Le Cercle Rouge (1970) : Jean-Pierre Melville ♥♥♥
ในโลกแห่งความฝันของ Melville อะไรจะเกิดมันก็ต้องเกิด ไม่มีใครสามารถควบคุมบงการฟ้าลิขิตได้ เฉกเช่นเรื่องราวของชายแปลกหน้าสามคน บังเอิญพลัดพลูพบเจอถูกชะตา ร่วมกันลงมือปล้นเพชรราคามหาศาล สำเร็จหรือเปล่าคงต้องไปวัดดวงเอาเอง
Siddhartha Gautama, the Buddha, drew a circle with a piece of red chalk and said: “When men, even unknowingly, are to meet one day, whatever may befall each, whatever the diverging paths, on the said day, they will inevitably come together in the red circle.”
มาลูกไม้เดียวกับ Le Samouraï (1967) นี่เป็นคำอุปโหลกเริ่มต้นของเดียรถีย์ Jean-Pierre Melville ผู้ไม่นับถือศาสนาหรือพระเจ้าองค์ใด แต่พยายามยกตนขึ้นเป็นศาสดาในโลกแห่งจินตนาการ/ความเพ้อฝันของตนเอง
ขอย้ำอีกครั้งว่า คำกล่าวอ้างถึงพระพุทธเจ้าที่ขึ้นมาต้นเรื่องนี้ มิได้ปรากฎอยู่จริงในพระไตรปิฎกฉบับใดๆ อย่าไปเสียเวลาจดท่องจำให้มันรกสมองนะครับ จะเกิดความเข้าใจผิดคลาดเคลื่อนไปเสียเปล่าๆ
ผมคิดว่าข้อความนี้มันเกิดจากการผสมผสานสิ่งที่ผู้กำกับ Melville เคยได้ยินมา อาทิ ความเชื่อชาวญี่ปุ่น ด้ายแดงแห่งโชคชะตา, ธรรมจักรมีลักษณะเป็นวงกลมหมุนเวียนวนดั่งวัฏจักรชีวิต ฯ นำสองอย่างนี้มาผสมกันกลายเป็นวงกลมสีแดง (Le Cercle Rouge) บุคคลผู้มีวิถีแตกต่าง เมื่อโชคชะตานำพาให้พบเจอรู้จัก อะไรๆก็เกิดขึ้นได้ในชีวิตนี้
ว่าไปเจ้าชอล์กสีแดงมีเพียงครั้งเดียวเท่านั้นที่พบเห็นในหนัง คือขณะตัวละครของ Alain Delon ละเลงลงบนหัวคิวไม้สนุกเกอร์ สอยสองลูกขาวหนึ่งลูกแดง ทำอย่างไรก็ได้ให้กระทบทั้งสองลูกในคราเดียว ซึ่งวินาทีถัดมาชายแปลกหน้าสองคนถูกสอยร่วงดับดิ้นสิ้นลมหายใจ มันคงเป็นเรื่องของโชคชะตาความบังเอิญล้วนๆเลยใช่ไหมเนี่ย!
Jean-Pierre Melville ชื่อเดิม Jean-Pierre Grumbach (1917 – 1973) ผู้กำกับสร้างภาพยนตร์สัญชาติฝรั่งเศส เกิดที่ Paris ในครอบครัวเชื้อสาย Alsatian Jews, ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เข้าร่วมกลุ่ม French Resistance ต่อสู้กับ Nazi หลังสิ้นสุดสงครามเกิดความสนใจด้านภาพยนตร์ แต่ไม่มีสตูดิโอไหนอยากว่าจ้างเพราะไม่มีประสบการณ์ เลยตัดสินใจเป็นนักสร้างหนังอิสระ กำกับ-เขียนบท-โปรดิวเซอร์ ด้วยตนเองทั้งหมด ผลงานเรื่องแรก Le Silence de la mer (1949) โด่งดังเป็นพลุแตก ตามด้วย Les enfants terribles (1950), When You Read This Letter (1953) และหนัง Crime Film เรื่องแรก Bob le flambeur (1956)
เกร็ด: ความชื่นชอบในนิยายของ Herman Melville (1819 – 1891) นักเขียนสัญชาติอเมริกัน ยุคสมัย American Renaissance ที่มีผลงานดังคือ Moby Dick (1851) เลยตัดสินใจเปลี่ยนนามสกุลตนเองจาก Grumbach กลายเป็น Melville ฟังดูเท่ห์กว่าเยอะ
ตั้งแต่ช่วงเข้าวงการแรกๆ Melville มีแนวคิด/พล็อตที่อยากสร้างภาพยนตร์ เกี่ยวกับแนวโจรกรรม (Heist Film) เรื่องราวของหัวขโมยมืออาชีพสองคน และอีกคนหนึ่งจับพลัดจับพลูกลายมาเป็นผู้ช่วย ทั้งสามร่วมกันปล้นเพชรมูลค่ามหาศาล นี่ตั้งแต่การมาถึงของ The Asphalt Jungle (1950) เสียอีกนะ
หลังเสร็จจากผลงานเรื่องที่สอง Les enfants terribles (1950) ก็ตั้งใจจะสร้างหนังแนวโจรกรรมสักเรื่อง ได้รับการติดต่อจาก Henri Bérard ให้ช่วยดัดแปลงนิยายขายดีเรื่อง Du Rififi chez les hommes แต่ไปๆมาๆโปรดิวเซอร์กลับเปลี่ยนใจให้ผู้กำกับ Jules Dassin กลายมาเป็น Rififi (1955) ขณะที่ Melville ก็เลยได้สร้าง Masterpiece เรื่องแรก Bob le flambeur (1956) ด้วยความภาคภูมิใจส่วนตน
หลังจากนั้น พล็อตของ Le Cercle Rouge ก็ยังคงวนเวียนอยู่ในหัวของ Melville แต่ไม่คิดรีบเร่งสร้างอีกต่อไป ต้องการเก็บเกี่ยวประสบการณ์ชีวิต/กำกับภาพยนตร์ต่ออีกสักพัก ให้อะไรๆมันค่อยๆผสมผสานย่อยรวมกันเป็นเนื้อหนึ่งเดียวกัน จนกระทั่งระหว่างสร้าง Le Samouraï (1967) ไฟไหม้สตูดิโอของตนเอง ทำให้บทหนังต่างๆที่เคยคิดเขียนไว้มอดไหม้ไปกับกองเพลิง หลังจากนั้นต้องเค้นคิดโปรเจคใหม่กลั่นจากความทรงจำ เลือกเฉพาะที่มันยังติดคั่งค้างคาอยู่ในหัวสมอง กลายมาเป็น Army of Shadows (1969), Le Cercle Rouge (1970) และ Un flic (1972) สามผลงานสุดท้ายในชีวิต
เรื่องราวเริ่มต้นที่ Vogel (รับบทโดย Gian Maria Volontè) หลบหนีจากการคุมตัวของ Inspector Mattei (รับบทโดย André Bourvil) กระโดดลงจากรถไฟ แอบซ่อนท้ายรถของ Corey (รับบทโดย Alain Delon) นักโทษที่เพิ่งได้รับการปล่อยตัวเมื่อเช้านี้ ไปๆมาๆพวกเขาพูดคุยถูกชะตาเลยร่วมกันวางแผนโจรกรรมเพชร แต่ต้องอาศัยนักแม่นปืนคนหนึ่งเข้าช่วย ซึ่ง Vogel บังเอิญรู้จัก Jansen (รับบทโดย Yves Montand) อดีตตำรวจแตงโม ถูกตรวจสอบพบโดยกิจการภายใน (Internal Affair) ติดคุกห้องขังเดียวกัน
Alain Fabien Maurice Marcel Delon (เกิดปี 1935) นักแสดงสัญชาติฝรั่งเศส เกิดที่ Sceaux, Seine (ปัจจุบันคือ Hauts-de-Seine) เพราะพ่อ-แม่ หย่ากันตอนอายุ 4 ขวบ ทำให้ตัวเขาเก็บสะสมความรุนแรง โตขึ้นสมัครเป็นทหารเรือ ร่วมสู้รบ First Indochina War แต่ใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่ในคุกข้อหา ‘undisciplined’ ปลดประจำการออกมาทำงานเป็นบริกร เซลล์แมน หลังจากกลายเป็นเพื่อนของนักแสดง Brigitte Auber ไปเข้าตาผู้กำกับ Yves Allégret ภาพยนตร์เรื่องแรก Quand la femme s’en mêle (1957), แจ้งเกิดกับ Women are Weak (1959), โด่งดังระดับนานาชาติเรื่อง Purple Noon (1960), Rocco and His Brothers (1960), L’Eclisse (1962), Any Number Can Win (1963), The Leopard (1963) ฯ ร่วมงานผู้กำกับ Melville ครั้งแรก Le Samouraï (1967) ไปจนถึงเรื่องสุดท้าย Un flic (1972)
รับบท Corey หัวขโมยที่ได้รับการปล่อยตัวเพราะมีพฤติกรรมดี ได้รับคำชี้ชักนำจากผู้คุม เกี่ยวกับร้านเพชรแห่งหนึ่งที่ฝีมืออย่างเขาน่าจะปล้นได้สำเร็จใน Paris (แลกกับค่าขนมนิดๆหน่อย) หลังออกจากคุกมารับรู้แฟนสาวอาศัยอยู่กับมาเฟียอีกคน จึงเข้าไปรีดไถ่ขอเงินมาซื้อรถแล้วออกเดินทางสู่ Paris ระหว่างทางบังเอิญพบเห็น Vogel แอบขึ้นกระโปรงหลังรถ ให้ความช่วยเหลือจนสามารถหลบหนีออกมาได้ กลายเป็นเพื่อนซี้ปึกมองตาเข้าใจ ร่วมกันโจรกรรมครั้งนี้จนสำเร็จลุล่วง
ผมกำลังสงสัยว่านี่มันภาคต่อในอีกจักรวาลคู่ขนานของ Le Samouraï (1967) หรือเปล่า ภาพลักษณ์การแสดงออกของ Delon เหมือนเดิมเปะๆ ด้วยใบหน้าอันเคร่งขรึม เก็บกด ‘poker face’ ไม่พบเห็นรอยยิ้ม ตัวละครไร้ซึ่งมิติพัฒนาการใดๆ เว้นเสียแต่ภาพลักษณ์ตราติดตรึงกลายเป็น Iconic สวมโค้ทคลุมยาว สวมหมวก มือล้วงกระเป๋า ปากคาบบุหรี่พ่นควันฉุย และอุดมหลักการลูกผู้ชายด้วยเกียรติ ศักดิ์ศรี มิตรภาพ
Gian Maria Volontè (1933 – 1994) นักแสดงยอดฝีมือสัญชาติอิตาเลี่ยน เกิดที่ Milan โตขึ้นที่ Turin พ่อเป็นเจ้าหน้าที่ Fascist ส่วนแม่มาจากครอบครัวฐานะร่ำรวย โตขึ้นเดินทางสู่กรุง Rome เข้าเรียนการแสดงที่ Accademia Nazionale di Arte Drammatica Silvio D’Amico เริ่มจากละครเวที รายการโทรทัศน์ ภาพยนตร์เรื่องแรก Sotto dieci bandiere (1960), เริ่มมีชื่อเสียงจาก Dollars Trilogy ทั้งสามภาค, คว้า Best Actor จากเทศกาลหนังเมือง Cannes เรื่อง La Mort de Mario Ricci (1983), ตามด้วย Silver Bear: Best Actor จากเรื่อง The Moro Affair (1986)
รับบท Vogel หัวขโมยผู้รักอิสรภาพเป็นชีวิตจิตใจ คาดว่าคงทำเรื่องใหญ่โตมากๆ จนเมื่อสามารถหลบหนีพ้น ผู้บัญชาการตำรวจถึงขนาดสั่งให้ติดตามล่าตัวแบบไม่ลดละ แรกพบกับ Corey รู้สึกถูกชะตา แค่แลกบุหรี่กันดูดกลายเป็นเพื่อนตาย ไปไหนไปด้วยช่วยเสมอ
(มิตรภาพที่ Melville นำเสนอนี้ มีความก้ำกึ่งมากๆระหว่างลูกผู้ชายกับเกย์ จะมองทั้งสองอย่างเลยก็ได้ เพราะบุหรี่มักถูกใช้เป็นสัญลักษณ์ของลึงค์)
ใบหน้าโหดๆของ Volontè ติดตาผมมาตั้งแต่ Dollars Trilogy ขณะที่เรื่องการแสดงไม่มีอะไรน่าพูดถึงสักเท่าไหร่ (แทบไม่มีความแตกต่างกับ Delon) เห็นว่าผู้กำกับ Melville ก็ไม่ค่อยคลิกกับชายคนนี้สักเท่าไหร่ด้วย เก้งก้างกัง ไร้ซึ่งความมืออาชีพ ต้องบอกทุกฝีก้าวตำแหน่งให้แสดง/ทำอะไร คิดเองไม่เป็นสักอย่าง
(ผมพอจะเข้าใจว่าทำไม Volontè ถึงไม่ค่อยมีความเป็นมืออาชีพในการทำงานสักเท่าไหร่ เพราะวงการภาพยนตร์อิตาเลี่ยนยุคสมัยนั้นตามมีตามเกิดสุดๆ ใครเคยอ่านบทความ Dollar Trilogy ก็ขนาดนักแสดงนำ Clint Eastwood ยังกุมขมับ เทียบกับ Hollywood แตกต่างสุดขั้วสวรรค์-นรก เลยละ)
Yves Montand หรือ Ivo Livi (1921 – 1991) นักร้องนักแสดง สัญชาติ Italian-French เกิดที่ Monsummano Terme, Italy อพยพมาอยู่ฝรั่งเศสตั้งแต่ปี 1923 เพราะถูกขับไล่จาก Italian Fascist เติบโตขึ้นที่ Marseilles เริ่มต้นจากการเป็นนักร้องได้รับการค้นพบโดย Édith Piaf เมื่อปี 1944 ชักชวนให้มาเป็นส่วนหนึ่งในการแสดงของเธอ พอโด่งดังก็เข้าสู่วงการภาพยนตร์ด้วย อาทิ The Wages of Fear (1953), Let’s Make Love (1960), Is Paris Burning? (1966), Grand Prix (1966), Le Cercle Rouge (1970), Le sauvage (1975), Jean de Florette (1986) ฯ
รับบท Jansen อดีตนายตำรวจนักแม่นปืน ที่หลังจากถูกจับติดคุกได้รับการปล่อยตัวออกมา ติดเหล้าอย่างหนักจนเห็นภาพหลอนเป็นสัตว์มากมายคลายขึ้นมาบนเตียงนอน วันหนึ่งได้รับโทรศัพท์ชักชวนให้เข้าร่วมปล้น ยินยอมตกลงจนตัวเองสามารถเลิกเหล้าได้ เกิดความมั่นใจสูงยกปืนขึ้นมายิง ไม่ขอรับส่วนแบ่งเพราะตัวเองได้รับชัยชนะ เก็บสัตว์ประหลาดเหล่านั้นเข้าตู้สำเร็จแล้ว
ต้องถือว่า Montand เป็นสีสันที่มีชีวิตของหนังเลยนะ ฉากแรกสีหน้าเต็มไปด้วยความหวาดกลัวสยดสยอง แต่หลังจากได้ค่อยๆมีพัฒนาการดีขึ้นเปลี่ยนแปลงไป จนสามารถเรียกความมั่นใจอย่างเต็มเปี่ยม สำหรับเขามิตรภาพเป็นชัยชนะที่สำคัญกว่าเงินทอง
เกร็ด: ในความตั้งใจแรกของ Melville วางไว้ว่า
– Inspector Mattei รับบทโดย Lino Ventura
– Jansen คือ Paul Meurisse
– Vogel สนใจ Jean-Paul Belmondo
– มีเพียง Corey ตั้งใจไว้แล้วคือ Alain Delon
ถ่ายภาพโดย Henri Decaë ขาประจำของผู้กำกับ Melville ตั้งแต่ผลงานเรื่องแรก ก่อนกลายเป็นขาประจำของผู้กำกับรุ่น French New Wave อาทิ Les Amants (1958), Le Beau Serge (1958), The 400 Blows (1959) ฯ
เลือกใช้เฉดสีเดียวแบบหนังเรื่อง Le Samouraï (1967) และ Army of Shadows (1969) ประกอบด้วย เทา น้ำเงิน และดำ มอบสัมผัสอันอึมครึม บรรยากาศหมองหม่น เย็นยะเยือก สูบเอาความอบอุ่นสดใสทิ้งไปจนหมดเกลี้ยง ขณะที่สีเขียวของพื้นโต๊ะสนุกและใบไม้ แปรสภาพกลายเป็นสี Teal (เขียวนกเป็ดน้ำ)
เกมสนุกเกอร์นี้มีชื่อว่า Carom Billiards หรือ Carambole ประกอบด้วยโต๊ะกว้าง 5×10 ฟุต ไม่มีหลุม ใช้สามลูกสนุกมักจะคนละสี ผู้เล่นต้องแทงลูกสีของตนเองให้โดนอีกสองลูกที่เหลือ การนับแต้มคือจำนวนครั้งที่ชนขอบ
เกร็ด: มีภาพยนตร์อีกเรื่องที่ปรากฎเกมนี้คือ The Hustler (1961)
การพูดคุยเผชิญหน้ากันครั้งแรกของ Corey กับ Vogel ถือว่ามีไดเรคชั่นเจ๋งสุดในหนังแล้ว (ผมชอบมากกว่าตอนปล้นอีกนะ)
– เริ่มต้นจากระยะห่างที่ไกลโขของทั้งสอง แสดงถึงความแปลกหน้า ไม่รู้จักเลยไม่เชื่อใจกัน
– จากนั้น Volgl เดินเข้าหาค้นอาวุธ กล้องจะเคลื่อนเข้าตาม นัยยะสร้างความสัมพันธ์รู้จัก
– เมื่อพบว่าไม่ได้พกอาวุธ เริ่มรู้จักกันแล้วจึงเดินถอยห่างออกมาหน่อย (แต่จะไม่ไกลเท่าตอนแรก) นี่เป็นการรักษาระยะห่างของทั้งสอง
– หลังจาก Corey โยนบุหรี่ให้สูบ ภาพจะตัดสลับหน้าตรงของทั้งคู่ขณะสูบบุหรี่ กล้องจะเคลื่อนเข้าพร้อมเพลงประกอบที่สะท้อนถึงความสัมพันธ์เชื่อใจ
– จากนั้นแพนกล้อง 120 องศา นี่เป็นขณะที่พวกเขากลายเป็นมิตร ผ่อนคลาย จึงเริ่มสนใจอะไรรอบข้าง
– จบฉากด้วยการออกเดินทางต่อ Vogel พูดขอบคุณล่วงหน้าถ้าไม่ได้พบเจอกันอีก
ความยาวของการโจรกรรม 27 นาทีเปะ ไม่มีบทพูดสนทนา รับอิทธิพลเต็มๆจาก Rififi (1955) [ถึงผู้กำกับ Melville อ้างว่าตนเองฉากการปล้นลักษณะนี้คิดขึ้นมาก่อน แต่ก็ฟังไม่ขึ้นเพราะสร้างทีหลัง] สามารถแบ่งออกเป็น 3 ช่วงขณะ
– เริ่มต้น Corey กับ Vogel ขับรถมาจอด งัดห้องแถวข้างๆ ขึ้นบนชั้นด่านฟ้า เจาะกระจกลอดผ่านห้องน้ำ
– ช่วงขณะที่ Jansen เดินเข้าประตูด้านหน้าแบบง่ายดาย (Corey กับ Vogel เตรียมพร้อมรอเขาไว้แล้ว) จัดตั้งอุปกรณ์ หยิบปืนขึ้นมายิงสัญญาณกันขโมย
– Corey กับ Vogel ทำการกวาดเพชรเข้ากระเป๋า ขณะที่ Jansen จัดเก็บอุปกรณ์เครื่องมือ แล้วรีบเผ่นลงไปก่อนเพื่อเตรียมหลบหนี พอสัญญาณกันขโมยดังขึ้น ทุกคนกระโดดขึ้นรถหนีหายไร้ร่องรอย
ช่วงท้ายเมื่อตัวละครของ Alain Delon กำลังลงลิฟท์ เราจะเห็นภาพของเขาเลื่อนลงซ้ำสองรอบ ปกคลุมด้วยเงามืดบนใบหน้าและพื้นหลัง ทำนองดนตรีอันหลอนๆเสียวสันหลังวาป จะมองว่านี่คือลางสังหรณ์ นิมิตหมาย หรือ Death Flag ก็ยังได้
ตัดต่อโดย Marie-Sophie Dubus, หนังไม่ได้ใช้มุมมองของใครเป็นพิเศษ เริ่มต้นจาก Vogel + Inspector Mattei ตามด้วย Corey และ Jansen โผล่มาช่วงกลางเรื่อง ทั้งสี่สลับไปมาในเรื่องราวของตนเอง
หลายครั้งของการเปลี่ยนภาพ มีใช้ลีลาลูกเล่น อาทิ ตอนที่ Vogel กำลังหลอมกระสุนปืนใช้การเคลื่อนภาพไปทางขวา ซึ่งถ้าสังเกตดีๆจะมีลักษณะคล้าย Jump-Cup เพื่อรวบรัดเร่งสิ่งที่ตัวละครทำอยู่ให้เร็วขึ้น
ไฮไลท์ของการตัดต่อคงหนีไม่พ้นช่วงขณะการโจรกรรม มีสองช่วงตัดสลับไปมาระหว่าง
– Corey + Vogel กับ รปภ. ร้านเพชร
– เมื่อ รปภ. ถูกจับมัดเรียบร้อย Corey + Vogel ตัดสลับกับ Jansen ที่กำลังเดินเข้ามาตรงๆทางประตูหน้า
ปกติแล้วหนังของ Melville ถ้าไม่ใช้เพลงประกอบ ก็ไม่ร่วมงานซ้ำกับนักแต่งเพลงคนไหน เห็นว่าตอนแรกติดต่อ Michel Legrand แต่ไม่เป็นที่ถูกใจเลยหวนกลับไป Éric Demarsan เคยร่วมงานตอน Army of Shadows (1969)
ลักษณะของเพลงประกอบมีความเป็น Minimalist สั้นๆไม่ยาวมาก ด้วยสัมผัสของ Jazz Quintet สร้างความรู้สึกเหมือนหนูติดกับดัก มนุษย์ผู้วนเวียนอยู่กับโชคชะตาฟ้าลิขิต หรือบางครั้งพยากรณ์ถึงสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นต่อไป
ด้วยวัยที่ล่วงเลยมากว่า 50 ปีของผู้กำกับ Jean-Pierre Melville และหลังจากสตูดิโอของตัวเองถูกไฟไหม้วอดวายเมื่อปี 1967 ทำให้ตัวเขาเริ่มครุ่นคิดถึงช่วงเวลาชีวิตที่ผ่านมา ความทรงจำสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 กลายมาเป็น Army of Shadows (1969) หลายๆอย่างเริ่มเวียนวนคล้ายวัฏจักรแห่งโชคชะตา นั่นเลยกลายมาเป็น Le Cercle Rouge (1970) ในห้วงความฝันของเขา อะไรจะเกิดมันก็ต้องเกิด
ความสัมพันธ์ของหัวขโมยทั้งสาม ถ้าครุ่นคิดให้ดีจะพบว่าพวกเขาวนเวียนอยู่ในคุก/ห้องขัง เหมือนกันหมด
– Corey ได้รับการปล่อยตัววันนั้นพอดี
– Vogel กำลังจะติดคุกแต่สามารถหลบหนีเอาตัวรอดได้
– Jansen เคยติดคุกร่วมห้องขังกับ Vogel
นี่สามารถสื่อถึงทั้งสามในวงกลมสีแดง จะหมายถึงห้องขังคุก อาชญากรผู้เคยกระทำความผิดต่อข้อกำหนดกฎหมายของสังคม เลยถูกเพ่งเล็งจากคนนอกหรือคือ Inspector Mattei จำเป็นอย่างยิ่งถ้าพวกเขาพยายามหนีออกจากเส้นเขตที่กำหนด ต้องหาทางผลักดันให้กลับเข้าไป หรือไม่ก็สอยให้ร่วงจะได้ไม่กลายเป็นปัญหาภาระต่อโลกภายนอก
สังเกต: ภาพโปสเตอร์ของหนัง จะมีรูปวาดชายสามคนในวงกลมสีแดง และอีกหนึ่งอยู่นอกวง เราคงสามารถแทนได้ด้วย Corey, Vogel, Jensen และ +1 ย่อมคือ Inspector Mattei
ในโลกของ Melville โชคชะตาเป็นสิ่งถือเกิดดำเนินไปโดยมีความสมมาตร เวียนวงกลมของมันเอง เคยทำอะไรใครไว้ สักวันเวลาหนึ่งย่อมต้องได้รับสิ่งนั้นกลับคืนสนอง ฆ่าคนตายก็เลยถูกผู้อื่นฆ่า ขโมยเพชรของมีค่า-แฟนสาวสุดที่รักเลยกลายเป็นของชายอื่นไปก่อนหน้านี้ ฯ ไม่มีใครหลีกหนีฟ้าดิน/ที่ผู้กำกับ Melville กำหนดกฎกรอบนี้ไว้
ตอนจบของหนังแนวโจรกรรมสมัยก่อน มักลงเอยด้วยด้วยการเสี้ยมสั่งสอนศีลธรรม จริยธรรม เตือนสติให้กับผู้ชมอย่างหลงผิดคิดกลายเป็นโจร ทำชั่วย่อมต้องได้รับความโชคร้ายคืนสนอง มันเลยเป็นสิ่งหลีกเลี่ยงไม่ได้สักเท่าไหร่ต้องลงเอยแบบนี้ แต่พอผมเห็นบ่อยๆก็เริ่มรู้สึกเบื่อหน่าย ไม่มีบทสรุปอะไรใหม่ๆกับเรื่องราวพรรค์นี้เลยหรือไง!
นักวิจารณ์ Manohla Dargis ของ Los Angeles Times ให้ข้อสังเกตตอนจบของหนังไว้น่าสนใจทีเดียว
“It may sound far-fetched, but I wonder if his obsessive return to the same themes didn’t have something to do with a desire to restore France’s own lost honor”.
และคำตบท้ายของ Roger Ebert ในบทความสี่ดาวต่อหนังเรื่องนี้
“The heroes of his films may win or lose, may be crooks or cops, but they are not rats”.
ทั้งๆที่โดยรวมในแง่คุณภาพต้องชมว่ายอดเยี่ยมเหนือชั้น Sequence ขณะปล้นดูแล้วยิ่งใหญ่เจ๋งเป้งกว่า Rififi (1955) แต่แค่การเริ่มต้นด้วยคำกล่าวอ้างอุปโหลก ก็สร้างความหงุดหงิดอคติอย่างมากๆแบบฟื้นคืนความเชื่อมั่นไม่ได้ เพราะจนสุดท้ายแล้วผมก็ไม่เข้าใจ ทำไมถึงต้องแอบอ้างชื่อพระพุทธเจ้า? แสดงความปลิ้นปล้อนกะล่อนโกหกหลอกลวง ทั้งๆที่เนื้อในใจความของหนังเกี่ยวกับเกียรติ ศักดิ์ศรี มิตรภาพลูกผู้ชายแท้ๆ
ใจความของหนัง วงกลมคือวัฎจักร, สีแดงคือเลือด/ชีวิต, กรรมใดใครก่อ กรรมนั้นย่อมคืนสนอง เวียนวนกลับคืนสู่ตนเอง ก็ถือเป็นแนวคิดถูกต้องตามหลักศาสนา แต่การแอบอ้างคำพูดที่พระพุทธเจ้ามิได้เคยว่ากล่าวมา เพื่อ!
เกร็ด: Le Cercle Rouge เป็นหนังเรื่องโปรดของ Jean-Pierre Dardenne, Aki Kaurismäki, Johnnie To ฯ
แนะนำคอหนังแนวอาชญากรรม โจรกรรมปล้นเพชร ตำรวจไล่ล่าติดตามตัว, งานภาพสวยๆของ Henri Decaë, รู้จักผู้กำกับ Jean-Pierre Melville แฟนๆนักแสดง Alain Delon, Yves Montand, Gian Maria Volontè ไม่ควรพลาด
จัดเรต 15+ กับบรรยากาศอันตึงเครียด ความอุปโหลก และอาชญากรรม
Leave a Reply