The Green Ray (1986) : Éric Rohmer ♥♥♥♡
ใครมีโอกาสพบเห็นแสงสีเขียว (Green Ray หรือ Green Flash) หรืออีกชื่อว่า แสงแห่งโชค (Lucky Light) จะช่วยปัดเป่าสิ่งเลวร้าย พรุ่งนี้จักได้เริ่มต้นชีวิตใหม่ และประสบแต่ความโชคดี, คว้ารางวัล Golden Lion จากเทศกาลหนังเมือง Venice
ปรากฎการณ์แสงสีเขียว จะปรากฎขึ้นเพียง 1-2 วินาทีในจุดที่ดวงอาทิตย์กำลังลาลับ หรือโผล่ขึ้นขอบฟ้า ซึ่งเกิดจากการหักเหของแสงคล้ายปริซึม เพราะแต่ละชั้นบรรยากาศมีอุณหภูมิและความหนาแน่นไม่เท่ากัน แต่โอกาสพบเห็นนั้นน้อยมากๆ เพราะผู้สังเกตต้องอยู่ในตำแหน่งเหมาะสม รวมถึงสภาพอากาศขณะนั้นต้องนิ่ง ท้องฟ้าโปร่ง ไม่มีอนุภาคอื่นๆมารบกวนมากเกินไป
แสงสีเขียว เป็นที่รู้จักในหมู่นักเดินเรือ เพราะมีความเชื่อเล่าสืบต่อกันมาว่า หากใครพบเห็นแสงวาบนี้ คนผู้นั้นจะได้รับพลังงานที่สามารถล่วงรับรู้ถึงจิตวิญญาณผู้อื่น … ใครเคยรับชม Pirates of the Caribbean: At World’s End (2007) ก็อาจรู้สึกคุ้นๆ เพราะกัปตัน Jack Sparrow จะออกจากโลกหลังความตาย ก็ต่อเมื่อพบเห็นแสงสีเขียวดังกล่าว
The Green Ray (1986) เป็นภาพยนตร์ที่มีความแปลกประหลาด มองผิวเผินคือดราม่า (Drama) แบบสารคดี (Documentary) ตัวละครเดินทางไปยังสถานที่ต่างๆ พบปะผู้คน พูดคุยสนทนา ราวกับบทสัมภาษณ์ แอบถ่ายด้วยกล้อง 16mm แต่ทั้งหมดทั้งมวลล้วนมีการซักซ้อมเตรียมการ (Rehearsal) จะมองว่าเป็นสารคดีปลอม (Mockumentary) ก็ได้กระมัง
สิ่งที่น่าฉงนอย่างยิ่งคือภาพยนตร์เรื่องนี้ถูกจัดรวมกลุ่ม Comedies and Proverbs ว่ากันตามตรงผมไม่รู้สึกถึงความน่าขบขันสักเท่าไหร่ จริงอยู่นางเอกโคตรเรื่องมาก เจ้ากี้เจ้าการ โลกส่วนตัวสูง แต่เราไม่ควรไปซ้ำเติมคนแบบนี้นะครับ ทำไมไม่ลอง ‘เอาใจเขามาใส่ใจเรา’ อย่างน้อยการได้เห็นแสงสีเขียวตอนจบ ยังสร้างความฉอุ่ม ชุ่มชื่นหฤทัยขึ้นมาบ้าง
Éric Rohmer ชื่อเกิด Jean Marie Maurice Schérer หรือ Maurice Henri Joseph Schérer (1920-2010) นักเขียน นักวิจารณ์ ผู้กำกับภาพยนตร์ สัญชาติฝรั่งเศส เกิดที่ Nancy (บ้างก็ว่า Tulle), Meurthe-et-Moselle ในครอบครัวคาทอลิก (แต่เจ้าตัวบอกว่าเป็นอเทวนิยม) โตขึ้นร่ำเรียนประวัติศาสตร์ วรรณกรรม ปรัชญา และศาสนศาสตร์
ปล. Éric Rohmer เป็นคนไม่ชอบเปิดเผยเรื่องส่วนตัว อย่างชื่อจริงและสถานที่เกิด จงใจบอกกับนักข่าวถูกๆผิดๆ ขณะที่ชื่อในวงการเป็นส่วนผสมระหว่างผกก. Erich von Stroheim และนักเขียน Sax Rohmer (ผู้แต่ง Fu Manchu)
หลังเรียนจบ Rohmer ทำงานครูสอนหนังสือที่ Clermont-Ferrand พอสิ้นสุดสงครามโลกตัดสินใจย้ายสู่กรุง Paris กลายเป็นนักข่าวฟรีแลนซ์ ตีพิมพ์นวนิยาย Les Vacances (1946) ระหว่างนั้นเองเรียนรู้จักภาพยนตร์จาก Cinémathèque Française สนิทสนม Jean-Luc Godard, François Truffaut, Claude Chabrol, Jacques Rivette, จากนั้นเข้าร่วมนิตยสาร Cahiers du Cinéma, โด่งดังจากบทความ Le Celluloïd et le marbre (1955) แปลว่า Celluloid and Marble ทำการสำรวจความสัมพันธ์ระหว่างภาพยนตร์กับศิลปะแขนงอื่น, นอกจากนี้ยังร่วมกับ Chabrol เขียนหนังสือ Hitchcock (1957) เกี่ยวกับศาสตร์ภาพยนตร์เล่มแรกๆที่ทำให้ผู้อ่านตระหนักว่า สื่อชนิดนี้ไม่ได้แค่ความบันเทิงเท่านั้น
Rohmer เริ่มสรรค์สร้างหนังสั้น Journal d’un scélérat (1950), จากนั้นเขียนบท/ร่วมทำหนังสั้นกับ Jean-Luc Godard อยู่หลายเรื่อง, จนกระทั่งมีโอกาสกำกับภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่องแรก Le Signe du lion (1959) แม้ไม่ประสบความสำเร็จสักเท่าไหร่ แต่ก็ถือว่าเป็นหนึ่งในผลงานยุคแรกๆของ French New Wave
ช่วงทศวรรษ 80s, ผกก. Rohmer ครุ่นคิดที่จะสร้าง ‘film series’ ตั้งชื่อว่า Comédies et Proverbes โดยแต่ละเรื่องนำแรงบันดาลใจจากสุภาษิต (proverb) ของชาวฝรั่งเศส นำเสนอในลักษณะชวนหัว สร้างความขบขัน (comedy)
- The Aviator’s Wife (1981): It is impossible to think about nothing.
- The Good Marriage (1982): Who doesn’t daydream? Who doesn’t build castles in the air?
- Pauline at the Beach (1983): A wagging tongue bites itself.
- Full Moon in Paris (1984): He who has two women loses his soul. He who has two houses loses his mind.
- The Green Ray (1986): Oh! May the time come when hearts fall in love.
- Boyfriends and Girlfriends (1987): My friend’s friend is my friend.
สำหรับสุภาษิตของ The Green Ray (1986) นำจากบทกวี Chanson de la plus haute tour (แปลว่า Song of the Highest Tower) รวบรวมอยู่ใน Derniers Vers (1872) ประพันธ์โดยโคตรนักกวีชาวฝรั่งเศส Arthur Rimbaud (1854-1891)
Oisive jeunesse,
À tout asservie,
Par délicatesse
J’ai perdu ma vie.
Ah! Que le temps vienne
Où les coeurs s’éprennent!Idle youth,
Subservient to everything,
I have frittered away my life
Through gentleness.
Ah! may the time come
When hearts fall in love!
นอกจากสุภาษิตที่แปลประมาณว่า “เมื่อถึงเวลา ประเดี๋ยวความรักก็มาเอง” ผกก. Rohmer ยังได้แรงบันดาลใจจากนวนิยายผจญภัย/ไซไฟ Le Rayon Vert (1882) แต่งโดย Jules Verne (1828-1905) โคตรนักเขียนชาวฝรั่งเศส หลายคนน่าจะรับรู้จักกันดีจากผลงาน Journey to the Center of the Earth (1864), Twenty Thousand Leagues Under the Seas (1870), Around the World in Eighty Days (1872) ฯลฯ
และครั้งหนึ่ง ผกก. Rohmer มีโอกาสพบเห็นรายการสัมภาษณ์ทางโทรทัศน์ เกิดความประทับใจความเป็นธรรมชาติของการถาม-ตอบ จนดูราวกับกล้องไม่ได้อยู่ตรงนั้น
I was struck by the naturalness of television interviews. You can say that here, nature is perfect. If you look for it, you find it because people forget the cameras.
Éric Rohmer
ด้วยเหตุนี้ผกก. Rohmer เลยครุ่นคิดถ่ายทำ The Green Ray (1986) โดยใช้ฟีล์ม 16mm กล้องขนาดเล็กสามารถหลบซ่อน แอบถ่าย กลมกลืนไปสถานที่ต่างๆ นอกจากนักแสดงนำ Marie Rivière ส่วนใหญ่เป็นญาติมิตร นักท่องเที่ยวที่มีโอกาสพบเจอ พูดคุยในลักษณะสัมภาษณ์ถาม-ตอบ พยายามทำออกมาให้ดูมีความเป็นธรรมชาติมากที่สุด
เกร็ด: ผกก. Rohmer มอบเครดิตเขียนบทร่วมกับนักแสดงนำ Marie Rivière เพราะเธอเป็นคนครุ่นคิดตั้งคำถาม ชี้นำทุกการสัมภาษณ์ และยังทำหน้าที่ ‘called the shots’ คือสั่งคัทจากหน้ากล้อง บอกว่าฉากนี้ได้คำตอบที่พึงพอใจแล้วหรือยัง เรียกว่าทุกช็อตฉากคือการดั้นสดๆ ‘improvised’
Marie Rivière (เกิดปี 1956) นักแสดงสัญชาติฝรั่งเศส เกิดที่ Montreuil, Seine-Saint-Denis พอเติบโตขึ้นเริ่มจากเป็นนางแบบ ระหว่างร่ำเรียนการแสดงมีโอกาสรับชมผลงานผกก. Éric Rohmer เกิดความชื่นชอบประทับใจ เขียนจดหมายแสดงความต้องการร่วมงาน นำไปสู่บทตัวประกอบเล็กๆ Perceval le Gallois (1978) จากนั้นกลายเป็นนักแสดงขาประจำ อาทิ The Aviator’s Wife (1981), The Green Ray (1986), A Tale of Winter (1992), Autumn Tale (1998) ฯลฯ
รับบท Delphine จู่ๆถูกแฟนหนุ่มบอกเลิกก่อนวันหยุดยาวฤดูร้อน ทำให้ชีวิตเคว้งคว้างเลื่อนลอย ไม่รู้จะทำอะไรต่อไปดี ปฏิเสธคำชักชวนครอบครัวที่กำลังจะไป Ireland ยินยอมตอบตกลงเพื่อนสาวเดินทางมายัง Cherbourg, Manche แต่เพียงไม่กี่วันก็หวนกลับกรุง Paris แล้วจัดทริปไป-กลับเทือกเขา La Plagne, Savoie จากนั้นเปลี่ยนบรรยากาศสู่ชายหาด Biarritz, Pyrénées-Atlantiques แล้วโชคชะตานำพาให้พบเจอใครบางคน ร่วมออกเดินทางชมพระอาทิตย์ตกยัง Saint-Jea de Luz, Pyrénées-Atlantiques
Delphine เป็นหญิงสาวที่มีโลกส่วนตัวค่อนข้างสูง มีความเรื่องมาก ละเอียดอ่อนไหว เวลาทำอะไรผิดพลาดก็มักโทษว่ากล่าวฉันยังไม่ดีพอ! ไม่ชอบรับประทานเนื้อสัตว์ (เป็นมังสวิรัติ) ไม่ชอบความวุ่นวาย (รักสันโดษ) ไม่ชอบผู้ชายเสนอตัวเข้ามา (ต้องการเป็นฝ่ายเข้าหาบุคคลที่ตนชื่นชอบ) นอกจากนี้ยังเชื่อในโหราศาสตร์ เฝ้ามองหาสิ่งสัญลักษณ์แห่งโชคชะตา (ด้วยเหตุนี้ทุกช็อตฉากจึงซุกซ่อนเร้นอะไรบางอย่างที่มีสีเขียว) พร่ำเพ้อว่าสักวันหนึ่งต้องได้พบเจอเจ้าชายในฝัน
ผมรู้สึกแปลกๆกับบทบาทของ Rivière คาบเกี่ยวระหว่างการแสดงและนักสัมภาษณ์ คือเวลาตัวละครเดินทางไปไหน ก็มักต้องพูดคุยสนทนา เปิดประเด็น แลกเปลี่ยนความครุ่นคิดเห็น (ในฐานะนักสัมภาษณ์) แต่เมื่ออยู่ตัวคนเดียว เปล่าเปลี่ยวหัวใจ หลายครั้งร่ำร้องไห้ แสดงสีหน้าท้อแท้สิ้นหวัง (นั่นคือบทบาทการแสดง)
แต่ถึงผมจะบอกว่าแปลก แต่ก็ต้องชมว่า Rivière ผสมผสานทั้งสองบทบาทออกมาได้อย่างเป็นธรรมชาติ สร้างภาพลักษณ์ตัวละครให้ดูอ่อนแอ ละเอียดอ่อนไหว ค่อยๆจมลงสู่ก้นเบื้อง ไม่ว่าจะเดินทางสู่แห่งหนไหนล้วนพบเจอแต่ความมืดมิด จนเมื่อจิตวิญญาณใกล้ถึงจุดตกต่ำสุด ก็ค้นพบบุคคลที่เป็นโชคชะตาฟ้าลิขิต
เกร็ด: Rivière เคยกำกับสารคดี En compagnie d’Eric Rohmer (2010) เกี่ยวกับการร่วมงาน ผกก. Rohmer เสร็จสิ้นก่อนเขาเสียชีวิตเพียงเดือนเดียวเท่านั้น!
ถ่ายภาพโดย Sophie Maintigneux (เกิดปี 1961) สัญชาติฝรั่งเศส หลังเรียนจบทำงานเป็นผู้ช่วยตากล้อง แล้วมีโอกาสร่วมงานผกก. Éric Rohmer เรื่อง The Green Ray (1986), Jean-Luc Godard เรื่อง King Lear (1987) ฯลฯ
ผกก. Rohmer ให้คำแนะนำกับ Maintigneux เพียงแค่พยายามถ่ายทำให้ออกมาดูเป็นธรรมชาติ และที่สำคัญคือต้องเก็บรายละเอียดให้ครบถ้วน (เพราะส่วนใหญ่ถ่ายทำเพียงเทคเดียวเท่านั้น) ด้วยเหตุนี้เลยจำต้องเลือกใช้ฟีล์ม 16mm เพราะตัวกล้องขนาดเล็ก มีความสะดวก รวดเร็ว สามารถหลบซุกซ่อน แอบถ่าย กลมกลืนไปกับสถานที่ต่างๆ … เห็นว่ามีทีมงานเพียงแค่ 4 คนเท่านั้น!
แม้หนังจะไม่สามารถมีลูกเล่นอะไรเวลาถ่ายทำยังสถานที่ที่มีผู้คนพลุกพร่าน แต่เมื่อไหร่ตัวละครอยู่เพียงลำพัง นั่นคือช่วงเวลาแห่ง ‘กวีภาพยนตร์’ ร้อยเรียงภาพทิวทัศน์ที่สามารถสะท้อนห้วงอารมณ์ ความรู้สึกภายใน เป็นการผสมผสานคลุกเคล้าระหว่างดราม่า (Drama) และสารคดี (Documentary) ได้อย่างน่าสนใจ … แต่ไม่ใช่ทุกคนจะชื่นชอบวิธีการดังกล่าว!
แซว: สำหรับคนช่างสังเกต น่าจะพบว่าแทบทุกช็อตฉากล้วนต้องมีอะไรสักอย่างที่เป็นสีเขียว!
