Land of the Dead

Land of the Dead (2005) hollywood : George A. Romero ♥♥♥

ผู้นำเพียงคนเดียวสามารถเปลี่ยนโลกทั้งใบได้ ทั้งในทางรุ่งโรจน์ยิ่งใหญ่ และร่วงโรยดับสิ้น, ขึ้นสหัสวรรษใหม่กับหนังซอมบี้ของบิดาผู้ให้กำเนิด George A. Romero แม้เทียบไม่ได้กับเรื่องเก่าๆ แต่ก็ยังพอมีความน่าสนใจอยู่บ้าง

อเมริกาในยุคหลัง 9/11 (วินาศกรรม 11 กันยายน 2001 ปฏิบัติการก่อการร้ายครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์) ได้ส่งผลกระทบโดยไม่รู้ตัวต่อทุกๆวงการ ตั้งแต่แนวคิด วิถีชีวิต ทัศนคติ โดยเฉพาะผลงานของผู้เรียกตัวเองว่าศิลปินทั้งหลาย มักมีบางสิ่งอย่างที่สะท้อนกับเหตุการณ์แห่งทศวรรษครั้งนี้ด้วย

สำหรับวงการภาพยนตร์ แทบทุกเรื่องที่ถ่ายทำใน New York City ช่วง 4-5 ปีหลังนั้น จะพยายามหลีกเลี่ยงการนำเสนอภาพตึก World Trade Center เพราะอาจทำให้ผู้เกี่ยวข้อง ประสบภัยอาจเกิด Trauma หลอนระลึกถึงความเจ็บปวดทุกข์ระทม ซึ่งกับหนังที่ถ่ายทำไปก่อนแล้ว ก็มีการใช้คอมพิวเตอร์ลบทิ้งตัดออกไปเลย (เช่น Spider-man ภาคแรกสุด ตัดฉากสไปดี้ยิงใยกระโดดผ่านตึกแฝดทิ้งไป) ขณะที่ Land of the Dead เรื่องนี้ เหมือนว่าจะไม่ได้มีอะไรเกี่ยวข้องด้วยแต่ผู้กำกับ George A. Romero ก็ได้แอบแฝงแนวคิดบางอย่างเกี่ยวกับผู้นำประเทศ สะท้อนสะเทือนถึงปธน. George W. Bush พูดง่ายๆก็คือ อเมริกาขณะนั้นในทัศนะของเขา กำลังจะกลายเป็นดินแดนของซอมบี้!

โดยไม่รู้ตัว นักวิจารณ์ Roger Ebert ผู้ล่วงลับไปแล้วหลายปี ในบทวิจารณ์หนังเรื่องนี้เขียนเปรียบเปรยตัวละครผู้นำมนุษย์ Paul Kaufman ว่ามีลักษณะคล้าย Donald Trump ที่ชอบอาศัยอยู่แต่ในป้อมปราการตึกสูงของตัวเอง สนแค่เรื่องเงิน ทำทุกอย่างเพียงเพื่อเอาตัวรอด ราวกับพระราชา … กับยุคสมัยที่ Trump ได้กลายเป็น ปธน. มันเป็นอะไรที่บังเอิญเกินไปแล้วนะ!

แต่การเกิดขึ้นของหนังเรื่องนี้ ต้องถือว่ามาจากปัจจัยความสำเร็จของ
– 28 Days Later… (2002) สร้างโดยผู้กำกับ Danny Boyle
– ตามด้วยการ remake หนังเรื่อง Dawn of the Dead (2004) โดยผู้กำกับ Zack Snyder
– Shaun of the Dead (2004) ของ Edgar Wright กับ Simon Pegg

ที่ต่างได้รับเสียงตอบรับอย่างดีล้นหลาม ประสบความสำเร็จทำเงินอย่างมาก ทำให้กระแสซอมบี้ที่เงียบหายไปในทศวรรษ 90s ฟื้นคืนชีพปลุกตื่นขึ้นมาอีกครั้ง มีหรือ George A. Romero ที่ยังมีชีวิตอยู่จะไม่เกิดความสนใจ เพราะขณะนั้นตัวเขาเองแทบจะหาทุนสร้างหนังแนวอื่นไม่ได้อีกแล้ว เลยจำต้องวนเวียนหากินอยู่กับภาพ Iconic ที่ตนสร้างขึ้นมา

Romero คงเริ่มพัฒนาบทภาพยนตร์เรื่องนี้ขึ้นตั้งแต่หลังเหตุการณ์ 9/1 และความสำเร็จของหนังเรื่อง 28 Days Later… (คงจะได้แรงบันดาลใจมาเยอะทีเดียฝว) ผสมผสานกับแนวคิดเดิมของ Land of Dead (1985) ที่ถูกทิ้งขว้างไป นำโปรเจคไปเสนอสตูดิโอใหญ่ของ Hollywood ที่แสดงความสนใจมากๆคือ 20th Century Fox แต่มาค้นพบจุดประสงค์ภายหลังว่า ต้องการฮุบลิขสิทธิ์ทั้งแฟนไชร์นี้ เลยตัดสินใจบอกปัดปฏิเสธ ก่อนมาลงเอยตกลงที่ Universal Pictures มอบทุนสร้างให้สูงถึง $15 ล้านเหรียญ (กลายเป็นหนังทุนสร้างสูงสุดในแฟนไชร์ Living Dead)

Working Title ของหนังประกอบด้วย Twilight of the Dead, Dead City, Dead Reckoning, ตอนที่นำไปเสนอ Fox ต้องการใช้ชื่อ Night of the Living Dead ไม่ก็ Night of the Living Dead: Dead Reckoning ซึ่งถ้าทำแบบนี้ก็จะได้ครอบครองลิขสิทธิ์ Night of the Living Dead (1968) ไปโดยปริยาย

หลายปีผ่านไปของ Zombie Apocalypse ในอเมริกา ชาวเมืองที่ยังมีชีวิตรอดรวมกลุ่มกันใน Pittsburgh, Pennsylvania กั้นขวางด้วยแม่น้ำและลวดหนามไฟฟ้า ใครมีเงินเป็นถุงถังก็จะได้อยู่บนคอนโดตึกระฟ้า Fiddler’s Green ส่วนคนจนก็อาศัยหลับนอนอยู่ข้างถนน เอาตัวรอดไปวันๆ, เมืองแห่งนี้ปกครองโดย Paul Kaufman (รับบทโดย Dennis Hopper) ชายผู้ไม่สนอะไรอื่นนอกจากเงินและความสะดวกสบาย เป็นผู้ออกทุนสร้าง Dead Reckoning รถหุ้มเกราะเพื่อต่อกรกับซอมบี้ และใช้ค้นหาสิ่งอำนวยความสะดวกยังชีพนอกเมือง ป้อนให้กับชาวเมืองผู้อดอยากยากแค้น

เกร็ด: Fiddler’s Green เป็นชื่อเพลงๆหนึ่งที่เกี่ยวกับชีวิต/สถานที่หลังความตาย ประมาณว่าแต่งขึ้นในทศวรรษที่ 19s บรรเลงโดยนัก Fiddle (ไวโอลินขนาดเล็ก)

นำแสดงโดย Simon Baker (เกิดปี 1969) นักแสดง/ผู้กำกับ สัญชาติ Australian เกิดที่ Launceston, Tasmania มีชื่อเสียงจากผลงานซีรีย์โทรทัศน์เรื่อง The Guardian (2001 – 2004) และ The Mentalist (2008 – 2015) สำหรับผลงานภาพยนตร์ คุ้นๆหน้าใน The Ring Two (2005), The Devil Wears Prada (2006) ฯ

รับบท Riley Denbo ผู้ออกแบบสร้าง Dead Reckoning และเป็นหัวหน้ากลุ่มออกสำรวจหาสิ่งอำนวยความสะดวกนอกเมือง, Denbo เป็นคนมีคุณธรรม มโนธรรมสูงส่ง มองมนุษย์ทุกคนอย่างเสมอภาค แม้จะรับรู้ว่าบางคนไม่สมควรแก่การช่วยเหลือก็ตามทีเถอะ ด้วยเหตุนี้จึงมีความต้องการละทิ้งทุกสิ่งอย่าง ปลีกตัวอาศัยอยู่อย่างโดดเดี่ยว เก็บเงินเพื่อสร้างรถหุ้มเกาะอีกคันของตัวเอง เสร็จแล้วก็จะได้ขึ้นเหนือ ให้โชคชะตาพาไป

การแสดงของ Baker ไม่มีอะไรให้น่าพูดถึงเท่าไหร่ มาดของฮีโร่ชาวอเมริกันที่พบเห็นได้ทั่วไป มองโลกในแง่ดี ทนเห็นความคอรัปชั่นไม่ได้เท่าไหร่ เรียกว่าเป็นตัวละครที่ดีเว่อจนน่าขยะแขยง คงเพราะขณะนั้นอเมริกาต้องการคนแบบนี้ Romero จึงต้องใส่ตัวละครแบบนี้มาให้เหมือนฮีโร่ผู้กอบกู้ชาติ

Dennis Hopper (1936 – 2010) นักแสดง/ผู้กำกับ สัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Dodge City, Kansas เป็นนักพูด/นักแสดง ตั้งแต่สมัยเรียน โตขึ้นเข้าเรียน Old Globe Theatre ที่ San Diego ตามด้วย Actors Studio ที่ New York City (เรียนกับ Lee Strasberg ถึง 5 ปี) เป็นตัวประกอบไร้เครดิตใน Johnny Guitar (1954) ผลงาน debut คือ Rebel Without a Cause (1955), Giant (1956) ผลงานเด่นอื่นๆอาทิ True Grit (1969), Cool Hand Luke (1967), Blue Velvet (1986) ฯ กำกับภาพยนตร์เรื่องแรก Easy Rider (1969)

รับบท Paul Kaufman ชายผู้เป็นเจ้าของคอนโดตึกระฟ้า Fiddler’s Green และทุกพื้นที่หย่อมหย้าในเมือง Pittsburgh สิ่งที่เขาสนใจมีเพียงเงินกับความสะดวกสบาย พยายามแก้ปัญหาต่างๆด้วยความรุนแรงเด็ดขาดบ้าคลั่ง เพราะไม่คิดว่าโลกจะมีปัญหาอะไรวุ่นวายยุ่งยากไปกว่าซอมบี้อีกแล้ว

Kaufman เป็นผู้ร้ายในมาดของนักการเมือง ผู้นำประเทศ ที่จ้องแต่แสวงหาผลประโยชน์ส่วนตัว ไม่สนใจส่วนรวม ทำทุกอย่างเพื่ออำนาจ ในทีนี้คือเงินทอง นี่เป็นการจิกกัดการบริหารประเทศของ George W. Bush ที่ทำทุกอย่างเพื่อให้ตัวเองได้กลายเป็น ปธน. สมัยสอง เปิดฉากทำสงครามกับตะวันออกกลาง มิได้สนใจปากท้อง ประชาชนชาติอเมริกาแม้แต่น้อย

การแสดงของ Hopper ถือว่าเสมอตัว เพราะเป็นตัวละครมิติเดียวทำให้ขาดความน่าสนใจไปสักนิด และคำพูดคลาสสิกอย่าง
– We do not negotiate with terrorists!
– You have no right!
– In a world where the dead are returning to life, the word ‘trouble’ loses much of its meaning.

ผมว่ามันเชยระเบิด ทำให้ตัวละครขาดความน่าสนใจ แต่นี้ล้วนมาจากปากของ Bush Jr. ที่เคยพูดออกสื่อทั้งนั้นเลยนะครับ

John Alberto Leguizamo (เกิดปี 1964) นักแสดงสัญชาติ Colombian-American เกิดที่ Bogotá, พ่อของเขาเคยเป็นผู้กำกับภาพยนตร์ของประเทศ Colombia คงเป็นแรงบันดาลใจเล็กๆให้เขามีความสนใจการแสดง, ครอบครัวอพยพสู่อเมริกาตอนอายุ 4 ขวบ อาศัยอยู่ Queens, New York มีชีวิตอย่างยากลำบาก โตขึ้นเข้าเรียนที่ Tisch School of the Arts แต่ไม่จบ เริ่มต้นจากเป็น Stand-Up Comedy ตามไนท์คลับ มีผลงานซีรีย์โทรทัศน์ บทเล็กๆใน Miami Vice (1986) ตัวประกอบใน Die Hard 2 (1990), Romeo + Juliet (1996), ให้เสียงพากย์ Sid the Sloth ในอนิเมชั่น Ice Age ฯ

รับบท Cholo DeMora นายทหารรับจ้างลูกน้องของ Riley Denbo ด้วยความทะเยอทะยาน ทำทุกอย่าง ประจบสอพอ เลียแผลให้กับ Paul Kaufman อยู่หลายปี แต่กลับถูกปฏิเสธทิ้งขว้างเพราะความฝันที่ต้องการอาศัยสุขสบายอยู่บน Fiddler’s Green ด้วยความคับแค้นจึงขโมย Dead Reckoning เพื่อขู่เรียกค่าเสียหายจำนวนมหาศาลทีเดียว

ภาพลักษณ์ของ DeMora เป็นได้ทั้งคนดีคนเลว ขึ้นอยู่กับสถานการณ์บีบบังคับ ซึ่งเขาเลือกเป็นคนเลวทั้งๆที่ก็สามารถเป็นคนดีได้ แต่โชคชะตากลับไม่เข้าข้างเสียเท่าไหร่, นี่ก็เช่นกันกับ Leguizamo ก็ถือเป็นนักแสดงมีฝีมือใช้ได้ แต่โชคชะตาไม่ค่อยเข้าข้างเขาเสียไหร่

สำหรับซอมบี้ที่กลายเป็นตำนาน ชื่อว่า Big Daddy Zombie รับบทโดย Eugene Clark (เกิดปี 1951) นักแสดงผิวสี/นักกีฬา American Football สัญชาติ Canadian เกิดที่ Los Angeles, California มีชื่อเสียงจากซีรีย์ TekWar (1994 – 1996) ไม่ค่อยมีผลงานภาพยนตร์เด่นเท่าไหร่ ส่วนใหญ่เป็นตัวประกอบซีรีย์ละครโทรทัศน์

พัฒนาการจาก Bub ของ Day of the Dead (1985) แค่เพียงซอมบี้ตัวเดียวที่มีวิวัฒนาการ สามารถครุ่นคิด รู้สึก สื่อสารกับตัวอื่นได้ จากที่เคยตัวใครตัวมันกลายเป็นรวมกันเราอยู่ เรียนรู้ ต่อสู้ ทวงคืน เหมือนว่าเป้าหมายของซอมบี้จะมีเพียงต่อสู้ทวงคืนความอยุติธรรมที่ตนเองได้รับ ไม่ได้มีอุดมการณ์เลิศเลอยิ่งใหญ่อะไร, ผมไม่แน่ใจตัวละครนี้เป็นการพยากรณ์ Barack Obama หรือเปล่า เพราะความที่เป็นคนผิวสีเหมือนกัน ค่อยๆรวบรวมสมัครพรรคพวก โค่นล้มสามารถเอาชนะการเลือกตั้ง ปธน. ครั้งถัดมาได้อย่างล้นหลาม ซึ่งถ้าวิเคราะห์ในประเด็นนี้ Zombie จะแทนด้วยชาวอเมริกาทั้งหลายที่อยู่ฝั่งตรงข้ามกับ George W. Bush Jr.

ถ่ายภาพโดย Mirosław Baszak สัญชาติ Polish มักมีผลงาน Music Video ถ่ายสป็อตโฆษณาเสียมากกว่า, พื้นหลังของหนังคือ Pittsburgh, Pennsylvania แต่ส่วนใหญ่ถ่ายทำที่สตูดิโอ Toronto, Hamilton และ Ontario ประเทศ Canada คงเพราะค่าใช้จ่าย/ภาษี ค่อนข้างประหยัด ต่ำกว่ารอคิวถ่ายทำใน Hollywood

ถึงสเกลงานสร้างจะมีขนาดใหญ่โต แต่ล้วนพึ่งพา Visual Effect เสียส่วนใหญ่ ซึ่งค่อนข้างขาดความสมจริงอยู่มาก อย่าง ซอมบี้เว่อๆตัวหัวเกือบขาด สามารถตวัดหัวกลับมากัดฉีกเนื้อคนได้ ผมว่านี่มันตลกมากๆ จริงอยู่ผู้ชมครั้งแรกจะสะดุ้งตกใจคาดคิดไม่ถึง แต่ต่อจากนั้นก็คงหัวร่อออกมาอย่างขบขัน,

ตัดต่อโดย Michael Doherty, ทั้งกลุ่มมนุษย์และซอมบี้ ต่างมีวิวัฒนาการของตนเองในทิศทางตรงกันข้าม ซึ่งจะใช้การตัดสลับไปมาให้เห็นการเปลี่ยนแปลงของทั้งสองฝ่าย
– ฝูงซอมบี้ จากโง่เง่าเต่าตุ่น มีชีวิตเพียงตอบสนองสันชาติญาณของตนเอง ออกเดินจาก… ที่ไหนสักแห่ง ค่อยๆเรียนรู้ ทำความเข้าใจ ใช้อาวุธเป็น มุ่งสู่เป้าหมาย Pittsburgh, Pennsylvania เพื่อต่อสู้ทวงคืนบางสิ่งอย่างจากมนุษย์
– สำหรับกลุ่มมนุษย์ มีการนำเสนอเปรียบเทียบสองชนชั้นการปกครอง ประกอบด้วย
> กลุ่มไฮโซคนชั้นสูง มีเงินทอง ใช้สอยอย่างฟุ้มเฟ้อสะดวกสบาย อาศัยอยู่บนตึกระฟ้า Fiddler’s Green
> กลุ่มคนจนชนชั้นต่ำ มีชีวิตเรื่อยเปื่อยเพ้อเจ้อไปวันๆไร้เป้าหมาย อาศัยอยู่ตามพื้นดิน และเป็นแนวหน้าในกรณีซอมบี้สามารถบุกฝ่าผ่านเข้ามา ก็จะพบเจอคนเหล่านี้ก่อน

เรื่องราวของฝั่งมนุษย์ มี 3 ตัวละครหลักที่เป็นผู้ดำเนินเรื่องตัดสลับไปมาคือ พระเอก Riley Denbo, เดี๋ยวดีเดี๋ยวร้าย Cholo DeMora และตัวร้าย(ฝั่งมนุษย์) Paul Kaufman, ส่วนเรื่องราวของซอมบี้ มีเพียง Big Daddy เท่านั้นที่เป็นพระเอก

ผมเชื่อว่ามีหลายคนคงให้กำลังใจเชียร์ฝั่งซอมบี้ สามารถต่อสู้เอาชนะ Kaufman เพื่อโลกนี้จะได้ดูมีความสงบสุขขึ้นนิดหนึ่ง นี่มักคือมุมมองของคนที่ไม่เห็นด้วยกับการปกครองของ George W. Bush ขณะที่ฝั่งเชียร์มนุษย์ให้สามารถต่อสู้เอาชนะซอมบี้ได้ แน่นอนคุณคือหัวคะแนนของพรรค Republican ตรงไปตรงมาค่อนข้างชัดเจนทีเดียว

เพลงประกอบโดย Reinhold Heil กับ Johnny Klimek, เพราะสเกลงานสร้างที่มีขนาดใหญ่ขึ้น งานเพลงจึงต้องเพิ่มความอลังการเข้าไป น่าจะถือเป็นครั้งแรกของ Romero ที่ใช้ดนตรีคลาสสิกประกอบหนัง ซึ่งต้องบอกว่านักแต่งเพลงทั้งสอง ฝีมือไม่ถึงขั้นเอาเสียเลย

อารมณ์เพลงประกอบหนังเรื่องนี้ แทนที่จะให้มีความยิ่งใหญ่อลังการ แต่กลับถูกนำเสนอในลักษณะ Action Horror มีความตื่นเต้นลุ้นระทึก แล้วขณะซอมบี้โผล่จะมี Sound Effect ให้สะดุ้งตกใจกลัว นี่มันแทบไม่มีความน่าสนใจแม้แต่น้อย เพราะผู้ชมสามารถคาดเดาเหตุการณ์ต่อไปที่จะเกิดขึ้นได้จากเพลงประกอบอยู่แล้ว

Land of the Dead ดินแดนแห่งความตาย ถ้าคุณสามารถคิดตามได้จากที่อ่านบทความนี้มา ก็คงรู้ว่าเป็นการเปรียบเทียบกับประเทศสหรัฐอเมริกาในยุคหลัง 9/11 มีผู้นำคือ ปธน. George W. Bush Jr. ได้รับเลือกตั้งจากการนำเอาความเจ็บแค้นเกรี้ยวกราดชูเป็นประเด็นหาเสียง เพื่อตอบโต้กลุ่มตะลีบันที่ออกมารับผิดชอบการโจมตีตึกแฝด World Trade Center สร้างความเสียหายนับไม่ถ้วน ทั้งร่างกายและจิตใจ เป็นชัยชนะที่มาพร้อมกับข้อกังขามากมาย ซึ่งเมื่อผู้คนเริ่มหวนคืนสติเรียกกลับมาได้ นี่พวกฉันทำอะไรลงไป เลือกคนอย่าง Bush Jr. ให้ขึ้นมาบริหารประเทศในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อเนี่ยนะ!

ประวัติศาสตร์เกิดขึ้นซ้ำรอยบ่อยครั้ง แต่ก็น่าคิดว่าทำไมบางอย่างถี่เร็วไปไหม อย่างตอน WW1 มาถึง WW2 ระยะห่างเพียงแค่ประมาณ 20 กว่าปี หรืออย่างจาก Bush Jr. มาสู่ Donald Trump มันเพิ่งจะ 8 ปีเปะๆผ่าน Barack Obama มาเองนะครับ, ก็ไม่รู้ชาวอเมริกาครุ่นคิดอะไรกันอยู่ถึงได้เลือกผู้นำแบบนี้ ระเบิดเวลาที่สักวันต้องตูมตามออกมาแน่ เหลือแค่รอเวลาว่าเมื่อไหร่ ก็ไม่รู้ทำไมคนประเทศนี้ถึงมองไม่เห็นตัวเองกันนะ!

“ผู้นำที่ดีจะสามารถนำพาสังคม ประเทศชาติไปสู่ความเจริญรุ่งเรือง ส่วนผู้นำที่บ้าคลั่งเสียสติคอรัปชั่น รังแต่จะฉุดให้ทุกสิ่งอย่างดำดิ่งลงเหว”

ชัยชนะของเหล่า Zombie เปรียบได้คือแนวคิดของการปฏิวัติ ชักชวนให้เกิดการคิดเห็นต่าง (แต่เหมือนว่าหนังจะไปประสบความสำเร็จในการชวนเชื่อเสียเท่าไหร่ เลยออกไปทางการพยากรณ์จุดสิ้นสุดของอเมริกา) สำหรับพระเอกของหนังจริงอยู่เขาคือฮีโร่ผู้ดีแท้สมบูรณ์แบบ แต่ก็ไม่สามารถนำชัยชนะมาสู่มนุษย์ เพราะเขาไม่ได้มีความต้องการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์อะไร ขอเพียงความสงบสุขของทั้งสองเหล่าพันธุ์ สามารถอยู่อาศัยตัวใครตัวมัน ไม่รุกรานกันได้ยิ่งดี

ด้วยทุนสร้าง $15 ล้านเหรียญ หนังทำเงินทั่วโลก $46.8 ล้านเหรียญ ถึงไม่ขาดทุนแต่ถือว่าค่อนข้างน่าผิดหวัง กอปรกับเสียงวิจารณ์ที่ค่อนข้างก้ำกึ่ง นี่คือขาลงของ George A. Romero ที่ไม่สามารถสร้างอะไรให้ยิ่งใหญ่ได้อีกแล้ว และกับอีกสองเรื่องสุดท้ายในจักรวาล Living Dead ผมคงไม่ขอเขียนถึงนะครับ กลายเป็นหนังเกรด B ที่ไม่มีคุณค่าน่าจดจำ สร้างขึ้นเพียงเพื่อให้ท้องอิ่มยังชีพอยู่ รอวันตายได้เท่านั้น

ถึงผมจะบรรยายสรรพคุณความไม่เข้าท่า ไม่ลงตัว ไม่สมเหตุสมผลของหนังเรื่องนี้มามากเท่าไหร่ แต่บอกตามตรงกลับค่อนข้างชื่นชอบในวิสัยทัศน์ หลายๆแนวคิดของ George A. Romero คือรู้สึกว่ามันเจ๋งดีแหะที่ มนุษย์ทำสงครามกับซอมบี้ (ขัดแย้งภายนอก) แถมยังต้องจัดการความคอรัปชั่นที่เกิดขึ้นกับมนุษย์ด้วยกันเอง (ขัดแย้งภายใน) และชอบสุดคือความเท่ห์ระเบิดในการยิงปืนของ Charlie Houk (รับบทโดย Robert Joy) ต้องใช้น้ำลายเลียปลายกระบอกปืนเพิ่มความเชื่อมั่น/แม่นยำในการยิง ซึ่งใบหน้าของหมอนี่ที่เหมือนซอมบี้ แต่ตัวตนจิตใจของเขายิ่งใหญ่กว่ามนุษย์บางคนเสียอีก

แนะนำกับคอหนัง Horror Zombie, เรื่องราวหลังวันโลกาวินาศ (Post-Apocalyptic), ดราม่าชนชั้น สะท้อนเสียดสีสังคมอเมริกัน, ชื่นชอบนักแสดง Dennis Hopper และแฟนๆผู้กำกับ George A. Romero ไม่ควรพลาด

จัดเรต 18+ กับการกระทำของฝูงซอมบี้ ที่สามารถทำให้เด็กๆหญิงชายเปรี้ยวเยี่ยวราด

TAGLINE | “Land of the Dead ดินแดนแห่งความตายของ George A. Romero เหมือนจะมีขนาดกว้างใหญ่ไพศาล แต่กลับเล็กกระจิดริด”
QUALITY | THUMB UP
MY SCORE | LIKE

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: