Naked Childhood (1968)
: Maurice Pialat ♥♥♥♥
(mini Review) เด็กชายวัย 10 ขวบ ถูกทอดทิ้งจากบิดา-มารดา อาศัยกับครอบครัวบุญธรรม แสดงพฤติกรรมเกเรก้าวร้าว ชอบใช้กำลังความรุนแรง จนต้องปรับเปลี่ยนผู้ดูแลไปเรื่อยๆ แต่ไม่มีใครขบครุ่นคิดบ้างเลยหรือไร เพราะเหตุใด ทำไมเด็กชายถึงมีนิสัยแบบนี้?, “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย”
Naked Childhood (1968) เป็นภาพยนตร์ที่มีความสมจริง (Realist) ใช้นักแสดงสมัครเล่น ได้รับเพียงคำแนะนำคร่าวๆไร้บทพูดท่องจำ ต้องครุ่นคิดคำสนทนาด้วยตนเอง ถ่ายทำด้วยกล้อง Hand-Held ส่วนใหญ่เป็น Long-Take ระยะ Long Shot ให้สัมผัสของการสังเกตแอบจับจ้องมอง (ผู้กำกับ Pialat ให้สัมภาษณ์ว่าได้รับอิทธิพลจากผลงานของ Lumière brothers) การตัดต่อก็ดำเนินไปเรื่อยๆไม่รู้วัน-เวลา และยังไม่ใช้เพลงประกอบใดๆนอกเสียจาก ‘diegetic music’
ด้วยวิธีการนำเสนอของหนัง ก็เพื่อให้ผู้ชมสามารถสังเกตจับจ้อง ครุ่นคิดพิจารณา ทำความเข้าใจเรื่องราวด้วย’มุมมอง’ของตัวคุณเอง ไร้ซึ่งจุดเริ่มต้น สาเหตุผล เพราะอะไรทำไมเด็กชายถึงกลายมาเป็นเช่นนี้? มันอาจเพราะจิตใจอันเลวทรามของตัวเขาเอง อิทธิพลจากพี่-น้อง ครอบครัว ครู-อาจารย์ เพื่อนฝูงรอบข้าง สภาพเศรษฐกิจ สังคม โลกใบนี้ หรืออะไรกันแน่?
นี่คือผลงานภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่องแรกแจ้งเกิดผู้กำกับชาวฝรั่งเศส Maurice Pialat (1925 – 2003) ทั้งๆที่ตัวเขาก็มิใช่เด็กกำพร้า แต่เคยให้สัมภาษณ์บอกว่า ‘รู้สึกเหมือนถูกทอดทิ้งทางใจ’ บิดา-มารดาไม่เคยสนใจใยดี เติบโตขึ้นด้วยการเลี้ยงดูของคุณยาย วาดฝันอยากเป็นจิตรกร สุดท้ายลงเอยเป็นผู้กำกับสารคดีขนาดสั้น L’Amour existe (1960) ทั้งชีวิตมีผลงานเพียง 10 เรื่อง ไฮไลท์คือ Sous le soleil de Satan (1987) คว้ารางวัล Palme d’Or ได้รับการยกย่องในสไตล์คล้ายผู้กำกับ John Cassavetes
ขอกล่าวถึง L’Amour existe (1960) สักนิดก่อนแล้วกัน! ผลงานภาพยนตร์สารคดีขนาดสั้นเรื่องแรกของผู้กำกับ Pialat เป็นแนว Essay Film สังเกตการณ์วิถีชีวิตผู้คน ผลกระทบจากการเจริญเติบโตก้าวกระโดดของสังคมเมือง ต่อชุมชนชานเมืองโดยรอบกรุง Paris ด้วยความยาวประมาณ 20 นาที เพลงประกอบโดย Georges Delerue ฉายเทศกาลหนังเมือง Venice คว้ารางวัล Prix Lumière (ของหนังสั้น) หารับชมได้ใน Youtube … ถึงฟังภาษาฝรั่งเศสไม่เข้าใจ แต่ด้วยลักษณะ ‘City Symphony’ ก็ยังพอดูรู้เรื่องกระมัง
L’Amour existe (1960) สร้างความประทับใจต่อผู้กำกับ François Truffaut อาสาจัดหาทุนสร้างภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่องแรก L’Enfance Nue (1968) ซึ่ง Pialat ก็ได้นำเสนอพล็อตที่แทบไม่แตกต่าง The 400 Blows (1959) ปรับเปลี่ยนจากสถานรับเลี้ยงเด็กกำพร้า มาเป็นครอบครัวบุญธรรม คงเพราะแบบนี้พวกเขาเลยกลายเป็นเพื่อนสนิทสนม ให้คำแนะนำ แลกเปลี่ยนความคิดเห็น ช่วยเหลือกันและกันอยู่บ่อยครั้ง … แต่ Pialat เคยให้สัมภาษณ์บอกว่าไม่ชอบผลงานของ Truffaut เพราะมีคำอธิบายโน่นนี่นั่นมากเกินไป
เรื่องราวของเด็กชาย François อายุสิบขวบ หลังจากอาศัยอยู่กับครอบครัว Joingnys นานถึง 4 ปี ถูกขอให้ย้ายออกเพราะพฤติกรรมก้าวร้าวรับไม่ได้ ขึ้นรถไฟมุ่งสู่บ้านหลังใหม่ที่มีสองตา-ยาย Thierrys ซึ่งระหว่างใช้ชีวิตอยู่ที่นี่เขาก็มีพฤติกรรมดีขึ้นจากการสนิทสนมกับคุณย่าทวด Nana นอนป่วยอยู่บนเตียง รักเอ็นดูเหมือนลูกในไส้แท้ๆ จนกระทั่งวันหนึ่งเธอเสียชีวิตจากอย่างสงบ สร้างความเจ็บปวดรวดร้าวฉาน หวนกลับใช้ความรุนแรง เกเรก้าวร้าวอีกครั้ง ครานี้ถูกส่งตัวเข้าสถานพินิจดัดสันดาน เขียนส่งจดหมายส่งกลับมาหาสองตา-ยาย สัญญาว่ากลับออกไปจะขอเป็นเด็กดี
แซว: ตั้งชื่อเด็กชายว่า François คงเป็นการอ้างอิง François Truffaut ตัวตั้งตัวตีให้ภาพยนตร์เรื่องนี้สำเร็จลุล่วงได้ด้วยดี
วิธีการทำงานของผู้กำกับ Pialat จะมีเพียงโครงเรื่อง/รายละเอียดคร่าวๆ สร้างสถานการณ์ขึ้นมา แล้วมอบอิสระแก่นักแสดง(สมัครเล่น) ในการครุ่นคิดสรรค์สร้างตัวละคร ให้ออกมาอย่างเป็นธรรมชาติ ยกตัวอย่างเด็กชาย Michel Terrazon รับบท François เอาจริงๆไม่ได้กำพร้ามาจากไหน ครอบครัวมีฐานะ อาศัยอยู่กับบิดา-มารดา เติบโตขึ้นโดยไร้ปัญหาขัดแย้งใดๆ นี่ถือว่าน่าสนใจมากๆ เพราะบุคคลสมบูรณ์พร้อมทุกสิ่งอย่างรับบทตัวละครแตกต่างขั้วตรงข้าม ปฏิกิริยาการแสดงออกของเขาจะเป็นอย่างไร?
ภาพยนตร์เรื่องนี้มีลักษณะของ Essay Film ด้วยโจทย์คำถาม ทำไมเด็กชายถึงมีอุปนิสัยเกเรก้าวร้าว เต็มไปด้วยความรุนแรง พฤติกรรมขัดแย้งต่อต้านสังคม? หนังไม่ได้นำเสนอคำตอบของปัญหาออกมาตรงๆ ผู้ชมต้องสังเกต ครุ่นคิดตาม ทำความเข้าใจด้วยตนเอง ซึ่งผมจะชี้แนะนำถึงสี่ห้าเหตุผลเท่าที่พอมองเห็น
บิดา-มารดาของ François คาดว่าคงหย่าร้าง เลยต่างไม่พร้อมรับเลี้ยงดูแลบุตรชาย มองว่าเป็นภาระของตนเอง เลยฝากฝัง/ทอดทิ้งไว้กับหน่วยงานที่คอยดูแลเด็กกำพร้า ไร้ซึ่งความรับผิดชอบต่อตนเอง(และสังคม)
ครอบครัว Joingnys เพราะความที่รับเลี้ยงบุตรสาวอยู่แล้ว ไม่ได้ต้องการรับเลี้ยงอีกคน เมื่อพบเห็นพฤติกรรมของเด็กชาย จึงจดบันทึกลงบัญชีหนังหมา (ที่รวบรวมความชั่วทั้งหมดของคน) สะสมความอึดอัดคับข้องใจ ไม่คิดจะยกโทษให้อภัย เงินค่าเลี้ยงดูแค่ไม่กี่ฟรังก์มิได้ขัดสนอะไร ผลักภาระรับผิดชอบให้ผู้อื่น เพราะทัศนคติไม่ใช่ลูกแท้ๆในไส้ เลยไม่ใช่หน้าที่จะคอยให้ความสนใจใยดี
เจ้าหน้าที่สถานกำพร้าหลังจากรับฟังเสียงบ่น ก็ไม่ได้ใคร่สนใจอะไรสักเท่าไหร่ เพียงมองหาครอบครัวบุญธรรมถัดไป ผลักไสภาระรับผิดชอบ หน้าที่ของตนเองมีเพียงควบคุมดูแล บริหารจัดการโน่นนี่นั่น ไม่ใช่หน้าที่ของฉันจะปรับปรุงอุปนิสัยของเด็กๆ รอคอยวันที่พวกเขาเติบใหญ่ อยากทำชั่วอะไรก็ปล่อยไปเท่านั้นเอง
สำหรับตา-ยาย Thierrys เพราะลูกๆหลานๆเติบใหญ่ออกจากบ้านไปหมดแล้ว เลยตัดสินใจรับเลี้ยงเด็กกำพร้า แต่แท้จริงแล้วพวกเขาล้วนสนเพียงตัวตนเอง ไม่เคยเผื่อแผ่ความรัก(ที่ยังนั่งตักกัน)ให้กับผู้อื่นใด ทั้งหมดที่ทำไปแค่เพียงสร้างภาพ รู้สึกเหมือนตนเองเป็นคนดี มีคุณธรรม ทำประโยชน์เพื่อสังคม แก้เบื่อคลายเหงาก็เท่านั้น
คุณย่าทวด แม้นอนป่วยอยู่บนเตียง รอคอยวันหมดสิ้นลมหายใจ แต่เพราะไม่มีอะไรหลงเหลือให้ยึดติด จึงสามารถมองทุกคนอย่างเสมอภาคเท่าเทียม สามารถสานสัมพันธ์กับ François ด้วยการเล่าเรื่องเก่าๆ หวนระลึกถึงอดีตเมื่อตอนยังสาวสวย แต่พอหมดสิ้นอายุไข นั่นสร้างความเจ็บปวดรวดร้าวฉาน แล้วฉันจะมีชีวิตอยู่ต่อได้อย่างไร โลกใบนี้ที่ไม่มีใครมอบความรักความอบอุ่นให้อีกแล้ว
เด็กชายในวัยกำลังเติบโต จำเป็นต้องมีเพื่อนเล่น พูดคุยสนุกสนาน ได้เพื่อนดีก็ดีตาม แต่ทั้งตอนอยู่บ้าน Joingnys และ Thierrys เหมือน François จะคบหาแต่เพื่อนเลวทั้งนั้น
- ตอนอยู่ครอบครัว Joingnys ร่วมกับผองเพื่อนกลั่นแกล้งแมวดำ โยนลงมาจากอพาร์ทเม้นท์ เหมือนจะรอดแต่ปางตาย ก็เหมือนชีวิตของเขาที่ถูกโยนทิ้ง ปล่อยให้ทนทุกข์ทรมานมิสามารถดิ้นรนเอาตัวรอดได้ด้วยตนเอง
- ตอนอยู่ครอบครัว Thierrys ไปโรงเรียนถูกเพื่อนร่วมชั้นกลั่นแกล้งชกต่อยตี จากนั้นสูบบุหรี่ ลักขโมยสิ่งข้าวของ ใช้ก้อนหิน/เศษเหล็กเขวี้ยงขว้างใส่รถ โชคร้ายตัวเล็กวิ่งช้าเลยถูกจับกุม
ปีที่หนังออกฉายมีเหตุประท้วงทางการเมือง Mai 68 แม้ความตั้งใจของผู้กำกับ Pialat จะมุ่งเน้นนำเสนอปัญหาของเด็กกำลังเติบโต สถานกำพร้า และทัศนคติของครอบครัวบุญธรรม แต่ก็มีผู้ชม/นักวิจารณ์ (ในฝรั่งเศส) อดไม่ได้จะเปรียบเทียบถึงปัญหาความขัดแย้งภายในประเทศ คืออีกหนึ่งอิทธิพลที่ส่งผลกระทบต่อครอบครัว ชนชั้นทำงาน (Working Class) สร้างบรรยากาศอันตึงเครียด สะสมความอึดอัดอั้นกับลูกๆหลานๆ เมื่อถึงจุดๆหนึ่งค่อยๆเริ่มปะทุระเบิด แสดงพฤติกรรมเกเรก้าวร้าว ปฏิเสธต่อต้านสังคมโดยสิ้นเชิง!
ชื่อหนัง L’Enfance Nue หรือ Naked Childhood สื่อความถึงพฤติกรรมแสดงออกของเด็กๆกำพร้า ล้วนสะท้อนบางสิ่งอย่างที่อยู่ภายในจิตใจของพวกเขาออกมา หรือคือการปลดเปลื้องเสื้อผ้าอาภรณ์ภายนอก พบเห็นเรือนร่างกายอันเปลือยเปล่า ให้ผู้ชมพบเห็นจิตวิญญาณที่หลบซ่อนเร้นอยู่ภายใน
สิ่งที่โดยส่วนตัวชื่นชอบสุดในภาพยนตร์เรื่องนี้ ก็คือไดเรคชั่นของผู้กำกับ Pialat ทำออกมาสมจริงจับต้องได้! ไม่หดหู่สิ้นหวังเหมือน Mouchette (1967) หรือ Rosetta (1999) ด้วยวิธีการที่ทำให้ผู้ชมสังเกต จับจ้องมอง พบเห็นสิ่งต่างๆ แล้วบังเกิดความเข้าใจด้วยมุมมองของคุณเอง
“ต้องดูให้ได้ก่อนตาย” มันอาจไม่มีเหตุผลว่าทำไมเด็กชายถึงแสดงความเกเรก้าวร้าวออกมา แต่การได้พบเห็น รับเรียนรู้ ขบครุ่นคิดวิเคราะห์ มันคือการเตรียมตัวไว้ให้พร้อม เพราะถ้านั่นคือลูกแท้ๆของคุณเอง คงไม่ผลักไสขับไล่ให้กลายเป็นภาระผู้อื่นเลี้ยง … ใช่ไหมละ!
ปัญหาเกี่ยวกับเด็กกำพร้า ขาดอบอุ่นจากครอบครัว เป็นสิ่งไม่มีวันหมดสิ้นไปอย่างแน่แท้! เพราะมนุษย์ต่างมีโลกทัศนคติ ความเห็นแก่ตัวเป็นที่ตั้ง เด็กคือภาระถ้าไม่ได้เกิดจากความตั้งใจ/ความพร้อมที่จะมี แต่จิตสามัญสำนึกของมนุษย์ สันชาตญาณเพศแม่ ควรต้องรู้จักการรับผิดชอบเลือดเนื้อเชื้อไขของตนเอง ชาติหน้าต่อไปถ้าถูกทิ้งขว้างกลายเป็นเด็กกำพร้าบ้าง จะมาสำนึกตัวก็เมื่อสายเกินไป
จัดเรต 15+ กับการกระทำอันก้าวร้าวของเด็กชาย และความเห็นแก่ตัวของผู้ใหญ่บางคน
Leave a Reply