Let It Be (1970) : Michael Lindsay-Hogg ♥♥♥♡
กัญชายังหมดฤทธิ์ ชีวิตหมดลมหายใจ งานเลี้ยงครั้งไหนๆย่อมมีวันเลิกรา The Beatles ก็เฉกเช่นกัน!, ภาพยนตร์สารคดีบันทึกการตระเตรียมตัว ซักซ้อม แสดงสดครั้งสุดท้ายของวง ยังดาดฟ้าสตูดิโอ Apple building, London โดยไม่มีใครล่วงรับรู้มาก่อน
อาจไม่ใช่สารคดีบันทึกการแสดงคอนเสิร์ตที่ดีเยี่ยมสักเท่าไหร่ แต่สำหรับแฟนๆ The Beatles คุณอาจได้หลั่งน้ำตากับความสูญเสียดาย เพราะภาพยนตร์เรื่องนี้คือจุดสิ้นสุด ‘ปรากฎการณ์’ แห่งศตวรรษ สมาชิกในวงต่างถึงจุดอิ่มตัวในความสำเร็จ Paul McCartney พยายามทำทุกสิ่งประสานรอยร้าว แต่ George Harrison บอกไม่เอาอีกแล้ววิถีชีวิตแบบเดิมๆ
การจะเป็นคนดัง มีชื่อเสียง ประสบความสำเร็จไม่ใช่เรื่องง่าย … แต่การเป็นคนดัง มีชื่อเสียง ประสบความสำเร็จก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเช่นกัน!
บทเพลง Let It Be ขับร้องโดย Paul McCartney ก่อนขึ้นแสดงคอนเสิร์ตยังดาดฟ้าสตูดิโอ Apple building ถือเป็นคำรำพันครั้งสุดท้าย ต่อจากนี้อะไรจะเกิดก็ปล่อยมัน ไม่มีใครสามารถต้านทานกระแสแห่งโชคชะตา ชีวิตเคลื่อนไหลพัดพาเปลี่ยนแปลงไป อนาคตเราอาจค้นพบเจอสิ่งดีงามกว่าปัจจุบันก็เป็นได้
ความตึงเครียดของ The Beatles เริ่มต้นตั้งแต่อัลบัมที่เก้า White Album (1968) เพื่อประสานรอยร้าว Paul McCartney ชักชวนให้ทุกคนออกทัวร์คอนเสิร์ตอีกครั้ง แต่สมาชิกต่างส่ายหัว ไม่กระตือรือร้นสักเท่าไหร่ เพราะประสบการณ์หลายปีที่ผ่านมา หาใช่เรื่องน่าอภิรมณ์เริงใจ เกิดความเหน็ดเหนื่อยเบื่อหน่าย และชีวิตพวกเขาก็ค้นพบหนแนวทางใหม่ๆ
– John Lennon มีแฟนสาว Yoko Ono ประกบติดแทบไม่ห่าง (สร้างความน่ารำคาญ อิจฉาริษยาต่อสมาชิกในวง)
– George Harrison ค้นพบความสนใจดนตรีด้านอื่น หลังจากร่ำเรียน Sitar จาก Ravi Shankar ยังได้เล่นกีตาร์กับ Bob Dylan, The Band ครุ่นคิดว่าฉันสามารถเอาตัวรอดเองได้
– Ringo Starr ไม่ได้มีปัญหาอะไรกับวง แค่อยากใช้เวลากับครอบครัวเพิ่มมากขึ้น
คุยกันไปมาได้ข้อสรุปจะทำคอนเสิร์ตเล็กๆ โดยมีการบันทึกภาพ/ถ่ายทำ เพื่อหวังออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ ‘Live Performance’ พร้อมกันไปด้วย ติดต่อได้ Michael Lindsay-Hogg ให้มาเป็นผู้กำกับ
Sir Michael Edward Lindsay-Hogg, 5th Baronet (1940-) ผู้กำกับ หนึ่งในผู้บุกเบิก Music Video เกิดที่ New York City บุตรของ Geraldine Fitzgerald ว่ากันว่าบิดาคือ Orson Welles แต่ใช้นามสกุลพ่อเลี้ยง Sir Edward Lindsay-Hogg, หลังเรียนจบเริ่มจากทำงานละครเวที (กับพ่อ Welles) จากนั้นผันสู่วงการโทรทัศน์ ได้กำกับหลายๆตอนของรายการเพลง Ready Steady Go! มักคุ้นวงดนตรี Rolling Stones, Yardbirds, Who ซึ่งก็มีโอกาสทำวีดิโอโปรโมทบทเพลงให้กับ The Beatles อาทิ “Paperback Writer, Rain, Hey Jude, Revolution
ลักษณะของภาพยนตร์เรื่องนี้ มีสามเหตุการณ์หลักๆคือ
