Les Vacances de Monsieur Hulot (1953) : Jacques Tati ♥♥♥♥♡
ชักชวนเพื่อนๆไปพักร้อนริมทะเลกับ Monsieur Hulot หนังตลกสัญชาติฝรั่งเศสที่เรียกเสียงฮาได้อย่างพอดิบพอดี เป็นความสนุกสนานที่มาพร้อมกับอารมณ์หวนระลึก (Nostalgia) ติดอกติดใจ (Fondness) และเป็นสุขใจ (Good Cheer) “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย”
ผมเพิ่งจะรู้จักหนังเรื่องนี้เมื่อประมาณ 3-4 วันก่อน ตอนที่รับชมหนังของผู้กำกับ Roy Andersson บทวิจารณ์หลายๆสำนักเปรียบเทียบสไตล์กับหนังของ Jacques Tati เขาคือใครกัน? จึงลองหาหนังสักเรื่องมาดู เห้ย! โคตรชอบเลยว่ะ นี่เป็นหนังตลกที่มีความสวยงามมากๆ ไม่ได้หัวเราะหนักมากถึงขนาดตกเก้าอี้ (Big Laugh) หรือหัวเราะหึๆ จุกแน่นอก แสบๆคันๆ (Satire Comedy) แต่หนังมีความเพียงพอดีอยู่ตรงกลาง ที่ทำให้ผู้ชมอมยิ้มและอิ่มเอิบใจได้ตลอดเวลา ไม่ยักกะรู้มีหนังตลกแบบนี้บนโลกด้วย!
Jacques Tati หรือ Jacques Tatischeff (1907 – 1982) นักแสดง ผู้สร้างภาพยนตร์สัญชาติฝรั่งเศส เกิดที่ Paris, วัยเด็ก เป็นคนเรียนไม่เก่ง แต่ความสามารถด้านกีฬาเป็นเลิศ อาทิ เทนนิส, ขี่ม้า, รักบี้ ฯ ตอนอยู่ชมรม Racing Club de France ได้แสดงตลกให้เพื่อนๆดู ด้วยการเลียนแบบ (impersonation) ท่าทางของพวกเขา เรียกเสียงหัวเราะได้ดังกึกก้อง นับจากนั้นเลยรู้ตัวเองว่ามีความสามารถด้านนี้
ช่วงต้นทศวรรษ 30s ตัดสินใจเลือกอาชีพนักแสดงตลก ได้รับโอกาสแสดงในโรงละครเวที ไม่นานก็เริ่มมีชื่อเสียงโด่งดัง ด้วยเทคนิควิธีการแสดงที่มีความแตกต่างแปลกใหม่ในยุคนั้น เพราะได้ทำการผสมผสานอะไรหลายๆอย่างเข้าด้วยกัน อย่างมุกเกี่ยวกับกีฬา ตัวเขาสามารถเป็นได้ทั้งผู้เล่นและผู้ถูกเล่น เช่น เทนนิส: เป็นได้ทั้งผู้เล่นและไม้แร็กเก็ต, ฟุตบอล: เป็นได้ทั้งนักเตะและผู้รักษาประตู, มวย: เป็นนักชกสองคนได้พร้อมกัน ฯ
“From now on no celebration, no artistic or acrobatic spectacle can do without this amazing performer, who has invented something quite his own…His act is partly ballet and partly sport, partly satire and partly a charade. He has devised a way of being both the player, the ball and the tennis racquet, of being simultaneously the football and the goalkeeper, the boxer and his opponent, the bicycle and the cyclist.
คำยกย่อง ฉายาของ Jacques Tati ในสมัยนั้นคือ ‘เซนทอร์’ สิ่งมีชีวิตในเทพปกรณัมกรีก ที่สามารถเป็นได้ทั้งคนและม้า สามารถทำสองสิ่งอย่างได้พร้อมๆกัน
Without any props, he conjures up his accessories and his partners. He has suggestive powers of all great artists. How gratifying it was to see the audience’s warm reaction! Tati’s success says a lot about the sophistication of the allegedly ‘uncouth’ public, about its taste for novelty and its appreciation of style. Jacques Tati, the horse and rider conjured, will show all of Paris the living image of that legendary creature, the centaur.”
การแสดงของ Tati เข้าตาผู้กำกับสัญชาติฝรั่งเศสชื่อดังในทศวรรษนั้น René Clément ชักชวนให้มาเป็นนักแสดง มีผลงานหนังสั้น Soigne ton gauche (1936) [น่าจะสูญหายไปแล้วช่วงสงครามโลก] และอีกหลายๆเรื่อง
ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ไปเป็นทหารรับใช้ชาติ กลับมาร่วมกับ Fred Orain ก่อตั้งสตูดิโอหนังของตนเอง Cady-Films เมื่อปี 1946, ได้เป็นผู้กำกับครั้งแรก หนังสั้นเรื่อง L’École des facteurs (The School for Postmen) เดิมนั้น René Clément ได้รับการติดต่อให้เป็นผู้กำกับ แต่เพราะติดทำงานอื่นอยู่จึงแนะนำ ท้าทาย Tati ให้ก้าวขึ้นมากำกับหนังเองเลย ผลลัพท์คือ คว้ารางวัล Max Linder Prize สาขา Comedy เมื่อปี 1947
ภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่องแรก Jour de fête (1949) [The Big Day] เรื่องราวของบุรุษไปรษณีย์ในหมู่บ้านเล็กๆแห่งหนึ่ง ที่ดูหนังมากเกินไป เห็นอเมริกามีการใช้เฮลิคอปเตอร์, เครื่องบิน, ร่มชูชีพ ฯ สามารถส่งจดหมายได้รวดเร็วทันใจ เขาจึงต้องการทำแบบนั้นบ้าง! หนังได้รับเสียงตอบรับดีมากๆ สามารถคว้ารางวัล Best Original Script จากเทศกาลหนังเมือง Venice
สำหรับภาพยนตร์ลำดับถัดมา Les Vacances de Monsieur Hulot หรือ Monsieur Hulot’s Holiday เป็นครั้งแรกของการแนะนำตัวละครที่ได้รับการยกย่องกล่าวขวัญ ว่าคือหนึ่งใน iconic บนโลกภาพยนตร์ นั่นคือ Monsieur Hulot ซึ่งเราจะสามารถพบเจอกับตัวละครนี้ได้อีกในผลงาน 3 เรื่องถัดมา Mon Oncle (1958), Playtime (1967), Trafic (1971) ทั้งหมดนำแสดงโดย Jacques Tati เองเลยนะครับ
ภาพลักษณ์ภายนอก: สวมเสื้อคลุมกันหนาว (Overcoat) ปากคาบกล้องยาเส้น (Pipe) สวมหมวก เวลาเดินชอบโน้มตัวพุ่งไปข้างหน้าลู่ลม
ลักษณะนิสัย: เป็นมิตร เข้ากับคนอื่นง่าย ปรารถนาดี นิสัยโอบอ้อมอารี โอนอ่อนผ่อนตาม
ข้อเสีย: ไม่ค่อยถูกกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ และเป็นคนซุ่มซ่ามขั้นรุนแรง
เกร็ด: Mr. Bean ที่นำแสดงโดย Rowan Atkinson กล่าวว่าได้แรงบันดาลใจตัวละครก็จาก Monsieur Hulot หนังเรื่องนี้แหละ
คำว่า Hulot ในภาษาฝรั่งเศสออกเสียงพ้องกับคำว่า Charlot ซึ่งเป็นชื่อเล่นเรียก The Tramp ของ Charlie Chaplin ในหลายๆภาษา, ตัวละครนี้เราสามารถเรียกได้ว่าเป็นญาติห่างๆ มีความคล้ายคลึงแต่ไม่เหมือนสักทีเดียว เช่น Hulot โน้มตัวเดินพุ่งไปข้างหน้า ส่วน Tramp เดินเตาะแตะหลังแอ่นไปข้างหลัง ฯ
“Hulot tilts forwards whereas Chaplin tilts back; Chaplin’s puppet-like waddle is very different from Hulot’s ‘springy glide’; and there is a difference in costume too: the bowler, tails, huge pants, cane and cigarette are replaced by a pipe, various accessories, pants that are too short, a sports blazer and a Homburg, although the striped socks are borrowed from Keaton.”
Nicolas Hulot หนึ่งในญาติของ Tati เล่าให้ฟังว่า อาจเป็นปู่ทวดของเขาที่เป็นแรงบันดาลใจในการตั้งชื่อนี้, เพราะปู่ทวดของ Tati ชอบพูดว่า ‘You must call Monsieur Hulot!’ ซึ่งเป็นการเรียกปู่ทวดของ Nicolas ที่ตอนนั้นเป็นเพื่อน/ลูกน้องคนสนิท ซึ่ง Tati คงได้ยินบ่อยจนจดจำนำไปใช้
Jacques Tati เป็นคนรูปร่างสูงใหญ่ เขาไม่สามารถแอบซ่อนทำตัวเล็กลีบ หรือเดินย่องย่างได้เหมือน Chaplin นี่เองทำให้ตัวละคร Hulot มีความโดดเด่นเห็นชัด เป็นที่สังเกตได้ง่ายสำหรับผู้คนทั่วไป ซึ่งส่วนใหญ่พอเห็นแล้วก็จะ… ทำเป็นมองไม่เห็น (คือพี่แกมักจะทำตัวเด่นเกินไป) แต่กับคนที่มีโอกาสรู้จัก ก็มักจะหลงรัก ยิ้มแย้ม พูดคุยเป็นมิตร ไม่ถือตัว เพราะตัวละครนี้ถึงจะซุ่มซ่าม ป้ำๆ เป๋อๆ แต่ไม่มีจิตใจคิดร้ายเป็นพิษภัยกับใคร
ความตั้งใจของผู้กำกับในสร้างตัวละคร Monsieur Hulot คือเป็นคนธรรมดาที่สามารถพบเจอได้ทั่วไปในชีวิตประจำวัน ตามท้องถนน ห้างสรรพสินค้า ที่ใครเห็นต่างจดจำได้ง่าย มีความตลกขบขัน แม้เจ้าตัวจะไม่รู้ตัวเองก็เถอะ
“What I wanted to present with the character of Hulot was a man you can meet in the street, not a music hall character. He does not know that he is being funny.”
สำหรับหนังเรื่องนี้ ชื่อก็บอกแล้วว่า Monsieur Hulot’s Holiday ไปเที่ยววันหยุดกับ Monsieur Hulot เหตุการณ์ในหนังเป็นช่วงเดือนสิงหาคม ณ รีสอร์ทริมชายหาด l’Hôtel de la Plage ถ่ายทำที่หมู่บ้านชายทะเล Saint-Marc-sur-Mer ชายฝั่งทะเลตะวันตก ในแถบ Loire Atlantique
เห็นว่า Tati มีความหลงใหลในชายฝั่ง ผืนหาด ท้องทะเล หลงรักสถานที่แห่งนี้ตั้งแต่ครั้งแรกที่ได้มาเที่ยวพักผ่อน ตั้งแต่ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 เคยอาศัยอยู่บริเวณ Port Charlotte ร่วมกับเพื่อนสนิทสองคน Mr. กับ Mrs. Lemoine สร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ก็เพื่อเติมเต็มความประทับใจส่วนตัว
เกร็ด: โรงแรม l’Hôtel de la Plage (แปลว่า The Hotel of the Beach) ปัจจุบันยังคงเปิดให้บริการอยู่นะครับ เป็นที่พักต่างอากาศที่ยังคงมีคนให้ความสนใจอยู่เรื่อยๆ และมีรูปปั้นแกะสลักของ Monsieur Hulot ตั้งตระหง่านอยู่บริเวณนั้นด้วย
เกร็ด2: แต่เห็นว่าถ้าใครมองหาห้องใต้หลังคา ที่น่าจะเป็นห้องของ Monsieur Hulot จะหาไม่พบนะครับ เพราะห้องนั้นไม่ได้มีอยู่จริง ในหนังทำให้แค่ผู้ชมนึกว่าเป็นห้องเท่านั้น
การมาถึงของ Monsieur Hulot เปรียบได้ดั่งลมพายุ (Blizzard) ในล็อบบี้ของโรงแรมที่เงียบสงบ เขาเปิดประตูทิ้งไว้ ลมภายนอกพัดทุกสิ่งอย่างกระเด็นกระดอน กว่าจะยอมเดินเข้ามาปิดประตูได้ก็เป็นนาที เห็นใครเป็นโค้งคำนับเปิดหมวกอย่างสุภาพ เดินตรงมาเคาน์เตอร์ มือสองข้างถือกระเป๋าไม่ยอมวาง ปากคาบซิการ์ พนักงานถาม ‘Monsieur…’ ขยับปากมุบมิบ พนักงานต้องถือกล้องยาสูบให้ พูดประโยคแรก ‘H-U-L-O-T’
ลักษณะของหนัง ไม่เน้นบทสนทนา, ไม่มีการ Close-Up ใบหน้าตัวละคร, เน้นถ่ายระดับ Long-Shot เห็นเต็มตัวนักแสดง, มีกลิ่นอายของ Slapstick Comedy ความขบขันเกิดจากการกระทำของตัวละคร มีทั้งโดยตั้งใจ ไม่ได้ตั้งใจ, บางครั้งเป็นเรื่องบังเอิญ หรือความผิดพลาด หรือความซุ่มซ่ามของตัวละคร, บางมุกขำหนัก บางมุกขำเบา, บางครั้งเห็นใจสงสารเวทนา แต่ไม่ค่อยรู้สึกสมน้ำหน้าเท่าไหร่, เพลงประกอบจะได้ยินซ้ำๆ จนเกิดความรู้สึกคุ้นเคย เป็นการทำให้ความเงียบนิ่งเฉยกลายเป็นความสับสนวุ่นวายอลม่าน
ความตั้งใจของผู้กำกับ เชื่อว่าการไม่ให้ตัวละครพูดพร่ามเยอะๆ จะทำให้ผู้ชมเกิดความสนใจ โฟกัสเฉพาะการกระทำ พัฒนาการของพวกเขา และปฏิกิริยาที่แสดงออกมา, แต่นี่ไม่ใช่ silent comedy เสียง Sound Effect บางครั้งเสียงจึงมีนัยยะสำคัญบางอย่าง เช่น เสียงรถของ Monsieur Hulot ที่ดังเหมือนเป็ดกำลังถูกเชือด หมายถึงความร่อแร่ ตายมิตายแหล่ ไม่ปลอดภัย, เสียงระฆัง เคาะเรียกเพื่อบอกเวลา ฯ
ถึง Monsieur Hulot จะเป็นตัวละครที่มีความโดดเด่นใครเห็นก็จดจำได้ แต่หนังไม่ได้โฟกัส ทำให้เขาเด่นชัดเจนเกินไป มีหลายอย่างเกิดขึ้นโดยไม่ได้เกี่ยวอะไรกับ Hulot ด้วยซ้ำ
– หญิงสาวผมบลอนด์ เธอเป็นใครกันน่าพิศวงเชียว?
– เจ้าของโรงแรมนัยน์ตาเจ้าเล่ห์ มีความต้องการทำอะไรกันแน่?
– ชายหญิงคู่นั้นที่โต๊ะอาหาร ชอบเหม่อมองออกไปนอกหน้าต่าง รอคอยค้นหาอะไร?
ฯลฯ
ฉากที่ผมประทับใจสุดของหนัง คือถังสีพิศวง มันมีความมหัศจรรย์ของคลื่นที่ซัดเข้าฝั่ง เป็นไปได้ยังไงที่ถังสีลอยตามคลื่นลงทะเลไปแล้วแต่สามารถไถลคืนกลับมา นี่ยังไม่เท่าไหร่ ไถลลงไปรอบสองแล้วกลับขึ้นมาอีกด้านหนึ่ง ซ้ำร้ายเกิดอีกรอบ หนังทำได้ยังไงผมก็ตอบไม่ได้ (แถมเป็น Long-Take ด้วยนะ) เป็นฉากที่น่าอัศจรรย์ใจ ตบท้ายด้วยอุบัติเหตุและฉลาม คาดไม่ถึงจริงๆ (นัยยะฉากนี้ น่าจะคือการเปลี่ยนข้างไปมาของมนุษย์… น่าจะเสียดสีนักการเมือง ที่สุดท้ายจากคนธรรมดากลายเป็นฉลามไปเลย)
เพลงประกอบโดย Alain Romans เป็น jazz นุ่มๆ ฟังสบายผ่อนคลาย ได้สัมผัสกลิ่นอายของท้องทะเล เหมาะอย่างยิ่ง สำหรับคนต้องการบรรยากาศชิลๆ นั่งเล่นริมทะเลเหม่อมองล่องลอยออกไป
สามอารมณ์ความรู้สึกที่ผมได้จากการรับชมหนังเรื่องนี้
– หวนระลึก (Nostalgia) คุณเคยที่จะไปเที่ยวพักผ่อนสถานที่เดิมซ้ำๆกันทุกปีหรือเปล่า คนไทยอาจไม่ค่อยแต่ฝรั่งนี่แทบทั้งนั้น ถ้าเขาติดใจสถานที่ใดที่หนึ่งละก็ มักจะหาเรื่องกลับไปแวะเยี่ยมเยือนบ่อยๆ ปีแรกได้พบเจอรู้จักแปลกหน้า ปีถัดมาเริ่มจดจำกันได้ ปีถัดไปอีกยังมีชีวิตอยู่อีกเหรอ! ความทรงจำชวนให้หวนระลึก คิดถึงสิ่งเคยเกิดขึ้นในอดีต
– ติดอกติดใจ (Fondness) มุกแรกของหนัง กลุ่มทัวร์กำลังยืนรอขึ้นรถไฟ ครั้งแรกพวกเขาไปชานชาลาผิด เสียงประกาศตามสายน่าจะแจ้งว่าเปลี่ยนชานชาลา ด้วยความตกใจจึงวิ่งกรูกันไป พอไปถึงชานชาลาตามเสียงประกาศ กลับมีรถไฟวิ่งเข้าชานชาลาที่พวกเขาเพิ่งจากมา เห้ย!เสียงประกาศบอกผิดหรือเปล่า ต่างรีบวิ่งแจ้นกลับไป พอไปถึงรถไฟขบวนนั้นไม่จอดวิ่งผ่านไป หันกลับมามองรถไฟขบวนถูกต้องกำลังเข้าเทียบชานชาลาตามเสียงประกาศ … Oh Shit! นี่เป็นมุกตลกที่ตอนแรกผมไม่ขำ ต่อมาอมยิ้ม จากนั้นหัวเราะยิ้มแป้น ติดอกติดใจว่ะ!
– และเป็นสุขใจ (Good Cheer) มนุษย์เราไปเที่ยวทะเลเพราะอะไร? คำตอบตรงไปตรงมาสุดก็คือ ‘พักผ่อน’ ต้องการทำอะไรสนุกๆ คลายเครียด ไร้สาระ ไม่เป็นประโยชน์ เพื่อหลีกหนีวิถีซ้ำซากจำเจอ ก็เหมือนหนังเรื่องนี้ ผมรู้สึกเหมือนได้ไปพักร้อน รับชมกิจกรรมป่วนผู้คน สนุกสนานหรรษา แล้วยังได้เที่ยวเล่นท้องทะเล เสร็จแล้วขณะเตรียมตัวกลับ เกิดความอิ่มเอิบสุขใจ
หนังเรื่องนี้เหมือนที่จะไม่มีพล็อต เรื่องราวอะไรเลย แค่นำเสนอเหตุการณ์ต่างๆที่ประสบพบเจอ เกิดขึ้นระหว่างการพักร้อนของ Monsieur Hulot แต่หนังกลับได้รางวัล Best Original Screenplay จากเทศกาลหนังเมือง Venice และยังเข้าชิง Oscar สาขาเดียวกันด้วย ถือว่าเป็นความน่าพิศวงมากๆ เพราะนี่หมายถึงลูกปัดหลากหลายรูปแบบสีสันที่มาเรียงร้อยจนกลายเป็นสร้อยคอสร้อยข้อมือ มีความสวยงดงามเจิดจรัส แม้แต่ละชิ้นเหมือนจะไม่เข้ากัน แต่ผลลัพท์ออกมาเกินความคาดหมาย
ไปอ่านเจอว่า จริงๆแล้วหนังมีความจงใจเหน็บแนม ล้อเลียน การเมือง เศรษฐกิจ ระบอบชนชั้นของประเทศฝรั่งเศส ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 … แต่ผมว่าอย่าไปครุ่นคิดมากให้ปวดหัวเครียดเปล่าๆเลยนะครับ หนังลักษณะนี้ปล่อยตัวกายใจ สนุกสนาน เพลิดเพลิน ผ่อนคลาย ไปดีเสียกว่า
ผมหลงรักหนังเรื่องนี้ ก็ตั้งแต่มุกแรกของหนังเลยนะครับ ในบรรยากาศอันผ่อนคลายเบาสบายเป็นสุขใจ แม้จะมีความเรื่อยเปื่อยไปบ้าง แต่หนังที่ตลกแบบกลางๆ เพียงพอดี รู้สึกว่ามันแตกต่างจากทั่วไปค่อนข้างมาก คุณอาจรู้สึกไม่อิ่มแน่นท้อง แต่ความอิ่มพอดีก็เพียงพอแล้วไม่ใช่หรือ!
“ต้องดูให้ได้ก่อนตาย” แนะนำกับผู้ใหญ่ สูงวัย ที่ชื่นชอบการนั่งทำสมาธิ ความพอเพียงในหนังเรื่องนี้จะทำให้คุณเข้าใจคำว่าเพียงพอ เกิดความผ่อนคลาย หวนระลึก ติดอกติดใจ และเป็นสุขใจ
กับคอหนังรุ่นใหม่ วัยรุ่นสมัยนี้ ผมคิดว่าหนังอาจทำให้คุณไม่อิ่มแน่ รู้สึกขาดๆหายๆบางสิ่งอย่างไม่ได้เติมเต็ม นั่นเพราะหนังสมัยนี้เต็มไปด้วยความล้นมากรุนแรง เช่น หนังแอ๊คชั่นต้องตื่นเต้นระทึกอะดรีนาลีนสูบฉีด หนังตลกต้องตรงใจฮาตกเก้าอี้ ฯ ถ้าต้องการเข้าถึงหนังเรื่องนี้ แนะนำไปนั่งสมาธิสงบจิตสงบใจเสียก่อนนะครับ ทิ้งอารมณ์พลุกพล่านอลม่าน หายใจเข้า-ออกขณะรับชม หัวเราะแบบเนิบๆเบาๆมีระดับ ลึกล้ำกว่ากระแทกกระทั้นเป็นไหนๆ
เกร็ด: นี่เป็นหนังเรื่องโปรดของ David Lynch และ Rik Mayall
จัดเรตทั่วไป สนุกสนานได้ทั้งครอบครัว
Leave a Reply