Léon Morin, Priest

Léon Morin, Priest (1961) French : Jean-Pierre Melville ♥♥♥♥

ผู้กำกับ Jean-Pierre Melville เป็นคนที่ไม่นับถือศาสนาหรือพระเจ้าองค์ใด แต่สร้างภาพยนตร์เกี่ยวกับบาทหลวงคาทอลิกเนี่ยนะ! รับชมไปสักพักคุณจะรู้ซึ้งถึงความชั่วร้าย เมื่อ Emmanuelle Riva แม่หม่ายผู้มีความเก็บกดทางเพศสูง ใช้ศาสนาเป็นข้ออ้างพยายามเกี้ยวพาราสี Jean-Paul Belmondo บาทหลวงผู้ปฏิญาณถือครองความโสด แต่เธอจะกระทำการนี้ได้สำเร็จหรือไม่

ถึงเรื่องย่อคร่าวๆที่เล่ามา Léon Morin, Priest จะดูเหมือนภาพยนตร์ปรัชญาศาสนา ท้าทาย ‘สัจจะ’ มั่นคงในศรัทธาความเชื่อเรื่องพระเจ้า แต่จะบอกว่าด้วยสันดานของผู้กำกับ Melville มิได้สนใจแยแสต่ออะไรพรรค์นี้ทั้งนั้น ศาสนาแล้วไง พระเจ้ามันก็แค่สิ่งโป้ปดลวงโลก สร้างขึ้นเพื่อครอบงำศีลธรรมมโนธรรมของมนุษย์เท่านั้น ใจความที่หนังเรื่องสะท้อนออกมา คือความพยายามอย่างแรงกล้าในการต่อสู้ดิ้นรนขัดขืน ไม่มีความจำเป็นใดๆต้องอดทนฝืนกลั้นต่อความต้องการของตนเอง

ใกล้เคียงที่สุดกับหนังไทย ถ้าเปลี่ยนบาทหลวงเป็นพระสงฆ์คือ อาบัติ/อาปัติ (พ.ศ. ๒๕๕๘) แต่ความพ่ายแพ้ของคนที่สูญเสียสัจจะในพุทธศาสนา มันคือกรรมหนักที่จะติดตัวเราไปไม่ใช่แค่ชาตินี้หรือแค่ภพหน้า อย่างน้อยก็หลายชั่วกัปชั่วกัลป์ จนกว่าจะสามารถครุ่นคิดรู้สึกนึกตัว ก็ไม่มีทางหลุดจากวังวนกระทำผิดซ้ำๆซากๆนี้ได้

จริงๆผมตั้งใจจะเขียนถึงหนังอีกหนึ่งก่อน แต่ก็ไม่รู้คิดยังไงหยิบเรื่องนี้ขึ้นมารับชม ผ่านไปสักพักสังเกตเห็นภาษากายของ Emmanuelle Riva เกิดความเคลิบเคลิ้มหลงใหลตกหลุมรัก แล้วก็สะดุ้งขึ้นมา เห้ย! นี่ตัวละครมันกำลังยั่วยวนบาทหลวงหนุ่มอยู่ใช่ไหมเนี่ย จากนั้นเอาใจเชียร์ให้เธอทำได้สำเร็จ แต่ก็เผื่อใจไว้เยอะเพราะคิดว่าผู้กำกับ Melville คงไม่กล้าจบอาชีพของตนเองลงแบบนั้นแน่

Jean-Pierre Melville ชื่อเดิม Jean-Pierre Grumbach (1917 – 1973) ผู้กำกับสร้างภาพยนตร์สัญชาติฝรั่งเศส เกิดที่ Paris ในครอบครัวเชื้อสาย Alsatian Jews, ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เข้าร่วมกลุ่ม French Resistance ต่อสู้กับ Nazi หลังสิ้นสุดสงครามเกิดความสนใจด้านภาพยนตร์ แต่ไม่มีสตูดิโอไหนอยากว่าจ้างเพราะไม่มีประสบการณ์ เลยตัดสินใจเป็นนักสร้างหนังอิสระ กำกับ-เขียนบท-โปรดิวเซอร์ ด้วยตนเองทั้งหมด ผลงานเรื่องแรก Le Silence de la mer (1949) โด่งดังเป็นพลุแตก ตามด้วย Les Enfants terribles (1950), Léon Morin, Priest (1961), Le Samouraï (1967), Army of Shadows (1969) ฯ

เกร็ด: เพราะความชื่นชอบในนิยายของ Herman Melville (1819 – 1891) นักเขียนสัญชาติอเมริกัน ยุคสมัย American Renaissance ที่มีผลงานดังคือ Moby Dick (1851) เลยตัดสินใจเปลี่ยนนามสกุลตนเองจาก Grumbach กลายเป็น Melville ฟังดูเท่ห์กว่าเยอะ

เพราะความที่เป็นผู้กำกับก่อนการมาถึงของยุคสมัย French New Wave แต่ด้วยแนวคิดและวิธีการสร้างภาพยนตร์ ได้กลายเป็นอิทธิพลแรงบันดาลใจ แม่แบบให้กับผู้กำกับรุ่นนั้น François Truffaut, Jean-Luc Godard, Claude Chabrol, Jacques Rivette ฯ เลยได้รับการยกย่องให้เป็น ‘Godfather’ พ่อทูนหัวผู้ให้กำเนิดทางจิตวิญญาณของยุคสมัยนี้

สำหรับ Léon Morin, Priest ดัดแปลงจากนิยายรางวัล Prix Goncourt เรื่อง Léon Morin, prêtre (1952) แต่งโดย Béatrix Beck (1914 – 2008) นักเขียนสัญชาติ Belgian ด้วยภาษาฝรั่งเศส แปลเป็นภาษาอังกฤษใช้ชื่อ The Passionate Heart (1953)

ณ เมืองเล็กๆใกล้เทือกเขา French Alps ช่วงต้นทศวรรษ 40s สงครามโลกครั้งที่ 2 ขณะฝรั่งเศสถูกยืดครองโดยกองทัพอิตาลีและทหารนาซี, Barny (รับบทโดย Emmanuelle Riva) หม้ายสาวลูกหนึ่ง สามีเชื้อสายยิวถูกฆ่าในสงคราม เธอจึงพาลูกสาวเข้าพิธี Baptism กลายเป็นคาทอลิกให้รอดพ้นจากการถูกจับตัว ครั้งหนึ่งคิดเล่นๆต้องการยั่วยุบาทหลวงหนุ่ม Léon Morin (รับบทโดย Jean-Paul Belmondo) แสร้งไปสารภาพบาป สนทนาจนถูกคอ ได้รับการชักชวนให้พบเจอส่วนตัวนอกเวลาปกติ แต่ทั้งๆที่พวกเขาพูดคุยเรื่องศาสนา แต่หญิงสาวกลับมีความต้องการทางเพศรุนแรงสูงขึ้นเรื่อยๆ อิจฉาริษยาเมื่อต้องแนะนำเพื่อนร่วมงานที่พยายามใช้เรือนร่างยั่วยวน กระทั่งวันหนึ่งเมื่อหลวงพ่อมาหาถึงที่บ้าน เธอจึงพูดถามตรงๆ ‘ถ้าไม่เป็นนักบวชอยู่ จะครองคู่แต่งงานกันไหม’

Jean-Paul Belmondo (เกิดปี 1933) นักแสดงสัญชาติฝรั่งเศส เกิดที่ Neuilly-sur-Seine ตอนเด็กมีความสนใจด้านกีฬามวยสมัครเล่น สถิติ 3 ไฟต์ชนะรวด แต่เลิกชกเพราะเห็นหน้าตัวเองในกระจกแล้วรับไม่ได้ โตขึ้นหลังจากปลดประจำการทหาร เข้าเรียน Conservatoire of Dramatic Arts จบมาเป็นนักแสดงละครเวที ภาพยนตร์เรื่องแรก On Foot, on Horse, and on Wheels (1957), เข้าตาผู้กำกับ Jean-Luc Godard ชักชวนมาเล่นหนังสั้น Charlotte and Her Boyfriend (1958) และแจ้งเกิดกลายเป็นตำนานกับ Breathless (1960)

รับบท Léon Morin บาทหลวงหนุ่ม ผู้ได้ปฏิญาณครองโสดตลอดชีวิต วัยเด็กแม้จะถูกแม่ใช้ความรุนแรงตบตีแต่ครอบครัวก็มีความสุขดี อยากเป็นนักบวชเพราะอยากช่วยเหลือจิตวิญญาณมนุษย์ให้ค้นพบเจอความสุขนิรันดร์ เป็นคนง่ายๆไม่ถือตัว เฉลียวฉลาดรอบรู้ หลังจากพูดคุยสนทนากับ Barny ไม่นานก็เข้าใจความต้องการแท้จริงของเธอ พยายามระแวดระวังผลักไสรักษาระยะห่าง แต่เมื่อหญิงสาวมิอาจควบคุมตนเองก็แสดงออกด้วยความเกรี้ยวกราดให้คืนสติ และก่อนจากลาไปทำงานยังชนบทต่างจังหวัด เรียกตัวมาพบที่ห้องเพื่อบอกว่า ดูฉันสิแทบไม่มีอะไรในครอบครองติดตัวสักอย่าง ตอนคนเราเกิดมาก็เช่นกัน

ทีแรกพอคิดว่า Belmondo รับบทบาทหลวงก็รู้สึกขัดแย้งในใจนิดๆ แต่เมื่อพบว่าเป็นตัวละครที่มีความกวนๆ(ตีน) ท่าทางการเคลื่อนไหวมีความสงบงาม(แบบมาดเท่ห์) แตกต่างจากนักบวชปกติทั่วๆไป เออแหะมันเข้ากับภาพลักษณ์จิ๊กโก๋ของพี่แกโดยแท้ แสดงออกผ่านภาษากายได้อย่างเฉลียวฉลาดคมคาย

ความลึกล้ำในภาษากายของ Belmondo ถึงพออ่านออกว่าตัวละครมีรู้สึกเช่นไร แต่จักไม่รู้ว่าเขาครุ่นคิดอะไรอยู่จริงๆ
– ครั้งหนึ่งใช้กำลังผลักหญิงสาวถอยห่างอย่างรุนแรง เพื่ออะไรกัน บอกให้รักษาระยะห่างความสัมพันธ์?
– เดินผ่านให้ชายเสื้อปัดโดนตัว Barny ในพิธีมิสซาวันอาทิตย์ เพื่อเรียกสติ ความสนใจ?
– จังหวะที่เห็นชัดๆคือ เมื่อเธอถามถ้าไม่ได้เป็นนักบวชจะแต่งงานกันไหม วินาทีนั้นเอาขวานจามตอไม้อย่างเกรี้ยวกราดรุนแรงแล้วเดินจากไป ดูรู้ว่าโกรธแต่กำลังครุ่นคิดอะไรไม่มีใครตอบได้
– อีกครั้งก็ตอนสะดุ้งโหยงกระโดดถอยหลังขณะแค่กำลังเอื้อมมือไปสัมผัส แสดงถึงความหวาดหวั่นกลัว แต่ทำไมต้องเว่อขนาดนั้น

ในความเห็นส่วนตัวคิดว่า Léon Morin น่าจะมีใจให้กับ Barny ไม่เช่นนั้นจะแสดงความเกรี้ยวกราดรุนแรงเมื่อถูกถามเรื่องครองคู่แต่งงาน, สะดุ้งโหยงกระโดดถอยหลังขณะแค่ถูกสัมผัสโดนตัว และทำเรื่องขอย้ายไปอยู่ชนบทต่างจังหวัดห่างไกลหลังจากนั้น ทั้งหมดนี้ก็เพื่อต่อสู้กับความรู้สึกบางอย่างที่บังเกิดขึ้นภายในจิตใจ คงเป็นความต้องการอันคลุ้มคลั่งรุนแรง เลยต้องแสวงหาทางออกที่ปลอดภัยกับตนเองที่สุด

Emmanuelle Riva (1927 – 2017) นักแสดงหญิงชื่อดังสัญชาติฝรั่งเศส เกิดที่ Cheniménil มีความสนใจการแสดงตั้งแต่เด็กในโรงละครเวทีใกล้บ้าน โตขึ้นมุ่งหน้าสู่ Paris โดยไม่สนคำทัดทานของครอบครัว เริ่มจากเป็นนักแสดงละครเวที ซีรีย์โทรทัศน์ ภาพยนตร์เรื่องแรก Hiroshima mon amour (1959) โด่งดังเป็นพลุแตก, ผลงานถัดมา Kapò (1960) เหมือนไม่ค่อยมีใครอยากจดจำนัก

รับบท Barny สาวหม้ายลูกหนึ่ง สามีถูกฆ่าตายในสงคราม ตนเองอยู่ฝั่งคอมมิวนิสต์ ทำงานเป็นนักตรวจทานอักษร เดิมอาศัยอยู่ Paris อพยพหนีมาต่างจังหวัดเพราะเมืองหลวงถูกอิตาลี/นาซี เข้ายึดครอง แต่ก็ไม่ได้คิดใคร่สนใจจริงจังกับเรื่องสงครามมากนัก ในที่ทำงานตกหลุมรักในความมีเสน่ห์ของหัวหน้าสาว ไม่รู้ว่าถึงขั้นมีอะไรเกินเลยไปหรือเปล่า วันหนึ่งร่วมกับเพื่อนๆพาลูกเข้าพิธี Baptism เพื่อไม่ให้ต้องถูกทหารเยอรมัน Gestapo จับกุมตัว นั่นคงทำให้เธอเกิดความใคร่สนใจในศาสนา ทีแรกต้องการเข้าไปกลั่นแกล้งเล่นกับบาทหลวงหนุ่ม Léon Morin ไปๆมาๆค่อยหลงเสน่ห์ตกหลุมรักในความรอบรู้ ราวกับพระเจ้าของเขา (แต่ตัวเองเหมือนว่าจะไม่ได้เชื่อหรอกว่าพระเจ้ามีจริง) เก็บกดความรู้สึกเร่าร้อนต้องการไว้ภายใน จินตนาการเพ้อฝันได้ร่วมรัก ขอสักครั้งยังดีแล้วจะยินยอมตกนรกหมกไหม้ก็ช่าง

เพราะความกำลังดังอย่างแรงกับ Hiroshima mon amour (1959) กับบทบาทที่เต็มเปี่ยมด้วย ‘passion’ อันเร่าร้อนรุนแรง นั่นคงกลายเป็นภาพลักษณ์ติดตราของ Riva มาเลยละ ซึ่งเรื่องนี้ผู้ชมก็จะสัมผัสได้ถึงภายในอันเร่าร้อนรุนแรงไม่ด้อยกว่ากัน (แต่ผมว่า มากกว่ามากเลยนะ) แสดงออกผ่านสีหน้าดวงตา ร่างกายสั่นเทิ้ม ปากสั่นเทา หายใจไม่เป็นจังหวะ ประกอบเสียงบรรยายที่ทำให้เกิดความเข้าใจลึกซึ้งไปถึงทรวงใน ผู้ชมจะรู้สึกตกหลุมรักและสงสารไปพร้อมๆกัน (แต่คงมีหลายคนที่รู้สึกกระอักกระอ่วน สมเพศ ต่อต้านรับไม่ได้อย่างรุนแรง)

ส่วนตัวรู้สึกรักคลั่งกับการแสดงของ Riva ยิ่งกว่า Hiroshima mon amour เสียอีกนะ เพราะเรื่องนั่น Sex และ Passion มันยังได้รับการตอบสนองบ้าง แต่กับเรื่องนี้แทบจะอกแตกตาย เก็บกดอัดอั้นคั่งค้างอยู่ภายในนั้นไม่ได้ระบายออกมา อยากที่จะเข้าไปช่วยเหลือแบ่งเบาเสียเหลือเกิน *-*

ถ่ายภาพโดย Henri Decaë ขาประจำของผู้กำกับ Melville ตั้งแต่ผลงานเรื่องแรก ก่อนกลายเป็นขาประจำของผู้กำกับรุ่น French New Wave อาทิ Les Amants (1958), Le Beau Serge (1958), The 400 Blows (1959), ฯ

หนังถ่ายทำด้วยฟีล์มขาว-ดำ ขนาด 1.66:1 เพื่อสร้างบรรยากาศของประเทศฝรั่งเศสในยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 ขณะเดียวกันสื่อถึงนัยยะสะท้อนดี-ชั่ว ถูก-ผิด จากการกระทำแสดงออกของตัวละคร

ช่วงแรกๆการพบกันระหว่างบาทหลวงหนุ่มกับหญิงสาว พวกเขาจะต้องมีบางสิ่งกีดกั้นขวางหรือระยะห่าง ภาพเบลอ-ชัด, เลนส์ Deep-Focus โดดเด่นมากกับช็อตนี้ ซึ่งจะมีการเดินสลับตำแหน่งไปมา เดี๋ยว Barny เดี๋ยว Léon Morin อยู่ใกล้หน้ากล้อง นี่สะท้อนทัศนคติความคิดอ่านของทั้งคู่ยังปรับจูนไม่ตรงกันด้วย

ครั้งหนึ่งของการสนทนา หญิงสาวถามบาทหลวงหนุ่มช่วงเงียบๆระหว่างสนทนารอคอยอะไรอยู่รึเปล่า ได้รับคำตอบว่า เมื่อตอนเด็กตนเองพูดมากเพ้อเจ้อเกินไป เลยถูกสั่งให้ไปหันหน้าสนทนากับกำแพง นี่สร้างความละอายใจให้กับเธออย่างมาก ถึงกับค่อยๆเดินถอยหลังหลบเข้าไปในมุมมืดตรงชั้นวางหนังสือ แล้วหาเรื่องเผ่นแนบออกจากห้องโดยทันที

มันคงไม่มีอะไรน่าสนใจพูดถึงกับฉากชาวยิวถูกนาซีจับขึ้นรถส่งไปค่ายกักกัน แต่ช็อตนี้กลับถ่ายให้เห็นสะท้อนจากกระจก/หน้าต่างด้านขวา มันกลายเป็นความหรูหรามีระดับขึ้นมาโดยทันที, นัยยะของฉากนี้เป็นการสะท้อนภาพพื้นหลังของหนัง ในช่วงเวลาสงครามโลกครั้งที่สอง กับความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นระหว่างบาทหลวงหนุ่มกับหญิงสาว

อิตาลี/นาซี เข้ามายึดครองฝรั่งเศส ทำให้ประชาชนตกอยู่ในสภาวะอึดอัดทรมาน
บาทหลวงหนุ่มให้คำแนะนำด้านศาสนากับหญิงสาว แต่เธอตกอยู่ในสภาวะร่านหนักอกแทบแตกตาย

หญิงสาวคิดอะไรได้จากการเก็บของในห้องใต้หลังคา ทำให้ฉากถัดมาคิดอยากเปลี่ยนไปนับถือคริสต์ศาสนาโดยพลัน? มันคือการเปรียบเทียบสภาพของตนเองกับสถานที่ ถ้ายังขืนปล่อยตัวอยู่คนเดียวแบบนี้ สักวันมันก็จะเก่าเขรอะกลายเป็นยัยแก่ สภาพเหมือนหยากไย่ขึ้นรกเต็มไปหมด หายนะแห่งชีวิตก็คงมาเยือน เลยครุ่นคิดว่ามีความจำเป็นต้องหาบุรุษครองคู่ข้างกาย และคนที่ตนสนิทสนมชิดเชื้อที่สุดก็คือบาทหลวงหนุ่ม จึงยินยอมพร้อมทำทุกอย่าง เปลี่ยนศาสนาเพื่อได้ใกล้ชิดและมีโอกาสได้เขามาครอบครองเป็นเจ้าของ

