
The Wild Child (1970)
: François Truffaut ♥♥♥♥
ดัดแปลงจากเหตุการณ์จริงในประวัติศาสตร์ เรื่องราวของเด็กชายใช้ชีวิต 11-12 ขวบปีแรกยังป่าเขาลำเนาไพร ไม่เคยพบปะมนุษย์ พูดคุยสื่อสารกับใคร กระทั่งได้รับการพบตัว เลยถูกจับมาศึกษา และสอนให้รู้จักความศิวิไลซ์
กว่าที่มนุษย์จะเรียนรู้จักอารยธรรม ค้นพบความศิวิไลซ์ในชีวิตนั้น ล้วนต้องเริ่มจากการต่อสู้ดิ้นรน สะสมประสบการณ์ สืบสานส่งต่อองค์ความรู้ จนค่อยๆบังเกิดวิวัฒนาการทั้งร่างกาย-จิตใจ ความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยี พัฒนาจากเดรัจฉานสู่สัตว์ประเสริฐ ก็ไม่รู้หลายกี่พันหมื่นแสน หรืออาจนับล้านๆปี
The Wild Child (1970) คือภาพยนตร์ที่ย่นย่อประวัติศาสตร์ นำเสนอวิวัฒนาการมนุษย์ผ่านเด็กชายที่เคยใช้ชีวิตยังป่าเขาลำไนไพร ถูกจับมาสอนพูด-อ่าน-เขียน เรียนรู้การเข้าสังคม กว่าจะสามารถละทอดทิ้งสันชาตญาณ(สัตว์ป่า) จนมี’ความเป็นมนุษย์’ได้นั้น จำต้องใช้การฝึกฝน อดรนทน ค่อยเป็นค่อยไป แม้หนังความยาว 85 นาที แต่ก็คุ้มค่าทุกวินาทีในการรับชม
ผมเพิ่งมีโอกาสรับรู้จัก The Wild Child (1970) หลังการรับชม The Enigma of Kaspar Hauser (1974) ของผู้กำกับ Werner Herzog เพราะทั้งสองเรื่องมักถูกเปรียบเทียบ อ้างอิงถึงลักษณะ ‘feral child’ หรือ ‘wild child’ บุคคลที่มีช่วงชีวิตวัยเด็กไม่ได้เติบโตในหมู่มนุษย์ จีงมิอาจพูดคุยสื่อสาร ขาดพฤติกรรมการเข้าสังคม, พอดิบดีกำลังเขียนถึงผลงานของ François Truffaut และใกล้ถึงวันเด็ก จะพลาดโอกาสนี้ได้อย่างไร
ระหว่างรับชมหนังเพียงไม่ถึง 5 นาที ผมก็เกิดความรู้สึกประทับใจทั้งไดเรคชั่นที่ผิดแผกจาก ‘สไตล์ Truffaut’ แต่มีความบริสุทธิ์ใกล้เคียง ‘pure cinema’ และโดยเฉพาะการถ่ายภาพของ Néstor Almendros งดงามระดับวิจิตรศิลป์ (เป็นที่ถูกอกถูกใจ Terrence Malick เรียกตัวมาถ่ายทำ Days of Heaven (1978) และคว้ารางวัล Oscar: Best Cinematography โดยทันที!)
