Le Corbeau (1943)
: Henri-Georges Clouzot ♥♥♥♥
Le Corbeau แปลว่า The Crow, นกอีกา สัตว์สัญลักษณ์แห่งความชั่วร้าย ชอบกัดกินเศษซากเหยื่อกระจัดกระจาย สอดคล้องเรื่องราวเกี่ยวกับบัตรสนเท่ห์ (Poison-Pen Letter) จดหมายยาพิษที่ชอบสร้างข่าวลือผิดๆ ทำให้ใครๆหลงเชื่อครุ่นคิดว่าคือความจริง ก่อเกิดบรรยากาศหวาดสะพรึงกลัวแผ่ปกคลุมไปทั่วอาณาบริเวณเมือง, “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย”
ผลงานฉายเดี่ยวลำดับที่สองของผู้กำกับ Henri-Georges Clouzot สร้างขึ้นในสังกัด Continental Films (สตูดิโอหนัง ก่อตั้งโดย Nazi, Germany) เมื่อออกฉายถูกตีความอย่างคลุมเคลือก โดนหนักถึงสามกระทง!
– ฝั่งขวาจัดของ Vichy government (รัฐบาลหุ่นเชิดนาซี) มองว่าขัดแย้งต่อหลักอุดมการณ์ชาติขณะนั้น!
– ฝั่งซ้ายจัดของกลุ่มต่อต้าน (Free France/Anti-Nazi) ครุ่นคิดว่าคือภาพยนตร์ชวนเชื่อนาซี!
– Catholic Church มองหนังเป็นภัยต่อหลักศีลธรรมมโนธรรมของมนุษย์!
ด้วยเหตุนี้ก่อนหน้าหนังออกฉายเพียง 2 วัน Clouzot ถูกสตูดิโอ Continental Films ขับไล่ออก ตกงานโดยไม่ทันรับรู้ตัว!
มุมมองของผมต่อ Le Corbeau คล้ายๆผลงานแรก L’Assassin habite au 21 (1942) คือภาพยนตร์บันทึกประวัติศาสตร์ นำเสนอบรรยากาศช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง (ของฝรั่งเศส) แต่เรื่องนี้ได้ต่อยอดไปถึงคำถามเชิงปรัชญา แล้วประชาชนจะใช้ชีวิตภายใต้การถูกยึดครอง (Occupation of France) เฉกเช่นไร?
นี่แปลว่าความตั้งใจของ Clouzot ไม่ใช่ทั้งต่อต้านรัฐบาล Vichy, ชวนเชื่อนาซี และสร้างมุมมองศีลธรรมผิดๆให้กับฝูงชน แต่ทั้งสามองค์กรที่กล่าวมาตอนต้น ต่างถูกครอบงำด้วยโลกทัศนคติของ ‘สงคราม’ ไม่ใช่มิตรต้องเป็นศัตรู! ดี-ชั่วแบ่งแยกสองฝั่งฝ่ายชัดเจน! กาลเวลาเท่านั้นคือสิ่งพิสูจน์คุณค่าภาพยนตร์เรื่องนี้
Henri-Georges Clouzot (1907 – 1977) ผู้กำกับสร้างภาพยนตร์สัญชาติฝรั่งเศส เกิดที่ Niort โตขึ้นตั้งใจว่าจะเป็นทหารเรือ แต่ติดที่เป็นคนสายตาสั้นไม่ผ่านการคัดเลือก ตอนอายุ 18 เดินทางไป Paris เพื่อเรียนรัฐศาสตร์ ระหว่างนั้นได้ทำงานเป็นบรรณาธิการนิตยสาร ด้วยความสามารถด้านการเขียนทำให้กลายเป็นนักแปลภาษา นักเขียนบทละคร/ภาพยนตร์ จนกระทั่งได้รับชมหนังของ F. W. Murnau และ Fritz Lang เกิดความชื่นชอบหลงใหลในสไตล์ Expressionist จึงตัดสินใจสร้างหนังสั้นเรื่องแรก La Terreur des Batignolles (1931) ความยาว 15 นาที ใช้นักแสดงเพียง 3 คน ได้รับคำชมอย่างล้นหลาม
เมื่อปี 1935, Clouzot ตรวจพบว่าเป็นวัณโรค ต้องนอนพักรักษาตัวอยู่บนเตียงในโรงพยาบาล เป็นเวลากว่า 5 ปี ถือได้ว่านี่คือช่วงเวลาที่มีอิทธิพลต่อตัวเขาเป็นอย่างมาก เรียนรู้เข้าใจความอ่อนแอเปราะบางของร่างกายมนุษย์ และใช้เวลาค่อยๆพัฒนาขัดเกลาบทภาพยนตร์ของตนเองให้มีความกลมกล่อมลงตัวมากขึ้น, หลังออกจากโรงพยาบาล ตรงกับช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 พอดี ถือเป็นช่วงเวลาแห่งความยากลำบาก เพราะโปรดิวเซอร์ชาวฝรั่งเศสทั้งหลายต่างต้องหลบลี้หนีภัยออกจากประเทศ ยินยอมก้มหัวเพื่อเอาตัวรอด จากเขียนบทไต่เต้าขึ้นมากำกับ The Murderer Lives at Number 21 (1942) ตามมาด้วย Le Corbeau (1943)
ตำนานของ Clouzot เริ่มต้นหลังสิ้นสุดสงครามโลก
– Quay of the Goldsmiths (1947) คว้ารางวัล International Prize: Best Director จากเทศกาลหนังเมือง Venice,
– Manon (1949) คว้า Golden Lion จากเทศกาลหนังเมือง Venice,
– The Wages of Fear (1953) ควบคว้า Grand Prix (Palme d’Or) จากเทศกาลหนังเมือง Cannes และ Golden Bear จากเทศกาลหนังเมือง Berlin [เป็นเรื่องแรกเรื่องเดียวในประวัติศาสตร์ ที่คว้า 2 รางวัลใหญ่ของ 2 เทศกาลหนัง และทำให้ Clouzot เป็นผู้กำกับคนแรกที่มีหน้าคว้ารางวัลจากเทศกาลหนัง Big 3 ได้ครบถ้วน]
– The Truth (1960) เข้าชิง Oscar: Best Foreign Language Film
ฯลฯ
เรื่องราวของ Le Corbeau ได้แรงบันดาลใจจากเหตุการณ์จริง เกิดขึ้นที่เมือง Tulle, Limousin ทางตอนใต้ฝรั่งเศสเมื่อปี ค.ศ. 1917 และ 1922 จดหมายลึกลับจำนวนกว่าร้อยฉบับ เซ็นชื่อ ‘the eye of the tiger’ สร้างข่าวลือผิดๆส่งไปทั่วเมืองจนมีผู้คนหลงเชื่อมากมาย ภายหลังสืบค้นจบพบผู้ก่อเหตุ ถูกตัดสินลงโทษจำคุกเพียงหนึ่งเดือนและจ่ายค่าปรับเท่านั้นเอง (กล่าวคือ เธอไม่ได้สร้างความเสียหายใดๆ นอกจากความเข้าใจผิด)
Louis Chavance (1907 – 1979) นักเขียน/ตัดต่อ/ผู้ช่วยผู้กำกับ สัญชาติฝรั่งเศส หลังจากรับรู้เรื่องราวเหตุการณ์ดังกล่าว พัฒนาบท Le Corbeau เสร็จสิ้นสักพักใหญ่แล้ว แต่ยังไม่สามารถสรรหาผู้สร้างให้ความสนใจได้ จนกระทั่งผ่านตาผู้กำกับ Clouzot นำมาแก้ไขปรับปรุงให้เข้าวิสัยทัศน์ของตนเอง
ณ เมืองเล็กๆแห่งหนึ่งในฝรั่งเศส, Doctor Rémy Germain (รับบทโดย Pierre Fresnay) ได้รับบัตรสนเท่ห์เซ็นชื่อว่า Le Corbeau เนื้อความกล่าวหาว่าเขาลักลอบมีชู้กับ Laura Vorzet (รับบทโดย Micheline Francey) ภรรยาของจิตแพทย์ Doctor Michel Vorzet (รับบทโดย Pierre Larquey) ทั้งยังตำหนิต่อว่าเป็นหมอเถื่อน ทำหญิงตั้งครรภ์แท้งลูกถึงสามคนในรอบเดือน!
เป้าหมายของจดหมายไม่สิ้นสุดลงเท่านี้ ยังได้กระจายสร้างข่าวลือจริงบ้างเท็จบ้างไปทั่วเมือง สร้างความหวาดสะพรึงกลัวแผ่ปกคลุมทั่วทิศทาง กระทั่งว่าผู้ป่วยโรคมะเร็งรายหนึ่งตัดสินใจคิดสั้นฆ่าตัวตาย เพราะเนื้อหาข้อความระบุว่าเขาป่วยระยะสุดท้าย (จริงหรือเปล่าก็ไม่รู้นะ!) แถมต่อมามีการปรักปรำพยาบาลรายหนึ่งว่าเป็นผู้ก่อเหตุจนโดนฝูงชนรุมล้อมลงประชาทัณฑ์ นี่ทำให้ทางการต้องรีบเร่งติดตามหาตัวผู้เขียนจดหมาย เพื่อมิให้ทุกสิ่งอย่างบานปลาย เลวร้ายยิ่งไปกว่านี้
นำแสดงโดย Pierre Fresnay ชื่อจริง Pierre Jules Louis Laudenbach (1897 – 1975) นักแสดงสัญชาติฝรั่งเศส เกิดที่ Paris เป็นทหารในสงครามโลกครั้งหนึ่ง กลับมาได้รับยกย่องว่าคือฮีโร่ เข้าสู่วงการจากแสดงละครเวที ตามด้วยภาพยนตร์ในยุคหนังพูด Marius (1931), The Man Who Knew Too Much (1934), Street of Shadows (1937), La Grande Illusion (1937), Le Corbeau (1943), Monsieur Vincent (1947) ฯ
รับบท Doctor Rémy Germain หมอผู้มีพฤติกรรมน่าฉงนสงสัย ชอบทำตัวลึกลับ เยือกเย็นชา ทำคลอดทารกเสียชีวิตกลับมีสีหน้าไม่แคร์ยี่หร่าสักเท่าไหร่ ปากอ้างอุดมการณ์สูงส่งเรื่องความรัก กลับลักลอบมีชู้กำกับ Laura Vorzet และโดยไม่รู้ตัวได้เสีย Denise Saillens (รับบทโดย Ginette Leclerc) อีกคนหนึ่ง!
พบเห็นหลายๆการแสดงของ Fresnay โดยส่วนตัวรู้สึกพี่แกค่อนข้างจะ ‘Typecast’ รับบทบาทคล้ายๆเดิมอยู่บ่อยครั้ง ชายผู้มีความเริดเชิดหยิ่งทะนง มั่นคงในอุดมการณ์ วางมาดเหมือนชนชั้นสูง ทำเหมือนสนใจแต่จริงๆกลับไม่แคร์ยี่หร่าอะไรใคร
ผู้กำกับ Clouzot พยายามสร้างบรรยากาศอันตึงเครียดระหว่างถ่ายทำภาพยนตร์เรื่องนี้ ด้วยการทำตัวเผด็จการ ใช้ความรุนแรงตบตี ตะโกนด่าทอ ตะคอกใส่ทีมงาน ครั้งหนึ่งกับ Yvonne Printemps ภรรยาของ Fresnay ทั้งๆไม่เกี่ยวอะไรด้วยเลย สร้างความไม่พึงพอใจอย่างมาก หลังจากนี้พวกเขาไม่มองหน้าพูดคุยร่วมงานกันอีกเลย!
ถ่ายภาพโดย Nicolas Hayer (1898 – 1978) สัญชาติฝรั่งเศส ผลงานเด่นๆ อาทิ Le Corbeau (1943), Paris Frills (1945), La Chartreuse de Parme (1948), Le Doulos (1963) ฯ
งานภาพของหนังค่อนข้างแตกต่างกับ L’Assassin habite au 21 (1942) ไม่เน้นความ Stylish อันฉูดฉาดจัดจ้านด้านเทคนิค แต่สร้างสัมผัสกลิ่นอายนัวร์ ปกคลุมด้วยบรรยากาศความน่าหวาดสะพรึง จากอิทธิพลชั่วร้ายของบัตรสนเท่ห์
ฉากภายนอกถ่ายทำยัง Montfort-l’Amaury, Yvelines อยู่ไม่ห่างจากกรุงปารีสสักเท่าไหร่, ส่วนฉากภายในสร้างขึ้นที่ Studios de Billancourt และ Studios de Neuilly
แม้เรื่องราวส่วนใหญ่ของหนังเกิดขึ้นตอนกลางวัน แต่มักภายในร่มซึ่งสามารถเล่นกับแสงสว่างสาดส่องจากหน้าต่าง ซึ่งเงาที่อาบฉาบพื้นหลังหรือตัวละคร ล้วนมีนัยยะซ่อนเร้นบางอย่างแฝงอยู่
ผมเลือกเอาช็อตนี้ที่พอสังเกตเห็นบอกเลยว่าขนลุกขนพอง! เพราะ Doctor Rémy Germain มีสองเงาปรากฎคนละด้าน แฝงนัยยะถึงสองตัวตนไม่ใช่คนเดียวกัน … ดูหนังไปเรื่อยๆจนถึงช่วงท้าย ก็น่าจะเข้าใจสิ่งที่ผมพยายามจะสื่อนะครับ
Doctor Michel Vorzet เป็นบุคคลที่มีความน่าสนเท่ห์อย่างมาก การมาพบเจอกับ Doctor Germain ยังห้องพัก ชวนคุยพร้อมๆกับเดินไปมารอบห้อง หยิบโน่นนี่นั่นขึ้นเชยชม เรียกเสียงหัวเราะหึๆแต่แฝงนัยยะได้ถึง การกระทำอันมีลับลมคมในบางอย่าง! … ดูหนังไปเรื่อยๆ ถึงตอนจบก็จะเข้าใจเองเฉกเช่นกัน!
อีกา คือสัตว์ปีก นัยยะอย่างที่บอกไปตอนต้นคือความชั่วร้าย … ในบริบทนี้สามารถสื่อได้ถึง Reichsadler (แปลว่า Imperial Eagle) ตราสัญลักษณ์ของประเทศเยอรมันนี
นามปากกาของจดหมาย/บัตรสนเท่ห์ Le Corbeau คือการมาถึงซึ่งอิทธิพลอันชั่วร้าย ข่าวสารลักษณะ ‘ชวนเชื่อ’ แผ่ปกคลุมฝูงชนให้เกิดความหวาดหวั่นสะพรึงกลัว เกิดความเข้าใจผิดเพี้ยน แบ่งแยกถูก-ผิด ดี-ชั่ว ออกจากกันไม่ค่อยได้แล้ว
จดหมายของ Le Corbeau ฉบับที่วางอยู่บนพื้น มุมกล้องนี้พบเห็นฝูงชนมากมายเดินผ่าน สายตาจับจ้องมองแต่กลับหลบหลีกทาง ไม่มีผู้ใหญ่คนไหนริหาญกล้าหยิบอ่านคนแรก เป็นเด็กหนุ่มคนหนึ่งเก็บขึ้นมาด้วยความฉงนสงสัย เหมือนจะยังไม่ทันเปิดออกถูกผู้ใหญ่ฉกแย่งชิง แล้วส่งต่อข่าวลือแพร่สะพัดอย่างรวดเร็วไว
การเลือกถ่ายมุมเงยขึ้น (แทนมุมมองของจดหมาย) แล้วบรรดาผู้ใหญ่จับจ้องมองแต่กลับเดินหลบหลีกทาง สะท้อนความอวดอ้างถือดีของมนุษย์ ตรงกับสำนวน ‘มือถือสากปากถือศีล’ แสร้งทำเป็นไม่สนใจแต่ภายในโคตรใคร่อยากรู้
ความซวยมาตกอยู่ที่พยาบาลคนนี้ Marie Corbin (รับบทโดย Héléna Manson) ด้วยท่าทีเยือกเย็นชาต่อคนไข้ ทำให้ตกเป็นเป้าหมายใส่ความของ Le Corbeau ฝูงชนรอรุมประชาทัณฑ์อยู่ด้านนอกโรงพยาบาล เธอแอบหลบหนีออกด้านหลังวิ่งไปตามท้องถนน พบเห็นมุมกล้องเอียงกระเท่เร่ (Dutch Angle) จนมาถึงห้องพักข้าวของกระจัดกระจายเกลื่อนกลาด บานกระจกแตกร้าว หัวใจแตกสลาย เปิดประตูห้องออกถูกฉุดคร่าไป … จินตนาการต่อกันเองได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นต่อไป
ภาพมุมมองของตัวละครนี้ สะท้อนความบิดเบี้ยวอัปลักษณ์ต่อโลกที่ถูกครอบงำ หลอกลวงด้วยบัตรสนเท่ห์ ต่อให้พูดความจริงออกไปก็ไม่มีใคร่เชื่อถือ มันช่างโหดเหี้ยมอันตราย น่าหวาดสะพรึงกลัวโดยแท้!
โบสถ์คือสถานที่แห่งศรัทธา ‘ความเชื่อ’ ศาสนา แต่การที่จดหมาย/บัตรสนเท่ห์ กลับตกหล่นลงมา จะมองว่าเป็นการสั่นคลอนศีลธรรม/มโนธรรม จิตใจอันดีงามของมนุษย์ก็ยังได้!
ก่อนหน้านี้ โบสถ์ยังเคยเป็นสถานที่ที่ Doctor Rémy Germain นัดพบเจอชู้รัก Laura Vorzet อ้างทำเป็นมาขอพรพระเจ้า แท้จริงคือแลกเปลี่ยนข่าวสาร ทำดีเพียงแค่เอาหน้า จิตใจเต็มไปด้วยความชั่วช้าสามาลย์
ยังมีอีกครั้งหนึ่งที่ Dr. Germain พูดคุยกับ Dr. Vorzet ถามเชื่อในเรื่องพระเจ้าหรือเปล่า คำตอบของเขาคือ
“I’m cautious. When in doubt, I take out insurance. It’s cheap enough”.
สถานที่ของการค้นหาผู้เป็น Le Corbeau คือในห้องเรียนหนังสือ นี่สะท้อนถึงสิ่งพื้นฐาน รากเหง้าของมนุษย์ (เริ่มต้นจากร่ำเรียน อ่านเขียนหนังสือ) ด้วยวิธีการให้เขียนตามจดหมาย จนกว่าลายมือแท้จริงจะปรากฎเปิดเผยออกมา
ถ้าใครรับชมถึงตอนจบ จะรับรู้ว่านี่เป็นการจัดฉาก แผนซ้อนแผน! นัยยะสื่อถึง การศึกษาคือวิธีที่ผู้ใหญ่/คนมีอำนาจ ใช้สำหรับครอบงำ ‘ชวนเชื่อ’ ปลูกฝัง/สร้างค่านิยม โลกทัศนคติบางอย่างให้กับคนรุ่นใหม่
และวิธีที่บรรดาหมอๆใช้กับผู้ต้องสงสัย ดูคล้ายการสะกดจิตขณะที่ร่างกายเหน็ดเหนื่อยอ่อนล้า ร้อยเรียงใบหน้าสลับการบิดนาฬิกา แท่งเหล็กเคาะโต๊ะ หมุนควงสร้อยคอ ฯ กดดันขนาดนี้ไม่ให้ฟุบหมดสติก็กระไรอยู่
ฉากที่มีความนัวร์สุดของหนัง คือการโยกหลอดไฟแกว่งไกวไปมา มีลักษณะคล้ายลูกตุ้มนาฬิกาโยกเยกซ้าย-ขวา สะท้อนถึงโลกปัจจุบันนั้นกำลังก้าวมาถึงยุคสมัยที่ ถูก-ผิด ดี-ชั่ว กลายเป็นสิ่งคลุมเคลือไม่แน่นอน เป้าหมายเพียงหนึ่งเดียวเท่านั้นของมนุษย์คือตนเองมีชีวิตรอด … นี่ถือเป็นแนวคิดทางปรัชญา ผลพวงการมาถึงของสงครามโลกครั้งที่สอง
“You think people are all good or all bad. That Good is light and Evil is dark. But where does each begin? Where does evil end? Are you on the good side or the bad side?”
“Since this tempest of hate and calumny hit our town, all moral values have been corrupted”.
ช็อตสุดท้ายของหนังตรงกันข้ามกับภาพแรก (ที่ถ่ายให้เห็นวิวทิวทัศน์ของเมืองแห่งนี้), กล้องค่อยๆเคลื่อนจากภายในห้องอันมืดมิด Doctor Rémy Germain เปิดหน้าต่าง พบเห็นเด็กๆกำลังเล่นสนุกสนาน และหญิงสวมผ้าคลุมสีดำกำลังเดินจากไป
“It’s horrible to admit, but Evil is a necessity”.
เปรียบได้กับการเปิดหน้าต่างสู่ยุคสมัยใหม่ โลกที่ความดีงาม-ชั่วร้าย อาจไม่ใช่สิ่งถูก-ผิด อีกต่อไป เส้นแบ่งระหว่างสองฟากฝั่งกำลังค่อยๆเลือนลางจางหาย … กาลเวลาได้พิสูจน์แล้วว่า แนวคิด/การพยากรณ์ดังกล่าวคือความจริงแท้!
ตัดต่อโดย Marguerite Beaugé, ดำเนินเรื่องโดยมีบัตรสนเท่ห์คือจุดหมุน แต่ส่วนใหญ่นำเสนอผ่านตัวละคร Doctor Rémy Germain เพราะถือว่ามีความใกล้ตัวผู้เขียนจดหมายพวกนี้มากที่สุด!
เพลงประกอบโดย Tony Aubin (1907 – 1981) คีตกวีสัญชาติฝรั่งเศส ผู้มีความลุ่มหลงใหลใน Maurice Ravel และ Paul Dukas สรรค์สร้างผลงานกลิ่นอาย Impressionism เริ่มต้นมีความไพเราะงดงาม ระยิบระยับราวกับอยู่บนสรวงสวรรค์ แต่ท่วงทำนองค่อยๆผันแปรเปลี่ยน อันตรายความชั่วร้ายค่อยๆคืบคลานเข้ามา สร้างบรรยากาศอันน่าหวาดสะพรึงกลัว จนท้ายสุดเมื่อเปิดหน้าต่างออก โลกใบใหม่แทบไม่ต่างอะไรกับขุมนรก
บัตรสนเท่ห์/จดหมายยาพิษ เมื่อมันค่อยๆเผยแพร่แทรกซึมเข้าไปในจิตใจผู้คน ก็จักค่อยๆกัดกร่อนกินทำลายความบริสุทธิ์ดีงามที่เคยมีอยู่ แปรสภาพสู่ความเห็นแก่ตัวชั่วร้าย โง่งมงายไปกับความเชื่อ/ทัศนคติผิดๆ จนไร้ซึ่งสติปัญญาทบทวนไตร่ตรองครุ่นคิด
เฉกเช่นกันกับการมาถึงของสงครามโลกครั้งที่สอง และ Nazi, Germany เมื่อเข้ายึดครองกรุงปารีส ชักเชิดหุ่นรัฐบาล Vichy ให้พยายามทำทุกสิ่งอย่างเพื่อควบคุม ครอบงำ ปลูกฝังโลกทัศนคติ เผยแพร่ยาพิษสู่ฝูงชนและคนรุ่นใหม่ของฝรั่งเศส
เพื่อความเอาตัวรอดในสถานการณ์ดังกล่าว ชาวฝรั่งเศสเลยแบ่งออกเป็น 2 ฝั่งฝ่าย
– กลุ่มผู้ต่อต้าน Free France พยายามทำทุกอย่างเพื่อขัดขวาง ขับไล่ ทำลายกองทัพเยอรมัน
– กลุ่มผู้สนับสนุนรัฐบาล Vichy อาจด้วยอุดมการณ์เดียวกัน หรือครุ่นคิดตระหนักได้ว่าขัดขืนไปก็ไร้ประโยชน์ เลยยินยอมก้มหัวเป็นผู้แพ้
โลกสมัยก่อนนั้นมันสุดโต่ง จำเป็นต้องเลือกข้างซ้าย-ขวา ระหว่าง Free France ไม่ก็ Vincy ไร้ซึ่งตำแหน่งกึ่งกลาง ถ้าไม่เข้าข้างออกเสียงจักถือว่าคือศัตรูโดยทันที!
Le Corbeau นำเสนอแนวคิดปรัชญาหนึ่ง ไม่เชิงว่าใหม่แต่คือทัศนคติที่โลกสมัยนั้นยังไม่ยินยอมรับกัน เพราะใครๆต้องเลือกข้างซ้าย-ขวา แล้วทำไมถึงไม่มีตำแหน่งกึ่งกลาง! คนดีแต่ทำชั่ว <> คนชั่วแต่ทำดี, ปากอ้าง Vincy แต่จิตใจฝักใฝ่ Free France นั่นอาจคือวิธีการเดียวที่จะสามารถเอาตัวรอดผ่านสงครามโลกครั้งนี้ไปได้
ทัศนคติดังกล่าว ถือว่าสอดคล้องต่อผู้กำกับ Henri-Georges Clouzot ตัวเขาไม่ได้มีความอยากสร้างภาพยนตร์ให้กับ Continental Films สามารถสังเกตอ่านได้จากนัยยะใจความสำคัญ แต่เพื่อการมีชีวิตอยู่รอดท้องอิ่มนั้น คือสิ่ง’จำเป็น’ต้องทำหลีกเลี่ยงไม่ได้! แล้วคุณมีสิทธิ์อะไรมาตัดสินดี-ชั่ว ถูก-ผิด ศาลฝรั่งเศสตั้งใจจะแบบตลอดชีวิต ถ้าไม่ลดโทษลงเหลือเพียงสองปี คงคือความอัปยศเลวร้ายค่ำทราม งามหน้ายิ่งกว่าการสูญเสียกรุงปารีสให้นาซีเสียอีก
สรุปแล้วสิ่งที่ Clouzot นำเสนอออกมาในภาพยนตร์เรื่องนี้ จะถือว่าคือมุมมองส่วนตัว ต่อฝรั่งเศส และโลกยุคสมัยนั้น สิ่งน่ากลัวที่สุดไม่ใช่บัตรสนเท่ห์ นาซี หรือไตรภาคีฝ่ายอักษะ แต่คือจิตใจของพวกเราเองที่กำลังปรับเปลี่ยนแปลงไป เส้นแบ่งบางๆระหว่างดี-ชั่ว ถูก-ผิด กำลังเจือจาง สติค่อยๆเลือนหาย สตางค์เข้ามามีบทบาทใหม่
โลกปัจจุบันนี้ยิ่งแล้วใหญ่เลยนะครับ! การมาถึงของยุคสื่อสารไร้พรมแดน ทำให้ข้อมูลจริง-เท็จ เมื่อกลายเป็นกระแสจักได้รับการเผยแพร่ แชร์ ส่งต่ออย่างรวดเร็วกว้างขวาง แถมนิสัยใจเร็ว-หน้าด้าน ถูก-ผิดฉันไม่สน ขอแค่ได้รับความพึงพอใจส่วนตนก็เพียงพอแล้ว … โลกปัจจุบันนี้ช่างน่าหวาดสะพรึงกลัวโดยแท้!
แม้เสียงตอบรับตอนออกฉายจะแตกเป็นเสี่ยงๆ แต่หนังประสบความสำเร็จล้นหลาม ประมาณการณ์ผู้ชมในฝรั่งเศส แค่เดือนแรกก็กว่า 250,000 คน แล้วก็ถูกแบนห้ามฉายโดย Vinchy goverment
ทีแรกผมรู้สึกเฉยๆกับหนัง แค่ประทับใจแนวคิดของบัตรสนเท่ห์ ช่างโก้เก๋ไม่น้อย! แต่หลังจากมาครุ่นคิดทบทวนตระหนักได้ถึงสิ่งที่คือ ‘ปรัชญา’ การใช้ชีวิตของบุคคลถูกครอบงำความคิด นั่นสร้างความขนลุกขนพอง เจ๋งเป็นบ้า! คลั่งไคล้ในวิวัฒนาการของผู้กำกับ Clouzot ช่างก้าวกระโดดรวดเร็วเสียจริง
“ต้องดูให้ได้ก่อนตาย” อิทธิพลของข่าวลือ/ข่าวปลอม เป็นสิ่งที่น่าหวาดสะพรึงกลัวแท้! สมัยก่อนแค่บัตรสนเท่ห์ ก็สร้างความขี้เหล่ท่ามกลางฝูงชน ยุคสมัยนี้สื่ออินเตอร์เน็ตไปไหวกว่ากันนัก แถมคนไทยมักอ่านหนังสือวันละไม่ถึงบรรทัด แค่ข้อความจ่าหัวก็มโนไปไกล มันช่างน่าละเหี่ยเศร้าใจจริง
จัดเรต 18+ ต่ออิทธิพลของบัตรสนเท่ห์ ทำให้มนุษย์หลงเชื่อโดยขาดสติครุ่นคิดไตร่ตรอง
Leave a Reply