L’Eclisse (1962) : Michelangelo Antonioni ♥♥♥♥
หนังรางวัล Jury Prize จากเทศกาลหนังเมือง Cannes ของผู้กำกับ Michelangelo Antonioni หน้าหนังคือหญิงสาวเลิกกับแฟนเก่า แล้วคบหากับชายหนุ่มคนใหม่ แต่ใจความเป็นหนังที่นำเสนอมุมมองของอดีต และอนาคต ในขณะช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านที่คลาสเคลื่อนกัน, นี่เป็นหนังที่ดูยาก และผู้กำกับพยายามบอกว่า ‘Modern love is rubbish.’
ไหนๆเสี่ยงกับหนังของ Michelangelo Antonioni แล้ว ก็เอากันให้ตายไปข้าง ปิดไตรภาค Alienation ของ Antonioni ที่มี L’Avventura (1960) และ La Notte (1961) ก่อนหน้านี้, Alienation ไม่ใช่ประเทศที่มีมนุษย์ต่างดาวนะครับ เป็นเรื่องราวของสิ่งมีชีวิต (มนุษย์) ที่มีความแปลกแยก แตกต่างจากฝูง (คนอื่น) คิดอะไร ทำอะไรไม่เหมือนคนอื่น ไม่ชอบสุงสิงกับใคร, ชื่อหนัง L’Eclisse แปลเป็นภาษาอังกฤษ Eclipse ที่แปลว่า คราส เชื่อว่าทุกคนคงรู้จัก สุริยคราส ซึ่งคำว่า ‘คราส’ จะหมายถึง การกลืนกิน ซ้อนทับ เหลื่อมล้ำ ไม่จำเป็นต้องเป็นพระอาทิตย์กับพระจันทร์อย่างเดียว แค่เส้นตรงสองเส้นลากเหลื่อมล้ำกัน ก็ถือว่า คราสกันแล้ว
Opening Credit เริ่มต้นจากการขีดเส้นตรงสีขาว จากนั้นเครดิตขึ้น เพลง L’eclisse Twist ของ Mina ดังขึ้นมา (เป็นเพลง Folk Pop) ตัวแทนของยุคสมัยใหม่ จากนั้นสักกลางเครดิตเสียงทรัมเป็ตแหลมปี๊ดดังขึ้น ตามด้วยเสียงทุบเปียโน เสมือนลางร้ายย่างกรายเข้ามา (เล่นเปลี่ยนเพลงกลางคันแบบไม่ทันได้ตั้งตัว) นี่เป็นเสียงเครื่องดนตรีคลาสสิก แทนด้วยยุคสมัยก่อน, เราสามารถคาดหวังสิ่งที่จะเกิดขึ้นในหนังได้เลยว่า เก่าvsใหม่, classic vs modern ฯ
เรื่องราวของหนังวนเวียนอยู่กับ ‘มุมมอง’ ซึ่งเป็นทัศนคติของผู้กำกับ ต่อโลกยุคสมัยเก่าและโลกยุคสมัยใหม่, หลังจาก Opening Credit หนังเริ่มเรื่องจากชายหนุ่มหญิงสาวคู่หนึ่ง กำลังจะเลิกกัน ไม่ทราบสาเหตุ ฝ่ายชายพยายามยื้อ แต่ฝ่ายหญิงก็ไม่พยายามสนใจ, ฉากนี้ทั้งฉากมองเปรียบเทียบได้กับโลกยุคเก่า คนรักเก่า ความรักเก่า ที่กำลังจะถูกทิ้งร้างโดยไม่มีสาเหตุ แค่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นและเป็นไปตามธรรมชาติ