ไม่จำเป็นต้องพูดจาขับไล่ต่อว่า แค่การแสดงออกเมื่อมีหญิงสาวพยายามนั่งยั่วถกกระโปรงขึ้นสั้น บาทหลวงหนุ่มเดินเข้าไปกระชากกระโปรงลงอย่างแรง แล้วกล่าวถ้อยคำแถลงสอนศาสนา จนสุดท้ายเธอหมดอารมณ์ทนอยู่ต่อไม่ได้ อุตส่าห์หมายปั้นแสดงความมั่นใจมาเป็นอย่างดี … แต่ผู้หญิงพรรค์นี้ ผู้มีสติสัมปชัญญะที่ไหนก็ไม่คิดเอาหรอกนะ

 

ในความฝันของหญิงสาว จะมีการใช้เลนส์อะไรสักอย่างหนึ่งที่ทำให้ขอบด้านข้างมัวเบลอ เฉพาะตรงกลางเท่านั้นพอมองเห็นคมชัด ลักษณะนี้เหมือนคนใส่แว่นตา (ผมเองก็ใส่แว่นนะ เลยมีความรู้สึกเช่นนั้น) จินตนาการ/โลกที่มองเห็นในมุมมองของผู้สวมเท่านั้น เป็นฉากเดียวที่พระ-นาง ได้กอดจูบสัมผัส

ขวานผ่าฟืน/ขวานผ่าซาก นี่ผมไม่รู้สำนวนนี้ภาษาฝรั่งเศสมันสื่อความหมายแบบเดียวกันนี้เลยหรือไร? เพราะฉากนี้หลังจากบาทหลวงหนุ่มผ่าฟืนให้นั่งพักเหนื่อย หญิงสาวก็พูดถามตรงๆ

“If you weren’t a priest, would you take me as your wife?”

ฉากถัดมา หญิงสาวกำลังเดินมุ่งสู่เทือกเขา French Alps ตามด้วยภาพมุมกว้างทิวทัศน์ของเมืองที่อาศัยอยู่, นี่ราวกับว่าสิ่งที่เธอร้องขอต่อสู้เผชิญหน้าอยู่ มันไม่จำกัดแค่ระหว่างคนสองคน แต่คือสากลโลกและจักรวาลเลยละ

ไดเรคชั่นที่ผมชื่นชอบสุดของหนัง คือฉากหน้ามืดตามัวของนางเอก นี่หลังจากวันพูดขอแต่งงานและบาทหลวงหนุ่มหวนกลับมาหาที่บ้านอีกครั้ง, ฉากนี้เสียงพูดของ Léon Morin จะค่อยๆกึกก้องแล้วเบาลงจนไม่ได้ยินอะไร เพราะกระจิตกระใจของหญิงสาวไม่มีสมาธิจดจ่อรับฟังอีกต่อไป สิ่งเดียวเท่านั้นที่เธอต้องการคือครอบครองเป็นเจ้าของ แต่แค่เอื้อมมือสัมผัสโดงก็เหมือนกุ้งเต้น สะดุ้งโหยงก้าวถอยหลัง ปฏิเสธที่จะให้แตะเนื้อต้องตัว ไม่ต้องการให้อะไรเลยเถิดลามปามไปมากกว่านี้

การมีอยู่ของมีดในฉากนี้ นัยยะสื่อถึงการเล่นกับของมีคม สิ่งอันตรายร้ายแรง นั่นคือความคิดอ่านและสิ่งที่หญิงสาวต้องการกระทำ แม้มันจะไม่ใช่การทำร้ายทางกาย แต่จิตใจและแค่สัมผัสโดนก็แทบจะฆ่าบาทหลวงหนุ่มคนนี้ให้ตายได้แล้ว

ห้องที่ว่างเปล่า สะท้อนสิ่งที่บาทหลวงคาทอลิกต้องปฏิญาณตน 3+1 ข้อ ตลอดชั่วชีวิต
1. เชื่อฟังผู้บังคับบัญชา
2. ถือโสด
3. ดำรงชีวิตแบบเรียบง่าย
+1 (สำหรับบางนิกาย) ไม่ถือกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินใด

คงเป็นความตั้งใจของบาทหลวงหนุ่ม ที่ให้หญิงสาวพบเห็นห้องที่ว่างเปล่านี้ ให้เธอเกิดความ’ปลง’ในความมีไม่มี เกิดมาตัวเปล่าๆ ตายไปก็ไม่มีอะไรติดตัวไปทั้งนั้น ชีวิตก็แค่นี้อยู่บนพื้นฐานของความไม่มี, คราบน้ำตาของนางเอก หลั่งออกมาจากความที่ต้องสูญเสียคนรักไป ไม่ใช่ด้วยร่างกายแต่จิตวิญญาณที่สูงส่งเกินเอื้อมถึง

ถ้าเปรียบห้องของบาทหลวงหนุ่มคือสรวงสวรรค์ชั้นฟ้า สถานที่พระเจ้าประทับอาศัยอยู่ วินาทีร่ำลาจาก หญิงสาวเดินลงบันได (จากสรวงสวรรค์) กลับสู่ภาคพื้นดินโลกมนุษย์ หมดสิ้นแล้วโอกาสที่จะได้หวนกลับมาในชาติภพนี้ (เพราะเขาได้จากไปชั่วนิรันดร์)

ตัดต่อโดย Jacqueline Meppiel, Nadine Trintignant และ Marie-Josèphe Yoyotte, ใช้มุมมองการเล่าเรื่องทั้งหมดของหญิงสาว Barny พร้อมเสียงบรรยายความคิดอ่าน อารมณ์ความรู้สึกส่วนตัว นี่ราวกับเป็นการเข้าไปในหัวสมอง จิตวิญญาณ ทรวงอกของเธอเลยละ

เรื่องราวของหนังมีการแบ่งออกเป็นช่วงๆ ที่ไม่ค่อยจะต่อเนื่องกันนัก สังเกตจากการใช้เฟดดำเข้า-ออก ตอนต้น-จบ ของฉากนั้นๆ นี่เป็นการสร้างจังหวะให้หนังราวกับลมหายใจเข้า-ออก ซึ่งถ้าใครเคยรับชม Diary of a Country Priest (1951) ของผู้กำกับ Robert Bresson ที่เกี่ยวกับบาทหลวงผู้มีความยึดมั่นคงในการกระทำของตนเอง จะพบเห็นไดเรคชั่นการตัดต่อที่คล้ายคลึงกันนี้ คงต้องถือว่ารับอิทธิพลกันมาอย่างแน่นอน

การสนทนาในห้องสารภาพบาป จะมีการตัดสลับไปมาระหว่างฝั่งบาทหลวงหนุ่ม ฝั่งหญิงสาว ด้านหน้า ด้านหลัง และมักจบท้ายด้วยเห็นสองฝั่งในช็อตเดียวกัน ทั้งหมดนี้แทบจะไม่เห็นซ้ำเดิมกันเลย เพื่อเป็นการสะท้อนมุมมองที่เปลี่ยนแปลงไปทุกครั้งของการสนทนา และวินาทีสุดท้ายพวกเขาก็มักจะเห็นตรงกัน ก็เลยอยู่ร่วมช็อตเดียวกัน

บางครั้งการตัดต่อได้สร้างสัมผัสบางอย่างให้กับหนัง อาทิ ฉากขวานผ่าซาก จะมีภาพสองด้านที่ตัดสลับไปมา (ด้านจากฝั่งขวาน นางเอกอยู่ฝั่งซ้าย, ด้านจากฝั่งประตู บาทหลวงหนุ่มอยู่ฝั่งซ้าย) วินาทีที่หญิงสาวพูดคำถามจบ ภาพด้านฝั่งขวาน -> ตัดไปที่ภาพด้านฝั่งประตู -> กลับมาที่ภาพด้านฝั่งขวา บาทหลวงหนุ่มลุกขึ้นจามขวานลงที่แทนอย่างรุนแรง, มันเหมือนว่าการตัดสลับวินาทีนี้ เพื่อเปลี่ยนมุมมองของตัวละคร วินาทีแห่งการครุ่นคิด และให้คำตอบด้วยภาษาของการกระทำ

เพลงประกอบโดย Martial Solal นักแต่งเพลง Piano Jazz สัญชาติ Algiers (ขณะนั้นอยู่ภายใต้อาณานิคมฝรั่งเศส) แต่ก็ไม่เชิงใช้ดนตรี Jazz เป็นท่วงทำนองหลักของหนัง

ความน่าทึ่งของเพลงประกอบ สะท้อนอารมณ์ความรู้สึกของเรื่องราวและตัวละครออกมาได้อย่างมีมิติซับซ้อน, หลายครั้งค่อนข้างแนบเนียบไม่ตั้งใจฟังคงไม่ได้ยิน ดังขึ้นระหว่างการสนทนาของบาทหลวงหนุ่มกับหญิงสาว บทเพลงทำการแต่งเติมอารมณ์เพิ่มสัมผัสความเข้าใจ ‘Subtle’ สิ่งที่หลบซ่อนอยู่ภายใต้บทสนทนาออกมาได้อย่างลึกล้ำ

สิ่งที่ได้ยินใน Opening Credit/Main Theme จะกลายเป็นท่วงทำนองประกอบอยู่ในหนังทั้งเรื่อง เริ่มต้นด้วยความหวาดหวั่นสะพรึง ในโลกที่เต็มไปด้วยขวากหนามอันตรายแต่มีความน่าหลงใหลยั่วยวน สุดท้ายลงเอยด้วยความสั่นสะท้านเศร้าโศกา ก็ได้แต่ใฝ่ฝันมิอาจไขว่คว้าได้มาครอบครอง

ความรักความต้องการ ‘Passion’ เป็นสิ่งไม่เข้าใครออกใคร เกิดขึ้นที่ไหน-เมื่อไหร่-กับใคร-อย่างไรก็ได้ทั้งนั้น ไม่สามารถหักห้ามกีดกันหรือควบคุมเพราะถือเป็นสันชาตญาณความต้องการหนึ่งของมนุษย์ แต่บางครั้งด้วยข้อกำหนดบริบทกฎเกณฑ์ของสังคม ความสัมพันธ์ที่เกินเลยนอกกรอบ มันอาจมีบทลงโทษที่รุนแรงต่อผู้ขัดขืนไม่ทำตาม เพื่อบีบบังคับควบคุมให้มนุษย์อยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุขสันติ

ในทางกฎหมายก็เรื่องหนึ่ง แต่สำหรับศาสนา พระ/นักบวช/บาทหลวง กับหญิงสาว ข้อห้ามดังกล่าวคือพันธะ ‘สัจจะ’ สัญญาใจ ผูกไว้ด้วยเส้นด้ายที่มองไม่เห็น ทั้งนี้เพื่อเป็นแบบอย่างต่อสาธารณชน ครองเพศบริสุทธิ์ทางกาย แต่สำหรับทางใจคงมีเพียงจิตวิญญาณของตัวเราเองเท่านั้นถึงจะตอบได้

มันอาจไม่ใช่ความตั้งใจของบาทหลวงหนุ่มและหญิงสาว ที่จะตกหลุมรักใคร่ชอบพอเกิดความพิศวาสต่อกันและกัน แต่ผู้หญิง(ในบริบทของหนัง)คือเพศผู้เป็นรอง แม้จะสามารถพูดจาโน้มน้าวชักจูงชวน แต่บุคคลที่จะก่อการกระทำแสดงออกยังคือผู้ชาย ถ้าสามารถหักห้ามใจควบคุมตนเองได้สำเร็จ ในชีวิตก็แทบไม่มีอะไรต้องหวาดหวั่นวิตกสะพรึงกลัวได้อีกต่อไป

ถ้าเรามองภาพยนตร์เรื่องนี้ในมุมของ Léon Morin ใจความจะเป็นการต่อสู้ทางจิตต่อกิเลสตัณหาราคะ มารผจญที่เข้ามาท้าทายสันชาติญาณความต้องการของตนเอง จะสามารถขัดขืนดิ้นรนเอาตัวรอดในสถานการณ์นี้ได้เช่นไร ซึ่งถ้าเอาชนะได้สำเร็จ อนาคตมองย้อนกลับมาจะรู้สึกภาคภูมิดีใจ ไม่มีอะไรในโลกจะสามารถสั่นคลอนความบริสุทธิ์ของตนเองลงได้

แต่เพราะหนังเล่าเรื่องในมุมมองของหญิงสาว Barny ผู้เต็มไปด้วยกิเลสตัณหา เธอจับจ้องมองต้องการครอบครองบาทหลวงหนุ่มด้วยความพิศวาส หัวใจแทบขาด อกเกือบระเบิดแตกตาย ใจความของเรื่องราวจึงเป็นการตั้งคำถามกับกฎเกณฑ์กรอบระเบียบของสังคมและศาสนา มันจำเป็นจริงๆนะหรือที่ต้องมีอะไรพวกนี้ผูกมัดเหนี่ยวรั้งตัวเราไว้ ทั้งๆที่อยากได้ใจจะขาด กลับต้องรวดร้าวทุกข์ทรมานกับสิ่งที่ก็ไม่รู้ว่ามีตัวตนอยู่จริงหรือเปล่า

อคติต่อคริสตศาสนาของ Melville ชวนให้นึกถึงผู้กำกับ Luis Buñuel ที่ชอบทำหนังแนวหาเรื่องชวนต่อยตี แต่สิ่งที่ทั้งสองแตกต่างกันคือ
– Buñuel ถึงเกลียดคริสตจักร แต่เขาเชื่อว่าพระเจ้ามีจริง สร้างภาพยนตร์ที่ลึกซึ้งด้วยศีลธรรมสากล
– Melville ปฏิเสธทุกอย่าง ทั้งคริสตจักรและการมีตัวตนของพระเจ้า สร้างภาพยนตร์ด้วยแนวคิดมโนธรรมส่วนตน

เปรียบการเข้ายึดครองของอิตาลี/นาซี ได้กับบุคคลผู้มีความเชื่อศรัทธาในศาสนา ความสัมพันธ์ระหว่างบาทหลวงหนุ่มกับหญิงสาว ที่ต้องปฏิบัติทำตามกฎหมาย/บทบัญญัติตามพระคัมภีร์บันทึกไว้ ถ้าไม่อยากถูกลงโทษหรือได้รับคำพิพากษาตัดสินจากพระเจ้า ก็ต้องไม่ออกนอกลู่นอกทาง ขัดแย้งต่อสัจจะวาจาที่ให้ไว้ … แต่แล้วเมื่อถึงจุดๆหนึ่ง กองทัพอิตาลี/นาซี ก็ต้องยกพลกลับไปเพราะความพ่ายแพ้ เฉกเช่นเดียวกับบาทหลวงหนุ่มที่เหมือนจะมิอาจอดรนทนต่อความยั่วเย้ายวนของหญิงสาว ตัดสินใจรับหน้าที่การงานใหม่ออกเดินทางลาจากมุ่งสู่ชนบทห่างไกล

คนส่วนใหญ่อาจมองว่าคือชัยชนะของบาทหลวงหนุ่ม ต่อเพลิงราคะที่ตนเองไม่ยินยอมสัมผัสแตะต้องล่วงเกินหญิงสาว แต่ในมุมของผู้กำกับ Melville นั่นคือความพ่ายแพ้ต่อสิ่งที่เรียกว่ากฎกรอบเกณฑ์ของสังคม/ศาสนา มันเรื่องอะไรที่เราต้องถูกควบคุมด้วยสิ่งไร้ซึ่งตัวตนเยี่ยงนี้, ความว่างเปล่าไม่หลงเหลืออะไรในห้องของบาทหลวงหนุ่ม สะท้อนถึงความไม่มี ทั้งตัวตนเองและพระผู้เป็นเจ้า ถึงจะอ้างว่าละทิ้งแล้วทุกสิ่งอย่าง แต่นั่นคือหนทางมุ่งสู่สรวงสวรรค์ในโลกหลังความตายจริงๆนะหรือ

การมองหนังในมุมมองของผู้กำกับ Melville ทำให้ผมค่อนข้างหงุดหงิดรำคาญใจเสียเหลือเกิน เพราะความเข้าใจของเขาค่อนข้างขัดกับหลักสัจธรรมสากล จากความหลงมโนในโลกทัศนคติวิสัยทัศน์ของตนเอง ถือเป็นเรื่องไร้สาระเพ้อฝันแฟนตาซีที่เอาจริงๆแทบหาคุณค่าความดีอะไรแทบไม่ได้ แค่บังเอิญว่าไอ้เก๋าเจ้งนี่มันดันเสือกสร้างงานศิลปะออกมาได้ลึกล้ำสวยงามโคตรๆ ก็ไม่รู้จะชมหรือจะด่าทอดี, ผมเคยที่จะเกลียด Buñuel โคตรๆเพราะความเลวระยำอัปรีย์ในใจความที่สอดแทรกใส่ภาพยนตร์ แต่ตอนนี้ได้ Melville มาแทนที่ทุกความรู้สึกนั้นแล้วละ

แม้ไม่มีรายงานทุนสร้างหนัง แต่ได้ยินว่าใช้งบประมาณสูงพอสมควร (คงหมดไปกับค่าตัวของ Belmondo กับ Riva) มียอดจำหน่ายตัว 1.7 ล้านใบ น่าจะพอทำกำไรได้บ้างกระมัง

สิ่งที่โดยส่วนตัวชื่นชอบภาพยนตร์เรื่องนี้มากๆ คือ Subtle ที่หลบซ่อนอยู่ภายใต้ตัวละครทั้งสอง โดยเฉพาะ Emmanuelle Riva จริตแรงมากทั้งสายตาสีหน้าท่าทาง ความหื่นกระหายต้องการภายใน หลั่งคลั่งออกมาภายนอกอย่างรุนแรง ถ้าสามารถมองเห็นรับสัมผัสเข้าใจได้ ไม่รักมากๆก็จงเกลียดไปเลย … แต่โดยรวมผมก็ไม่ได้ชอบหนังสักเท่าไหร่นะ อย่างที่วิเคราะห์วิพากย์ไป ผู้กำกับ Melville ค่อนข้างจะ Individualist เกินไปสักหน่อย ไม่แคร์สังคมหรือสัจธรรมความจริงสักเท่าไหร่

แนะนำกับคอหนังปรัชญาศาสนา, ชาวคริสตังที่ชื่นชอบท้าทายกำลังศรัทธา, รู้จักผู้กำกับ Jean-Pierre Melville, แฟนๆนักแสดง Jean-Paul Belmondo, Emmanuelle Riva ไม่ควรพลาด

กับคนที่คิดจะรับชมภาพยนตร์ของผู้กำกับ Jean-Pierre Melville แนะนำว่าควรต้องบรรลุนิติภาวะ ดูหนังครุ่นคิดทำความเข้าใจเป็น ไม่ก็แนะนำให้เพื่อนๆอ่านบทความที่ผมเขียนก็ได้ เตือนสติเขาไว้ด้วยว่าอย่าหลงเชื่อเข้าใจอะไรๆจากผลงานของพี่แกง่ายๆ เพราะหลายอย่างมันอาจไม่จริงเป็นเรื่องเพ้อเจ้อสุดๆเลยละ

จัดเรต 15+ กับจริตราคะที่รุนแรง

TAGLINE | “ขณะที่ Jean-Paul Belmondo เป็น Léon Morin, Priest บาทหลวงผู้มั่นคงในสัจจะ แต่ผู้กำกับ Jean-Pierre Melville และ Emmanuelle Riva ต่างเป็นพระเทวทัตและนางจิญจมาณวิกา ชั่วร้ายลึกในจิตใจ”
QUALITY | RARE-GENDARY
MY SCORE | LIKE

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: