Last Tango in Paris

Last Tango in Paris (1972) : Bernardo Bertolucci ♥♥♡

โดยผู้กำกับชาวอิตาเลี่ยน Bernardo Bertolucci นำแสดงโดย Marlon Brando, Maria Schneider และ Jean-Pierre Léaud ถ่ายทำที่ Paris, France อีกหนึ่งหนังเรต X ที่มีเลิฟซีนอันเลื่องชื่อ… แต่เดี๋ยวก่อน Marlon Brando เนี่ยนะเล่นหนัง X … มันไม่ใช่อย่างที่คุณคิดนะครับ

การพบกันโดยบังเอิญของชาย-หญิงนิรนาม (Marlon Brando กับ Maria Schneider) ในห้องพักห้องหนึ่ง ที่อยู่ดีๆ ชายคนนั้นก็ข่มขืนหญิงสาว แต่แทนที่เธอจะขัดขืนกลับยินยอม แล้วยังกลับมาพบกันในห้องนี้อีก ชายหนุ่มเช่าห้องไว้เป็นรังรักของพวกเขา คนหนึ่งเพื่อปลดเปลื้องทิ้งความเจ็บปวดไว้ข้างนอก อีกคนเพื่อแสวงหาแฟนตาซีใน Sex

Bernardo Bertolucci (1940-ยังมีชีวิตอยู่) ผู้กำกับและนักเขียนบทชาวอิตาเลี่ยน เป็นอีกคนหนึ่งที่คอหนังควรจดจำชื่อไว้นะครับ มีผลงานที่ทำให้เขาได้ Oscar อย่าง The Last Emperor (1987) ที่เข้าชิง 9 สาขากวาดเรียบ, สำหรับหนังเรื่องนี้ เกิดขึ้นจากความฝันแฟนตาซีของของตนเอง ‘ฝันว่าได้พบหญิงสาวสวยที่เดินอยู่บนท้องถนน แล้วได้มี Sex กับเธอโดยไม่รู้ว่าเป็นใคร’ (He once dreamed of seeing a beautiful nameless woman on the street and having sex with her without ever knowing who she was)

แรงบันดาลใจแรกของหนัง มาจากภาพวาดของ Francis Bacon (1909-1992) ที่จะมี 2 ภาพปรากฎขึ้นตอน Opening Credit

Double Portrait of Lucian Freud and Frank AuerbachStudy for a Portrait

ภาพแรกชื่อ Double Portrait of Lucian Freud and Frank Auerbach และภาพที่สอง Study for a Portrait, สิ่งที่โดดเด่นในผลงานของ Bacon คือการลงสีจัดแสงที่ประณีตงดงาม และผิวหนังของมนุษย์ ที่มีลักษณะเปรียบเหมือนคล้ายเนื้อสด (raw meat), Bertolucci ขณะอยู่ใน Paris เดินทางไปชมการจัดแสดงภาพวาดของ Bacon ที่ Grand Palais อยู่เรื่อยๆ กล่างถึงภาพวาดเหล่านี้ว่า ‘แสงสีในภาพวาดทั้งสอง ทำให้นึกถึง Paris ในฤดูหนาว’ แสงสีที่เขาพูดถึงนี้ ได้กลายมาเป็นบรรยากาศ โทนสี อารมณ์ของหนัง

ครั้งหนึ่ง Bertolucci พา Marlon Brando ไปชมการจัดแสดงภาพวาดของ Bacon นี้ด้วย แล้วบอกให้ Brando จินตนาการ เปรียบเทียบตัวเองกับรูปร่าง เนื้อหนังของภาพวาด แล้วนำเสนอตัวละครให้ออกมามีลักษณะ ใบหน้าเหมือนถูกบางสิ่งบางอย่างกลืนกินจากข้างใน

อีกหนึ่งแรงบันดาลใจของ Bertolucci มาจากการได้ดู Blue Movie (1969) ของ Andy Warhol หนังเรต X ที่ไม่มีอะไรเลยนอกจากตัวละครมี Sex กัน เป็นเรื่องแรกที่หนังลักษณะนี้ฉายในโรงภาพยนตร์, ขอพูดถึง Andy Warhol สักหน่อยนะครับ เป็นศิลปินชื่อดังมากๆในอเมริกายุค 60s-80s เป็นผู้ริเริ่มศิลปะแนว Visual Art Movement หรือ Pop Art ผมรู้จักเขาครั้งแรกจากหนังเรื่อง Basquiat (1996) ท่าทางแต๋วๆ คิดพูด ทำอะไรไม่ค่อยเหมือนคนอื่น, Warhol เป็นศิลปินที่มีผลงานหลากหลายมาก ทั้งภาพวาด จิตรกรรม ประติมากรรม รูปถ่าย และภาพยนตร์ ช่วงระหว่าง 1963-1968 เขาสร้างภาพยนตร์กว่า 60 เรื่อง ที่ดังๆอย่าง
– Sleep หนังที่ไม่มีอะไรเลยนอกจากการนอน ความยาว 6 ชั่วโมง
– Blow Job หนัง 35 นาทีที่ถ่ายเฉพาะใบหน้าของนักแสดงคนหนึ่ง ขณะได้รับ Oral Sex
– Empire ความยาว 8 ชั่วโมงถ่ายตึก Empire State Building ในเมือง New York City ขณะหัวค่ำ
– Eat หนังที่มีแต่การกินความยาว 45 นาที…
– และ Blue Movie หนังที่ไม่มีอะไรเลยนอกจากชายหญิง สองคนมี Sex กัน

การเกิดขึ้นของ Blue Movie ถือเป็นหนัง Adult Erotic เรื่องแรกที่มีฉากร่วมเพศสุดโจ๋งครึ่มฉายในโรงภาพยนตร์ ถือเป็นปฐมบท จุดเริ่มต้นของ Golden Age of Porn หรือ porno chic หรือหนังโป๊นะแหละครับ

เกร็ด: เหตุที่ชื่อ Blue Movie เพราะหนังมีสีฟ้าทั้งเรื่อง จริงๆเกิดขึ้นเพราะความโง่เองของ Warhol ใช้ฟีล์มผิดประเภทถ่าย ต้องการถ่ายฉากกลางคืน แต่ดันมีแสงเข้า ทำให้ตอนล้างออกมามีสีน้ำเงิน เลยเปลี่ยนชื่อหนัง จากเดิม Fuck เป็น Blue Movie แทน

กลับมาที่ Last Tango in Paris เรื่องราวสร้างโดย Bernardo Bertolucci และ Franco Arcalli โดยมี Agnès Varda แปลเป็นภาษาฝรั่งเศสให้ เรื่องราวของหนังภายหลังกลายได้รับการดัดแปลงเป็นนิยายโดย Robert Alley

ความตั้งใจแรกของ Bertolucci ต้องการเลือก Dominique Sanda ให้รับบทนำ คู่กับ Jean-Louis Trintignant แต่ภายหลัง Trintignant บอกปัดข้อเสนอ กลายเป็น Marlon Brando ที่ตอบตกลง แต่ Sanda ดันท้องเสียก่อน ขอถอนตัว สุดท้ายตกเป็น Maria Schneider อายุ 19 ปีที่ได้บทไป

การแสดงของ Brando ถือว่าสุดยอดอยู่แล้ว โดยเฉพาะสีหน้าที่ยิ่งกว่าสมจริง (ผมเห็นมีคนใช้คำว่า Hyper-real) กับคำพูดประโยคแรกในหนัง ‘Fucking God!’ แทบไม่ต้องอธิบายเลยว่า เขาผ่านอะไรมา ทุกอย่างแสดงออกผ่านสีหน้าทั้งหมดแล้ว, ฉากที่ผมคิดว่าเป็นไฮไลท์ของ Brando คือตอนระบายความอัดอั้นในใจต่อหน้า ร่างของภรรยา แล้วพูดว่า ‘Who the hell were you?’ แล้วก็สถบสารพัดคำหยาบออกมา ผมดูหนังเรื่องนี้ตอนมึนๆยังรู้สึกขนลุก การแสดงของ Brando ทำให้ท้องผมปั่นป่วนเสียยิ่งกว่าตอนกำลังเมาเสียอีก

Marlon Brando ยิ่งดังเท่าไหร่ ก็ยิ่งเรื่องมาก กวนประสาทขึ้นทุกวัน เพราะคิดว่าตัวเองเก่งที่สุด ไม่ต้องง้อใคร เป็นนักแสดงที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก, กับหนังเรื่องนี้ที่ต้องพูดภาษาฝรั่งเศสกว่าครึ่ง เขาบอกกับผู้กำกับว่า จะไม่จดจำบทพูด ให้ใช้การเขียนใส่กระดาษแล้วเขาจะอ่านตาม (สังเกตเวลา Brando มีฉากพูดยาวๆ สายตาเขาจะกลิ้งกลอกไปมา) ถ้าเป็นสมัยนี้ใครเอาแต่ใจแบบนี้ อาจโดนไล่ออกจากกองถ่ายเลยไปแล้ว แต่ตอนนั้นใครจะไปกล้าหือกับ Brando เพราะการได้เขายอมตกลงที่จะแสดง ถือว่าเป็นอะไรที่คุ้มค่ามากที่สุดแล้ว

สำหรับ Maria Schneider นักแสดงสาวชาวฝรั่งเศส ที่ขณะนั้นเพิ่งอายุ 19 ยังไม่รู้ประสีประสาอะไรมากในวงการภาพยนตร์ เธอไม่มีความละอายที่จะต้องปกปิดเรือนร่างของตนเอง แต่หลังจากหนังเรื่องนี้ก็ไม่เคยเล่นหนังที่มีฉากโป๊เปลือยอีกเลย, สิ่งที่ Bertolucci และ Brando ทำกับเธอ เรียกว่าเป็นการ ‘ขมขืนทางอารมณ์’ (Emotional Rape) แม้ฉากข่มขืนในหนัง เธอจะออกมายืนยันเองว่า ไม่มีการร่วมเพศแบบ Intercourse แต่สิ่งที่เกิดขึ้นระหว่างถ่ายทำและหลังจากหนังฉาย ทำให้เธอเปลี่ยนไปเป็นคนละคน

การแสดงของ Schneider ไม่ได้มีอะไรที่หวือหวามากนัก ยกเว้น Sex Scene ที่บ้าคลั่ง, ในห้องแห่งนั้นเปรียบได้กับแฟนตาซีที่เกิดขึ้นในจิตใจของตัวละคร มันมีความบ้าระห่ำ รุนแรง และคาดไม่ถึง, Sex Scene ส่วนใหญ่ในหนังจะเป็น Schneider ที่เปลือย ส่วน Brando มีฉากเดียวเอง(มั้ง) ที่เปลือย, การข่มขืนที่เจ็บปวดที่สุดคือ ฉากที่เรียกว่า ‘Butter Scene’ (ฉากเนย) มีหลายคนมองว่านี่คือ Anal Rape (การข่มขืนทางทวารหนัก) เห็นว่าตอนถ่ายฉากนี้ Bertolucci ไม่ได้อธิบายสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นให้ Schneider ฟัง ฉากนี้ไม่ได้มีอยู่ในบทด้วย แล้วอยู่ดีๆ Brando ก็กระทำกับเธอเลย น้ำตาที่เราเห็นคือความรู้สึก สิ่งที่ออกมาจากตัวของเธอจริงๆ ทั้งหวาดหวั่น ใจสั่นกลัว เหมือนถูกทำให้ขายหน้า, กับเหตุการณ์นี้ ทำให้ชีวิตของ Schneider เปลี่ยนไปเลยนะครับ ภายเธอออกมาแสดงความรู้สึกว่า ‘เหมือนถูก Bertolucci และ Brando ข่มขืนทางอารมณ์’

I should have called my agent or had my lawyer come to the set because you can’t force someone to do something that isn’t in the script, but at the time, I didn’t know that. Marlon said to me: ‘Maria, don’t worry, it’s just a movie,’ but during the scene, even though what Marlon was doing wasn’t real, I was crying real tears. I felt humiliated and to be honest, I felt a little raped, both by Marlon and by Bertolucci. After the scene, Marlon didn’t console me or apologise. Thankfully, there was just one take.

อีกหนึ่งตัวละครสมทบ Jean-Pierre Léaud รับบทแฟนหนุ่มของนางเอก, Léaud คือนักแสดงที่คอหนังฝรั่งเศสน่าจะต้องจดจำเขาได้นะครับ เด็กหนุ่มใน The 400 Blows (1959) ที่ถือว่าเป็นนักแสดงที่เป็นหน้าเป็นตาของ French New Wave เลย, สำหรับหนังเรื่องนี้ Léaud มาในมาดเพลย์บอยผู้กำกับ ที่ปรากฎตัวออกมาทีไรก็พูดไม่มีหยุดเลย (มีหนังหลายเรื่องของ Léaud ที่เป็นแบบนี้นะครับ ตัวละครพูดอะไรก็ไม่รู้น้ำไหลไฟดับ พี่แกความทรงจำดีมากๆ หล่อโคตรๆด้วย)

เกร็ด: Léaud ชื่นชม เคารพ Brando มากๆ แต่กลัวที่จะเจอตัวจริง เขาเลือกถ่ายหนังวันเสาร์ ที่ Brando ไม่ยอมทำงาน และไม่เคยพบกันในและนอกกองถ่ายสักครั้ง

ถ่ายภาพโดยปรมาจารย์ Vittorio Storaro ที่ถ่ายหนังเรื่อง Apocalypse Now (1979), กับหนังเรื่องนี้โดดเด่นมากๆกับ โทนสี บรรยากาศของหนัง ที่ให้ความรู้สึกแบบเดียวกับภาพวาดของ Francis Bacon เปะๆเลยละครับ โดยเฉพาะในห้องนั้น ทั้งการเคลื่อนกล้องและลำแสงที่สาดส่องผ่านหน้าต่างเข้ามา (ขณะพระอาทิตย์ทอแสง) นี่สวยงามมากๆ แสงสีส้มๆให้ความรู้สึกเหมือนพระอาทิตย์ยามสาย อบอุ่น นุ่มนวล ราวกับอยู่บนสรวงสวรรค์, แต่กับฉากอื่นๆของหนัง จะมีโทนสี บรรยากาศที่ตรงกันข้ามเลย ฝั่งของตัวละคร Brando ในโรงแรม จะมีหลายฉากที่เล่นกับความมืดมิด (มีฉากไฟดับ ปิดประตู ฯ), ส่วนฝั่งนางเอก จะออกโทนน้ำตาล เทาแก่ๆ ให้ความรู้สึกแห้งแล้ง จืดชืด, และฉากตอนจบ ในห้องของนางเอก โทนสีแบบว่าเย็นยะเยือก เหมือนหิมะ แทนด้วยจุดสิ้นสุดของความฝัน

ตัดต่อโดย Franco Arcalli และ Roberto Perpignani, หนังเล่าเรื่องผ่านมุมมองของทั้ง 2 ตัวละครหลัก ใช้การตัดสลับเรื่องราว ก่อนที่จะมาบรรจบพบกันในห้องแห่งนั้น, การตัดต่อถือว่าเข้ากับงานภาพใช้ได้เลย มีความต่อเนื่อง ไม่ทำให้การเคลื่อนไหวภาพมีการสะดุด, ผมสังเกตว่าการ Rape ครั้งแรกใช้ Long-take ไม่มีการตัด แต่การ Rape ตอน Butter Scene มีการตัดสลับ… ผมเชื่อว่าความตั้งใจของผู้กำกับ กับ Butter Scene คงไม่ได้ต้องการตัดต่อเอาช็อตอื่นมาใส่แทรกนะครับ ตั้งใจ Long-take แน่ๆ แต่เพราะถ้าปล่อยยาวไปเลย ผู้ชมคงรู้สึกกระอักกระอ่วนมาก มันเป็นอะไรที่ไม่น่าอภิรมย์เลย นี่ทำให้ต้องตัดสลับเอามุมอื่นมาใส่ให้เห็นบ้าง จะได้ลดความรู้สึกแย่ๆลงไป (กับ Rape ตอนแรกมันเซอร์ไพรส์แบบไม่รู้ตัวนะครับ เลยไม่ต้องใช้การตัดสลับมุมใดๆ)

เพลงประกอบโดย Gato Barbieri เรียบเรียงและกำกับวงโดย Oliver Nelson กลิ่นอายของชื่อหนัง Tango และ Paris ลอยหึ่งอยู่เต็มๆ ผสมรสสัมผัสของ Jazz ที่ให้ความรู้สึกล่องลอย หอมกรุ่น, กับฉากสำคัญๆ ขณะเข้าด้ายเข้าเข็มจะไม่มีเพลงประกอบดังขึ้นนะครับ หนังใช้ความสด สมจริง แต่หลังจากเสร็จสมขึ้นบนสวรรค์แล้ว เพลงประกอบถึงก็จะค่อยๆดังขึ้นมา สรุปอารมณ์ ความรู้สึก เรื่องราว เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เหมือนเวลากินข้าวอิ่ม ดูหนังเสร็จ เราจะรู้สึกอิ่มเอิบ ล่องลอย สบายตัว เพลงประกอบใช้บรรยายความรู้สึกเหล่านี้

หนังเรื่องนี้เกี่ยวกับอะไรกัน? ผมมองเป็นการผจญภัยทางอารมณ์ ของทั้งสองตัวละคร, พระเอก หลังจากที่ภรรยาฆ่าตัวตาย (หนังจบก็ไม่รู้เหตุผลว่าทำไม) เขาต้องการที่จะหนีจากโลกความจริง ได้สร้างโลกแฟนตาซีของตัวเองขึ้น ในห้องแห่งนี้ ใช้ Sex ที่แปลกประหลาดพิศดาร คือการระบายความรู้สึกอัดอั้นของตนเองออกมา, ส่วนหญิงสาวแรกรุ่น ผู้ความใคร่รู้ใคร่ลองใคร่อยาก หลังจากได้พบประสบการณ์ ความรู้สึกที่แปลกประหลาด ทำให้หลงใหล คลั่งไคล้ ติดกับดักในห้วงอารมณ์ และความต้องการ ที่ห้องแห่งนี้จึงกลายเป็นเหมือนสรวงสวรรค์แฟนตาซีข ที่จะได้เรียนรู้ รองรับจินตนาการของเธอ

แค่นี้แหละครับ หนังไม่มีอะไรในกอไผ่เท่าไหร่ เป็นหนังที่สร้างด้วยอารมณ์ ความรู้สึก วิธีจะดูให้เข้าใจคือต้องสังเกตอารมณ์ การแสดงออกของตัวละคร สีหน้า ท่าทาง น้ำเสียง คำพูด รับรู้รับสัมผัสเข้ามา แล้วเข้าใจให้ได้ว่านั้นคืออารมณ์ ความรู้สึกอะไร แค่นี้ก็จะเข้าใจหนังได้โดยถ่องแท้เลย, มันอาจจะยากเสียหน่อยในช่วงแรกๆ เพราะหนังไม่ได้บอกคุณว่า อะไรทำไม ซึ่งทุกสิ่งอย่างจะค่อยๆถูกเปิดเผยออก หญิงสาวเธอเป็นใคร? พระเอกมีปมปัญหาอะไร? ทำไมพวกเขาถึงตัดสินใจไม่บอกชื่อตนเองออกมา? ต้องดูหนังให้จบถึงจะเข้าใจปริศนาทั้งหมด

กับช่วงท้าย มันเกิดอะไรขึ้นกับพระเอก? ปมปัญหาของเขา คือการไม่ยอมรับโลกความจริงที่ตนอยู่ (ต้องการหนีโลก) ด้วยความที่ไม่เข้าใจสาเหตุ ทำไมภรรยาถึงฆ่าตัวตาย ทำให้รับตนเองไม่ได้ (อาจโทษว่าตนเป็นต้นตอการตายของเธอ) ตอนที่เขาพูดระบายความรู้สึกกับภรรยา มีคำพูดประโยคหนึ่งบอกว่า ‘อยากฆ่าตัวตาย แต่ไม่รู้จะทำยังไง’ วิธีหนึ่งของผู้ป่วยที่มีปัญหาทางจิต คือ สร้างโลกในจินตนาการ แล้วหลบหนีเข้าสู่โลกนั้น สิ่งที่พระเอกทำก็คือลักษณะนี้แหละ เขามีโลกแฟนตาซีของตนเองอยู่ แต่คราวนี้เขาต้องการหลบหนีเข้าไปสู่โลกนั้นโดยสมบูรณ์ ทำให้เขาตามตื้อหญิงสาวไปถึงห้องของเธอ เพื่อว่านั่นจะได้กลายเป็นโลกใบใหม่ของเขา แต่เธอกลับไม่ยอม เพราะตนกำลังจะแต่งงานมีโลกใบใหม่ของตนเอง… นี่ทำให้ตอนจบเธอพึมพัมว่า ฉันไม่รู้จักเขา ใครก็ไม่รู้พยายามจะข่มขืนฉัน นี่เป็นการป้องกันตนเอง… นี่เป็นการปกป้องโลกส่วนตัวของเธอ

Tango จังหวะแทงโก้ คือท่าเต้นประเภท Ballroom dance ดนตรีจะมีจังหวะลีลา ท่วงทำนอง กระตุ้นเร้าอารมณ์ นุ่มนวลคล้ายอารมณ์รักของหนุ่มสาว, Last Tango ในหนังเปรียบเทียบกับการแข่งขันเต้น Tango รอบชิงชนะเลิศสุดท้ายในภัตราคาร ร้านอาหารแห่งหนึ่ง ขณะที่คู่พระนางก็ได้เข้าไปร่วมแจมด้วย แต่แบบคนเมาเข้าไปป่วนงาน นี่แสดงถึงท้ายสุดของความรักชายหญิง ที่สะเปะสะปะ เละเทะไม่เป็นท่า หมดอารมณ์ไร้จังหวะ ถ้ายังฝืนเต้นไปต่อก็จะมีแต่รังขายขี้หน้า คงต้องมีฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดที่ต้องเสียสละ หรือตกตายกันไป (ผมว่านี่อาจจะคือเหตุผลที่ภรรยาของพระเอกฆ่าตัวตายก็ได้นะครับ)

ส่วนตัวผมเฉยๆกับหนังเรื่องนี้ คงเพราะตอนดูผมกำลังกรึ่มๆ มึนๆ ทำให้สัมผัสอารมณ์ของหนังไม่ได้เท่าไหร่ เรื่องราวก็ไม่รู้เข้าใจได้ถูกต้องมากน้อยแค่ไหน (ก็ถูไถได้ตามที่เล่ามานะครับ) แต่การแสดงของ Marlon Brando ถือว่าสุดยอด กินขาด ไร้ที่ติ และแนวทางกำกับของ Bertolucci กับวิธีการนำเสนอถ่ายภาพเคลื่อนไหว และตัดต่อทำออกมาได้ยอดเยี่ยม แต่การกำกับนักแสดงผมว่าผู้กำกับคนนี้ ไม่น่าคบหาน่านับถือเท่าไหร่

สำหรับฉาก rape ผมรู้สึกว่ามันรุนแรงมากๆนะ ไม่เห็นความจำเป็นที่ต้องทำกันขนาดนั้นด้วย แต่เพราะแฟนตาซีของหนังมันคือแฟนตาซีของผู้กำกับ ผมมองว่ามันเกินเลยล้ำเส้นไปนิด กับผู้ชายผลกระทบไม่มากเท่าไหร่หรอก แต่ผู้หญิงนะสิ (เห็นว่า Schneider ทั้งติดยา พยายามฆ่าตัวตายแต่ก็รอดมาได้ เธอให้สัมภาษณ์ภายหลัง ระลึกได้ว่า สิ่งที่เกิดขึ้นจากเธอ มีอิทธิพลมาจากหนังเรื่องนี้ทั้งหมดทั้งสิ้น) การข่มขืนทางอารมณ์ มันเลวร้ายกว่าการโดนข่มขืนทางกายอีกนะครับ

ทุนสร้าง $1.25 ล้านเหรียญ (ครึ่งหนึ่งคือค่าตัวของ Brando) หนังทำเงินทั่วโลก $96.3 ล้านเหรียญ, ได้เข้าชิง Oscar 2 สาขา ไม่ได้สักรางวัล
– Best Director
– Best Actor in a Leading Role (Marlon Brando)

ตอนหนังฉายในอเมริกาครั้งแรก ได้เรต X แบบไม่ต้องคิดมากเลย แต่ต่อๆมาเมื่อได้ฉายใหม่ในปี 1997 เปลี่ยนมาเป็นเรต NC-17 (มันก็คือเรต X แบบแรงกว่านะครับ), ในอิตาลี หนังถูกแบนในสัปดาห์แรก และให้ตัดบางฉากออกถึงฉายได้ ส่วนศาลสั่งให้ Bertolucci ต้องถูกภาคทัณฑ์ 4 เดือน และเพิกถอนสิทธิ์พลเมือง 5 ปี  (คุ้มกันไหมนิ)

แนะนำกับแฟนหนัง Marlon Brando ถือว่าเขาแบกหนังไว้ทั้งเรื่องจริงๆ, กับคนชอบหนังแนว Erotic มีฉาก Love Scene สวยๆ, คนทำงานสายถ่ายภาพ ถ่ายรูป นี่เป็นหนังที่มีงานภาพสวยมากๆ โดยเฉพาะการจัดแสง ศึกษาไว้เป็นดี

จัดเรต NC-17 ไม่เหมาะสำหรับคนอายุต่ำกว่า 17 ฉากโป๊เปลือยคงไม่เท่าไหร่ แต่ Rape นี่สิอันตรายรุนแรง

TAGLINE | “Last Tango in Paris หนังเรต X เลื่องชื่อโดยผู้กำกับ Bernardo Bertolucci และสุดยอดการแสดงของ Marlon Brando มีแค่สองอย่างนี้ก็น่าสนใจแล้ว”
QUALITY | THUMB UP
MY SCORE | SO-SO

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: