Last Year at Marienbad

Last Year at Marienbad (1961) French : Alain Resnais ♠♠♠♠♠

(3/10/2023) ถ้าจะอธิบายให้ผู้ชมสมัยใหม่เข้าใจโดยง่าย Last Year at Marienbad (1961) เปรียบดั่งสถาปัตยกรรมทางความคิด (Architecture of the Mind) ที่ใช้วิธีการนำเสนอแบบพหุจักรวาล (Multiverse) เมื่อปีก่อนในหลายภพชาติ หลายสถานที่ หลายโอกาส เขาพยายามโน้มน้าวชักชวน Delphine Seyrig ให้หนีตามกันไป, คว้ารางวัล Golden Lion จากเทศกาลหนังเมือง Venice

หลายปีก่อนเมื่อตอนเขียนถึง Last Year at Marienbad (1961) ผมยังจดจำได้ว่าโคตรๆมีปัญหาในการรับชม เป็นภาพยนตร์ที่มีความสลับซับซ้อน (จัดระดับความยากสูงสุด Veteran) ตัวละครไม่ต่างจากรูปปั้น เหมือนคนไร้จิตวิญญาณ เดี๋ยวเคลื่อนไหว-เดี๋ยวหยุดนิ่ง เดี๋ยวพูดคุย-เดี๋ยวเงียบงัน กล้องล่องลอยเรื่อยเปื่อย ตัดต่อกระโดดไปมา ไม่เรียงลำดับเวลา (non-Chronological order) แถมเนื้อเรื่องราวไม่ได้มีสาระห่าเหวอะไร ดั่งคำที่นักวิจารณ์ชื่อดัง Pauline Kael เคยให้คำนิยามไว้ “sleeping beauty”

The term “sleeping beauty” provides, I think, a fairly good transition to Last Year at Marienbad—or Sleeping Beauty of the International Set, the high-fashion experimental film, the snow job in the ice palace. Here we are, back at the no-fun party with non-people, in what is described to us as an “enormous, luxurious, baroque, lugubrious hotel—where corridors succed endless corridors.”

นักวิจารณ์ Pauline Kael

ประสบการณ์รับชมภาพยนตร์คือส่วนสำคัญมากๆ ที่ทำให้เมื่อผมหวนกลับมาดูหนังคราวนี้ สามารถขบครุ่นคิด เข้าใจวัตถุประสงค์ของผู้สร้าง ค้นพบว่าจริงๆแล้วหนังไม่มีความสลับซับซ้อนขนาดนั้น ถ้าคุณหลับตารับฟังเฉพาะเสียงบรรยาย/พูดคุยสนทนา (ถ้าฟังภาษาฝรั่งเศสรู้เรื่องนะ) ก็อาจสามารถทำความเข้าใจเนื้อเรื่องราวได้โดยทันที

ปัญหาที่ทำให้หนังดูยาก สลับซับซ้อน เพราะลีลาตัดต่อที่ผมขอเรียกว่าพหุภพ หรือพหุจักรวาล (Multiverse) ตัวละครกำลังพูดคุยสนทนากันอยู่ดีๆ จู่ๆสลับสับเปลี่ยนสถานที่ มุมมอง ทุกสรรพสิ่งอย่างรอบข้าง บางครั้งเหตุการณ์เดิม/คำพูดเดิมๆ บังเกิดขึ้นซ้ำๆ วกไปวนมา ไม่เรียงลำดับ ไม่รู้เวล่ำเวลา … เปรียบเทียบกับแนวคิดจักรวาลคู่ขนาน Everything Everywhere All at Once (2022) อาจดูเหมือนเด็กน้อยไปเลยละ

Madame A: It’s impossible. I’ve never been to Frederiksbad.
Man X: Perhaps it was elsewhere. In Karlstadt, or Marienbad, or in Baden-Salsa, or even in this room.

วิธีการจะสามารถรับชมภาพยนตร์เรื่องนี้โดยง่ายที่สุด คือไม่ต้องไปครุ่นคิดมากอะไรกับมุมมอง/สถานที่เปลี่ยนแปลงไป (ดูหนังให้เข้าใจก่อน ค่อยย้อนกลับมาสังเกตรายละเอียดพวกนี้ทีหลังก็ได้) พยายามตั้งใจรับฟังเสียงบรรยาย/พูดคุยสนทนา เพราะเป็นสิ่งที่มีความต่อเนื่อง ทิศทางการเล่าเรื่องเกือบจะเป็นเส้นตรงเลยละ … อย่างที่ผมอธิบายไปก่อนหน้า ถ้าคุณสามารถหลับตา แค่รับฟังเสียง ก็อาจสามารถทำความเข้าใจเรื่องราวของหนังได้ทันที

ถ้าคุณสามารถพานผ่านอุปสรรคในการรับชม ก็จะเริ่มสังเกตเห็นแนวคิด/เป้าหมายของผู้สร้าง ซึ่งเปิดกว้างในการขบครุ่นคิดวิเคราะห์ บทสัมภาษณ์ผกก. Alain Resnais และนักเขียนบท Alain Robbe-Grillet ยังแสดงมุมมองแตกต่างกันไป หนึ่งในนั้นที่ผมชื่นชอบมากๆคือเปรียบเทียบดั่งสถาปัตยกรรมทางความคิด (Architecture of the Mind) เขาวงกดของจิตใจ สุดท้ายแล้วเทพี Delphine Seyrig จะตัดสินใจหนีตามเขาไปหรือไม่? … เป็นแรงบันดาลใจไม่ใช่แค่ Inception (2010) แต่ยังอีกหลายๆผลงานของ Christopher Nolan


Alain Resnais (1922-2014) นักเขียน/ผู้กำกับภาพยนตร์ สัญชาติฝรั่งเศส เกิดที่ Vannes, Brittany ช่วงวัยเด็กล้มป่วยโรคหอบหืด ทำให้ต้องร่ำเรียนหนังสืออยู่กับบ้าน ชื่นชอบการอ่านหนังสือการ์ตูน และหลงใหลในสื่อภาพยนตร์, วันเกิดอายุ 12 ได้รับของขวัญกล้อง Kodak 8mm จึงทดลองสร้างหนังสั้น แต่หลังมีโอกาสรับชมละครเวที เปลี่ยนความสนใจอยากเป็นนักแสดง โตขึ้นออกเดินทางสู่ Paris ทำงานเป็นผู้ช่วย Georges Pitoëff ณ โรงละคอน Théâtre des Mathurins ระหว่างนั้นร่ำเรียนการแสดงยัง Cours René-Simon เริ่มตระหนักว่าการเป็นนักแสดงไม่ค่อยเหมาะสมกับตน เลยกลับสู่ความสนใจภาพยนตร์ ศึกษาการตัดต่อจาก Jean Grémillon สอนอยู่สถาบันเปิดใหม่ L’Institut des hautes études cinématographiques (IDHEC)

Resnais อาสาสมัครทหารเมื่อปี ค.ศ. 1945 หลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สองถูกส่งไป Germany และ Austria ในฐานะสมาชิกคณะการแสดง Les Arlequins พบเห็นเศษซากปรักหักพัง ซึมซับบรรยากาศโศกนาฎกรรม, หลังปลดประจำการทหาร เดินทางกลับสู่ Paris ทำงานเป็นนักตัดต่อ ถ่ายทำหนังสั้นเรื่องแรก Schéma d’une identification (1946) [สูญหายไปแล้ว], ผลงานในยุคนี้มักเป็นสารคดีขนาดสั้น เกี่ยวกับศิลปิน/จิตรกร อาทิ Van Gogh (1948) [คว้า Oscar: Best Short Subject (Two-Reel)], Gauguin (1950), Guernica (1950), Statues Also Die (1953), มาจนถึง Nuit et Brouillard (1955) แปลว่า Night and Fog สารคดีเรื่องแรกที่นำเสนอภาพเหตุการณ์ในค่ายกักกันนาซี

ความสำเร็จของภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่องแรก Hiroshima mon amour (1959) ทำให้โปรดิวเซอร์แนะนำนักเขียน Alain Robbe-Grillet (1922-2008) ผู้บุกเบิกกลุ่มเคลื่อนไหว Nouveau Roman (แปลว่า New Novel) คาดหวังว่าผกก. Resnais จะดัดแปลงนวนิยายเรื่องหนึ่งใด แต่หลังจากทั้งสองพบเจอ พูดคุยกันอย่างถูกคอ ต่างมีความเห็นสอดพ้องหลายสิ่งอย่าง Robbe-Grillet จึงเริ่มต้นพัฒนาบทหนังเรื่องใหม่ (ไม่ได้ดัดแปลงจากนวนิยายใดๆของตนเอง)

แนวทางการเขียนนวนิยาย/บทหนังของ Robbe-Grillet ไม่ได้มาจากหัวข้อ เรื่องราว หรือประเด็นน่าสนใจ แต่เริ่มต้นด้วยรูปแบบ วิธีการนำเสนอ (ในกรณีของ Last Year at Marienbad (1961) กอปรด้วยการฉายภาพเหตุการณ์ซ้ำๆ สลับเปลี่ยนสถานที่ไปมา ไม่เรียงลำดับเวลา เรียกว่าละเล่นกับ ‘Space & Time’) จากนั้นถึงค่อยครุ่นคิดรายละเอียดประกอบ สภาพแวดล้อมรอบข้าง และเนื้อเรื่องราวที่สอดคล้องกับลูกเล่นดังกล่าว

As long as the kinds of form were agreed on, we’d be able to think up the subject.

Alain Resnais and I were able to collaborate only because we saw the film in the same way from the start; and not just in the same general outlines but exactly, in the construction of the least detail as in its total architecture. What I wrote might have been what was already in his mind; what he added during the shooting was what I might have written. … [P]aradoxically enough, and thanks to this perfect identity of our conceptions, we almost always worked separately.

Alain Robbe-Grillet

หลังการพูดคุยครั้งแรก Robbe-Grillet ร่างบทหนังออกมา 4 ฉบับ ผกก. Resnais เลือกเรื่องมีความละเอียดอ่อนไหวที่สุด ‘sentimental and austere’ ซึ่งบทหนังฉบับแล้วเสร็จมีการลงรายละเอียดยิบย่อย (เรียกว่า Shooting Script ก็ได้กระมัง) ตั้งแต่ทิศทางมุมกล้อง เฟอร์นิเจอร์ประกอบฉาก ท่าทางขยับเคลื่อนไหว ตัดต่ออะไรยังไง รวมไปถึงท่วงทำนองเพลงประกอบ … การถ่ายทำสัปดาห์แรกๆ ผกก. Resnais ยินยอมทำตามรายละเอียดบทหนังอย่างเปะๆ จนรู้สึกว่าตนเองไม่ต่างจากหุ่นยนต์ จากนั้นถึงค่อยเริ่มปรับเปลี่ยนโน่นนี่นั่น เกิดความผ่อนคลายขึ้นบ้าง

เกร็ด: ภายหลังภาพยนตร์ออกฉาย Alain Robbe-Grillet ก็ได้ตีพิมพ์บทหนัง (เจ้าตัวให้คำเรียก Ciné-Roman หรือ Ciné-Novels) เห็นว่ามีรายละเอียดแตกต่างกันพอสมควร ซึ่งสิ่งชัดเจนสุดก็คือชื่อตัวละครซึ่งไม่มีการเอ่ยกล่าวถึงในฉบับภาพยนตร์ ประกอบด้วย

  • Man X คือชายแปลกหน้าที่เข้ามาโน้มน้าว พูดชักชวนฝ่ายหญิงให้หนีตามกันไป
  • Madame A คือหญิงสาวแต่งงานอยู่แล้ว แต่กลับถูกชายแปลกหน้า (Man X) อ้างว่าเคยพบเจอกันเมื่อปีก่อน พยายามพูดชักชวนให้หนีตามกันไป
  • Man M สามีจอมบงการของหญิงสาว ผู้ไม่เคยพ่ายแพ้เกม Nim

ในบทสัมภาษณ์ของผกก. Resnais กล่าวถึงกระแสสงคราม Algerian War (1954-62) ถือว่ารุนแรงอย่างมากๆ (ตัวของ Resnais ก็ลงนามใน Manifesto of the 121 เพื่อแสดงความต่อต้านสงคราม) ภาพยนตร์ที่สร้างในฝรั่งเศสช่วงปีนั้นล้วนต้องมีอะไรเกี่ยวเนื่องประเด็นการเมือง เขาจึงพยายามมองหาโปรเจคที่ตัดขาดจากโลกภายนอกโดยสิ้นเชิง … แต่จะว่าไป Last Year at Marienbad (1961) ก็ยังสามารถสะท้อนประเด็นสงคราม/การเมืองได้เช่นกัน!

I was making this film at a time when I think, rightly, that one could not make a film, in France, without speaking about the Algerian War. Indeed I wonder whether the closed and stifling atmosphere of L’Année does not result from those contradictions.

Alain Resnais

ณ โรงแรงหรูแห่งหนึ่ง สถานที่ของบรรดานักธุรกิจ ชนชั้นสูง ผู้ดีมีสกุล สำหรับพบปะสังสรรค์ พักผ่อนหย่อนใจ ใช้ชีวิตอย่างไม่ยี่หร่าอะไรใคร จนกระทั่งหญิงสาว (รับบทโดย Delphine Seyrig) ถูกทักทายโดยชายแปลกหน้า (รับบทโดย Giorgio Albertazzi) อ้างว่าเคยพบเจอกันเมื่อปีก่อน แอบสานสัมพันธ์ คบชู้นอกใจ ครุ่นคิดจะหนีตามกันไป แต่ตอนนั้นเธอกลับโล้เล้ลังเลใจ ร้องขอให้เขารอคอยอีกหนึ่งปีค่อยว่ากันใหม่ … แต่ขณะนี้เธอแสดงออกราวกับจดจำเรื่องราวเกิดขึ้นเมื่อปีก่อนไม่ได้

ช่วงแรกๆหญิงสาวพยายามต่อต้านขัดขืน ไม่ต้องการทำอะไรเกินเลยเถิด คบชู้นอกใจสามี แต่หลังจากถูกโน้มน้าววันแล้ววันเล่า ซ้ำแล้วซ้ำอีก พบเจอกันแทบทุกสถานที่ ไม่สามารถหลบลี้หนีพ้น เมื่อถึงจุดๆหนึ่งก็เริ่มโอนอ่อนผ่อนปรน จิตใจสับสน พยายามบอกให้รอคอยอีกหนึ่งปี สุดท้ายแล้วเธอจะยินยอมหนีตามเขาหรือไม่? หรือถูกสามีจับได้ก่อนถึงวันนั้น?


Delphine Claire Beltiane Seyrig (1932-90) นักแสดงสัญชาติ Lebanese เกิดที่ Beirut, Lebanon ครอบครัวอพยพหนีสงครามโลกครั้งที่สองสู่กรุง New York ก่อนหวนกลับมาช่วงปลายทศวรรษ 40s, ด้วยความชื่นชอบหลงใหลด้านการแสดงตั้งแต่เด็ก เข้าศึกษายัง Comédie de Saint-Étienne ตามด้วย Centre Dramatique de l’Est และ Actors Studio (ที่ New York City), ภาพยนตร์เรื่องแรก Pull My Daisy (1958), แจ้งเกิดกับ Last Year at Marienbad (1961), ผลงานเด่นๆ อาทิ Muriel (1963), Accident (1967), Stolen Kisses (1968), The Day of the Jackal (1973), India Song (1975) และ Jeanne Dielman, 23 quai du Commerce, 1080 Bruxelles (1975) ได้รับการกล่าวขวัญ ‘feminist figure’ แห่งฝรั่งเศส

รับบท Madame A หญิงสาวชนชั้นสูง รูปร่างผอมบาง ชอบยกมือวางพาดบ่า ทำท่าบิดๆเอียงๆ เล่นเนื้อเล่นตัว ยื้อๆยักๆ ช่วงแรกๆมักทำหน้าตาใสซื่อ ไม่เชื่อคำกล่าวชายแปลกหน้า แต่พอถูกเกี้ยวพาราสี ได้ยินคำพรอดรักซ้ำๆ จึงเริ่มเกิดอาการหวั่นไหว สองจิตสองใจ ไม่รู้จะตัดสินใจอะไรยังไง พยายามปกปิดกลับมิอาจหลบซ่อนสามี สวมใส่ชุดขนนก ต้องการโบกโบยบินไปจากสถานที่แห่งนี้

เกร็ด: ทรงผมของตัวละคร ผกก. Resnais มีภาพของ Louis Brooks จาก Pandora’s Box (1929) แต่พอตัดแต่งออกมาได้ผลลัพท์แตกต่างพอสมควร เลยเปลี่ยนจากสั้นบ็อบมาเป็นปัดข้าง แต่ไฮไลท์คือม้วนปลายผมปิดหูขวา เสริมเสน่ห์ให้กับ Delphine Seyrig ดูราวกับเป็นเทพี นางฟ้า (ผมนึกถึงนางกินรีขึ้นมา), ส่วนเสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย ออกแบบโดย Coco Chanel รับอิทธิพลจาก L’Inhumaine (1924) และ L’Argent (1928)

ผกก. Resnais ค้นพบเจอ Delphine Seyrig จากโปรดักชั่นละครเวทีเรื่อง An Enemy of the People ของ Henrik Ibsen ประทับใจความสามารถในการควบคุมร่างกาย ท่าทางขยับเคลื่อนไหว มีความลื่นไหล ดูเป็นธรรมชาติ ถึงอย่างนั้นการแสดงของเธอใน Last Year at Marienbad (1961) ผมรู้สึกว่าเว่อวังอลังการ ปั้นแต่งมากเกินไปจนมีความเหนือจริง

แต่จะว่าไปนั่นอาจคือความจงใจของผู้กำกับ สังเกตจากหลายๆอิทธิพลจากหนังเงียบ การแสดงยุคสมัยนั้นจำเป็นต้องมีความเว่อวังอลังการ เพื่อให้ผู้ชมสามารถอ่านภาษากาย เข้าถึงความรู้สึกที่อยู่ภายในของตัวละครนั้นๆ และจะว่าไปท่วงท่าทางของ Seyrig แลดูคล้ายรูปปั้นแกะสลัก … ผมมองว่าคือความพยายามสร้าง ‘ประติมากรรมมนุษย์’ ที่สามารถขยับเคลื่อนไหวได้

Last Year at Marienbad (1961) ถือเป็นผลงานแจ้งเกิด Seyrig ในวงการภาพยนตร์ ไม่ได้ด้วยภาพจำหญิงไฮโซ ชนชั้นสูง แต่งตัวหรูหรา แต่คือแสดงออกด้วยท่วงท่า ลีลาขยับเคลื่อนไหว ใช้ภาษากายสื่อสารกับผู้ชม ไฮไลท์ในอาชีพการแสดงจึงภาพยนตร์ที่แทบจะไร้บทพูดอย่าง India Song (1975) และ Jeanne Dielman (1975) ด้วยการแสดงที่มีความเป็นธรรมชาติ ดูเหมือนสามัญชน คนธรรมดาๆที่สุดแล้ว


Giorgio Albertazzi (1923-2016) นักร้อง/นักแสดง สัญชาติอิตาเลี่ยน เกิดที่ San Martino a Mensola, Tuscany ช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง เมื่ออิตาลีถูกยึดครองโดยนาซี อาสาสมัครทหารเข้าร่วม Italian Social Republic of Salò (รัฐบาลหุ่นเชิดนาซี) ไต่เต้าถึงยศผู้หมวด ต่อมาโดนจับกุมโดยทหารพันธมิตร ส่งไปค่ายกักกัน Coltano แล้วคุมขังในเรือนจำอีกสองปี, หลังได้รับการปล่อยตัวเข้าเรียนต่อสถาปนิก ก่อนเปลี่ยนความสนใจสู่การแสดง เริ่มจากละครเวที มินิซีรีย์ L’idiota (1959), ภาพยนตร์ Last Year at Marienbad (1961), Morte di un bandito (1961) ฯ

รับบท Man X ชายวัยกลางคน หน้าตาหล่อเหลา น้ำเสียโรแมนติกชวนฝัน จู่ๆตรงเข้าหาหญิงสาวแปลกหน้า พูดบอกอีกฝ่ายถึงคำมั่นสัญญาเคยให้ไว้เมื่อปีก่อน จริงหรือเปล่าไม่รู้ แต่โชคชะตานำพาให้พวกเขาหวนกลับมาพบเจอทุกวี่วัน รับฟังคำพรอดรักหวานฉ่ำ น้ำหยดลงหินไม่นานก็เริ่มสึกกร่อน จนเธอรู้สึกหัวใจอ่อนไหว ต่อรองขอให้รอคอยอีกสักปีได้ไหม นั่นสร้างเหน็ดเหนื่อยหน่ายใจ เขาเลยใช้วิธีรุนแรง แสดงออกความต้องการอย่างตรงไปตรงมา

เกร็ด: ผกก. Resnais แม้ไม่เคยรับรู้จัก Giorgio Albertazzi แต่มีโอกาสพบเห็นภาพถ่ายจากโปรดักชั่น The Comdemned of Altona ด้วยความหล่อเหล่า (มีคำเรียก Italian Heartthrob) นำไปพูดคุยกับ Alain Robbe-Grillet เห็นดีเห็นงามด้วย เลยบินตรงไปอิตาลีเพื่อรับชมละครเวที The Idiot แล้วชักชวนมาร่วมงานกัน

เรื่องการแสดงอาจไม่มีอะไรให้พูดถึงสักเท่าไหร่ แต่ความหล่อเหลา(สไตล์อิตาเลี่ยน)และน้ำเสียงอันนุ่มนวลของ Albertazzi ผมเป็นผู้ชายฟังแล้วยังรู้สึกโรแมนติก ชวนฝัน สาวๆหัวใจละลายโดนพลัน ยิ่งได้ยินซ้ำๆบ่อยครั้ง จินตนาการคงเตลิดเปิดเปิงไปไกล … แตกต่างจากการแสดงของ Seyrig ที่ใช้เรือนร่างกายเป็นหลัก

บางคนอาจมองตัวละครนี้เหมือนคาสโนว่า/เพลย์บอย/จิ๊กโกโล่ เพราะใช้ความหล่อเหล่าและน้ำเสียงชวนฝัน ในการล่อลวงหญิงสาวให้ตกหลุมรัก หลงติดกัปดัก แต่มันก็ไม่แน่ว่าเขาอาจตกหลุมรักเธอจริงๆ หรือต้องการช่วยเหลือให้ได้รับเสรีภาพโบยบิน … เพราะหนังไม่พยายามอธิบายเหตุผลอะไรใดๆ พบเจอกันจริงไหม? ทำไมถึงตกหลุมรัก? ปล่อยให้อิสรภาพผู้ชมในการครุ่นคิดตีความ


Sacha Pitoëff ชื่อจริง Alexandre Pitoëff (1920-90) นักแสดงสัญชาติฝรั่งเศส เกิดที่ Geneva, Switzerland เป็นบุตรของนักแสดง Georges Pitoëff และ Ludmilla Smanova, โตขึ้นร่ำเรียนการแสดงจาก Louis Jouvet ยัง Théâtre de l’Athénée จากนั้นมีผลงานละครเวที, ภาพยนตร์เด่นๆ อาทิ Anastasia (1956), Les Espions (1957), Last Year at Marienbad (1960), Is Paris Burning? (1966), To Catch a Spy (1971), Inferno (1980) ฯ

รับบท Man M สามีของ Madame X รูปร่างสูงโปร่ง ท่าทางผู้ดีมีสกุล แต่หน้าตาดุเถื่อน เหมือนแวมไพร์ Nosferatu แม้ไม่เคยเห็นบีบบังคับอะไรภรรยา ทุกปียังพามาพักผ่อนตามอัธยาศัย ให้อิสรภาพในการครุ่นคิดทำอะไร แต่เธอ/ผู้ชมกลับรู้สึกเหมือนถูกเขากดขี่ข่มเหง ควบคุมครอบงำ ไร้ซึ่งอิสรภาพใดๆในชีวิต

คำอธิบายตัวละครในบทหนังคือ “tall, gray-haired, very elegant” แทบไม่มีบทบาทอะไรนอกจากเป็นผู้ไม่เคยพ่ายแพ้เกม Nim แต่ผู้ชม/ตัวละคร ต่างรับรู้ถึงอิทธิพล การมีตัวตนอันทรงพลัง (ผมว่าภาพลักษณ์ของ Pitoëff ดูน่าจดจำกว่า Albertazzi เสียอีกนะ!) ในฐานะสามีเป็นใหญ่เหนือภรรยา (ตามบริบทสังคมยุคสมัยนั้น) หญิงสาวจึงรู้สึกเหมือนชีวิตไร้ซึ่งอิสรภาพ

ผมแอบสงสารแทนตัวละคร (รวมถึง Pitoëff) เพราะหน้าตาไม่หล่อเหลาจึงถูกตีตราว่าต้องโฉดชั่วร้าย ตัวจริงอาจอัธยาศัยดีงาม เมตตากรุณา แม้มีชาติภพหนึ่งจับชู้ได้คาหนังคาเขา เลยลงมือฆาตกรรมภรรยา แต่นั่นคืออิสรภาพของผู้ชมในการครุ่นคิดตีความ เพราะตอนจบของหนังเขาพบเห็น/รับรู้ทุกสิ่งอย่าง แถมอำนวยอวยพรให้เธอจากไปโดยดีอีกต่างหาก!


ถ่ายภาพโดย Sacha Vierny (1919-2001) สัญชาติฝรั่งเศส เกิดที่ Bois-le-Roi, Île-de-France ร่วมงานขาประจำผกก. Alain Resnais ตั้งแต่ Night and Fog (1955), Hiroshima mon amour (1959), Last Year at Marienbad (1961), Muriel (1963), The War Is Over (1966), My American Uncle (1980) ฯ ผลงานเด่นอื่นๆ อาทิ Belle de jour (1967), The Cook, the Thief, His Wife & Her Lover (1989) ฯ

ผกก. Resnais พยายามออกแบบ ‘visual style’ ออกมาให้มีความละม้ายคล้ายหนังเงียบ รับอิทธิพลจาก L’Inhumaine (1924) และ L’Argent (1928) โคตรผลงาน Avant-Garde ของผกก. Marcel L’Herbier เห็นว่าพูดคุยกับ Eastman Kodak ให้ช่วยหาฟีล์มรุ่นเก่าๆ เพื่อสร้างบรรยากาศยุคนั้น แต่กลับไม่มีหลงเหลือค้างสต็อก เลยจำใจต้องถ่ายทำด้วยระบบ Dyaliscope Widescreen (2.35:1) ซึ่งก็คือ CinemaScope ของสหรัฐอเมริกา (ชื่อเรียกมักเปลี่ยนไปตามประเทศ/บริษัทผู้ผลิต)

กล้องค่อยๆเคลื่อนไหล ผ่านโถงทางเดิน ห้องหับน้อยใหญ่ เก็บรายละเอียดภายใน (Interior Design) ผนังกำแพง ฝ้าเพดาน เต็มไปด้วยภาพวาด จิตรกรรม ประติมากรรม เฟอร์นิเจอร์ สิ่งข้าวของเครื่องใช้ มองลึกเข้าไปสุดลูกหูลูกตา เหล่านี้ไม่ได้แค่จะสื่อถึงวิถีชนชั้นสูง โรงแรมพักอาศัยของพวกผู้ดีมีสกุล ยังสามารถตีความถึงสถาปัตยกรรมทางความคิด (Architecture of the Mind) สถานที่ในความทรงจำ จุดเชื่อมโยงอดีต-ปัจจุบัน-อนาคต หรือจักรวาลคู่ขนาน (มันจึงจำต้องเป็นสถานที่ที่มีความเจริญทางอารยธรรมขั้นสูงสุด)

ขณะที่ฉากภายนอก (Exterior Design) ก็มีประดับสวน ตัดแต่งต้นไม้ สระน้ำ บ่อน้ำพุ รวมถึงรูปปั้นแกะสลัก โดยกล้องยังคงขยับเคลื่อนไหวอยู่แทบตลอดเวลา แต่เน้นถ่ายติดทิวทัศน์ระยะไกล พบเห็นรายละเอียดภาพรวมของสถานที่ ไม่ก็เก็บรายละเอียดรูปปั้นแกะสลัก เคลื่อนหมุนวนรอบแทบจะ 360 องศา

ในขณะที่กล้องเคลื่อนไหล ดำเนินไป ให้ความรู้สึกเหมือนการเดินทางของเวลา อดีต-ปัจจุบัน-อนาคต เวียนวนมาบรรจบในสถานที่แห่งนี้ แต่บางครั้งทุกสิ่งอย่างกลับหยุดอยู่นิ่ง นักแสดงตัวประกอบไม่ขยับไหวติง น่าจะเป็นความพยายามเปรียบเทียบพวกเขาเหมือนรูปปั้นแกะสลัก ไม่ต่างจากเฟอร์นิเจอร์ประกอบฉาก เพียงบุคคลแปลกหน้า ส่งเสียงซุบซิบนินทา เดินไปเดินมา ไร้ซึ่งตัวตนและจิตวิญญาณ … ใครเคยรับชมภาพยนตร์ของ Marguerite Duras โดยเฉพาะ India Song (1975) เธอทำการตัดทิ้งนักแสดงตัวประกอบเหล่านี้ออกทั้งหมด ไม่เคยปรากฎตัวในหนัง ได้ยินเพียงเสียงซุบซิบนินทา (ประหยัดงบประมาณค่าจ้างตัวประกอบได้ไม่น้อย)

หนังใช้ระยะเวลาโปรดักชั่นยาวนาน 10 สัปดาห์ ระหว่างเดือนกันยายน – พฤศจิกายน ค.ศ. 1960 โดยเดินทางไปปักหลักอยู่ West German ยังปราสาท Nymphenburg Palace และ Schleißheim Palace ยกเว้นเพียงบางฉากภายใน (ห้องพัก Madame A) สร้างขึ้นในสตูดิโอ Photosonore-Marignan-Simo ณ กรุง Paris

แซว: เสียงบรรยายของ Man X มีการกล่าวถึง Frederiksbad, Karlstadt, Baden-Salsa แต่หนังกลับไม่เคยใช้สถานที่แห่งหนใดในเมืองเหล่านั้น รวมถึงชื่อหนัง Marienbad คำเรียก Spa Town ภาษาเยอรมันของ Mariánské Lázne, Czech Republic


Schloss Nymphenburg (แปลว่า Palace of the Nymphs) หรือ Nymphenburg Palace ปราสาทสไตล์ Baroque ตั้งอยู่ทางตะวันตกของ Munich, Bavaria ก่อสร้างขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1664 (เสร็จสิ้น ค.ศ. 1675) สำหรับเป็นที่อยู่อาศัยของ House of Wittelsbach

สถานที่สำคัญๆที่พบเห็นในหนังประกอบด้วย

  • The Grand Parterre สร้างเสร็จปี ค.ศ. 1807 ผมไม่รู้จะเรียกสวนด้านหน้าหรือด้านหลัง ในหนังจะมีการปรับปรุงสถานที่พอสมควร แต่ก็ยังพอพบเห็นเค้าโครง ความละม้ายคล้ายคลึง
  • The Grand Cascade ไม่แน่ใจว่าน้ำตกสร้างขึ้นตั้งแต่เมื่อไหร่ แต่มีสองรูปปั้นแกะสลักฝั้งซ้ายคือเทพเจ้ากรีก Danube และฝั่งขวา Isar
  • Steinerner Saal (หรือ Marble Hall) ห้องโถงขนาดใหญ่สร้างขึ้นด้วยหินอ่อน สำหรับฉากคอนเสิร์ต/ละครเวที
  • Spiegelsaal (หรือ Hall of Mirrors) ตั้งอยู่ยัง Amalienburg Hunting Lodge สถานที่พักระหว่างการล่าสัตว์ สร้างขึ้นระหว่าง ค.ศ. 1734-39

เกร็ด: นอกจาก Last Year at Marienbad (1961) ยังมีภาพยนตร์อีกเรื่องที่เคยถ่ายทำยังปราสาทหลังนี้ Ludwig (1972) กำกับโดย Luchino Visconti

ปราสาทอีกหลังที่ใช้ในหนังคือ Schloss Schleißheim หรือ Schleißheim Palace สไตล์ Baroque ตั้งอยู่ยัง Oberschleißheim ชานเมือง Munich, Bavaria ก่อสร้างขึ้นตั้งแต่ปี ค.ศ. 1598 (ดั้งเดิมตกแต่งสไตล์ Renaissance) ก่อนปรับปรุงเป็น Lustheim Palace เมื่อปี ค.ศ. 1684-88 (ในสไตล์ Italian) ก่อนเปลี่ยนแปลงมาเป็น New Schleißheim Palace ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1701-04, ในปัจจุบันเลื่องชื่อในการเป็นสถานที่จัดเก็บ/แสดงนิทรรศการผลงานภาพวาดสไตล์ Baroque (Gallery of Baroque Paintings) นับได้หลายพันกว่าชิ้น

เกร็ด: นอกจาก Last Year at Marienbad (1961) ยังมีภาพยนตร์อีกหลายเรื่องที่เคยถ่ายทำยังปราสาทหลังนี้ แต่โด่งดังสุดเห็นจะเป็น Paths of Glory (1957) ถูกใช้เป็นศูนย์บัญชาการกองทัพฝรั่งเศส

การแสดงชุดนี้คือ Rosmer หรือ Rosmersholm (1886) บทละครของ Henrik Ibsen (1828-1906) ซึ่งตอนจบจริงๆนั้น Rosmer และ Rebecca ตัดสินใจร่วมกันกระโดดน้ำฆ่าตัวตาย แต่หนังทำการปรับเปลี่ยนเรื่องราวให้สอดคล้องเหตุการณ์บังเกิดขึ้น (เพื่อเป็นการเปรียบตรงๆว่า ละครเวที = เหตุการณ์บังเกิดขึ้นในหนัง) พวกเขาทั้งสองตัดสินใจหนีตามกันไป (ถือเป็นการบอกใบ้ตอนจบของหนังไปในตัว)

ช่วงท้ายของหนังเหมือนจะมีอีกองก์ของการแสดงชุดนี้ ระหว่างที่ Rosmer กำลังพูดโน้มน้าวอะไรบางอย่างกับ Rebecca ซึ่งก็สอดคล้องกับเหตุการณ์บังเกิดขึ้นขณะนั้นๆเช่นเดียวกัน

เกมนี้มีชื่อเรียกว่า Nim (อาจมาจากภาษาเยอรมัน Nimm! แปลว่า take!) คือเกมวางแผนทางคณิตศาสตร์สำหรับผู้สองคน คาดว่ามีต้นกำเนิดจากประเทศจีนโบราณ แต่เพิ่งเริ่มแพร่หลายในยุโรปช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 16 โดย Charles L. Bouton จาก Harvard University โดยกติกาประกอบด้วย

  1. เริ่มต้นจากวางกองหิน (หรือจะใช้ไพ่ ไม้ขีดไฟ อะไรก็ได้สามารถแบ่งแยกออกเป็นกองๆ) โดยชั้นบนจะมีหนึ่งชิ้น ชั้นต่อๆไปจะเพิ่มจำนวนทีละสองชิ้น (n, n+2!) มักนิยมเล่นกัน 4-5 ชั้น 1-3-5-7-9
  2. ผู้เล่นจะผลัดกันหยิบก้อนหินครั้งละเท่าไหร่ก็ได้ แต่ต้องจากแถวเดียวกันเท่านั้น
  3. โดยปกติแล้วผู้เล่นที่หยิบก้อนหินก้อนสุดท้ายจะเป็นผู้ชนะ แต่บางครั้งอาจจะให้เป็นผู้แพ้ก็แล้วแต่จะตกลงกัน

Nim เป็นเกมที่แก้ได้ด้วยคณิตศาสตร์ สามารถคำนวณว่าผู้เล่นคนใดจะชนะ ต้องหยิบอย่างไรถึงจะชนะ แต่ผมขี้เกียจอธิบายเพราะมันต้องใช้ความรู้เลขฐานสอง กับการดำเนินการ Exclusive Or (xor) มีคำเรียกว่า Nim-Sum อ่านแล้ววุ่นวาย ลองไปหาเทคนิคกันเอาเองแล้วกัน

สำหรับนัยยะของเกมนี้ ผมมองฟากฝั่งผู้ชนะ ‘สามีของหญิงสาว’ บริบททางสังคมทุกยุคทุกสมัย คนที่มีศักดิ์เป็นสามี ย่อมมีสิทธิ์ทุกประการในตัวภรรยา คนมาทีหลังอย่างชายแปลกหน้า ต้องการคบชู้นอกใจ ย่อมประสบความพ่ายแพ้ตลอดกาล … นอกเสียจากอีกฝ่ายจะยินยอมให้

ผมพยายามมองหาชื่อเสียงเรียงนามของรูปปั้นแกะสลัก ที่ปรากฎอยู่แทบจะทุกแห่งหนในฉากภาพนอก แต่ก็ไม่พบเจอว่าคือใคร (เป็นรูปปั้นแกะสลักขึ้นเพื่อใช้ในหนังโดยเฉพาะ) นอกจากคำบอกกล่าวสามีของหญิงสาวว่าคือ Charles III และภรรยา … ก็ไม่รู้ Charles ไหนอีกแหละมีเป็นสิบๆคน แต่คงไม่ใช่ King Charles III คนปัจจุบันหรอกนะ??

แต่ผมครุ่นคิดว่า คำกล่าวของชายแปลกหน้า (Man X) น่าจะสื่อนัยยะของรูปปั้นแกะสลักนี้ได้ตรงที่สุดแล้ว “they might as well be you and I. Or just anyone…” อาจจะสื่อถึงพวกเขาทั้งสอง (Man X & Madame A) หรือไม่ได้หมายถึงใครเลยก็ได้ทั้งนั้น!

ช็อตที่ถือเป็น ‘Iconic’ ของหนัง เห็นว่าถ่ายทำวันที่ท้องฟ้ามืดครื้ม เพื่อไม่ให้มีเงาตกกระทบ (สังเกตจากต้นไม้/รูปปั้นแกะสลัก ไม่มีเงาใดๆปรากฎ) ยกเว้นเพียงตัวประกอบและเงาทอดยาว มาจากการตัดกระดาษแข็ง (ให้เป็นรูปทรงมนุษย์) และทาสีลงบนพื้นให้เห็นเป็นเงา

เป้าหมายของซีนนี้ ผมมองว่าเป็นการละเล่นกับแนวคิด ‘Space & Time’ สร้างสัมผัสเหนือจริง ผสมผสานรูปธรรม-นามธรรม คลุกเคล้าเข้าด้วยกัน

  • มนุษย์ที่ควรมีตัวตน กลับยืนแน่นิ่ง ไม่ขยับเคลื่อนไหวติงเหมือนรูปปั้นแกะสลัก
  • ส่วนเวลาก็สังเกตจากเงา มีเพียงของมนุษย์ที่ทอดยาว สื่อถึงการยังมีชีวิตและจิตวิญญาณ, ขณะที่ต้นไม้/รูปปั้นแกะสลัก ล้วนไร้กาลเวลา สามารถคงอยู่โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลง

ผมเรียกซีนนี้ว่า ‘ความตายในหลายภพชาติ’ เกิดจากสามีของหญิงสาวจับได้คาหนังคาเขาว่ากำลังจะคบชู้นอกใจ เลยถูกยิงปืนฆาตกรรม (ก่อนหน้านี้จะมีฉากซ้อมยิงปืน เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับฉากนี้โดยเฉพาะ) บางช็อตสิ้นใจคาเตียง อีกช็อตเปลี่ยนตำแหน่งลงมากองบนพื้น (นี่คือลักษณะของพหุจักรวาล/จักรวาลคู่ขนาน) แต่หลังจากนี้จะนำเสนอความเป็นไปได้อื่น ถ้าฝ่ายหญิงสามารถเอาตัวรอดจากโศกนาฎกรรมครั้งนี้

ดั้งเดิมในบทหนังของ Alain Robbe-Grillet มีลงรายละเอียดถึง ‘rape scene’ ชายแปลกหน้า (Man X) ในชาติภพหนึ่งตัดสินใจข่มขืนหญิงสาว (Madame A) แต่ผกก. Resnais เลือกหลีกเลี่ยงนำเสนอมุมมองดังกล่าว เปลี่ยนมาเป็นไม่ว่าจะเข้ามาครั้งไหนๆ เธอก็เปิดประตู อ้าแขน ยินยอมรับ ร่วมรักหลับนอน แฝงนัยยะแค่เพียง ‘sex scene’ เท่านั้นเอง

ผมมาครุ่นคิดว่าถ้าเป็น ‘rape scene’ จะทำให้หนังเปิดกว้างในการตีความยิ่งขึ้น และอาจสร้างความขัดแย้งภายในจิตใจผู้ชม (ว่าจะเชียร์ชายแปลกหน้าต่อ หรือรับไม่ได้กับเหตุการณ์นี้) สิ่งที่ผกก. Resnais นำเสนอมานี้ราวกับอุดมคติรักแท้ ฉันและเธอจักต้องได้ร่วมรักกันทุกชาติภพ (ไม่มีความเป็นไปได้อื่น)

ในขณะที่ชุดขนนกสีขาว สามารถสื่อถึงอิสรภาพที่หญิงสาวโหยหา ต้องการออกไปจากห้องพักหรูหรา (ที่ดูเหมือนกรงขัง) แต่การเปลี่ยนมาสวมใส่ชุดขนนกสีดำ ดูราวกับความท้อแท้สิ้นหวัง เกิดอาการโล้เล้ลังเลใจ ตระหนักว่าตนเองคงไม่สามารถดิ้นหลุดพ้น เพราะได้ถูกค้นพบโดยสามี หลังจากนี้นอนแผ่ผังพาบ ศิโรราบอยู่บนเตียง ปล่อยให้อีกฝ่ายตัดสินโชคชะตาของตนเอง

หนึ่งในช็อตน่าพิศวงของหนัง ถ่ายให้เห็นภาพสะท้อนหญิงสาวถึงสามคน นี่สามารถสื่อมุมมองความเป็นไปได้ที่สามารถบังเกิดขึ้น ถูกเข่นฆาตกรรม ศิโรราบต่อสามี หรือยินยอมหนีตามชู้รัก ฯ แต่ขณะนี้เธอกลับไม่สามารถครุ่นคิดทำอะไร เพราะทุกสิ่งอย่างขึ้นอยู่กับสามี ว่าจะตัดสินโชคชะตาเช่นไร

หลายคนอาจไม่ทันสังเกตช็อตที่สามารถตีความถึงการเสียชีวิตของชายแปลกหน้า (Man X) ซึ่งมีอยู่สองความเป็นไปได้ คือพลัดตกระเบียงด้วยตนเอง หรืออาจถูกสามีฝ่ายหญิงผลักตก/เข่นฆาตกรรม … นี่ถือเป็นอิสรภาพผู้ชมในการขบครุ่นคิดตีความเช่นกัน

แม้หนังเหมือนจะจบลงอย่าง Happy Ending ด้วยชาติภพหนึ่งที่เธอสามารถหนีตามไปกับเขา (โดยสามียังอำนวยอวยพรให้โชคดี) แต่ตำแหน่งที่นั่งนี้ แล้วต้องแหงนเงยหน้าขึ้นมองฝ่ายชายขณะเดินลงบันได มันเหมือนว่าอิสรภาพที่สมควรได้รับ มันกลับแค่เปลี่ยนจากชายคนหนึ่ง สู่ชายอีกคนหนึ่งเท่านั้นเอง

ตัดต่อโดย Henri Colpi, Jasmine Chasney

หนังดำเนินเรื่องผ่านเสียงบรรยายของชายแปลกหน้า (Man X) หลังจากพร่ำบ่นอะไรก็ไม่รู้ กล่าวถึงการแสดงบนเวที จากนั้นพูดคุยกับหญิงสาวคนหนึ่ง (Madame A) อ้างว่าเคยพบเจอเมื่อปีก่อน แล้วชักชวนหนีตามกันไป แต่เธอกลับจดจำอะไรไม่ได้สักสิ่งอย่าง ถึงอย่างนั้นพวกเขากลับมาพบเจอกันซ้ำแล้วซ้ำอีก จนหัวใจเริ่มหวั่นไหว เกิดความโล้เล้ลังเลใจ พยายามต่อรองขอเวลาอีกสักปีได้ไหม

  • อารัมบท ณ โรงแรมแห่งหนึ่ง
    • กล้องค่อยๆเคลื่อนไหล ดำเนินไปตามโถงทางเดิน
    • มาจนถึงห้องโถงรับชมการแสดงละครเวที
    • หลังการแสดงเสร็จสิ้น ผู้คนก็เริ่มแยกย้ายไปตามสถานที่ต่างๆ
    • ชายคนหนึ่ง (Man M) ชักชวนชายอีกคนหนึ่ง (Man X) ร่วมเล่นเกม Nim (ที่ตนเองไม่เคยพ่ายแพ้)
  • ฉันเคยพบเจอเธอเมื่อปีก่อน
    • จู่ๆหญิงสาว (Madame A) ได้รับการทักทายจากชายแปลกหน้า (Man X) พูดเล่าว่าเคยพบเจอกันเมื่อปีก่อน
    • หลายต่อหลายครั้งที่เขาพยายามพูดอธิบาย เล่ารายละเอียด สิ่งเคยกระทำร่วมกัน แต่เธอกลับไม่สามารถจดจำอะไรได้สักสิ่งอย่าง
  • ทั้งชังทั้งรัก
    • เมื่อหญิงสาวเริ่มรู้สึกว่าตนเองถูกคุกคาม จึงพยายามกีดกัน ผลักไส ไม่ยินยอมให้เขาเข้ามาในห้องพักโรงแรม
    • แต่เขาก็ยังปรากฎตัวในทุกๆโอกาส พยายามโน้มน้าว เกี้ยวพาราสี จนทำให้จิตใจเธออ่อนไหว
  • นกในกรง
    • สามีของหญิงสาว เริ่มสังเกตเห็นความผิดปกติ พยายามพูดคุยสอบถาม แต่เธอยืนกรานว่าไม่มีอะไร
    • นั่นทำให้หญิงสาวเต็มไปด้วยความระแวง สองจิตสองใจ โล้เล้ลังเลใจ จึงพยายามกีดกันผลักไส ต่อรองขอเวลาอีกสักปีได้ไหม สร้างความไม่พึงพอใจให้ฝ่ายชาย บุกเข้ามาในห้องพัก
  • อิสรภาพของหญิงสาว
    • บางจักรวาล หญิงสาวถูกสามีเข่นฆาตกรรม โดนยิงตายบนเตียง ข้างเตียง
    • บางจักรวาล ชายแปลกหน้าถูกสามีของหญิงสาวผลักตกน้ำ หรืออาจพลัดตกระเบียง
    • บางจักรวาล หญิงสาวสามารถต่อรองให้เขารอคอยอีกหนึ่งปี
    • และอย่างน้อยหนึ่งจักรวาล หญิงสาวตัดสินใจหนีตามไปกับเขา (โดยสามีรับรู้ทุกสิ่งอย่าง แถมอำนวยอวยพรให้เธอโชคดี)

ในขณะที่แนวคิดการตัดต่อของ Hiroshima mon amour (1959) พยายามผสมผสานระหว่างสองสรรพสิ่ง อดีต & ปัจจุบัน, Hiroshima (Japan) & Nevers (France), หายนะระดับประเทศ & บาดแผลภายในใจบุคคล

Last Year at Marienbad (1961) ทำการผสมผสานหลากหลายสรรพสิ่งอย่างคลุกเคล้าเข้าด้วยกัน โดยละเล่นกับสถานที่ & เวลา (Space & Time) เปรียบได้กับเหตุการณ์เกิดขึ้นในจักรวาลคู่ขนาน (Multiverse) บางครั้งฉายภาพซ้ำๆ เพื่อนำเสนอความเป็นไปได้ไม่รู้จบสิ้น


ดั้งเดิมนั้นผกก. Resnais ทำการติดต่อ Olivier Messiaen (1908-92) นักแต่งเพลง นักดนตรี Organist สัญชาติฝรั่งเศส แต่ถูกตอบปฏิเสธแล้วไม่สามารถหาใครแทนที่ Delphine Seyrig เลยแนะนำพี่ชาย Francis Seyrig กลายเป็นโอกาสครั้งสำคัญที่สุดในชีวิตเลยก็ว่าได้

เพลงประกอบโดย Francis Seyrig (1927-79) นักแต่งเพลงสัญชาติฝรั่งเศส ร่ำเรียนดนตรียัง Paris Conservatory จากนั้นทำเพลงประกอบโฆษณา อนิเมชั่น หนังสั้น La Boue et Le Feu (1960), ภาพยนตร์ Last Year at Marienbad (1961), The Trial of Joan of Arc (1962), Le lys dans la vallée (1970) ฯ

ในบทหนังของ Robbe-Grillet มีคำอธิบายการใช้เพลงประกอบให้ออกมาลักษณะ “to set one’s teeth on edge” ลงรายละเอียดอย่าง “with percussive elements, footsteps, isolated notes, shouts” ออกไปทาง Ambient Music แต่เพราะมันแทบจะไม่หลงเหลือพื้นที่ว่างให้กับความคิดสร้างสรรค์ ผกก. Resnais ไม่ต้องการผูกมัดตัวเองแน่นขนาดนั้น จึงให้คำแนะนำกับ Seyrig ต้องการบทเพลงที่ใช้ Pipe Organ ในสไตล์ Wagner ผสมกับ Louis Vierne

ผลลัพท์ชวนให้นึกถึงบทเพลงแห่งความตาย ที่มักดังขึ้นในงานสวดศพ (Funeral Music) ทำการบรรเลง (Pipe) Organ อย่างเอื่อยเฉื่อย ฟังแล้วรู้สึกเหน็ดเหนื่อย เหมือนชีวิตล่องลอยอย่างเรื่อยเปื่อย ดำเนินไปอย่างเคว้งคว้าง ไร้เป้าหมายปลายทาง ซึ่งสอดคล้องเข้าสถานที่/โรงแรมที่พักอาศัย ไม่รู้วัน-เดือน-ปี ขณะนี้อดีต-ปัจจุบัน-อนาคต ผู้คนมากมายแต่ไร้ตัวตน เราสองสามคนว่ายเวียนวนอยู่ในพหุจักรวาล จะมีชาติภพไหนไหมที่เราสามารถดิ้นหลุดพ้นวัฏฏะสังสาร

เมื่อปีก่อนอาจจะที่ Marienbad ฉันเคยพบเจอ สานสัมพันธ์กับเธอ แล้วชักชวนหนีตามกันไป แต่ฝ่ายหญิงกลับยืนกรานว่าจดจำอะไรไม่ได้สักสิ่งอย่าง มันอาจเกิดขึ้นจริง-ไม่จริง หรือเพียงการเล่นลิ้น (ไม่ยินยอมรับความจริง) หรือเหตุการณ์ดังกล่าวยังไม่บังเกิดขึ้น (กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต) อะไรล้วนเป็นไปได้ทั้งนั้น!

โรงแรมหรูแห่งนี้ก็เช่นเดียวกัน คือสถานที่แห่งความเป็นไปได้ไม่รู้จบ เหมือนว่าสามารถเปลี่ยนแปลงลักษณะทางกายภาพ ทั้งทิวทัศน์ภายนอก (Exterior Design) องค์ประกอบภายใน (Interior Design) รวมถึงวันเวลาเคลื่อนพานผ่านโดยไม่รู้เดือนปี อดีต-ปัจจุบัน-อนาคต เคลื่อนไหลอย่างสะเปะสะปะ ไร้ทิศทาง มันช่างมีความพิศวง น่าอัศจรรย์ใจ อะไรล้วนบังเกิดขึ้นได้ทั้งสิ้น!

Perhaps it may seem pointless to some people to train a camera on the inner minds of the characters rather than on their external behavior, but it is fascinating once in a while… My film are an attempt, still very crude and tentative, to visualize the complexity of the mechanism of thought.

ผู้กำกับ Alain Resnais

ยุคสมัยนั้นทฤษฏีพหุภพ/พหุจักรวาล (Multiverse) หรือจักรวาลคู่ขนาน (Parallel Universe) ยังไม่ได้รับความนิยมแพร่หลายนัก, มุมของผกก. Resnais จึงมองหนังในแง่กระบวนการคิด (Thought Processes) ที่มีความสลับซับซ้อน เหมือนเขาวงกต วกวนไปวนมา หรือจะเรียกว่าสถาปัตยกรรมของจิตใจ (Architecture of the Mind)

กระบวนการคิด/วิวัฒนาการของจิตใจ (จะมองว่าเหตุการณ์ทั้งหมดเกิดขึ้นในจินตนาการหญิงสาวก็ได้กระมัง) ในมุมของผกก. Resnais สามารถแบ่งคร่าวๆออกเป็น

  • เริ่มต้นจากการถูกกระตุ้นจากปัจจัยภายนอก ชายแปลกหน้าเข้ามาทักทายหญิงสาว กล่าวอ้างว่าเมื่อปีก่อนเคยพบเจอ สานสัมพันธ์ แต่ฉันกลับไม่สามารถจดจำเรื่องราวพรรค์นั้น
  • ชายแปลกหน้าคนนั้นพยายามติดตามตื้อ พูดเล่าเหตุการณ์เคยบังเกิดขึ้น หลายต่อหลายครั้ง ย้ำคิดย้ำทำ ซ้ำแล้วซ้ำอีก สร้างความไม่พึงพอใจต่อหญิงสาว จึงเริ่มแสดงปฏิกิริยาต่อต้านขัดขืน พยายามกีดกัน ผลักไส ไม่ต้องการพบเจอกันอีกต่อไป
  • ด้วยความลับๆล่อๆของทั้งเขาและเธอ สร้างความเอะใจให้สามีของหญิงสาว สังเกตความผิดปกติ พูดสอบถามว่ามีอะไรเกิดขึ้นหรือเปล่า นั้นกระตุ้นอาการหวาดระแวง วิตกจริต สั่นสะพรึงกลัว เกิดความโล้เล้ลังเล กระวนกระวายใจ ไม่รู้จะครุ่นคิดทำอะไรยังไง
  • จนเมื่อถึงจุดหนึ่งหญิงสาวก็เปิดใจยินยอมรับเหตุการณ์บังเกิดขึ้น ปล่อยให้ชายแปลกหน้าเข้ามาในชีวิต นำสู่ตอนจบแห่งความเป็นไปได้แห่งอิสรภาพ (ความตายก็ถือเป็นอิสรภาพอย่างหนึ่งนะครับ)
    • หญิงสาวถูกสามีเข่นฆาตกรรม โดนยิงตายบนเตียง ข้างเตียง
    • ชายแปลกหน้าถูกสามีของหญิงสาวผลักตกน้ำ หรืออาจพลัดตกระเบียง
    • หญิงสาวสามารถต่อรองให้เขารอคอยอีกหนึ่งปี
    • และที่สุดของ Happy Ending หญิงสาวหนีตามไปกับเขา โดยสามีรับรู้ทุกสิ่งอย่าง แถมอำนวยอวยพรให้เธอโชคดี

The whole film, as a matter of fact, is the story of a persuasion: it deals with a reality which the hero creates out of his own vision, out of his own words. And if his persistence, his secret conviction, finally prevail, they do so among a perfect labyrinth of false trails, variants, failures and repetitions!

The film is in fact the story of a communication between two people, a man and a woman, one making a suggestion, the other resisting, and the two finally united, as if that was how it had always been.

ผู้เขียนบท Alain Robbe-Grillet

ในมุมของนักเขียน Robbe-Grillet เทียบแทนตนเองกับชายแปลกหน้า พยายามโน้มน้าวหญิงสาว (หรือจะเปรียบเทียบถึงผกก. Resnais ก็ได้กระมัง) ชักชวนเธอหนีตามไปด้วยกัน (หรือคือการสรรค์สร้างภาพยนตร์เรื่องนี้) เขาพยายามใช้สารพัดวิธีการ หลากหลายคำพูดพร่ำ ลองผิดลองถูก ซ้ำไปซ้ำมา จากเคยปฏิเสธหัวชนฝา เกิดความโล้เล้ลังเลใจ และนำสู่การปลดปล่อย ก้าวสู่อิสรภาพ โบยบินออกจากกรงขัง

หญิงสาวใช้ชีวิตแต่งงานอย่างน่าเบื่อหน่าย (อันนี้แล้วแต่มุมมองของแต่ละคนนะครับ) รู้สึกเหมือนตนเองถูกควบคุมขัง ราวกับนกในกรง เมื่อได้พบเจอชายแปลกหน้า รับฟังคำพูดโน้มน้าว ชักชวนหลบหนีไปด้วยกัน นั่นไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับคนเคยถูกควบคุมครอบงำ แต่น้ำหยดลงหินสักวันหินมันยังกร่อน สุดท้ายแล้วเธอก็ตัดสินใจโบยบินสู่อิสรภาพ … ประเด็นนี้ยังสามารถมองในแง่มุมการเมือง Algeria ต้องการเป็นอิสรภาพจากฝรั่งเศส

ผมมอง Last Year at Marienbad (1975) คือเรื่องราวการว่ายเวียนวนในวัฏฏะสังสาร หญิงสาวถูกกังขังหน่วงเหนี่ยวโดยสามี (กิเลสตัณหา) ทำให้ไม่สามารถดิ้นหลบหนี (ปล่อยละวาง) แต่ได้รับการเกี้ยวพาราสี (พระพุทธเจ้าพยายามอธิบายสัจธรรมของเอกภพแห่งนี้ ที่เธอเวียนว่ายตายเกิดมาหลายภพหลายชาติ) จนท้ายสุดเมื่อตัดสินใจหนีตามเขาไป (ทอดทิ้งทุกสิ่งอย่าง เปรียบดั่งการบรรลุหลุดพ้น หมดทุกข์หมดโศกกันเสียที)

จริงๆมันยังมีการตีความลักษณะอื่นๆอีกมากมาย เปรียบเทียบปรัมปรา Orpheus and Eurydice (แต่ผมอ่านไม่รู้เรื่องเลยไม่เขียนถึงดีกว่า) หรือในเชิงจิตวิเคราะห์ระหว่างผู้ป่วยกับนักจิตวิทยา (ความฝันกับจิตวิเคราะห์) ฯลฯ เหล่านี้สะท้อนถึงอิสรภาพในการขบครุ่นคิดวิเคราะห์ ความเป็นไปได้ไม่รู้จบของหนัง “Endless possibility!” รวมถึงการที่นักวิจารณ์บางคนเคยยกให้ “Worst Films of All Time” แต่ปัจจุบันสามารถติดอันดับ “Greatest Film of All Time”

แซว: ชื่อหนัง Last Year at Marienbad อย่างที่บอกไปว่าไม่มีสักช็อตฉากถ่ายทำยัง Marienbad ส่วนเหตุการณ์เกิดเมื่อปีที่แล้ว จริงหรือไม่จริง ก็ไม่มีใครให้คำตอบได้เช่นกัน นั่นแปลว่าชื่อหนังเป็นการล่อหลอกให้ผู้ชมเกิดความเข้าใจผิดๆ แต่ก็แฝงนัยยะความเป็นไปได้ (Posibility) หรือจะเป็นไปไม่ได้เช่นกัน


ดั้งเดิมนั้นหนังจะเข้าฉายในเทศกาลหนังเมือง Cannes แต่ถูกปฏิเสธเพราะผกก. Resnais ร่วมลงนาม Manifesto of the 121 ต่อต้าน Algerian War (1954-62) ต่อมาได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดีจากเทศกาลหนังเมือง Venice และสามารถคว้ารางวัล Golden Lion

ช่วงปลายปียังได้เป็นตัวแทนฝรั่งเศสส่งเข้าชิง Oscar: Best Foreign Language Film แต่ไม่ผ่านเข้ารอบใดๆ ถึงอย่างนั้นปีถัดมา Alain Robbe-Grillet ได้เข้าชิงสาขา Best Original Screenplay พ่ายให้กับ Divorce Italian Style (1961)

Last Year at Marienbad (1961) อาจไม่ใช่หมุดหมายแห่งยุคสมัย French New Wave แบบเดียวกับ Hiroshima mon amour (1959) แต่ต้องถือเป็นอีกผลงานมาสเตอร์พีซของผกก. Resnais สร้างอิทธิพลเหนือกาลเวลาให้กับ Agnès Varda, Marguerite Duras, Jacques Rivette, หรือระดับนานาชาติอย่าง Ingmar Bergman, Federico Fellini, Stanley Kubrick โดยเฉพาะ The Shining (1980), David Lynch โดยเฉพาะ Inland Empire (2006), หนึ่งในภาพยนตร์เรื่องโปรดของ Akira Kurosawa, Peter Greenaway ฯลฯ

  • Sight & Sound: Critic’s Poll 2012 ติดอันดับ 102 (ร่วม)
  • Sight & Sound: Director’s Poll 2012 ติดอันดับ 91 (ร่วม)
  • Sight & Sound: Critic’s Poll 2022 ติดอันดับ 169 (ร่วม)
  • TIMEOUT: The 100 Best French Films ติดอันดับ 23

ปัจจุบันหนังได้รับการบูรณะ ‘digital restoration’ คุณภาพ 4K (ฉบับของ Criterion จะมีข้อความผ่านการตรวจอนุมัติโดยผกก. Resnais แต่นั่นคือฉบับบูรณะ High-Definition เมื่อปี ค.ศ. 2009) ด้วยทุนสนับสนุนจาก Studiocanal และสถาบัน CNC (Centre national du cinéma et de l’image animée) แล้วเสร็จสิ้นเมื่อปี ค.ศ. 2018 เข้าฉายยัง Venice Classics, สามารถหาซื้อ DVD/Blu-Ray ฉบับของ Criterion Collection, StudioCanal, Kino Classics และ Rialto Pictures

(ของแถมเยอะสุดต้องยกให้ Criterion แต่ถ้าเปรียบเทียบคุณภาพจาก dvdbeaver.com ผมเห็นว่าฉบับของ StudioCanal มีการปรับแสงให้สว่างขึ้นกว่าปกติเล็กน้อย ก็แล้วแต่คนชอบนะครับ)

ในเบื้องหลังฉบับของ Criterion เมื่อปี ค.ศ. 2009 ผกก. Resnais พยายามยื้อยั้งไม่ให้มีการบูรณะปรับปรุงเสียงและเพลงประกอบ ผมนำเอาบทสัมภาษณ์มาให้อ่านแบบเต็มๆ เพื่อจะได้เข้าใจมุมมองผู้สร้างที่มีความละเอียดอ่อนไหวต่อเรื่องพรรค์นี้ … ฟังดูคล้ายๆอารมณ์ของคนชอบฟังเพลงจากแผ่นครั่ง แล้วบอกว่าเสียงจากไฟล์ดิจิตอลมันช่างไร้จิตวิญญาณ

Sound recording and reproduction techniques have changed a lot over the decades. If one remasters a film so as to tailor it to the standards of 2009, there is a danger of altering drastically the balance of the voices, the sound effects, and the music. By correcting so-called flaws, one can lose the style of a film altogether. It is better to respect the sound characteristics of the time, especially as in most cases they do not disturb the viewer anymore after two minutes. Above all, if one removes the background hiss from the soundtrack, one takes out all the harmonic frequencies of the actors’ voices in the process. Be it in the low, the medium, or the treble range, the voices become neutral, flat, mannered; the acting loses a great part of its dramatic value. When you see an aggressively remastered film by Sacha Guitry, you have the feeling the voice you hear is not Guitry’s; you believe that this is a dubbed film and the dialogue is being read or recited. In most cases I know, the remastering is so brutal that the performances are deprived of their appeal. Every time I have had the opportunity to compare an unrestored and a restored soundtrack in a recording studio, the loss was obvious. The same goes for the music: if one corrects a distorted spot, the music is likely to sound dead. As a director, I do not object to a carefully considered, non-mechanical remastering of my films, but I am keen on giving the viewer the choice between the two soundtracks. As a viewer, I always prefer what may be called the original version.

Alain Resnais

ผมละอยากยกย่อง Last Year at Marienbad (1961) คือหนึ่งในสิ่งมหัศจรรย์ของวงการภาพยนตร์ ไม่ใช่แค่ความท้าทายในการรับชม แต่เรายังสามารถขบครุ่นคิดวิเคราะห์ ต่อยอดแนวคิดไปได้ไกลมากๆ และโดยเฉพาะท่วงท่าทาง ความสง่างามของเทพี Delphine Seyrig อยู่เหนือขอบเขตพหุจักรวาลอย่างแท้จริง!

แต่ถ้าต้องเลือกระหว่าง Hiroshima mon amour (1959) vs. Last Year at Marienbad (1961) ส่วนตัวชื่นชอบ Hiroshima มากกว่า เพราะหนังสร้างความตระหนักรู้ถึงหายนะจากสงคราม สั่นสะเทือนถึงระดับจิตวิญญาณ แต่ในแง่ศาสตร์ศิลปะภาพยนตร์ Marienbad นำเสนออิสรภาพ สถาปัตยกรรมทางความคิด และความเป็นไปได้ไม่รู้จบของสรรพสิ่งอย่าง

จัดเรตทั่วไป แต่อาจต้องผู้ใหญ่อายุ 18+ ถึงสามารถทำความเข้าใจ

คำโปรย | Last Year at Marienbad สิ่งมหัศจรรย์แห่งวงการภาพยนตร์ สถาปัตยกรรมทางความคิดของผกก. Alain Resnais นำสู่ความเป็นไปได้ไม่รู้จบของสรรพสิ่งอย่าง
คุณภาพ | วิจิศิป์
ส่วนตัว | เป็นไปได้ไม่รู้จบ


Last Year at Marienbad

Last Year at Marienbad (1961) French : Alain Resnais ♠♠♠♠♠

(15/7/2017) หนังรางวัล Golden Lion เรื่องนี้ ใครก็ตามที่พยายามทำความเข้าใจ คงได้แต่กุมขมับ บ่นขรม นี่มันหนังบัดซบบรมอะไร! บอกตามตรงผมเองก็ไม่เข้าใจเท่าไหร่ หาอ่านบทความวิเคราะห์จากที่ไหนก็ไม่มีใครตอบได้ แต่ไฉนกลับมีคนหลงใหลคลั่งไคล้มากมายขนาดนี้

มันอาจเป็นภาพยนตร์ที่ล้ำลึกเกินกว่ามนุษย์ศตวรรษนี้จะค้นหาคำตอบได้ แต่ขณะเดียวกัน -อัจฉริยะกับคนบ้าต่างกันแค่เส้นบางๆ- ภาพยนตร์เรื่องนี้อาจเป็นเพียงขยะศิลปะ อะไรมั่วๆที่นำมาปะติดปะต่อกัน คงมีเพียงผู้กำกับและคนเขียนบทเท่านั้นที่จะตอบได้

แต่ผมมีความ’เชื่อ’ในแบบแรกมากกว่า เพราะถึงไม่เข้าใจภาพรวมทั้งหมดของหนัง แค่ได้มองเห็นเศษเสี้ยวส่วนหนึ่งของความสวยงาม ก็เพียงพอให้รู้สึกว่าหนังยอดเยี่ยมยิ่งใหญ่ระดับตำนาน

Alain Resnais (1922 – 2014) ผู้กำกับและนักเขียนบทสัญชาติฝรั่งเศส เกิดที่ Vannes, Brittany เริ่มต้นจากการเป็นนักตัดต่อในช่วงกลางทศวรรษ 40s ได้รับโอกาสกำกับหนังสั้น/สารคดีสั้น ที่มีชื่อเสียงอาทิ Van Gogh (1948) [คว้า Oscar: Best Short Subject (Two-Reel)], Guernica (1950), Night and Fog (1955) ฯ ก่อนได้รับโอกาสสร้างภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่องแรก Hiroshima mon amour (1959)

แม้คนส่วนใหญ่จะถือว่า Resnais เป็นหนึ่งในผู้กำกับยุค French New Wave แต่เจ้าตัวกลับรู้สึกไม่เข้าพวกเท่าไหร่ แค่บังเอิญกำกับภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่องแรกในช่วงเวลาที่เกิดการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงแนวคิดของภาพยนตร์ขึ้นเท่านั้น

“Although I was not fully part of the New Wave because of my age, there was some mutual sympathy and respect between myself and Rivette, Bazin, Demy, Truffaut … So I felt friendly with that team.”

Resnais ถือตัวเองเป็นพวก Left Bank (ขวาจัด) กลุ่มเดียวกับ Agnès Varda, Chris Marker ฯ สำหรับผลงานอื่นที่เด่นๆ อาทิ Muriel (1963), The War Is Over (1966), Mon oncle d’Amérique (1980), Smoking/No Smoking (1993) ฯ

สไตล์ของ Resnais ในยุคแรกๆ มีความสนใจเรื่อง ‘เวลา’ และ ‘ความทรงจำ’ ที่อยู่ในหัวสมอง ความคิด ภายใต้จิตสำนึกของมนุษย์

“I prefer to speak of the imaginary, or of consciousness. What interests me in the mind is that faculty we have to imagine what is going to happen in our heads, or to remember what has happened”.

L’Année dernière à Marienbad เป็นผลงานภาพยนตร์ขนาดยาวลำดับที่ 2 ด้วยความพยายามทำความเข้าใจกลไกทาง ‘ความคิด’ นำเสนออกมาในรูปแบบภาษาภาพยนตร์

ร่วมงานกับ Alain Robbe-Grillet (1922 – 2008) นักเขียนนิยายหนุ่ม(ขณะนั้น)ที่กำลังไฟแรง ผู้บุกเบิกยุคสมัย Nouveau Roman (ก็คล้ายๆ French New Wave แต่เป็นวรรณกรรมรุ่นใหม่) ได้รับความนิยมอย่างสูงในยุค 60s

เกร็ด: Nouveau Roman (New Novel) มีลักษณะคือ ตัวละคร เรื่องราวจะมีนัยยะเป็นสิ่งสัญลักษณ์แฝงความหมายบางสิ่งอย่าง

Resnais กับ Robbe-Grillet ถือว่าเกิดมาคู่กันโดยแท้ มีความสนใจอะไรหลายๆอย่างเหมือนกัน มองตาก็รู้ใจ ทำงานแบบเชื่อมือเข้าขาเป็นอย่างยิ่ง, เห็นว่าหลังจากทั้งคู่ได้ข้อสรุปโครงสร้างสิ่งที่จะทำ Robbe-Grillet ก็ก้มหน้าก้มตาเขียนบทอย่างละเอียด ทั้งทิศทางมุมกล้อง, การเคลื่อนไหวของนักแสดง, ลำดับการตัดต่อ ฯ เสร็จแล้วส่งให้ Resnais ที่แทบไม่จำเป็นต้องแก้ไขปรับปรุงอะไรทั้งนั้น นำไปใช้ถ่ายทำได้เลย เว้นบางสิ่งที่ขาดตกบกพร่อง ก็ค่อยเสริมเพิ่มเติมแต่งให้มีความสมบูรณ์ขึ้น

“Alain Resnais and I were able to collaborate only because we had seen the film in the same way from the start, and not just in the same general outlines but exactly, in the construction of the least detail as in its total architecture. What I wrote might have been what was already in [his] mind; what he added during the shooting was what I might have written. …Paradoxically enough, and thanks to the perfect identity of our conceptions, we almost always worked separately.”

หลังจากหนังสร้างเสร็จออกฉาย Robbe-Grillet ก็ได้ตีพิมพ์หนังสือนิยายจากบทภาพยนตร์เรื่องนี้ที่เขียน เพิ่มเสริมใส่ในส่วนที่ Resnais ถ่ายทำเพิ่มเข้าไป และมีภาพร่างประกอบ (คล้ายๆ Storyboard) เรียกหนังสือเล่มนี้ว่า ciné-roman (cinema novel)

นักวิจารณ์ที่ได้อ่านหนังสือเล่มนี้ของ Robbe-Grillet ได้สังเกตพบ 2 สิ่งใหญ่ๆที่แตกต่างกัน
1. การใช้เพลงประกอบ ในหนังสือไม่รู้ว่าเขียนแนะนำอะไรไว้ แต่หนังใช้การ Solo Organ บทเพลงแนว Baroque Classic ประกอบตลอดทั้งเรื่อง
2. ช่วงท้ายของหนัง ในหนังสือจะมีฉากหญิงสาวถูกข่มขืน แต่ในหนังไม่สามารถทำให้เห็นตรงๆได้จึงมีฉากหนึ่ง กล้องเคลื่อนเข้าหาหญิงสาวอย่างเร็วหลายครั้งคราว (ให้ความรู้สึกเหมือนเธอกำลังถูกกระทำบางอย่าง)

สำหรับตัวละครทั้งหลาย เนื่องจากไม่มีชื่อเรียก ในนิยายจึงแทนด้วยตัวอักษรภาษาอังกฤษ
– ชายแปลกหน้า X (รับบทโดย Giorgio Albertazzi) ใบหน้าเกลี้ยงเกลา อ่อนหวาน คำพูดนุ่มนวล ออกมาจากจิตใจ
– หญิงสาว A (รับบทโดย Delphine Seyrig) สวยคมไว้ผมสั้น ทั้งภาพลักษณ์และชุดที่สวมใส่เหมือนนกน้อยที่ต้องการโบยบินเป็นอิสระ แต่กลับชอบเล่นตัวยื้อยัก ลังเลไม่แน่ใจ
– ชายที่คาดว่าเป็นสามีของเธอ M (รับบทโดย Sacha Pitoëff) ชายร่างสูงใหญ่ หน้าเหลี่ยมคม โหนกแก้มสูง ตาลึก เหมือนแวมไพร์/Count Dracula มีอำนาจควบคุมครอบงำหญิงสาว

ในปราสาทแห่งหนึ่ง ชายแปลกหน้า X ตรงเข้าไปหาหญิงสาว A พูดบอกว่าเมื่อปีก่อนพวกเขาพบเจอกันที่ Marienbad แต่หญิงสาวกลับจดจำเรื่องราวในอดีตนั้นไม่ได้เลย จึงขอให้ชายแปลกหน้าเล่าเหตุการณ์ทุกสิ่งอย่างให้ฟัง ซึ่งแท้จริงแล้วพวกเขาเคยพบเจอกันมาอีกหลายครั้ง หลายสถานที่ หลายช่วงเวลา นี่ทำให้หญิงสาวเหมือนจะค่อยๆระลึกได้ แต่ก็มักถูกขัดจังหวะโดยสามี M ที่ชวนเล่นเกมไม่เคยแพ้ สุดท้ายแล้วหญิงสาว/ผู้ชม จะสามารถรับรู้เข้าใจได้หรือเปล่า ว่านี่มันเรื่องราวเกี่ยวกับอะไร?

ถ่ายภาพโดย Sacha Vierny ตากล้องขาประจำของ Resnais, งานภาพของหนังมีความแปลกประหลาดพิศดาร น่าพิศวง ยากต่อการทำความเข้าใจ ซึ่งผมขอใช้คำใบ้ของผู้กำกับที่ว่า ‘หนังคือความพยายามทำความเข้าใจ กลไกทางความคิดของมนุษย์’ ในการวิเคราะห์ค้นหาความหมายของหนังนะครับ

ถ้าเปรียบฉากภายในปราสาท กับภายในความคิดจิตใจของมนุษย์ ห้องโถง กระจก ทางเดิน จะประหนึ่งเส้นประสาท/เส้นเลือด ที่ล่อเลี้ยงส่วนของสมอง/ร่างกาย, ห้องหับต่างๆก็คือกลุ่มทางความคิด/ความทรงจำต่างๆ เช่น ห้องนองของหญิงสาว A ก็คือ ความใคร่/ต้องการ/สมเสพ, ห้องโถงแสดงละครเวที คือจินตนาการ/เพ้อฝัน/ความบันเทิง, ห้องโถงเล่นไพ่ คือตรรกะ/ทะเยอทะยาน/โลภละโมบ ฯ

การที่กล้องค่อยๆเคลื่อนเข้าไป ถ่ายเห็นผนังเพดาน แพนซ้ายขวาไปมาโดยรอบ เป็นความพยายามให้ผู้ชมเกิดสัมผัส ซึมซับรับบรรยากาศของสถานที่ (ก็คล้ายๆกับหนังของ Andrei Tarkovsky แค่เปลี่ยนจากธรรมชาติเป็นสิ่งก่อสร้าง) ในปราสาทแห่งนี้ เคยมีเรื่องราว ความทรงจำ สิ่งต่างๆเกิดขึ้นมากมาย รูปปั้นอะไรก็ไม่รู้ทั้งหลายตั้งตระหง่านคงทน เฝ้ามองกาลเวลาที่เปลี่ยนแปลง ผู้คนล้มหายตายจาก-เกิดใหม่-แล้วตายไปอีกรอบ เวียนวนเป็นวัฏจักรไม่มีที่สิ้นสุด

ผมนำภาพถ่ายสีของหนังมาให้ชมด้วย (ได้จากเว็บของ Criterion) จะได้เห็นความแตกต่างที่คุณอาจคาดไม่ถึงทีเดียว

สำหรับฉากภายนอก ถึงชื่อหนังจะคือ Marienbad (Mariánské Lázně เป็นเมือง Spa Town อยู่ที่เขต Karlovy Vary สาธารณรัฐ Czech) แต่กลับไม่เคยไปถ่ายทำยังสถานที่จริงเลย, ปราสาท/พระราชวังที่หนังใช้ถ่ายทำ ทั้งหมดอยู่ในเมือง Munich ประเทศ Germany และเป็นอดีตที่ประทับของกษัตริย์ Bavarian, House of Wittelsbach ประกอบด้วย
– Schleissheim Palace
– Nymphenburg Palace
– Amalienburg เป็น Hunting Lodge ส่วนหนึ่งของ Nymphenburg Palace ที่ซึ่ง Holy Roman Emperor Charles VII กับภรรยา Maria Amalia of Austria เคยมาประทับอาศัยอยู่
– ฉากภายในที่เต็มไปด้วยห้องโถง ทางเดิน ประตู ฯ ถ่ายทำที่ Antiquarium ส่วนหนึ่งของ Munich Residenz ปราสาทใหญ่สุดของประเทศ Germany

มีช็อตพิศวงหนึ่งของหนัง เป็นภาพ Surrealist จะเห็นเงาของผู้คนทอดยาว แต่ต้นไม้รูปทรงพีระมิดจะไม่มีเงา, หนังใช้การถ่ายตอนเที่ยงๆบ่ายๆที่จะไม่เห็นเงา ส่วนเงาของตัวประกอบทั้งหลายใช้การวาดภาพทาสี (ไม่ใช่เงาจริงๆ)

ความหมายของฉากนี้ ถ้าเราเปรียบฉากภายนอกปราสาทคือสิ่งที่มนุษย์รับรู้มองเห็นกลายเป็นความทรงจำ นี่จะคือภาพที่เกิดจากการประมวลผลของสมอง, เพราะเราไม่สามารถจดจำรายละเอียดของทุกสิ่งอย่างได้ทั้งหมด อะไรไม่สลักสำคัญจะถูกลบเลือน หรือแปรสภาพให้กลายเป็นรูปเรขาคณิตง่ายๆ เช่น สามเหลี่ยม สี่เหลี่ยม ทรงกลม พีระมิด ฯ

ตัดต่อโดย Jasmine Chasney และ Henri Colpi, ความพิศวงของหนัง เกิดจากการตัดต่อที่สลับไปมาระหว่าง 3-4-5 สถานที่/เรื่องราว/ช่วงเวลา ผู้ชมไม่มีทางรับรู้ได้เลยว่า อะไรเกิดขึ้นที่ไหน-อย่างไร-เมื่อใด แต่มันกลับมีความสัมพันธ์คล้ายคลึง ดำเนินเรื่องไปข้างหน้าอย่างพร้อมเพรียงกันได้

ผมว่าการที่เราจะพยายามทำความเข้าใจทีละเรื่องราว/Timeline เป็นการกระทำที่หลบหลู่ผู้สร้างอย่างมาก เพราะจุดประสงค์ของหนังไม่ได้ต้องการให้คุณเข้าใจแต่ละเรื่องราว/สถานที่/ช่วงเวลา แค่รับรู้ว่ามันมีนี่โน่นนั่นเกิดขึ้น บางสิ่งมีความคล้ายคลึง ต่อเนื่อง เหมือนกันเปะเลยยังมี, บางสิ่งแตกต่างออกไปโดยสิ้นเชิง, หรืออะไรที่เคยพูดถึง(ตามเสียงบรรยาย)เป็นการเล่าความทรงจำ ฉากต่อๆมาก็มักนำเสนอให้เห็น ราวกลับเป็นภาพเหตุการณ์ย้อนอดีต (แต่คงไม่มีใครรับรู้ได้ว่านั่นคือ Flashback)

เพลงประกอบโดย Francis Seyrig หนังทั้งเรื่องใช้การเดี่ยวออร์แกน (ลักษณะคล้ายเปียโน แต่เล่นในโบสถ์) บทเพลงสไตล์ Baroque ให้สัมผัสทางอารมณ์ที่โหยหวนล่องลอยไปโดยตลอด จับต้องไม่ได้ แค่เคลื่อนไป โผลบิน ไม่รู้จักจบจักสิ้น, การเลือกใช้ดนตรี Baroque สร้างผลลัพท์อันทรงพลังอย่างยิ่ง สอดคล้องกับวิธีการนำเสนอที่ ภาพเคลื่อนไป เรื่องราวดำเนินไป บทเพลงล่องลอยไป ทำให้บรรยากาศของหนังมีเสน่ห์มนต์ขลังแบบประหลาด ราวกับความคิด จิตวิญญาณ และจินตนาการ

วิธีการรับชมให้เกิดความเข้าใจเศษเสี้ยวส่วนหนึ่งของหนัง คือคุณต้องสังเกตการเคลื่อนไหวของภาษาภาพยนตร์ อย่าจับจ้องอยู่แต่เนื้อเรื่องราว (นั่นเป็นสิ่งที่ครุ่นคิดไปก็เสียเวลาโดยสิ้นเชิง) ตัวละครพูดอะไร แสดงอะไรออกมา ความต่อเนื่อง เหมือน/ต่าง ค้นหาความสัมพันธ์ทุกสิ่งรอบข้าง และลองมองสถานที่คือตัวละครหนึ่งของหนังด้วยนะครับ

ถ้าวิเคราะห์ว่าหนังเรื่องนี้คือกระบวนการของความคิด-ความทรงจำ คงไม่แปลกที่จะไม่มีสีสัน (หนังถ่ายด้วยภาพขาว-ดำ) เรื่องราวกระโดดไปมาหลายช่วงเวลา (ปะติดปะต่อเหตุการณ์ที่คล้ายคลังกันจากหลายช่วงเวลา) บางสิ่งอย่างจดจำได้ไม่มีลืมเลือน บางสิ่งถึงหลงลืมแต่เมื่อได้รับการกระตุ้นก็จะหวนจดจำ

หลายครั้งในหัวสมองของเรา มักมีสิ่งให้ครุ่นคิดซ้ำไปซ้ำมาอยู่เรื่อยๆ วันนี้จะกินอะไรดี, กลับบ้านกี่โมง, เมื่อไหร่เงินเดือนจะออก ฯ การคิดตัดสินใจ หลายครั้งจะด้วยอารมณ์ความรู้สึก (Emotional) นานๆครั้งจะด้วยเหตุผล (Rational) บางสิ่งอย่างต้องการแล้วได้ครอบครอง และบางอย่างต่อให้ทำอย่างไรก็ไม่มีวันได้เป็นเจ้าของ

แล้วตัวละคร A, M, X สื่อแทนถึงอะไรกัน? นี่เป็นสิ่งที่ผมก็จนปัญญาตอบ อ่านๆดูจากหลายบทความวิเคราะห์ ที่รู้สึกใกล้เคียงสุดแต่ก็คือ
– หญิงสาว A มีลักษณะเหมือนนก ต้องการเป็นอิสระ ไม่ผูกมัดตัวเองยึดติดกับอะไรทั้งนั้น คือตัวแทนของความเพ้อฝันจินตนาการ
– สามี M ผู้ชอบควบคุมบังคับบงการ คือตัวแทนของสันชาติญาณและตรรกะ
– ชายแปลกหน้า X ผู้หลงใหลยึดติดอยู่กับอดีต คือความทรงจำ

ทั้งสามอย่างนี้คือนามธรรมที่อยู่ในสมอง/จิตใจ ของมนุษย์ทุกคน, จะเห็นว่า หญิงสาว A ถูกชายแปลกหน้า X พยายามทำให้หวนระลึงถึงเรื่องราวในอดีต ไม่ต่างกับสามี M ที่พยายามควบคุมให้อยู่ในกรอบคำสั่ง เราสามารถแปลความได้ว่า ความเพ้อฝันจินตนาการของมนุษย์ มักถูกควบคุมครองงำด้วย อดีตที่เคยผ่านมา สัญชาติญาณ และจิตสำนึก ยากนักที่จะหลุดกรอบเอาชนะ แต่ใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้

หลายคนอาจสงสัย สามี M ไฉนเป็นได้ทั้งสันชาติญาณและตรรกะ นี่ไม่ใช่สิ่งตรงกันข้ามกันหรอกหรือ?, ประเด็นคือมันไม่มีคำเรียกรวมของสองสิ่งนี้นะครับ กล่าวคือ M เป็นตัวแทนของสิ่งที่ควบคุม ครอบงำความคิดจิตใจของมนุษย์อยู่ ซึ่งมองได้ทั้งโดยสันชาติญาณโดยธรรมชาติ และความคิดโดยตรรกะ (นี่มาจากเกมของสามี M การเล่นต้องอาศัยตรรกะ แต่มันอาจเป็นชัยชนะโดยสันชาติญาณก็ได้ มองได้ทั้งสองสิ่ง)

ตอนจบของหนัง หญิงสาว A เลือกเดินไปกับชายแปลกหน้า X ทอดทิ้งสามี M ไว้เบื้องหลัง, ความเพ้อฝันจินตนาการ ไม่ว่ายังไงต้องมีส่วนผสมที่เกิดจาก อดีตความทรงจำ ก็คงไม่ผิดอะไร (ไม่มีใครอยู่ดีๆสามารถคิดค้นอะไรขึ้นใหม่โดยไม่มีการอิงพื้นฐานจากสิ่งที่เคยเกิดขึ้นมาก่อนได้แน่) ส่วนสันชาติญาณและความคิดตรรกะ เป็นสิ่งที่จินตนาการสามารถทอดทิ้งไว้เบื้องหลังได้ ไม่จำเป็นต้องถูกครอบงำ

ซึ่งชุดขนนกของหญิงสาว A น่าจะไขปริศนานี้ได้ คือมีทั้งตอนที่เธอสวมใส่ชุดสีขาวและสีดำ ดี/ชั่ว หยิน/หยาง อดีต/อนาคต เหรียญสองด้าน, จินตนาการสามารถเป็นอิสระโบยบินได้ โดยไม่ยึดติดกับอะไร

ผมรู้สึกว่าแนวคิดนี้ใกล้เคียงมากๆ แต่ถูกต้องใช่หรือเปล่าคงไม่มีใครตอบได้แล้ว (ทั้ง Resnais กับ Robbe-Grillet เสียชีวิตแล้วทั้งคู่) ทิ้งเป็นปริศนาไร้ซึ่งคำตอบ ก็ดั่งเกมที่ M ท้าดวลเล่นกับทุกคน ใช้ ไพ่/ไม้ขีดไฟ/รูปภาพ วางเรียงพีระมิดไล่ชั้นตามจำนวนเลขคี่ 1, 3, 5, 7 กติกาสามารถหยิบออกทีละกี่ชิ้นก็ได้แต่ต้องแถวเดียวกัน คนสุดท้ายที่หยิบออกจะเป็นผู้แพ้, ทุกครั้งที่ M เป็นผู้ชนะ จะมีเสียงกระซิบกระซาบดังขึ้น
– The one who starts first wins.
– The one who goes second wins.
– You must take only one stick at a time.
– You must know when to …

แต่ไม่ว่าใครจะคิดพูดอะไร ทฤษฎีเหล่านี้ล้วนผิดพลาดใช้ไม่ได้ทั้งหมด ก็เหมือนใจความของหนังเรื่องนี้ ต่อให้ใครพยายามคิดค้นหาคำตอบ ได้แนวคิดมุมมองอะไรใหม่ๆที่แตกต่างออกไป ก็ใช่ว่าจะถูกต้องได้รับชัยชนะเสมอไป

ถือเป็นความน่าทึ่งที่ต่อให้เราไม่เข้าใจว่าใจความหนังคืออะไร เรื่องราวเป็นอย่างไร แต่ก็ยังสามารถสัมผัสรับรู้ความสวยงามของหนังได้ แต่คุณอาจต้องใช้ความสามารถ ประสบการณ์ในการรับชมภาพยนตร์ค่อนข้างสูงมากๆ (จัดความยากในการรับชมที่ Veteran) ใครชอบความท้าทายนี้ไม่ควรพลาดเลย

นอกจากรางวัล Golden Lion จากเทศกาลหนังเมือง Venice แล้ว ยังได้เป็นตัวแทนของฝรั่งเศสส่งเข้าชิง Oscar: Best Foreign Language Film แต่ถึงไม่ได้เข้ารอบ กลับยังได้เข้าชิงสาขาอื่น Best Writing, Story and Screenplay – Written Directly for the Screen (พ่ายให้กับ Divorce Italian Style)

ส่วนตัวบอกไม่ถูกว่าจะชื่นชอบรังเกียจ รู้สึกยังไงต่อหนังเรื่องนี้ดี เพราะความที่ดูไม่รู้เรื่องทำให้ไม่สามารถตัดสินอะไรได้ แต่ความพิศวงงดงามในด้านศิลปะ ภาษาภาพยนตร์ต้องชมออกนอกหน้าเลยว่าสวยงามสมบูรณ์แบบมาก คงไม่มีหนังเรื่องไหนอีกแล้วที่จะทำออกมาได้ยิ่งใหญ่ขนาดนี้

แนะนำกับคอหนัง Art-House ชอบความท้าทายในการครุ่นคิด วิเคราะห์ ค้นหาคำตอบ, คอหนัง Surrealist ชื่นชอบการออกแบบ สถาปัตยกรรมสวยๆ, หลงใหลบทเพลงแนว Baroque และแฟนหนังผู้กำกับ Alain Resnais ไม่ควรพลาด

จัดเรต 13+ กับบรรยากาศที่เครียดไปเสียหน่อย

TAGLINE | “Last Year at Marienbad ของ Alain Resnais มีอะไรเกิดขึ้นก็ไม่รู้ อาจมีเกิดขึ้น ไม่มีเกิดขึ้น หรืออาจมีไม่มีเกิดขึ้นก็ได้”
QUALITY | RARE-GENDARY
MY SCORE | SO-SO

4
Leave a Reply

avatar
1 Comment threads
3 Thread replies
1 Followers
 
Most reacted comment
Hottest comment thread
2 Comment authors
ณ.คอน ลับแลOazsarun Recent comment authors

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
newest oldest most voted
Notify of
Oazsarun
Guest
Oazsarun

ผลงาน Alain Resnais ถูกยกย่องน้อยกว่า Jean-Luc Godard และ Francois Truffaut อยู่ตลอดไม่น่าเชื่อ นักวิจารณ์ส่วนใหญ่น่าจะเข้าถึงผลงานแกยากใช่ไหมครับ

%d bloggers like this: