Le Million (1931) : René Clair ♥♥♥♥
ความสำเร็จอย่างล้นหลามของ Under the Roofs of Paris (1930) ทำให้ผู้กำกับ René Clair ราวกับถูกหวย กำลังจะร่ำรวย แต่ลอตเตอรี่ใบนั้นเก็บไว้แห่งหนไหน? เรื่องวุ่นๆของการติดตามหาลอตเตอรี่ถูกรางวัล เต็มไปด้วยความขบขัน ฉิบหายวายป่วนระดับโกลาหล
ล็อตเตอรี่ถูกรางวัลใบนั้น ชวนให้ผมนึกถึงต่างหูจากภาพยนตร์ The Earrings of Madame De… (1953) เป็นการเดินทางที่น่าอึ่งทึ่ง จากบุคคลหนึ่งสู่อีกบุคคลหนึ่ง สถานที่แห่งหนึ่งสู่สถานที่แห่งหนึ่ง ก่อนทุกสิ่งอย่างหวนกลับสู่จุดเริ่มต้น อาจเพราะผู้กำกับ Clair ค่อยๆสามารถยินยอมรับสภาพความจริง คงถึงกาลสิ้นสุดของหนังเงียบ ไม่มีทางหวนกลับมายิ่งใหญ่ได้อีกต่อไป
ผมแนะนำให้ไปหารับชมและหาอ่านบทความ Under the Roofs of Paris (1930) ผลงานที่ผู้กำกับ Clair พยายามตีตราหนังเสียง (Sound Film) ว่าคือสิ่งชั่วร้าย ทำให้วงการภาพยนตร์ตกต่ำทรามลง แต่ประเด็นคือหนังได้เสียงตอบรับดีล้นหลาม (เป็นหนังเสียงสัญชาติฝรั่งเศสเรื่องแรกที่ประสบความสำเร็จระดับนานาชาติ!) แล้วฉันจะทำอะไรยังไงต่อไปละเนี่ย???
Le Million (1931) เป็นผลงานที่ดูเหมือนผกก. Clair พยายามระบายความรู้สึกขัดแย้งภายในจากความสำเร็จของ Under the Roofs of Paris (1930) สังเกตว่ามีสองตัวละครเพื่อนสนิทในหนัง ต่างซื้อหวยพร้อมกัน แต่มีแค่เดียวถูกรางวัล ใจหนึ่งอยากแบ่งปัน อีกใจอยากเก็บมันไว้คนเดียว นำไปสู่การแก่งแย่ง ทรยศหักหลัง ท้ายที่สุดก็สามารถปรับความเข้าใจกัน … นั่นคือสิ่งที่ผมมองว่าผกก. Clair ค่อยๆยินยอมรับสภาพความจริง ต่อการมาถึงของยุคสมัยหนังพูด/หนังเสียง
แม้ว่าไดเรคชั่นของ Le Million (1931) จะแทบไม่แตกต่างจาก Under the Roofs of Paris (1930) คือพยายามผสมผสานเสียงกับความเงียบ รวมถึงทำการทดลองใช้เสียงที่มากกว่าแค่บทเพลงและคำพูดสนทนา แต่ประสบการณ์ผกก. Clair ทำให้หนังดูสนุกสนานเพลิดเพลิน มีความลงตัวกลมกล่อมขึ้นกว่าเดิม คุณภาพอาจยังไม่เทียบเท่า The Italian Straw Hat (1928) สามารถเข้าถึงผู้ชมสมัยใหม่ได้ง่ายกว่า
René Clair ชื่อจริง René-Lucien Chomette (1898-1981) นักข่าว-นักแสดง ผู้กำกับภาพยนตร์ สัญชาติฝรั่งเศส เกิดที่กรุง Paris บิดาเป็นพ่อค้าสบู่ ฐานะกลางๆ โตขึ้นเข้าศึกษาปรัชญา Lycée Louis-le-Grand พออายุ 18 อาสาสมัครคนขับรถในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ได้รับบาดเจ็บกระดูกสันหลัง จึงเต็มไปด้วยความหลอกหลอน ต่อต้านสงคราม, ต่อมาทำงานนักข่าวหนังสือพิมพ์ฝั่งซ้าย L’Intransigeant
