Two English Girls

Two English Girls (1971) French : François Truffaut ♥♥♥

ขณะที่ Jules and Jim (1962) ถือเป็นภาพยนตร์ของวัยรุ่นหนุ่ม, Two English Girls (1971) คือชีวิตและการเติบโตของ François Truffaut เพียงไม่ถึงสิบปีก็ได้พานผ่านอะไรๆมามาก ดีบ้าง ร้ายบ้าง โชคชะตาของรักสามเส้า ทั้งน่าเห็นใจและสมน้ำเน่า

ผมไม่ได้มีอคติอะไรกับหนังรักสามเส้า ไม่ว่าจะชายหนึ่งหญิงสอง ชายสองหญิงหนึ่ง หรือชายสามหญิงสาม แต่สิ่งน่ารังเกียจสุดๆคือการพยายามสร้างความชอบธรรมให้ตนเอง ทำตัวบริสุทธิ์ไร้เดียงสา ฉันผิดอะไรที่ตกหลุมรักใครหลายคนพร้อมกัน โปรดจงสงสารเห็นใจในโชคชะตากรรมนี้เถอะ … ถุย!

การรับชม Two English Girls (1971) ทำให้ผมเข้าใจอย่างถ่องแท้เลยว่า ภาพยนตร์คือสื่อที่สามารถระบายสิ่งอึดอัดอั้น บำบัดอาการชอกช้ำ รักษาความเจ็บปวดทุกข์ทรมานใจ ซึ่ง Truffaut สรรค์สร้างผลงานเรื่องนี้ในช่วงเวลาที่บรรดาชู้รักต่างตีตนออกห่าง ถูกทอดทิ้งขว้าง หลงเหลือเพียงตัวคนเดียว เปล่าเปลี่ยวหัวใจ ถึงขั้นนอนไม่หลับ พยายามคิดสั้นฆ่าตัวตาย แต่ก็ยังรอดชีวิตเพราะได้อ่านนวนิยายอีกเล่มของ Henri-Pierre Roché (ผู้แต่ง Jules and Jim) นี่แหละจะเป็นสิ่งทำให้ฉันก้าวข้ามผ่านช่วงวันเวลาร้ายๆนี้ไปได้

ถ้าการสร้างภาพยนตร์สามารถทำให้ใครสักคนมีชีวิตต่อไป แม้มันจะห่วยแตก เรื่องราวบัดซบสักเพียงไหน ก็เอาเถอะตามสบายใจ ใครไม่ชอบก็ไม่ต้องดู จะฝืนตัวเองอยู่ทำไม … นี่ผมพูดบอกกับตัวเองอยู่นะเนี่ย

ถึงโดยส่วนตัวจะไม่ค่อยชื่นชอบหนังเรื่องนี้สักเท่าไหร่ แต่ก็ต้องยอมรับในศักยภาพผู้กำกับ Truffaut สามารถถ่ายทอดชีวิต สภาพจิตวิทยา และพัฒนาการเติบโตของตนเองทั้งร่างกาย-จิตใจ นำเสนอเรื่องราวที่ว่ากันว่าใกล้เคียงช่วงช่วงชีวิต(ของ Truffaut)มากที่สุดก็ว่าได้


François Roland Truffaut (1932-84) นักวิจารณ์ ผู้กำกับภาพยนตร์ สัญชาติฝรั่งเศส เกิดที่ Paris ไม่รู้บิดาเป็นใคร มารดาแต่งงานสามีใหม่ Roland Truffaut แม้อนุญาตให้ใช้นามสกุลแต่ก็ไม่ได้รักเอ็นดูเหมือนลูกแท้ๆ ถูกปล่อยปละละเลย เคยอาศัยอยู่กับย่าสอนให้อ่านหนังสือ ฟังเพลง รับชมภาพยนตร์เรื่องแรก Paradis Perdu (1939) ของผู้กำกับ Abel Gance เริ่มเกิดความชื่นชอบหลงใหล พอเข้าสู่วัยรุ่นก็มักโดดเรียนแอบเข้าโรงหนัง (เพราะไม่มีเงินจ่ายค่าตั๋ว) ตั้งใจดูให้ได้วันละ 3 เรื่อง และอ่านหนังสือสัปดาห์ละ 3 เล่ม ครั้งหนึ่งเคยลักขโมยเครื่องพิมพ์ดีดของพ่อเลี้ยง เลยถูกส่งไปสถานดัดสันดาน, ประมาณปี 1948 มีโอกาสพบเจอ André Bazin (1918 – 1958) ราวกับพ่อบุญธรรมคนที่สอง ให้ความช่วยเหลืออะไรหลายๆอย่าง ทั้งยังว่าจ้างทำงานนักวิจารณ์นิตยสาร Cahiers du cinéma (ที่ Bazin ก่อตั้งขึ้น) ร่วมกันพัฒนาทฤษฎี Auteur Theory ส่งเสริมสนับสนุนให้สร้างหนังสั้น Une Visite (1955), และภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่องแรกแจ้งเกิด The 400 Blows (1959) กลายเป็นหนึ่งในผู้กำกับรุ่น French New Wave

Truffaut ไม่เชิงว่าเป็นเพลย์บอย แต่เพราะช่วงวัยเด็กขาดความอบอุ่นจากมารดา จึงโหยหาใครสักคนที่สามารถเติมเต็มช่องว่างในหัวใจ พบเจอใครทรงเสน่ห์ เฉลียวฉลาด โดยเฉพาะนักแสดงหญิงที่ร่วมงาน Jeanne Moreau, Catherine Deneuve ก็มักตกหลุมรักหักปลักหัวปลำ ไม่เคยเข็ดหลากจำ เลิกราทีไรก็พยายามฆ่าตัวตายซ้ำแล้วซ้ำอีก แต่ก็มิอาจเอาชนะความขี้ขลาดเขลาของตนเอง

ตั้งแต่ครั้นยังเป็นนักวิจารณ์ Truffaut มีโอกาสพบเจอนวนิยาย Jules et Jim (1952) ยังร้านขายหนังสือมือสอง ซื้อมาอ่านแล้วบังเกิดความหลงใหลคลั่งไคล้ ติดต่อขอพบเจอผู้แต่ง Henri-Pierre Roché พูดคุยจนสนิทสนม ให้คำมั่นสัญญาว่าเมื่อไหร่ตนเองได้เป็นผู้กำกับ จะดัดแปลงสร้างเรื่องราวนี้เป็นภาพยนตร์ … ซึ่งก็สำเร็จกลายเป็น Jules and Jim (1962)

แน่นอนว่า Truffaut ย่อมรับรู้จักนวนิยายอีกเล่มของ Roché เรื่อง Les Deux Anglaises et le Continent (1956) ซึ่งถือเป็นภาคต่อทางจิตวิญญาณของ Jules et Jim (1952) แต่รับรู้ตนเองขณะนั้นว่ายังไม่มีศักยภาพเพียงพอในการดัดแปลงเรื่องราวดังกล่าว กระทั่งหลังจากเลิกรากับ Deneuve ช่วงฤดูใบไม้ร่วงปี 1970 ทำให้เขาตกอยู่ในสภาวะซึมเศร้า กักขังตนเองอยู่ในโรงแรม ข้าวปลาไม่กิน ไม่ยอมหลับยอนนอน จนได้หวนกลับมาอ่านนวนิยายเล่มนี้ ยูเรก้า! นี่คือสิ่งสามารถระบายความอึดอัดอั้น บำบัดความคับข้องใจ ให้พานผ่านช่วงเวลาร้ายๆนี้ได้สำเร็จ

เกร็ด: Truffaut มีโอกาสร่วมงาน Deneuve เมื่อครั้นสรรค์สร้าง Mississippi Mermaid (1969) ซึ่งเธอเลิกราสามีคนเก่ามาสักพักใหญ่ๆ จึงมีความอ้างว้างเปล่าเปลี่ยวหัวใจ โดยไม่รู้ตัวพวกเขาก็ตกหลุมรักกันในกองถ่าย แต่ความสัมพันธ์ก็ไม่ยั่งยืนยาวนาน เธอเป็นคนบอกขอเลิกรา เพื่อเตรียมตัวแต่งงานกับ Marcello Mastroianni

