L’Enfant (2005) : Dardenne brothers ♥♥♥♥
Jérémie Renier รับบทหัวขโมยกระจอก ได้เงินมา ใช้จ่ายไป ไม่เคยครุ่นคิดอะไรถึงอนาคต หรือสนศีลธรรมจรรยา หลังจากแฟนสาวคลอดลูก กำลังลุ่มร้อนต้องการเงิน เลยลักพาตัวทารกน้อยไปขาย, คว้ารางวัล Palme d’Or “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย”
ระหว่างรับชมภาพยนตร์เรื่องนี้ ผมไม่ได้ใคร่สนใจครุ่นคิดค้นหาสาเหตุผลของตัวละคร เพราะอะไร? ทำไม? ถึงได้กระทำการเฉกเช่นนั้น! แต่คือสองพี่น้อง Dardenne พวกเขาพานผ่านอะไรมาถึงได้รังสรรค์สร้างผลงานลักษณะนี้?
พฤติกรรมการแสดงออกของมนุษย์ล้วนต้องมีที่มาที่ไป ปัจจัยชาติกำเนิด โดยเฉพาะสภาพแวดล้อมรอบข้าง ครอบครัว สังคม ประเทศชาติ กาลเวลาค่อยๆเสี้ยมสอมขัดกล่อมเกลา ให้เรากลายเป็นคนในปัจจุบัน
การที่หนังไม่พยายามนำเสนอเบื้องหลังที่มาที่ไปของตัวละคร พบเห็นเพียงการกระทำแสดงออกที่สุดแสน wtf! มันจึงเป็นการบ่งบอกโดยอ้อมถึงอิทธิพลภายนอก ล้วนคือปัจจัยแวดล้อมรอบข้าง ครอบครัว สังคม และประเทศชาติ ซึ่งการจะทำความเข้าใจให้ได้นั้น อย่างแรกเลยต้องเรียนรู้จักประวัติศาสตร์ประเทศ Belgium (และสองพี่น้อง Dardenne) เสียก่อน
Jean-Pierre Dardenne (เกิดปี 1951) และ Luc Dardenne (เกิดปี 1954) สองพี่น้องเกิดที่ Seraing, Liège เมืองอุตสาหกรรมทางตอนใต้ประเทศ Belgium เขตพูดภาษาฝรั่งเศส ครอบครัวชนชั้นทำงาน, เมื่อปี 1960 พานพบเห็นการประท้วงต่อสู้เรียกร้องสิทธิพื้นฐานแรงงานที่แพร่ขยายไปทั่วยุโรป (Labour Movement) ต่อมาเริ่มพบเห็นความเสื่อมถดถอย เหมือง/โรงงานหลายแห่งเริ่มปิดกิจการ ผู้คนตกงานมากมาย
สองพี่น้องเมื่อเติบโตขึ้น Jean-Pierre ร่ำเรียนสาขาการแสดง ขณะที่ Luc ศึกษาปรัชญา ทั้งสองมีโอกาสพานพบเจอ/ร่ำเรียนวิชาจาก Armand Gatti ผู้กำกับชาวฝรั่งเศส (หนึ่งในรุ่น French New Wave ฝั่ง Left Bank) ร่วมงานกันถ่ายทำสารคดีที่เกี่ยวกับการประท้วง แล้วนำไปฉายระหว่างการประชุมแรงงาน
“We’d shoot strikes, and show the footage at union meetings…. Or we’d go into low-income housing projects and videotape people who’d done something with their lives, who’d been active in the Resistance or the labor movement. We were trying to create links between people through video”.
ช่วงทศวรรษ 80s ไม่ใช่แค่ประเทศ Belgium เท่านั้นที่อะไรๆต่างเสื่อมถดถอย สภาวะเศรษฐกิจโลก และการล่มสลายสหภาพโซเวียต ทำให้มุมมองของสองพี่น้อง Dardenne พบเห็นจุดจบโครงสร้างทางสังคม
“The working class is no longer the working class. It is no longer structured as it was at the beginning of the last century. We are truly at the end of an age, of industry, of what we have known for a hundred years”.
