Le gamin au vélo (2011) : Dardenne brothers ♥♥♥♥♡
พ่อฝากลูกชายไว้สถานรับเลี้ยงแล้วล่องจุ๊นหนีหายตัวไป ไม่เชื่อว่าจะถูกทอดทิ้งเลยปั่นจักรยานติดตามค้นหา ได้รับความช่วยเหลือจากหญิงแปลกหน้าในที่สุดก็พบเจอ แต่เด็กชายจำต้องเรียนรู้จักการเผชิญหน้าและยินยอมรับความจริงในชีวิต, คว้ารางวัล Grand Prix (ที่สอง) จากเทศกาลหนังเมือง Cannes ควรค่าอย่างยิ่ง “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย”
เมื่อถึงจุดๆหนึ่งระหว่างรับชม ผมเกิดอาการหงุดหงิดหัวเสียอย่างมาก หนังทรงคุณค่าระดับนี้ทำไมยังไม่ดีพอคว้า Palme d’Or พอตรวจสอบดูเรื่องไหนได้รางวัล ปรากฎว่าเป็น The Tree of Life (2011) ของผู้กำกับ Terrence Malick เลยจำใจต้องยินยอมรับความพ่ายแพ้อย่างเซ็งๆ (คือถ้าเข้าฉายปีอื่น สองพี่น้อง Dardenne น่าจะคว้าแฮตทริกรางวัล Palme d’Or ได้แน่ๆ)
The Kid with a Bike ได้ยินชื่อครั้งแรกน่าจะทำให้ใครๆหวนระลึกถึง Bicycle Thieves (1948) โคตรหนัง Neorealist ในตำนานของผู้กำกับ Vittorio De Sica แน่นอนว่ามีหลายๆแนวคิดเหมือนอ้างอิงถึง แต่ที่คล้ายคลึงกว่าผมว่า
– The Night of the Hunter (1955) กำกับโดย Charles Laughton
– Les Quatre Cents Coups (1959) ของผู้กำกับ François Truffaut
– L’Enfance Nue (1968), À nos amours (1983), Van Gogh (1991) ของผู้กำกับ Maurice Pialat
– Kes (1969) ของผู้กำกับ Ken Loach
– และหลายๆผลงานของผู้กำกับ Éric Rohmer กลิ่นอาย บรรยากาศ โทนสีสัน แลดูมีความใกล้เคียงกันอย่างมาก (แต่สองพี่น้อง Dardenne เคยให้สัมภาษณ์ แค่เคยผ่านตาเพียงสองสามเรื่อง ไม่ได้รับอิทธิพลมาสักเท่าไหร่)
และในบรรดาผลงานของสองพี่น้อง Dardenne brothers เรื่องนี้ค่อนข้างมีความผิดแผกแตกต่างจากปกติพอสมควร แม้ยังคงปักหลักถ่ายทำยังบ้านเกิด Seraing, Liège แต่สิ่งที่ปรับเปลี่ยนไป อาทิ
– เป็นครั้งแรกที่ถ่ายทำช่วงฤดูร้อน (เรื่องอื่นๆมักรอคอยฤดูหนาว เพื่อสัมผัสยะเยือกเย็นชา โลกแลดูเสื่อมโทรมทรามถึงกาลจบสิ้น) โทนสีสันจึงมีความสว่าง สดใส แลดูอบอุ่น กระชุ่มกระชวยหัวใจ
– แม้ว่า Point-of-View จะยังคงเป็นของเด็กชาย Cyril Catoul แต่เรื่องราวถือว่าดำเนินคู่ขนานกับ Samantha
– และครั้งแรกของการใส่บทเพลงที่เป็น Non-Diegetic ได้ยินสามครั้งในท่วงทำนองเดียวกัน (บทเพลงของ Beethoven)
Jean-Pierre Dardenne (เกิดปี 1951) และ Luc Dardenne (เกิดปี 1954) สองพี่น้องเกิดที่ Seraing, Liège เมืองอุตสาหกรรมทางตอนใต้ประเทศ Belgium เขตพูดภาษาฝรั่งเศส ครอบครัวชนชั้นทำงาน, เมื่อปี 1960 พานพบเห็นการประท้วงต่อสู้เรียกร้องสิทธิพื้นฐานแรงงานที่แพร่ขยายไปทั่วยุโรป (Labour Movement) ต่อมาเริ่มพบเห็นความเสื่อมถดถอย เหมือง/โรงงานหลายแห่งเริ่มปิดกิจการ ผู้คนตกงานมากมาย
เมื่อเติบโตขึ้น Jean-Pierre เข้าเรียนสาขาการแสดง (ต้องการเป็นนักแสดง) ระหว่างนั้นมีโอกาสพานพบเจอกลายเป็นลูกศิษย์ Armad Gatti (หนึ่งในผู้กำกับ French New Wave ฝั่ง Left Bank) ต่อมาได้งานเป็นผู้ช่วย ร่วมกันสร้างวีดิโอ ถ่ายทำสารคดีหลายเรื่อง, ขณะที่ Luc สอบเข้าคณะปรัชญา (ตั้งใจเป็นครู) แต่กลับใช้เวลาติดตามพี่มาร่วมสร้างหนังด้วยกัน
หลังจาก Gatti ร่ำลาออกเดินทางต่อสู่ Germany เมื่อปี 1974 สองพี่น้องเลยตัดสินใจซื้อกล้องวีดีโอ เริ่มต้นโปรเจคที่เป็นของตนเอง สรรค์สร้างสารคดีรวมแล้วประมาณกว่า 80 เรื่อง! ทศวรรษถัดมาก่อตั้งบริษัท Les Filmes du Fleuve เปลี่ยนมาสร้างภาพยนตร์คนแสดง สองเรื่องแรกได้เสียงตอบรับไม่ดีเท่าไหร่ Falsch (1987), Je pense a vous (1992), จนกระทั่งค้นพบแนวทางที่ใช่ แจ้งเกิดโด่งดังระดับนานาชาติกับ La Promesse (1996), Rosetta (1999) **คว้ารางวัล Palme d’Or, Le fils (2002), L’Enfant (2005) **คว้ารางวัล Palme d’Or, Lorna’s Silence (2008)
สำหรับ Le gamin au vélo หรือ The Kid with a Bike ได้แรงบันดาลใจระหว่างสองพี่น้อง Dardenne เดินทางไปโปรโมท Le fils (2002) ยังประเทศญี่ปุ่น มีโอกาสพบเจอผู้พิพากษา เล่าให้ฟังถึงเด็กชายถูกพ่อทอดทิ้งไว้ยังบ้านบุญธรรม ปากบอกเมื่อไหร่มีเงินจะกลับมา แต่จนแล้วจนรอดหนีหายตัวไปเลย
แนวคิดดังกล่าวถือว่าน่าสนใจ แต่สองผู้กำกับยังไม่สามารถครุ่นคิดสร้างเรื่องราวที่เหมาะสมออกมาได้ จนกระทั่งเกิดแรงบันดาลใจตัวละคร Samantha
“It finally came together when we introduced the idea of the boy into the story of another character, that of Samantha. So instead of just telling the tale of an abandoned child, we decided to work on one of two people being changed by being brought together”.
– Jean-Pierre Dardenne
บทหนังใช้เวลาพัฒนาหนึ่งปีเต็ม ฉบับแรกๆเขียนให้ Samantha อาชีพหมอ/จิตแพทย์ แต่ต่อมาปรับเปลี่ยนเป็นช่างทำผม และเรื่องราวมีลักษณะเหมือนเทพนิยาย (Fairytale) โดยที่เด็กชายได้มีโอกาสพบเจอเธอที่เหมือนดั่งแม่พระ/นางฟ้ามาโปรด พร้อมให้ความช่วยเหลือทุกสิ่งอย่าง เพื่อก้าวข้ามผ่านช่วงเวลาแห่งความทุกข์ยากลำบาก
“[Samantha’s] a woman who helps a boy emerge from the violence that holds him prisoner”.
Cyril Catoul (รับบทโดย Thomas Doret) เด็กชายวัย 11 ขวบ ถูกทอดทิ้งยังสถานรับเลี้ยงเด็กที่เมือง Seraing, Liège พยายามโทรติดต่อหาพ่อ หลบหนีจากโรงเรียนไปอพาร์ทเม้นท์หลังเก่า ขณะกำลังดิ้นรนโอบกอด Samantha (รับบทโดย Cécile de France) เจ้าของร้านทำผมที่ก็ไม่รู้มาทำอะไรในคลินิค เธอตัดสินใจติดตามหาซื้อคืนจักรยานคันเก่าให้เขา แถมยังอาสารับเลี้ยงดูแลวันหยุดให้อีก
แต่ Cyril จ้องแต่จะเอารัดเอาเปรียบน้ำใจ Samantha ใช้เวลาวันหยุดไปกับการปั่นจักรยานค้นหาตัวพ่อ Guy Catoul (รับบทโดย Jérémie Renier) เธอจึงให้การช่วยเหลือจนติดตามพบเจอ แต่เขากลับปฏิเสธ ไม่ต้องการ เรียกร้องที่จะเริ่มต้นชีวิตใหม่! ภาระเลยตกลงมายังหญิงแปลกหน้าผู้นี้ แม่ก็ไม่ใช่ ญาติก็ไม่เชิง แต่ทำไมยินยอมรับเลี้ยงดูแลเด็กชาย ที่กลายเป็นคนหัวขบถ เสเพล คบเพื่อนเลว แถมยังใช้กำลังรุนแรง สาเหตุอันเนื่องมาจากยังยินยอมรับการจากไปของพ่อไม่ได้
นำแสดงโดย Thomas Doret (เกิดปี 1996) สัญชาติ Belgian เกิดที่ Seraing วัยเด็กฝึกหัดคาราเต้และเทนนิสตั้งแต่ 6 ขวบ ทดลองสมัครคัดเลือกนักแสดง และได้รับบทนำแจ้งเกิดโด่งดัง The Kid with a Bike (2011), ติดตามด้วยสมทบ Renoir (2012), แต่พอโตขึ้นยังค้นไม่พบความสำเร็จสักเท่าไหร่
รับบท Cyril Catoul เด็กชายหนุ่มผู้มีความเชื่อมั่นอย่างร้อนแรงกล้า ไม่ปักใจเชื่อว่าพ่อแท้ๆจะทอดทิ้งตน แต่เมื่อพานพบเจอความจริงไม่สามารถยินยอมรับได้ ขณะกำลังผันสู่ความรุนแรง คบเพื่อนชั่ว โชคยังดีมี Samantha แม้เธอเป็นคนแปลกหน้าแต่กลับให้ความช่วยเหลือเขาอย่างบริสุทธิ์ใจ
คงเป็นรูปลักษณ์และสายตาอันมุ่งมั่นของเด็กชาย ถูกใจสองผู้กำกับเลยคัดเลือกมารับบทนำ ให้คำแนะนำการแสดงสั้นๆเพียงว่า
“[Do] not to give up what the character was doing under any circumstance”.
แต่ก็ไม่ใช่แค่การกระทำ ท่วงท่าทางเคลื่อนไหว หรือทักษะปั่นจักรยานที่โดดเด่น สีหน้าที่แสดงออกมาเวลาผิดหวัง ซึมเศร้า เคล้าน้ำตา ต้องชมเลยว่ากลั่นอารมณ์ออกมาจากภายในจนผู้ชมสามารถสัมผัสจับต้องได้ แม้ถูกบดบังไปบ้างด้วยไดเรคชั่นของสองผู้กำกับ Dardenne แต่ก็เพียงพอกลบจุดด้อยไม่ให้ชัดเจนขึ้นมา
Cécile de France (เกิดปี 1975) นักแสดงหญิงสัญชติ Belgian เกิดที่ Namur, ตอนอายุ 17 มุ่งสู่ Paris ร่ำเรียนการแสดงจาก Jean Paul Denizon ต่อด้วยศึกษาต่อ École Nationale Supérieure des Arts et Techniques du Théâtre ได้รับการค้นพบเจอโดย Dominique Besnehard, แจ้งเกิดโด่งดังกับ High Tension (2003), Around the World in 80 Days (2004), L’Auberge espagnole (2002), Les Poupées russes (2005), Hereafter (2010) ฯ
รับบท Samantha เจ้าของร้านทำผม ที่ก็ไม่รู้ติดใจอะไรกับการกอดของ Cyril เลยตัดสินใจให้การช่วยเหลือทุกสิ่งอย่าง เริ่มจากติดตามหาซื้อคืนจักรยานคันโปรด ตามด้วยพักอาศัยอยู่บ้านวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ พาไปพบเจอพ่อ พยายามกีดกันขัดขวางไม่ให้คบเพื่อนพาล และเมื่อเขาใช้ความรุนแรงทำร้ายก็พร้อมยกโทษให้อภัย จนเป็นเหตุให้ต้องเลิกร้างราแฟนหนุ่ม
สองผู้กำกับไม่ได้เลือก France เพราะเธอเป็นนักแสดงมีชื่อเสียงโด่งดัง แต่เพราะภาพลักษณ์ที่ดูอบอุ่น จริงใจ พร้อมเปิดรับสิ่งใหม่ๆโดยง่าย และเห็นว่าเสียงพูดฝรั่งเศส ติดสำเนียง Seraing ตรงตามความต้องการพอดิบพอดี
แม้ส่วนใหญ่จะหลุดเฟรม (นอกสายตาเด็กชาย) แต่ผู้ชมสามารถสัมผัสได้ถึงความอ่อนไหว น้ำเสียงนุ่มนวล (เกรี้ยวกราดบ้างบางที แต่ส่วนใหญ่พูดด้วยสติ ไม่ใช่ด้วยอารมณ์) จนแลดูเหมือนแม่พระ/นางฟ้ามาโปรด ทุ่มเทเสียสละตนเองเพื่อเด็กชาย ราวกับเป็นลูกแท้ๆในไส้ตนเอง
อะไรคือสิ่งที่ทำให้ Samantha กลายเป็นดั่งแม่พระ? สองผู้กำกับจงใจไม่ให้คำอธิบายใดๆ ปล่อยอิสระแล้วแต่จะครุ่นคิดตีความกันไปเอาเอง ซึ่งนักวิจารณ์ส่วนใหญ่ล้วนมองไปแนวทางเดียวกัน พบเจอตัวละครฉากแรกที่คลินิค กอดได้แต่อย่าแรง นั่นแสดงว่าเธอเพิ่งแท้งหรือสูญเสียบุตรไปไม่นาน การพบเจอเด็กชาย Cyril คงเพื่อไถ่โทษหรือเติมเต็มสิ่งที่ขาดหายไปในชีวิต
Jérémie Renier (เกิดปี 1981) นักแสดงสัญชาติ Belgian เกิดที่ Brussels, ได้รับการค้นพบโดยสองพี่น้อง Dardenne ผลงานแรกแจ้งเกิด La Promesse (1996), ติดตามด้วย Brotherhood of the Wolf (2001), L’Enfant (2005), The Kid with a Bike (2011), My Way (2012) ฯ
รับบทพ่อ Guy Catoul ผู้ทอดทิ้งบุตรชาย เพราะต้องการอิสรภาพสำหรับปรุงแต่งเริ่มต้นชีวิตใหม่ (กับแฟนใหม่) ขลาดหวาดกลัวที่จะพูดบอกความจริงกับลูก แต่เมื่อสถานการณ์บีบบังคับเลยจำต้องยินยอม
สองผลงานก่อนหน้าที่ร่วมกับสองผู้กำกับ Dardenne ไล่เรียงมาเหมือนภาคต่อเลยนะ
– La Promesse (1996) รับบทลูกชาย
– L’Enfant (2005) พ่อที่นำทารกน้อยไปขาย
สำหรับ The Kid with a Bike ประมาณว่าทารกน้อยจาก L’Enfant ได้เติบโตขึ้นจนสามารถมีชีวิตดิ้นรนเอาตัวรอดเองได้แล้ว เลยถึงเวลาสำหรับการทอดทิ้งขว้าง (แบบตนเองที่เคยประสบมาใน La Promesse) เพื่อฉันจะเริ่มต้นอะไรใหม่ๆกับใครอื่น
ภาพลักษณ์ของ Renier ถือได้ว่าเป็น Type-Cast ของผู้ชายที่ดีแต่พูด ไร้สามัญสำนึก/ความรับผิดชอบ ตัวละครประเภทไม่เอาอ่าว พึงพาอะไรไม่ค่อยได้เท่าไหร่ คัทลอกมาจากสองเรื่องก่อนหน้าเปะๆ ผู้ชมพอพบเห็นแล้วน่าจะตระหนักขึ้นได้โดยทันที!
ถ่ายภาพโดย Alain Marcoen สัญชาติ Belgian ขาประจำสองพี่น้อง Dardenne ตั้งแต่ La Promesse (1996),
งานภาพสไตล์สองพี่น้อง Dardenne รับอิทธิพล/ประสบการณ์จากถ่ายทำสารคดี ทีมงานเล็กๆประมาณ 10-20 คน จำลองสร้างสถานการณ์แล้วเก็บเกี่ยวทุกสิ่งอย่างบังเกิดขึ้น (แทบทั้งหมดเป็นการ ‘Improvised’) ใช้กล้องฟีล์ม 35mm ที่มีขนาดเล็ก Hand-Held สามารถขยับเคลื่อนไหวติดตามนักแสดงโดยง่าย
ตั้งแต่ช็อตแรก สังเกตว่าหนังถ่ายทำในระดับความสูงสายตาเด็กชาย นี่เป็นการสะท้อนมุมมองตัวละครที่จะต่ำเตี้ยกว่าผู้ใหญ่ โลกทั้งใบของเขา ถ้าพ่อไม่รับโทรศัพท์ แล้วชีวิตฉันจะอยู่ต่อไปได้อย่างไร?
ตลอดทั้งเรื่องจะพบเห็นงานภาพสั่นๆด้วยกล้อง Hand Held ซึ่งสะท้อนถึงความลุกรี้ร้อนรนของเด็กชาย แต่จะมีช็อตที่กำลังหลับใหล งานภาพแน่นิ่งสนิทมากๆ นั่นคือช่วงเวลาสงบสุขในความเพ้อฝันจินตนาการ
ใครจะไปครุ่นคิดว่าการกระทำของ Cyril ระหว่างพยายามดิ้นรนไม่ให้ถูกจับ กอดรัดหญิงแปลกหน้าเสียแน่นไม่ยอมปล่อย ทำให้ทั้งคู่เกิดความสัมพันธ์แนบแน่นแฟ้น ค่อยๆพัฒนากลายมาเป็นครอบครัวบุญธรรม ที่เด็กชายสามารถเกาะแก่ง พักพิง พึ่งพาชีวิตไปด้วยกัน
“You can hold me but not so tight”.
