Les Amants de Montparnasse

Les Amants de Montparnasse (1958) French : Jacques Becker & Max Ophüls ♥♥♥◊

The Lovers of Montparnasse เป็นหนังโคตรอาถรรพ์ ผู้กำกับ Max Ophüls เสียชีวิตก่อนเริ่มถ่ายหนัง, นักแสดงนำ Gérard Philipe เสียชีวิตหลังหนังฉายได้ 1 ปี, เรื่องราวเกี่ยวกับปีสุดท้ายก่อนเสียชีวิตของ Amedeo Modigliani จิตรกรชื่อดังสัญชาติอิตาลี ที่ทั้งชีวิตไม่ได้รับการยอมรับ แต่พอเสียชีวิตแล้ว ภาพ Nu Couché ถือเป็นภาพเปลือย (Nude) ราคาสูงที่สุดในโลก $170.4 ล้านดอลลาร์ (แพงกว่าภาพที่แพงที่สุดของ Van Gogh เสียอีก)

หนังเรื่องนี้มีหลายชื่อนะครับ Les Amants de Montparnasse เป็นชื่อฝรั่งเศส Modigliani of Montparnasse, The Lovers of Montparnasse, Montparnasse 19 ชื่อของหนังจะมีคำว่า Montparnasse แทรกอยู่ เป็นบริเวณหนึ่งในกรุง Paris ติดกับแม่น้ำ Seine ซึ่งคือที่อยู่สุดท้ายก่อนที่ Amedeo Modigliani จะเสียชีวิต

เปิดเรื่องขึ้นมาจะมีข้อความขึ้นว่า “The authors of this film were inspired by some true episodes and had no intention of writing a historical film.” หนังเรื่องไหนที่มีคำพูดแบบนี้ขึ้นมาตั้งแต่ต้น ไม่ว่าจะคำเตือน คำแนะนำ หรือคำขอ นี่เป็นสิ่งที่ผู้ชมต้องฝังใจไปเลยนะครับ ไม่ว่าคุณจะเคยรู้เรื่อง ได้ยินหรือเข้าใจอะไรมาก่อน ทิ้งมันไว้ตรงนั้น สิ่งที่เห็นอาจไม่ตรงกับสิ่งที่เรารู้ นี่คือสิ่งที่ต้องยอมรับให้ได้, ผมเห็นคนดูและนักวิจารณ์หลายคน ตอบโต้หนังเรื่องนี้อย่างซีเรียสเลยว่า มันผิดเพี้ยนเกินไป มีการเปลี่ยนแปลงมากเกินไป และบางอย่างอาจส่งผลต่อภาพลักษณ์ ทัศนคติต่อ Modigliani ทั้งๆที่เปิดเรื่องมาหนังก็มีขึ้นเตือนไว้แล้ว แต่ก็ยังมีคนไม่สนใจ, ผมเข้าใจความรู้สึกของคนต่อต้านกลุ่มนี้นะครับ ทัศนคติบางอย่างต่อคนที่เคยอยู่ในเหตุการณ์ ได้รู้จัก ประสบพบเจอมากับตัว พอมาเห็นสิ่งที่บิดเบือนแล้วรับไม่ได้ มันไม่จริง น่าเกียจมากๆ, นี่คืออิทธิพลอันทรงพลังของสื่อภาพยนตร์ ผมจะพยายามวิจารณ์แบบเป็นกลางนะครับ และจะเอาข้อเท็จจริงบางอย่างแทรกมาให้ได้ได้เปรียบเทียบกันด้วย