ครั้งหนึ่งมีโอกาสแต่งเพลงให้ศิลปิน Damin เธอชักชวนให้เขาไปสมัครเป็นนักแสดงภาพยนตร์สตูดิโอ Gaumont จับพลัดจับพลูได้รับบทนำ Le Lys de la vie (1920) กำกับโดย Loïe Fuller และ Gabrielle Sorère, หลังจากมีหลายผลงานการแสดง ก็ได้ทำงานผู้ช่วยผู้กำกับ Jacques de Baroncelli, กำกับภาพยนตร์เรื่องแรก The Crazy Ray (1924) แต่ออกฉายทีหลังหนังสั้นดาด้า Entr’acte (1924)
เมื่อปี ค.ศ. 1929, สตูดิโอสัญชาติเยอรมัน Tobis Klangfilm (Tobis Sound-Film) ที่ทำการบุกเบิกหนังเสียงในยุโรป ตัดสินใจก่อตั้งสาขาแห่งใหม่ขึ้นที่ Épinay ทางตอนเหนือกรุง Paris นำเอาเทคโนโลยีบันทึกเสียงเข้ามาติดตั้ง จากนั้นโน้มน้าวชักชวนผู้กำกับ Clair ยินยอมตอบตกลงสรรค์สร้างภาพยนตร์ Under the Roofs of Paris (1930) ภายใต้วิสัยทัศน์ของตนเอง
จริงๆก่อนที่ Under the Roofs of Paris (1930) จะประสบความสำเร็จระดับนานาชาติ เมื่อตอนฉายครั้งแรกในฝรั่งเศสได้เสียงตอบรับไม่ค่อยดีสักเท่าไหร่ นั่นทำให้โปรดิวเซอร์พูดคุยกับ Clair ว่าวิสัยทัศน์ของเขาอาจเข้าไม่ถึงผู้ชม ผลงานเรื่องถัดไปควรต้องทำออกมาในลักษณะหนังพูดทั้งหมด … แต่ความสำเร็จล้นหลามระดับนานาชาติที่เกิดขึ้นอย่างคาดไม่ถึง โปรดิวเซอร์เลยยังมอบอิสรภาพผกก. Clair ในการสรรค์สร้างภาพยนตร์เรื่องถัดมา
สำหรับ Le Million หรือ The Million ดัดแปลงจากบทละครชื่อเดียวกัน สร้างโดย Georges Berr (1867-1942) และ Marcel Guillemand (1867-1924) ทำการแสดงรอบปฐมทัศน์ ณ Théâtre des Variétés, Paris วันที่ 17 พฤศจิกายน ค.ศ. 1908 และยังเคยถูกสร้างเป็นหนังเงียบ The Million (1914) กำกับโดย Thomas N. Heffron [ฟีล์มน่าจะสูญหายไปแล้ว]
I was interested in the possibilities of sound in cinema, and I saw Le million as a perfect vehicle for sound. The play is a comedy about a man who loses a winning lottery ticket, and I thought that sound could add a sense of humor and whimsy to the story.
René Clair
ในส่วนการดัดแปลงบทหนัง เพียงคงไว้ซึ่งแนวคิดชายถูกเงินล้านแล้วทำล็อตเตอรี่สูญหาย จึงจำต้องออกติดตามหา ทำให้เกิดความวุ่นๆวายๆ แต่รายละเอียดอื่นๆผกก. Clair ล้วนครุ่นคิดขึ้นใหม่หมด เพื่อให้สอดคล้องเข้ากับวิสัยทัศน์ ผสมผสานเสียง-ความเงียบ และทำการทดลองวิธีการใช้เสียงรูปแบบอื่นๆ
เรื่องราวของจิตรกรไส้แห้ง Michel Bouflette (รับบทโดย René Lefèvre) ติดหนี้ติดสินใครต่อใครไปทั่วอพาร์ทเม้นท์ จนกระทั่งวันหนึ่งเพื่อนสนิท Prosper (รับบทโดย Jean-Louis Allibert) แจ้งข่าวว่าล็อตเตอรี่ซื้อมาถูกรางวัลล้าน พวกเขาสามารถนำเงินดังกล่าวมากินหรูอยู่สบาย แต่ … ล็อตเตอรี่ใบนั้นเก็บอยู่แห่งหนไหนกัน??
Michel ระหว่างกำลังหลบหนีเจ้าหนี้ เข้าไปหลบซ่อนในห้องพักคู่หมั้นสาว Beatrice (รับบทโดย Annabella) เลยไหว้วานให้เย็บเสื้อแจ็คเก็ตที่มีล็อตเตอรี่เก็บอยู่ในกระเป๋า แต่โดยไม่รู้ตัวมีหัวขโมยฉายา Granpere Tulipe (รับบทโดย Paul Ollivier) เข้ามาหลบซ่อนในห้องพักเธอเช่นกัน แล้วสวมใส่เสื้อแจ็คเก็ตดังกล่าวหนีหายตัวไป
Granpere Tulipe เดินทางไปยังสถานที่กบดาน ร้านขายเสื้อผ้า พบเจอกับนักร้องอุปรากร Ambrosio Sopranelli (รับบทโดย Constantin Siroesco) ขอซื้อต่อแจ็คเก็ตตัวนั้นเพื่อนำไปใช้ในการแสดงค่ำคืนนี้ ซึ่งบังเอิญว่า Beatrice เป็นนักเต้นบัลเล่ต์อยู่โรงละครแห่งนั้นพอดิบดี
เรื่องวุ่นๆยังไม่จบลง แต่ถ้าจะเขียนต่อคงทำลายอรรถรสในการรับชม ก็เลยขอยุติไว้เพียงเท่านี้ก็แล้วกัน
René Paul Louis Lefèvre (1898-1991) นักแสดง/นักเขียนสัญชาติฝรั่งเศส เกิดที่ Nice เข้าสู่วงการภาพยนตร์ตั้งแต่ยุคหนังเงียบ ก่อนมามีชื่อเสียงจาก Le Million (1931), ผลงานเด่นๆ อาทิ The Crime of Monsieur Lange (1936), เขียนบท Under the Sky of Paris (1951) ฯ
รับบทจิตรกรหนุ่ม Michel Bouflette นิสัยเจ้าชู้ประตูดิน แม้มีคู่หมั้น Beatrice ยังแอบสานสัมพันธ์ไฮโซสาว Vanda ทีแรกเมื่อได้ยินว่าถูกล็อตเตอรี่ ครุ่นคิดจะแบ่งปันเงินครึ่งต่อครึ่งให้กับเพื่อนสนิท Prosper แต่อีกฝ่ายกลับแสดงพฤติกรรมเห็นแก่ตัวสารพัด อีกทั้งยังทรยศหักหลังพวกพ้อง เกิดการแก่งแย่ง ขัดแย้ง สุดท้ายแล้วเขาจะได้ครอบครองเงินรางวัลหนึ่งล้านหรือไม่
หลายผลงานก่อนหน้านี้ The Italian Straw Hat (1928), Under the Roofs of Paris (1930) ฯ นักแสดงนำขาประจำผู้กำกับ Clair นั้นคือ Albert Préjean ซึ่งผมรู้สึกว่าตัวละคร Michel Bouflette คือบทบาทสร้างขึ้นเพื่อเขาโดยเฉพาะ! แต่ทั้งสองดันเกิดความขัดแย้ง ไม่ลงรอยอย่างรุนแรง ถึงปฏิเสธร่วมงานกันอีก (จะว่าไปช่างสอดคล้องระหว่าง Michel กับ Prosper)
He had a very light touch, a very delicate touch, and he was also very good at physical comedy. He could do things with his body that were very funny, but they were also very graceful.Michel is a very naive character, and he’s also very vulnerable.
He’s not very worldly-wise, and he’s not very experienced. Lefèvre was able to bring that out in his performance, and I think that was very important for the film.
René Clair
Lefèvre เป็นนักแสดงที่มีความอ่อนไหว จิตใจเปราะบาง เต็มไปด้วยข้ออ้าง ขาดความเชื่อมั่นในตนเอง เลยมักถูกลวงล่อหลอก เพื่อนสนิท/ชู้รักทรยศหักหลัง ผู้ชมรู้สึกสงสารเอ็นดู ส่งกำลังใจ อยากให้เอาตัวรอดจากสถานการณ์เลวร้าย ได้รางวัลล็อตเตอรี่กลับคืนมา
แต่ผมรู้สึกว่าภาพลักษณ์ของ Lefèvre ขาดเสน่ห์น่าหลงใหลแบบ Préjean มีเพียงความใสซื่อ ไร้เดียงสา ขาดการแสดงอารมณ์ในเชิงลึก เลยดูไม่ค่อยโดดเด่นเมื่อเทียบกับ Prosper หรือสาวๆ Beatrice, Vanda รวมถึงนักแสดงสมทบอย่าง Granpere Tulipe, Ambrosio Sopranelli หรือแม้แต่คนขับแท็กซี่ ยังขโมยซีนได้มากกว่า
Lefèvre is a bit too lightweight for the role of Michel, and he doesn’t always have the emotional depth that the role requires.
นักวิจารณ์จากนิตยสาร Variety
ถ่ายภาพโดย Georges Périnal (1897-1965) ตากล้องสัญชาติฝรั่งเศส เข้าสู่วงการภาพยนตร์ตั้งแต่ยุคหนังเงียบ เริ่มมีชื่อเสียงจาก Le Sang d’un poète (1930), ก่อนร่วมงานผู้กำกับ René Clair เรื่อง Sous les toits de Paris (1930), À nous la liberté (1931), จากนั้นโกอินเตอร์สู่อังกฤษ The Private Life of Henry VIII (1933), Rembrandt (1936), The Four Feathers (1939), The Thief of Bagdad (1940) **คว้ารางวัล Oscar: Best Cinematography, The Life and Death of Colonel Blimp (1943), The Fallen Idol (1948), A King in New York (1957) ฯ
ด้วยข้อจำกัดทางเทคโนโลยีบันทึกเสียง งานภาพส่วนใหญ่จึงทำได้เพียงตั้งกล้องถ่ายทำ ให้นักแสดงเข้า-ออกเฟรม ทำสิ่งต่างๆภายในขอบเขตกำหนด น้อยครั้งถึงมีการแพนนิ่ง ขยับเคลื่อนกล้อง เฉพาะฉากใหญ่ๆที่สามารถสร้างรางสำหรับรถลาก … ทุกช็อตฉากถ่ายทำยังสตูดิโอ Tobis Klangfilm
การถ่ายภาพของ Le Million (1931) อาจไม่ได้มีลูกเล่น เทคนิคหวือหวา หรือวิวัฒนาการขึ้นจาก Under the Roofs of Paris (1930) แต่รายละเอียดภายในแต่ละช็อตฉากล้วนมีความน่าอึ้งทึ่ง ประทับใจยิ่งกว่าเก่า ทั้งโปรดักชั่นงานสร้างของ Lazare Meerson และการกำกับคณะนักแสดงจำนวนมาก วิ่งกันอุตลุต วุ่นวาย เกือบทำได้โกลาหลระดับเดียวกับ The Italian Straw Hat (1928)
ช็อตแรกของหนังเริ่มต้นคล้ายๆ Under the Roofs of Paris (1930) คือถ่ายภูมิทัศน์กรุง Paris จากเบื้องบนหลังคา แต่ผมเชื่อว่าหลายคนน่าจะสังเกตเห็นรายละเอียด ดูไม่ค่อยมีความสมจริงสักเท่าไหร่ นั่นเพราะทั้งหมดเป็นการก่อสร้าง/ถ่ายทำในสตูดิโอ Tobis Klangfilm ดูผ่านๆน่าจะได้รับอิทธิพล German Expressionism แต่แท้จริงแล้วออกไปทาง Fantasy สถานที่เหนือจินตนาการ (ในโลกของผกก. Clair) เสียมากกว่า
หลากหลายนัยยะจาก Under the Roofs of Paris (1930) ยังคงส่งต่อเนื่องมาถึง Le Million (1931) อย่างการเริ่มต้นด้วยภูมิทัศน์หลังคา (เปลี่ยนจากร้อยเรียงชุดภาพมาเป็นเคลื่อนเลื่อนกล้อง) ซึ่งมีความเงียบงัน (ตัวแทนหนังเงียบ) จากนั้นชายสองคนจับจ้องมองลงมา พูดคุยสอบถามอย่างฉงนสงสัย คนเบื้องล่างทำไมถึงส่งเสียงดังหนวกหู (ตัวแทนหนังเสียง)
ซึ่งระหว่างการเคลื่อนเลื่อนกล้องบนหลังคา ผู้ชมยังจะได้เสียงเฮฮาปาร์ตี้ ดังไล่ระดับขึ้นเรื่อยๆ … คล้ายแบบ Under the Roofs of Paris (1930) ค่อยๆได้ยินเสียงขับร้องบทเพลงบนท้องถนน
งานออกแบบฉากภายใน โดยเฉพาะโถงทางเดิน และบันไดวนของอพาร์ทเม้นท์ สังเกตว่าเต็มไปด้วยเหลี่ยมมุม รูปทรงเรขาคณิต ต้องถือว่ารับอิทธิพลเต็มๆมาจาก German Expressionism ไม่ใช่การคัทลอกมากตรงๆนะครับ นำแนวคิดมาปรับประยุกต์ เพื่อสื่อให้เห็นถึงเล่ห์เหลี่ยม กลอุบาย ความขัดแย้งภายในจิตใจของตัวละคร (และผู้กำกับ Clair)
หลังจากรับรู้ว่าถูกหวย ใครต่อใครต่างปฏิบัติต่อ Albert ราวกับพระราชา มีการร้อยเรียงภาพผู้คนรายล้อมเข้ามา อำนวยความสะดวก บริการจุดบุหรี่ ชนแก้ว ตามท้องถนนส่งเสียงซุบซิบนินทา ถึงขนาดได้ลงหนังสือพิมพ์ กลายเป็นข่าวใหญ่ … จากนั้นแทรกภาพ Prosper บุคคลเดียวที่ทรุดนั่งลงกับพื้น ด้วยความท้อแท้สิ้นหวัง ทำไมถึงไม่ใช่ฉันที่ถูกรางวัล นั่นคือจุดเริ่มต้นของความอิจฉาริษยา
หนึ่งในฉากที่ทำเอาผมหัวเราะท้องแข็ง เด็กหญิงคนนี้เป็นตัวแทนผู้พักอาศัย กล่าวสุนทรพจน์ขอ[คุณ Albert ที่สามารถถูกหวย กลายเป็นคนร่ำรวย แถมเมื่อเธอกล่าวจบ ก็ได้ยินบทเพลงชาติฝรั่งเศส La Marseillaise ชื่นชม สดุดี … ดูใบหน้าพี่แกตอนรับดอกไม้สิ อิหยังว่ะ???
นี่น่าจะเป็นครั้งแรกในวงการภาพยนตร์ที่นักร้องอุปรากร (Constantin Siroesco ผู้รับบท Ambrosio Sopranelli มีระดับเสียงเทเนอร์ (Tenor)) เมื่อขับร้องท่อนเสียงสูง ทำให้โคมระย้าบนเพดานเกิดการสั่นไหว แล้วไม่รู้อีท่าไหนถึงพลัดตกหล่นลงมา … นี่ถือเป็นการท้าทายขีดจำกัดเครื่องบันทึกเสียง(สมัยนั้น) แต่ในความเป็นจริงมันคงไม่เว่อวังอลังการขนาดนั้น ทำออกมาให้ดูตลกขบขันเท่านั้นเอง
แซว: โดยปกติที่ผมคุ้นๆว่าเคยเห็น มักใช้นักร้องหญิง ขับร้องโซปราโน ส่งสัญญาณคลื่นความถี่เสียงสูง ทำให้พื้นผิวน้ำพริ้วไหว และแก้วน้ำแตกละเอียด
ไคลน์แม็กซ์ของหนังดำเนินเรื่องยังโรงละครแห่งหนึ่ง (แทบทั้งหมดถ่ายทำยังสตูดิโอ Tobis Klangfilm ยกเว้นฉากที่พบเห็นผู้ชมน่าจะ Conservatoire de Paris) เริ่มจากเหตุการณ์วุ่นวายด้านหลังเวที จากนั้นเมื่อทำการแสดงอุปรากรสมมติ Les Bohémiens เบื้องหน้าก็เต็มไปด้วยการเล่นละคอนตบตาผู้ชม
แม้ว่าอุปรากรสมมติ Les Bohémiens จะมีทั้งหมดสามองก์ แต่เราจะได้รับชมแค่เพียงสององก์เท่านั้น! องก์แรกพบเห็นการเกี้ยวพาราสีระหว่างนักร้องชาย-หญิง โดยไม่รู้ตัว Albert และคู่หมั้น Beatrice ก็แอบงอนง้อคืนดีกันอยู่ด้านหลังฉาก ไม่สามารถทำอะไรได้จนกว่าการแสดงจะสิ้นสุดลง
องก์สองของอุปรากร นำเสนอเรื่องราวของการต่อสู้ระหว่างพระเอก-ตัวร้าย ซึ่งสอดคล้องความขัดแย้งระหว่างสองเพื่อนสนิท Albert กับ Prosper เปลี่ยนจากเพื่อครอบครองหญิงสาว มาเป็นฉุดดึงแขนแจ็คเก็ต แก่งแย่งล็อตเตอรี่ที่อยู่ในกระเป๋าเสื้อ
ระหว่างที่อุปรากรองก์สามกำลังดำเนินไป หนังจะถ่ายทำภาพความวุ่นๆวายๆเบื้องหลังเวที กำลังฉุดกระชากแย่งชิงเสื้อแจ็คเก็ต แต่คราวนี้จะไม่ใช่แค่เสียงเพลง(จากอุปรากร) ยังได้ยินนกหวีด ผิวปาก ผู้คนส่งเสียงดังกึกก้อง เห็นว่ามาจากบันทึกเสียงการแข่งขันกีฬาฟุตบอล จุดประสงค์เพื่อใช้สื่อความหมายแทนการแข่งขัน (แก่งแย่งชิงเสื้อแจ็คเก็ต)
แซว: ท่าทางการวิ่งพุ่งชน ถูกลุมห้อมล้อม โยนเสื้อไปมา ชวนให้ผมนึกถึงรักบี้/อเมริกันฟุตบอลเสียมากกว่านะ
ตัดต่อโดย René Le Hénaff (1901-2005) สัญชาติฝรั่งเศส ขาประจำผู้กำกับ Marcel Carné, René Clair, Géza von Radványi ผลงานเด่นๆ อาทิ Under the Roofs of Paris (1930), À Nous la Liberté (1931), Port of Shadows (1938), Hôtel du Nord (1938), Le Jour Se Lève (1939) ฯ
หนังใช้การเล่าเรื่องย้อนอดีต (Flashback) เริ่มจากชายสองคนบนหลังคา จับจ้องมองลงมาห้องพักเบื้องล่าง ตะโกนสอบถามทำไมถึงส่งเสียงดังวุ่นวาย จากนั้นเจ้าของอพาร์ทเม้นท์เล่าให้ฟังว่ามีใครบางคนถูกล็อตเตอรี่รางวัลหนึ่งล้าน!
- แนะนำศิลปินไส้แห่ง Michel Bouflette ติดหนี้ใครต่อใครนับไม่ถ้วน วิ่งหลบหนีกันอย่างปั่นป่วน แล้วจู่ๆได้รับแจ้งว่าถูกรางวัลหนึ่งล้าน แต่กลับทำล็อตเตอรี่ดังกล่าวสูญหาย
- ออกติดตามหา Granpere Tulipe มาถึงยังร้านขายเสื้อผ้า รับรู้ว่าแจ็คเก็ตถูกขายต่อให้ Ambrosio Sopranelli แล้วเจ้าตัวดันถูกตำรวจเข้าใจผิด ครุ่นคิดว่าเป็นอาชญากร เลยถูกลากตัวไปโรงพัก
- ถูกเพื่อนรัก Prosper หักเหลี่ยมโหด อ้างว่าไม่เคยรับรู้จัก แต่โชคดีได้สมาชิกในอพาร์ทเมนท์ชี้ตัว จึงสามารถเอาตัวรอดคุก
- ค่ำคืนนั้นกับเรื่องวุ่นๆในโรงละคร ใครต่อใครต่างหมายปองเสื้อแจ็คเก็ตของ Ambrosio Sopranelli
- ก่อนเริ่มต้นการแสดง นำเสนอเรื่องวุ่นๆหลังเวที
- การแสดงองก์หนึ่ง เบื้องหน้าขับร้องบนเพลง Nous sommes seuls ส่วน Albert และ Beatrice เกี้ยวพาราสีหลบอยู่เบื้องหลัง
- การแสดงองก์สอง ความขัดแย้งระหว่างคู่พระ-นาง สอดคล้องกับ Albert และ Prosper กำลังฉุดกระชากแก่งแย่งชิงเสื้อแจ็คเก็ต
- การแสดงองก์สาม ถ่ายทำแต่เบื้องหลังเวที ระหว่างการไล่ล่า แก่งแย่งชิงเสื้อแจ็คเก็ต
- ภายหลังการแสดงสิ้นสุด ทุกคนก็ตกอยู่ในความผิดหวัง
- Michel เดินทางกลับห้องพักด้วยความผิดหวัง พบเจอสมาชิกอพาร์ทเม้นท์จัดงานเลี้ยงต้อนรับ รอคอยฟังข่าวดีที่ไม่รู้จะมาถึงเมื่อไหร่ (หวนกลับสู่จุดเริ่มต้น)
ผิดกับ Under the Roofs of Paris (1930) ที่ดำเนินเรื่องด้วยความเอื่อยเฉื่อย เชื่องช้า น่าหลับ, อาจเพราะผกก. Clair เริ่มมีประสบการณ์หนังเงียบ รวมถึงความตั้งใจที่ปรับเปลี่ยนแปลงไป ทำให้เขาเอาใจใส่รายละเอียด เพิ่มความเร็วการตัดต่อ มีความกระชับ กระฉับกระเฉง จนสามารถสร้างความอลเวง สนุกสนานเพลิดเพลินเพิ่มขึ้นหลายๆเท่าตัว … แต่ยังโกลาหลไม่ถึงระดับ The Italian Straw Hat (1928)
ในส่วนของ Original Soundtrack (OST) ประพันธ์โดย Philippe Parès (1901-79) และ Georges Van Parys (1902-91) ทั้งสองมาจากฟากฝั่งละครเวที และร่วมสรรค์สร้างอุปรากรด้วยกันหลายครั้ง มีสองบทเพลงที่เป็นไฮไลท์คือ Le Million (บทเพลงตอนรับรู้ว่าถูกหวย) และ Nous sommes seuls (แปลว่า Alone are we at last) ขับร้องคู่โดย Louis Musy และ Constantin Siroesco (ผู้รับบท Ambrosio Sopranelli)
ขณะที่เพลงประกอบอื่นๆ (Music Arragement) ส่วนเป็นดนตรีคลาสิก ท่วงทำนองมักคุ้นหู รวบรวมเรียบเรียงโดย Armand Bernard (1895-1965) นักแสดง/แต่งเพลง สัญชาติฝรั่งเศส ร่วมงานผู้กำกับ René Clair ตั้งแต่ Under the Roofs of Paris (1930), Le Million (1931), À Nous la Liberté (1931) ฯ
ความตั้งใจของผกก. Clair ต้องการให้บทเพลงเป็นองค์ประกอบหนึ่งของหนัง (แม้ทำการ post-synchronize ภายหลังถ่ายทำก็ตามเถอะ) เพื่อแต่งแต้มสีสัน เสริมเติมความสนุกสนาน เพื่อให้เกิดสัมผัสราวกับต้องมนต์ ดินแดนแฟนตาซี โลกเหนือจินตนาการ
I wanted the music to be playful and imaginative, just like the film itself. I didn’t want the music to be realistic or naturalistic. I wanted it to be a kind of counterpoint to the images, creating a sense of fantasy and magic.
René Clair
น่าเสียดายที่ผมไม่สามารถหาบทเพลง Le Million ที่มีเนื้อคำร้อง (คำอ่านภาษาฝรั่งเศสของ Million/Millionaire มันจะมีลักษณะเหน่อๆ ที่ช่วยสร้างความเว่อๆ ‘มิล-เลียน-อง’ ‘มิล-เลียน-แนร์-เออร์’ ฟังแล้วรู้สึกยียวนกวนประสาทอยู่เล็กๆ) ค้นพบเพียงฉบับ Fox-trot ของ Philippe Parés and His Orchestra เอาไว้ฟังเพลินๆก็แล้วกัน
ทีแรกตอนได้ยิน La bohème ก็นึกว่ามีการนำเอาอุปรากรของ Giacomo Puccini มาใช้ประกอบการแสดง แต่ลองฟังไปเรื่อยๆรู้สึกว่าไป ก่อนมาตระหนักได้ว่าทั้งหมดคือการประพันธ์ขึ้นใหม่ และชื่อที่ถูกต้องก็คือ Les Bohémiens (แปลว่า The Bohemians) บทละครความยาว 3 องก์ แต่งโดยใครก็ไม่รู้จัก (ทั้งหมดเป็นการสมมติขึ้นมา)
หนึ่งในบทเพลงที่เป็นไฮไลท์ของหนังก็คือ Nous sommes seuls (แปลว่า Alone are we at last) ขับร้องคู่โดย Louis Musy และ Constantin Siroesco (ผู้รับบท Ambrosio Sopranelli) น่าเสียดายที่ผมก็หาฉบับเสียงร้องไม่ได้ แต่ยังดีพบเจอ OST เลยนำมาให้รับฟังกัน
สำหรับคนยากคนจน (จริงๆคนมีเงินก็ไม่ต่างกัน) ย่อมมีความเพ้อฝัน อยากประสบความสำเร็จ ร่ำรวยเงินทอง ชนะรางวัลล็อตเตอรี่สักครั้ง ชีวิตจักได้มีความสุขสบาย กระทำสิ่งตอบสนองความต้องการหัวใจ ไม่ต้องอดรนทนทุกข์ยากลำบากอีกต่อไป … แต่การถูกหวยมันเป็นเรื่องของโชคชะตาล้วนๆ คนส่วนใหญ่จึงทำได้เพียงอธิษฐาน บนบานศาลกล่าว เพ้อฝันกลางวัน เชื่อว่าฉันจักสามารถดิ้นหลบหนี (escapist) จากโลกความจริงอันโหดร้าย
ความสับสน โกลาหล วุ่นๆวายๆในการติดตามหาล็อตเตอรี่สูญหาย สามารถสื่อถึงการต่อสู้ดิ้นรนของชีวิต ใครต่อใครต่างขวนขวายหาความสุข สิ่งสามารถเติมเต็มความเพ้อใฝ่ฝัน แต่วิธีการจะได้มานั้นอาจมีทั้งดี-ชั่ว พบเห็นมิตรไมตรี สันดานธาตุแท้ของบุคคลใกล้ตัว ญาติพี่น้อง เพื่อนสนิท หญิงสาวคนรัก ฯ แต่ท้ายที่สุดขึ้นอยู่กับเราเองจะเก็บความสำเร็จไว้กับตัว หรือเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ให้กับผู้คนรอบข้าง
แม้เรื่องราวในหนังจะดูเหมือนจินตนาการเพ้อฝันกลางวัน แท้จริงแล้วนั้นสะท้อนเหตุการณ์บังเกิดขึ้นกับผกก. Clair จากความสำเร็จล้นหลามของภาพยนตร์เรื่องก่อนหน้า Under the Roofs of Paris (1930) ไม่ต่างอะไรจากการถูกหวย (แต่ตัวเขาอาจไม่ได้ร่ำรวยเงินล้าน) ถึงอย่างนั้นมันไม่ใช่แค่เรื่องโชคชะตา ยังคือประสบการณ์ วิสัยทัศน์ รวมถึงความคิดสร้างสรรค์ในการทำหนังเสียง (ถึงมันจะเกิดจากการ ‘misunderstandings’ ก็ตามเถอะ)
ซึ่งการทำให้ Le Million (1931) เต็มไปด้วยความสับสน โกลาหล ยังสะท้อนถึงความขัดแย้ง ว้าวุ่นวายจิตใจของผกก. Clair เพราะเขาไม่เชื่อว่าหนังเสียงจะคืออนาคตวงการภาพยนตร์ ใครเคยรับชมผลงานถัดไป À Nous la Liberté (1931) ย่อมสัมผัสถึงคำสาปแช่ง ขอให้บริษัทผลิตเครื่องเสียงแม้งล้มละลาย! แต่การถูกหวยครั้งนี้ ขอเวลาไปดื่มด่ำ เฉลิมฉลอง ปล่อยตัวปล่อยใจกับความสำเร็จ เพราะมันเป็นครั้งหนึ่งในชีวิต ไม่ใช่สิ่งที่ใครทุกคนจะมีโอกาสได้สัมผัส
I wanted the film to be a celebration of the imagination and the power of dreams. I wanted the film to be a message of hope for the future. I wanted to show that even in the midst of poverty and despair, there is always hope for something better.
René Clair
ถูกหวย ได้เงินล้าน ทำหนังประสบความสำเร็จ แต่เราต้องตระหนักว่านั่นไม่ใช่ทุกสิ่งอย่างของชีวิต สิ่งสำคัญสูงสุดก็คือจิตใจอันบริสุทธิ์ ดีงาม จิตใจโอบอ้อมอารี รู้จักเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อคนรอบข้าม ไม่ใช่เย่อหยิ่ง ทะนงตน หลงตัวเอง กลายเป็นคนขี้งกจรกเปรต สังสรรค์กับเพื่อน/คนรัก ย่อมสนุกสนานว่าตัวคนเดียว
หนังฉายรอบปฐมทัศน์ยังโรงภาพยนตร์ Marivaux theater, Paris วันที่ 15 เมษายน ค.ศ. 1931 เสียงตอบรับดียอดเยี่ยมไม่น้อยกว่า Under the Roofs of Paris (1930) และประสบความสำเร็จทำเงินไม่แพ้กัน
René Clair at his exquisite best; no one else has ever been able to make a comedy move with such delicate, dreamlike inevitability. The Million is a film of such perfect grace and wit that it seems to exist in a world of its own, a world where the laws of logic are suspended and the only reality is the joy of the moment.
This movie is lyrical, choreographic, giddy–it’s the best French musical of its period. Everything is delightful – the set design, the costumes, the acting, and the music. It’s a movie that makes you feel happy.
นักวิจารณ์ Pauline Kael จาก The New Yorker
ฉบับของค่าย Criterion Collection พบเห็นจัดจำหน่ายเพียง DVD ซึ่งทำการสแกนและปรับปรุงเสียงเท่านั้น คุณภาพโดยรวมผมรู้สึกว่าไม่ค่อยดีสักเท่าไหร่ เต็มไปด้วยริ้วรอยขีดข่วน แต่เชื่อว่าน่าจะมีโอกาสได้รับการบูรณะ
แม้ว่าเรื่องราวของ Le Million (1931) จะคาดเดาง่ายไปนิด แต่ลูกเล่นสไตล์ Clairian สามารถสร้างความสนุกสนานเพลิดเพลิน ดินแดนแห่งความเพ้อฝัน โลกส่วนตัวที่มีความโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ ภาพรวมน่าประทับใจกว่า Under the Roofs of Paris (1930) แต่ยังห่างไกลผลสำเร็จของ The Italian Straw Hat (1928)
สิ่งหนึ่งที่ผมรู้สึกเสียดายโคตรๆ ถ้าไม่เพราะโลกทัศน์คับแคบของผกก. Clair นำสู่ความขัดแย้งนักแสดงขาประจำ Albert Préjean เชื่อว่าถ้าได้ร่วมงาน Le Million (1931) จักทำให้หนังมีมนต์เสน่ห์น่าจดจำยิ่งๆกว่านี้
ผมไม่ค่อยอยากแนะนำหนังกับนักเล่นหวยสักเท่าไหร่ เพราะมันเหมือนเป็นการ’ชวนเชื่อ’อบายมุข ทุกคนมีโอกาสชนะรางวัล แทนที่จะเอาเวลาไปทำสิ่งจับต้องได้ กลับลุ่มหลงงมงาย เพ้อฝันกลางวัน หลบหลีกหนีโลกความจริง … แต่ก็เอาเถอะ ใครอยากรวยอยากจน อยากทำอะไรก็ตามสบาย
จัดเรตทั่วไป รับชมได้ทุกเพศวัย
Leave a Reply