สำหรับแฟนคนใหม่ของหญิงสาว เขาทำงานในตลาดหุ้น (Stock Market) ที่เราจะได้เห็นความวุ่นวาย รีบเร่ง หนวกหู การแข่งขัน ต่อสู้เพื่อเงินอย่างเอาเป็นเอาตาย ผู้คนมากมายหลงใหลคลั่งไคล้จนยึดติด นี่คือตัวแทนของโลกยุคใหม่ คนรักใหม่ ความรักใหม่, ผมเชื่อว่าหลายคนคงรู้สึกว่า ‘ให้มีแฟนแบบนี้นะเหรอ ไม่เอาหรอก’ แต่นางเอกในหนัง เธอตกหลุมรักแฟนใหม่ไม่ใช่เพราะความรู้สึก แต่เป็นสถานการณ์พาไป ตกหลุมรักเพราะเขาคือตัวแทนของปัจจุบันและอนาคต (นี่ไม่ใช่หนังรักโรแมนติกนะครับ มันจึงไม่จำเป็นต้องสมเหตุสมผลในแง่ความรู้สึกใดๆ)
หนังของ Antonioni ต้องมองลึกให้เห็นแก่นประมาณนี้ก่อนนะครับ ถึงจะพอมองเห็นสาสน์อื่นๆ ที่เป็นบริบทห้อมลอบประเด็นหลักได้ ผมจะชี้ให้เห็นคร่าวๆ แยกเป็นประเด็นๆแล้วกัน
Atomic Bomb ในช่วงเวลานั้น สงครามเย็นระหว่าง อเมริกา&ยุโรป vs รัสเซีย&ประเทศคอมมิวนิสต์ มีการขู่ ข่มกันระหว่างสองฝั่ง อ้างว่าประเทศตนสามารถคิดค้น สร้างระเบิดนิวเคลียร์สำเร็จ (ส่วนใหญ่ก็แค่ข่มนะครับ ไม่ได้มียิงถล่มกันจริงๆ) ซึ่งผู้กำกับก็ได้ใส่แนวคิดนี้ไว้ในหนังหลายฉากด้วย อาทิ หอคอยที่มีรูปทรงดอกเห็ด (นี่คล้ายกับระเบิดนิวเคลียร์มากๆ), โลกที่ดูอ้างว้างเหมือน wasteland, Stock Market Crash ที่แม้จะไม่ได้พูดออกมาตรงๆถึงสาเหตุ แต่คาดการณ์ได้ว่าอาจเกิดจาก การขู่ว่าทิ้ง Atomic Bomb ของประเทศคอมมิวนิสต์สักประเทศ ฯ (จากหน้าหนังสือพิมพ์ช่วงท้าย)
ทัศนคติต่อโลกยุคใหม่, เพื่อนหญิงของนางเอกคนหนึ่ง เป็นชาวเคนย่าที่อพยพมาอยู่อิตาลี แม้เธอชอบที่จะหวนระลึกถึงความทรงจำในอดีต แต่เมื่อเห็นนางเอกแต่งตัว พอกผิวสีดำ เต้นเลียนแบบชาวแอฟริกา นี่ทำให้เธอไม่ค่อยพอใจสักเท่าไหร่ ครั้งหนึ่งพูดเปรียบเปรย ‘ชาวเคนย่ามีสัก 10 คนที่เรียนอยู่ Oxford ที่เหลือก็ลิงประมาณ 6 ล้านตัว’
แฟนคนใหม่ของนางเอก ถูกขโมยรถ (Sportcar) ซิ่งตกคลอง ตอนเช้าไปเห็นกำลังกู้รถขึ้นจากน้ำ เขาไม่ได้เป็นห่วงหัวขโมยว่าจะเป็นตายร้ายดีอย่างไร แต่กลัวว่าเครื่องยนต์จะพังหรือมีรอยบุบจนขายไม่ได้
ไม่ว่ายุคสมัยไหน ความรุนแรงยังคงเป็นพื้นฐานของมนุษย์ กับฉากที่ดูไม่มีอะไรเลย ผมก็ไม่รู้เธอคิดอะไร ปล่อยลูกโป่ง และตะโกนให้เพื่อนสาวชาวเคนย่าใช้ปืนยิงลูกโป่ง (นัดเดียวโดนแตกด้วยนะ)
เหล่านี่คือทัศนคติที่เป็นมุมมองของผู้กำกับ ต่อโลกยุคใหม่นะครับ ที่พยายามลืมเลือนอดีต สนใจคนรอบข้างน้อยลง เห็นแก่ตัวมากขึ้น ขณะเดียวกันก็ยังคงแฝงความรุนแรง (ที่น่าจะไม่มีวันจางหายไปจากโลก)
มีอีกประเด็นที่จัดว่าเป็นการเสียดสีจิกกัดของผู้กำกับ นั่นคือความขัดแย้งระหว่างโลกยุคเก่ากับโลกยุคใหม่ อาทิ ลองสังเกตห้องแฟนเก่าและแฟนใหม่ของนางเอกดูนะครับ มีลักษณะตรงข้ามกับนัยยะที่แฝงในตัวละครนั้นโดยสิ้นเชิง, ห้องของแฟนเก่าเต็มไปด้วยภาพ Abstract เฟอร์นิเจอร์ยุค Post-Modern หรูหราใหม่เอี่ยม ขัดแย้งกับตัวตนของ Riccardo ที่เป็นคนล้าสมัยเก่าก่อน, ส่วนห้องของแฟนใหม่ มีรูปปั้นหินแกะสลักสมัยโรมัน เฟอร์นิเจอร์ไม้เก่าๆ และผนังที่ปูด้วยผ้าลายคลาสสิก ตรงข้ามกับความ Modern ของ Piero โดยสิ้นเชิง, นี่แสดงถึงทัศนคติหนึ่งของผู้กำกับที่จะบอกว่า การจะมีโลกยุคใหม่ได้ ก็ต้องมีพื้นฐานมาจากโลกยุคเก่า ไม่ใช่อยู่ดีๆจะมีได้ นี่เป็นประเด็นที่ผมมองเป็นการจิกกัดคนรุ่นใหม่ ที่คิดว่านี่คือโลกของพวกเขา โดยไม่สนว่าเคยมีอะไรมาก่อน
นำแสดงโดย Monica Vitti เธอเป็นนักแสดงคนเดียวที่เล่นครบ 3 เรื่องของไตรภาค Alienation (แน่นอนว่าเคยคบหา เป็นแฟนกับ Antonioni แต่ก็ไม่ได้แต่งงานกัน) สองเรื่องก่อนหน้าเธอเป็นนางรอง มาเรื่องนี้ขึ้นเป็นนางเอกแบบเต็มๆ, การแสดงก็ไม่ถือว่าโดดเด่นอะไรนัก ผู้ชมทั่วไปอาจรู้สึกเหมือนว่าเธอใช้ ‘อารมณ์’ เป็นสิ่งชักนำการกระทำมากกว่าการคิดของ ‘สมอง’ แต่ความจริงแล้ว การแสดงออกของเธอเป็นไปในบริบท สถานการณ์พาไป ไม่ใช่ความรู้สึกที่แท้จริง
Francisco Rabal รับบท Riccardo แฟนเก่า ตัวแทนของโลกยุคเก่า เขาดูค่อนข้างมีวัย (อายุมากกว่า Vitti) สีหน้าเคร่งเครียด เคร่งขรึม ดูเป็นคนจริงจัง และมีความคิดที่ยึดติดความเชื่อแบบเก่าๆ
Alain Delon รับบท Piero แฟนใหม่ ตัวแทนของโลกยุคใหม่ เขาดูค่อนข้างเด็ก (ตัวจริงอายุน้อยกว่า Vitti) ด้วยความหนุ่มแน่น อนาคตไกล ทำงานเป็น Broker คนกลางซื้อขายหุ้น สิ่งที่เขาสนใจไม่ใช่ความรัก แต่เป็นความสนุกสนานในการมีชีวิต เพลิดเพลิน ไร้เป้าหมาย
ตัวละครในหนังของ Antonioni จะเปรียบเสมือนหุ่น เคลื่อนไหวโดยไร้จิตวิญญาณ มีสถานการณ์ที่พาตัวละครไป ซึ่งทั้ง 3 ตัวละครหลักก็เป็นเช่นนั้น ไร้จิตวิญญาณ ไร้อารมณ์ ความรู้สึก จับต้องอะไรไม่ได้ทั้งนั้น พวกเขาและเธอเป็นตัวแทนของนามธรรมล้วนๆ หาได้มีตัวตนปรากฎอยู่ไม่
ถ่ายภาพโดย Gianni Di Venanzo นี่เป็นหนังที่เลือกมุมกล้องได้เจาะจงมากๆ มีความหมายแฝงอยู่ทุกพื้นหลัง ทุกการเคลื่อนไหว ถือว่าใช้สถานที่ถ่ายทำให้เกิดประโยคได้สูงสุด, ยกตัวอย่าง เช่น ประตูห้อง, เสา มีการแบ่งภาพออกเป็นส่วนๆ ที่สะท้อนอะไรๆซึ่งกันและกัน
ลองดูภาพนี้นะครับ ถือว่าเป็นภาพที่สวยที่สุดในหนัง
ผมเห็นฉากนี้นึกถึงหนังเรื่อง Wild Strawberries (1957) ขึ้นมาทันที ต้นไม้เป็นสัญลักษณ์ของความมั่นคง ยั่งยืน แต่กิ่งไม้เป็นสิ่งที่แตกมาจากต้นไม้ ถ้าเรามองว่าต้นไม้เป็นตัวแทนของโลก กิ่งไม้คือตัวแทนของชีวิตที่บอบบาง แตกหักได้ง่าย การเห็นกิ่งไม้มากมายในหนัง คงหมายถึงชีวิต ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ หรือรอยต่อระหว่างอดีตกับปัจจุบัน
ตัดต่อโดย Eraldo Da Roma ขาประจำของ Antonioni, หนังเรื่องนี้ดำเนินเรื่องในช่วงเวลาระหว่างหญิงสาวเลิกกับแฟนเก่า และคบหาแฟนใหม่ (หรือมองได้ว่า ขณะลาจากโลกยุคเก่า กำลังถูกโลกยุคใหม่กลืนกิน) เราจึงไม่เห็น ฉากแฟนเก่าเยอะนัก แค่ 20 นาทีแรกเท่านั้น หลังจากนั้นการตัดต่อจะใช้การสลับมุมมองระหว่าง นางเอกกับแฟนใหม่, ฝั่งนางเอกจะนำเสนอทัศนคติ แนวคิด ความเชื่อต่อโลกยุคใหม่, ส่วนแฟนใหม่ จะนำเสนอภาพของโลกยุคใหม่เลย ที่มีการแข่งขัน ความวุ่นวาย และตัวตนของคนยุคใหม่ หลังจากทั้งสองได้คบหากลายเป็นแฟนกัน เมื่อนั้นก็จะไม่มีฉากแยกจากกันอีกเลย
เพลงประกอบ Giovanni Fusco งานเพลงในหนังเรื่องนี้ไม่ใช่ร่วมสมัยนะครับ แต่มีการแบ่งแยกระหว่าง อดีตกับปัจจุบันอย่างชัดเจน, ผมสังเกตผู้กำกับ Antonioni ไม่ได้ชื่นชอบอะไรที่ Modern นัก เพลงส่วนใหญ่ที่ผมได้ยินมักจะเป็นคลาสสิก เปียโน Jazz ฯ ตัวแทนของโลกยุคเก่าเสียมากกว่า
แต่ถ้าเราจะนับ เสียงอันหนวกหูใน Stock Market เป็นเพลงประกอบด้วย นี่สามารถใช้เป็นเสียงแห่งอนาคตได้เช่นกัน
ผมสังเกตว่า ทัศนคติของ Antonioni ต่อโลกยุคอนาคตค่อนข้างไปทาง อคติ นะครับ เขาไม่ได้ชื่นชมอะไรที่เป็น Modern สักเท่าไหร่ ผมพยายามวิเคราะห์หาสาเหตุก็… ไม่ทราบเหมือนกัน หนังแทบจะไม่ได้พูดถึงเลย พยายามนำเสนอแต่มุมมอง ทัศนคติต่อโลกยุคใหม่เท่านั้น, นี่อาจจะสะท้อนความกลัวของ Antonioni ในช่วงสงครามเย็น ที่ไม่รู้อะไรจะเกิดขึ้นบ้าง ซึ่งเขาไม่สามารถปฏิเสธมันได้ เพราะอนาคต ตราบที่ยังมีชีวิตอยู่ก็ต้องใช้มันต่อไป
ช่วงท้ายมีช็อตหนึ่ง ที่ผมไปบังเอิญเห็นภาพการเปรียบเทียบแล้วสะดุดตามาก กับคนที่รู้จักภาพ Abstract ของ Piet Mondrian น่าจะพอคุ้นเคยอยู่บ้าง ดูภาพเปรียบเทียบกันก่อนนะครับ
ภาพมุมเงยเห็นท้องฟ้า และเสาเหล็กที่ไม่มีรูปร่าง ในหนังถ่ายช็อตนี้ดูไม่มีความหมายอะไรเลย แต่มีนักวิเคราะห์เปรียบเทียบว่า มีลักษณะคล้ายกับภาพวาดของ Piet Mondrian (รูปที่เลือกมาชื่อ Composition II in Red, Blue, and Yellow) จิตรกร Abstract ชาว Dutch ที่เป้าหมายของเขาคือ ‘การแปรสภาพของธรรมชาติ’ (denaturalization) [ภาพวาดที่ดูเป็นธรรมชาติ แต่ไม่ใช่ภาพวาดธรรมชาติ], เมื่อเปรียบเข้ากับหนัง นี่คือโครงสร้างของโลกยุคใหม่ ที่มนุษย์พึ่งพาธรรมชาติลดลง กำลังกลายสภาพเป็นสังคมเมืองที่ไม่ต้องพึ่งพาธรรมชาติอีกต่อไป
มีช็อตอื่นของหนังที่มีลักษณะเป็นเส้นๆ คล้ายภาพของ Piet Mondrain นี้อีกนะครับ เช่น ตอนจูบผ่านกระจก, มองผ่านหน้าต่าง ฯ ความหมายของฉากพวกนี้ก็แบบเดียวกัน แทนถึงโลกยุคใหม่
ไฮไลท์ของหนังอยู่ที่ 8 นาทีช่วงท้าย ก่อนหน้านี้นางเอกและแฟนใหม่ สัญญากันว่าจะพบกันอีกที่เดิมเวลาเดิม นี่ได้สร้างความคาดหวังให้กับผู้ชม ว่าคงมีพวกเขาปรากฎพบเจออีกครั้ง แต่ 8 นาทีนี้ มองหายังไงก็ไม่เจอ เหมือนพวกเขาผิดนัดและหายไปแล้ว, ว่ากันตามตรงสถานที่ที่พวกเขานัด ที่ไหน? ก็ไม่รู้ ซึ่งภาพ 8 นาทีนี้ วนเวียนถ่ายสิ่งที่เราเคยเห็นมาแล้วในหนังตลอดเรื่อง เหมือนเป็นการกำลังค้นหาว่าพวกเขาอยู่ที่ไหน แต่จนหมดเวลาก็หาไม่เจอ มีความเป็นไปได้ 3 อย่าง
1) พวกเขาไม่ได้พบกัน
2) พวกเขาพบกันในที่ที่เราไม่เห็นไม่รู้
3) การแปรสภาพ
กับคำตอบ 1) และ 2) สำหรับคนดูหนังไม่เป็นและต้องการคำตอบนะครับ ที่ผมสนใจคือ 3) การแปรสภาพ เรารู้มาว่า แฟนเก่าใหม่ ของนางเอก เป็นตัวแทนของโลกยุคสมัยเก่าใหม่ มันคงเป็นความบ้าไม่น้อยถ้าตอนจบ ให้ตัวละครนี้แปรสภาพ จากรูปร่างมนุษย์ที่จับต้องได้ เป็นนามธรรมที่แทนด้วย ‘โลกปัจจุบัน’ เลย (เพราะปัจจุบัน=อนาคต) สิ่งที่เราเห็นในภาพ 8 นาที ทั้งหมดจึงคือภาพพระเอกนะครับ
แล้วนางเอกละ เธอเป็นตัวแทนของอะไร? หลายคนอาจสงสัยมาตั้งแต่ต้น ผมลากมาเพื่อจะอธิบายตรงนี้ทีเดียวนะครับ, ตัวละครนี้แทนด้วย ‘ผู้ชม’ หรือ ‘สิ่งมีชีวิต (มนุษย์) ทุกคน’ การแปรสภาพของเธอ จึงไม่ได้แทนด้วยอะไรเลย มันก็คือตัวเรา (ผู้ชม) นี่แหละที่นั่งดูหนังเรื่องนี้อยู่ หรือมองได้คือ ‘การมีชีวิตอยู่’ ณ ขณะนี้นี่แหละ เปรียบทุกวินาที คือการได้พบกันของหญิงสาวกับแฟนใหม่
การมองแบบนี้ จะอธิบายเหตุผล 1) และ 2) ได้ด้วยนะครับ ว่าสรุปแล้วพวกเขาได้พบกันหรือเปล่า?
นี่ถือเป็นหนังที่มีความทะเยอทะยานที่สุดของ Antonioni (Martin Scorsese พูดไว้เช่นนั้น) ก็จริงนะครับ เพราะผู้กำกับต้องการสื่อสารกับคนดู และตอนจบเป็นอะไรที่ไม่ใช่เปิดกว้าง แต่เป็นการแปรสภาพจาก ภาพยนตร์สู่ตรรกะของโลกความจริง, น่าเสียดายที่คงจะมีคนไม่เยอะสามารถเข้าใจ มองเห็นถึงจุดนี้ได้
ส่วนตัวผมชอบ La Notte มากกว่านะครับ เพราะการแสดงของ Marcello Mastroianni กับ Jeanne Moreau สร้างความประทับใจให้ผมมากกว่า และเรื่องราวใกล้ตัวมากกว่า (ชีวิตคู่ แต่งงาน) กับหนังเรื่องนี้ แม้ทุกอย่างจะยิ่งใหญ่กว่า ประเด็นกว้างกว่า ท้าทายและบ้ากว่า แต่กลับไม่สามารถสร้างความประทับใจขณะดูให้ผมได้เท่าที่ควร (มาคิดได้หลังดู แต่ก็ไม่โดนใจเท่าไหร่), เหมือน Antonioni รีบไปสักนิดด้วยนะครับ (การตัดต่อช่วงหลังเร็วมาก แทนด้วยโลกยุคใหม่ที่อะไรก็เร็วๆ) นี่ผิดจากสไตล์ปกติของ Antonioni พอสมควร (ปกติหนังพี่แกจะเนิบๆ ช้าๆ น่าเบื่อ) เหตุผลนี้เข้าใจได้ แต่สัมผัสมันเพี้ยนไปสักหน่อย เหมือนไส้กรอกรมควันมากเกินไป กลิ่นเลยฉุนไปสักนิด ใครชอบแบบสุกๆคงปลื้ม ผมขอกลางๆ (Medium) พอนะครับ
เกร็ด: นี่เป็นหนังขาว-ดำ เรื่องสุดท้ายของ Antonioni
แนะนำกับนักปรัชญา นักเขียน/วรรณกรรม มีอะไรให้ค้นหา คิดวิเคราะห์ ตีความมากมาย, คนทำงานสายภาพยนตร์ มีเทคนิคน่าสนใจอยู่ช่วงท้าย, แฟนหนัง Alain Delon, Monica Vitti ไม่ควรพลาด
จัดเรต PG แต่เด็กอายุต่ำกว่า 15 คงดูไม่เข้าใจแน่
Leave a Reply