Amedeo Modigliani (1884-1920) จิตรกรและนักแกะสลักชาว Italian เกิดที่ Livorno ครอบครัวเป็น Sephardic Jewish, ปี 1906 อพยพจากอิตาลีมาอาศัยอยู่ใน Paris, France เขาเริ่มต้นศึกษางานศิลปะจากยุค Renaissance ต่อมาได้พบ Pablo Picasso, Constantin Brâncuși ที่ทั้งสองกลายมาอิทธิพลต่อผลงานของ Modigliani ไม่น้อย, Modigliani ขึ้นชื่อในเรื่องการวาดภาพ Portrait แต่สมัยนั้นกลับไม่มีใครชอบผลงานของเขา จะเหมือน Picasso ก็ไม่ใช่ Brâncuși ก็ไม่ใช่ ในยุคที่สมัย -ism กำลังระบาดในยุโรป Cubism, Dadaism, Surrealism, Futurism ผลงานของ Modigliani ไม่เข้าลัทธิไหนเลย มันมีกลิ่นอายออกไปทาง Renaissance เหมือนว่าเขาวาดในสิ่งที่เห็น “This is what I see.”  ความบิดเบี้ยวของใบหน้า ยิ่งน่าเกลียดมาก ยิ่งแสดงถึงสิ่งที่ Modigliani เห็นจากคนที่เป็นแบบให้ ผลงานของเขาจะเรียก avant-garde ก็ได้ (ผลงานของการบุกเบิก), ทั้งชีวิต Modigliani มีโอกาสได้จัดแสดงผลงานใน Gallery ครั้งเดียวเท่านั้น ภาพวาดที่ขายได้ก็จากเพื่อน คนรู้จักเท่านั้น (เหมือน Van Gogh เลย) พอเขาเสียชีวิตด้วย Tubercular Meningitis (โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากวัณโรค) ผลงานของเขาได้กลายเป็นที่ต้องการของตลาด ขายดีแบบเทน้ำเทท่าและราคาสูงมากๆ

Max Ophüls ชื่อนี้คอหนังเก่าๆคงรู้จักกันดี ผู้กำกับชาว German เพราะเขาเป็น Jewish จึงต้องอพยพหนีออกจาก Germany ลี้ภัยไปฝรั่งเศสและอเมริกา ทั้งชีวิตทำหนังเกี่ยวกับ Jewish แทบทั้งนั้น, สำหรับ Les Amants de Montparnasse คือผลงานสุดท้ายที่สร้างไม่เสร็จของ Ophüls เสียชีวิตจากโรคหัวใจรูมาติก (Rheumatic Heart Disease) ที่ Hamburg ประเทศ Germany เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 1957 อายุรวม 54 ปี ขณะกำลังเตรียมถ่ายหนังอยู่, Jacques Becker ที่เป็นเพื่อนสนิทและร่วมเขียนบทหนังจึงเข้ามาเป็นผู้กำกับ สานต่องานของ Ophüls ให้เสร็จ, Becker เคยเป็นผู้ช่วยผู้กำกับของ Jean Renoir ตั้งแต่สมัย La Grande Illusion (1938) และ The Rules of the Game (1939) หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ก็กลายมาเป็นผู้กำกับเต็มตัว มีหนังดังๆอาทิ Casque d’Or (1952), Touchez pas au grisbi (1954) และ Le Trou (1959), Becker อาจไม่ใช่ผู้กำกับที่โด่งดัง หรือได้รางวัลอะไรมากมาย แต่กับ Les Amants de Montparnasse ทำให้ผมค่อนข้างสนใจแนวทาง วิธีคิด และเทคนิคของเขานะครับ ไม่แน่ว่า Becker อาจเป็นผู้กำกับที่ถูก underrated มากๆคนหนึ่ง ผมเปรียบเทียบฝีมือ จากหนังเรื่องนี้ ผมเทียบชั้นเท่ากับระดับตำนาน Fritz Lang

ในเครดิตนั้นยังมีชื่อ Max Ophüls ขึ้นปรากฏอยู่ แต่ directed by นั้นจะมีแค่ Jacques Becker, ในหนังก็มีนักแสดงหลายคนที่ไม่ขึ้นในเครดิต ไม่รู้แอบมีปัญหาอะไรกันหรือเปล่า

นำแสดงโดย Gérard Philipe ชายหนุ่ม เนื้อหอม สุดหล่อและกำลังโด่งดัง แต่หมอตรวจพบว่าเป็น Liver Cancer (มะเร็งตับ) มีชีวิตอยู่ได้อีกไม่กี่ปีเท่านั้น เขารับเล่นหนังเรื่องนี้เพราะ Modigliani ก็ป่วยหนักใกล้ตายเหมือนกัน นี่เลยกลายเป็นว่า Philipe ได้ถ่ายทอดความรู้สึกตัวเองออกมาในตัวละครนี้ แน่นอนว่ามันต้องยอดเยี่ยม สมจริง สีหน้าขณะใกล้ตายที่ซีดเซียว หมดแรง มันเหมือนว่า Philipe กำลังจะล้มลงเสียชีวิตในจริงๆ, หนังฉายปี 1958 และ Philipe เสียชีวิตปี 1959 (รวมอายุ 36 ปี) อะไรมันจะบังเอิญคล้องจองกับเนื้อเรื่องในหนังขนาดนี้

นำหญิง Anouk Aimée รับบท Jeanne Hébuterne คนรักคนสุดท้ายของ Modigliani ในหนังตัดประเด็นเรื่องทั้งสองมีลูกด้วยกันคนหนึ่งแล้วออกไป, ตอนที่ Modigliani จะเสียชีวิต ขณะนั้นเธอก็กำลังท้องลูกอีกคนด้วย พอเธอรู้ข่าววันต่อมาก็ได้ฆ่าตัวตายพร้อมลูก (ตายท้องกลม), ผมรู้สึกโชคดีมากที่หนังไม่ได้นำเสนอจุดนี้ ไม่งั้นมันจะโคตร Tragedy หดหู่ และหลอนสุดๆเลย, เห็นว่าลูกสาวของ Modigliani เป็นคนขอผู้กำกับ Becker ให้เปลี่ยนตอนจบ ความตั้งใจแรกของ Becker จะให้มีฉาก Jeanne ฆ่าตัวตายด้วย ในหนังตัดออกไปนะครับ จบแบบนี้หัวใจผมยังรับไหว, Anouk Aimée เป็นหนึ่งในนักแสดงคนสำคัญของฝรั่งเศส หลังจากได้เล่นหนังของ Federico Fellini เรื่อง La Dolce Vita (1960) เธอก็ดังพลุแตก “rising star who exploded” ได้เล่นหนังดังๆหลายเรื่อง เช่น 8 1/2 (1963), Lola (1961), ได้ Golden Globe Award: Best Actress และ BAFTA Award: Best Actress จาก Prêt à Porter (1994), ได้ Best Actress จากเทศกาลหนังเมือง Cannes เรื่อง A Leap in the Dark (1980), ปี 1995 นิตยสาร Empire โหวตให้เธอเป็น 1 ใน 100 Sexiest Stars in Film History

อีกหนึ่งนักแสดงที่ต้องพูดถึงคือ Lilli Palmer รับบทเป็น Beatrice Hastings เธอเป็นนักเขียน กวีชาวอังกฤษ ช่วงชีวิตหนึ่งอาศัยอยู่ใน Apartment เดียวกับ Modigliani (มีภาพวาดของเธอที่วาดโดย Modigliani ด้วยนะครับ), ผู้หญิงในหนังเรื่องนี้แทบทุกคนจะต้องรู้จักกับ Modigliani คงเพราะหลงเสน่ห์ในตัวเขา และหลายคนได้กลายเป็นแบบให้เขาวาดรูป Hastings ก็เช่นกัน แต่เธอแบบว่ารับ Modigliani (ออกแนว Maso) ยอมให้เขาตบตี แถมชอบเสียอีก เป็นผู้หญิงที่มีคาแรคเตอร์แนวจริงๆ, Palmer เป็นนักแสดงสัญชาติ Germany เกิดในครอบครัว Jewish เคยแต่งงานกับ Rex Harrison และอพยพหนีสงครามย้ายมาอยู่อเมริกา, เธอเคยได้เข้าชิง Golden Globe 2 ครั้ง (ไม่ได้รางวัล), เคยได้ Volpi Cup: Best Actress ของเทศกาลหนังเมือง Berlin จากหนังเรื่อง The Four Poster (1953) และได้ดาวประดับชื่อ Hollywood Walk of Fame

ผมไม่รู้ทำไม Jeanne ถึงตกหลุมรัก Modigliani นะครับ ในหนังบอกว่าเป็นหลงเพราะความหล่อ หรืออาจเป็นเพราะภาพวาดของ Modigliani ที่แสดงถึงตัวตนของคนออกมาจริงๆ, น่าเสียดายที่ Modigliani ทำไม่ดีกับเธอหลายอย่างทีเดียว แต่ Jeanne ก็แบบว่ารักจนตาย ตายแล้วก็ขอตายด้วย (ยังกะมัน Romeo & Juliet)