และประสบการณ์ทำสารคดีกว่า 80 เรื่อง ขัดเกลาให้สองพี่น้อง Dardenne รับเรียนรู้ว่า การบันทึกภาพเหตุการณ์ที่นำเสนอปัญหาสังคม กลุ่มคนประท้วง ไม่ได้เป็นประโยชน์ในทางปฏิบัติสักเท่าไหร่! สร้างภาพยนตร์เรื่องแต่ง สมมติเหตุการณ์ที่สะท้อนผลกระทบตามมาต่างหาก ยังจะก่อเกิดกระแสสังคมให้เกิดการปรับเปลี่ยนแก้ไข ดูมีสาระยิ่งเสียกว่า
ความคิดเห็นหนึ่งที่น่าสนใจของนักวิจารณ์ต่อผลงานสองพี่น้อง Dardenne แลดูคล้ายการแสดงออกทางความรู้สึก ‘Expression’ ต่อเหตุการณ์/สถานการณ์ที่พวกเขาประสบพานผ่าน ไม่ใช่ต้องการชี้แนะนำ หาหนทางแก้ไข แค่ว่าให้ผู้ชมพบเห็นแล้วครุ่นคิด สานต่อยอด สังคมเกิดการพัฒนา เพียงเท่านี้อะไรๆก็น่าจะเพียงพอให้อะไรๆสามารถปรับเปลี่ยนแปลงไป
“the Dardennes don’t offer a way out of the present artistic impasse; rather, their films are another expression, in an admittedly sophisticated form, of that same crisis”.
สำหรับ L’Enfant แลดูเป็นการต่อยอดผลงานก่อนหน้า Le fils (2002) [แปลว่า The Son] ที่มีเรื่องราวเกี่ยวกับพ่อสูญเสียบุตรชาย กำลังต้องเรียนรู้จักให้อภัยฆาตกร
Bruno (รับบทโดย Jérémie Renier) หัวขโมยกระจอก ใช้ชีวิตเอาตัวรอดไปวันๆอย่างไม่แคร์ยี่หร่าอะไร กระทั่งทำแฟนสาว Sonia (Déborah François) ตั้งครรภ์ คลอดบุตรชาย Johnny หลังจากรับรู้มูลค่าราคาของเด็กแรกเกิด ตัดสินใจนำทารกน้อยไปขาย พอนำเงินมาให้ภรรยาทำเอาเป็นลมล้มพับ ด้วยความรู้สึกผิดหรือเปล่าก็ไม่รู้ เขาจึงต้องเร่งรีบหาทางนำลูกน้อยกลับสู่อ้อมอกเธอ
Jérémie Renier (เกิดปี 1981) นักแสดงสัญชาติ Belgian เกิดที่ Brussels, ได้รับการค้นพบโดยสองพี่น้อง Dardenne ผลงานแรกแจ้งเกิด La Promesse (1996), ติดตามด้วย Brotherhood of the Wolf (2001), L’Enfant (2005), The Kid with a Bike (2011), My Way (2012) ฯ
รับบท Bruno ชายผู้ใช้ชีวิตไปวันๆอย่างไม่ครุ่นคิดอะไร โหยหาความสะดวกสบาย โก้หรูหรา อนาคตเรื่องของวันข้างหน้า ปัจจุบันเท่านั้นสำคัญที่สุด,
สำหรับเขา บุตรชาย ไม่ต่างกับวัตถุ/สิ่งของชิ้นหนึ่ง หาได้ตระหนักถึงคุณค่า หน้าที่ ความสำคัญของตนเองต่อเลือดเนื้อเชื้อไข เมื่อถูกยั่วเย้ายวนด้วยกองเงินกองทอง เลยตัดสินใจลักพาโดยไม่บอกภรรยา เมื่อหวนกลับมาพบเห็นสภาพเธอเป็นลมล้มพบ ถึงค่อยเริ่มครุ่นคิดตระหนักได้ แต่เหมือนก็ยังไม่สำนึกสาแก่ใจ คงไม่รู้จักด้วยซ้ำศีลธรรมจรรยาคืออะไร
