Le Jour Se Lève (1939)
: Marcel Carné ♥♥♥♥♡
เคยติดอันดับ 8 ภาพยนตร์ยอดเยี่ยมจากนิตยสาร Sight & Sound ครั้งแรกสุดปี 1952, ผลงานชิ้นเอกของ Marcel Carné ก่อนการมาถึงของ Les Enfants du Paradis (1945) และคือต้นแบบให้ Citizen Kane (1941) เล่าเรื่องย้อนอดีต Flashback ผ่านเทคนิค Dissolve, “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย”
Le Jour Se Lève แปลว่า The Day Rises หรือสั้นๆว่า Daybreak, ถือเป็นหนึ่งในภาพยนตร์ต้นฉบับ Film Noir ด้วยสัมผัสกลิ่นอายของ Poetic Realism เมื่อ Jean Gabin ฆาตกรรมชายคนหนึ่งบนอพาร์ทเม้นท์ชั้นหก ตำรวจพยายามร้องขอให้เขาออกจากห้องมามอบตัวแต่ถูกปฏิเสธแถมยิงตอบโต้ บอกต้องการอยู่คนเดียวเพื่อทบทวนเหตุการณ์ทุกสิ่งอย่าง เรื่องราวค่อยๆบานปลายเมื่อฝูงชนรายล้อม ตำรวจยกพลมาสมทบเป็นกองทัพ ทั้งๆก็ไม่ใช่อาชญากรร้ายรุนแรงอะไร รุ่งเช้าวันถัดมา…
รับชมในปัจจุบัน Le Jour Se Lève ไม่ใช่ภาพยนตร์ที่มีความสลับซับซ้อนอะไรมากมาย แต่ด้วยเทคนิคถือว่าล้ำยุคสมัยนั้นเลยได้รับการยกย่องกล่าวขวัญอย่างสูงส่ง กระนั้นมีสิ่งหนึ่งกาลเวลามิอาจบ่อนทำลาย นั่นคือการปะทะคารมระหว่างสองตัวละคร ช่างเฉียบคมคาย บีบคั้น ทรงพลังระดับสั่นสะท้าน แม้ผมไม่ชอบผลลัพท์ตอนจบนัก ยังอดไม่ได้ต้องขอเรียกว่า Masterpiece
Marcel Carné (1906 – 1996) ผู้กำกับภาพยนตร์สัญชาติฝรั่งเศส หนึ่งในผู้ทรงอิทธิพลที่สุดในยุค Poetic Realism เคียงคู่กับ Jean Renoir และ Jean Vigo, เกิดที่ Paris เป็นลูกของช่างทำตู้เตียงเฟอร์นิเจอร์ไม้ โตขึ้นเริ่มต้นทำงานเป็นนักวิจารณ์ภาพยนตร์ของนิตยสารรายสัปดาห์ Hebdo-Films ย้ายไป Cinémagazine ต่อด้วย Cinémonde ขณะเดียวกันได้ทำงานเป็นผู้ช่วยตากล้องผู้กำกับ Jacques Feyder และ René Clair กำกับหนังสั้นเรื่องแรกเป็นแนวสารคดี Nogent, Eldorado du dimanche (1929), และขนาดยาวเรื่องแรก Jenny (1936)
สำหรับผลงานที่ได้รับการยกย่องสูงสุดของ Carné คือ Les Enfants du Paradis/Children of Paradise (1945) ด้วยคำเรียก ‘Gone With The Wind ของฝรั่งเศส’ เป็นหนึ่งในภาพยนตร์ยอดเยี่ยมยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก และ Quai des brumes/Port of Shadows (1938) ผมให้คำเรียกว่า ‘Casablanca ของฝรั่งเศส’
จุดเริ่มต้นของ Le jour se lève เกิดจาก Jacques Viot มาเคาะประตูห้อง Marcel Carné (ทั้งสองอยู่อพาร์ทเม้นต์เดียวกัน เหมือนจะห้องติดกันด้วยกระมัง) แล้วเล่าพล็อตเรื่อง Scenario ที่ตนเองครุ่นคิดได้ ฟัง/อ่านแล้วเกิดความสนใจส่งต่อให้คู่ขานักเขียนบท Jacques Prévert แสดงความสนใจ และ Jean Gabin อ่านแล้วตบปากรับคำแสดงนำ
Jacques Prévert (1900 – 1977) กวี นักเขียนสัญชาติฝรั่งเศส เกิดที่ Neuilly-sur-Seine, เติบโตขึ้นยังกรุง Paris ตั้งแต่เด็กเป็นคนไม่ชอบเขียนหนังสือ (ภายหลังหันมาเข้ากลุ่ม Surrealist อยู่พักใหญ่) เรียนจบแค่ประถมแล้วออกมาทำงานในห้างสรรพสินค้า เกณฑ์ทหารสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ต่อมากลายเป็นสมาชิกกลุ่ม Rue du Château และ Groupe Octobre แต่งกวีขายจนได้รับความนิยม ซึ่งผลงานมักพรรณาถึงชีวิตและสงคราม โด่งดังสุดๆก็บทกลอน Les Feuilles mortes (Autumn Leaves) กลายเป็นบทเพลงชื่อดังก้องโลก
สำหรับวงการภาพยนตร์ ด้วยความคมคายในการใช้ภาษา แรกเริ่มได้รับคำชักชวนให้เขียนบทสนทนา Ciboulette (1933), Le Crime de monsieur Lange (1935) ของผู้กำกับ Jean Renoir, รู้จักสนิทสนมร่วมงาน Marcel Carné เรื่องแรก Drôle de drame (1937) ตามด้วย Quai des brumes (1938), Le Jour se lève (1939), Les Visiteurs du soir (1942) และ Les Enfants du Paradis (1945)
Carné-Prévert ได้รับการยกย่องว่าคือคู่ขวัญ คู่ขา (ทั้งคู่เป็นเกย์) เพื่อนร่วมงานในฐานะ ผู้กำกับ-เขียนบท ทรงอิทธิพลที่สุดในโลก
เรื่องราวของ François (รับบทโดย Jean Gabin) หนุ่มโรงงานผู้ตกหลุมรัก Françoise (รับบทโดย Jacqueline Laurent) สาวสวยขายดอกไม้ที่บังเอิญพบเจอในวันที่ 8 มีนาคม (วันนักบุญ Françoise) แถมเป็นคนกำพร้าเหมือนกัน อะไรๆเลยไปไว แต่เพราะเธอเคยคบหาอยู่กับ Valentin (รับบทโดย Jules Berry) ชายวัยกลางคน นักแสดงฝึกสัตว์(สุนัข) จริงๆหมอนี่มีคู่ขาอยู่แล้วคือ Clara (รับบทโดย Arletty) แต่เธอเกิดความเบื่อหน่ายในความมโนเพ้อภพ กลับกลอกปลอกลอก พูดจาปลิ้นปล้อนลวงโล ทำตัวเป็นคนชั้นสูงเลิศเลอค่า ซึ่งเมืื่อชายทั้งสองเผชิญหน้ากัน ความแตกต่างสุดขั้วของพวกเขาจึงก่อให้เกิดอะไรๆคาดไม่ถึง นำพาไป ณ จุดเริ่มต้นของหนังที่ François ยิงปืนฆาตกรรม Valentin
Jean Gabin ชื่อจริง Jean-Alexis Moncorgé (1904 – 1976) นักแสดงในตำนานผู้ยิ่งใหญ่ที่สุด ‘the actor of the century’ แห่งฝรั่งเศส เกิดที่กรุง Paris วัยเด็กไม่ชอบเรียนหนังสือ โดดออกมาเป็นกรรมกรใช้แรงงานจนอายุ 19 เกิดความสนใจในการแสดงละครเวทีได้รับบทตัวประกอบเล็กๆ กลับจากรับใช้ชาติทหารเรือ กลายเป็นนักร้องเลียนแบบ Maurice Chevalier เคยทำงานใน Moulin Rouge จนเข้าตาผู้กำกับมุ่งสู่วงการภาพยนตร์ เริ่มมีชื่อเสียงจาก La Bandera (1936), โด่งดังเป็นที่รู้จัก Pépé le Moko (1937), ยิ่งใหญ่ระดับตำนาน La Grande Illusion (1937), กลายเป็น Iconic กับ La Bête Humaine (1938), Le Quai des brumes (1938), Le jour se lève (1939), Le plaisir (1952), Touchez pas au grisbi (1954) ฯ
รับบท François ก็แค่หนุ่มโรงงานพ่นสี เงินเดือนฐานะไม่ค่อยจะมี การศึกษาไม่สูงเท่าไหร่ (แต่ชอบอยู่ตึกสูงๆ) แต่ซื่อสัตย์สุจริตไม่เคยคิดคดโกหกหลอกลวงใคร ครั้งหนึ่งพบเจอตกหลุมรักสาวขายดอกไม้ Françoise ผิดตรงไหนที่อยากแต่งงานมีครอบครัว กลับถูกกีดกันโดย Valentin อ้างโน่นนี่นั่นยกแม่น้ำทั้งห้า ยื่นคำขาดกับว่าที่ภรรยา ห้ามพบเจอหน้าหมอนี่อีกเป็นอันขาด เป็นเหตุให้โดนไม้ตายท่าสุดท้าย สร้างความรวดร้าวฉานจนควบคุมตนเองไม่ได้ แล้วใครในโลกใบนี้ที่ฉันจะสามารถไว้เนื้อเชื่อใจได้อีก
Gabin ในช่วงทศวรรษแรกของวงการภาพยนตร์ ภาพลักษณ์จะคือหล่อ ถึก ติดดิน ตัวแทนของบุคคลธรรมดาทั่วไป มีความสามัญธรรมดาแต่เอ่อล้นด้วยคุณค่าความดีงามในจิตใจ, สำหรับ François เริ่มต้นใน Flashback ถือเป็นคนน่ารัก ซื่อสัตย์ จริงใจ แม้จะมีความตรงไปตรงมา รุนแรงอยู่บ้าง แต่ใครๆก็อยากอยู่ใกล้ชิด การพบเจอกับ Valentin ค่อยๆสร้างความหงุดหงิด ฉุนเฉียว และในที่สุดฟิวส์ขาด จากนั้นแสดงความเกรี้ยวกราด อึดอัดคับข้องแค้น หมดสิ้นจนปัญญาหาทางออก … โห! นี่มันครบเครื่องแทบทุกอารมณ์มนุษย์เลยนะ และมีความเป็นธรรมชาติมากๆด้วย
Jacqueline Laurent (1918 – 2009) นักแสดงหญิงสัญชาติฝรั่งเศส เกิดที่ Brienne-le-Château, Aube ภาพยนตร์เรื่องแรก Dawn Over France (1935), Sarati the Terrible (1937), เข้าตา Louis B. Mayer ชักชวนให้มาแสดงหนัง Hollywood เรื่อง Judge Hardy’s Children (1938), แต่ผลงานหนึ่งเดียวที่สร้างชื่อเสียงระดับตำนานคือ Le Jour Se Lève (1939)
รับบท Françoise สาวขายดอกไม้ ที่แม้สวยใสแต่ก็ไม่ไร้เดียงสาเท่าไหร่ เพราะได้รับการเลี้ยงดู/เด็กเสี่ยของ Valentin มาสักใหญ่แล้ว กระทั่งว่าพบเจอ François ค่อยๆตกหลุมรัก แต่เมื่อเขาทราบเรื่องความจริงเข้า รู้สึกผิดที่ตนเองกระทำสิ่งเห็นแก่ตัวแบบนี้ และดันเผลอเรอมอบสิ่งของบางอย่าง สัญลักษณ์ที่แทนว่า…เธอได้เคยเสียความบริสุทธิ์ไปเรียบร้อยแล้ว
แม้รายละเอียดของ Laurent จะมีไม่เยอะเท่าไหร่ แต่สิ่งหนึ่งน่าสนใจคือ เธอแต่งงานครั้งแรกตอนอายุ 18 ปี และหย่าขาดไม่นานหลังจากนั้น … รับรู้รายละเอียดนี้ ทำให้เกิดความตระหนักขึ้นเลยว่า ภาพลักษณ์อันสวยใสของเธอ ลึกๆแล้วก็ไม่ไร้เดียงสาจริงๆสักเท่าไหร่
Jules Berry ชื่อเกิด Marie Louis Jules Paufichet (1883 – 1951) นักแสดงยอกฝีมือ สัญชาติฝรั่งเศส เกิดที่ Poitiers, Vienne เติบโตขึ้นยังกรุง Paris เข้าเรียนจบจาก École nationale supérieure des Beaux-Arts เริ่มต้นสู่วงการละครเวที เป็นสมาชิกของ Théâtre Antoine-Simone Berriau ไต่เต้าไปเรื่อยๆจนแทบปักหลักอยู่ Théâtre royal des Galeries Saint-Hubert, Brussels ถึง 12 ปีเต็ม, สำหรับวงการภาพยนตร์เริ่มต้นในยุคหนังพูด อาทิ King of the Hotel (1932), Le crime de Monsieur Lange (1935), Le jour se lève (1939), Les Visiteurs du Soir (1942) ฯ
รับบท Valentin นักฝึกสุนัขเพื่อให้สามารถขึ้นโชว์กายกรรมการแสดง จริงๆก็ไม่ใช่คนมีฝีมือโดดเด่นอะไร แถมวิธีการก็แสนชั่วช้าสามาลย์คือทำให้สัตว์ได้รับบาดแผล แล้วกระตุ้นให้ทำในสิ่งที่ตนต้องการผ่านความเจ็บปวดรวดร้าว, เฉกเช่นเดียวกับหญิงสาว เพื่อนมนุษย์ ชมชอบสร้างภาพมายาลวงล่อหลอก พูดจาปลิ้นปล้อนกะล่อนกลับกลอก หาความจริงใจพร่ำออกมาไม่ได้สักคำ ด้วยเหตุนี้เลยชอบแทงใจดำให้ผู้อื่นต้องยินยอมคล้อยตามความต้องการของตนเอง
การพบเจอกับ François เป็นบุคคลที่ต่อให้ชักแม่น้ำทั้งห้าก็ไม่อาจเอาชนะได้เลยสักครั้งเดียว หนำซ้ำร้ายถ้ายิ่งจี้แทงใจดำมากๆเข้า โชคชะตาเลยขาดแบบไม่ทันตั้งตัว เป็นการตายที่พอถึงตอนจบผู้ชมจะยิ้มเยาะ รู้สึกเลยว่า สมน้ำหน้า!
ส่วนตัวชื่นชอบคารมของตัวละครนี้มากๆเลยนะ ช่างมีความคมกริบ แยบยล สามารถโน้มน้าวชักชวนให้หลงเชื่อ คือตอนแรกผมก็คล้อยตามไปแล้วละ ครุ่นคิดเพ้อมโนไปไกลถึงความเป็นไปได้ แต่พออีกตัวละครบอกว่า นั่นใช่เรื่องจริงที่ไหน ชิบหาย! นี่เราหลงเข้าใจผิดจริงๆหรือเนี่ย
ไฮไลท์คือการพบกันครั้งสุดท้ายของ François-Valentin เพราะผู้ชมรับล่วงรู้อยู่แล้วว่าเกิดอะไรขึ้น (ก็เล่นเฉลยไปตั้งแต่ต้นเรื่อง) ดังนั้นมันคือการค้นหาสาเหตุผล เพราะอะไร ทำไมถึงจุดแตกหัก ฟิวส์ขาด และเมื่อชั่วขณะนั้นมาถึง … ผมเองก็พอคาดเดาได้นะว่าจะพูดยั่วเรื่องอะไร แต่การหยิบปืนขึ้นมายิงฆาตกรรมคนตาย มันต้องใช้แรงผลักดันรุนแรงจริงๆ และหนังทำวินาทีนั้นได้รวดร้าวทรงพลังมากๆ
ถ่ายภาพโดย Philippe Agostini, André Bac, Albert Viguier และ Curt Courant ไม่ขึ้นเครดิต
หนังทั้งเรื่องสร้างฉากขนาดเท่าของจริงขึ้นในสตูดิโอ พื้นหลังคือภาพวาดบนกระจก Matte Painting ออกแบบงานสร้าง (Production Design) โดย Alexandre Trauner ขาประจำของ Carné ที่ไต่เต้าไปโกอินเตอร์คว้า Oscar: Best Art Direction-Set Decoration, Black-and-White จากเรื่อง The Apartment (1960)
การสร้างฉากสำหรับภาพยนตร์ มักออกแบบให้สามารถแยกชิ้นส่วน นำกล้องเข้าไปในอาคารได้โดยง่าย เรื่องนี้ก็เช่นกันมีการสร้างลิฟท์หลบซ่อนอยู่ด้านหลังฉาก เพื่อให้สามารถถ่ายทำขณะตัวละครเดินขึ้นลงตึก เห็นภาพเลื่อนขึ้นลงระหว่างชั้นได้
หนึ่งในช็อตไฮไลท์คือตรงบันได นี่ทำให้ผมหวนระลึกถึงหนังเงียบสัญชาติรัสเซียเรื่อง The House on Trubnaya (1928) ดูแล้วน่าจะรับแนวคิด อิทธิพลมาไม่น้อยทีเดียว, บันได สิ่งสัญลักษณ์แสดงความแตกต่างระหว่างชนชั้น ฐานะ ยศศักดิ์ศรี คนชนชั้นล่างเพ้อใฝ่ฝันอยากอยู่ตำแหน่งสูงๆ ขณะที่ไฮโซกลับทำตัวตกต่ำกลิ้งตกลงบันได
ฉากนี้ชวนให้นึกถึงสำนวน ‘ตาบอดคลำช้าง’ เพราะมองไม่เห็นทุกสิ่งอย่าง เลยได้แค่เพียงคาดเดาตีความจากมุมมองที่ตนได้มีโอกาสรับล่วงรู้ หนังเรื่องนี้ก็เช่นกัน! เริ่มต้นมาชักชวนให้ผู้ชมครุ่นคิดตั้งคำถาม มันเกิดอะไรขึ้นกับ François ถึงเข่นฆาตกรรม Valentin? ซึ่งบางคนอาจมโนฟุ้งเฟ้อได้ข้อสรุปตั้งแต่ไก่ยังไม่ขัน รับฟังข้อเท็จจริงเสียก่อนไหม จะได้ไม่หน้าแหกเมื่อถึงตอนจบ
สิ่งโดดเด่นมากๆของหนังคือการจัดแสง ซึ่งก็ได้แทรกนัยยะ สื่อความหมาย สร้างสัมผัสทางอารมณ์ให้บังเกิดขึ้น
แทบทุกช็อตที่ถ่ายติดนางเอก Françoise แสงจะมีความสว่าง เจิดจรัสจ้า ดูฟุ้งเฟ้อ วุ้งวิ้งเป็นประกาย สะท้อนสิ่งที่คือความสุขของ François งดงามราวกับดอกไม้ พบเห็นครั้งแรกยืนอยู่ท่ามกลางฝูงสัตว์ประหลาด (มนุษย์โรงงาน ใส่ชุดที่ดูยังไงก็ไม่เหมือนมนุษย์มนา)
ฉากทางไปบ้านของนางเอก Françoise ช่างเป็นสัมผัสนัวร์ที่น่าหวาดสะพรึงกลัวเสียเหลือเกิน แสงสว่างอันน้อยนิด รอบข้างเต็มไปด้วยมุมมืดมิด
การพบเจอกันครั้งนี้ของ François และ Françoise ตรงกันข้ามกับที่โรงงานต้องตะโกนแหกปากส่งเสียงดัง ครานี้กระซิบกระซาบกลัวใครอื่นในบ้านตื่น แต่จากเงาของกิ่งไม้ระโยงระยางที่อาบลงบนเรือนร่างตัวละคร สื่อถึงบางสิ่งอย่างระหว่างพวกเขา ลับลมคมใน ไม่บริสุทธิ์จริงใจต่อกันอย่างแท้จริง
ตุ๊กตาหมีตัวเล็ก สัญลักษณ์ของความน่ารักไร้เดียงสา ดวงตาเศร้าโศก หูหายไปข้าง (สูญเสียการฟัง/การทรงตัว) เปรียบเทียบกับ François (หรือชนชั้นกรรมกรฝรั่งเศส) เหมือนกันราวกับหมี
หมีเป็นสัตว์ที่ดูน่ารัก ไร้เดียงสาก็จริง แต่พละกำลังของมันมากมายมหาศาล มนุษย์โดนตบทีก็ถึงตายได้เลยละ นี่อาจสะท้อนถึงพลังที่อยู่ภายในตัวละคร อย่าให้ฉันต้องทุกข์ทรมาน เก็บสะสมความอึดอัดอั้น บีบเค้นคั้นมากเกินไป ถ้าถึงจุดทะลักแตกหักละก็ อานุภาพสามารถทำลายล้างได้ทุกสิ่งอย่าง
ช็อตสวยงามที่สุดในหนัง François และ Françoise ห้อมล้อมอยู่ท่ามกลางดอกไม้ ดั่งกรอบรูปอัลบัม(แห่งความทรงจำ) นี่โลกทั้งใบของพวกเขา
ความพยายามของตำรวจที่จะบุกเข้ามาในห้องของ François สามารถตีความในเชิงนามธรรม ถึงการทำความเข้าใจสิ่งหลบซ่อนเร้นอยู่ภายใน เรื่องราวความทรงจำ อารมณ์ความรู้สึก เพื่อให้ได้เข้าใจเหตุผลครุ่นคิดของตัวละคร ต่อการกระทำของเขา ณ จุดเริ่มต้นและสิ้นสุด
– ครั้งแรกสุดคือตะโกนส่งเสียงถาม เลยถูกตอบโต้กลับด้วยวาจาและอาวุธปืน
– ครั้งถัดมาคือพยายามมองลอดหน้าต่าง ส่งสไนเปอร์ยิงเข้าตรงหน้าต่าง กระแทกกระจกเป็นรู (สูญเสียอัตลักษณ์ตัวตน) แต่นั่นก็ยังไม่เพียงพอเข่นฆ่า พบเห็นแค่เพียงภาพสะท้อนเงาเท่านั้นเอง
– พยายามพังประตูด้วยการยิง ครานี้ใช้ตู้เสื้อผ้า (สัญลักษณ์ของจิตวิญญาณ/สิ่งเก็บซ่อนเร้นไว้ภายใน) กีดกั้นขวางไว้ไม่ให้สามารถบุกเข้ามาได้
– และสุดท้ายกำลังจะใช้การรมแก๊สยาสลม ตรงกับจุดจบของหนังและตัวละครพอดิบพอดี
ฉากที่เป็นตำนานของหนัง คำกล่าวสุนทรพจน์ของ François ต่อฝูงชนที่ห้อมล้อมเข้ามา ตำหนิต่อว่า พูดจาเสียดสีประชดประชัน (เมิงจะมารอพระแสงธนูศรหาหอกอะไรกัน)
“I’m not a freak! What are you waiting for? You expect me to jump? A murderer’s interesting. I’m a murderer, yes! But killers can be met in any street… everywhere! Everyone kills. Everyone! Only they kill… by degrees, so it’s not noticed. Like the sand that gets into you! Beat it! Go home and read about it in the papers. It’ll all be in print. You’ll read it and believe it! What else are the newspapers for? They know everything. Beat it, or you’ll catch cold. Scram! Let me alone! Alone, d’you hear? All I ask is to be left in peace! I’m so tired… I don’t trust anyone anymore. It’s all over.”
ความทรงพลังในสุนทรพจน์ฉากนี้ เห็นว่าทำให้ Jean Gabin หลังตะโกนเสร็จหลบเข้าแต่งตัวไปร้องไห้
ชุดของตัวละคร ไม่เพียงสะท้อนวิทยฐานะ ชนชั้นทางสังคม แต่ยังความรู้สึก จิตวิทยาภายในออกมาด้วย สำหรับพระเอก
– ชุดปกติของ François สวมหมวกเบเรต์ เสื้อคลุมไหมพรม มีความสบายๆเรียบง่าย ดูเป็น Sport Man
– ชุดทำงาน ดูเหมือนหุ่นยนต์ สัตว์ประหลาด
– หลังจากเข่นฆ่าคนตาย สวมเสื้อเชิ้ตติดกระดุม ชุดทางการ
– ไคลน์แม็กซ์ช่วงท้าย สวมโค้ทหนังมาดนักเลง ตัดสินใจแน่วแน่ว่าจะทำบางสิ่งอย่าง
ศัตรูหัวใจ Valentin
– ปกตินิยมใส่ชุดลายเหลี่ยม สำหรับพรางตา เห็นแล้วเบลอๆไม่ต่างอะไรกับคำพูดตัวละคร
– ตอนอยู่บนเวที ก็สูทการแสดง แต่งหน้าสวมหน้ากาก
– พอเดินลงมาคลุมด้วยขนสัตว์ แสดงความโอ่อ่า ร่ำรวย
ชุดนางเอก Françoise มักเป็นลายจุด ไม่ก็ผูกโบว์ ว่าไปเหมือนสุนัข Dalmatian หนึ่งในสัตว์เลี้ยงหน้าขนของ Valentin แต่ครั้งสุดท้ายที่เห็นเธอ สวมชุดสีขาว คงลอกคราบที่เป็นมลทินออกจากตนเอง
ตัดต่อโดย René Le Hénaff ได้ร่วมงานกับ Marcel Carné ทั้งหมดสามครั้ง Quai des brumes (1938), Hôtel du Nord (1938), Le Jour Se Lève (1939)
ผู้ชมสมัยนี้คงไม่มีปัญหาเท่าไหร่กับการเล่าเรื่องย้อนอดีต Flashback แต่ภาพยนตร์สมัยก่อนในยุคคลาสสิก เทคนิคนี้มีความยุ่งยาก วุ่นวาย ซับซ้อนเกินกว่าผู้ชมธรรมดาทั่วไปจะสามารถทำความเข้าใจ จึงยังไม่เป็นที่นิยมนัก (ลองสังเกตภาพยนตร์ยุคคลาสสิก แทบทั้งนั้นดำเนินเรื่องเป็นเส้นตรงไปข้างหน้า)
Le Jour Se Lève ไม่ใช่ภาพยนตร์เรื่องแรกที่ใช้เทคนิค Flashback ไล่ไปก็โน่นเลย The Phantom Carriage (1921) โคตรหนังเงียบของผู้กำกับ Victor Sjöström แต่เหตุผลที่เรื่องนี้ได้รับการยกย่องกล่าวขวัญ เพราะการใช้เทคนิค Dissolve อย่างเชื่องช้าเนิบนาบค่อยเป็นค่อยไป สร้างสัมผัสที่ราวกับดึงดูดผู้ชมและตัวละคร ถอยย้อนเวลากลับสู่อดีตเพื่อค้นหาข้อเท็จจริงบางประการ กลายเป็นแรงบันดาลใจหลักๆให้กับ Citizen Kane (1941)
มีทั้งหมดสามช่วงเวลา/เหตุการณ์ ที่หนังทำการเล่าเรื่องย้อนอดีต
– อารัมภบท, พระเอกฆ่าคนตาย ตำรวจร้องเรียงให้ออกไปให้การ ไม่ยินยอม ถูกพลซุ่มยิง เอาตัวรอดได้อย่างหวุดหวุด
– ย้อนอดีตครั้งแรก, ตื่นนอน ทำงาน พบเจอหญิงสาว ตกหลุมรัก นัดที่บ้าน แอบติดตามไปจนเห็นบุคคลปริศนา
– กลับมาปัจจุบัน, ตำรวจพยายามบุกเข้าทางประตู เลยใช้ตู้เสื้อผ้าเข้ามาบดบัง
– ย้อนอดีตครั้งสอง, ตื่นเช้าวันอาทิตย์ ไปหาชู้ที่โรงแรมฝั่งตรงข้าม พบเจอศัตรูคู่หัวใจ รับรู้ข้อเท็จจริงจากคนรัก
– กลับมาปัจจุบัน, จับจ้องมองท้องถนนเต็มไปด้วยผู้คน เลยกล่าวสุนทรพจน์ขับไล่ มองออกไปพบเห็นตะวันกำลังขึ้นจากฟ้า
– ย้อนอดีตครั้งสุดท้าย, Valentin เปิดประตูห้องเข้ามา พูดคุยชักแม่น้ำทั้งห้า ไม่สำเร็จเลยปล่อยไม้เด็ด
– ปัจฉิมบท, การตัดสินใจสุดท้ายของพระเอก ตำรวจโยนแก๊สน้ำตา
ซึ่งระหว่างการย้อนอดีต สังเกตว่าการ Dissolve สองภาพที่ทำการแปรเปลี่ยนผัน ล้วนมีนัยยะความหมายแฝงซ่อนเร้น
สำหรับการย้อนอดีตครั้งแรก ใช้ใบหน้าของ François คือจุดหมุนเหตุการณ์
– ขาไป, François จับจ้องมองท้องถนนที่เต็มไปด้วยผู้คน จากนั้น Dissolve ใบหน้าของเขากับท้องถนนที่ว่างเปล่า
– ขากลับ, ณ ทางออกบาร์แห่งหนึ่ง Dissolve เข้าหาใบหน้าของ François
ครั้งที่สองจะใช้ประตูคือจุดหมุน
– ขาไป, ประตูห้องที่ถูกตู้เสื้อผ้ากั้นขวาง Dissolve สู่ประตูห้อง/ตู้เสื้อผ้า ที่อยู่ในตำแหน่งของมันปกติ
– ขากลับ, ใบหน้าของชู้ Clara ค่อยๆ Dissolve สู่ประตูห้องที่ถูกตู้เสื้อผ้ากั้นขวาง (นี่เป็นการสะท้อนว่า Clara ไม่เคยเข้ามาอยู่ในจิตใจของ François)
ครั้งสุดท้ายใช้ประตูห้องคือจุดหมุนอีกเช่นกัน
– ขาไป, กล้องค่อยๆเคลื่อนเข้าหาตู้เสื้อผ้า (ที่บังประตูอยู่) จากนั้น Dissolve กลายเป็นภาพของ Valentin กำลังเปิดประตูเข้ามา (ถือว่า หมอนี่เป็นผู้บุกรุกเข้ามาในห้อง/จิตใจของเขา)
– ขากลับ, หลังจาก Valentin ถูกยิงออกจากห้องไป กล้องเคลื่อนถอยมาจนเห็นด้านหลังของ François แล้วค่อยๆ Dissolve กลายมาเป็นประตูห้องที่ถูกตู้เสื้อผ้ากั้นขวาง (นี่สื่อถึง ตัวตนของ François ก็สูญหายไปกับอดีตความทรงจำด้วยเช่นกัน)
เพลงประกอบโดย Maurice Jaubert (1900–1940) คีตกวียอดฝีมืออายุสั้นสัญชาติฝรั่งเศส ผลงานเด่นๆ อาทิ Zero for Conduct (1933), L’Atalante (1934), Quai des brumes (1938), Hôtel du Nord (1938), Le Jour Se Lève (1939) คือผลงานสุดท้ายก่อนเสียชีวิต จากการสู้รบในสงครามโลกครั้งที่สอง
บทเพลงมีลักษณะเหมือนสร้อยของบทกวี แต่งเติมเสริมอรรถรสในช่วงระหว่างการ Dissolve ไป-กลับย้อนอดีต, ความหวานแหววโรแมนติกหนุ่ม-สาว ท่ามกลางโลกดอกไม้ของพวกเขา, บางครั้งคือ Diegetic Music ดังขึ้นในผับบาร์ ร้านอาหาร และไฮไลท์ไคลน์แม็กซ์คือการตัดสินใจของพระเอก เร่งเร้าอารมณ์จนถึงจุดสูงสุด
Le Jour Se Lève คือเรื่องราวค่ำคืนสุดท้ายของชายคนหนึ่ง ผู้กำลังครุ่นคิด ทบทวน ก่อนตัดสินใจกระทำบางสิ่งอย่างที่ส่งผลกระทบต่อชีวิต ทรัพย์สิน และคนรอบข้าง ผู้ชมจะได้รับอภิสิทธิ์เข้าไปในความทรงจำของเขา รับล่วงรู้เหตุการณ์ต่างๆในอดีตที่บังเกิดขึ้น สัมผัสรับความรู้สึกนึกคิด จนอาจเกิดอาการสงสารเห็นใจ คำตอบของคุณที่ได้อาจไม่ตรงกับตัวละคร ผิดหวังต่อผลลัพท์ แต่จักจดจำไว้เป็นแบบอย่าง อย่าให้โศกนาฎกรรมลักษณะนี้เกิดขึ้นกับชีวิตฉันเลย
สิ่งที่คือแรงผลักดันของ François ในการกระทำดังกล่าว ล้วนคือแรงบีบคั้นจาก Valentin บุคคลผู้เป็นตัวแทนขุนนาง ‘ชนชั้นสูง’ ในสังคมฝรั่งเศส สะท้อนว่าพวกคนเหล่านั้นต่างกะล่อนปลิ้นปล้อน โกหกหลอกลวง ชักแม่น้ำทั้งห้า นำพาให้คนชนชั้นกลาง-ล่าง กรรมกรแรงงานเฉกเช่นเขา หลงเชื่อคารมแล้วปฏิบัติตามคำ(สั่ง)ขอ เพื่อสนองสิ่งที่คือ’ตัณหา’อารมณ์ ความต้องการของตนเองเพียงอย่างเดียวเท่านั้นเอง
มีคนมากมายที่หลงเชื่อดื่มยาพิษ หนึ่งในนั้นคือนางเอก Françoise ถือว่าโดนลวงล่อหลอกให้คล้อยตามคารม กลายเป็นสิ่งบันเทิงเริงอารมณ์ พักผ่อนคลาย ควบคุมฝึกได้เหมือนหมาแสดงโชว์ ก็จนกว่าจะครุ่นคิดเข้าใจด้วยตนเองได้เหมือน Clara ถึงสามารถก้าวออกมาจากสังคมนั้นด้วยจุดยืนลำแข้งของตนเอง
“I don’t trust anyone anymore”.
อาจคือคำรำพันของ Carné และ Prévert ต่อสังคมชนชั้นสูงในประเทศฝรั่งเศส มันจะชั่วต่ำช้าเลวทรามไปถึงขนาดไหน กดขี่ข่มเหงประชาชนตาดำๆอยู่ได้ ที่ผ่านมายังไม่เพียงพออีกหรือไง แล้วนี่ฉันจะเชื่อนับถือใครได้อีก!
โศกนาฎกรรมของตัวละคร คือสิ่งสะท้อนอนาคตของประเทศชาติ (ขณะนั้น) ถ้ายังขืนให้พวกชนชั้นสูง ขุนนาง ปกครองประเทศชาติต่อไป ประชาชนจักเต็มไปด้วยความอึดอัดคับข้องแค้น มีหวังฝรั่งเศสคงได้ล่มจม ตื่นเช้าขึ้นมาพ่ายแพ้สงครามตั้งแต่ยังไม่ทันไก่โห่! และก็เป็นเช่นนั้นจริงๆด้วยสินะ
หนังสร้างเสร็จสำเร็จออกฉายในเทศกาลหนังเมือง Venice ตามด้วยฝรั่งเศส มิถุนายน 1939 ก่อนหน้าการปะทุขึ้นของสงครามเพียงเล็กน้อย ประสบความสำเร็จได้รับความนิยมอย่างล้นหลาม แต่ไม่นานนักเมื่อ Nazi Germany เข้ายึดครองกรุงปารีส รัฐบาล Vichy Government สั่งแบนห้ามฉายโดยทันที (ทั้งๆใจความหนังก็ไม่ได้เกี่ยวกับสงคราม แต่ฉากที่ตัวละครของ Jean Gabin ตะโกนต่อว่าฝูงชนอย่างสิ้นหวัง นั่นเป็นสถานการณ์ที่ไม่เหมาะเท่าไหร่กับขณะนั้น) ซึ่งหลังสงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุด หนังก็ได้รับโอกาสหวนกลับเข้าโรงภาพยนตร์ใหม่
สตูดิโอ RKO Radio Pictures ติดต่อขอซื้อลิขสิทธิ์สร้างใหม่ กลายมาเป็น The Long Night (1947) นำแสดงโดย Henry Fonda, Barbara Bel Geddes, Vincent Price แต่ดันมีความชั่วร้ายประการหนึ่ง คือพยายามทำลายฟีล์มต้นฉบับภาษาฝรั่งเศสให้หมดสิ้น (อาจเพราะไม่ต้องการให้เปรียบเทียบหนังทั้งสองฉบับกระมัง) ผลกรรมก็คือขายไม่ออก ขาดทุนย่อยยับเยิน
โชคยังดี Le Jour Se Lève ได้รับการค้นพบทศวรรษถัดมา หลงเหลือเคียงคู่อยู่ในคลังเก็บร่วมกับ Les Enfants du Paradis (1945) ปัจจุบันได้รับการบูรณะ ออกฉายเทศกาล Cannes Classic เมื่อปี 2014 ลงแผ่น DVD/Blu-Ray โดย Criterion Collection คุณภาพ 4K คมชัดกริบ
สิ่งที่ทำให้โดยส่วนตัวคลั่งไคล้ภาพยนตร์เรื่องนี้มากๆ คือการปะทะคารมระหว่างสองขั้วตรงข้าม Jean Gabin กับ Jules Berry มันช่างเฉียบคมคาย บีบคั้น ทรงพลังระดับสั่นสะท้าน และไดเรคชั่นของ Marcel Carné แม้ดูเก่าแต่ยังคงเก๋า ถือเป็นหนึ่งในผู้กำกับยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกจริงๆ
“ต้องดูให้ได้ก่อนตาย” จับให้ได้ไล่ให้ทันกับความกะล่อน ปลิ้นปล้อน หลอกลวงของคนบางจำพวก และครุ่นคิดหาวิธีการ ทำอย่างไรให้ตนเองมีสติเวลาหงุดหงิดฉุนเฉียว ไม่ให้กลายเป็นแบบทั้งตัวละครของ Jean Gabin และ Jules Berry
จัดเรต 18+ กับการฆาตกรรม หักหลัง ปลิ้นปล้อน หลอกลวง
Leave a Reply