Le Plaisir (1952) : Max Ophüls ♥♥♥♥
โลกใบนี้อาจถึงการล่มสลาย ถ้าบุรุษไม่ได้อิสตรีเคียงข้างกาย! เพียงค่ำคืนเดียวที่ซ่องโสเภณีปิดให้บริการ กลับสร้างความสับสนอลม่าน ก่อเกิดเหตุทะเลาะวิวาท ทำให้ทั้งคนหนุ่ม-แก่ ชนชั้นสูง-ต่ำ ตกอยู่ในสภาพแห้งเหี่ยวเฉา หมดสิ้นหวังอาลัย
Le Plaisir (แปลว่า House of Pleasure) ดัดแปลงจากสามเรื่องสั้น ผลงานการประพันธ์ของ Guy de Maupassant โคตรนักเขียนชาวฝรั่งเศส นำเสนอในลักษณะ Anthology Film ไม่ได้มีความต่อเนื่องอะไรกัน แต่เรื่องที่สอง La Maison Tellier (1881) แปลว่า The Tellier House (หรือ The Whore House) กลับมีความยาวเกินกว่าครึ่งหนึ่ง(ของทั้งหมด) เลยสามารถมองว่าคือเนื้อหาสาระหลักของหนังก็พอได้
ความที่ตอนสองมันยาวกว่าใครเพื่อน การดำเนินเรื่องก็ค่อนข้างเชื่องช้า น่าเบื่อหน่าย แต่แนะนำให้อดรนทนจนกว่าจะจบตอน แล้วคุณอาจขำกลิ้งจนปวดท้องไส้ ผมเองก็ไม่อาจหยุดยับยั้งตนเอง เป็นความขบขันประเภท ‘dark comedy’ ที่จี้แทงใจดำชะมัด … ไม่อยากสปอยตรงนี้ ถ้าอยากรู้ให้หามาดูก่อนอ่านย่อหน้าถัดๆไป
ผมมอง Le Plaisir คือจดหมายรักของผู้กำกับ Max Ophüls ต่อศรีภรรยา Hildegard Wall (แต่งงานตั้งแต่ปี 1926 จนกระทั่งเสียชีวิต) อธิบายเหตุผลว่าทำไมตนเองถึงเป็นคนลักษณะแบบนี้ (นิสัยเจ้าชู้ประตูดิน แม้อายุเริ่มมากยังชอบทำตัววัยสะรุ่น หลงใหลรักใคร่สาวๆเอาะๆ ฯลฯ) และลงท้ายถึงสิ่งที่เขาครุ่นคิดว่าคือโชคชะตา รักนิรันดร์! … ผมไปอ่านเจอว่า ผู้กำกับ Ophüls นิยมชมชอบซื้อดอกไม้สดให้ชู้รัก/สาวๆที่ชื่นชอบหลงใหล แต่ศรีภรรยากลับมอบเมล็ดพันธุ์ กระถางต้นไม้ สิ่งที่ต้องใช้เวลาในการเพาะปลูก ฟูมฟัก กว่าจะออกดอกเบ่งบาน ถึงอย่างนั้นมันกลับยั่งยืน มั่นคง ยาวนานกว่ามาก
Max Ophüls ชื่อจริง Maximillian Oppenheime (1902 – 1957) ปรมาจารย์ผู้กำกับสัญชาติ German เชื้อสาย Jews เกิดที่ Saarbrücken, German Empire ครอบครัวเป็นเจ้าของกิจการขายสิ่งทอทุกรูปแบบ ฐานะมั่งคั่ง แต่ด้วยความสนใจด้านการแสดงเลยเข้าร่วมคณะละครเวที Aachen Theatre ไต่เต้าเป็นผู้กำกับ ผู้จัดการโรงละคร จากนั้นมุ่งสู่วงการภาพยนตร์ กำกับหนังสั้น Dann schon lieber Lebertran (1931), ภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่องแรก Die verliebte Firma (1931), แจ้งเกิดโด่งดัง Liebelei (1933), La signora di tutti (1934) ฯ
หลังจาก Nazi ขึ้นมาเรืองอำนาจ อพยพสู่ฝรั่งเศส หนีไปสวิตเซอร์แลนด์ แล้วลี้ภัยยังสหรัฐอเมริกา เซ็นสัญญาสตูดิโอ Universal-International สรรค์สร้างภาพยนตร์ The Exile (1947), Letter from an Unknown Woman (1948), The Reckless Moment (1949), เมื่อหมดสัญญาหวนกลับมาปักหลักอยู่ฝรั่งเศส กลายเป็นตำนานกับ La Ronde (1950), Le Plaisir (1952), The Earrings of Madame de… (1953), Lola Montès (1955) และผลงานสุดท้ายสร้างไม่เสร็จ Les Amants de Montparnasse (1958)
ความสนใจของ Ophüls มีคำเรียกว่า ‘woman film’ ตัวละครนำมักเป็นเพศหญิง ชื่อขึ้นต้น ‘L’ (มาจาก Lady) เรื่องราวเกี่ยวกับความรัก ชู้สาว นอกใจ ในสังคมชั้นสูงที่ทุกสิ่งอย่างดูหรูหรา ฟู่ฟ่า ระยิบระยับงามตา แต่เบื้องลึกภายในจิตใจคน กลับซุกซ่อนเร้นอะไรบางอย่างอยู่เสมอๆ
ส่วนลายเซ็นต์ ‘สไตล์ Ophüls’ มีความโดดเด่นในการใช้ Long Take กล้องขยับเคลื่อนไหวด้วยเครนและดอลลี่ แม้ในฉากที่ดูเหมือนไม่มีความจำเป็น กลับซุกซ่อนเร้น mise-en-scène เพื่อสร้างความน่าตื่นตาตื่นใจ มลื่นไหลต่อเนื่อง และมักวนไปวนมา กลับซ้ายกลับขวา สิ้นสุดหวนกลับสู่เริ่มต้น
ความสำเร็จของ La Ronde (1950) สร้างความเชื่อมั่นใจให้ผู้กำกับ Ophüls ในการนำเสนอหลากหลายเรื่องราว ‘Anthology Film’ โดยโปรเจคถัดมาครุ่นคิดดัดแปลงสามเรื่องสั้นของโคตรนักเขียน Guy de Maupassant (1850-93) ประกอบด้วย
- Le Masque (1889) แปลว่า The Mask
- La Maison Tellier (1881) แปลว่า The Tellier House (หรือ The Whore House)
- Le Modèle (1883) แปลว่า The Model
- เดิมนั้นต้องการสร้าง La Femme de Paul (1881) แปลว่า The Paul’s Wife แต่เปลี่ยนมาเป็น Le Modèle ด้วยเหตุผลทางการเงิน
Guy de Maupassant ชื่อจริง Henri René Albert Guy de Maupassant (1850-93) นักเขียนสัญชาติฝรั่งเศส เกิดที่ Tourville-sur-Arques, ในครอบครัวชนชั้นกลาง ฐานะร่ำรวย เดิมนั้นครอบครัวแค่นามสกุล Maupassant แต่หลังจากค้นพบว่าต้นตระกูลสืบเชื้อสายข้าราชบริพารเลยเปลี่ยนมาใช้ ‘de Maupassant’ ฟังดูเป็นชนชั้นสูงส่งกว่า, บิดา-มารดาหย่าร้างตอนเขาอายุ 11 ขวบ อาศัยอยู่กับมารดาที่มีความหลงใหลวรรณกรรมคลาสสิก โดยเฉพาะ Shakespeare จากนั้นถูกส่งไปโรงเรียนประจำ ค้นพบความสามารถด้านการแต่งเรื่องราว บทกวี อาสาสมัครทหารช่วง Franco-Prussian War (1870-71) จากนั้นย้ายสู่กรุง Paris ทำงานเป็นนักข่าว บวรรณาธิการ แล้วเริ่มเขียนเรื่องสั้น มีชื่อเสียงโด่งดังจาก Boule de Suif (1880) [นำจากประสบการณ์เข้าร่วมสงคราม Franco-Prussian War]
de Maupassant มีผลงานเรื่องสั้นกว่า 300 เรื่อง, นวนิยาย 6 เล่ม, หนังสือเดินทางอีก 3 เล่ม, หลากหลายเรื่องราวได้ถูกนำมาดัดแปลงสร้างเป็นภาพยนตร์ อาทิ Boule de suif (1934), A Day in the Country (1936), Mademoiselle Fifi (1944), A Woman Without Love (1952), Masculin Féminin (1966) ฯลฯ
ดัดแปลงบทภาพยนตร์โดย Jacques Natanson (1901-75) นักเขียนสัญชาติฝรั่งเศส ได้มีโอกาสร่วมงานกลายเป็นเพื่อนสนิทผู้กำกับ Max Ophüls ตั้งแต่ La Ronde (1951) ไปจนถึง Lola Montès (1955)
เพื่อเชื่อมต่อสามเรื่องราวเข้าด้วยกัน แทนที่จะสร้างตัวละครใหม่ขึ้น Master of Ceremonies แบบเดียวกับ La Ronde (1950) เปลี่ยนมาใช้เสียงบรรยายของตัวละครจากตอนที่สามโดย Jean Servais รับบท ‘เพื่อนของ Jean’ … ตอนแรกผมครุ่นคิดว่าตัวละครนี้น่าจะเป็น Guy de Maupassant ผู้แต่งทั้งสามเรื่องสั้น แต่หนังให้เครดิตเพียง ‘เพื่อนของ Jean’ เลยเป็นอิสรภาพผู้ชมในการครุ่นคิดตีความไปเองก็แล้วกัน
Le Masques เรื่องราวของชายคนหนึ่ง Ambroise (รับบทโดย Jean Galland) ชอบสวมหน้ากากเพื่อมาร่วมเล่น-เต้น เริงระบำกับสาวๆยัง Le Plaisir (House of Pleasure) แต่จู่ๆกลับล้มพับหมดสิ้นเรี่ยวแรง ได้รับการปฐมพยาบาลโดยหมอ (รับบทโดย Claude Dauphin) ซึ่งได้ฉีกกระชากหน้า แล้วค้นพบว่าบุรุษผู้นี้คือผู้สูงวัย แสร้งว่าทำตัวเหมือนวัยสะรุ่น จากนั้นนำพาไปส่งที่อพาร์ทเม้นท์ พบเจอภรรยา Denise (รับบทโดย Gaby Morlay) พร่ำบ่นถึงความมักมาก ไม่รู้จักดูสังขารตนเองบ้าง
เริ่มต้นหนัง/เรื่องราวตอนแรกนี้ราวกับพายุมรสุม ที่จะพัดพาผู้ชมหมุนติ้วๆไปกับจังหวะดนตรี การเคลื่อนกล้องโฉบเฉี่ยวฉวัดเฉวียน (ส่วนใหญ่เป็น Long Take) ตัวละครกระโดดโลดเต้น เต็มที่กับชีวิตอย่างสุดเหวี่ยง ซึ่งก็สร้างความฉงนให้ผมเล็กๆว่า Jean Galland เต้นได้ขนาดนั้นจริงๆหรือใช้นักแสดงแทน … แต่เป็นตอนที่ต้องชมในไดเรคชั่นว่าทำออกมาได้สวิงกิ้งจริงๆ
ส่วนไฮไลท์การแสดงคงต้องยกให้ Gaby Morlay ในบทศรีภรรยา เธอมาเงียบๆ ไร้เสียงดนตรี (กลับตารปัตรตรงกันข้ามกับครึ่งแรกโดยสิ้นเชิง) แต่สีหน้าอารมณ์ คำพูดเสียดสีประชดประชัน ล้วนจี้แทงใจดำบุรุษ(สูงวัย)หลายคน ได้อย่างเจ็บแสบกระสันต์ ไม่รู้จักเจียมสังขารบ้างเลยหรือไร เห็นฉันเป็นเพียงขี้ข้า/คนรับใช้ ที่ทำให้ทุกวันนี้เพราะความรัก เธอจะอยู่รอดได้อย่างไรถ้าไม่มีฉัน
Julia Tellier หรือ Madame Tellier (รับบทโดย Madeleine Renaud) เจ้าของซ่องโสเภณี La Maison Tellier (หรือ The Tellier House) ตัดสินใจปิดให้บริการหนึ่งวันเพื่อไปร่วมพิธีศีลมหาสนิท (First Communion) ของหลานสาว ซึ่งก็ได้พาสาวๆโสเภณีทั้ง 5 ร่วมออกเดินทางมุ่งสู่ชนบท เมื่อมาถึงปลายทาง Joseph Rivet (รับบทโดย Jean Gabin) พี่ชายของ Madame Tellier ขับเกวียนมารับ วันถัดมาเมื่อพิธีการเสร็จสิ้น หลังรับประทานอาหารมื้อสุดท้าย พวกเธอก็เร่งรีบออกเดินทางกลับ เพราะบรรดา(สุภาพ)บุรุษ คงมิอาจอดรนทนต่อต่อความหิวกระหาย ขาดสาวๆเติมเต็มความต้องการของร่างกาย
นี่ถือเป็นเนื้อเรื่องหลักของหนัง ที่เต็มไปด้วยไฮไลท์มากมาย ตั้งแต่งานสร้างทั้งเมือง ลีลาการเคลื่อนกล้องจับจ้องมองเพียงภายนอก ของ The Tellier House (The Whore House) กำกับการแสดงที่เต็มไปด้วยฝูงอีแร้งกา (บุรุษทั้งหลาย) เริ่มต้นด้วยความเหงาหงอย ก่อนลงท้ายด้วยความครึกครื้นเครงไม่ย่อหย่อนไปกว่าตอนแรก Le Masques เลยสักนิด!
ส่วนการแสดงต้องซูฮก Danielle Darrieux ในบท Madame Rosa สายตาของเธอเต็มไปด้วยความสดใสซื่อ ไร้เดียงสา เบิกพองโตด้วยความใคร่อยากรู้อยากเห็น หรือเวลาครุ่นคิดเพ้อฝัน(กลางวัน) ซึ่งมักถูกกลั่นแกล้ง/แบ่งแยกจาก Madame Tellier ให้ต้องนั่งที่พิเศษ นอนคนเดียวยังห้องใต้หลังคา สร้างความเปล่าเปลี่ยวเดียวดาย อาจเพราะความสวยสาว ทรงเสน่ห์ จึงพยายามกีดกันจากพี่ชาย Joseph Rivet ที่ชัดเจนว่าแอบชื่นชอบหลงใหล (ทั้งๆแต่งงานมีบุตรอยู่แล้ว กลับไม่รู้จักหักห้ามใจตนเอง)
คงต้องกล่าวถึง Jean Gabin สักเล็กน้อย (ไม่แน่ใจว่าเป็น Top Billing รึป่าวนะ) เป็นบทบาทที่เหมือนจะไม่ซับซ้อน แต่ภายในจิตใจกลับเต็มไปด้วยความปั่นป่วน สับสนว้าวุ่นวาย เพราะการได้พบเจอ/ตกหลุมรักแรกพบ Madame Rosa ทำให้เขารู้สึกผิดต่อตนเองอย่างรุนแรง (เพราะแต่งงานมีบุตรสาวโตจนเข้าร่วมพิธีศีลมหาสนิท) แต่กลับมิอาจหักห้ามสันชาตญาณตนเอง มึนเมาอย่างขาดสติ ต้องการพร่ำบอก พูดคำว่ารัก แต่ได้รับการบอกปัด ผลักไสอย่างไร้เยื่อใย
Le Modèle เรื่องราวของจิตรกร Jean (รับบทโดย Daniel Gélin) พบเจอตกหลุมรักนางแบบ Joséphine (รับบทโดย Simone Simon) แต่หลังจากเริ่มอาศัยอยู่ร่วมกัน ต่างคนต่างก็เริ่มมีเรื่องทะเลาะเบาะแว้ง มีปากมีเสียง ทำให้ชายหนุ่มย้ายออกมาอยู่กับเพื่อน (รับบทโดย Jean Servais) เธอพยายามติดตามตื้อ ร้องขอคืนดี แต่เขาก็ปฏิเสธอย่างเยือกเย็นชา จนกระทั่งหญิงสาวพูดว่าจะฆ่าตัวตาย แล้ววิ่งไปกระโดดลงหน้าต่าง ตกลงมาขาหัก/พิการ นั่นทำให้ Jean ยินยอมตอบแต่งงาน ใช้ชีวิตครองคู่ตราบจนวันตาย
ใครเคยรับชม La Ronde (1950) น่าจะมักคุ้นเรื่องราวความรักระหว่างเจ้านายน้อย (The Young Gentleman) กับสาวใช้ (The Palor Maid) ซึ่งต่างนำแสดงโดย Daniel Gélin และ Simone Simon ถือเป็นหนึ่งในตอนได้รับความนิยมค่อนข้างสูง เคมีของทั้งคู่ก็ถือว่าเข้าขากันดี เลยถูกหมายมั้นจากโปรดิวเซอร์ให้มารับบทบาทคู่กันอีก
งานภาพมีสองเครดิต Christian Matras (1903-77) ถ่ายทำตอนหนี่งกับสอง Le Masque, La Maison Tellier ขณะที่ Philippe Agostini (1910-) บันทีกภาพเรื่องสุดท้าย Le Modèle
ผมครุ่นคิดว่าเหตุผลที่เปลี่ยนตากล้องเฉพาะตอนสุดท้าย น่าจะไม่ใช่ Matras ติดพันโปรเจคอื่น แต่เพราะงบประมาณหลงเหลืออยู่จำกัด โปรดิวเซอร์จีงพยายามทำทุกอย่างเพื่อลดทอนค่าใช้จ่าย (เช่นเดียวกับเรื่องสั้นที่ทำการดัดแปลง ปรับเปลี่ยนจาก La Femme de Paul มาเป็น Le Modèle ที่มีค่าใช้จ่าย/งบในส่วนงานสร้างน้อยกว่า แต่ยังคงใช้นักแสดงคู่เดิมที่ติดต่อไว้แล้ว)
งบประมาณเกินกว่าครี่งหมดไปกับการสร้างฉากใหญ่ๆ อาทิ Le Plaisir (House of Pleasure) จากตอนแรก Le Masques, นครโสเภณี La Maison Tellier (ไม่แค่ซ่องนะครับ แต่ทั้งเมืองเลยละ!), สถานที่จัดแสดงงานศิลปะของ Le Modèle ฯลฯ โดยใช้สามสตูดิโอใหญ่ (คงอาจจะตอนละสตูดิโอ)
- Franstudio ตั้งอยู่ Joinville-le-pont, Val-de-Marne
- Studios Eclair ตั้งอยู่ Epinay-sur-Seine, Seine-Saint-Denis
- Studios de Boulogne-Billancourt/SFP – 2 Rue de Silly ตั้งอยู่ Boulogne-Billancourt, Hauts-de-Seine
ส่วนฉากภายนอกเดินทางไปยังจังหวัด Calvados ทางตะวันตกเฉียงเหนือของฝรั่งเศส โบสถ์ทำพิธีศีลมหาสนิทชื่อ La Chapelle-Engerbold, ท้องทุ่งหญ้า/บ้านชนบทของตัวละคร Joseph Rivet ถ่ายทำที่เมือง Clécy, ส่วนท้องทะเลเลยไปหมู่บ้านชาวประมง Trouville (หรือ Trouville-sur-Mer) ติดช่องแคบอังกฤษ (English Channel)
การมาถึงของชายสวมหน้ากาก ทำให้กล้องแพนนิ่ง (Panning) โดยจับจ้องตัวละครนี้เป็นจุดศูนย์กลาง (ช่วงนี้กล้องจะตั้งกล้องอยู่เฉยๆแล้วใช้การแพนนิ่ง/หมุนกล้อง) จนกระทั่งเมื่อมาถึงบริเวณลานเต้น ก็ตรงรี่เข้ามาเริงระบำกับสาวๆอย่างสุดเหวี่ยง แทบไม่มีจังหวะหยุดพักหายใจ (ช่วงนี้กล้องไม่ตั้งอยู่เฉยๆแล้วนะครับ เป็น Long Take ที่จะเคลื่อนเลื่อนติดตามตัวละคร ไปซ้าย ไปขวา หมุนรอบ 360 องศา ก่อนทรุดล้มลง)
ผมบังเอิญได้ gif ท่าเต้นตัวละครที่กำลังหมุนรอบตัวเอง 360 องศา สามารถสื่อถึง La Ronde การเวียนวนเป็นวงกลม หรือคือวัฏจักรชีวิต แนวคิดที่ถือเป็นจิตวิญญาณผู้กำกับ Ophüls (พบเห็นได้ตั้งแต่ภาพยนตร์ La Ronde (1950))
การกระชากหน้ากาก เริ่มจากปลดกระดุมเสื้อ พบเห็นเนื้อหนังแห้งเหี่ยว ขนหน้าอกหยักๆที่ชวนให้ฉงนสงสัย กระทั่งเมื่อถอดหน้ากากออกมาพบเห็นเป็นชายสูงวัย โลกทั้งใบ/ภาพด้านหลังของเขาก็ถูกปรับให้เบลอ หลุดโฟกัส ปฏิกิริยาคู่เต้นลางๆด้านหลัง ก็ยกมือขึ้นปิดปากอย่างตกอกตกใจ (คงไม่เคยรับรู้มาก่อนว่าเขาคือชายสูงวัย)
สถานที่แห่งนี้ไม่ใช่ที่ของผู้สูงวัย (No Country for Old Men) นั่นน่าจะคือเหตุผลเมื่อหน้ากากโดนกระชากออก ภาพพื้นหลังจึงถูกทำให้เบลอ หลุดโฟกัส สื่อถึงการไม่สามารถยินยอมรับความจริง ยังคงโหยหาความกระชุ่มกระชวย กระปรี้กระเป่า ด้วยการสร้างภาพ (สวมหน้ากาก) ลวงหลอกตนเองและผู้อื่น เพื่อเติมเต็มจิตวิญญาณภายในที่ยังเวิ้งว่างเปล่า
หมอพาผู้ป่วย/ชายสูงวัย มาส่งยังอพาร์ทเม้นท์ที่พักอาศัย แต่สังเกตบริเวณทางเข้า (หน้าอพาร์ทเม้นท์) ต้นไม้ดูความแห้งแล้งไร้ใบ (สื่อถึงความร่วงโรยราของชีวิต) ขณะเดียวกันพบเห็นลำแสงจากสปอร์ตไลท์ สาดย้อนแสงเข้าหาตัวละคร/หน้ากล้อง สื่อถึงเบื้องหลังชีวิต ตัวตนธาตุแท้จริง(ของชายคนนี้) ไม่ได้สวยงาม เลิศหรู ก็แค่คนธรรมดาทั่วไป หาใช่ผู้ดีมีสกุล หรือมหาเศรษฐี เพราะไม่มีเงินทอง เลยไม่สามารถครอบครองหญิงสาว ซุกกิ๊ก เลี้ยงเด็ก อย่างที่ใครต่อใครนิยมทำกัน
ขณะที่ภายในอพาร์ทเม้นท์ หัองพักของชายคนนี้อยู่ชั้นบนๆ ต้องเดินขึ้นบันไดวน (สัญลักษณ์ยอดนิยมของหนังนัวร์) สื่อถึงภายในจิตใจที่มีความบิดเบี้ยวเลี้ยวลด เต็มไปด้วยความคิดคด หมกมุ่นอยู่กับสิ่งเดิมๆซ้ำๆ ไม่สามารถดิ้นหลุดพ้นวัฏจักรของชีวิต
ช่างเป็นความบังเอิญที่หมอวางหน้ากากไว้ตรงเก้าอี้ บริเวณโต๊ะกินข้าว ทำให้ระหว่างการพูดคุยสนทนา(กับภรรยา)จะพบเห็นภาพช็อตนี้ สามารถสื่อถึงสภาพหลงเหลือของสามี เปลือกภายนอกที่ไร้ซึ่งจิตวิญญาณ เพราะตัวตนตนของเขาทำตัววัยสะรุ่น มัวหมกมุ่นอยู่แต่สาวเอาะๆ ยังคงเต็มไปด้วยความมักมาก กระสันต์ซ่าน แทบไม่หลงเหลือความรัก/ความรู้สึกดีๆต่อคู่ชีวิตที่อาศัยอยู่ร่วมกันมาหลายปี
ช็อตสุดท้ายก่อนจากไปของหมอ พบเห็นเขาอยู่ด้านหลังซี่กรงขัง (ช็อตนี้ยังอยู่ภายในอพาร์ทเม้นท์นะครับ) สามารถสื่อโชคชะตา อนาคต ความแก่ชราเป็นสิ่งที่ทุกคนย่อมประสบ (ถ้ายังมีชีวิตอยู่ถึงวันนั้น) เลยเร่งรีบตัดสินใจ หวนกลับไปใช้ชีวิตขณะมีเรี่ยวแรง พละกำลัง เส้นผมยังไม่หงอกขาว เติมเต็มตัณหาราคะ จนกว่ามันจะเกิดความพึงพอใจ … แต่ใช่ว่าทุกคนเมื่อแก่ตัวไป แล้วจะค้นพบความเพียงพอในตนเองนะครับ
ผู้กำกับ Ophüls จงใจไม่ถ่ายจากภายในของ La Maison Tellier (The Whore House) โดยกล้องจะเคลื่อนเลื่อน Long Take (ในลักษณะเหมือนการแอบถ้ำมอง) ถ่ายทำจากภายนอก ผ่านหน้าต่าง ระเบียง พบเห็นเพียงรายละเอียดที่สามารถเปิดเผยสู่สาธารณะ ซุกซ่อนเร้นสิ่งที่ผู้ชมสามารถครุ่นคิดเข้าใจ เก็บมันเอาไว้ภายในไม่จำเป็นต้องเปิดเผยออกมา
แต่สถานที่แห่งนี้มีสองประตูทางเข้า ซึ่งแบ่งแยกชนชั้นฐานะผู้มาใช้บริการอย่างชัดเจน
- ประตูหน้าชั้นล่าง สำหรับกะลาสีและคนงาน มีโสเภณีสองคนคอยให้บริการ
- ประตูหลัง/ด้านข้าง สำหรับคนมีวิทยฐานะในสังคม ไม่ต้องการเปิดเผยตัวตน เดินขึ้นบันไดมีสาวๆรอต้อนรับอีกสามคน
การปิดให้บริการเพียงค่ำคืนเดียวของ La Maison Tellier ทำให้บุรุษทั้งหลาย
- กะลาสี คนใช้แรงงาน ต่างมีการทะเลาะวิวาท ชกต่อยตี ใช้กำลังความรุนแรง กระทำร้ายร่างกายอีกฝั่งฝ่าย
- ขณะที่บรรดาผู้ดีมีสกุล หลบหนีครอบครัวออกมาท่องเที่ยววันหยุดสุดสัปดาห์ เลยรวมตัวนั่งรอคอยท่า จับจ้องมองเรือประมง ล้อมวงอย่างเงียบสงัด แล้วก็มีเรื่องให้โต้เถียงขัดแย้ง แต่ก็ไม่ได้ใช้ความรุนแรงใส่กัน ค่อยๆแยกย้ายหวนกลับบ้านทางใครทางมัน
ความป่วนๆในขบวนรถไฟ น่าจะเป็นเรื่องราวที่เพิ่มเติมขึ้นมาจากต้นฉบับดั้งเดิม เพื่อนำเสนออิทธิพลของสาวๆต่อกลุ่มบุคคลดังต่อไปนี้
- พนักงานตรวจตั๋ว สรรหาข้ออ้างตรวจตั๋วรอบสอง เพื่อให้ได้มีโอกาสเข้ามาอยู่ในตู้โดยสารที่เต็มไปด้วยสาวๆนี้อีกครั้ง! … เป็นแผนการเฉลียวฉลาดไม่เบา
- ชาย-หญิงชรา ขึ้น-ลงระหว่างทาง ทั้งสองมีปฏิกิริยาแตกต่างตรงกันข้าม
- ขณะที่ชายชรารู้สึกครึกครื้นเครงที่ได้อยู่ใกล้ๆ โอบล้อมด้วยสาวๆ
- หญิงชรากลับรู้สึกอึดอัด กระอักกระอ่วน แสดงสีหน้าไม่พึงพอใจ (สามี) อยากจะตำหนิต่อว่าสาวๆเหล่านี้ ทำตัวแรดร่านระริกระรี้
- ในเครดิตเขียนว่า ‘traveling salesman’ มิอาจอดกลั้นความกระตือรือล้นที่จะขายเครื่องประดับให้สาวๆ แต่ด้วยเหตุผลบางอย่างทำให้เขาถูกพวกเธอขับไล่ออกจากขบวน
First Communion พิธีรับศีลมหาสนิทครั้งแรก ก็คือการรับศีลศักดิ์สิทธิ์ในมิสซาทั่วๆไปนะแหละ แต่สำหรับเด็กวัย 7-13 ปี ที่ยังไม่เคยมาก่อน กิจกรรมนี้จึงถือว่ามีความสำคัญ เพื่อเป็นการประกาศตน ระลึกถึงคุณของพระเจ้า ยอมรับว่าพระองค์ได้สถิตอยู่ในกายตน โดยการรับประทานขนมปัง (สัญลักษณ์แทนพระกาย) และเหล้าองุ่น (สัญลักษณ์แทนพระโลหิต)
หนังพยายามสร้างบรรยากาศให้ Sequence ดูศักดิ์สิทธิ์ มีมนต์ขลัง แสงสว่างสาดส่อง(เห็นลำแสง)จากภายนอกหน้าต่าง ราวกับสัมผัสได้ถึงการมีตัวตนของพระเจ้า ซึ่งผมก็รู้สึกขนลุกขนพองระดับหนึ่ง (ชาวคริสต์อาจอินมากๆ ถึงขนาดหลั่งน้ำตาออกมา)
หลายคนอาจครุ่นคิดว่า การร่ำร้องไห้ในพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ ราวกับพวกเธอตระหนักได้ถึงบางสิ่งอย่าง สัมผัสถึงการมีตัวตนของพระเป็นเจ้า แต่ถ้าครุ่นคิดกันให้ดีๆ โสเภณีคืออาชีพที่ทำให้ใครต่อใครสามารถขึ้นสู่สรวงสวรรค์ (ไคลน์แม็กซ์ระหว่างร่วมรัก) ฟังดูมันก็ Ironic เหมือนกันนะ
เกร็ด: โสเภณีร่ำร้องไห้ในพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ น่าจะแรงบันดาลใจให้ภาพยนตร์ อาทิ Nights of Cabiria (1957), The Holy Mountain (1973) ฯ
แทบจะโดยอัตโนมัติที่ผมเห็นฉากนั่งรับประทานอาหารลักษณะนี้ ย่อมคือการอ้างอิงถึงภาพวาด The Last Supper (1495-98) หนึ่งในผลงานชิ้นเอกของ Leonardo da Vinci:หลายคนอาจโต้แย้งว่าตัวละครไม่ครบ แต่อย่าไปยึดติดว่าต้อง 13 คนเท่านั้นสิครับ ให้ดูการจัดวาง ตำแหน่ง และบริบทที่อ้างอิงถึง ซึ่งฉากนี้ก็คือการรับประทานอาหารครั้งสุดท้ายของสาวๆ ก่อนเดินทางกลับ
นัยยะอื่นๆที่ซ่อนเร้นอยู่ อาทิ ตำแหน่งกึ่งกลาง (พระเยซู) ก็คือบุรุษหนึ่งเดียว Joseph Rivet ซึ่งแอบชื่นชอบพอ Madame Rosa จะถือว่าเป็น Judas ในกลุ่มนี้ก็ได้เช่นกัน
ระหว่างทางกลับ สาวๆแวะเก็บดอกไม้ (เพื่อนำกลับไปประดับประดาร้าน) มุมกล้องช็อตนี้พยายามแทรกตัวอยู่ท่ามกลางแฝกหญ้า ตัวละคร Joseph Rivet นั่งอยู่บนพื้น พยายามกล่าวคำขอโทษต่อ Madame Rosa ที่กำลังยืนเด็ดดอกไม้ มันช่างมีความเรียบง่าย ดูเป็นธรรมชาติ สะท้อนสันชาตญาณความต้องการมนุษย์ เป็นสิ่งมิอาจควบคุมด้วยสติสัมปชัญญะ สามัญสำนึกโดยง่าย
เรื่องราวความรักของ Jean & Joséphine นำเสนอได้อย่างกระชับ รวบรัดตัดตอนมากๆ เมื่อชายหนุ่มพบเจอหญิงสาวในอุดมคติ รีบออกวิ่งขึ้นบันไดไปหาเธอ จากนั้นกล้องเคลื่อนหมุนมาอีกฟากฝั่ง พอทั้งสองเดินจากเบื้องลงก็กลายเป็นคู่รักกัน … อย่างงงๆ
ขึ้น-ลงบันได ก็เป็นสัญลักษณ์ของ La Ronde เช่นเดียวกัน สะท้อนถึงความสัมพันธ์ทั้งคู่ที่จะมีขึ้นๆลงๆ ประเดี๋ยวดี-ประเดี๋ยวร้าย เอาแน่เอานอนไม่ได้ จนกว่าใครบางคนจะสูญเสียความสามารถในการก้าวเดิน จึงเปลี่ยนมาใช้การลากรถเข็น (ที่ไม่ต้องขึ้นๆลงๆ อีกต่อไป)
นี่คงเป็นการเปรียบเทียบแฟนสาว Joséphine งดงามดั่งนางฟ้า ควบขี่เพกาซัสโบยบินอยู่บนสรวงสวรรค์ ขณะที่ Jean คือผู้ต่ำต้อย มีหน้าที่คอยรังสรรค์ผลงาน วาดภาพงานศิลปะ ศิโรราบอยู่แทบเท้า
หลายคนน่าจะคาดเดาได้ไม่ยากว่า ชายสูงวัยที่แอบจับจ้องมอง Jean กับ Joséphine ก็คือบุคคลที่ซื้อภาพวาดของพวกเขา คงจะประทับใจในความรักหนุ่ม-สาว โหยหาไขว่คว้า อยากได้ช่วงเวลาเหล่านั้นกลับคืนมาบ้าง … แต่มันก็ดูเหมือนคนโรคจิตเล็กๆ มาถ้ำมองความรักของเด็กๆทำไม
เพื่อนของ Jean พยายามสรรหาข้ออ้าง (หรือข้อเท็จจริงก็ไม่รู้นะ) ด้วยการลากพา Joséphine ไปพูดคุยในห้องส่วนตัว ให้ล้มเลิกความตั้งใจกับ Jean ถ้าสังเกตดีๆจะพบเห็นเงาของกรงนกอยู่ด้านหลังหญิงสาวพอดิบพอดี สื่อถึงข้ออ้างดังกล่าวทำให้เธอไม่สามารถดิ้นหลุดพ้น หลบหนีความจริงไปไหน อย่างไรก็ดีเงา(ของหญิงสาว)ที่อยู่กึ่งกลางระหว่างพวกเขา (ไม่ได้อยู่ในกรงขัง) แสดงว่ามีความครุ่นคิด กำลังจะตัดสินใจทำอะไรอย่างอื่น
Jean พยายามไม่สนคำเรียกร้อง ข้ออ้างใดๆของอดีตแฟนสาว หนำซ้ำพูดจาถากถาง เสียดสีประชดประชัน ตอกย้ำด้วยการกำลังแกะสลักรูปปั้นไม้ไปพร้อมๆกัน ทำให้หญิงสาวตัดสินใจวิ่งขึ้นบันได นำเสนอผ่านมุมมองบุคคลที่หนึ่ง พบเห็นเงา ภาพสะท้อน มือเอื้อมเปิดหน้าต่าง แล้วกระโดดลงสู่เบื้องล่าง
ถ้าสังเกตดีๆมันไม่ใช่ Long Take ทั้งหมด (มีการตัดต่อขณะกำลังจะกระโดดออกจากหน้าต่าง) แต่แนวคิดนำเสนอความพยายามฆ่าตัวตายต้องมุมมองบุคคลที่หนึ่ง ถือว่าน่าสนใจมากๆ แถมยังมีลูกเล่นเงา ภาพสะท้อน และมือกำลังเปิดหน้าต่าง มันเลยดูสมจริงเป็นอย่างยิ่ง (และเหมือนจะทิ้งกล้องลงมาจากชั้นบนจริงๆนะครับ เพราะสัมผัสได้แรงโน้มถ่วงของวัตถุตกลงจากที่สูง)
ก็อย่างที่เสียงบรรยายว่าไว้ แม้ทั้งสองจะได้ครองคู่ แต่งงาน อาศัยอยู่เคียงข้างกันจนวันตาย แต่มันก็เป็นความเศร้าสลดหดหู่ รอยแผลเป็นในหัวใจ สุขเพียงภายนอก (กล้องเคลื่อนจากฝั่งขวา พบเห็นท้องฟ้าสว่างสดใส) แต่ข้างในกลับขื่นขม รวดร้าวระทมทุกข์ทรมาน (เมื่อกล้องเคลื่อนไปฝั่งขวา พบเห็นท้องฟ้ามืดครึ้ม เก้าอี้เรียงราย หาดทรายที่เวิ้งว่างเปล่า)
แซว: ให้ความรู้สึกคล้ายๆตอนจบของ Gone Girl (2014) คู่รักหวนกลับมาอาศัยอยู่ร่วมกัน แม้ภายนอกดู Happy Ending แต่จิตใจเต็มไปด้วยความขมขื่น รวดระทม
ตัดต่อโดย Léonide Azar (1900-) เกิดที่ St. Petersburg แต่มาทำงานยังฝรั่งเศส ผลงานเด่นๆอาทิ The Idiot (1946), La Ronde (1950), Le Plaisir (1952), Love in the Afternoon (1957), Elevator to the Gallows (1958), The Lovers (1958) ฯ
หนังเริ่มต้นด้วยเสียงบรรยายจาก ‘เพื่อนของ Jean’ เพื่อนำเข้าสู่ 3 เรื่องเล่า (ในลักษณะ Anthology Film) ที่(เหมือนจะ)ไม่ได้มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงใดๆถีงกัน แบ่งแยกด้วยจอภาพสีดำ ซี่งจะแช่ค้างไว้จนกว่าเสียงพูดจะเริ่มนำเข้าเรื่องราวใหม่
- Le Masque (แปลว่า The Mask)
- Le Plaisir (House of Pleasure) ค่ำคืนที่แสนสุดเหวี่ยง หนุ่มๆสาวๆกระโดดโลดเต้นท่ามกลางแสงสีสัน
- กลับมาบ้านของชายผู้สวมหน้ากลาง มีเพียงความหนาวเหน็บ เงียบสงัด และศรีภรรยาไม่ต่างจากขี้ข้าคอยรับใช้
- La Maison Tellier (แปลว่า The Tellier House)
- อารัมบท
- ค่ำคืนก่อนหน้า, แนะนำสมาชิกที่อาศัย/ทำงานอยู่ยัง The Tellier House
- ค่ำคืนวันถัดมา, ความสับสนอลม่านเกิดขึ้นกับบรรดาบุรุษที่ต้องการมาใช้บริการ The Tellier House
- ออกเดินทางสู่ชนบท
- หวนกลับมาบ่ายวันนั้น, กลุ่มสาวๆออกเดินทางโดยรถไฟ พบเจอผู้คนขึ้น-ลง มากหน้าหลายตา จนกระทั่งมาถึงสถานีปลายทาง ขึ้นเกวียนมาถึงบ้านพี่ชายของ Madame Tellier
- ค่ำคืนที่แสนเงียบเหงาของสาวๆ
- ไม่มีใครต่างนอนหลับได้ลง โหยหาความครื้นเครง เสียงเพลง รังเกียจความเงียบสงัด
- พิธีศีลมหาสนิท
- แม้เป็นงานของหลานสาว Madame Tellier แต่กลับทำให้โสเภณีทั้งหลายร่ำไห้ออกมา
- หลังเสร็จพิธี
- รับประทานกระยาหารมื้อสุดท้าย ก่อนถูกเร่งรีบให้ไปเก็บข้าวของ แพ็กกระเป๋า เตรียมตัวเดินทางกลับ
- ระหว่างทางแวะเก็บดอกไม้ และการร่ำลา
- ปัจฉิมบท
- ค่ำคืนถัดมาเมื่อ The Tellier House เปิดให้บริการอีกครั้ง ก็ทำให้บุรุษทั้งหลายกุลีกุจอ เร่งรีบหวนกลับมาใช้บริการโดยไว
- อารัมบท
- Le Modèle (แปลว่า The Model)
- จิตรกรพบเจอ ตกหลุมรักนางแบบสาว ค่อยๆสานสัมพันธ์ ครองรักหวานฉ่ำ
- หลังอาศัยอยู่ร่วมกันสักพัก เริ่มเกิดความขัดแย้ง ทะเลาะเบาะแว้ง ไม่พึงพอใจกันและกัน จิตรกรหลบหนีไปอาศัยอยู่กับเพื่อน นางแบบพยายามติดตามตื้อ งอนง้อ จนตัดสินใจ…
ถ้าเป็นภาพยนตร์เรื่องอื่นๆ ฉากที่ต้องการสร้างตื่นเต้น เร่งรีบ รุกเร้าใจ มักมีการตัดต่อที่รวดเร็วฉับไว สลับมุมมอง เดี๋ยวตรงโน้น ย้ายมามุมนี้ ฯลฯ แต่สำหรับ ‘สไตล์ Ophüls’ ซีนเหล่านี้มักถูกทำให้กลายเป็น Long Take พบเห็นตัวละครกระโดดโลดเต้น เริงระบำ กล้องขยับเคลื่อนอย่างโฉบเฉี่ยวฉวัดเฉวียวไปมา แต่ใช่ว่าจะไม่มีการตัดต่อนะครับ ส่วนใหญ่เพื่อสลับสับเปลี่ยนมุมมอง หรือขณะการสนทนาที่เริ่มมีความน่าสนใจ ก็จะ Close-Up ปฏิกิริยาบนใบหน้า สายตาบ่งบอกถีงความลุ่มหลงใหล (ในหัวข้อที่กำลังพูดคุย)
สำหรับเพลงประกอบ แรกเริ่มติดต่อคีตกวี Maurice Yvain (1891-1965) เพราะผู้กำกับ Ophüls ครุ่นคิดอยากได้ Original Score แต่ไปๆมาๆกลับเปลี่ยนเป็น Joe Hajos นักแต่งเพลงชาว Hungarian จากความประทับใจเมื่อร่วมงาน La Ronde (1950) ในเครดิต Music Adaptor เรียบเรียงบทเพลงของ Oscar Strauss ออกมาได้อย่างน่าสนใจ
József Hajós (1907-82) เกิดที่ Malencze, Austria-Hungary ในครอบครัวเชื้อสาย Jews โตขี้นฝีกฝนดนตรียัง Musikhochschule (University of Music and Performing Arts) ณ กรุง Vienna เมื่อเรียนจบมุ่งหน้าสู่กรุง Berlin ทำงานเป็นนักเปียโน วาทยากร ทั้งยังเขียนเพลงให้ศิลปิน Joseph Schmidt, ส่วนภาพยนตร์เริ่มจาก Strafsache van Geldern (1932), แล้วอพยพสู่ฝรั่งเศส (หลังจาก Nazi เรืองอำนาจ) สรรค์สร้างผลงานเด่นๆ อาทิ Fanfare d’amour (1935), La Plaisir (1952) ฯ
ผู้กำกับ Ophüls เรียกร้องขอให้ Hajos เรียบเรียง/ดัดแปลงบทเพลงคลาสสิกแห่งยุคสมัย Romantic Era (ค.ศ. 1800-1910) ที่มีทั้งความหวานแหวว ระยิบระยับ (กลิ่นอายของ Claude Debussy, Maurice Ravel) และสนุกสนานครีกครื้นเครง (โดยเฉพาะบทเพลงของ Georges Bizet และ Jacques Offenbach)
ผมแอบตกใจอย่างรุนแรงกับบทเพลงที่ถือเป็น Main Theme ของเรื่อง La Maison Tellier (หาคลิปไม่ได้ ต้องลองไปรับฟังเองในหนังนะครับ) เพราะท่วงทำนองมีความละม้ายคล้ายบทเพลงของ The Young Girls of Rochefort (1967) แต่ก็ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจนักเพราะผู้กำกับ Jacques Demy ก็เคยให้สัมภาษณ์บอกว่า Max Ophüls คือไอดอลประจำตัว … ถีงอย่างนั้นมันละม้ายคล้ายเกินไปไหมนิ
บทเพลงนั้นยังมีอีกสิ่งหนี่งที่ผมอยากให้สังเกต คือการเล่น Scale (ไล่บันไดเสียง) ให้ความรู้สีกเหมือนระลอกคลื่น พริ้วไหวไปมา เดี๋ยวไล่โน๊ตขี้นสูง-ลงต่ำ เหมือนการที่กล้องเคลื่อนขยับจากซ้ายไปขวา แล้ววนกลับมาสู่จุดเริ่มต้น … นี่เป็นพัฒนาการบทเพลงประกอบเพื่อให้สอดคล้องไดเรคชั่น ‘สไตล์ Ophüls’ และมีความไพเราะ ติดหูมากๆด้วย
หนี่งในบทเพลงที่อาจทำให้ผู้ชมบ่อน้ำตาแตกโดยไม่รู้ตัว คือระหว่างเข้าพิธีศีลมหาสนิท เป็นการเรียบเรียงบทเพลงสรรเสริญพระเจ้า (Hymn จาก Genesis 28:11–12) ชื่อภาษาอังกฤษ Nearer, My God, to Thee เป็นภาษาฝรั่งเศส Plus près de toi, mon Dieu ที่เมื่อบรรดาสาวๆ(โสเภณี)ได้รับฟัง กลับมิอาจอดกลั้น ควบคุมตนเอง
Nearer, my God, to Thee, nearer to Thee!
E’en though it be a cross that raiseth me;
Still all my song shall be nearer, my God, to Thee,
เกร็ด: ว่ากันว่า นี่คือบทเพลงสุดท้ายที่วงดนตรีเล่นบนเรือไททานิกก่อนอับปาง
ถ้ามองเพียงผิวเผิน สามเรื่องราวของหนังไม่ได้มีความต่อเนื่องสัมพันธ์กันใดๆ แค่เล่าผ่านเสียงบรรยายตัวละคร ‘เพื่อนของ Jean’ แต่ในความเป็นจริงล้วนต้องการสื่อถึงความสำคัญของอิสตรีต่อบุรุษ เธอคือบุคคลที่เขาขาดไม่ได้ ทั้งร่างกาย-จิตใจ จำเป็นต้องมีใครสักคนอยู่เคียงข้างกาย
Le Masque นำเสนอเรื่องราวของชายสูงวัย (สามารถเทียบแทนผู้กำกับ Ophüls ขณะนั้นอายุย่าง 50 ปี) สวมใส่หน้ากาก ปกปิดริ้วรอยแห้งเหี่ยวย่น เส้นผมขาวโพลนทั้งศีรษะ เพื่อไปโยกเต้น เริงระบำ โอ้ลัลล้ากับสาวๆเอาะๆ ทำตัวเหมือนวัยสะรุ่น (พฤติกรรมของตัวละคร สามารถสื่อถึงผู้กำกับ Ophüls ได้ตรงๆเลยละ อายุมากแต่ยังคงชอบสนุกสนานกับสาวๆ) ซึ่งพอหมดเรี่ยวแรงล้มพับ หมอนำกลับมาส่งถึงบ้าน ภรรยาไม่ต่างจากสาวใช้ (นี่ก็น่าจะสื่อถึงศรีภรรยาของผู้กำกับ Ophüls) พร่ำบ่นถึงความมักมาก ไม่รู้จักดูสังขารตนเองบ้าง
ซึ่งเหตุผลที่ชายสูงวัยใน Le Masque ต้องปลอมตัวสวมหน้ากาก เพื่อไปโอลัลล้ากับสาวๆ จักได้รับคำอธิบายในตอนที่สอง La Maison Tellier เมื่อนครโสเภณีปิดให้บริการหนึ่งวัน ทำให้ทั้งคนหนุ่ม-แก่ กะลาสี ผู้ดีมีสกุล ก่อบังเกิดความสับสนอลม่าน บ้างทะเลาะวิวาท ขัดแย้งไม่ลงรอย เรียกว่าบรรดา(สุภาพ)บุรุษ ต่างตกอยู่ในสภาพแห้งเหี่ยวเฉา หมดสิ้นหวังอาลัย … จนกว่าสถานที่บำบัดความใคร่นี้จะกลับมาเปิดให้บริการ รอยยิ้ม ความเบิกบาน สนุกสนาน ครึกครื้นเครง ชีวิตถึงหวนกลับมาระริกรี้ ระเริงรื่นอีกครั้ง
ขณะเดียวกับสาวๆนครโสเภณีเมื่อออกเดินทางไปร่วมพิธีศีลมหาสนิท (First Communion) ของหลานสาว Madame Tellier (เจ้าของ The Tellier House) ต่างก็ได้เข้าใจชีวิตที่ต้องโดดเดี่ยวอ้างว้าง ค่ำคืนที่ไม่ต้องให้บริการบุรุษ ไร้ซึ่งเสียงเพลง ความสนุกสนาน ใครกันจะไปนอนหลับสนิท แต่หลังจากพานผ่านค่ำคืนนี้ไป กลับไม่มีใครอยากเร่งรีบกลับไปทำงาน … ซะงั้น!
การเดินทางของคณะสาวๆ(โสเภณี) ได้สร้างความกระชุ่มกระชวยให้ใครต่อใครตลอดการเดินทาง นั่นรวมไปถึงพี่ชายของ Madame Tellier (ตัวละครของ Jean Gabin) ที่จู่ๆตกหลุมรัก พยายามเกี้ยวพา Madame Rosa (รับบทโดย Danielle Darrieux) ทั้งรู้ว่าไม่ควรสานความสัมพันธ์ แต่ก็มิอาจควบคุมตนเอง (นี่คือข้ออ้าง/คำอธิบายของผู้กำกับ Ophüls ว่าไม่สามารถควบคุมสันชาตญาณความเป็นชาย)
โดยปกติแล้วถ้าผู้ชายแอบคบชู้ ซุกกิ๊ก เลี้ยงเด็ก เมื่อโดนภรรยาจับได้มักถูกฟ้องหย่า ขอเลิกรา! แต่ผู้กำกับ Ophüls ไม่รู้เอาตัวรอดมาได้อย่างไร (ภรรยาอาจรับรู้หรือไม่ อันนี้ผมตอบไม่ได้) ถึงอย่างนั้นเหตุผลหนึ่งที่เขายังคงสถานะแต่งงาน ตราบจนวันตาย มีคำอธิบายในเรื่องราวตอนสุดท้าย Le Modèle เพราะหญิงสาว (สามารถสื่อถึงศรีภรรยาของผู้กำกับ Ophüls) ได้กระทำบางสิ่งอย่างที่สร้างรอยบาดแผลในใจ (ไม่จำเป็นต้องแบบในหนังนะครับ แค่การนำเสนอเชิงสัญลักษณ์ว่าได้กระทำบางสิ่งอย่างเพื่อพิสูจน์ความรักแท้) อันเป็นเหตุให้เขาต้องยินยอมรับ นับถือใจเธอ มิอาจทอดทิ้ง เลิกราหย่าร้าง สามารถเรียกว่ารักแท้ รักนิรันดร์ ต่อให้อีกฝั่งฝ่ายคบชู้นอกใจ เชื่อว่าก็ยังยินยอมรับได้ … นี่คือภรรยาในอุดมคติเลยนะ!
คำรำพันตอนจบจาก ‘เพื่อนของ Jean’ ที่คู่รักชาย-หญิง (สามารถสื่อถึงผู้กำกับ Ophüls และภรรยา) แม้สามารถอาศัยอยู่ร่วมกันตราบจนวันตาย แต่มันก็ดูเศร้าๆเพราะต่างฝ่ายต่างสูญเสียบางสิ่งอย่าง ฝ่ายหญิงได้รับบาดเจ็บทางกาย ฝ่ายชายรู้สึกผิดทางใจ (ที่ได้ทำให้เธอพิการ) มองภายนอกมันคือ Happy Ending แต่ในมุมผู้กำกับ Ophüls กลับดูเหมือนโศกนาฎกรรม
รักแท้ ในความครุ่นคิดของผู้กำกับ Ophüls คือบุคคลที่สามารถพิสูจน์ตนเอง และยินยอมรับตัวตนของเขา ต่อให้จับได้ว่าแอบคบชู้ ซุกกิ๊ก เลี้ยงเด็ก ก็ไม่ตะขิดตะขวงต่อต้าน ยังคงเป็นแม่บ้านแสนดี คนรับใช้พร้อมทำทุกสิ่งอย่าง … ฟังดูเป็นคนเห็นแก่ตัวโคตรๆ แต่ขณะเดียวกันผู้กำกับ Ophüls ก็จะตอบแทนด้วยการไม่ยินยอมเลิกราหย่าร้าง มอบตำแหน่งเมียหลวงให้ใครอื่น
หนังไม่มีรายงานว่าประสบความสำเร็จ-ล้มเหลวเพียงใด ขณะที่เสียงตอบรับจากนักวิจารณ์ถือว่าค่อนข้างดี สามารถเข้าชิง Oscar: Best Art Direction-Set Decoration, Black-and-White แต่ก็ไม่คว้ารางวัลใดๆ
ปัจจุบันหนังได้รับการบูรณะ (digital restoration) แต่ฉบับของ Criterion Collection เท่าที่ผมเห็นคุณภาพไม่ค่อยดีสักเท่าไหร่ เมื่อเทียบกับ Blu-Ray ของ Second Sight Film ซึ่งมีการปรับแสงให้สว่างขึ้นเล็กน้อย แต่อย่าไปซื้อของ Arrow นะครับ เจ้านี้ปรับความสว่างจร้าเกิ้น จนสูญเสียรายละเอียดไปพอสมควร … แต่ถ้าหาซื้อไม่ได้ก็รับชมทาง Criterion Channel นะครับ
เกร็ด: Le Plaisir (1952) คือหนี่งในภาพยนตร์เรื่องโปรดของผู้กำกับ Stanley Kubrick เป็นแรงบันดาลใจสรรค์สร้าง Barry Lyndon (1975) และ Eyes Wide Shut (1999)
ส่วนตัวมีความชื่นชอบหนังมากๆ ประทับใจทั้งสามเรื่องราว สามารถเชื่อมโยงความสัมพันธ์ถึงผู้กำกับ Ophüls ไม่ยากเย็นสักเท่าไหร่ แต่ผมมีความหลงใหลคลั่งไคล้ช่วงท้ายตอนสอง เมื่อซ่องโสเภณีกลับมาเปิดบริการ ความมีชีวิตชีวา(ของบุรุษเพศทั้งหลาย)ก็กลับมาครึกครื้นเครงกันอีกครั้ง!
La Plaisir เป็นหนังที่เหมาะกับคู่รักอย่างมากๆ (ไม่จำเป็นต้องชาย-หญิง นะครับ) ทั้งสามเรื่องล้วนสอดแทรกข้อคิดที่สามารถย้ำเตือนสติ โดยเฉพาะเรื่องสุดท้ายไม่ได้แนะนำให้ลอกเลียนแบบนะครับ แต่ให้นำมาเป็นประเด็นพูดคุย แลกเปลี่ยนความคิดเห็น หาความสมดุลความรัก ลดละทิฐิ เอาใจเขามาใส่ใจเราบ้างก็ยังดี
จัดเรต 13+ กับความระริกระรี้ของโสเภณี สองแง่สองง่าม และความพยายามเข่นฆ่าตัวตาย
Leave a Reply