ภาพลักษณ์ของ Renier ดูเหมือนวัยรุ่นที่ยังไม่เติบโตเป็นผู้ใหญ่เต็มตัว สายตาเต็มไปด้วยความใสซื่อไร้เดียงสา (เหมือนเด็กน้อย) ทรงผมยุ่งๆไร้ความรับผิดชอบต่อตนเอง แม้ไดเรคชั่นสองพี่น้อง Dardenne จะกลบเกลื่อนฝีมือการแสดงไปบางส่วน แต่ทุกท่วงท่าการขยับเคลื่อนไหว น้ำเสียงพูด แลดูไร้อารมณ์ความรู้สึก ทำแต่ละสิ่งอย่างไปด้วยสันชาติญาณต่อสู้เอาตัวรอดเท่านั้นเอง
คาดคิดว่าบทบาทนี้คงกลายเป็น Typecast ของ Renier โดยไม่ช้าที เพราะภาพลักษณ์พี่แกนั้นใช่เลย! แบบนี้แหละคือคนดีแต่พูด ไร้สามัญสำนึก/ความรับผิดชอบ ตัวละครประเภทไม่เอาอ่าว พึงพาอะไรไม่ค่อยได้เท่าไหร่
Déborah François (เกิดปี 1987) นักแสดงหญิงสัญชาติ Belgian เกิดที่ Rocourt, Liège ช่วงอายุ 10-16 มีโอกาสเรียนการแสดง แต่ไม่เคยครุ่นคิดเข้าวงการบันเทิงจริงจัง จนกระทั่งค้นพบเจอโดยสองพี่น้อง Dardenne จากตัวเลือก 150 คน แจ้งเกิดโด่งดังทันทีกับ L’Enfant (2005),
รับบท Sonia แฟนสาวของ Bruno ที่กำลังเห่อลูกชาย น่าจะรับรู้ความพึ่งพาไม่ได้ของสามี แต่เพราะรักมากเลยมิอาจทอดทิ้งไป กระทั่งเจอดีเข้ากับตนเองเมื่อถูกเขาลักพาตัวทารกน้อยไปขาย เป็นลมล้มพับหมดสติ จากนั้นพยายามเพิกเฉยไม่สนใจ แต่ภายในคงเต็มไปด้วยความโกรธเกลียดเคียดแค้น
เริ่มต้นมาการแสดงของ François ทำให้โลกที่เสื่อมทราม/ล่มสลาย แลดูสวยสดใส เอ่อล้นด้วยรอยยิ้ม สนุกสุขสำราญ เคมีเข้าขากับ Renier ได้อย่างสุดฟิน! แต่หลังจากตัวละครเป็นลมล้มพับ ถูกตัดบทกลายเป็นหุ่นเชิดไร้อารมณ์ ไม่แสดงออกด้วยปฏิกิริยาสีหน้าใดๆ แต่ถึงอย่างนั้นผู้ชมย่อมสามารถรับสัมผัสสิ่งที่อยู่ภายในจิตใจของเธอได้
François ทีแรกตั้งใจเล่นหนังเพียงเรื่องเดียวเลิก แต่หลังจากความสำเร็จล้นหลาม แถมมีโอกาสออกทัวร์ทั่วยุโรป เปิดมุมมองโลกทัศน์ตนเอง แถมได้รับการติดต่อเนื่องโดยทันทีกับ The Page Turner (2006) ไม่นานนักก็ตัดสินใจแน่วแน่ปักหลักเป็นนักแสดงอาชีพ ผลงานเด่นอื่นๆ อาทิ The First Day of the Rest of Your Life (2008), Populaire (2012), Maestro (2014) ฯ
“My life changed completely. Before ‘L’Enfant,’ I thought, ‘I’m this lucky girl who is going to make a movie, but that’s going to be the only movie I’ll ever make.’ I had never even been to Paris before, and all of a sudden I’m around the world with festivals. It was very different from high school”.
