The Devil Probably

The Devil Probably (1977) French : Robert Bresson ♥♥♥♡

ด้วยวัยกว่า 70+ ปี ผู้กำกับ Robert Bresson พบเห็นการเปลี่ยนแปลงของโลกใบนี้ตลอดศตวรรษ 20th เกิดความตระหนักว่าเรากำลังมุ่งหน้าสู่หายนะ วันโลกาวินาศ สรรค์สร้างผลงานสุดสิ้นหวัง The Devil Probably (1977) สงสัยว่าทุกสิ่งอย่างบังเกิดขึ้นอาจเป็นฝีมือของปีศาจ

แต่มันไม่ใช่ฝีมือปีศาจอย่างแน่นอนนะครับ! ความฟ่อนเฟะ เน่าเละเทะของโลกในปัจจุบันนั้น-นี้ ล้วนมีสาเหตุเกิดจาก “มนุษย์” พฤติกรรมละโมบโลภมาก อยากได้อยากมี เทคโนโลยีทำให้ชีวิตสะดวกสบาย แต่กลับไม่มีใครสนใจผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ธรรมชาติรอบตัว ทำลายทุกสรรพสิ่งอย่างเพื่อตอบสนองความพึงพอใจส่วนตน มันใช่ทิศทางถูกต้องเหมาะสมจริงๆนะหรือ?

The Devil Probably (1977) ผลงานรองสุดท้าย (Penultimate) ของผู้กำกับ Robert Bresson จะทำให้ผู้ชมตกอยู่ในความสิ้นหวัง ดำเนินเรื่องผ่านกลุ่มวัยรุ่น ได้รับอิทธิพลจากสรรพสิ่งรอบข้าง พบเห็นหายนะ(จากเงื้อมมือมนุษย์)มากมายบนโลกใบนี้ จนแทบมิอาจอดกลั้นฝืนทน ไม่รู้จะมีชีวิตอยู่ต่อไปเพื่ออะไร … เป็นการระบายความรู้สึกอัดอั้นที่สะสมอยู่ภายในจิตใจผกก. Bresson

โปสเตอร์ของหนังมีความลุ่มลึกอย่างมากๆ ศีรษะชายคนหนึ่งหายไปในหมอกควันโขมง สามารถสื่อถึงความครุ่นคิดฟุ้งซ่าน หรือปัจจัยภายนอกบดบังทัศนียภาพ ทำให้มองไม่เห็นเบื้องหน้า ไม่สามารถก้าวเดินต่อสู่อนาคต, ผลงานของ Raymond Savignac (1907-2002) ขาประจำออกแบบโปสเตอร์ให้ผกก. Bresson (จะมีลายเซ็นต์ Savignac ปรากฎอยู่ในภาพ)

หลายคนอาจยกย่องสรรค์เสริญ The Devil Probably (1977) เคยติดอันดับ 202 (ร่วม) ชาร์ทภาพยนตร์ยอดเยี่ยมตลอดกาลของนิตยสาร Sight & Sound: Critic’s Poll 2012 (หลุดโผไปในการโหวตครั้งล่าสุด) แต่ส่วนตัวกลับไม่ค่อยชอบหนังสักเท่าไหร่ ‘style over substance’ รู้สึกว่ามันอุดมคติ จับต้องไม่ได้ ทัศนคติคับแคบเกินไป … ผมไม่ค่อยชอบสไตล์ Bressonian เป็นการส่วนตัวอยู่แล้วนะครับ ดูอึดอัด ไร้จิตวิญญาณ ชี้นำผู้ชมมากเกินไป โลกมันไม่ได้สิ้นหวังขนาดนั้นหรอกนะ


Robert Bresson (1901-99) ผู้กำกับภาพยนตร์ สัญชาติฝรั่งเศส เกิดที่ Bromont-Lamothe, หลังเรียนจบมัธยมมุ่งสู่ Paris เริ่มจากขายภาพวาด เก็บเงินซื้อกล้องกลายเป็นช่างภาพ ถ่ายทำหนังสั้นเรื่องแรก Public Affairs (1934), ช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่สองเข้าร่วมกลุ่ม French Resistance ถูกล้อมจับกุม ตกเป็นเชลยสงคราม ใช้แรงงานอยู่ในค่ายกักกันนาซี ไม่รู้ถูกปล่อยตัวหรือสามารถหลบหนีเอาตัวรอดได้สำเร็จ แล้วมีโอกาสสรรค์สร้างภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่องแรก Angels of Sin (1943), ค่อยๆพัฒนาสไตล์ลายเซ็นต์ของตนเอง Diary of a Country Priest (1951), ผลงานเด่นๆ อาทิ A Man Escaped (1956), Pickpocket (1959), Au Hasard Balthazar (1966), Mouchette (1967), L’argent (1983) ฯ

สามสิ่งที่สร้างอิทธิพลต่อผกก. Bresson ประกอบด้วยคาทอลิก, งานศิลปะ และประสบการณ์จากค่ายกักกันนาซี หล่อหลอมให้เขามีทัศนคติต่อโลกใบนี้ในทิศทางเหี้ยมโหดร้าย เต็มไปด้วยอันตราย ไม่ต่างจากนรกบนดิน บรรยากาศแห่งความสิ้นหวัง และมักใช้นักแสดงสมัครเล่นทำการถอดวิญญาณ ไร้ชีวิต ไร้ตัวตน เพียง’โมเดล’ขยับเคลื่อนไหวไปตามคำสั่ง

โดยปกติแล้วผลงานของผกก. Bresson มักดัดแปลงจากหนังสือ นวนิยาย หรือบทละคอนชื่อดัง แต่มีเพียงสองครั้งจาก 13+1 ผลงาน (+1 คือหนังสั้น) ประกอบด้วย Au hasard Balthazar (1966) และ The Devil Probably (1977) ทำการครุ่นคิดพัฒนาบทด้วยตนเอง (Original Screenplay) ซึ่งเกิดจากการสังเกตสิ่งต่างๆรอบข้าง แล้วถ่ายทอดประสบการณ์/ความรู้สึกส่วนตัวนั้นๆออกมา

What prompted me to shoot this film is the waste we have made of everything. It’s this mass civilization in which the human being won’t exist any more. This mad restlessness. This huge demolition undertaking where we will die where we thought we lived. It’s also the astounding indifference from people in general except some young ones who are more lucid.

Robert Bresson

พื้นหลังกรุง Paris ช่วงทศวรรษ 1970s เริ่มต้นด้วยภาพข่าวการเสียชีวิตของ Charles นักศึกษาหนุ่มวัยเพียง 20 ปี จากนั้นจึงเล่าเรื่องย้อนอดีต (Flashback) เมื่อหกเดือนก่อนหน้า

Charles เป็นสมาชิกกลุ่มเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม ระหว่างรับชมฟุตเทจเกี่ยวกับภัยพิบัติ เกิดความห่อละเหี่ยใจกับการที่มนุษย์ไม่เคยสนใจธรรมชาติ เอาแต่กอบโกย แสวงหาผลประโยชน์ โดยไม่สนผลกระทบ อนาคตลูกหลาน เขาจึงพยายามครุ่นคิดหาหนทางแก้ปัญหาสังคม การเมือง ศาสนา แต่ก็ไม่พบเจอวิธีการใดๆ เฉกเช่นเดียวกับความสัมพันธ์สามเส้ากับแฟนสาว

  • Alberte แม้ยินยอมย้ายมาอยู่อพาร์ทเม้นท์ของ Charles แสดงความรัก เป็นห่วงเป็นใย แต่หัวใจของเธอกลับหมั้นหมายกับเพื่อนอีกคน Michel
  • Edwige หญิงสาวรักอิสระ เย็นชา คาดว่าครอบครัวคงมีฐานะ เลยไม่ขัดสนเงินทอง แสดงความรักกับ Charles แค่เพียงเปลือกภายนอก เลยไม่สามารถทำความข้าใจปัญหาของอีกฝ่าย

ระหว่างขึ้นรถโดยสารขบวนหนึ่ง มีการพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็น พร่ำบ่นรัฐบาลไม่ช่วยแก้ปัญหาอะไร เช่นนั้นเราควรกล่าวโทษกับใคร? ชายคนหนึ่งตอบว่า .The Devil, Probably?. หลังจากนั้น Charles ก็เริ่มมีท่าทีแปลกๆ ดวงตาเหม่อล่องลอย จับจ้องหลงใหลลูกปืน เสพยามึนเมา เข้าพบจิตแพทย์ จนท้ายสุดขอให้เพื่อนขี้ยา ช่วยเข่นฆ่าตนเอง ณ สุสาน Cimetière du Père-Lachaise


สไตล์ Bressonian เลือกใช้นักแสดงสมัครเล่น ไม่เคยมีประสบการณ์ภาพยนตร์ ไม่จำเป็นต้องใช้ทักษะการแสดงอะไรใดๆ เพราะวิธีการของผกก. Bresson ถ่ายทำหลายสิบ-ร้อยเทค จนพวกเขารู้สึกเหน็ดเหนื่อยอ่อนล้า ท่าทางขยับเคลื่อนไหวจะไร้การปรุงแต่ง ปราศจากอารมณ์/ความรู้สึกนึกคิด นั่นจักคือธรรมชาติชีวิต จิตวิญญาณอันบริสุทธิ์ของมนุษย์ … ผมเรียกวิธีการดังกล่าวว่า ‘ถอดวิญญาณ’ ตรงกันข้ามกับการ ‘สวมบทบาท’

Antoine Monnier ผู้รับบท Charles มองผ่านๆหน้าตาละม้ายคล้าย Timothée Chalamet ใบหน้าซึมๆ รูปร่างผอมบาง ท่าทางเคร่งขรึม ดูซีเรียสจริงจัง แม้วันๆใช้ชีวิตเรื่อยเปื่อย เหมือนจะไร้แก่นสาร แท้จริงเป็นคนฟุ้งซ่าน ขบครุ่นคิดมาก ถูกถาโถมด้วยแรงกดดันรอบข้าง ไม่สามารถยินยอมรับความฟ่อนเฟะ เน่าเละเทะของสังคมมนุษย์ แต่ก็ไม่รู้จะทำอะไรยังไง ไร้หนทางแก้ปัญหาใดๆ ตกอยู่ในความขื่นขม ระทมทุกข์ทรมาน พยายามครุ่นคิดสั้นหลายครั้ง ท้ายสุดเหมือนไม่รับรู้ด้วยซ้ำว่าบังเกิดอะไรขึ้นกับตนเอง

ใบหน้าของ Tina Irissari ผู้รับบท Alberte ดูเศร้าๆ หมองหม่น อมทุกข์ทรมาน (พบเห็นหลั่งน้ำตาบ่อยครั้ง) เธอมีจิตใจอ่อนไหว เป็นห่วงเป็นใย รักเอ็นดู Charles ถึงขนาดยินยอมย้ายมาอยู่อาศัยร่วมอพาร์ทเม้นท์ ทั้งๆตนเองหมั้นหมายอยู่แล้วกับ Michel เพราะครุ่นคิดว่าอีกฝ่ายกำลังมีปัญหา ต้องการคนคอยดูแลชิดใกล้ แต่เขากลับไม่ค่อยสนความรู้สึกของเธอสักเท่าไหร่

แม้ว่า Edwige รับบทโดย Laetitia Carcano จะเป็นหนึ่งในรักสามเส้า คอยให้การช่วยเหลือสนับสนุน Charles แต่ทั้งหมดทั้งมวลล้วนคือด้านกายภาพ เงินทอง สิ่งของนอกกาย ปากบอกว่ารัก แต่จิตใจทั้งสองฝ่ายกลับไม่รับรู้สึกอะไร และถึงแม้ Alberte ยินยอมถอยหลังให้ ความสัมพันธ์ของพวกเขาก็ยังคงไม่พัฒนาไปไหน


ถ่ายภาพโดย Pasqualino De Santis (1927-96) ตากล้องสัญชาติอิตาเลี่ยน น้องชายผู้กำกับ Giuseppe De Santis เกิดที่ Fondi สำเร็จการศึกษาด้านการถ่ายภาพจาก Centro sperimentale di cinematografia (CSC) แล้วทำงานเป็นผู้ช่วยตากล้องภาพยนตร์ของพี่ชาย Non c’è pace tra gli ulivi, Uomini e lupi (1956), The Road a Year Long (1958), La garçonnière (1960), ผลงานเด่นๆ อาทิ Romeo and Juliet (1968), The Damned (1970), Death in Venice (1971), The Mattei Affair (1972), Lancelot du Lac (1974), The Devil Probably (1977), L’Argent (1982) ฯ

งานภาพสไตล์ Bressonian มักก้มหน้าก้มตา (ถ่ายติดพื้นดิน) บันทึกภาพรายละเอียดการกระทำ บีบบังคับให้ผู้ชมจับจ้องในกรอบขอบเขตกำหนดไว้ มักไม่ค่อยพบเห็นใบหน้า ปฏิกิริยาอารมณ์ หรือภาพถ่ายทิวทัศน์มุมกว้าง เพื่อสร้างความอึดอัด คับแคบ รู้สึกหวาดระแวง สัมผัสถึงแรงกดดันถาโถมเข้าใส่ (จากสิ่งที่มองไม่เห็น) … ภาพยนตร์ของผกก. Bresson เลยคละคลุ้งด้วยบรรยากาศสิ้นหวัง ความตาย วันโลกาวินาศ

โทนสีสันก็เฉกเช่นเดียวกัน (ผลงานส่วนใหญ่ของผกก. Bresson มักถ่ายทำด้วยฟีล์มขาว-ดำ ผมเลยเพิ่งมาเริ่มสังเกตจาก 2-3 เรื่องสุดท้าย) ดูทะมึน อึมครึม ตัวละครมักอยู่ในเงามืด (ฉากกลางแจ้งตอนกลางวัน ก็มักเลือกช่วงเวลาที่ก้อนเมฆบดบังพระอาทิตย์) และมักไม่มีค่อยพบเห็นสีที่มีสดใส (อย่างแดงกับเขียวจะถูกลดระดับความเข้มให้จืดชืด ไร้ชีวิตชีวา)


เริ่มต้นหนังด้วยภาพรองเท้า! ใครคนหนึ่งพยายามเสี้ยมสอนวิธีการก้าวเดินที่ถูกต้อง เราควรต้องขยับซ้าย-ขยับขวา ให้สองข้างเกิดความเพียงพอดี รองเท้าจะมีอายุการใช้งานได้นาน แต่นอกจากชายคนนี้ ไม่มีใครอื่นสามารถก้าวเดินเด่นนั้น พื้นรองเท้าจึงสึกหรอไม่เท่ากัน!

ผมครุ่นคิดว่าผกก. Bresson ต้องการสื่อถึงทิศทางของมนุษยชาติ มีความเจริญก้าวหน้าสุดโต่งเกินไป! มุ่งเอาแต่พัฒนาเทคโนโลยีทันสมัยใหม่ โดยไม่สนผลกระทบต่อสภาพแวดล้อม นั่นทำให้โลกใบนี้กำลังจะสูญเสียสมดุล ทุ่มให้กับฟากฝั่งหนึ่งมากเกินไป ในอนาคตย่อมก่อให้เกิดภัยพิบัติ หายนะ วันสิ้นโลกาวินาศ

รถโดยสารกำลังออกเดินทางมุ่งสู่ … หลังจากซีเควนซ์นี้ Charles และผองเพื่อนกำลังปิกนิคริมคลองที่มีสารเคมีปนเปื้อน ถูกทางการสั่งห้ามลงเล่นน้ำ ตกปลา แต่ไม่กลับมีใครสนใจคำเตือนสักคน!

สอดคล้องกับหัวข้อพูดคุยของคนแปหลายหลกหน้าบนรถโดยสาร พร่ำบ่นถึงความไม่มีประสิทธิภาพของรัฐบาล จากนั้นมีคนตั้งคำถาม ใครกันคือผู้อยู่เบื้องหลัง คอยชี้ชักนำทาง จูงจมูกมนุษยชาติมุ่งสู่หายนะ?

It’s true that something is driving us against our will. You have to go along with it. And we do go along with it. Who is it that’s making a mockery of humanity? Who’s leading us by the nose?

ชายคนนี้เหมือนพูดเล่นๆ แต่ท่าทางจริงจัง “The Devil, Probably.” พอดิบพอดีคนขับรถโดยสารหยุดจอดกลางคัน ได้ยินเสียงรถคันหลังบีบแตรลั่น ชักชวนให้ผู้ชมขบครุ่นคิดว่า ใครกันแน่คือปีศาจ/ซาตาน? พนักงานขับรถโดยสาร? หรือคนขับรถคันหลัง?

ซีเควนซ์สนทนากับจิตแพทย์ น่าจะทำให้หลายคนได้รับคำตอบ ปริศนาของ Charles ทำไมถึงมีสภาพท้อแท้สิ้นหวัง? เคยครุ่นคิดสั้น อยากจะฆ่าตัวตาย เพราะรับไม่ได้กับวิถีทางของโลกขณะนั้น เหมือนมีใครบางคนคอยควบคุมครอบงำ ชีวิตไร้ซึ่งอิสรภาพ สูญเสียความเป็นตัวตนเอง

I’m not depressed. I just want the right to be myself. I don’t want to be forced to give up wanting, to replace my true desires with false ones based on statistics, surveys, formulae, ultra-stupid American-Russian scientific classifications. I don’t want to be a slave or a specialist.

Charles

แต่จิตแพทย์(ยุคสมัยนั้น)ยังไม่สามารถเข้าใจปัญหาของ Charles ทำได้เพียงสอบถามถึงสิ่งที่ส่งผลกระทบต่อร่างกายทางตรง (ในเชิงรูปธรรม) เคยถูกบิดาทุบตีไหม? มีปัญหาเพศสัมพันธ์กับแฟนสาวหรือเปล่า? อาจคือข้อจำกัดวงการแพทย์ยุคสมัยนั้นกระมัง

แซว: ซีเควนซ์นี้ชวนให้ผมนึกถึงผลงานของ Jean-Luc Godard หลายๆเรื่องมักมีการสนทนาวิชาการ สำหรับอธิบายเหตุผลบางสิ่งอย่าง

ตอนที่ Charles ชะโงกหน้ามายังลิ้นชักของจิตแพทย์ พบเห็นเช็ค เงินสด ในบริบทนี้อาจสื่อถึงสินบนใต้โต๊ะ ชายคนนี้อาจไม่ได้มีความรู้ความสามารถอะไร เพียงเส้นสายคนรู้จัก เลยร่ำรวยมั่งคั่งเพียงนี้ … และโดยไม่รู้ช็อตเล็กๆนี้นำไปสู่ภาพยนตร์เรื่องสุดท้าย L’Argent (1983) ของผกก. Bresson

I don’t want to die… I hate life but I hate death too.

Charles

แม้ว่า Charles เคยครุ่นคิด พยายามจะฆ่าตัวตายหลายครั้ง เหตุผลที่ทำไม่สำเร็จไม่ใช่เพราะหวาดกลัวความตาย แต่พยายามมองหาคำตอบ หนทางออก วิธีแก้ปัญหา ต้องการเชื่อว่าโลกใบนี้ยังมีพอมีความหวัง

แต่การเลือกตัวช่วยเพื่อนขี้ยาให้ช่วยเข่นฆาตกรรม หมอนี่ไม่ได้มีสามัญสำนึก สัมปชัญญะ แทนที่จะโน้มน้าว พยายามหยุดยับยั้ง กลับไร้ความลังเลเมื่อเดินทางมาถึงสุสาน Cimetière du Père-Lachaise เสร็จภารกิจก็เก็บเงินแล้วรีบวิ่งหนี หายลับไปในความมืดมิด เส้นทางแห่งความสิ้นหวัง … ตลอดทั้งซีเควนซ์สามารถมองในเชิงสัญลักษณ์ การเดินทางมุ่งสู่จุดจบของมนุษย์ชาติ

แซว: ผมโคตรไม่เข้าใจความหมายของ “Worthy of the ancient Romans.” อะไรสิ่งทรงคุณค่าสำหรับชาวโรมัน? เงินทอง? เกียรติยศ? ความจงรักภักดี? แต่พฤติกรรมของเพื่อนขี้ยาคนนี้ ผมมองว่าเป็นการทรยศหักหลัง Charles ไม่ได้มีความคุ้มค่าเลยสักนิด!

ตัดต่อโดย Germaine Artus ร่วมงานผกก. Robert Bresson ตั้งแต่ The Trial of Joan of Arc (1962) จนถึง The Devil Probably (1977),

หนังเริ่มต้นด้วยนำเสนอข่าวการเสียชีวิตของ Charles (แบบเดียวกับ Citizen Kane (1941)) จากนั้นเล่าย้อนอดีต (Flashback) กลับไปเมื่อหกเดือนก่อนหน้า เพื่อชักชวนให้ผู้ชมสังเกต ขบครุ่นคิดหาเหตุผล เพราะอะไร? ทำไม? นักศึกษาหนุ่มคนนี้ถึงคิดสั้นฆ่าตัวตาย?

  • แรงกดดันถาโถมเข้าใส่
    • Charles เข้าร่วมการชุมนุมกลุ่มเคลื่อนไหวใต้ดิน แต่เขาไม่เห็นด้วยกับวิธีการสักเท่าไหร่
    • Alberte ขนข้าวของย้ายออกจากบ้าน มาปักหลักอาศัยอยู่กับ Charles
    • Charles เข้าร่วมพูดคุยในโบสถ์ แต่ศาสนาก็ไม่ช่วยอะไร
    • รับชมฟุตเทจสารคดีสิ่งแวดล้อมที่กำลังถูกทำลายโดยมนุษย์
  • ชีวิตดำเนินไปอย่างไร้เป้าหมาย
    • Michel พยายามให้ความช่วยเหลือ Charles แต่อีกฝ่ายกลับไม่ยินยอมรับ หนำซ้ำค่ำคืนนี้ยังขึ้นรถไปกับหญิงสาวคนใหม่
    • ค่ำคืน Charles เตร็ดเตร่ริมแม่น้ำ Seine ลุ่มหลงในกระสุนปืน ก่อนหวนกลับมารับประทานอาหารที่อพาร์ทเม้นท์
    • หลังเข้าห้องเรียน Charles และ Michel ขึ้นรถโดยสาร โต้ถกเถียงกับผู้คน
    • Charles และผองเพื่อนเดินทางไปเล่นน้ำ (ที่มีสารปนเปื้อน)
  • ชีวิตบนความสิ้นหวัง
    • Charles ให้ความช่วยเหลือเพื่อนขี้ยา จากนั้นตนเองก็เริ่มพี้ตาม แต่ไม่นานก็ถูกทรยศหักหลัง
    • พูดคุยถกเถียงกับจิตแพทย์ แต่ก็ไม่มีอะไรปรับเปลี่ยนแปลง
    • ฝากเพื่อนซื้อปืน แล้วจ่ายค่าจ้างสำหรับฆาตกรรม

ส่วนของเพลงประกอบ แม้ปรากฎเครดิตของ Philippe Sarde แต่ทั้งหมดล้วนเป็น ‘diegetic music’ มารับเชิญบรรเลงออร์แกนในวิหาร Église Saint-Eustache, นอกจากนี้ยังมีวงดนตรีริมแม่น้ำ Seine, และแผ่นเสียงผมเห็นแวบๆปกของ J.S. Bach (Les Grandes Cantates Vol.25) แต่กลับได้ยินบทเพลง Claudio Monteverdi: Ego dormio (1625) ออร์เคสตราโดย R.P. Émile Martin

การเริ่มต้นด้วยภาพข่าวหนังสือพิมพ์ ประกาศความตายของ Charles แล้วถึงค่อยเล่าย้อนอดีต (Flashback) หกเดือนก่อนหน้า ก็เพื่อชักชวนให้ผู้ชมขบครุ่นคิด ไขปริศนา เพราะเหตุใด? ทำไมนักศึกษาหนุ่มคนนี้ถึงคิดสั้นฆ่าตัวตาย?

Charles มีชีวิตเติบโตขึ้นในสภาพแวดล้อมรายรอบด้วยหายนะ ภัยพิบัติ สงคราม(เย็น) สังคมเสื่อมโทรมทราม เต็มไปด้วยความขัดแย้ง ผู้คนมักมาก เห็นแก่ตัว จิตใจคอรัปชั่น ไม่เว้นแม้แต่แฟนสาวทั้งสอง ไม่มีใครสามารถเป็นที่พึ่งพักพิง เลยรู้สึกท้อแท้ ตกอยู่ในความสิ้นหวัง ถึงขนาดเคยครุ่นคิดสั้น อยากจะฆ่าตัวตายหลายครั้ง สุดท้ายเหมือนไม่รับรู้ด้วยซ้ำว่าบังเกิดอะไรขึ้น

แต่ว่ากันตามตรง Charles ไม่ได้พานผ่านชีวิตทุกข์ยากลำบาก เงินทองก็มีพอใช้สอย อพาร์ทเม้นท์ซุกหัวนอน แถมหน้าตายังหล่อเหลา สามารถเปลี่ยนหญิงสาวไม่ซ้ำหน้า สร้างความอิจฉาริษยาแก่ผู้ชมยิ่งนัก! สารพัดปัญหาชีวิตกล่าวมาย่อหน้าที่แล้ว ล้วนเป็นสิ่งเหินห่างไกล มองไม่เห็น จับต้องไม่ได้ (ออกไปในเชิงนามธรรม) แต่กลับนำมาสร้างแรงกดดันให้ตนเอง บังเกิดความตรึงเครียด ว้าวุ่นวายใจ จนแทบอดรนทนไม่ไหว

โลกปัจจุบันนี้คงเป็นไปได้ยากที่จะสอนว่า “อย่าไปเสือกเรื่องชาวบ้าน” เพราะสังคมออนไลน์ทำให้ข้อมูลข่าวสารไหลมาเทมา มันช่างเอ่อล้น ท่วมท้น มากยิ่งกว่าสมัยเก่าก่อนหลายร้อยพันเท่า แต่ภูมิคุ้มกันของคนเราก็เพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน ทำให้มีความเพิกเฉยเฉื่อยชินชา ไม่ยี่หร่าต่อปัญหาสังคม การเมือง สภาพแวดล้อม แบบเดียวกับ TickTok อารมณ์ไหลมาแล้วก็ผ่านไป เศร้าได้หนึ่งนาที ประเดี๋ยวสนุกสนานเริงร่า … สิ่งใดๆล้วนไม่ได้มีความสลักสำคัญอีกต่อไป

เมื่อตอนผมรับชม A Brighter Summer Day (1991) ผู้กำกับ Edward Yang พยายามจะขยับขยายปัญหาวัยรุ่นจากเล็กสู่ใหญ่ เริ่มจากตนเอง-ครอบครัว-เพื่อนฝูง-โรงเรียน-สังคม-ประเทศ-โลกและจักรวาล, คล้ายๆแบบ The Devil Probably (1977) ผกก. Bresson พยายามแสดงให้เห็นถึงความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อม สังคม การเมือง ศาสนา (อิทธิพลภายนอก) รวมถึงอิสรภาพทางเพศของคนหนุ่มสาว ภายหลังเหตุการณ์ Mai ’68 (ความขัดแย้งจิตใจ)

แต่ในขณะที่ผู้กำกับ Yang มุ่งเน้นนำเสนอปัญหาวัยรุ่น ค้นหาอิทธิพล แรงจูงใจ เพราะเหตุใด ทำไม อะไรนำสู่เหตุการณ์โศกนาฎกรรม, ผกก. Bresson สนเพียงระบายความรู้สึกอึดอัดอั้น ท้อแท้สิ้นหวัง รับไม่ได้กับสภาพสังคมเสื่อมทราม ตระหนักว่าโลกใบนี้กำลังมุ่งสู่หายนะ วันโลกาวินาศ … แม้ตอนจบจะละม้ายคล้ายคลึง แต่เป้าหมายของผู้สร้างถือว่าดำเนินไปคนละทิศทาง

จริงๆแล้วมนุษยชาติไม่ได้สิ้นหวังขนาดนั้น! แต่ทัศนคติของผกก. Bresson มาจากประสบการณ์ส่วนตัว (ที่เคยตกเป็นเชลยสงคราม) เลยมีความรุนแรง สุดโต่ง (Radical) มองโลกในแง่ร้าย เพื่อให้ผู้ชมสามารถเปิดมุมมอง ตระหนักถึงผลกระทบ ความเปลี่ยนแปลง หายนะอาจบังเกิดขึ้นบนโลกใบนี้!

Shooting this film in 1977 was a crazy act of clairvoyance. The film is punk, ecological, romantic, radical, desperate, and yet endowed with the energy and vitality of rebellion.

นักวิจารณ์ Bertrand Bonello

หลายคนมอง The Devil Probably (1977) คือคำพยากรณ์อนาคต ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เข้าใกล้มนุษย์มากขึ้นเรื่อยๆ ปัจจุบันถือว่าส่งผลกระทบอย่างมากๆต่อการดำรงชีวิต ปัญหาฝุ่นควัน เอลนีโญ เดี๋ยวร้อน-เดี๋ยวหนาว ฝนฟ้าไม่ตกต้องตามฤดูกาล ฯ นี่ไม่ใช่ฝีมือปีศาจ/ซาตานตนไหน แต่คือความเห็นแก่ตัว ละโมบโลภมากของมนุษย์ด้วยกันเองทั้งนั้น!


การเข้าฉายในฝรั่งเศสเต็มไปด้วยความขัดแย้ง ถึงขนาดรัฐบาลสั่งห้ามผู้ชมอายุต่ำกว่า 18+ เพราะกลัวว่าเยาวชนจะลอกเลียนแบบตาม! จากนั้นเดินทางต่อไปยังเทศกาลหนังเมือง Berlin (ช่วงนั้นยังจัดงานต้นเดือนกรกฎาคม) สองคณะกรรมการตัดสินปีนั้น นักวิจารณ์ Derek Malcolm และผู้กำกับ Rainer Werner Fassbinder ต่างพยายามล็อบบี้สมาชิก ขู่จะลาออก(จากการเป็นกรรมการ) ถ้าภาพยนตร์เรื่องนี้ถูกมองข้าม ผลลัพท์สามารถคว้ามาสามรางวัล น่าเสียดายพ่ายแพ้ Golden Berlin Bear ให้กับ The Ascent (1977)

  • Silver Berlin Bear: Special Jury Prize (ที่สอง)
  • OCIC Award – Recommendation: Competition
  • Interfilm Award: Competition

Le diable probablement is the most shattering film I’ve seen this Berlin Festival. I think it’s a major film… In the future this film will be more important than all the rubbish which is now considered important but which never really goes deep enough. The questions Bresson asks will never be unimportant.

Rainer Werner Fassbinder

ปัจจุบันหนังได้รับการบูรณะ คุณภาพ 4K ด้วยงบประมาณจากกองทุน CNC (Centre National du Cinéma) เสร็จสิ้นเมื่อปี ค.ศ. 2022 สามารถหาซื้อ Blu-Ray ของค่าย Gaumont น่าเสียดายไม่มีของแถมใดๆ

ถึงผมเห็นด้วยกับแนวคิดของผกก. Bresson โลกปัจจุบันนั้น-นี้ มีความฟ่อนเฟ่ะ เน่าเละเทะ กำลังมุ่งสู่ทิศทางแห่งหายนะ ใกล้ถึงวันโลกาวินาศ แต่การจมปลักอยู่กับความสิ้นหวัง มันคือทัศนคติอันคับแคบ เห็นแก่ตัว ปิดกั้นตนเอง ไม่ยินยอมรับความเปลี่ยนแปลง มองโลกในแง่ร้ายเกินไป

ผมเคยอ่านเจอว่าผกก. Bresson พยายามฆ่าตัวตายหลายครั้ง (ใครเคยรับชมหลายๆผลงาน น่าจะพบเห็นตอนจบลักษณะคล้ายๆกันนี้บ่อยครั้ง) แต่จนแล้วจนรอด ไม่ได้มีความหาญกล้าเพียงพอ เลยใช้สื่อภาพยนตร์ระบายความอึดอัดอั้นทรวงใน ถ่ายทอดอารมณ์สิ้นหวังของศิลปิน … การรับชมผลงานของผกก. Bresson เหมือนไดอารี่คนอยากตาย ดูแล้วอึดอัด ทรมาน ผมเลยไม่ค่อยถูกจริตสักเท่าไหร่

จัดเรต 18+ กับบรรยากาศสิ้นหวัง มั่วกาม เสพยา อัตวินิบาต

คำโปรย | The Devil Probably คำพยากรณ์วันโลกาวินาศของผู้กำกับ Robert Bresson ไม่ใช่ฝีมือปีศาจ แต่มนุษย์ด้วยกันเองทั้งนั้น
คุณภาพ | วิ
ส่วนตัว | ไม่ถูกจริต

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: