Les Enfants Terribles (1950) : Jean-Pierre Melville ♥♥♥♡
เพราะรักน้องชายมากเกินกว่าจะยินยอมเสียสละให้ใคร พี่สาวจึงได้กระทำบางสิ่งอย่างเพื่อควบคุม ครอบงำ ชี้ชักนำ กีดกันเขามิให้ตกหลุมรักแต่งงานกับหญิงอื่น, ดัดแปลงจากนวนิยายของ Jean Cocteau ซึ่งก็พยายามจะควบคุมครอบงำผู้กำกับหน้าใหม่ Jean-Pierre Melville แต่กลับถูกผลักไสถีบส่ง ไม่ยินยอมให้ชีวิตจริงลงเอยแบบเนื้อเรื่องราวในภาพยนตร์
ชื่อของ Jean Cocteau และ Jean-Pierre Melville ในปัจจุบันคือโคตรผู้กำกับระดับตำนานแห่งฝรั่งเศส การร่วมงานครั้งนี้ถือว่าเป็น ‘ฝันเปียก’ ของแฟนๆเดนตาย แต่ย้อนไปเมื่อปีที่สร้างภาพยนตร์ Melville ยังคงหน้าใหม่ในวงการ ขณะที่ Cucteau แม้มีชื่อเสียงโด่งดังอยู่แล้ว แต่ก็เลื่องลือนามในความยุ่งยาก มากความ เจ้ากี้เจ้าการจนไม่ค่อยมีใครไหนอยากร่วมงานด้วย
Cocteau เขียนนวนิยาย Les Enfants Terribles (แปลว่า The Holy Terrors) ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1929 แต่ผ่านมากว่า 2 ทศวรรษก็ยังไม่สามารถสรรหาทุนดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ได้ กระทั่งเล็งเห็นผลงานแรกแจ้งเกิดของ Melville เรื่อง Le Silence de la mer (1949) เลยเข้าไปติดต่อ พูดคุย ใช้คำยกยอปอปั้นสรรเสริญ จนเขาเกิดความหลงระเริง และด้วยความชื่นชอบนวนิยายอยู่แล้วเป็นทุนเดิม เลยยินยอมตอบตกลงสร้างให้
ผมว่ามันชัดเจนมากๆที่ Cocteau ต้องการดัดแปลงสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ด้วยตนเอง แต่เมื่อติดขัดอะไรหลายๆอย่างเลยจำต้องมองหาแพะ แกะ ตัวตายตัวแทน จากนั้นค่อยๆพยายามควบคุมครอบงำ ชี้ชักนำ (ผู้กำกับหน้าใหม่ๆ น่าจะเกรงใจคนมีชื่อเสียงอย่างเขาบ้าง) แถมยังแช่งชั่งให้ตายไวๆ เพื่อว่าตนเองจะได้กลายเป็นคนสานต่อโปรเจคนี้ให้เสร็จสรรพ (เรื่องแช่งนี่น่าจะจริง! เพราะมีอ้างอิงอยู่ในหนังสือชีวประวัติของ Melville)
ประเด็นคือ Melville รับรู้ตัวเองว่ากำลังถูกควบคุมครอบงำ เห็นว่าวันแรกๆในกองถ่าย Cocteau มาจากไหนไม่รู้อยู่ดีๆสั่ง Cut! แบบไม่มีปี่ขลุ่ย อ้าวเห้ยฉันเป็นผู้กำกับนะ เลยสั่งห้ามเข้ามายุ่งย่ามวุ่นวาย เว้นเพียงวันเดียวที่ป่วยไม่สบาย ยินยอมให้มาคุมกองถ่ายด้วยข้อแม้ต้องทำตามคำแนะนำในจดหมายเปะๆ
ก่อนอื่นขอพูดถึง Jean Cocteau หรือ Jean Maurice Eugène Clément Cocteau (1889 – 1963) ผู้กำกับ นักเขียน ศิลปิน กวี สัญชาติฝรั่งเศส เกิดที่ Maisons-Laffitte, Yvelines, พ่อเป็นทนายความและนักวาดรูปสมัครเล่น แต่ดันฆ่าตัวตายตอนเขาอายุ 9 ขวบ จดจำฝังใจ เข้าเรียน Lycée Condorcet มีความสัมพันธ์กันเพื่อนชายทำให้รู้ตัวว่าเป็นเกย์ ด้วยความสนใจที่หลากหลาย เริ่มจากตีพิมพ์บทกวีจนมีชื่อเสียงโด่งดัง เข้าสู่วงในของศิลปินฝรั่งเศสทศวรรษ 20s-30s รู้จักกับ Picasso, Modigliani, Dali ฯ สนิทสนมเป็นคู่ขากับ Raymond Radiguet, สร้างภาพยนตร์เรื่องแรก Le Sang d’un poète (1930) ตามคำท้าของ Charles de Noailles แต่ก็ไม่ได้สนใจศิลปะแขนงนี้มากนัก ไปเอาดีด้านละครเวที บัลเล่ต์ โอเปร่า เขียนนวนิยาย หลังสงครามโลกหวนกลับมาสร้างหนัง La Belle et la Bête (1946), Les Parents Terribles (1948), Orpheus (1949) ฯ