– Déborah François
เกร็ด: กฎหมายในประเทศ Belgium มีข้อกำหนดแรงงานเด็ก ห้ามใช้งานเกินกว่า … ชั่วโมงต่อวัน ด้วยเหตุนี้หนังทั้งเรื่องผู้กำกับให้สัมภาษณ์ว่ามีเด็กทารกเข้าฉากประมาณ 21 คน (+1 คือหุ่นปลอมสั่งจาก London)
ถ่ายภาพโดย Alain Marcoen สัญชาติ Belgian ขาประจำสองพี่น้อง Dardenne ตั้งแต่ La Promesse (1996),
งานภาพสไตล์สองพี่น้อง Dardenne รับอิทธิพล/ประสบการณ์จากถ่ายทำสารคดี ทีมงานเล็กๆประมาณ 10-20 คน จำลองสร้างสถานการณ์แล้วเก็บเกี่ยวทุกสิ่งอย่างบังเกิดขึ้น (แทบทั้งหมดเป็นการ ‘Improvised’) ใช้กล้อง Super 16 ที่มีขนาดเล็ก Hand-Held สามารถขยับเคลื่อนไหวติดตามนักแสดงโดยง่าย
สถานที่ถ่ายทำคือ Seraing, Liège ในอดีตเคยเป็นเมืองหลวงแห่งอุตสาหกรรมใหม่ แต่ไม่กี่ทศวรรษจากนั้นก็ค่อยๆตกต่ำเสื่อมทรามลง พบเห็นบรรยากาศรายล้อมด้วยความหมองหม่น ตึกร้าง ปรักหักพัง ห้องเช่าโกโรโกโส หาความน่าอยู่สุขสบายไม่ได้เลยสักนิด!
สองนักแสดงหลักของหนัง สังเกตว่าใส่เสื้อผ้าสีตัดกัน Bruno เสื้อสีเขียว, Sonia ชุดแดง กระโปรงลายดอก ซึ่งจะมีขณะหนึ่งพวกเขาใส่โค้ทราคาแพงลวดลายเดียวกัน สะท้อนความสัมพันธ์อันดี/คู่ชีวิต แต่หลังจากเกิดความขุ่นขัดแย้ง ชายหนุ่มขายต่อในราคาเพียง €1 ยูโร ขาดทุนย่อยยับกว่ารถเข็นเด็กเสียอีก … ดั่งสำนวน “ยามเมื่อรักน้ำต้มผักก็ว่าหวาน ยามชังน้ำตาลยังว่าขม”
ไดเรคชั่นตอน Bruno นำทารกน้อยไปขาย สถานที่คือบ้านร้าง/ปรักหักพัง (แลดูเสื่อมโทรมทรามที่สุดในหนัง) ผู้ชมจะไม่พบเห็นใบหน้าคาดตาผู้ซื้อ แค่ได้ยินเสียงพูดและ Sound Effect แค่นั้นก็เจ็บปวดรวดร้าวรานเกินห้ามใจ
มีฉากหนึ่งที่ผมชื่นชอบมากๆ หลังจากคืนทารกน้อยสู่อ้อมอกแม่ Bruno ต้องการคืนดีกับ Sonia เขาจึงทำการซ่อมรถเข็นด้วยการงอเหล็กดัด แต่บางสิ่งอย่างพังย่อยยับไปแล้วไม่สามารถแก้ไขได้ นั่นทำให้ราคาขายตอนหลังถูกกดต่ำ ขาดทุนย่อยยับเยิน!
ใครเคยรับชม Rosetta (1999) น่าจะเกิดความรำคาญกับเสียงบิดรถมอเตอร์ไซด์ ซึ่งเรื่องนี้ก็มีเหมือนกันตอนที่ Bruno และเด็กชาย ร่วมกันวิ่งราวฉกชิงแล้วบึ่งรถซิ่งหนี แต่ปรากฎว่าถูกไล่ล่าติดตามจากผู้ปรารถนาดี จี้ตามมาติดๆ ทำให้ต้องบิดแบบสนั่นหวั่นไหว ถึงกระนั้นคันนี้กลับขับได้ความเร็วจำกัด นี่น่าจะสื่อนัยยะถึง ‘กรรมติดตามทัน’ ไม่มีใครสามารถหลบหนีการกระทำของตนเองได้พ้น ต่อให้หลบซ่อนใต้น้ำ (ภายใต้จิตสำนึกตนเอง) สุดท้ายเมื่อหวนกลับขึ้นมา ก็ต้องเผชิญหน้ากับความหนาวเหน็บเย็นชา
การกอดกันกลมระหว่าง Bruno และ Sonia พบเห็นสองครั้ง
– กลางเรื่อง เมื่อขณะชีวิตกำลังมีสุขี
– ท้ายเรื่อง เมื่อต่างสูญเสียสิ้นทุกความปรารถนาดี
ถ้าเปรียบเทียบการแสดงออกของ Bruno คือ Id หรือสัญชาติญาณเอาตัวรอด, Sonia ถือได้ว่าเป็น Super Ego ส่วนของศีลธรรม มโนธรรมประจำใจ พวกเขาต่างอยู๋ฝั่งฝ่ายคนละข้าง แต่สามารถประสานเชื่อมเข้าหากันได้ด้วยบุตรชาย ตัวแทนของ Ego แม้ยังไม่สามารถสื่อสารพูดคุยอะไร แต่คือสัญลักษณ์ทำให้ Id และ Super Ego หันหน้าเข้าหากันสำเร็จ
ตัดต่อโดย Marie-Hélène Dozo สัญชาติ Belgian ขาประจำสองพี่น้อง Dardenne เช่นเดียวกัน
นอกจากอารัมบทนำเข้าสู่เรื่องราวโดย Sonia เมื่อออกติดตามหาจนค้นพบเจอ Bruno ถัดจากนั้นจะนำเสนอในมุมมองของเขาทั้งหมด
การดำเนินเรื่องด้วยความสมจริงลักษณะนี้ ทำให้ไม่สามารถแทรกใส่บทเพลงประกอบใดๆลงไป นอกจาก Johann Strauss II – The Blue Danube ได้ยินจากเปิดวิทยุ
ด้วยเหตุนี้ Sound Effect จึงถือว่ามีความโดดเด่นชัดในทุกๆห้วงกิริยาของตัวละคร เสียงฝีเท้า ลมหายใจ ขยับเคลื่อนไหว รายล้อมรอบด้วยรถรา สายน้ำ ลมพัด (ดูแล้วน่าจะเป็นการบันทึกสดๆ Sound-on-Film เลยนะ!)
L’Enfant แปลว่า The Child, มองผิวเผินสื่อถึง
– ทารกน้อยเพิ่งคลอด ถูกพ่อแท้ๆลักพาตัวไปขาย
– ขณะเดียวกันช่วงท้ายมีเด็กชายอีกคนร่วมขบวนการปล้น แล้วถูกตำรวจจับกุมตัวไว้ได้
แต่ผมมองว่านั่นก็แค่เปลือกนอกของหนังเท่านั้นนะครับ เพราะเรื่องราวนำเสนอผ่านมุมมอง Point-of-View ตัวละคร Bruno ชายหนุ่มอายุ 20 ปี ที่ยังมีความสดใสซื่อบริสุทธิ์เหมือน ‘เด็กน้อย’ ไม่สามารถครุ่นคิดเข้าใจว่าการขายทารกเป็นสิ่งผิด หรือก่ออาชญากรรมลักเล็กขโมยน้อยแล้วจะได้รับผลเช่นไร
มันอาจดูไม่น่าเป็นไปได้ที่ Bruno จะบริสุทธิ์ไร้เดียงสาต่อโลกขนาดนั้น แต่ผมมองตัวละครคือภาพสะท้อนที่สองพี่น้อง Dardenne เทียบแทนพ่อ หรือชนชั้นผู้นำ/หน่วยงานรัฐบาล ไม่สนว่าอะไรคือสิ่งถูก-ผิด ดี-ชั่ว ศีลธรรมจรรยา แค่เพียงผลประโยชน์ เงินทอง สนองความพึงพอใจส่วนตนเท่านั้นเอง
ขณะที่ทารกน้อยโดนพ่อลักขโมยไปขาย เทียบแทนด้วยประชาชน(หรือชาวเบลเยี่ยม) ถูกทอดทิ้งขว้างจากรัฐบาล ไม่เคยได้รับการเอาใจใส่เหลียวดูแล อัตราการตกงานในประเทศเบลเยี่ยมขณะนั้นคือ 13% แต่เฉพาะเขต Liege สูงถึง 18% นั่นไม่ใช่ตัวเลขยินยอมรับได้เลยสักนิด!
การครุ่นคิดได้ของ Bruno เกิดขึ้นหลังจากพานพบเห็น ‘ผลลัพท์’ สิ่งเกิดขึ้นตามมาจากการกระทำ แฟนสาวเป็นลมล้มพับต่อหน้าต่อตา, เพื่อนร่วมขบวนการถูกตำรวจจับกุมหนีเอาตัวรอดไม่ได้ พฤติกรรมแสดงออกหลังจากจึงเริ่มพบเห็นจิตสำนึก มโนธรรม ครุ่นคิดได้ว่าเป็นสิ่งไม่ถูกต้องเหมาะสมควร จำเป็นต้องรีบเร่งแก้ไข ไถ่โทษ ยินยอมรับผิดชอบการกระทำของตนเอง
การจะแก้ปัญหาที่ต้นสาเหตุจริงๆนั้น คงต้องเริ่มจากผู้ใหญ่ตัวเราเอง ทำอย่างไรถึงสามารถเป็นแบบอย่างที่ดีต่อลูกหลาน ไอ้นักการเมืองเxยๆนี่แหละตัวดีเลย สอนไม่ให้โกงแต่กลับกินเสียเอง ‘ว่าแต่เขาอิเหนาเป็นเอง’ คนรุ่นเราได้แค่อวยพรพร้อมสาปแช่งให้กรรมสนองกรรมเร็วๆ แต่บางทีก็หลงลืมไปว่าลูกหลานเด็กรุ่นถัดไปที่ยังอ่อนวัยไร้เดียงสา ซึมซับซาบความกะล่อนปลิ้นปล้นหลอกลวง ค่านิยมผิดๆของบรรดาหัวกะทิ พวกผู้นำประเทศไปเรียบร้อยแล้ว!
คำถามปลายเปิดตอนจบของหนัง การร่ำร้องไห้ของ Bruno (และ Sonia) เพราะอะไร?
– มุมมองทั่วไป, Bruno คงรู้สำนึกผิดต้องการกลับตัวกลับใจ ขณะที่ Sonia เวลาผ่านไปคงพร้อมยกโทษให้อภัย
– ความตั้งใจของสองผู้กำกับ พูดคุยกับนักแสดง ‘ต่างไม่รู้ว่ามาพบเจอกันครั้งนี้ทำไม?’
– มุมมองตรงกันข้าม, Sonia ต้องการบอกเลิกร้างรา อยากที่จะเริ่มต้นชีวิตใหม่ ไม่คิดหวนกลับมาหาเขาอีก ส่วน Bruno ก็ยินยอมรับเข้าใจ (ก็ไม่เชิงว่าเกิดสำนึกดี-ชั่ว) การกระทำของตนดังกล่าวไม่สามารถหวนคืนกลับไปแก้ไข
แซว: ฉากสุดท้ายของหนังถ่ายทำทั้งหมด 18 เทค (เลือกใช้เทคสุดท้าย)
เข้าฉายเทศกาลหนังเมือง Cannes คว้ารางวัล Palme d’Or ทำให้สองพี่น้อง Dardenne กลายเป็นผู้กำกับลำดับที่หก สามารถควบรางวัลดังกล่าว
ด้วยทุนสร้าง €3.6 ล้านยูโร ทำเงินได้ทั่วโลก $5.5 ล้านเหรียญ (แต่ก็ไม่รู้ทั้งโลกจริงหรือเปล่านะ) และหนังได้เป็นตัวแทนประเทศ Belgium ส่งเข้าชิงชัย Oscar: Best Foreign Language Film แต่ไม่ผ่านเข้ารอบใดๆ
วินาทีได้ยินตัวละครหนึ่งพูดถึง ‘ราคาของเด็กแรกเกิดสูงอยู่นะ’ จิตใจของผมตกวูบลงแทบตาตุ่ม เอาจริงดิ! แต่ก็แอบผิดหวังเล็กๆที่ทารกน้อยได้คืนมาง่ายไปหน่อย ถึงอย่างนั้นยังมีอีกไฮไลท์คือการยินยอมพ่ายแพ้ ก็ไม่รู้ว่าชายหนุ่มจะสำนึกได้มากน้อยแค่ไหน แต่นั่นก็เพียงพอให้หนังจบลงอย่างสวยงามทีเดียว
“ต้องดูให้ได้ก่อนตาย” ผู้ชมอาจไม่เข้าใจสาเหตุผลการกระทำของตัวละครก็ชั่ง ตระหนัก ครุ่นคิด สานต่อยอด ปลุกสร้างจิตสำนึกมโนธรรมกับตนเองให้ได้ นั่นเป็นสิ่งถูก-ผิด ดี-ชั่ว เหมาะสมประการใด ให้คำตอบใจตนเองก็พอนะครับ
จัดเรต 18+ กับอาชญากรรม ตัวละครไร้จิตสำนึกมโนธรรม และการขายทารกน้อยแลกเงิน
Leave a Reply