François Roland Truffaut (1932-84) นักวิจารณ์ ผู้กำกับภาพยนตร์ สัญชาติฝรั่งเศส เกิดที่ Paris ไม่รู้บิดาเป็นใคร มารดาแต่งงานสามีใหม่ Roland Truffaut แม้อนุญาตให้ใช้นามสกุลแต่ก็ไม่ได้รักเอ็นดูเหมือนลูกแท้ๆ ถูกปล่อยปละละเลย เคยอาศัยอยู่กับย่าสอนให้อ่านหนังสือ ฟังเพลง รับชมภาพยนตร์เรื่องแรก Paradis Perdu (1939) ของผู้กำกับ Abel Gance เริ่มเกิดความชื่นชอบหลงใหล พอเข้าสู่วัยรุ่นก็มักโดดเรียนแอบเข้าโรงหนัง (เพราะไม่มีเงินจ่ายค่าตั๋ว) ตั้งใจดูให้ได้วันละ 3 เรื่อง และอ่านหนังสือสัปดาห์ละ 3 เล่ม, ครั้งหนึ่งเคยลักขโมยเครื่องพิมพ์ดีดของพ่อเลี้ยง เลยถูกส่งไปสถานดัดสันดาน, ประมาณปี 1948 มีโอกาสพบเจอ André Bazin (1918 – 1958) ราวกับพ่อบุญธรรมคนที่สอง ให้ความช่วยเหลืออะไรหลายๆอย่าง ทั้งยังว่าจ้างทำงานนักวิจารณ์ นิตยสาร Cahiers du cinéma (ที่ Bazin ก่อตั้งขึ้น) ร่วมกันพัฒนาทฤษฎี Auteur Theory ส่งเสริมสนับสนุนให้สร้างหนังสั้น Une Visite (1955), และภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่องแรกแจ้งเกิด The 400 Blows (1959) กลายเป็นหนึ่งในผู้กำกับรุ่น French New Wave
Truffaut มีวัยเด็กขาดความรัก ความอบอุ่น เต็มไปด้วยอคติต่อมารดา ไม่เคยเหลียวแลหาเวลาดูแลเอาใจใส่ (สนเพียงเอาอกเอาใจสามีใหม่) ด้วยเหตุนี้จึงนิสัยเกเร เสเพล ต่อต้านสังคม ไม่ชมชอบอยู่ภายใต้กฎกรอบ ถูกควบคุมครอบงำของใคร ซึ่งหลังจากได้รับโอกาสเป็นผู้กำกับภาพยนตร์ ก็พยายามมองหาเรื่องราวที่สามารถสะท้อนตัวตนเองในช่วงเวลาดังกล่าว
ช่วงต้นทศวรรษ 60s, Truffaut เคยแสดงความสนใจอยากดัดแปลงบทละครเวที The Miracle Worker ของ William Gibson แต่สตูดิโอ United Artists เซ็นสัญญาผู้กำกับ Arthur Penn กลายเป็นภาพยนตร์ The Miracle Worker (1962) ได้เข้าชิง Oscar 5 สาขา คว้ามา 2 รางวัล Best Actress (Anne Bancroft) และ Best Supporting Actress (Patty Duke ครอบครองสถิตินักแสดงหญิงอายุน้อยสุดคว้ารางวัลนี้ยาวนานถึง 11 ปี จนการมาถึงของ Tatum O’Neal เรื่อง Paper Moon (1973))
ช่วงปี 1966, Truffaut ได้อ่านบทความของ Lucien Malson ตีพิมพ์ลงนิตยสาร Le Monde นำเสนอเรื่องราวของ ‘feral child’ จำนวน 52 คน ที่ถูกพบเจอ/จดบันทึกในประวัติศาสตร์ช่วงปี ค.ศ. 1344-1968 หนึ่งในนั้น Victor of Aveyron หรือ The Wild Boy of Aveyron ดึงดูดความสนใจเขาเป็นพิเศษ
เรื่องราวของ Victor of Aveyron มีการจดบันทึกในรายงานสองฉบับ
- An Historical Account of the Discovery and Education of a Savage Man, Or of the First Developments, Physical and Moral, of the Young Savage Caught in the Woods Near Aveyron, in the Year 1798 (1802)
- บันทึกการทดลอง/ศึกษาโดย Dr. Jean Marc Gaspard Itard (1774-1838) อายุรแพทย์ชาวฝรั่งเศส ทำงานอยู่ Institution Nationale des Sourds-Muets à Paris สำหรับคนหูหนวก/มีปัญหาด้านการได้ยิน ซึ่งเขาได้พยายามสร้างพัฒนาการเรียนรู้ให้ Victor of Aveyron แต่กลับเป็นไปอย่างเชื่องช้า จนผ่านมา 5 ปี ถือว่าไม่ค่อยประสบความสำเร็จสักเท่าไหร่
- https://archive.org/details/anhistoricalacc00itargoog/page/n6/mode/2up
- อีกฉบับคือรายงานเขียนโดยรัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทย (French Minister of the Interior) เมื่อปี ค.ศ. 1806 เพื่อของบประมาณรายปีเป็นทุนค่าเลี้ยงดูแล Victor ให้กับ Madame Guérin (แม่บ้านของ Dr. Itard) อาสารับดูแลแทน Dr. Itard ตลอดชีวิตที่เหลือ
พัฒนาบทร่วมกับ Jean Gruault (1924-2015) นักเขียนสัญชาติฝรั่งเศส เกิดที่ Fontenay-sous-Bois, เป็นอีกสมาชิก French New Wave รู้จักสนิทสนม Truffaut ตั้งแต่เข้าร่วมกลุ่ม Cinémathèque Française เริ่มมีชื่อเสียงจากพัฒนาบท Paris Belongs to Us (1960), และยังเป็นผู้ดัดแปลง Jules and Jim (1962) กับ Two English Girls (1971)
เรื่องราวเริ่มต้นฤดูร้อน ค.ศ. 1798, เด็กชายอายุ 11-12 ปี ได้รับการค้นพบบริเวณผืนป่า Aveyron ทางตอนใต้ของฝรั่งเศส หลังจากสามารถจับกุม ถูกส่งตัวไปยัง Institution Nationale des Sourds-Muets à Paris แต่เพราะไม่สามารถปรับตัวเข้ากับคนอื่นๆ Dr. Jean Itard (รับบทโดย François Truffaut) จึงอาสารับเลี้ยงดูแล พยายามสอนการพูด-อ่าน-เขียน เรียนรู้จักการเข้าสังคม ซึ่งต้องใช้ความอดทนอดกลั้นอย่างสูงกว่าจะสามารถสื่อสาร เกิดความเข้าใจ
หลังไม่สามารถหาบุคคลเหมาะสม Truffaut เลยตัดสินใจเล่นเป็น Dr. Jean Itard ด้วยตนเอง! (เป็นการแสดงหน้ากล้องครั้งแรกในชีวิต) เพราะครุ่นคิดว่าจะสามารถกำกับนักแสดงเด็กได้ง่ายกว่า โดยไม่ต้องเสียเวลาสื่อสารผ่านนักแสดง(ที่จะมารับบท Dr. Itard) ซึ่งบทบาทนี้เขายังมองว่าแตกต่างจากการแสดงทั่วไป ให้ความรู้สึกเหมือนการกำกับ(นักแสดง)จาก ‘หน้ากล้อง’ เสียมากกว่า
the impression not of having acted a role, but simply of having directed the film in front of the camera and not, as usual, from behind it.
François Truffaut
การเล่นเป็น Dr. Itard ทำให้ Truffaut เรียนรู้การเป็นผู้ใหญ่ เข้าใจหัวอกความเป็นบิดาที่คอยเป็นห่วงเป็นใย ดูแลเอาใจใส่บุตรของตนเอง ซึ่งก็คือนักแสดงเด็กที่เลือกมารับบท พบเห็นการเปลี่ยนแปลงทั้งในภาพยนตร์และชีวิตจริง นั่นเองทำให้เขาอุทิศภาพยนตร์เรื่องนี้ให้แก่ Jean-Pierre Léaud ระลึกถึงตอนสรรค์สร้าง The 400 Blows (1959) ตระหนักว่าตนเองได้ทำให้ชีวิตเด็กคนหนึ่งปรับเปลี่ยนแปลงไป
the decision to play Dr. Itard myself is a more complex choice than I believed at the time … this was the first time I identified myself with the adult, the father, to the extent that at the end of the editing, I dedicated the film to Jean-Pierre Léaud because this passage, this shift became perfectly clear to me.
เกร็ด: ก่อนหน้านี้ไม่นาน ค.ศ. 1968 นักสืบเอกชนได้ติดตามหาจนพบบิดาแท้ๆของ François Truffaut คือหมอฟันชาวยิวชื่อ Roland Levy แต่เขาตัดสินใจไม่ขอพบเจอหน้า ทั้งหมดนี้็ก็แค่สนองความอยากรู้อยากเห็นส่วนตัวเท่านั้น
ในหนังสืออัตชีวประวัติของ Truffaut วิเคราะห์เปรียบเทียบตัวละครในหนัง Dr. Itard (ที่ตนเองรับบท) สามารถเทียบแทนด้วย(พ่อบุญธรรม) André Bazin และเด็กชาย Victor ก็คือตัวเขาเองที่ในอดีตนิสัยดื้อรัน หัวขบถ เอาแต่ใจ ไม่ต่างจากสัตว์ป่า กว่าจะเติบโตกลายเป็นผู้ใหญ่ ต้องพานผ่านอะไรๆมาไม่น้อยทีเดียว!
ส่วนการสรรหาหานักแสดงรับบท Victor ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยสักนิด! Truffaut เคยพิจารณาเด็กปัญญาเลิศ (gifted child) หรือบุตรของคนมีชื่อเสียง (เพราะจะสามารถสื่อสารกับครอบครัวพวกเขาโดยง่าย) จนกระทั่งมาพบเจอ Jean-Pierre Cargol เด็กชายเร่ร่อน อาศัยอยู่กับกลุ่มชาวยิปซี มีศักดิ์เป็นหลานของนักกีตาร์ชื่อดัง Manitas de Plata
เนื่องจากตัวละคร Victor ไม่สามารถพูดออกเสียง มีเพียงปฏิกิริยาแสดงออก ร่างกายขยับเคลื่อนไหวตามสันชาตญาณ ซึ่งวิธีการกำกับของ Truffaut เพียงพูดบอกออกคำสั่งให้ทำโน่นนี่นั่น เดินเหมือนลิง วิ่งเหมือนสุนัข กระโดดโลดเต้น นอนกลิ้งเกลือกไปมา ฯลฯ ไม่จำเป็นที่เด็กชายต้องอ่าน/ท่องบท แต่งหน้าแต่งตัวเสร็จก็พร้อมเข้าฉาก ส่วนการบันทึกเสียงของ Dr. Itard ค่อยไปพากย์ทับเอาภายหลังถ่ายทำ
ที่ต้องชื่นชมเลยก็คือ ความเป็นธรรมชาติในการแสดงของ Cargol จริงอยู่บทบาทไม่ได้มีความสลับซ้อนอะไร แสดงออกตามอารมณ์ สันชาตญาณ แต่แค่การยินยอมปฏิบัติตามคำสั่ง เป็นหุ่นเชิดชักของผู้กำกับ Truffaut แล้วผลลัพท์ออกมาดูสมจริงจังขนาดนี้ มันน่าเหลือเชื่อ ไปค้นพบเจอเด็กคนนี้ได้อย่างไรกัน!
น่าเสียดายที่ Cargol ไม่ได้มีความสนใจด้านการแสดงเหมือน Jean-Pierre Léaud หลังเสร็จจาก The Wild Child (1970) มีผลงานอีกเพียงเรื่องเดียว Caravan to Vaccares (1974) แล้วก็ออกไปทำอย่างอื่นที่เจ้าตัวชื่นชอบหลงใหล
ถ่ายภาพโดย Néstor Almendros (1930-92) ตากล้องสัญชาติ Spanish เกิดที่ Barcelona แล้วหลบลี้หนีภัย (จากจอมพล Francisco Franco) มาอาศัยอยู่ประเทศ Cuba จากนั้นไปร่ำเรียนการถ่ายภาพยังกรุงโรม Centro Sperimentale di Cinematografia, หวนกลับมาถ่ายทำสารคดี Cuba Revolution (1959) พอถูกแบนห้ามฉายก็มุ่งสู่ Paris กลายเป็นขาประจำผู้กำกับรุ่น French New Wave ร่วมงาน François Truffaut ตั้งแต่ The Wild Child (1970), ผลงานเด่นอื่นๆ อาทิ Days of Heaven (1978) ** คว้า Oscar: Best Cinematography, Kramer vs. Kramer (1979), The Blue Lagoon (1980), Sophie’s Choice (1982) ฯ
งานภาพของ Almendros งดงามตราตรึงมากๆในช่วงแรกๆที่ถ่ายทำยังป่าเขาลำเนาไพร (ยังแว่นแคว้น Auvergne) ใช้เพียงแสงธรรมชาติระยิบระยับส่องผ่านใบไม้ ที่มีลำต้นสูงใหญ่, ซึ่งหลังจาก Victor ถูกจับนำกลับมากรุง Paris แทบทั้งนั้นล้วนเป็นฉากภายใน ขยับ-เคลื่อน-หมุน ให้ตัวละครอยู่ตำแหน่งกึ่งกลางภาพก็เพียงพอใช้ได้
ปล. ช็อตสวยๆเหล่านี้คือเหตุผลที่ผู้กำกับ Terrence Malick ต้องการตัว Néstor Almendros มาเป็นตากล้องถ่ายทำ Days of Heaven (1978)




ระหว่างการนำพาเด็กชายพบเจอจากป่า ขึ้นรถม้ามุ่งสู่ Paris ต้องพานผ่านธารน้ำเล็กๆสายนี้ ซึ่งจำต้องให้ผู้โดยสารลงจากรถ แล้วเดินข้ามสะพาน ส่วนขบวนรถก็จะวิ่งด้านล่างผ่านผืนน้ำ ซึ่งในบริบทของหนังเป็นการแบ่งชนชั้น มนุษย์(สัตว์ประเสริฐ)-สัตว์(เดรัจฉาน) อย่างชัดเจน!
แต่จู่ๆหลังจากรถม้าและทุกคนข้ามเสร็จ เด็กชายกลับวิ่งลงมาดื่มเลียน้ำตรงลำธาร สื่อถึงตัวตนที่มี ‘ความเป็นสัตว์’ แสดงออกเพียงเพื่อตอบสนองสันชาตญาณร่างกายเท่านั้น

เมื่อเด็กชายเดินทางมาถึง Institution Nationale des Sourds-Muets à Paris ก็ได้ถูกตรวจสอบโน่นนี่นั่น บันทึกรายละเอียดอย่างชี้ชัด ราวกับเขาเป็นวัตถุสิ่งข้าวของ แต่ช็อตน่าสนใจสุดคือขณะส่องกระจก ภาพสะท้อนตัวตน (ของ Truffaut) ทั้งยังสื่อได้ถึงมนุษย์ทุกคนล้วนต้องเคยเป็นแบบเด็กคนนี้ มีความป่าเถื่อนอย่างไร้เดียงสา จนกว่าจะได้ฝึกฝน เข้าใจวิถีชีวิต เรียนรู้จักความเป็นมนุษย์ ถึงสามารถอาศัยอยู่ร่วมกับผู้อื่น เติบโตเป็นผู้ใหญ่ในสังคม

หนึ่งในเทคนิคที่พบเห็นบ่อยครั้ง Iris Shot ห้อมล้อมภาพด้วยกรอบวงกลม ซึ่งจะมีทั้งขยาย-ย่อขนาด ถ้าเป็นหนังยุคก่อนหน้านี้มักเพื่อสร้างจุดสนใจ มุมมองที่อยากให้ผู้ชมจับจ้องสังเกตเห็น แต่ผู้กำกับ Truffaut ไม่แน่ใจว่าเป็นครั้งแรกๆเลยหรือเปล่า แฝงนัยยะถึงการค่อยๆถูกควบคุมครอบงำ บุคคลในภาพกำลังสูญเสียบางสิ่งอย่างไปชั่วนิรันดร์
ซึ่งหนังเรื่องนี้มักมีการใช้ Iris Shot กับภาพของเด็กชาย Victor ทุกๆครั้งที่จบแต่ละ Sequence เขาจะสูญเสียอิสรภาพ, ความเป็นตัวของตนเอง, สันชาตญาณ(ความเป็น)สัตว์, รวมถึงโอกาสที่จะได้หวนกลับไปอาศัยอยู่ตามป่าดงพงไพร

ทุกครั้งที่ได้ดื่มน้ำ Victor จะเหม่อมองออกนอกหน้าต่าง จับจ้องทิวทัศน์ เทือกเขา ป่าพงไพร นั่นคือสถานที่ที่เขาเคยอาศัยใช้ชีวิต จนกระทั่งถูกจับกุมคุมขังอยู่ยังสถานที่แห่งนี้ ในใจย่อมโหยหาอยากหวนกลับไป แต่หลังจากเรียนรู้อะไรๆมากมาย สามารถปรับตัวเข้ากับวิถีชีวิต สุดท้ายก็มิอาจละทอดทิ้งความสุขสบาย กลับกลายเป็นส่วนหนึ่งของสังคม หรือสิ่งที่คนเราเรียกว่ามี’ความเป็นมนุษย์’

เช่นเดียวกับทุกครั้งวันฝนตก (และค่ำคืนพระจันทร์เต็มดวง) Victor จะสูญเสียความเป็นมนุษย์ ออกไปกระโดดโลดเต้น ก้าวเดินสี่เท้าเหมือนสัตว์ป่า นั่นอาจเพราะธาราคือจิตวิญญาณแห่งชีวิต ความสุขสูงสุดที่เขาได้รับระหว่างยังอาศัยอยู่ตามป่าเขาลำเนาไพร

ฉากที่ถือเป็นไคลน์แม็กซ์ของหนัง คือการตั้งคำถามว่า Victor สามารถแยกแยะถูก-ผิด ชั่ว-ดี จากการกระทำที่ไร้ซี่งเหตุผลได้หรือไม่ ซี่งปฏิกิริยาต่อต้านหลังถูก Dr. Itard กำลังจะลงโทษจับขังห้องใต้บันไดโดยที่ตนเองไม่กระทำผิดใดๆ ผมถือว่ามีความยิ่งใหญ่เทียบเท่าลิงทุบกะโหลกศีรษะจาก 2001: A Space Odyssey (1968) และไดโนเสาร์มีเมตตาธรรม เรื่อง The Tree of Life (2011) เพราะสามารถสื่อถีงพัฒนาการ(ของ Victor)มาจนถีงจุดที่ค้นพบว่ามี ‘ความเป็นมนุษย์’

ช็อตสุดท้ายของหนัง หลังจาก Victor ตัดสินใจหวนกลับมาบ้าน Dr. Itard ขอให้ Madame Guérin พาเด็กชายขึ้นไปอาบน้ำเปลี่ยนเสื้อผ้า จบลงที่ขณะก้าวเดินขึ้นบันได ซึ่งสะท้อนถึงการเลื่อนวิทยฐานะ เด็กชายจากเคยเป็นเหมือนสัตวป่า/เดรัจฉาน ก้าวขึ้นสู่จุดสูงสุดห่วงโซ่อาหาร มีความเป็นมนุษย์/สัตว์ประเสริฐผู้สูงส่ง
จะว่าไปทิศทางเรื่องราวของ The 400 Blows (1959) ตรงกันข้ามกับ The Wild Child (1970), เรื่องแรกเด็กชายสูญเสียครอบครัว ไม่รู้จะดำเนินชีวิตต่อไปเช่นไร เรื่องหลังจากคนป่าได้พบเจอครอบครัวใหม่ และอาจมีอนาคตที่สดใส

ตัดต่อโดย Agnès Guillemot (1931-2005) สัญชาติฝรั่งเศส ขาประจำผู้กำกับ Jean-Luc Godard ตั้งแต่ A Woman Is a Woman (1961), และร่วมงาน François Truffaut ถีงสี่ครั้งเริ่มจาก The Wild Child (1970)
หนังดำเนินเรื่องโดยมี Victor คือจุดศูนย์กลาง เริ่มตั้งแต่การถูกพบเจอ จับกุมตัว ส่งมาสถาบันคนหูหนวก และได้รับการเลี้ยงดูแลจาก Dr. Jean Itard ให้ค่อยๆเรียนรู้ สามารถสื่อสาร และค้นพบว่ามีสามัญสำนึก ความเป็นมนุษย์อยู่ในตัว
- องก์หนึ่ง พบเจอตัวเด็กชายอาศัยอยู่ในป่าใหญ่ ถูกไล่ล่า และจับกุมตัว
- องก์สอง ช่วงระหว่างอาศัยอยู่ Institution Nationale des Sourds-Muets à Paris กลายเป็นหนูทดลอง และสิ่งใคร่รู้ใคร่เห็นของชาวฝรั่งเศส
- องก์สาม ย้ายมาอาศัยอยู่กับ Dr. Itard
- เรียนรู้พื้นฐานชีวิต การยืน เดิน แต่งตัว รับประทานอาหาร
- พบปะผู้อื่น เรียนรู้จักความบันเทิง การเล่นสนุกสนาม และสิ่งสามารถตอบสนองความพึงพอใจ
- ฝึกฝนการแยกแยะเสียง สิ่งของ ตัวอักษร
- การทดสอบ ‘ความเป็นมนุษย์’ ด้วยการกระทำสิ่งไม่ถูกต้อง ไร้เหตุผล
- องก์สี่ การตัดสินใจของ Victor จะหนีกลับป่าหรือหวนกลับมาเป็นส่วนหนึ่งของสังคมมนุษย์
เอาจริงๆ ถ้าตัดทิ้งเสียงสนทนาและคำบรรยาย(สำหรับจดบันทึกการทดลอง)ของ Dr. Jean Itard (ซึ่งถือเป็นลายเซ็นต์ ‘สไตล์ Truffaut’) ภาพยนตร์เรื่องนี้สามารถดูเป็นหนังเงียบ ด้วยการเทียบแทนตนเองเป็น Victor ที่ไม่มีความเข้าใจในการพูดคุยของใครๆ แต่เขาจักค่อยๆเรียนรู้ ปรับตัว จนในที่สุดก็สื่อสารทำความเข้าใจ(ด้วยภาษากาย) … แต่จะสามารถธำรงชีพรอดในสังคมได้ด้วยตนเองไหม นั่นเป็นอีกประเด็นนึง!
ระหว่างที่ Victor ยังอาศัยอยู่ในผืนป่าใหญ่ ก็จะได้ยินเพียงเสียงสายลม นกร้อง Sound Effect ของธรรมชาติ แต่เมื่อถูกจับนำเข้ามาอาศัยอยู่ในเมือง จักได้ยินบทเพลงของ Antonio Vivaldi เท่าที่ผมคุ้นหูมีอยู่สองบทเพลง เริ่มจาก Concerto in C Major for Mandolin, Strings and Continuo, RV 425 ซึ่งโดดเด่นจากการใช้เครื่องดนตรี Mandolin โดยปกตินั้นมี 3 ท่อน แต่ผมได้ยินในหนังแค่เพียง 2 ท่อนเท่านั้น
I. Allegro เป็นท่อนที่เน้นความร่าเริง สนุกหรรษา มักได้ยินขณะ Victor ประสบความสำเร็จในการเรียนรู้ ปรับเปลี่ยนแปลง เกิดความเข้าใจบางสิ่งอย่างได้ด้วยตนเอง
II. Largo ท่วงทำนองอันเชื่องช้า วาบหวิว แสดงถึงความเจ็บปวดรวดร้าว นั่นคือ Victor ยังไม่สามารถทำบางสิ่งอย่างได้สำเร็จ กำลังถูกลงโทษทัณฑ์ ไม่พึงพอใจสิ่งบังเกิดขึ้นขณะนั้น
และทุกครั้งเวลา Victor เหม่อมองออกไปนอกหน้าต่างระหว่างกำลังดื่มน้ำ ราวกับเขาโหยหาถึงป่าพงไพร สถานที่เคยอาศัยใช้ชีวิต ซึ่งจะได้ยินเสียง Piccolo อันโหยหวยจากบทเพลง Concerto for Piccolo and Strings in C Major RV 443 เต็มไปด้วยความห่วงหาอาลัย อยากหวนกลับไปแต่ไม่รู้จะทำได้อย่างไร ผืนป่าแห่งนั้นมันช่างไกลเสียเหลือเกิน
ความสนใจของ Truffaut ต่อเรื่องราวของ Victor of Aveyron สามารถเปรียบเทียบแทนถีงตัวตน/ช่วงเวลาวัยเด็ก(ของ Truffaut)ที่มีนิสัยก้าวร้าว หัวขบถ ไม่ชอบทำตัวอยู่ในกฎกรอบ หรือถูกบีบบังคับ เหมือนสัตว์ป่าโหยหาอิสรภาพ แต่หลังจากเรียนรู้จักชีวิต เข้าถีงอารยธรรม สิ่งศิวิไลซ์ทั้งหลายในสังคม จีงค่อยๆยินยอมรับ ปรับตัว เติบโตเป็นผู้ใหญ่ และค้นพบ’ความเป็นมนุษย์’เพิ่มขี้นมา
สิ่งที่เป็นประเด็นคำถามของหนัง ระหว่างใช้ชีวิตตามสันชาตญาณ ด้วยการอาศัยอยู่กับธรรมชาติ vs. เรียนรู้ ฝีกฝน ปรับตัวเข้าสังคม ใช้ชีวิตบนความเจริญของอารยธรรมมนุษย์ แบบไหนคือสิ่งเหมาะสมกับตัวเรามากกว่า?
คำตอบของ Truffaut คือการที่ Victor หลังหลบหนีออกจากบ้าน ตัดสินใจหวนกลับคืนมาด้วยตนเอง นั่นถือเป็นการละทอดทิ้งสันชาตญาณ (ของสัตว์เดรัจฉาน) ตระหนักว่าการอยู่ร่วมกับผู้อื่น (ของสัตว์ประเสริฐ) ในหมู่มนุษย์ด้วยกัน ความศิวิไลซ์เป็นสิ่งสามารถสร้างความพีงพอใจได้มากกว่า
น่าเสียดายที่เหตุการณ์จริงหลังจากนี้ Victor of Aveyron แม้ได้รับการดูแลจาก Dr. Jean Itard ยาวนานถีง 5 ปี กลับไม่สามารถพูดคุยสื่อสาร ค้นพบความก้าวหน้าทางสติปัญญา สร้างความท้อแท้ผิดหวัง หมดสิ้นความสนใจ Madame Guérin เลยอาสารับเลี้ยงบุตรบุญธรรม ว่ากันว่าก็อยู่แค่ในบ้าน ไม่ได้ออกไปทำงาน หรือแต่งงานกับใคร กระทั่งเสียชีวิตเมื่อปี ค.ศ. 1828 (อายุประมาณ 40 ขวบปี)
The Wild Child (1970) สร้างขี้นในยุคสมัยบุปผาชน (flower child) คนรุ่นใหม่/ชาวฮิปปี้ ต่างมีค่านิยมชมชอบแนวคิดคนเถื่อนใจธรรม (noble savage) มากกว่าการมีอารยธรรมแล้วต้องถูกควบคุมครอบงำ จำกัดอิสรภาพโดยบริบททางสังคม ซี่งคำตอบของหนังเรื่องนี้สะท้อนความคิดเห็น ทัศนคติส่วนตัวของ Truffaut ไม่เห็นด้วยกับอิสรภาพอันไร้ขอบเขต เฉกเช่นนั้นแล้วมนุษย์แตกต่างจากเดรัจฉานเช่นไรกัน?
เมื่อตอนออกฉาย The Wild Child (1970) ประสบความสำเร็จทั้งรายรับและเสียงวิจารณ์ กลายเป็นหนึ่งในผลงานยอดเยี่ยมที่สุดของ Truffaut โดยเฉพาะนักวิจารณ์ Roger Ebert ให้คะแนนเต็มสี่ดาว พร้อมชื่นชมในความเป็นขั้นเป็นตอน ของการนำเสนอกระบวนการเรียนรู้ในระดับพื้นฐาน (education at its most fundamental level)
it is an intellectually cleansing experience to watch this intelligent and hopeful film.
Roger Ebert
อิทธิพลของ The Wild Child (1970) จุดกระแสสังคมในฝรั่งเศส โดยเฉพาะด้านการศึกษา และการดูแลเด็กพิเศษ/คนพิการของหน่วยงานภาครัฐ นอกจากนี้ยังมีการเชื้อเชิญ Truffaut ออกรายการวิทยุ โทรทัศน์ สัมภาษณ์สอบถามความคิดเห็น ได้รับจดหมายจากแฟนๆ ล้วนต้องการแลกเปลี่ยน/เล่าประสบการณ์ที่พวกเขาเคยประสบพบเจอกับตนเอง
แม้ผมจะเต็มไปด้วยอคติกับผลงานส่วนใหญ่ของ François Truffaut แต่ไม่ใช่กับ The Wild Child (1970) ที่นำเสนอความใคร่อยากรู้อยากเห็น วิวัฒนาการเติบโต และวินาทีแห่ง ‘ความเป็นมนุษย์’ มันช่างมีความบริสุทธิ์ทั้งวิธีนำเสนอ และความตั้งใจที่จะถ่ายทอดเรื่องราวของหนังออกมา
ในบรรดาภาพยนตร์แนว ‘feral child’ หรือ ‘wild child’ เรื่องทรงคุณค่าจริงๆจะมีเพียง The Wild Child (1970) และ The Enigma of Kaspar Hauser (1974) ที่ถือว่ายอดเยี่ยมเหนือกาลเวลา ส่วน Tarzan และ The Jungle Book กลายเป็นความบันเทิงตลาดๆ สูญเสียพลังในเนื้อหาสาระไปหมดสิ้นแล้ว
จัดเรตทั่วไป รับชมได้ทุกเพศวัย
Leave a Reply