ตากล้องหยุดยืนตำแหน่งนี้ ถ่ายภาพเด็กชายหลังจากได้รับจักรยานคืน โชว์ปั่นวนไปมา ยกล้อหน้า แพนนิ่งหมุนตาม สังเกตดีๆจะพบว่าเขาปั่นรอบรถ Samantha สะท้อนถึง เธอกลายเป็นศูนย์กลางความสนใจของเขาไปเรียบร้อยแล้ว
อาชีพของ Samantha คือช่างทำผม สระ ไดร์ สื่อถึงการปรับเปลี่ยนภาพลักษณ์ ทำให้ชีวิตดูกระชุ่มกระชวย แปลกใหม่ ไม่เหมือนเดิม สะท้อนเข้ากับสิ่งที่ Cyril ต้องเรียนรู้และยินยอมรับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นต่อไป
มันจะพฤติกรรมบางอย่างของ Cyril ที่ชอบทำซ้ำๆ แสดงอาการหัวขบถ ต่อต้านสังคมออกมา อาทิ
– เปิดก๊อกน้ำไหล หลังจากปั่นจักรยานติดตามหาพ่อไม่พบ ในเชิงสัญลักษณ์สื่อได้ถึงน้ำตาของเด็กชาย ร่วงไหลรินเหมือนน้ำจากก๊อก
– ต้องการออกจากบ้านเพื่อไปหา Wesker เคาะด้ามจับตู้เย็นเรียกร้องความสนใจ ครั้งสุดท้ายประชดปังอย่างรุนแรง แสดงอาการก้าวร้าวขุ่นเคือง
ร้านอาหารใหม่ของพ่อ สังเกตโทนสีมีความเป็นโมโนโทน (ตัดกับเสื้อแดงของ Cyril) สะท้อนความจืดชืด เฉื่อยเย็นชา โมเดิร์นล้ำหน้า แต่ไร้ซึ่งจิตวิญญาณ
ความต้องการของพ่อ คือได้ทำในสิ่งที่ตนโหยหาต้องการ สามารถ ‘ปรุงแต่ง’ ชีวิตด้วยตนเอง ซึ่งจะมีขณะหนึ่งที่เด็กชายขอกวนซอสในหม้อ ภาษากายดังกล่าวต้องการซักถาม ฉันจะเป็นแบบพ่อได้หรือเปล่า? คำตอบคือหยิบเอาถาดเนื้อไก่เข้าเตาอบ สื่อโดยนัยบอกว่าไม่ได้ (ประมาณว่าลูกยังเด็กนักเหมือนไก่สดๆ กินไม่ได้ต้องรอให้สุกหง่อม/เติบโตกว่านี้เสียก่อน)
ความผิดหวังต่อพ่อ ทำให้เด็กชายใช้เล็บกรีดกรายใบหน้า สะท้อนถึงความต้องการทำลายอัตลักษณ์/ภาพลักษณ์/ตัวตน สูญเสียความมั่นใจ ไม่อยากจดจำใบหน้า อดีต หรือแม้แต่พ่อของตนเอง
Cyril โดยขโมยจักรยาน วิ่งไล่ล่าติดตามมาจนถึงป่าดงพงไพรแห่งหนึ่ง รายล้อมรอบด้วยธรรมชาติ ต้นไม้สูงใหญ่ เงาปกคลุมพื้นดิน เด็กทั้งสองต่อสู้ด้วย ‘สันชาติญาณ’ แห่งชีวิต และด้วยความดุดันเลยได้รับฉายา Pitbull
Wesker ก้าวออกมาจากป่า พูดด้วยคำป้อยอชวนฝัน อาสาซ่อมจักรยาน พาไปบ้านเล่นเกม ล่อหลอกให้เกิดความเชื่อมั่นใจ จากนั้นเมื่อต้องการทำอะไร ก็สามารถชักจูงจมูก หลงทางผิดได้โดยง่าย
สังเกตภาพลักษณ์ของ Wesker หวีผมอย่างเรียบเนี๊ยบ เสื้อแขนกุด (มาดนักเลง) สูบบุหรี่ ดื่มเหล้า ภาพลักษณ์ภายนอกแสนเท่ห์ แต่จิตใจกลับเต็มไปด้วยเล่ห์มายา ไม่ต่างจากพ่อที่สนเพียงผลประโยชน์ส่วนตนเท่านั้น
ความพยายามของ Cyril ที่จะหลบหนีออกจากบ้าน ช็อตนี้สังเกตว่าเขาเอาศีรษะพุ่งชน ต่อด้วยมีดทิ่มแทง โดยปกติแล้วมันคือสัญลักษณ์ของการมี Sex จ้ำจี้ระหว่างชาย-หญิง แต่เมื่อเป็นแม่-ลูก อาจหมายถึงการคลอด เกิดใหม่ เด็กชายเรียกร้อง/ต้องการเติบโตเป็นตัวของตนเองแบบไม่พึ่งใคร ขณะที่แม่ทำได้แค่ยืนจับจ้องมองดูเขาหายลับจากไป
เหมือนเป็นแก๊กเล็กๆของหนัง, ภาพโปสเตอร์เขียนว่า Bingo พบเห็นตัวเลขจำนวนเงิน คาดเดาน่าจะคือรางวัลของผู้ชนะ สะท้อนถึงมูลค่าและสิ่งที่เด็กชายกำลังจะทำต่อไปนี้
ความผิดพลาดของ Cyril ทำให้ Wesker ทอดทิ้งเขาไว้กลางถนนโดดเดี่ยว (ลักษณะแบบเดียวกับที่พ่อทอดทิ้งเขา) ด้านหลังลางๆเหมือนจะคือโรงงานร้าง ปรักหักพัง สถานที่ห่างไกลชุมชน ถือเป็นกงกรรมเกวียนเวียนเหตุการณ์กลับมาเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีกกับเด็กชาย เพราะยัง ‘สายตายาว’ มองไม่เห็นสิ่งทรงคุณค่าใกล้ตัว
Cyril ต้องการนำเงินที่ขโมยได้มาให้พ่อ แต่กลับถูกบอกปัดปฏิเสธ นั่นทำให้เด็กชายตระหนักรับรู้ว่าปัญหาไม่ใช่เรื่องเงิน แต่คือการมีตัวตนของเขา ด้วยเหตุนี้เลยเร่งรี่ปั่นจักรยานด้วยความเร็วสูงสุด เพื่อระบายความรู้สึกอึดอัดอั้น เจ็บปวดรวดร้าว ระทมทุกข์ทรมานภายในออกมา
แซว: ถ้าเป็นอนิเมะญี่ปุ่น ตัวละครเวลาจะระบายอะไรบางอย่าง หรือกำลังร้องไห้ มักใช้การวิ่งสุดแรงเกิด เพื่อให้สายลมชะล้างคราบน้ำตาจากใบหน้า
แทบทั้งเรื่องจะพบเห็น Cyril สวมใส่เสื้อคอกลม/โค้ทสีแดง สะท้อนความลุ่มเร่าร้อน ต้องการมีชีวิต เรียกร้องความสนใจ ยกเว้นเพียงช็อตนี้ที่คู่กรณีสองฝ่ายพูดคุยตกลงเรื่องการชดใช้ ค่าเสียหาย พบเห็นเสื้อฟ้า คลุมด้วยโค้ทกรมท่า ทั้งช็อตโมโนโทนแบบเดียวกันหมดเลย! มอบสัมผัสแห้งๆ ซึมๆ คงรู้สำนึกผิดแบบจริงๆจังๆเข้าแล้วสินะ
Cyril ปั่นจักรยานสุดแรงเกิดก็ไม่สามารถแซง Samantha นั่นเพราะจักรยานของเขาขนาดเล็กกว่า ปริมาณเกียร์ต่างกันถึงสองเท่า นี่สะท้อนถึงความแตกต่างระหว่างเด็ก-ผู้ใหญ่ ช่องว่างที่ยังไม่สามารถเทียบแทนกันได้โดยทันที และต่อให้สลับสับเปลี่ยนจักรยาน (ประมาณว่า เด็กเป็นผู้ใหญ่ก่อนวัยอันควร) ก็ใช่ว่าจะปั่นสะดวกสบาย ไม่สามารถติดตามไล่ทันได้อยู่ดี
ความพยายามปีนต้นไม้ขึ้นสูงของ Cyril เพื่อหลบหนีการถูกทำร้าย สุดท้ายกลับตกลงมานึกว่าจะตาย! สะท้อนถึงการเจริญเติบโตของชีวิตที่ไม่สามารถเร่งรีบร้อน จากเด็กเป็นผู้ใหญ่ได้โดยทันที ทุกสิ่งอย่างต้องค่อยๆเป็นค่อยไป กาลเวลาเพาะบ่ม เมื่อร่างการเต็มสมวัย ก็ไม่จำต้องตะเกียกตะกายปีนป่าย สามารถเผชิญหน้า/ต่อสู้คนไซส์เดียวกันได้แบบไม่ต้องเกรงกลัวอะไร
เมื่อใดที่เด็กชายเร่งรีบร้อนจนเกินไป ก็เหมือนพวกคนละโมบโลภมาก ทะเยอทะยาน มักใหญ่ใฝ่สูง น้อยนักจะปีนป่ายไปถึงยอด ส่วนมากเผลอเรอผิดพลาดพลั้ง ตกลงมาโชคดีหน่อยคือถลอกปอกเปิก ซวยสุดๆก็คอหักตาย … ให้อะไรๆมันค่อยเป็นค่อยไป ไม่ต้องเร่งรีบร้อน ช้าๆแต่มั่นคง แบบนั้นย่อมปลอดภัยกว่าไม่ใช่หรือ
ตัดต่อโดย Marie-Hélène Dozo สัญชาติ Belgian ขาประจำสองพี่น้อง Dardenne เช่นเดียวกัน, ดำเนินเรื่องในมุมมองสายตาเด็กชาย Cyril Catoul แต่ก็มีบางครั้งเคลื่อนมายัง Samantha มักในลักษณะคล้าย ‘สร้อย’ ของบทกวี คอยแต่งเติมเต็มส่วนที่ขาดหายไป (ให้กับเด็กชาย)
โดยปกติผลงานของสองพี่น้อง Dardenne จะเน้นความสมจริง ไม่ใส่บทเพลงประกอบนอกเหนือจากที่ดังขึ้นในฉาก แต่เรื่องนี้เป็นข้อยกเว้นเพราะความตั้งใจให้ออกมาดั่งเทพนิยาย (Fairytale) ท่วงทำนองที่เลือกคือ Ludwig van Beethoven: Piano Concerto No. 5, Op. 73 หรือในชื่อเรียก Emperor Concerto ถือเป็น Concerto สุดท้ายที่ประพันธ์ขึ้นระหว่าง ค.ศ. 1809 – 1811
Emperor Concerto มีทั้งหมดสามท่อน หนังเลือกนำท่อนสอง Adagio un poco mosso มอบสัมผัสอันนุ่มนวล ลุ่มลึก ‘สงบราบคาบ’ สื่อถึงสิ่งขาดหายภายในจิตใจของ Cyril นั่นคือการยินยอมรับจากผู้อื่น ได้ยินทั้งหมดสามครั้งซึ่งสะท้อนเข้ากับสามตัวละคร พ่อ และ เพื่อน ต่างพบเจอความผิดหวัง (เลยตัดมาท่อนสั้นๆ) ท้ายสุดค้นพบเจอ Samantha ลากยาวสู่ Closing Credit
จักรยาน สามารถเทียบแทนด้วย ‘จิตวิญญาณ’ ของเด็กชาย สิ่งที่พ่อเคยซื้อให้เป็นของขวัญ (ชิ้นสุดท้าย) แต่แล้ว…
– เป็นพ่อที่ขายจักรยานคันนั้นทิ้งไป แสดงถึงการไม่ต้องการเป็นภาระ เลี้ยงดูแล … ลูกของเขา มีสถานะเหมือนวัตถุชิ้นหนึ่ง
– Samatha ซื้อคืนกลับมา นั่นทำให้จากเคยนอนซมไร้วิญญาณบนเตียง ลุกขึ้นมามีชีวิตชีวาโดยทันที แถมปั่นโชว์ลีลาอีกด้วยนะ
– เมื่อจักรยานถูกขโมย รีบวิ่งไล่ล่าติดตามทวงคืน ฉันไม่ยินยอมสูญเสียของรักของหัวของชีวิตนี้ให้ใครอย่างเด็ดขาด
– Wesker จ่ายค่าซ่อมจักรยานยางแตก (ชีวิตไม่สามารถไปต่อได้ชั่วคราว) ก่อเกิดมิตรภาพเล็กๆขึ้นในหมู่โจร
– ใช้ปั่นเพื่อออกติดตามหาพ่อ
– ใช้ปั่นเพื่อระบายความรู้สึกบางอย่างออกมา หลบหนีอารมณ์เจ็บปวดรวดร้าว
ฯลฯ
ชีวิตคือการเดินทาง ก็เหมือนปั่นจักรยานที่ต้องใช้กำลังแรงตนเองกดถีบล้อหมุนสามารถเคลื่อนตัวไปข้างหน้า บางครั้งสะดุดล้ม ยางแตก ถูกลักขโมย ฯ แต่ตราบใดไม่ท้อแท้หมดเรี่ยวแรง สิ้นหวังอาลัย หรือปล่อยทอดทิ้งขว้างให้สนิมเกรอะกรัง ย่อมสามารถมุ่งสู่เป้าหมายปลายทางได้สำเร็จสมหวังดั่งใจ
สามตัวละครที่ Cyril พานพบเจอ ถือว่าอยู่กันคนละมุมสามเหลี่ยม
– Samantha เปรียบกับแม่พระ เอ่อล้นด้วยความปรารถนาดี พร้อมทุ่มเทเสียสละให้ทุกสิ่งอย่าง
– พ่อ เปรียบดั่งจอมมาร สามารถทอดทิ้งลูกชายอย่างไร้ยางอาย แสดงออกด้วยความเห็นแก่ตัวเป็นที่ตั้ง
– Wes เปลือกนอกราวกับพ่อพระ แต่แท้จริงแล้วเคลือบแอบแฝงด้วยความชั่วร้ายดั่งปีศาจ
การเดินทาง/ปั่นจักรยานของ Cyril ก็เพื่อเติบโต เรียนรู้จักชีวิต เผชิญหน้าความผิดหวัง ยินยอมรับข้อเท็จจริง และก้าวข้ามผ่านอุปสรรคปัญหา แม้มีบางคราถูกล่อลวง ยั่วยวน ชี้ชักนำทางผิด แต่ถ้ามีใครสักคนคือความหวัง/แสงสว่าง ยังไงย่อมสามารถหวนกลับสู่หนทางถูกต้องเหมาะสม กลายเป็นคนดีมีอนาคตในสังคม
ผมค่อนข้างสองจิตสองใจกับการตกต้นไม้ของ Cyril ลึกๆคืออยากให้จบแบบโศกนาฎรรม แต่เมื่อสองผู้กำกับเลือก Happy Ending ซึ่งมีนัยยะใจความสอดคล้อง Le fils (2002) เพื่อให้ตัวละครสามารถเรียนรู้จักการยกโทษ ให้อภัย ปลดปล่อยวางทิฐิ ความโกรธเกลียดเคียดแค้น ถึงฉันจะไม่ชอบนายแต่ก็มิได้หวังร้ายให้ถึงตาย! สิ่งเกิดขึ้นนั้นย่อมกลายเป็นบทเรียนอันทรงคุณค่ายิ่ง ต่อจากนี้คงเกิดสติ เลิกที่จะหมกมุ่นครุ่นยึดติดกับความอาฆาตพยาบาทอย่างแน่แท้!
