Love in the Afternoon (1972) : Éric Rohmer ♥♥♥♡
ภาพยนตร์เรื่องสุดท้ายของ ‘Six Moral Tales’ ชักชวนผู้ชมตั้งคำถาม จุดไหนถือเป็นการคบชู้นอกใจ? ตั้งแต่ครุ่นคิดเพ้อฝัน เริ่มสานสัมพันธ์หญิงอื่น หรือถึงขั้นร่วมรักหลับนอน ต่อให้อ้างว่าฉันบริสุทธิ์ใจ ยึดถือมั่นในศีลธรรม แต่คนพรรค์นี้มีความน่าเชื่อถือตรงไหนกัน?
ในพุทธศาสนา การทำผิดศีลข้อสาม กาเมสุมิจฺฉาจารา มีอยู่ด้วยกัน 4 องค์ประกอบ ต้องทำครบหมดถึงเรียกว่าศีลขาดทะลุ แต่ถ้าผิดแค่บางข้อจะแค่ถือว่าทำให้ศีลด่างพร้อย
- อคมนียวตฺถุ = วัตถุที่ไม่ควรไป
- เข้าไปยุ่งเกี่ยวพัวพันกับวัตถุ/สถานที่/สถานการณ์ที่มีความเสี่ยง
- ตสฺมึ เสวนจิตฺตํ = จิตคิดจะเสพ
- ครุ่นคิดจินตนาการ เพ้อฝันอยากจะคบชู้นอกใจ
- เสวนปโยโค = เพียรจะเสพ
- มีความมุ่งมั่นพยายาม สานสัมพันธ์ด้วยเหตุผลการคบชู้นอกใจ รวมถึงกอดจูบลูบไล้
- มคฺเคนมคฺคปฏิปตฺติ อธิวาสนํ = พอใจทำมัคคให้ล่วงมัคค
- วินาทีที่ทำการร่วมประเวณี เพศล้ำเพศ
ถ้าเอาคำตอบตามหลักพุทธศาสนา พระเอกของ Love in the Afternoon (1972) ยังไม่ถือว่ากระทำผิดศีลธรรมนะครับ แต่วิธีคิดนี้อาจไม่ใช่สำหรับศาสนาอื่น หรือค่านิยมทางสังคมอื่น บางคนมองว่าแค่ครุ่นคิดนอกใจก็แสดงถึงความไม่ซื่อสัตย์มั่นคง ยิ่งถ้ามีประจักษ์พยาน ภาพถ่ายหลักฐาน เข้าโรงแรมกับหญิงอื่น โลกสมัยนี้มันจะมีจริงๆหรือบุคคลที่ไม่ยินยอมร่วมประเวณี
Love in the Afternoon (1972) หรือ Chloé in the Afternoon (1972) คือบทเรียนสุดท้ายของ ‘Six Moral Tales’ ที่ไม่เพียงอัญเชิญนักแสดงจากทั้งห้าเรื่องก่อนหน้ามาปรากฎในความเพ้อฝัน (คล้ายๆแบบ Three Colors: Red (1994) ที่ผู้กำกับ Krzysztof Kieślowski อัญเชิญนักแสดงจากสองภาคก่อนหน้า) แต่ยังท้าทาย ‘moral’ ของคู่สามีภรรยา ที่แม้ต่างครุ่นคิดนอกใจกันและกัน แต่ถ้ามันไม่เกินเลยเถิดจนถึงเพศสัมพันธ์ ก็อาจยังมีโอกาสคืนดี ครองคู่รักกันอย่างดื่มด่ำอีกครั้ง!
ในแง่คุณค่าทางศิลปะ (artistic value) ภาพยนตร์เรื่องนี้อาจไม่ได้มีเทคนิคนำเสนอที่น่าตื่นตาตื่นใจ เมื่อเทียบผลงานเรื่องก่อนๆหน้า (แต่ก็มีฉากความฝันที่สร้างเซอร์ไพรส์อยู่ไม่น้อย) ไฮไลท์คือการบันทึกภาพวิถีชีวิตผู้คน สภาพท้องถนนกรุง Paris ช่วงทศวรรษ 70s เก็บฝังไว้ใน ‘Time Capsule’ ให้คนรุ่นหลังได้ชื่นเชยชม
Éric Rohmer ชื่อเกิด Jean Marie Maurice Schérer หรือ Maurice Henri Joseph Schérer (1920-2010) นักเขียน นักวิจารณ์ ผู้กำกับภาพยนตร์ สัญชาติฝรั่งเศส เกิดที่ Nancy (บ้างก็ว่า Tulle), Meurthe-et-Moselle ในครอบครัวคาทอลิก (แต่เจ้าตัวบอกว่าเป็นอเทวนิยม) โตขึ้นร่ำเรียนประวัติศาสตร์ วรรณกรรม ปรัชญา และศาสนศาสตร์
ปล. Éric Rohmer เป็นคนไม่ชอบเปิดเผยเรื่องส่วนตัว อย่างชื่อจริงและสถานที่เกิด จงใจบอกกับนักข่าวถูกๆผิดๆ ขณะที่ชื่อในวงการเป็นส่วนผสมระหว่างผกก. Erich von Stroheim และนักเขียน Sax Rohmer (ผู้แต่ง Fu Manchu)
หลังเรียนจบ Rohmer ทำงานครูสอนหนังสือที่ Clermont-Ferrand พอสิ้นสุดสงครามโลกตัดสินใจย้ายสู่กรุง Paris กลายเป็นนักข่าวฟรีแลนซ์ ตีพิมพ์นวนิยาย Les Vacances (1946) ระหว่างนั้นเองเรียนรู้จักภาพยนตร์จาก Cinémathèque Française สนิทสนม Jean-Luc Godard, François Truffaut, Claude Chabrol, Jacques Rivette, จากนั้นเข้าร่วมนิตยสาร Cahiers du Cinéma, โด่งดังจากบทความ Le Celluloïd et le marbre (1955) แปลว่า Celluloid and Marble ทำการสำรวจความสัมพันธ์ระหว่างภาพยนตร์กับศิลปะแขนงอื่น, นอกจากนี้ยังร่วมกับ Chabrol เขียนหนังสือ Hitchcock (1957) เกี่ยวกับศาสตร์ภาพยนตร์เล่มแรกๆที่ทำให้ผู้อ่านตระหนักว่า สื่อชนิดนี้ไม่ได้แค่ความบันเทิงเท่านั้น
