The Gleaners and I

Les glaneurs et la glaneuse (2000) French : Agnès Varda ♥♥♥♥

เริ่มต้นจากความหลงใหลในภาพวาดศิลปะ The Gleaners (1857) ของ Jean-François Millet ผู้กำกับ Agnès Varda จึงทดลองสร้างนิยาม ‘การเก็บตก’ กลายมาเป็นเรื่องราวทุกสิ่งอย่างที่ถูกทอดทิ้ง ริ้วรอยเหี่ยวย่น ทรงผมหงอกขาวของเธอก็เฉกเช่นกัน, หนึ่งในภาพยนตร์สารคดียอดเยี่ยมที่สุดในโลก “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย”

“To glean is to gather after the harvest. A gleaner is one who gleans”.

คำว่า Glean ในความเข้าใจของผมคือ ‘การเก็บตก’ สิ่งของที่หลงเหลือไม่ใช้แล้ว ถูกนำไปทิ้งขว้าง ไร้ผู้ครอบครองเป็นเจ้าของ หรือเข้าใจง่ายๆก็คือขยะ

คนทั่วไปมักมีทัศนคติเกี่ยวกับ ‘ขยะ’ คือสิ่งต่ำต้อยด้อยค่า ไร้มูลค่าราคา ไม่สามารถนำไปใช้ให้ก่อเกิดประโยชน์อันใด แต่นั่นหาใช่ทัศนคติความเข้าใจที่ถูกต้อง เพราะทุกสิ่งอย่างในโลกล้วนเวียนวนเป็นวัฏจักร มูลสัตว์ยังสามารถใช้เป็นปุ๋ย พลาสติกสามารถย่อยสลาย (แค่ว่าอาจใช้เวลาหลายร้อยพันปี) ดังนั้นของเหลือใช้สำหรับมนุษย์จึงสามารถนำไป Reuse, Recycle, Repair และ Upcycle ไม่มีสิ่งอันใดสิ้นสูญเปล่าประโยชน์

Les glaneurs et la glaneuse ชื่อหนังภาษาฝรั่งเศส แปลตรงตัวว่า The gleaners and the female gleaner ซึ่งเมื่อสร้างโดยผู้กำกับหญิง Agnès Varda ร้อยเรียงเรื่องราวที่เป็นการเก็บตก บันทึกภาพทุกสิ่งอย่างถูกทอดทิ้งขว้าง จึงสามารถเปรียบเทียบตนเองได้ดั่ง ‘Female Gleaner’ ใช้คำภาษาอังกฤษ The Gleaners and I ได้อย่างไม่ผิดเพี้ยน

จุดเริ่มต้นภาพยนตร์เรื่องนี้ คือภาพวาดสีน้ำมัน Des glaneuses (1857) แปลว่า The Gleaners ผลงานชิ้นโด่งดังที่สุดของ Jean-François Millet (1814 – 1875) จิตรกรสัญชาติฝรั่งเศส หนึ่งในผู้บุกเบิก Realism Art หลงใหลการวาดภาพชาวนา ประกอบอาชีพกสิกรรมเพาะปลูก สมจริงอย่างมากกับรายละเอียดและการใช้สี กลายเป็นอิทธิพลอย่างมากให้กับ Camille Pissarro, Pierre-Auguste Renoir, Georges-Pierre Seurat และ Vincent van Gogh

การสรรค์สร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ ผู้กำกับ Varda เล่าให้ฟังว่าเริ่มต้นจากการครุ่นคิดเขียนบทพูดบรรยาย(ของตนเอง) จากนั้นออกค้นหาสถานที่ถ่ายทำ พบปะสัมภาษณ์ผู้คน ตัดต่อ และเลือกสรรค์บทเพลงให้สอดคล้องเข้ากัน โดยไม่ปิดกั้นโอกาส ความบังเอิญที่ประสบพบเจอระหว่างทาง

เพื่อความคล่องตัวและอิสรภาพในการทำงาน กอปรกับการมาถึงของยุคสมัยดิจิตอล Varda เลยเลือกใช้กล้องดิจิตอลสองตัว Sony DSR-300 และ Sony DCR-TRV950E ขนาดเล็กกระทัดรัดน้ำหนักเบา พกพาไปไหนมาไหนสะดวกคล่องแคล่ว แถมสามารถถือด้วยมือข้างเดียว (ใช้ถ่ายมืออีกข้างหนึ่งได้สบายๆ)

ส่วนใหญ่ของหนัง Varda จะเดินทางไปยังสถานที่ต่างๆด้วยตัวคนเดียว อาทิ Beauce, Jura, Provence, Pyrenees, ชนบทกรุง Paris เพื่อสามารถพูดคุยสนทนา เข้าถึงบุคคลผู้ให้สัมภาษณ์ได้ง่ายกว่าหมู่คณะ แต่ก็มีทีมงานช่วยประสานงาน ค้นหาสถานที่น่าสนใจ ซึ่งรวมๆแล้วใช้เวลาเพียง 2 สัปดาห์เท่านั้นเอง

“The more l met them, the more I could see I had nothing to make as a statement. They make the statement; they explain the subject better than anybody”.

โอกาสคือความมหัศจรรย์แห่งชีวิต สองครั้งที่สร้างความคาดไม่ถึงให้ทั้งผู้กำกับและผู้ชม
– แวะร้านขายของเก่าข้างทาง ปรากฎว่าพบเจอภาพวาดเลียนแบบ Des glaneuses ของ Jean-François Millet มันช่างน่าขนลุกขนพองเสียจริง
– อีกครั้งหนึ่งคือ ‘The Dance of the Lens Cap’ ทั้งๆเกิดจากความขี้หลงลืมว่ากำลังบันทึกภาพอยู่ แต่เมื่อมองอีกมุมแล้วทดลองใส่บทเพลง Jazz กลับกลายเป็น Sequence ที่โคตรสร้างสรรค์ ครุ่นคิด ใช้โอกาสแห่งความผิดพลาดได้อย่างเป็นประโยชน์สูงสุด

เช่นกันกับความบังเอิญที่ได้พบเจอครูสอนหนังสือ แม้ร่ำเรียนจบสูงถึงปริญญาโท แต่กลับเลือกใช้ชีวิตเหมือนคนลำบากยากจน หากินกับของทิ้งๆขว้างๆ น้อยคนนักจะสามารถเข้าใจสาเหตุผล เพราะอะไร? ทำไม? ถึงกระนั้นก็ต้องชื่นชมในอุดมการณ์อันสูงส่ง  นี่แหละตรงนิยาม ‘True Gleaner’ ในสายตาผู้กำกับ Varda

สิ่งน่าสนใจสุดของสารคดีเรื่องนี้ คือการปรากฎตัวเล่นกล้องของ Agnès Varda ซึ่งสามารถตีความได้หลากหลายมากๆ
– สะท้อนความเป็นศิลปินของตนเอง บันทึกเรื่องราวชีวิต ตัวตน ทัศนคติ ความครุ่นคิดอ่านขณะนั้น
– เปรียบเทียบกับตัวตนเองว่าคือ Gleaners ผู้เก็บตกสิ่งต่างๆที่ถูกทอดทิ้งขว้าง
– เพื่อลดทอนช่องว่างระหว่างผู้กำกับ-ผู้ชม เกิดปฏิสัมพันธ์ใกล้ชิด รับรู้จักสนิทสนม และสามารถเข้าถึงความคิดอ่านตัวตน
ฯลฯ

มีอีกเหตุผลหนึ่งที่ Varda ให้สัมภาษณ์ตอนท้ายของ The Gleaners and I: Two Years Later (2002) เพิ่งมารับรู้เข้าใจตนเองว่าทำไปโดยสันชาติญาณ สะท้อนสิ่งที่เธอเคยทำก่อนหน้านี้จากหนังเรื่อง Jacquot de Nantes (1991) ซึ่งได้ร้อยเรียงภาพมือ แขน หน้าผาก ศีรษะของสามี Jacques Demy ซึ่งสื่อได้ถึงความละมุ่นไมในรัก แม้นัยยะตั้งใจจะแตกต่างจากสารคดีเรื่องนี้ แต่คือรายละเอียดของสิ่งที่หลงลืม และได้เก็บตกจากความทรงจำวันวาน

สำหรับเพลงประกอบมีความหลากหลายร่วมสมัย ไล่ตั้งแต่ดนตรีคลาสสิก แจ๊ส มาจนถึงร้องแร็ป ซึ่งมักแทรกดังขึ้นแทนเสียงพูดบรรยายของ Varda เมื่อต้องการพักหายใจ มีลักษณะเหมือนสร้อยบทกวีที่คอยประสานร่องรอยต่อระหว่างฉาก/หัวข้อการนำเสนอ ให้มีความลื่นไหลต่อเนื่องพร้อมกันไป

 

ภาพยนตร์ในมุมมองของ Agnès Varda คือการ ‘เก็บตก’ สิ่งที่คนส่วนใหญ่มักมองข้าม น่าสนใจแต่กลับถูกหลงลืมเลือนลาง ซึ่งหน้าที่ของผู้กำกับคือหยิบนำ (ใช้มือไขว่คว้ารถบรรทุก) ทำให้ของไร้ค่าเหล่านั้นประดิษฐ์ปั้นกลายเป็นรูปร่าง มากราคา งานศิลปะ จับต้องได้ เฉกเช่นเดียวกับนาฬิกาไร้เข็มนำมาวางข้างปูนปั้นแมวสองตัว มันช่างดูมีเสน่ห์เหลือหลาย

หลังรับชมภาพยนตร์สารคดีเรื่องนี้จบ ผมก็ติดตามต่อทันทีด้วยภาคต่อ The Gleaners and I: Two Years Later (2002) นำเสนอสองปีให้หลังที่เป็นการเก็บตกเพิ่มเติม เสียงตอบรับจากผู้ชม รวมถึงหวนกลับไปพบเจอสัมภาษณ์หลายๆคน พบเห็นวิถีชีวิตที่ปรับเปลี่ยนแปลง … ถึงไม่ตราตรึงเทียบเท่า แต่ถือว่าเติมเต็มเรื่องราวให้จบแบบบริบูรณ์ แนะนำให้หามารับชมต่อกันเลยนะครับ

สิ่งที่โดยส่วนตัวชื่นชอบสุดของหนัง คือเสียงบรรยายและการปรากฎตัวของ Agnès Varda ซึ่งสร้างสีสัน การมีส่วนร่วม และพยายามอธิบายต่อผู้ชมว่า ฉันก็คือ Gleaners คนหนึ่ง ช่างเป็นความน่ารักที่ยียวน เสน่ห์เฉพาะตัว กรี๊ดสุดก็ตอนร้องเพลงแร็ป ขณะนั้นอายุ 72 จริงๆนะเหรอ!

“ต้องดูให้ได้ก่อนตาย” ภาพยนตร์สารคดีเรื่องนี้คงสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้ชมได้อย่างมาก โดยเฉพาะคนที่กำลังท้อแท้เบื่อหน่ายกับชีวิต รู้สึกเหมือนโดนทอดทิ้งขว้าง ไม่มีใครสนใจใคร่เหลียวแล โลกมันไม่ได้สิ้นหวังขนาดนั้นนะครับ! ขยะทุกชิ้นมีประโยชน์ อยู่ที่มุมมองทัศนคติคุณเองจักสามารถค้นหามูลค่าจากมันได้หรือเปล่า

จัดเรตทั่วไป ดูได้ทุกเพศวัย

คำโปรย | Les glaneurs et la glaneuse ภาพยนตร์สารคดีที่เข้าถึงทุกการทอดทิ้ง ทำให้ผู้กำกับ Agnès Varda ไม่ถูกหลงลืมชั่วนิรันดร์
คุณภาพ | คุค่
ส่วนตัว | ชื่นชอบมากๆ

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: