The Trial (1962) : Orson Welles ♥♥♥♥
ไม่ใช่ดัดแปลงแต่ได้แรงบันดาลใจจากนวนิยายเขียนไม่เสร็จของ Franz Kafka นำเสนอการพิจารณา(คดีความ)ตัวตนเองของผู้กำกับ Orson Welles ฉันกระทำความผิดอะไร ถึงถูกขับไล่ ผลักไส จำใจต้องออกจาก Hollywood
เช้ายังไม่ทันลุกขึ้นจากเตียง Josef K. ถูกตำรวจนอกเครื่องแบบบุกเข้ามาในห้องพัก บอกว่าคุณโดนจับกุมโดยไม่แจ้งข้อกล่าวหา สร้างความสับสน มึนงง แล้วฉันกระทำความผิดอะไร? ก้าวออกเดินจากสถานที่แห่งหนึ่ง ไปสู่สถานที่เหนือจริงอีกแห่งหนึ่ง พยายามค้นหาข้อแก้ตัว หนทางแก้ต่าง ตกอยู่ในสถานการณ์สุดบ้าคลั่ง หวาดระแวง สิ้นหวัง นี่มันคือฝันร้าย!
Orson Welles คือผู้กำกับอัจฉริยะ สรรค์สร้างผลงานเรื่องแรกก็ทำให้โลกตกตะลึง Citizen Kane (1941) แต่แทนที่เส้นทางจะโรยด้วยกลีบกุหลาบ ผลงานถัดๆมากลับถูกโปรดิวเซอร์เข้ามาแทรกแซง แย่งไปตัดต่อ ไม่ก็เกิดปัญหาวุ่นๆวายๆระหว่างโปรดักชั่น สูญเสียอิสรภาพในความคิดสร้างสรรค์ The Magnificent Ambersons (1942), The Lady from Shanghai (1947), Mr. Arkadin (1955), Touch of Evil (1958) ฯ จนถูกสตูดิโอ Hollywood ขึ้นบัญชีดำ (Blacklist) ไม่ให้งาน ไม่มีเงิน เลยจำใจต้องออกเดินทางสู่ยุโรป … สรุปแล้วฉันกระทำความผิดอะไร?
ผมเห็นชื่อหนัง The Trial (1962) ก็ครุ่นคิดว่ามันคงเป็นการพิจารณาคดีอะไรสักอย่าง แถมชื่อผกก. Welles ต้องจัดจ้าน มุมกล้องแปลกประหลาด เริ่มต้นด้วยอนิเมชั่นตั้งคำถามเกี่ยวกับกฎหมาย ก็สร้างความแรกประทับใจได้อย่างล้นหลาม! แต่หลังจากนั้นก็เริ่มเกาหัว นวดขมับ นี่กรูกำลังรับชมห่าเหวอะไรอยู่เนี่ย กลายเป็นโคตรหนังอาร์ทจัดๆ Surrealist, Avant-Garde ทุกถ้อยคำล้วนแฝงนัยยะความหมายสุดลึกล้ำ … แม้งไม่ได้มีความเป็น Courtroom Drama เลยสักนิด!
ทีแรกก็สองจิตสองใจว่าจะเขียนบทความนี้เลยไหม หรือดองไว้ตอนหวนกลับมาปรับปรุง Citizen Kane (1941) แต่ไหนๆก็หลวมตัวแล้ว เลยเอาว่ะ เท่าที่ดูรู้เรื่อง! … ผมไม่ได้เตรียมตัวระหว่างรับชม จึงสามารถทำความเข้าใจได้บางส่วนเท่านั้นนะครับ แต่ก็น่าจะเพียงพอแนะนำคนที่ดูไม่รู้เรื่องให้พอมองเห็นทิศทางของหนัง จัดระดับความยากสูงสุด (Veteran)
ก่อนอื่นคงต้องกล่าวถึง Franz Kafka (1883-1924) นักเขียนนวนิยาย เรื่องสั้น เกิดที่ Prague, Austria-Hungary (ปัจจุบันคือ Czech Republic) ในครอบครัวชนชั้นกลาง พูดภาษาเยอรมัน เชื้อสาย Jewish, โตขึ้นสามารถสอบเข้า Deutsche Karl-Ferdinands-Universität ในตอนแรกเลือกสาขาเคมี แต่ผ่านไปสองสัปดาห์เปลี่ยนสาขากฎหมาย ระหว่างนั้นยังได้เรียนเยอรมันศึกษา ประวัติศาสตร์ศิลปะ และเข้าร่วมชมรมวรรณกรรม ทำให้มีโอกาสอ่านผลงานของนักเขียนชื่อดังมากมาย Fyodor Dostoyevsky, Gustav Flaubert, Nikolai Gogol, Franz Grillparzer, Heinrich von Kleist และ Goethe เลยเกิดความสนใจด้านนี้อย่างจริงจัง! มักใช้เวลาว่างหลังเลิกงานในการเขียนเรื่องสั้น ผลงานเรื่องแรก Betrachtung [แปลว่า Contemplation] ตีพิมพ์ลงนิตยสารรายปักษ์ Hyperion ระหว่างปี ค.ศ. 1904-12
ลีลาการเขียนมีคำเรียก Kafkaesque มักนำพาตัวละครพานผ่านสถานการณ์พิลึกพิลั่น คาบเกี่ยวระหว่างความจริง (Realism) จินตนาการเพ้อฝัน (Fantasy หรือ Surrealism) มักสะท้อนความฟ่อนเฟะ เน่าเละเทะของระบบราชการ (Bureaucracy) ใช้อำนาจในทางมิชอบ (Unreachable Authority) เลยทำให้รู้สึกเหมือนถูกทอดทิ้ง (Alienation) ตกอยู่ในความหมดสิ้นหวัง (Existential Despair), ผลงานเด่นๆ อาทิ Die Verwandlung (1915) [แปลว่า The Metamorphosis], Der Process (1925) [แปลว่า The Trial], Das Schloss (1926) [แปลว่า The Castle] ฯ
สำหรับ Der Process (หรือจะเขียนว่า Der Proceß, Der Prozeß, Der Prozess) แปลว่า The Trial นวนิยายเขียนขึ้นระหว่างปี ค.ศ. 1914-15 แต่ค้างๆคาๆตอนจบ เหมือนไม่รู้จะให้ตัวละครลงเอยอย่างไรดี เลยไม่เคยได้รับการตีพิมพ์ระหว่างยังมีชีวิตอยู่ (ตีพิมพ์ Posthumously เมื่อปี ค.ศ. 1925) เห็นว่าได้แรงบันดาลใจจากสองผลงานของ Fyodor Dostoevsky เรื่อง Crime and Punishment (1866) และ The Brothers Karamazov (1880)
เกร็ด: นวนิยาย The Trial (1925) ได้รับการโหวตติดอันดับ #3 ชาร์ทหนังสือพิมพ์ฝรั่งเศส Le Monde: 100 Books of the Century (1999) และอันดับ #2 Best German Novels of the Twentieth Century (1999)
George Orson Welles (1915-85) นักแสดง/ผู้กำกับ สัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Kenosha, Wisconsin บิดาเป็นนักประดิษฐ์ Gadget แต่ติดเหล้าเลิกทำงาน ส่วนแม่เป็นนักเปียโน เคยชื่นชอบหลงใหลในดนตรี แต่หลังจากเธอเสียชีวิตเลยเลิกเอาดีด้านนี้, ครั้งหนึ่งเคยไปพักร้อนยังคฤหาสถ์หรูที่ Wyoming, New York เป็นเพื่อนเล่นของ Aga Khan และ Prince Aly Khan พบเห็นชีวิตชนชั้นสูงที่น่าอิจฉาริษยายิ่ง! โตขึ้นได้ทุนเข้าศึกษาต่อ Harvard University แต่เอาเงินที่ได้(และกองมรดก) ออกท่องเที่ยวยุโรป ระหว่างอยู่ Dublin สมัครเป็นนักแสดง Gate Theatre อ้างว่าตนเองเคยขึ้นเวที Broadway แม้ไม่มีใครเชื่อแต่ก็ต้องยินยอมรับความสามารถ จนได้รับโอกาสกลายเป็นนักแสดงละครเวทีจริงๆ, เมื่อหวนกลับอเมริกาได้งานเขียนบท ตามด้วยละครวิทยุ เข้าร่วม Federal Theatre Project (1935-39) แล้วออกมาก่อตั้ง Mercury Theatre จัดรายการ The Mercury Theatre on the Air โด่งดังจนเข้าตา Hollywood เซ็นสัญญา RKO Radio Pictures และกำกับหนังยาวเรื่องแรก Citizen Kane (1941)
เมื่อปี ค.ศ. 1960, Welles ได้รับการติดต่อเข้าหาโดยโปรดิวเซอร์ Alexander Salkind ในตอนแรกชักชวนให้ดัดแปลงนวนิยายประวัติศาสตร์ Taras Bulba (1835) แต่ยังไม่ทันได้เริ่มโปรเจคค้นพบว่าถูกชิงตัดหน้า กำลังมีการสรรค์สร้างภาพยนตร์ Taras Bulba (1962) นำแสดงโดย Yul Brynner และ Tony Curtis
ด้วยเหตุนี้ Salkind เลยนำเอารายการหนังสือกว่า 82 เล่มที่เป็นสาธารณสมบัติ (Public Domain) มาให้ผกก. Welles ก่อนตัดสินใจเลือก The Trial (1925) ของ Franz Kafka … แต่ภายหลังค้นพบว่านวนิยายเล่มนี้ยังไม่ได้เป็นสาธารณสมบัติ โปรดิวเซอร์เลยติดต่อขอซื้อลิขสิทธิ์ดัดแปลงภาพยนตร์จากทายาท ก็แค่นั้น!
เกร็ด: เหตุผลหนึ่งที่ Welles ตัดสินใจเลือกนวนิยาย The Trial (1925) เพราะเคยครุ่นคิดอยากดัดแปลงฉบับละครเวที แต่เมื่อไม่เคยมีโอกาสนั้น ฉบับภาพยนตร์ก็น่าสนใจดี!
Welles ใช้เวลาถึงหกเดือนในการพัฒนาบทภาพยนตร์ เริ่มต้นด้วยการลำดับบทในนวนิยายเสียใหม่ (ต้นฉบับของ Kafka ไม่ได้ใส่เลขบท แต่การตีพิมพ์นวนิยายจำเป็นต้องมีลำดับ เรียบเรียงโดยเพื่อนสนิท/ผู้จัดการมรดก Max Brod) ถ้ายึดตามเลขบทที่ติดพิมพ์ ทำการปรับเปลี่ยนเป็น 1-4-2-5-6-3-8-7-9-10
นอกจากนี้ยังมีการปรับเปลี่ยนรายละเอียดเล็กๆน้อยๆมากมาย เพื่อให้เข้ากับสไตล์ Wellesian อาทิ เริ่มต้นเรื่องเล่าด้วย Pinscreen animation, การตีความตัวละคร Josef K. รวมถึงความสัมพันธ์กับสาวๆ, และตอนจบที่ต้นฉบับนวนิยายจะถูกแทงเสียชีวิต มาเป็นโดนระเบิดที่แลดูเหมือนเมฆรูปเห็ด (Mushroom Cloud)
ผู้สัมภาษณ์: So it’s not a film of the book, it’s a film based on the book?
Orson Welles: Not even based on. It’s a film inspired by the book, in which my collaborator and partner is Kafka. That may sound like a pompous thing to say, but I’m afraid that it does remain a Welles film and although I have tried to be faithful to what I take to be the spirit of Kafka, the novel was written in the early twenties, and this is now 1962, and we’ve made the film in 1962, and I’ve tried to make it my film because I think that it will have more validity if it’s mine.
ระหว่างที่ Josef K. (รับบทโดย Anthony Perkins) กำลังหลับนอนอยู่ในห้อง จู่ๆตำรวจนอกเครื่องแบบบุกเข้ามาตรวจค้น แจ้งว่าอีกฝ่ายถูกจับกุม โดยไม่แจ้งข้อกล่าวหากระทำความผิดอะไร จากนั้นก็จากไปโดยไม่พาไปโรงพัก ปล่อยให้เขาตกอยู่ในความสับสน มึนงง ไม่รู้จะทำอะไรยังไง
เรื่องราวต่อจากนี้ Josef K. จะเดินทางไปยังสถานที่ต่างๆ พบเจอบุคคลมากมาย พยายามหาข้อแก้ตัว หนทางแก้ต่าง แต่ก็ไม่มีอะไรคืบหน้า พบเห็นเพียงพฤติกรรมคอรัปชั่น โดยเฉพาะทนายความ Albert Hastler (รับบทโดย Orson Welles) ยังเคยข่มขู่ อวดอ้างอำนาจ ท้ายที่สุดแล้วชายหนุ่มก็ถูกควบคุมตัวโดยเพชฌฆาตสองคน พาออกนอกเมืองเพื่อทำการ…
Anthony Perkins (1932-92) นักร้อง/นักแสดง สัญชาติอเมริกัน เกิดที่ New York City, บิดาคือนักแสดงหนังเงียบ Osgood Perkins (Scarface (1932)) พลันด่วนเสียชีวิตขณะบุตรชายอายุได้เพียง 3 ขวบ อาศัยอยู่กับมารดาสานสัมพันธ์เลสเบี้ยนกับเพื่อนสาว นั่นทำให้เด็กชาย Perkins เหมือนจะไม่ค่อยชื่นชอบผู้หญิงนัก! ตัดสินใจดำเนินตามรอยเท้าบิดา ช่วงวันหยุดฤดูร้อนระหว่าง ค.ศ. 1947-50 เข้าร่วมคณะการแสดงละคอนเวที (มีคำเรียกว่า Summer Stock Company), ระหว่างเรียนมหาวิทยาลัย Columbia University ได้รับเลือกแสดงภาพยนตร์เรื่องแรก The Actress (1953), แจ้งเกิดกับ Friendly Persuasion (1956) ได้เข้าชิง Oscar: Best Supporting Actor,โด่งดังพลุแตกกับ Psycho (1960) แต่กลับทำให้กลายเป็น ‘typecast’ ผลงานเด่นอื่นๆ อาทิ The Tin Star (1957), Goodbye Again (1961), The Trial (1962), Catch-22 (1970), Murder on the Orient Express (1974) ฯ
รับบท Josef K. ระหว่างหลับนอนฝันร้าย จู่ๆตำรวจบุกเข้ามาในห้องพัก ทั้งๆไม่รับรู้ว่าตนเองเคยกระทำความผิดอะไร กลับแสดงอาการลุกรี้ลุกรน กระวนกระวาย เหมือนมีลับลมคมใน พูดอธิบายรวดเร็วติดจรวด เต็มไปด้วยสารพัดข้ออ้าง พยายามหาหนทางแก้ต่าง แต่ฟังไม่ค่อยรู้เรื่องสักสิ่งอย่าง! จากนั้นออกเดินทางไปยังสถานที่ต่างๆ พยายามพิสูจน์ตนเอง ขอความช่วยเหลือจากทนายความ กลับไร้ความคืบหน้าประการใด หนำซ้ำยังถูกชี้นิ้วออกคำสั่ง พอปฏิเสธทำตามเลยถูกลากไปฆ่าปิดปาก
ผกก. Welles ตีความหนังในลักษณะ Black Comedy จึงให้คำแนะนำ Perkins ทำการแสดงอย่างกระตือรือร้น ลุกลี้ร้อนรน เหมือนคนไม่สามารถควบคุมตนเอง (Hyperactive) ทั้งยังมีอาการหวาดระแวง (Paranoid) วิตกจริต พยายามสรรหาถ้อยคำแถลง มาอธิบายทุกๆการกระทำ
I made him more active in the proper sense of the word. I do not think there is any place for passive characters in a drama.
Orson Welles กล่าวถึงตัวละคร Josef K.
Perkins มีความกระตือลือร้นอยากร่วมงานผกก. Welles แม้เสียงตอบรับของหนังเมื่อตอนออกฉายจะย่ำแย่ ถูกมองว่าคือข้อผิดพลาดใหญ่สุดของหนัง แต่ภายหลังเขาเคยให้สัมภาษณ์บอกว่า “greatest professional pride” เป็นประสบการณ์ทำงานยอดเยี่ยมที่สุดในชีวิต!
ด้วยความที่ผกก. Welles รับรู้ว่า Perkins มีรสนิยมรักร่วมเพศ (Homosexual) จึงจงใจให้สาวๆ (Jeanne Moreau, Romy Schneider และ Elsa Martinelli) ประกบติดชิดใกล้ แล้วทำการหยอกเย้า ยั่วอารมณ์ นั่นทำให้ปฏิกิริยาแสดงออกของ Perkins (ที่เป็นเกย์) ดูกระอักกระอ่วน กล้ำกลืนฝืนทน พูดไม่ออกบอกไม่ถูก … นักวิจารณ์ Roger Ebert ตีความผลลัพท์ดังกล่าวได้อย่างน่าสนใจ ทำให้หนังแฝงนัยยะการกดขี่ทางเพศได้ด้วยเช่นกัน!
It was intentional on Orson’s part: He had these three gorgeous women (Jeanne Moreau, Romy Schneider, Elsa Martinelli) trying to seduce this guy, who was completely repressed and incapable of responding. That provides an additional key to the film, which could be interpreted as a nightmare in which women make demands Joseph K is uninterested in meeting, while bureaucrats in black coats follow him everywhere with obscure threats of legal disaster.
นักวิจารณ์ Roger Ebert ให้คะแนน 4/4
เกร็ด: ผกก. Welles อ้างว่าได้ทำการพากย์เสียงตัวเองทับบทพูดของ Perkins อยู่หลายครั้ง เคยท้าทายให้อีกฝ่ายค้นหาว่ามีแก้ไขตรงไหน แต่ดูจนจบเขาก็ตอบไม่ได้ แยกแยะไม่ออก … แล้วใครไหนจะแยกแยะออกกันเล่า?
Orson Welles รับบททนายความ Albert Hastler (ในหนังมักเรียก The Advocate แปลว่าทนาย, ผู้แทนในทางกฎหมาย) พบเห็นวันๆนอนป่วยอยู่บนเตียง คลอเคลียกับแฟนสาว เต็มไปด้วยถ้อยคำกล่าวอ้าง พบเจอบุคคลสำคัญโน่นนี่นั่น แท้จริงเป็นเช่นนั้นไหมไม่รู้ แต่หมักดองคดีความของ Bloch ไว้นานหลายปี แถมยังมีพฤติกรรมบ้าอำนาจ บีบบังคับให้อีกฝ่ายก้มหัวศิโรราบ จนทำให้ Josef K. หมดสูญสิ้นศรัทธา ปฏิเสธให้เขาว่าความในคดีของตนเอง
ในตอนแรก ผกก. Welles ทำการติดต่อ Jackie Gleason เพื่อให้มารับบท Albert Hastler (ส่วนตนเองแสดงเป็นบาทหลวง ให้คำแนะนำเกี่ยวกับความเชื่อ ศรัทธาศาสนา) แต่พออีกฝ่ายตอบปัดปฏิเสธ เขาเลยจำต้องเปลี่ยนมาเล่นบทบาทนี้ด้วยตนเอง น่าจะเป็นตัวละครคอรัปชั่นที่สุดในหนังแล้วกระมัง!
การแสดงของ Welles อาจไม่ได้มีอะไรให้กล่าวถึงนัก แต่การเลือกรับบทบาทนี้อาจทำให้หลายๆคนพยายามครุ่นคิดตีความ ว่าเคลือบแฝงนัยยะบางอย่างไว้ไหม? ผมว่าไม่จำเป็นนะ นักวิจารณ์ Roger Ebert แสดงความคิดเห็นไว้ว่า ตัวละครนี้อาจเปรียบได้กับโปรดิวเซอร์ Alexander Salkind
Welles plays the Advocate, there is a tendency to think the character is inspired by him, but I can think of another suspect: Alexander Salkind, producer of “The Trial” and much later of the “Superman” movies, who like the Advocate, liked people to beg for money and power that, in fact, he did not always have.
นักวิจารณ์ Roger Ebert
เกร็ด: ด้วยความที่หนังยุโรปทศวรรษนั้นยังไม่นิยมใช้การบันทึกเสียง ‘sound-on-film’ ผกก. Welles จึงทำการพากย์เสียงแทนนักแสดง ไม่ใช่แค่ตัวละครของ Perkins แต่เห็นว่านับจำนวนได้ 11 คน!
ถ่ายภาพโดย Edmond Richard (1927-2018) ตากล้องสัญชาติฝรั่งเศส ผลงานเด่นๆ อาทิ The Trial (1962), Chimes at Midnight (1965), The Discreet Charm of the Bourgeoisie (1972), The Phantom of Liberty (1974), That Obscure Object of Desire (1977), Les Misérables (1982) ฯ
งานภาพสไตล์ Wellesian แพรวพราวด้วยลูกเล่น สารพัดเทคนิคภาพยนตร์ ตั้งแต่การจัดวางองค์ประกอบ มุมก้ม-เงย ระยะใกล้-ไกล มีความคมชัดลึก (Deep Focus) กล้องเคลื่อนเลื่อนอย่างโฉบเฉี่ยว หลายครั้งถ่ายทำแบบ ‘long take’ และมักมีการออกแบบสร้างฉากที่มอบสัมผัสเหนือจริง (Surrealist) เต็มไปด้วยนัยยะสัญลักษณ์ซุกซ่อนเร้นมากมาย
แม้พื้นหลังของ The Trial (1962) จะไม่มีการระบุสถานที่ แต่มันไม่ใช่แห่งหนไหนก็ได้ทั้งนั้น! ใจจริงของผกก. Welles อยากเดินทางไปถ่ายทำยังกรุง Prague, Czechoslovakia สถานที่บ้านเกิดของผู้แต่ง Kafka แต่ถูกปฏิเสธโดยรัฐบาลคอมมิวนิสต์! เลยจำต้องเบนเป้าหมายไปยังประเทศอื่นในละแวก Central Eurpean ซึ่งเคยเป็นส่วนหนึ่งของ Austro-Hungarian ก่อนตัดสินใจเลือก Zabreb, Yugoslavia (ปัจจุบันคือประเทศ Croatia)
It seems to me that the story we’re dealing with is said to take place “anywhere”. But of course there is no “anywhere.” When people say that this story can happen anywhere, you must know what part of the globe it really began in. Now Kafka is central European and so to find a middle Europe, some place that had inherited something of the Austro-Hungarian empire to which Kafka reacted, I went to Zagreb. I couldn’t go to Czechoslovakia because his books aren’t even printed there. His writing is still banished there.
The last shot was in Zagreb, which has old streets that look very much like Prague. But you see, capturing that flavor of a modern European city, yet with it’s roots in the Austro-Hungarian empire wasn’t the only reason why we shot in Yugoslavia. The other reason was that we had a big industrial fair to shoot in. We used enormous buildings, much bigger than any film studio. There was one scene in the film where we needed to fit fifteen hundred desks into a single building space and there was no film studio in France or Britain that could hold fifteen hundred desks. The big industrial fair grounds that we found in Zagreb made that possible. So we had both that rather sleazy modern, which is a part of the style of the film, and these curious decayed roots that ran right down into the dark heart of the 19th century.
อีกเหตุผลที่ผกก. Welles ตัดสินใจเลือก Zabreb, Yugoslavia เพราะอุตสาหกรรมภาพยนตร์ที่นี่กำลังเติบโต มีโกดังขนาดใหญ่พอจะยัดเยียดโต๊ะทำงานกว่า 1,500 ตัว! (อีกแหล่งข่าวบอกแค่ 850 ตัว ก็ไม่รู้ตัวเลขไหนถูกต้องนะครับ) สำหรับถ่ายทำซีเควนซ์ในสำนักงาน (ได้รับอิทธิพลจากโคตรหนังเงียบ The Crowd (1928))
แผนการดั้งเดิมก็คือจะค่อยๆให้รายละเอียดพื้นหลัง สิ่งข้าวของ วัตถุจับต้องได้ จักค่อยๆสาปสูญ เลือนหาย จนกระทั่งหลงเหลือเพียงสถานที่ว่างเปล่าๆ แต่เพราะปัญหาของโปรดิวเซอร์ (ค้างชำระหนี้สิน) ทำให้ยังไม่มีการเริ่มต้นงานสร้างใดๆในสตูดิโอที่ Yugoslavia จะเดินทางไปก็เสียเวล่ำเวลาเปล่า
We were due to leave Paris for Yugoslavia in two weeks when we were told that we wouldn’t be able to put up a single set there because the producer had already made another film in Yugoslavia and hadn’t paid his depts. That’s why we had to use that abandoned station. I had planned to make a completely different film. Everything was improvised at that last moment, because the whole physical concept of my film was quite different. It was based on the absence of sets. And the gigantic nature of the sets, which people have objected to, is partley due to the fact that the only setting I had was that old abandoned station. An empty railway station is vast.
In the production as I originally envisaged it, the sets were to gradually disappear. The number of realistic elements was to gradually diminish, and to be seen to diminish by the spectators, until only open space remained, as if everything had been dissolved away.
Orson Welles กล่าวถึงวิสัยทัศน์ดั้งเดิมของ The Trial (1962)
ค่ำคืนดึกดื่นผกก. Welles นั่งเหม่อมองจันทรา จู่พบเห็นดวงจันทร์ดวงที่สอง ราวกับนิมิตหมายใหม่ แท้จริงแล้วมันคือนาฬิกาของสถานีรถไฟร้าง Gare d’Orsay กลางกรุง Paris เช้าตรู่ตอนตีห้ารีบโบกแท็กซี่ พอมาถึงราวกับได้ค้นพบ ‘world of Kafka’ ตัดสินใจว่าจะปักหลักใช้สถานที่แห่งนี้เป็นเวลา 7 สัปดาห์ (แล้วค่อยไปถ่ายทำต่อยัง Yugoslavia)
I was living at the Hotel Meurice on the Tuilleries, pacing up and down in my bedroom, looking out of the window. Now I’m not such a fool as to not take the moon very seriously, and I saw the moon from my window, very large, what we call in America a harvest moon. Then, miraculously there were two of them. Two moons, like a sign from heaven! On each of the moons there were numbers and I realized that they were the clock faces of the Gare d’Orsay. I remembered that the Gare d’Orsay was empty, so at 5 in the morning I went downstairs, got in a cab, crossed the city and entered this empty railway station where I discovered the world of Kafka. The offices of the advocate, the law court offices, the corridors– a kind of Jules Verne modernism that seems to me quite in the taste of Kafka. There it all was, and by 8 in the morning I was able to announce that we could shoot for seven weeks there.
ในบทสัมภาษณ์ของผกก. Welles ยังวิเคราะห์เสร็จสรรพถึงสถานีรถไฟร้างแห่งนี้ คือสถานที่แห่งความเศร้าโศก เฝ้ารอคอย และการจากลา รวมถึงสิ่งน่าหลอกหลอนที่สุดในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง การออกเดินทางครั้งสุดท้ายของชนชาวยิว!
If you look at many of the scenes in the movie that were shot there, you will notice that not only is it a very beautiful location, but it is full of sorrow, the kind of sorrow that only accumulates in a railway station where people wait. I know this sounds terribly mystical, but really a railway station is a haunted place. And the story is all about people waiting, waiting, waiting for their papers to be filled. It is full of the hopelessness of the struggle against bureaucracy. Waiting for a paper to be filled is like waiting for a train, and it’s also a place of refugees. People were sent to Nazi prisons from there, Algerians were gathered there, so it’s a place of great sorrow. Of course, my film has a lot of sorrow too, so the location infused a lot of realism into the film.
เกร็ด: ระหว่างถ่ายทำภาพยนตร์เรื่องนี้ที่ Zabreb ผกก. Welles ก็ได้พบเจอ Olga Palinkaš นักแสดงสาวชาว Croatian ขณะนั้นอายุเพียง 21 ปี ซึ่งเขาตั้งชื่อใหม่ให้ว่า Oja Kodar ก่อนพัฒนาความสัมพันธ์เป็นคนรัก ‘artistic collaborator’ อยู่เคียงข้างกันจนวันตาย
เรื่องเล่า Vor dem Gesetz แปลว่า Before the Law แท้จริงแล้วนำจากเรื่องสั้นที่ Franz Kafka เคยเขียนไว้ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1915 ตีพิมพ์ลงนิตยสารรายสัปดาห์ Selbstwehr ซึ่งถูกนำมาอ้างอิงถึงในนวนิยาย The Trial ระหว่างที่ Josef K. สนทนากับบาทหลวง ณ อาสนวิหาร … ฉบับภาพยนตร์มีการปรับเปลี่ยนพอสมควร คือโยกย้ายมาพูดเล่าตั้งแต่อารัมบท (ด้วยเสียงบรรยายของผกก. Orson Welles) แล้วตัดบทบาทหลวงไม่ได้พูดคุยกันเรื่องนี้ เปลี่ยนมาเป็นระหว่าง Josef K. สนทนากับทนายความ Albert Hastler (ซึ่งก็รับบทโดย Orson Welles)
Before the Law เล่าเรื่องชายคนหนึ่งผู้มีเชื่อมั่นว่าทุกคนสามารถเข้าถึงกฎหมาย แต่พอเดินทางมาถึงทางเข้า กลับพบเจอใครคนหนึ่งยืนเฝ้าหน้าประตู ปฏิเสธไม่ให้บุกรุกเข้าไปภายใน เขาจึงตัดสินใจเฝ้ารอคอยวันแล้ววันเล่า จากหนุ่มสู่ชรา เกิดความตระหนักว่าไม่เคยมีใครอื่นเดินทางมายังสถานที่แห่งนี้ และวินาทีสิ้นลมหายใจ ประตูบานนี้ก็ถูกปิดตายลงโดยพลัน!
เรื่องเล่าดังกล่าวถูกนำเสนอในเชิงสัญลักษณ์ ผมตีความถึงแนวคิดของ ‘กฎหมาย’ แม้ต้องการให้มนุษย์ทุกคนสามารถเข้าถึงได้นั้น แท้จริงแล้วเป็นคำโป้ปดหลอกลวง เพียงการสร้างกำแพงขึ้นมาห้อมล้อม ปิดกั้น เฉพาะบุคคลที่ได้รับเลือกเท่านั้นถึงสามารถเข้าสู่ภายใน ขณะที่สามัญชน คนธรรมดา ก็มักถูกกีดกั้นขวางตั้งแต่ประตูหน้า ไม่มีวันเข้าถึงภายใน!
เราสามารถเปรียบเทียบเรื่องเล่านี้กับตัวละครของภาพยนตร์อย่างตรงไปตรงมา!
- ชายผู้มาเฝ้ารอคอยหน้าประตูก็คือ Josef K. ถูกปิดกั้น ไม่รับรู้ว่าตนเองกระทำความผิดอะไร เดินทางไปแห่งหนไหนล้วนไม่ได้รับคำตอบใดๆ
- ขณะที่ยามเฝ้าประตู ถ้าอ้างอิงตามต้นฉบับนวนิยายผมยังขบครุ่นคิดไม่ออกว่าต้องการสื่อถึงบุคคลใด! แต่ฉบับภาพยนตร์เมื่อปรับเปลี่ยนผู้เล่ามาบาทหลวงเป็นทนายความ Albert Hastler นั่นเป็นการบอกใบ้ ชี้นำที่ชัดเจนมากๆ ชายคนนี้แหละคือยามเฝ้าประตู กีดกั้นไม่ให้ Josef K. ได้รับความยุติธรรมสักที! … แต่มันอาจจะไม่ใช่ก็ได้นะครับ นี่เป็นการเปิดกว้างให้ผู้ชมลองขบครุ่นคิดหาคำตอบด้วยตนเอง
ตลอดทั้งซีเควนซ์นี้ใช้เทคนิคชื่อว่า Pinscreen animation ด้วยการใช้หมุดนับพันๆชิ้นที่สามารถขยับเคลื่อนไหวได้ สร้างรูปผ่านอุปกรณ์ Pinscreen device พัฒนาโดย Alexandre Alexeïeff และภรรยา Claire Parker ระหว่างปี ค.ศ. 1932-35 เผื่อใครสนใจให้ลองรับชมในคลิปดูนะครับ
LINK: https://www.youtube.com/watch?v=vQ3DSFv4vAg
หนังสั้น The Nose (1963): https://www.youtube.com/watch?v=dZYV49ekeOY
ผมคงไม่ลงรายละเอียด ‘mise-en-scène’ เพราะมันเยอะจนครุ่นคิดตามแทบไม่ทัน สำหรับคนมักคุ้นสไตล์ Wellesian ก็น่าจะพบเห็นสไตล์ลายเซ็นต์ตั้งแต่ซีเควนซ์แรกของหนัง ถ่ายทำแบบ ‘long take’ พบเห็นมุมเงยบ่อยครั้ง (เหมือนถูกกดขี่ การใช้อำนาจในทางมิชอบของพวกตำรวจ) อย่างภาพสุดท้ายสังเกตว่า Josef K. สวมใส่เสื้อขาว ขณะที่ใครอื่น/ตำรวจนอกเครื่องแบบห้อมล้อมรอบด้วยสูทสีเข้มๆ ยัดเยียดเข้ามาในเฟรมเดียวกัน ไม่มีทางหลบหนีไปไหนพ้น
แซว: ด้วยความร้อนรน กระวนกระวายของ Josef K. ทำให้พูดคำผิดๆถูกๆ “That’s My Pornograph!” (สื่อลามกอนาจาร) จริงๆต้องใช้คำว่า Phonograph (เครื่องเล่นแผ่นเสียง), และยังมีการประดิษฐ์คำ Ovular แลดูคล้ายๆ Ovule หรือ Ovum เซลล์ไข่, เซลล์สืบพันธุ์เพศเมีย
ตัวละคร Marika Bürstner ในต้นฉบับนวนิยายทำงานเป็นนักพิมพ์ดีด (Typist หรือ Stenographer) แต่ภาพยนตร์เปลี่ยนเป็นนักร้อง/นักแสดงคาบาเรต์ รับบทโดย Jeanne Moreau เพราะเพิ่งกลับจากทำงานทั้งคืน จึงมีสภาพเหน็ดเหนื่อยอ่อนล้า ง่วงหงาวหาวนอน ยินยอมพูดคุยกับ Josef K. เพราะอีกฝ่ายอวยพรวันเกิด แต่ไปๆมาๆพวกเขาก็เกิดความขัดแย้ง ไม่ลงรอย ถูกขับไล่ ผลักไสออกจากห้อง … ผมมองนัยยะถึงผกก. Welles ถูกขับไล่ ผลักไส เลยจำใจต้องออกจาก Hollywood มาทำงานยังทวีปยุโรป!
สำนักงานของ Josef K. มีความโอ่โถง รโหฐาน เรียงรายด้วยโต๊ะ เก้าอี้ เครื่องพิมพ์ดีด พนักงานนับพัน! นี่ไม่ใช่แค่เคารพคารวะโคตรหนังเงียบ The Crowd (1928) แต่ยังสะท้อนระบบการทำงาน วิถีระบอบทุนนิยม มนุษย์เป็นเพียงหน่วยเล็กๆในองค์กรใหญ่ๆ (ฟันเฟืองเล็กๆในเครื่องจักรขนาดใหญ่) แทบไร้ตัวตน ไม่ได้มีความสลักสำคัญประการใด
ระหว่างทางกลับห้องพัก เพื่อจะเลี้ยงฉลองวันเกิดของ Marika Bürstner แต่ปรากฎกว่า Josef K. พบเห็นกระเป๋าเดินทางของเธอกำลังถูกลากโดยใครก็ไม่รู้จัก อาสาให้ความช่วยเหลือได้รับคำตอบปฏิเสธ พยายามซักไซร้ไล่เรียงก่อนพบว่าเธอถูก Mrs. Grubach ขับไล่ออกจากอพาร์ทเม้นท์ สาเหตุก็เพราะเหตุการณ์วุ่นๆวายๆเมื่อเช้านี้ ทำลายความสงบสุขของผู้พักอาศัย
ซีเควนซ์นี้ถ่ายทำแบบ Long Take ระหว่างหญิงขาพิการกำลังฉุดกระชากลากกระเป๋าเดินทางใบใหญ่ เส้นทางก็ทุลักทุเล Josef K. พยายามจะช่วยเหลือแต่กลับสร้างความวุ่นๆวายๆให้อีกฝ่าย … ผมยังครุ่นคิดไม่ออกว่าซีเควนซ์นี้ต้องการสื่อถึงอะไร อาจหมายถึงการถูกทอดทิ้ง สิ่งที่ผกก. Welles เคยกระทำไว้ทิ้งไว้กับสตูดิโอ เลยไม่หลงเหลือใครเคียงข้างอีกต่อไป
ระหว่างการรับชมอุปรากร Josef K. ถูกตำรวจลับลากพาออกมาให้การบนชั้นศาล ระหว่างทางพบเห็นผู้คนยืนแน่นิ่ง เปลือยหาย ห้อยด้วยป้าย หลายคนน่าจะขนหัวลุก ตระหนักได้ว่าพวกเขาเหล่านี้คือชนชาวยิว ต้องการสื่อถึงเหตุการณ์ Holocaust อย่างแน่นอน! พวกเขาไม่เคยกระทำความผิดอะไร (แบบเดียวกับ Josef K.) แต่กลับถูกจับกุม ส่งตัวไปค่ายกักกัน ตัดสินโทษประหารชีวิตเพียงเพราะเป็นชนชาวยิว
เมื่อมาถึงห้องพิจารณาคดี พบว่าเต็มไปด้วยผู้คนนับร้อยพัน นั่งอยู่เต็มชั้นบนล่าง Josef K. ต้องปืนป่ายไปยังกึ่งกลางห้อง กล่าวอ้างความบริสุทธิ์ พร้อมจะพิสูจน์ตนเองว่าไม่เคยกระทำสิ่งชั่วร้ายประการใด
ผมไม่ค่อยแน่ใจนักว่ามันเกิดเหตุการณ์อะไร? จู่ๆผู้จัดการ/หัวหน้าของ Josef K ก็ถูกจับ เค้นความลับอยู่ในห้องมืด กล่าวโทษว่าอีกฝ่ายว่าได้ปากโป้ง เปิดโปงความคอรัปชั่น ทั้งๆเจ้าตัวเหมือนไม่รับล่วงรู้อะไร กลับกลายเป็นคนทรยศ ซะงั้น!
ลักษณะของการชี้ตัว ใส่ร้ายป้ายสีผู้อื่น ชวนให้ผมนึกถึง Hollywood Blacklist ในยุคสมัย McCarthyism แม้ผกก. Welles จะไม่เคยข้องแว้งกับคอมมิวนิสต์ แต่ตัวเขาก็เหมือนถูกขึ้นบัญชีดำจาก Hollywood ไม่แตกต่างกัน!
รายละเอียดในส่วนนี้เหมือนจะไม่มีในนวนิยาย ผกก. Welles เพิ่มเติมเข้ามาเพราะความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยีในช่วงทศวรรษ 60s คอมพิวเตอร์สามารถทำการประมวลผลข้อมูลต่างๆ แล้วหาข้อสรุป ผลการตัดสิน ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดอาชญากรรม “Crime is a fact!” ถ้าเราใส่ข้อมูลทั้งหมดลงไป ระบบปัญญาประดิษฐ์ย่อมสามารถครุ่นคิดค้นหาคำตอบออกมา … ผมรู้สึกเหมือนคำพยากรณ์ของผกก. Welles ถ้าโลกดำเนินไปในทิศทางนั้น เทคโนโลยีก้าวเข้ามาแทนที่การตัดสินใจของมนุษย์ บรรดาคนงานชั้นล่างนับพันคงต้องตกงานอย่างแน่แท้!
แรกพบเจอระหว่าง Josef K. กับทนายความ Albert Hastler พบเห็นนอนพ่นซิการ์ควันโขมง ก่อนที่(แฟนสาว) Leni จะเอาผ้ามาคลุมศีรษะ ทำให้ผู้ชมยังไม่พบเห็นใบหน้าตัวละครแบบชัดๆ นี่แสดงถึงความขมุกขมัว เหมือนไม่ต้องการเปิดเผยตัวตน อีกทั้งพอลุกขึ้นจากเตียง ยืนตระหง่าน กล้องถ่ายภาพมุมก้ม วางตัวหัวสูงส่ง สายตาดูถูกเหยียดหยาม … ค่อนข้างชัดเจนว่าตัวละครนี้เต็มไปด้วยลับเลศนัยบางอย่าง!
สองสาว Leni และ Hilda ต่างมีคู่ครอง แต่กลับพยายามเกี้ยวพาราสี โอบกอด จุมพิตกับ Josef K. โดยไม่สนความถูกต้องเหมาะสม นี่แสดงถึงพฤติกรรมคอรัปชั่นของพวกเธอได้เช่นกัน
- Leni คนรักของทนายความ Albert Hastler มือของเธอมีพังผืดเหมือนสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ พฤติกรรมของเธอก็พยายามตะเกียกตะกาย กอดรัดฟัดเหวี่ยง Josef K. ท่ามกลางกองเอกสารถูกทอดทิ้งขว้าง ไม่ได้รับการจัดเก็บ (สามารถสื่อถึงความไม่ได้ยี่หร่าต่อคดีความของ Hastler)
- Hilda ภรรยาของ Courtroom Guard พาเขามาด้านหลังเวทีสำหรับพิจารณาคดีความ ระหว่างกำลังโอบกอด จุมพิต ถูกใครก็ไม่รู้ (เห็นบอกว่าคือนักเรียนกฎหมาย) ปีนป่ายเข้ามาแบกหาม ลักพาตัวหายเข้าห้อง
ทนายความคนแรกของ Josef K. หรือก็คือสามีของ Hilda เป็นบุคคลที่ดูไม่ยี่หร่ากับคดีความ (มุมกล้องมักเงยขึ้นสูงติดเพดาน) แค่อยากทำให้มันจบๆรวดเร็วไว นำพาเขามายังสถานที่รับเรื่องร้องเรียน พบเห็นผู้คนมากมายเบื้องล่าง เฝ้ารอคอยเรียกคิวพิจารณาคดีความ … นี่แสดงให้ถึงการทำงานของหน่วยงานราชการที่มีความเอื่อยเฉื่อย เชื่องช้า มากขั้นตอน ไม่ยี่หร่าต่อบุคคลธรรมดาสักเท่าไหร่
เรื่องราวของญาติห่างๆ เด็กสาว Irmie น่าจะอายุ 15 แต่พบเห็นโดดโรงเรียนมาเยี่ยมเยียน Josef K. ถึงสองครั้งครา ระหว่างสนทนาก็เต็มไปด้วยถ้อยคำล่อๆแหลมๆ พูดเหมือนอยากแต่งงานกับเขา … เอิ่ม
เฉกเช่นเดียวกับสองสาวที่เพิ่งอธิบายไปก่อนหน้า Leni และ Hilda ต่างพยายามเกี้ยวพาราสี Josef K. โดยไม่สนว่าตนเองล้วนมีคู่ครอง (ในกรณีของ Irmie ทั้งอายุน้อย แถมเป็นญาติห่างๆ) สร้างความอึดอัด กระอักกระอ่วน นั่นไม่ใช่สิ่งถูกต้องเหมาะสมเลยสักนิด … ความผิดที่เขาไม่ได้ก่อ แต่ถูกพวกเธอพยายามยัดเยียดให้
เรื่องราวของ Bloch (ผู้หลบซ่อนตัวอยู่ห้องใต้บันไดในสำนักงานทนายความ) เริ่มต้นคล้ายๆกับ Josef K. โดนใส่ร้าย กลายเป็นแพะรับบาป ไม่รับรู้ตนเองกระทำความผิดอะไร กลับถูกแจ้งข้อกล่าวหา แต่ความแตกต่างคือเขาไม่สามารถลุกขึ้นยืน กล้าเผชิญหน้าทนายความ Albert Hastler
- มุมกล้องก้มต่ำจากบนเตียง พบเห็น Bloch ยินยอมก้มหัวศิโรราบ พร้อมทำทุกสิ่งอย่างตามคำสั่งทนายความ Albert Hastler (ใช้อำนาจกดขี่ข่มเหงอีกฝ่ายอย่างเลือดเย็น!)
- ตรงกันข้ามกับ Josef K. มุมกล้องเงยขึ้น ยืนอย่างทะนง หลังพบเห็นความเอื่อยเฉื่อย เชื่องชักช้า คดีความไม่คืบหน้า ปฏิเสธรับฟังข้ออ้างใดๆ แสดงเจตจำนงล้มเลิกไม่ให้อีกฝ่ายว่าความให้อีกต่อไป
These girls belong to the court. Well, Joey, practically everything belongs to the court.
Titorelli
มันช่างเป็นการเล่นคำที่ชวนปวดเศียรเวียนเกล้ายิ่งนัก! คำว่า Court ไม่ได้หมายถึงศาลเพียงอย่างเดียว ยังแปลว่าสนาม ลาน พระราชวัง หรือคำกิริยา (verb) เกี้ยวพา แทะโลม ประจบสอพลอ แกว่งเท้าหาเสี้ยน … นั่นสามารถเหมารวมพฤติกรรมหญิงสาว/เด็กหญิง แทบทุกคนในภาพยนตร์เรื่องนี้ที่พยายามทำการ ‘court’ กับ Josef K.
สถานที่ที่ Josef K. เดินทางมาพบเจอกับจิตรกรวาดภาพผู้พิพากษา (Court Painter) อยู่ชั้นบนสุด ห้อมล้อมรอบด้วยแผ่นไม้ที่เต็มไปด้วยช่องว่างให้บุคคลภายนอกสามารถมองลอดผ่าน ผมคาดเดาว่าสถานที่แห่งนี้เปรียบดั่งศาลสูง (High Court) ซึ่งคดีความที่ทำการอุทธรณ์ มักอยู่ในความสนใจสาธารณะชน หรือก็คือเด็กสาวพยายามจับจ้อง มองลอด ส่งเสียงซุบซิบ ตัดต่อสลับไปมาด้วยความสนอกสนใจ
ผมไม่ค่อยแน่ใจนัยยะของจิตรกรวาดภาพผู้พิพากษา (Court Painter) สามารถสื่อถึงตัวแทนผู้พิพากษาได้เลยหรือเปล่า? แต่นัยยะของภาพวาดผู้พิพากษา เปรียบดั่งสำนวน ‘เขียนเสือให้วัวกลัว’ บุคคลที่สาธารณะชนเทิดทูนไว้เหนือเกล้า มีความศักดิ์สิทธิ์ สูงส่ง มากด้วยอำนาจบารมี สามารถตัดสินถูก-ผิด ดี-ชั่ว ไม่เคยปรากฎตัว แต่พบเจออยู่แทบทุกแห่งหน
ในต้นฉบับนวนิยาย การสนทนากับบาทหลวงน่าจะมีความสลักสำคัญอย่างมากๆ เพราะศาสนา(คริสต์)มักทำการตัดสินบาปของมนุษย์ บุคคลดี มีศรัทธาต่อพระเจ้าย่อมได้ขึ้นสวรรค์ ส่วนคนชั่วกระทำความผิดย่อมตกนรกหมกไหม้ เช่นนั้นแล้ว Josef K. จะขึ้นสวรรค์หรือลงนรก … ภาพช็อตนี้ขณะแรกพบบาทหลวง ถ่ายมุมเงย ราวกับอีกฝ่ายคือพระเจ้า/บุคคลผู้ตัดสินความถูก-ผิด
แต่ฉบับภาพยนตร์กลับลดทอนรายละเอียดซีเควนซ์นี้จนแทบไม่หลงเหลืออะไร นั่นเพราะผกก. Welles ไม่ได้มีความสนใจในประเด็นศาสนา แถมเร่งรีบปรับเปลี่ยนตัวละครมาเป็นทนายความ Albert Hastler
การสนทนาระหว่าง Josef K. กับทนายความ Albert Hastler พร้อมๆฉายภาพ Pinscreen Animation นี่เป็นอีกการตอกย้ำถึงความสัมพันธ์ระหว่าง
- ชายผู้มาเฝ้ารอคอยหน้าประตู = Josef K.
- ยามเฝ้าประตู = ทนายความ Albert Hastler
ประตูทางเข้ากฎหมายเปิดออกสำหรับทุกคน แต่ไม่ใช่ทุกคนจะสามารถเข้าออก ทั้งหมดเป็นเพียงคำหลอกลวงเพื่อสร้างความหวังให้กับมนุษย์ เมื่อข้อเท็จจริงประจักษ์ต่อ Josef K. แสงสว่าง-เงามืดปกคลุมใบหน้า (ภาพ Low Key) แสดงความถึงหมดสิ้นหวังอาลัย ทุกคนล้วนพ่ายแพ้ คนบาป ตกนรกมอดไหม้
ต้นฉบับนวนิยาย Josef K. จะถูกทิ่มแทงด้วยมีดจนเสียชีวิต แต่ภาพยนตร์ทำเหมือนเพชรฆาตสองคนพยายามบ่ายเบี่ยง ก่ายเกี่ยงกันไปมา ไม่มีใครอยากมือเปลื้อนเลือด (เข่นฆ่าคนบริสุทธิ์) แต่สุดท้ายพวกเขาโยนระเบิด พบเห็นควันโพยพุ่งเหมือนเมฆรูปเห็ด (Mushroom Cloud) สังเกตจากพื้นหลังระหว่าง Closing Credit จะเห็นชัดเจนกว่า
ช่วงระหว่าง Closing Credit จะได้ยินเสียงผกก. Welles พูดแนะนำนักแสดง ก่อนทิ้งท้าย “I played the Advocate and wrote and directed this film. My name is Orson Welles.” เหมือนต้องการบอกกล่าวการเป็นเจ้าของ ความเป็นส่วนตัว(ของผกก. Welles)ในภาพยนตร์เรื่องนี้ … แอบชวนให้นึกถึง Contempt (1963) อยู่เล็กๆ
The ending is problematical. Mushroom clouds are not Kafkaesque because they represent a final conclusion, and in Kafka’s world nothing ever concludes. But then comes another ending: The voice of Orson Welles, speaking the end credits, placing his own claim on every frame of the film, and we wonder, is this his way of telling us “The Trial” is more than ordinarily personal? He was a man who made the greatest film ever made and was never forgiven for it.
นักวิจารณ์ Roger Ebert กล่าวถึงตอนจบเจ้าปัญหา
ตัดต่อโดย Fritz H. Mueller,
หนังดำเนินเรื่องโดยใช้มุมมองของ Josef K. ตั้งแต่เช้าตรู่ถูกปลุกตื่นโดยตำรวจนอกเครื่องแบบ แจ้งการจับกุมแต่ไม่บอกข้อกล่าวหา จากนั้นเขาก็ก้าวออกเดินทางจากสถานที่แห่งหนึ่ง ไปสู่สถานที่เหนือจริงอีกแห่งหนึ่ง พยายามค้นหาข้อแก้ตัว หนทางแก้ต่าง ตกอยู่ในสถานการณ์สุดบ้าคลั่ง หวาดระแวง สิ้นหวัง นี่มันคือฝันร้าย!
- อารัมบท, เรื่องเล่า Before the Law นำเสนอในลักษณะ Pinscreen animation
- Josef K. ในอพาร์ทเม้นท์
- เช้าตรู่ถูกปลุกตื่นโดยตำรวจนอกเครื่องแบบ แจ้งการจับกุมแต่ไม่บอกข้อกล่าวหา
- พูดคุยเจ้าของห้อง และเกี้ยวพาหญิงสาว Marika Bürstner (รับบทโดย Jeanne Moreau)
- ระหว่างวันทำงานของ Josef K.
- Josef K. เดินทางไปยังสำนักงาน พูดคุยกับผู้จัดการ
- ยามเย็นตั้งใจซื้อเค้กไปฉลองวันเกิดของ Marika Bürstner แต่พบว่าเธอขนย้ายข้าวของออกจากห้องไปแล้ว พยายามจะช่วยแม่บ้านขนกระเป๋าสัมภาระกลับไม่เป็นประโยชน์อันใด
- ค่ำคืนระหว่างรับชมการแสดงอุปรากร ได้รับจดหมายเรียกตัวไปยังชั้นศาล พานผ่านชนชาวยิวมากหน้าหลายตา กล่าวสุนทรพจน์พิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตนเองก่อนกลับออกมา
- พบเห็นผู้จัดการบริษัท ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุม ตรวจค้นในห้องมืด กว่าจะสามารถหลบหนีออกมาได้
- ลุง Max เดินทางมาเยี่ยมเยียนที่สำนักงาน ชักชวนไปพบเจอกับทนายความ Albert Hastler
- ก้าวออกเดินทางค้นหาหนทางแก้ต่าง เตรียมตัวสู้คดีความ
- ระหว่างที่ลุง Max พูดคุยกับทนายความ, Josef K. ถูกเกี้ยวพาราสีโดย Leni (รับบทโดย Romy Schneider)
- Josef K. เดินทางมายังชั้นศาลที่ว่างเปล่า แล้วถูกเกี้ยวพาราสีโดย Hilda (รับบทโดย Elsa Martinelli)
- Josef K. พบเจอกับทนายที่เป็น Courtroom Guard (สามีของ Hilda) แต่ก็ไม่เคยบอกกล่าวฟ้องร้องข้อหาอะไร และยังมีบุคคลอีกมากมายเฝ้ารอคอยการแจ้งความ (แต่กลับถูกเพิกเฉยจากหน่วยงานรัฐ)
- Josef K. หาหนทางออกจากศาล มาพบเจอน้องสาววัยสิบห้า Irmie
- การเผชิญหน้ากับการตัดสิน
- จากนั้นหวนกลับมายังสำนักงานทนายความ Albert Hastler แต่ได้พบเจอ พูดคุยกับ Bloch
- พบเห็นพฤติกรรมกดขี่ข่มเหงของทนายความ Albert Hastler กับ Bloch เลยปฏิเสธไม่ให้เขาว่าความให้คดีของตนเองอีกต่อไป
- Josef K. เดินทางไปพบเจอศิลปิน Titorelli แต่ถูกห้อมล้อมรอบด้วยกลุ่มเด็กๆจับจ้องมองลอดผ่านช่องว่าง
- Josef K. พยายามวิ่งหลบหนีไปจนพบเจอบาทหลวงให้คำแนะนำ
- เผชิญหน้ากับทนายความ Albert Hastler กล่าวสุนทรพจน์ครั้งสุดท้าย
- และถูกเพชรฆาตสองคนควบคุมตัว พาออกไปนอกเมือง สำหรับฆ่าปิดปาก
โดยปกติแล้วสไตล์ Wellesian มักชอบใช้การเล่าย้อนอดีต (Flashback) กระโดดไปกระโดดมา (Non-Chronological Order) แต่ถึงเส้นเรื่องของ The Trial (1962) จะเป็นเส้นตรง แต่แทบทุกช็อตมักกระโดดจากสถานที่หนึ่ง ไปสู่สถานที่เหนือจริงอีกแห่งหนึ่ง ราวกับตัวละครกำลังล่องลอยอยู่ในความฝัน(ร้าย) ไม่มีหนทางดิ้นหลบหนีไปจากสถานที่แห่งนี้
The Trial (1962) เป็นภาพยนตร์เพียงไม่กี่เรื่องของผกก. Welles ที่ไม่ถูกแทรกแซงใดๆในกระบวนการตัดต่อ ถึงอย่างนั้นกลับมีซีเควนซ์หนึ่งโดนตัดออกไป Josef K. พบเจอกับผู้พัฒนาคอมพิวเตอร์ (Computer Scientist) รับบทโดย Katina Paxinou ใช้คอมพิวเตอร์/ปัญญาประดิษฐ์พยากรณ์อนาคตที่อาจจะบังเกิดขึ้นกับเขา … น่าเสียดายที่ซีเควนซ์นี้มีเพียงภาพฟุตเทจ เพราะหนังได้ไม่ได้บันทึกเสียง ‘sound-of-film’ แต่ในคลิปมีทำซับไตเติ้ลไว้ให้
I only saw the film as a whole once. We were still in the process of doing the mixing, and then the premiere fell on us… [The scene] should have been the best in the film and it wasn’t. Something went wrong, I don’t know why, but it didn’t succeed.
Orson Welles อธิบายเหตุผลที่ตัดซีเควนซ์นี้ออกไป
ในส่วนของเพลงประกอบ ผกก. Welles มอบหมายให้ Jean Ledrut (1902-82) ทำการเรียบเรียงบทเพลงของคีตกวีสัญชาติอิตาเลี่ยน Tomaso Albinoni (1671-1751) แห่งยุคสมัย Baroque ผู้ชื่นชอบแต่งบทเพลงท่วงทำนองเศร้าๆ มีความโหยหวน เจ็บปวด บรรยากาศสิ้นหวัง
Adagio D’Albinoni หรือ Adagio in G minor บทเพลงสำหรับเครื่องสายและออร์แกน ได้รับการค้นพบโดยนักดนตรีวิทยา Remo Giazotto เมื่อตอนสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง ณ Saxon State Library (Dresden, Germany) แต่เนื่องจากไม่เคยมีการเปิดเผยหลักฐาน และภายหลัง Giazotto กล่าวอ้างลิขสิทธิ์ของตนเองเมื่อปี ค.ศ. 1958 โดยให้การว่าค้นพบเพียงตัวโน๊ต Bassline ส่วนรายละเอียดอื่นๆทำการแต่งเติมขึ้นใหม่
เกร็ด: นอกจากจะใช้เป็น Opening Credit ของ The Trial (1962) บทเพลงนี้ Adagio in G minor ยังคือ Main Theme ภาพยนตร์ Last Year at Marienbad (1961)
ไม่ใช่แค่เรียบเรียงท่วงทำนองคลาสสิกเท่านั้น! Ledrut ยังต้องดัดแปลงบทเพลงของ Albinoni ออกมาในสไตล์ดนตรี Jazz ผสมผสานเข้ากับความวุ่นๆวายๆ เป็นไปได้ไม่รู้จบของเรื่องราว ยกตัวอย่าง Jazz Hallucination ดังขึ้นระหว่าง Josef K เดินทางไปหาศิลปิน Titorelli แต่เชื่อว่าหลายคนอาจไม่ทันได้ยิน เพราะถูกเสียงของเจี้ยวจ้าวของเด็กๆกลบบดบังมิดชิด!
สไตล์เพลงของผกก. Welles ไม่ได้โดดเด่นชัดเจนเหมือนองค์ประกอบอื่นๆ (ผมเลยไม่ได้เรียก Wellesian) แต่มักเลือกท่วงทำนอง สไตล์ดนตรีที่เหมาะสมกับเรื่องราวนั้นๆ มุ่งเน้นสร้างบรรยากาศ คลอประกอบพื้นหลัง บางครั้งก็ใช้เพียง ‘Sound Effect’ ไม่ก็ความเงียบงัน ทดลองสร้างอารมณ์ร่วม … อย่างภาพยนตร์เรื่องนี้ถือว่ามีความเป็น Avant-Garde อยู่เล็กๆ
Starting from a relatively simple idea, Kafka plunges us into an incoherent, absurd and surreal world. Here is the idea. The bureaucrats, the administration, the power, crush the individual. A lone man becomes a panting victim of society when by chance – or by misfortune – it attracts him towards one of the gears of its system.
– Extract from an article by Mr Louis Chauvet (in Le Figaro)
The Trial (1962) นำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับชายคนหนึ่ง ไม่ล่วงรับรู้ว่าตนเองกระทำความผิดอะไร เหมือนโดนใส่ร้าย กลายเป็นแพะรับบาป ตำรวจออกหมายจับ จำต้องเดินทางไปให้การบนชั้นศาล พยายามหาข้อแก้ตัว หนทางแก้ต่าง กลับพบเห็นแต่ความคอรัปชั่นของทนายความ ระบบราชการ หน่วยงานรัฐ ท้ายสุดยังไม่ทันได้พิจารณาคดีความ ก็ถูกเพชรฆาตสองคนลากพาตัวเขาไปฆ่าปิดปาก!
หลายคนคงรู้สึกหงุดหงิด รำคาญใจ Josef K. กระทำความผิดข้อหาอะไร? แต่นั่นหาใช่ประเด็นหลักของเรื่องราว ไม่จำเป็นที่เราต้องเสียเวลาขบครุ่นคิด เพราะเนื้อหาสาระต้องการสื่อถึงความฟ่อนเฟะ เน่าเละเทะ เต็มไปด้วยความคอรัปชั่นของระบบราชการ มันอาจเป็นความผิดพลาด จงใจ-ไม่จงใจ หรือใครบางคนจากเบื้องบนสั่งการลงมา แล้วไม่มีการตรวจสอบถูก-ผิด เร่งรีบตัดสิน ลงโทษประหารชีวิต โดยไม่สนหัวใครทั้งนั้น!
ผู้แต่ง Franz Kafka ร่ำเรียนจบกฎหมาย คงได้พบเห็นอะไรๆมามากจากการทำงานในหน่วยงานราชการ เต็มไปด้วยความเก็บกด อึดอัดอั้น ท้อแท้สิ้นหวัง ใช้การเขียนนวนิยายเพื่อระบายอารมณ์เหล่านั้น โดยไม่รู้ตัวพยากรณ์การมาถึงของค่ายบังคับแรงงานสหภาพโซเวียต (Gulag) และพันธุฆาตระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง (Holocaust)
Kafka published his novel in Prague in 1925; it reflected his own paranoia, but it was prophetic, foreseeing Stalin’s gulag and Hitler’s Holocaust, in which innocent people wake up one morning to discover they are guilty of being themselves.
นักวิจารณ์ Roger Ebert
ตอนจบดั้งเดิมของ Kafka เพชรฆาตใช้มีดทิ่มแทง Josef K. จนเสียชีวิต! แต่ฉบับภาพยนตร์ปรับเปลี่ยนมาเป็นโยนระเบิดที่มีควันโพยพุ่ง แลดูเหมือนเมฆรูปเห็ด (Mushroom Cloud) สัญลักษณ์ของระเบิดนิวเคลียร์ การเข่นฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในสงครามโลกครั้งที่สอง
To me that ending is a ballet written by a Jewish intellectual before the advent of Hitler. Kafka wouldn’t have put that in after the death of six million Jews. It all seems very much pre-Auschwitz to me. I don’t mean that my ending was a particularly good one, but it was the only possible solution. I had to step up the pace, if only for a few moments.
Orsen Welles กล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงตอนจบ
สำหรับผกก. Welles ไม่แตกต่างจาก Josef K. เปลี่ยนจากความคอรัปชั่นของระบบราชการ ต้องการกล่าวถึงวงการภาพยนตร์ Hollywood ที่มีความฟ่อนเฟะ เน่าเละเทะ ผู้กำกับทำได้เพียงก้มหัวศิโรราบต่อสตูดิโอ ถูกควบคุมครอบงำโดยโปรดิวเซอร์ สัญญาทาส ไร้ซึ่งสิทธิ์เสียง อิสรภาพในการสรรค์สร้างผลงาน รวมถึงแนวทางภาพยนตร์ ‘สไตล์ Hollywood’ จำเจ ซ้ำซาก ไม่ค่อยเปิดโอกาสให้กับความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ
แต่ว่ากันตามตรงไม่ใช่ว่าผกก. Welles ไม่ได้มีความผิดอะไร ถ้าเรามองในมุมสตูดิโอ/โปรดิวเซอร์ภาพยนตร์ หมอนี่แม้งโคตรเห็นแก่ตัว เอาแต่ใจ ไม่รู้จักการประณีประณอม สร้างปัญหาไม่หยุดหย่อน แถมยังดื้อรั้น ดึงดัน เอาอารมณ์ศิลปินเป็นที่ตั้ง จนใครต่อใครเอือมระอา เบือนหน้าหนี … ถูกขึ้นบัญชีดำจริงไหมไม่รู้ แต่พฤติกรรมเช่นนี้ย่อมไม่มีใคร(ใน Hollywood)ไว้เนื้อเชื่อใจอีกต่อไป
ข้อสรุปของผมเอง! มันไม่ใช่ว่า Hollywood สิ้นหวังเกินเยียวยาอย่างที่ผกก. Welles ต้องการนำเสนอออกมา แต่มันคือมุมมองของชายหัวขบถ ที่ไม่สามารถปรับตัวเข้ากับแนวคิด วิถีชีวิต วัฒนธรรมการทำงาน สหรัฐอเมริกาหาใช่ดินแดนแห่งเสรีภาพอย่างที่ใครต่อใครเข้าใจกัน … ซึ่งเมื่อเขาถูกขับไล่ อพยพย้ายมาอยู่ยุโรป ราวกับ ‘cultural shock’ สตูดิโอ/โปรดิวเซอร์ที่นี่รับรู้จักอุปนิสัยศิลปิน เข้าใจคุณค่างานศิลปะ เลยไม่เคยเข้ามายุ่งย่ามก้าวก่าย ให้อิสรภาพในการสรรค์สร้างผลงานอย่างเต็มที่
I feel an immense gratitude for the opportunity to make it, and I can tell you that during the making of it, not with the cutting, because that’s a terrible chore, but with the actual shooting of it, that was the happiest period of my entire life. So say what you like, but THE TRIAL is the best film I have ever made.
Orsen Welles
คำกล่าวของ Welles ที่บอกว่า The Trial (1962) คือผลงานยอดเยี่ยมที่สุดเท่าที่เคยสรรค์สร้าง! หลายคนอาจไม่ค่อยเห็นด้วยเมื่อเปรียบเทียบกับ Citizen Kane (1941) หรืออย่าง The Magnificent Ambersons (1942) แต่ในความหมายของเขา ภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นหนึ่งในไม่กี่ครั้งที่สามารถทำตามวิสัยทัศน์ ไม่มีใครไหนมายุ่งย่ามก้าวก่าย มันเลยรู้สึกเติมเต็ม อิ่มหนำ ระบายอารมณ์อัดอั้น (ของศิลปิน) เกิดความพึงพอใจสูงสุด
แซว: คำกล่าวดังกล่าวของผกก. Welles พูดขึ้นก่อนสรรค์สร้าง Chimes at Midnight (1965) ซึ่งก็เป็นอีกผลงานที่ไม่มีใครไหนเข้ามายุ่งย่ามก้าวก่าย บทสัมภาษณ์ถัดๆมาก็เลยเปลี่ยนมายกย่องโปรดปรานเรื่องใหม่นี้แทน
ดั้งเดิมนั้น The Trial (1962) ตั้งใจจะเข้าฉายรอบปฐมทัศน์ยังเทศกาลหนังเมือง Venice ช่วงเดือนกันยายน ค.ศ. 1962 น่าเสียดายตัดต่อไม่ทันเสร็จเลยจำต้องล้มเลิกแผนการ กว่าจะได้ออกฉายก็ช่วงปลายปี เสียงตอบรับออกไปทางก้ำๆกึ่งๆ ยกเว้นเพียงประเทศฝรั่งเศสยอดจำหน่ายตั๋วสูงเฉียดล้าน 998,779 ใบ เทียบกับทุนสร้าง $1.3 ล้านเหรียญ ถือว่าประสบความสำเร็จพอสมควร!
(ในสหรัฐอเมริกาทำเงินได้แค่ $1.4 ล้านเหรียญ นี่ก็ชัดเจนว่าประตูทุกบานของ Hollywood ได้ปิดลงแล้วสำหรับผกก. Welles)
กาลเวลายังคงทำให้หนังถูกมองข้าม หลงลืมเลือน ‘forgotten masterpice’ เหมือนจะเคยสาปสูญหายไปชั่วเวลาหนึ่ง จนเมื่อได้รับการค้นพบ ฟื้นฟูบูรณะ ผู้ชมสมัยใหม่เริ่มสามารถขบครุ่นคิด เข้าใจความลุ่มลึกล้ำ กลายเป็นกระแสคัลท์เล็กๆ แต่ยังคงไม่ใช่สำหรับทุกคนจะสามารถชื่นเชยชม
เกร็ด: ผกก. Welles เคยวางแผนสรรค์สร้างสารคดีเบื้องหลัง Filming ‘The Trial’ เมื่อปี ค.ศ. 1981 ทำการว่าจ้างตากล้อง Gary Graver บันทึกภาพคำถาม-ตอบ หลังฉาย The Trial (1962) ให้กับผู้ชมที่ University of Southern California ระยะเวลา 90 นาที! แต่เพราะไม่เคยมีเวลาตัดต่อฟุตเทจดังกล่าว เลยค้างๆคาๆไว้จนเสียชีวิต ส่งมอบฟีล์มให้กับ Munich Film Museum ทำการบูรณะและตัดต่อสารคดีความยาว 82 นาที เสร็จสิ้นเมื่อปี ค.ศ. 2005 สามารถหารับชมทาง Youtube
ผมไม่มีรายละเอียดว่าหนังเคยสูญหายไปตั้งแต่เมื่อไหร่ รับรู้แค่ว่าได้รับการค้นพบฟีล์มเนกาทีฟต้นฉบับ 35mm เมื่อปี ค.ศ. 2000 จัดจำหน่าย DVD ในสหรัฐอเมริกาครั้งแรกโดย Milestone Films, จากนั้นเมื่อปี ค.ศ. 2015 ได้รับการบูรณะ 2K โดย Rialto Pictures, และล่าสุด ค.ศ. 2023 การบูรณะ 4K UHD โดย Criterion Collection
ถึงจะดูไม่รู้เรื่องเกินกว่าครึ่ง แต่ผมก็มีความเพลิดเพลินกับ ‘สไตล์ Welles’ ผสมผสานกับ Franz Kafka เต็มไปด้วยภาพถ่ายสวยๆ มุมกล้องแปลกตา Surrealist, Avant-Garde งดงามวิจิตรศิลป์! และเนื้อหาสาระแท้จริง ‘cinematic statement’ ระบายอารมณ์อึดอัดอั้น ท้อแท้สิ้นหวัง รับชมแล้วรู้สึกสงสารเห็นใจ Hollywood/สหรัฐอเมริกา หาใช่ดินแดนแห่งเสรีภาพอย่างที่ใครๆครุ่นคิดกัน!
ถ้าให้ผมจัดอันดับภาพยนตร์เกี่ยวกับการพิจารณาคดีความ The Trial (1962) น่าจะอยู่อันดับสามรองจาก Rashômon (1950) และ Close-Up (1990) ถึงไม่มีฉากขึ้นโรงขึ้นศาล พิพากษาตัดสิน แต่ความพยายามค้นหาว่าตนเองทำผิดอะไร ก็เพียงพอให้ตั้งคำถามถึงระบบยุติธรรม มันมีอยู่จริงบนโลกนี้เสียที่ไหนกัน!
จัดเรต 18+ กับสารพันเหตุการณ์มึนตึง การถูกกดขี่ข่มเหง ล่องลอยอลเวง ความยุติธรรมไม่มีอยู่จริง
Leave a Reply