– การซักซ้อม ตระเตรียมการแสดง ถ่ายทำที่ Twickenham Film Studios
– Outtake ระหว่างพัก สมาชิกในวงพูดคุยสนทนา (มักมีลักษณะแอบถ่าย)
– การแสดงคอนเสิร์ตบนดาดฟ้า วันที่ 30 มกราคม 1969 ณ Apple Building, 3 Savile Row, London
เกร็ด: George Harrison เป็นคนชักชวนนักคีย์บอร์ดผิวสี Billy Preston ให้มาร่วมการแสดงครั้งนี้ด้วย งานเพลงจะได้มีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น
ด้วยความตั้งใจแรกสำหรับฉายโทรทัศน์ ทีมงานเลยเลือกใช้กล้องฟีล์ม 16mm จำนวนสองตัว เริ่มถ่ายทำเช้าจรดเย็น ตั้งแต่สมาชิกคนแรกของ The Beatles ปรากฎตัว จนคนสุดท้ายเดินทางกลับ ไม่เว้นแม้แต่ช่วงเวลาพักเบรค
“My brief on the first day was to ‘shoot The Beatles.’ The sound crew instructions were to roll/record from the moment the first Beatle appeared and to record sound all day until the last one left. We had two cameras and just about did the same thing”.
– Les Parrottหนึ่งในตากล้อง
เทคนิคที่ใช้ก็ทั่วไปในยุคสมัยนั้น ถ้าตั้งกล้องในห้องอัดก็จะมีเพียง Panning, Zooming (บ่อยครั้งมักจับจ้องใบหน้า Yoko Ono อยู่เคียงข้าง John Lennon แทบไม่เหินห่าง) ส่วนถ่ายภายนอกจะมียกแบกหามใส่บ่า Hand Held ขยับเคลื่อนไหวไปมาได้โดยอิสระ
มีเหตุการณ์ไฮไลท์ที่ถูกตัดออกไปในหนัง คือ McCartney ทะเลาะโต้เถียงอย่างรุนแรงกับ Harrison, ลามต่อไปยัง Lennon (แต่เห็นว่าการทะเลาะระหว่าง Lennon กับ Harrison ไม่ทันได้บันทึกภาพไว้) โดยวันที่ 10 มกราคม 1969 ป่าวประกาศว่าขอลาออกจากวง
“I thought, ‘I’m quite capable of being happy on my own, and if I’m not able to be happy in this situation I’m getting out of here’.”
– George Harrison
ช่วงสุดสัปดาห์นั้น Lennon พูดอย่างจริงจังว่า ถ้า Harrison ไม่ยินยอมหวนกลับมา จะติดต่อให้ Eric Clapton ขึ้นคอนเสิร์ตแทน … เขาเลยยินยอมหวนกลับมา แต่ก็แค่เพื่อเติมเต็มสัญญาที่ตกลงกันไว้ตั้งแต่ต้นเท่านั้น
การซักซ้อมของวง จะเล่นดนตรีไปเรื่อยๆ จากทั้งอัลบัมเก่า-ใหม่ ที่จะใช้ในการแสดงบนดาดฟ้า และยังมีบทเพลงของศิลปินอื่นด้วย อาทิ
– เริ่มต้นมา McCartney เล่นเปียโน Samuel Barber: Adagio for Strings
– Maxwell’s Silver Hammer, Oh! Darling, Octopus’s Garden จากอัลบัม Abbey Road
– Across the Universe จากอัลบัม No One’s Gonna Change Our World
– Don’t Let Me Down, Two of Us, I’ve Got a Feeling, One After 909, Dig a Pony, I Me Mine, For You Blue, The Long and Winding Road รวมในอัลบัม Let It Be
– ร้องเล่นๆ Suzy Parker song
– Bésame Mucho (1940) แปลว่า Kiss me a lot แต่งโดยนักร้องสัญชาติเม็กซิกัน Consuelo Velázquez ต้นฉบับขับร้องโดย Trio Los Panchos
– You’ve Really Got a Hold on Me (1962) แต่งโดย Smokey Robinson
– Rip It Up (1956) แต่งโดย Robert Blackwell, John Marascalco
– Shake Rattle and Roll (1954) แต่งโดย Jesse Stone (ใช้ชื่อ Charles E. Calhoun)
– Kansas City (1952) แต่งโดย Jerry Leiber, Mike Stoller
– Miss Ann แต่งโดย Richard Penniman, Enotris Johnson
– Lawdy Miss Clawdy (1952) แต่งโดย Lloyd Price
ฯลฯ
มีฉากหนึ่งที่ตราตรึงมากๆสำหรับผม ตอนที่ McCartney พาลูกสาวมาร่วมการซักซ้อมดนตรี พบเห็นเธอเข้าไปเล่นกับทุกคนในวง เป็นซีนที่แสดงให้เห็นถึงวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไปของชาว The Beatles พวกเขาไม่ใช่วัยรุ่นที่มีนิสัยยียวนกวนประสาทแบบ A Hard Day’s Night (1964) อีกต่อไปแล้ว! ต่างคนต่างมีภาระ ความสนใจ ต้องการของตนเอง (นี่รวมไปถึง Lennon ที่มี Ono ข้างกายตลอดเวลา) มันจึงไม่มีทางที่ทุกสิ่งอย่างจะหวนกลับไปเป็นดังเดิม
สำหรับคอนเสิร์ตบนดาดฟ้าวันที่ 30 มกราคม ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าใครคือผู้ครุ่นคิด ส่วนใหญ่เชื่อกันว่าคือผู้กำกับ Michael Lindsay-Hogg ในช่วงเวลาพักกลางวัน กระหึ่มทั่วเมือง จะสร้างความสนใจให้ผู้คนไปมาขวักไขว่
“There was a plan to play live somewhere. We were wondering where we could go – ‘Oh, the Palladium or the Sahara’. But we would have had to take all the stuff, so we decided, ‘Let’s get up on the roof’.”
– Ringo Starr
การลำดับภาพในช่วงนี้ จะตัดสลับไปมาระหว่างการแสดงบนดาดฟ้า กับปฏิกิริยาผู้ชมโดยรอบ คนที่อยู่บนพื้นก็เงยหน้าขึ้นมองหา ใครอยู่ด้านบนก็พยายามเดินเข้ามาใกล้ๆ นอกจากนี้ยังมีบทสัมภาษณ์เล็กๆน้อยๆจากผู้ชมถึงวง The Beatles ก่อนจบลงด้วยเจ้าหน้าที่ตำรวจ เก็บไว้ได้ทันหมดตั้งแต่ถูกร้องเรียน พยายามแทรกตัวขึ้นไป และสั่งให้ผู้จัดการยุติคอนเสิร์ต (หรือมันเป็นการจัดฉากหว่า?)
แม้จะแค่ระยะเวลา 42 นาที เล่นได้เพียง 5 บทเพลง Get Back, Don’t Let Me Down, I’ve Got a Feeling, One After 909 และ Dig a Pony ก่อนถูกตำรวจ Metropolitan Police ขึ้นมาขับไล่ให้งดใช้เสียง ก็เพียงพอให้กลายเป็นตำนานลือเล่าขาน สัญลักษณ์จุดสูงสุดหวนกลับสู่สามัญของ The Beatles การแสดงครั้งสุดท้ายเพื่อชาวโลก ได้ทำตามใจ ไม่มีค่าใช้จ่ายเข้าชม ไร้เสียงกรี๊ดกร๊าดเจี๊ยวจ๊าว แค่การปรบมือให้ เท่านี้ทุกสิ่งอย่างก็จบสิ้น
แต่การถ่ายทำจริงๆยังไม่สิ้นสุดลง 31 มกราคม คือการถ่ายทำวันสุดท้าย ได้มีการบันทึกเพิ่มสามบทเพลง (นำมาใส่ในฉากก่อนหน้าการแสดงคอนเสิร์ตบนดาดฟ้า) ประกอบด้วย Two of Us, The Long and Winding Road และ Let It Be
แม้จะมีหลายบทเพลงเพราะๆ แต่ผมขอเลือกแค่ Let It Be แต่ง/ขับร้องโดย Paul McCartney คือซิงเกิ้ลสุดท้ายก่อนประกาศยุบวง แต่งขึ้นจากค่ำคืนหนึ่งฝันเห็นแม่ตนเอง (ระหว่างความตึงเครียดในการทำอัลบัม The White Album) ซึ่ง Mother Mary ในบทเพลง ไม่ได้ต้องการจะอ้างอิงถึงพระแม่มารีย์ แต่คือแม่ของตนเองเสียชีวิตจากโรคมะเร็งตอนเขาอายุ 14 ปี
“It was great to visit with her again. I felt very blessed t
– Paul McCartney
เกร็ด: เพลงนี้ได้ทำสถิติติดสัปดาห์แรกในชาร์ท Billboard Hot 100 สูงถึงอันดับ 6 (ปัจจุบันเหมือนจะถูกทำลายสถิติไปแล้ว) และสามารถขึ้นอันดับ 1 ได้สองสัปดาห์
หลังจากที่การฉายผ่านรายการโทรทัศน์ถูกล้มเลิก เพื่อไม่ให้ทุกสิ่งอย่างสูญเสียเปล่า ทีมงานเลยตัดสินใจนำออกฉายโรงภาพยนตร์ ทำการ Blow-Up จากฟีล์ม 16mm สู่ 35mm คุณภาพไม่ดีเท่าไหร่ ตัดทอนจากความยาว 210 หลงเหลือเพียง 81 นาที
เพราะผู้ชมส่วนใหญ่คาดหวังจะได้ชมภาพยนตร์ของ The Beatles แบบเดียวกับ A Hard Day’s Night (1964) หรือ Help! (1965) พบเจอโลกความจริงแบบนี้เลยค่อนข้างผิดหวัง ฉายในสหรัฐอเมริกาเพียง 1-2 สัปดาห์เท่านั้นก็ถูกถอดออกจากโปรแกรม
หนังคว้ารางวัล Oscar สาขา Best Original Score แต่สี่เต่าทองไม่ได้เดินทางไปร่วมงาน Quincy Jones จึงขึ้นรับแทน, แต่ถึงอย่างนั้นกลับถูก SNUB สาขา Best Original Song เพราะบทเพลง Let It Be ผ่านเข้ารอบ 10 เพลงสุดท้าย แต่กลับหลุดโผ … ถือกันว่า นี่เป็นการ SNUB ครั้งเลวร้ายสุดในประวัติศาสตร์สาขานี้!
นอกจากนี้ยังคว้า Grammy Award: Best Original Score Written for a Motion Picture or Television Special
เมื่อปี 2003, Paul McCartney ทำการ Re-Mix อัลบัม Let It Be ตั้งชื่อว่า Let It Be… Naked และตั้งใจจะบูรณะซ่อมแซมภาพยนตร์เรื่องนี้ ด้วยการรวบรวมฟุตเทจที่ยังหลงเหลือมาร้อยเรียงเพิ่มเติมเข้าไป แต่ก็ล้มเลิกความตั้งใจเพราะ…
“The film was so controversial when it first came out. When we got halfway through restoring it, we looked at the outtakes and realised: this stuff is still controversial. It raised a lot of old issues”.
– Paul McCartney
ข่าววงในบอกว่า McCartney และ Starr แสดงความกังวลถึงเนื้อหาส่วนนั้นที่มีความละเอียดอ่อนอย่างมาก (เน้นๆน่าจะคือ ความขัดแย้งกับ Harrison) จะทำให้ภาพลักษณ์วงเสียหาย จึงต่อรองร้องขอถ้าจะนำออกฉาย หลังจากพวกเขาลาจากโลกนี้ไปแล้ว
ถึงกระนั้นหลังจากที่ Peter Jackson ประสบความสำเร็จล้นหลามในการบูรณะ They Shall Not Grow Old (2018) ต้นฉบับฟีล์มขาว-ดำ ตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง กลายมาเป็นภาพสี(และสามมิติ) ประกาศว่าโปรเจคถัดไปจะนำการแสดงคอนเสิร์ตครั้งสุดท้ายของ The Beatles และฟุตเทจที่หลงเหลือ 55 ชั่วโมง เลือกมาร้อยเรียง บูรณะ วางโปรแกรมฉายไว้ปี 2020 วโรกาสครบรอบ 50 ปี พอดิบพอดี!
ผมชื่นชอบการลองผิดลองถูกของภาพยนตร์เรื่องนี้มากๆเลยนะ เหมือนการนั่งฟัง The Beatles ร้องเล่นดนตรีไปเรื่อยๆ พบเห็นวิถีชีวิตจริงๆของพวกเขา (ไม่ใช่ปรุงปั้นแต่งแบบเรื่องอื่นๆ) รอลุ้นเมื่อไหร่จะได้ยินบทเพลงคุ้นหู ซึ่งพอ Let It Be และคอนเสิร์ตบนดาดฟ้าเริ่มขึ้น แฟนคลับคงรู้สึกคุ้มค่าแก่การรอคอยอย่างแน่นอน
จัดเรตทั่วไป
ผมเพิ่งดู Get Back จบ เลยอยากรู้ว่า Let it be ที่ออกมาก่อนหน้าจะเป็นยังไง เท่าที่อ่านๆ ดูแล้ว Get Back ของ Peter Jackson น่าจะมาเติมเต็มส่วนที่ขาดหายไปได้เยอะเหมือนกันนะครับ