับดีล้นหลาม คว้ามาสองรางวัล Best Screenplay และ Best Production Design ทำให้ยอดจำหน่ายตั๋วในฝรั่งเศสสูงถึง 1.5 ล้านใบ ก็น่าจะประสบความสำเร็จพอสมควรเลยละ
นอกจากนี้หนังยังได้เข้าชิง Oscar และ BAFTA Award หลังเข้าฉายปีถัดมา 1951
- Academy Award
- Best Writing, Screenplay,
- Best Art Direction-Set Decoration, Black-and-White
- BAFTA Award
- Best Film from any Source *** คว้ารางวัล
ปัจจุบัน La Ronde (1950) เหมือนจะได้รับการบูรณะ (Digital Restoration) เท่าที่ผมหาพบเจอมีอยู่สองฉบับคือ Criterion Collection และ Bluebell Films ซึ่ง Blu-Ray ของรายหลังมีคุณภาพดีกว่าพอสมควร โดยเฉพาะเสียง Dolby Digital 2.0 แต่ของแถม Special Feature ต้องยอมให้ Criterion
La Ronde เป็นภาพยนตร์ที่ถ้าผมได้รับชมหลายๆรอบ น่าจะมีความชื่นชอบเพิ่มขึ้นตามกาลเวลา เพราะเต็มไปด้วยลูกเล่นลีลา รายละเอียดมากมาย มีอะไรให้ครุ่นคิดเยอะแยะเต็มไปหมด ไม่สามารถเก็บครบได้ในคราเดียว แต่ก็เอาเท่านี้ก่อนนะครับ แค่เพียงพอให้ตระหนักถึงยอดเยี่ยมยิ่งใหญ่ งดงามระดับวิจิตรศิลป์
ในบรรดาผลงานของ Max Ophüls ส่วนตัวยังคงหลงใหลคลั่งไคล้ The Earrings of Madame de… (1953) แต่ถ้าวัดกันด้วยโครงสร้างและเทคนิค La Ronde (1950) น่าจะมีความล้ำลึกกว่า … ผมขอเปรียบ Madame de… เทียบเท่า Seven Samurai (1954) ส่วน La Ronde คือ Rashômon (1950) พอมองเห็นภาพกันไหมเอ่ย?
แม้เรื่องราวของหนังจะเป็นแนวรักโรแมนติก แต่โครงสร้างดำเนินเรื่องมีลักษณะเหมือน ‘Anthology film’ เชื่อมความสัมพันธ์ด้วยตัวละคร (ส่งไม้ผลัด) ด้วยเหตุนี้ผมจึงขอแนะนำเฉพาะนักเลง/นักเรียนภาพยนตร์ ช่างภาพ นักตัดต่อ นักออกแบบฉาก แฟชั่นดีไซเนอร์ รวมถึงผู้คลั่งไคล้นักแสดงดัง คาคั่งด้วยโคตรนักแสดงระดับตำนาน อาทิ Simone Signoret, Danielle Darrieux, Daniel Gélin, Gérard Philipe ฯลฯ
จัดเรต 13+ กับความอลเวงแห่งรัก สองจิตสองใจ สองแง่สองง่าม
Leave a Reply