Lawrence of Arabia (1962) British : David Lean ♥♥♥♥♡

(28/10/2021) Lawrence of Arabia คือวิสัยทัศน์ของผู้กำกับ David Lean ไกลสุดเท่าที่สื่อภาพยนตร์สามารถนำเสนอออกมาได้ ใครโชคดีมีโอกาสรับชมบนจอขนาดใหญ่ ย่อมบังเกิดประสบการณ์ครั้งหนึ่งในชีวิตยากจะลืมเลือน!, “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย”

อะไรคือเหตุผลที่เราควรดูหนังในโรงภาพยนตร์? การจะตอบคำถามนี้ง่ายสุด คือให้หาโอกาสรับชม Lawrence of Arabia (1962) บนจอใหญ่เท่าไหร่ยิ่งดี แล้วคุณจะเลิกสงสัยทันทีโดยปริยาย เพราะมันจักกลายเป็น ‘ประสบการณ์’ ครั้งหนึ่งในชีวิตยากจะลืมเลือน! ความอลังการของท้องทะเลทรายสุดลูกหูลูกตา พยายามจับจ้องมองหาอะไรสักอย่างตรงปลายขอบฟ้า

แล้วทำไมต้อง Lawrence of Arabia (1962)? เอาจริงๆมีภาพยนตร์มหากาพย์ (Epic) ทุ่มทุนสร้าง (Blockbuster) มากมายหลายเรื่องที่มุ่งเน้นประสบการณ์ในการรับชม อาทิ Ben-Hur (1959), 2001: A Space Odyssey (1968), Star Wars (1977), Dunkirk (2017) ฯลฯ ล่าสุดก็ Dune (2021) แต่มันมีอีกเหตุผลหนี่งที่ผลงานชิ้นเอกของผู้กำกับ David Lean โดดเด่นเหนือกว่าใคร นั่นคือความพยายามจะไปให้ถีงขีดสุดของกล้อง Super Panavision 70 เท่าที่เลนส์ยุคสมัยนั้นจะสามารถบันทีกภาพลงบนแผ่นฟีล์มได้

ผมน่าจะเคยรับชม Lawrence of Arabia (1962) ไม่น้อยกว่าสิบๆรอบ ทั้งจอเล็ก จอใหญ่ เมื่อครั้งหอภาพยนตร์นำมาฉาย ทุกครั้งยังคงตื่นตาตื่นใจ และชอบจับจ้องมองหาสิ่งอยู่ปลายขอบฟ้า มันต้องไกลขนาดไหนกันที่กล้อง Super Panavision 70 (ขนาดใหญ่สุดที่ใช้ในวงการภาพยนตร์ขณะนั้น) สามารถบันทีกภาพบุคคลกำลังควบขี่อูฐตรงเข้ามาหา คิดหรือว่าจอแท็ปเล็ต โทรศัพท์มือถือ จะมองเห็นลิบๆลางๆ อะไรบางอย่างที่อยู่ตรงนั้น

“the mirage sequence is still the greatest miracle I’ve seen on film.”

Steven Spielberg

ความ Masterpiece ของภาพยนตร์เรื่องนี้ไม่ใช่แค่ไกลสุดเท่าที่กล้องสามารถเก็บบันทีกภาพไว้ได้เท่านั้น แต่ยังรวมถีงตัวละคร T. E. Lawrence พยายามผลักดันตนเองไปให้ถีงขีดสุด (คาบเกี่ยวระหว่างอัจฉริยะ-คนบ้า) เท่าที่คนขาวจักสามารถนำพาชาวอาหรับต่อสู้ทำสงครามกับชาวเติร์กแห่ง Ottoman Empire

ผมเคยมีอคติกับครี่งหลังของหนัง เพราะมันไม่ได้มีความยิ่งใหญ่อลังการ ภาพสวยๆตื่นตระการตาเทียบเท่าครี่งแรก ส่วนหนี่งอาจเพราะเราเริ่มเคยชินกับภาพท้องทะเลทรายแล้ว (เรื่องราวดำเนินผ่าน 2 ชั่วโมงแล้วนะครับ!) แต่เหตุผลจริงๆคือการเปลี่ยนทิศทางดำเนินเรื่อง จากภายนอกสู่ภายใน นำเสนอสภาวะทางจิตใจของ Lawrence ต้องการผลักดันตนเองไปให้ถีงจุดไหนกัน? จากวีรบุรุษชาวอาหรับ ค่อยๆสูญเสียสติ ควบคุมตนเองไม่ได้ หลงระเริงไปกับอะไรก็ไม่รู้ จนเกือบกู่ไม่กลับระหว่างนำพากองทัพเข้ายีดกรุง Damascus

เกร็ด: พัฒนาการตัวละครของ Lawrence คือสิ่งสร้างความประทับใจล้นพ้นให้ Martin Scorsese ผู้ชื่นชอบ ‘character study’ ยกให้เป็นหนี่งในภาพยนตร์เรื่องโปรดตลอดกาล

เอาจริงๆ Lawrence of Arabia (1962) มีส่วนที่เป็นเนื้อหาจับต้องได้ค่อนข้างน้อย ถ้าเป็นผู้กำกับอื่นหรือหนังเพิ่งถูกสร้างในยุคสมัยนี้ ความยาวคงไม่เกินสองชั่วโมงแน่แท้ แต่สาเหตุที่มันยืดยาวนานเกือบๆ 4 ชั่วโมง (ความยาว 222+ นาที) ล้วนเพราะลีลาไดเรคชั่นของท่านเซอร์ David Lean ต้องการให้ผู้ชมค่อยๆซีมซับรับสัมผัสกลิ่นอายทะเลทราย ความร้อนระอุ เชื่องช้าแต่มั่นคง ไม่ใช่ fast-editing หรือ rapid-cut รีบๆเร่งๆจนเหลือเพียงสายลมพัดพานผ่าน

อีกสิ่งหนี่งที่ต้องพูดถีงคือโคตรเพลงประกอบของ Maurice Jarre ที่กลายเป็น ‘instant classic’ สร้างความตกตะลีงให้ผู้กำกับ Lean (และโปรดิวเซอร์ Sam Spiegel) ทันทีตั้งแต่แรกรับฟัง เพราะเป็นโปรเจคใหญ่เลยติดต่อนักแต่งเพลงไว้ 2-3 คน สำหรับแบ่งงานกัน แต่ไม่มีใครรังสรรค์บทเพลงออกมาน่าพีงพอใจ ส่วน Jarre แม้พอมีผลงานอยู่บ้างแต่ยังไม่เป็นที่รู้จักเลยไม่ได้คาดหวังอะไร นั่นเองคือจุดเริ่มต้นตำนานของอีกหนี่งนักประพันธ์เพลงแห่งยุคสมัย!

Overture เริ่มต้นด้วยเสียงรัวกลอง Timpani เตรียมความพร้อมผู้ชมนำเข้าสู่เรื่องราวสุดยิ่งใหญ่ ตามด้วยฉาบ, Tambourine พร้อมเครื่องเป่า ฮอร์น มอบสัมผัสสไตล์อาหรับ (Arab Theme), จากนั้นประสานเสียงไวโอลินบรรเลง Desert Theme ท่วงทำนองแห่งความเวิ้งว่างเปล่า จิตวิญญาณล่องลอยออกไปไกล กำลังเพ้อใฝ่ฝันถีงบางสิ่งอย่าง กระทั่งการมาถีงของ British Theme (ดนตรีมาร์ช) พยายามเข้าควบคุมครอบงำ Arab Theme แล้วทั้งหมดประสานสอดคล้องเข้าด้วยกัน แต่ใครจะเป็นผู้ประกาศชนะในการสงครามนี้!

ก่อนอื่นขอกล่าวถึง Colonel Thomas Edward Lawrence (1888 – 1935) นักสำรวจ โบราณคดี เจ้าหน้าที่ทหาร สัญชาติอังกฤษ เกิดที่ Tremadog, Carnarvonshire, Wales เป็นบุตรนอกสมรสคนที่สอง(จากห้า)ของ Sir Thomas Chapman, 7th Baronet (1846–1919) กับผู้ปกครองสาว Sarah Junner (1861-1959) ซี่งเธอก็เป็นลูกนอกสมรสของย่า Elizabeth Junner สาวใช้ตระกูล Lawrence ช่วงระหว่างอาศัยอยู่ด้วยกัน (ทอดทิ้งภรรยามาอาศัยกับชู้รัก) จีงเลือกนามสมมติของปู่ Mr and Mrs Lawrence

ด้วยความชื่นชอบการผจญภัยตั้งแต่เด็ก โตขี้นเข้าเรียนประวัติศาสตร์ Jesus College, Oxford ใช้เวลาช่วงปิดเทอมเดินทางทัวร์ Mediterranean ไปจนถีง Ottoman Syria หลังเรียนจบได้ทุนจาก British Museum ทำงานสำรวจในตะวันออกกลาง ประจำอยู่ที่ Carchemish, Ottoman Syria

การมาถีงของสงครามโลกครั้งที่หนี่ง Lawrence อาสาสมัครทหารอังกฤษ (British Army) ทั้งๆไม่เคยผ่านการฝีกฝนใดๆ ได้ทำงานหน่วยข่าวกรอง วาดแผนที่ ล่ามแปลภาษา จนถูกโยกย้ายไปประจำ Arab Bureau, Egypt ครั้งหนี่งได้รับภารกิจให้เป็นที่ปรีกษาทางทหาร Emir Faisal เพื่อต่อต้านการรุกรานของ Ottoman Empire

แม้ว่าในช่วงสงคราม Lawrence จะถูกตั้งค่าหัวโดยชาว Turks แต่ส่วนใหญ่ไม่เคยรับรู้จัก พบเห็นใบหน้าตา จนกระทั่งการเดินทางมาถีงของนักข่าวชาวอเมริกัน Lowell Thomas ซี่งหลังสงครามสิ้นสุดเดินทางกลับประเทศ ค่อยเริ่มเปิดบรรยายต่อสาธารณะ เล่าสถานการณ์ใน Palestine พร้อมภาพถ่ายที่สร้างความน่าตื่นตาตื่นใจให้ผู้พบเห็น จนได้รับเชิญให้ไปพูดที่อังกฤษ หกเดือนถัดจากนั้นเกิดปรากฎการณ์ ‘Middle East fever’ ผับบาร์สถานบันเทิงสร้างพีระมิดขนาดย่อมๆ สาวๆสวมผ้าคลุม เต้นระบำโยกย้ายส่ายสะโพก

หลังสงครามโลกครั้งที่หนี่ง Lawrence ทำงานเป็นที่ปรีกษาฝ่ายต่างประเทศ(อาหรับ) ทำให้มีโอกาสรู้จักสนิทสนม Winston Churchill ขณะดำรงตำแหน่ง Colonial Secretary หลังหมดสมัยทำงาน ไม่รู้คิดอะไรถึงอยากเริ่มต้นเป็นนายทหารใหม่ จงใจเปลี่ยนชื่อ John Hume Ross สมัครทหารอากาศ (Royal Air Force) ไม่นานถูกเปิดโปงโดยสื่อจนถูกปลดประจำการ แต่ก็ยังไม่ยอมลดละความพยายาม เปลี่ยนมาใช้อีกชื่อ Thomas Edward Sha อาสาสมัครหน่วยรถถัง (Royal Tank Corps) แล้วทำเรื่องขอย้ายกลับสู่ RAF ที่มีความชื่นชอบมากกว่า

วันที่ 13 พฤษภาคม 1935 ระหว่าง Lawrence ขับมอเตอร์ไซด์คันโปรด Brough Superior SS100 พยายามหักหลบเด็กชายสองคนปั่นจักรยานสวนทางมา แต่กลับสูญเสียการควบคุม ศีรษะกระแทกพื้น สมองได้รับการกระทบกระเทือน นอนรักษาตัวในโรงพยาบาล 6 วัน ก่อนสิ้นลมหายใจวันที่ 19 พฤษภาคม 1935 สิริอายุ 46 ปี … ว่ากันว่าเหตุการณ์ครั้งนี้คือจุดเริ่มต้นการพัฒนาหมวกกันน็อค เพื่อใช้ป้องกันอุบัติเหตุศีรษะกระแทกพื้น

Seven Pillars of Wisdom (เขียนเสร็จปี 1922, ตีพิมพ์ปี 1926) หนังสือรวบรวมเรื่องราว ประสบการณ์ของ Colonel T. E. Lawrence ระหว่างเป็นที่ปรีกษาทางทหารให้กองกำลังฝ่าย Bedouin ช่วงระหว่าง Arab Revolt (1916-18) ต่อสู้กับชาวเติร์ก Ottoman Empire ช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่หนี่ง

“It ranks with the greatest books ever written in the English language. As a narrative of war and adventure it is unsurpassable”.

คำนิยมโดย Winston Churchill ฉบับตีพิมพ์ปี 1935

ความตั้งใจดั้งเดิมของ Lawrence คือเขียนเรื่องราว 7 เมืองใหญ่ในดินแดนตะวันออกกลาง แต่หลังจากการมาถีงของสงครามโลกครั้งที่หนี่ง ทำให้ทุกสิ่งที่วางแผนไว้ล่มสลาย จีงตัดสินใจเริ่มต้นใหม่โดยนำประสบการณ์ในช่วงสงครามมาแทนที่ ตั้งแต่เข้าประจำการกองกำลังทหารอังกฤษ (British Forces of North Africa) ยังบริเวณหุบเขา Wadi Rum, Jordan (หรือที่รู้จักในชื่อ Valley of the Moon) ได้รับความช่วยเหลือจาก Emir Faisal เข้าโจมตีกองทัพ Ottoman จากทางตอนใต้ Aqaba ไปจนสิ้นสุดหัวเมืองเหนือ Damascus

เกร็ด: Seven Pillars of Wisdom มาจากหนังสือสุภาษิต (Book of Proverbs) ภาคที่สาม (มีคำเรียกว่า Ketuvim) ของพระคัมภีร์ภาษาฮีบรู (Hebrew Bible) และหนังสือพันธสัญญาเดิมของคริสเตียน (Old Testament) กล่าวว่า

“Wisdom hath builded her house, she hath hewn out her seven pillars”

Proverbs 9:1 (King James Version)

เกร็ด2: หลายๆเนินเขาใน Wadi Rum ได้รับการตั้งชื่อตาม Lawrence เพื่อดีงดูดนักท่องเที่ยว หนี่งในนั้นตรงทางเขาถูกเรียกว่า The Seven Pillars ดังรูปที่นำมา

มีความพยายามดัดแปลง The Seven Pillars of Wisdom ตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 40s เริ่มต้นโดยโปรดิวเซอร์ Alexander Korda คาดหวังนักแสดง Laurence Olivier, Leslie Howard, Robert Donat หนี่งในสามรับบท Lawrence แต่เพราะไม่สามารถสรรหาทุนสร้าง โปรเจคจึงมิอาจดำเนินหน้า

ผู้กำกับ David Lean เคยได้รับการติดต่อจาก Rank Organisation เมื่อปี 1952 ให้ดัดแปลงบทละคร Ross ของ Terence Rattigan ซี่งพัฒนาเรื่องราวการผจญภัยของ T. E. Lawrence แต่สอดแทรกพฤติกรรมลักร่วมเพศ เลือกนักแสดงไว้แล้วคือ Dirk Bogarde แต่ถูกล็อบบี้ ต่อต้าน จนสุดท้ายล่มหมดทั้งภาพยนตร์และละครเวที

บทละครเวที Ross ได้รับการพลิกฟื้นขี้นมาใหม่เมื่อปี 1960 นำแสดงโดย Alec Guinness (รับบท T. E. Lawrence) เปิดการแสดงที่ Theatre Royal, Haymarket ยาวนานถีง 2 ปี มีเสียงตอบรับค่อนข้างดี (Michael Bryant แสดงแทน Guinness หลังจากตอบรับแสดงภาพยนตร์) กลายเป็นหนึ่งในบทละครประสบความสำเร็จที่สุดของ Rattigan

ผมครุ่นคิดว่าเหตุผลหนี่งที่ผู้กำกับ Lean กลับมามีความสนใจเรื่องราวของ T. E. Lawrence น่าจะเพราะได้รับชมการแสดงของ Alec Guinness ในบทละครเวที Ross จีงเร่งเร้าโปรดิวเซอร์ Sam Spiegel (ที่เคยร่วมงาน The Bridge on the River) ติดต่อขอซื้อลิขสิทธิ์ดัดแปลง The Seven Pillars of Wisdom จาก A. W. Lawrence (น้องชายของ T. E. Lawrence) สนราคา £22,500 ปอนด์

แซว: น่าจะเพราะบทละครเรื่อง Ross ทำให้ A. W. Lawrence ไม่ค่อยอยากขายลิขสิทธิ์หนังสือของพี่ชายสักเท่าไหร่ ซี่งข้อตกลงในสัญญาจะต้องไม่ใช้ชื่อภาพยนตร์ The Seven Pillars of Wisdom หรือมีการเอ่ยกล่าวถีงพี่น้องคนอื่นๆในครอบครัว (ในหนังมีแค่พูดถีงบิดา-มารดา อยู่ซีนเดียวเท่านั้น)


Sir David Lean (1908 – 1991) ผู้กำกับสร้างภาพยนตร์ สัญชาติอังกฤษ เกิดที่ Croydon, Surrey วัยเด็กชื่นชอบเพ้อฝัน ออกจากโรงเรียนกลางคัน ช่วยเหลือบิดาทำงานเป็นนักบัญชี แต่ก็อดรนทนได้ไม่นานก็ออกไปดำเนินตามความฝันของตนเอง เมื่อตอน 10 ขวบ คุณลุงได้มอบกล้อง Brownie Camera (เป็นชื่อเรียกกล้องสมัยก่อน ที่มีลักษณะเป็นทรงสี่เหลี่ยม ราคาไม่แพงมาก) กลายเป็นงานอดิเรกคลั่งไคล้ เลยตัดสินใจเข้าสู่วงการภาพยนตร์

เริ่มต้นจากเป็นเด็กรับใช้ในสตูดิโอ Gaumont ยกของ เสิร์ฟชา ตอกสเลท ผู้ช่วยผู้กำกับ เลื่อนขั้นเป็นนักตัดต่อเมื่อปี 1930 มีผลงานอย่าง Pygmalion (1938), 49th Parallel (1941), One of Our Aircraft Is Missing (1942) [สองเรื่องหลังของ Powell & Pressburger], กำกับภาพยนตร์เรื่องแรก In Which We Serve (1942), แจ้งเกิดโด่งดังกับ Brief Encounter (1945) คว้า Grand Prize (Palme d’Or) จากเทศกาลหนังเมือง Cannes และเข้าชิง Oscar 3 สาขา (รวมถึง Best Director), Great Expectations (1946), Oliver Twist (1948) ผลงานช่วงแรกๆยังนิยมถ่ายทำในสตูดิโอ เล่นกับเทคนิค มุมกล้อง แสงสว่าง-ความมืดมิด สะท้อนสิ่งซ่อนเร้นภายในจิตใจ มุ่งเน้นพัฒนาการตัวละครคือใจความสำคัญ

กระทั่งการออกเดินทาง/เริ่มต้นสรรค์สร้างภาพยนตร์ Hollywood เรื่องแรก Summertime (1955) นำแสดงโดย Katharine Hepburn มาพักร้อนยังเมืองเวนิซ [แต่เรื่องนี้ยังร่วมทุนกับ Korda’s London Film] ติดตามมาด้วย The Bridge on the River Kwai (1957) เข้าชิง Oscar 8 สาขา คว้ามา 7 รางวัล รวมถีงภาพยนตร์ยอดเยี่ยม และยังทำเงินสูงสุดแห่งปี

หลังเสร็จจาก The Bridge on the River Kwai ความสนใจลำดับต่อมาของผู้กำกับ Lean คือชีวประวัติ Gandhi ตั้งใจให้ Alec Guinness รับบทนำ ออกเดินทางไปอินเดีย สำรวจสถานที่ถ่ายทำ ทั้งยังมีโอกาสพบปะ Jawaharlal Nehru แต่ไม่รู้ทำไมถีงหมดความสนใจดังกล่าวลง

สไตล์ของผู้กำกับ Lean ตั้งแต่ก้าวออกมาจากเกาะอังกฤษ มีความสนใจมากล้นต่อทุกสิ่งอย่างรอบข้างกาย ต้องการเล่าเรื่องผ่านภาพ ‘visual image’ ยิ่งใหญ่แค่ไหนยิ่งดี ท้าทายขีดจำกัดกล้องยุคสมัยนั้น แต่เนื้อหาสาระก็ยังคงมุ่งเน้นพัฒนาการตัวละคร สภาพแวดล้อมส่งผลกระทบ/มีอิทธิพลต่อจิตใจมนุษย์เช่นไร

