Lady Bird (2017) : Greta Gerwig ♥♥♥♥
ตัวละคร Lady Bird ของ Saoirse Ronan คือ Alter Ego ของผู้กำกับ Greta Grewig หญิงสาวเป็นดั่งนกในกรงที่ดิ้นรนไขว่คว้าหาอิสรภาพ แต่เมื่อครั้นได้รับโอกาสตีปีกโบยบิน กลับหวนระลึกนึกอยากจะย้อนคืนสู่บ้านเก่าหลังเดิม, “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย”
ขึ้นเกริ่นนำลักษณะนี้อาจฟังดูโหดร้ายไปเสียหน่อย แต่มนุษย์เรามักมีสองประเภทเสมอ
– คนที่ก้าวไปข้างหน้าตลอดเวลา ไม่เคยคิดหันย้อนกลับมองดูอดีตของตนเอง
– คนย่ำอยู่กับที่ คิดสำนึกรักบ้านเกิด เมื่อถึงจุดๆหนึ่งก็มักหวนย้อนคืนกลับมา
Lady Bird เป็นภาพยนตร์ที่สร้างความรู้สึก ‘Nostalgia’ ชักชวนให้ผู้ชมหวนระลึก สำนึกรักบ้านเกิด ต่อสถานที่ที่เราเติบโตใช้ชีวิตตั้งแต่เด็กจนเป็นผู้ใหญ่ ต่อให้คำพูดการแสดงออกจะปฏิเสธต่อต้านดื้อรั้นขนาดไหน แต่เมื่อถึงคราต้องออกเดินทางจากไปใช้ชีวิตต่างแดน ย่อมจักมีความคิดถึงคำนึงโหยหา รู้งี้ไม่น่าโบกมือจากอำลามาเสียเลย
Greta Celeste Gerwig (เกิดปี 1983) นักแสดง/ผู้กำกับสัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Sacramento, California, แม่ชื่อ Christine เป็นพยาบาลในแผนกสูตินรีแพทย์ ส่วนพ่อทำงานบริษัทเกี่ยวกับการกู้ยืมเล็กๆ พี่ชายเป็นสถาปนิก (Landscape Architecture) ครอบครัวเลี้ยงดูแบบ Unitarian Universalist เข้าเรียนที่ St. Francis High School โรงเรียนคาทอลิกหญิงล้วน มีนิสัยซีเรียสจริงจังแต่สนใจร้องเล่นเต้นเข้าร่วมการแสดงละครเวทีของโรงเรียน โตขึ้นย้ายไป New York City เข้าเรียน Barnard College จบสาขาภาษาอังกฤษและปรัชญา
Gerwig มีความต้องการอยากเป็นนักเขียนบทละคร แต่เพราะสอบเข้าคณะนั้นไม่ได้ เลยเอาเวลาว่างเข้าเรียนการแสดง จนได้รับเลือกสมทบเล็กๆในภาพยนตร์เรื่อง LOL (2006) พอมีบทบาทนิดหน่อยกับ Hannah Takes the Stairs (2007), Nights and Weekends (2008) เมื่อรู้จัก Noah Baumbach กลายเป็นเพื่อนสนิท มีผลงานร่วมกันอาทิ Greenberg (2010), Frances Ha (2013) ได้เข้าชิง Golden Globe: Best Actress – Comedy and Musical, Mistress America (2015) ฯ
สำหรับ Lady Bird เป็นผลงานกึ่งๆอัตชีวประวัติของ Gerwig ที่แอบซุ่มพัฒนามาสักพัก ซึ่งพอ Baumbach รับรู้เรื่องเข้าก็อยากมีส่วนร่วม เสนอตัวกำกับและร่วมพัฒนาบท แต่เธอบอกปัดเพราะอยากสร้างเรื่องราวนี้ด้วยตนเองทั้งหมด รวมแล้วใช้เวลาเป็นปีๆ บทความยาวกว่า 350 หน้ากระดาษ มี Working Title ตั้งชื่อว่า Mothers and Daughters
กระนั้นตัวละคร/เรื่องราวในหนังเรื่องนี้ Grewig ให้สัมภาษณ์บอกว่า ไม่มีอะไรเหมือนตัวจริงของเธอเลย
“Lady Bird is the opposite of how I was in Catholic school. I was a real rule-follower and a people-pleaser and a gold star-getter,”
ครั้งหนึ่งกับอีกนิตยสารที่ให้สัมภาษณ์
“[Lady Bird is] the girl I wished I could’ve been, in a way”.
ส่วนผสมของหนัง รับอิทธิพลเต็มๆจาก The 400 Blows (1959), Boyhood (2014) ขณะที่ไดเรคชั่นบางส่วนคล้ายคลึงกับ The Graduate (1967), Bonnie and Clyde (1967) ฯ
เรื่องราวของ Christine ‘Lady Bird’ McPherson นักเรียนหญิง ม.6 ในโรงเรียนสอน Catholic แห่งหนึ่งใน Sacramento, California [ถึงหนังไม่ได้บอกชื่อสถานที่ไว้ แต่สามารถคาดเดาได้คือ St. Francis High School โรงเรียนสมัยวัยเด็กของผู้กำกับ] เธอเป็นวัยรุ่นแก่นแก้วหัวขบถที่เอาแต่ใจตนเอง หลงใหลคลั่งไคล้นิยมในสังคมเมือง ต้องการไปเรียนต่อให้ไกลจากบ้าน ใกล้สถานที่แห่งอารยธรรม กระนั้นครอบครัวของ Lady Bird กำลังประสบปัญหามากมาย พ่อถูกไล่ออกจากงาน พี่ชายยังหางานมั่นคงทำไม่ได้ ค่าใช้จ่ายในบ้านแทบไม่พอกิน จะเอาปัญญาที่ไหนส่งเสียได้ไกลขนาดนั้น แต่นี่เป็นสิ่งที่เด็กสาวใคร่สนใจฟังเสียที่ไหน
Saoirse Una Ronan (เกิดปี 1994) นักแสดงหญิงสัญชาติ Irish-American เกิดที่ The Bronx, New York, ทั้งพ่อ-แม่ ต่างเป็นนักแสดงละครเวที ทำให้ตั้งแต่เด็กมีความสนใจด้านนี้ เคยมาคัดเลือกในบท Luna Lovegood แฟนไชร์ Harry Potter เห็นว่าเข้ารอบลึกๆทีเดียว, แสดงภาพยนตร์เรื่องแรก I Could Never Be Your Woman (2007), โด่งดังพลุแตกกับ Atonement (2007) เข้าชิง Oscar: Best Supporting Actress, ผลงานเด่นอื่นๆ อาทิ The Lovely Bones (2009), Hanna (2011), The Grand Budapest Hotel (2014), Brooklyn (2015) ฯ
วัยรุ่นเป็นช่วงเวลาหัวเลี้ยวหัวต่อของชีวิต ส่วนหนึ่งเกิดจากฮอร์โมนคัดหลั่งเพื่อเร่งพัฒนาการเปลี่ยนแปลง ทั้งเรือนร่างกายและทัศนคติความคิดอ่าน รวมถึงความต้องการค้นหาสิ่งที่เป็นอัตลักษณ์ของตนเอง พ่อ-แม่ตั้งชื่อให้ Christine ไม่ชอบ ขอเรียกตัวเองว่า Lady Bird ไม่เหมือนใคร ย้อมผมแดงเด่นสุดในโรงเรียน อยากรู้อยากเห็นอยากลองทำสิ่งต้องห้ามทุกสิ่งอย่าง ไม่สนฟังคำทัดทาน แต่อายุ 18 มันก็เพียงตัวเลข จนกว่าจะได้เรียนรู้จักการใช้ชีวิต รับผิดชอบตนเอง เมื่อนั้นถึงเรียกได้ว่าเติบโตเป็นผู้ใหญ่อย่างแท้จริง
Ronan พบเจอกับ Gerwig ครั้งแรกที่เทศกาลหนัง Toronto Film Festival เมื่อปี 2015 ทั้งคู่ต่างมาโปรโมทหนังที่ตัวเองนำแสดง ซึ่งก่อนหน้านี้ Ronan ได้รับบทหนังมาอ่านพิจารณาแล้วเกิดความชื่นชอบอย่างยิ่ง พวกเธอพูดคุยและแลกเปลี่ยนทดสอบบทสนทนาของตัวละคร แค่เพียงหน้า 2 ของบทเท่านั้น ทำให้ Grewig รับรู้โดยทันทีว่าพบเจอ Lady Bird เข้าให้แล้ว
ผมยังคงจดจำภาพลักษณ์ของ Ronan ในบท Briony เรื่อง Atonement ไม่ลืมเลือน ความแก่นแก้วหัวขบถยังคงคล้ายเดิมไม่ต่างนัก แต่ด้วยวัยวุฒิที่เติบโตขึ้นทำให้เห็นพัฒนามิติของทั้งตัวละครและนักแสดงอย่างน่าทึ่ง แถมเธอเพิ่งผ่านพ้นวัยรุ่นมาไม่นาน ส่วนหนึ่งคงนำจากประสบการณ์ตรง และภาพลักษณ์ยังคงดูเหมือนสาวอายุ 18 ปี (Ronan อายุ 23 แล้วนะ) เครื่องสำอางค์บางครั้งไม่จัดมาก จะเห็นสิวดำๆธรรมชาติเต็มหน้าเลย
ภาพ Graffiti ช็อตนี้เจ๋งดีนะ สะท้อนความเป็นตัวของตัวละครได้ชัดเจนมากๆ ทั้งนกและภาพผู้หญิงทั้งสอง
Laura Elizabeth ‘Laurie’ Metcalf (เกิดปี 1955) นักแสดงหญิงสัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Carbondale, Illinois, จากเคยคิดเป็นเลขานุการ/นักแปลภาษา แต่ไปๆมาๆเลือกเรียนสาขาการแสดง จบจาก Illinois State University รุ่นเดียวกับ John Malkovich เริ่มจากเป็นนักแสดงละครเวทีจนมีชื่อเสียงพอสมควร ตามด้วยบทเล็กๆในภาพยนตร์และโทรทัศน์ อาทิ JFK (1991), A Dangerous Woman (1993), Leaving Las Vegas (1995) ฯ
รับบท Marion McPherson แม่ของ Lady Bird มีลักษณะขั้วตรงข้ามกับพ่อ Larry McPherson (รับบทโดย Tracy Letts) ที่มีความสุภาพ นุ่มนวล จิตใจอ่อนโยน, Marion เป็นคนตรงไปตรงมา หยาบกระด้าง มองโลกในแง่ร้าย หน้านิ่วคิ้วขมวดเครียดตลอดเวลา แต่เวลาพูดตรงออกมาจากใจ ทำให้มักมีเรื่องโต้เถียงขัดแย้งทะเลาะกับลูกสาวอยู่บ่อยครั้ง
ทำงานเป็นพยาบาลเข้ากะ เงินน้อยนิดแต่ต้องเลี้ยงดูทั้งครอบครัว (เพราะพ่อตกงาน) คาดหวังอยากให้ลูกๆอยู่ใกล้ตัว เพื่อจักได้เลี้ยงดูแลซึ่งกันและกัน รับไม่ได้เมื่อลูกสาวคนเล็กพยายามตีตนออกห่าง แต่เธอก็มิสามารถเหนี่ยวรั้งเสรีภาพนั้นได้อยู่แล้ว
Gerwig เลือก Metcalf หลังจากชมการแสดงละครเวทีเรื่องหนึ่ง คงเพราะโดดเด่นในการแสดงความหัวดื้อรั้นและเกรี้ยวกราด แต่ลึกๆแล้วมีความอ่อนไหวอ่อนโยน แค่ไม่รู้จะแสดงความปรารถนาดีนั้นออกมาเช่นไร
ถ้าปีนี้ไม่มี Allison Janney จาก I, Tonya ส่วนตัวคิดว่า Metcalf น่าจะมีแนวโน้มสูงในการคว้า Oscar: Best Supporting Actress โดดเด่นมากกับฉากขับรถวนรอบสนามบิน น้ำตาของเธอและผู้ชมจะค่อยๆหลั่งไหลรินออกมาโดยไม่รู้ตัว
แต่ผมชอบฉากนี้มากกว่า ตอนที่แม่ลูกไปซื้อชุดเพื่อเตรียมตัวไป Prom Night ขณะกำลังทดลองเปลี่ยนชุด แปลงภาพลักษณ์ตัวเองไปเรื่อยๆ แม่พูดว่า
“I want you to be the very best version of yourself that you can be.”
ขณะที่ Lady Bird ตอบว่า
“What if this is the best version?”
นอกจากสีชุดแดง-น้ำเงิน ที่แตกต่างกันของทั้งคู่แล้ว ช็อตนี้ยังยืนตั้งฉาก 90 องศา นี่คือการหันเผชิญหน้าของพวกเขาที่ใกล้ชิดสุดแล้ว (ปกติจะหันกันคนละทิศ ไม่ก็ 180 องศา)
สำหรับสองนักแสดงหนุ่มสมทบ ความหล่อเอาไปคะแนนเต็ม การแสดงพอให้พูดถึงได้นิดหน่อย
Lucas Hedges (เกิดปี 1996) นักแสดงหนุ่มสัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Brooklyn Heights, New York เข้าสู่วงการด้วยบทสมทบ Moonrise Kingdom (2012), เข้าชิง Oscar: Best Supporting Actor เรื่อง Manchester by the Sea (2016)
รับบท Danny O’Neill แฟนหนุ่มคนแรกของ Lady Bird ผมคงไม่สปอยว่าทำไมถึงเลิกกัน แต่ต้องบอกว่าใบหน้าของ Hedges คือเหมือน … มากๆ หล่อบาดใจเกินไปก็มักมีภาพลักษณะนี้สินะ, เห็นว่า Grewig ให้สิทธิ์ Hedges เลือกเองเลยว่าอยากเล่นบทไหน ซึ่งตัวเขาตอบรับเอาบทนี้ ฮืม!!
ฉากที่พวกเขาเลิกกัน แล้วมีโอกาสหวนกลับมาพบเจอครั้งหนึ่ง ณ ประตู(ด้านหลัง)ร้านกาแฟ, สังเกตผนังพื้นหลังช็อตนี้เป็นก้อนอิฐ ให้สัมผัสเหมือนกำแพงที่กั้นขวางความรู้สึกระหว่างพวกเขา
Timothée Hal Chalamet (เกิดปี 1995) นักแสดงหนุ่มสัญชาติอเมริกัน หลังจากโด่งดังกับซีรีย์ Homeland สมทบเรื่อง Interstellar (2014), เข้าชิง Oscar: Best Actor เรื่อง Call Me by Your Name (2017)
รับบท Kyle Scheible หนุ่มหล่อสุดเซอร์ แฟนคนที่สองของ Lady Bird เป็นคนโลกส่วนตัวสูงส่งมากๆ พูดน้อยแต่ล่องลอยไปไกล, หนุ่มๆสาวๆคงกรี๊ดลั่นกับบทแนวๆแบบนี้แน่ แต่ Chalamet ไปให้สัมภาษณ์สักรายการหนึ่ง ยืนกรานว่าตัวจริงไม่ใช่คนแบบนั้นสักกะนิด
แซว: จริงๆมันควรจะกลับตารปัตรกันนะ Chalamet น่าจะรับบท Danny ส่วน Hedges มารับบท Kyle แฟนๆ CMBYN คงได้จิ้นปางตาย
ถ่ายภาพโดย Sam Levy ที่ Gerwig ชื่นชอบประทับใจจากการเคยร่วมงานกันมาเรื่อง Frances Ha (2012), Maggie’s Plan (2015), Mistress America (2015) ให้โจทย์ว่า ต้องการงานภาพให้มีสัมผัสคล้ายความทรงจำ ‘feel like memory’
หนังมีการปรับโทนสีเล็กน้อย เหมือนจะลดน้ำเงินลงเพื่อให้เหลืองและแดงโดดเด่นขึ้น แต่ก็ไม่ถึงขั้นชัดเจนจัดจ้าน หรือดูเก่าเกรอะเกินไป คล้ายภาพถ่ายที่มีอายุประมาณ 10 ปี แค่เพิ่มเริ่มออกโทนเหลืองเก่า แต่ยังไม่ดึกดำบรรพ์เท่าไหร่
ความละเมียดละไมในไดเรคชั่นของผู้กำกับ Gerwig คือการกำกับทิศทางของตัวละคร, ใครเคยรับชม The Graduate (1967) น่าจะจดจำไดเรคชั่น การเดินจากขวาไปซ้าย (<-) มีนัยยะถึงการเลือกชีวิตผิดทิศทาง ซึ่งหนังแทบทั้งเรื่องสังเกตได้เลยว่า Lady Bird จะเดินไปฝั่งซ้ายโดยตลอด และยังมีแซวด้วยคำพูดด้วยว่า บ้านตั้งอยู่ ‘wrong side of the tracks.’, เว้นแต่ช่วงท้ายเมื่อเธอเดินทางถึง New York จะมีขณะหนึ่งหลังจากยินยอมรับชื่อตนเองที่พ่อ-แม่ตั้งให้ Christine จะเดินจากซ้ายไปขวา (->) เป็นการบอกว่าชีวิตของหญิงสาวกำลังเดินไปในทางที่ถูกต้องแล้วสินะ
ไม่เพียงเท่านี้ ขณะสนทนาระหว่างตัวละคร จะมีการกำหนดทิศทางหันหน้า บางครั้งเข้าหา, ตั้งฉาก หรือช็อตนี้ 180 องศา คือต่างมองไปข้างหน้าทั้งคู่ แต่สายตาของพวกเธอสังเกตว่าจะหันเหคนละทิศทาง นั่นมีนัยยะถึงความไม่เข้าใจกันและกัน
หลายครั้งทีเดียวที่หนังถ่ายภาพหน้าตรงจากด้านข้าง Side Walk (เหมือนนั่งอยู่บนรถ แล้วหันมองบ้านคนที่อยู่ด้านข้างสองฝั่งถนน) นี่น่าจะรับอิทธิพลเล็กๆมาจาก Bonnie and Clyde (1967) สะท้อนความพยายามเดินเป็น ‘เส้นตรง’ ของชีวิต
อย่างช็อตนี้ขณะแม่ลูกกำลังเลือกหาชุดสวมใส่ ถ่ายหน้าตรงแต่เหมือนจากด้านข้าง เห็นราวแขวนยาวเรียงคู่ขนานไม่รู้จักจบสิ้น นัยยะสื่อถึง การใช้ชีวิตในยุคสมัยนี้ต้องเลือกจากแบบอย่าง/ชุดที่มีอยู่ หรือเส้นตรงที่ถูกขีดเอาไว้แล้ว
ทั้งชีวิตของหญิงสาว สวมใส่หน้ากากที่ตั้งชื่อว่า Lady Bird ปกปิดฉาบหน้าตัวตนเองไว้ แต่เมื่อเดินทางสู่ New York ได้รับอิสรภาพครั้งแรก เมาปลิ้นเละเทะ เครื่องสำอางค์แต่งหน้าไหลเยิ้มย้อย นัยยะคือหน้ากากใบนั้นกำลังค่อยๆหลอมละลายลง นี่แหละคือตัวตนแท้จริงๆของเธอ
ตัดต่อโดย Nick Houy ใช้มุมมองของ Lady Bird/Christine ทั้งหมด ด้วยคอนเซ็ปที่ว่า ‘Keeping It Tight, Emotional’
ถ้าเป็นหนังสมัยก่อน ตอนที่โลกยังไม่หมุนเร็วเท่าปัจจุบัน จะมีหลายฉากที่มุ่งเน้นขายอารมณ์ จะมีความเยิ่นยาวมากเป็นพิเศษ อย่างตอน Lady Bird อ่านจดหมายขย้ำทิ้งของแม่ (ตอนอยู่ New York แล้ว) ถ้าสร้างขึ้นเมื่อสิบปีที่แล้ว การันตีว่าผู้ชมจะเห็นเธอจะอ่านทุกฉบับจนหมดพร้อมเสียงบรรยาย แล้วน้ำตาร่วงรินหลั่งไหลพรู ไม่น้อยไปกว่า เดอะเลตเตอร์ จดหมายรัก (พ.ศ. ๒๕๔๗) อย่างแน่แท้
แต่ยุคสมัยนี้หลังจาก Boyhood (2014) เพราะปริมาณฟุตเทจที่ถ่ายทำมามันมีมากมายมหาศาล จะตัดต่อยังไงให้สั้นย่อกระชับ เน้นเล่าเรื่องราว ไม่ได้ต้องการบดขยี้บีบอารมณ์ มันเลยจะมีลักษณะแบ่งเป็นตอนๆ ตัดทิ้งไขมันอารมณ์ส่วนเกินออกไป
นี่เป็นเทคนิคที่ก็น่าสนใจดี แต่เพราะความรวดเร็วเกินไป หลายครั้งจึงดูเหมือนความฉาบฉวย, สำหรับคอหนังรุ่นใหญ่หน่อยเชื่อว่าจะขาดความเข้าใจ อารมณ์ร่วม รู้สึกจับต้องไม่ได้แน่ เพราะมันจะเป็นแค่ห้วงๆอารมณ์หนึ่ง ขาดความต่อเนื่อง มาถึงแล้วจากไปอย่างรวดเร็ว ยิ่งฉากตอน Lady Bird อ่านจดหมายแม่ ยังไม่ทันจะได้ซาบซื้งกินใจ หนังก็ตัดไปเหตุการณ์อื่นเสียแล้ว นี่ทำให้ผมตกตะลึงไปเลยนะ มันช่างเป็น My Way ของผู้กำกับ Gerwig เสียจริง
สำหรับเพลงประกอบ มีส่วนผสมอันหลากหลายของ Pop/Rock/Classical ร่วมสมัยนั้น และบทเพลงแต่งขึ้นใหม่โดย Jon Brion เน้นความเรียบง่าย บางครั้งแค่กีตาร์ตัวเดียว สะท้อนห้วงอารมณ์ความรู้สึกของตัวละครออกมาได้
Title Credit เป็นบทเพลงพรรณาตัวตน ลักษณะนิสัยของ Lady Bird ออกมาได้อย่างตรงไปตรงมา โดดเด่นกับเสียงกีตาร์ เน้นขาลงเป็นจังหวะ มีความกวนๆเป็นเอกลักษณ์โดดเด่นเฉพาะของตัวละคร
ผมชอบเสียงเปียโนไล่เสียงขึ้นลงของบทเพลง Drive Home มากๆเลยละ พริ้วไหวราวกับสายน้ำ แต่บทเพลง LB/Danny กึกก้องกังวาลเหมือนเสียงน้ำยิ่งกว่าอีกนะ
(หาแยกให้ฟังไม่ได้ มีแต่ Soundtrack Preview ตัดมาสั้นๆทุกเพลง ได้อารมณ์ไปอีกแบบ)
บทเพลงชื่อ Fred Astaire ขับร้องโดย Adam Brock ในวงดนตรีที่เล่นวัน Thanksgiving, คอหนังหลายคนพอเห็นชื่อเพลงย่อมนึกถึง Astaire & Rogers อย่างแน่นอน และมีท่อนคำร้องหนึ่งร้องว่า
“She’ll be my Ginger Rogers And I’ll be her Fred Astaire”
คู่รักในจอ Astaire & Rogers มักคือความเพ้อฝันของผู้ชมไม่ว่าจะยุคสมัยไหน อยากได้ครองคู่กันแบบพวกเขา นัยยะของบทเพลงนี้น่าจะสื่อถึงความเพ้อฝันในรักเช่นกัน
Lady Bird คือเรื่องราวของเด็กหญิงสาววัยรุ่น ที่กำลังโหยหายอิสรภาพของตนเอง ต้องการพบเจอชีวิตที่ดีกว่า โดยมิเคยใคร่คำนึงสนใจใยดีสิ่งรอบตัวเองนัก ซึ่งเมื่อวันนั้นมาถึงโบยบินไปถึง New York City ดื่มด่ำกับค่ำคืนแรกจนเลยเถิดเมามายไปเสียหน่อย ตื่นเช้าขึ้นมาสะลึมสะลือจึงเริ่มครุ่นคิดตระหนักได้ นี่ฉันบินมาไกลไปไหม เกิดอาการ Home Sick เริ่มคิดถึงบ้าน แต่ชีวิตใหม่ของเธอเพิ่งจะเริ่มต้นเท่านั้นเอง
ข้อดีของการเป็นเด็ก คือการไม่ได้รับรู้ถึงความยากลำบากของชีวิต อยากทำอะไรก็ตามใจ ขึ้นเสียงโวยวาย ไม่ต้องใช้ความรับผิดชอบมากนัก เงินทองก็แบมือขออย่างเดียว เพียงแค่ชีวิตประหนึ่งคล้ายนกในกรง ต้องอยู่ในกฎกรอบระเบียบข้อตกลงของพ่อ-แม่ ผู้ปกครองที่วางแนวทางชี้นำไว้
แต่เมื่อไหร่อายุครบถ้วน 18 บริบูรณ์ จนถึงวัยต้องออกจากบ้าน เรียนรู้จักการต่อสู้เอาตัวรอดด้วยตนเอง นั่นแหละที่พวกเขาจะถือว่าเติบโตกลายเป็นผู้ใหญ่ บางครั้งอาจเปลี่ยนแปลงไปเป็นคนละคน สิ่งที่เคยเอ่ยกล่าวเพ้อฝันไว้ พบเจอโลกความเป็นจริง จะยังมีสักกี่คนสามารถอดรนต่อสู้ฟันฝ่าเดินไป ไม่ย่อท้อยอมพ่ายแพ้หมดหนทาง
ความเพ้อฝันของ Lady Bird ไม่ได้มีอะไรมากกว่าต้องการเป็นอิสระจากกฎกรอบที่เคยถูกบังคับ ซึ่งเมื่อได้รับการเติมเต็มโดยสมบูรณ์ จึงเกิดความเข้าใจในตนเองอย่างครบถ้วน แทบทุกสิ่งที่พ่อ-แม่ ครู-อาจารย์ เคยว่ากล่าวท้วงทักมาทั้งหลายนั้น ล้วนเป็นความจริงไปเสียหมด ไม่เคยตระหนักว่าตัวเองจะรักมากกับบ้านเกิด Sacramento, California แค่พอจากมาไม่ถึงวันก็ Home Sick คิดถึงโคตรๆแล้ว หวนระลึกถึงความทรงจำครั้นขับรถท่องเมืองด้วยตนเองครั้งแรก ราวกับการได้พบเจอเปิดบริสุทธิ์สู่โลกใหม่ ความสวยงามแอบซ่อนอยู่ในสถานที่พบเห็นเตะตาอยู่ทุกวัน ทำไมถึงเพิ่งมารับรู้ได้เอาตอนนี้
ผู้กำกับ Gerwig สร้างภาพยนตร์เรื่องคงด้วยด้วยอารมณ์ ‘Nostalgia’ หวนระลึกถึงความทรงจำของตนเอง เคยวาดฝันอยากกระพือปีกโบยบิน จนเมื่อเติบโตได้รับอิสรภาพ ถึงปัจจุบันมีอายุพอสมควรแล้ว เริ่มเกิดความรู้สึกโหยหา อยากหวนคืนย้อนวันเวลาและความทรงจำของตนเองกลับไป
Grewig น่าจะเพิ่งมาตระหนักได้สักพักไม่นานก่อนหน้านี้ เลยอยากที่จะชี้ชักนำ เชิญชวนให้ผู้ชมเกิดความตระหนัก รู้สำนึกรักบ้านเกิดเสียตั้งแต่เนิ่นๆ แนะนำแนวคิดว่าอย่ามัวแต่จะมุ่งเข้าเมืองเพื่อความก้าวหน้าประสบความสำเร็จเพียงอย่างเดียว ขอให้หันหลังมองคนเก่าๆที่หลังบ้านบ้าง เคยอยู่ร่วมกันมานานอดีตบางหมางรุนแรงแค่ไหน แต่ก็ไม่มีอะไรให้อภัยกันมิได้
นี่เป็นเรื่องราวที่ Hollywood สมัยนี้ ไม่ค่อยพบเห็นบ่อยครั้งนัก ที่ถึงขนาดสร้างความอิ่มเอมสุขล้นให้กับนักวิจารณ์และผู้ชมอย่างล้นหลาม ‘Universal Acclaim’ เป็นหนังที่ในเว็บมะเขือเน่าเคย 100% ทุบสถิติคะแนนสูงสุดของ Toy Story 2 อยู่หลายวันทีเดียว จนกระทั่งมี Rotten คนแรก เลยเหลือคะแนนเพียง 99%
เกร็ด: คำว่า Lady Bird เคยเป็นชื่อเล่นของ Claudia Alta Taylor Johnson ภรรยาของประธานาธิบดี Lyndon B. Johnson (วาระ 1963 – 1969) [แทนที่ปธน. John F. Kennedy ที่ถูกยิงเสียชีวิต] แต่หนังไม่ได้มีความเกี่ยวข้องหรืออ้างอิงถึงกันเลยนะ
ด้วยทุนสร้าง $10 ล้านเหรียญ เหมือนจะได้กำไรคืนมาพอสมควรแล้ว เข้าชิง Oscar 5 สาขา แต่ดูแล้วความหวังริบหรี่น่าจะไม่ได้สักรางวัล
– Best Motion Picture of the Year
– Best Directing (Greta Gerwig)
– Best Actress (Saoirse Ronan)
– Best Supporting Actress (Laurie Metcalf)
– Best Original Screenplay
ส่วนตัวแค่ชื่นชอบหนังเรื่องนี้ กับไดเรคชั่นของ Greta Gerwig และการแสดงอันทรงพลังของ Saoirse Ronan แต่ผมกลับรู้สึกว่านี่มันหนังวัยรุ่นเอาแต่ใจมากเกินไปเสียหน่อย มองในมุมผู้ใหญ่รู้สึกน่ารำคาญมากกว่าอยากจะเข้าใจ และสัมผัสทางอารมณ์ที่จับต้องไม่ค่อยได้ ชวนให้หงุดหงิดใจอย่างยิ่งเลย
กระนั้นหนังยังคงควรค่า “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย” โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับวัยรุ่น 14-15 เป็นอย่างน้อย ที่ยังไม่ค่อยเรียนรู้เข้าใจอะไรๆต่อครอบครัวตนเองนัก นี่อาจทำให้พวกเขาเติบโตกลายเป็นผู้ใหญ่ขึ้นทันทีโดยไม่รู้ตัวเลยก็ได้
สำหรับผู้ใหญ่ คงยังมีหลายคนที่ปิดกั้นไม่สนฟังความข้างเดียว ลองเปิดหัวใจคุณออก ทำความเข้าใจเหตุผลที่ทำไมลูกๆถึงทำตัวหัวขบถขัดแย้ง ที่มาที่ไปล้วนจากตัวคุณเองทั้งนั้น, ตัวอย่างของ Lady Bird โชคดีที่ยังเบาและอยู่ในกรอบ เลวร้ายหนักคือคบเพื่อนชั่ว นักเลงอันธพาล ติดยา ถ้าลูกของคุณกลายเป็นแบบนั้นเพราะความไม่สนใจ คิดว่าจะรับไหวหรือไง
จัดเรต 15+ กับภาษาคำหยาบคาย พฤติกรรมบ้าบอคอแตก และความร่าน Sex
Leave a Reply