ในแง่การตีความเชิงมหภาค, เด็กชาย Cyril สามารถเปรียบได้กับชาว Belgian ที่ถูกพ่อ หรือคือชนชั้นผู้นำ/รัฐบาล ทอดทิ้งขว้างไม่เหลียวหลังแล ต่างสนเพียงผลประโยชน์ ความต้องการพึงพอใจส่วนตัวตนเองเท่านั้น … ประเด็นนี้ถือว่ามีนัยยะเดียวกับ L’Enfant (2005)
แต่ที่ผมยังครุ่นคิดไม่ตกสักที ตัวละคร Samantha ในมุมมองสองพี่น้อง Dardenne คืออุดมคติ นารีขี่ม้าขาว มีตัวตนจริงๆหรือเปล่า? แถมไดเรคชั่นมีลักษณะเหมือนเทพนิยาย ความเป็นไปได้ถือว่าต่ำมากๆ ที่จะมีบุคคลกอบกู้อนาคตประเทศ Belgium ให้หวนกลับคืนสู่หนทิศทางถูกต้องเหมาะสมควร
เข้าฉายเทศกาลหนังเมือง Cannes คว้ารางวัล Grand Prix (ที่สอง) ร่วมกับ Once Upon a Time in Anatolia (2011) ของผู้กำกับ Nuri Bilge Ceylan สัญชาติ Turkis
ด้วยทุนสร้าง €5.8 ล้านยูโร ทำเงินรวมทั่วโลก $5.2 ล้านเหรียญ ดูแล้วไม่ถือว่าประสบความสำเร็จสักเท่าไหร่, ช่วงปลายปีมีลุ้นได้เข้าชิง Golden Globes: Best Foreign Language Film แต่พ่ายให้ A Separation (2011) แบบไม่ได้ลุ้นสักเท่าไหร่
แปลกที่หนังไม่ได้เป็นตัวแทนประเทศ Belgium ส่งเข้าชิงชัย Oscar: Best Foreign Language Film ซึ่งภาพยนตร์ที่เป็นตัวแทน แถมเข้ารอบ 5 เรื่องสุดท้ายคือ Rundskop (2011) ของผู้กำกับ Michaël R. Roskam … ไม่รู้เพราะชื่อของ Dardenne ถูกตีตราว่า Art-House โอกาสลุ้นเข้ารอบค่อนข้างต่ำ (ก่อนหน้านี้ Rosetta, Le fils และ L’enfant แม้คว้ารางวัลตามเทศกาลมาเยอะ ก็กลับไม่ได้ลุ้นเข้ารอบใดๆของ Oscar)
ส่วนตัวตกหลุมรักคลั่งไคล้หนังอย่างมาก! อึ้งทึ่งในความสุดโต่งของเด็กชาย พ่อผู้เห็นแก่ตัว และหญิงแปลกหน้าผู้ยินยอมเสียสละทุกสิ่งอย่าง นั่นเป็นความเมตตากรุณาหาพบเจอได้ยากยิ่ง, ขณะที่ไฮไลท์คือการพลิกบทบาทของสองพี่น้อง Dardenne ทำในสิ่งกลับตารปัตรตรงกันข้ามสไตล์ปกติ ผลลัพท์ออกมางดงาม ตราตรึง อิ่มเอมใจ สามารถเรียกได้ว่า Masterpiece
“ต้องดูให้ได้ก่อนตาย” เป็นภาพยนตร์เหมาะสำหรับผู้ใหญ่ ให้ไว้สามแนวคิดอันทรงคุณค่า
– การมีลูกคือภาระที่คนเป็นพ่อ-แม่ จักต้องเรียนรู้จักความรับผิดชอบ ถ้ายังคงโหยหาอิสรภาพหรือครุ่นคิดจะปล่อยทิ้งขว้างให้กลายเป็นปัญหาสังคม ทำไมตอนมีอารมณ์ไม่รู้จักหาทางควบคุมป้องกัน คนแบบนั้นเลวร้ายยิ่งเสียกว่าอมนุษย์/เดรัจฉาน
– แม้เป็นเพียงคนแปลกหน้า แต่ถ้าพบเห็นเพื่อนมนุษย์ตกทุกข์ยากลำบากแล้วเกิดความสงสาร มีเมตตา ต้องการให้ความช่วยเหลือ นั่นแสดงถึงจิตสำนึกมโนธรรมอันดีงาม ทรงคุณค่ากับการเรียกว่าผู้ประเสริฐ
– ตราบใดไม่ใช่อรหันต์ มนุษย์ย่อมกระทำสิ่งผิดพลาดพลั้งมากมาย แต่แทนที่จะหมกมุ่นกับความโกรธเกลียดเคียดแค้น เรียนรู้จักให้อภัย เผชิญหน้าความจริง ปลดปล่อยวางความยึดติด นั่นสามารถทำให้จิตใจยกระดับขึ้นสูงได้เช่นกัน
จัดเรต 13+ กับความเกรี้ยวกราดที่เด็กชายถ่ายทอดออกมา จากพ่อแย่ๆ และเพื่อนเลวๆ
Leave a Reply