Rohmer เริ่มสรรค์สร้างหนังสั้น Journal d’un scélérat (1950), จากนั้นเขียนบท/ร่วมทำหนังสั้นกับ Jean-Luc Godard อยู่หลายเรื่อง, จนกระทั่งมีโอกาสกำกับภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่องแรก Le Signe du lion (1959) แม้ไม่ประสบความสำเร็จสักเท่าไหร่ แต่ก็ถือว่าเป็นหนึ่งในผลงานยุคแรกๆของ French New Wave
สำหรับ Contes Moraux หรือ (Six) Moral Tales ได้แรงบันดาลใจจากโคตรหนังเงียบ Sunrise: A Song of Two Humans (1927) ของปรมาจารย์ผู้กำกับ F. W. Murnau ที่มีเรื่องราวชายหนุ่มแต่งงานครองรักภรรยา แต่แล้วถูกเกี้ยวพาราสีจากหญิงสาวอีกคนจนหลงผิด พอถูกจับได้ก็พยายามงอนง้อขอคืนดี ก่อนจบลงอย่างสุขี Happy Ending
[these stories’ characters] like to bring their motives, the reasons for their actions, into the open, they try to analyze, they are not people who act without thinking about what they are doing. What matters is what they think about their behavior, rather than their behavior itself.
Éric Rohmer
เกร็ด: คำว่า moraliste ในภาษาฝรั่งเศสไม่ได้มีความหมายแบบเดียวกับ moralist (ที่แปลว่าคุณธรรม ศีลธรรม) แต่คือลักษณะความเชื่อมั่นทางความคิดของบุคคล อาจจะอ้างอิงหรือไม่อ้างอิงศีลธรรมจรรยาของสังคมก็ได้ทั้งนั้น หรือเรียกว่าอุดมคติส่วนตน/ความเชื่อส่วนบุคคล
a moraliste is someone who is interested in the description of what goes on inside man. He’s concerned with states of mind and feelings. I was determined to be inflexible and intractable, because if you persist in an idea it seems to me that in the end you do secure a following.
สำหรับคนที่รับชม ‘Six Moral Tales’ มาตั้งแต่ The Bakery Girl of Monceau (1963) ก็น่าจะตระหนักได้ไม่ยากว่าเรื่องสุดท้าย Love in the Afternoon (1972) น่าจะมีเรื่องราวเกี่ยวกับชีวิตครอบครัวหลังแต่งงาน เพราะถ้าทำการไล่เรียงลำดับจะพบว่า
- The Bakery Girl of Monceau (1963) เรื่องราวของนักศึกษาหนุ่ม ชื่นชอบนักศึกษาสาว
- Suzanne’s Career (1963) นักศึกษาหนุ่ม ชื่นชอบหญิงสาววัยทำงาน
- My Night at Maud’s (1969) ชายวัยกลางคน(ตอนต้น) มีความมุ่งมั่นจะแต่งงานกับนักศึกษาสาว
- La Collectionneuse (1967) ชายวัยกลางคน(ตอนต้น) มีแฟนอยู่แล้ว ใช้เวลาช่วงพักร้อนตีตราว่าร้ายวัยรุ่นสาวสมัยใหม่
- Claire’s Knee (1970) ชายวัยกลางคน(ตอนกลาง)กำลังจะแต่งงาน ใช้เวลาพักร้อนละเล่นเกมกับสาวๆวัยรุ่น
- Love in the Afternoon (1972) ชายวัยกลางคน(ตอนกลาง)แต่งงานมีบุตร แต่พร่ำเพ้อถึงชีวิตตอนยังโสด
เรื่องราวของ Frédéric (รับบทโดย Bernard Verley) นักธุรกิจวัยกลางคน มีชีวิตครอบครัวที่สมบูรณ์หลังแต่งงานกับภรรยา Hélène (รับบทโดย Françoise Verley) และบุตรกำลังน่ารักน่าชัง แต่ทุกยามบ่ายเขาจะมีช่วงเวลาว่างสองชั่วโมงที่ไม่รู้จะเอาไปทำอะไร จึงเริ่มครุ่นคิดเพ้อฝัน ใคร่อยากมีชู้รักอย่างใครอื่นบ้าง
แล้วจู่ๆอดีตเพื่อนสาว Chloé (รับบทโดย Zouzou) ก็ปรากฎตัวเข้ามาในออฟฟิศ ชักชวนไปทำกิจกรรมโน่นนี่นั่น แม้สายตาคนอื่นจะมองว่าคือพฤติกรรมของคนรัก/ชู้รัก แต่พวกเขากลับไม่เคยเกินเถิดความสัมพันธ์ จนแล้วจนรอด ก่อนถึงจุดที่ Frédéric ตระหนักว่ามันคือการล้ำเส้น จึงเร่งรีบถอนตัวออกมาโดยพลัน!