เพื่อนสาวของ Delphine พยายามปลอบประโลมหลังเลิกแฟนหนุ่ม แล้วพูดแซวว่าไม่ลองให้รูปปั้นนี้คือชายในอุดมคติ มีความกำยำ บึกบึน กล้ามเนื้อแน่น พละกำลังแข็งแกร่ง แค่เพียงฝุ่นเยอะหน่อย … นี่คือรูปปั้นแกะสลัก Terrassier au travail (แปลว่า Navy at Work) ผลงานแกะสลักของ Alfred Boucher (1850-1934) ได้รับคำชมว่ามีความละม้ายคล้าย Michelangelesque ในลักษณะ ‘muscle and effort’ จัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์กัลลิเอรา (Palais Galliera) ณ กรุง Paris
เหตุผลการเลือกเปรียบเทียบกับรูปปั้นนี้ คงต้องการสื่อถึง ‘muscle and effort’ หยาดเหงื่อและแรงกายจะทำให้เราค้นพบคุณค่าของสิ่งที่กระทำ ก็เหมือนแฟนหนุ่ม/สาวที่หาได้ยากยิ่ง แต่เมื่อพบเจอจักทำให้เราตระหนักถึงคุณค่าแห่งรัก ทะนุบำรุงและเก็บรักษายั่งยืนนาน
ผมไม่รู้ว่านี่คือไพ่ทาโรต์หรืออะไรนะ? แต่ดูจากลักษณะพื้นหลังสีเขียว สามารถมองว่าเป็นสัญลักษณ์แห่งโชคชะตา (จะได้ยินเสียงเครื่องไวโอลินมอบสัมผัสสิ่งเหนือธรรมชาติ) และลักษณะคล้ายเส้นเชือกบิดเกลียว มีสองอันในทิศทางตรงกันข้าม อาจหมายถึงชีวิตที่เวียนวนวงกลม ผู้ให้-ผู้รับ ชาย-หญิงเติมเต็มกันและกัน
Béatrice Romand จาก Claire’s Knee (1970) ยังคงเป็นสาวที่เลือดร้อน ไม่ชอบครุ่นคิดทำความเข้าใจหัวอกผู้อื่น มารับเชิญในฉากสนทนายาวๆ (Long Take) แม้พูดคุยแต่ก็ดูเหมือนการสัมภาษณ์ เลือกมุมกล้องนี้ที่พบเห็นทั้งสองนั่งตำแหน่งทิศทางตั้งฉาก ฝ่ายหนึ่งสวมชุดสีแดง ขณะที่ Delphine แม้สวมเสื้อขาวแต่ด้านหลังมีผ้าสีเหลือง (ก็ถือว่าเป็นคนขั้วตรงข้าม) แสดงถึงความเห็นต่าง ไม่ลงรอย ฝั่งหนึ่งพยายามพูดความจริง แต่อีกฝั่งปฏิเสธยินยอมรับ (ภายหลังเลยแอบไปหลบร้องไห้อยู่ตรงบันได)
อีกสิ่งที่น่าสนใจของฉากนี้ก็คือสาวๆทั้งสี่ ต่างสวมชุดที่มีความแตกต่างครบแม่สี นอกจากแดง แสร้งว่าขาว(เหลือง) ยังมีเขียว (อ่อนน้อม พร้อมช่วยเหลือ) และดำ (เพิกเฉยไม่สนใจอะไร) ซึ่งสะท้อนถึงอุปนิสัยตัวละครได้อย่างชัดเจน
จากการสนทนาที่เพียงจะบอกว่า Delphine (เหมารวมถึง Marie Rivière เองด้วยนะครับ) เป็นมังสวิรัติ ไม่รับประทานเนื้อสัตว์ กลับขยับขยายถึงแนวคิดของ ‘self-awareness’ เรากินเนื้อสัตว์โดยปิดกั้นไม่สนใจวิธีการกว่าจะได้มันมา ต้องเลี้ยงดู ต้องเข่นฆ่า ทำลายชีวิตเพื่อนร่วมโลก … นี่ทำให้ผมระลึกถึง Pierrot le Fou (1965) ระหว่างที่ตัวละครของ Anna Karina รับฟังข่าวจากวิทยุ กล่าวถึงคนตายจากสงครามเวียดนาม
We know nothing about them. All they say is “115 killed.” It’s like photographs. They’ve always fascinated me. You see this frozen image of a guy with a caption underneath. Maybe he was a coward. Maybe he was a nice guy. But at the moment it was taken, no one can really say who he was, what he was thinking about. His wife? His mistress? The past? The future? Basketball? No one will ever know.
Marianne Renoir
แซว: ภาพยนตร์ของผกก. Rohmer แทบจะไม่เคยอ้างอิงถึงประเด็นการเมือง แต่แนวคิดนี้สามารถมองแบบอ้อมๆโลกได้เลยละ!
จากพงไพร Cherbourg สู่เทือกเขา La Plagne (ทิวเขา Alps) สู่ชายหาด Biarritz (อ่าว Bay of Biscay) ไม่ว่า Delphine จะออกเดินทางไปสถานที่แห่งหนไหน รายล้อมด้วยผู้คนมากมาย แต่เธอกลับรู้สึกโดดเดี่ยวเดียวดาย ไม่มีใครสักคนอยู่เคียงข้างกาย ถึงอย่างนั้นคราบน้ำตา หยาดเหงื่อ จักค่อยๆถูกคลื่นลมและสายน้ำพัดพาจนแห้งเหือด แทบไม่หลงเหลืออะไรในจิตวิญญาณ
ทั้งสามสถานที่จะมีการร้อยเรียงทิวทัศน์สวยๆ ใบไม้พริ้วไหว โขดหิน คลื่นพัดหาดทราย นำเสนอในลักษณะ ‘montage’ สร้างสัมผัสกวีภาพยนตร์ (ชวนให้ระลึกถึง La Collectionneuse (1967) อยู่เล็กๆ)
จู่ๆ Delphine เดินผ่านกลุ่มผู้ชรา กำลังพูดคุยสนทนาเกี่ยวกับนวนิยาย The Green Ray ของ Jules Verne ตามด้วยคำอธิบายปรากฎการณ์ โดยชายหนวดครึ้มที่มีภาพลักษณ์นักปราชญ์ … นี่มันลายเซ็นต์ของ French New Wave ที่ชัดเจนมากๆ ใครเคยรับชมหนังของผกก. Jean Luc Godard อย่าง Vivre Sa Vie (1962), La Chinoise (1967) ฯลฯ ต่างอัญเชิญผู้ทรงคุณวุฒิมาอธิบายบางสิ่งอย่าง
ท่ามกลางผู้คนมากมาย นอนอยู่เรียงรายอยู่เต็มชายหาด หญิงสาวชาว Swedish จู่ๆก็เข้ามานั่งข้างๆ พูดคุยทักทาย Delphine อย่างไม่หวงเนื้อหวงตัว ราวกับกับมีบางสิ่งอย่าง(สะพานด้านหลัง)เชื่อมโยงถึงกัน
หญิงสาวชาว Swedish ช่างมีความแตกต่างตรงกันข้ามกับ Delphine เป็นคนหาญกล้าบ้าบิ่น ชื่นชอบความท้าทาย มองหาประสบการณ์ชีวิตใหม่ๆ ไม่ปิดกั้นเรื่องทางเพศ เปลือยหน้าอกโดยไม่ละอายต่อกล้อง (ทีแรกผมแอบคาดหวังความสัมพันธ์ของทั้งคู่ พัฒนาสู่เลสเบี้ยนด้วยซ้ำนะ)
โดยไม่รับรู้ตัวหญิงสาวชาว Swedish คนนี้ สามารถเป็นแรงบันดาลใจ Delphine ให้หลังจากนี้กล้าที่เปิดใจให้ชายแปลกหน้า พบเจอที่สถานีรถไฟ … นี่มันช่างละม้ายคล้าย My Night at Maud’s (1969) หญิงสาวชื่อ Maud สามารถทำให้พระเอกเกิดความกล้าเข้าไปพูดคุยกับหญิงสาวที่แอบชื่นชอบ
ผมละขำกลิ้งการสนทนาของคู่นี้ เข้ากันดีอย่างเป็นปี่เป็นขลุ่ย (ส่วนอีกคู่ที่อยู่คนละฟากฝั่งก็นั่งรับฟังอย่างสงบเสงี่ยม เข้ากันได้ดี) ฝ่ายชายพยายามสอบถามสัญชาติฝ่ายหญิง แต่เธอพยายามบ่ายเบี่ยงไม่ให้คำตอบ บอกว่าเป็นเยอรมัน อังกฤษ สเปน ฯลฯ สะท้อนถึงความรักไม่มีสัญชาติ ซึ่งสามารถเหมารวมเรื่องอื่นๆเช่นเพศสภาพ สีผิว ศาสนา วัฒนธรรม เพราะมนุษย์ก็มนุษย์ สองมือสองเท้า สองตาสองหู มีรู … ไม่ต่างกัน
The Idiot (1868-69) โคตรวรรณกรรมอมตะ ประพันธ์โดย Fyodor Dostoevsky (1821-1881) หนึ่งในนักเขียนรัสเซียที่ยิ่งใหญ่ที่สุด, เรื่องราวของ Prince Lev Nikolayevich Myshkin ชายหนุ่มนิสัยดี จิตใจงดงาม เป็นคนเปิดกว้าง ใสซื่อบริสุทธิ์ ไร้เล่ห์เหลี่ยมมารยา ตรงไปตรงมา แต่ใครต่อใครกลับมองว่าเขาคือ ‘The Idiot’ โง่เง่าเต่าตุ่น ซื่อบื้อ สติปัญญาต่ำต้อย
นวนิยายเล่มนี้สามารถเปรียบเทียบถึง Delphine หญิงสาวที่ใครต่อใคร(รวมถึงผู้ชมหลายคน)มองว่าเป็นคนเรื่องมาก เจ้ากี้เจ้าการ โลกส่วนตัวสูง ไม่ต่างจาก ‘The Idiot’ แต่ตัวตนแท้จริงอาจไม่ได้เป็นอย่างว่าไป … ฟังดูคล้ายๆพล็อตของ La Collectionneuse (1967)
ผกก. Rohmer ปฏิเสธที่จะใช้ Visual Effect ในการทำ ‘The Green Ray’ แต่ช่วงระหว่างโปรดักชั่นก็ไม่สามารถบันทึกภาพแสงสีเขียวได้เลยสักครั้ง! ส่วนช็อตพบเห็นในหนังถ่ายทำ 7 เดือนให้หลังที่ Canary Islands บันทึกภาพโดย Philippe Demanrd แล้วนำมาแทรกใส่ด้วยเทคนิค ‘montage’ ตัดสลับไปมากับใบหน้านักแสดง ให้ความรู้สึกเหมือนพวกเขากำลังจับจ้องมองพระอาทิตย์ตกอยู่จริงๆ
ถ้าเอาตามคำอธิบายของหนัง นี่คือวินาทีที่ Delphine ตระหนักว่าตนเองกำลังจะประสบความโชคดี ก้าวข้ามผ่านช่วงเวลาอันเลวร้าย และชายคนนี้ก็คือบุคคลที่ติดตามหามาแสนนาน … Happy Ending
ตัดต่อโดย María Luisa García (เกิดปี 1956) นักแสดง/นักตัดต่อชาวฝรั่งเศส เคยร่วมงานผกก. Éric Rohmer เรื่อง The Aviator’s Wife (1981) และ The Green Ray (1986)
หนังดำเนินเรื่องผ่านมุมมองของ Delphine ในช่วงหยุดยาวฤดูร้อนตั้งแต่วันจันทร์ที่ 2 กรกฎาคม ถึงวันเสาร์ที่ 4 สิงหาคม (ตรงกับปีปฏิทิน ค.ศ. 1984) โดยจะปรากฎข้อความวันที่เขียนด้วยลายมือ ช่วงแรกๆยังดำเนินไปทีละวันละเหตุการณ์ จากนั้นจะค่อยๆกระโดดข้าม และพัฒนาสู่วันละหลายเหตุการณ์
แซว: แนวคิดเกี่ยวกับการนำเสนอวันเวลาด้วยปฏิทิน แบบเดียวกับภาพยนตร์ Claire’s Knee (1970) แต่เรื่องนั้นไม่เคยกระโดดข้ามเลยสักวันเดียว!
และแบบเดียวกับ Claire’s Knee (1970) ผมคงไม่ลงรายละเอียดเป็นวันๆ แต่จะขมวดรวมโดยแบ่งเป็นสถานที่ที่ Delphine เดินทางไปท่องเที่ยว (บางที่อยู่หลายวัน บางที่เช้าไปเย็นกลับก็มี)
- ก่อนถึงวันหยุดยาวฤดูร้อน ณ Paris
- Delphine ได้รับโทรศัพท์บอกเลิกจากแฟนหนุ่ม
- แวะเวียนไปหาครอบครัว นัดพบเจอเพื่อนฝูง และบางวันก็อยู่ตัวคนเดียว
- ติดตามเพื่อนเดินทางไป Cherbourg, Manche
- ช่วงแรกๆก็เหมือนไปกันด้วยดี แต่ Delphine ก็ค่อยๆปลีกตัวเองออกมา
- ซึ่งพอเพื่อนสาวตัดสินใจกลับ Paris ร่วมกับแฟนหนุ่ม เธอเลยขอติดตามกลับมาด้วย
- ทริปไป-กลับเทือกเขา La Plagne, Savoie
- ทีแรกตั้งใจจะไปค้างคืนยังห้องพักแฟนเก่า แต่สุดท้ายก็ตัดสินใจหวนกรุง Paris ไม่ต้องการหวนรำลึกความทรงจำอันชอกช้ำ
- ชายหาด Biarritz, Pyrénées-Atlantiques
- ระหว่างเตร็ดเตร่อยู่กรุง Paris ทำให้ Delphine พบเจอเพื่อนเก่า ชักชวนให้ไปพักอาศัยที่ห้องเช่าที่ Biarritz
- เปลี่ยนบรรยากาศมาเตร็ดเตร่อยู่ริมชายหาด
- พบเจอเพื่อนใหม่ชาว Swedish แรกๆเหมือนจะเข้ากันได้ แต่ก็มิอาจอดรนทนต่อนิสัยของอีกฝ่าย
- รับชมพระอาทิตย์ตกดินยัง Saint-Jea de Luz, Pyrénées-Atlantiques
- ณ สถานีรถไฟ ตั้งใจจะเดินทางกลับกรุง Paris พบเจอชายคนหนึ่งเหมือนจะตรงสเป็ค ชักชวนเธอเดินทางไป Saint-Jea de Luz และยามเย็นนั่งชมพระอาทิตย์ตกดิน
การเลือกปรากฎวันที่ดำเนินไป ผมครุ่นคิดว่าแฝงนัยยะแตกต่างจาก Claire’s Knee (1970) เหมือนต้องการให้ผู้ชม/ตัวละคร รับรู้สึกเหมือนการนับถอยหลัง
- ช่วงสัปดาห์แรกๆ คือวันหยุดยาวฤดูร้อนที่กำลังใกล้เข้ามา แต่ฉันยังไม่รู้ว่าจะไปไหน ทำอะไร กับใคร?
- และช่างสัปดาห์หลังๆใกล้สิ้นสุดวันหยุดยาว นี่ฉันยังไม่รู้สึกว่าได้พักผ่อน เต็มไปด้วยความโดดเดี่ยวอ้างว้าง ท้อแท้เกือบจะหมดสิ้นหวัง
เพลงประกอบโดย Jean-Louis Valéro (เกิดปี 1952) นักแต่งเพลงชาวฝรั่งเศส ร่ำเรียนการประพันธ์ที่ Conservatoire à rayonnement régional, Nice จากนั้นมีโอกาสร่วมงานขาประจำผกก. Éric Rohmer ตั้งแต่ Pauline at the Beach (1983), The Green Ray (1986) ฯ
โดยปกติแล้วภาพยนตร์ของผกก. Rohmer มักไม่ค่อยใช้เพลงประกอบ ส่วนใหญ่มีลักษณะ ‘diegetic music’ ดังขึ้นจากแหล่งกำเนิดเสียง เครื่องเล่น ผับบาร์ ฯ แต่ก็มีหลายครั้งให้นักแต่งเพลงเขียนท่วงทำนองสั้นๆ ที่มอบสัมผัสเหนือจริง เหนือธรรมชาติ เพื่อบอกว่าเหตุการณ์ดังกล่าวราวกับความเพ้อฝัน ไม่สามารถอธิบายด้วยเหตุผล หรือหลักวิทยาศาสตร์ใดๆ
สำหรับ The Green Ray (1986) ผกก. Rohmer ขอให้ Valéro เรียบเรียงบทเพลง Beethoven: Große Fuge, Op. 133 ให้กลายมาเป็น Main Theme บรรเลงโดยเครื่องสายเชลโล่ (สร้างบรรยากาศท้อแท้สิ้นหวัง รู้สึกเหมือนกำลังจะขาดใจตาย) และ String Quartet (เสียงไวโอลิน ช่วยสร้างบรรยากาศแห่งความหวัง) เพื่อมอบสัมผัสอันลึกลับของปรากฎการณ์แสงสีเขียว และเหตุการณ์ที่เกิดจากโชคชะตาฟ้าลิขิต นำพาให้ตัวละครกระทำสิ่งไม่เคยครุ่นคิดมาก่อน
ไหนๆแล้วขอกล่าวถึง Beethoven: Große Fuge, Op. 133 บทเพลงที่เคยถูก ‘condemned’ จากนักวิจารณ์ดนตรีสมัยนั้นว่ามีความบ้าคลั่ง เสียสติแตก เข้าไม่ถึง (inaccessible), เต็มไปด้วยความขัดแย้ง (filled with paradoxes), ราวกับวันสิ้นโลกาวินาศ (Armageddon) นั่นก็เพราะ Beethoven ประพันธ์เพลงนี้ในช่วงใกล้หูหนวกสนิท ค.ศ. 1825 มันจึงสะท้อนสภาวะทางอารมณ์ ความหวาดสะพรึงกลัว ท้อแท้สิ้นหวัง แล้วฉันจะยังมีชีวิตอยู่ต่อ ทำงานเกี่ยวกับบทเพลง(ที่ต้องใช้โสตประสาทหูฟัง)ได้อย่างไร?
the most problematic single work in Beethoven’s output and … doubtless in the entire literature of music
Joseph Kerman นักประวัติศาสตร์/วิจารณ์ดนตรี
ปัจจุบัน Große Fuge กลายเป็นหนึ่งในบทเพลงได้รับการยกย่องถึงความยอดเยี่ยมยิ่งใหญ่ “Beethoven’s greatest achievements” และเต็มไปด้วยเทคนิคที่ท้าทายทั้งนักไวโอลินและเชลโล่ โดยเฉพาะการประสานเสียงของวง String Quartet ต้องใช้ประสบการณ์อย่างมากในการบรรเลง
The Green Ray (1986) นำเสนอมุมมองเกี่ยวกับชีวิต บทสัมภาษณ์/พูดคุยสนทนาที่แสดงให้เห็นถึงความครุ่นคิดเห็นที่แตกต่าง บางคนรักสันโดษ ชอบอยู่กับครอบครัว เพื่อนสนิทมิตรสหาย ชาย-หญิงคนรัก, บางคนชอบความท้าทาย ท่องเที่ยวโลกกว้าง รับรู้จักเพื่อนใหม่ๆ ปล่อยตัวปล่อยใจอย่างไม่สนอะไรใคร, แต่สำหรับ Delphine เพราะเพิ่งเลิกราแฟนหนุ่ม เลยไม่รู้จะครุ่นคิดทำอะไรยังไง ชีวิตดำเนินไปอย่างเรื่อยเปื่อยไร้แก่นสาน เฝ้ารอคอยโชคชะตา เผื่อว่าฟ้าจะกำหนดมาให้พบเจอเจ้าชายขี่ม้าขาว
ถ้ามองเรื่องราวจากมุมมองของ Delphine ภาพยนตร์เรื่องนี้นำเสนอช่วงเวลาแห่งความเศร้าโศกเสียใจ (ภายหลังเลิกรากับแฟนหนุ่ม) พยายามออกเดินทางค้นหาเป้าหมายชีวิตใหม่ แต่กลับพลัดหลงจมดิ่งลงสู้ก้นเบื้องแห่งความมืดมิด จนเมื่อใกล้ถึงจุดตกต่ำสุดถึงพบเห็นแสงสีเขียวแห่งโชคชะตา การมาถึงของเจ้าชายในฝัน ฉุดกระชากลากเธอกลับขึ้นมาเบื้องบน พาก้าวข้ามช่วงเวลาอันเลวร้าย และพร้อมจะเริ่มต้นเช้าวันใหม่ ชีวิตใหม่ไปด้วยกัน
แสงสีเขียว, The Green Ray ไม่ได้แค่ปรากฎช่วงท้ายระหว่างพระอาทิตย์ลาลับขอบฟ้าเท่านั้นนะครับ แต่แทบทุกช็อตฉากล้วนมีอะไรสักอย่างที่สีเขียวซุกซ่อนเร้นไว้ ถือเป็นสัญลักษณ์ที่ทำให้ตัวละครเกิดความเปลี่ยนแปลง แต่นั่นไม่สิ่งที่เทพเทวดาฟ้าดินกำหนดไว้ ขึ้นอยู่กับตัวเราเองจะสังเกตเห็น หรือเฝ้ารอคอยให้โอกาสมาถึง (ซึ่งมันอาจจะไม่มาถึงก็เป็นได้)
นั่งเองทำให้ผมมองบทเรียนของ The Green Ray (1986) ไม่ใช่เรื่องราวของการเฝ้ารอคอยโชคชะตา แต่คือการไขว่คว้าหาโอกาสด้วยตนเอง … มีผู้ชายมากมายพานผ่านเข้ามาในชีวิตของ Delphine แต่เพราะความเรื่องมาก เจ้ากี้เจ้าการ ต้องให้ได้ตามสเป็ค (เป็นผู้หญิงประเภทที่ผมไม่ชอบเอาเสียเลยนะ!) เอาจริงๆไม่จำเป็นต้องรอคอยจนถึงคนสุดท้าย ก็แล้วแต่ตัวคุณเองจะเกิดความพึงพอใจกับใครไหน
การเลือกของ Delphine (และสาวๆทุกคนในหนัง) สะท้อนเสรีภาพสตรีนับตั้งแต่ช่วงหลังการปฏิวัติทางสังคม Mai ’68 ไม่ใช่แค่ฝรั่งเศส แต่ทั่วโลกกำลังมุ่งสู่ทิศทางเปิดกว้างเรื่องทางเพศ มีอิสระในการเลือกคู่ครองของตนเอง ไม่มีใครบีบบังคับ ชี้ชักนำความครุ่นคิด นั่นไม่ใช่โชคชะตาฟ้าลิขิต แต่คือสิทธิ เสรีภาพ ในความเป็นปัจเจกบุคคล
ผกก. Rohmer เลือกฉายหนังรอบปฐมทัศน์ผ่านโทรทัศน์ช่อง Canal Plus TV ที่ยินยอมจ่ายเงินสูงถึง 850,000 ฟรังก์ฝรั่งเศส (ประมาณ $130,000 เหรียญ!) ถือเป็นครั้งแรก(ไม่รู้ครั้งเดียวเลยหรือเปล่า) ก่อนติดตามด้วยเทศกาลหนังเมือง Venice และสัปดาห์ถัดมาถึงเข้าฉายในโรงภาพยนตร์
Television must become the friend of French cinema. Cinema here will survive only because of television. Without such an alliance we won’t be able to afford French films.
Éric Rohmer
เมื่อเข้าฉายเทศกาลหนังเมือง Venice เสียงตอบรับถือว่าดียอดเยี่ยม สามารถคว้ามาถึง 4 รางวัล (ปีนั้น Jean-Luc Godard เป็นหนึ่งคณะกรรมการ และ
- Golden Lion
- Golden Ciak
- FIPRESCI Prize
- Pasinette Award: Best Actress (Marie Rivière)
ด้วยทุนสร้าง 4 ล้านฟรังก์ (ประมาณ $615,000 เหรียญ) ยอดจำหน่ายตั๋วในฝรั่งเศสประมาณ 400,000+ ใบ มีรายงานรายรับ $3.4 ล้านเหรียญ (แต่ไม่รู้ว่าเฉพาะฝรั่งเศสหรือรวมทั่วโลก) ถือว่าประสบความสำเร็จอย่างงดงาม!
แม้ฉบับที่ผมรับชมยังเต็มไปด้วยริ้วรอย เม็ดฟีล์ม เสื่อมโทรมไปตามกาลเวลา แต่เพิ่งเห็นข่าวว่าได้รับการบูรณะแล้วเสร็จสิ้นเมื่อปี 2021 คุณภาพ 4K คงต้องรออีกสักพักถึงมีจัดจำหน่าย Blu-Ray หรือช่องทางออนไลน์
แม้วิธีการนำเสนอจะมีความแปลกประหลาด ผสมผสานคลุกเคล้าทุกสิ่งอย่างที่ผกก. Rohmer เคยสร้างสรรค์มา แต่ภาพรวมผมกลับรู้สึกค่อนข้างน่าเบื่อหน่าย ปรุงปั้นแต่ง เจ้ากี้เจ้าการเกินไป ขัดย้อนแย้งความตั้งใจที่ต้องการให้หนังออกมามีความเป็นธรรมชาติ … เหมือนตอนจบที่แสงสีเขียว (The Green Ray) ดูเฟคไปสักนิด!
ใครมีเพื่อนเพิ่งเลิกกับแฟน ตกอยู่ในสภาวะซึมเศร้า แนะนำให้หาภาพยนตร์เรื่องนี้มารับชม เชื่อว่าจักสร้างแรงบันดาลใจ บังเกิดแสงสว่างขึ้นภายใน ก้าวข้ามผ่านช่วงเวลาอันเลวร้าย และพร้อมเริ่มต้นเช้าวันใหม่
แนะนำเพิ่มเติมกับช่างภาพ ตากล้อง, นักข่าว ทำงานด้านการสัมภาษณ์, ชื่นชอบทิวทัศน์สวยๆ ท้องทะเล ชายหาด ขุนเขา ลำเนาไพร เก็บบรรยากาศฝรั่งเศสช่วงทศวรรษ 80s ฯลฯ
จัดเรต 15+ กับบรรยากาศเครียดๆ ภาพโป๊เปลือย นิสัยเอาแต่ใจ พฤติกรรมต่อต้านสังคม
Leave a Reply