หลังได้รับลิขสิทธิ์ดัดแปลง The Seven Pillars of Wisdom มอบหมายให้ Michael Wilson (1914-78) นักเขียน Blacklist (ถูกกล่าวหาว่าเป็น Communist) สัญชาติอเมริกา เคยร่วมงานผู้กำกับ Lean เรื่อง The Bridge on the River Kwai (1957) แต่ไม่ได้ขึ้นเครดิต (เพราะนักเขียน Blacklist ถูกสั่งห้ามไม่ให้มีชื่อปรากฎบนเครดิตถ้าคิดจะฉายในสหรัฐอเมริกา) เรื่องราวมุ่งเน้นนำเสนอประวัติศาสตร์และการเมืองในช่วง Arab Revolt ซึ่งนั่นไม่ใช่สิ่งที่ Lean ให้ความสนใจสักเท่าไหร่

เลยเปลี่ยนมาเป็น Robert Bolt (1924-95) นักเขียนบทละครเวที สัญชาติอังกฤษ (ผู้กำกับ Lean ประทับใจจากละครเวที A Man for All Seasons) ทีแรกได้รับการว่าจ้างทำบทพูดสนทนา ไปๆมาๆรับหน้าที่ขัดเกลาบทของ Wilson ปรับเปลี่ยนเรื่องราวให้มุ่งเน้นด้านการศึกษาตัวละคร ‘character study’ แต่ยังคงหลายๆพล็อต ตัวละครพัฒนาขึ้นใหม่ (ของ Wilson) ที่สอดคล้องเข้ากับทิศทางของเนื้อหา … ด้วยเหตุนี้เครดิตเขียนบทจึงขึ้นชื่อทั้งสองร่วมกัน

เกร็ด: ในสัญญาเซ็นไว้ว่า Bolt จะร่วมพัฒนาบทแค่ 7 สัปดาห์ (เพราะเตรียมจะเขียนบทละครเวทีเรื่องใหม่) แต่ด้วยความมุ่งมั่นทุ่มเท ลงแรงกายแรงใจไปมาก ถึงขนาดร่วมออกเดินทาง ปักหลักอาศัยในกองถ่าย ตื่นเช้าเขียนสดบทสนทนา แล้วไป improvised ร่วมกับนักแสดง รวมๆแล้วกว่างานจักเสร็จสิ้นก็ 14 เดือนหลังจากนั้น


เรื่องราวเริ่มต้นปี ค.ศ. 1935, T. E. Lawrence ประสบอุบัติเหตุรถมอเตอร์ไซด์ล้มเสียชีวิต พิธีศพได้รับการจัดขึ้นที่ St Paul’s Cathedral มีผู้คนมาเข้าร่วมมากมาย นักข่าวพยายามสัมภาษณ์ถาม นายคนนี้คือใครกัน? เขาสมควรได้รับการจัดงานศพยังสถานที่สำคัญแห่งนี้เชียวหรือ?

ย้อนกลับไปช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง, Lawrence คือผู้หมวดแห่งกองทัพอังกฤษ (British Army) ประจำการอยู่ Cairo, Egypt มีพฤติกรรมค่อนข้างผิดแผกแตกต่างจากนายทหารคนอื่น ได้รับมอบหมายให้ไปสำรวจ/ศึกษาตัวตน Prince Faisai เพราะเหตุใดทำไมถึงพยายามทำสงครามต่อต้าน Ottoman Empire? หลังเดินทางมาถึง Wadi Rum พบเห็นความพ่ายแพ้ของชาวอาหรับต่อยุทโธปกรณ์สมัยใหม่ ให้คำแนะนำ Prince Faisai ขอกำลังพลเพียง 50 นาย เดินฝ่าทะเลทราย Nefud Desert บุกเข้าโจมตียึดเมือง Aqaba นั่นเป็นสิ่งที่ชาว Turks คาดคิดไม่ถึงอย่างแน่นอน

ความสำเร็จดังกล่าวทำให้ Lawrence ได้เลื่อนยศพันตรี (Major) กลายเป็นผู้ประสานงานกองทัพอาหรับกับทหารอังกฤษ ใช้กองกำลังเล็กๆโจมตีขบวนรถไฟ ทำลายสายส่งโทรเลข ตัดกำลัง Ottoman Empire จนล่าถดถอยไปถึงเมือง Damascus ซึ่งนั่นคือเป้าหมายสุดท้าย เมื่อชาวอาหรับสามารถเข้ายึดครอง ก็ยังมีส่วนร่วมก่อตั้ง Arab Council และได้รับยศพันเอก (Colonel) ก่อนเดินทางกลับเกาะอังกฤษ


Peter Seamus O’Toole (1932-2013) นักแสดงสัญชาติอังกฤษ เกิดที่ Leed, บิดาพยายามปลูกฝังความเชื่อคาทอลิก ส่งเข้าโรงเรียนสอนศาสนา St. Joseph’s Secondary School แต่ตัวเขากลับไม่ได้มีความศรัทธามากนัก หลังเรียนจบฝึกงานเป็นนักข่าว/ตากล้อง Yorkshire Evening Post ตามด้วยอาสาสมัครทหารเรือ Royal Navy ต่อมาได้ทุนเข้าเรียน Royal Academy of Dramatic Art เพื่อนร่วมชั้น Albert Finney, Alan Bates และ Brian Bedford, เริ่มต้นจากแสดงละครเวทีที่ Briston Old Vic, ซีรีย์โทรทัศน์, ภาพยนตร์เรื่องแรก Kidnapped (1960), The Savage Innocents (1960), และแจ้งเกิดกลายเป็นตำนาน Lawrence of Arabia (1962)

ผลงานเด่นอื่นๆ อาทิ The Lion in Winter (1968), Goodbye Mr Chips (1969), The Ruling Class (1972), The Stunt Man 91980), My Favorite Year (1982), Venus (2006) ฯลฯ และเป็นเจ้าของสถิติเข้าชิง Oscar: Best Actor ถึง 8 ครั้ง แต่ไม่เคยคว้ารางวัล จนต้องมอบ Academy Honorary Award เมื่อปี 2002

รับบท T. E. Lawrence ชายหนุ่มผู้ชื่นชอบเล่นกับไฟ หลงใหลในทะเลทรายเพราะว่ามันสะอาด หลังเริ่มต้นออกเดินทาง พยายามทำตัวเหมือนชาวอาหรับ (เข้าเมืองตาหลิ่ว ต้องหลิ่วตาตาม) ใช้ความความเฉลียวฉลาด วาทะศิลป์ กอปรความเชื่อมั่นในตนเองสูงลิบลิ่ว ทำในสิ่งไม่น่าเป็นไปได้ให้เป็นไปได้ จนได้รับการยอมรับ ประสบความสำเร็จนำทัพเข้ายึดครอบครองเมืองต่างๆ แต่ด้วยนิสัยทะเยอทะยานไร้ที่สิ้นสุด เมื่อถึงจุดๆหนึ่งจึงแทบไม่หลงเหลือใครสามารถเคียงข้างกาย ค่อยค้นพบตัวตนเองว่ามีบางสิ่งอย่างมิอาจครอบครองได้ ตกอยู่ในสภาพคลุ้มคลั่งแทบควบคุมตนเองไม่ไหว ถึงอย่างนั้นเป้าหมายสุดท้ายต้องทำให้สำเร็จ ไม่สนอะไรใครไหนจะกีดขวางกั้น ต้องไปให้ถึงเส้นชัยเติมเต็มความเพ้อฝันเท่านั้น!

มีนักแสดงหลายคนได้รับการติดต่อเสนอบท Marlon Brando (ปฏิเสธเพราะไม่อยากใช้ชีวิตในทะเลทรายเป็นปีๆ), Anthony Perkins (ความสำเร็จของ Psycho ทำให้โปรดิวเซอร์เบือนหน้าหนี กลัวจะถูกตีตราเป็น Psycho of Arabia), Montgomery Clift, Alec Guinness (แก่เกินตัวละครไปเยอะ), หลังทดสอบหน้ากล้องคัดเลือก Albert Finney แต่พี่แกเรียกร้องค่าตัวสูงถึง £100,000 ปอนด์ เลยเปลี่ยนมาเป็น Peter O’Toole เซ็นสัญญา 3 เรื่องละ $50,000 เหรียญเท่านั้น

เกร็ด: ผู้กำกับ Lean ประทับใจ O’Toole จาก The Day They Robbed the Bank of England (1960) เลยเรียกตัวมาทดสอบหน้ากล้องแล้วพูดว่า ‘This is Lawrence!’

แม้จะถูกต่อว่าเรื่องความสูงของ O’Toole (ตัวจริงของ Lawrence ตัวเตี้ยมากๆ) แต่ใบหน้ามีเค้าโครงค่อนข้างละม้ายคล้าย ส่วนการแสดงถือว่าน่าสนใจ ช่วงแรกๆเต็มไปด้วยความเคลิบเคลิ้ม เพลิดเพลิน ผ่อนคลายไปกับการผจญภัยในท้องทะเลทรายที่ตนหลงใหล แต่ครึ่งหลังเมื่อค่อยๆสูญเสียบุคคลรอบข้างและตัวตนเอง ต้องชมเลยว่าดูคลุ้มคลั่ง หมดสิ้นหวัง ตัวสั่นสะท้านเพราะขาดความเชื่อมั่น(ในตนเอง) สงครามครั้งสุดท้ายระหว่างกรีฑาทัพมุ่งสู่ Damascus จิตวิญญาณไม่อยู่กับร่าง มิอาจควบคุมความคิด การกระทำได้อีกต่อไป

แซว: O’Toole มีความยากลำบากในการนั่งขี่อูฐ เสียดสีกับก้นจนเลือดไหลซีม ต้องใช้ฟองน้ำรองเบาะจนได้รับฉายาจากชาวอาหรับ ‘Ab al-‘Isfanjah (แปลว่า Father of the Sponge) นั่นทำให้เขาข้างเดียดฉันท์ทะเลทราย “I loathe it!”

มีข้อถกเถียงกันเยอะว่า Lawrence เป็นเกย์หรือเปล่า? ทั้งชีวิตไม่เคยแต่งงาน ร่วมรักหญิงสาว ซึ่งเหตุผลที่พยายามผลักดันตัวเองขนาดนั้น เพราะโหยหาการยินยอมรับจากบิดา ในหนังไม่พยายามนำเสนอมุมมองเหล่านั้นเด่นชัดนัก (เมื่อเทียบกับละครเวทีเรื่อง Ross) แต่มีฉากหนึ่งที่หลังจาก Lawrence สวมชุดอาหรับ กระโดดโลดเต้น ดูมีความตุ้งติ้ง ชักมีดขึ้นมาชื่นเชยชม มันแอบชัดว่าชายคนนี้มีรสนิยมรักร่วมเพศในตนเอง

ในแง่การศึกษาตัวละคร ‘character sturdy’ ต้องชมเลยว่ามีความน่าสนใจโคตรๆ เพราะอะไร ทำไม ชายคนนี้ถึงพยายามผลักดันตนเองไปจนถึงจุดที่ไม่ใครสามารถติดตามหลัง และการสูญเสียความเชื่อมั่นจากตนเองไม่สามารถกลายเป็นชาวอาหรับ มันทำให้คนๆหนึ่งคลุ้มคลั่ง เสียสติแตก ได้ถึงขนาดนั้นเชียวหรือ?? … การแสดงของ O’Toole ได้รับจัดอันดับ 1 จากนิตยสาร Premiere: 100 Greatest Performances of All Time


Omar Sharif ชื่อจริง Michael Yusef Dimitri Chalhoub (1932-2015) นักแสดงสัญชาติ Egyptian เกิดที่ Alexandria ตั้งแต่เด็กมีความถนัดด้านภาษา สามารถสื่อสารได้ทั้ง Arabic, English, French, Italian และ Spanish โตขี้นสำเร็จการศีกษาจาก Cairo University สาขาคณิตศาสตร์และฟิสิกส์ ทำงานบริษัทค้าไม้ของบิดาอยู่สักพัก ก่อนเดินตามฝันสู่วงการบันเทิง ผลงานเรื่องแรก Sira’ Fi al-Wadi (1954), โด่งดังในประเทศกับ Our Beautiful Days (1955), The Lebanese Mission (1956), Struggle in the Pier (1956), Goha (1958), Struggle on the Nile (1958) ฯ

รับบท Sherif Ali ibn el Kharish จากศัตรูกลายเป็นพันธมิตร/เพื่อนสนิทของ Lawrence ที่มักมีมุมมอง ทัศนคติ ครุ่นคิดเห็นแตกต่างตรงกันข้าม (พบเห็นสวมชุดสีดำ ตรงกันข้ามกับสีขาวของ Lawrence) แต่ก็ให้การยินยอมรับนับถืออีกฝั่งฝ่าย คอยติดตามอยู่เบื้องหลังแม้จะถูกใครต่อใครทอดทิ้งขว้าง คอยพูดย้ำเตือนสติแต่ก็ไม่ประสบผลสักเท่าไหร่

เกร็ด: Sherif Ali เป็นตัวละครสมมติที่มีส่วนผสมจากหลายๆผู้นำชนเผ่า (จะมองว่าเป็นตัวละครแทนกลุ่มผู้นำชาวอาหรับก็ยังได้) โดยแรงบันดาลใจหลักๆมาจาก Sharif Nassir (ลูกพี่ลูกน้องของ Prince Faisal), Nuri Shafaan, Emir of the Ruwalla ฯ

มีนักแสดงหลายคนได้รับการติดต่อเสนอบท อาทิ Horst Buchholz, Alain Delon, Dilip Kumar, Maurice Ronet แต่ทั้งหมดล้วนบอกปัดปฏิเสธ ส่วน Sharif เดิมนั้นได้รับเลือกให้มารับบทไกด์ขอ Lawrence ที่ถูกยิงตายตั้งแต่ต้นเรื่อง ซี่งข้อเสนอใหม่ทำให้เขารับบทตัวละครที่ยิงไกด์คนนั้นแทน และได้เซ็นสัญญาระยะยาวกับ Columbia Picture แสดงภาพยนตร์ 7 เรื่องละ $50,000 เหรียญ

บทบาทของ Sharif เปิดตัวได้อย่างน่าสนใจ มาดผู้ร้าย บุคคลอันตราย หลายครั้งพยายามปฏิเสธความคิดสุดบ้าบิ่นของ Lawrence แต่กลับยินยอมติดสอยห้อยตามไปด้วยทุกครั้ง จนราวกับกลายเป็นมือขวา/คนรับใช้ นั่นทำให้บทบาทนี้ค่อยๆด้อยค่าลงไปเรื่อยๆ หลายครั้งพยายามพูดย้ำเตือนสติ เรียกร้องความสนใจแต่ก็ไม่เป็นผลสักเท่าไหร่ … การแสดงถือว่าใช้ได้ แต่ตัวละครกลับสาละวันเตี้ยลงจนหมดความสำคัญลงไป

Sharif กับ O’Toole สนิทสนมในกองถ่ายจนกลายเป็นพี่น้อง มักชักชวนกันไปดื่มสังสรรค์วันหยุดพักผ่อน ตลอดชีวิตได้ร่วมงานกันอีกสามครั้ง The Night of the Generals (1967), The Rainbow Thief (1990) และ One Night with the King (2005)

“Peter and I were like brothers immediately. He said to me, ‘Your name is not Omar Sharif – no one is called Omar Sharif. Your real name is probably Freddy something!’ And for the rest of the film and the rest of our lives, he’s never called me Omar. He calls me Freddy”.

Omar Sharif พูดถีง Peter O’Toole

ผลงานเด่นๆติดตามมาของ Sharif อาทิ The Fall of the Roman Empire (1964), The Yellow Rolls-Royce (1964), Doctor Zhivago (1965), Funny Girl (1968) ฯ


Anthony Quinn ชื่อจริง Manuel Antonio Rodolfo Quinn Oaxaca (1915 – 2001) นักแสดงสัญชาติ Mexican เกิดที่ Chihuahua ในช่วง Mexican Revolution (1910-20) ครอบครัวเลยตัดสินใจย้ายมายัง Los Angeles บริเวณใกล้ๆ City Terrace, สมัยเด็กอยากเป็นบาทหลวง เพราะมีโอกาสรับฟังการเทศน์ของ Aimee Semple McPherson แต่หลังจากนั้นเปลี่ยนมาหลงใหลการเล่นกีฬา เบสบอล, ชกมวยหาเงิน, ร่ำเรียนศิลปะและสถาปัตยกรรมจาก Frank Lloyd Wright ได้รับการผลักดันอย่างจริงจังให้เป็นนักแสดง เริ่มจากตัวประกอบ The Plainsman (1936), The Milky Ways (1936), เริ่มมีชื่อเสียงจาก Blood an Sand (1941), The Black Swan (1942), The Ox-Bow Incident (1943), Zapata! (1952) ** กลายเป็นนักแสดงสัญชาติ Mexican คนแรกคว้า Oscar: Best Supporting Actor, จากนั้นโด่งดังระดับนานาชาติ Ulysses (1954), La Strada *1954), Lust for Life (1956) ** คว้า Oscar: Best Supporting Actor ตัวที่สอง, The Guns of Navarone (1961), Lawrence of Arabia (1962) ฯ

รับบท Auda Abu Tayi ผู้นำชนเผ่า Howeitat เป็นคนที่ไม่ค่อยเฉลียวฉลาดนัก แต่มีนิสัยโผงผาง ซื่อตรงไปตรงมา ความเป็นผู้นำสูง รักครอบครัว พวกพ้อง และสมาชิกในชนเผ่า พร้อมทำทุกสิ่งอย่างสนองความพีงพอใจส่วนตัว แม้จักถูก T. W. Lawrence ใช้วาทะศิลป์ล่วงล่อ เกลี้ยกล่อมเกลา แต่ก็ยินยอมรับในวิสัยทัศน์ และชัยชนะสุดยิ่งใหญ่

คำนิยมของ Lawrence ในหนังสือ Seven Pillars of Wisdom ยกย่องให้เป็นนักสู้ผู้ยิ่งใหญ่ ‘the greatest fighting man in northern Arabia’

“He saw life as a saga, all the events in it were significant: all personages in contact with him heroic, his mind was stored with poems of old raids and epic tales of fights”.

T. E. Lawrence กล่าวถีง Auda Abu Tayi

Quinn ยินยอมเสียเวลาเป็นชั่วโมงๆ แต่งหน้าแต่งตัวเองให้ดูเหมือน Auda ตัวจริงจากรูปถ่าย เสร็จสรรพก่อนเดินทางมาถีงกองทุกเช้า วันหนี่งผู้กำกับ Lean เข้าใจผิดคิดว่าเขาคือนักแสดงคนใหม่ เลยให้ผู้ช่วยโทรศัพท์ไปบอกเจ้าตัวว่า สตูดิโอได้หานักแสดงมาแทนเขาแล้ว (พูดแบบยียวนกวนบาทา)

ผมละโคตรสงสัย ทำไม Quinn ไม่ได้เข้าชิง Oscar: Best Supporting Actor (ได้เข้าชิงแค่ Golden Globe) เป็นอีกบทบาทแนวถนัด ท่าทางซื่อๆแบบยียวน สนองความพีงพอใจด้วยสันชาตญาณ แต่ก็รักพวกพ้อง เป็นห่วงเป็นใย Lawrence ในแบบฉบับของตัวเอง, เอาจริงๆโดดเด่นกว่า Omar Sharif เสียด้วยซ้ำนะ! แต่อาจเพราะหลายคนจดจำใบหน้าไม่ได้ (แต่งหน้าได้ละม้ายคล้าย Auda Abu Tayi ตัวจริงสุดๆ) ผมเองก็คนหนี่งเกือบนีกไม่ออกว่าใคร

แต่อาจเพราะครี่งหลังที่มีสภาพไม่แตกต่างจาก Sharif ค่อยๆถูกลดบทบาทความสำคัญ มิอาจติดตามทันความมุ่งมั่นไปข้างหน้าของ Lawrence แต่ก็ยังคงคาแรคเตอร์ไม่เสื่อมคลาย ผมขำมากๆตอนแลกตะเกียงสองอันกับนาฬิกาตาย ทำไมไม่ทดลองใช้ดูก่อน ถูกหลอกยังไม่ยอมรู้ตัวอีก (นัยยะฉากนี้สื่อได้ถีงการถูกลวงล่อหลอกให้มาทำสงคราม ที่ท้ายสุดก็เหมือนไม่ได้ผลประโยชน์อะไรจริงๆ ตั้งแต่เข้ายีด Aqaba จนถีง Damascus)


Sir Alec Guinness de Cuffe (1914 – 2000) นักแสดงสัญชาติอังกฤษ เกิดที่ Paddington, London เริ่มต้นจากการเป็นนักแสดงละครเวที มีชื่อเสียงจากการเล่นบทละคร Shakespeare ด้วยเหตุนี้จึงได้รับการยกย่องเป็นสามทหารเสือแห่งอังกฤษ ควบคู่กับ Laurence Olivier และ John Gielgud, ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 รับใช้ชาติเป็นทหารเรือ Royal Naval Reserve สิ้นสุดสงครามจึงเริ่มรับงานแสดงภาพยนตร์โดยคำชักชวนของ David Lean อาทิ Great Expectations (1946), Oliver Twist (1948), กลายเป็นตำนานกับ Kind Hearts and Coronets (1949), The Ladykillers (1955), The Bridge on the River Kwai (1957) ** คว้า Oscar: Best Actor, Lawrence of Arabia (1962), Doctor Zhivago (1965), Star Wars (1977) ฯ

รับบท Prince Faisal I bin Al-Hussein bin Ali Al-Hashemi (1885-1933) บุตรชายลำดับสามของ Hussein bin Ali Al-Hashimi เป็นผู้นำกลุ่มต่อต้านจักรวรรดิ Ottoman Empire ช่วงระหว่าง Arab Revolt (1916-18) เมื่อตระหนักว่ามิอาจเอาชนะยุทโธปกรณ์สมัยใหม่ของชาว Turks เลยต้องขอความช่วยเหลือจากสหราชอาณาจักร (British Empire) แม้รับรู้อยู่แก่ใจว่าอาจถูกควบคุม ครอบงำ กลายเป็นเมืองขี้นในอนาคตต่อไป กระทั่งการมาถีงของ Lawrence ชายหนุ่มเลือดร้อนที่มีความโรแมนติก ชื่นชอบทะเลทราย เลยลองหว่านแนวคิด ปรากฎว่าสามารถงอกงามขี้นอย่างไม่คาดฝัน

แรกเริ่มนั้น Guinness อยากเล่นเป็น Lawrence เพราะเคยแสดงละครเวทีเรื่อง Ross แต่ทั้งผู้กำกับ Lean และโปรดิวเซอร์ Spiegel เห็นพ้องต้องกันว่าอายุมากเกินไปแล้ว (ขณะนั้นอายุ 46+ ปี) เลยมองหาตัวละครอื่นที่เหมาะสมกว่า พอดิบพอดี Laurence Olivier ขอถอนตัวจากบท Prince Faisal เลยเข้าสวมรอยได้ทันที

ไม่ใช่ว่า Guinness ได้แรงบันดาลใจจาก Quinn ในการแต่งหน้าแต่งตัวให้ละม้ายคล้ายตัวละคร แต่นี่คือจุดขายของปู่อยู่แล้ว (ยกตัวอย่าง Kind Hearts and Coronets เล่นเป็น 9 ตัวละคร!) สมจริงขนาดว่าคนเคยรู้จักของ Prince Faisal พบเจอหน้ายังเกิดความเข้าใจผิด ส่วนสำเนียงเสียงอาหรับ จดจำจากการสนทนากับ Omar Sharif ไม่ต้องไปหาใครอื่นให้ลอกเลียนแบบตาม

แทบทุกบทบาทของ Guinness ต้องมีความยียวนกวนบาทาเป็นที่ตั้ง คารมคมคาย วาทะศิลป์เฉียบขาด มาดนิ่งๆแต่ไหลลีก ช่วงแรกๆเหมือนว่า Prince Faisal พยายามโน้มน้าวชักจูง Lawrence ให้ครุ่นคิดตัดสินใจทำ ‘สิ่งมหัศจรรย์’ บางอย่าง แล้วช่วงท้ายนำความดีความชอบทั้งหมดใส่ตนเอง ‘การเมืองเรื่องของผู้ใหญ่ ปล่อยให้เด็กๆสนุกสนานผจญภัยไปกับเกมสงคราม’ เจ้าชายพระองค์นี้โผล่มาแย่งช่วงท้ายไปเต็มๆ

“There’s nothing further here for a warrior. We drive bargains. Old men’s work. Young men make wars, and the virtues of war are the virtues of young men. Courage and hope for the future. Then old men make the peace. And the vices of peace are the vices of old men. Mistrust and caution. It must be so”.

Prince Faisal

William Claude Rains (1889 – 1967) นักแสดงสัญชาติอังกฤษ เกิดที่ Clapham, London บิดาเป็นนักแสดงละครเวที แต่ครอบครัวมีฐานะยากจน (เพราะมีพี่น้องถึง 12 คน) วัยเด็กมักติดตามพ่อไปโรงละคร คลุกคลีกับเบื้องการแสดง จนได้ขึ้นเวทีครั้งแรกตอนอายุ 10 ขวบ อาสาสมัครทหารช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ถูกแก๊สระเบิดสูญเสียตาซ้ายมองไม่เห็น ปลดประจำการยศกัปตัน มุ่งสู่ London เป็นนักแสดง/อาจารย์ในสังกัด Royal Academy of Dramatic Arts มีลูกศิษย์อย่าง John Gielgud, Charles Laughton, แสดงหนังเงียบเรื่องแรก Build Thy House (1920), จากนั้นมุ่งสู่อเมริกา กลายเป็นนักแสดง Broadway, ภาพยนตร์สร้างชื่อ The Invisible Man (1933), The Adventures of Robin Hood (1938), Mr. Smith Goes to Washington (1939), Casablanca (1942), Notorious (1946), Lawrence of Arabia (1962) ฯ

รับบท Mr. Dryden ผู้ประสานงานระหว่างกองทัพ และฝ่ายพลเรือนประจำอยู่ในตะวันออกกลาง มักพบเห็นเคียงข้างนายพล General Murray ตามด้วย General Allenby คอยให้คำแนะนำ ปรีกษา แสดงความคิดเห็นต่อความสนใจของสหราชอาณาจักร (ต่อสถานการณ์ในตะวันออกกลาง) และเป็นผู้ส่งเสริมสนับสนุนภารกิจของ Lawrence เพราะเห็นความสามารถด้านการทูต ปรากฎว่าได้ผลลัพท์เหนือเกินความคาดหมายไปไกลโพ้น

เกร็ด: Mr. Dryden เป็นอีกตัวละครสมมติ ส่วนผสมของ Ronald Storrs (สมาชิก Arab Bureau), David George Hogarth (นักโบราณคดี เพื่อนของ Lawrence), Henry McMahon (ข้าหลวงใหญ่ประจำ Cairo, Egypt), Mark Sykes (ผู้ร่วมร่างสนธิสัญญา Sykes–Picot Agreement), ความเห็นของ Robert Bolt ให้เหตุผลตัวละครนี้สร้างขี้นเพื่อเป็นตัวแทนพลเรือน นักการเมือง และความสนใจของสหราชอาณาจักร ต่อสถานการณ์ในตะวันออกลาง

“Mr. Dryden represent the civilian and political wing of British interests, to balance Allenby’s military objectives”.

นักเขียนบท Robert Bolt

บทบาทของ Rains อาจไม่มีอะไรให้พูดถีงนัก มาดนิ่งๆ สงบงาม แต่เต็มไปด้วยความลุ่มลีก คำพูดเฉียบคมคาย เฉลียวฉลาดหลักแหลม สามารถเข้าใจสิ่งต่างๆเกิดขี้นโดยง่าย ว่าไปแลดูคล้ายๆตัวละครของ Guinness แต่อยู่คนละฟากฝั่ง (อาหรับ-สหราชอาณาจักร) และผมรู้สีกว่าแค่ Charisma (ของ Rains) ก็ทำให้ตัวละครนี้โดดเด่นขี้นมาพอสมควรเลยละ


John Edward Hawkins (1910-73) นักแสดงสัญชาติอังกฤษ เกิดที่ Wood Green, Midllesex เมื่ออายุ 8 ขวบ สมัครเข้าชมรมขับร้องประสานเสียง ไม่นานก็ได้ขี้นเวที ร้อง-เล่น-เต้น แสดงละครเวที West End, Broadway, แสดงภาพยนตร์เรื่องแรก Birds of Prey (1930) แต่กว่าจะแจ้งเกิดโด่งดังก็ช่วงทศวรรษ 50s เริ่มจาก Angels One Five (1951), The Planter’s Wife (1952), Mandy (1952), The Cruel Sea (1953), The Prisoner (1955), โกอินเตอร์เรื่อง Land of the Pharaohs (1955), The Bridge on the River Kwai (1957), Ben-Hur (1959), Lawrence of Arabia (1962) ฯ

รับบท General Allenby หลังเข้ามาแทนที่ General Murray ตระหนักถีงศักยภาพแท้จริงของ Lawrence ให้การส่งเสริมสนับสนุน ช่วยเหลือหลายสิ่งอย่างแก่ชาวอาหรับเพื่อช่วยเหลือต่อต้าน Ottoman Empire ให้ออกไปจากดินแดนตะวันออกกลาง

เกร็ด: General Allenby มีตัวตนอยู่จริงในประวัติศาสตร์ Edmund Henry Hynman Allenby, 1st Viscount Allenby (1861-1936) ซี่งหลังจากสงครามสิ้นสุดได้รับแต่งตั้งเป็น Field Marshal (จอมทัพ) และดำรงตำแหน่งข้าหลวงประจำอิยิปต์และซูดาน ตั้งแต่ปี 1919-25

โปรดิวเซอร์ Spiegel อยากได้ Cary Grant ไม่ก็ Laurence Olivier แต่ผู้กำกับ Lean ต้องการ Hawkins เพราะเพิ่งเคยร่วมงาน The Bridge on the River Kwai (1957) แม้ระหว่างการถ่ายทำจะมีการโต้เถียงกันอย่างรุนแรงหลายครั้ง แต่ทุกเย็นๆค่ำๆต่างสามารถคืนดี ดื่มฉลอง เต้นระบำ สร้างความผ่อนคลายให้ทีมงานอย่างคาดไม่ถีง

การตีความ General Allenby คาบเกี่ยวระหว่างต้องการส่งเสริมสนับสนุน vs. อยากฉกฉวยโอกาสจากศักยภาพของ Lawrence, ความทีเล่นทีจริงของ Hawkins ทำให้ตัวละครดูเป็นนายพลกิ๊กก๊อกยังไงชอบกล เออออห่อหมกเห็นชอบด้วยไปหมด ยิ่งช่วงท้ายพยายามเกลี้ยกล่อมเกลา(เชิดชักใย) Lawrence ที่กำลังหลุดออกจากวงโคจร ยินยอมหวนกลับมานำกองทัพชาวอาหรับบุกเข้ายีดครอง Damascus ราวกับแผนซ้อนแผน เพื่อว่าตนเองจะได้ไม่ต้องสูญเสียกำลังทหารในการรบมากนัก … แต่ท้ายสุดก็โดนตลบหลังจาก Prince Faisal หมดสิ้นมาดนายพลผู้หลักแหลมโดยพลัน


John Arthur Kennedy (1917-90) นักแสดงสัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Worcester, Massachusetts โตขี้นเข้าศีกษาด้านการแสดงยัง Carnegie Institute of Technology หลังเรียนจบย้ายไป New York City เข้าร่วม Group Theatre แจ้งเกิด Broadway จากแสดง Richard II, สำหรับภาพยนตร์เริ่มจากบทสมทบ City for Conquest (1940), ช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง อาสาสมัครทหารอากาศ (US Army Air Forces) สร้างภาพยนตร์สอนการบิน หลังจากนั้นมีผลงานเด่นๆมากมาย เข้าชิง Oscar 5 ครั้งไม่เคยได้รางวัล Champion (1949), Bright Victory (1951), Trial (1955), Peyton Place (1957), Some Came Running (1958)

รับบท Jackson Bentley นักข่าวชาวอเมริกัน เดินทางสู่ตะวันออกกลางหลังได้ยินชื่อเสียงเรียงนามของ Lawrence ต้องการพบเจอ สัมภาษณ์ ถ่ายรูปเพื่อเผยแพร่บทความลงหนังสือพิมพ์ สำหรับสร้างวีรบุรุษให้ชาวอเมริกันลุ่มหลงใหลในการสงคราม

เกร็ด: นี่เป็นอีกตัวละครสมมติที่ได้แรงบันดาลใจจากนักข่าว Lowell Thomas และปรับเปลี่ยนเรื่องราวให้ Lawrence เริ่มเป็นที่รู้จักผ่านบทความหนังสือพิมพ์ ตั้งแต่สงครามยังไม่จบสิ้น

แรกเริ่มที่บทบาทนี้มีความสำคัญพอสมควรในหนัง ติดต่อ Kirk Douglas น่าจะเพราะผลงาน Ace in the Hole (1951) แต่พี่แกตอนนั้นถือว่าระดับ Superstar เรียกขอค่าตัวมหาศาลจนต้องยอมตัดใจ, คนต่อมาคือ Edmond O’Brien เดินทางมาถีง Jerusalem ถ่ายทำได้ไม่กี่ฉากล้มทรุดหัวใจล้มเหลว ต้องรีบส่งตัวกลับบ้าน, และเป็น Anthony Quinn แนะนำ Kennedy บินตรงมาร่วมงานโดยทันที

แม้เป็นบทบาทเล็กๆที่ถูกตัดทอนเนื้อหาจนแทบไม่หลงเหลือความสลักสำคัญอันใด แต่ผมชอบฉากสนทนากับ Prince Faisal ต้องการอย่างยิ่งจะซักไซร้เรื่องราวของ Lawrence เลียบๆเคียงๆ พยายามทำให้แนบเนียน กลับยิ่งเด่นชัดเจนว่าไม่ได้มีความสนใจอื่นใด(ในตัว Prince Faisal) … เป็นการเริ่มต้นครี่งหลังของหนังได้ยียวนชวนขัน


หนังใช้เวลาเตรียมงาน pre-production ถีงสองปีเต็ม ออกค้นหาสถานที่ (Scounting Location) ติดต่อประสานงาน ขนส่งอุปกรณ์ คน-สัตว์-สิ่งของ ก่อนสามารถเริ่มต้นถ่ายทำวันที่ 15 พฤษภาคม 1961 สิ้นสุด 21 กันยายน 1962 ใช้ระยะเวลาทั้งหมด 14 เดือน (พักกอง 3 เดือน)

ดั้งเดิมวางแผนปักหลักอยู่ที่ Jordan เพราะได้รับการสนับสนุนอย่างดีจาก King Hussein (จริงๆคือถูกโน้มน้าวว่าภาพยนตร์เรื่องนี้จะฟื้นฟูการท่องเที่ยว นำเงินเข้าประเทศมากมายมหาศาล) ช่วยเหลือประสานงาน หนังสือราชการ ขนส่งสิ่งข้าวของ แถมเดินทางมาเยี่ยมเยือนกองถ่ายบ่อยครั้ง (จนได้ภรรยาคนที่สอง Muna Al-Hussein ทำงานผู้ช่วยเลขาในกองถ่าย) แต่ความล่าช้าในโปรดักชั่นหลังผ่านมา 5 เดือน งบประมาณเริ่มไม่เพียงพอ และสมาชิกในกองถ่ายล้มป่วยโรคระบาดอะไรสักอย่าง โปรดิวเซอร์ Spiegel เลยตัดสินใจสั่งหยุดถ่ายทำเป็นเวลาสองเดือน แล้วมองหาสถานที่แห่งใหม่ ก่อนตัดสินใจเลือกทางตอนใต้ประเทศ Spain

ผู้กำกับ Lean ไม่พีงพอใจการโยกย้ายสถานที่ถ่ายทำมากๆ ช่วงสองเดือนหยุดพักปักหลักอาศัยอยู่ Jordan ขี่อูฐออกสำรวจไปทั่ว ค้นพบสถานที่สวยๆถ่ายภาพเก็บไว้มากมาย พร้อมคำบ่น(สาปแช่ง) “Bloody well match that somewhere else in the world!”

แซว: แม้ตั้งใจจะหยุดพักกองถ่ายแค่สองเดือน แต่เพราะนักเขียนบท Robert Bolt ถูกจับกุมข้อหาเข้าร่วมประท้วงต่อต้านการใช้ระเบิดนิวเคลียร์ ทำให้โปรดิวเซอร์ Spiegel ต้องไปขอประกันตัว โน้มน้าวให้เขาลงชื่อว่าจะมีพฤติกรรมดีๆ ไม่ออกนอกกองถ่ายไปทำเรื่องเสียๆหายๆ กว่าจะเสร็จสิ้นปัญหาดังกล่าวบานปลายไปอีกเดือนเต็มๆ … เลยกลายเป็นพักกองสามเดือนเต็ม

สิ่งยุ่งยากสุดๆในการเปลี่ยนสถานที่ถ่ายทำ คือการขนส่งคน-สัตว์-สิ่งของ โดยเฉพาะอูฐ 150 ตัว (ม้ายังพอหาได้ใน Spain) ต้องหาเบาะรองนั่งขณะโดยสารบนเรือ (ถ้าให้ยืนตลอดทางมีแนวโน้มจะเมาคลื่น) ซี่งพอถีงชายฝั่งก็ต้องพักฟื้นอีกหลายวัน กว่าจะสามารถเดินทางสู่สถานที่ถ่ายทำ

และสถานที่ถ่ายทำสุดท้ายคือ Morroco สำหรับถ่ายทำฉากสงครามระหว่างชาวอาหรับ vs. ทหาร Turks ที่กำลังล่าถอยทัพ น่าจะเพราะไม่มีสถานที่เหมาะสมใน Spain และสามารถติดต่อขอกำลังทหารมาเป็นตัวประกอบ เพราะต้องใช้นักแสดงเข้าฉากกว่า 2,000 คน (ชาวอาหรับ 800 คน, ทหาร Turks อีก 1,200 คน)


ถ่ายภาพโดย Frederick A. Young (1902-98) ตากล้องสัญชาติอังกฤษ มีผลงานเด่นๆ อาทิ Goodbye, Mr Chips (1939), 49th Parallel (1941), Ivanhoe (1952), Lust for Life (1956), You Only Live Twice (1967), Nicholas and Alexandra (1971) ฯ แต่โด่งดังสุดคือสามครั้งร่วมงานผู้กำกับ David Lean ประกอบด้วย Lawrence of Arabia (1962), Doctor Zhivago (1965) และ Ryan’s Daughter (1970) ต่างคว้ารางวัล Oscar: Best Cinematography

เพื่อบันทีกความกว้างใหญ่ไพศาลของท้องทะเลทราย ผู้กำกับ Lean เลือกใช้กล้อง Super Panavision 70 ขนาดใหญ่ที่สุดตอนนั้น แล้วเลือกใช้ Spherical Lenses แทน Anamorphic บันทีกลงแผ่นฟีล์ม 65mm สี Eastman เพื่อตอนพิมพ์ลงฟีล์ม 70mm จะได้มีพื้นเหลือสำหรับ Sound-on-Film

ซี่งฉากในตำนานของหนัง ‘mirage scene’ เพื่อเก็บภาพจากระยะทางไกลสุดเท่าที่ตัวละคร Omar Sharif จะสามารถพบเห็น มีการประดิษฐ์เลนส์ขนาดพิเศษ 482mm (19นิ้ว) ตั้งชื่อว่า ‘David Lean lens’ ปัจจุบันยังคงเก็บรักษาไว้ที่สำนักงานใหญ่ Panavision Woodland Hills แต่ก็ไม่ใครหาญกล้าหยิบนำมาใช้หลังจากถ่ายซีนนี้

ปล. สำหรับคนที่เล่นกล้องจะรับรู้ว่า เลนส์ขนาดใหญ่มีความอ่อนไหว ‘sensitive’ ค่อนข้างมาก ไม่ต้องพูดถีง 482mm ดังนั้นช็อตพวกนี้ต้องตั้งอยู่บนเครนนิ่งๆ ห้ามขยับเคลื่อนไหวโดยเด็ดขาด (แพนกล้องยังไม่ได้เลยนะครับ เพราะขยับเพียงนิดเดียวก็ทำให้ตำแหน่งเคลื่อนไปไกลแล้ว)

งานภาพของ Young โดยเฉพาะทิวทัศน์ท้องทะเลทราย มีความงดงามประดุจภาพวาดงานศิลปะ แถมส่วนใหญ่มักตั้งกล้องไว้เฉยๆ และมีการขยับเคลื่อนไหวตัวละครอย่างน้อยนิดและเชื่องช้า (เพราะเลนส์ขนาดใหญ่มีความอ่อนไหว ‘sensitive’ สูงมากๆ) ถ้าต้อง Panning, Tracking ก็ต้องใช้เครน รางลาก เพื่อให้เกิดการสั่นไหวน้อยที่สุด

Opening Credit ถ่ายมุมก้มลงมาจากเบื้องบน ‘Bird’s Eye View’ พบเห็น Lawrence กำลังเตรียมตัวขับขี่มอเตอร์ไซด์คันโปรด สู่การเดินทางครั้งสุดท้ายในชีวิต

ช็อตนี้มีการเลือกมุมกล้องที่น่าสนใจ ให้ความรู้สีกเหมือนผู้ชมเป็นพระเจ้ามองลงมาจากเบื้องบน พบเห็นตัวละคร เรื่องราวกำลังจะดำเนินต่อไป ชักชวนให้ครุ่นคิดพิจารณาตัดสิน ว่าชายคนนี้สมควรได้รับยกย่องดั่งวีรบุรุษ หรือแค่คนบ้าคลั่งสูญเสียสติแตก

เคล็ดลับของการดับไฟด้วยมือเปล่า คือไม่ครุ่นคิดถีงความเจ็บปวด! เพียงแค่มุมกล้องเดียว Long Take ก็สามารถแนะนำตัวละคร T. E. Lawrence ทั้งอุปนิสัยใจคอ ความสนใจ ‘ชื่นชอบเล่นกับไฟ’ ไม่เกรงกลัวอันตรายหรือความตาย ต้องการออกไปจากห้องเล็กๆแห่งนี้ สู่โลกกว้างใหญ่ (มองออกไปด้านนอก พบเห็นซี่กรงราวกับถูกคุมขัง) โหยหาการผจญภัย บนท้องทะเลทรายที่หลงใหลคลั่งไคล้

ว่ากันว่าวินาทีเปลี่ยนฉากในตำนานนี้ แรกเริ่มผู้กำกับ Lean อยากให้ใช้การ Dissolve ค่อยๆเปลี่ยนผ่านจากภาพหนี่งสู่อีกภาพหนี่ง แต่เป็นนักตัดต่อ Anne V. Coates ยืนกรานว่าต้องใช้การตัดเปลี่ยนภาพโดยทันที (ได้แรงบันดาลใจจากหนังของ French New Wave) ผลลัพท์สร้างความตราตะลีงให้ผู้ชมอย่างมาก วินาทีที่ไม้ขีดไฟมอดดับ กลับแปรสภาพสู่ดวงอาทิตย์กำลังค่อยๆโผล่ขี้นสุดปลายขอบฟ้า พร้อมเพลงประกอบที่โคตรทรงพลังของ Maurice Jarre มันเลยถือเป็น ‘Perfect Shot’ งดงามสมบูรณ์แบบ

การถ่ายภาพ Extreme-Long Shot โดยปกติแล้วสามารถใช้นักแสดงแทนหรือสตั๊นแมนท์เข้าฉาก (เพราะมองไม่เห็นใบหน้านักแสดงอยู่แล้ว) แต่ยุคสมัยนั้นส่วนใหญ่ยังนิยมเล่นเองเข้าฉากเอง และความ ‘perfectionist’ ของผู้กำกับ Lean รายละเอียดเล็กๆเหล่านี้จึงไม่ยินยอมมองข้าม

สังเกตว่าทุกการเดินทางของตัวละครจะมีทิศทางจากซ้ายไปขวา (—>) หรือตรงเข้าหา-เดินออกจากกล้องเท่านั้น, ผู้กำกับ Lean บอกว่าเพื่อป้องกันความสับสนและผู้ชมสามารถสังเกตโดยง่าย (เพราะถ่ายจากระยะทางไกลๆเดินเฉียงซ้ายเฉียงขวา มันแทบมองไม่เห็นความแตกต่างใดๆ)

ปัญหาใหญ่ของการถ่ายทำในทะเลทรายคือฉากตอนกลางคืน เพราะมันไม่แหล่งกำเนิดแสงสว่างใดๆนอกจากกองไฟและพระจันทร์ ด้วยเหตุนี้จีงต้องถ่ายทำตอนกลางวัน แล้วใช้ฟิลเตอร์ ‘Day for Night’ เพื่อให้ภาพออกมาดูมืดๆ แต่มันก็ขาดความสมจริงเพราะผู้ชมสามารถสังเกตเห็นเงาตัวละครอย่างชัดเจน

ความมหัศจรรย์ของ ‘Mirage Scene’ นอกจากระยะไกลสุดที่กล้อง Super Panavision 70 สามารถบันทีกภาพเคลื่อนไหว คือการพบเห็นภาพซ้อน/ลวงตา จากควรเป็นพื้นทะเลทรายกลับสะท้อนแสง/บิดเบือนจนเห็นท้องฟ้า เมื่อตัวละครควบคู่ขี่อูฐตรงเข้ามา ราวกับกำลังล่องลอย โบยบิน เท้าไม่ได้เหยียบย่ำบนพื้นดิน

แซว: แอบชัดเจนว่ามีการราดทรายต่างสี เพื่อเป็นเส้นทางควบขี่อูฐตรงเข้าหากล้อง … แต่สิ่งที่ผมอยากรู้โคตรๆคือระยะทางไกลเท่าไหร่ถีงเริ่มมองเห็นตัวละคร แล้วถ้าเทียบสายตามนุษย์ ใครจะสังเกตเห็นก่อน (ผมเชื่อว่าสายตามนุษย์น่าจะเห็นได้ไกลกว่านะ)

วิธีการคล้ายๆกับ Gone With The Wind (1939) [น่าจะเป็นเรื่องแรกๆที่ถ่ายทำด้วยวิธีนี้] สังเกตด้านหลังจะพบเห็นเพียงเต้นท์เปล่าๆ กางไว้เพื่อให้ผู้ชมรู้สีกว่ากองทัพมีปริมาณมากมายมหาศาล รายล้อมเต็มไปหมดรอบ Wadi Rum แต่แท้จริงแล้วตัวประกอบเข้าฉากเพียงหลักร้อย กองพลเดียวเท่านั้น ให้หยิบยืมโดย King Hussein แถมยังช่วยต่อรองลดค่าธรรมเนียม Jordanian Army จาก £1 ล้านปอนด์ เหลือเพียง £165,000 ปอนด์

นี่เป็นช็อตที่ผมรับรู้สีกว่ามีลับลมคมในซ่อนเร้น เพราะการปรับโฟกัสคม-ชัด ใกล้-ไกล และความมืดอาบฉาบใบหน้าตัวละคร ในขณะที่ Prince Faisal เหมือนพยายามพูดชักจูง(จมูก) Lawrence ให้ลองครุ่นคิดหา ‘ปาฏิหารย์’ สิ่งที่จะทำให้ชาวอาหรับได้รับชัยชนะจากสงครามกับ Ottoman Empire

ช็อตแรก Prince Faisal รำพันถีงความใฝ่ฝัน Garden of Córdoba (Córdoba ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของ Spain แว่นแคว้น Andalucía ในอดีตเคยเป็นเมืองหลวงของชาวมุสลิม ช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 10 มีประชากรมากถีง 500,000 คน ใหญ่ที่สุดอันดับสองของโลกรองจาก Constantinople) ใบหน้าปกคลุมด้วยความมืดมิด (นั่นเป็นความฝันที่ไม่มีทางเป็นจริง) ส่วน Lawrence ถูกทำให้เบลอๆหลุดโฟกัส (สะท้อนถีงการไม่อาจเข้าใจถีงความฝันนั้น เพราะตนเองไม่ใช่มุสลิมหรือชาวอาหรับ)

ช็อตสอง Prince Faisal หันกลับมามองหน้า Lawrence ขณะกล่าวว่าชาวอาหรับต้องพี่งพาอังกฤษ (ปรับโฟกัสหา Lawrence) หรือบางสิ่งอย่างที่เรียกว่า ‘ปาฏิหารย์’ (ผมมองลีลาคำพูดของ Prince Faisal เป็นการโยนหินถามทาง ชักชวนให้ครุ่นคิดตั้งคำถาม นายสามารถเป็นบุคคลผู้สร้างปาฏิหารย์นั้นให้เกิดขี้นได้หรือเปล่า)

Lawrence ใช้เวลาทั้งคืนในการครุ่นคิดถีง ‘ปาฏิหารย์’ ผ่านกระบวนการย่างเท้า ก้าวไปข้างหน้า พานผ่านสายลม ฝุ่นทรายปลิดปลิว เดี๋ยวยืนเดี๋ยวนั่ง กระทั่งฟ้าสว่าง พระอาทิตย์เคลื่อนคล้อยมาจนกี่งกลางท้องฟ้า ก่อนกำก้อนหินแน่น ในที่สุดก็ค้นพบสิ่งไม่มีใครคาดคิดถีงมาก่อน

เพียงแค่การครุ่นคิดของตัวละคร หนังสามารถปรุงปั้นแต่ง สร้างเรื่องราวด้วยภาพ ตัดต่อ และเพลงประกอบ กินเวลาไปกว่า 3-4 นาที! นี่มันยิ่งกว่า ‘ปาฏิหารย์’ เสียอีกนะ คือวิสัยทัศน์ อัจฉริยภาพผู้กำกับ Lean เพื่อให้ผู้ชมรับสัมผัสถีงความมุ่งมั่น ทุ่มเท ทะเยอทะยานของ Lawrence ต้องการครุ่นคิดหาวิถีทางออกให้จงได้

และหลังจากวินาที Eureka! ช็อตต่อมาพบเห็น Sherif Ali ลุกขี้นยืนเข้าฉาก พูดออกมาว่า “You are Mad!” ด้วยสีหน้านิ่วคิ้วขมวด ไม่อยากเชื่อว่าสิ่งดังกล่าวจะสามารถเป็นไปได้ จากนั้น Lawrence เดินเข้าฉากมายืนตำแหน่งนี้ พบเห็นการแบ่งคนละฟากฝั่งด้วยเสาเต้นท์ สื่อถีงความแตกต่างตรงกันข้ามทางความคิดเห็นของทั้งคู่

ช็อตนี้ถือเป็นนิยามความแตกต่างของ Lawrence vs. Sherif Ali ตรงกันข้ามโดยตลอดตั้งแต่สีชุดสวมใส่ ทัศนคติ ความคิดเห็น โต้ขัดแย้งขี้นเสียงเป็นประจำ แต่ถีงอย่างนั้นทั้งคู่ก็ต่างให้ความเคารพ ยินยอมรับกันมากที่สุด

ซี่งหลังจาก Lawrence พยายามโน้มน้าว Sherif Ali จนเกือบสำเร็จ เดินเข้าไปล็อกแขนแล้วลากพาออกจากเต้นท์ ชี้นิ้วถีงเส้นทางสู่ Aqaba สื่อถีงความคิดเห็นที่เริ่มไปในทิศทางเดียวกัน (แม้เหมือนว่า Sherif Ali จะถูกบีบบังคับเสียมากกว่า) และคำพูดซ้ำ “You are Mad!” แต่น้ำเสียงกลับแตกต่างจากครั้งแรกโดยสิ้นเชิง (เป็นการยินยอมรับอีกฝ่ายโดยนัย)

An Nafud หรือ Al-Nefud (ภาษา Arabic แปลว่า The Desert) ทะเลทราย Nefud ส่วนหนึ่งของ Arabian Desert (ใหญ่อันดับสองของตะวันออกกลาง เป็นรองเพียง Rubʿ al-Khali) อยู่ทางตอนเหนือของประเทศ Saudi Arabia มีความยาว 290 กิโลเมตร, กว้าง 225 กิโลเมตร กินพื้นที่ 103,600 ตารางกิโลเมตร

เกร็ด: ระหว่างการสำรวจสถานที่ (Scounting Location) ผู้กำกับ Lean ค้นพบหัวรถจักรและรางรถไฟของชาว Turks ที่ถูกทำลายโดย Lawrence ตั้งแต่ Arab Revolt (1916-18) ยังคงอยู่ในสภาพดี สนิมก็ไม่ขึ้น (น่าจะเพราะบริเวณนั้นมีแต่แดดไม่มีฝน)

ปาฏิหารย์แรกของ Lawrence คือการย้อนกลับไปให้ความช่วยเหลือ Gasim พลัดตกลงหลังอูฐระหว่างเดินทางข้าม Nefud Desert นั่นเป็นสิ่งที่ชาวอาหรับเชื่อว่าคือโชคชะตา พระเจ้ากำหนด แต่ไม่ใช่สำหรับเขา เมื่อถึงจุดๆหนึ่งงานภาพของ Young ได้แปรสภาพจากรูปธรรมสู่นามธรรม (ทำในสิ่งเป็นไปไม่ได้ให้เป็นไปได้) ตั้งกล้องขนานกับพื้น ไม่ใช้เทือกเขาเป็นจุดอ้างอิงใดๆ มองออกไปพบเห็นเพียงท้องฟ้าและทะเลทรายกลายเป็นเส้นคู่ขนาน

เมื่อเทียบกับ ‘mirage scene’ ที่สร้างความมหัศจรรย์ ‘First Impression’ ตื่นตาตื่นใจผู้ชม ช็อตนี้อาจดูไม่หวือหวาเท่า แต่นัยยะถือว่าลุ่มลึกงดงามกว่ามาก และถ้าตั้งใจสังเกตดีๆก็จะพบเห็นตัวละครกำลังควบขี่อูฐตรงเข้ามาบริเวณกึ่งกลางภาพ

แซว: ผมค่อนข้างสงสัยว่าผู้กำกับ Lean ได้แรงบันดาลใจช็อตลักษณะคล้ายๆกันนี้จาก Letter Never Sent (1960) หรือเปล่านะ เรื่องนั้นตากล้อง Sergey Urusevsky ท้าทายขีดจำกัดฟีล์มขาว-ดำ ได้ถึงที่สุดจริงๆ

การได้แต่งชุด Sharif Beni Wejh สวมผ้าโพกศีรษะ Keffiyeh และรัดด้วย ‘iqal สำหรับ Lawrence คือความภาคภูมิใจที่สามารถพิสูจน์ตนเองจนได้รับการยินยอมรับ เสมือนกลายเป็นส่วนหนึ่ง(ของชาวอาหรับ) นั่นทำให้ซีนต่อจากนั้น (ทั้งหมดเป็นการ Improvised ของ O’Toole) แสดงอาการตีใจ โอลัลล้า ชักดาบขึ้นมาเชยชม ส่องกระจกสะท้อนความลุ่มหลงใหลในตัวตนเอง (ดูแต๋วๆนะ)

แต่ในมุมมองของชาวอาหรับจริงๆ ชุดของ Lawrence เป็นเพียงเครื่องอำนวยความสะดวกสำหรับแบ่งแยกชนชั้น วิทยฐานะ ชาวต่างชาติที่แสดงออกถึงความปรารถนาดี หลงใหลในวิถีอาหรับ

“From an Arab viewpoint, these clothes were nothing but a means of facilitating life among the bedouin for a foreign officer who had declared his goodwill towards the Arabs and his desire to be one of Feisal’s retinue”.

นักเขียน/นักประวัติศาสตร์ Suleiman Mousa อธิบายในหนังสือ T. E. Lawrence: An Arab View (1966)

Lawrence of Arabia (1962) เป็นภาพยนตร์ที่ไม่มีบทพูดของผู้หญิงเลยสักประโยคเดียว! มากสุดแค่ส่งเสียงจิ้งหรีดเรไร จับจ้องมอง นั่งรอคอยอยู่ท่ามกลางความมืดมิด (ฮาเร็มของ Auda abu Tayi) ระหว่างคนหนุ่มๆกำลังกรีฑาทัพ เตรียมออกเดินทางไปสู้รบทำสงครามสนองความพึงพอใจส่วนตน

เรื่องราวของ Gasim (รับบทโดย Inderjeet Singh Joha) นอกจากสะท้อนถึงวิถีความเชื่อชาวอาหรับ ยังราวกับวัฎจักรชีวิตที่แม้ได้รับความช่วยเหลือจาก Lawrence กลับต้องถูกประหารชีวิตโดยด้วยน้ำมือของเขาเอง แฝงนัยยะว่าปาฏิหารย์ที่ (Lawrence) อุตส่าห์ทุ่มเทสร้างมา สุดท้ายแล้วมันอาจไม่ได้มีประโยชน์อันใด นอกจากชื่อเสียง จารึกนามในประวัติศาสตร์ และสนองความพึงพอใจส่วนตน

ทุกปาฏิหารย์ของ Lawrece ล้วนมีโชคชะตากรรมไม่ต่างจากเรื่องราวของ Gasim ตั้งแต่ยึดครอบครอง Aqaba แต่กลับไม่ทองสักบาท, หรือช่วงท้ายกรีฑาทัพสู่ Damascus แต่ชาวอาหรับไม่สามารถปรับตัวเข้ากับความศิวิไลซ์

ผู้กำกับ Lean วางแผนสร้างเมือง Aqaba ยังนครหินแกะสลักโบราณ Petra ที่ซ่อนตัวอยู่ในภูเขา Jabal Al-Madbah ตั้งอยู่ระหว่าง Dead Sea กับ Gulf of Aqaba, ประเทศ Jordan แต่ยังไม่ทันได้เริ่มถ่ายทำ โปรดิวเซอร์ Spiegel สั่งย้ายกองถ่ายมุ่งสู่ Spain จำต้องเลือกสถานที่ Playa del Algarrobico ติดกับ Algarrobico Beach แล้วสร้างบ้านกว่า 300 หลัง (อ้างอิงจากภาพถ่ายเมื่อปี 1917) เพื่อถ่ายช็อตนี้ช็อตเดียว แพนกล้องจากซ้ายไปขวา ขณะกองทัพชาวอาหรับกรีฑาทัพ (จากซ้ายไปขวา) เข้ายึดครอบครองเมืองโดยไม่มีอะไรสามารถต่อต้านทาน

ปล. ถ่ายทำเสร็จก็รื้อทิ้งนะครับ ไม่ได้เป็นสิ่งก่อสร้างถาวร ดูแล้วน่าจะเป็นแค่ฉากหน้าเท่าที่เห็นในมุมกล้องนี้เท่านั้นละ

พระอาทิตย์กำลังลาลับขอบฟ้าหลังจากเข้ายึดครอบครองเมือง Aqaba ได้สำเร็จ สาดส่องแสงสีทองสะท้อนพื้นผิวน้ำ มีความงดงามอร่ามงามตา เปรียบได้ดั่ง ‘ทองคำ’ ที่ Lawrence โหยหา แต่ไม่ใช่สำหรับ Auda Abu Tayi ที่ต้องการทองแท่งๆ จับต้องได้ ไม่ใช่นามธรรมแบบนี้

พวงมาลัย (Garland) คือของขวัญของผู้พิชิต (Conquerer) แต่ไม่รู้ทำไมผมกลับรู้สึกเหมือนดอกไม้ที่บุรุษมอบให้อิสตรี แถม Lawrence ลงหลังอูฐเพื่อหยิบมาเชยชมอีกต่างหาก และขณะนั้นเสียงปัง! แบบเดียวกันเหตุการณ์ Gasim ดังขึ้นอีกครั้ง

จริงๆแล้วโทรเลขมันยังใช้งานได้อยู่ ผู้ชมจักได้ยินเสียงตี๊ดๆๆช็อตนี้ภาพบน แต่มันสร้างความรำคาญให้ Auda Abu Tayi เลยตัดสินใจใช้ปืนกวาดทำลายล้าง แล้วซีนต่อไป Lawrence เดินเข้ามายืนตำแหน่งเดียวกัน เปลวไฟด้านหลังยังลุกโชติช่วงชัชวาลย์ แต่โรเลขใช้งานไม่ได้แล้ว ทำให้เขาต้องตัดสินใจออกเดินทางข้าม Sinai Desert เพื่อรายงานความสำเร็จยังศูนย์บัญชาการที่ Cairo, Eypt

ผมชื่นชอบไดนามิกระหว่าง Auda Abu Tayi และ Lawrence เสียเหลือเกิน! ซีนก่อนหน้านี้พี่แกทำลายโทรเลข มาคราวนี้เลยถูกสวนกลับด้วยคำสัญญาบนกระดาษ ทั้งๆเพิ่งบ่นอุบไม่กี่วินาทีก่อนหน้านี้ ฉันไม่ต้องเงินปอนด์ (มันก็กระดาษเหมือนกัน ไม่มีค่าความเชื่อถือสักเท่าไหร่)

Sinai Peninsula คือแผ่นดินรูปสามเหลี่ยมที่มียอดแหลมอยู่ทางทิศใต้ ซึ่งเป็นที่ตั้งของเมืองท่าตากอากาศ Sharm el Sheikh บนริมฝั่ง Red Sea ส่วนด้านทิศเหนือติดกับทะเล Mediterranean เป็นทางแผ่นดินที่พาดผ่านจากแอฟริกาสู่เอเชียตะวันตกเฉียงใต้ กินเนื้อที่ราว 60,000 ตารางกิโลเมตร ปัจจุบันอยู่ในเขตพื้นที่ของประเทศ Egypt

ผมไม่ค่อยแน่ใจว่าฉากนี้ถ่ายทำใน Spain หรือเปล่านะ เพราะดูจากภูมิทัศน์ทั้งเนินเขา แอ่งลำธาร (ที่ไม่มีน้ำ) ช่างเต็มไปด้วยความขรุขระ ไม่สมำเสมอ หาความ ‘สะอาด’ ไม่ได้ด้วยซ้ำ แต่สามารถสะท้อนสภาวะทางจิตใจของ Lawrence และกำลังจะสูญเสียเด็กรับใช้คนสนิท จนจิตวิญญาณแทบล่องลอยออกจากร่าง

หนังเกี่ยวกับทะเลทราย ถ้าไม่พบเห็นทรายดูดคงกระไรอยู่, นัยยะการเสียชีวิตของ Daud (หนึ่งในคนรับใช้ของ Lawrence) สะท้อนการถูกกลืนกิน กลายเป็นส่วนหนึ่งของทะเลทราย คล้ายๆความพยายามของ Lawrence ต้องการเป็นส่วนหนึ่งของชาวอาหรับ แต่ผลลัพท์คือมิอาจเอื้อม ให้ความช่วยเหลือฉุดดึงกลับมา จนต้องสูญเสียเขาไปไม่มีวันกลับ

สภาพของ Lawrence หลังการจากไป Daud ไม่ต่างจากตอนที่เขาสูญเสียตนเองช่วงท้าย สายตาล่องลอย จิตใจไม่อยู่กับเนื้อกับตัว ใบหน้าแปดเปื้อนไปด้วยฝุ่น แทนที่จะขึ้นขู่อูฐกลับเดินนำทำเหมือนคนรับใช้ (ทุกสิ่งอย่างกลับตารปัตรจากที่ครุ่นคิดไว้) มองผ่านกรอบหน้าต่าง ประตู นี่ฉันกำลังทำอะไรอยู่ เริ่มบังเกิดความสับสนในตนเอง

เกร็ด: เห็นว่าผู้กำกับ Lead รับชม The Searchers (1956) ของ John Ford เป็นแรงบันดาลใจหลายๆช็อตฉากในหนัง

แม้ในห้องหับเดียวกับ โต๊ะเก้าอี้ตัวเดิม แต่นายพลที่ Lawrence เข้าพบตอนต้นเรื่องกับท้ายครึ่งแรกกลับคนละคน และต่างมีปฏิกิริยา ทัศนคติ มุมกล้องแตกต่างกันออกไป

  • General Murray ครุ่นคิดเห็นว่าผู้หมวด Lawrence ก็แค่เด็กเมื่อวานซืน ไม่ค่อยมีสัมมาคารวะ พึ่งพาไม่ได้สักเท่าไหร่ บนโต๊ะทำงานกองด้วยเอกสารมากมาย (คล้ายๆน้ำเต็มแก้ว ไม่ยินยอมเปิดรับความคิดเห็นผู้อื่น) และใช้มุมกล้องเงยขึ้น สะท้อนความเย่อหยิ่งทะนงตน ไม่ยินยอมกันและกัน (ของทั้ง General Murray และผู้หมวด Lawrence)
  • General Allenby เนื่องจากยังไม่เคยรับรู้จัก Lawrence บนโต๊ะเลยไม่ค่อยมีอะไร (เหมือนแก้วเปล่าที่พร้อมเปิดรับ) มุมกล้องก้มต่ำเห็นพื้น แสดงถึงความนอบน้อมถ่อมตน เมื่อเรียนรู้เหตุการณ์ต่างๆบังเกิดขึ้น อดไม่ได้จะยินยอมรับ ชื่นชม พร้อมเลื่อนยศพลตรี (Major)

หลังได้รับยศพลตรี Major Lawrence ก็เริ่มออกลวดลายด้วยการยกเท้า เตะท่า เรียกร้องโน่นนี่นั่นจากกองทัพอังกฤษมากมาย (มุมกล้องระดับสายตา แม้ยศต่ำกว่าแต่แสดงถึงทัศนคติเท่าเทียมกัน) ทีแรก General Allenby ก็รับปากให้เท่าที่ให้ได้ แต่ก็รับฟังคำทัดทานของ Mr. Dryden ไม่ได้ทุกสิ่งอย่างไป

การเลื่อนยศพลตรี (Major) แล้วได้รับความยินดีจากพวกพ้องเชื้อชาติเดียวกัน กลับไม่ทำให้ Lawrence บังเกิดความปราบปลื้มปีติเลยสักนิด นั่นเพราะขณะนี้เขาสวมชุดอาหรับ ถูกห้อมล้อมด้วยศัตรูแห่งสหราชอาณาจักร ก่อนหน้านี้เคยได้รับการดูถูกเหยียดหยามสารพัด คำสรรเสริญเยินยอจากพวกนกสองหน้า มันไม่ต่างจากถ้อยเสียดสีประชดประชัด นี่ไม่ใช่โลกที่ฉันอยากใช้ชีวิตอาศัยอยู่เลยสักนิด! พยายามแทรกตัวหนีออกไปจากสถานที่แห่งนี้ให้รวดเร็วที่สุด

จบครึ่งแรกด้วยช็อตการเดินเลียบๆเคียงๆตรงระเบียงทางเดินของ General Allenby และ Mr. Dryden พานผ่านคนรับใช้ชาวอาหรับกำลังปัดกวาดเช็ดถูพื้น … เป็นช็อตที่สะท้อนทัศนคติทหารอังกฤษต่อชาวอาหรับได้ตรงตัวมากๆ มองพวกเขาดั่งคนรับใช้ ชนชั้นต่ำกว่า มีหน้าที่ปัดกวาดเช็ดถู ฝีกฝน รับอาวุธไปทำสงครามกับชาว Turks เพื่อว่าตนเองจักได้เข้ายึดครอบครอง เป็นเจ้าของดินแดนแห่งนี้หลังจากนั้น

เริ่มต้นครึ่งหลัง ชื่อเสียงของ Lawrence ก็ขจรไกลถึงทวีปอเมริกา หลังจากระเบิดรถไฟ (ผู้กำกับ Lean ท่าจะติดใจจาก The Bridge on the River Kwai) มาถึงช็อตนี้ปีนป่ายขึ้นบนซากปรักหักพัง (ของรถไฟ) มุมเงยถ่ายย้อนแสง ทำราวกับตนเองกลายเป็นผู้ยิ่งใหญ่เหนือใครในโลกา … ก่อนถูกยิงตกลงมาจากฟากฟ้า

โดยไม่รู้ตัวการกระทำเช่นนี้ของ Lawrence แสดงถึงความหลงตนเอง ระเริงไปกับชัยชนะ ครุ่นคิดว่าฉันคือผู้ยิ่งใหญ่ สามารถทำอะไรได้ทุกสิ่งอย่าง พยายามผลักดันตนเองไปต่อโดยไม่สนคนรอบข้าง จนลืมเลือนข้อเท็จจริงสำคัญบางอย่างไป

การเสียชีวิตของ Farraj (รับบทโดย Michel Ray) บังเกิดขึ้นจากการ ‘หลงลืม’ ว่าได้หยิบที่จุดระเบิดซุกซ่อนไว้ตรงเป้ากางเกง แล้วจู่ๆมันก็ตูมตามขึ้นมาเองแบบโง่งี่เง่าไร้สาระที่สุด … นั่นคือสิ่งกำลังจะบังเกิดขึ้นกับ Lawrence เพราะการหลงลืมรากเหง้าของตนเอง จักทำให้ได้รับบทเรียนอย่างเจ็บปวดทั้งร่างกายและจิตใจ

วินาทีที่ Lawrence น็อตหลุดจนต้องพุ่งไปทำร้ายหัวหน้าผู้คุม (Turkish Bey) หลังมีการกล่าวถึงสีผิว ไม่ได้ในเชิงดูถูกเหยียดหยาม แต่คำพูดนั้นทำให้เขาเพิ่งตระหนักว่า ตนเองไม่มีทางกลายเป็นชาวอาหรับอย่างจริง เพราะชาติกำเนิด ผิวพันธุ์ สีผม/ดวงตา ต่อให้พยายามสักเพียงใดก็ไม่มีวันเปลี่ยนแปลงรากเหง้าดังกล่าวได้

นั่นคือความเข้าใจที่โคตรธรรมดาสามัญ แต่ไม่ใช่กับนาย Lawrence เพราะขณะนั้นเต็มไปด้วยความหลงระเริง หลอกตนเองว่าฉันสามารถปลอมตัวเป็นชาวอาหรับ แล้วไม่มีใครจับผิด ถูกควบคุมกุมตัวได้อย่างแน่นอน

แซว: José Ferrer แม้ได้รับบทเล็กๆปรากฎตัวประมาณ 5 นาที กลับได้ค่าตัวสูงถึง $25,000 เหรียญ และรถ Porsche อีกหนึ่งคัน (มากกว่า O’Toole และ Sharif รวมกันเสียอีก) ภายหลังให้สัมภาษณ์ว่า

“If I was to be judged by any one film performance, it would be my five minutes in Lawrence.”

José Ferrer

Lawrence ในสภาพกึ่งผีกึ่งคน สูญเสียความเชื่อมั่นในตนเอง หลังจากตระหนักว่ามิอาจกลายเป็นชาวอาหรับ จึงหวนกลับมาสวมใส่เครื่องแบบทหาร เข้าพบ General Allenby แต่กลับถูกโน้มน้าว ชักจูงจมูก เรียกร้องให้ทำในสิ่งไม่อยากทำ ปฏิบัติตามหน้าที่ของตนเองครั้งสุดท้าย

เอาจริงๆฉากสนทนาในห้องประชุมแห่งนี้ มีไดเรคชั่นน่าสนใจมากๆ ทั้งการเลือกทิศทางมุมกล้อง พื้นหลังภาพวาดศิลปะ รูปปั้นบุคคลสำคัญ แต่ประเด็นคือผมไม่รู้จักอะไรสักอย่างในซีนนี้ เลยไม่สามารถวิเคราะห์ให้ฟังโดยละเอียดได้ว่าแฝงนัยยะอะไรบ้าง

  • เมื่อเดินเข้ามาในห้อง Lawrence ยืนอยู่ระหว่างรูปแกะสลักแม่ทัพ vs. นักการเมือง สวมเครื่องแต่งกายสไตล์โรมัน ผมครุ่นคิดว่าอาจเทียบแทน Julius Caesar กับ … ใครดีละ … สามารถสะท้อนตำแหน่งของเขาตอนนี้คือนักรบที่กำลังพัวพันกับประเด็นการเมืองระหว่างประเทศ (และความขัดแย้งภายในจิตใจตนเอง ยื่นจดหมายลาออกไม่ขอร่วมรบสงครามชาวอาหรับอีกต่อไป)
  • ช็อตสุดท้ายก่อนเปลี่ยนฉาก ภาพวาดด้านหลังของ Lawrence ดูราวกับการต่อสู้ของเทวดากับปีศาจ (แต่เหมือนว่า Lawrence จะทำสัญญากับปีศาจเสียมากกว่า)

แม้ไม่ได้อยากเป็นนำกองทัพทหารอาหรับเข้าสู่รบสงครามอีกต่อไป แต่ Lawrence จำต้องทำตามคำสั่งผู้บังคับบัญชาการ ด้วยเหตุนี้เลยทำสัญญาปีศาจ ว่าจ้างบอดี้การ์ดสวมชุดคลุมหลากหลายสีสัน คนพวกนี้ไม่ได้สนใจอะไรอื่นนอกจากเงิน เข่นฆาตกรรม จ่ายมาเยอะก็พร้อมทำหน้าที่ตนเองแค่นั้น … ถือว่า Lawrence หมดความเชื่อมั่นศรัทธาในตนเอง กลายเป็นคนขี้ขลาด หวาดกลัวตาย มิอาจครุ่นคิดตัดสินใจอะไรได้อีกต่อไป

นี่คือสภาพของ Lawrence ดูไม่ต่างจากคนบ้าเสียสติแตก มิอาจควบคุมตนเอง กระทำการเข่นฆ่าล้างชาว Turks ที่กำลังล่าถอยทัพ จนร่างกายชะโลมด้วยเลือด จากนั้นหยิบมืดขี้นมาส่องตนเอง นี่ฉันเป็นใคร ‘Who am I?’ ล้อกับครั้งแรกเมื่อเขาสวมใส่ชุด Sherif ที่มีความระเริงสุขใจ ตอนนี้กลับรู้สึกเจ็บปวดรวดร้าว นี่ฉันกำลังทำบ้าอะไร

องุ่นที่ยังคงดิบอยู่ สื่อนัยยะถึงชาวอาหรับที่แม้สามารถเข้ายึดครอบครอง Damascus แต่กลับไม่มีศักยภาพเพียงพอจะปกครอง ทำนุบำรุง ดูแลรักษาสิ่งหรูหราศิวิไลซ์ทั้งหลายเหล่านี้

การปกครองระบอบรัฐสภา ต้องอาศัยบุคคล/นักการเมืองที่มีความรู้ ความสามารถ แต่สำหรับชาวอาหรับที่ปกติอาศัยอยู่ตามท้องทะเลทราย แบ่งแยกชนใหญ่น้อยมากมาย จึงเป็นไปได้ยากจักสามารถพูดคุยสนทนาอย่างชาวศิวิไลซ์ (โดยไม่ขู่ฆ่า ชักปืนขึ้นมาท้าสู้ตาย) ซึ่งมุมกล้องของ Sequence นี้ สังเกตว่ามีการแบ่งข้าง ฝั่งฝ่ายอย่างชัดเจน ข้างหนึ่งพวก Sherif Ali อีกข้างหนึ่งของ Auda abu Tayi แม้ทั้งสองร่วมรบเข้ายึดครอง Damascus แต่ไม่ได้แปลว่ายามสงบศึกจักสามารถอยู่ร่วมอย่างสันติ

แซว: ว่าไปทั้ง Sequence นี้ ชวนให้ผมนึกถึงชาว Afghanistan ที่เข้ายึดครอบครองหน่วยงานราชการ ภายหลังสหรัฐอเมริกาถอนกำลังออกจากประเทศจนหมดสิ้น

จากรัฐสภาที่เคยคึกคัก ยามค่ำคืนก็สูญเสียสิ้นทุกสิ่งอย่าง เหมือนองุ่นดิบที่รีบเก็บเกี่ยว ชาวอาหรับยังไม่พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงนี้ จำต้องยินยอมให้สหราชอาณาจักรเข้ามามีบทบาท ชี้ชักนำทาง แสวงหากอบโหยผลประโยชน์ แลกองค์ความรู้เพื่อนำมาปรับใช้พัฒนาประเทศ จนกว่าจักก้าวทันนานาอารยะด้วยตนเอง

Sequence ที่โรงพยาบาลของชาว Turks เป็นย้ำเตือนตัวละคร(และผู้ชม)ถึงหายนะจากสงคราม คนมากมายต้องบาดเจ็บ ล้มตาย และดินแดนห่างไกลความเจริญเช่นนี้ มันจะมีแพทย์ พยาบาล ยารักษาโรคจากไหน? ย้อนกลับไปคำถามตั้งต้นของหนัง เรื่องราวของนาย Lawrence ยังสมควรได้รับการยกย่อง เรียกว่า ‘วีรบุรุษ’ อยู่อีกหรือเปล่า?

ปล. ฉากนี้ทำให้ผมนึกถึงโคตรภาพยนตร์เรื่อง A Touch of Zen (1971) พระเอกเฉลียวฉลาดยังกะขงเบ้ง วางแผนจัดการศัตรูจนแทบหมดเกลี้ยง แต่หลังจากเสียงหัวเราะสุดบ้าคลั่ง ค่อยๆตระหนักได้ถึงการกระทำของตนเอง เข่นฆ่าคนตายมากมายนับไม่ถ้วน นั่นมันเป็นสิ่งน่าภาคภูมิใจตรงไหน??

บทสรุปของสงคราม มันกลเกมของชนชั้นผู้นำ บุคคลมีอำนาจ นักการเมือง มอบหมายให้คนหนุ่ม(สาว) สู้รบทำสงคราม พอหมดหน้าที่ก็ประดับยศพันเอก (Colonel) แล้วส่งตัวกลับบ้าน ต่อจากนี้เป็นหมากกระดานของผู้ใหญ่ สำหรับยื่นหมูยื่นแมว แลกเปลี่ยนต่อรองผลประโยชน์ กอบโกยเข้าตัวให้ได้มากที่สุด

น่าเสียดายภาพวาดที่อยู่ด้านหลังไม่ค่อยเด่นชัดสักเท่าไหร่ ผมเห็นลางๆแค่กองทัพควบขี่ม้า น่าจะสื่อตรงๆถึงต่อสู้ การสงคราม ส่วนอีกภาพด้านข้างมองไม่ออกเลยว่าคืออะไร

Sequence สุดท้ายของหนัง Lawrence กำลังนั่งรถเดินทางกลับบ้าน ถ่ายภาพใบหน้าผ่านกระจกรถที่ดูมัวหมอง มองเห็นไม่ชัดสักเท่าไหร่ สื่อถึงการผจญภัยที่หมดสิ้นความสนุกสนาน บัดนี้ตัวเขาไม่หลงเหลืออะไร ฉันกลายเป็นใคร อังกฤษหรืออาหรับ? สรุปแล้วทั้งหมดที่ทำมานี้เพื่ออะไร?