ถ่ายภาพโดย Christian Matras เป็นตากล้องมาตั้งแต่ Grand Illusion (1937) ของ Jean Renoir เป็นขาประจำของ Max Ophüls หนังเรื่องนี้ถือว่าผู้กำกับภาพยึดสไตล์ของ Ophüls มากกว่า Becker นะครับ แม้กลิ่นอายของหนังจะออกไปทาง Becker มากกว่า อย่างน้อยถือเป็นการให้เกียรติกับผู้กำกับที่ล่วงลับ, มีฉากหนึ่งที่เจ๋งมากๆ ภาพถ่ายมุมเงยเห็นเพดานในบาร์แห่งหนึ่ง ที่ติดกระจกเงาสะท้อนเห็นผู้คนกำลังเต้นรำ ตอนนั้นผมกำลังง่วงๆ ขยี้ตาตื่นคลิกย้อนกลับฉากนี้อีกรอบ เห้ย! สวยว่ะ! ฉากนี้ทำให้ผมนึกเปรียบเทียบกับหนังเรื่อง M (1931) กำกับโดย Fritz Lang ที่ใช้การถ่ายภาพผ่านกระจก เพื่อสะท้อนอารมณ์ ความรู้สึก บางสิ่งอย่างที่อยู่ในจิตใจของตัวละคร, มันมีอีกหลายฉากที่ใช้การถ่ายภาพเล่นกับกระจกแบบนี้ เป็นการล้อกับภาพวาดที่แสดงถึงจิตใจของคน หนังก็มีกระจกนี่แหละที่ใช้แทนกันได้

ตัดต่อโดย Marguerite Renoir ภรรยาของ Jean Renoir, เธอไม่เชิงว่าเป็นขาประจำของ Max Ophüls นะครับ ผมรู้สึกเหมือนหนังเรื่องนี้เป็นการรวมตัวเฉพาะกิจเพื่อร่วมเติมเต็ม สานฝันของ Ophüls ให้สำเร็จ, หนังเรื่องนี้มีการตัดต่อไม่หวือหวาเท่าไหร่ แค่ต่อเนื่อง พอดี มีสะดุดติดขัดบ้าง แต่ไม่มีฉากไหนยาวเกินไป

เพลงประกอบโดย Paul Misraki เป็นนักประพันธ์ที่ได้ร่วมงานกับผู้กำกับฝรั่งเศสชื่อดังแห่งยุคมากมาย จนเขาได้ Chevalier de la Legion d’Honneur เกียรติยศสูงสุด ระดับ Knight ที่มอบให้กับพลเรือนที่สร้างสรรค์ผลงาน สร้างชื่อเสียงให้ประเทศในระดับนานาชาติ, หนังเรื่องนี้เพลงประกอบช่วงแรกๆจะสดใส ช่วงหลังๆจะหลอนๆ หดหู่ มีเสียงไวโอลินที่แหลมเสียดหู, เสียง Pipe Organ (Church Organ) ที่เหมือนคนใกล้ตาย, เพลงประกอบจะใส่แค่บางช่วงเวลานะครับ ช่วงเป็นๆตายๆจริงๆจะไม่มีเสียงเพลงประกอบเลย อาจจะเว้นเพลงตอนจบไว้ ขณะเพลงค่อยๆดังขึ้น บรรยากาศมันหลอนอลังการ น่าสะพรึงกลัวมากๆ มันคือจุดสิ้นสุดของชีวิต แต่ก็คือจุดเริ่มต้นของความยิ่งใหญ่

เปิดเรื่องเริ่มจากใน Cafe แห่งหนึ่ง Modigliani กำลังวาดภาพ portrait ให้ชายคนหนึ่ง พอวาดเสร็จเจ้าของภาพเห็นส่ายหัวไม่เอา, ตอนท้ายๆก่อนที่ Modigliani จะเสียชีวิต เขากลับมาที่ Cafe นี้อีกครั้ง เร่ขายภาพวาด เช่นเดิมไม่มีคนซื้อ, ตั้งแต่ต้นจนจบเรื่องแม้เวลาจะแค่ 1 ปี แต่ก็ทำให้เราเห็นว่า แทบจะไม่มีใครเห็นคุณค่าความสวยงามในภาพวาดของเขาเลย แต่เราจะไม่เห็นภาพวาดของ Modigliani ในชั่วโมงแรกของหนังเลยนะครับ (เห็นเขาวาดแต่จะไม่เห็นภาพที่วาด) นี่นานกว่า Séraphine อีก, ใครที่ดูหนังแนว Monster หรือ Horror มาเยอะๆ นี่เป็นเทคนิคที่ใช้บ่อยมาก สัตว์ประหลาดหรือผีมักจะไม่ค่อยปรากฏตัวมาในช่วงแรกๆของหนัง เป็นการสร้างบรรยากาศ สะสมความอารมณ์ ความรู้สึก และทำให้ผู้ชมอยากรู้อยากเห็นว่าหน้าตาเป็นยังไง น่ากลัวแค่ไหน, ผมไม่ได้เห็นประเด็นนี้ใน Séraphine แต่พอเห็นได้เจอหนังที่ใช้วิธีการคล้ายๆกันนี้อีก มันทำให้ผมเห็นชัดเลย, ก่อนหน้านี้ผมไม่เคยเห็นภาพวาดของ Modigliani มาก่อน ไม่รู้ว่ามันเลวร้ายขนาดไหน ที่ถึงขนาดผู้คนแสดงอาการไม่ชอบออกนอกหน้าขนาดนั้น, ตอนเห็นภาพวาดครั้งแรก ผมไม่ได้รู้สึกว่ามันเลวร้ายเท่าไหร่ แต่มันก็ไม่ได้สวยอะไร ถ้าไม่เคยรู้มาก่อนบอกว่านี่เป็นฝีมือของจิตรกรขี้เมา ก็อาจจะหลงเชื่อทันที

ในหนังเพิ่มตัวละครหนึ่ง Morel รับบทโดย Lino Ventura ไม่น่ามีตัวตนจริงนะครับ มีอาชีพเป็นนักสะสมและนักวิจารณ์งานศิลปะ คำพูดของหมอนี่ตรงมากๆที่ว่า ภาพของ Modigliani จะไม่มีวันขายได้จนกว่าจะเสียชีวิต เหตุผลเพราะเขาดื่มมากเกินไป การสร้างตัวละครนี้มา มองได้ 2 แง่มุม ทั้งดูถูกและชื่นชม เพราะในหนังมีแต่ชายคนนี้ที่เห็นคุณค่าที่แฝงในภาพวาดของ Modigliani แต่การแสดงออกของเขา ทำให้ใครๆต่างเกลียดชัง เพราะรู้ทั้งรู้ว่าหมอนี่พูดจริง แต่การพูดตรงๆแบบนั้น ทำให้ไม่มีใครอยากยอมรับว่าเขาพูดถูก, ตอนจบตัวละครนี้น่ากลัวมากๆ เขามาจากความมืด ด้านหลัง เดินย่องตาม รับชมวาระสุดท้ายของว่าที่จิตรกรเอกของโลก สีหน้าของเขานิ่งสนิท ไม่ยิ้ม ไม่แสดงออก แต่ในใจคงยิ้มกริ่ม ใกล้แล้ว อีกนิด… พอเสียชีวิต เขาวิ่งตรงไปที่ห้องของ Modigliani ที่นั่นมี Jeanne รออยู่ แต่เขาไม่ได้บอกเธอว่าเกิดอะไรขึ้น ต้องการซื้อภาพวาดด้วยเงินสด นี่แหละเวลาที่ข้ารอคอย และเพลงประกอบขณะนี้ พอมันดังขึ้นมามันช่างหลอนสุดๆ เหมือนโจรกำลังมาปล้นบ้านทำไมเธอถึงไม่รู้ตัว!

Les Amants de Montparnasse ว่าไปเป็นหนังที่ไม่เชิงชีวประวัติสักเท่าไหร่ มันเหมือนภาพหลอน ฝันร้ายของชายคนหนึ่ง ด้วยเทคนิคที่เห็นบ่อยในหนัง Horror, เพิ่มส่วนผสมแฟนตาซี อย่างเจ้าหญิงถูกขังไว้ในปราสาท (Jeanne ถูกพ่อขังไว้ในห้อง) เจ้าชายตั้งใจเข้าไปช่วยแต่กลายเป็นเจ้าชายนิทราแทน, ตอนจบที่น่าขนลุกขนพอง เดินท่ามกลางหมอกควัน ภาพเบลอๆหลอนๆ, ถ้าไม่มองว่านี่คือหนังชีวประวัติ ผมอาจจัดเป็น Horror คนที่สามารถจับบรรยากาศนี้ได้จะเห็นความไม่ธรรมดาของผู้กำกับ Jacques Becker เขาผสมผสานบรรยากาศเข้ากับหนังชีวประวัติ นี่ไม่ใช่สิ่งที่ดูแล้วจะเข้ากันได้ หลายคนอาจจะรู้สึกว่าไม่เข้ากัน แต่ผมเป็นพวกชอบความแปลก ก็เลยเห็นชัดและค่อนข้างชอบ บรรยากาศของหนังทำให้ผมรู้สึกเหมือนมันต้องอาถรรพ์ คำสาป แถมผู้สร้างและเรื่องราวยังคาบเส้นอยู่บนความเป็นความตาย มีคนที่เกี่ยวข้องกับหนังตายมากเกินไป

หนังเรื่อง Van Gogh (1991) พูดถึงจิตวิทยาของคนที่กำลังใกล้ตาย, Les Amants de Montparnasse จะคือภาพที่คนใกล้ตายมองเห็นก่อนตาย

Nu couché

ภาพด้านบนนี้คือ ภาพนู้ดที่แพงที่สุดในโลก ผมไม่ขอนับภาพ Les Femmes d’Alger (Version O) ของ Picasso นะครับมันคือภาพ Nude ที่ดูไม่เหมือนมนุษย์เท่าไหร่, Nu Couché (แปลว่า Red Nude) วาดด้วยสีน้ำมัน เมื่อปี 1917 เราจะเห็นภาพนี้ในหนังด้วยนะครับ เป็นหนึ่งในภาพที่ถูกจัดแสดงใน Galerie Berthe Weill เมื่อปี 1917 เป็นการจัดแสดงผลงานครั้งแรกและครั้งเดียวของ Modigliani, ภาพนี้ในหนังถูกตั้งโชว์หน้า Gallery เลยแต่เพราะมันเห็น “ขน” ตำรวจจึงเข้ามาขอให้เอาออก เพราะมันน่าเกลียดและขัดต่อศีลธรรม (จริงๆคือโดนตำรวจสั่งปิดงานเลยนะครับ ไม่ใช่แค่ให้เอาภาพออกไป) ไม่รู้เพราะฉากนี้ในหนังหรือเปล่า ที่ทำให้ภาพนี้กลายเป็นที่สนใจ และกลายเป็นภาพเปลือยที่ราคาสูงที่สุดในโลก

ผมเห็นภาพวาดนี้แล้วนึกถึงภาพเปลือยของ Pan Yuliang ในหนังเรื่อง A Soul Haunted by Painting (1994) นำแสดงโดย Gong Li ผมคงไม่เขียนวิจารณ์หนังเรื่องนี้ แต่จะขอพูดถึงศิลปินแทนนะครับ Yuliang เป็นผู้หญิงจีนคนแรกที่ผลงานได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ ผลงานเอกของเธอคือ ภาพเปลือย, คงเพราะเธอเคยเป็นโสเภณีมาก่อน จึงไม่รู้สึกกระด้างใจขณะวาดภาพเปลือย แต่จีนขณะนั้นปิดกั้นเรื่องนี้อย่างรุนแรง ทำให้เธอต้องลี้ภัยไปอยู่ฝรั่งเศส (นี่ทำให้ภาพวาดของเธอรอดพ้นจากการถูกทำลาย ในช่วง Cultural Revolution ด้วย) ภาพวาด Bathing Women เป็นภาพ Portrait ของตัวเอง (ใช้กระจกสะท้อนตัวเองขณะวาด) สามารถคว้ารางวัล Gold Prize จาก Roman International Art Exhibition เมื่อปี 1928, Pan Yuliang ถือว่าเธอเป็นศิลปินรุ่นบุกเบิกคนสำคัญของเอเชีย และประเทศจีน, หลังจากเสียชีวิต หลายสิบปีจากนั้นกว่าผลงานของเธอจะได้รับการยอมรับในจีน และถูกส่งกลับไปจัดแสดงใน Museum (ตามคำขอก่อนตายของ Yuliang), หลุมฝังศพของเธออยู่ที่ Montparnasse นะครับ เอะ! หรือว่า Montparnasse คือบริเวณที่เป็นเมืองหลวงของศิลปินนักวาดภาพเปลือย (เห็นว่าอยู่ใกล้ๆ Red Zone ของ Paris ด้วยนะครับ นางแบบเปลือยก็จ้างโสเภณีแถวนั้นนะแหละ)

แถมให้อีกย่อหน้ากับ A Soul Haunted by Painting ที่ผมไม่เขียนวิจารณ์หนังเรื่องนี้ เพราะหนังค่อนข้างจืดชืด และนำเสนอผิดจุด อย่างแรกเลยคือการเลือก Pan Yuliang นี่เพราะอาจต้องการขายระดับนานาชาติ (คนยุโรปน่าจะพอรู้จักเธอกันบ้าง) แต่ถ้าพูดถึงงานศิลปะจีน ไม่มีใครนึกถึง Pan Yuliang เลยนะครับ เธอยุคใหม่เกินไป นึกถึงภาพวาดจีนมันต้องใช้พู่กัน วาดบนกระดาษ ลวดลายพริ้วไหว ชดช้อย แบบนั้นน่าจะตีตลาดได้แน่ แต่ผมไม่เคยเห็นหนังแบบนี้เลย ถ้าใครพบเจอรบกวนแนะนำมาหน่อยนะครับ

hollywood เคยพยายามสร้างหนังของ Amedeo Modigliani ด้วยนะครับ เรื่อง Modigliani (2004) นำแสดงโดย Andy García เป็น Modigliani และ Elsa Zylberstein รับบท Jeanne เห็นว่าดับสนิท ขาดทุนย่อยยับ คำวิจารณ์ดิ่งลงเหว ‘คัดเลือกนักแสดงได้ไม่ตรงมากๆ’ เห็นว่าเคยมาฉายใน Bangkok International Film Festival ด้วย ผมคงขอผ่านนะครับ

แนะนำหนังเรื่องนี้กับเด็กสายศิลป์ ศิลปินทั้งหลาย ใครชอบหนังดราม่าแรงๆ แนว Tragedy ดูแล้วปวดใจ ชอบหลอนๆ หดหู่, หนังขาว-ดำ ภาษาฝรั่งเศสอาจคิดว่าดูยาก แต่กลิ่นอายมันเหมือนหนัง Classic ของ Hollywood นะครับ ใครสามารถดูหนังอย่าง Notorious (1946) หรือ Brief Encounter (1945) ก็น่าจะดูหนังเรื่องนี้ได้ จัดเรต 13+ สำหรับความน่ากลัวในจิตใจของตัวละครบางตัว และภาพเปลือยที่เห็นขน! (คำสุดท้ายนี่ประชดนะครับ)

TAGLINE | “Les Amants de Montparnasse คือหนังโคตรอาถรรพ์ เป็นชีวประวัตินำเสนอภาพที่คนใกล้ตายมองเห็นก่อนตาย หลอนติดตา จำติดใจ”
QUALITY | SUPERB
MY SCORE | LIKE

1
Leave a Reply

avatar
1 Comment threads
0 Thread replies
1 Followers
 
Most reacted comment
Hottest comment thread
0 Comment authors
Recent comment authors

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
newest oldest most voted
Notify of
trackback

[…]  Les Amants de Montparnasse (1958) : Jacques Becker & Max Ophüls ♥♥♥◊ The Lovers of Montparnasse เรื่องราวเกี่ยวกับปีสุดท้ายก่อนเสียชีวิตของ Amedeo Modigliani จิตรกรชื่อดังสัญชาติอิตาลี ที่ทั้งชีวิตไม่ได้รับการยอมรับ แต่พอเสียชีวิตแล้ว ภาพ Nu Couché ถือเป็นภาพเปลือย (Nude) ราคาสูงที่สุดในโลก $170.4 ล้านดอลลาร์ (แพงกว่าภาพที่แพงที่สุดของ Van Gogh เสียอีก) […]

%d bloggers like this: