La Vérité (1960) : Henri-Georges Clouzot ♥♥♥♥
Brigitte Bardot -น่าจะเป็นการแสดงยอดเยี่ยมที่สุดในชีวิต- ได้ทำการเข่นฆาตกรรมแฟนหนุ่ม ถูกจับกุมขึ้นศาลเพื่อค้นหาสาเหตุแรงจูงใจสำหรับตัดสินโทษ แต่ลูกขุนทั้งคณะล้วนคือเพศชาย แถมทนายฝ่ายตรงข้ามก็คอยแต่พูดจาดูถูกถากถาง นี่นะหรือกระบวนการยุติธรรมที่น่านับถือ!
ความจริงเป็นสิ่งไม่ตาย แต่ศาลหาใช่สถานที่ตัดสินความจริงเสียเมื่อไหร่! ทนายความคือผู้นำเสนอมุมมองทัศนคติสุดโต่งซ้าย-ขวา เข้าข้าง-เห็นต่าง ช่วยเหลือ-กีดกัน ก็อยู่ที่ว่าผู้พิพากษาและคณะลูกขุนจะ ‘เชื่อ’ คำกล่าวอ้าง หลักฐาน พยาน จากฝั่งไหนมากน้อยกว่ากัน
La Vérité คือภาพยนตร์ที่สะท้อนความอึดอัดอั้น ทุกข์ทรมานใจของผู้กำกับ Henri-Georges Clouzot ต่อกระบวนการยุติธรรมฝรั่งเศส นับตั้งแต่ที่เขาได้ขึ้นศาลเพราะเคยสร้างภาพยนตร์สังกัด Continental Films (สตูดิโอหนังของ Nazi, Germany) ถูกมองว่าเป็นคนทรยศ ขายชาติ และเคยได้รับโทษตัดสิน ห้ามยุ่งเกี่ยวสร้างภาพยนตร์ตลอดชีวิต!
Henri-Georges Clouzot (1907 – 1977) ผู้กำกับสร้างภาพยนตร์สัญชาติฝรั่งเศส เกิดที่ Niort โตขึ้นตั้งใจว่าจะเป็นทหารเรือ แต่ติดที่เป็นคนสายตาสั้นไม่ผ่านการคัดเลือก ตอนอายุ 18 เดินทางไป Paris เพื่อเรียนรัฐศาสตร์ ระหว่างนั้นได้ทำงานเป็นบรรณาธิการนิตยสาร ด้วยความสามารถด้านการเขียนทำให้กลายเป็นนักแปลภาษา นักเขียนบทละคร/ภาพยนตร์ จนกระทั่งได้รับชมหนังของ F. W. Murnau และ Fritz Lang เกิดความชื่นชอบหลงใหลในสไตล์ Expressionist จึงตัดสินใจสร้างหนังสั้นเรื่องแรก La Terreur des Batignolles (1931) ความยาว 15 นาที ใช้นักแสดงเพียง 3 คน ได้รับคำชมอย่างล้นหลาม
เมื่อปี 1935, Clouzot ตรวจพบว่าเป็นวัณโรค ต้องนอนพักรักษาตัวอยู่บนเตียงในโรงพยาบาล เป็นเวลากว่า 5 ปี ถือได้ว่านี่คือช่วงเวลาที่มีอิทธิพลต่อตัวเขาเป็นอย่างมาก เรียนรู้เข้าใจความอ่อนแอเปราะบางของร่างกายมนุษย์ และใช้เวลาค่อยๆพัฒนาขัดเกลาบทภาพยนตร์ของตนเองให้มีความกลมกล่อมลงตัวมากขึ้น, หลังออกจากโรงพยาบาล ตรงกับช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 พอดี ถือเป็นช่วงเวลาแห่งความยากลำบาก เพราะโปรดิวเซอร์ชาวฝรั่งเศสทั้งหลายต่างต้องหลบลี้หนีภัยออกจากประเทศ ยินยอมก้มหัวเพื่อเอาตัวรอด จากเขียนบทไต่เต้าขึ้นมากำกับ The Murderer Lives at Number 21 (1942) ตามมาด้วย Le Corbeau (1943)
หลังสงครามโลกครั้งที่สอง Clouzot ถูกจับกุมตัวขึ้นศาลข้อหาสนับสนุนส่งเสริม สร้างภาพยนตร์ชวนเชื่อให้นาซี แม้โดนตัดสินโทษห้ามยุ่งเกี่ยวสร้างภาพยนตร์ตลอดชีวิต แต่ก็ได้เพื่อนๆศิลปิน/ผู้กำกับมากมาย Jean Cocteau, René Clair, Marcel Carné, Jean-Paul Sartre ฯ ต่างโวยวายออกมาร้องเรียกความยุติธรรม รับไม่ได้ต่อการตัดสินเว่อเกินจริงของศาล ภายหลังลดโทษลงเหลือเพียงระยะเวลาสองปี พ้นออกมากลายเป็นตำนานกับ Quai des Orfèvres (1947), Manon (1949), The Wages of Fear (1953), Les Diaboliques (1955) ฯ
โดยปกติแล้วภาพยนตร์ของ Clouzot มักเลือกดัดแปลงจากนวนิยาย แต่สำหรับ La Vérité (1960) ครั้งแรกครั้งเดียวคือ Original Screenplay ร่วมงานกับเพื่อนสนิทขาประจำ Jérôme Géronimi และใช้บริการทีมนักเขียนหญิง ประกอบด้วย
– Véra Clouzot ภรรยาผู้กำกับ ซึ่งได้ร่วมแสดงเป็นผู้ช่วยทนายความ
– Michèle Perrein นักข่าว/นักเขียน เคยตีพิมพ์บทความลงนิตยสาร Elle, Paris Match
– Christiane Rochefort นักเขียนนวนิยายแนว Feminisit
– Simone Drieu
เรื่องราวของ Dominique Marceau (รับบทโดย Brigitte Bardot) แม้ยินยอมรับผิดข้อหาเข่นฆาตกรรมแฟนหนุ่ม Gilbert Tellier (รับบทโดย Sami Frey) แต่ยังต้องขึ้นศาลไต่สวนเพื่อค้นหาข้อเท็จจริง เบื้องหลังแรงจูงใจ เพื่อจะได้ข้อสรุปบทลงโทษทัณฑ์ นั่นทำให้ระหว่างดำเนินคคี เธอจำต้องหวนระลึกถึงอดีต ความทรงจำที่อยากลบลืมเลือนกลับตามมาหลอกหลอนอีกครั้ง
Brigitte Anne-Marie Bardot (เกิดปี 1934) นักร้อง/นักแสดง ‘Sex Symbols’ สัญชาติฝรั่งเศส เกิดที่ปารีส ในครอบครัวชนชั้นกลาง เคร่งครัด Roman Catholic วัยเด็กชื่นชอบการเต้นบัลเล่ต์ เข้าเรียน Conservatoire de Paris สนิทสนมเพื่อนร่วมชั้น Leslie Caron ต่อมากลายเป็นนางแบบ โมเดลลิ่ง ขึ้นปกนิตยสาร Jardin des Modes, Elle เข้าตาผู้กำกับ Roger Vadim ทดสอบหน้ากล้อง Les lauriers sont coupés แม้โปรเจคถูกล้มเลิกแต่ทำให้เธอใคร่สนใจงานด้านการแสดง ภาพยนตร์เรื่องแรก Le Trou Normand (1952), เริ่มมีชื่อเสียง Naughty Girl (1956), Plucking the Daisy (1956), โด่งดังทั่วโลก And God Created Woman (1956), ผลงานเด่นอื่นๆ อาทิ The Truth (1960), Le Mépris (1963), Viva Maria! (1965) ฯ
รับบท Dominique Marceau หญิงสาวหัวขบถ ครุ่นคิดทำอะไรตามใจ ไม่ชอบให้ใครกดขี่บีบบังคับตนเอง! เช่นเดียวกับเรื่องของความรัก แรกเริ่มมิได้ชื่นชอบพอ Gilbert Tellier แต่ถูกการตามตื้อเรื่อยๆถึงจุดหนึ่งจึงจนค่อยๆใจอ่อน พร้อมเสียสละทุกสิ่งอย่างให้ แต่เขากลับเห็นเธอเป็นเพียงวัตถุ/หุ่นเชิดตนหนึ่ง พยายามแล้วแต่ก็มิสามารถเปลี่ยนแปลงอะไร หลงเหลือหนทางออกสุดท้าย…
ใบหน้ามุ่ยๆ ปัดผมฟูๆ ทำปากบู่ๆ คือเอกลักษณ์เฉพาะตัวของ Bardot ก็ไม่รู้สวยยังไง แต่หนุ่มๆสมัยนั้นต่างคลั่งไคล้ลุ่มหลงใหลในหุ่นอันสะบึ้ม ทรวดทรงองเอว พบเห็นแก้มก้นแค่นิดหน่อย ก็พลอยให้จินตนาการไปไกลถึงสรวงสวรรค์
น่าจะเป็นการแสดงยอดเยี่ยมที่สุดในชีวิตของ Bardot! เพราะโดยปกติแล้วเธอมักได้รับบทลักษณะ ‘Sex Symbols’ ขายเรือนร่าง สวยเซ็กซี่ มีหน้าที่เย้ายวนบุรุษ แต่เรื่องนี้จักพบเห็นอีกด้านมุมหนึ่ง หญิงสาวผู้มีความคิดอ่าน เพ้อฝัน ต้องการของตนเอง ไม่ใช่แค่ตุ๊กตาหุ่นเชิดคอยให้ใครจับขยับเขยื้อน … แต่นั่นเป็นสิ่งที่ผู้ใหญ่ คนรุ่นเก่าเกิดก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง ยังไม่สามารถยินยอมรับได้
ก่อนหน้านี้ Bardot เพิ่งแต่งงานข้าวใหม่ปลามันกับ Jacques Charrier เมื่อปี 1959 แต่ระหว่างถ่ายทำหนังตกหลุมรัก ลักลอบเป็นชู้กับ Sami Frey เป็นเหตุให้มีเรื่องทะเลาะโต้เถียงสามีอย่างรุนแรง จนครุ่นคิดสั้นฆ่าตัวตายแต่ทำไม่สำเร็จ! ข่าวคาวหลุดไปหน้าหนึ่งหนังสือพิมพ์ สร้างความสนใจให้ผู้คนสมัยนั้นอย่างกว้างขวาง (ช่วงนั้นเป็นยุคแรกๆของ Paparazzi เรื่องฉาวโฉ่พวกนี้เลยได้รับความนิยมสูงมากๆ)
Sami Frey ชื่อจริง Samuel Frei (เกิดปี 1937) นักแสดงสัญชาติฝรั่งเศส ครอบครัวอพยพจากโปแลนด์ เชื้อสาย Jews อาศัยอยู่กับย่า โตขึ้นเข้าเรียนที่ Cours Simon ครั้งหนึ่งได้เป็นตัวประกอบ Napoleon (1955) เลยให้ความสนใจด้านการแสดง เข้าตาผู้กำกับ Clouzot แจ้งเกิดโด่งดังกับ The Truth (1960), ผลงานเด่นอื่นๆ อาทิ Thérèse Desqueyroux (1962), Band of Outsiders (1964), Who Are You, Polly Maggoo? (1966), En compagnie d’Antonin Artaud (1993) ฯ
รับบท Gilbert Tellier นักศึกษาวาทยกร ควบคุมวง Orchestra เดิมนั้นตกหลุมรักใคร่ Annie Marceau (รับบทโดย Marie-José Nat) นักไวโอลินพี่สาวของ Dominique แต่ถูกเรือนร่างทรงเสน่ห์ยั่วเย้ายวนหลงใหล พยายามทำหลายสิ่งอย่าง อดรนทนรอ สู่ขอแต่งงาน เพื่อจะได้ครอบครองเป็นเจ้าของเธอ กระทั่งวันนั้นเมื่อเนินมาถึง เขากลับกักขังหน่วงเหนี่ยว บีบบังคับให้ต้องทำโน่นนี่นั่นตามใจ แล้วใครไหนจะไปอดรนทนได้
มีนักแสดงหลายคนใคร่สนใจบทบาทนี้ อาทิ Jean-Paul Belmondo, Jean-Pierre Cassel, Jean Louis Trintignant แต่การเลือก Sami Frey คงเพราะความสดใหม่ ยังไม่เป็นที่คุ้นเคยหน้า จึงสามารถแสดงความเห็นแก่ตัวแบบมิต้องกลัวเสียชื่อเสียง
แม้ Sami Frey จะมีใบหน้าอ่อนวัยเยาว์ ดูสดใสซื่อไร้เดียงสา แต่การแสดงออกเวลาหมกมุ่นมักมากต่อสิ่งใด กัดไม่ปล่อย ต้องทำให้ได้ตามใจ นั่นทำให้ใครๆเกิดอาการขยาดขยะแขยงต่อตัวละครนี้เหลือทน … ต้องชมเลยว่า Frey ไร้ความหวาดกลัวที่จะถ่ายทอดความชั่วร้ายออกมา สามารถเรียกได้ว่าปีศาจในคราบเทพบุตร ช่วยผลักดันการแสดงของ Bardot ให้ทรงพลังยิ่งๆขึ้นไปอีก
อาจเพราะสัมพันธ์รักที่มีให้กับ Bardot ทำให้เคมีของทั้งคู่ทรงพลังดั่งพายุเฮริเคนคลุ้มคลั่ง และพอความจริงล่วงรับรู้ถึงสามีเธอ คงทำให้ Frey เจ็บปวดรวดร้าว ถ่ายทอดตัวตนเองออกมาผ่านตัวละครได้อย่างสมจริงที่สุด … อาจเป็นบทบาทยอดเยี่ยมสุดในชีวิตของ Frey เช่นกัน!
แถมให้กับ Paul Meurisse (1912 – 1979) นักแสดงมากฝีมือสัญชาติฝรั่งเศส เกิดที่ Dunkirk, โตขึ้นเดินทางมา Paris เป็นนักร้องอยู่ตามผับบาร์และโรงละคร ตกหลุมรักอยู่กินกับ Edith Piaf ถึงสองปี แต่เธอไม่คิดว่าเขาจะรุ่งด้านการร้องเพลง จึงให้แนะนำให้ผันตัวเป็นนักแสดง, ผลงานการแสดงที่ดังๆ อาทิ Les Diaboliques (1955), Army of Shadows (1969), Le Deuxieme Souffle (1966), The Truth (1960) ฯ
รับบท Maître Éparvier อัยการ/เจ้าพนักงานยื่นคำฟ้องร้องต่อศาล พยายามครุ่นคิดแสดงความเห็นต่างมุมมอง ในทุกๆหลักฐานพยานที่จำเลยนำเสนอเผยพิจารณา ก็ไม่รู้โกรธเกลียดเคียดแค้น Dominique Marceau มาแต่กาลไหน ชอบใช้คำพูดดูถูกถากถาง ตีตราการกระทำของเธอว่ามีความโฉดชั่วร้าย ยินยอมรับไม่ได้ … แล้วสุดท้ายอ้างว่า ทำไปตามหน้าที่ ‘An occupational hazard’
ผมยังคงตราฝังภาพลักษณ์ของ Meurisse จาก Les Diaboliques (1955) มาเรื่องนี้แค่พบเห็นหน้า แม้งไม่ได้มาดีแน่! ก็เป็นจริงอย่างที่คาดไว้ แต่การกระทำของตัวละครถือว่าไม่ผิดจากคำอ้างหน้าที่ มันต้องรุนแรงตรงไปตรงมาอย่างนี้ ไม่เช่นนั้นจะตัดสินความถูกต้องได้เช่นไร
ถ่ายภาพโดย Armand Thirard (1899 – 1973) ตากล้องขาประจำของผู้กำกับ Clouzot อาทิ The Murderer Lives at Number 21 (1942), The Wages of Fear (1953), Diabolique (1955) ฯ
เมื่อเทียบกับผลงานอื่นๆ ‘สไตล์ Clouzot’ งานภาพของหนังเรื่องนี้ไร้ความหวือหวา สไตล์ลิสต์ แต่มีความคมเข้มปกคลุมด้วยสีดำ ความมืด และการเคลื่อนกล้องที่มีความลื่นไหล เก็บรายละเอียดเล็กๆน้อยๆ มือขยับเคลื่อน เท้าก้าวเดิน พบเห็นการกระทำ สีหน้าอารมณ์ตัวละครอย่างชัดเจน
ปกติแล้วฉากในชั้นศาล เนื่องจากต้องใช้ตัวประกอบจำนวนมากจึงมักมีการเล่นแง่มุม เลือกถ่ายช็อตพื้นหลังผู้ชมติดบ้าง-ไม่ติดบ้างตามสมควร แต่หนังเรื่องนี้ยัดเข้าไปเลยให้เต็มที่นั่ง เพื่อให้ทุกสายตาเพ่งเล็งจับจ้องมอง นักแสดงเกิดบรรยากาศความตื่นตระหนก หวาดหวั่นสั่นสะพรึงกลัว (ไดเรคชั่นของ Clouzot เลื่องลือชาในการด่ากราด ใช้กำลังตบตีนักแสดง เพื่อให้เข้าถึงความตึงเครียดของตัวละครอย่างสมจริง!)
การถ่ายภาพในศาล หลายครั้งพบเห็นไดเรคชั่นแบบ Rashômon-like อย่างช็อตนี้ที่ผู้พูด-ผู้ฟัง อัยการ-จำเลย ปรากฎร่วมช็อตเดียวกัน เพื่อสะท้อนมุมของการมอง ทัศนคติเห็นต่างตรงกันข้าม (ตำแหน่งที่นั่งก็สื่อความหมายอย่างเดียวกัน)
ตัดต่อโดย Albert Jurgenson สัญชาติฝรั่งเศส ผลงานเด่นๆ อาทิ Le Corniaud (1965), La Grande Vadrouille (1966), Le Cerveau (1969), La Folie des grandeurs (1971), Les Aventures de Rabbi Jacob (1973), La Septième Compagnie au clair de lune (1977), Garde à vue (1981) ฯ
ดำเนินเรื่องผ่านมุมมองของ Dominique Marceau เริ่มต้นตั้งแต่เช้าช่วงของวันขึ้นศาลไต่สวน ซึ่งทุกๆเรื่องราวกล่าวอ้างถึง จะมีการแทรกภาพย้อนอดีต (Flashback) จากความทรงจำของเธอ ซึ่งดูแล้วทั้งหมดน่าจะคือเหตุการณ์จริง แต่เมื่อตัดกลับมาปัจจุบัน อัยการจะพยายามพูดชี้ชักนำให้เกิดความไขว้เขวเข้าใจผิด
การนำเสนอด้วย Flashback ที่คือข้อเท็จจริง ตัดสลับเคียงคู่ไปกับการไต่สวนของศาล เป็นความพยายามชี้ชักนำให้ผู้ชมเห็นถึงความบิดเบือนของกระบวนการยุติธรรม ถึงการกระทำของอัยการสามารถมองว่าคือหน้าที่ นำเสนอสมมติฐานอีกด้านหนึ่ง แต่สำหรับผู้พานผ่านเหตุการณ์ดังกล่าว ไม่ต่างอะไรกับการถูกกระทำชำเราด้วยความคิดและถ้อยคำพูดเสียดสีถากถาง
ช่วงขณะการย้อนอดีตจะมีลักษณะของ Time Skip อยู่หลายครั้ง ซึ่งพบเห็นการกระโดดสองแบบ
– อยู่ดีๆก็ตัดเปลี่ยนช็อตฉากไปเลย นี่คงเป็นการสะท้อนถึง ความสุขผ่านไปเร็ว
– ระหว่างเฝ้ารอคอยเธอใช้เทคนิค Cross-Cutting ช่วงเวลาแห่งความทุกข์ช่างเคลื่อนผ่านไปเชื่องช้านัก
สำหรับเพลงประกอบ เป็นการผสมคลุกเคล้าของดนตรีคลาสสิกจากคีตกวีเลื่องชื่อ (ตัวแทนของ Gilbert Tellier) และท่วงทำนองสนุกสนานครึกครื้นเครง แจ๊ส ป๊อป สามช่า ฯ (ตัวแทนของ Dominique Marceau)
ขอเริ่มจากดนตรีคลาสสิกแล้วกัน ประกอบด้วย
– Bach: Prélude N°8 En Mi Bémol Mineur, Bwv 853 (Extrait Du Clavier Bien Tempéré)
– Beethoven: Léonore n°3 – Ouverture op. 72 a (extrait final)
– Ravel: Tzigane (Extrait)
– Paganini: Caprice n° 24 en la mineur
– Stravinsky: L’oiseau de feu (Berceuse et final)
เริ่มต้นด้วยเสียงเปียโนอันเศร้าสลด โหยหวนของ Bach เทียบแทนอารมณ์ความรู้สึกของหนัง เหตุการณ์เกิดขึ้นต่อไปนี้จักต้องลงเอยด้วยโศกนาฎกรรมอย่างแน่แท้
Donde Vas แต่ง/ขับร้องโดย Xavier Michell y su Quinteto ท่วงทำนองสามช่า สะท้อนจิตวิญญาณของหญิงสาว Dominique Marceau โหยหาความสนุกสนาน ครึกครื้นเครน แต่ปัจจุบันขณะนั้นราวกับยังถูกควบคุม ครอบงำ กักขังไม่ต่างจากนกในกรง โหยหาอิสรภาพ (ที่ยังไม่รู้จักได้รับมันมาหรือเปล่า)
ขณะที่ท่วงทำนอง Jazz บทเพลง Dominique แต่ง/บรรเลงโดย Jean Bonal ดังขึ้นในผับพร้อมท่วงท่าลีลาการเต้นอันสุดเหวี่ยงเร้าใจ นั่นคืออิสรภาพของหญิงสาวผู้ได้โบยบิน โลดแล่น ได้ทำอะไรตามเสียงเพรียกของหัวใจเสียที
La Vérité คือเรื่องราวของหญิงสาว/คนรุ่นใหม่ กำลังถูกพิจารณาพิพากษาตัดสินการกระทำ บนพื้นฐานทัศนคติผู้ใหญ่ คนรุ่นเก่าที่ล้วนเกิดก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง
หนังไม่เพียงตั้งคำถาม แต่ชักชวนให้ผู้ชมฉุกครุ่นคิด ตระหนักถึงหลักการของกระบวนการยุติธรรม “ศาล” ที่ใครๆต่างคาดหวังว่าคือสถานที่ตัดสินความจริง! แท้จริงนั้นก็แค่ฉากบังหน้าลวงหลอกตา ข้ออ้างวิธีการการควบคุมฝูงชนให้ปฏิบัติคล้อยตามกฎหมาย ทัศนคติผู้มีอำนาจ/ชนชั้นปกครอง เท่านั้นเอง!
ประสบการณ์ส่วนตัวของผู้กำกับ Clouzot เคยพานผ่านกระบวนการยุติธรรมจอมปลอมนี้มา ทำให้มีความเข้าใจอย่างถ่องแท้ถึงหลักการ แนวคิด นั่นไม่ใช่สิ่งสามารถใช้ตัดสินข้อเท็จจริง แต่คือการแสดง’ความเชื่อ’ ทัศนคติกลุ่มคนเล็กๆ(ที่เป็นลูกขุน) โดยอ้างอิงกฎหมาย หลักฐาน พยาน และลีลาโน้มน้าวชักจูงของทนายความ ถูก-ผิดไม่รู้ไม่ใช่เรื่องของกรู แค่ทำตามหน้าที่ได้รับค่าตอบแทน เท่านั้นก็เพียงพอแล้วสำหรับคดีความหนึ่ง
หญิงสาวตัวกระเปี๊ยก ต้องการกระทำสิ่งต่างๆตามเสียงเพรียกเรียกร้องของหัวใจ แต่กลับถูกกีดกันกั้นขวาง ใช้อำนาจควบคุมครองงำ บีบบังคับจากพ่อ พี่สาว ผองเพื่อน แฟนหนุ่ม และรวมถึงผู้คนในสังคม เสี้ยมสอนให้เธอจงเป็นคนอย่างที่พวกฉันพึงปรารถนา! นี่คือประเด็น Feminist ชักนำให้ผู้ชมตั้งคำถามเกี่ยวกับสิทธิสตรี ลองตัดสินดูสิว่าเธอสมควรได้รับสิทธิ์นั้นหรือเปล่า เรื่องแบบนี้ถึงเวลาที่เราควรยินยอมรับความเสมอภาคเท่าเทียมทางเพศแล้วหรือยัง?
คนรุ่นเก่า vs. คนรุ่นใหม่, ฝรั่งเศสเป็นหนึ่งในประเทศคราคลั่งไปด้วยคนหัวโบราณคร่ำครึ เพราะอดีตเคยปกครองด้วยระบอบกษัตริย์ ประชาชนเพิ่งมีโอกาสปกครองกันเองแค่ไม่กี่ทศวรรษ ขุนนางชนชั้นสูงยังพบเห็นทั่วไปเกลื่อนเมือง เลยไม่แปลกอะไรที่อุดมคติของคนรุ่นใหม่ในภาพยนตร์เรื่องนี้ จะสะท้อนความบาดหมาง ขัดแย้ง ลุกลามบานปลายใกล้ถึงจุดแตกหัก
แต่ฝรั่งเศสคงต้องรอไปอีกสักพักจนกว่าจะถึง Mai 68/พฤษภาคม ค.ศ. 1968 เหตุการณ์ปฏิวัติทางอุดมคติครั้งสำคัญที่สุดของประเทศ ที่แม้ไม่ประสบความสำเร็จในเรื่องการล้มล้างรัฐบาล แต่ได้เปลี่ยนวิถีความเชื่อ ขนบจารีตทางสังคมไปโดยสิ้นเชิง และสิทธิเสมอภาคเท่าเทียมของสตรี เริ่มต้นอย่างจริงจังก็นับตั้งแต่นี้
ด้วยกระแสข่าวฉาวต่างๆนานาแพร่สะพัดวงกว้าง ทำให้หนังได้รับความสนใจจากผู้ชมล้นหลาม ออกฉายทำเงินถล่มทลายในฝรั่งเศส สูงสุดอันดับ 3 แห่งปี รองจาก Ben-Hur และ Le Bossu แถมยังได้เป็นตัวแทนประเทศส่งเข้าชิง Oscar: Best Foreign Language Film เข้าถึง 5 เรื่องสุดท้าย ก่อนพ่ายให้ The Virgin Spring (1960)
กระนั้นหนังก็คว้ารางวัล Golden Globes: Best Foreign-Language Film เคียงข้าง The Virgin Spring (1960) เป็นรางวัลปลอบใจ
ส่วนตัวชื่นชอบหนังเรื่องนี้อย่างมาก ประทับใจพลังการแสดงของ Brigitte Bardot, ไดเรคชั่นผู้กำกับ Henri-Georges Clouzot และเรื่องราวที่สะท้อนอะไรหลายๆอย่างออกมา หลายชั้นทีเดียว!
แนะนำคอหนัง Courtroom Drama ทำงานกระบวนการยุติธรรม ผู้พิพากษา ทนายความ, ชื่นชอบแนวโรแมนติก รักไม่สมปรารถนา, พลังหญิง Feminist ในโลกรายล้อมด้วยผู้ชาย, แฟนๆผู้กำกับ Henri-Georges Clouzot และนักแสดงนำ Brigitte Bardot ไม่ควรพลาด
จัดเรต 15+ กับโลกที่รายล้อมไปด้วยผู้ล่า โดยมีอิสตรีตกเป็นเหยื่อ
Leave a Reply