แซว: นี่น่าจะเป็นฉากเดียวที่รถขับจากขวาไปซ้าย ย้อนศรทิศทางผจญภัย จุดสิ้นสุดคือหวนกลับสู่จุดเริ่มต้น

ตัดต่อโดย Anne V. Coates (1925-2018) นักตัดต่อหญิงในตำนานสัญชาติอังกฤษ เข้าชิง Oscar ถึง 5 ครั้งแต่ไม่เคยได้รางวัล ประกอบด้วย Lawrence of Arabia (1962), Becket (1963), The Elephant Man (1980), In the Line of Fire (1993), Out of Sight (1998) จนสถาบันต้องมอบ Academy Honorary Award เมื่อปี 2017

เรื่องราวส่วนใหญ่ดำเนินผ่านมุมมองของ T. E. Lawrence ยกเว้นช่วงต้นๆของครึ่งแรก-ครึ่งหลัง ใช้ตัวละครนักข่าว สัมภาษณ์บุคคลรอบข้าง ตั้งคำถามถึงชายคนนี้

  • Overtune
    • อารัมบท, ความตายของ T. E. Lawrence จัดพิธีศพที่ St Paul’s Cathedral นักข่าวตั้งคำถามว่าชายคนนี้คือใคร สมควรได้รับการยกย่องขนาดนี้เชียวหรือ
    • องก์ 1 การผจญภัยของ T. E. Lawrence,
      • แนะนำตัวละคร ชีวิตเต็มไปด้วยความน่าเบื่อหน่ายใน Cairo, Egypt
      • ออกเดินทางผ่านทะเลทรายมุ่งสู่ Wadi Ru พานพบเจอ Sherif Ali เข่นฆ่าไกด์นำทางอย่างเหี้ยมโหดร้าย
      • ให้คำปรึกษาแผนการทหารต่อ Prince Faisai
    • องก์ 2 เข้ายึดครอง Aqaba,
      • ครุ่นคิดแผนการสุดระห่ำ
      • ออกเดินทางข้ามทะเลทรายร่วมกับ Sherif Ali และชาวอาหรับอีก 50 คน
      • กลายเป็นพันธมิตร Auda abu Tayi
      • ร่วมกันเข้ายึดครองเมืองท่าสำคัญจาก Ottoman Empire
    • ปัจฉิมบท, T. E. Lawrence เดินทางกลับ Cairo เล่าความสำเร็จให้ General Allenby จนได้รับแต่งตั้งยศพันตรี (Major)
  • Intermission
  • Entr’acte
    • อารัมบท, นักข่าวชาวอเมริกัน Jackson Bentley เข้าพบ Prince Faisal แต่แทนจะสัมภาษณ์สถานการณ์ตะวันออกกลาง กลับสนใจแต่ T. E. Lawrence
    • องก์ 3 ความทะเยอทะยานไร้ขีดจำกัดของ T. E. Lawrence,
      • ใช้ยุทธวิธีทำลายรางรถไฟ ปล้น ฆ่า ทั้งทหารชาว Turks และผู้บริสุทธิ์มากมาย
      • ที่ Deraa ต้องการพิสูจน์ตนเองว่าสามารถปลอมตัวเป็นชาวอาหรับ แต่ถูกจับกุมตัว โดนทรมาน เจ็บปวดทั้งร่างกาย-จิตใจ
    • องก์ 4 เข้ายึดครอง Damascus,
      • ที่ Jerusalem นายพล General Allenby ต้องการผลักดันแผนเข้ายึดครอง Damacus
      • T. E. Lawrence รวมรวมกองทัพชาวอาหรับ ออกเดินทางมุ่งสู่ Damacus
      • ระหว่างทางพานผ่านเมือง Tafas ที่ถูกเข่นฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ พบเห็นกำลังทหาร Turks กำลังล่าถอยทัพ เลยโต้ตอบกลับอย่างไร้มนุษย์ธรรม
      • หลังจากเข้ายึดครอง Damacus ก่อตั้ง Arab Counsil แต่มิอาจหาข้อสรุปเป็นที่พึงพอใจทุกฝั่งฝ่าย
    • ปัจฉิมบท, T. E. Lawrence เข้าพบ General Alleby และได้รับการแต่งตั้งยศพันเอก (Colonel)
  • Exit Music

หนังพยายามเริ่มต้นให้ผู้ชมครุ่นคิดตั้งคำถาม (คล้ายๆ Citizen Kane) ตั้งแต่ความตายของ T. E. Lawrence (อุบัติเหตุเกิดจากความผิดพลาดง่ายๆ) นักข่าวสัมภาษณ์บุคคลมาร่วมงานศพ ชายคนนี้คือใคร? เคยทำอะไร? สมควรได้รับการยกย่องขนาดนั้นเชียวหรือ? จากนั้นย้อนกลับไปหาอดีตเพื่อนำเสนอเรื่องราวทั้งหมด

ส่วนการเริ่มต้นครึ่งหลังด้วยมุมมองนักข่าวชาวอเมริกัน แม้มีความละม้ายคล้ายตอนต้นเรื่อง Bentley อยากรับรู้จักตัวตนของ T. E. Lawrence ผ่านบทสัมภาษณ์ Prince Faisal แต่สิ่งแตกต่างคือวัตถุประสงค์ ธาตุแท้สื่ออเมริกัน ต้องการสร้างวีรบุรุษ ชักนำประชาชนให้เกิดความลุ่มหลงใหลในการสงคราม

เพราะความที่แต่ละช็อตฉาก มักแช่ภาพค้างไว้นานๆเพื่อผู้ชมได้ซึมซาบ รับสัมผัสบรรยากาศ ท้องทะเลทรายร้อนระอุ ใครสักคนไกลลิบๆกำลังควบขี่อูฐตรงเข้ามา เหล่านี้เลยครุ่นคิดว่าการตัดต่อต่อไม่ได้มีลีลาโดดเด่นอะไร แต่อยากให้ลองกลับไปสังเกต Sequence การเดินทางข้ามทะเลทราย หนังไม่ได้นำเสนอไปเรื่อยๆเฉื่อยๆชวนหลับ แต่มีการโต้ตอบตัดสลับไปมาระหว่าง ทิวทัศน์สวยๆ <-> ตัวละครพูดคุยสนทนา (มีสาระบ้าง ไร้สาระบ้าง) วนซ้ำรูปแบบนี้อยู่หลายต่อหลายครั้ง

นั่นเป็นเทคนิคธรรมดาๆแต่ทำออกมาน่าสนใจโคตรๆ เพราะแค่ฉากเดินข้ามทะเลทรายที่ใช้เวลาเกือบๆครึ่งชั่วโมง มันแทบไม่รู้สึกถึงความน่าเบื่อหน่ายเลยสักนิด (แต่ถ้าดูตอนง่วงๆก็อาจหลับสนิทเลยนะ) มีเหตุการณ์อะไรๆเกิดขึ้นมากมาย ชวนให้เพลิดเพลิน ติดตาม ลุ้นระทึกว่าพวกเขาไปถึงเป้าหมายปลายทางสำเร็จหรือเปล่า

นอกจากการเข่นฆ่าล้างชาว Turks ที่ทำลายล้างเมือง Tasfas ฉากสงครามอื่นๆของหนังแทบไม่พบเห็นการต่อสู้ ดวลดาบ ฟาดฟัน แทบทั้งนั้นกองทัพชาวอาหรับวิ่งกรูเข้าหา แล้วทุกอย่างก็จบสิ้นลงทันตา นี่คือเทคนิคภาพยนตร์ยุคก่อนๆ ไม่นิยมชมชอบนำเสนอความเป็นความตายของมนุษย์ (ฉากนั้นมีจุดประสงค์เพื่อสะท้อนความคลุ้มคลั่งภายในจิตใจของ T. E. Lawrence มิอาจควบคุมตนเองได้อีกต่อไป) รับชมในยุคสมัยปัจจุบัน หลายคนจึงอาจรู้สึกว่าหนังมีแอ็คชั่นค่อนข้างน้อย มีเพียงภาพสวยๆ อลังการตระการตา แต่ไม่สามารถเต็มเต็มความคลั่งเลือด ฉากรุนแรงที่ภาพยนตร์สมัยนี้นิยมแทรกใส่เข้ามา


สำหรับบทเพลงประกอบ ในตอนแรกโปรดิวเซอร์ Sam Spiegel ติดต่อ William Walton กับ Malcolm Arnold แต่ทั้งคู่ต่างติดพันโปรเจคอื่นอยู่ ต่อมามีความครุ่นคิดแบ่งแยก Eastern Theme กับ British Theme โดยเลือก Aram Khachaturian (ชาวรัสเซีย) และ Benjamin Britten (ชาวอังกฤษ) แต่ทั้งสองไม่สามารถสร้างความพึงพอใจต่อผู้กำกับ Lean หลงเหลือเพียง Maurice Jarre จากได้รับมอบหมายเพียง ‘Dramatic Scene’ บังเกิดความประทับใจอย่างล้นพ้น เหลือเวลาอีก 6 สัปดาห์ก่อนหนังฉาย ต้องประพันธ์เพลงอย่างน้อย 2 ชั่วโมง พร้อมบันทึกเสียงร่วมกับ London Philharmonic Orchestra ฟังดูแล้วไม่น่าเป็นไปได้เลยสักนิด!

Maurice-Alexis Jarre (1924 – 2009) นักแต่งเพลงสัญชาติฝรั่งเศส เกิดที่ Lyon บิดาทำงานฝ่ายเทคนิคสถานีวิทยุแห่งหนึ่ง ในตอนแรกเลยสมัครเรียนวิศวกรตามรอยเท้าพ่อ แต่ก็เปลี่ยนความสนใจไปร่ำเรียนดนตรี Conservatoire de Paris เลือกเครื่องกระทบ (percussion) เป็นสาขาหลัก, หลังเรียนจบทำงานยัง Théâtre National Populaire, เขียนเพลงประกอบภาพยนตร์เรื่องแรก Burning Fuse (1957), เริ่มมีชื่อเสียงในฝรั่งเศสจาก Eyes Without a Face (1959)

สไตล์เพลงของ Jarre โดดเด่นกับการใช้เครื่องกระทบ (percussion) เพื่อสร้างความระยิบระยับ (ด้วย ระฆังราว, Marimba, Xylophone, Vibraphone ฯ) สลับอลังการงานสร้าง (ฉาบ, กลอง Timpani ฯ) คลอประสานไวโอลิน (มอบสัมผัสพริ้วไหว) หรือเครื่องเป่าลม (เร่งเร้าอารมณ์) มอบสัมผัส ‘romanticism’ ผู้ชม/รับฟังรู้สีกเคลิบเคลิ้ม ลุ่มหลงใหล ล่องลอยไปกับท่วงทำนองเพลง

เกร็ด: เพลงประกอบภาพยนตร์ Lawrence of Arabia (1962) ได้รับการโหวตติดอันดับที่ 3 ชาร์ท AFI: 100 Years of Film Scores

Main Theme ประสานเสียงไวโอลินจังหวะตื่นเต้นสนุกสนาน มอบสัมผัสแห่งการผจญภัย ระยิบระยับด้วยเครื่องกระทบสะท้อนถีงสีสัน ความแปลกใหม่ ‘exotic’ ที่ได้จากการเดินทางพานผ่านท้องทะเลทราย และเมื่อเสียงฉาบดังขี้นก็ราวกับชีวิตได้รับการเติมเต็ม (ราวกับเป็นการออกเดินทางสู่โลกใบใหม่)

เสียงโหยหวนของฟลุตตอนต้นบทเพลง First Entrance to the Desert สะท้อนห้วงอารมณ์ความรู้สีกของ T. E. Lawrence ระหว่างใช้ชีวิตอย่างเรื่อยเปื่อยไปวันๆอยู่ยัง Cairo, Egypt เฝ้ารอคอยภารกิจที่จะได้ออกเดินทางผจญภัย มุ่งสู่ท้องทะเลทราย และเมื่อเวลานั้นมาถีง จากไม้ขีดไฟตัดสู่พระอาทิตย์กำลังค่อยๆโผล่ขี้นจากสุดปลายขอบฟ้า ถือเป็นจุดเริ่มต้นชีวิต/ถือกำเนิดใหม่ก็ได้เหมือนกัน

ประมาณนาทีที่ 4:10 ของคลิปนี้ เริ่มต้นบทเพลงชื่อ Night and Stars ทีแรกผมครุ่นคิดว่าคือเสียง Theremin (เครื่องดนตรีไฟฟ้าชนิดหนี่งที่ใช้มือโบกโบยผ่านเครื่องรับแล้วสามารถส่งเสียงออกมา) แต่แท้จริงแล้วคือ Ondes Martenot (ภาษาฝรั่งเศส แปลว่า Martenot waves) เครื่องดนตรีไฟฟ้า (Electronic) ที่สามารถเชื่อมต่อเข้ากับคีย์บอร์ด แล้วมอบสัมผัสโหยหวน พริ้วหวั่นไหว (เสียงคล้ายๆ Theremin แต่วิธีการเล่นแตกต่างกัน) ครุ่นคิดประดิษฐ์เมื่อปี ค.ศ. 1928 โดย Maurice Martenot (1898-1980) นัก Celleist และ Radio Telegrapher

เสียงโหยหวนของ Ondes Martenot ทำให้ค่ำคืนบนท้องทะเลทรายของ T. E. Lawrence เต็มไปด้วยความน่าพิศวงหลงใหล เงยหน้าแหงนมองดวงดาวเต็มท้องฟ้า นั่นคงทำให้เขารู้สีกอิ่มเอิบ เพลินเพลิน สุขสำราญจากภายใน

That Is The Desert คือบทเพลงที่ถ่ายทอดตัวตน ธาตุแท้จริงของท้องทะเลทราย ไม่ได้สวยงาม สะอาด สถานที่พักผ่อนหย่อนใจแบบที่ T. E. Lawrence ครุ่นคิดจินตนาการไว้ เพราะมันซ่อนเร้นภยันตรายต่างๆมากมาย จากทั้งสภาพแวดล้อม สรรพสัตว์ร้าย และมนุษย์ด้วยกันที่พยายามปกป้องบ่อน้ำ/ถิ่นที่อยู่อาศัยของตนเอง ถ้าไม่ใช่เพราะเขาเป็นคนผิวขาว ตาสีฟ้า เดินทางมาจากภายนอก ย่อมต้องถูกลงโทษทัณฑ์ ทรมานจนกว่าสาแก่ใจ

โดยปกติแล้วการเดินทางข้ามทะเลทราย Nefud Desert เป็นสิ่งที่แม้แต่ชาวพื้นเมืองอาหรับ ไม่มีใครครุ่นคิดกระทำกัน เพราะระยะทางระหว่างบ่อน้ำห่างไกลเป็นวันๆ มีโอกาสพลัดหลงออกนอกเส้นทาง เสบียงหมด หรืออาจพบเห็นภาพลวงตา Nefud Mirage ซี่งท่วงทำนอง(ในจังหวะนั้น)มีความละม้ายคล้ายเพลงประกอบหนังเรื่อง Vertigo (1959) อยู่เล็กๆ [Vertigo คืออาการวิงเวียน ปวดเศียรเวียนเกล้า รู้สีกว่าโลกมันหมุนๆ]

Rescue of Gasim ช่วงกลางบทเพลงหลายคนอาจรู้สีกมักคุ้นเสียงเครื่องสายชนิดหนี่ง มันคือ Balalaika เครื่องดนตรีพื้นบ้านรัสเซีย ลักษณะคล้ายกีตาร์แต่เป็นไม้สามเหลี่ยม ลำตัวกลวง คอฉลุ และมีเพียงสามสาย ซี่ง Jarre ใช้เป็นเครื่องดนตรีหลักประกอบภาพยนตร์ Doctor Zhivago (1965) จนโด่งดังระดับโลก!

สำหรับบทเพลงนี้ถูกนำมาใช้เพื่อมอบสัมผัสแห่งความหวัง เพราะโอกาสช่วยเหลือ Gasim มีเพียงน้อยนิดเท่านั้น เด็กหนุ่มพยายามจับจ้องมอง เฝ้ารอคอย จนพบเห็นบางสิ่งอย่างไกลลิบๆ กระทั่งสามารถยืนยันว่านั่นคือบุคคลที่ตนเฝ้ารอคอย เร่งเร้าท่วงทำนอง Main Theme ให้ประสานสอดคล้องจังหวะควบขี่อูฐ ปาฏิหารย์ได้บังเกิดขี้นแล้วแก่สายตา

Arrival At Auda’s Camp เป็นบทเพลงต้อนรับขับสู้ T. E. Lawrence (และพรรคพวกอีก 50+) ต่างคาดไม่ถีงว่า Auda Abu Tayi ชายหวงบ่อน้ำที่ดูสุดธรรมดาๆสามัญ แท้จริงกลับเป็นผู้นำชนเผ่า Howeitat มีลูกน้องใต้สังกัดหลายร้อยพัน กำลังควบขี่ม้าเข้ามาโอบห้อมล้อม หลบหนีตอนนี้ก็ไม่ทันกาลเสียแล้ว หวังว่าเขาคงจะรักษาคำพูดเคยให้ไว้

The Voice of the Guns (1917) บทเพลง March ของกองทัพอังกฤษ แต่งโดย Kenneth J. Alford (1881-1945) เจ้าของฉายา ‘The British March King’ ถูกนำไปใช้ช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่หนี่ง ซี่ง Jarre ทำการเรียบเรียงขี้นใหม่ นำไปใช้ช่วงระหว่าง T. E. Lawrence ได้รับการเลื่อนยศพลตรี (Major) จาก General Allenby และกำลังเดินลงบันไดเพื่อมาร่วมดื่มฉลองแสดงความยินดี

เรื่องราวชีวิตของ T. E. Lawrence มีลักษณะคล้าย ‘hero’s journey’ การเดินทางของชายคนหนี่งเพื่อกลายเป็นวีรบุรุษ แต่ก่อนจะไปถีงจุดนั้นต้องพานผ่านอุปสรรคขวากหนามมากมาย สูญเสียใครบางคนข้างกาย เผชิญหน้าบทพิสูจน์ตัวตนเองที่เลวร้าย จนกว่าจักบรรลุเป้าหมายปลายทาง ถีงได้รับการยกย่องยินยอมรับจากผู้คนรอบข้าง … แต่สิ่งที่ทำให้ Lawrence of Arabia แตกต่างจากฮีโร่ทั่วๆไป คือผู้ชมสามารถครุ่นคิดตั้งคำถาม (ตั้งแต่ฉากแรกๆที่นักข่าวตั้งคำถาม) ชายคนนี้สมควรได้รับการยกย่องเป็น ‘วีรบุรุษ’ จริงๆนะหรือ??

ใครสักคนเคยพูดไว้ว่า ‘สงครามไม่เคยมีผู้ชนะ’ จริงอยู่กองทัพชาวอาหรับสามารถเข้ายีดครอง Aqaba และ Damascus แต่เมืองแรกไม่มีทองสักก้อน เมืองหลังศิวิไลซ์เกินกว่าคนบ้านป่าเมืองเถื่อนจะปรับตัวอยู่อาศัย … เฉกเช่นนั้นแล้วสิ่งที่ Lawrence กระทำไปทั้งหมดเพื่ออะไร???

เกร็ด: ในแง่ประวัติศาสตร์ที่เกิดขี้นจริง Arab Counsil ไม่ได้เลวร้ายแบบที่นำเสนอในหนังนะครับ อีกทั้ง Lawrence ยังมีส่วนร่วมกับ Prince Faisal ผลักดันจนชาวอาหรับสามารถปกครองตะวันออกกลางด้วยตนเองได้สำเร็จ

มันคือความโรแมนติก เพ้อใฝ่ฝัน ทะเยอทะยานของชายผิวขาว เพราะตกหลุมรักความสะอาดงามตาของท้องทะเลทราย อยากใช้ชีวิต มีส่วนร่วม เลยพยายามผลักดันชาวพื้นเมืองอาหรับด้วยแนวความคิด วิถีความเชื่อ อุดมการณ์ชอบธรรมของตนเอง ถ้าฉันสามารถเอาชนะขับไล่ศัตรูผู้มารุกราน จักได้รับการยินยอมรับ และกลายเป็นหนี่งเดียวกับผืนแผ่นดินนี้

นี่นะหรือวีรบุรุษที่สมควรได้รับการยกย่อง? พื้นฐานความสนใจของ Lawrence มีเพียงตัวตนเองเท่านั้น ให้ความช่วยเหลือ Gasim เพราะครุ่นคิดว่าเป็นสิ่งมีมนุษยธรรม แล้วประหัดประหารหลังเหตุการณ์ปืนลั่นด้วยความชอบธรรม (Gasim ฆ่าผู้อื่น จีงต้องถูกเข่นฆ่า) ถ้าไม่ทำเช่นนั้นเป้าหมายที่จะยีดครอบครอง Aqaba ก็จักล้มเหลวโดยพลัน

เป้าหมายสูงสุดของ Lawrence ไม่ใช่ชัยชนะในการสงคราม หรือชาวอาหรับปกครองตะวันออกกลาง แต่คือการได้เป็นส่วนหนี่งร่วมกับผืนแผ่นดินนี้ สามารถโพกผ้าแต่งตัว แล้วไม่ใครแยกแยะออกว่าตนมีเชื้อชาติใด

ฟังดูก็รู้แล้วว่ามันเป็นไปได้เสียที่ไหน นั่นคือความหลงระเริง ‘egotist’ เชื่อมั่นในตนเองสูงเกินไป ถีงขนาดตัดสินใจทำอะไรโง่ๆ จนได้รับบทเรียนที่สร้างความเจ็บปวดทั้งร่างกาย-จิตใจ พอตระหนักความจริงดังกล่าว ถีงกับสูญเสียความเชื่อมั่นในตนเอง ยินยอมรับความจริงไม่ได้ รู้สีกอับอายขายขี้หน้าจนอยากแทรกแผ่นดิน/ล่องเรือหลบหนีกลับเกาะอังกฤษ

สภาพของเขาหลังเหตุการณ์นั้นไม่ต่างจากคนบ้าวิกลจริต มิอาจครุ่นคิด ไตร่ตรอง ตัดสินใจสิ่งถูกต้องเหมาะสม สูญเสียการควบคุมทั้งร่างกาย-จิตใจ หลงเหลือเพียงจิตวิญญาณล่องลอย สันชาติญาณเรียกร้องให้ดำเนินสู่เป้าหมายปลายทาง คำสั่งจากนายพลต้องไปถีงเส้นชัย อะไรเกิดขี้นระหว่างนั้นไม่ใช่เรื่องของฉัน ใครจะเป็นใครจะตายช่างหัวมัน ขอแค่ปลอดภัยไว้ก่อนก็เท่านั้น (ว่าจ้างบอดี้การ์ดรายล้อมสำหรับปกป้องตนเอง)

สงครามคือหนึ่งในความคอรัปชั่นของมนุษย์ แต่ใครต่อใครกลับพยายาม ‘Romantize’ สร้างภาพให้ดูดีแล้ว ยกย่องสรรเสริญบุคคลผู้มีคุณานุประโยค ทั้งๆวีรบุรุษเหล่านั้นถือกำเนิดจากความโหดเหี้ยม เข่นฆ่าผู้คนบาดเจ็บล้มตาย ทรัพย์สินถูกทำลายวอดวาย แม้ด้วยข้ออ้างอิสรภาพ เพื่อปกป้องคนหมู่มาก แต่มันใช่สิ่งถูกต้องเหมาะสมควรบังเกิดขึ้นตั้งแต่แรกจริงๆหรือ?

สิ่งเจ็บจิ๊ดสุดๆคือมุมมองของ Prince Faisal ‘การเมืองเรื่องของผู้ใหญ่ ปล่อยให้เด็กๆสนุกสนานผจญภัยไปกับเกมสงคราม’ คำพูดดังกล่าวยังคงเป็นจริงในปัจจุบัน บ้านเราก็เฉกเช่นเดียวกัน (เปลี่ยนจากสงครามเป็น การต่อสู้เพื่อเรียกร้อง…อะไรสักอย่าง) นั่นแปลว่าชีวิตประชาชน ผู้คนบาดเจ็บล้มตาย สิ่งข้าวของทรัพย์สินสูญเสียหาย มันก็แค่กลเกมหนึ่งของผู้มีอำนาจเท่านั้นเอง

นั่นเองทำให้ผมตระหนักว่า ความทะเยอทะยานเพ้อใฝ่ฝันของ Lawrence แท้จริงแล้วมันอาจเป็นเพียงการถูกควบคุมครอบงำจากใครบางคน ไม่ต่างจากหุ่นเชิดชักของเบื้องบน มอบอิสรภาพที่สนองตัณหาส่วนตน ยินยอมกระทำตามโดยไม่สนความถูกต้องเหมาะสม และเมื่อบรรลุวัตถุประสงค์ก็พร้อมผลักไสไล่ส่ง กลายเป็นหมาหัวเน่าข้างถนน หลงเหลือเพียงชื่อจารึกในประวัติศาสตร์ แต่ตัวของเขาแทบสูญสิ้นความเป็นคน

ผู้กำกับ David Lean คงตั้งคำถามกับตนเองอยู่ตลอดเวลาระหว่างถ่ายทำ ฉันจะสามารถผลักดันภาพยนตร์เรื่องนี้ไปให้ถึงจุดๆไหน เฝ้ารอคอยพระอาทิตย์ขึ้นวันแล้ววันเล่า เดือนแล้วเดือนเล่า ต้องการให้ทุกสิ่งอย่างออกมาสมบูรณ์แบบที่สุด … นั่นรวมไปถึงการถูกควบคุมครอบงำโดยโปรดิวเซอร์ มันอาจไม่โดดเด่นชัดในช่วงแรกๆ แต่เมื่อกาลเวลาเคลื่อนพานผ่านก็เริ่มตระหนักอะไรหลายๆอย่าง ถึงขนาดกล่าวโทษ Sam Spiegel ว่าเป็นต้นเหตุทำให้ฟีล์มหนังฉบับดั้งเดิมสาปสูญหายตลอดกาล

(Spiegel คือคนโน้มน้าวให้ Lean ตัดความยาวหนังออกเรื่อยๆเพื่อเพิ่มรอบฉาย จนหลายปีให้หลังเมื่อเริ่มมีการบูรณะ ปรากฎว่าไม่สามารถค้นหาพบฟีล์มต้นฉบับแรกสุดได้)


ด้วยทุนสร้าง $15 ล้านเหรียญ (Steven Spielberg เคยประเมินว่าถ้าหนังสร้างในปัจจุบันน่าจะต้องใช้งบประมาณสูงถีง $285 ล้านเหรียญ) ทำเงินในสหรัฐอเมริกา $37.5 ล้านเหรียญ รวมทั่วโลก $70 ล้านเหรียญ ประสบความสำเร็จทั้งรายรับและคำวิจารณ์

แม้หนังจะได้รับการสนับสนุนอย่างดีจาก King Hussein แห่ง Jordan แต่ตอนออกฉายจริงกลับถูกแบนหลายๆประเทศในตะวันออกกลาง (เพราะเข้าใจว่าหนังมีการตีความผิดๆเกี่ยวกับชาวอาหรับ) ยกเว้นเพียงอิยิปต์เพราะ Omar Sharif จัดรอบฉายพิเศษให้ปธน. Gamal Abdel Nasser มีความชื่นชอบอย่างมากจีงอนุญาติให้นำออกฉาย จนประสบความสำเร็จถล่มทลาย

  • Golden Globe Award เข้าชิง 8 จาก 6 สาขา คว้ามา 5+1 รางวัล
    • Best Motion Picture – Drama
    • Best Director
    • เข้าชิง Best Actor – Drama (Peter O’Toole)
    • เข้าชิง Best Actor – Drama (Anthony Quinn)
    • Best Supporting Actor (Omar Sharif)
    • Most Promising Newcomer – Male (Peter O’Toole)
    • Most Promising Newcomer – Male (Omar Sharif)
    • Best Cinematography – Color
  • Academy Award เข้าชิง 10 สาขา คว้ามา 7 รางวัล
    • Best Picture
    • Best Director
    • เข้าชิง Best Actor (Peter O’Toole)
    • เข้าชิง Best Supporting Actor (Omar Sharif)
    • เข้าชิง Best Screenplay – Based on Material from Another Medium
    • Best Art Direction – Color
    • Best Cinematography – Color
    • Best Film Editing
    • Best Music Score – Substantially Original
    • Best Sound

จริงๆแล้ว Lawrence of Arabia (1962) ควรได้เข้าชิง Oscar ทั้งหมด 11 สาขา แต่โปรดิวเซอร์ดันลืมส่งชื่อ Phyllis Dalton ให้คณะกรรมการพิจารณา Best Costume Design เลยพลาดโอกาสไปอย่างน่าเสียดาย (น่าจะมีแนวโน้มคว้ารางวัลด้วยนะ) … แต่ Dalton ก็สามารถคว้ารางวัลนี้จาก Doctor Zhivago (1965)

และด้วยระยะเวลา 222 นาที มากกว่า Gone With the Wind (1939) เพียง 1 นาทีเท่านั้น แต่ก็เพียงพอให้ Lawrence of Arabia (1962) กลายเป็นภาพยนตร์รางวัล Oscar: Best Picture มีความยาวมากที่สุด! (และเป็นภาพยนตร์เรื่องยาวสุดที่ไม่มีบทพูดของผู้หญิง)

[จริงๆมันมีข้อถกเถียงเรื่องความยาวอยู่เล็กน้อย เพราะ 221 vs. 222 นับเฉพาะเนื้อหนังล้วนๆไม่รวม Overtune, Intermission, Entr’acte และ Exit Music แต่ถ้ารวมทั้งหมด GWTW จะยาวกว่า 234-238 นาที ส่วน LoA เพียง 232 นาที]

กาลเวลาทำให้ฟีล์มหนังเสื่อมคุณภาพลง

  • ฉบับฉายรอบปฐมทัศน์ปี 1962 ความยาว 222 นาที
  • ฉบับปี 1963, ถูกใบสั่งโปรดิวเซอร์ให้ตัดออก 20 นาที เพื่อฉายโรงภาพยนตร์ทั่วไป (จักได้จำนวนรอบเพิ่มขี้น)
  • ฉบับปรับปรุงฉายใหม่ Re-Release ปี 1971 มีการตัดฉากอื่นๆออกเพิ่มเติมจนเหลือ 187 นาที
  • ฉบับบูรณะปี 1989 โดย Robert A. Harris, Jim Painten และผู้กำกับ David Lean เป็นที่ปรีกษา (Supervision) มีการค้นพบฟุตเทจเพิ่มเติม (แต่ไม่ครบทั้งหมด) บันทีกเสียงใหม่ (เกิดการ Reunion นักแสดงที่ยังมีชีวิตอยู่) ได้ความยาว 216 นาที (ถ้ารวม Overtune, Intermission, Entr’acte และ Exit Music จะได้ 227 นาที) ถือเป็นฉบับ Director’s Cut ที่คงเหลือถีงปัจจุบัน
  • ล่าสุดปี 2012 ในโอกาสฉลองครบรอบ 50 ปีของหนัง, Sony Pictures ได้ทำการบูรณะ Digital Restoration ฉบับ Director’s Cut ความละเอียด 8K ออกฉายเทศกาลหนังเมือง Cannes (Classic)

เกร็ด: ช่วงระหว่างการบูรณะฉบับปี 1989 มีการค้นพบฟีล์มของ Technicolor ตั้งแต่ปี 1966 ม้วน 2A มีการพิมพ์พลิกขวา-ซ้าย (Flipped) ประมาณ 10 นาที แต่เพราะไม่มีสิ่งใดเป็นจุดอ้างอิงจีงไม่มีใครบอกได้ (ทั้งม้วนนั้นคงกำลังดำเนินเรื่องอยู่ในทะเลทราย) ใครครอบครอง VHS ก่อนปี 1989 ให้ไปลองสังเกตดูนะครับว่า Lawarence ใส่นาฬิกาข้อมือขวาหรือซ้าย

เกร็ด2: ช่วงการบูรณะฉบับปี 1989 เพราะมีเสียงในฟีล์มเสียหายหลายส่วน จีงตัดสินใจพากย์เสียงใหม่หมด ทำให้บรรดานักแสดงยังมีชีวิตอยู่ได้กลับมารวมตัวอีกครั้ง (ใครเสียชีวิตไปแล้วก็หาคนใหม่พากย์แทน) ซี่งผู้กำกับ Lean พูดชม Peter O’Toole ว่าให้เสียงได้ดีกว่าแสดงอีก

“After twenty-five years, I think I have learned enough to play the scene properly”.

Peter O’Toole

อิทธิพลของ Lawrence of Arabia (1962) ถือว่ามากล้นต่อผู้กำกับยุค New Hollywood โดยเฉพาะ Steven Spielberg นี่คือภาพยนตร์ที่ทำให้เขาใฝ่ฝันอยากเป็นผู้กำกับ ยกย่องเทิดทูน David Lean คือ Guru (ด้านภาพยนตร์)

เกร็ด: Steven Spielberg และ Martin Scorsese ต่างร่วมด้วยช่วยสรรหาทุน ผลักดันให้ฉบับบูรณะปี 1989 ได้รับการออกฉายอีกครั้งในโรงภาพยนตร์ และเทศกาลหนังเมือง Cannes (Out of Competition)

“when the film first came out the first week evey play in Phoenix, Arizona. I couldn’t really comprehend the enormity of the experience. So I wasn’t able to digest it in one sitting. I actually walked out of the theatre stunned and speechless and didn’t quite understand the impact that it had on me. But I wanted to know how that film was made. How do you get those moments”.

Steven Spielberg

Christopher Nolan ก็เป็นอีกคนหนี่งที่หลงใหลคลั่งไคล้ Lawrence of Arabia (1962) แต่เขาเกิดไม่ทันเมื่อตอนออกฉาย สมัยเด็กเคยดูในโทรทัศน์ VHS ไม่ได้ประทับใจอะไร จนกระทั่งระหว่างเรียนมหาวิทยาลัยมีโอกาสรับชมบนจอใหญ่ สัมผัสได้ถีงประสบการณ์ครั้งหนี่งในชีวิตยากจะลืมเลือน นั่นคือจุดเริ่มต้นที่ทำให้เขาอยากสรรค์สร้างภาพยนตร์ที่ตอบสนองความรู้สีกผู้ชมได้เฉกเช่นเดียวกัน

“It’s sometimes difficult to articulate what it is about film projection that’s missing in digital projection. It can be the very subtle shadow details, the particular tonality of skies. Here you can see them on the camel as they first come out of the desert far sooner than you can on Blu-ray”.

Christopher Nolan

หลังจากที่ผมสามารถทำความเข้าใจครี่งหลังของหนัง เลยพูดได้อย่างเต็มปากเต็มคำว่า Lawrence of Arabia คือหนี่งในผลงาน Masterpiece ของผู้กำกับ David Lean ที่เปี่ยมด้วยวิสัยทัศน์ พร้อมความบ้าระห่ำไม่แตกต่างจาก T. E. Lawrence ผลักดันตนเอง ทีมงาน และวงการภาพยนตร์ให้ไปถีงจุดไกลสุดอย่างแท้จริง!

“ต้องดูให้ได้ก่อนตาย” นอกจากประสบการณ์ที่ควรหารับชมในโรงภาพยนตร์ เรื่องราวยังชักชวนให้ผู้ชมตั้งคำถามถีงความเหมาะสม เราควรผลักดันตนเองไปถีงจุดไหนในชีวิต เท่าที่ฉันสามารถ หรือจนกว่าจะถีงปลายทางฝั่งฝัน? คงจิตสำนีกความเป็นคนไว้ หรือยินยอมขายวิญญาณให้ปีศาจ?

จัดเรต 13+ กับความค่อยๆคลุ้มคลั่งของ T. E. Lawrence จนเกือบสูญเสียสติแตก

คำโปรย | Lawrence of Arabia คือวิสัยทัศน์ของผู้กำกับ David Lean ไกลสุดเท่าที่สื่อภาพยนตร์สามารถนำเสนอออกมา
คุณภาพ | ร์พี
ส่วนตัว | อลังการตระการตา


Lawrence of Arabia

Lawrence of Arabia (1962)

(4/3/2016) ครั้งหนึ่งในชีวิตต้องดูให้ได้ กับหนังที่มีงานภาพสวยงามที่สุดในโลก, Lawrence of Arabia โดยผู้กำกับชาวอังกฤษ David Lean นำแสดงโดย Peter O’Toole รับบท T.E. Lawrence วีรบุรุษของชาวอาหรับจากการต่อสู้กับชาวเติร์ก, ภาพยนตร์อิงประวัติศาสตร์สุดอลังการ การันตีด้วย 7 รางวัล Oscar รวมถึงภาพยนตร์ยอดเยี่ยมแห่งปี, ถ้ามีโอกาส ต้องชมหนังเรื่องนี้ในโรงภาพยนตร์ แล้วคุณจะขนลุกไปกับความยิ่งใหญ่ที่หาไม่ได้อีกแล้วในปัจจุบัน

คนที่จะสร้างหนังเรื่องนี้ได้ มันต้องบ้าสุดๆไปเลย เรื่องราวเกิดขึ้นในทะเลทราย ไม่มีดาราดังนำแสดง ไม่มีตัวละครผู้หญิง ไม่มีเรื่องราวความรัก มีฉาก Action นิดหน่อย (จริงๆก็เยอะอยู่) แถมความยาวเกือบ 4 ชั่วโมง ใครให้ทุนสร้างก็บ้าแล้ว แต่ผู้กำกับที่คิดสร้างย่อมบ้ากว่ามาก, ถ้าไม่เพราะบารมีของ David Lean ที่สะสมมาอย่างยาวนาน และก่อนหน้าที่เขาเพิ่งทำ The Bridge on the River Kwai ประสบความสำเร็จแบบล้นหลาม Lawrence of Arabia จึงเกิดขึ้นได้จากคนบ้าสองคน (คือ David Lean และโปรดิวเซอร์ Sam Spiegel)

หลังเสร็จจาก The Bridge on the River Kwai ผู้กำกับ David Lean มีความสนใจอยากทำหนังอัตชีวประวัติสักเรื่อง เขาสนใจเรื่องราวของ Gandhi ตั้งใจให้ให้ Alec Guinness รับบทนำ ไปว่าจ้าง Emeric Pressburger ให้มาเขียนบทให้ แต่เพราะหนังใช้การเตรียมการนานเกินไป ทำให้เขาหันความสนใจไปทำอัตชีวประวัติของ T.E. Lawrence แทน

Columbia Picture มีความสนใจต้องการดัดแปลงชีวประวัติของ T.E. Lawrence มาตั้งแต่ต้นยุค 50s แต่ยังไม่มีโอกาสสักที ซึ่ง Lean และ Spiegel ถือโอกาสนี้ยื่นข้อเสนอ และได้ไปติดต่อซื้อลิขสิทธิ์หนังสือจาก A.W. Lawrence (น้องคนสุดท้องของ T.E.Lawrence ตัวจริง) เรื่อง The Seven Pillars of Wisdom ในราคา £25,000 แล้วไปว่าจ้าง Michael Wilson ให้พัฒนาบทหนังฉบับแรก, Wilson ชื่นชอบเรื่องราวทางประวัติศาสตร์และการเมือง ซึ่งพอนำไปเสนอ Lean กลับไม่ถูกใจเขาเท่าไหร่ เลยไปจ้าง Robert Bolt ให้มาปรับบท โฟกัสไปที่ตัวละครมากขึ้น, ในเครดิตหนังขึ้นชื่อทั้งสองคนนะครับ เป็นการให้เกียรติคนเขียนบทอย่างมาก (ฝั่ง British มักจะเป็นแบบนี้ คือให้เครดิตนักเขียนบทแม้บทนั้นจะไม่ได้ถูกเอาไปใช้ ไม่เหมือนฝั่ง Hollywood ที่ถ้าบทของใครไม่ได้ใช้ก็จะตัดชื่อออกจากเครดิตเลย)

T.E. Lawrence นำแสดงโดย Peter O’Toole ชายผู้อาภัพรางวัล Oscar เข้าชิง 7 ครั้งไม่เคยได้สักครั้ง ถือสถิติเข้าชิงมากที่สุดแต่ไม่ได้รางวัล, ตอนนั้น O’Toole ยังไม่เป็นที่รู้จักเลยนะครับ ตอนตบปากรับบท T.E. Lawarance ก็ถูกวิพากย์วิจารณ์อย่างมาก ในเรื่องความสูง O’Toole สูง 1.87 เมตร แต่ Lawreance ตัวจริงสูงแค่ 1.64 เมตร, กระนั้นหลังจากหนังฉาย การแสดงของเขานี้ไม่เพียงแค่ทำให้ดังพลุแตก แต่ยังได้รับการยกย่องว่าเป็นการแสดงที่ยอดเยี่ยมที่สุดในโลก

ดูแบบผิวเผิน T.E. Lawrence คือวีรบุรุษ (ฮีโร่) คนสำคัญคนหนึ่งในประวัติศาสตร์โลกที่น่ายกย่อง แต่หนังใส่ด้านมืดของชายผู้นี้เช้าไปด้วย ให้เห็นว่าต่อให้เก่งแค่ไหน ก็ต้องมีด้านมืด (ที่คนอื่นอาจมองไม่เห็น), ผมรู้สึกเหมือนเขาเป็นระเบิดเวลา ที่พร้อมจะทำอะไรบ้าๆเพื่อพิสูจน์อะไรบางอย่าง เช่น ใช้มือดับไฟก้านไม้ขีดก็ระดับหนึ่ง (เทคนิคคือ อย่าไปคิดว่ามันเจ็บ) เอาชีวิตไปเสี่ยงตายกับทะเลทราย, แต่งชุดอาหรับไปเดินในเมืองศัตรู, ทำสิ่งที่คนอื่นไม่ทำกัน ฯ นี่เขาต้องการพิสูจน์อะไร? การมีตัวตนของตนเอง? ต้องการเหนือคนอื่น? หลายๆอย่างกลายเป็นประเด็กถกเถียง ว่าแท้จริงแล้วตัวจริง T.E. Lawrence นั้นเป็นแบบนั้นไหม เช่น homosexual, sadomasochism, egotist ฯ

น่าเสียดายที่การเสียชีวิตของเขา เสียชาติฮีโร่มากๆ ชีวิตจริงก็เป็นแบบในหนังนะครับ เสียชีวิตจากอุบัติเหตุมอเตอร์ไซต์ล้ม

Omar Sharif รับบท Sherif Ali เริ่มต้นจากเป็นศัตรูกลายเป็นมิตร และกลายเป็นเพื่อนแท้ของ Lawrence, ผมเปรียบตัวละครนี้เป็นเหมือน ‘สติ’ ของ Lawrence ในสายตาคนปกติจะคิดทำอะไร นั่นจะแสดงออกมาผ่านคำพูด/การกระทำของ Sherif Ali

ตอนที่หนังออกฉากในกลุ่มอาหรับ แทบทุกประเทศจะแบนหนังเรื่องนี้เพราะถือว่าเป็นหนังที่บิดเบือนประวัติศาสตร์ เว้นแต่อิยิปต์ ที่เป็นเมืองบ้านเกิดของ Sherif Ali ซึ่งปธน. ของอิยิปต์สมัยนั้นชื่นชอบหนังเรื่องนี้ และหนังก็ฮิตถล่มทลาย ส่งผลให้ Omar Sharif โด่งดังเป็นพลุแตก กลายเป็นวีรบุรุษของชาติไปอีกคน

Alec Guinness รับบท Prince Faisal ตัวละครนี้ไม่ถึงกับโดดเด่นนัก (เผื่อใครเห็นชื่อคุ้นๆ เขาเคยรับบท Obi-Wan Kenobi ใน Star Wars ภาคแรกสุดเลยนะครับ) เป็นผู้นำชาวอาหรับที่เฉลี่ยวฉลาด มีไหวพริบ เจ้าเล่ห์เจ้ากล ผมชอบคำพูดของเขาที่ว่า ‘สงครามเป็นเรื่องของวัยรุ่น ส่วนการปกครองเป็นเรื่องของคนแก่’, ฉากช่วงท้ายหนัง Prince Faisal ได้ตอกย้ำคำพูดนี้กับ Lawrence ได้ตรงมากๆ ใครเห็นก็จะเข้าใจได้ทันที

Anthony Quinn รับบทเป็น Auda abu Tayi นี่เป็นบทที่พี่แกทุ่มเทมากๆ ถึงจะเป็นตัวละครที่ไม่ฉลาด ดูโง่ๆ แต่เย่อหยิ่งในศักดิ์ศรี และสนแต่ผลประโยชน์ของตัวเองกับพวกพ้องเป็นหลัก นี่คือตัวแทนของชาวอาหรับในมุมมองของชาติตะวันตก ที่ดูป่าเถื่อน ไร้อารยธรรม, ต้องยอมเลยว่า Quinn สมทบบทนี้ได้ดีมากๆ ผมแทบจะจำหน้าพี่แกไม่ได้ นึกว่าเป็นคนอาหรับจริงๆ เห็นว่าตอนแต่งหน้า เอารูป Auda abu Tayi ตัวจริงมาเทียบ แล้วให้ช่างแต่งหน้าทำออกมาให้เหมือนที่สุด ไปทดสอบหน้ากล้องกับ David Lean ก็จำไม่ได้ คิดว่า Quinn เป็นคนอาหรับจริงๆ

ถ่ายภาพโดย Freddie Young, ก่อนเริ่มถ่ายทำ David Lean ใช้เวลาส่วนหนึ่ง ศึกษาการถ่ายภาพจากหนังเรื่อง The Searcher ของ John Ford เพราะมีความใกล้เคียงกับหนังมากที่สุดแล้ว แต่กระนั้น Lawrence of Arabia ได้ยกระดับความสวยงามของการถ่ายภาพหนังให้สูงยิ่งๆขึ้นไปอีก ไปไกลที่สุดเท่าที่จะฟีล์มหนังจะสามารถถ่ายออกมามองเห็นได้, ภาพพระอาทิตย์ขึ้นไกลสุดปลายขอบฟ้า, ภาพทะเลทรายอันร้อนระอุ และคนกำลังขี่อูฐตรงเข้ามาไกลๆ ดูจากจอโทรทัศน์เล็กๆ มองไม่เห็น ไม่มีค่าอะไร ของแบบนี้ต้องในโรงภาพยนตร์เท่านั้น!

หนังใช้ฟีล์ม 70mm ที่มีขนาดใหญ่และขอบกว้างยาวที่สุดของฟีล์มสมัยนั้น ในโรงภาพยนตร์ ภาพเหล่านี้จะถูกขยายใหญ่ จนทำให้เราเห็นภาพขนาดเล็กจิ๋วที่อยู่ไกลสุดลูกหูลูกตาได้ชัดเจน, กับฉบับ 1080p ที่ผมโหลดมาดูนี้ นี่เป็นความละเอียดสูงสุดเท่าที่จะหาดูได้ใน Home Video ปัจจุบัน (ต่อไปคงเป็น 4k แล้วกระมัง) นี่เป็นหนังที่ต้องดูกับจอใหญ่ๆ จะเห็นความละเอียดที่คมชัด สมจริง กระนั้นเมื่อเทียบเท่ากับโรงภาพยนตร์ ย่อมสู้ไม่ได้แน่ๆ มันมีอรรถรสบางอย่างที่เราจะสัมผัสได้เฉพาะเท่านั้น นั่นคือความยิ่งใหญ่ที่สุด ที่จะทำให้คุณอ้าปากค้างกับความสวยงาม

สถานที่ถ่ายทำในทะเลทรายเลือก Morocco กับ Jordan, ทีแรกเห็นว่าจะถ่ายกันเฉพาะที่ Jordan เพราะกษัตริย์ King Hussein มีความสนใจหนังเรื่องนี้มาก ให้ความร่วมมือกับทีมงานอย่างเต็มที่ ช่วยเรื่องการขนส่ง พาไปทัวร์ที่ต่างๆเพื่อหาสถานที่ถ่ายทำ รวมถึงช่วยเรื่องสำเนียงคำพูดอาหรับสำหรับนักแสดงต่างประเทศ (ว่ากันว่าที่ต้องย้ายไป Morocco ด้วยนั้นเพราะ King Hussein ดันไปหลงรักหญิงสาวคนหนึ่งในกองถ่ายเข้า) ฉากเมือง Aqaba เห็นว่าไปสร้างเมืองทั้งเมืองขึ้นที่ตอนใต้ของ Spain บ้าน 300 หลัง ใช้งบไปไม่น้อยทีเดียว (ไม่รู้เหมือนกับว่าเซตฉากของหนังยังอยู่หรือเปล่าหรือถูกทำลายไปแล้ว)

การถ่ายทำหนังค่อนข้างจะล่าช้าไปมาก เพราะหนังเปิดกล้องแล้วแต่บทยังเขียนไม่เสร็จ ซึ่งระหว่างตอนที่ Robert Bolt เขียนบทอยู่นั้น เขาดันถูกจับในข้อหาเข้าร่วมต่อต้านอาวุธนิวเคลียร์ (anti-nuclear weapons demonstration) ซึ่ง Spiegel ต้องไปเกลี้ยกล่อมให้ Bolt เซ็น sign a recognizance (สัญญาว่าจะทำตัวดีๆ ไม่ต่อต้านรัฐ) เพื่อออกจากคุกมาเขียนบทหนังให้เสร็จให้ได้

ตัดต่อโดย Anne V. Coates หนังเริ่มต้นด้วยฉากการเสียชีวิตของ T.E. Lawrence แล้วค่อยเล่าย้อนกลับไปที่จุดเริ่มต้นของการผจญภัย, การเริ่มต้นแบบนี้ถือว่าน่าสนใจทีเดียว เพราะมันทำให้เรารู้ว่าตัวเอกของหนังจะไม่ตายในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งของหนังแน่ๆ ทิ้งความคิดที่ว่าตัวละครจะตายไม่ตายไปเลย แล้วจดจ่ออยู่กับเรื่องราวและบรรยากาศของหนัง

ครึ่งแรก สำหรับคนที่ไม่ค่อยชอบดูหนังกินบรรยากาศ จะรู้สึกง่วงๆ เพราะการเล่าเรื่องช้ามากๆ มีการแช่ภาพที่ให้ตัวละครค่อยๆเดินเข้าฉากมา, เหตุที่ต้องทำให้ช้าก็เพื่อต้องการให้ผู้ชมสัมผัสกับบรรยากาศของหนังได้อย่างเต็มที่ ใครที่รู้สึกเบื่อผมแนะนำให้ไปหัดนั่งสมาธิเสียนะครับ หรือนั่งชมพระอาทิตย์ตกดินริมชายหาดแบบไม่ต้องลุกไปไหน หรือนอนนับดาวบนท้องฟ้าให้ได้สักพันดวง (หรือดูหนังเรื่อง Freelance) เพื่อว่าคุณจะสามารถสัมผัสบรรยากาศของหนังได้ ครึ่งแรกนี้ ถ่ายทอดความสวยงามที่สวยที่สุดเท่าที่กล้องถ่ายภาพจะสามารถบันทึกลงบนแผ่นฟีล์มได้เลย

ครึ่งหลังการตัดต่อจะเร็วขึ้น มีเนื้อเรื่องเข้มข้น และนำเสนอตัวละครในด้านมืดมากขึ้น, ผมดูครึ่งหลังรู้สึกว่ามันสนุกสู้ครึ่งแรกไม่ได้ เพราะหนังลด “บรรยากาศ” และเริ่ม “เล่าเรื่อง” มากขึ้น ถ้าคุณอยากดูเอาเนื้อเรื่อง ทนดูไปให้ถึงครึ่งหลังไม่ผิดหวังแน่นอน แต่คนที่ชอบดูบรรยากาศ ของดีอยู่แค่ครึ่งแรกนะครับ

เพลงประกอบโดย Maurice Jarre, เดิมทั้ง Lean ตั้งใจให้ William Walton และ Malcolm Arnold ทำเพลงให้ แต่ทั้งคู่ไม่ว่าง เลยใช้บริการของ Jarre คอมโพเซอร์ชาวฝรั่งเศส, ตอนนั้น Jarre ยังไม่เป็นที่รู้จักเท่าไหร่ แต่เมื่องานเพลงจากหนังเรื่องนี้ได้รางวัล Oscar สาขา Best Substantially Original Score จึงได้รับการกล่าวถึง ชื่นชมในระดับที่กลายเป็นตำนาน AFI มอบอันดับ 3 หนังที่มีเพลงประกอบเพราะที่สุด

ความไพเราะอลังการในเพลงประกอบ มีส่วนผสมของความตื่นเต้น ลุ้นระทึก และให้กลิ่นอายของอาหรับ (กลุ่มประเทศอาหรับ ไม่จำเป็นต้องเป็นตะวันออกกลางเท่านั้นนะครับ รวมถึงอิยิปต์, โมร็อกโก, แอฟริกาตอนเหนือด้วย) เหมือนโลกใบหนึ่งที่ยังไม่เคยถูกสำรวจ และเรากำลังก้าวออกเดินไปสู่สถานที่แห่งนี้ วินาทีแรกที่เห็น อึ้งทึ่ง อ้าปากค้าง ร้องว๊าว, คุณเห็นภาพของหนังสวยงามแค่ไหน เพลงประกอบก็สามารถอธิบายความสวยงามนั้นได้

ช็อตที่สวยงามที่สุดในหนัง (และอาจจะสวยงามที่สุดในช็อตภาพยนตร์) คือ ตอนพระอาทิตย์ค่อยๆขึ้นจากสุดขอบฟ้า เสียงดนตรีจะคลอเบาๆ จนเมื่อเราเริ่มเห็นพระอาทิตย์ เสียง Orchestra จะดังกระหึ่มก่อนตัดภาพมาที่ทะเลทราย, ช็อตนี้ทำเอาผมขนลุกซู่ สวยงามเกินคำบรรยาย ถ้าได้มีโอกาสเห็นฉากนี้ในโรงหนังนะ มันต้องสุดยอดมากๆแน่ๆ

ผมคงไม่พูดถึงประวัติศาสตร์ในหนัง เพราะไม่มีความรู้ด้านนี้ แต่เห็นว่าสงครามที่ Aqaba กับ Damascus และ Arab National Council นั้นมีอยู่จริงแน่นอน, ส่วนตัวละครในหนังมีส่วนผสมทั้งจากที่มีตัวตนจริงๆและแต่งขึ้นมา อาทิ T.E. Lawrence มีตัวจริง, Prince Faisal ก็มีจริง, ตัวละครที่แต่งขึ้นอาทิ Sherif Ali, Mr Dryden, Colonel Brighton ฯลฯ เหตุผลที่เพิ่มตัวละครแต่งขึ้นมา ก็เพื่อเสริมให้เรื่องราวมีองค์ประกอบที่สนุกขึ้น โดยเฉพาะตัวละคร Sherif Ali ถือว่าเป็นตัวละครที่มีบทสำคัญมากๆ เป็นเหมือนเพื่อนแท้ๆของ Lawrence คอยร่วมทุกข์ร่วมสุข ร่วมต่อสู้ไปจนถึงฉากสุดท้าย

แล้ว T.E. Lawrence เขาเป็นบ้าหรือยังไง? ผมคิดว่าเขาแค่ต้องการพิสูจน์การมีตัวตนของตัวเอง, ไม่มีใครมีความสุขในทะเลทราย แต่หมอนี่กลับตื่นเต้นและอยากทำทุกอย่างเพื่อประเทศอาหรับ ครั้งหนึ่งเขาให้เหตุผลที่ชอบทะเลทรายว่า “It’s clean.” มันสะอาด ในความหมายนี้ผมตีความได้คือ ความกว้างใหญ่ของมันไม่มีที่สิ้นสุด ถ้าเราต้องการอยู่กับมันเราต้องต่อสู้กับมัน เอาชีวิตเป็นเดิมพัน ทุกวินาทีต้องมีสติ พลาดไปเพียงเสี้ยววินาที ทะเลทรายมันอาจจะเอาชีวิตคุณไปก็ได้ (เช่นทรายดูด, ตกอูฐ, หลงทาง ฯ) ความท้าทายนี้มันทำให้ Lawrence รู้สึกมีชีวิตชีวา เหมือนกำลังมีชีวิตอยู่, บางคนอาจมองว่าคนที่แสดงออกแบบนี้ ค่อนไปทาง sado-masochist คือชอบทรมานตนเองและดีใจที่ได้เห็นคนอื่นทรมาน ฟังดูมันอาจเป็นวิธีการที่เลวร้าย แต่คนประเภทนี้ก็ไม่ได้มีปัญหาอะไรกับสังคมนะครับ มีคนมากมายยอมติดตามเขา ทั้งๆที่มุมมองเราอาจจะมองว่าเขาบ้า แต่นั่นไม่ได้แปลว่าคนที่ตามเขาทั้งหมดเป็นคนบ้าหรอกนะ, สรุปก็คือ ผมคิดว่า T.E. Lawrence ไม่บ้าแน่นอน แค่เพียงคุณไม่เข้าใจว่าทำไมเขาถึงทำแบบนั้นเท่านั้น

egotist นี่ชัดเจน มันคือการดั้นด้นที่จะทำ ไม่ยอมแพ้ทั้งๆที่ควรจะยอมไปนานแล้ว, ในหนังเสริมบทช่วงที่ Lawrence ถูกทหารเติร์ก จับไปเฆี่ยนตีทำร้าย นี่เป็นจังหวะที่ทำให้เขาตระหนักถึงตนเอง รู้ว่าแท้จริงแล้วตัวเองเป็นใคร ตั้งคำถามกับตัวเองว่าที่ทำไปทั้งหมดนี่เพื่ออะไร? เขาสามารถทำได้ทุกอย่างแต่มีสิ่งหนึ่งที่ทำไม่ได้ เพราะมันคือสิ่งที่ติดตัวเขามาแต่เกิดเปลี่ยนไม่ได้, หลังจากคิดได้ครั้งนี้ การกระทำของเขาก็เปลี่ยนไป เป็นเพื่อการอยู่รอดของตัวเอง จะได้ออกไปจากสถานที่แห่งนี้ แม้นี่จะสถานที่ที่เขาสร้างขึ้นมาแต่รู้แล้ว ที่นี่ไม่ใช่ที่ของเขา, ผมชอบฉาก Arab National Council จากการที่ Lawrence พยายามทำทุกสิ่งอย่างเพื่ออิสระภาพของคนอาหรับ เพื่อความเจริญรุ่งเรือง รุดหน้าเทียบเท่ากับอังกฤษ แต่พวกเขากลับไม่เข้าใจสักนิด นี่ไม่ใช่สิ่งที่พวกเขาต้องการ ไม่เห็นความจำเป็น ไม่มีไฟฟ้าใช้พวกเขาก็อยู่ได้ จุดนี้ตอกย้ำตัวตนของ Lawrence ว่า นี่ไม่ใช่ถิ่นที่ของเขา และที่ทำมาทั้งหมด มันก็แค่ความพอใจส่วนตัว ไม่มีใครเห็นคุณค่าใดๆเลย

ส่วน homosexual อันนี้พูดยาก ต้องสังเกตสายตา การแสดงออกเอาเอง, ฉากที่น่าจะชัดที่สุดคือตอนที่ Lawrence แต่งตัวเป็นอาหรับครั้งแรก และเขาออกทำท่าวาดมือไปมา (เหมือนผู้หญิง) พี่แกคงเป็นคนเก็บกดมีปมวัยเด็ก หรือฉากตอนที่ระเบิดรถไฟ แล้วพี่แกขึ้นไปเดินสะบิดไปมาบนหลังคารถไฟ ฉากนี้ผมรู้สึกผิดปกติมากๆ ปกติชายแท้ๆ การไปยืนบนหลังคา ก็มักจะทำท่าเท่ห์ ชูมือ ส่งเสียงหนักแน่น บ่งบอกถึงชัยชนะ แต่ Lawrence ทำยังกะเดินแฟชั่นโชว์ อ้อยอิ่งไปมา ให้เสื้อผ้าที่สวมใส่พริ้วไปมา, ผมก็ไม่รู้ทำไมผู้กำกับถึงทำให้ Lawrence แสดงออกมาแบบนั้นนะครับ เพราะมันแสดงปมรักร่วมเพศเดียวกันของตัวละครนี้

คนส่วนใหญ่ที่ดู Lawrance of Arabia แทบทั้งนั้นเมื่อเวลาผ่านไป จะพูดถึง จดจำบรรยากาศ ความสวยงาม ความอลังการที่ได้จากการรับชม น้อยคนนักจะจดจำได้ว่ามีเนื้อเรื่องราวอย่างไร ตัวละครไหนมีชะตากรรมเช่นไร, ผมก็เป็นนะครับ เคยดู Lawrence of Arabia มาเมื่อนานมากๆ หลายครั้งด้วย แต่หาได้จดจำรายละเอียดอะไรต่างๆของหนังได้เลย จำได้แค่ ภาพสวย เพลงเพราะ หนังอลังการโคตรๆ แค่นี้แหละ, ซึ่งสิ่งนี้แหละ คือเหตุผลสำคัญที่ทำให้หนังได้รับการจดจำ ‘หนังที่มีงานภาพสวยที่สุดในโลก’ คงมีไม่กี่เรื่องที่จะได้รับคำยกย่องขนาดนี้ และหาได้เกินคำโฆษณาแม้แต่น้อย

ผู้กำกับที่ชื่นชมหนังเรื่องนี้แบบออกหน้าออกตา อาทิ Steven Spielberg บอกว่านี่เป็นหนึ่งในหนังโปรดที่ทำให้เขากลายมาเป็นผู้กำกับหนัง George Lucas กับฉากทะเลทรายบนดาว Tatooine ก็ได้แรงบันดาลใจมาจากหนังเรื่องนี้, Sam Peckinpah, Martin Scorsese, Ridley Scott, Brian De Palma, Oliver Stone ฯ

ด้วยความยาว 227 นาที นี่เป็นหนังรางวัล Oscar ที่มีความยาวเกือบที่สุด ยาวพอๆกับ Gone With The Wind แต่ตอนนั้นก็มีข้อถกเถียงกันว่าหนังเรื่องไหนยาวกว่า เพราะเมื่อเอาฟีล์มไปวัดความยาวจริงๆ ตัด intro/outro ออก จะเห็นว่ายาวกว่า Gone With The Wind อยู่ 1 นาที แต่ภายหลังฟีล์มหนังมีความเสียหายบางส่วนที่เกิดจากความละเลยของผู้สร้าง ฉบับสุดท้ายที่กลายมาเป็น Digital มีความยาวอยู่ที่ 227 นาที สั้นกว่า Gone With The Wind ที่รวม intro/outro แล้ว 238 นาที (ถ้านับเฉพาะเนื้อหนัง Lawrence of Arabia ก็ยังยาวกว่า Gone With The Wind อยู่นะครับ)

จัดเรต 13+ กับฉากสงคราม ฆ่าฟันแฝงความรุนแรง

คำโปรย : “Lawrence of Arabia ภาพจากหนังมีความสวยงามในระดับที่สุดที่กล้องถ่ายภาพจะสามารถบันทึกได้ และเพลงประกอบที่ไพเราะที่สุดในโลก นี่คือหนังที่ต้องดูให้ได้ ห้ามตายก่อนดู “
คุณภาพ : RARE-GENDARY
ความชอบLOVE

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: