Contempt (1963) : Jean-Luc Godard ♥♥♥♥♡
(5/10/2022) จดหมายขอโทษของผู้กำกับ Jean-Luc Godard ถึงภรรยา Anna Karina (แต่นำแสดงโดย Brigitte Bardot) พยายามสำแดงความรู้สำนึกผิด วิพากย์วิจารณ์ตนเอง ทำไมถึงไม่สามารถรับรู้เข้าใจ ปล่อยละเลยจนเธอไปสานสัมพันธ์ชายอื่น แล้วทอดทิ้งให้ฉันอยู่ตัวคนเดียวอย่างขมขื่น
Le Mépris หรือภาษาอังกฤษ Contempt แปลว่า การดูถูก หยามเหยียด รังเกียจชัง เหล่านี้คือคำวิพากย์วิจารณ์ตนเองของผู้กำกับ Godard ถึงเหตุผลที่ไม่สามารถเข้าใจข้อเรียกร้อง ความต้องการของภรรยา Karina (จะมองว่าเป็นข้อแก้ตัวก็ได้เช่นกัน) เป็นเหตุให้เธอแอบคบชู้ (กับ Jacques Perrin) จากนั้นคิดสั้นฆ่าตัวตาย แถมเมื่อตอนแท้งลูกก็ไม่เคยอยู่เคียงชิดใกล้ (วงในบอกว่า Godard เองก็คลุ้มคลั่งแทบกลายเป็นบ้า จึงไม่กล้าพบเจอเผชิญหน้า Karina เลยหมกมุ่นอยู่กับการทำงานเพื่อไม่ให้ครุ่นคิดถึงแต่เรื่องนั้น)
ผมอาจจะเร่งรีบนำเสนอใจความสำคัญของหนังเร็วไป ขอย้อนกลับมาเล่าเนื้อเรื่องราวสักหน่อยก่อนแล้วกัน, นักเขียนชาวฝรั่งเศส Paul Javal (รับบทโดย Michel Piccoli) กำลังจะได้ทำงานดัดแปลงบทภาพยนตร์จากโปรดิวเซอร์ชาวอเมริกัน Jeremy Prokosch (รับบทโดย Jack Palance) แต่ชายคนนี้เต็มไปด้วยความเย่อหยิ่ง ยโสโอหัง และมีนิสัยเพลย์บอย เห็นชัดเจนว่าพยายามเกี้ยวพาราสีภรรยา Camille Javal (รับบบทโดย Brigitte Bardot)
แล้วจู่ๆ Paul กลับปล่อยให้ Camille อาศัยอยู่สองต่อสองกับ Jeremy นานเป็นชั่วโมง! คือตัวเขาไม่ได้ครุ่นคิดอะไร แต่หญิงสาวกลับรู้สึกว่าสามีจงใจให้ตนเองตกอยู่ในสถานการณ์อันล่อแหลม ต้องการให้ฉันปรนปรนิบัติโปรดิวเซอร์ ‘เพลย์บอย’ ชาวอเมริกันคนนี้หรืออย่างไร? แทนที่จะพยายามปกป้อง แสดงความเป็นเจ้าของ คนรัก/ลูกผู้ชาย กลับปล่อยปละละเลย เพิกเฉยเฉื่อยชา ไม่ยี่หร่าในเรื่องคอขาดบาดตาย! หลังจากพูดคุยถกเถียง งอนง้อ ง้องอน จนท้ายที่สุดเมื่อถึงจุดแตกหัก Camille ก็ตัดสินใจละทอดทิ้งเขาไป
Cinema replaces our gaze with a world in harmony with our desires. Contempt is the story of that world.
André Bazin
สามสี่รอบก่อนหน้านี้ที่ผมรับชม Contempt (1963) บอกเลยว่าไม่เคยเข้าใจ ก็คงเหมือน Paul Javal/ผกก. Godard ทำไมหญิงสาวถึงงอนตุ๊บป่อง? ฉันทำอะไรให้เธอถึงแสดงปฏิกิริยาไม่พึงพอใจ? จนบานปลายถึงละทอดทิ้งเขาไป? นี่เป็นภาพยนตร์ที่ต้องใช้การสังเกต ครุ่นคิดวิเคราะห์ และประสบการณ์ชีวิตไม่น้อยทีเดียว (แต่สำหรับสาวๆอาจเข้าใจได้ตั้งแต่แรกรับชม)
ไม่ใช่ว่าผมพานผ่านประสบการณ์ชีวิตอะไรมาหรอกนะ (มาทบทวนดูสมัยวัยรุ่นก็เคยพบเจอหญิงสาวลักษณะนี้อยู่เหมือนกัน) แต่เพราะการศึกษาชีวประวัติผู้กำกับ Godard ทำให้สามารถสังเกตเห็นความผิดปกติของหญิงสาว แม้นักแสดงคือ Brigitte Bardot แต่พอใส่วิกดำกลายเป็นร่างอวตารของ Anna Karina จากเรื่อง Vivre Sa Vie (1962) มันเลยชัดเจนขึ้นเรื่อยๆว่าหนังต้องการสื่ออะไร? สิ่งใดบ้างที่ทำให้เกิดความเข้าใจไม่ตรงกัน?
และสิ่งที่ทำให้หนังทรงคุณค่ามากๆ คือการเปรียบเทียบชีวิตคู่อันระหองระแหงระหว่างสามี-ภรรยา (Godard-Karina) กับทิศทางวงการภาพยนตร์ที่กำลังปรับเปลี่ยนแปลงไป สู่ยุคสมัยแห่งความโฉดชั่วร้ายของโปรดิวเซอร์ชาวอเมริกัน ใครรับรู้จักสตูดิโอ Cinecittà ก็น่าจะรู้สึกเศร้าสร้อยอยู่ไม่น้อยที่หลงเหลือเพียงสภาพปรักหักพัก ไฮไลท์คือการก้าวสู่ความเป็นนิรันดร์ ด้วยการอ้างอิงถึงมหากาพย์ Odyssey โดยใช้โคตรผู้กำกับ Fritz Lang เชื่อมโยงความความสัมพันธ์
Jean-Luc Godard (1930-2022) ผู้กำกับสร้างภาพยนตร์ สัญชาติ French-Swiss เกิดที่กรุง Paris บิดาเป็นนายแพทย์ชาว Swiss ฐานะร่ำรวย ช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่สองหลบลี้ภัยอยู่ Switzerland, เริ่มรู้จักภาพยนตร์จากการอ่านบทความ Outline of a Psychology of Cinema เขียนโดย André Malraux ตามด้วยความสนใจนิตยสาร La Revue du cinéma จากนั้นเริ่มมีโอกาสพบปะผู้คนในวงการ, เมื่อปี 1950 สมัครเข้าศึกษาคณะมานุษยวิทยา University of Paris แต่ไม่เคยเข้าเรียนสักครั้ง เพราะไปหมกตัวอยู่ Ciné-Clubs ตามด้วย Cinémathèque Française รับรู้จักบรรดาพรรคเพื่อนผู้หลงใหลในศาสตร์ภาพยนตร์ François Truffaut, Jacques Rivette, Claude Chabrol, เคยร่วมกับ Éric Rohmer ก่อตั้งวารสาร La Gazette du cinéma แต่อยู่รอดแค่เพียงห้าฉบับ! จากนั้นได้รับคำชักชวนจาก André Bazin กลายเป็นนักวิจารณ์(คนแรกของกลุ่มที่ได้)ตีพิมพ์บทความลงนิตยสาร Cahiers du Cinéma ระหว่างนั้นก็ทดลองทำหนังสั้น และกำกับภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่องแรก Breathless (1960) ** ได้รับการยกย่องว่าคือจุดเริ่มต้นยุคสมัยใหม่ (Modern Cinema)
แม้ว่า A Woman Is a Woman (1961) จะไม่ประสบความสำเร็จในส่วนของรายรับ แต่สามารถคว้าสองรางวัลจากเทศกาลหนังเมือง Berlin (Best Actress กับ Special Prize) ทำให้โปรดิวเซอร์ชาวอิตาเลี่ยน Carlo Ponti ยังแสดงความสนใจร่วมงานผู้กำกับ Godard อีกสักครั้ง
Godard นำเสนอโปรเจคดัดแปลงนวนิยาย Il disprezzo (1954) [แปลภาษาอังกฤษ Contempt หรือ A Ghost At Noon] ซึ่งมีลักษณะ ‘existential novel’ แต่งโดยนักเขียนชาวอิตาเลี่ยน Alberto Moravia (1907-90) เจ้าของผลงานดังๆอย่าง Il Conformista (1947) [กลายเป็นภาพยนตร์ The Conformist (1970)], La ciociara (1957) [กลายเป็นภาพยนตร์ Two Women (1960)] ฯลฯ
[Il disprezzo] a nice, vulgar read for a train journey.
Jean-Luc Godard
เกร็ด: Il disprezzo (1954) ได้รับการโหวต 100 Books of the Century เมื่อปี 1999 จากนิตยสาร Le Monde โดยผู้อ่านชาวฝรั่งเศส ติดอันดับ 48th
โดยปกติแล้วผลงานของผู้กำกับ Godard จะมีเพียงบทร่าง (Treatment) ไม่กี่ย่อหน้ากระดาษ ไร้ซึ่งบทภาพยนตร์พัฒนาแล้วเสร็จ แต่เป็นข้อยกเว้นสำหรับ Contempt (1963) ที่เจ้าตัวลงทุนดัดแปลงจากนวนิยายกลายเป็นบทหนังด้วยตนเอง ความยาว 132 หน้ากระดาษ แม้ได้รับอนุญาตจากผู้แต่ง ‘full permission’ สามารถปรับแก้เนื้อเรื่องราวได้โดยอิสระก็ตาม
Cinema replaces our gaze with a world in harmony with our desires. Contempt is the story of that world.
André Bazin
เรื่องราวของ Paul Javal (รับบทโดย Michel Piccoli) นักเขียนนวนิยาย/บทละครชาวฝรั่งเศส ได้รับการติดต่อจากโปรดิวเซอร์ชาวอเมริกัน Jeremy Prokosch (รับบทโดย Jack Palance) ให้ปรับปรุงบทดัดแปลงภาพยนตร์ Odyssey กำกับโดย Fritz Lang (เล่นเป็นตนเอง) นัดพบเจอพูดคุยกันที่สตูดิโอ Cinecittà
หลังพูดคุยงานเสร็จ Prokosch ชักชวน Paul และภรรยา Camille Javal (รับบทโดย Brigitte Bardot) ไปยังวิลล่าของตนเอง แต่เพราะรถสปอร์ตมีเพียงสองที่นั่ง Paul จึงขอติดตามทีหลัง ปล่อยให้ Camille อยู่สองต่อสองกับเพลย์บอยชาวอเมริกัน ชั่วโมงให้หลังค่อยเดินทางมาถึง นั่นสร้างความไม่พึงพอใจให้หญิงสาวอย่างรุนแรง
พอทั้งสองกลับถึงอพาร์ทเม้นท์ Paul ก็สังเกตเห็นความผิดปกติของ Camille พยายามสอบถามเหตุผล แต่เธอกลับพูดบ่ายเบี่ยง ไม่ยินยอมให้คำตอบใดๆ งอนง้อ ง้องอน ทีแรกไม่ต้องการเดินทางไป Capri แต่จนแล้วจนรอดเขาก็โน้มน้าวกล่อมเกลาจนสำเร็จ
ไม่ใช่แค่ความวุ่นวายในกองถ่ายทำภาพยนตร์ที่ Capri แต่ Camille ยังจงใจกอดจูบโปรดิวเซอร์ Prokosch เพื่อให้ Paul พบเห็นเต็มตา นั่นทำให้เขาเพิ่งตระหนักว่าความผิดปกติของภรรยาคืออะไร พยายามง้องอน แต่มันสายเกินที่จะแก้ไข เธอได้ตัดสินใจร่ำลาจากเขาไปชั่วนิรันดร์
Brigitte Anne-Marie Bardot (เกิดปี 1934) ย่อๆว่า B.B. นักร้อง/นักแสดง ‘Sex Symbol’ สัญชาติฝรั่งเศส เกิดที่กรุง Paris ในครอบครัวฐานะมั่งคั่งแต่เคร่งครัด ช่วงระหว่างฝรั่งเศสถูกยึดครองโดยนาซีช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง วันๆอาศัยอยู่ในบ้านค้นพบความชื่นชอบเต้นรำ มารดาจึงส่งไปเรียนบัลเล่ต์ จนได้เข้าศึกษาต่อยัง Conservatoire de Paris, พออายุ 15 ปี มีโอกาสถ่ายแบบลงนิตยสาร Elle เข้าตาแมวมองชักชวนให้มาทดสอบหน้ากล้องภาพยนตร์ Les Lauriers sont coupés (บิดา-มารดาไม่สนับสนุน แต่ได้ปู่เป็นคนผลักดัน) แม้ไม่ได้รับเลือก พบเจอตกหลุมรัก Roger Vadim แน่นอนว่าครอบครัวไม่เห็นด้วยกับความสัมพันธ์ เลยจะคิดสั้นฆ่าตัวตาย (ด้วยการมุดหัวเข้าไปในเตาไฟ) สุดท้ายเลยยอมประณีประณอม อนุญาตให้แต่งงานเมื่ออายุครบ 18 ปี
แสดงภาพยนตร์เรื่องแรก Crazy for Love (1952) แม้เพียงบทเล็กๆแต่ได้ค่าตัวสูงถึง 200,000 ฟรังก์ฝรั่งเศส (=$5,500+ ดอลลาร์), เริ่มเป็นที่รู้จักจาก Act of Love (1953), รับบทนำครั้งแรก Concert of Intrigue (1954), พอประสบความสำเร็จกับ Doctor at Sea (1955), Naughty Girl (1956), โด่งดังพลุแตกเรื่อง And God Created Woman (1956) ของผกก. Vadim จนได้รับฉายา ‘sex kitten’ ผลงานเด่นอื่นๆ อาทิ The Truth (1960), A Very Private Affair (1962), Contempt (1963), Viva Maria! (1965) ฯลฯ
รับบท Camille Javal อดีตพนักงานพิมพ์ดีด แต่งงานกับนักเขียนนวนิยาย Paul Javal อุทิศความรักให้สามี แต่หลังจากที่เขาปล่อยให้เธออยู่สองต่อสองกับโปรดิวเซอร์ชาวอเมริกัน เหมือนว่านั่นคือจุดเริ่มต้นรอยบาดหมาง เมื่อกลับมาถึงอพาร์ทเม้นท์พยายามจะอธิบายอย่างอ้อมๆให้เกิดความเข้าใจ แต่เขากลับเพิกเฉยเฉื่อยฉา เรียกร้องจะให้พูดตอบในสิ่งที่ฉันไม่อยากบอก งอนง้อ ง้องอน ยินยอมออกเดินทางสู่ Capri เพื่อแสดงออกให้เห็นอย่างแจ่มชัดเลยว่าน้อยเนื้อต่ำใจเรื่องอะไร
(ตอนที่ Camille กอดจูบกับ Prokosch ดูเธอไม่ได้มีอารมณ์ร่วมใดๆ เพียงต้องการแสดงให้เขาพบเห็น แทนคำอธิบายเหตุทุกสิ่งอย่าง ส่วนจะมีการเกินเลยเถิดถึงเพศสัมพันธ์ทั้งก่อนหน้าและครั้งนี้ไหม คงไม่มีใครสามารถให้คำตอบได้)
ในตอนแรก Godard มีภาพสองนักแสดงนำ Kim Novak และ Frank Sinatra แต่ทั้งคู่ต่างบอกปัดปฏิเสธ โปรดิวเซอร์ Ponti เลยเสนอแนะคู่สามี-ภรรยา Sophia Loren และ Marcello Mastroianni แต่ Godard กลับตอบปฏิเสธ, ในบทสัมภาษณ์ของ Anna Karina ยังเล่าว่า Godard เดินทางไปอิตาลีเพื่อนัดพบเจอ Monica Vitti แต่เธอแสดงท่าทีไม่ค่อยสนใจเลยเป็นอีกคนที่พลาดไป
สำหรับ Bardot เป็นการลงดาบของโปรดิวเซอร์ ต้องการเธอคนนี้เพื่อจุดขายเรือนร่าง อวยอึ๋ม สวยเซ็กซี่ แม้ผกก. Godard จะไม่ค่อยเต็มใจเท่าไหร่แต่ก็ไม่ได้ตอบปัดปฏิเสธ เพียงสวมวิกดำ (ทำให้ Bardot ดูไม่เจิดจรัสเท่าที่ควร) และมีการเปลือยแผ่นหลังพร้อมแก้มก้น แค่สองฉากตอนต้นกับกึ่งกลางเรื่องเท่านั้น (นอกนั้นปกปิดอย่างมิดชิด แม้แต่ตอนสวมใส่ผ้าเช็ดตัวอาบน้ำ)
ผมเพิ่งมาตระหนักได้ก็จากการรับชมรอบนี้ว่า Bardot เล่นดีมากๆ ไม่ใช่แค่หญิงสาวสวยเซ็กซี่ ‘sex symbol’ จริตแรดร่านราคะเพียงอย่างเดียว –Contempt (1963) ไม่ได้มอบความรู้สึกนั้นเลยนะ!– ใบหน้ามุ่ยๆของเธอเต็มไปด้วยความลึกลับซับซ้อน เหมือนมีบางสิ่งอย่างซุกซ่อนเร้นอยู่ภายใน เหมาะมากๆกับบทบาทนี้ที่พยายามปกปิดตนเอง ไม่ต้องการเปิดเผยความรู้สึกนึกคิด สร้างความพิศวงอันน่าหลงใหล เพราะอะไรทำไมตัวละครถึงหน้านิ่วคิ้วขมวด ไม่พึงพอใจอะไร?? ชายใดอยากครอบครองเป็นเจ้าของ ก็ต้องอ่านภาษากายของฉันให้ออก
โดยปกติแล้ว Godard จะมีความใกล้ชิดนักแสดงนำหญิงมากๆ ต้องการให้เธอทุ่มทุกสิ่งอย่างเพื่อการแสดง แต่เรื่องนี้มีสารคดีเบื้องหลัง [หารับชมได้ทาง Criterion] เห็นว่า Bardot นำพาสามีคนปัจจุบัน Jacques Charrier ติดตัวอยู่ไม่ห่างกาย (สร้างความอิจฉาริษยาสุดๆ แถมไม่มี Karina คอยระบายอารมณ์) บริเวณรอบๆกองถ่ายยังเต็มไปด้วย Paparazzi (สร้างความน่ารำคาญสุดๆ) ด้วยเหตุนี้พี่แกจึงวีนแตกบ่อยๆ เคยบอกว่านี่เป็นประสบการณ์ทำงานหนังทุนสูงย่ำแย่ที่สุด!
Jacques Daniel Michel Piccoli (1925 – 2020) นักแสดงสัญชาติฝรั่งเศส เกิดที่ Paris บิดาเป็นนักไวโอลิน มารดาเล่นเปียโน แต่ความสนใจของเขากลับคือการแสดง ฝีกฝนยัง d’Andrée Bauer-Théraud จากนั้นได้งานภาพยนตร์ Le point du jour (1949), เริ่มเป็นที่รู้จักจาก French Cancan (1955), โด่งดังจากการเป็นหนี่งในขาประจำ Luis Buñuel อาทิ Death in the Garden (1956), Diary of a Chambermaid (1964), Belle de jour (1967), The Discreet Charm of the Bourgeoisie (1972) ฯ ผลงานเด่นอื่นๆ อาทิ Contempt (1963), Topaz (1969), A Leap in the Dark (1980), Strange Affair (1981), La Belle Noiseuse (1991), We Have a Pope (2011) ฯ
รับบท Paul Javal นักเขียนชาวฝรั่งเศส กำลังได้รับโอกาสครั้งสำคัญของชีวิตในการก้าวสู่วงการภาพยนตร์ ด้วยการดัดแปลงมหากาพย์ Odyssey ค่าจ้างสูงถึง $10,000 ดอลลาร์ (=6 ล้านลีร์อิตาลี) แต่โดยไม่คาดฝันเพียงปล่อยภรรยา Camille ไว้กับโปรดิวเซอร์ชาวอเมริกันเพียงลำพัง กลับสร้างรอยบาดหมาง ความขัดแย้ง ไม่เข้าใจกันและกัน พยายามงอนง้อ ง้องอน แต่เธอกลับยิ่งเหินห่างออกไป ค่อยมาตระหนักได้เมื่อพบเห็นเธอกอดจูบกับชายคนนั้น รู้สำนึกผิดก็เมื่อทุกอย่างสายเกินแก้ไข
ก่อนหน้านี้ Piccoli ยังเป็นแค่นักแสดงตัวประกอบ พอมีชื่อเสียงปานกลาง ความสำเร็จของ Contempt (1963) คือผลงานแจ้งเกิดในวงการอย่างเต็มตัว! จากภาพลักษณ์ที่ดูทรงภูมิ เฉลียวฉลาด พูดจาน่าเชื่อถือ เต็มไปด้วยความกะตือรือร้น ขวนไขว่คว้าโอกาสก้าวหน้าในอาชีพการงาน แต่นั่นทำให้เขาเพิกเฉยเฉื่อยชา ปล่อยปละละเลยเรื่องใกล้ตัว ไม่สามารถทำความเข้าใจปัญหาของภรรยา ทำไมถึงงอนตุ๊บป่อง? ฉันทำอะไรให้เธอถึงแสดงปฏิกิริยาไม่พึงพอใจ?
แซว: เสื้อผ้าทุกชุดที่ Michel Piccoli สวมใส่นั้น ทั้งหมดเป็นของผู้กำกับ Jean-Luc Godard
Piccoli ถือว่าตรงกันข้ามโดยสิ้นเชิงกับ Bardot ไม่ใช่บุคคลที่มีชื่อเสียง แต่กลับได้เคียงข้างนักแสดงโด่งดังระดับโลก แถมมีโอกาสกอดจูบ พรอดรัก สัมผัสเนื้อหนังชิดใกล้ … ไม่รู้ทำไมผมรู้สึกเหมือน Godard จงใจเลือก Piccoli เพื่อประชดประชันโปรดิวเซอร์ (เหมือนท่านมุ้ยเลือกช่างไฟ สรพงศ์ ชาตรี มาเล่นเป็นพระเอกหนัง) ปลุกปั้นจากตัวประกอบกลายเป็นนักแสดงระดับโลก! ซึ่งก็ต้องชมว่าฝีมือยอดเยี่ยม โดยเฉพาะอาการสับสนมึนงง ฉันเป็นพระเอกได้ยังไง? เธอมีปัญหาอะไร? เมื่อความฉงนสงสัยมาถึงจุดที่สร้างเบื่อหน่าย ก็ปะทุระเบิดอารมณ์ตบหน้า/ใช้กำลัง ออกมาได้อย่างเกรี้ยวกราดรุนแรงในเสี้ยววินาที
Jack Palance ชื่อเกิด Volodymyr Palahniuk (1919-2006) นักแสดงสัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Lattimer Mines, Pennsylvania ครอบครัวเป็นผู้อพยพจาก Ukrainian มาทำงานเหมืองถ่านหิน มีพี่น้องทั้งหมดหกคน, วัยเด็กชื่นชอบการต่อยมวย ใช้ชื่อ Jack Brazzo แต่ขึ้นชกทางการเพียงครั้งเดียวพ่ายให้กับว่าที่นักมวยอาชีพชื่อดัง Joe Baksi, โตขึ้นได้รับทุนกีฬาเข้าเรียนต่อ University of North Carolina at Chapel Hill กระทั่งการมาถึงของสงครามโลกครั้งที่สอง อาสาสมัครทหารอาการ U.S. Air Force, หลังจากนั้นเกิดความสนใจด้านการแสดง เริ่มจากละครเวที มีโอกาสเป็นนักแสดงแทน (understudy) Marlon Brando เรื่อง A Streetcar Named Desire, ภาพยนตร์เรื่องแรก Panic in the Streets (1950), โด่งดังจาก Sudden Fear (1952) **ได้เข้าชิง Oscar: Best Supporting Actor, ผลงานเด่นๆ อาทิ Shane (1953), Contempt (1963), City Slickers (1991) **คว้ารางวัล Oscar: Best Supporting Actor
รับบท Jeremy Prokosch โปรดิวเซอร์ชาวอเมริกัน เต็มไปด้วยความเกรี้ยวกราด ไม่พึงพอใจฟุตเทจ Odyssey ที่ผู้กำกับ Fritz Lang นำมาทดลองฉาย จึงมอบหมายให้นักเขียน Paul Javal ทำการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงบทหนัง ขณะเดียวกันเขาแสดงความใคร่สนใจ Camille พยายามเกี้ยวพาราสี และเมื่อสบโอกาสก็ …
เกร็ด: ตัวละครนี้ได้ต้นแบบจากโปรดิวเซอร์ชาวอเมริกัน Joseph E. Levine (ที่เป็น Executive Producer ให้กับหนัง) คือคนลงดาบว่าต้องเลือก Brigitte Bardot และสั่งให้ผกก. Godard ถ่ายฉากเปลือยเพิ่มเติม (แทรกใส่ตอนต้นและกึ่งกลางหนัง)
แม้จะเป็นช่วงที่ Palance มาแสวงบุญ/ถ่ายทำหนังอยู่ยุโรป แต่เขาก็พูดภาษาฝรั่งเศสไม่ได้สักประโยค เลยไม่สามารถโต้ถกเถียง เสนอความคิดเห็นใดๆ ซึ่งผกก. Godard ก็ไม่เคยให้คำแนะนำด้านการแสดง เพียงบอกหันซ้าย-หันขวา เดินหน้า-ถอยหลัง นั่นสร้างความหงุดหงิดหัวเสีย โทรหานายหน้าที่อเมริกา หาหนทางให้ฉันถอนตัวจากโปรเจคนี้ที … แต่ก็อดรนทนจนถ่ายทำหนังเสร็จ
ชัดเจนมากๆว่าผู้กำกับ Godard ไม่ได้ต้องการความสามารถด้านการแสดงของ Palance เพียงภาพลักษณ์ บุคลิกห้าวๆ ท่าทางดุดัน และหื่นกระหาย เพื่อเปรียบเทียบแทนอย่างตรงไปตรงมาถึงโปรดิวเซอร์ชาวอเมริกัน/วงการภาพยนตร์ Hollywood ที่สนเพียงเงินๆทองๆ ชื่อเสียง ความสำเร็จ ต้องการอะไรก็ชี้นิ้วสั่ง (รวมถึงภรรยาของผู้อื่น) ไม่ต่างอะไรจากเผด็จการ หาได้เข้าถึงคุณค่าแท้จริงของผลงานศิลปะ
Friedrich Christian Anton ‘Fritz’ Lang (1890 – 1976) ผู้กำกับภาพยนตร์ เจ้าของฉายา ‘Master of Darkness’ สัญชาติ Austrian เกิดที่ Vienna, Austria-Hungary โด่งดังตั้งแต่ยุคสมัยหนังเงียบ หนึ่งในผู้บุกเบิก German Expressionism อาทิ Metropolis (1927), M (1931), การมาถึงของ Nazi Germany ตัดสินใจอพยพหลบหนีสู่สหรัฐอเมริกา สรรค์สร้างผลงานเด่นๆ Fury (1936), You Only Live Once (1937), The Woman in the Window (1944), Scarlet Street (1945), The Big Heat (1953), พออายุมากขึ้นสายตาเริ่มมืดบอด กำกับเรื่องสุดท้าย The Thousand Eyes of Dr. Mabuse (1960) และได้รับชักชวนจาก Jean-Luc Godard แสดงภาพยนตร์ Contempt (1963)
แม้ในกองถ่าย ผกก. Godard จะปฏิบัติต่อไอดอลส่วนตัว Fritz Lang อย่างดีเลิศประเสริฐศรี คอยประกอบอยู่เคียงชิดใช้ (แถมแทรกตัวเองเข้าไปในหนัง รับบทผู้ช่วยผู้กำกับของ Lang) แต่เพราะปู่มองอะไรไม่เห็นแล้ว จึงไม่ใช่ประสบการณ์ทำงานที่น่าอภิรมณ์นัก
การเล่นเป็นตัวเองของ Lang มีจุดประสงค์เชิงสัญลักษณ์ล้วนๆ ในฐานะผู้กำกับมากประสบการณ์ สืบเชื้อสายเยอรมัน (เคยเป็นศัตรูของสหรัฐอเมริกา) ตัวแทนยุคสมัย Classical Era ขึ้นหิ้งกลายเป็นตำนานค้างฟ้า และยังสรรค์สร้างภาพยนตร์มหากาพย์ Odyssey ให้ออกมาเป็นศิลปะ art film (เป็นศัตรูขั้วตรงข้ามโปรดิวเซอร์ Jeremy Prokosch สนเพียงโปรเจคตลาด commercial film)
แซว: จะว่าไปชวนให้ผมนึกถึง Wild Strawberries (1957) ที่ผู้กำกับ Ingmar Bergman อัญเชิญ Victor Sjöström มารับบทแสดงนำเรื่องสุดท้ายในชีวิต
ถ่ายภาพโดย Raoul Coutard (1924-2016) ตากล้องระดับตำนาน สัญชาติฝรั่งเศส ขาประจำของบรรดาผู้กำกับ French New Wave, สมัยเด็กตั้งใจร่ำเรียนเคมี แต่ไม่มีทุนการศึกษาเลยหันมาเป็นช่างภาพ เข้าร่วมสงคราม French Indichina War (1946-54) ในฐานะ ‘war photographer’ อาศัยอยู่เวียดนามถึง 11 ปี กลับมาฝรั่งเศสกลายเป็นฟรีแลนซ์ให้นิตยสาร Paris Match และ Look กระทั่งได้รับการติดต่อจากผู้กำกับ Pierre Schoendoerffer ทั้งๆไม่เคยมีประสบการถ่ายทำภาพยนตร์ แต่กลับได้เสียงชื่นชม The Devil’s Pass (1958), ติดตามมาด้วยผลงานแจ้งเกิดโด่งดัง Breathless (1960), Shoot the Piano Player (1960), Vivre sa Vie (1962), Jules et Jim (1962), Contempt (1963), Bande à part (1964), Pierrot le Fou (1965), Z (1969) ฯลฯ
ประสบการณ์หลังจากลองผิดลองถูก A Woman Is a Woman (1961) ในการถ่ายหนังด้วยฟีล์มสี Technicolor อัตราส่วน CinemaScope (2.35:1) ทำให้พอเข้าใจถึงขีดจำกัดและศักยภาพของฟีล์มไซส์นี้
- อย่างแรกก็คือกล้องมีขนาดใหญ่เกิดกว่าจะแบกขึ้นบ่า (Opening Credit มีการถ่ายให้เห็นขนาดของกล้องอยู่นะครับ) การขยับเคลื่อนไหวจึงต้องใช้ราง เครน หรือตั้งอยู่บนยานพาหนะ
- ความที่กล้องมีขนาดใหญ่ ย่อมไม่สามารถถ่ายทำสถานที่ภายในอันคับแคบ ด้วยเหตุนี้จึงมีการก่อสร้างฉาก หรือเลือกห้องพัก/อพาร์ทเม้นท์ขนาดใหญ่พอสมควรที่จะสามารถขยับเคลื่อนเลื่อนกล้อง วางรางและเครน ถ่ายทำแบบ Long Take … สังเกตว่าการเคลื่อนเลื่อนกล้องในฉากภายใน จะมีความนิ่ง ไม่ค่อยสั่นไหวติงแบบผลงานยุคแรกๆ Breathless (1960) หรือ Le petit soldat (1963)
- ด้วยรสนิยมใช้เพียงแสงธรรมชาติในการถ่ายทำ ฉากตอนกลางยังไม่สร้างปัญหาสักเท่าไหร่ แต่ฉากภายนอกตอนกลางคืนถือว่าเต็มไปด้วยความท้าทาย เพราะฟีล์มสียุคสมัยนั้นต้องใช้แสงสว่างมากๆทีเดียว
หนังถ่ายทำยังประเทศอิตาลี ประกอบด้วยสองสถานที่ใหญ่ๆ Cinecittà studios ณ กรุง Rome และบ้านพัก Casa Malaparte ทางตะวันออกยื่นออกมาจากเกาะ Capri
ก่อนอื่นขอกล่าวถึง Cinecittà Studios ตั้งอยู่ที่กรุง Rome, ประเทศอิตาลี อาณาบริเวณกว่า 400,000 ตารางเมตร (99 เอเคอร์) ก่อสร้างขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1937 โดย Vittorio Mussolini บุตรชายของท่านผู้นำ Benito Mussolini ผู้มีความหลงใหลคลั่งไคล้ต่อวงการภาพยนตร์ ถึงขนาดตั้งสโลแกนว่า
Il cinema è l’arma più forte.
Cinema is the most powerful weapon.
ไม่ได้ต้องการแค่สร้างหนังชวนเชื่อ (Fascist Propaganda) แต่พยายามปลุกตื่นฟื้นฟูวงการภาพยนตร์อิตาเลี่ยน ซบเซาลงไปเมื่อปี 1931 (ตั้งแต่การมาถึงของยุคหนังพูด) ให้หวนกลับมาได้รับความนิยมขึ้นอีกครั้ง ภาพยนตร์เรื่องแรกๆ อาทิ Scipio Africanus (1937), The Iron Crown (1941) ฯ แต่หลังจาก Fascist Italy ถูกยึดครองโดยฝ่ายสัมพันธมิตร สถานที่แห่งนี้จึงกลายเป็นค่ายกักกัน นักโทษเชลยสงคราม โดนระเบิดลงครั้งแล้วครั้งเล่า
ภายหลังสงคราม Cinecittà studio ก็ได้รับการซ่อมแซมปรับปรุง เนื่องจากค่าแรงชาวอิตาเลี่ยนนั้นแสนถูก (เมื่อเทียบกับสหรัฐอเมริกา) ผู้สร้างภาพยนตร์จาก Hollywood จึงนิยมเลือกใช้เป็นสถานที่ถ่ายทำหนังแนวมหากาพย์ (Epic) เริ่มตั้งแต่ Quo Vadis (1951), Roman Holiday (1953), The Barefoot Contessa (1954), War and Peace (1956), Ben-Hur (1959), Cleopatra (1963) ฯลฯ จนมีคำเรียกติดปาก Hollywood on the Tiber
ช่วงที่ถ่ายทำ Contempt (1963) กระแสความนิยมของ Hollywood on the Tiber เริ่มซบเซาลงไป (ตามกาลเวลา) ผลประกอบการขาดทุนมากกว่ากำไร จึงมีการแบ่งขายกิจการ หลายๆโรงถ่ายต้องปล่อยทิ้งร้าง กลายเป็นสถานที่ถ่ายทำสำหรับหนังโปรดักชั่นราคาถูกๆ โดยเฉพาะผู้กำกับ Federico Fellini และ Franco Zeffirelli
อีกสถานที่ถ่ายทำของหนังก็คือ Casa Malaparte (หรือ Villa Malaparte) บ้านพักตากอากาศ ตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันออกของเกาะ Capri มองไปเห็นอ่าว Gulf of Salerno ในทะเล Tyrrhenian ตอนกลางของประเทศอิตาลี, ออกแบบโดยสถาปนิกชาวอิตาเลียนชื่อดัง Adalberto Libera (1903-63) ด้วยสถาปัตยกรรม Italian Modern ก่อสร้างขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1937 เพื่อเป็นที่อยู่อาศัยของ Curzio Malaparte (1898-1957)
หลังการเสียชีวิตของ Malaparte บ้านพักแห่งนี้ก็ถูกปล่อยทิ้งร้างอยู่หลายปี เพราะการเข้าถึงค่อนข้างยุ่งยากพอสมควร ใช้เวลาเดินเท้ากว่า 20 นาที หรือทางเรือก็ต้องตอนคลื่นลมสงบเท่านั้น (ถ้าคลื่นลมแรงจะพัดเรือให้ชนเกาะแก่ง โขดหิน สามารถอัปปางโดยง่าย)
แม้เป็นทิวทัศน์อุดมคติ แต่ก็มีความยุ่งยากในการเข้าถึง เลยไม่ค่อยมีใครอยากไปพักอาศัย ปัจจุบันเห็นว่ากลายเป็นทรัพย์สินของมูลนิธิ Giorgio Ronchi Foundation เก็บรักษาไว้สำหรับศึกษาการออกแบบ/สถาปัตยกรรม
ขอพูดถึงหนังสั้นแนวทดลอง Méditerranée (1963) กำกับโดย Jean-Daniel Pollet และมีผู้ช่วยผกก. Volker Schlöndorff, ว่ากันว่าเป็นอิทธิพล แรงบันดาลใจสำคัญในการสรรค์สร้าง Contempt (1963) และบางส่วนของหนังสั้นเรื่องนี้ ปรากฎอยู่ใน Film Socialisme (2010) อีกผลงานเด่นของผู้กำกับ Jean-Luc Godard
ฟุตเทจของหนังความยาว 40+ นาที ร้อยเรียงภาพสถานที่ต่างๆโดยรอบ Mediterranean อาทิ โบราณสถาน, วิหารกรีก, พิระมิด อิยิปต์, รูปแกะสลักเทพเจ้า, สวน Sicilian, ชาวประมงหาปลา, นักสู้วัวกระทิง, หญิงสาวกำลังเข้ารับการผ่าตัดในโรงพยาบาล ฯลฯ
ผมตีความว่าเป็นการนำเสนอมนต์เสน่ห์ของ Mediterranean เต็มไปด้วยประวัติศาสตร์หลายร้อยพันปี ขณะเดียวกันพื้นผิวน้ำที่แลดูสงบนิ่ง ทิวทัศนียภาพอันสวยงามแห่งนี้ กลับซุกซ่อนเร้นคลื่นลมแรง การต่อสู้ แก่งแย่งชิง นำไปสู่หายนะ ความตาย หลงเหลือเพียงเศษซากปรักหักพัง!
เกร็ด: หนังสั้นเรื่องนี้ได้รับการรวบรวมเป็นหนึ่งในหนังสือ 1001 Movies You Must See Before You Die
ภาพยนตร์ทุกเรื่องต้องมีปรากฎชื่อทีมงาน นักแสดง แต่ทำไมต้องเป็นเช่นนั้น? ผู้กำกับ Godard เลยทำการอ่านออกเสียงรายชื่อทั้งหมด พร้อมๆนำเสนอภาพเบื้องหลังการถ่ายทำ กล้องเคลื่อนบนรางเลื่อนติดตามหญิงสาวคนหนึ่ง เมื่อดำเนินมาถึงตำแหน่งนี้ Raoul Coutard ก็หันกล้องเข้าหาผู้ชม “Breaking the Fourth Wall” เพื่อต้องการสื่อว่าภาพยนตร์=ชีวิตจริง มีการซ้อนทับ เป็นอันหนึ่งเดียว (คิดแค่นี้ก็พอนะครับ ไม่ต้อง ‘หนังซ้อนหนัง’ ให้มันซับซ้อนวุ่นวายเกินไป)
แซว: แต่ยกเว้นชื่อหนัง Le Mépris ยังต้องปรากฎข้อความ เพื่อให้ได้รับการคุ้มครองจากกฎหมายลิขสิทธิ์ (มันเคยมีกรณีที่ภาพยนตร์ไม่ขึ้นชื่อหนัง เลยไม่ได้รับการคุ้มครองจากกฎหมาย กลายเป็นสาธารณสมบัติ (Public domain) ไปโดยปริยาย)
Cinema replaces our gaze with a world in harmony with our desires. Contempt is the story of that world.
André Bazin
วินาทีที่ Coutard หันกล้องเข้าหาผู้ชม จะได้ยินคำนิยามภาพยนตร์ของ André Bazin คือสิ่งที่แทนมุมมอง/สนองความต้องการของผู้สร้าง โดยเรื่องราวความขัดแย้งต่างๆ คือสิ่งที่(ผู้สร้าง)ไม่อาจยินยอมรับ เต็มไปด้วยอคติ ดูถูกเหยียดหยาม ‘contempt’ นำเสนอเพื่อระบายความอึดอัดอั้น และสามารถเป็นข้อคิดเตือนใจแก่ผู้ชม
นี่เป็นฉากถ่ายทำหลังสุด เพราะโดนใบสั่งจากโปรดิวเซอร์ชาวอเมริกัน หลังจากได้รับชมฟุตเทจทั้งหมด พบว่าหนังไม่มีฉากโป๊เปลือยของ Bardot นั่นสร้างความหงุดหงิดหัวเสียให้ผู้กำกับ Godard ยินยอมประณีประณอมแค่เพียงฉากนี้ (และตอนกลางเรื่อง) อะไรอย่างอื่นไม่ขอปรับแก้ไขใดๆทั้งนั้น
ถึงบอกว่าประณีประณอม แต่ผู้กำกับ Godard ก็ใช่จะยอมความโดยง่าย ฉากเปลือยบนเตียงของ Bardot แค่นอนนิ่งๆแทบไม่มีการขยับเคลื่อนไหว เห็นเพียงแผ่นหลังกับแก้มก้น ไร้อารมณ์ร่วมใดๆ และยังย้อมสีธงชาติฝรั่งเศส แดง-ขาว-น้ำเงิน แสดงความเป็นชาตินิยม อารมณ์ประมาณกรุไม่ใช่ขี้ข้าสหรัฐอเมริกา (สร้างความหงุดหงิดรำคาญใจให้ผู้ชม เพราะมันมองแทบไม่เห็นอะไร)
ระหว่างการพรอดพร่ำรัก จะได้ยินคำถาม-ตอบที่ถ้าใครรับชมผลงานผกก. Godard มาตั้งแต่ Breathless (1960) ก็น่าจะมักคุ้นป็นอย่างดี เน้นๆย้ำๆกับเธอชอบอวัยวะโน่นนี่นั่นของฉันไหม แต่ทั้งหมดล้วนเพียงเปลือยภายนอกร่างกาย ไม่เคยสอบถามถึง รักฉันจากภายในจิตวิญญาณเลยสักครั้งเดียว!
I love you totally, tenderly, tragically.
Paul Javal
ในมุมของผู้กำกับ Godard โปรดิวเซอร์ภาพยนตร์ (โดยเฉพาะชาวอเมริกัน) ชอบวางตัวหัวสูงส่ง (นั่ง/ยืนตำแหน่งสูงกว่า) ใช้อำนาจบาดใหญ่ เดินไปเดินมา ชี้นิ้วออกคำสั่ง เรียกร้องโน่นนี่นั่น เพียงเพราะคือคนจัดหาเงินทุน งบประมาณ ออกทุนสร้างหนัง ก็ทำราวกับตนเองเป็นพระเจ้า!
ช่วงระหว่างรับชมฟุตเทจ Odyssey จะมีคำพูดของโปรดิวเซอร์ Jeremy Prokosch บอกว่าเข้าใจความรู้สึกของพระเจ้า … นั่นเพราะตัวละครนี้เปรียบได้กับพระเจ้า – นั่นเอง.
I like gods. I like them very much. I know exactly how they feel – exactly.
Jeremy Prokosch
มหากาพย์ Odyssey เล่าเรื่องราวของวีรบุรุษกรีกชื่อ Odysseus (หรือ Ulysses) ภายหลังเอาชัยชนะสงครามเมือง Troy ระหว่างทางล่องเรือกลับบ้าน ถูกเทพเจ้าแห่งท้องทะเล Neptune ทำให้คลื่นลมปั่นป่วน เรืออัปปางกลางมหาสมุทร พยายามขัดขวางเขาไม่ให้ไปถึงเป้าหมาย แต่ด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจจะกลับไปหาภรรยา เลยได้รับการปกป้องช่วยเหลือจากเทพเจ้าอีกองค์ Minerva ใช้ระยะเวลาสิบปีถึงสามารถฟันฝ่าอุปสรรค เดินทางกลับบ้านได้สำเร็จ (ยาวนานพอๆกับการยึดเมือง Troy ก็ใช้เวลาสิบปีเช่นกัน)
ระหว่างนั้นภรรยา Penelope และบุตรชาย Telemachus ต้องต่อสู้กับกลุ่มคนพาลที่พยายามสู่ขอวิวาห์ เพราะต่างครุ่นคิดว่าสามีเธอได้เสียชีวิตจากไปแล้ว จนในที่สุดเลยตั้งข้อแม้ ใครสามารถง้างคันธนูของ Odysseus และยิงทะลุขวาน 12 ด้าม จักยินยอมแต่งงานด้วย … พอดิบพอดี Odysseus เดินทางกลับมาถึงแต่ไม่มีใครจดจำเขาได้ เลยปลอมตัวเข้าร่วมการทดสอบ เป็นผู้ชนะ และเปิดเผยตนเองสู่สาธารณะ
เรื่องราวจากมหากาพย์ Odyssey สามารถเปรียบเทียบตัวละครในหนังได้คร่าวๆดังนี้
- Paul ก็คือ Odysseus (หรือ Ulysses) หรือแทนด้วยผู้กำกับ Jean-Luc Godard ต่างเป็นนักเดินทางที่ไม่สามารถไปถึงฝั่งฝัน ต้องฟันฝ่าอุปสรรคขวากหนาม (อะไรก็ไม่รู้เหมือนกัน)
- Camille คือภรรยา Penelope และ Anna Karina ต่างถูกปล่อยปละละเลย จนรู้สึกเหมือนถูกสามีทอดทิ้งขว้าง เลยจำต้องมองหาใครสักคนสำหรับพึ่งพักพิง
- ส่วนโปรดิวเซอร์ชาวอเมริกัน Jeremy Prokosch ไม่ต่างจากเทพเจ้า Neptune ที่พยายามขัดขวางไม่ให้ Odysseus หวนกลับไปหาภรรยา Penelope
นี่คือทัศนคติของผู้กำกับ Godard ว่าพระเจ้าไม่ได้สร้างมนุษย์ แต่คือคนยุคสมัยก่อนที่ครุ่นคิดจินตนาการ ให้กำเนิดพระเจ้าสำหรับใช้เป็นข้ออ้าง อธิบายเหตุผลของสิ่งเหนือธรรมชาติ
เฉกเช่นเดียวกับภาพยนตร์ที่มนุษย์สรรค์สร้างขึ้น เมื่อกาลเวลาเคลื่อนพานผ่าน ผลงานเก่าๆก่อนๆที่หลงเหลือ/ทรงคุณค่า จักได้รับการยกย่องกลายเป็นตำนาน และในอนาคตอาจแปรสภาพสู่ปรัมปราของพระเจ้าได้เช่นเดียวกัน
เกร็ด: นี่คือรูปปั้นของ Homer (น่าจะมีชีวิตอยู่ช่วงศตวรรษที่ 8) นักแต่งกลอนในตำนานชาวกรีก เชื่อกันว่าเป็นผู้แต่งมหากาพย์เรื่อง Iliad และ Odyssey, ชาวกรีกโบราณเชื่อกันว่าเขาคือนักประวัติศาสตร์ แต่นักวิชาการในปัจจุบันเชื่อว่าเป็นเพียงชื่อที่ถูกสร้างขึ้นมา อาจไม่ได้มีตัวตนอยู่จริงด้วยซ้ำ
Consider your origin: you were not made to live like brutes, but to follow virtue and knowledge.
Dante: Divine Comedy – Inferno Canto XXVI:85-142 Ulysses’s last voyage
คำกล่าวนี้จาก Fritz Lang แต่ก็คือทัศนะของผกก. Jean-Luc Godard เป็นคำประชดเสียดสีโปรดิวเซอร์ชาวอเมริกัน ถึงเหตุผลที่สรรค์สร้างตัวละคร Jeremy Prokosch ให้มีความเถื่อนๆ บ้าพลัง สนเพียงกระทำสิ่งตอบสนองสันชาติญาณ เพราะเป็นมนุษย์ที่ไม่ได้ใคร่สนใจคุณธรรมหรือองค์ความรู้ (virtue and knowledge)
สำหรับคำพูดของ Paul เป็นประโยคต่อจาก Lang เลยนะครับ แต่เหมือนจะสรุปรวบรัดตัดต่อพอสมควร
Night then looked all the stars. Our joy soon turned to tears until the sea closed in on us.
Paul Javal
เพราะต้นฉบับเต็มๆนั้นคือ … นี่คือเหตุการณ์ที่ Odysseus (หรือ Ulysses) ถูกกลั่นแกล้งโดยเทพเจ้า Neptune ค่ำคืนแห่งลมพายุ ฟ้าฝน จนเรือต้องอัปปางลง
Night already saw the southern pole, with all its stars, and our northern pole was so low, it did not rise from the ocean bed. Five times the light beneath the moon had been quenched and relit, since we had entered on the deep pathways, when a mountain appeared to us, dim with distance, and it seemed to me the highest I had ever seen. We rejoiced, but soon our joy was turned to grief, when a tempest rose from the new land, and struck the prow of our ship. Three times it whirled her round, with all the ocean: at the fourth, it made the stern rise, and the prow sink, as it pleased another, till the sea closed over us.’
Dante: Divine Comedy – Inferno Canto XXVI:85-142 Ulysses’s last voyage
การรวบรัดตัดตอนคำพูดประโยคนี้ของ Paul คงเพื่อสรุปย่นย่อเรื่องราวที่จะเกิดขึ้นในองก์สองและสาม สะท้อนความของเขาสัมพันธ์กับภรรยา Camille เมื่อค่ำคืนนี้มาถึง (ช่วงท้ายองก์สอง) ความสนุกสนานจักกลายเป็นคราบน้ำตา และเมื่อออกเดินทางไปยัง Casa Malaparte (องก์สาม) ท้องทะเลจะทำให้ทุกสิ่งอย่างพังทลายลง
Il cinema è un’invenzione senza avvenire.
Louis Lumière กล่าวไว้เมื่อปี ค.ศ. 1895
แปลว่า The cinema is an invention without a future.
หลายคน(รวมถึงผมเอง)คงรู้สึกแปลกใจที่ Louis Lumière หนึ่งในสองพี่น้อง Lumière ผู้ประดิษฐ์ Cinematograph จะเป็นคนกล่าวประโยคนี้ต่อสาธารณะ แต่อาจเพราะยุคสมัยนั้นพวกเขายังมองไม่เห็นโอกาสและอนาคตของสื่อภาพยนตร์ก็เป็นได้นะ (มันเพิ่งสร้างขึ้นปีแรกๆเท่านั้นเอง จะให้แพร่หลายได้สักขนาดไหนเชียว)
ผู้กำกับ Godard นำคำพูดประโยคนี้มาสะท้อนถึงวงการภาพยนตร์ยุคสมัยนั้น เปรียบเทียบถึง Modern Cinema เป็นสิ่งที่เขามองไม่เห็นอนาคตโดยสิ้นเชิง!
- จุดสิ้นสุดยุคสมัย Classical Era vs. การมาถึงของ Modern Cinema
- ความต้องการสร้าง ‘art film’ ของผู้กำกับ Fritz Lang vs. ข้อเรียกร้อง ‘commerial film’ ของโปรดิวเซอร์ Jeremy Prokosch
ขณะที่ Lang ทำได้เพียงนั่งสงบนิ่งเฉย โปรดิวเซอร์ Prokosch ลุกขึ้นมาแสดงความเกรี้ยวกราด เดินไปเดินมา เตะทิ้งฟีล์มหนัง รวมถึงสั่งให้เลขาโน้มตัวไปข้างหน้า เพื่อตนเองจะได้เซ็นเช็คจากด้านหลัง สำหรับเป็นค่าจ้างให้ Paul ประสานความต้องการของตนเองกับผกก. Lang
หลังจาก Prokosch ออกไปจากห้องฉายหนัง ผู้กำกับ Lang พูดคุยกับเลขาสาวเกี่ยวกับการมีตัวตน-ไม่มีตัวตนของพระเจ้า กล่างถึงบทกวี Dichterberuf (แปลว่า The Poet’s Vocation) โดยนักปรัชญาชาวเยอรมัน Friedrich Hölderlin (1770-1843) ซึ่งสามารถล้อถึงโปรดิวเซอร์ชาวอเมริกันได้อย่างตรงไปตรงมา
ต้นฉบับภาษาเยอรมัน
Furchtlos bleibt aber, so er es muß, der Mann
Einsam vor Gott, es schützet die Einfalt ihn,
Und keiner Waffen brauchts und keiner
Listen, so lange, bis Gottes Fehl hilft.คำแปลภาษาอังกฤษ
Alone before God, man remains unafraid,
Such that He must protect their simplicity.
He needs neither weapons nor deceit,
As His absence for so long will sustain.
นี่เป็นวิธีการอ้างอิงถึงหนังเรื่องอื่นๆที่มีความมักง่ายโดยแท้
- Hatari! (1962) กำกับโดย Howard Hawks, นำแสดงโดย John Wayne
- โปรโมทหนังตัวเอง Vivre Sa Vie (1962) กำกับโดย Jean-Luc Godard นำแสดงโดย Anna Karina
- Vanina Vanini (1961) กำกับโดย Roberto Rossellini นำแสดงโดย Sandra Milo
- Psycho (1960) กำกับโดย Alfred Hitchcock
นอกจากนี้เมื่อตอน Paul แนะนำผู้กำกับ Fritz Lang ให้กับ Camille มีการแนะนำภาพยนตร์สองเรื่อง
- Paul กล่าวถึงหนัง Western นำแสดงโดย Marlene Dietrich คือภาพยนตร์เรื่อง Rancho Notorious (1952)
- ขณะที่ Camille บอกว่าชื่นชอบ M (1931)
หลังจาก Paul ผลักดันให้ภรรยา Camille ขึ้นรถสป็อตกับโปรดิวเซอร์ Prokosch ส่วนตัวเองจะโบกแท็กซี่ติดตามไปยังวิลล่านอกเมือง มีการแทรกภาพรูปปั้น Neptune แล้วเคลื่อนหมุนโดยรอบ 180 องศา ราวกับจะสื่อว่าเทพเจ้าองค์นี้ได้ดลบันดาลฟ้าฝน ทำให้เกิดความล่าช้าในการเดินทาง เป็นเหตุให้สามี-ภรรยาบังเกิดความขัดแย้ง ร่องรอยบาดหมาง
หรือจะมองว่าเทพเจ้า Neptune ได้กระทำบางสิ่งอย่างกับ Camille ระหว่างเฝ้ารอคอย Paul เดินทางมาถึงวิลล่า แต่ผมไม่ค่อยอยากครุ่นคิดสักเท่าไหร่ ใครต้องการจินตนาการ(ว่าพวกเขาอยู่สองต่อสองทำ)อะไรก็ตามสบายเลยนะครับ
ข้ออ้างการมาสายของ Paul ให้ความรู้สึกฟังไม่ขึ้นเอาเสียเลย! นั่นเพราะ
- โปรดิวเซอร์ Prokosch พูดภาษาฝรั่งเศสไม่ได้ เลยฟังไม่รู้เรื่อง ได้แต่นั่งหูทวนลม
- ส่วน Camille มีท่าทางไม่พึงพอใจอะไรบางอย่าง เลยมีทีท่าไม่อยากรับฟังคำแก้ต่างใดๆ
กระทั่งการมาถึงของเลขาสาว (ของ Prokosch) ทำให้ Camille บังเกิดเกิดภาพหวนระลึก/จินตนาการถึงสิ่งที่อาจบังเกิดขึ้น หรือว่าเหตุผลที่ Paul มาสายนั้นเพราะ … (ไปเติมเต็มช่องว่างในจินตนาการเอาเองนะครับ)
เมื่อ Paul เริ่มสังเกตเห็นความผิดปกติ ใบหน้างอนตุ๊บป่องของ Camille พยายามพูดสอบถามแต่เธอกลับเบือนหน้าหนี ไม่ยินยอมให้คำตอบอะไรใดๆ
Paul: “Did he come on to you?”
นี่เป็นประโยคที่ Camille ได้ยินแล้วเบือนหน้าหนีโดยทันที! แสดงถึงความไม่พึงพอใจอย่างรุนแรง ถามคำถามนี้ออกมาได้ยังไง? หลังจากเขาเอานิ้วลูบหน้าแข้ง จู่ๆพูดบอกจะไปล้างมือ นี่ฉันสกปรกขนาดนั้นเชียวหรือ? พฤติกรรมเหล่านี้ทำให้หญิงสาวเกิดภาพหวนระลึกนึกย้อนอดีตอีกครั้ง หรือว่า Paul กับเลขาสาวคนนั้นจะ … (ไปเติมเต็มช่องว่างในจินตนาการเอาเองนะครับ)
รามกฤษณะ (ค.ศ. 1836-86) ชื่อเกิดคทาธาร จัตโตปธยายะ เป็นฤาษี, สันตะ และผู้นำทางศาสนาในศาสนาฮินดูในเบงกอลศตวรรษที่ 19, ศรีรามกฤษณะมีประสบการณ์ความอิ่มเอิบทางจิตวิญญาณตั้งแต่วัยเยาว์ มีนิสัยธรรมชาติและความปิติทางความเชื่อ ทำให้สามารถความเข้าใจวิถีความเป็นไปของสิ่งต่างๆมากมาย ต่อมาได้ถ่ายทอดความรู้ให้กับสาวก ตั้งเป็นคณะรามกฤษณะ (Ramakrishna)
ผมไม่ค่อยแน่ใจเรื่องเล่าของ Paul เกี่ยวกับลูกศิษย์ของรามกฤษณะว่าคือบุคคลใด? แต่จุดประสงค์คาดว่าต้องการสะท้อนถึง Classical vs. Modern โลกยุคสมัยใหม่ไม่ต้องฝึกฝนการเหาะเหินเดินบนน้ำ แค่นั่งบนเรือก็สามารถข้ามมหาสมุทร … นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า เราควรรู้จักปรับตัวเข้ากับการเปลี่ยนแปลง ไม่ใช่เอาแต่หมกมุ่นยึดติดโลกทัศน์เดิมๆที่มันเฉิ่มเชนล้าหลัง (แต่ก็อย่าทอดทิ้งศีลธรรม มโนธรรมเป็นอันขาด!)
หลายคนอาจรู้สึกว่าเรื่องเล่ารามกฤษณะ มันผิดที่ผิดทางเกินไปหรือเปล่า? แต่อย่าลืมว่าหนังมีการอ้างอิงเทพเจ้าโลกตะวันตก มหากาพย์ Odyssey แล้วจะมีตำนานฝั่งอินเดีย/โลกตะวันออก ไม่ได้หรือไร? ซึ่งการเหาะเหินเดินข้ามแม่น้ำ ยังล้อกับการเดินทางข้ามมหาสมุทรของ Odysseus ได้อีกต่างหาก!
ทีแรกผมแอบสงสัยว่า Paul จะเล่าเรื่องรามกฤษณะให้กับเลขาสาวฟังทำไม? จนกระทั่งจู่ๆเขาแอบจับก้นเธอ นี่เป็นหลักฐาน/เงื่อนงำ ถึงความเจ้าชู้ประตูดิน กำลังพยายามเกี้ยวพาราสี นอกใจภรรยา โดยไม่รู้ตัว Camille แอบได้ยินทุกสิ่งอย่าง และน่าจะพบเห็นการกระทำดังกล่าว จึงส่งสัญญาณเปิด-ปิดไฟ เตือนสติอีกฝั่งฝ่ายว่านั่นไม่ใช่สิ่งถูกต้อง แถมพูดแซวว่านั่นคือการมาล้างมือ(จับก้น)นะหรือ? … ผมรู้สึกว่านี่คำเตือนที่เฉียบคมมากๆเลยนะ
โปรดิวเซอร์ Prokosch สอบถาม Paul ว่ามีความสนใจอะไรในมหากาพย์ Odyssey คำตอบของเขาคืออยากพบเห็นภาพยนตร์แบบยุคสมัยอดีต D. W. Griffith (น่าจะโดยเฉพาะ Intolerance (1916)) และ Charlie Chaplin เมื่อครั้งยุครุ่นเรืองของ United Artists … นี่ก็สะท้อนความชื่นชอบหลงใหลผลงานยุคเก่าก่อนของผกก. Jean-Luc Godard อย่างชัดเจน
ขณะที่ความคิดเห็นของโปรดิวเซอร์ Prokosch ไม่ได้พูดบอกกล่าวมาตรงๆ หยิบหนังสือเล่มเล็กขึ้นมาอ่านคำคม “คนฉลาดจะไม่กระทำสิ่งขัดแย้งกับผู้มีอำนาจ” ซึ่งสื่อถึงการไม่ต่อต้านขัดขืนคำสั่ง/ข้อเรียกร้องของตนเอง(ในฐานะโปรดิวเซอร์) ต่อการดัดแปลงมหากาพย์ Odyssey ให้มีความเป็นตลาด ‘commercial film’ … กล่าวคือพี่แกไม่เห็นด้วยกับ Paul แต่ตอบแบบอ้อมๆว่า มึงจงฟังคำสั่งกรูเท่านั้น!
Paul Javal: I’d like to return to Griffith and Chaplin. Like in the days of United Artists.
Jeremy Prokosch: The wise man does not oppress others with his superiority. He doesn’t humiliate them for their impotence.
ระหว่างที่ Paul และ Camille กำลังเดินกลับอพาร์ทเม้นท์ จะปรากฎภาพรูปปั้น Odysseus (หรือ Ulysses) หมุนรอบครึ่งใบหน้า 180 องศา คงต้องการสื่อถึงช่วงเวลาหลังการเผชิญหน้ามรสุมจากเทพเจ้า Neptune ทำให้เรืออัปปาง ล่องลอยคอมาติดเกาะอยู่กลางมหาสมุทร ไม่สามารถหาหนทางกลับบ้าน … ถึงแม้ Paul และ Camille กำลังเดินกลับอพาร์ทเม้นท์ แต่ความสัมพันธ์กลับเริ่มเหินห่าง เหมือนกำลังหลงทาง ล่องลอยคออยู่กลางมหาสมุทร ไม่สามารถหาหนทางกลับบ้าน
ระหว่างที่ Paul อ่านหนังสือพิมพ์ ก็มีการกล่าวถึงภาพยนตร์อีกสองเรื่องที่เพิ่งเข้าฉาย (หรือนำกลับมาเข้าฉายก็ไม่รู้นะ)
- Rio Bravo (1959) กำกับโดย Howard Hawks, นำแสดงโดย John Wayne, Dean Martin, Ricky Nelson
- Bigger Than Life (1956) กำกับโดย Nicholas Ray, นำแสดงโดย James Mason, Barbara Rush
แซว: ผมคาดเดาว่าผู้กำกับ Godard น่าจะเคยเขียนวิจารณ์ภาพยนตร์ทั้งสองเรื่องนี้ (อย่างหลงใหลคลั่งไคล้) ตอนทำงานอยู่นิตยสาร Cahiers du Cinéma
นี่น่าจะเป็นซีเควนซ์ ‘bedroom drama’ หรือจะเรียกว่า ‘apartment drama’ ยอดเยี่ยมที่สุดในบรรดาผลงานของผู้กำกับ Godard (เหนือชั้นกว่า Breathless (1960) อย่างเห็นได้ชัด) นำเสนอความสัมพันธ์ที่ค่อยๆแตกร้าวระหว่าง Paul กับ Camille ภายในห้องที่มีความหรูหราสไตล์ Modern ประกอบด้วยสีสันแดง-ขาว-น้ำเงิน (ธงชาติฝรั่งเศส) และสามารถแบ่งเรื่องราวออกเป็น 3 ระยะ (จากความรุนแรงที่ Paul กระทำร้าย Camille)
- ห้องนั่งเล่น (พื้นที่ส่วนกลาง) Paul ในชุดอาบน้ำแต่งตัวเหมือน(เทพเจ้า)ชาวกรีกโรมัน ตบหน้า Camille เพราะไม่พึงพอใจต่อปฏิกิริยาแสดงออก ไม่ยินยอมอธิบายเหตุผลอะไรใดๆ แต่เขาก็ยังง้องอนคืนดีด้วยการโอบกอดจูบ
- ห้องนอน (พื้นที่ระหว่างสามี-ภรรยา) Camille รำคาญใจต่อพฤติกรรมโกหกหลอกลวงของ Paul พยายามจะจุ้นจ้านกับครอบครัวของเธอ ทำให้รู้สึกเหมือนสูญเสียพื้นที่ส่วนตัวเลยขนข้าวของออกมานอนโซฟาห้องนั่งเล่น เขาติดตามมางอนง้อขอคืนดี เมื่อเกิดเรื่องไม่พึงพอใจกันอีกก็หลบหนีเข้าห้องน้ำ (พื้นที่ส่วนบุคคล) สิ้นสุดช่วงนี้ต่างฝ่ายต่างตระหนักถึงรอยร้าวลึก รับรู้ว่าอนาคตอาจต้องเลิกราหย่าร้าง
- ห้องทำงาน (พื้นที่ยังสร้างไม่เสร็จ หรือจะมองว่าคือสภาพปรักหักพังก็ยังได้) ต่างฝ่ายต่างมองหน้ากันไม่ติด พูดคุยอะไรก็เกิดความขัดแย้ง นำสู่การทะเลาะตบตี จากนั้นเธอเลยตัดสินใจหลบหนีออกจากอพาร์ทเม้นท์ ส่วนเขาก็แอบพกปืนติดตัวไว้
ก่อนอื่นขอกล่าวถึง Camille ดื่มโคคาโคล่า (เครื่องดื่มโปรดของผู้กำกับ Godard) สัญลักษณ์ของระบอบทุนนิยม ตัวแทนของโลกยุคสมัยใหม่ เป็นสิ่งที่สร้างความลุ่มหลงใหล ทำให้กลายเป็นขี้ข้าทาส ‘โสเภณี’ ไม่สามารถหยุดเลิกราดื่มกินได้อีกต่อไป
Camille ซื้อเสื้อผ้าชุดตัวใหม่ ทีแรก(ช่วงต้นองก์สอง)ต้องการให้ Paul แสดงความคิดเห็น แต่ก็ล้มเลิกความตั้งใจ เพราะดูเขาไม่ยี่หร่าอะไร ซึ่งพอเธอสวมใส่ชุดนี้(ช่วงระยะสาม) ก็ไม่เคยมีการพูดกล่าวถึงประการใด … เพศหญิงเมื่อมีอะไรใหม่ๆ ก็มักเรียกร้องความสนใจ ให้แสดงความคิดเห็น พูดชม หรืออะไรสักอย่าง ความเพิกเฉยเฉื่อยชาของ Paul จึงถือเป็นอีกความไม่พึงพอใจของ Camille
ส่วนการสวมใส่วิกสีดำ นอกจากอ้างอิงภาพลักษณ์ของ Anna Karina ภาพยนตร์เรื่อง Vivre Sa Vie (1962) ยังสื่อถึงการปกปิดตัวตน หญิงสาวไม่อยากเปิดเผยความครุ่นคิด สิ่งที่อยู่ภายในจิตใจออกมาตรงๆ อาจเป็นเรื่องละเอียดอ่อน รู้สึกเขินอาย หวาดกลัวการไม่ยินยอมรับ … นี่เป็นสิ่งที่ผู้ชายส่วนใหญ่(รวมถึงผมเอง)ไม่ค่อยเข้าใจว่าทำไม
Camille สอบถามถึงทรงผมใหม่ Paul ตอบอย่างชัดเจนเลยว่าไม่เหมาะกับเธอ ของเดิมสีบลอนด์ดูดีกว่า … กับผู้หญิงอ่อนไหว เรื่องแค่นี้ย่อมต้องเก็บไปครุ่นคิดมากอยู่แล้วนะครับ แต่สังเกตว่าเธอไม่ได้ถอดวิกออก แสดงถึงความหัวขบถ เริ่มมีพฤติกรรมต่อต้าน(ความคิดเห็นของ)สามี
ขณะเดียวกันเธอก็พูดโต้ตอบ ประชดประชัน Paul ถึงการสวมหมวกอาบน้ำ ซึ่งเขาก็ได้ให้ข้ออ้างถึงหนังเพลงชื่อดัง Some Came Running (1958) กำกับโดย Vincente Minnelli, นำแสดงโดย Frank Sinatra, Dean Martin, Shirley MacLaine อยากมีภาพลักษณ์เหมือน Dean Martin
จากนั้นเธอก็เล่าเรื่องเกี่ยวกับตูด Martin (Martin’s ass) ฟังแล้วก็งงๆ ผมครุ่นคิดว่าคือการประชดประชันล้วนๆเลยนะ เปรียบเทียบไป-มา คงต้องการสื่อว่า Paul หน้าตาเหมือนตูด “Because you’re an ass”.
Paul ในชุดผ้าคลุมอาบน้ำ (ดูเหมือนชาวโรมัน แต่มองอีกมุมก็คล้ายๆพระเจ้าเช่นกัน) เดินเข้ามาเคาะหน้าอกสองข้าง และบริเวณอวัยวะเพศ ประติมากรรมทองเหลือง (ด้วยรูปลักษณะเพศหญิง สามารถเปรียบเทียบกับ Camille) ทั้งสามครั้งได้ยินเสียงดังแตกต่าง … ผมมองว่าสื่อถึงอารมณ์/ความครุ่นคิดของเพศหญิง หรือคือ Camille ที่ชอบผันแปรเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ไม่สามารถคาดเดา หาเหตุผล ตกลงเธอไม่พึงพอใจอะไรกันแน่?
Camille ถูกตบหน้าเพราะเอาแต่พูดจาบ่ายเบี่ยง อ้อมค้อม ไม่ยินยอมตอบคำถามของ Paul อย่างตรงไปตรงมา มีปัญหาอะไรถึงทำหน้าบูดเบี้ยวเหมือนตูด แม้นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ถูกตบ (แต่คือครั้งแรกในหนัง) แต่เป็นครั้งที่เธอรู้สึกเจ็บปวดถึงทรวงใน แถมเขายังตอกย้ำทิ่มแทงใจดำด้วยอีกคำถาม ทำไมฉันถึงแต่งงานกับสาวนักพิมพ์ดีดอายุ 28 ปี?
แต่ความขัดแย้งครั้งนี้ก็สิ้นสุดลงเมื่อเขาเข้ามาโอบกอด ทำท่าเหมือนจุมพิต แสดงความสำนึกผิด และหญิงสาวยกขาขึ้นมาผ่าหมาก สัญลักษณ์ของ Sex สามารถแก้ปัญหาความรุนแรงระยะแรก ‘ตบจูบ’
(เข้าสู่ระยะสอง) ความขัดแย้งใหม่เริ่มต้นขึ้นเมื่อ Paul รับโทรศัพท์แทน Camille แล้วพูดโกหกกับมารดา สร้างความไม่พึงพอใจต่อหญิงสาวอย่างรุนแรง ทำไมเขาถึงเจ้ากี้เจ้าการเรื่องครอบครัวของฉัน นั่นคือสาเหตุให้เธอรู้สึกว่าชีวิตไม่เป็นส่วนตัว หลังจากใช้ความรุนแรงถีบใส่ (ส่งสัญญาณเตือนว่าอย่ามายุ่งเรื่องส่วนตัว) จึงขนข้าวของออกจากห้องนอน
- Paul ชอบนอนแบบเปิดหน้าต่าง ต้องการลมพัด ‘ความเป็นอิสระ’ อากาศถ่ายเทสะดวก
- Camille ต้องการความเงียบสงัด ปลอดภัย ‘เป็นส่วนตัว’ ปิดหน้าต่างทุกบาน
ระหว่างที่ Paul กำลังงอนง้อ ลูบไล้ลำแข้งของ Camille เธอพบเห็นบัตรสมาชิกพรรค Partito Comunista Italiano (PCI) นี่เป็นอีกสิ่งสร้างความไม่พึงพอใจให้หญิงสาว เพราะเขาไม่เคยพูด ไม่เคยบอกกล่าว และทัศนะทางการเมืองที่แตกต่าง จักยิ่งสร้างความร้าวฉานในครอบครัวโดยง่าย
เพราะความไม่พึงพอใจนี้เอง Camille เลยตัดสินใจลุกขึ้นไปอาบน้ำ แต่ Paul กลับฉุดกระชากข้อมือ สร้างความเจ็บปวด รอยถลอก จึงมิอาจเหนี่ยวรั้งเธอเอาไว้
ระหว่างที่ Camille อยู่ในห้องอาบน้ำ Paul เปิดดูหนังสือ Roma Amor: Essay on Erotic Elements in Etruscan and Roman Art รวบรวมโดย Jean Marcadé ซึ่งส่วนใหญ่เต็มไปด้วยภาพ Erotic คำอ่านก็เกี่ยวกับการตัดสินตูดสาวๆ (อะไรกับตูดนักว่ะ?) คงจะสะท้อนความต้องการของโปรดิวเซอร์ Prokosch (และ Paul) ได้เป็นอย่างดี!
I had to judge a bottom contest between three beautiful women. They chose me as a judge. They showed me their dazzling nudity.
1. The first had a white and gentle curved back with round dimples.
2. When the second parted her legs, her snowy skin grew as red as a rose.
3. The third was as still as a quiet sea. Her delicate skin rippled gently, shivering involuntarily.
บั้นท้ายของหญิงสาวทั้งสามคน สามารถเปรียบเทียบได้กับสามระยะความสัมพันธ์ของ Paul กับ Camille รวมถึงสามสีธงชาติฝรั่งเศส ขาว-แดง-น้ำเงิน (ทะเลคือสีน้ำเงินนะครับ)
ปล. หนังสือ Roma Amor ฉบับที่ใช้ในหนังหาซื้อไม่ได้แล้วนะครับ (แต่ถ้าอยากหาชม Roman Nude Art ก็มีหนังสือเล่มอื่นมากมาย) อาจเพราะภาษาฝรั่งเศสด้วยกระมังเลยหายากมากๆ
สำหรับหนังสือชีวประวัติ Fritz Lang : par Luc Moullet เล่มหน้าปกนี้ก็หายากเช่นกัน แต่ถ้าโดยฉบับเรียบเรียงโดย Luc Moullet เ็นมีการเปลี่ยนหน้าปกทุกฉบับตีพิมพ์ น่าจะยังพอหาได้อยู่มั้งนะ
ชื่อเต็มของหนังสือเล่มนี้คือ Fritz Lang: Présentation par Luc Moullet. Choix de textes et propos de Fritz Lang แปลตาม Google Translate ได้ว่า Fritz Lang: Presentation by Luc Moullet. Choice of texts and comments by Fritz Lang หมายถึงเรียบเรียงโดย Luc Moullet จากคำพูด/ความคิดเห็นของ Fritz Lang
Man can rebel against things that are bad, false.
Fritz Lang
We must rebel when we’re trapped by circumstances, conventions.
เมื่อ Paul บอกว่าการพูดคำหยาบคายไม่เหมาะสมกับ Camille นั่นทำให้เธอจงใจพ่นสารพัดคำหยาบ ออกมาแบบน่ารักๆ โรแมนติก แต่ถือเป็นลักษณะเสียดสีล้อเลียน แสดงความหัวขบถ พฤติกรรมต่อต้านขัดขืน ไม่ยินยอมตกอยู่ภายใต้สถานการณ์กลืนไม่เข้าคายไม่ออกอีกต่อไป (ยืนอยู่เคียงข้างป้ายคำเตือนอะไรสักอย่าง เหมือนเพื่อจะบอกผู้ชมให้ระวัง อย่าลอกเลียนแบบตาม)
หลังจาก Camille อาบน้ำเสร็จ กลับออกมานอนตรงโซฟา เธอและ Paul ต่างเริ่มตระหนักถึงความขัดแย้งที่บาดร้าวลึก ต่างครุ่นคิด-พูดบรรยาย-พร้อมแทรกภาพในจินตนาการ สลับกันไปมาระหว่างทั้งสอง เพื่อทบทวนความสัมพันธ์มาจนถึงปัจจุบัน
- เริ่มต้น Camille นอนเปลือยกลายอยู่บนพรมขนฟูสีขาว เปรียบเสมือนปุยเมฆ ‘cloud of unawareness’ ที่พวกเขาเคยใช้ชีวิตอย่างล่องลอย เรื่อยเปื่อย ไม่ได้ต้องครุ่นคิดอะไรจริงจัง
- จากนั้น Camille กำลังออกวิ่งอยู่ท่ามกลางต้นไม้ ทะเลสาป สามารถสื่อถึง ‘honeymoon phase’ ช่วงเวลาที่เต็มไปด้วยความตื่นเต้น แปลกใหม่ เร้าใจของชีวิตคู่
- แต่เมื่ออาศัยอยู่ร่วมกันสักพัก พวกเขาเริ่มตระหนักว่าชีวิตคู่มีอะไรๆให้ต้องเรียนรู้มากมาย เรือนร่างเปลือยเปล่าของ Camille นอนอยู่บนพรมขนฟูสีน้ำเงิน มอบสัมผัสความหนาวเหน็บ เยือกเย็นชา
- Camille พยายามที่จะทำบางสิ่งอย่างเพื่อส่งสัญญาณเตือน คอยบอกใบ้(ด้วยภาษากาย)กับ Paul ว่าไม่ควรลุกล้ำเส้น แต่เขากลับเพิกเฉยไม่เคยเอาใจใส่
- เมื่อความขัดแย้ง ไม่พึงพอใจ สะสมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ มันจึงกลายอคติมวลรวม แสดงพฤติกรรมต่อต้านขัดขืน พูดอะไรมาก็พร้อมทำสิ่งตรงกันข้าม ไม่จำเพาะจงใจเรื่องอะไรใดๆอีกต่อไป
สังเกตว่าในช่วงแรกๆจะเป็นภาพเชิงสัญลักษณ์ จากนั้นจะเริ่มทบทวนหวนระลึกหลายๆเหตุการณ์เพิ่งพานผ่านมา และมีจินตนาการถึงอนาคตด้วยนะ (เมื่อเดินทางไป Casa Malaparte) … เหมือนต้องการสื่อถึงความครุ่นคิด/จินตนาการ เป็นสิ่งที่ไม่มีอดีต-ปัจจุบัน-อนาคต กล่าวคือตัวละครมาถึงจุดที่ไม่ยี่หร่าอะไรอีกต่อไปแล้ว
จากเคยพูดคำอ่อนว่า แสดงออกอย่างนุ่มนวล สิ้นสุดระยะสอง Paul หยิบผ้าเช็ดตัวของ Camille ปกปิดบั้นท้ายของเธอ ราวกับมันเป็นภาพที่ไม่อยากเห็นอีกต่อไป ชวนให้นึกถึงบทกลอนสุนทรภู่ ในพระอภัยมณี
เขาย่อมเปรียบเทียบความว่ายามรัก
แต่น้ำผักต้มขมชมว่าหวาน
ครั้นรักจางห่างเหินไปเนิ่นนาน
แต่น้ำตาลว่าเปรี้ยวไม่เหลียวแล
แซว: มุมกล้องนี้ทำให้รู้สึกเหมือน ประติมากรรมทองเหลือง/ใครบางคน หรือพระเป็นเจ้ากำลังจับจ้องมองทั้งสองอย่างใกล้ชิด
เข้าสู่ระยะสามเมื่อ Paul เดินเข้าห้องทำงาน คราวนี้ไม่ได้เปิด-ปิดประตู แต่ทะลุเข้าไป (ในส่วนนี้ของอพาร์ทเม้นท์เหมือนยังปรับปรุงไม่เสร็จ) เรียกว่าไม่สนขนบธรรมเนียม พิธีรีตองอีกต่อไป เอาแต่ความสะดวกสบาย/เห็นแก่ตัวเองเป็นที่ตั้ง
The private plane awaited in the blue sky. Rex noticed something about Paula that he knew already, her face… Her harmonious face, now indecisive, seemed contorted. Rex knew this trait of hers, for it seemed that whenever Paula… Whenever Paula had to make a decision… that went against her nature…
ข้อความที่ Paul อ่านออกเสียงนี้ น่าจะมาจากโศกนาฎกรรมกรีก Oedipus Rex แต่ผมไม่แน่ใจตัวละคร Paula คือใคร? มาจากไหน? เป็นบทละครใหม่ ตั้งชื่อใหม่หรือเปล่า? แต่เราสามารถเปรียบเทียบ Rex=Paul, Paula=Camille สามารถสื่อถึงความสัมพันธ์ของทั้งสองขณะนี้ได้อย่างชัดเจน
ความขัดแย้งทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จากที่ Paul พยายามติดตามงอนง้อ Camille ไปรอบๆห้อง จนกระทั่งเมื่อถึงจุดๆหนึ่งเขาก็หยุดยืน หญิงสาวก็หยุดเดิน แต่มุมกล้องถ่ายให้การแบ่งแยก กีดกั้นขวางด้วยกำแพงขนาดใหญ่ (เป็นการใช้ประโยชน์จาก CinemaScope ได้คุ้มค่ามากๆ) นี่ก็ชัดเจนมากๆแล้วว่าความสัมพันธ์ของพวกเขามาถึงจุดที่ไม่มีทางหวนกลับมาเหมือนเดิมอีกต่อไป
แต่ระยะห่างภายในเฟรมเดียวยังไม่เป็นที่พึงพอใจของผู้กำกับ Godard จึงได้สร้างซีนนี้ที่แม้พวกเขานั่งห่างแค่เพียงเอื้อมโซฟา คั่นกลางด้วยโคมไฟ (เดี๋ยวติดเดี๋ยวสว่าง = สัญญาณอันตรายของความสัมพันธ์) แต่กล้องจับระยะภาพ Close-Up แล้วเคลื่อนไหลซ้ายที-ขวาที เดี๋ยวมาฝั่ง Paul เดี๋ยวมาฝั่ง Camille เพื่อสะท้อนระยะห่างความสัมพันธ์ มาถึงจุดที่พวกเขาไม่สามารถอยู่ร่วมชายคา/เฟรมเดียวกัน
การฉุดกระชาก ตบตี ภาพความรุนแรงขนาดนี้คือจุดจบของความสัมพันธ์ Camille มิอาจอดรนทนต่อข้อเรียกร้อง ความเห็นแก่ตัว ไม่สนใจใยดีของ Paul อีกต่อไป หลังเสร็จจากระบายอารมณ์ก็เดินตรงไปประตู เตรียมตัวก้าวออกไปจากอพาร์ทเม้นท์หลังนี้
ความสัมพันธ์ของทั้งสองต่อจากนี้จักค่อยๆตกต่ำลง จากเคยอยู่สรวงสวรรค์(บนอพาร์ทเม้นท์) Camille กำลังเดินลงบันได (พร้อมพร่ำบ่นเรื่องการสูญเสียความรัก) พอออกมายังท้องถนนก็พบเห็นทางลาดลง และเข้าเมืองในช่วงเวลาพลบค่ำ ท้องฟ้าปกคลุมด้วยความมืดมิด
สำหรับ Paul เหมือนจะมีความครุ่นคิดชั่ววูบ ต้องการเข่นฆาตกรรม Camille ถึงขนาดหยิบปืนที่ซุกซ่อนเอาไว้หลังกองหนังสือ แต่เหตุผลที่หนังไม่ดำเนินไปทิศทางนั้นเพราะก่อนหน้านี้มีการอ่านข้อความจากหนังสือชีวประวัติ Fritz Lang
But l don’t think murder is a solution. Crimes of passion serve no purpose. I love a woman, she cheats on me, I kill her. What’s left for me? I lost her love since she’s dead. If I kill her lover, she hates me, and I still lose her love. Killing is never a solution.
Fritz Lang
ณ โรงภาพยนตร์ Silver Cine (น่าจะปิดกิจการไปแล้วนะครับ) ไม่ใช่แค่ Camille กับ Paul นั่งแยกกันคนละฝั่งเท่านั้น, ผกก. Fritz Lang (นั่งข้าง Camille) ก็อยู่คนละฟากกับโปรดิวเซอร์ Prokosch (นั่งข้าง Paul) และเสียงเพลงที่ได้ยินก็ดังๆหยุดๆเมื่อมีการพูดสนทนา (จริงๆมันคือข้อจำกัดของยุคสมัยนั้นในการถ่ายทำยังสถานที่จริง เลยมีการบันทึกเสียงพากย์แยกภายหลัง แล้วไม่ใช่ทำการรวมเสียง Mixing เข้าด้วยกัน)
นอกจากนี้เวลาที่พวกเขาพูดคุยสนทนา กล้องก็จะเคลื่อนเลื่อนไปทางขวา-ซ้าย สลับไปมา และบางขณะก็จะมีตากล้องช่างภาพนิ่ง (จะมองว่าเป็นการ Breaking the Fourth Wall ก็ได้เช่นกัน) บันทึกภาพการเต้นรำบนเวที ซึ่งจะส่วนใหญ่จะเป็นการเต้นรำคู่ยกเว้นเพียงสาวชุดแดง โยกไปโยกมาแต่เพียงลำพัง (ระบายอารมณ์แทน Camille ได้ด้วยกระมัง)
สิ้นสุดองก์สองด้วยการก้าวออกจากโรงภาพยนตร์ Silver Cine ตระเตรียมตัวเดินทางสู่เกาะ Capri พบเห็นเต็มไปด้วยโปสเตอร์ Journey to Italy (1954) กำกับโดย Roberto Rossellini นำแสดงโดย Ingrid Bergman, George Sanders ช่างเป็นการอ้างอิงอย่างตรงไปตรงมา!
Paul เลิกที่จะโน้มน้าวให้ Camille ร่วมออกเดินทางสู่ Capri แต่คำพูดของหญิงสาวสะท้อนว่าการเดินทางครั้งนี้ไม่มีใครบีบบังคับเธออีกต่อไป แต่มันคือแรงผลักดันของชีวิต เพื่อนำสู่จุดจบความสัมพันธ์รักครั้งนี้
ภาพแรกขององก์สาม ถ่ายให้เห็นสภาพของ Camille ราวกับยัยเซิ้ง ผมยุ่งๆ หน้ามุ่ยๆ สวมแว่นตาดำ ดูไม่ค่อยพึงพอใจสักเท่าไหร่ที่ต้องเดินทางมายังสถานที่แห่งนี้ พื้นหลังคือน้ำทะเล เหมือนกำลังล่องลอยคออยู่กลางมหาสมุทร
สิ่งที่ Camille กำลังจับจ้องมองกล้องถ่ายหนัง ผมไม่ค่อยแน่ใจว่ากลมๆสองอันที่ดูเหมือนดวงตาคือแสงไฟหรือไมโครโฟน แต่ให้ความรู้สึกเหมือน ‘god eye’ สำหรับบันทึกภาพโลกในอุดมคติของผู้สร้างภาพยนตร์
นี่เป็นช็อตที่รวบรวมทุกสิ่งอย่างใน ‘กองถ่าย’ ไว้บนเรือ (สัญลักษณ์ของการเดินทาง ในที่นี้ก็คือการทำงานในกองถ่ายทำภาพยนตร์) ซึ่งแต่ละตำแหน่งก็พอจะมีนัยยะของมันอยู่บ้าง
- นักแสดง/ตัวประกอบอยู่ตรงหัวเรือ คือส่วนเบื้องหน้า ภาพที่ปรากฎบนจอภาพยนตร์
- นักแสดงก็คล้ายๆเทือกเขาน้ำแข็งที่มีเพียงส่วนยอดโผล่พ้นเหนือน้ำ ขณะที่ทีมงาน/เบื้องหลังคือส่วนที่อยู่ภายใต้ผืนผิวน้ำ หรือก็คือส่วนด้านหลังของเรือ
- ตากล้อง อยู่ในส่วนบริเวณเครื่องยนต์ของเรือ คือตัวขับเคลื่อน บันทึกภาพการแสดง ให้เรือลำน้ำ/ภาพยนตร์สามารถดำเนินไป
- ผู้กำกับนั่งอยู่ตอนกลาง คอยกำหนดทิศทางการเดินเรือ และมอบหมายให้ผู้ช่วยเป็นคนตะโกนออกคำสั่ง
- โปรดิวเซอร์ยืนอยู่บริเวณกาบเรือ เหมือนคอยพยุงให้การเดินทาง/ถ่ายทำภาพยนตร์ สำเร็จลุล่วงโดยดี
- ส่วน Paul ตอนแรกยืนอยู่ตรงกาบเรือ คอยช่วยพยุงการเดินทางเหมือนโปรดิวเซอร์ แต่เมื่อการถ่ายทำเริ่มขึ้นเขาก็ลงมานั่งตรงเก้าอี้ เพราะไม่ได้มีบทบาทจำเป็นอีกต่อไป
- และ Camille นั่งสวยๆอยู่เคียงข้างผู้กำกับและโปรดิวเซอร์
เกร็ด: ผู้กำกับ Jean-Luc Godard รับบทเป็นผู้ช่วยผู้กำกับ หาเจอกันไหมเอ่ยว่าเขาอยู่ตรงไหน?
หลังจากโปรดิวเซอร์และ Camille ล่องเรือจากกองถ่ายนี้ไป จะมีการแทรกภาพรูปปั้นเทพเจ้า Neptune เคลื่อนเลื่อนในทิศทางกลับตารปัตรจากตอนต้นเรื่อง ราวกับคลื่นลมกำลังพัดหวน แล้วแต่จะตีความว่า …
- เทพเจ้า Neptune ได้รับชัยชนะจากการขัดขวาง Odysseus หรือคือทำให้ Paul กำลังจะต้องพลัดพรากจากภรรยาชั่วนิรันดร์
- หรือจะมองว่าคือชัยชนะของ Odysseus ที่สามารถต่อสู้ฟันฝ่าอุปสรรคขวากหนามของเทพเจ้า Neptune ในที่สุดก็กำลังจะหวนกลับถึงบ้าน … การตีความนี้อาจรู้สึกขัดแย้ง แต่มันจะไปสอดคล้องกับฉากต่อไป
Paul ขึ้นไปยืนบริเวณเนินเขา จับจ้องมองทิวทัศน์ท้องทะเล Mediterranean นี่ให้ความรู้สึกเหมือนตอน Odysseus เดินทางกลับมาถึงบ้านเกิด หลังฟันฝ่าอุปสรรคขวากหนามของเทพเจ้า Neptune (เป็นช็อตที่ล้อกับภาพสุดท้ายของหนัง ผกก. Lang บอกว่ากำลังถ่ายทำฉาก Odysseus เมื่อเดินทางกลับถึงบ้านเกิด)
ซึ่งขากลับระหว่างเดินลงมา พานผ่านต้นไม้สูงรกชัญ (สามารถสื่อถึงความสลับซับซ้อนของชีวิต/ความครุ่นคิด) Paul ได้สนทนากับผกก. Lang ถึงการตีความเป็นไปได้ ความสัมพันธ์แท้จริงระหว่าง Odysseus กับภรรยา Penelope ว่าทั้งสองอาจไม่ได้รักกันเท่าไหร่ ไม่เช่นนั้นเขาจะทอดทิ้งภรรยาเดินทางไปสงคราม Troy หลายสิบปีได้อย่างไร?
It takes Ulysses ten years to return home because he doesn’t really want to return. It’s logical, and the illogical borrows from the logical. Ulysses doesn’t rush home to Ithaca because he was unhappy with Penelope, but the trouble started before he went off to war. He never would’ve left if he’d been happy. The Trojan war was his excuse to get away from her.
การตีความดังกล่าวสะท้อนความสัมพันธ์ขณะนี้ระหว่าง Paul และ Camille ซึ่งเขาก็ตระหนักได้แล้วว่าทั้งตนเองและภรรยาต่างสูญเสียความรักที่เคยมีให้กัน ลึกๆรู้สึกไม่ใคร่อยากกลับไปหาเธอสักเท่าไหร่
The only way to win her back was to murder the suitors. Death is no resolution.
คำอธิบายของ Lang ถ้าต้องการได้เธอกลับมาคือต้องเข่นฆ่าโปรดิวเซอร์ Prokosch แต่นั่นความตายไม่ใช่หนทางแก้ปัญหา นี่สะท้อนความคิดที่เขาเขียนไว้ในหนังสือ Fritz Lang : par Luc Moullet เป็นอย่างดี!
ด้วยสถาปัตยกรรมสไตล์ Modern ของ Casa Malaparte ทำให้สถานที่แห่งนี้มีความผิดแผกแปลกประหลาด โดยเฉพาะบันไดขึ้นบนดาดฟ้า ราวกับประตูสู่สรวงสวรรค์ เมื่อไปยืนบนนั้น เหม่อมองท้องทะเล Mediterranean กว้างใหญ่สุดลูกหูลูกตา นั่นคือความเป็นไปได้ไม่รู้จบสิ้น หรือสิ่งนิจนิรันดร์
ในบริบทของ ‘หนังซ้อนหนัง’ ยังเปรียบเทียบได้กับ Ithaca ดินแดนบ้านเกิดของ Odysseus สถานที่ที่วีรบุรุษหวนกลับมาพบเจอภรรยา Penelope (หรือคือ Paul กับ Camille) แม้ในมหากาพย์พวกเขาจะสามารถหวนกลับมาครองคู่รัก แต่ชีวิตจริงก็ไม่จำเป็นต้องได้ผลลัพท์เช่นนั้น
การที่ Camille จงใจให้ Paul พบเห็นกอดจูบกับโปรดิวเซอร์ Prokosch ไม่ใช่เพื่อสร้างความอิจฉาริษยา แต่คือการมอบคำตอบที่เขาสอบถามมาโดยตลอด (ตั้งแต่องก์แรก) … นี่ไม่ใช่เหตุผลทั้งหมดแล้วนะครับ แค่จุดเริ่มต้น/รอยร้าวแรกที่ทำให้ทั้งสองบังเกิดความขัดแย้ง ตลอดทั้งองก์สองมันได้ทวีความรุนแรงจนกระทั่งถึงจุดแตกหัก มาจนถึงขณะนี้(องก์สาม)ทุกสิ่งอย่างมันสายเกินเยียวยาวไปเรียบร้อยแล้ว
วินาทีที่ Camille จูบกับโปรดิวเซอร์ Prokosch มุมกล้องจะตัดเปลี่ยนมาถ่ายจากภายในบ้าน มองออกไปเห็นทิวทัศน์ Mediterranean เหมือนต้องการสื่อว่าหญิงสาวไม่ได้ใคร่สนใจปฏิกิริยาของ Paul (ซึ่งก็ไม่มีถ่ายให้เห็นด้วยนะ) ชีวิตได้รับเสรีภาพ ไร้พันธนาการเหนี่ยวรั้ง อยากทำอะไรก็ได้ตามใจ ไม่ยี่หร่ากับบุคลไร้หัวใจอีกต่อไป
Paul เต็มไปด้วยอาการกระวนกระวาย เดินไปเดินมารอบห้อง จากกระจกบานหนึ่งสู่กระจกอีกบานหนึ่ง (=พยายามมองหาหนทางออกจากสถานการณ์ครั้งนี้) แล้วตัดสินใจขอถอนตัวจากการดัดแปลงบท Odyssey สรรหาข้ออ้างที่ฟังไม่ค่อยขึ้น ฉันคือนักเขียนบทละครไม่ใช่ภาพยนตร์! แต่แท้จริงแล้วมันคือความหงุดหงิดรำคาญใจ ผิดหวังในตนเอง ทำไมถึงไม่รับรู้สัญญาณเตือน ความสัมพันธ์ระหว่าง Camille กับ Prokosch เมื่อมันมาถึงขั้นนี้ ทุกสิ่งอย่างล้วนสายเกินแก้ไข
นี่คือช็อตสุดท้ายที่ตัวละครหลักๆอยู่ร่วมเฟรมเดียวกัน ผมรู้สึกว่ากระจกบานนี้แลดูเหมือนจอภาพยนตร์
- ทิศทางของโปรดิวเซอร์ Prokosch เหม่อมองออกไปภายนอกแลดูเหมือนอนาคตของวงการภาพยนตร์
- ผู้กำกับ Lang นั่งเก้าอี้ที่หันหลัง แต่ตัวเขากลับนั่งเอียงๆ ราวกับจะสื่อถึงความประณีประณอม ไม่เห็นด้วยต่ออนาคต แต่ถ้ายังครุ่นคิดจะสรรค์สร้างภาพยนตร์ ก็ต้องพร้อมรับการปรับตัว
- ขณะที่ Paul ซึ่งคืออวตารของผู้กำกับ Godard เป็นบุคคลเดียวที่หันหลังให้กับกระจกบานนี้ ไม่เห็นด้วย อคติ ต่อต้านโดยสิ้นเชิง
- ส่วน Camille นั้นสนเพียงเมื่อไหร่อาหารจะเสิร์ฟ …
คำพูดของ Paul เมื่อพบเห็น Camille นอนเปลือยอาบแดด “รู้สึกเหมือนครั้งแรกที่พบเจอ” แต่มันคือครั้งสุดท้ายที่เขาจะได้พบเห็นเรือนร่างกายของเธอ จากนั้นยังพยายามพูดคุยสอบถาม งอนง้อขอกลับมาคืนดี ถึงอย่างนั้นหญิงสาวกลับตอบปัดปฏิเสธ พยายามเดิน-วิ่งหลบหนีจากบนดาดฟ้า ลงบันไดมาถึงจุดต่ำสุดของ Casa Malaparte แล้วกระโดดลงเล่นน้ำ ปฏิเสธจะรับฟังคำพูดคุยสนทนาใดๆอีกต่อไป
Paul: Why don’t you love me anymore?
Camille: That’s life!Paul: Why do you have contempt for me?
Camille: That I’ll never tell you, even if I were dying.
เหตุผลที่ Camille ปฏิเสธตอบคำถาม Paul ในคราวนี้ เพราะมันไม่มีเหตุผลอะไรที่จะต้องตอบ ความสัมพันธ์ระหว่างพวกเขาตกต่ำลงถึงขีดสุด ไม่หลงเหลือเยื่อใยอะไรใดๆ ทุกสิ่งอย่างหวนกลับสู่จุดเริ่มต้น ไม่ต่างจากการสนทนากับคนแปลกหน้า (คงไม่มีใครเอาเรื่องส่วนตัวมาพูดคุยกับคนไม่รู้จักหรอกนะ)
การเสียชีวิตของโปรดิวเซอร์ชาวอเมริกันและ Camille พุ่งเข้าชนบริเวณกึ่งกลางระหว่างรถพ่วง สะท้อนแนวคิดจุดจบ Modern Cinema ที่มีความเร่งรีบ ฉาบฉวย มองหาแต่ช่องว่างสำหรับแทรกกลาง สนแต่แสวงหาผลประโยชน์ ทำเงินทำทองจากทุกสิ่งอย่าง สักวันย่อมก็ต้องมีการคำนวณผิดพลาด ประสบอุบัติเหตุ และสูญเสียสิ้นทุกสิ่งอย่าง
มองอีกแง่มุมหนึ่งคือการแสดงทัศนคติสมน้ำหน้า ต่อบุคคลที่มีความเรื่องมาก เห็นแก่ตัว เอาแต่ใจ สนเพียงผลประโยชน์ส่วนตน สมควรแล้วจะตกตายไป (แต่ยิ่งพูดมันก็หวนกลับเข้าหาผกก. Godard)
ฉากสุดท้ายของหนัง ถ่ายทำบนหลังคา Casa Malaparte แต่ผกก. Lang บอกว่ากำลังถ่ายทำวินาทีที่ Odysseus ล่องเรือมาพบเห็นผืนแผ่นดินบ้านเกิด Ithaca ครั้งแรกในรอบ 20 กว่าปี! กล้องค่อยๆเคลื่อนเลื่อนจากกองถ่ายหนัง ออกไปยังท้องทะเล Mediterranean เหมือนจะพบเห็นเกาะอะไรไม่รู้ร่ำไร ก่อนได้ยินเสียงผู้ช่วยผู้กำกับ (รับบทโดย Jean-Luc Godard) ตะโกนสั่ง Silence! แล้วตัดไป FIN ตัวอักษรสีฟ้า
ท่าทางดีใจของ Odysseus แสดงถึงชัยชนะที่มีต่อเทพเจ้า Neptune แต่ตอบจบของเรื่องราว Paul กลับพ่ายแพ้/สูญเสีย Camille ให้โปรดิวเซอร์ Prokosch (และทั้งสองก็ประสบอุบัติเหตุรถชนเสียชีวิต) … หรือจะมองว่าคืออิสรภาพของ Paul ลาจากหญิงสาวที่สูญเสียความรัก รวมถึง(ผกก. Godard)ไม่ต้องทำงานภายใต้โปรดิวเซอร์จอมเผด็จการคนนั้นอีกต่อไป!
ภาพสุดท้ายของท้องทะเล Mediterranean ยังชวนให้ผมนึกถึงแนวคิดของหนังสั้น Méditerranée (1963) พื้นผิวน้ำที่แลดูสงบนิ่ง ทัวทัศนียภาพอันสวยงามนี้ กลับซ่อนเร้นคลื่นลมแรง การต่อสู้ แก่งแย่งชิง นำไปสู่ความสูญเสีย หายนะ และความตาย … ไม่แตกต่างกัน
ผู้กำกับ Godard เคยเปรียบเทียบภาพยนตร์คือรถไฟ/การเดินทาง (ในบริบทนี้ย่อมมองเป็นเรือก็ได้เช่นกัน) มันไม่ควรหยุดจอดสถานีไหน หรือไปถึงจุดหมายปลายทาง แต่การที่ Odysseus พบเห็นผืนแผ่นดินบ้านเกิด สามารถสะท้อนมุมมองของเขาถึงจุดจบของวงการภาพยนตร์ (แต่มันคือจุดจบของยุคสมัย Classical Era เสียมากกว่านะ)
The cinema is not the station. The cinema is the train.
Jean-Luc Godard
ตัดต่อโดย Agnès Guillemot (1931-2005) ขาประจำผู้กำกับ Jean-Luc Godard ร่วมงานกันตั้งแต่ Le petit soldat (1963) แต่ภาพยนตร์เรื่องแรกที่ออกฉายคือ A Woman Is a Woman (1961) จนถึงผลงานสิ้นสุดยุคสมัยแรก Week-end (1967)
หนังดำเนินเรื่องผ่านมุมมองของ Paul Javal ตั้งแต่ตื่นเช้าอยู่บนเตียงกับภรรยา Camille แล้วลุกขึ้นมาพูดคุยงานกับโปรดิวเซอร์ Jeremy Prokosch ยังสตูดิโอ Cinecittà ต่อด้วยเดินทางสู่วิลล่า (ของ Prokosch) จากนั้นหวนกลับอพาร์ทเม้นท์ ยามเย็นออกมาดินเนอร์ และรับชมภาพยนตร์ (องก์หนึ่ง&สอง ดำเนินเรื่องในระยะเวลาหนึ่งวันเต็มๆ), ส่วนองก์สามย้ายสถานที่ไปยัง Casa Malaparte บนเกาะ Capri ในทะเล Tyrrhenian ตอนกลางของประเทศอิตาลี
- อารัมบท
- Opening Credit แทนที่ปรากฎตัวอักษรข้อความ กลายเป็นเสียงพูดชื่อทีมงาน (โดยผู้กำกับ Godard) พร้อมภาพการถ่ายทำภาพยนตร์ Camille กำลังก้าวเดินพร้อมกล้องถ่ายภาพเคลื่อนมาตามราง
- Paul ตื่นเช้าบนเตียง กำลังพร่ำรักกับ Camille นอนเปลือยเห็นแก้มก้น
- องก์หนึ่ง, Paul และโปรดิวเซอร์ชาวอเมริกัน
- Paul เดินทางไปพบเจอโปรดิวเซอร์ชาวอเมริกัน ต้องการเซ็นสัญญาให้มาดัดแปลงบทภาพยนตร์ Odyssey
- รับชมฟุตเทจที่ผู้กำกับ Fritz Lang ถ่ายทำเอาไว้ พบเห็นความไม่พึงพอใจของโปรดิวเซอร์
- หลังคุยงานเสร็จสิ้น Prokosch ชักชวน Paul และภรรยาไปที่วิลล่า
- พอ Paul มาถึงวิลลาของ Prokosch พบเห็นภรรยา Camille มีสีหน้าบึ้งตึง ไม่พึงพอใจอะไรสักอย่าง
- องก์สอง, Paul และภรรยา Camille ยังอพาร์ทเม้นท์ของพวกเขา
- ระหว่างทางกลับอพาร์ทเม้นท์ Paul พยายามพูดคุยสอบถาม Camille กลับเบี่ยงเบนไม่ยินยอมตอบคำถาม
- เมื่อมาถึงในอพาร์ทเม้นท์ ก็พูดคุยสนทนา งอนง้อ ง้องอน Camille จะไปหรือไม่ไป Capri
- ทะเลาะกันยังพื้นที่สาธารณะ ห้องนั่งเล่น เริ่มบังเกิดรอยร้าว (ล้อกับองก์หนึ่ง)
- ทะเลาะกันยังพื้นที่ส่วนบุคคล ห้องนอน ห้องน้ำ ทำให้ความขัดแย้งลุกลามบานปลาย (ล้อกับองก์สอง)
- ทะเลาะกันยังพื้นที่ยังสร้างไม่เสร็จ/ปรักหักพัง สื่อถึงความสัมพันธ์มาถึงจุดแตกหัก พังทลาย (ล้อกับองก์สาม)
- องก์สาม, การถ่ายทำภาพยนตร์ที่ Casa Malaparte บนเกาะ Capri
- เบื้องหลังการถ่ายทำภาพยนตร์ที่ Casa Malaparte บนเกาะ Capri
- Camille จงใจโอบกอดจูบโปรดิวเซอร์ชาวอเมริกันให้ Paul พบเห็นเต็มสองตา
- เมื่อเขารับรู้ว่าเธอไม่พึงพอใจอะไรก็พยายามงอนง้อ แต่ครานี้เธอบอกไม่ให้อภัย แล้วออกเดินทางร่ำลาจากเขาไป
กาลครั้งหนึ่งผู้กำกับ Godard เคยกล่าวไว้ว่า
A story should have a beginning, a middle and an end, but not necessarily in that order.
Jean-Luc Godard
แต่สำหรับ Contempt (1963) เหมือนจะเป็นภาพยนตร์เรื่องแรกเรื่องเดียวของผกก. Godard ที่ใช้โครงสร้าง 3 องก์ (Three-act Structure) ปูเรื่อง-เผชิญหน้า-แก้ปัญหา โดยไม่ได้มีลูกเล่นลีลาใดๆ หรือเทคนิคตัดต่ออันหวือหวา คาดว่าคงต้องการอ้างอิงโครงสร้างต้นฉบับนวนิยาย และเป็นการเคารพคารวะยุคสมัย Classical Era ที่กำลังจะหมดสูญสิ้นไป
เพลงประกอบโดย Georges Delerue (1925 – 1992) นักแต่งเพลงระดับตำนาน สัญชาติฝรั่งเศส เกิดที่ Roubaix ในครอบครัวนักดนตรี ตั้งแต่ชื่นชอบเล่นคาริเน็ต (Clarinet) มีความหลงใหล Richard Strauss แต่พอตรวจพบว่าเป็นโรคกระดูกสันหลังคด (scoliosis) เลยจำต้องเปลี่ยนมาเป็นคีตกวี ร่ำเรียนยัง Conservatoire de Paris จากนั้นเขียนเพลงประกอบละครเวที บัลเล่ต์ โอเปร่า หนังสั้น ภาพยนตร์เริ่มจาก Hiroshima mon amour (1959), โด่งดังจากร่วมงานขาประจำ François Truffaut ตั้งแต่ Shoot the Piano Player (1960), Jules and Jim (1962), ผลงานเด่นๆ อาทิ Contempt (1963), That Man from Rio (1964), A Man for All Seasons (1966), Anne of the Thousand Days (1969), Julia (1977), A Little Romance (1980) ** คว้า Oscar: Best Original Score, Platoon (1986), Sword of Gideon (1987) ฯ
โดยปกติแล้วหนังของผู้กำกับ Godard มักมีการอ้างอิงบทเพลงร่วมสมัยค่อนข้างเยอะ (แม้แต่หนังแสร้งว่า Musical อย่าง A Woman Is a Woman (1961) ก็ยังได้ยินเพลงป็อปจากเครื่องเล่น) แต่สำหรับ Contempt (1963) ทำการแหวกธรรมเนียมอีกแล้ว ด้วยการใช้ Original Score ของ Delerue เพียงอย่างเดียว!
เริ่มต้นแบบเดียวกับ Jules and Jim (1962) บทเพลงแรก Ouverture จัดเต็มวงออร์เคสตรา เอ่อล้นด้วยพลัง เต็มเปี่ยมด้วยอารมณ์ น่าจะสื่อถึงความรักนั้นยิ่งใหญ่ เหนือกว่าสิ่งอื่นใดใต้หล้า แต่พอครึ่งเพลงผ่านไปกลับค่อยๆเลือนลาง เจือจาง เกิดความบาดหมาง และท้ายที่สุดคนสองก็ต้องพลัดพราก แยกจาก สูญเสียทุกสิ่งอย่างเคยมีต่อกัน
Thème de Camille แม้เป็นบทเพลงประจำตัวละคร Camille พรรณาความรู้สึกทรวงใน ยังสามารถสร้างบรรยากาศโดยรวมให้กับหนัง มอบสัมผัสอันเวิ้งว่างเปล่า (ของเมดิเตอร์เรเนียน) ชวนให้จิตวิญญาณล่องลอยไป นี่ฉันกำลังมองหาอะไร? ชายคนรักอยู่แห่งหนไหน? ทำไมเขาไม่เคยอยู่เคียงชิดใกล้? ปล่อยปละละเลยในวันที่แสนโดดเดี่ยวเดียวดาย ต้องเผชิญหน้าคลื่นลมแรง/ภยันตรายอยู่เพียงลำพัง สร้างความผิดหวัง สับสน เศร้าโศกเสียใจ แถมไร้ซึ่งคำแก้ตัวใดๆ
การที่บทเพลงนี้ได้รับการจดจำจนกลายเป็น ‘Iconic’ ของหนัง ไม่ใช่เพราะได้ยินซ้ำๆอยู่หลายครั้ง แต่คือท่วงทำนองยังมีความละม้ายคล้ายบทเพลงอื่นๆ ถ้าไม่ตั้งใจฟัง (มีทั้งหมด 6 เพลงในอัลบัม) อาจแยกแยะไม่ออกเลยว่าแตกต่างกันอย่างไร
เกร็ด: ผู้กำกับ Martin Scorsese เลือกใช้บทเพลงนี้ Thème de Camille มาเป็น Ending Theme สำหรับภาพยนตร์ Casino (1995)
ผมเลือกมาให้รับฟังอีกบทเพลงชื่อว่า Capri (บทเพลงประจำสถานที่/เกาะ Capri) นอกจากท่อนแรกที่ใช้เสียงขลุ่ยแทนความโดดเดี่ยวอ้างว้าง เหมือนคนติดเกาะ ล่องลอยคออยู่กลางทะเลเพียงลำพัง ท่วงทำนองหลังจากนั้นหลายคนคงแยกแยะความแตกต่างไม่ออกจาก Thème de Camille
สองบทเพลงนี้แตกต่างกันที่เครื่องดนตรีที่ใช้บรรเลงท่วงทำนองหลัก
- Camille เริ่มต้นด้วยการประสานเสียงไวโอลิน มันจึงดำเนินไปเช่นนั้นไปตลอดทั้งเพลง (มอบสัมผัสอันคลุมเคลือ ยังเต็มไปด้วยความสับสน คลุมเคลือ นี่ฉันกำลังถูกทอดทิ้งอยู่ใช่ไหม)
- แต่ Capri เริ่มต้นด้วยการเป่าขลุ่ย มันจึงมีเสียงเครื่องดนตรีหลักปรากฎขึ้นตลอดทั้งเพลง (แทนความโดดเดี่ยวอ้างว้าง ค้นพบแล้วว่าฉันล่องลอยคออยู่กลางทะเลเพียงลำพัง)
เรื่องราวของ Contemp (1963) เกี่ยวกับหญิงสาวที่ค่อยๆหมดสูญสิ้นความเชื่อมั่นศรัทธาในรัก เพียงเพราะเขาปล่อยปละละเลยตนเองให้ตกอยู่ในสถานการณ์อันล่อแหลม เสี่ยงอันตราย (เหมือนขายตัวให้เสี่ย) แล้วยังทำเหมือน ‘ทองไม่รู้ร้อน’ บอกไม่รับรู้ว่าการกระทำดังกล่าวเคลือบแฝงนัยยะอันใด แม้พยายามปรับความเข้าใจ งอนง้อ ง้องอน แต่สันดานธาตุแท้ของฝ่ายชายที่ค่อยๆเปิดเผยออกมา ท้ายสุดเธอก็มิอาจอดรนทน นี่ไม่ใช่บุคคลที่ฉันตกหลุมรักใคร่ จึงตัดสินใจละทอดทิ้งเลิกราจากไป
In Contempt, Godard was trying to explain something to his wife.
Raul Coutard
ความสัมพันธ์ระหว่างผู้กำกับ Godard กับภรรยา Anna Karina มีความระหองระแหง ไม้เบื่อไม้เมากันมาโดยตลอด ระหว่างถ่ายทำ A Woman Is a Woman (1961) ก็เดี๋ยวรักเดี๋ยวเลิกอยู่บ่อยครั้ง จนฝ่ายหญิงเริ่มอดรนทนไม่ไหว เมื่อมีโอกาสร่วมงานใครอื่น Le soleil dans l’oeil (1962) ตกหลุมรักนักแสดงนำ Jacques Perrin ตระเตรียมวางแผนจะครองคู่อยู่ร่วมแต่งงานกัน เมื่อนำความมาบอกสามี แสดงความไม่พึงพอใจถึงขนาดทำลายสิ่งข้าวของทุกสิ่งอย่างในอพาร์ทเม้นท์แล้วร่ำลาจากไป
(เรื่องราวต่อจากนั้นคือ Karina รับประทานยา barbiturates ตั้งใจจะฆ่าตัวตาย! โชคดีที่ Perrin มาพบเห็นช่วยชีวิตไว้ได้ทัน นั่นกระมังทำให้ฝ่ายชายยินยอมถอยห่าง และท้ายสุด Godard ก็หวนกลับมาคืนดี Karina ประกาศต่อสาธารณะว่ากำลังจะมีผลงานถัดไปร่วมกัน Vivre sa vie (1962))
ผู้กำกับ Godard คงรับรู้ว่าตนเองเป็นฝ่ายผิดที่ไม่เคยครุ่นคิดถึงหัวอก Karina มองไม่เห็นสัญญาณทั้งหลายที่เธอพยายามบอกใบ้ทุกสิ่งอย่างต่อเขา เอาแต่หมกมุ่นอยู่แต่การทำงาน หาเงินมาจ่ายค่าอพาร์ทเม้นท์ จนปล่อยปละละเลย ให้เธอต้องผจญโลกกว้างเพียงลำพัง … Contempt (1963) จึงเปรียบเสมือนจดหมายแทนคำขอโทษ เพื่อบอกว่าฉันรับรู้แล้วว่ากระทำผิดพลาดประการใด
(แต่เอาเข้าจริงผู้กำกับ Godard ก็หาได้สาสำนึกผิดอะไรนะครับ เพราะหลังจากนี้เมื่อ Karina แท้งลูก เขากลับไม่เคยอยู่เคียงชิดใกล้ แม้จะอ้างว่าฉันเองก็มิอาจทำใจ แต่ยังคงไม่ครุ่นคิดถึงหัวอกภรรยาว่าจะเจ็บปวดทุกข์ทรมาน ต้องการกำลังใจจากเขามากเพียงไหน)
นอกจากจดหมายรักปลอมๆถึงภรรยา Contempt (1963) ยังเป็นจดหมายรักแท้จริงถึงยุคสมัย Classical Era ทั้งโครงสร้างการดำเนินเรื่อง การใช้บทเพลงประกอบ อ้างอิงถึงภาพยนตร์เก่าๆ ผู้กำกับระดับตำนาน Fritz Lang สตูดิโอ Cinecittà ต่างอยู่ในช่วงโรยรา สภาพปรักหักพัง ใกล้ถึงกาลแตกดับสิ้นสูญ (=การจากไปของ Camille เป็นสิ่งที่ Paul มิอาจหยุดยับยั้ง รับรู้ตัวก็เมื่อทุกอย่างสายเกินแก้ไข) แต่ทุกสิ่งอย่างในอดีตจักเหมือนมหากาพย์ Odyssey ก้าวขึ้นบันได Casa Malaparte มุ่งสู่สรวงสวรรค์ และกลายเป็นนิจนิรันดร์
ขัดแย้งกับการมาถึงของโลกยุคสมัยใหม่ (Modern Cinema) โดยเฉพาะโปรดิวเซอร์ชาวอเมริกัน (นี่ก็ประสบการณ์ตรงของผู้กำกับ Godard ครั้งแรกครั้งเดียวร่วมงานโปรดิวเซอร์ชาวอเมริกันในการสรรค์สร้าง Contempt (1963)) สนเพียงเงินๆทองๆ มองภาพยนตร์คือธุรกิจ ไม่เข้าใจความงดงามของศาสตร์ศิลปะ จิตใจเต็มไปด้วยความบิดเบี้ยวคอรัปชั่น สนแต่กระทำสิ่งตอบสนองตัณหา เกี้ยวพาราสีเมียคนอื่น เมื่อไม่ได้ดั่งใจก็แสดงออกด้วยอารมณ์เกี้ยวกราด ผลลัพท์ออกมาต้องตรงตามวิสัยทัศน์ของฉันเท่านั้น!
ตอนจบของหนังเปรียบดั่งคำพยากรณ์อนาคต (ที่ยังมาไม่ถึงสักที) ว่าโลกยุคสมัยใหม่ (Camille หนีตามโปรดิวเซอร์ชาวอเมริกัน) สักวันหนึ่งต้องถึงการแตกดับสิ้นสูญ (ก็เหมือนการจากไปของ Classical Era) แล้วทุกสิ่งอย่างจักหวนกลับสู่จุดเริ่มต้นอีกครั้ง (Paul ตัดสินใจหวนกลับสู่วงการละครเวที)
(อุบัติเหตุรถชนเสียชีวิต=จุดจบของ Modern Cinema ยังสามารถสื่อถึงความตายที่ไร้ค่า ไร้ราคา ท่ามกลางความสับสนวุ่นวายของโลกทุนนิยม ไม่มีอะไรหลงเหลือให้จดจำเหมือนการจากไปของ Classical Era)
ด้วยทุนสร้างสูงถึง $1 ล้านเหรียญ (หมดไปไม่น้อยกับค่าตัวของ Brigitte Bardot) มียอดจำหน่ายตั๋วในฝรั่งเศส 1,619,020 ใบ สูงอันดับ 7 ของปี ถือเป็นหนึ่งในผลงานประสบความสำเร็จของผู้กำกับ Godard แต่น่าผิดหวังจากชื่อของ Brigitte Bardot
It seems like an elegy for European art cinema, at once tragic and serene. This myth of baleful movie gods is also the story of Godard’s victory over temptation. Lashed to the mast of irascible genius, he heard the song of the sirens and lived to tell the tale.
J. Hoberman นักวิจารณ์ชาวอเมริกัน
Brilliant, romantic and genuinely tragic. It’s also one of the greatest films ever made about the actual process of moviemaking.
Over the years it has grown increasingly, almost unbearably, moving to me. It’s a shattering portrait of a marriage going wrong, and it cuts very deep, especially during the lengthy and justifiably famous scene between Piccoli and Bardot in their apartment: even if you don’t know that Godard’s own marriage to Anna Karina was coming apart at the time, you can feel it in the action, the movement of the scenes, the interactions that stretch out so painfully but majestically, like a piece of tragic music.
Contempt is also a lament for a kind of cinema that was disappearing at the time … and it is a profound cinematic encounter with eternity, in which both the lost marriage and the cinema seem to dissolve. It’s one of the most frightening great films ever made.
Contempt (1963) คือหนึ่งในภาพยนตร์เรื่องโปรดของ Martin Scorsese
น่าแปลกใจเล็กๆที่หนังไม่เข้าฉายเทศกาลใดๆเลย (อาจเพราะเป็นโปรเจคทุนสูงกระมัง) ถึงอย่างนั้นยังได้รับผลโหวตที่หนึ่งภาพยนตร์ยอดเยี่ยมประจำปี 1963 ของนิตยสาร Cahiers du Cinéma และการจัดอันดับเมื่อปี 2012 ก็ติดชาร์ททั้งฝั่งนักวิจารณ์และผู้กำกับ (ในบรรดาผลงานของผู้กำกับ Godard เป็นรองเพียง Breathless (1960))
- Sight & Sound: Critic’s Poll อันดับ 21 ร่วมกับ L’Avventura (1960) และ The Godfather (1972)
- Sight & Sound: Director’s Poll อันดับ 44 ร่วมกับ Once Upon a Time in the West (1968), The Apartment (1960) และ Hour of the Wolf (1968)
หนังได้รับการ Re-Release (พิมพ์ฟีล์มใหม่) ครั้งแรกเมื่อปี 1997, ต่อด้วยการสแกน High-Definition โดย Criterion ในโอกาสครบรอบ 50 ปี ค.ศ. 2013 ควบคุมดูแลโดยตากล้อง Raoul Coutard, ส่วนการบูรณะฉบับ 4K อาจยังต้องรออีกสักพัก ถ้ามีโอกาสเข้าฉายโรงภาพยนตร์ ห้ามพลาดทีเดียว!
เกร็ด: เทศกาลหนังเมือง Cannes เมื่อปี 2016 ได้นำเอาภาพนิ่งจากภาพยนตร์ Contempt (1963) มาใช้เป็นโปสเตอร์จัดงาน โดยให้ความหมายถึงการก้าวเดินสู่ความฝัน และทะเลเมดิเตอร์เรเนียนด้านหลังได้กลายเป็นสีเหลืองทองอร่าม
It’s all there. The steps, the sea, the horizon: a man’s ascent towards his dream, in a warm Mediterranean light that turns to gold. As an image it is reminiscent of a timeless quote used at the beginning of Contempt: ‘Cinema replaces our gaze with a world in harmony with our desires.’
การรับชมรอบนี้ทำให้ผมรู้สึกชื่นชอบหนังมากๆ แม้โครงสร้างดำเนินเรื่องจะไม่ได้สลับซับซ้อน แต่ถือว่ามีความลุ่มลึกล้ำซ่อนเร้นอยู่ ต้องใช้การสังเกต ครุ่นคิดวิเคราะห์ สำหรับสาวๆอาจเข้าใจง่ายก็ได้นะ แต่หนุ่มทึ่มๆ ใสซื่อๆ ตรงไปตรงมา ไม่ค่อยมีประสบการณ์เรื่องของความรัก บอกเลยว่ามิใช่เรื่องง่ายจะพบเห็นรายละเอียดอ่อนไหวขนาดนั้น!
ความเห็นส่วนตัวนะครับ … เหตุการณ์อย่างในหนังผมรู้สึกว่าค่อนข้างไร้สาระ แม้ฝั่งชายมีความโคตรเห็นแก่ตัวก็จริง แล้วทำไมฝ่ายหญิงถึงไม่พูดออกมาตรงๆว่าไม่พึงพอใจอะไร มัวยื้อยักเล่นตัว คาดหวังให้อีกฝ่ายตรัสรู้ทุกสิ่งอย่างได้อย่างไร? ถ้าถึงขนาดแต่งงานเป็นสามี-ภรรยา เรื่องแค่นี้ไม่สามารถปรับความเข้าใจ ก็สมควรแล้วละที่จะเลิกราหย่าร้าง และอย่าเอาแต่โทษว่ากล่าวเป็นความผิดฝ่ายชาย คือกรูยังไม่รู้เลยว่าเมิงโกรธเรื่องอะไร? อันนี้ผมเคยพบเจอมากับตัวเอง คิดแล้วก็หงุดหงิด นี่คงไม่ใช่ผู้หญิงในอุดมคติอย่างแน่นอน
แต่สิ่งที่ทำให้ผมคลั่งไคล้สุดๆไม่ใช่เรื่องรักๆใคร่ๆ คือการบันทึกห้วงอารมณ์(ของผู้กำกับ Godard)ในช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านยุคสมัย เต็มไปด้วยความโหยหาอาลัย ใคร่ครวญ หวนระลึกถึง นั่นเพราะ Classical Era กำลังจะสิ้นสุดลง แต่นั่นทำให้ภาพยนตร์ก้าวตรงสู่ความเป็นนิจนิรันดร์!
แนะนำหนุ่มๆสาวๆที่มักมีปัญหาเรื่องของความรัก ไม่เข้าใจคู่ครองของตนเอง, ช่างภาพ ตากล้อง หลงใหลทิวทัศน์สวยๆของเมดิเตอร์เรเนียน, นักเขียน นักอ่าน ชื่นชอบมหากาพย์ Odyssey, นักศึกษา/คนทำงานวงการภาพยนตร์ อยากพบเห็นเบื้องหน้า-เบื้องหลัง อดีตที่ยิ่งใหญ่ของสตูดิโอ Cinecittà, และโดยเฉพาะแฟนๆ Brigitte Bardot ในบทบาทเจิดจรัสที่สุด!
จัดเรต 13+ กับบรรยากาศตึงๆ เต็มไปด้วยลับลม และภาพเปลือยแผ่นหลัง
[…] ใน reference มีความสับสนอยู่บ้าง มีครั้งหนึ่งที่ Marty เลือก 10 อันดับหนังโปรดกับ Criterion (หนังบางเรื่องจะไม่มีในแผ่น Criterion) จะมีหนัง 2 เรื่องที่เพิ่มเข้ามาคือ L’avventura (1960) และ Le Mépris (1963) แต่ผมไม่ขอนับสองเรื่องนี้ลงในชาร์ทนะครับ เพราะจะขออ้างอิงจาก 12 เรื่องที่ Marty เลือกให้นิตยสาร Sight & Sound เป็นหลัก […]