Truffaut ติดต่อร่วมงาน Jean Gruault (1924-2015) นักเขียนสัญชาติฝรั่งเศส เกิดที่ Fontenay-sous-Bois, เป็นอีกสมาชิก French New Wave รู้จักสนิทสนม Truffaut ตั้งแต่เข้าร่วมกลุ่ม Cinémathèque Française เริ่มมีชื่อเสียงจากพัฒนาบท Paris Belongs to Us (1960) และก่อนหน้านี้คือผู้ช่วยดัดแปลงนวนิยาย Jules and Jim (เพราะเจ้าตัวคือหนี่งในเพื่อนสนิทที่เคยเป็นคู่แข่งระหว่างจีบสาว พานผ่านประสบการณ์คล้ายคลึงกัน) ไม่มีใครเหมาะสมไปมากกว่านี้อีกแล้ว

เกร็ด: ช่วงที่ François Truffaut มีโอกาสรับรู้จัก สนิทสนมกับ Henri-Pierre Roché ก็ได้รับความเห็นชอบอนุญาตให้ดัดแปลงนวนิยายทั้งสองเรื่อง รวมทั้งสามารถเข้าถึงไดอารี่ สมุดจดบันทึก ทุกสิ่งที่ยังคงหลงเหลือ นำมาเพิ่มเติมแต่งเข้าไปในการดัดแปลงภาพยนตร์


เรื่องราวเริ่มต้นที่กรุง Paris ช่วงปี 1902, ชายหนุ่ม Claude Roc (รับบทโดย Jean-Pierre Léaud) ได้รับคำชักชวนจาก Anne Brown (รับบทโดย Kika Markham) บุตรสาวของเพื่อนสนิทแม่ ให้เดินทางไปพักร้อนยังริมชายฝั่ง ประเทศ Wales ซึ่งดูจากความจงใจของเธอ เหมือนต้องการชักนำพาให้เขาตกหลุมรักน้องสาว Muriel (รับบทโดย Stacey Tendeter) ที่มีความผิดปกติทางสายตา และมักมีนิสัยเอาแน่เอานอนไม่ค่อยได้ ซึ่งความประสงค์ดังกล่าวก็สำเร็จลุล่วง Claude ตัดสินใจสู่ขอแต่งงาน Muriel แต่กลับถูกทัดทานโดยมารดา(ของ Claude) ตั้งข้อแม้ให้รอคอยเป็นเวลาหนึ่งปี ถ้ายังคงความรักให้กันก็จะไม่กีดขวางกั้นอีกต่อไป

หลังเดินทางกลับมาฝรั่งเศส Claude ก็เริ่มทำงาน หาเงิน จึงมีโอกาสพบเจอผู้คนมากหน้าหลายตา รวมทั้งได้ขึ้นครูกับหญิงสาว เพียงหกเดือนเท่านั้นสิ่งเคยตั้งมั่นก็พลับสูญสลาย เขียนจดหมายขอยกเลิกการแต่งงาน แต่สำหรับ Muriel จากเคยเล่นตัวยื้อๆยักๆ มาคราวนี้กลับมิสามารถปล่อยวางความรู้สึก ยังคงยึดถือมั่นต่อความรักที่เคยมี ส่วน Anne เพราะยังต้องเดินทางมาร่ำเรียนแกะสลักยังกรุง Paris จึงมีโอกาสพบเจอ Claude โดยไม่รู้ตัวค่อยๆมีใจ แล้วยินยอมสูญเสียพรหมจรรย์ให้เขา

เมื่อร่างกายของ Muriel แข็งแรงขึ้นตามลำดับ ก็มีโอกาสเดินทางมา Paris แล้วความสัมพันธ์ของเธอกับ Claude ก็ค่อยๆดีขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่ง Anne ตัดสินใจบอกเล่าสิ่งที่บังเกิดขึ้น …


Jean-Pierre Léaud (เกิดปี 1944) นักแสดงสัญชาติฝรั่งเศส เกิดที่ Paris บุตรของนักแสดง Jacqueline Pierreux ที่ไม่มีเวลาให้ลูกเท่าไหร่ เลยส่งไปโรงเรียนประจำยัง Pontigny ขณะนั้นอายุ 14 ขวบ พอได้ยินข่าวมีการคัดเลือกนักแสดงเด็ก ขึ้นรถไฟหนีมาทดสอบหน้ากล้อง โดดเด่นเข้าตา François Truffaut จนได้รับเลือกให้แสดงนำ The 400 Blows (1959) แล้วตัดสินใจเอาดีด้านนี้ ผลงานเด่นๆติดตามมา อาทิ Masculin, féminin (1966), Last Tango in Paris (1972), Day of Night (1973), The Mother and the Whore (1973) ฯ

รับบท Claude Roc หนุ่มหน้าใสที่ยังไม่รู้ว่าโตขึ้นจะทำอะไร ถูกลวงล่อโดยสองหญิงสาว Anne และ Muriel ให้ตกหลุมรักใคร่ๆ เลือกไม่ได้ว่าจะเอาใคร แต่ความพยายามชี้นำของ Anne ทำให้เขาตัดสินใจจะแต่งงานกับ Muriel แต่ถูกทัดทานจากมารดา มิอาจสามารถอรนทนต่อคำสัญญาหนึ่งปี กลายเป็นเสือผู้หญิงไม้เว้นแม้แต่ Anne กระทั่งได้รับไดอารี่จาก Muriel นั่นทำให้เขาบังเกิดความไม่แน่ใจในตนเองอีกครั้ง ใครกันแน่ที่ฉันต้องการ ตกหลุมรักอย่างแท้จริง?

Truffaut เปรียบเสมือนพ่อบุญธรรมของ Léaud ต่างพานผ่านเหตุการณ์ช่วงวัยเด็กคล้ายๆกัน (ถูกพ่อ-แม่ทอดทิ้งขว้าง เติบโตในสถานดักดาน/โรงเรียนประจำ) พวกเขาจึงมองตาเข้าใจ ร่วมงานจนกลายเป็นขาประจำ จะเรียกว่าตัวตายตัวแทน/อวตาร(ของ Truffaut)คงไม่ผิดอะไร

การแสดงของ Léaud มีความละม้ายคล้ายบทบาทใน The Mother and the Whore (1973) โคตรผลงานที่เอาแต่พูดปากเปียกปากแฉะ ทำตัวอวดฉลาด วางมาดลูกผู้ชาย แต่เมื่อเผชิญหน้าสองสาวพร้อมกัน กลับเต็มไปด้วยความกระอักกระอ่วน โล้เล้ลังเลใจ เลือกไม่ได้ว่าจะชอบใคร เลยหันไปพึ่งพามารดา กว่าจะกล้าครุ่นคิดตัดสินใจด้วยตนเอง อะไรๆก็สายเกินแก้ไข

หลายคนอาจรู้สึกได้ว่าคำพูดของแม่ ส่งอิทธิพลต่อตัวละครอยู่ไม่น้อย (ซึ่งก็สะท้อนถึงตัวผู้กำกับ Truffaut เช่นเดียวกัน) เพราะเธอไม่เชื่อเรื่องความรัก จึงสร้างความโล้เล้ลังเลให้บุตรชาย ความต้องการทางร่างกายเมื่อไม่ได้รับการเติมเต็ม เขาจึงกลายเป็นเสือผู้หญิง ใครก็ได้ที่สามารถเติมเต็มสิ่งขาดหาย ไม่วายว่าจะเป็น Anne หรือ Muriel สุดท้ายก็เลือกไม่ได้อยู่ดี (เหมาสองเลยจะเป็นไรไป!)


Erika S.L. ‘Kika’ Markham (เกิดปี 1940) นักแสดงสัญชาติอังกฤษ เกิดที่ Macclesfield, Cheshire บุตรสาวของนักแสดง David Markham ติดตามรอยเท้าบิดาเข้าสู่วงการภาพยนตร์ หลังพอมีชื่อเสียงกับ Two English Girls (1971) ผลงานส่วนใหญ่ของเธอคือซีรีย์ และภาพยนตร์โทรทัศน์

รับบท Anne Brown ตั้งแต่แรกพบเจอก็น่าจะมีความชื่นชอบพอ Claude Roc แต่กลับทำตัวเป็นแม่พระ พยายามจับคู่กับ Muriel จนกระทั่งพวกเขาตกลงหมั้นหมาย จีงเริ่มเกิดความเข้าใจในความโง่เขลาของตนเอง ภายนอกยังคงทำตัวเข้มแข็งแกร่ง แต่ก็เฝ้ารอคอยโอกาส แล้วยินยอมเสียความบริสุทธิ์(ให้ Claude) จากนั้นก็เริ่มปล่อยตัวปล่อยใจ เพราะมิอาจเผชิญหน้า/พูดบอกความจริงกับน้องสาว

ตัวละครของ Markham ดูมีความสดใสร่าเริง สนุกหรรษากับชีวิต แตกต่างตรงกันข้ามกับ Tendeter ที่ดูเก็บกด เคร่งเครียด (นั่นเพราะ Anne ไม่ได้ประสบเหตุการณ์ฝังใจบางอย่างในอดีตเหมือน Muriel) แต่ความบริสุทธิ์ไร้เดียงสานั้น กลับทำให้เธอสูญเสียความเชื่อมั่นศรัทธาในตนเอง กลายเป็นคนปล่อยตัวปล่อยใจ เปลี่ยนผู้ชายไม่ซ้ำหน้า มิอาจลงหลักปักฐาน ครองคู่แต่งงานกับใคร (แค่ได้สูญเสียพรหมจรรย์ต่อคนรักครั้งแรก ก็ถือว่าเติมเต็มความปรารถนาสูงสุด)


Stacey Tendeter (1949-2008) นักแสดงสัญชาติอังกฤษ เกิดที่ Hemel Hempstead, Hertfordshire หลังพอมีชื่อเสียงกับ Two English Girls (1971) ผลงานส่วนใหญ่ของเธอคือซีรีย์ ภาพยนตร์โทรทัศน์ และละครเวทีเป็นส่วนใหญ่

รับบท Muriel Brown (อาจเพราะ)ความผิดปกติทางสายตาทำให้เธออ่อนไหวต่อสิ่งต่างๆรอบข้างกาย กอปรนิสัยดื้อรั้น เห็นแก่ตัว เอาแต่ใจ ส่วนใหญ่เลยต้องการขังตนเองอยู่ในห้อง กระทั่งถูกตามตื้อตามรังควาญจาก Claude Roc โดยไม่รู้ตัวค่อยๆแปรเปลี่ยนเป็นความรัก ความปรารถนาครองคู่อยู่ร่วม แต่ไม่รู้จะแสดงออกมาเช่นไร ซี่งหลังจากเขาทอดทิ้งเธอไป จีงกลายเป็นคนเก็บกด จมปลักอยู่กับทุกข์โศก มิอาจปล่อยวางรักแรกนี้ได้ลง

พฤติกรรมแสดงออกของ Muriel ยังมีความซับซ้อนยิ่งไปกว่านั้น เพราะเมื่อครั้นยังเป็นเด็กน้อยไร้เดียงสา เพื่อนหญิงได้สอนให้รู้จักการสัมผัส ลูบไล้ ช่วยตนเอง นั่นทำให้เธอเกิดความหมกมุ่นทางเพศอย่างรุนแรง ซี่งการถูกบอกเลิกจาก Claude เป็นเหตุให้ไม่สามารถเติมเต็มความต้องการของร่างกาย เลยค่อยๆสูญเสียการควบคุม หมกมุ่นจนมิอาจปลดปล่อยวางความรู้สีกแรกรัก

ในบรรดาสามนักแสดงนำ บทบาทของ Tendeter เป็นตัวละครที่มีความลีกลับตั้งแต่ยังไม่ได้พบเจอ พฤติกรรมชวนฉงนของเธอ เต็มไปด้วยมิติ บางสิ่งอย่างซุกซ่อนเร้นภายใน ทั้งสีหน้า ท่าทาง และการกระทำ ซี่งเมื่อความจริงได้รับการเปิดเผยออก ก็สร้างความตื่นตะลีง คาดไม่ถีง โอ้แม่เจ้า นี่ฉันพลาดอะไรไปหรือเปล่า … คำสารภาพดังกล่าวของตัวละคร ทำให้ผมรู้สีกสมน้ำหน้า Claude โดยพลัน! (คือถ้าผมเป็น Claude ก็คงไม่นอกใจเธอตั้งแต่แรกหรอกนะ/ไม่สิ ไม่เชื่อฟังคำสั่งแม่ตั้งแต่ต้นแล้วละ)


ถ่ายภาพโดย Néstor Almendros (1930-92) ตากล้องสัญชาติ Spanish เกิดที่ Barcelona แล้วหลบลี้หนีภัย (จากจอมพล Francisco Franco) มาอาศัยอยู่ประเทศ Cuba จากนั้นไปร่ำเรียนการถ่ายภาพยังกรุงโรม Centro Sperimentale di Cinematografia, หวนกลับมาถ่ายทำสารคดี Cuba Revolution (1959) พอถูกแบนห้ามฉายก็มุ่งสู่ Paris กลายเป็นขาประจำผู้กำกับรุ่น French New Wave ร่วมงาน François Truffaut ตั้งแต่ The Wild Child (1970), ผลงานเด่นอื่นๆ อาทิ Days of Heaven (1978) ** คว้า Oscar: Best Cinematography, Kramer vs. Kramer (1979), The Blue Lagoon (1980), Sophie’s Choice (1982) ฯ

แม้ว่าพื้นหลังของหนังจะมีทั้ง Paris, Wales, Belgium แต่ทั้งหมดก็ถ่ายทำยังฝรั่งเศส โดยปักหลักอยู่เมือง Manche ชายฝั่งทางตะวันตกเฉียงเหนือ ส่วนหนึ่งของแคว้น Normandy ติดช่องแคบอังกฤษ (English Channel) มหาสมุทร Atlantic

สำหรับงานภาพ ‘สไตล์ Truffaut’ จะมีความโฉบเฉี่ยวฉวัดเฉวียน เคลื่อน-เลื่อน-หมุน ซูมมิ่ง แช่ภาพ (Freeze Frame) มุมก้ม-เงย ถ่ายจากเฮลิคอปเตอร์ ระยะใกล้-กลาง-ไกล (Close Up-Medium-Long Shot) และช่วงหลังๆยังมีการใช้ Iris Shot ล้วนเต็มไปด้วยลีลาที่ท้าทายภาษาภาพยนตร์ ความเป็นไปได้ไม่รู้จบสิ้น!

งานภาพของหนังอาจไม่ดูลื่นไหลไปเรื่อยๆดั่งสายธารา เหมือนร่วมงานตากล้อง Raoul Coutard แต่ Almendros มีความโดดเด่นกว่ามากๆ ในการถ่ายภาพทิวทัศน์สวยๆด้วยแสงธรรมชาติ และยามค่ำคืนมืดมิดเพียงแสงไฟสลัวๆ ถึงอย่างนั้นช่างภาพอัจฉริยะทั้งสองต่างเคยผ่านพานสงคราม/บันทึกภาพการปฏิวัติ เลยมีลักษณะการทำงาน ‘guarella unit’ ไม่แตกต่างกัน

แม้ว่า Two English Girls (1971) จะไม่ใช่ภาพยนตร์เรื่องแรกของ Truffaut ถ่ายทำด้วยฟีล์มสี Eastmancolor (เรื่องแรกคือ Fahrenheit 451 (1966)) แต่น่าจะเป็นผลงานมีความงดงามที่สุด ด้วยกลิ่นอาย Impressionist จากการเดินทางไปพักผ่อนยังเมืองตากอากาศ ชายฝั่งติดทะเล ท้องฟ้า เนินเขาเขียวขจี ทิวทัศน์สวยๆ … น่าเสียดายที่หนังไม่รู้จะมีโอกาสได้รับการบูรณะหรือเปล่านะ เพราะสีสันจากฟีล์มเก่า มันดูซีดเซียวไปตามกาลเวลา


หนังเริ่มต้นด้วยการเล่นชิงช้าของ Claude Roc แฝงนัยยะตรงๆถึงความมักมาก ทะเยอทะยาน ตั้งความคาดหวังต่ออะไรๆไว้สูง สุดท้ายย่อมเกิดอุบัติเหตุพลัดตกหล่นลงมาได้รับบาดเจ็บ ซึ่งก็สะท้อนเข้ากับความต้องการครอบครองหญิงสาวทั้งสอง สุดท้ายก็กินแห้วไม่ได้แดกสักคน!

การบาดเจ็บทางกาย ไม่นานเดี๋ยวก็รักษาหาย ยังล้อกับช่วงท้ายที่ Claude ได้รับบาดเจ็บทางจิตใจ นั่นต่อให้หนังจบ ผู้ชมก็ยังรู้สึกรวดร้าวทุกข์ทรมาน

นี่เป็นช็อตที่บอกใบ้ตั้งแต่ต้นเช่นกันว่า Claude ยังอยู่ภายใต้การควบคุมครอบงำ/ชี้ชักนำทางของมารดา ยืนค้ำศีรษะ แม้เพียงพูดแสดงความคิดเห็น แต่เขาก็ยินดีน้อมรับปฏิบัติตามคำสั่ง

อาการบาดเจ็บของ Claude ไม่จำเป็นต้องใช้ไม้เท้าอีกต่อไป Anne จึงขอให้เขาก้าวเดินด้วยลำแข้งตนเอง (บอกเป็นนัยว่า โตป่านนี้แล้ว ยังจะพึ่งพามารดาอีกทำไม) ซึ่งหลังชายทดลองเดินขึ้นบันได ก็เกาะแขนหญิงสาวดำเนินต่อไป

อีกสิ่งน่าสนใจก็รูปปั้นเปลือยที่อยู่กึ่งกลางระหว่างพวกเขา นั่นสะท้อนความต้องการแท้จริงของหนุ่ม-สาว แต่ขณะนั้นยังมีหลายสิ่งอย่างเป็นเส้นบางๆกีดขวางกั้น

เป็นอีกครั้งที่หนังนำเสนออิทธิพลของแม่ต่อ Claude ผ่านการซ้อนภาพใบหน้าของเธอกับขบวนรถไฟ ระหว่างกำลังออกเดินทางมุ่งสู่ Wales ให้ความรู้สึกเหมือนเธอมีแผนการอะไรบางอย่างซุกซ่อนเร้นไว้

แม้ทิวทัศน์เดียวกัน แต่ไม่มีมนุษย์คนไหน ชายหรือหญิง จะวาดภาพออกมาได้เหมือนเปะ ซึ่งก็สะท้อนมุมมอง ทัศนคติ ความต้องการของทั้ง Claude และ Anne ที่แตกต่างออกไป

  • Anne วาดออกมาให้ดูเหมือนจริง (Realist) ดั่งธรรมชาติ
  • Claude มีสัมผัสของ Impressionist จากการเลือกใช้สีสันที่มีความโดดเด่นกว่าปกติ

แรกพบเจอระหว่าง Claude กับ Muriel หญิงสาวจำเป็นต้องใช้ผ้าพันตา เพราะไม่สามารถรับแสงสว่างเจิดจร้า นั่นแสดงว่าเธอเป็นตัวแทนของความมืดมิด บางสิ่งอย่างชั่วร้ายซุกซ่อนเร้น ยังถูกปกปิด ไม่ได้รับการเปิดเผย ไม่มีใครมองเห็น (ดวงตาเป็นหน้าต่างหัวใจ การปิดดวงตา คือยังไม่ยินยอมเปิดเผยออกให้ใครพบเห็นธาตุแท้จริงภายใน)

ภายในแว่นตาดำของ Muriel ระหว่างจับจ้องมอง Claude พบเห็นกองไฟที่ลุกโชติช่วง (ภายในเต็มไปด้วยความลุ่มร้อน ร่านราคะ) แต่ไม่นานเธอก็ต้องเบือนหน้าหนี มิอาจเปิดเผยบอกความต้องการแท้จริงจากภายใน

อีกเหตุผลที่เธอเบือนหน้านี้ เพราะเกมจับคู่(ถูกชี้นำโดยผู้ใหญ่)บอกให้ Claude กับ Anne ยื่นหน้าเข้าหากัน ตำแหน่งพื้นหลังเปลวไฟกำลังลุกโชติช่วง … สองช็อตนี้สะท้อนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับพวกเขาทั้งสาม หลังจาก Claude ได้สานสัมพันธ์/ร่วมรักกับ Anne จึงทำให้ Muriel ต้องเบือนหน้าหนี ยินยอมรับความจริงไม่ได้

หนึ่งในเกมที่ทั้งสามละเล่นกัน มันดูคล้ายๆชักเย่อ ใครปล่อยมือหลุดก็ต้องหยุดยืนนิ่ง ซึ่งก็สะท้อนความสัมพันธ์รักสามเส้า เริ่มจาก Muriel เป็นคนแรกที่ปล่อยมือ Claude จึงเข้าไปหมุนตัวกับ Anne จากนั้นทั้งสามก็เริ่มแก่งแยกชายหนุ่ม … วนไปวนมาอยู่อย่างนั้น

ช็อตปิคนิคเล็กๆที่ซ่อนเร้นนัยยะสุดลึกซึ้ง! ภาพแรก Claude นั่งอยู่กึ่งกลางระหว่างสองสาว แต่เขาปฏิเสธที่จะเลือกหันไปมองข้างใด/ใครสักคนหนึ่ง จึงตัดสินใจลุกขึ้นแล้วมานั่งตรงตำแหน่งภาพสอง เพื่อให้สามารถจับจ้องมองเห็นพวกเธอทั้งสองได้พร้อมๆกัน … กล่าวคือ ฉันอยากได้เธอทั้งสองคน ไม่อยากเลือกเพียงคนใดคนหนึ่ง ซึ่งนั่นทำให้สาวๆกอดอก เท้าสะเอว แสดงความไม่พึงพอใจอยู่เล็กๆ

ฉากนี้ก็เช่นกัน แต่ Claude ถูกมารดา(ของสองสาว) ชี้นำให้นั่งอยู่ตำแหน่งกึ่งกลาง แล้วถูกเบียดเสียด บดขยี้ ได้รับการถูไถจากหญิงสาวทั้งสอง แล้วเธอก็นั่งมองเด็กๆกำลัง Threesome ด้วยรอยยิ้มกริ่ม ท่ามกลางวันฝนพรำ

เมื่อความสัมพันธ์ระหว่าง Claude กับสองสาว พัฒนามาถึงจุดที่ผู้ใหญ่(มารดาของพวกเธอ)มองว่า เริ่มจะเกินเลยความใสซื่อบริสุทธิ์ของเด็กๆ ถ้ายังอาศัยอยู่ร่วมชายคามันเริ่มดูไม่เหมาะสมสักเท่าไหร่ จึงสั่งให้เขาย้ายออกไปอาศัยหลับนอนยังบ้านอีกหลัง

ความแตกต่างของสองห้องนอนที่ Claude พักอาศัย คือโทนสีผนังจากน้ำเงิน (ที่ดูสดชื่น มีชีวิตชีวา) กลายเป็นเขียวตุ่นๆ (แห้งแล้ง หนาวเหน็บ) และบริเวณช่องสี่เหลี่ยมเหนือหัวเตียง จากเคยสามารถมองออกนอกหน้าต่างเห็นท้องทะเล สู่ผนังทึบที่เป็นชั้นวางหนังสือ

ภาพวาดนี้ค่อนข้างน่าสนใจทีเดียว (ไม่รู้ใครคือศิลปิน) สิ่งที่ผมพบเห็นประกอบด้วยชายหนุ่มสวมชุดแดง (Claude) นั่งไขว่ห้างเตะท่าดั่งพระราชา มีหญิงสาวสามคน หนึ่งนั่งอยู่ข้างๆกำลังเกี้ยวพา อีกสองคนจับจ้องมอง หนึ่งยืน หนึ่งนั่ง … คนที่ยืนน่าจะแทนด้วยมารดา ส่วนสองสาวในรูปก็คือ Anne (นั่งชิดใกล้) กับ Muriel (นั่งจับจ้องมอง)

จากเคยเป็นเพื่อนเล่นสนุก พอผู้ใหญ่ครุ่นคิดว่าพวกเขากำลังมีความสัมพันธ์เกินเลยเถิด จึงสร้างกำแพงขึ้นมากีดกัน กั้นขว้าง ทั้งธรรมชาติ รั้วไม้ รั้วหนาม และพลัดพรากจากยังทางรถไฟ สะท้อนถึงกฎกรอบ ขนบธรรมเนียมประเพณี สิ่งที่ผู้คนในอดีต(และปัจจุบัน)ยังคงยึดถือมั่น มีอิทธิพล ควบคุมครอบงำ บีบบังคับให้ลูกหลานต้องปฏิบัติตามคำสั่ง

ผมรู้สึกว่า Truffaut พยายามชี้นำผู้ชมถึงเหตุผลที่ Claude ไม่สามารถมีความเชื่อมั่นคงต่อ Muriel เพราะอิทธิพลจากสังคม สภาพแวดล้อมรอบข้าง สถานที่ที่เขาย้ายมาปักหลัก พักอาศัย ทำงานยังกรุง Paris แค่เพื่อนข้างห้องที่เป็นศิลปิน ภาพนู๊ดของเธอย่อมสร้างความลุ่มหลงใหล ร่านราคะ ใครกันจะไปอดกลั้นทัดทาน

การนอกใจ/ผันแปรเปลี่ยนของ Claude ถูกนำเสนอเชิงสัญลักษณ์ผ่าน Muriel ระหว่างกำลังตีโต้(เทนนิส)กับ Anne พระอาทิตย์สาดส่องแสงเข้าดวงตา ทำให้เธอมองเห็นภาพของ Claude (พร้อมเสียง Sound Effect ที่เหมือนหูดับ) ให้ความรู้สีกเหมือนลางบอกเหตุ คล้ายๆวิญญาณคนตายมาบอกร่ำลา (แต่ในบริบทนี้คือ Claude สูญเสียความรักต่อ Muriel ไม่่ได้ตกตายจากไป)

ช็อตสุดท้ายในช่วงการรำพันความทุกข์โศกของ Muriel ถ่ายจากนอกหน้าต่างยามค่ำคืนฝนพรำ เธอถอดแว่นดำแล้วพูดว่า ‘ชั่วชีวิตนี้ฉันจะไม่ขอแต่งงาน’ แม้ภายนอกดูเข้มแข็งแกร่ง แต่ภายในก็เหมือนสภาพอากาศ (ธารน้ำตากำลังร่วงไหลริน)

นี่เป็นช็อตล้อกับช่วงแรกที่ Claude และ Anne กำลังวาดรูปทิวทัศน์ท้องทะเล แต่ขณะนี้หลงเหลือเพียง Anne กลับทิศทางมาวาดสิ่งที่อยู่บนภาคพื้น มี Muriel นั่งเหงาหงอยเศร้าซีมอยู่เคียงข้าง … สะท้อนถีงความเปลี่ยนแปลงหลังจากนี้ จะตารปัตรตรงกันข้ามกับครี่งแรกโดยสิ่งเชิง

การหวนกลับมาพบเจอกันระหว่าง Claude และ Anne เพราะต่างเติบโตเป็นผู้ใหญ่ คราวนี้ไม่มีสิ่งใด หรือใครจะคอยควบคุมครอบงำพวกเขาอีกต่อไป! ต่อจากนี้ชายหนุ่มจะเปลี่ยนมาจับหน้าอกแฟนสาว ไม่ใช่ดูดนมจากเต้ามารดาอีกต่อไป

ผมค่อนข้างชอบช็อตนี้เพราะรูปปั้นด้านข้างที่แลดูเหมือนศีรษะมารดา (Claude และ Anne) ได้กลายเป็นสิ่งเลือนลาง เจือจางหาย (ยังปั้นไม่เสร็จ มีเพียงเค้าโครงร่าง) และต่อจากนี้ Anne จะเอาผ้ามาปิดปกคลุม ไม่ต้องการให้พบเห็น แสดงถีงการสูญเสียอิทธิพล มิอาจบีบบังคับการกระทำของพวกเขาได้อีกต่อไป

หลังจากยื้อยักเล่นตัวมาสองวัน ชุดชั้นในที่ Anne สวมใส่สำหรับการเสียพรหมจรรย์คือเสื้อเหลือง กางเกงแดง (สัญลักษณ์ของเลือด/เสียความบริสุทธิ์) ยังกระท่อมริมน้ำ บนเตียงนอนกองฟาง ห่างไกลสายตาผู้คน (สะท้อนว่าการกระทำของพวกเขานี้ ร่วมรักโดยไม่ได้แต่งงาน ยังเป็นสิ่งที่สังคมยุคสมัยนั้นยังไม่สามารถยินยอมรับ จีงต้องหลบซ่อนเร้น ปกปิดบังสิ่งบังเกิดขี้น)

ผมแอบชอบภาพวาดทางขวามือของ Claude เพราะหลังจากเขาได้เปิดบริสุทธิ์ Anne ต่อจากนี้เธอจะโอ้ลัลล้า เริงระบำไปกับอิสรภาพแห่งชีวิต ไม่ถูกควบคุมครอบงำยีดติดกับบางสิ่งอย่างอีกต่อไป กลับตารปัตรกลายเป็นเขาที่ต้องวิ่งไล่ติดตามหลัง (ถ้ายังอยากจะครอบครองรักกับเธออีก ครั้งต่อไป)

เป็นอีก Sequence ที่มีไดเรคชั่นน่าสนใจมากๆ หลังจาก Anne พบรักครั้งใหม่กับ Diurka (รับบทโดย Philippe Léotard) หลังจากผ่านค่ำคืนวาน วันถัดมาเธอถีงค่อยเปิดประตูห้องให้ Claude เดินจากในห้อง (Anne เดินนำ) ออกมายังสวน (Claude สลับมาเดินนำ) แล้วค่อยกลับสู่ห้องนอน

  • Anne เดินนำออกจากห้องไปยังสวน พร้อมเล่าเรื่องที่สะท้อนความต้องการของตนเอง (ต้องการกำหนดทิศทางชีวิตของตนเอง)
  • Claude ไม่พีงพอใจเล็กๆที่ Anne จู่ๆแสดงความรักต่อคนอื่น เขาจีงเดินกลับนำหน้า
  • แต่หลังจากทั้งคู่ปรับความเข้าใจกัน Claude ยินยอมมอบอิสรภาพให้ Anne ทำตามเสียงเพรียกเรียกร้องหัวใจ พวกเขาเลยกลับเข้ามาในห้อง และเติมเต็มความต้องการของกันและกัน มุมกล้องถ่ายจากด้านนอกพบเห็นกรงเหล็ก (สะท้อนการกระทำนี้เป็นสิ่งที่ยังต้องถูกปกปิดซ่อนเร้น กักขังไว้ภายในจิตใจพวกเขา มิอาจเปิดเผยออกสู่สาธารณะ ยุคสมัยนั้นยังไม่ยินยอมรับพฤติกรรมมั่วรัก/หลายใจ)

หลังกลับจากหมอดูทำนายทายทักโชคชะตาสองสาว (ได้อย่างแม่นยำ!) Muriel ตัดสินใจส่งมอบไดอารี่ส่วนตัว ฝากฝัง Anne ส่งให้อดีตชายคนรัก Claude ซึ่งช็อตนี้พวกเธออยู่ภายใน-นอก นั่ง-ยืน เป็นการแบ่งแยกความแตกต่างที่เริ่มเด่นชัดขึ้นเรื่อยๆ (Muriel ยังคงหมกมุ่นยึดติดในความรัก, ตรงกันข้ามกับ Anne โลดแล่นภายนอกอย่างเพลิดเพลินสำเริงกาย)

สำหรับเนื้อหาที่อยู่ในไดอารี่นั้น นำเสนอด้วยเสียงพูดของ Muriel แล้วกล้องค่อยๆซูม/เคลื่อนเข้าใกล้ตัวละคร ตัดสลับภาพย้อนอดีต เหตุการณ์บังเกิดขึ้นวัยเด็ก และท้ายสุดมาจนถึงดวงตาของเธอ ซึ่งถ้ามองลึกเข้าไปจะพบเห็นแสงสว่าง(ภายในดวงตา) แต่ละข้างจะมีสองวง(สองเหลี่ยม) ซึ่งสามารถสะท้อนถึงภายนอก-ใน ร่างกาย-จิตใจ สิ่งที่เธอแสดงออก-ความต้องการแท้จริงปกปิดซ่อนเร้นไว้

หลังอ่านจดหมาย/ไดอารี่นั่นจบ ช็อตของ Claude จะมีสองภาพวาดวางอยู่เคียงข้าง ซึ่งสามารถสะท้อนอารมณ์ ความรู้สึกนึกคิด ปฏิกิริยาของเขาที่ไม่สามารถพูดบอก แสดงออก หรือเสียงบรรยายพรรณาออกมาได้

  • ภาพแรกเด็กๆจับจ้องมองชายคนหนึ่ง กำลังชี้นิ้วออกไปยังท้องฟากฟ้าห่างไกลจากตึกรามบ้านช่อง, นี่น่าจะสะท้อนถึงเรื่องราวที่ Muriel เปิดเผยต่อ Claude เป็นสิ่งที่เขามองไม่เห็น คาดไม่ถึง อยู่ไกลออกไป
  • ซึ่งนำมาสู่ภาพสองคือทิวทัศน์ ผิวน้ำ ผืนป่า และท้องฟากฟ้า (นั่นคือสิ่งที่ชายในภาพแรกชี้นิ้วออกไป) ผมมองว่ามันคือการได้รับอิสรภาพ หวนกลับสู่ธรรมชาติชีวิต หรือคือปลุกเร้าสันชาตญาณดิบของ Claude (ที่ต้องการครอบครองเป็นเจ้าของ Muriel)

การจากไปของแม่ นำเสนอผ่านหยาดน้ำตา และผ้าผืนใหญ่ด้านหลังถูกปลดลงจากตึก สื่อถึงการสูญเสียบุคคลผู้อยู่เบื้องหลัง เป็นที่พึงพักพิง ต่อจากนี้เขาจะหลงเหลือเพียงตัวคนเดียว ต้องครุ่นคิดตัดสินใจอะไรๆด้วยตนเอง

ความสัมพันธ์ระหว่าง Claude และ Anne มาถึงจุดที่เกิดรอยร้าว กระจกด้านหลังแตก แต่ไม่ใช่ว่าพวกเขาบังเกิดความขัดแย้งอะไรกัน แค่ว่าการมาถึงของ Muriel สร้างความกระอักกระอ่วน กระวนกระวาย โล้เล้ลังเลใจให้ทั้งคู่ เราจะเปิดเผยบอกความจริงต่อเธอยังไงดี

การหวนกลับมาพบเจอ Muriel เธอยืนแน่นิ่งเหมือนรูปปั้น ความทรงจำที่เลือนลางของ Claude ต้องปิดผ้าม่าน ถอดแว่นดำ ถึงสามารถพูดคุยขยับเคลื่อนไหว แล้วถาโถมเข้าใส่ แต่เขากลับพยายามหยุดยับยั้งชั่วใจ จนกว่าเธอจะรับล่วงรู้ความจริง (เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่าง Claude กับ Anne) ถ้าถึงจุดนั้นยังยินยอมรับได้ ค่อยว่ากันอีกที

สถานที่ที่ Anne เล่าบอกทุกสิ่งอย่างกับ Muriel คือห้องนอน (ทุกสิ่งอย่างสีขาวบริสุทธิ์) สถานที่ส่วนตัวของหญิงสาว ใช้การเลียบๆเคียงๆ ไม่พูดบอกออกมาตรงๆ แต่ก็สามารถเกิดความเข้าใจ นั่นทำให้เธอลุกขึ้นเดินหมุนวน วิงเวียง ท้องไส้ปั่นป่วน ยินยอมรับสภาพความจริงไม่ได้ ทำให้เช้าวันถัดมาขึ้นรถไฟเดินทางกลับเกาะอังกฤษโดยทันที!

ล้อกับตอนต้นที่เป็นภาพใบหน้ามารดา, ขณะนี้คือการซ้อนภาพ Muriel ระหว่างเธอโดยสารรถไฟเดินทางกลับบ้าน ไม่สามารถยินยอมรับความสัมพันธ์ระหว่าง Claude กับ Anne … ภาพนี้น่าจะต้องการสื่อว่า Muriel ได้กลายเป็นบุคคลผู้มีอิทธิพลครอบงำ Claude (แทนมารดาที่เสียชีวิตจากไปแล้ว)

ฉากถัดจากนี้จะพบเห็น Claude กักขังตนเองอยู่ในห้องมืด จมปลักอยู่กับความเจ็บปวดทุกข์ทรมานใจ หมกมุ่นในความรู้สึกผิด (เป็นผลกรรมย้อนกลับหาตนเอง ที่เคยสร้างความรวดร้าวให้ Muriel หลังขอยกเลิกการแต่งงาน)

การจากไปของ Anne หนังใช้เทคนิค Iris Shot กรอบวงกลมค่อยๆเคลื่อนห้อมล้อมใบหน้าหญิงสาว สื่อถึงชีวิตที่ค่อยๆมืดมิดดับสิ้นลง ซึ่งคำพูดประโยคสุดท้ายของเธอ เป็นการเคารพคารวะ Emily Brontë (1818-48) นักเขียนนวนิยาย/บทกวี สัญชาติอังกฤษ เจ้าของผลงานอมตะ Wuthering Heights (น่าจะเป็นวรรณกรรมเรื่องโปรดของ Truffaut) ซึ่งก็ป่วยวัณโรคแต่กลัวการหาหมอ จนพออาการเริ่มหนักเลยยินยอมตอบรับ ถึงอย่างนั้นก็สายเกินกว่าจะช่วยไว้ได้ทัน นั่นเลยกลายเป็นคำพูดประโยคสุดท้ายในชีวิต

If you send for a doctor, I will see him now.

Anne Brown/Emily Brontë

สำหรับ Claude หลังจากได้รับรู้การเสียชีวิตของ Anne หนังใช้ไดเรคชั่นเดียวกันคือ Iris Shot ซึ่งสะท้อนว่าบางสิ่งอย่างภายในจิตใจของเขาได้สูญสิ้น ตายจากไปในวินาทีนี้ (แต่เขายังมีลมหายใจอยู่นะครับ)

หลายคนก็น่าจะคาดเดาได้ไม่ยาก นวนิยาย Jerome et Julien ที่ตีพิมพ์โดย Claude Roc เป็นการสื่อตรงๆถึง Jules et Jim จะเรียกว่า อัตชีวประวัติซ้อนอัตชีวประวัติ ก็คงไม่ผิดอะไร และตอนจบของช็อตนี้เป็นอีก Iris Shot ซึ่งยังสามารถสื่อถึงเรื่องราว(ในหนังสือ)ที่จบสิ้นลง ความสัมพันธ์รักสามเส้า ตอนนี้เหลือแค่เราสองคนแล้วละ

Claude หาโอกาสหวนกลับมาพบเจอ Muriel ได้ในที่สุด ซึ่งพื้นหลังของทั้งคู่เป็นเงาสะท้อนพื้นผิวน้ำ อาบฉาบบนโครงเหลือเรือสำราญ ซี่งสะท้อนความสัมพันธ์ของทั้งคู่สามารถเปิดเผย ไม่จำเป็นต้องปกปิดซ่อนเร้นอีกต่อไป

เลือดพรหมจรรย์ของ Muriel คือครั้งแรกและครั้งสุดท้ายกับ Claude มันคือการทำลายความสัมพันธ์ เพื่อให้หญิงสาวสามารถทอดทิ้งอดีต เริ่มต้นชีวิตใหม่ ไม่หมกมุ่นยึดติดกับสิ่งที่พานผ่านไป … กลับตารปัตรกับ Claude เพราะทำให้เข้ามิอาจลืมเลือนช่วงเวลา เหตุการณ์ทั้งหมด จมปลักอยู่กับความทุกข์เศร้าโศกตราบจนวันตาย

เป็นอีกครั้งที่ Truffaut ใช้การเดินไปเดินมาของตัวละครสื่อสะท้อนเรื่องราวความสัมพันธ์ ประเดี๋ยว Claude ออกนำหน้า ประเดี๋ยว Muriel งอนง้อหันกลับหลัง เพิ่มเติมคือขบวนรถไฟขยับเคลื่อนดำเนินไป บางครั้งก็พบเห็น บางครั้งก็ถูกตู้โดยสารบดบัง ผมขี้เกียจวิเคราะห์แล้ว ก็ลองไปครุ่นคิดตีความกันเอาเองนะครับ

กระจกที่เคยแตกร้าวถูกซ่อมแซม แต่ก้าวเดินต่อไปของ Muriel กลับมีเพียงโถงทางแคบๆ ปกคลุมด้วยความมืดมิด ปิดประตูห้องหัวใจ อนาคตมองไปไม่เห็นอะไร ใช้ชีวิตอย่างโดดเดี่ยว ตามหนี้กรรมเคยกระทำไว้กับสองสาว

ตัดต่อโดย Yann Dedet (เกิดปี 1946) สัญชาติฝรั่งเศส เพิ่งเริ่มต้นมีผลงานแรก Two English Girls (1971) ทำให้กลายเป็นขาประจำผู้กำกับ François Truffaut จนถีงเรื่องสุดท้าย

ดำเนินเรื่องโดยใช้มุมมองสายตาของ Claude Roc ประกอบเสียงบรรยายของผู้กำกับ François Truffaut เองเลย แต่จะมีหลายครั้งนำเสนอเรื่องราวของ Anne & Muriel ในลักษณะเล่าย้อนอดีต ผ่านจดหมาย ไดอารี่ เฉพาะในช่วงเวลาที่ส่งผลประทบต่อสภาพจิตใจพวกเธออย่างรวดร้าว รุนแรง

  • อารัมบท แรกพบเจอระหว่าง Claude กับ Anne ได้รับคำชักชวนให้ไปท่องเที่ยวพักผ่อนยังประเทศ Wales
  • บ้านพักตากอากาศที่ประเทศ Wales, ช่วงเวลาแห่งความสนุกหรรษาของ Claude, Anne และ Muriel
  • หนึ่งปีแห่งการแยกจาก
    • Claude เดินทางกลับมา Paris ได้เปิดโลกทัศน์ใหม่ ไม่สามารถอดกลั้นต่อสิ่งยั่วเย้าภายนอก
    • Muriel เมื่อได้รับจดหมายยกเลิกแต่งงาน ก็จมปลักอยู่กับความทุกข์เศร้าโศกมิอาจปล่อยวาง
  • พรหมจรรย์ของ Anne
    • Anne ออกเดินทางสู่ Paris แล้วได้พบเจอ Claude
    • สุดสัปดาห์แห่งการสูญเสียพรหมจรรย์
    • รักครั้งใหม่ของ Anne ทำให้ Claude จำใจต้องสูญเสียเธอไป
  • การกลับมาของ Muriel
    • Muriel ส่งไดอารี่ส่วนตัว เล่นอดีตที่เคยประสบพานผ่านมา สร้างความอ้ำอึ้งให้กับ Claude
    • วันหนึ่ง Claude มีโอกาสพบเจอ Muriel อีกครั้ง
    • แต่หลังจาก Anne เล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นให้ Muriel เธอยินยอมรับความจริงไม่ได้
  • จับปลาสองมือ ถ้าไม่สำเร็จก็จักสูญเสียทั้งคู่
    • อาการป่วยไม่คาดฝันของ Anne … เล่าผ่านมุมมอง/เรื่องเล่าของ Diurka
    • การกลับมาอีกครั้งของ Muriel เพื่อที่จะ …
  • ปัจฉิมบท หลายสิบปีผ่านไป Claude พยายามจับจ้องมองหา แต่ก็พบเห็นเพียงความเวิ้งว่างเปล่า

หนึ่งใน ‘สไตล์ Truffaut’ คือการใช้เสียงบรรยายแทนความครุ่นคิด สิ่งที่ตัวละครไม่สามารถแสดงออก หรือกระทำได้แต่ต้องการรวบรัดตัดตอนเนื้อหา เลยไม่ถ่ายให้เห็นภาพเหตุการณ์บังเกิดขึ้น (ให้ความรู้สึกเหมือนการพรรณาของนวนิยาย เพื่อช่วยเติมเต็มอรรถรสในการอ่าน) ซึ่งครั้งนี้ Truffaut เป็นผู้ให้เสียงบรรยายด้วยตนเอง เพราะนี่คือเรื่องราวใกล้ตัวใกล้หัวใจที่สุด ให้ใครอื่นพูดมันคงไม่ได้ดั่งใจเท่าไหร่

เนื่องจากผมมีโอกาสรับชมฉบับ Director’s Cut (ที่เพิ่มเติมเนื้อหาจาก 108 นาที เป็น 132 นาที) เลยค่อนข้างรู้สึกว่าหลายๆฉากมีความเยิ่นยาวเกินจำเป็น แถมทำลายโครงสร้างหนังให้ดูบิดๆเบี้ยวๆพอสมควร ไม่แน่ใจว่าฉบับดั้งเดิมจะมีปัญหาพวกนี้ไหมนะ


เพลงประกอบโดย Georges Delerue (1925 – 1992) นักแต่งเพลงระดับตำนาน สัญชาติฝรั่งเศส เกิดที่ Roubaix ในครอบครัวนักดนตรี ตั้งแต่ชื่นชอบเล่นคาริเน็ต (Clarinet) มีความหลงใหล Richard Strauss แต่พอตรวจพบว่าเป็นโรคกระดูกสันหลังคด (scoliosis) เลยจำต้องเปลี่ยนมาเป็นคีตกวี ร่ำเรียนยัง Conservatoire de Paris จากนั้นเขียนเพลงประกอบละครเวที บัลเล่ต์ โอเปร่า หนังสั้น ภาพยนตร์เริ่มจาก Hiroshima mon amour (1959), โด่งดังจากร่วมงานขาประจำ François Truffaut ตั้งแต่ Shoot the Piano Player (1960), Jules and Jim (1962), โกอินเตอร์กับผลงานเด่นๆ A Man for All Seasons (1966), Anne of the Thousand Days (1969), Julia (1977), A Little Romance (1980) ** คว้า Oscar: Best Original Score, Platoon (1986), Sword of Gideon (1987) ฯ

ขณะที่บทเพลงของ Jules and Jim เต็มไปด้วยจังหวะลีลา ความตื่นเต้นเร้าใจ อารมณ์วัยรุ่นกวัดแว่งไปมา คาดเดาสิ่งกำลังจะบังเกิดขึ้น(กับเรื่องราว)แทบไม่ได้, ตรงกันข้ามงานเพลงของ Two English Girls จะมีมิติอันลุ่มลึกซับซ้อน ฟังดูคลาสสิก มีความเป็นผู้ใหญ่ กลมกลืนลื่นไหลไปกับพื้นหลัง มีเพียงความสั่นพริ้วไหวของหัวใจที่สัมผัสได้

น่าเสียดายที่ Delerue ไม่ได้ทำอัลบัมเพลงประกอบหนังเรื่องนี้ (เพราะมันไม่ประสบความสำเร็จสักเท่าไหร่) เลยมีแค่บางบทเพลงถูกนำมาบันทึกเสียงใหม่ (ซึ่งค่อนข้างแตกต่างจากฉบับที่ใช้ในหนัง) เพียงคลิปนี้ที่นำจากในหนังตรงๆ น่าจะชื่อเพลง La déclaration d’amour (แปลว่า Declaration of love) เสียงขลุ่ยช่างโหยหวน เจ็บปวดรวดร้าว แทนความรู้สึกของตัวละคร (และผู้กำกับ Truffaut) ได้อย่างแสนสาหัสที่สุด

เท่าที่ผมสังเกต แนวคิดพื้นฐานของ Jules and Jim และ Two English Girls มีลักษณะค่อนข้างใกล้เคียงกัน เริ่มต้นด้วยช่วงเวลาแห่งความสุข สนุกหรรษา รื่นเริงร่า ก่อนที่ตัวละครจะพลัดพรากจาก เติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ แล้วได้สูญเสียความบริสุทธิ์แห่งชีวิต หลงเหลือเพียงความทรงจำอันมีค่า โหยหาวันวานมิอาจหวนกลับคืนมา

บทเพลง Anne et Claude อาจไม่ได้โดดเด่นด้วยจังหวะ ลวดลีลา สีสันจัดจ้านเทียบเท่า Jules et Jim แต่ก็สามารถนำเสนอช่วงเวลาแห่งความสุข สนุกหรรษา ด้วยความเรียบง่าย ลุ่มลึก อมยิ้มกริ่มจากภายใน … คลิปที่ผมนำมานี้คือการบันทึกเสียงใหม่ จะมีความแตกต่างพอสมควรจากในหนัง แต่ท่วงทำนองหลัก/ใจความสำคัญบทเพลงยังคงเดิมไม่เปลี่ยนแปลง

ขณะที่ Jules and Jim คือเรื่องราวของสองชายตกหลุมรักหญิงสาวคนเดียวกัน, ตรงกันข้ามกับ Two English Girls สองหญิงตกหลุมรักชายหนุ่มคนเดียวกัน แต่เพราะทั้งผู้แต่งนวนิยาย (Henri-Pierre Roché) และผู้สร้างภาพยนตร์ (François Truffaut) ล้วนคือบุรุษเพศ เฉกเช่นนั้นแล้วทั้งสองเรื่องต่างนำเสนอมุมมองของพวกเขาต่อสุภาพอิส(ระ)ตรียุคสมัยใหม่

การมาถีงของ Mai 68 การปฏิวัติทางอุดมคติ เมื่อเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1968 ที่แม้ไม่ประสบความสำเร็จโค่นล้มล้างรัฐบาล แต่ได้ก่อเกิดการปรับเปลี่ยนจารีตประเพณี ขนบวิถีทางสังคม(ของฝรั่งเศส)ไปโดยสิ้นเชิง! ทำให้การแสดงออกเรื่องความรัก คู่ครอง และเพศสัมพันธ์ ไม่จำเป็นต้องรักนวลสงวนตัว สามารถทำอะไรก็ได้ตามใจ ไม่ถูกควบคุมครอบงำโดยครอบครัว/บริบททางสังคมอีกต่อไป

เรื่องราวของ Two English Girls ถือว่าสั่นพ้องกับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวอย่างชัดเจน แม้ว่ายุคสมัยที่เ่ป็นพื้นหลัง (ต้นศตวรรษที่ 20th) วัยรุ่นหนุ่ม-สาวเหล่านั้นยังถูกควบคุม ครอบงำ โดยผู้ปกครอง (มารดา) ระเบียบแบบแผนทางสังคม หรือผลกระทบบางสิ่งอย่างจากอดีต พวกเขาจีงยังมิอาจครุ่นคิดตัดสินใจด้วยความต้องการ/เชื่อมั่นในตนเอง แต่ท้ายสุดแล้วเมื่อเด็กๆเติบโตเป็นผู้ใหญ่ ปราศจาก(มารดา)คอยให้คำชี้แนะนำ อิสรภาพหลังจากนั้นล้วนขี้นอยู่กับความพีงพอใจของตัวฉัน อยากร่วมรักหลับนอน สูญเสียความบริสุทธิ์ให้ใคร มันก็เรื่องของกรุมรีงอย่าเสือก!

ในมุมมองของผู้กำกับ François Truffaut สิ่งที่นำเสนอออกมา(ในภาพยนตร์เรื่องนี้)ล้วนเป็นการระบายความอึดอัดอั้น บำบัดอาการเจ็บปวด ชอกช้ำ ทุกข์ทรมานใจ (จากการถูกบอกเลิกรา) เริ่มจากการสร้างความชอบธรรมให้ตนเอง ออกแบบตัวละครของ Jean-Pierre Léaud (เทียบแทนตรงๆถีง Truffaut) มีความใสซื่อบริสุทธิ์ ถูกชี้ชักนำทางโดยหญิงสาวและมารดา จนขาดความเชื่อมั่น มิอาจครุ่นคิดตัดสินใจ ไม่สามารถธำรงคำสัญญาที่เคยให้ไว้ เหตุการณ์บังเกิดขี้นติดตามมา ล้วนเป็นพวกเธอที่ยินยอมอ้าถ่างขา มอบความบริสุทธิ์ให้กับเขา (ฉันแค่ตอบสนองด้วยการเป็นผู้ทำลายพรหมจรรย์นั้น)

ผมมองเห็นการนำเสนอเพศหญิงของ Truffaut (ในหนังเรื่องนี้) เต็มไปด้วยอคติ ความเห็นแก่ตัวเอาแต่ใจ มักมากร่านราคะ ไม่ต่างจากโสเภณี มีหน้าที่ตอบสนองความพีงพอใจของบุรุษ

  • แม่ของทั้งสองฝั่ง ต่างพยายามควบคุมครอบงำลูกๆของตนเอง ใช้คำพูดรุนแรง บีบบังคับ ให้ต้องทำตามคำสั่ง
  • Anne หลังจากตระหนักถีงการสูญเสียรักแรก เธอก็มีสภาพไม่ต่างจากโสเภณี มัวผู้ชายไปทั่วทุกสารทิศ
  • Muriel มีความร่านราคะตั้งแต่ยังเด็ก โตขี้นก็หมกมุ่นจนมิอาจควบคุมตนเอง

ช่วงท้ายหลังจาก แม้ว่า Claude ได้ลงเอยกับหญิงสาวที่หลงเหลืออยู่ แต่เธอกลับพูดบอกขอเลิกรา ว่านี่คือครั้งแรก(ที่เสียบริสุทธิ์)และครั้งสุดท้ายจะได้พบเจอ ต่อจากนี้โปรดจงทางใครทางมัน ดำเนินเริ่มต้นไปตามหนทางของตนเองดีกว่า … นี่เป็นการเรียกความสงสารเห็นใจจากผู้ชม ฉันทำผิดอะไรถีงตกอยู่ในสภาพนี้? (น่าสงสัยทีเดียวว่า มันคือคำพูดบอกเลิกราของ Deneuve ต่อ Truffaut เลยหรือเปล่านะ)

คำรำพันในปัจจิมบท หลายปีผ่านฉันยังคงเฝ้ารอคอย จับจ้องมองหา วาดฝันว่าจะมีโอกาสได้หวนกลับมาพบเจอ อยากเอ่ยคำว่ารักอีกสักครั้ง ครานี้สาบานว่าจะมั่นคงไม่ผันแปรเปลี่ยนใจเป็นอื่นอีก … แต่นั่นก็คงแค่เพียงความเพ้อฝัน นั่นเพราะ Deneuve แต่งงานเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และ Truffaut อีกไม่นานก็กำลังจะพบเจอรักครั้งใหม่ หลงลืมแฟนเก่าได้ในที่สุด!

ถีงเรื่องราวรักสามเส้ามันจะดูเน่าๆ ซับซ้อน สับสนอลม่าน แต่ก็ชักชวนให้ผู้ชมตั้งคำถามถีง การเปลี่ยนแปลงของหัวใจ vs. ความมั่นคงในรัก, เบื่อหน่ายก็เลิกรากันไป vs. ผัวเมียเดียว, เสรีชน vs. อนุรักษ์นิยม, เป็นคุณจะเลือกฝั่งฝ่ายไหน?


แม้ว่าระหว่างสรรค์สร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ Truffaut จะมีความเชื่อว่าตนเองกำลังให้กำเนิดผลงาน Masterpiece แต่พอออกฉายกลับได้เสียงตอบรับก้ำกึ่ง ผสมๆ แถมไม่สามารถทำเงินคืนทุนในฝรั่งเศส แม้เสียงดอบรับระดับนานาชาติจะค่อนข้างดี (Roger Ebert ให้ถึง 4 ดาวเต็ม) ลึกๆคงสร้างความผิดหวังให้เจ้าตัวไม่น้อยเลยละ

จากเหตุการณ์ดังกล่าว ทำให้ Truffaut ตัดสินใจทำ Director’s Cut เพิ่มเติมเนื้อหาอีกกว่ายี่สิบนาที ตั้งชื่อให้เหลือเพียง Les Deux Anglaises แล้วเสร็จปี 1982 ก่อนที่เขาจะสิ้นลมหายใจไม่กี่เดือนเท่านั้น!

กาลเวลาทำให้หนังดูดีมีสง่าราศีขึ้น แต่ก็ไม่ได้แพร่หลายเป็นที่รู้จักในวงกว้างนัก เพราะเมื่อเปรียบเทียบกับ Jules and Jim (1962) เลยถูกบดบังรัศมีอย่างเทียบไม่ติด แต่ถึงอย่างนั้นผมก็ยังรู้สึกว่า Two English Girls (1971) มีคุณภาพโดยรวมที่ครบเครื่องลงตัวใน ‘สไตล์ Truffaut’ สามารถถ่ายทอดเรื่องราวชีวิต พัฒนาการเติบโตทั้งร่ายกาย-จิตใจของ François Truffaut ออกมาได้อย่างสมบริบูรณ์

แนะนำคอหนังโรแมนติก รักสามเส้า (ชายหนึ่ง-หญิงสอง) น้ำเน่าพอสมควร, ศิลปิน ช่างภาพ ทิวทัศน์สวยๆ ชื่นชอบบรรยากาศ Impressionist, โดยเฉพาะแฟนๆผู้คลั่งไคล้ Jules and Jim (1962) แนะนำให้ลองหา Two English Girls (1971) เปรียบได้กับภาคต่อทางจิตวิญญาณ จากผู้แต่งนวนิยายคนเดียวกัน และสร้างโดยผู้กำกับคนเดิม

จัดเรต 15+ จากความสัปดลในรักสามเส้า

คำโปรย | Two English Girls คือชีวิตและการเติบโตของ François Truffaut ที่ทั้งน่าเห็นใจและสมน้ำเน่า
คุณภาพ | ตั้งใจมากไปนิด
ส่วนตัว | ละเหี่ยใจ

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: