Blue Is the Warmest Colour

La Vie d’Adèle – Chapitres 1 & 2 (2013) French : Abdellatif Kechiche ♥♥♥♥

โดยปกติแล้วน้ำเงินคือโทนสีเย็น มอบสัมผัสอันหนาวเหน็บยะเยือก สั่นสะท้าน เปล่าเปลี่ยวเดียวใจ แต่การตั้งชื่อหนังบอกว่าเป็นสีที่อบอุ่น ไม่ต่างกับทัศนะตัวละครที่มิได้ใคร่สนใจนัยยะความหมายอะไร เพียงเห็นเป็นสีแห่งความรัก ปรารถนา กระหายใคร่รู้ เกิดความอิ่มอุ่นขึ้นภายใน, คว้ารางวัล Palme d’Or จากเทศกาลหนังเมือง Cannes

น่าเสียดายที่ภาพยนตร์ระดับ Masterpiece เรื่องนี้ ถูกตีตราจากผู้ชมทั่วไปว่า
– เป็นแนวเลสเบี้ยนที่มีฉากเลิฟซีนโจ่งครึ่มหลายนาที
– และผู้กำกับตัณหากลับ ถ่ายทำฉากเลิฟซีนนั้นยาวนานกว่าสิบๆวัน เป็นร้อยๆเทค

สำหรับคนที่เพิ่งเริ่มมาสนใจเบื้องหลังสร้างภาพยนตร์ อาจมีทัศนะถึงไดเรคชั่นผู้กำกับ Abdellatif Kechiche ว่ามีความสุดโต่ง เกินกว่าเหตุ แต่เขาไม่ใช่คนแรกอย่างแน่นอนนะครับ Charlie Chaplin, Fred Astaire, Robert Bresson, Stanley Kubrick, David Fincher, เมืองไทยก็มีหม่อมน้อย ฯ ต่างเลื่องลือชาในความละเอียดอ่อน ร้อยพันเทค ประณีตวิจิตรระดับ Perfectionist

ความงดงามของภาพยนตร์เรื่องนี้ คือการชักชวนให้ผู้ชมจับจ้องมองหา สีน้ำเงินมันหลบซ่อนอยู่ตรงไหน มีนัยยะความหมายอะไร? ซึ่งสิ่งที่ทำให้ผมสะดุดใจขึ้นมา คือการเอ่ยกล่าวถึง Pablo Picasso ใครอยู่ในวงการศิลปะ น่าจะรับรู้จักช่วงเวลาของศิลปินรายนี้ที่มีคำเรียกว่า Blue Period (1901-04)

Sex Scene สำหรับผมแล้วบอกเลยว่าละเหี่ยใจ พบเห็นเพียงการเคลื่อนไหวด้วยเรือนร่างกายถูๆไถๆกันเท่านั้น สัมผัสไม่ได้ถึง Passion อันร้อนเร่าร่านจากภายใน … นั่นเพราะนักแสดงไม่ได้มี Sex กันจริงๆ อวัยวะเพศที่เห็นนั่นก็เป็นของปลอมเกิดจากการสวมทับ และพวกเธอต่างเหน็ดเหนื่อยอ่อนล้าจากไดเรคชั่นผู้กำกับ

นักวิจารณ์หญิงฝั่ง Feminist กล่าวตำหนิภาพยนตร์เรื่องนี้อย่างมาก ว่ามีลักษณะ ‘male fantasies’ ซึ่งเต็มไปด้วย ‘male gaze’ จินตนาการของบุรุษต่อความเป็นเลสเบี้ยนของอิสตรี

“A brutal and surgical display, exuberant and cold, of so-called lesbian sex, which turned into porn, and made me feel very ill at ease. The heteronormative laughed because they don’t understand it and find the scene ridiculous. The gay and queer people laughed because it’s not convincing, and found it ridiculous. And among the only people we didn’t hear giggling were the potential guys too busy feasting their eyes on an incarnation of their fantasies on screen”.

– Julie Maroh ผู้เขียนต้นฉบับ Graphic Novel

ซึ่ง Abdellatif Kechiche ก็ตอบกลับไปว่า ‘ผมจำต้องเป็นผู้หญิงหรือเลสเบี้ยน เพื่อนำเสนอความรักระหว่างหญิงสาวหรืออย่างไร?’

“Do I need to be a woman, and a lesbian, to talk about love between women? We’re talking about love here – it’s absolute, it’s cosmic. I’ve had testimonies from a number of women – including one who’s lived with a woman for 15 years or more, and said that the film revitalised her sex life with her partner”.

– Abdellatif Kechiche


Abdellatif Kechiche (เกิดปี 1960) ผู้กำกับสร้างภาพยนตร์ สัญชาติ Tunisian-French เกิดที่ Tunis, Tunisia เมื่ออายุ 5-6 ขวบ ครอบครัวอพยพย้ายสู่ Nice บิดาเป็นกรรมกรก่อสร้าง (ชนชั้นแรงงาน) ตั้งแต่เด็กมีความสนใจด้านภาพยนตร์ เลือกเป็นนักแสดง เขียนบท กำกับภาพยนตร์เรื่องแรก Poetical Refugee (2000), ลองผิดลองถูกผลงานถัดมา Games of Love and Chance (2003) และ The Secret of the Grain (2007) สามารถคว้ารางวัล César Award: Best Director

ระหว่างการสร้าง Games of Love and Chance ผู้กำกับ Kechiche ได้พบเจอครูสาวคนหนึ่งที่มีความลุ่มหลงใหลในการอ่าน เขียน วาดรูป ทำให้เขาเกิดแรงบันดาลใจพัฒนาบทหนังขึ้นจากบุคลิกดังกล่าว หลายปีผ่านไปเมื่อโปรดิวเซอร์ชักชวนให้อ่าน Graphic Novel เรื่อง Le bleu est une couleur chaude ชื่ออังกฤษ Blue Angel แต่งโดย Julie Maroh ตีพิมพ์ลงนิตยสาร Glénat ฉบับเดือนมีนาคม 2010 ซึ่งเนื้อหาตรงกับหัวข้อสนใจพอดิบพอดี เลยตัดสินใจดัดแปลงสร้างผลงานถัดไปโดยทันที

เกร็ด: Julie Maroh ใช้เวลา 5 ปีเต็มในการเขียน Graphic Novel เล่มนี้ตั้งแต่อายุ 19 ได้ทุนสนับสนุนจาก French Community of Belgium และสามารถคว้ารางวัลมากมายเมื่อตีพิมพ์จัดจำหน่าย

เห็นว่าสองในสามของภาพยนตร์ค่อนข้างคล้ายคลึงต้นฉบับ Graphic Novel (นี่อาจเป็นเหตุผลหนึ่งให้ชื่อหนังภาษาฝรั่งเศสลงท้าย Chapitres 1 & 2) แต่อะไรๆรวมถึงตอนจบนั้นแตกต่างกันออกไป
– ชื่อตัวละครเปลี่ยนจาก Clémentine เป็น Adèle (เพราะคำนี้ภาษาอาราบิกแปลว่า ยุติธรรม)
– หนังถ่ายทำฉากพ่อ-แม่ของ Clémentine/Adèle เปิดประตูห้องมาพบเจอลูกสาวร่วมรักกับ Emma เลยขับไล่ทั้งสองออกนอกบ้าน ซึ่งถือเป็นไฮไลท์ของ Graphic Novel แต่ผู้กำกับกลับตัดทิ้งออกไป
– ตอนจบ Clémentine กลายเป็นคนติดยา เขียนไดอารี่หน้าสุดท้าย ก่อนสิ้นลมหายใจ สร้างความเศร้าโศกเสียใจให้ทุกคน

Adèle (รับบทโดย Adèle Exarchopoulos) หญิงสาวแรกรุ่นอายุ 15 ปี วันหนึ่งพานพบเห็นสาวรุ่นพี่ย้อมทรงผมสีน้ำเงิน เกิดความฉงนสงสัย ลุ่มหลงใหล จนมีโอกาสพบเจอเธออีกครั้งใน Leabian Bar รู้จักชื่อ Emma (รับบทโดย Léa Seydoux) นักศึกษาปีสี่สาขาวิจิตรศิลป์ ค่อยๆรับเรียนรู้ว่าตนเองชื่นชอบผู้หญิง ร่วมรักหลับนอนอย่างเร่าร่านร้อนแรง พาไปพบครอบครัว ผองเพื่อน จนกระทั่งมีอพาร์ทเม้นท์หลังเล็กๆอาศัยอยู่ร่วมกัน แต่ระหว่างวันเหงาๆที่คนรักมัวหมกมุ่นอยู่กับงาน เธอยังโหยหาความสุขสำราญด้วยการคบชู้สู่ชาย พอข้อเท็จจริงเปิดเผยเลยถูกขับไล่ผลักไสสง แต่เยื่อโยงใยสัมพันธ์ที่มีให้ กลับไม่สามารถตัดขาดลงได้เสียที


นำแสดงโดย Adèle Exarchopoulos (เกิดปี 1993) นักแสดงสัญชาติฝรั่งเศส เกิดที่ Paris, ประมาณปี 2006 เข้าตาแมวมองชักชวนมาแสดงซีรีย์ R.I.S, police scientifique (2006) ตามด้วยภาพยนตร์ Boxes (2007) เลยตัดสินใจเอาจริงจังด้านนี้ แต่ก็ยังไม่มีชื่อเสียงนักจนกระทั่ง Blue Is the Warmest Colour (2013)

รับบท Adèle เด็กสาวน้อยที่ยังอ่อนเยาว์วัยไร้เดียงสา ถูกเลี้ยงดูมาเหมือนนกในกรง (ของครองครัวชนชั้นแรงงาน) ทำให้เก็บกดและชอบปกปิด กำลังค่อยๆเปิดโลกทัศน์ เรียนรู้จักความต้องการตนเอง เริ่มจากแฟนหนุ่ม กระทั่งลุ่มหลงใหลในรุ่นพี่ผมสีน้ำเงิน จับพลัดพลูมีโอกาสพบเจอกัน ปล่อยตัวกายใจให้ล่องลอยไปกับอารมณ์ หื่นกระหาย จนมิอาจควบคุมสติยับยั้งชั่งใจ สุขก็สำเริงราญ ทุกข์ก็รวดร้าวทรมานแสนสาหัส

ประมาณปลายปี 2011 ที่ Exarchopoulos ได้รับคำแนะนำให้มาคัดเลือกนักแสดง ใช้เวลาถึงสองเดือนเต็มก่อนผู้กำกับจะตัดสินใจเลือกเธอ ด้วยเหตุผลเรื่องท่าทางการกิน!

“I chose Adèle the minute I saw her. I had taken her for lunch at a brasserie. She ordered lemon tart and when I saw the way she ate it I thought, ‘It’s her!'”

– Abdellatif Kechiche

ความน่ารัก บริสุทธิ์ นงเยาว์วัย สายตาเป็นประกายสดใส ทรงผมยุ่งๆไม่เป็นระเบียบ และฟันกระต่ายคู่หน้าทำให้ริมฝีปากบางครั้งเผยออกกว้าง นั่นทำให้ภาพลักษณ์ภายนอกของ Exarchopoulos ช่างแลดูไร้เดียงสาเสียจริง ระดับกล้อง Close-Up พบเห็นทุกริ้วร่องรอยขยับเคลื่อนไหว ถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกจริงบ้าง-เท็จบ้างจากขั้วหัวใจ ผู้ชมสามารถสัมผัสจับต้องได้โดยทันที

เกร็ด: สาเหตุผลจริงๆของเปลี่ยนชื่อจาก Clémentine เป็น Adèle (ซึ่งเป็นชื่อจริงๆของนักแสดง) ก็เพื่อลบช่องว่าง/เบลอภาพระหว่างนักแสดงกับตัวละคร ผิดกับ Léa Seydoux ที่ผู้กำกับก็ร้องแบบเดียวกัน แต่เธอปฏิเสธไม่ให้ใช้ ขอเอาชื่อเดียวกับในต้นฉบับ Graphic Novel

“Abdellatif tried to keep us close to reality. He asked us to play with our own emotions. For example, I kept my own voice. It’s very subtle, very delicate, the things that are a part of you and the things that are a part of your character”.

– Adèle Exarchopoulos

ฉากยากสุดสำหรับ Exarchopoulos ไม่ใช่ Sex Scene ที่แค่เหน็ดเหนื่อยอ่อนเมื่อยล้าทางกาย แต่คือตอนตัวละครทะเลาะเลิกรากับ Emma นั่นสูบเอาพลังวิญญาณ พร้อมบาดแผลเลือดไหลอาบ (อุบัติเหตุขณะกระจกแตก) ทำเอาหมดเรี่ยวแรงกำลังวังชา แทบทรุดเป็นลมเมื่อถ่ายเสร็จเกือบถึงเช้า


Léa Hélène Seydoux-Fornier de Clausonne (เกิดปี 1985) นักแสดงหญิงสัญชาติฝรั่งเศส เกิดที่ Passy, Paris พ่อแม่หย่าร้างตอนเธออายุสามขวบ เติบโตท่ามกลางความโดดเดี่ยวอ้างว้าง แต่รายล้อมด้วยเพื่อนๆศิลปินหลากหลาย โตขึ้นเลยเกิดความสนใจด้านการแสดง ทีแรกวาดฝันเป็นนักร้องโอเปร่า เข้าศึกษายัง Conservatoire de Paris ก่อนเปลี่ยนมาโรงเรียนสอนการแสดง Les Enfants Terribles, ภาพยนตร์เรื่องแรก Girldriends (2005), เริ่มมีชื่อเสียงจาก The Beautiful Person (2008), โกอินเตอร์ Inglourious Basterds (2009), Robin Hood (2010), Mission: Impossible – Ghost Protocol (2011), Blue Is the Warmest Colour (2013), Spectre (2015) ฯ

รับบท Emma สาวรุ่นพี่ ผู้มีความลุ่มหลงใหลภาพวาดงานศิลปะ เธอเกิดในครอบครัวศิลปิน (ชนชั้นกลาง) ไม่กีดกันมอบอิสรภาพทุกความคิดเห็นกระทำ แม้ก่อนหน้าพบเจอ Adèle จะครองรักอยู่กับสาวคนหนึ่ง แต่ก็มิอาจฝืนกลั้นความใสซื่อบริสุทธิ์นงเยาว์ เต็มไปด้วยความเร่าร้อนรุนแรงเติบเต็มกันและกัน แล้วนานวันก็ทำให้เปลวเพลิงค่อยๆมอดลง หมกมุ่นกับงานจนแทบไม่หลงเหลือเวลาว่างให้ ท้ายที่สุดก็จำใจต้องเลิกร้างราเพราะความหึงหวงเห็นต่าง กาลเวลาเคลื่อนผ่านแม้ยังโหยหา แต่ก็ไม่สามารถหวนกลับคืนสู่วันวาน

สำหรับ Seydoux จะตรงกันข้าม Exarchopoulos เป็นตัวเลือกที่ผู้กำกับ Kechiche ให้ความสนใจมาตั้งแต่แรก เข้าไปพูดคุย แลกเปลี่ยน แสดงทัศนะคิดเห็น เธอตอบตกลงล่วงหน้ากว่าสิบเดือนก่อนเริ่มต้นโปรดักชั่น ซึ่งก็เอาเวลาระหว่างนั้นไปเรียนวาดรูป แกะสลัก อ่านหนังสือปรัชญา ศึกษางานศิลปะ เพื่อศึกษาทำความเข้าใจตัวละครอย่างถ่องแท้

“Seydoux shared her character’s beauty, voice, intelligence and freedom, something of an Arabic soul. What was decisive during our meeting was her take on society: She’s very much tuned in to the world around her. She possesses a real social awareness, she has a real engagement with the world, very similar to my own. I was able to realise to how great an extent, as I spent a whole year with her between the time she was chosen for the role and the end of shooting.”

– Abdellatif Kechiche

ความงามไฮโซของ Seydoux แลดูเหมือนรูปปั้นเทพี/เทพธิดา สายตาจิกแหลม กร้าวกร้านร่าน ผ่านประสบการณ์อะไรๆมามาก ฟันหน้าห่างๆ ตัดผมสั้นเหมือนทอมบอย แต่เพิ่มความเฉลียวฉลาด เด็ดเดี่ยว หรือที่เรียกว่าสาวมั่น ย้อมผมน้ำเงินยิ่งขับเน้นอารมณ์ต้องการเร่าร้อนรุนแรง แต่พอย้อมกลับปกติกลายเป็นไร้สง่าราศีไปเลย

ถือว่าตรงกันข้ามกับ Exarchopoulos ที่การแสดงถ่ายทอดความบริสุทธิ์นงเยาว์วัย สำหรับ Seydoux ทุกอย่างดูประดิษฐ์ประดอย ปั้นแต่ง สร้างภาพ ราวกับมีกำแพงอากาศมาขวางกั้น เก็บกดดันมิให้ข้อเท็จจริงบางอย่างเปิดเผยออก ทำให้ไม่สามารถแสดง Passion ร่านพิศวาส ออกมาได้สุดเหวี่ยงร้อนแรง

ผมว่ามันคืออคติของ Seydoux ที่มีต่อผู้กำกับ Kechiche เธอเคยให้สัมภาษณ์สไตล์ของตนเองว่าจะเล่นดีมากๆในเทคแรกๆ แต่เมื่อต้องแสดงซ้ำๆสิบร้อยครั้ง มันจะเกิดบางสิ่งอย่างขึ้นย้อนแย้งภายใน ทำให้ผลลัพท์ออกมาอย่างที่เห็น ภาพรวมถือว่าดี แต่มองเข้าไปภายในมีเพียงความเวิ้งว่างเปล่าไร้อารมณ์

“I’m still very happy with this film. It was hard to film it and maybe people think I was complaining and being spoilt, but that’s not it. I just said it was hard. The truth is it was extremely hard but that’s OK. I don’t mind that it was hard. I like to be tested. Life is much harder. He’s a very honest director and I love his cinema. I really like him as a director. The way he treats us? So what!”

– Léa Seydoux


ถ่ายภาพโดย Sofian El Fani ชาว Tunisian ผลงานเด่นๆ อาทิ Blue Is the Warmest Colour (2013), Timbuktu (2014) ฯ

สถานที่ถ่ายทำหลักๆคือ Lille, Roubaix และ Liévin โดยตอนแรกวางแผนใช้ระยะเวลา 2 เดือนครึ่ง แต่เบิ้ลขึ้นไปห้าเดือนระหว่างมีนาคม ถึงสิงหาคม 2012 (แบบไม่จ่ายค่าเกินเวลาทีมงาน/นักแสดงด้วยนะ!)

ไดเรคชั่นผู้กำกับ Kechiche จะให้นักแสดงอ่านบททั้งหมดเพียงครั้งเดียว เพื่อรับรู้ภาพรวมคร่าวๆว่าจะพบเจออะไร ซึ่งระหว่างถ่ายทำจริงจะใช้การ Improvised ไปเรื่อยๆ สิบ-ร้อยเทค จนกว่าจะได้มุมกล้อง/การแสดงที่พึงพอใจ

ประมาณ 90% ของหนัง ถ่ายภาพระยะ Close-Up จับจ้องใบหน้านักแสดง/ตัวละคร เพื่อสร้างความสนิทสนม ใกล้ชิดเชื้อ พบเห็นทุกริ้วรอยรายละเอียดขยับเคลื่อนไหว เข้าถึงอารมณ์รู้สึกความใน

ฉากสนทนาระหว่างตัวละคร จะใช้กล้องสองตัวถ่ายทำแบบ Reverse Shot ตั้งคนละมุมจับภาพนักแสดงไปพร้อมๆกัน จุดประสงค์เพื่อสร้างความสัจจริง (Truthful) ในการนำเสนอ

ช็อตแรกของหนัง Adèle เปิดประตูเดินออกจากบ้าน ก้าวสู่โลกกว้างด้วยตนเองเป็นครั้งแรก กล้องแพนติดตามเห็นรถโดยสารกำลังเคลื่อนออก แปลว่าเธอยังเชื่องช้าล้าหลัง ไม่ทันความเจริญก้าวหน้ายุคสมัยใหม่สักเท่าไหร่ (คือยังไม่รับรู้ตนเองว่าอะไรคือความต้องการแท้จริงของตนเอง)

ความสุดติสต์ของผู้กำกับ Kechiche แค่เพียงเสี้ยววินาทีเดินสวนกันช็อตนี้ ใช้เวลา 1 วันเต็มๆในการถ่ายทำ เพื่อให้ได้จังหวะการหันมาสบตา มีความลึกลับพิศวง ไม่สามารถหาคำตอบได้ว่าเพราะอะไร

เสื้อกางเกงและทรงผมของ Emma เรียกได้ว่า ‘ทั้งตัวสีน้ำเงิน‘ เพราะอะไรทำไมเธอถึงได้ลุ่มหลงใหลสีสันนี้กันนะ?

First Kiss ของ Adèle เกิดขึ้นกับแฟนหนุ่ม (ในชีวิตจริง) สถานที่คือโรงภาพยนตร์ รายล้อมด้วยความมืดมิดแทบมองอะไรไม่เห็น ซึ่งปฏิกิริยาโต้ตอบสนองคือเฉื่อยชา เหมือนไม่รู้สึกโรแมนติกสักเท่าไหร่

Sex Scene แรกของหนังคือการช่วยตนเองของ Adèle ซึ่งจะมีการตัดสลับภาพจินตนาการถึง Emma ขึ้นอยู่ด้านบน On the Top เล้าโลมเลียให้เธอสุขสมหวัง

สังเกตลวดลายหมอน ดอกอะไรก็ไม่รู้สีน้ำเงิน … สะท้อนถึงความสุขชั่วขณะนี้ของเธอ อยู่ในการหลับฝันดี

ร่วมรักกับแฟนหนุ่ม เริ่มต้นจาก Adèle ถาโถมเข้าไปจูบ จากนั้น Woman-on-Top สนองความต้องการตนเองอย่างเต็มที่ จากนั้นเขาพลักกลับมา Missionary ท่าถนัดของบุรุษซึ่งสามารถควบคุม กำหนดจังหวะ ความเร็วแรง อยู่เหนือกว่าอิสตรี … นั่นดูเหมือนไม่สร้างความชื่นชอบพอต่อหญิงสาวสักเท่าไหร่

ถามว่าดีไหม ปากบอกโอเค แต่ดูจากสีหน้าสายตาพอจะรับรู้ว่าไม่เลยสักนิด! ซึ่งช็อตนี้ชายหนุ่มโอบกอดหลบซ่อนตัวอยู่เบื้องหลัง ประมาณว่าชีวิตนี้ต้องการเธอเป็นที่พึ่งพักพิง หญิงสาวพยายามเอื้อมมือไปด้านหลังแต่ก็ไม่ค่อยถนัดสักเท่าไหร่

การเลิกรากับแฟนหนุ่ม ทั้งๆควรจะเป็นมุมมืดมิดแต่กลับท่ามกลางความเจิดจร้า แสงอาทิตย์ (Lens Flare) สาดส่องเข้ากล้องได้จังหวะพอดิบพอดีหลังจากเขาเดินจากไป … ถือได้ว่าเป็นสัญลักษณ์ของโอกาส ลิ้มลองแล้วผิดหวังก็ต้องเริ่มต้นค้นหาสิ่งที่คือความต้องการแท้จริงไหม

เก้าอี้สีน้ำเงิน สะท้อนความต้องการของเธอที่จะนั่งพักพิงตรงนี้ ไม่ใช่ได้รับการโอบอิงจากบุรุษ แฟนหนุ่มแต่ประการใด

หลังจากเดินเรื่อยเปื่อยตามท้องถนนมืดมิด กลับมาถึงห้องด้วยสีหน้าเศร้าสร้อย ภาพพื้นหลังตรงประตูช็อตนี้คือรูปบอลลูน สัญลักษณ์ของการเดินทาง(ครั้งต่อไป) สะดีดสะดิ้งแสร้งทำเป็นร่ำร้องไห้

ฉากถัดมาขบวนพาเรดก็ดื้นพร่าน ตะโกนโหวกเหวก ขับร้องเพลงท่อนหนึ่งสุดเสียง “On Lâche Rien”

ชีวิตของ Adèle ก็ไม่ใช่ว่าตกต่ำถึงกับต้องนั่งสูบบุหรี่ตรงบันไดชั้นล่างสุด แต่ภาพช็อตนี้คือ ‘ทางเลือก’ ระหว่างชั้นบนล่าง ซึ่งแฝงนัยยะ ชาย-หญิง
– สองหนุ่มเดินผ่านเลยไป
– เพื่อนสาวคนหนึ่งบั้นท้ายสวย อีกคนขอบุหรี่ดูดด้วย แล้วโน้มกายลงจุมพิต นั่นกระตุ้นสันชาตญาณ รับล่วงรู้ความต้องการแท้จริงของตัวตนเองในที่สุด

สำหรับเพื่อนสาวคนนี้ มีน้ำเงินค่อนข้างกระจัดกระจาย สีเล็บ เครื่องประดับ … สะท้อนการเป็นแค่ไม้ประดับจริงๆนะแหละ

ความผิดหวังที่รับรู้ว่าเพื่อนสาวคนนี้ไม่ได้เป็นเลสเบี้ยนจริงๆ ทำให้ Adèle หลั่งน้ำตาและออกเดินอย่างเร่งรี่ กล้องเคลื่อนติดตามถอยหลังไปเรื่อยๆ ชั่ววินาทีหนึ่งใบหน้าปกคลุมด้วยความมืดมิด (สะท้อนสภาพจิตใจอันหมองหม่นซึมเศร้าหมอง) จากนั้นผลักเปิดประตู ก้าวออกสู่โลกใบใหม่ ได้รับคำชักชวนจากเพื่อนชายที่เป็นเกย์ นำพาไปท่องเที่ยว …

แสงสีน้ำเงินในบาร์เกย์แห่งนี้ สะท้อนความพิศวง ลุ่มหลงใหล ใบหน้าไร้เดียง ทำให้ Adèle ครุ่นคิดไปว่านี่อาจเป็นสถานที่ของฉันก็ได้

“Love has no gender. Take whoever loves you. Whatever makes you happy. Who cares?”

– คำแนะนำจากเกย์หนุ่ม

กลับตารปัตรกับบาร์เลสเบี้ยน แสงสีสถานที่แห่งนี้คือเหลืองส้ม สัมผัสความอบอุ่น เร่าร้อน ซึ่งน่าจะทำให้ Adèle รู้สึกพักผ่อนคลาย ราวกับได้ค้นพบสถานที่ของตนเอง แต่สีหน้าของเธอกลับเต็มไปด้วยความร้อนลุ่ม สั่นสะท้าน ไม่แน่ใจในตนเอง นี่นะหรือสถานที่ที่ฉันต้องการ?

ก่อนหน้าที่ Emma จะเข้ามาทักทาย มีสาวอื่นพยายามเข้ามาตีสนิท แต่เธอกลับไม่ครุ่นคิดสน เพราะในใจของตนนั้นมีเพียง … ลึกๆอาจแปลว่า Adèle มองสถานที่แห่งนี้ไม่ใช่โลกของตนเองสักเท่าไหร่

เดทแรกระหว่าง Adèle กับ Emma ช่างตรงกันข้ามกับแฟนหนุ่ม (ที่พาไปดูหนัง อยู่ท่ามกลางความมืดมิด) แสงสว่างยามสายๆ สาดส่องทอแสงลงมาเป็นประกาย … แต่พวกเธอยังอ้ำๆอึ้งๆ ขอเวลาโรแมนติกสักแป๊ปนึงก่อน

เมื่อ Emma จากไปในฉากนี้สังเกต Adèle มีอาการลิงโลดดีใจ กระโดดขึ้นนั่งตรงพนักพิงเก้าอี้ ไม่สามารถอยู่ติดพื้นดิน สงบจิตสงบใจทำแบบคนปกติได้

นี่ก็กลับตารปัตรกับแฟนหนุ่มที่ขอหลบซ่อนตัวอยู่ด้านหลัง, ความต้องการแท้จริงของ Adèle อยากที่จะติดตาม เป็นคนอยู่เบื้องหลังตามติดตัว Emma เสียมากกว่า!

Sex Scene ช็อตแรกของสองสาว ยืนหันเข้าหากัน ด้วยรูปลักษณะเหมือนรูปหัวใจ ผลัดกันคลอเคลียเลียหน้าอก อวัยวะเพศ เริ่มจาก Emma ทำให้เป็นแบบอย่าง ติดตามด้วย Adèle อย่างไม่ขัดขืน

ไคลน์แม็กซ์ของ Sex Scene คือท่า 69 แนวนอน กอดรัดฟัดเหวี่ยง ศีรษะอยู่ตำแหน่งอวัยวะเพศของอีกคน ถือว่ามีความสมมาตร เสมอภาคเท่าเทียม เป็นของกันและกันโดยสมบูรณ์

ผ้าปูสีน้ำเงิน ก็ชัดเจนว่าความสนใจของ Adèle คือเรื่องราวบนเตียงนี่เอง

ช็อตสวยสุดในหนัง สองสาวจุมพิตท่ามกลางขบวนพาเรด พระอาทิตย์สาดส่องตำแหน่งกึ่งกลางระหว่างทั้งคู่ โลกทั้งใบเต็มไปด้วยความสว่างสดใส ไม่มีสิ่งอื่นใดสามารถเทียบแทนได้

ต่อจากนี้จะเป็นการแนะนำ ‘ชนชั้น’ เบื้องหลังของสองตัวละคร, ฝั่งของ Emma ชนชั้นกลาง (Middle Class) อาหารทะเล ไวน์ขาว ช่างมีความเลิศหรูหรา การสนทนาก็เกี่ยวกับความเพ้อฝัน อุดมการณ์ เติมเต็มความต้องการ (นามธรรม) ซึ่งพ่อ-แม่ ชัดเจนว่ารับรู้ทั้งสองเป็นคู่รัก ไม่จำเป็นต้องปกปิดบังซ่อนเร้น

Sex ของพวกเขาค่ำคืนนั้น Emma เข้าข้างหลัง ทำให้ Adèle ต้องเหลียวหลังหันมามอง ประมาณว่าฉันอยากได้รับอิสรภาพจากครอบครัวแบบเธอบ้าง

ฝั่งของ Adèle รับประทานสปาเก็ตตี้ (น่าจะมีตบอล) เคียงคู่ไวน์แดง อาหารเลิศหรูหราของคนชนชั้นแรงงาน (Working Class) เรื่องสนทนาก็เกี่ยวกับการดิ้นรนเอาตัวรอด ทำการทำงานเป็นหลักแหล่ง แต่งงานเพื่อชีวิตมั่นคง (รูปธรรมจับต้องได้) และพวกเขาครุ่นคิดว่า Emma คือรุ่นพี่ที่มาสอนปรัชญา ยินยอมรับไม่ได้ถ้าลูกคือเลสเบี้ยนรักหญิง

Sex ของทั้งคู่เลยจำต้องแอบๆ หลบซ่อน ปิดปาก สลับกันขึ้นลงเพื่อมิให้เกิดเสียงดัง จากนั้นก็นอนคว่ำกอดกันกลม เรียกได้ว่าคือจุดสูงสุดความสัมพันธ์ของทั้งคู่

ผมครุ่นคิดว่า การตัดฉากพ่อเปิดประตูมาพบเห็นทั้งสองในสภาพเปลือยเปล่า แล้วขับไล่ออกจากบ้าน คงเพื่อสร้างความคลุมเคลือ ไม่บ่งบอกทิศทางของหนังโดยตรงๆ ผู้ชมไม่เคยอ่าน Graphic Novel จะหลงเข้าใจไปว่าทั้งคู่ยังรักกันดีอยู่ โดยไม่มีปมขัดแย้งต้นสาเหตุจากครอบครัวของ Adèle

ความสนใจของ Adèle สีน้ำเงินคือผ้าปูเตียง ไม่ต้องการอะไรไปมากกว่าเรื่องบนเตียง คอยปรนิบัติรับใช้ Emma เป็นขี้ข้ารองมือรองเท้า แบบวาดภาพนู้ด ก็ไม่เป็นปัญหา

แต่สำหรับ Emma นี่เป็นครั้งแรกที่สีผมของเธอกลับสู่ปกติ น่าจะเพราะเรียนจบแล้ว ต้องทำการทำงาน สร้างภาพลักษณ์ใหม่ให้ดูดีในสังคม

Adèle ก็เรียนจบแล้วเหมือนกัน ทำงานเป็นครูสอนเด็กอนุบาลตามความตั้งใจ ช็อตนี้กำลังสอนท่าเต้นบทเพลง BonBon ท่วงท่าเหมือนการตีกลอง จังหวะชีวิตของเธอที่ยังคงสนุกสนาน ครึกครื้นเครง เพิ่งจะได้รับอิสรภาพหลุดจากพันธนาการครอบครัวได้ไม่นาน

งานเลี้ยงของ Emma ชักชวนพรรคเพื่อนที่เป็นคนดัง ศิลปิน พูดคุยสนทนาเรื่องอะไรกันก็ไม่รู้ สร้างความแปลกแยกให้กับ Adèle ซึ่งก็มีเพื่อนชายชาวอาหรับ สตั๊นแมน ซักถามซอกแซกโน่นนั่น แม้รับรู้ว่าเธอคือเลสเบี้ยน แต่ลักษณะแบบนี้คงแอบคาดหวังอยู่ลึกๆในใจ

เกร็ด: ฉายด้านหลังคือหนังเงียบ Pandora’s Box (1929) นำแสดงโดย Louis Brook รับบทหญิงสาวที่พร้อมทำทุกสิ่งอย่างเพื่อให้ตนเองได้รับความสุขสบาย (รวมไปถึงขายตัวได้เงินมา)

ความอ้างว้างเดียวดาย เป็นสิ่งไม่เข้าใครออกใคร โดยเฉพาะ Adèle ที่ยังโหยหาการเสพสุขสำราญทางกาย เธอตอบตกลงกับเพื่อนร่วมงาน มาท่องเที่ยวผับแห่งนี้ ตลบอบอวลด้วยแสงสีแดงส้ม เต็มไปด้วยความลุ่มร้อน ถอดเสื้อตัวนอกออกแล้วสะบัดช่อ

นี่เป็น Sequence ที่ไม่ต่างอะไรกับ Sex ระหว่าง Adèle กับเพื่อนร่วมงาน

นี่ถือเป็นเทคนิคภาพยนตร์หนึ่ง นำเสนอสองสิ่งเหมือนจะไม่เกี่ยวข้องแต่สั่นพ้องคล้องจองกัน, Emma กำลังสนทนาทางโทรศัพท์อย่างหงุดหงิด หัวเสียง ทั้งๆดูไม่เกี่ยวกับ Adèle แต่สามารถมองว่าคู่สนทนาปลายสายก็คือเธอนี่แหละที่ฉันกำลังไม่พึงพอใจ

การเลิกร้างราระหว่าง Adèle กับ Emma
– ภาพสะท้อนกระจก พบเห็นด้านหลังของ Emma น่าจะประมาณยังรักอยู่ แต่ยินยอมรับพฤติกรรมของ Adèle ไม่ได้
– เปิดตู้เสื้อผ้า (สัญลักษณ์ของ LGBT) เก็บข้าวของไล่ออกจากห้อง เรียกได้ว่าเป็นการผลักไสเธอจากภายใน
– ปิดประตูล็อกกุญแจ ไม่ต้องการให้เข้ามายุ่งย่ามวุ่นวายกับโลกของฉันอีก!

เมื่อชีวิตไร้ที่พักพิง Adèle จึงสวมใส่ชุดสีน้ำเงิน เป็นการพึ่งพาเอาตัวรอดด้วยตนเอง

โดยปกติแล้วเมื่อคนเราทำอะไรผิดพลาด เลิกรากับแฟน มักที่จะหลบซ่อน ขังตนเอง ปฏิเสธเผชิญหน้าผู้อื่น ซึ่งกลับตารปัตรกับ Adèle ขึ้นเต้น BonBon ทำเหมือนไม่มีอะไร พยายามเก็บกดอารมณ์รู้สึกซ่อนเร้นไว้ แต่เชื่อว่าใครๆย่อมสังเกตเห็นได้

เหตุผลของฉากนี้ตีความได้หลากหลาย
– Adèle เห็นคุณค่าของหน้าที่ รับผิดชอบ การงาน เด็กๆ สำคัญกว่าความทุกข์ทรมานของตนเอง
– เป็นการเบี่ยงเบน/บรรเทาความเจ็บปวดรวดร้าว เพื่อไม่ให้ขณะนั้นครุ่นคิดรู้สึกเศร้าใจ
– ลงโทษตนเอง เพราะได้กระทำสิ่งเลวร้ายฝากไว้กับ Emma เป็นเหตุให้ต้องเลิกร้างรา ฉากนี้คือทำให้ตนเองรู้สึกอับอายขายขี้หน้า ขัดย้อนแย้งความรู้สึกภายในจิตใจ

ผืนน้ำท้องทะเล สีครามก็คือโทนหนึ่งของน้ำเงิน

การล่องลอคอของ Adèle สะท้อนถึงชีวิตที่เวิ้งว้างว่างเปล่า ไร้คนรักข้างกาย เป้าหมายปลายทาง ไม่สามารถครุ่นคิดหาหนทางออกให้กับความทุกข์เศร้าโศกในจิตใจได้ ตื่นยามดึกยังคงร่ำร้องไห้ ไม่สามารถปลดปล่อยวางได้สักที

หลายปีถัดมามีโอกาสหวนกลับพบเจอ ท่ามกลางร้านกาแฟปกคลุมด้วยความมืดมิด Adèle ยังคงโหยหา ต้องการ กุมมือ Emma แล้วลูบไล้ดูดเลีย (Fetish) จากนั้นถาโถมเข้าไปกอดจูบแบบไม่อายสายตาใคร (หนังไม่ถ่ายใครให้สายตามองด้วย) แต่ถึงอย่างนั้นอดีตมันจบสิ้นผ่านไป ไม่อาจหวนย้อนเวลากลับคืน

ชุดสีน้ำเงินของ Adèle ใส่ไปร่วมงานนิทรรศการศิลปะของ Emma มองภาพสะท้อนกระจก จิตใจยังคงโหยหา

ภาพวาดนี้ สะท้อนสองช่วงเวลา Blue Period กับ Orange Period หญิงสาวกึ่งกลางน่าจะคือ Emma ด้านล่างสีน้ำเงิน แทนด้วย Adèle ที่อยู่ในความทรงจำ/ภายใต้จิตสำนึก และปัจจุบันด้านบนคือสีส้ม อบอุ่นสุขสราญกับคนรักใหม่

ช็อตสุดท้ายของหนัง การเดินจากไปของ Adèle สังเกตว่ามีการปรับโทนสีรอบข้างออกน้ำเงิน และลิบๆท้องฟ้าไกล แสงอาทิตย์สาดส่องความอบอุ่นส้มเหลือง

คงต้องถือว่าน้ำเงินไม่ใช่สีอบอุ่นในความครุ่นคิดเข้าใจของ Adèle อีกต่อไปแล้ว มันกลายเป็นความยะเยือก หนาวเหน็บ อ้างว้างโดดเดี่ยว แต่ชีวิตที่ก้าวเดินต่อไป สักวันหนึ่งอาจถึงสุดปลายขอบฟ้า และพานพบความอบอุ่นขึ้นมาภายในจิตใจ

บ้างว่าฟุตเทจทั้งหมดของหนังความยาว 300 ชั่วโมง บางสำนักอ้าง 750-800 ชั่วโมง การต้องใช้นักตัดต่อถึง 5 คน การันตีถึงความเยอะอย่างแน่นอน Albertine Lastera, Camille Toubkis, Sophie Brunet, Ghalia Lacroix, Jean-Marie Lengelle

ดำเนินเรื่องผ่านมุมมองสายตา Adèle ปรากฎพบเห็นอยู่ทุกฉาก พานผ่านสิ่งต่างๆมากมาย ทดลองถูก-ผิด จนเข้าใจความครุ่นคิดต้องการแท้จริง ได้มาครอบครองเป็นเจ้าของ จากนั้นเผชิญหน้าการสูญเสีย และปรับตัวเพื่อชีวิตจักก้าวเดินต่อไป

การตัดต่อมักมีความต่อเนื่องทางอารมณ์แฝงซ่อนเร้นอยู่ด้วย
– หลังจากเลิกกับแฟนหนุ่ม -> เดินอย่างเปล่าเปลี่ยวบนท้องถนนมืดมิด -> มาถึงห้องทิ้งตัวลงนอนร่ำร้องไห้เศร้าโศกเสียใจ -> ไปเข้าร่วมขบวนพาเรด ยิ้มแย้ม เฮฮาปาร์ตี้ (นี่แปลว่าความสูญเสียใจที่แสดงออกก่อนหน้านี้ มันคืออาการสะดีดสะดิ้ง แสร้งทำ หลอกตนเองไปวันๆ)
– เสร็จกามกิจระหว่าง Adèle กับ Emma -> เดินขบวนพาเรด (อีกแล้ว) แต่รอบนี้พบเห็นหนุ่ม-หนุ่ม สาว-สาว กอดจูบอย่างไม่เกรงกลัวอะไร
– หลังจากเลิกรากับ Emma -> เดินอย่างเปล่าเปลี่ยวบนท้องถนน -> เต้นระบำกับเด็กๆ -> ได้รับดอกไม้มากมาย -> แต่สุดท้ายเมื่อหลงเหลือตัวคนเดียว ร่ำร้องไห้อย่างหนักออกมา (นี่เป็นความเจ็บปวดรวดร้าวอย่างแท้จริงจากภายใน ไม่มีการสร้างภาพ ความสนุกสนานเฮฮาใดจะเยียวยาได้)

หนังไม่มีเครดิตบทเพลงประกอบ ทั้งหมดคือ Diegetic Music ดังขึ้นในผับบาร์ เดินขบวนพาเรด กิจกรรมสันทนาการ ซึ่งล้วนมีนัยยะแฝงซ่อนเร้น ลองฟังอัลบัม Soundtrack โคตรไพเราะทุกบทเพลงเลยละ! อาทิ
– On lâche rien (แปลว่า We will never give up!) ขับร้องโดย Kaddour Haddadi & Les Saltimbanks ดังขึ้นระหว่างการเดินพาเหรดหลังจาก Adèle เพิ่งเลิกราแฟนหนุ่ม ทั้งๆเนื้อหาใจความบทเพลงเป็นของพรรคคอมมิวนิสต์ฝรั่งเศส แต่แฝงนัยยะว่า ฉันจะไม่มีวันยอมแพ้ในเรื่องความรัก!
– Feel it now ขับร้องโดย Alex Johnson, Chris Allen & Steve Satterthwaite ดังขึ้นในฉากบาร์เกย์ ระหว่างชายคนหนึ่งพูดแนะนำ Adèle ความรักไม่มีพรมแดน
– Live For Today ขับร้องโดย Studio Musicians เมื่อ Adèle เดินเข้ามาในบาร์เลสเบี้ยน
– Whistle ขับร้องโดย Sporto Kantes งานเลี้ยงเซอร์ไพรส์วันเกิดของ Adèle
– Visit The Stone แต่ง/ขับร้องโดย Mark G Hart & Stephen Emil Dudas งานเลี้ยงของ Emma รายล้อมไปด้วยเพื่อนที่ Adèle ไม่รู้จะสานความสัมพันธ์อะไร
– Hermano (แปลว่าพี่น้อง) ขับร้องโดย El Timba ฉากที่ Adèle เต้นระบำร้อนรักเอวพริ้วกับเพื่อนร่วมงาน อ้างว่าไม่มีอะไรกันแค่พี่น้อง… แต่เชื่อได้ที่ไหน!
ฯลฯ

ในอัลบัมนี้ผมมีความชื่นชอบ Feel it now เป็นพิเศษ เลยเลือกมาให้รับฟังกัน สัมผัสกันได้หรือเปล่าเอ่ยว่าเพราะอะไร?

Hang Drum หรือ Handpan แลดูเหมือนเครื่องดนตรีโบราณพื้นบ้าน หน้าตาเหมือน UFO/กระทะทองแดง แต่เพิ่งถูกคิดค้นขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 2000 โดย Felix Rohner, Sabina Schärer ชาว Switzerland

ในหนังบทเพลง A Que Bueno แต่ง/บรรเลงโดย Klaim ได้ยินครั้งแรกเมื่อ Adèle เดินสวนทาง Emma คือเสียงสัญลักษณ์ถึงความพิศวง ลุ่มหลงใหล ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าคืออะไร, ครั้งสุดท้ายที่ได้ยินคือเมื่อ Adèle เดินจากไป ทั้งสองคงจะร่ำราลาจากกันชั่วนิรันดร์

รายละเอียด Hang Drum: http://handpanthailand.blogspot.com/

บทเพลงที่มีความตราตรึงใจผมที่สุดแล้วคือ BonBon (Guinée) เพลงพื้นบ้าน Traditional Guinean Song ที่มีท่วงทำนองท่าเต้นสนุกสนาน เริงระบำโดยรอด แต่สำหรับ Adèle ภายในกลับเต็มไปด้วยความเจ็บปวดรวดร้าว สีหน้าห่อเหี่ยวหมดเรี่ยวแรง พยายามอย่างยิ่งจะกลบเกลื่อนมิให้ใครๆโดยเฉพาะเด็กๆรับรู้เห็น … มันเป็นเป็นความทรมานของผู้ชม แสดงสีหน้าแบบนี้จะตลอดรอดฝั่งไหมหว่า ลุ้นระทึก กำลังใจให้

ความ Contrast ของ Sequence นี้คือจักรวาลของหนังเลยก็ว่าได้ แบบเดียวกับน้ำเงินควรเป็นสีที่หนาวเหน็บ นี่เป็นช่วงเวลาที่จิตใจตัวละครกำลังเจ็บปวดรวดร้าว กลับต้องมาระบำท่วงทำนองสนุกสนานเฮฮา

La Vie d’Adèle – Chapitres 1 & 2 ชีวิตของ Adèle เริ่มต้นบทหนึ่งตั้งแต่ก้าวเดินออกมาจากบ้าน เปิดโลกกว้าง ค้นหาสิ่งที่คือความต้องการของตัวตนเอง บทสองเรียนเรียนรู้ที่จะตกหลุมรัก ใช้ชีวิตครองคู่ จู่ๆพลัดพรากจาก สูญเสียทุกสิ่งอย่างเพ้อวาดฝันไว้

ถ้าผมตั้งชื่อตอน Chapitres 1: Coming-of-Age มนุษย์ช่วงวัยรุ่น ชอบที่จะลิ้มลองผิด-ถูก ค้นหาอัตลักษณ์ตัวตน รสนิยมทางเพศ วาดฝันถึงเป้าหมายอนาคต และตระเตรียมพร้อมมุ่งสู่

Chapitres 2: Circle of Love เรียนรู้ที่จะตกหลุมรัก ไม่จำต้องเพศชายหรือหญิง แค่บุคคลชื่นชอบลุ่มหลงใหลแท้จริง และฝ่ายตรงข้ามก็รู้สึกเฉกเช่นเดียวกันก็เพียงพอแล้ว ถึงกระนั้นการจะใช้ชีวิตครองคู่อยู่ร่วม จำต้องศึกษาทำความเข้าใจ ฝึกฝนการให้อภัย อดรนทนกลั้นฝืนต่อบางสิ่ง ซึ่งถ้ามันไม่ยิ่งยืนยงก็คงพลัดพรากแยกลาจาก ทางใครก็ทางมัน

วัฒนธรรมตะวันตก ปลูกฝัง เสี้ยมสั่งสอนให้มนุษย์ ใช้ชีวิตอย่างอิสรภาพ เต็มที่ สุดเหวี่ยง สนองกิเลสตัณหา ความต้องการ อารมณ์ เพื่อชีวิตจะไม่ต้องมาระทบเมื่อหวนระลึกนึกย้อนแล้วเศร้าโศกสูญเสียดายภายหลัง ทำวันนี้ให้มีความสุขที่สุดเท่านั้นเป็นพอ, ในเรื่องของความรักก็เฉกเช่นกัน แรกพบสบตา ถูกใจก็ถาโถมเข้าใส่ ไม่ต้องไปหวาดหวั่นฝันถึงอนาคต จะเป็นเช่นไรคงไม่มีใครพยากรณ์ตอบได้

สำหรับวัยรุ่นหนุ่มสาว รับชม La Vie d’Adèle คงเห็นเป็นเรื่องราวโรแมนติกชวนเพ้อฝัน ความรักที่ไม่มีเส้นแบ่งทางเพศกีดขวางกั้น แม้แค่ช่วงเวลาหนึ่งได้เสพสุข ก็เพียงพอแล้วให้ทั้งชีวิตธำรงอยู่ได้ไม่รู้สึกสูญเสียดาย

แต่ความรักที่เป็นดั่งพายุเฮอร์ริเคน เต็มไปด้วยความเร่าร้อนรุนแรง เมื่อกระแสลมพัดผ่านไป สิ่งหลงเหลือไว้เพียงซากปรักหักพัง จิตใจคนก็เฉกเช่นกัน! สภาพของ Adèle เมื่อสูญเสีย Emma มิอาจหวนกลับมาเป็นหญิงสาวร่าเริง บริสุทธิ์ สดใส ภายในจิตใจเต็มไปด้วยความรวดร้าวทุกข์ทรมาน โหยหา เฝ้ารอคอยวันเวลา วาดฝันว่าอนาคตจะสามารถหวนกลับคืนเธอได้สักครั้งก็ยังดี

มุมมองของผม เหตุผลแท้จริงที่ Emma เลิกรากับ Adèle อาจมีเบื้องหลังมาจากพื้นฐานครอบครัวที่แตกต่าง
– Adèle มาจากครอบครัวชนชั้นแรงงาน (Working Class) ถูกเสี้ยมสอนให้ต่อสู้ดิ้นรน ทำในสิ่งรูปธรรมจับต้องได้ ยึดถือมั่นในกฎกรอบ ความเชื่อทางสังคม ผู้หญิงก้มหัวให้ผู้ชาย แต่งงานมีบุตรคือเป้าหมายสูงสุดแห่งชีวิต
– Emma จากครอบครัวชนชั้นกลาง (Middle Class) สอนให้มีความฝัน อุดมการณ์ (นามธรรม) แล้วพุ่งทะยานมุ่งสู่ สำเร็จหรือไม่มิได้สำคัญ เพียงจิตใจเรามีความสุข อิสรภาพเท่านั้นก็เพียงพอแล้ว

นั่นเองที่ทำให้ชื่อ Adèle ภาษาอาราบิกแปลว่า ยุติธรรม มีนัยยะความหมายขึ้นมา, เพราะเธอเป็นตัวแทนชนชั้นแรงงาน มักถูกควบคุมครอบงำ (จากชนชั้นสูงกว่า) ต้องต่อสู้ดิ้นรนเอาตัวรอดเหน็ดเหนื่อยสายตัวแทบขาด น้อยนักจะมากด้วยอุดมการณ์หรือความเพ้อฝัน เพราะเหตุใดทำไมกัน โลกเรานั้นถึงหาความเสมอภาคเท่าเทียมไม่ได้สักนิด!

เมื่อคนชนชั้นแรงงาน นำพาตนเองก้าวสู่โลกชนชั้นกลาง (หรือคนชนชั้นกลาง นำพาตนเองลงสู่ชนชั้นแรงงาน) มันราวกับคนละจักรวาลความคิด อะไรๆก็มักเห็นผิดแตกต่าง อาจเคยครองคู่อยู่ร่วมกันได้สักพักนึง แต่ถึงที่สุดแล้วก็มักมิอาจอดรนทนไหว
– ในมุม Adèle, ฉันต้องการความสนใจ แต่เธอมัวหมกมุ่นอยู่แต่ทำงาน
– ในมุม Emma, ฉันยินยอมรับไม่ได้ที่เธอไร้อุดมการณ์มั่นคงในรัก ทำตัวร่านราคะเหมือนโสเภณีชั้นต่ำ

นี่เรียกว่าความไม่เพียงพอดีระหว่างชนชั้น สามารถบรรจบแต่มิอาจเคียงคู่ขนาน สุดท้ายก็ต้องแยกจากทางใครก็ทางมัน … ไหนละความยุติธรรม นั่นไม่มีวันเกิดขึ้นในสังคมโลกมนุษย์อย่างแน่นอน

ทุกสิ่งอย่างที่รับเรียนรู้ ประสบพานพบเจอในชีวิต ทำให้ Adèle ต้องการเป็นครูอาจารย์ สอนไม่เพียงวิชาความรู้แก่เด็กๆ แต่ยังปลูกฝัง สร้างค่านิยม โลกทัศนคติใหม่ๆ ไม่ให้พวกเขาจมปลักอยู่ในกฎกรอบทางความคิด ระเบียบแบบแผน ขนบวิถีสังคมที่เคยยึดถือปฏิบัติมา อย่างหนึ่งก็เรื่องพรมแดนเพศศึกษา กว่าจะเกิดความเข้าใจ ทดลองผิด-ถูก ตกหลุมรัก-พลัดพรากจาก คงเป็นประโยชน์อย่างมากให้กับคนรุ่นถัดๆไป สามารถค้นพบตัวตนเองได้ไวๆ

ผู้กำกับ Abdellatif Kechiche เป็นชาวตูนิเซีย อพยพย้ายมาปักหลักตั้งถิ่นฐานยังประเทศฝรั่งเศส แน่นอนว่าย่อมถูกแบ่งแยกด้วยความแตกต่าง สีผิว ชนชั้น ฐานะ บิดาซึ่งประกอบอาชีพก่อสร้าง กรรมกรแรงงาน ไม่ต่างจากครอบครัว Adèle พยายามควบคุมครอบงำ เสี้ยมสอนสั่งโลกทัศนคติเกี่ยวกับการต่อสู้ดิ้นรน ยึดถือมั่นในกฎกรอบ ทำในสิ่งรูปธรรมจับต้องได้ แต่ตัวตนของเขาก็เหมือนหญิงสาว ค้นพบเจออิสรภาพทางความคิด รสนิยมในงานศิลปะชั้นสูง ซึ่งนั่นทำให้จิตวิญญาณก้าวสู่ความเป็นชนชั้นกลางของสังคม

Kechiche ไม่ใช่เกย์ ไม่ได้เบี่ยงเบน แต่มักถูกสังคมแบ่งแยก ไม่ยินยอมรับเข้าพวก นี่ลุกลามมาถึงผลงานภาพยนตร์ที่ผู้ชมส่วนใหญ่มัก ชอบครึ่ง-ไม่ชอบครึ่ง ทั้งๆเรื่องพรรค์นี้ไม่ควรเกิดขึ้นในฝรั่งเศส/ยุโรปอีกแล้ว แต่ก็ต้องยินยอมรับว่า ‘Racism’ ไม่มีวันหมดสูญหายไปจากโลก

น้ำเงินคือโทนสีเย็น แต่เมื่อตั้งชื่อหนังว่า Blue Is the Warmest Colour อาจสื่อได้ถึงชีวิตที่มีทั้งร้อนๆหนาวๆ ฝนตก-แดดออก เดี๋ยวสุข-เดี๋ยวทุกข์ จำเป็นต้องทดลองผิด-ถูก กระทำสิ่งดี-ชั่ว พบเจอตกหลุมรัก-เลิกราพลัดพรากจาก ไม่ว่าจะหญิง-ชาย ล้วนแล้วแต่ตัวคุณจะครุ่นคิดเข้าใจด้วยตนเอง


เข้าฉายเทศกาลหนังเมือง Cannes ได้รับการยืนปรบมือ และคว้ารางวัล
– Palme d’Or
– FIPRESCI Prize (รางวัลจากนักวิจารณ์)

ซึ่งประธานคณะกรรมการปีนั้น Steven Spielberg ตัดสินใจมอบรางวัล Palme d’Or ให้กับสองนำแสดงนำ Léa Seydoux และ Adèle Exarchopoulos เคียงคู่ผู้กำกับ Abdellatif Kechiche

“The film is a great love story that made all of us feel privileged to be a fly on the wall, to see this story of deep love and deep heartbreak evolve from the beginning. The director did not put any constraints on the narrative and we were absolutely spellbound by the amazing performances of the two actresses, and especially the way the director observed his characters and just let the characters breathe”.

– Steven Spielberg

ด้วยทุนสร้าง €4 ล้านยูโร ทำรายรับทั่วโลก $19.5 ล้านเหรียญ แถมยอดขาว DVD/Blu-ray ในสหรัฐอเมริกาสูงถึง $3.5 ล้านเหรียญ ถือว่าประสบความสำเร็จไม่น้อยทีเดียว

ช่วงปลายปีได้เข้าชิง Golden Globe: Best Foreign Language Film และ BAFTA Award: Best Film Not in the English Language แต่หลุด Oscar เพราะคณะกรรมการ Academy หาข้ออ้างว่า หนังเข้าฉายในฝรั่งเศสช้ากว่าข้อกำหนดตั้งไว้ก่อนเดือนตุลาคม (หนังเข้าฉาย 9 ตุลา)

ส่วนตัวชื่นชอบหนังมากๆ แต่ไม่ใช่ความโรแมนติก สัมพันธ์เลสเบี้ยน Male Gaze หรือ Sex Scene แต่คือวัฎจักรของเรื่องราว เพราะรักมาก(เกิน)พอแยกจากเลยคลุ้มคลั่งเสียสติ และด้วยไดเรคชั่นผู้กำกับ Abdellatif Kechiche สมทุกรางวัลได้รับมา

มองมุมหนึ่ง Blue Is the Warmest Colour นำเสนอจักรวาลแห่งความรัก ที่ทุกสิ่งอย่างล้วนเป็นไปได้ พบเจอ-พลัดพรากจาก … แต่ผมเห็นหนังคือสัจธรรมของบุคคลผู้ยังคงลุ่มหลงใหล หมกมุ่นในกิเลสกาม ไม่รู้จักเพียงพอดีในความรัก สุดท้ายได้รับผลลัพท์ตอบสนองเทียบเท่าทุกสิ่งอย่างมอบให้ไป

แนะนำคอหนังรักโรแมนติก เลสเบี้ยน หญิง-หญิง, แนว Coming-of-Age การเติบโตก้าวข้ามวัย ค้นพบตัวตนเอง, ลุ่มหลงใหล Graphic Novel ของ Julie Maroh และแฟนๆนักแสดง Léa Seydoux, Adèle Exarchopoulos ไม่ควรพลาด

จัดเรต 18+ กับฉาก Sex Scene ยาวนานและโจ๋งครึ่ม

คำโปรย | La Vie d’Adèle – Chapitres 1 & 2 คือจักรวาลความรักของคนสอง งดงาม ซาบซึ้ง ถึงก้นเบื้องในจิตใจ
คุณภาพ | ร์พี
ส่วนตัว | ชื่นชอบ

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: