Eye Without a Face

Les yeux sans visage (1960) French : Georges Franju ♥♥♥♥

มนุษย์มักมีความหวาดกลัวการ ‘เสียหน้า’ ไม่ยินยอมรับความสูญเสียพ่ายแพ้ จะด้วยศักดิ์ศรีค้ำคอ หรือความเย่อหยิ่งทะนงตน, Eyes Without a Face คือภาพยนตร์ Masterpiece ของแนว Horror ที่ตัวละครจะสูญเสียหน้า ทั้งรูปธรรมและนามธรรม

นักวิทยาศาสตร์สติเฟื่อง (Mad-Scientist) ทำการทดลองปลูกถ่ายผิวหนังให้ผู้ป่วยที่สูญเสียใบหน้าจากอุบัติเหตุ แต่วิธีการของเขาคือดึงลอกผิวหนังของเหยื่อรายหนึ่ง นำมาประกบแปะอีกคนหนึ่ง … แค่คิดก็สยองแล้วละ หลายคนอาจนึกถึงหนังเรื่อง Face/Off (1997) ของผู้กำกับ John Woo แต่ก่อนที่โลกจะวิวัฒนาการไปถึงจุดนั้น Eyes Without a Face คือการทดลองครั้งแรกๆ อันเต็มไปด้วยความน่าหวาดวิตกสะพรึงกลัว อะไรๆก็สามารถเกิดขึ้นได้ทั้งนั้น

เกร็ด: การปลูกถ่ายผิวหนังในปัจจุบันสามารถกระทำได้จริง แต่ต้องโดยความยินยอมของผู้ให้และผู้รับ ลักลอบโอนถ่ายทดลองแบบหนังเรื่องนี้ ผิดทั้งกฎหมายและจรรยาบรรณแพทย์

Les yeux sans visage เป็นภาพยนตร์ที่ผมใคร่สนใจหามารับชมมาตั้งแต่พบเห็นโปสเตอร์ ค้างในลิสหนัง Horror ที่ยังไล่ดูไม่หมดสักที ชวนให้หวนนึกถึง The Skin I Live in (2011) หนังสัญชาติสเปนของผู้กำกับ Pedro Almodóvar -แต่ผมยังไม่เคยรับชมเรื่องนั้นนะ- จินตนาการว่ามันคงเป็นอะไรที่หลอนหลอกบ้าคลั่งมากๆ, ซึ่งหลังจากได้รับชม ไม่ใช่แค่หัวใจที่วาบหวิวเต้นไม่หยุดในบรรยากาศอันน่าขนลุกขนพอง แต่คือการหมกหมุ่นครุ่นคิดตีความหมาย Surrealist ที่แอบซ่อนอยู่ เมื่อได้พบคำตอบก็จักเห็นความสมบูรณ์แบบของหนังโดยพลัน

ภาพยนตร์แนว Horror กับประเทศฝรั่งเศส เหมือนจะเป็นสิ่งไม่ค่อยถูกกันสักเท่าไหร่ ช่วงครึ่งแรกของศตวรรษ 20s ที่ดังๆมีเพียง
– The Fall of the House of Usher (1928) หนังเงียบของผู้กำกับ Jean Epstein
– Un Chien Andalou (1929) หนังเงียบออกไปทาง Surrealist ของผู้กำกับ Luis Buñuel
– La Main du diable (1943) ของผู้กำกับ Maurice Tourneur
– Les Diaboliques (1955) ของผู้กำกับ Henri-Georges Clouzot
– และเรื่องที่ถือเป็น ‘Milestone’ ของแนว Horror ในฝรั่งเศส คือ Les yeux sans visage (1960)

คิดว่าด้วยสองเหตุผลที่ชาวฝรั่งเศสไม่ค่อยนิยมชมชอบหนังแนว Horror
1) สถานการณ์ในทวีปยุโรปช่วงทศวรรษ 20s-50s มีเรื่องราว Horror เกิดขึ้นมากมายอยู่แล้วในชีวิตประจำวัน อาทิ สงครามโลก 1&2, Great Depression, ความคอรัปชั่นของระบอบชนชั้น ฯ
2) และหนัง Horror ของ Hollywood อาทิ Universal Monster ถูกมองว่าเป็นความบันเทิงเกรดต่ำ นำเข้ามาฉายมักไม่ค่อยประสบความสำเร็จสักเท่าไหร่ (กล่าวคือ ไม่ได้อยู่ในความสนใจของชาวฝรั่งเศส)

แต่จุดเปลี่ยนเริ่มต้นหลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง จริงๆนับได้ตั้งแต่การมาถึงของ Les Diaboliques (1955) แต่ส่วนใหญ่มักมองที่ Hammer Horror เรื่อง The Curse of Frankenstein (1957) กับ Horror of Dracula (1958) จุดประกายกำเนิด Horror New Wave (Modern Horror) ได้รับความนิยมอย่างสูงในประเทศอังกฤษ ลุกลามข้ามฝั่งสู่ประเทศฝรั่งเศส

เพราะความเริ่มนิยมนี้เอง ทำให้โปรดิวเซอร์สัญชาติฝรั่งเศส Jules Borkon เกิดความสนใจสร้างหนัง Horror ขึ้นมาสักเรื่อง เลือกซื้อลิขสิทธิ์ดัดแปลงนิยายเรื่อง Les yeux sans visage (1959) แต่งโดย Jean Redon นักเขียนสัญชาติฝรั่งเศส ที่เพิ่งวางขายกลายเป็น Best-Selling สดๆร้อนๆ มอบหน้าที่กำกับให้ Georges Franju หนึ่งในผู้ก่อตั้ง Cinémathèque Française และเพิ่งสร้างภาพยนตร์ไม่ใช่สารคดีเรื่องแรก La Tête contre les murs (1958)

Georges Franju (1912 – 1987) ผู้สร้างภาพยนตร์สัญชาติฝรั่งเศส เกิดที่ Fougères, Ille-et-Vilaine ตั้งแต่เด็กมีความหลงใหลในหนังเงียบ โดยเฉพาะผลงานของ Georges Méliès กับ Louis Feuillade ชื่นชอบแนวแฟนตาซี แต่ก่อนเข้าสู่วงการภาพยนตร์ทำงานบริษัทประกัน โรงงานผลิตเส้นก๋วยเตี๋ยว กลับจากเป็นทหารประจำการที่ Algeria เรียนเป็นนักออกแบบฉาก, หลังจากได้พบเจอ Henri Langlois ช่วงกลางทศวรรษ 30s ร่วมกันก่อตั้ง Cinémathèque Française สตูดิโอที่จัดเก็บฟีล์ม Archive ขนาดใหญ่ที่สุดในโลก

หลังเอาตัวรอดผ่านสงครามโลกครั้งที่ 2 เริ่มต้นสร้างภาพยนตร์สารคดีเกี่ยวกับ Nazi ขณะยึดครองกรุง Paris ทั้งหมด 9 เรื่อง เริ่มต้นที่ Le Sang des bêtes (1948) ไปจนถึงปี 1958 เมื่อออกฉายครบหมดถึงเริ่มสนใจสร้าง Feature Length เรื่องแรก La tête contre les murs (1958) ตามด้วย Les Yeux sans visage (1959), Thérèse Desqueyroux (1962) ** ทำให้ Emmanuelle Riva คว้า Volpi Cup for Actress จากเทศกาลหนังเมือง Venice, Judex (1963) ฯ

สไตล์ของ Franju ให้คำนิยามโดยนักวิจารณ์ Claire Clouzot บอกว่ามีลักษณะส่วนผสมระหว่าง Fantasy, Realism, Surrealism และ Expressionism

“a poignant fantastic realism inherited from surrealism and Jean Painlevé science cinema, and influenced by the expressionism of Lang and Murnau”.

ความเป็นศิลปินของเขา ไม่ได้เกิดจากเรื่องราวที่มีความโดดเด่น แต่เป็นสไตล์การสร้างรูปแบบ และไดเรคชั่นของภาพยนตร์

“I’m not have the story writing gift, [but I like] putting into form”.

สำหรับ Les Yeux sans visage ในมุมของผู้กำกับไม่ได้มองว่าเป็นแนว Horror แค่คือเรื่องราวที่เกี่ยวกับ ‘mood’ อารมณ์อันปวดร้าว บรรยากาศอันน่าทุกข์ทรมานเสียมากกว่า

“[Les Yeux sans visage] is anguish… it’s a quieter mood than horror… more internal, more penetrating. It’s horror in homeopathic doses”.

ดึงตัว Pierre Boileau กับ Thomas Narcejac คู่หูดูโอ้ Boileau-Narcejac ผู้แต่งนิยาย Celle qui n’était plus (ดัดแปลงกลายเป็นภาพยนตร์เรื่อง Les Diaboliques) และ D’entre les morts (ดัดแปลงเป็นภาพยนตร์เรื่อง Vertigo) มาร่วมดัดแปลงบทภาพยนตร์

เพื่อหลีกเลี่ยงถูกแบนห้ามฉาย มีอยู่ 2-3 สิ่งที่ต้องระมัดระวัง คือ การใช้เลือด (กับกองเซนเซอร์ฝรั่งเศส), ทารุณสัตว์ (กับกองเซนเซอร์อังกฤษ) และภาพลักษณ์ของนักวิทย์สติเฟื่อง (กับกองเซนเซอร์เยอรมัน) ด้วยเหตุนี้ทีมนักเขียนจึงเปลี่ยนแปลงมุมมองการเล่าเรื่องนิดหน่อย ไม่ใช่แค่ในสายตาของ Dr. Génessier แบบในนิยายเท่านั้น แต่หลายครั้งย้ายมาในมุมของลูกสาว Christiane นำเสนอสภาวะที่เธอต้องพบเจอขณะสูญเสียความเชื่อมั่นและใบหน้าของตนเอง

เรื่องราวของ Christiane Génessier (รับบทโดย Edith Scob) หญิงสาวได้รับอุบัติเหตุทางรถ ทำให้ผิวหน้าได้รับความเสียหายมิอาจกลับคืนสภาพเดิม ผู้เป็นพ่อ Doctor Génessier (รับบทโดย Pierre Brasseur) ศัลยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการปลูกถ่ายเนื้อเยื่อ หลังทำการทดลองกับสัตว์ และเลขาส่วนตัว Louise (รับบทโดย Alida Valli) ประสบความสำเร็จดี จึงตัดสินใจทดลองกับลูกสาวของตน แต่มันก็มีเรื่องวุ่นๆเกิดขึ้น เพราะวิธีการที่เขาใช้คือการลักพาตัวหญิงสาวที่ไม่ได้มีความเต็มใจ นี่หาใช่สิ่งที่จรรยาบรรณทางการแพทย์ยินยอมรับได้แม้แต่น้อย

Pierre Brasseur ชื่อเดิม Pierre-Albert Espinasse (1905 – 1972) นักแสดงสัญชาติฝรั่งเศส เกิดที่ Paris เป็นลูกของสองนักแสดงชื่อดัง Georges Espinasse และ Germaine Brasseur เริ่มเข้าสู่วงการภาพยนตร์ในยุคหนังพูด โด่งดังกับ Les Enfants du Paradis (1945) เคยร่วมงานกับ Franju เรื่อง La Tête contre les murs (1958) จึงได้รับการชักชวนให้มาแสดงใน Les Yeux sans visage (1960)

รับบท Doctor Génessier หมอศัลยแพทย์ผู้มีความรู้เชี่ยวชาญทางวิชาชีพอย่างสูง แต่กลับไร้ซึ่งจรรยาบรรณพื้นฐานของความเป็นมนุษย์ พยายามทำทุกสิ่งอย่างเพื่อแก้ไขสิ่งผิดพลาดของตัวเอง หลังจากขับรถเกิดอุบัติเหตุ ‘like a lunatic’ ส่งผลให้ลูกสาวสุดที่รักสูญเสียใบหน้าไป

ภาพลักษณ์ของ Brasseur หลังจากใส่ชุดกาวน์ คือนักวิทยาศาสตร์สติเฟื่อง ‘Mad Scientist’ น้ำเสียงคำพูดสายตาแสดงถึงความสุขุมเยือกเย็นชา การแสดงออกเต็มไปด้วยความเห็นแก่ตัวไม่แคร์อะไร สนแค่เป้าหมายส่วนตนเท่านั้น ขณะที่ภายในของเขาสะสมเก็บกดความเกรี้ยวกราด ถ้าปล่อยมันทะลักออกมาคงมีแต่ความบ้าคลั่งเสียสติ

มันอาจเริ่มต้นด้วยความรัก แล้วแปรสภาพกลายเป็นความ ‘รู้สึกผิด’ จิตใจของเขาเลยคืบคลานเข้าสู่ความคอรัปชั่น ปกครองแบบเผด็จการ และพยายามครอบงำความคิดของลูกสาว ว่าสิ่งที่กระทำอยู่นี้นั้นไม่ผิด เพราะมันเพื่อเธอคนเดียวทั้งนั้น

ความไร้จรรยาบรรณของตัวละครนี้ สะท้อนออกมาเป็นผลกรรมในช่วงท้าย ถูกฝูงหมาที่นำมาทดลองกักขัง หลังจากถูกปลดปล่อยหลุดออกมา วิ่งกรูเข้าไปหาด้วยความเคียดแค้น ฉีดกัดกินเนื้อและใบหน้าจนเละเทะ (กลายเป็น Two-Faces) สูญเสียสิ้นใบหน้าทั้งรูปธรรมและนามธรรม

Édith Scob (เกิดปี 1937) นักแสดงหญิงสัญชาติฝรั่งเศส เกิดที่ Paris ตั้งแต่เด็กมีความชื่นชอบวรรณกรรม ทำให้หลงใหลการแสดง เริ่มต้นที่ละครเวที ได้รับการชักชวนจากผู้กำกับ Franju รับบทเล็กๆในหนังเรื่อง La Tête contre les murs (1959) ก้าวขึ้นมารับบทนำครั้งแรกกับ Les Yeux sans visage (1960) และยังได้ร่วมงานกันอีกหลายครั้ง

รับบท Christiane เกือบทั้งเรื่องหันหน้าหนีกล้อง ไม่ก็สวมใส่อยู่ใต้หน้ากาก แต่สายตาและท่าทางการเดินเคลื่อนไหว สะท้อนอารมณ์ความรู้สึกที่เจ็บปวดรวดร้าว ทุกข์ทรมาน ราวกับนกในกรงขัง อยากที่จะโบยบินออกไปข้างนอกอย่างอิสระ

ใบหน้าของ Scob ทั้งขณะสวมและไม่ได้ใส่หน้ากาก มีความคล้ายคลึงกันอย่างมาก คงเพราะตัวตนภายในของเธอยังคงเดิมมิได้แปรเปลี่ยนไป เป็นหญิงสาวอมทุกข์เพราะโชคชะตาที่เล่นตลก รู้สึกผิดเพราะความต้องการกลับคืนสู่ปกติของตน ได้สร้างความเดือดร้อนสูญเสียให้กับผู้อื่น ซึ่งแค่ดวงตาเพียงอย่างเดียวสามารถถ่ายทอดทุกสิ่งอย่างออกมาได้อย่างสมบูรณ์แบบ

ผู้กำกับ Franju พูดถึงการร่วมงานกับ Scob พวกเขากลายเป็นเพื่อนสนิท คู่หู (ก็ไม่รู้คู่ขาด้วยหรือเปล่า)

“She is a magic person. She gives the unreal reality.”

Alida Valli ชื่อจริง Baroness Alida Maria Laura Altenburger von Marckenstein-Frauenberg (1921 – 2006) นักแสดงหญิงสัญชาติอิตาเลี่ยน เกิดที่ Pula, Kingdom of Itlay เป็นหลานของ Baron Luigi Altenburger จาก Trento, Austrian-Italian พออายุได้ 15 ปีมุ่งตรงสู่กรุงโรม เข้าเรียนการแสดงที่ Centro Sperimentale di Cinematografia ภาพยนตร์เรื่องแรก Il cappello a tre punte (1934), มีชื่อเสียงโด่งดังกับ Piccolo mondo antico (1941) คว้ารางวัล Special Best Actress จากเทศกาลหนังเมือง Venice, กลายเป็นตำนานกับ The Paradine Case (1947), The Third Man (1949), Senso (1954), Les Yeux sans visage (1960), Suspiria (1997) ฯ

รับบท Louise พยาบาล/เลขาส่วนตัวของ Doctor Génessier ที่เคยสูญเสียใบหน้าไป แล้วได้รับการปลูกถ่ายประสบความสำเร็จ เลยต้องการช่วยเหลือ Christiane ให้กลับคืนมาสวยสะพรั่งเปร่งปลั่ง, เธอมีหน้าที่หลอกล่อลักพาตัวหญิงสาวที่มีรูปลักษณ์คล้ายกับ Christiane มาที่บ้าน/คฤหาสถ์ แล้วทำการมอมยา …

ภาพลักษณ์ของ Valli สวยแบบมีตำหนิ ไม่ใช่แค่รอบแผลเป็นที่คอทำให้ต้องสวมสร้อยมุกตลอดเวลา แต่ยังคือจิตใจที่โหดเหี้ยมเยือกเย็นชา เหมือนว่าจะเป็นเลสเบี้ยนจึงสามารถดึงดูดชักชวนให้สาวๆหลงเข้ามาติดกับได้ไม่ยาก

มีดเล่มเล็กๆปักคอ เหมือนเป็นบาดแผลที่ไม่ใหญ่แต่ฉกรรจ์ยิ่งนัก เพราะเลือดจะคลั่งหลั่งใน มันค่อยๆทะลักและใช้เวลาสักพักก่อนจะเสียชีวิต มีความทุกข์ทรมานอย่างยิ่งยวด ทรุดลงนั่งคอพับสิ้นลม หมดสิ้นความเพ้อฝันทะเยอทะยาน (คอเป็นที่ตั้งของศีรษะ มักคือสัญลักษณ์ของความมักใหญ่ใฝ่สูง)

ถ่ายภาพโดย Eugen Schüfftan ตากล้องสัญชาติ German ผู้ให้กำเนิดเทคนิคการถ่ายภาพ Schüfftan process จากเรื่อง Metropolis (1927), Napoléon (1927), เพราะเป็นชาว Jews อพยพย้ายสู่ฝรั่งเศสปี 1933 ผลงานเด่น อาทิ Port of Shadows (1938), It Happened Tomorrow (1944), คว้า Oscar: Best Cinematography เรื่อง The Hustler (1961)

เกร็ด: Schüfftan process เป็นเทคนิคการถ่ายภาพ ที่ใช้กระจกตั้งเอียงประมาณ 45 องศากับโมเดลขนาดย่อ แล้วใช้กล้องถ่ายติดนักแสดงด้านหลัง จะเห็นภาพสะท้อนโมเดลซ้อนทับเข้ากับนักแสดงอย่างพอดิบพอดี, อ่านไม่เข้าใจลองศึกษาจากภาพจำลองดูแล้วกัน

เกร็ด 2: เทคนิคนี้ได้รับความนิยมอยู่ไม่นานนัก เพราะการมาถึงของ Rear Projection, Travelling Matte และ Blue-screen แต่ครั้งสุดท้ายที่เห็นนำมาใช้คือ Blade Runner (1982) สะท้อนใส่ดวงตา ‘Shining Eyes’

หนังพยายามอย่างเต็มที่ เลื่อนหลบมุมกล้อง, เบลอภาพ, ตัดต่อแบบฉับไว ฯ เพื่อไม่ให้ผู้ชมพบเห็นสิ่งน่ารังเกียจขยะแขยงหวาดกลัวจนเกินรับไม่ได้ แต่ผู้ชมสมัยนี้คงเซ็งๆ (ผมก็แอบเซ็ง) คืออยากเห็นว่าจะแต่งหน้าได้เละเลวร้ายกว่า Harvey Dent หรือเปล่า … ก็หมดสิทธิ์นะครับ เอาเป็นว่าชื่นชมไดเรคชั่นของการ ‘รู้หลบเป็นปีก’ ไปแล้วกัน

ตรงกันข้ามกับหนังนัวร์ ที่มักใช้ความมืดสีดำสะท้อนตีแผ่ความชั่วร้ายที่อยู่ภายในจิตใจมนุษย์ออกมา, หนังเรื่องนี้โดดเด่นกับการใช้สีขาว ทั้งจากการออกแบบฉาก ผนังกำแพง และภายนอกตอนกลางวันก็ดูเหมือนหมอกลงจัดขาวโพลน

ฉากตอนกลางวันของหนัง มองไกลๆเหมือนหมอกขาวโพลน ต้นไม้โกร๋นไร้ใบ เห็นแล้วหลอนหลอกยิ่งนัก (ยังกะ Silent Hill)

ผมละชอบรถของ Doctor Génessier คันนี้เสียเหลือเกิน ลงสีขัดเงาจนวิ้งเห็นภาพสะท้อนของต้นไม้ นี่เป็นความจงใจของผู้กำกับอย่างแน่นอน น่าจะเพื่อพยากรณ์ความตาย หรือสะท้อนความแห้งแล้งที่อยู่ภายในจิตใจตัวละครออกมา

ขณะที่รถของ Louis คือรถเต่า ไม่ได้ขัดเงาจนวิ้งแบบนี้ นัยยะก็ตรงๆ เดินตามหลังอย่างเชื่องช้าแต่มั่นคง

ฉากสุดท้ายของหนังตอนจบ Christiane ได้รับการปลดปล่อยสู่อิสระ ไร้ซึ่งพันธการใดๆจะเหนี่ยวรั้งไว้ เธอเดินมุ่งตรงเข้าหาความมืดมิดสนิท พร้อมนก(พิราบ?)สีขาว และต้นไม้สองลำ สัญลักษณ์คือทางแยกของชีวิต (จากพ่อของตนเอง)

นักวิจารณ์ส่วนใหญ่ตีความฉากนี้ Christiane แม้ได้รับอิสรภาพแต่แลกมาด้วยความสำนึกผิด ราวกับคนสูญเสียสิ้นสติ ออกเดินล่องลอยยามวิกาลอย่างไร้จุดมุ่งหมายชีวิต

ก็ให้มันเป็นประเด็นเปิดกว้างในการคิดวิเคราะห์ตีความแล้วกันนะครับ อยู่ที่ว่าใครจะมองเห็นเข้าใจไปแบบไหน

นี่เป็นการสะท้อนภาพกลับตารปัตรของหนัง อะไรที่สามัญสำนึกบอกว่า ควรเป็นโทนสีแห่งความดี จะกลับกลายเป็นสัญลักษณ์ของความชั่วร้าย, ขณะที่ตัวแทนของความมืด มัน(อาจ)คือความสว่างสดใส

สำหรับฉากไฮไลท์ของหนัง กรีดเฉือนดึงใบหน้า สมจริงพอๆกับ Snuff Film เห็นว่าใช้นักแสดงจริงๆทำการ Make-Up หนาเตอะ และสิ่งที่ดึงออกมาคือหนังยาง (อย่าไปจินตนาการให้มันมาก เดี๋ยวจะอ๊วกพุ่งเป็นลมล้มพับไป), นัยยะของฉากนี้ก็มีความหมายตรงตัวเลยละ ทั้งรูปธรรมและนามธรรม คงไม่ต้องอธิบายกันใช่ไหม!

ตัดต่อโดย Gilbert Natot ที่ต่อจากนี้กลายเป็นขาประจำของผู้กำกับ

หนังใช้การ ‘ส่งไม้ต่อ’ ในการเล่าเรื่อง เริ่ม Prologue จากตัวละคร Louis เข้าสู่เรื่องราวผ่านการบรรยายในมุมมองของ Dr. Génessier ไปสถานีตำรวจ เสร็จแล้วกลับถึงบ้านเดินขึ้นห้องพบเจอ Christiane ก็ไปต่อด้วยในสายตาของเธอ (เมื่อสวมหน้ากากแล้ว) … เรื่องราวใช้การวนเวียนลักษณะนี้ไปมาอยู่หลายรอบทีเดียว

หลายครั้งทีเดียวที่ใช้การเล่าเรื่องด้วยภาพ ตัวละครเดินไปมา ไม่มีเสียงพูดสนทนา แต่ใช้บทเพลงเพื่อสร้างบรรยากาศ สะท้อนอารมณ์ความรู้สึก อธิบายทุกสิ่งอย่างที่เกิดขึ้น นี่ทำให้หนังมีสัมผัสเหมือนบทกวี Poetic Film เป็นอย่างจริง

เพลงประกอบโดย Maurice Jarre นักแต่งเพลงชื่อดังสัญชาติฝรั่งเศส ที่ต่อจากนี้มุ่งสู่ Hollywood กลายเป็นตำนานร่วมกับ David Lean เรื่อง Lawrence of Arabia (1962), Doctor Zhivago (1965), Ryan’s Daughter (1970), A Passage to India (1984) ฯ

หนัง Horror ที่คือจุดเริ่มต้นของสไตล์เพลงทำนองประหลาดๆแบบหนังเรื่อง Suspiria (1977) แต่สร้างสัมผัสหลอกหลอนขนหัวลุกพอง มาจากบทเพลง Générique ที่เปิด Opening Credit ของหนังเรื่องนี้

(แต่เพราะผมหาบทเพลงที่เล่นด้วย Harpsichord, Barrel Organ แบบในหนังมาให้ฟังไม่ได้ เลยนำเอาฉบับ Orchestra เต็มวงมาให้รับฟังกัน อารมณ์ค่อนข้างต่างมาทีเดียว)

Thème Romantique บทเพลงสะท้อนอารมณ์ความรู้สึกของ Christiane อันเต็มไปด้วยความทุกข์โศกเศร้า ปวดร้าวทรมาน เหมือนนกติดอยู่ในกรงขัง/บ้านหลังนี้ มิอาจออกไปไหนพบเจอใครได้อีก จนกว่าใบหน้าของตนเองจะได้รับการรักษาหายดี

ผู้ชมจะรู้สึกสงสารเห็นใจตัวละครอย่างมาก เพราะบทเพลงนี้ช่วยกระตุ้นอารมณ์เศร้าโศกา คาดหวังวาดฝันให้การปลูกถ่ายใบหน้า ที่แม้จะขัดต่อทุกสิ่งอย่างสามารถสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี

Les yeux sans visage คือเรื่องราวของการสูญเสียหน้า อันประกอบด้วย 3 ตัวละคร
– Doctor Génessier สูญเสียหน้า (ภายใน) พยายามกอบกู้ด้วยการมอบคืนใบหน้า (ภายนอก)
– Christiane สูญเสียใบหน้า (ภายนอก) แต่ไม่สูญเสียหน้า (ภายใน)
– Louis เคยสูญเสียใบหน้าแต่ได้คืนมา กระนั้นเธอกำลังจะสูญเสียหน้า (ภายใน)

นี่อาจเป็นสิ่งเข้าใจยากสักนิด เพราะการ ‘เสียหน้า’ ในบริบทหนังเรื่องนี้มองได้ทั้ง
– รูปธรรม, ตัวละครสูญเสียใบหน้าของตัวเองจริงๆ
– นามธรรม, สูญเสียความนับน่าถือตาของผู้อื่นในสังคม

หน้ากากจึงเป็นของเล่นเชิงสัญลักษณ์ ที่ใช้สวมใส่เพื่อปกปิดสิ่งที่สูญเสียไป
– Doctor Génessier สวมใส่หน้ากากหัวโขน เบื้องหน้าเป็นหมอศัลยแพทย์ที่มีคนนับหน้าถือตามากมาย แต่ตัวจริงราวกับฆาตกร หมอผู้ไร้ซึ่งจิตสำนึกจรรยาบรรณ สนแค่ผลประโยชน์ส่วนตนและคนที่รักเท่านั้น
– Christiane สวมหน้ากากจริงๆ เพื่อปกปิดร่องรอยบาดแผลอันน่ารังเกียจขยะแขยง

การสูญเสียหน้า ไม่ว่าในเชิงรูปธรรมหรือนามธรรม ล้วนเป็นสิ่งเกี่ยวข้องกับโชคชะตา ฟ้ากำหนดให้เราเป็นผู้ผิดพลาด เสียหาย พ่ายแพ้ ปฏิกิริยาของมนุษย์ก็จะมีทั้ง
– บุคคลที่ยินยอมรับความจริงได้ ทิ้งหรือไม่ลืมอดีตก็ช่าง ล้มแล้วลุกปรับปรุงตัวก้าวเดินต่อไปข้างหน้า
– ขณะเดียวกันก็มีผู้ที่ยืนกรานปฏิเสธรับไม่ได้ พยายามเวียนวนทำทุกสิ่งอย่างเพื่อหาทางแก้ต่าง ซ่อมแซมใบหน้าให้หวนกลับคืนมาดีเหมือนก่อนลุกขึ้นก้าวเดินต่อ

ทั้งสองแนวคิดของการเสียหน้า ผมมองว่าแบบไหนก็ไม่ผิดนะครับ เพราะนั่นคือทางเลือกที่มนุษย์สามารถตัดสินใจ ชี้ชักนำพาตัวเองไปสู่อนาคตในบริบทแตกต่างกันได้ แต่มันมีอยู่กรณีหนึ่งของหนังเรื่องนี้ คือความพยายามแก้ต่างแล้วนำพาผู้อื่นไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรด้วยเข้ามามีส่วนร่วม เป็นเหยื่อ หนูทดลอง ผู้โชคร้าย นี่เป็นสิ่งยินยอมรับไม่ได้อย่างแน่นอน

คงไม่ใช่หน้าที่จะให้ผมมาพร่ำสอนจิตสำนึก หรือจรรยาบรรณวิชาชีพอะไรพรรณนั้น แต่จะขอแนะนำให้ทบทวนกฎแห่งกรรม สิ่งใดที่เรากระทำต่อผู้อื่น ก็น่าจะรู้ตัวว่าสักวันมันย่อมหวนย้อนกลับมาเกิดขึ้นกับตัวเรา ถ้าเพียงยึดถือมั่นคติธรรมข้อนี้ไว้ในใจ ‘เอาใจเขามาใส่ใจเรา’ ก็ไม่มีอะไรต้องกลัวการสูญเสียหน้าอีกต่อไป

Christiane ชื่อของหญิงสาวมาจาก Christ + … น่าจะชัดเจนอยู่ว่ามีนัยยะอะไร ถึงใบหน้าจะสูญเสียถูกทำลายไป แต่จิตสำนึกความดีงามภายในของเธอนั้น ตั้งอยู่ทุกคำถามของการกระทำ ภาษาภาพยนตร์ ซึ่งเหตุที่การปลูกถ่ายครั้งนั้นล้มเหลว เพราะมันไม่ใช่ใบหน้าความสวยงามแท้จริงของเธอ เปลือกนอกย่อมสามารถเน่าเปื่อยฟ่อนเฟะ แต่สิ่งที่อยู่เบื้องลึกในจิตใจ ไม่ว่าอย่างไงก็มิอาจถูกกัดกร่อนทำลายสูญเสียหน้าไปได้

ชื่อหนังภาษาอังกฤษ Eyes Without a Face มีนัยยะบอกว่า ดวงตาที่คือหน้าต่างของหัวใจ ต่อให้สูญเสียไม่มีใบหน้ารองรับ ก็ยังสามารถมีชีวิตเดินต่ออยู่บนโลกได้

หนังไม่มีรายงานทุนสร้าง แต่มีปริมาณผู้เข้าชมในฝรั่งเศส 560,236 คน น่าจะพอเอาตัวรอดได้กระมัง, ขณะที่อเมริกาเข้าฉายปี 1962 ถูกตัดออกหลายนาที (ยก Sequence ดึงหน้าทิ้งไปเลย) เพิ่มฉากที่ Doctor Génessier เล่นกับเด็กๆที่โรงพยาบาล (แสดงความมีมนุษยธรรมของตัวละคร) และเปลี่ยนชื่อเป็น The Horror Chamber of Dr. Faustus (แต่หนังไม่มีทั้ง Chamber และ Faustus) ฉายควบกับ The Manster (1962) ไม่มีรายงานตัวเลขทำเงิน

ตอนออกฉายในเทศกาลหนังเมือง Edinburgh, Scotland มีผู้ชม 7 คน ที่เป็นลมล้มพับ นั่นทำให้ผู้กำกับ Franju พูดแซวว่า

“Now I know why Scotsmen wear skirts.”

ด้วยคำวิจารณ์ย่อยยับตอนออกฉาย ผู้ชมยังรับไม่ค่อยได้แบบเดียวกับ Psycho (1960) และ Peeping Tom (1960) [สามเรื่องนี้ดันฉายปีเดียวกันด้วยนะ] กาลเวลาเท่านั้นที่ทำให้หนังแปรสภาพเป็นคลาสสิกและกลายเป็นตำนาน ด้วยเรื่องราวสุดประหลาด ไดเรคชั่นสุดแปลก บรรยากาศสุดหลอน และตอนจบสุดพิศดาร เหมือนค้างๆคาๆ แต่สื่อความหมายได้อย่างลึกล้ำ
– นิตยสาร TIMEOUT จัด The 100 Best French Films สูงถึงอันดับ 5

ส่วนตัวชื่นชอบหนังเรื่องนี้อย่างยิ่ง หลงใหลในไดเรคชั่นของผู้กำกับ มอบสัมผัสราวกับบทกวี ภาพลักษณ์การแสดงของ Edith Scob ทั้งขณะสวม/ไม่ได้ใส่หน้ากาก ช่างมีความสวยงามเอ่อล้นออกมาจากภายใน และเพลงประกอบสุดแนวของ Jarre สัมผัสเค้าลางๆของ Doctor Zhivago

แนะนำกับคอหนัง Classic Horror, หลงใหลในหน้ากาก, นักปรัชญา ชื่นชอบการคิดวิเคราะห์, หมอ พยาบาล นักเรียนแพทย์ทั้งหลาย, รู้จักผู้กำกับ Georges Franju และนักแสดง Pierre Brasseur, Edith Scob, Alida Valli ไม่ควรพลาด

จัดเรต 18+ กับความไร้จรรยาบรรณของตัวละคร และภาพการผ่าตัดเปลี่ยนหน้าที่อาจทำให้คลื่นไส้วิงเวียนอาเจียน

TAGLINE | “Les yeux sans visage ทำให้ผู้กำกับ Georges Franju ได้ใบหน้าใหม่ที่สมบูรณ์แบบ และ Edith Scob เจิดจรัสฉาย”
QUALITY | RARE-GENDARY
MY SCORE | LIKE

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: