L’Argent (1983)
: Robert Bresson ♥♥♥♥
L’Argent แปลว่า Money, เมื่อเงินปลอมอยู่ในมือคนชั่วก็หาทางส่งต่ออย่างแนบเนียน แต่พอตกอยู่ในมือผู้บริสุทธิ์นำไปใช้ กลับถูกจับ ตกงาน ติดคุก ภรรยาบอกเลิก ลูกสาวเสียชีวิต เก็บสะสมความเกรี้ยวกราดโกรธ พ้นโทษออกมาทำการ … เสร็จแล้วยินยอมมอบตัวสารภาพผิดกับตำรวจ, “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย”
ในบรรดาผลงานของผู้กำกับ Robert Bresson ที่ส่วนใหญ่ผมไม่ค่อยชื่นชอบประทับใจนัก แต่มีสองเรื่องจัดว่า “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย”
– Pickpocket (1959) ถ้าไม่อยากถูกโจรล้วงกระเป๋า ก็ควรศึกษาเรียนรู้จักวิธีการเพื่อป้องกันตนเอง
– และ L’Argent เรื่องนี้ นำเสนอความคอรัปชั่นชั่วร้ายของมนุษย์ ที่มีต้นตอสาเหตุจากความโลภละโมบในเงินตรา
แต่สำหรับคอหนังมือใหม่ที่ยังไม่เคยรับชมภาพยนตร์ของ Robert Bresson ขอแนะนำให้ไปหาผลงานเรื่องอื่นๆมาดูก่อนนะครับ ไม่ใช่เพราะ L’Argent มีความเข้าใจยากประการใด ‘สไตล์ Bresson’ ก็ยังคงโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์เหมือนเดิมนะแหละ แค่ว่าความซับซ้อนในการดำเนินเรื่องอาจไม่ถูกจริตกับผู้ชมที่ไม่เคยผ่านตาหนังของผู้กำกับคนนี้มาก่อนแน่ แต่ถ้าพร้อมรับความเสี่ยงก็ตามสะดวก ไม่แน่คุณอาจชื่นชอบคลั่งไคล้หลงใหลในไดเรคชั่นลีลา Bresson มากกว่าผมก็เป็นได้
“Robert Bresson is French cinema, as Dostoyevsky is the Russian novel and Mozart is German music”.
– Jean-Luc Godard พูดยกย่องเปรียบเทียบถึงผู้กำกับ Robert Bresson
Robert Bresson (1901 – 1999) ผู้กำกับสร้างภาพยนตร์สัญชาติฝรั่งเศส เกิดที่ Bromont-Lamothe หลังเรียนจบมัธยมมุ่งสู่ Paris เป็นจิตรกรขายภาพวาด ตามด้วยทำงานตากล้อง ถ่ายรูป เขียนบท กำกับหนังสั้นเรื่องแรก Public Affairs (1934), ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เข้าร่วมกลุ่ม French Resistance ถูกจับได้กลายเป็นนักโทษสงคราม Prisoner-of-Wars ไม่รู้ถูกปล่อยตัวหรือหนีเอาตัวรอดสำเร็จ สร้างภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่องแรก Angels of Sin (1943), ค่อยๆพัฒนาสไตล์ของตนเองจนเริ่มเป็นรูปเป็นร่าง Diary of a Country Priest (1951), สมบูรณ์แบบกับ A Man Escaped (1956), ผลงานเด่นอื่นๆ Pickpocket (1959), Au Hasard Balthazar (1966), Mouchette (1967), L’argent (1983) ฯ
มีสามสิ่งที่คืออิทธิพลความสนใจของผู้กำกับ คาทอลิก, งานศิลปะ และประสบการณ์จากค่ายกักกันนาซี เหล่านี้หลอมรวมให้เขามีมุมมองต่อโลกในทางโหดร้าย อันตราย ราวกับนรกบนดิน สร้างภาพยนตร์ที่นักแสดงมีลักษณะไร้ซึ่งจิตวิญญาณตัวตน เรื่องราวเต็มไปด้วยความสิ้นหวังหดหู่ จะมีก็เพียงศาสนาที่เป็นหนทางออก(จากโลกใบนี้ของ Bresson)
สำหรับผลงานเรื่องสุดท้ายในชีวิต (จริงๆต้องการสร้างอีกเรื่องดัดแปลงจากคัมภีร์ไบเบิ้ล แต่หานายทุนไม่ได้เลยล้มเลิกความตั้งใจไป) ได้แรงบันดาลใจดัดแปลงจากครึ่งแรกของนิยายเรื่อง The Forged Coupon (1912) โดยนักเขียนสัญชาติรัสเซียผู้ยิ่งใหญ่ระดับตำนาน Leo Tolstoy ชื่อจริง Count Lev Nikolayevich Tolstoy (1828 – 1910) เจ้าของผลงานอมตะอย่าง War and Peace (1869), Anna Karenina (1877), The Death of Ivan Ilyich (1886) ฯ
Bresson ได้ทำการปรับเปลี่ยนพื้นหลังของเรื่องราว จากต้นศตวรรษที่ 19 ยุคการปกครองของ Tsarists Russia มาเป็น Modern France ทศวรรษ 70s-80s เพื่อเป็นการสะท้อนมุมมองทัศนคติของตนเองต่อโลกสมัยใหม่ปัจจุบันนั้น กำลังก้าวเข้าสู่ระบอบทุนนิยม (Capitalism) อย่างเต็มตัว (จะมองว่า Bresson เป็นพวก Anti-Modernism ก็ยังได้)
เรื่องราวเริ่มต้นที่ Norbert ขอเงินพ่อเพื่อไปจ่ายหนี้ที่ยืมมา แต่กลับได้น้อยนิดไม่เพียงพอ ต่อรองหนี้กับเพื่อนแต่ถูกขอให้นำแบงค์ 500 ฟรังค์ ส่งต่อยังร้านขายกล้องแห่งหนึ่ง เจ้าของร้านมาทราบทีหลังตัดสินใจส่งต่อให้คนเติมน้ำมัน Yvon Targe รับมาแบบไม่ได้สนใจ ขณะนำไปใช้จ่ายเงินค่าอาหารจึงรู้ความจริงว่านั่นคือธนบัตรปลอม จดจำได้ว่ามาจากร้านถ่ายรูปแต่หนึ่งในพนักงานร้าน Lucien ยืนกรานว่าไม่เคยพบเห็นชายคนนี้มาก่อน เป็นเหตุให้เขาถูกจับกุมขึ้นศาล ต้องเลือกระหว่างติดคุกหรือจ่ายเงินชดใช้ค่าเสียหาย
เกร็ด: ครึ่งหลังของนิยาย The Forged Coupon ที่ผู้กำกับตัดออกไป เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับการไถ่โทษ (redemption) ของตัวละคร หลังจากฆ่าคนตายติดคุกก็เริ่มหันหน้าเข้าพึ่งศาสนา เกิดความเชื่อศรัทธาในพระเจ้าผู้สร้าง รู้สึกนึกผิดในสิ่งที่ตนกระทำ ใช้ชีวิตจนวาระสุดท้ายเพื่อช่วยเหลือผู้อื่น
แซว: ว่าไปครึ่งหลังของนิยายน่าจะอยู่ในความสนใจของ Bresson ที่ชื่นชอบการสร้างภาพยนตร์เกี่ยวกับศรัทธาศาสนาอย่างยิ่ง แต่จริงๆแล้วตัวเขาไม่ใช่คาทอลิกแท้ๆนะครับ จากคนใกล้ตัวที่รู้จักร่วมงานกันมาให้คำเรียกว่า ‘self-conscious Catholic’ ซึ่งนักวิจารณ์หลายคนมองว่าน่าจะรับอิทธิพลจาก Jansenism แนวคิดนิกายหนึ่งของศาสนาคริสต์ที่เคยแพร่หลายกว้างขวางในฝรั่งเศสช่วงศตวรรษ 17-18 มีมุมมองว่าชีวิตได้ถูกลิขิตไว้แล้ว เป็นตายดีชั่วคือประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้า (All is grace.) และการไถ่โทษไม่มีอยู่จริง ด้วยเหตุนี้ครึ่งหลังแบบนั้นเลยไม่อยู่ในความสนใจของผู้กำกับแม้แต่น้อย
สำหรับนักแสดงทั้งหมดคือมือสมัครเล่น เพื่อไม่ต้องวุ่นวายกับความเรื่องมากไม่เห็นด้วยในเทคนิคไดเรคชั่นของตนเอง ‘actor-model’ ให้นักแสดงเล่นฉากเดิมซ้ำๆหลักสิบถึงร้อยรอบ จนกว่าร่างกายเหน็ดเหนื่อยหมดสิ้นเรี่ยวแรง เหลือสภาพกลายเป็น ‘หุ่น’ เคลื่อนไหวโดยไร้ซึ่งจิตวิญญาณหรือการแสดงใดๆ ซึ่งนั่นในมุมมองของผู้กำกับ เรียกว่า ‘จิตวิญญาณแท้จริงของมนุษย์’
ถ่ายภาพโดย Pasqualino De Santis (Il caso Mattei, Death in Venice) และ Emmanuel Machuel (Van Gogh, Ossos) ด้วยฟีล์มสี Eastmancolor เน้นโทนดำ-น้ำเงิน ไม่ค่อยพบเห็นเขียว (จะเห็นออกสี Teal) ชมพู แดง หรือสีที่มันฉูดฉาดเกินไป ให้สัมผัสของโลกที่มีความเหือดแห้งเย็นชา รู้สึกถึงความอันตราย ไม่น่าอาศัยอยู่สักเท่าไหร่
ปกติ ‘สไตล์ Bresson’ จะเน้นระยะภาพ Close-Up บันทึกการกระทำเคลื่อนไหวของตัวละคร มือจับ ล้วงกระเป๋า เท้าเดิน ฯ หนังเรื่องนี้ก็ยังคงมีลักษณะนั้นให้พบเห็นอยู่เรื่อยๆ แต่ภาพ Medium Shot เห็นครึ่งตัวนักแสดงเหมือนจะเริ่มเยอะกว่า และหลายๆครั้งกล้องมักจะถ่ายภาพแช่ค้างไว้ ให้ตัวละครเดินเข้า-ออก แทนการเคลื่อนติดตามของภาพ
การเคลื่อนไหวกระทำสิ่งต่างๆของตัวละคร เต็มไปด้วยความอืดอาดเชื่องช้า เสียงตู้เซฟดังควรวิตกจริตแต่ยังค่อยๆเดินขึ้นบันไดแบบไม่รีบเร่งร้อน จะมองว่านั่นคือสไตล์ของ Minimalist ก็ยังได้ ราวกับทุกจังหวะชีวิตมีสมาธิ ‘จิตวิญญาณ’ แฝงอยู่, ผมไปอ่านเจอความเห็นหนึ่งของนักวิจารณ์จาก TIME เปรียบเทียบลักษณะอาการระหว่างรับชมหนังของ Bresson เรื่องนี้ เหมือนการเดินขึ้นเทือกเขา Everest อากาศเบาบาง หนาวเย็นเฉียบ ไม่มีใครรบกวนความสงบเงียบ วิวสวย และนักผจญภัยทุกคนได้รับคำแนะนำให้สวมหน้ากาก Oxygen ไม่เช่นนั้นอาจหายใจไม่ออก
“Walking into a Robert Bresson film can be like walking up on top of Mount Everest: The air is thin and chilly, no living thing disturbs the silence, and the view is spectacularly disconcerting… Even the most adventurous viewer is advised to bring an oxygen mask”
ตัดต่อโดย Jean-François Naudon สามารถแบ่งหนังออกเป็น 2 องก์
– ครึ่งแรก มีทั้งหมด 4 มุมมองเรื่องราว (ครอบครัว Norbert, กลุ่มของ Lucien, เจ้าของ/พนักงานร้านถ่ายรูป, Yvon Targe และภรรยา) แต่ไม่ได้ตัดสลับหรือเล่าคู่ขนาน ใช้วิธีส่งต่อไม้ผลัดด้วยธนบัตรปลอมราคา 500 ฟรังก์ จากมือหนึ่งไปสู่อีกมือหนึ่ง ซึ่งเมื่อคนสุดท้ายถูกจับก็พยายามสาวย้อนกลับไปที่จุดเริ่มต้นแต่ก็ไปได้ไม่ไกลเท่าไหร่
– ครึ่งหลังเป็นเรื่องราวในมุมมองของ Yvon Targe ตั้งแต่ถูกพิพากษาตัดสิน ติดคุก อ่านจดหมายคิดฆ่าตัวตาย (แต่ไม่สำเร็จ) พบเจออริเก่า Lucien ในคุกแทบเสียสติแตก หลายปีผ่านไปพ้นโทษออกมา กลายเป็น ‘มวลรวมความชั่วร้าย’ ระเบิดเวลาที่พร้อมทำลายทุกสิ่งอย่างขวางหน้า
เรื่องราวครึ่งหลังของหนัง เป็นการสะท้อนผลพลอยได้ที่เกิดจากอิทธิพลของเงินตรา หญิงชรา (ในเครดิดตั้งชื่อว่า Grey Haired Woman) ทั้งๆที่มีความใจดีให้การช่วยเหลือ Yvon Targe ไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับบุคคลที่เคยทำให้เขาติดคุกติดตาราง แต่เหตุผลที่เขาติดตามเธอไปถึงบ้าน ‘follow the money’ เพราะพบเห็นขณะถอนเงินสดก้อนโตจากธนาคาร ก็ไม่รู้ความโลภอะไรเข้าครอบงำ (นี่เป็นสิ่งที่ผู้ชมบอกไม่ได้อยู่แล้ว เพราะตัวละครในหนังของ Bresson ไร้การแสดงออกทางอารมณ์โดยสิ้นเชิง) เมื่อไม่ได้เป็นเจ้าของเงินก้อนนั้น ก็แสดงความเกรี้ยวกราดบ้าคลั่งแค้นของตนออกมาอย่างเสียสติ (Ax Murderer)
เนื่องจากไคลน์แม็กซ์ของหนังมีเรื่องราวที่โคตรจะรุนแรง ไดเรคชั่นที่ผู้กำกับใช้คือไม่นำเสนอภาพการกระทำนั้นตรงๆ เลี่ยงแบบให้พอจินตนาการตามได้ อาทิ มือถือขวานง้างออก -> ตัดไปที่ภาพหมาเห่า -> กลับมาที่ขวาน ออกแรงเหวี่ยง -> เห็นโคมไฟล้มเลือดสาด ไม่นานนักแสงไฟก็ดับมืด สะท้อนถึงชีวิตที่สิ้นสูญหมดลมหายใจ
ใจความของหนังเรื่องนี้ นำเสนอโคตรรากเหง้าของความชั่วร้ายในสังคมปัจจุบัน นั่นก็คือธนบัตรสีเขียว เงินตรา ระบอบทุนนิยม สิ่งทำให้มนุษย์เกิดความโหยหิวกระหาย ต้องการได้มาครอบครองเป็นเจ้าของโดยไม่สนวิธีการถูกผิดเหมาะสม นี่แม้แต่คนดีผู้บริสุทธิ์แค่ได้ถูกสัมผัสแปดเปื้อนไม่ล่วงรู้เท่าทัน ก็พบเจอความสิ้นสูญเสียนานับประการ สะสมมากคลั่งจนเสียสติแตก หมดสิ้นไม่หลงแล้วซึ่งความเป็นมนุษย์
ถ้าเป็นผลงานในยุคหนังขาว-ดำ เหตุผลหลักๆที่ Bresson ปรุงแต่งให้โลกของเขาเต็มไปด้วยความโหดร้าย อันตราย ราวกับนรกบนดิน เพราะเจ้าตัวเคยถูกจับเป็นเชลยสงครามในค่ายกักกันช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง แต่เมื่อเวลาล่วงเลยผ่านมาหลายทศวรรษ หลังจากเริ่มถ่ายทำหนังภาพสี A Gentle Woman (1969) มุมมองต่อโลกยุคใหม่ของผู้กำกับได้ถูกสะท้อนเข้ามาแทนที่ทัศนคติความคิดเห็นแบบเดิมๆ
ราวกับว่ามุมมองใหม่ของผู้กำกับ Bresson พบเห็นความโลภละโมบคอรัปชั่นของมนุษย์ที่เกิดขึ้นจากระบอบทุนนิยมเงินตรา มันช่างน่าหวาดหวั่นวิตกกลัว ยิ่งเสียกว่าตอนที่ถูกจับเป็นเชลยสงครามในค่ายกักกันครั้งนั้นเสียอีก!
ว่าไปผมก็แอบเห็นด้วยเล็กๆนะ เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงสงครามคือความเป็น-ตาย ผู้คนเกิดหวาดหวั่นวิตกกลัวต่ออนาคตพรุ่งนี้ที่ไม่รู้อะไรจะเกิดขึ้น แต่ในโลกยุค Modern เราสามารถจินตนาการเห็นแนวโน้มสิ่งต่างๆ แต่อาจมีสภาพ ‘ตายทั้งเป็น’ เพราะปรับตัวเข้ากับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นไม่ได้
มันมีความน่าฉงนอย่างยิ่งยวด ทำไมตัวละครถึงตัดสินใจยอมมอบตัวกับตำรวจ? ผมมองที่ความพึงพอใจของผู้กำกับ Bresson ราวกับว่าเขาถึงจุดอิ่มตัวของการแสดงความก้าวร้าวนั้น (ออกมาเป็นภาพยนตร์) เบื่อหน่ายเริ่มทนไม่ได้กับตนเองที่ยังคงดิ้นรนอาศัยอยู่ในโลกอันโหดร้ายใบนี้ เลยทิ้งท้ายด้วยความบ้าคลั่งเสียสติแตกแบบสุดๆ แล้วก้าวเดินออกมาแบบลูกผู้ชายอกสามศอก
ในบรรดาผลงานทั้งหมด 13-14 เรื่อง ของผู้กำกับ Robert Bresson บอกว่า L’Argent มีความพึงพอใจที่สุดแล้ว
“[L’Argent] with which I am most satisfied—or at least it is the one where I found the most surprises when it was complete—things I had not expected”.
หนังออกฉายเทศกาลหนังเมือง Cannes คว้ารางวัล Best Director ร่วมกับ Andrei Tarkovsky เรื่อง Nostalgia (1983) [หนังสองเรื่องนี้ยิ่งใหญ่พอๆกันเลยนะ จริงๆควรจะ Palme d’Or ร่วมด้วยซ้ำ]
สิ่งที่ทำให้โดยส่วนตัวชอบหนังมากๆ คือเรื่องราวของผู้บริสุทธิ์ที่ไม่ได้รับรู้เรื่องอะไรด้วยเลย กลับถูกอิทธิพลความชั่วร้ายคอรัปชั่นของมนุษย์และอำนาจเงินตรา ทำให้ต้องพบเจอความสิ้นสูญเสียมากมายในชีวิต กลายเป็นคนบ้าคลั่งเสียสติแตกควบคุมตนเองไม่ได้ กระทำการที่ … โอ้! โลกของ Bresson ใบนี้ ทำการเสียดสีโลกความเป็นจริงได้อย่างเจ็บแสบรวดร้าวถึงที่สุดเลย
“ต้องดูให้ได้ก่อนตาย” หลายคนอาจไม่ชอบการแสดงอันแข็งทื่อ หรือการเล่าเรื่องราวที่ซับซ้อน แต่ถ้าสามารถพบเห็นความคอรัปชั่นชั่วร้ายของตัวละคร ต้นตอสาเหตุจากความโลภละโมบในเงินตรา ก็ถือว่าเป็นข้อคิดคติสอนใจได้มากยิ่งนักแล
แนะนำคอหนังดราม่า สนใจความคอรัปชั่นในจิตใจมนุษย์ และปัญหาของระบอบทุนนิยม, รู้จักนักเขียน Leo Tolstoy หรือนิยาย The Forged Coupon, แฟนๆผู้กำกับ Robert Bresson ไม่ควรพลาด
จัดเรต 13+ กับความคอรัปชั่น และแก้แค้นทวงคืนความยุติธรรมให้กับตนเอง
เพิ่งดูจบครับ งง ๆ ว่าพระเอกไปฆ่าเจ้าของโรงแรม ฆ่าครอบครัวหญิงชราทำไม ทั้ง ๆ ที่ไม่ได้มีอะไรเกี่ยวพันกัน เลยเสิร์ชดูจนมาเจอบทวิจารณ์นี้ ก็พอเข้าใจในระดับหนึ่งครับ แต่ยังไม่คิดว่ามันเมคเซนส์เท่าไหร่ 55