Bernard Verley (เกิดปี 1939) นักแสดงสัญชาติฝรั่งเศส เกิดที่ Lille, สำเร็จการศึกษาจาก École des Beaux-Arts (School of Fine Arts) จากนั้นเข้าร่วมคณะการแสดง Théâtre national populaire มีผลงานภาพยนตร์ อาทิ The Milky Way (1969), Love in the Afternoon (1972), The Phantom of Liberty (1974) ฯลฯ
รับบท Frédéric นักธุรกิจ(อะไรก็ไม่รู้)วัยกลางคน แม้มีชีวิตครอบครัวครบถ้วนสมบูรณ์ แต่กลับโหยหาสิ่งสร้างความตื่นเต้นรุกเร้าใจ จินตนาการเพ้อฝันอยากมีชู้รัก ลักลอบกระทำสิ่งนอกใจภรรยา ปล่อยตัวเพลิดเพลินกับ Chloé แต่ท้ายสุดก็ตระหนักว่านั่นไม่ใช่สิ่งถูกต้องเหมาะสม
เกร็ด: นักแสดงที่รับบทภรรยาและลูกๆของ Frédéric ก็คือภรรยาและลูกๆในชีวิตจริงของ Bernard Varley แต่พวกเขาไม่แอบคบชู้นอกใจกันนะครับ (มันแค่เรื่องราวของภาพยนตร์เรื่องนี้)
โดยปกติแล้วภาพลักษณ์ของพระเอกใน ‘Six Moral Tales’ มักเป็นบุคคลที่มี ‘moral’ อันหนักแน่นมั่นคงประดุจภูผา แต่ผมกลับรู้สึกว่า Verley ดูไม่ค่อยมี ‘charisma’ ในส่วนนี้สักเท่าไหร่ ตรงกันข้ามเหมือนคนโอนอ่อนผ่อนปรน ขาดความเชื่อมั่น ถูกโน้มน้าวชักจูงจมูกโดยง่าย … นั่นน่าจะคือความตั้งใจของผกก. Rohmer เพื่อให้ตัวละครเหมือนถูกควบคุมครอบงำโดย Chloé หมิ่นเหม่ที่จะเกินเลยเถิด เกิดความโล้เล้ลังเลว่าจะยังคงมั่น หรือสูญเสีย ‘moral’ ของตนเองไป
การตีความตัวละครของ Verley ถือว่ายอดเยี่ยมมากๆ สามารถถ่ายทอดความรู้สึกภายในออกทางสีหน้า อากัปกิริยา และภาษากายได้อย่างยอดเยี่ยม
- ครึ่งแรกเริ่มจากใบหน้านิ่งเฉยเฉื่อยชา เฉพาะเวลาอยู่ตัวคนเดียวถึงแสดงอาการเบื่อหน่ายต่อวิถีชีวิตประวัน (เป็นเหตุให้ครุ่นคิดจินตนาการเพ้อฝัน)
- การมาถึงของ Chloé สร้างความระริกระรี้ สุขกระสันต์ซ่าน พร่ำบอกรัก ฉันขาดเธอไม่ได้ … ส่วนนี้มีความสมจริงมากๆ จนผู้ชมอาจรู้สึกไม่น่าเป็นได้ที่ Verley ปล่อยตัวปล่อยใจขนาดนั้น กลับปฏิเสธที่จะร่วมประเวณีมีเพศสัมพันธ์
- เมื่อ Chloé พยายามล้ำฟางเส้นสุดท้าย ใบหน้าของเขาก็แสดงอาการบูดบึ้ง บิดเบี้ยว หน้านิ่วคิ้วขมวด ไม่พึงพอใจอย่างรุนแรง
- และพอหวนกลับหาภรรยา ใบหน้าดูเศร้าๆ เหมือนคนรับรู้สึกสาสำนึกผิด (แต่หนังจงใจจับจ้องเพียงใบหน้าของภรรยา เหมือนไม่ต้องการให้เห็นน้ำตาลูกผู้ชาย)
Zouzou ชื่อจริง Danièle Ciarlet (เกิดปี 1943) นักร้อง นักแสดง โมเดลลิ่งสัญชาติฝรั่งเศส เกิดที่ Blida, French Algeria เมื่อตอนอายุ 13 สามารถสอบเข้า Académie Charpentier ร่ำเรียนสาขา Plastic Arts, พออายุ 16 เข้าตาศิลปิน Jean-Paul Goude กลายมาเป็นนางแบบ โมเดลลิ่ง ชื่อเล่น ‘Zouzou la twisteuse’ เคยมีความสัมพันธ์กับ Brian Jones (สมาชิกวง Rolling Stones) โด่งดังจากภาพยนตร์ Love in the Afternoon (1972) แต่หลังจากเริ่มเล่นยา ติดคุกติดตาราง ก็ค่อยๆเงียบห่างหายไปจากวงการ
รับบท Chloé สาวไฟแรง รักอิสระ เปลี่ยนผู้ชายไม่ต่างจากเปลี่ยนเสื้อผ้า เต็มไปด้วยเล่ห์เหลี่ยมมารยา ในอดีตคงเคยมีความสัมพันธ์กับ Frédéric เลยพยายามเกี้ยวพาราสี ชี้ชักนำให้เขาตกหลุมรัก ลุ่มหลงใหล ไม่สนว่าอีกฝ่ายมีภรรยาและบุตร ขอแค่เพียงทำฉันตั้งครรภ์ อย่างอื่นก็ไม่สนอีกต่อไป
ในบรรดานางเอกของ ‘Six Moral Tales’ ไม่มีสตรีคนไหนที่ดูเป็น ‘Alpha Female’ ไปมากกว่า Zouzou เอ่อล้นด้วย ‘Charisma’ เล่ห์เหลี่ยมมารยา เรือนร่างกาย และพลังการแสดงที่สามารถควบคุมครอบงำ (dominate) ทำให้หนุ่มๆทั้งหลายต้องศิโรราบอยู่แทบเท้า
ผมแทบไม่รู้สึกว่า Zouzou ทำการแสดง ปรุงปั้นแต่งอะไรให้ตัวละครเลยนะครับ (นอกจากเสื้อผ้าที่เปลี่ยนไม่ซ้ำแบบ) ทั้งหมดคงคือบุคลิก ตัวเธอเองแท้ๆ สาวมั่น รักอิสระ ไม่สนอะไรใครอื่น พร้อมทำทุกสิ่งอย่างเพื่อตอบสนองความต้องการหัวใจ … บทบาท Chloé พัฒนาขึ้นมาเพื่อ Zouzou เลยก็ว่าได้!
ถ่ายภาพโดย Néstor Almendros Cuyás (1930-92) ตากล้องสัญชาติ Spanish เกิดที่ Barcelona แล้วหลบลี้หนีภัย (จากจอมพล Francisco Franco) มาอาศัยอยู่ประเทศ Cuba จากนั้นไปร่ำเรียนการถ่ายภาพยังกรุงโรม Centro Sperimentale di Cinematografia, หวนกลับมาถ่ายทำสารคดี Cuba Revolution (1959) พอถูกแบนห้ามฉายก็มุ่งสู่ Paris กลายเป็นขาประจำผู้กำกับรุ่น French New Wave ร่วมงานขาประจำ Éric Rohmer และ François Truffaut ผลงานเด่นอื่นๆ อาทิ Days of Heaven (1978) ** คว้า Oscar: Best Cinematography, Kramer vs. Kramer (1979), The Blue Lagoon (1980), Sophie’s Choice (1982) ฯ
สำหรับคนที่รับชม ‘Six Moral Tales’ ไล่เรียงมาตั้งแต่เรื่องแรก พอมาถึง Love in the Afternoon (1972) เชื่อว่าส่วนใหญ่อาจรู้สึกผิดหวังเพราะหนังไม่ได้มีงานภาพสวยๆ ทิวทัศน์ธรรมชาติงามๆ เรื่องนี้รายล้อมรอบด้วยผนังกำแพง ตึกระฟ้าสูงใหญ่ ดูสับสนวุ่นวาย ผู้คนมากมายบนท้องถนน
แต่เอาจริงๆมันคือการกลับสู่รากเหง้าของ French New Wave แบบสองหนังสั้นแรกของ ‘Six Moral Tales’ เก็บบรรยากาศกรุง Paris ช่วงทศวรรษ 60s บันทึกวิถีชีวิตผู้คนย่าน Place Saint-Augustin และ Gare de Saint-Lazare เก็บฝังไว้ใน ‘Time Capsule’ ซึ่งสิ่งน่าตื่นตาตื่นใจที่สุดก็คือเทรนด์แฟชั่น รับอิทธิพลเต็มๆจาก Swinging London
ผมแอบรู้สึกเหมือนเป็นการประชดประชัน Jean-Luc Godard ที่มักให้ตัวละครแวะซื้อหนังสือพิมพ์เปิดอ่าน พยายามทำตัวทันยุคทันสมัยอยู่ตลอดเวลา แต่นั่นคือสิ่งแทบไม่เคยพบเจอในผลงานของผกก. Rohmer ส่วนใหญ่มักเป็นหนังสือ วรรณกรรมคลาสสิก
อย่างเล่มนี้ Voyage autour du monde (ค.ศ. 1766-69) แปลว่า Journey Around the World รวบรวมจดบันทึกของ Louis-Antoine de Bougainville (ค.ศ. 1729-1811) พลเรือเอก นักสำรวจชาวฝรั่งเศส แล่นเรือรอบโลกเมื่อปี ค.ศ. 1763 (รุ่นราวคราวเดียวกับนักสำรวจชาวอังกฤษ James Cook) ซึ่งสามารถสื่อถึงการออกเดินทาง โดยสารรถไฟไปทำงานของ Frédéric Carrelet
สำนักงานของ Frédéric สังเกตว่าผนังกำแพงมีการเลือกใช้โทนสีฟ้าอ่อนๆ (กาลเวลาทำให้เฉดสีเหล่านี้ในฟีล์มหนัง ดูซีดเซียวลงมากๆ) เพียงรูปภาพวาด Abstract ที่จะเต็มไปด้วยสีสันหลากหลาย (ภาพวาด สามารถสื่อถึงจินตนาการเพ้อฝันของตัวละคร ซึ่งดูมีสีสัน/ชีวิตชีวายิ่งกว่าอาชีพการงานที่ทำ)
สังเกตว่าหนังไม่มีการพูดกล่าวถึงว่าตัวละครทำอาชีพอะไร แค่รับรู้ว่าเป็นนักธุรกิจ มีเพื่อนร่วมงาน เลขาสาว ประสบความสำเร็จ และเหลือเวลาว่างช่วงบ่าย ซึ่งสามารถสื่อถึง’อุดมคติ’ ชีวิตที่ครบถ้วนสมบูรณ์ของชนชั้นกลาง
ขอกล่าวถึงชุดของ Frédéric ก่อนก็แล้วกัน ช่วงแรกๆมักพบเห็นสวมใส่เสื้อไหมพรมคอเต่า (สามารถสื่อถึงความเย่อหยิ่งทะนงตน) ชื่นชอบโทนสีฟ้าอ่อนๆ (ถือเป็นสีสัญลักษณ์ของความจืดชืด น่าเบื่อหน่าย ไร้ชีวิตชีวา) แต่หลังจากพนักงานขายแนะนำให้เขาลองเสื้อลายสก็อต มันช่างดูโฉบเฉลี่ยว มีสไตล์ (แต่ลักษณะของลายสก็อตคือกรอบสี่เหลี่ยม สามารถสื่อถึงบุคคลที่ธำรงในวิถีความเชื่อ ‘moral’ ประจำใจ)
การเปลี่ยนแปลงสไตล์เสื้อผ้าของตัวละคร สามารถสื่อถึงความต้องการกระทำอย่างอื่นนอกเหนือจากวิถีประจำวัน สิ่งที่สามารถสร้างความตื่นเต้น รุกเร้าใจ แปลกใหม่ และท้าทายตนเอง (‘moral’ ประจำใจ)
กล่องค่อยๆซูมเข้าหาใบหน้าของ Frédéric พร้อมเสียงบรรยายเพื่อจะอธิบายว่าเรื่องราวต่อจากนี้คือฝันกลางวัน/ฝันยามบ่าย ซึ่งสามารถเหมารวมทั้งหมดของ Première partie … หรือใครจะมองว่า เพ้อฝันเฉพาะช่วงที่สาวๆจาก ‘Six Moral Tales’ แวะเวียนมารับเชิญแค่นั้นก็ได้
ถึงจะมีนักแสดงรับเชิญ 6 คน แต่มาจากภาพยนตร์แค่ 3 เรื่องเท่านั้นนะครับ (เพราะนักแสดงจากสองหนังสั้น ไม่ออกจากวงการ ก็ติดต่อไม่ได้อีกแล้ว) และพวกเธอยังถูกนิยามให้เป็นตัวแทนของผู้หญิงประเภทต่างๆ ซึ่งอ้างอิงจากตัวละครที่เคยรับบทบาท
- Françoise Fabian จาก My Night at Maud (1969)
- indifferents เธอผู้ไม่แยแสต่ออะไรใดๆ
- Béatrice Romand จาก Claire’s Knee (1970)
- hurrying มีความเร่งรีบร้อน แม้ยังละอ่อนเยาว์วัยแต่ต้องการเติบโตเป็นผู้ใหญ่ (เกี้ยวพาราสีชายสูงวัยกว่า)
- Marie-Christine Barrault จาก My Night at Maud (1969)
- hestiant เต็มไปด้วยความโล้เล้ลังเล ขาดความเชื่อมั่นใจในตนเอง
- Haydée Politoff จาก La Collectionneuse (1967)
- occupied พยายามมองหาใครสักคน แต่ข้างกายกลับไม่เคยว่างเว้นผู้ชาย
- Laurence de Monaghan จาก Claire’s Knee (1970)
- taken มีคู่ครองที่เป็นเจ้าของอยู่แล้ว
- Aurora Cornu จาก Claire’s Knee (1970)
- lonely ชื่นชอบความสันโดษเดี่ยว ใช้ชีวิตตัวคนเดียว
Chloé ถือเป็นเจ้าแม่แฟชั่นโดยแท้! ชุดของเธอเปลี่ยนแปลงสไตล์ไปเรื่อยๆตามอาชีพการงาน แฟนหนุ่มกำลังคบหา ผมคงไม่ลงรายละเอียดว่าแต่ละชุดสื่อถึงอะไร แต่แนะนำให้สังเกตพัฒนาการเปลี่ยนแปลง จากเสื้อไหมพรมกางเกงยีนส์ (ชุดลำลองสบายๆ) สู่เสื้อเชิ้ตกางเกงสแล็ค (ชุดที่ดูเป็นทางการ) แล้วสวมใส่ชุดกระโปรง (โดยปกติไม่เห็น Chloé สวมกระโปรงเลยนะ จนกระทั่งครุ่นคิดจริงจังว่าจะร่วมรักหลับนอน Frédéric) ถอดออกเหลือชั้นในบางๆ ผ้าเช็ดตัว และเปลือยกายนอนยั่วอยู่บนเตียง
ไคลน์แม็กซ์ของหนังเริ่มต้นที่ Frédéric ก้าวขึ้นบันไดวน (วงเวียน/เขาวงกตของจิตใจ) มุ่งสู่ห้องพัก/รังรักของ Chloé ที่กำลังอาบน้ำ แล้วนอนเปลือยกายบนเตียง เรียกร้องขอเขาให้ถอดเสื้อผ้า แต่เพียงดึงเสื้อขึ้นเหนือศีรษะ (นัยยะถึงการมี ‘moral’ คุ้มหัว) เกิดความตระหนักถึงสิ่งควรมิบังควร แทนที่จะถอดออกกลับดึงลง แล้วตัดสินใจหวนกลับบันไดวน ไม่ต้องการยุ่งเกี่ยวกับเธอคนนี้อีกต่อไป!
ปัจฉิมบทของหนัง สังเกตว่าแทบไม่มีการถ่ายให้เห็นใบหน้าของ Frédéric กลับจับจ้องเพียงภรรยาที่เต็มไปด้วยอารมณ์ เศร้าโศกเสียใจ หลายคนอาจคาดเดาว่าเธอจับได้ว่าเขาแอบคบชู้สาว แต่ผมมองในทิศทางกลับตารปัตร ฟังจากคำพูดเป็นนัยของ Hélène เหมือนว่าก็แอบคบหาชายชู้ ไม่ต่างกัน!
ที่ผมครุ่นคิดเช่นนั้นเพราะภาษาภาพยนตร์ของฉากนี้ สังเกตว่าสองช็อตที่นำมาล้วนมีลักษณะแตกต่างตรงกันข้าม
- ภาพแรก Frédéric ยืนด้านซ้าย Hélène อยู่ฝั่งขวา ตำแหน่งตรงหน้าต่าง พบเห็นทิวทัศน์ภายนอก
- ภาพหลัง Hélène นั่งด้านซ้าย Frédéric นั่งฝั่งขวา ตำแหน่งตรงโซฟา ด้านหลังคือผนังกำแพง
ความแตกต่างตรงกันข้ามของสองช็อตนี้ สะท้อนถึงทุกสิ่งอย่างในหนัง (มักมีสองสิ่งตรงกันข้าม) นำเสนอเรื่องราวผ่านมุมมองของ Frédéric แอบหาอย่างจริงๆจังๆกับ Chloé เช่นนั้นแล้วฟากฝั่งของ Hélène ย่อมต้องเคยกระทำในสิ่งละม้ายคล้ายคลึง (นั่นคือแอบคบหาชายชู้ สานสัมพันธ์ แต่เชื่อว่าน่าจะยังไม่เกินเลยเถิดแบบเดียวกับสามี)
ดังนั้นเหตุผลการนำเสนอฉากนี้เฉพาะใบหน้าฝั่งภรรยา เพราะหญิงสาวแสดงออกทางอารมณ์ได้ชัดเจนกว่าบุรุษ ซึ่งสามารถเหมารวมว่าพวกเขาต่างคบชู้นอกใจกันและกัน แต่ท้ายสุดเมื่อมาพูดคุยเปิดอก (แต่ก็ไม่อธิบายรายละเอียดใดๆ) ก็หวนกลับมาสานสัมพันธ์ คืนดี กระตุ้นอารมณ์ทางเพศ และพร้อมจะมีบุตรคนที่สาม –“
ตัดต่อโดย Cécile Decugis อีกหนึ่งขาประจำของผู้กำกับรุ่น French New Wave โด่งดังจาก Breathless (1960), Shoot the Piano Player (1960), แล้วกลายเป็นขาประจำผู้กำกับ Éric Rohmer ตั้งแต่ My Night at Maud’s (1969), Claire’s Knee (1970), Love in the Afternoon (1972) ฯลฯ
ดำเนินเรื่องผ่านมุมมองสายตา และจินตนาการเพ้อฝันของ Frédéric Carrelet โดยมักเวียนวนอยู่ช่วงยามบ่าย พร้อมเสียงบรรยาย และปรากฎข้อความที่สามารถแบ่งหนังออกเป็นสองส่วน
- Prologue อารัมบท
- แนะนำตัวละคร Frédéric และภรรยา
- กิจวัตรประจำวัน เดินทางไปทำงาน สนทนาเลขาสาว ยามบ่ายรับประทานอาหารกลางวัน เลิกงาน ตกเย็นกลับบ้าน เวียนวนซ้ำไปซ้ำมาอย่างน่าเบื่อหน่าย
- จนกระทั่งบ่ายวันหนึ่งหลังพบเห็นหญิงสาวกอดจูบแฟนหนุ่มอย่างดูดดื่ม จึงครุ่นคิดจินตนาการถึงหญิงสาวจาก ‘Six Moral Tales’ ทั้งห้าเรื่องก่อนหน้า
- Première partie เข้าสู่เรื่องราวหลัก
- การมาถึงของ Chloé ช่วงแรกสร้างความรำคาญใจต่อ Frédéric พยายามชักชวนไปโน่นนี่นั่น
- แต่หลังจากเริ่มสนิทสนมก็เฝ้ารอคอยที่จะพบเจอเธอ พากันไปโน่นนี่นั่น
- จนกระทั่ง Chloé พยายามโน้มน้าวให้เขาร่วมประเวณี มีเพศสัมพันธ์
- เมื่อฟางเส้นสุดท้ายขาดสะบั้น Frédéric จึงหวนกลับหาภรรยา ครอบครองรักกันอีกครั้ง
- FIN
หลายคนอาจรู้สึกว่า Prologue ของหนังค่อนข้างจะน่าเบื่อ แต่นั่นคือความตั้งใจของผกก. Rohmer เพื่อสร้างความรู้สึกเบื่อหน่ายให้กับตัวละคร เป็นเหตุให้บ่ายวันหนึ่งจึงเริ่มจินตนาการเพ้อฝัน ในนั้นสามารถครุ่นคิดทำอะไรก็ได้ คบชู้นอกใจภรรยา เกี้ยวพาราสีหญิงอื่น โดยไม่ต้องสนถูก-ผิด ดี-ชั่ว … แต่โดยไม่รู้ตัว Frédéric กลับยังคงเต็มไปด้วย ‘moral’ หนักแน่นมั่นคงประดุจภูผา
เรื่องราวที่เกิดขึ้นในส่วน Première partie สามารถตีความว่าเป็นเพียงความเพ้อฝันยามบ่าย (แต่ใครจะมองว่ามันคือเรื่องราวปกติก็ได้เช่นกันนะครับ) เพราะการมาถึงของ Chloé ถือว่าไม่มีปี่มีขลุ่ย ไม่มีในช่วงอารัมบท และทั้งหมดดำเนินเรื่องผ่านมุมมองสายตาของ Frédéric เท่านั้น!
เพลงประกอบโดย Arié Dzierlatka (1933-2015) นักแต่งเพลงสัญชาติ Belgian เกิดที่ Antwerpen, Belgium แล้วมาร่ำเรียนดนตรีที่ Genève ต่อด้วย Conservatoire national supérieur de musique et de danse ณ กรุง Paris, เริ่มทำเพลงประกอบภาพยนตร์ Love in the Afternoon (1972), My American Uncle (1980) ฯลฯ
โดยปกติแล้วผกก. Rohmer ไม่นิยมใช้บทเพลงประกอบ พบเห็นส่วนใหญ่เป็น ‘diegetic music’ เปิดจากเครื่องเล่น แผ่นเสียง ตามผับบาร์ หรือการแสดงสด แต่ก็มีบางครั้งในหนังที่ต้องการสัมผัสเหนือธรรมชาติ อย่าง Love in the Afternoon (1972) ได้ยินขณะตัวละครกำลังจินตนาการเพ้อฝัน ใคร่อยากเข้าไปเกี้ยวพาราสีสาวๆจาก ‘Six Moral Tales’ ทั้งห้าเรื่องก่อนหน้า
ลักษณะของบทเพลงมีลัการะของ Experimental (หรือจะเรียกว่า Avant-Garde ก็ได้กระมัง) เพราะมีการทดลองใช้เครื่องสังเคราะห์ สร้างเสียง/ท่วงทำนองที่มอบสัมผัสอันลึกลับ เหนือจริง จับต้องไม่ได้ แม้แค่เพียงท่อนสั้นๆ แต่ดังกึกก้องกังวาล สั่นสะท้านทรวงใน (ด้วยความยาวที่แสนสั้น บางคนอาจมองว่าเป็นแค่ Sound Effect ก็ได้เช่นกัน)
ยามบ่ายของผู้ดีอังกฤษ แพร่หลายสู่ฝรั่งเศส (ช่วงระหว่างบ่ายโมงถึงบ่ายสาม-สี่) มักเป็นช่วงเวลาสำหรับการพักผ่อน หลับนอนกลางวัน แล้วตื่นขึ้นมาจิบชา (Afternoon Tea) แม้ตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่สองจะไม่ค่อยนิยมทำกันแล้ว (เพราะมันเสียเวลาทำงาน) แต่บางประเทศที่เคยเป็นอาณานิคมฝรั่งเศส ก็อาจยังยึดถือปฏิบัติ อาทิ เวียดนาม ฯ
Love in the Afternoon (1972) นำเสนอความเพ้อฝันยามบ่ายของ Frédéric เพราะรู้สึกเบื่อหน่ายต่อวิถีชีวิตครอบครัว ต้องการบางสิ่งอย่างที่สร้างความตื่นเต้น ปลุกเร้าอารมณ์ เลยจินตนาการว่าตนเองกำลังคบชู้นอกใจภรรยา … จะมองว่าครึ่งหลังทั้งหมดของหนัง (โดยเฉพาะเรื่องราวของ Chloé) คือความเพ้อฝันของ Frédéric ก็ได้เช่นกัน
การมาถึงของ Chloé แม้เต็มไปด้วยแรงดึงดูดอันน่าหลงใหล พยายามชักจูงจมูก Frédéric เพื่อให้กระทำสิ่งขัดต่อ ‘moral’ ประจำใจ แต่ท้ายที่สุดเขาเลือกปฏิเสธที่จะก้าวล้ำ ล่วงเกิน ร่วมประเวณี มีเพศสัมพันธ์ ไม่ยินยอมให้เธอทำลายกำแพงศีลธรรมของตนเอง … นี่คือโครงสร้างพื้นฐานของ ‘Six Moral Tales’ เลยนะครับ
ผกก. Rohmer สรรค์สร้างภาพยนตร์เรื่องนี้หลังการปฏิวัติทางสังคม Mai ’68 ที่ก่อเกิดความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในฝรั่งเศส วัยรุ่นหนุ่มสาวยุคสมัยนั้นเริ่มที่จะเปิดกว้าง โหยหาเสรีภาพทางเพศ ละเล่นกลเกมคล้ายๆกับ Chloé เปลี่ยนผู้ชายไม่ซ้ำหน้า แถมยังพยายามชักจูงจมูก Frédéric โดยไม่สนถูก-ผิด ดี-ชั่ว แค่ตอบสนองตัณหา ความพึงพอใจส่วนตน
แม้ว่า ‘Six Moral Tales’ พยายามสะท้อนการเปลี่ยนแปลงทางสังคม จากชายเป็นใหญ่/ช้างเท้าหน้า สู่ยุคสมัยที่หญิงสาวสามารถแสดงออกเสรีภาพทางเพศ ในการตกหลุมรัก เลือกคู่ครอง ถึงอย่างนั้นผกก. Rohmer มีสิ่งหนึ่งที่ไม่สามารถยินยอมรับ Mai ’68 คือการร่วมประเวณี นอกใจคนรัก/คู่หมั้น/ภรรยา (เหมารวมทั้งชาย-หญิงนะครับ) ไม่ใช่เพราะมันเปิดประตูสู่ขุมนรก แต่คือการสูญเสีย ‘moral’ ประจำใจต่างหาก จักทำให้ตัวเราหมดสิ้นความเป็นมนุษย์
the final scene in “Chloé” is his last comment on the series, and Rohmer is telling us to, for god’s sake, stop playing games and embrace each other with honesty.
นักวิจารณ์ Roger Ebert ให้คะแนน 4/4
โลกยุคสมัยนี้มันแทบเป็นไปไม่ได้จะหารักแท้ รักบริสุทธิ์ ซื่อสัตย์มั่นคง ไม่ครุ่นคิดนอกใจ ส่วนใหญ่ล้วนทำเพื่อผลประโยชน์ ตอบสนองตัณหาความใคร่ น้ำแตกแล้วแยกทางไป อย่างน้อยที่สุดถ้าเรามี ‘moral’ ไม่จำเป็นว่าต้องศีลธรรมศาสนา อุดมการณ์ความเชื่อของตนเองก็พอใช้ได้ มันอาจถูกหรือเข้าใจผิดๆ เพียงบางสิ่งยึดเหนี่ยวรั้ง จักทำให้ชีวิตรู้สึกเหมือนมีคุณค่าขึ้นมาบ้าง
หนังไม่มีรายงานทุนสร้าง แต่ด้วยเสียงตอบรับอย่างดีเยี่ยม มียอดจำหน่ายตั๋วในฝรั่งเศสสูงถึง 902,179 ใบ (มีรายงานตัวเลข $6.8 ล้านเหรียญ แต่ไม่รู้เฉพาะในฝรั่งเศสหรือรวมทั่วโลก) ถือว่าเป็นผลงานประสบความสำเร็จที่สุดของ ‘Six Moral Tales’
ปัจจุบันหนังได้รับการบูรณะ ‘digital restoration’ ร่วมกับ ‘Six Moral Tales’ เรื่องอื่นๆ คุณภาพ 2K (แต่ผมรู้สึกว่าสีสันของหนัง ดูเสื่อมสภาพตามกาลเวลาพอสมควร) สามารถหาซื้อแบบ Boxset หรือรับชมได้ทาง Criterion Channel
เกร็ด: หนังเคยได้รับการสร้างใหม่ (remake) ฉบับภาษาอังกฤษ I Think I Love My Wife (2007) กำกับ/นำแสดงโดย Chris Rock
ส่วนตัวอยากจะชื่นชอบหนังนะ มีหลายๆองค์ประกอบน่าสนใจ สร้างเซอร์ไพรส์ ขณะเดียวกันผมรู้สึกเหมือน ‘ดาบสองคม’ ที่แม้ท้าทายศีลธรรม จิตสามัญสำนึกของผู้ชม แต่มันก็เป็นการชี้นำว่าแบบนี้ทำได้ แบบนี้ไม่สมควรทำ ผิดกับเรื่องอื่นๆของ ‘Six Moral Tales’ ที่ให้อิสระในการครุ่นคิดตัดสินใจมากกว่า
‘Six Moral Tales’ เป็นซีรีย์แนะนำกับวัยรุ่น คนหนุ่มสาว รับชมให้เกิดความตระหนักถึงหนทางเลือก การตัดสินใจ ไม่ได้ชี้แนะว่าอะไรถูก-ผิด ขึ้นอยู่กับตัวเราจะขบครุ่นคิด ยึดถือปฏิบัติตาม บทเรียนสอนการดำรงชีวิต
แต่เอาจริงๆผมไม่ค่อยอยากแนะนำ Love in the Afternoon (1972) กับคู่รัก สามี-ภรรยา สักเท่าไหร่! อย่างที่บอกไปว่ารู้สึกเหมือนเป็นการ ‘ชี้โพรงให้กระรอก’ มากกว่าจะสร้างจิตสามัญสำนึก แต่ก็ยังแอบเชื่อว่าผู้ชมจักสามารถขบครุ่นคิด บังเกิดสติ ตระหนักถึงหนทางเลือก และตัดสินเส้นทางชีวิตที่เหมาะสมกับตัวเราเอง
จัดเรต 15+ กับความล่อแหลม ไม่แคร์สังคม นอกใจภรรยา
Leave a Reply