L’Assassin habite au 21 (1942) : Henri-Georges Clouzot ♥♥♥♡
ฆาตกรอาศัยอยู่บ้านเลขที่ 21 แต่สถานที่แห่งนี้คือห้องเช่า (Boarding House) ทำให้มีผู้ต้องสงสัยหลายคนทีเดียว แล้วใครกันละคือ whodunit? ผลงานฉายเดี่ยวเรื่องแรกของผู้กำกับ Henri-Georges Clouzot สร้างขึ้นช่วงเวลาฝรั่งเศสถูกยึดครองโดยนาซี มีหรือจะไม่สอดแทรกอะไรบางอย่างเข้ามา
ตอนรับชม The Murderer Lives at Number 21 ผมไม่ทันเอะใจหรอกนะว่า ภาพยนตร์เรื่องนี้สร้างขึ้นช่วงเวลาไหน? เพิ่งมาครุ่นคิดได้ตอนเริ่มค้นคว้าหารายละเอียด ตระหนักถึงบรรยากาศหนังที่เต็มไปด้วยความทะมึน อึมครึม ผู้คนตกอยู่ในอาการหวาดสะพรึงกลัวต่อฆาตกรต่อเนื่องที่ยังหลุดลอยนวล … นั่นไม่ใช่บรรยากาศสงครามโลก และสื่อถึงไรช์เยอรมัน (เชือก) ราชอาณาจักรอิตาลี (ปืน) จักรวรรดิญี่ปุ่น (ดาบ) สามไตรภาคีฝ่ายอักษะหรอกหรือ?
แม้ผู้กำกับ Henri-Georges Clouzot จะมิได้ใคร่อยากสร้างภาพยนตร์ภายใต้ Continental Films (สตูดิโอหนัง ก่อตั้งโดย Nazi, Germany) แต่เพราะเกณฑ์ทหารไม่ผ่าน แถมมีความยากจนค้นแค้น จะให้หลบหนีเอาตัวรอดไปไหนได้ เลยจำยอมก้มหัวทำงาน ท่ามกลางความกดดันหวาดกลัว [คล้ายๆ The Wages of Fear (1953)]
Henri-Georges Clouzot (1907 – 1977) ผู้กำกับสร้างภาพยนตร์สัญชาติฝรั่งเศส เกิดที่ Niort โตขึ้นตั้งใจว่าจะเป็นทหารเรือ แต่ติดที่เป็นคนสายตาสั้นไม่ผ่านการคัดเลือก ตอนอายุ 18 เดินทางไป Paris เพื่อเรียนรัฐศาสตร์ ระหว่างนั้นได้ทำงานเป็นบรรณาธิการนิตยสาร ด้วยความสามารถด้านการเขียนทำให้กลายเป็นนักแปลภาษา นักเขียนบทละคร/ภาพยนตร์ จนกระทั่งได้รับชมหนังของ F. W. Murnau และ Fritz Lang เกิดความชื่นชอบหลงใหลในสไตล์ Expressionist จึงตัดสินใจสร้างหนังสั้นเรื่องแรก La Terreur des Batignolles (1931) ความยาว 15 นาที ใช้นักแสดงเพียง 3 คน ได้รับคำชมอย่างล้นหลาม
เมื่อปี 1935, Clouzot ตรวจพบว่าเป็นวัณโรค ต้องนอนพักรักษาตัวอยู่บนเตียงในโรงพยาบาล เป็นเวลากว่า 5 ปี ถือได้ว่านี่คือช่วงเวลาที่มีอิทธิพลต่อตัวเขาเป็นอย่างมาก เรียนรู้เข้าใจความอ่อนแอเปราะบางของร่างกายมนุษย์ และใช้เวลาค่อยๆพัฒนาขัดเกลาบทภาพยนตร์ของตนเองให้มีความกลมกล่อมลงตัวมากขึ้น, หลังออกจากโรงพยาบาล ตรงกับช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 พอดี ถือเป็นช่วงเวลาแห่งความยากลำบาก เพราะโปรดิวเซอร์ชาวฝรั่งเศสทั้งหลายต่างต้องหลบลี้หนีภัยออกจากประเทศ ยินยอมก้มหัวเพื่อเอาตัวรอด จากเขียนบทไต่เต้าขึ้นมากำกับ The Murderer Lives at Number 21 (1942) ตามมาด้วย Le Corbeau (1943)
ตำนานของ Clouzot เริ่มต้นหลังสิ้นสุดสงครามโลก
– Quay of the Goldsmiths (1947) คว้ารางวัล International Prize: Best Director จากเทศกาลหนังเมือง Venice,
– Manon (1949) คว้า Golden Lion จากเทศกาลหนังเมือง Venice,
– The Wages of Fear (1953) ควบคว้า Grand Prix (Palme d’Or) จากเทศกาลหนังเมือง Cannes และ Golden Bear จากเทศกาลหนังเมือง Berlin [เป็นเรื่องแรกเรื่องเดียวในประวัติศาสตร์ ที่คว้า 2 รางวัลใหญ่ของ 2 เทศกาลหนัง และทำให้ Clouzot เป็นผู้กำกับคนแรกที่มีหน้าคว้ารางวัลจากเทศกาลหนัง Big 3 ได้ครบถ้วน]
– The Truth (1960) เข้าชิง Oscar: Best Foreign Language Film
ฯลฯ
จุดเริ่มต้นของภาพยนตร์เรื่องนี้ เกิดจากความชื่นชอบหลงใหลในนวนิยายของ Stanislas-André Steeman (1908 – 1970) นักเขียนแนวอาชญากรรมชื่อดัง สัญชาติ Belgian ก่อนหน้านี้เคยดัดแปลงบท Six hommes mort (แปลว่า Six Dead Men) กลายเป็นภาพยนตร์ Le Dernier des six (1941) กำกับโดย Georges Lacombe, และเมื่อตนเองก้าวขึ้นมาเป็นผู้กำกับ หยิบเลือกอีกผลงาน L’Assassin habite au 21 (1939)
เกร็ด: ว่ากันว่า Steeman เขียนนวนิยาย L’Assassin habite au 21 (1939) ณ บ้านของตนเองหมายเลขที่ 21
ส่วนที่มีการปรับแก้จากนวนิยาย หลักๆคือพื้นหลังดำเนินเรื่อง ย้ายจาก Ixelles, Belgium มาเป็น Paris, เปลี่ยนชื่อภาษาฝรั่งเศส อาทิ Mr. Smith มาเป็น Monsieur Durand, ลดปริมาณตัวละครลง และบุคคลผู้ไขปริศนาได้ (คนละคนกับในหนัง)
Steeman ร่วมพัฒนาบทดัดแปลงกับ Clouzot ด้วยนะ แต่เขากลับไม่ค่อยพึงพอใจผลลัพท์ท้าย เมื่อเสร็จออกมากลายเป็นภาพยนตร์สักเท่าไหร่
Inspector Wenceslas Vorobeychik (รับบทโดย Pierre Fresnay) ได้รับมอบหมายให้ติดตามตัวฆาตกรต่อเนื่อง Monsieur Durand มีผู้แจ้งเบาะแส ใครคนนั้นพักอาศัยอยู่บ้านเช่าหมายเลขที่ 21 จึงปลอมตัวเป็นบาทหลวงเข้าไปสืบสวนสอบสวนหาผู้ต้องสงสัย
เกร็ด: ค่าหัวรางวัลนำจับ Monsieur Durand จำนวน 100,000 ฟรังก์ เทียบปี 2016 เท่ากับ $1.3 ล้านเหรียญ
นำแสดงโดย Pierre Fresnay ชื่อจริง Pierre Jules Louis Laudenbach (1897 – 1975) นักแสดงสัญชาติฝรั่งเศส เกิดที่ Paris เป็นทหารในสงครามโลกครั้งหนึ่ง กลับมาได้รับยกย่องว่าคือฮีโร่ เข้าสู่วงการจากแสดงละครเวที ตามด้วยภาพยนตร์ในยุคหนังพูด Marius (1931), The Man Who Knew Too Much (1934), Street of Shadows (1937), La Grande Illusion (1937), Le Corbeau (1943), Monsieur Vincent (1947) ฯ
รับบท Le commissaire Wensceslas Voroboevitch dit Monsieur Wens ย่อๆว่า Wens เป็นคนเฉลียวฉลาด ไหวพริบปณิธานเป็นเลิศ ฝีปากวาทะเรื่องเอาตัวรอดไม่เป็นสองรองใคร, ได้รับมอบหมายจากเบื้องบน ให้สืบเสาะค้นหาตัวฆาตกรต่อเนื่อง จนแล้วจนรอดก็จับไม่ถูกตัวสักที มันต้องมีอะไรมากกว่านั้นหลบซ่อนเร้นอยู่แน่นอน
ผมยังคงติดตาภาพลักษณ์ของ Fresnay จากทั้ง The Man Who Knew Too Much (1934) และ La Grande Illusion (1937) เป็นคนหล่อเท่ห์ วางมาดดูดี มีสง่าราศี Charisma ของชนชั้นสูง แต่บทบาทเรื่องนี้กลับไม่ค่อยอะไรน่าจดจำสักเท่าไหร่ ขาดสิ่งที่คือเอกลักษณ์ เมื่อเทียบกับนักสืบดังๆอย่าง Sherlock Holme, C. Auguste Dupin, Hercule Poirot หรือแม้แต่ Inspector Clouseau (Pink Panther) ห่างชั้นอยู่หลายขุม
Suzy Delair ชื่อจริง Suzanne Pierette Declair (เกิดปี 1917) นักร้อง/นักแสดงหญิง สัญชาติฝรั่งเศส เข้าสู่วงการภาพยนตร์จากการชักชวนของ Clouzot ผลงานเด่นคือ The Last One of the Six (1941) ตามด้วย The Murderer Lives at Number 21 (1942) และ Quai des Orfèvres (1947)
รับบท Mila Malou แฟนสาวของ Wens ผู้มีนิสัยดื้อรั้น โคตรเอาแต่ใจอันดับหนึ่ง! แม้มีน้ำเสียงร้องโอเปร่าสูงลิบ แต่กลับไม่มีใครติดต่อว่าจ้างให้ทำงาน อยากมีชื่อเสียงโด่งดังใจขาด เลยให้ความช่วยเหลือแฟนหนุ่มติดตามหาตัว Monsieur Durand ก็ไม่เชิงว่าคือคู่หู (คอยสร้างความรำคาญให้มากกว่า) แต่เธอคือบุคคลสำคัญในการไขปริศนาฆาตกรต่อเนื่องรายนี้
ผมว่า Delair มีความโดดเด่นกว่า Fresnay เสียอีกนะ! ตัวละครของเธอจัดเต็มเรื่อง Comedy ฮาต่อเนื่องตั้งแต่ฉากแรก ทำตาปริบๆริษยาคนถูกหวย ตามด้วยหางานทำสวมหมวกเขาควาย \/ พร่ำรักกับแฟนหนุ่มแล้วพูดตบท้าย ‘ทำพินัยกรรมไว้หรือยัง?’ ส่วนน้ำเสียงร้องโอเปร่านั่นคงจากความสามารถส่วนตัวจริงๆ ถือว่าแย่งซีนพระเอกไปเต็มๆ
ไดเรคชั่นของผู้กำกับ Clouzot ไม่ใช่แค่หนังที่มีบรรยากาศทะมึน อึมครึม หวาดสะพรึง แต่ในกองถ่ายก็เฉกเช่นเดียวกัน ชอบพูดจาถากถางทีมงาน ใช้ความรุนแรงตบตี สร้างสถานการณ์การทำงานที่เคร่งเครียดจริงจัง
“He slapped me. So what? He slapped others as well…He was tough but I’m not about to complain”.
– Suzy Delair
ถ่ายภาพโดย Armand Thirard (1899 – 1973) ตากล้องขาประจำของผู้กำกับ Clouzot อาทิ The Wages of Fear (1953), Diabolique (1955) ฯ
งานภาพถือว่ามีความ ‘Stylish’ เป็นอย่างมาก โดดเด่นการจัดวางองค์ประกอบ/นักแสดง เลือกทิศทางมุมกล้อง แพนนิ่ง/Whip Pan และแสง-เงา มอบกลิ่นอายหนังนัวร์อยู่ปริ่มๆ
เริ่มต้นมาฉากนี้ อาจเป็นแรงบันดาลใจ Deep Red (1975), Halloween (1978) ฯ เมื่อลุงผู้โชคดี(ถูกล็อตเตอรี่) ถูกหมายหัวโดยฆาตกรต่อเนื่อง พอเดินออกมาจากร้านเหล้าจะพบเห็นกล้องเคลื่อนหลบมุมตำแหน่งนี้ เป็นแทนด้วยมุมมองสายตาบุคคลที่หนึ่ง (มุมมองฆาตกร) จากนั้นเคลื่อนเดินตามติดๆ ไปจนถึงจุดเกิดเหตุถึงค่อยลงมือ
ฆาตกรช่างฮึกเหิมเกริมเสียเหลือเกิน คำสั่งจากเบื้องบนส่งต่อมาเรื่อยๆอย่างชวนหัว ลดปริมาณวันจาก 7 เหลือ 4 เหลือ 2 ด้วยเทคนิคแพนนิ่ง/Whip Pan มาจนถึงคิวของ Inspector Wens แต่เพราะรับรู้ตัวดีว่าต้องโดนอะไร เลยเขียนจดหมายทิ้งไว้ให้หัวหน้า พี่แกเดินเข้ามาขยำกระดาษแล้วเขวี้ยงขว้างใส่กล้อง เสียงฉาบกลองดังขึ้นแล้วรีบเผ่นออกจากห้อง ปิดประตูดังปัง! ตบมุกโดยทันที
ห้องพัสดุในสถานีตำรวจ คงมีการจัดเรียงเก็บเอกสารไม่ต่างจากช็อตนี้สักเท่าไหร่ แต่วิธีนำเสนอของ Clouzot ถ่ายช็อตนี้ออกมาดูแปลกตา ‘Stylish’ ไม่น้อยทีเดียว โดยเฉพาะแสงไฟสาดส่องพื้นหลัง ปกคลุมกองข้อมูลส่วนใหญ่(ที่ไร้ประโยชน์)ด้วยความมืดมิด และชายคนนี้กำลังบอกเล่าถึงเนื้อหาสำคัญ สถานที่อยู่ฆาตกรต่อเนื่องบ้านหมายเลขที่ 21
การปลอมตัวเป็นบาทหลวงของ Wens แฝงนัยยะของ ‘Wolf in sheep’s clothing’ อ้างว่ามาดีแต่ซ่อนเร้นด้วยจุดประสงค์อื่น (แค่ไบเบิลเล่มหนาเตอะก็ดูเชื่อถือไม่ได้แล้ว)
นี่ไม่ต่างอะไรจาก Nazi, Germany เข้ายึดครอบครองประเทศฝรั่งเศส แล้วอ้างโน่นนี่นั่น ‘ชวนเชื่อ’ว่ามาดี แต่แท้จริงแล้วแอบแฝงซ่อนเร้นด้วยวัตถุประสงค์อื่น
การจัดวางองค์ประกอบภาพ พยายามให้นักแสดงทุกคนไม่ถูกบดบังเวลาอยู่ร่วมฉาก … พบเห็นช็อตนี้ชวนให้ผมระลึกนึกถึง Smiles of a Summer Night (1955) ของผู้กำกับ Ingmar Bergman และ The Exterminating Angel (1962) ของผู้กำกับ Luis Buñuel ขึ้นมาทันที!
ลีลาการเล่นกับเงา เจอเข้าไปช็อตนี้ชวนหัวร่ออย่างมาก หนึ่งในผู้ต้องสงสัยอ้างว่าเพิ่งอาบน้ำมา เลยถูกท้าให้ถอดเสื้อ กางเกง มันควรจะสะอาดไม่ใช่รึ หรือมีลับลมคมในซ่อนเร้นบางอย่าง … เงาบนฉากบ่งบอกได้อย่างชัดเจน
แทบทุกอย่างของหนังเรื่องนี้เข้าสูตรสาม ล่อหลอกผู้ชมมาตั้งแต่ต้นๆเรื่อง
– พระเอกได้ห้องหมายเลข 13 แต่ก่อนจะเข้าแวะห้อง 12 ตามด้วย 14 พอกลับมาห้องตนเองกลับเจอะอีกคน!
– มีการจับผิดตัวสามครั้ง
– ไฮไลท์เมื่อมีคนครุ่นคิดไขปริศนาได้ ขับร้องเพลง Beethoven: Trio Op.3 No.11 พบเห็นดาวสามดวง ดอกไม้สามดอก และเด็กหญิงนั่งรับชมการแสดงช็อตนี้ก็มีสามคน (จะจงใจไปไหน)
ทิ้งท้ายกับช็อตนี้ ขอไม่บอกว่าคืออะไร แต่สังเกตว่าตัวละครยกมือขึ้นข้างหนึ่ง ดูคล้ายท่า Nazi Salute (Heil Hitler!) ก็ไม่รู้เอาตัวรอดผ่านเซนเซอร์มาได้เช่นไร!
ตัดต่อโดย Christian Gaudin, หนังดำเนินเรื่องผ่านตัวละคร Inspector Wens และแฟนสาว Mila Malou ต้องพบเห็นเขาหรือเธอปรากฎตัวในฉากนั้นๆเสมอ
ลักษณะเด่นของหนังแนว whodunit? คือการให้เวลากับตัวละครอย่างเท่าเทียม ไม่เน้นเฉพาะตำรวจหรือฆาตกร เพราะทุกคนคือผู้ต้องสงสัยหมด เป็นการค่อยๆผูกเรื่องราว สร้างเงื่อนไข ค้นหาไปพร้อมๆกัน จนกระทั่งไพ่ทุกใบวางเรียงรายหมดหน้าตัก ช่วงท้ายถึงค่อยเฉลยว่าใครกันคือฆาตกรตัวจริง!
เพลงประกอบโดย Maurice Yvain (1891 – 1965) สัญชาติฝรั่งเศส, งานเพลงมีลักษณะเป็น Excerpt ได้ยินเป็นท่อนๆ ห้วงทำนองสั้นๆ คอยเติมเต็มเหตุการณ์ต่างๆ สร้างปฏิกิริยาอารมณ์ให้เกิดกับผู้ชม
น่าเสียดายผมหารายละเอียดบทเพลงที่ตัวละคร Mila Malou ขับร้องไม่ได้เลยสักอย่าง รวมถึง Beethoven: String Trio Op.3 No.11 แม้อ้างถึงแต่เหมือนจะไม่มีอยู่จริง (เพราะ String Trio Op.3 มีเพียง 6 Movement เท่านั้นเอง)
The Murderer Lives at Number 21 หน้าหนังนำเสนอเรื่องราวการสืบสวนสอบสวน ค้นหาจับกุมตัวผู้กระทำผิด ฆาตกรต่อเนื่องโรคจิต ให้ได้มารับโทษทัณฑ์ตามอาชญากรรมก่อไว้
แต่ความตั้งใจจริงๆของผู้กำกับ Clouzot นั่นคือการบันทึกประวัติศาสตร์ นำเสนอบรรยากาศช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง (ของฝรั่งเศส) ช่างเต็มไปด้วยความทะมึน อึมครึม ประชาชนตกอยู่ในความหวาดสะพรึงกลัว ฉันจะเอาตัวรอดผ่านหายนะเป็น-ตาย ครั้งนี้ได้เช่นไร?
การแทรกใส่ Comedy เข้ามาในหนัง -ใครฟังภาษาฝรั่งเศสเข้าใจ คงได้ขำกลิ้งสนุกสนาน- เป็นการลดความตึงเครียดจากบรรยากาศอันมืดหมองหม่น แม้ชีวิตรายล้อมด้วยอันตราย ความตายย่างกรายเข้าหาทุกวินาที แต่ถ้าเรายังมีรอยยิ้มเสียงหัวเราะ ก็เท่ากับไม่ไร้สิ้นหนความหวัง
แรงจูงใจของการเข่นฆาตกรรม? เงินคือปัจจัยหนึ่งแต่เหมือนจะไม่ใช่สาเหตุหลักๆ เท่าที่ผมจับใจความได้คือความทะเยอทะยาน อวดอ้างดี เห็นคนอื่นทำได้ฉันจึงทำตามด้วย พัฒนาขึ้นเรื่อยๆจนกลายเป็น ‘ศิลปะแห่งอาชญากร’
ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สองถือว่าซวยแท้ Clouzot และผู้กำกับอีกหลายคนในสังกัด Continental Films ถูกศาลสั่งแบนห้ามยุ่งเกี่ยวสร้างภาพยนตร์ตลอดชีวิต! (ประมาณว่าใครสร้างหนังให้นาซี ถูกเหมารวมหมดว่าคือคนทรยศอัปรีย์!) โชคยังดีเพื่อนๆศิลปิน/ผู้กำกับมากมาย Jean Cocteau, René Clair, Marcel Carné, Jean-Paul Sartre ฯ ต่างโวยวายออกมาร้องเรียกความยุติธรรม รับไม่ได้ต่อการตัดสินเว่อเกินจริง ทำให้ภายหลังลดโทษลงเหลือเพียงระยะเวลาสองปี
เมื่อหนังออกฉายไม่เพียงได้รับเสียงตอบรับดีล้นหลาม ยังประสบความสำเร็จทำเงินไม่น้อย คาดว่าผู้ชมชาวฝรั่งเศสสมัยนั้น น่าจะสัมผัสเข้าถึงบรรยากาศ และตระหนักนัยยะแฝงแอบซ่อนเร้นอยู่เบื้องหลังได้แน่
ส่วนตัวค่อนข้างชื่นชอบหนัง เดาเกือบถูกถึง whodunit? สงสัยเพราะเคยรับชม Murder on the Orient Express (1974) เลยสามารถจับทาง พบเห็นความผิดสังเกตหลายๆอย่าง [คือผมทายไว้ 4 แต่ผลลัพท์ออกมา 3]
จัดเรต PG กับเหตุการณ์ฆาตกรรม
Leave a Reply