ความสนใจของ Cocteau มักสะท้อนเรื่องราวชีวิตวัยเด็ก (ของตนเอง) ที่เต็มไปด้วยปัญหา ความขัดแย้ง พ่อ-แม่ไม่เหลียวแล ตัวละครจึงมักสร้างโลกส่วนตัวขึ้นมา (หรือพบเจอสถานที่แฟนตาซี) แล้วพยายามหลบหลีกหนีปัญหาเข้าไปอาศัยในนั้น
สำหรับนวนิยาย Les Enfants Terribles (1929) นำเสนอเรื่องราวของพี่-น้อง เติบโตขึ้นในโลก(แฟนตาซี)ของพวกเขาด้วยกันเอง พยายามกีดกันทุกสิ่งอย่างจากภายนอก แต่ความขัดแย้งเกิดจากการเจริญเติบโตทางร่างกาย ฮอร์โมนเพศชาย และการตกหลุมรัก ทำให้เกิดความอิจฉาริษยา
เกร็ด: นวนิยายเล่มนี้ได้กลายเป็นแรงบันดาลใจให้กับ
– นวนิยายเรื่อง The Holy Innocents (1988) แต่งโดย Gilbert Adair ปรับเปลี่ยนพื้นหลังเป็นฝรั่งเศสในช่วงการปฏิวัติทางอุดมคติ Mai 68 ซึ่งได้รับการดัดแปลงภาพยนตร์ The Dreamers (2003) กำกับโดย Bernardo Bertolucci
– โอเปร่า Les Enfants Terribles (1996) กำกับโดย Philip Glass
– บัลเล่ต์ La Boule de Neige ออกแบบท่าเต้นโดย Fabrizio Monteverde
Jean-Pierre Melville ชื่อเดิม Jean-Pierre Grumbach (1917 – 1973) ผู้กำกับสร้างภาพยนตร์สัญชาติฝรั่งเศส เกิดที่ Paris ในครอบครัวเชื้อสาย Alsatian Jews, ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เข้าร่วมกลุ่ม French Resistance ต่อสู้กับ Nazi หลังสิ้นสุดสงครามเกิดความสนใจด้านภาพยนตร์ แต่ไม่มีสตูดิโอไหนอยากว่าจ้างเพราะไม่มีประสบการณ์ เลยตัดสินใจเป็นนักสร้างหนังอิสระ กำกับ-เขียนบท-โปรดิวเซอร์ ด้วยตนเองทั้งหมด ผลงานเรื่องแรก Le Silence de la mer (1949) โด่งดังเป็นพลุแตก ติดตามมาด้วย Les enfants terribles (1950), Bob le flambeur (1956), Léon Morin, Priest (1961), Le Samouraï (1967), Army of Shadows (1969) ฯ
“It is a hypnotizing novel, and to translate it was a very odd and in a way disturbing experience: as if reality kept disappering and images kept turning inside-out—as if they, or I were hallucinated”.
– Jean-Pierre Melville พูดถึงนวนิยาย Les Enfants Terribles
Melville ยินยอมให้ Cocteau เป็นผู้ดัดแปลงบทภาพยนตร์ ด้วยข้อแม้ต้องไม่ปรับเปลี่ยนแปลงเนื้อเรื่องราวให้แตกต่างจากต้นฉบับ แต่ปรับเปลี่ยนพื้นหลังจากทศวรรษ 20s สู่ปีปัจจุบัน 1950
“If you planned to write a new Les enfants terribles, I wasn’t interested in filming it”!
Élisabeth (รับบทโดย Nicole Stéphane) หญิงสาวแรกรุ่นที่ต้องคอยพยาบาลดูแลแม่ล้มป่วยไม่สบาย ขณะเดียวกันน้องชาย Paul (รับบทโดย Édouard Dermit) ได้รับบาดเจ็บจากแค่ถูกหิมะปาใส่หน้าอก หมอสั่งไม่ให้ออกนอกบ้าน วันๆเอาแต่นอนอยู่บนเตียง นั่นทำให้เธอต้องคอยประคบประหงมเอาใจ อยู่เคียงข้างแทบไม่ได้ห่างไปไหน
หลังจากแม่เสียชีวิต Gérard (รับบทโดย Jacques Bernard) เพื่อนสนิทหนึ่งเดียวของ Paul ชักชวนให้ไปท่องเที่ยวทะเล ได้มีโอกาสขึ้นรถไฟตู้นอน นั่นทำให้สองพี่น้องเปิดหูเปิดตาเปิดโลกกว้าง พบเห็นอะไรใหม่ๆมากมาย แต่ถึงอย่างนั้นพวกเขาก็มิได้โหยหาอะไรไปนอกจากชีวิตที่อยู่ภายในห้องนอน
แต่การจะทำเช่นนั้นได้ Élisabeth ต้องไปออกไปทำงานหาเงินนอกบ้าน ครั้งหนึ่งนำพาเพื่อนสาว Agathe (รับบทโดย Renée Cosima) มาพักอาศัยอยู่ร่วมกัน โดยไม่รู้ตัวทำให้น้องชายเรียนรู้จักการตกหลุมรัก เมื่อพี่สาวสืบทราบความจริงภายหลัง นั่นสร้างความอิจฉาริษยาให้เธอไม่น้อยทีเดียว
Nicole Stéphane ชื่อเกิด Baroness Nicole de Rothschild (1923 – 2007) นักแสดง/ผู้กำกับ สัญชาติฝรั่งเศส เกิดที่ Paris ต้นตระกูลคือผู้ก่อตั้งธนาคาร Rothschild & Co แต่ความสนใจของเธอคือศิลปะ การแสดง เดินตามรอยเท้าปู่ที่เป็นเจ้าของโรงละคร Théâtre Antoine และ Théâtre Pigalle มุ่งมั่นสู่วงการแสดง, ช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง อาสาสมัครทหาร ถูกคุมขังคุกในสเปน, เริ่มต้นแสดงภาพยนตร์ Le Silence de la mer (1949), Les Enfants Terribles (1950), ต่อด้วยเป็นผู้กำกับ และโปรดิวเซอร์
รับบท Élisabeth พี่สาวจอมเผด็จการ เป็นคนพูดมาก ปากเสีย ชอบทะเลาะโต้เถียงกับน้องชาย เพราะอยู่ใกล้ชิดแทบไม่เคยเหินห่างไปไหนไกล เกิดเป็นความสัมพันธ์ รักมากกว่าแค่พี่สาว-น้องชาย (แต่ไม่เกินเลยเถิดมากกว่านั้น) ด้วยเหตุนี้เมื่อพบเห็นเขาตกหลุมรักหญิงอื่น จึงเกิดความหวาดหวั่นกลัว อิจฉาริษยา ทำไมตนเองถึงไม่เคยมีโอกาสนั้นบ้าง
ความเจ้ากี้เจ้าการ เผด็จการ พร่ำไม่มีหยุด (หายใจบ้างรึเปล่าก็ไม่รู้!) ทำให้ Stéphane โคตรจะโดดเด่นตราตรึงกับบทบาทนี้ ไฮไลท์คือช็อต Close-Up วินาทีครุ่นคิดวางแผนการชั่วร้าย เพราะไม่ต้องการให้น้องชายตกหลุมรักหญิงอื่นนอกจากตน เลยพยายามทำบางสิ่งอย่าง ควบคุม ครอบงำ ชี้ชักนำ ตลบแตลงให้เกิดความเข้าใจผิดๆ ผลลัพท์สุดท้ายเมื่อความจริงได้รับการเปิดเผย ก็ถือว่าผลกรรมสนองตามสาสมควร
เอาจริงๆผมแอบรำคาญยัยนี่ในช่วงแรกๆ เจ๊แกจะหยุดพูดพร่ำไร้สาระบ้างได้หรือเปล่า! (ประเด็นคือ อ่านซับตามแทบไม่ทัน) แต่เมื่อเริ่มเข้าใจอุปนิสัยตัวตน ค่อยๆซึมซับสู่โลกของตัวละคร เลยตระหนักได้ว่าทั้งจักรวาลมีเพียงพวกเขาสอง ถ้าไม่เติมเต็มกันและกันในลักษณะนี้ แล้ววันๆจะมีชีวิตอยู่ด้วยกันได้อย่างไร
Édouard Dermit (1925 – 1995) นักแสดง จิตรกร สัญชาติฝรั่งเศส เกิดที่ Gradisca, Italy บุตรบุญธรรมของ Jean Cocteau ด้วยรูปหน้าหล่อเหล่าเหมือนเทพเจ้ากรีก ทำให้ได้รับฉายา ‘Doudou’ ถูกพ่อผลักดันให้เป็นนักแสดง Orpheus (1950), Les Enfants Terribles (1950) ฯ คอยจัดการดูแลทรัพย์สมบัติทุกสิ่งอย่างเมื่อเขาจากโลกนี้ไป
รับบท Paul น้องชายมีร่างกายอิดๆออดๆ เจ็บป่วยง่าย เลยต้องอาศัยอยู่ติดเตียง ไม่มีโอกาสได้ออกไปไหน พี่สาว Élisabeth เลยเลี้ยงดูแลอย่างทะนุถนอมเอาใจใส่ รับรู้ธาตุแท้ตัวตน ความเห็นแก่ตัวของกันและกันเป็นอย่างดี จนกระทั่งมีโอกาสพานพบเจอตกหลุมรักหญิงสาว แต่ไม่รู้จักแสดงออกเช่นไรเลยถูกพี่ค่อยๆเกลี้ยกล่อมเกลา หลอกล่อให้สำเนียกตนเอง ทอดทิ้งตัดใจ กลับกลายเป็นว่าทำให้เขาจมปลักอยู่กับความทุกข์โศก มีเพียงหนทางออกเดียวเท่านั้นครุ่นคิดได้
ตัวละครเต็มไปด้วยความยียวนกวนประสาท พูดจาเกรี้ยวกราด หมิ่นหยาม ดูแคลนพี่สาวได้อย่างไม่กลัวเกรง ออมชอม ในมุมคนนอกย่อมรู้สึกว่าชายคนนี้โคตรหยาบคาย เห็นแก่ตัว แต่แท้จริงแล้วล้วนพูดออกมาจากใจ ตรงกันข้ามความรู้สึกตนเอง ซึ่งสะท้อนความสดใสไร้เดียงสา โดยเฉพาะสายตาเมื่อขึ้นขบวนรถไฟ พบเห็นทะเลครั้งแรก เหมือนเด็กน้อยเพิ่งเคยได้รับของเล่นใหม่ กบก้าวออกจากกะลาครอบ … แต่เขาก็พยายามปฏิเสธโลกใบนี้ เพราะเต็มไปด้วยอันตราย กลัวความตายจะมาเยี่ยมเยือน
เหมือนว่า Cocteau เป็นผู้พยายามผลักดันให้ Dermit แสดงบทบาทนี้ ด้วยความไม่พึงพอใจสักเท่าไหร่ของ Melville แต่ผมว่าพี่แกโคตรเข้ากับตัวละครเลยนะ เพราะมันสะท้อนการแสดงออกของ Cocteau ต่อบุตรบุญธรรม คอยประคบประหงมเอาใจ ต้องการปลุกปั้นให้เป็นดาราใหญ่ … แต่ Dermit นอกจากผลงานพ่อ ก็แทบไม่เคยแสดงหนังให้ใครอื่น
ถ่ายภาพโดย Henri Decaë ขาประจำตั้งแต่ผลงานเรื่องแรกของผู้กำกับ Melville ก่อนกลายเป็นขาประจำของผู้กำกับรุ่น French New Wave อาทิ Les Amants (1958), Le Beau Serge (1958), The 400 Blows (1959) ฯ
ไดเรคชั่นการถ่ายภาพ นิยม Long Take เคลื่อนเลื่อนติดตามตัวละครไปมา ซึ่งดูแล้วผมรู้สึกว่ารับอิทธิพลจาก Max Ophüls มากกว่า Carl Theodor Dreyer สาเหตุเพราะความมีชีวิตชีวา (เหมือน Ophüls) ไม่ได้เฉื่อยเอื่อยชา (แบบ Dreyer)
แต่ที่คือสไตล์ลายเซ็นต์ของ Melville คือการออกแบบฉาก เลือกมุมกล้องถ่ายทำ และจัดแสง-เงา มอบสัมผัสกลิ่นอายนัวร์ ถึงแม้เรื่องนี้ไม่ใช่แนวอาชญากรรม แต่เกือบๆ 90% ของหนังถ่ายทำฉากภายใน ซึ่งสามารถสะท้อนสภาพจิตใจ/ด้านมืดตัวละครออกมาได้เลยละ
อย่างคฤหาสถ์หลังใหญ่ของ Élisabeth หลังแต่งงานกับมหาเศรษฐี มีความโอ่โถง รโหฐาน กว้างใหญ่โต ประกอบด้วยห้องพักหลายสิบห้อง นี่ทำให้หวนระลึกถึง Xanadu ของ Citizen Kane (1942) ซึ่งภาพแรกเริ่มต้น ถ่ายจากด้านบนมุมก้มต่ำมองลงมา พบเห็นพื้นขาว-ดำ ช่างดูลวดลายตา ลวงหลอกว่าสลักสำคัญ แต่ความจริงนั้นการร่ำรวย ทำให้ชีวิตรายล้อมด้วยความเวิ้งว่างเปล่า
ว่ากันว่าฉากจบในความตั้งใจของ Cocteau ต้องการให้ Paul กับ Élisabeth นอนตายเคียงข้างกัน ศีรษะชนกัน เพื่อสะท้อนความตายทำให้คนรักสามารถครองคู่กัน แต่ในมุมมองของ Melville กลับครุ่นคิดเห็นต่าง ต้องการให้ Élisabeth พบเห็นลมหายใจสุดท้ายของ Paul ซึ่งเมื่อเธอรู้สึกว่าตนเองได้กระทำผิดพลาด มันจึงไม่หลงเหลือเหตุผลอื่นใดในการดำรงชีวิต
ส่วนตัวรู้สึกว่าจบแบบ Melville ตรงตรึงและทรงคุณค่ากว่ากันมาก เพราะเขาไม่ได้มองความสัมพันธ์ Paul กับ Élisabeth เป็นสิ่งถูกต้องเหมาะสม มันจึงควรลงเองด้วยความรู้สำนึกผิดชอบชั่วดี … ซึ่งผิดกับ Cocteau สะท้อนมุมมอง/รสนิยมความรักของตนเอง ในเมื่อชาย-ชาย ยังสามารถเป็นไปได้ แล้วไฉนพี่-น้อง หรือแม้แต่แม่-ลูก จะต้องถูกจำกัดด้วยบริบทกฎกรอบทางสังคม (ก่อนหน้านี้ Cocteau สร้างภาพยนตร์เรื่อง Les Parents Terribles ลูกชายตกหลุมรักแม่เลี้ยงของพ่อ!)
ตัดต่อโดย Monique Bonnot หนึ่งในขาประจำของ Melville, ดำเนินเรื่องในมุมมองสายตาของ Paul และ Élisabeth ส่วนใหญ่จะอยู่กันแต่ในห้อง รายล้อมรอบข้างด้วยผนังกำแพง แต่จะมี 3-4 ครั้งที่ได้ออกไปข้างนอก
– ไปโรงเรียน เล่นปาหิมะ
– ขึ้นรถไฟ เดินทางไปทะเลแถวๆ Montmorency
– อุบัติเหตุรถชน งานศพสามี Élisabeth
– และในความเพ้อฝันของ Élisabeth
การดำเนินเรื่องของหนังจะมีลักษณะแบ่งเป็นตอนๆ สังเกตได้จากการ Fade-to-Black ซึ่งจะพบเห็นทุกครั้งเมื่อเริ่มต้น-สิ้นสุดตอน … นี่รับอิทธิพลจาก Yasujirō Ozu อย่างแน่นอน!
สำหรับเพลงประกอบ เลือกดนตรีสไตล์ Baroque ฟังดูโบราณย้อนยุค แต่สร้างสัมผัสโลกแห่งความเพ้อฝันขึ้นมา
– Antonio Vivaldi: Concerto for Two Violins, Strings and Basso Continuo in A minor (Opus 3, No. 8; RV 522)
– Antonio Vivaldi: Concerto for Violin, Strings and Basso Continuo in D minor (RV 813/vclass. RV Anh. 10)
– Johann Sebastian Bach: Concerto in A minor for 4 pianos (BWV 1065)
และบทเพลง Were You Smiling At Me แต่ง/ขับร้องโดย Melvyn Martin ซึ่งก็ได้มารับเชิญ และถูกรถชนตายจากไปอย่างรวดเร็วไว
แซว: คือมันกลายเป็นว่า บทเพลงนี้เหมือนร้องให้ Paul กับ Élisabeth มากกว่านะ
ความสัมพันธ์ระหว่างพี่-น้อง ที่มากเกินเลยกว่าพี่-น้อง คงเป็นประเด็นคำถามสำหรับใครหลายๆคนถึงความเหมาะสม ศีลธรรม มโนธรรม จริยธรรม หรือแม้แต่กฎหมายบ้านเมือง?
เอาจริงๆการ Incest มันไม่มีอะไรผิดเลยนะครับ คือความรู้สึกอคติที่เกิดขึ้นกับตัวเราเองล้วนๆ หรืออาจโดยการปลูกฝัง เสี้ยมสอนสั่งแนวคิด ทัศนคติ ว่าไม่ใช่เรื่องถูกต้องเหมาะสม โดยอ้างศีลธรรมจรรยา บรรทัดฐานสังคม
พุทธศาสนาไม่ได้กีดกันความสัมพันธ์ระหว่างพี่-น้อง หรือแม้แต่พ่อ-แม่ กับลูก แต่ชี้ให้เห็นถึงสาเหตุที่มาที่ไป บุญกรรมเคยกระทำสะสมกันไว้ตั้งแต่อดีตปางก่อน ชาติที่แล้วอาจเคยเกิดมาเป็นแม่-ลูก ชาตินี้กลายเป็นพี่-น้อง หรือไม่ก็สามี-ภรรยา เวียนวนแบบนี้ไม่รู้จักจบสิ้น … คือถ้าสมมติคุณสามารถระลึกชาติได้ว่า คนรักข้างกายเคยเป็นพ่อ-แม่จากอดีตปางก่อน จะเกิดอคติกับแนวความคิด Incest หรือเปล่าละ?
ความตั้งใจของ Jean Cocteau ต้องการนำเสนอเรื่องราวความรัก ในทุกมุมมองเป็นไปได้ เพราะรสนิยมทางเพศของเขาคือ Homosexual ชาย-ชาย เลยไม่เกิดอคติใดๆต่อทุกความสัมพันธ์ พี่-น้องก็ย่อมสามารถชื่นชอบพอ กลายเป็นคู่รักกันได้
แต่สำหรับ Jean-Pierre Melville แม้ตัวเขาจะเป็นคนไร้ศาสนา แต่อุดมการณ์บางอย่างก็โดดเด่นชัด ในเรื่อง Incest คือสิ่งที่สังคมปฏิเสธไม่ยินยอมรับ ก็ยืนหยัดความเชื่อดังกล่าว ให้พี่สาวพานพบเห็นการกระทำอันเห็นแก่ตัวเอง ก่อเกิดโศกนาฎกรรมขึ้นตอนจบอย่างสาสมควร
แม้ตอนออกฉายได้รับเสียงวิจารณ์ดีเยี่ยม ได้เข้าชิง BAFTA Award: Best Forgien Actress (Nicole Stéphane) แต่กลับไม่ค่อยทำเงินสักเท่าไหร่ (เหมือนจะไม่ถึงขั้นขาดทุน)
ผมค่อนข้างชื่นชอบวิธีการนำเสนอของผู้กำกับ Jean-Pierre Melville เต็มไปด้วยความคลุ้มคลั่งปั่นป่วน วุ่นวายดั่งพายุเฮอร์ริเคน โดยเฉพาะการถ่ายภาพ มุมกล้องเต็มไปด้วยความน่าสนเท่ห์ และบทเพลงประกอบของ Vivaldi, Bach เติมเต็มจินตนาการ ราวกับหลุดเข้าไปในโลกแฟนตาซีของ Jean Cocteau
ระหว่าง Les Enfants Terribles (1950) กับ The Dreamers (2003) ส่วนตัวมีความชื่นชอบพอๆกัน เลือกไม่ได้ด้วยว่าเรื่องไหนยอดเยี่ยมกว่า เพราะนำเสนอคนละสไตล์ กลิ่นอายแตกต่างกันมาก เลยมิอาจเปรียบเทียบระหว่าง Melville กับ Bertolucci แต่ถือว่าทั้งคู่คือโคตรแห่งตำนาน ยิ่งใหญ่พอๆกัน
จัดเรต 15+ กับความสัมพันธ์แนบแน่นเกินของพี่-น้อง และความพยายามควบคุม ครอบงำ ชี้ชักนำของพี่สาว ช่างเต็มไปด้วยความชั่วร้ายกาจ โคตรเห็นแก่ตัว
Leave a Reply