Letter from an Unknown Woman

Letter from an Unknown Woman (1948) hollywood : Max Ophüls ♥♥♥♥♥

จดหมายจากหญิงสาวลึกลับ อธิบายเรื่องราวที่ผู้รับหลงลืม ทำให้สามารถฟื้นตื่นสร่างเมา ตระหนักถึงความโง่เขลา เอาแต่ใจ ทุกสิ่งอย่างล้วนสายเกินแก้ไข หลงเหลือเพียงการเผชิญหน้าท้าความตาย

ถือเป็นโชคชะตาล้วนๆเพราะผมดันจดจำไม่ได้ว่าเคยรับชม/เขียนถึง Letter from an Unknown Woman (1948) ประมาณเกือบครึ่งชั่วโมงผ่านไป ค่อยเริ่มเอะใจเลยลองค้นหา แล้วตกตะลึงอ้าปากค้าง ตระหนักว่าเหตุการณ์ดังกล่าวมันช่างละม้ายคล้ายเนื้อเรื่องราวของหนัง บังเกิดความคลั่งไคล้โปรดปราน ชาตินี้จะไม่ลืมเลือนภาพยนตร์เรื่องนี้อีกเป็นอันขาด!

ความทรงจำ ในมุมชาวตะวันตกเป็นสิ่งสำคัญทรงคุณค่ายิ่ง! เพราะพวกเขาไม่เชื่อเรื่องเวียนว่ายตายเกิด คนเรามีชีวิตเพียงครั้งเดียว จึงต้องพยายามทำทุกสิ่งอย่างให้สำเร็จ สมประสงค์ดั่งใจหวัง สร้างชื่อเสียงกลายเป็นตำนานลือเล่าขาน จักได้คงอยู่ตราบกาลนาน ตายแล้วไม่ดับสูญเสียเปล่า

ด้วยเหตุนี้การถูกหลงลืมจึงเป็นอะไรที่เจ็บปวดรวดร้าว ระทมทุกข์ทรมาน โดยเฉพาะจากบุคคลคนที่ชื่นชอบหลงใหล แถมเคยได้ร่วมรักหลับนอน พรอดคำหวานต่อกัน ด้วยเหตุนี้นั้นสำหรับเขาและเธอ จึงหลงเหลือเพียงโศกนาฎกรรม เผชิญหน้ากับความตาย

แน่นอนว่าหนังไม่ได้จะสื่อถึงความรักที่ถูกหลงลืมเพียงอย่างเดียว โดยเฉพาะผู้กำกับ Max Ophüls โดนบีบบังคับ ควบคุมการทำงานจาก Universal-International ทำให้ไม่สามารถแสดงวิสัยทัศน์ แนวทางถนัด ‘สไตล์ Ophüls’ นี่ฉันกำลังถูกหยามเหยียด ทำให้เสียเกียรติ กลายเป็นผลงานที่ไม่อยากจดจำเลยสักนิด (แต่กลับฝังลึกอยู่ในจิตวิญญาณ)

Honor is a luxury only gentlemen can afford.

Stefan Brand

การหวนกลับมารับชมครานี้ ทำให้ผมตระหนักว่า Letter from an Unknown Woman (1948) แม้ถูกสตูดิโอด้อยคุณค่า ‘สไตล์ Ophüls’ แต่ก็ยังมีความยอดเยี่ยม งดงามตราตรึง เกือบๆจะเรียกได้ว่าสมบูรณ์แบบ … นั่นแสดงว่าผู้กำกับระดับปรามาจารย์ แม้ต้องสรรค์สร้างผลงานด้วยกฎกรอบข้อบังคับ ผลลัพท์ก็ยังออกมาน่าประทับใจ เพชรไม่ว่าอยู่ในตรมก็ยังคงมีความเลิศล้ำค่าไม่เสื่อมสลาย


Max Ophüls ชื่อจริง Maximillian Oppenheime (1902 – 1957) ปรมาจารย์ผู้กำกับสัญชาติ German เชื้อสาย Jews เกิดที่ Saarbrücken, German Empire ครอบครัวเป็นเจ้าของกิจการขายสิ่งทอทุกรูปแบบ ฐานะมั่งคั่ง แต่ด้วยความสนใจด้านการแสดงเลยเข้าร่วมคณะละครเวที Aachen Theatre ไต่เต้าเป็นผู้กำกับ ผู้จัดการโรงละคร จากนั้นมุ่งสู่วงการภาพยนตร์ กำกับหนังสั้น Dann schon lieber Lebertran (1931), ภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่องแรก Die verliebte Firma (1931), แจ้งเกิดโด่งดัง Liebelei (1933), La signora di tutti (1934), หลังจาก Nazi ขึ้นมาเรืองอำนาจ อพยพสู่ฝรั่งเศส หนีไปสวิตเซอร์แลนด์ และลี้ภัยยังสหรัฐอเมริกา เซ็นสัญญาสตูดิโอ Universal-International สรรค์สร้างภาพยนตร์ The Exile (1947), Letter from an Unknown Woman (1948), The Reckless Moment (1949), หลังสงครามปักหลักอยู่ฝรั่งเศส กลายเป็นตำนานกับ La Ronde (1950), Le Plaisir (1952), The Earrings of Madame de… (1953), Lola Montès (1955) และผลงานสุดท้ายสร้างไม่เสร็จ Les Amants de Montparnasse (1958)

ความสนใจของ Ophüls มีคำเรียกว่า ‘woman film’ ตัวละครนำมักเป็นเพศหญิง ชื่อขึ้นต้น ‘L’ (มาจาก Lady) เรื่องราวเกี่ยวกับความรัก ชู้สาว นอกใจ ในสังคมชั้นสูงที่ทุกสิ่งอย่างดูหรูหรา ฟู่ฟ่า ระยิบระยับงามตา แต่เบื้องลึกภายในจิตใจคน กลับซุกซ่อนเร้นอะไรบางอย่างอยู่เสมอๆ

Letter from an Unknown Woman ดัดแปลงจากเรื่องสั้น Brief einer Unbekannten (1922) แต่งโดย Stefan Zweig (1881 – 1942) นักเขียน/นักข่าว สัญชาติ Austrian เชื้อสาย Jews, นำเสนอเรื่องราวของนักเขียนคนหนึ่ง (ไม่รู้ว่าแทนด้วยผู้แต่ง Zweig เลยหรือเปล่านะ?) อ่านจดหมายลึกลับจากหญิงสาวแปลกหน้า (ไม่มีระบุชื่อเช่นกัน) ก่อนค้นพบว่าเธอคือคนใกล้ตัวมากๆแต่กลับหลงลืมจดจำไม่ได้

ดัดแปลงบทภาพยนตร์โดย Howard Koch (1901 – 1995) สัญชาติอเมริกัน เชื้อสาย Jews โด่งดังกับ Casablanca (1942), Shining Victory (1941), แต่ผลงาน Mission to Moscow (1943) ทำให้ถูกตีตราว่าเป็นคอมมิวนิสต์เลยติด Hollywood Blacklist ตั้งแต่ปี 1951 (ตอนดัดแปลงบทหนังเรื่องนี้ ยังได้ขึ้นเครดิตอยู่นะครับ)

เกร็ด: ใครเคยรับชม La signora di tutti (1934) แปลว่า Everybody’s Woman หนึ่งในผลงานสร้างชื่อของผู้กำกับ Ophüls จะพบเห็นความละม้ายคล้ายคลึงของพล็อตเรื่องราว เกี่ยวกับนักแสดงสาวชื่อดังตัดสินใจเขียนจดหมายลาตาย หวนระลึกถึงความทรงจำในอดีต แม้ชีวิตรายล้อมด้วยผู้คนมากมาย แต่จิตใจกลับเวิ้งว่างเปล่า โหยหาความรักแท้

การดัดแปลงเรื่องราวนั้น ในส่วนเค้าโครงค่อนข้างจะซื่อตรงต่อต้นฉบับนวนิยาย แต่ก็มีการปรับเปลี่ยนแปลงเล็กๆน้อยๆ ให้สอดคล้องความต้องการผู้กำกับ และได้รับอนุมัติผ่าน Hays Code อาทิ

  • เริ่มจากการเปลี่ยนแปลงชื่อตัวละคร
    • พระเอกใช้ชื่อย่อ R. กลายมาเป็น Stefan Brand
    • หญิงสาวนิรนาม ให้ชื่อว่า Lisa Berndle
    • มารดา (ของนางเอก) ให้ชื่อ Frau Berndle
    • สามีคนใหม่ (ของแม่) ตั้งชื่อ Herr Kastner
  • พระเอกเป็นนักเขียนนวนิยาย เปลี่ยนมาเป็นนักเปียโนคอนเสิร์ต
  • คนรับใช้ของพระเอก ถูกทำให้กลายเป็นคนใบ้ ตัดบทพูดทั้งหมดทิ้งไป
  • เปลี่ยนพื้นหลังจาก Innsbruck.มาเป็นเมือง Linz
  • หญิงสาว (Lisa) ร่วมรักหลับนอนกับพระเอก (Stefan) ทั้งหมดสามค่ำคืน แต่ในหนังเหลือเพียงค่ำคืนเดียว
  • เห็นว่าในนวนิยายพรรณาการร่วมรักหลับนอนได้อย่างตราตรึง แต่หนังต้องปรับเปลี่ยนเป็นการดินเนอร์ นั่งรถม้า ท่องเที่ยวรัตติกาล (แทนฉาก Sex Scene)
  • หญิงสาว (Lisa) ไม่ได้แต่งงานกับใคร แต่มีอุปนิสัย playgirls เปลี่ยนคู่รักไปเรื่อยๆ ด้วยเหตุนี้เลยไม่มีตัวละคร Johann (สามีของ Lisa) รวมไปถึงการท้าดวลอารัมบท-ปัจฉิมบท
  • เมื่อทั้งสองหวนกลับมาพบเจอหลายปีให้หลัง ชายหนุ่มนอกจากจดจำหญิงสาวไม่ได้ แถมยังครุ่นคิดเข้าใจว่าเป็นโสเภณี นั่นคือเหตุผลที่ทำให้เธอหลบหนีออกจากห้อง แล้วเรื่องราวในนวนิยายก็จบสิ้นลง

เรื่องราวมีพื้นหลังกรุง Vienna, Austria-Hungary เริ่มต้นปี ค.ศ. 1900, เด็กสาวแรกรุ่น Lisa Berndle (รับบทโดย Joan Fontaine) บังเกิดความลุ่มหลงใหล ตกหลุมรักนักเปียโนอัจฉริยะ Stefan Brand (รับบทโดย Louis Jourdan) เพิ่งย้ายเข้ามาอยู่อาศัยในอพาร์ทเม้นท์หลังเดียวกัน เธอจึงแอบตระเตรียมตัวเตรียมใจ เรียนรู้วิชาการดนตรี ทั้งยังฝึกฝนเต้นลีลาศ พร้อมจะเป็นหญิงสาวที่สมบูรณ์แบบให้เขา แต่โชคชะตาทำให้ต้องพลัดพรากจาก เพราะมารดาตัดสินใจแต่งงานใหม่ เลยจำต้องอพยพย้ายสู่เมือง Linz

หนึ่งปีผ่านไป Lisa เติบโตเป็นวัยรุ่นสาว หลังบอกเลิกรานายทหารอนาคตไกล ออกเดินทางจากบ้านหวนกลับสู่ Vienna ทำงานเป็นนางแบบเสื้อผ้าสตรี ทุกค่ำคืนแอบไปเฝ้ารอคอย Stefan จนเขาสังเกตพบเจอ ชักชวนไปดินเนอร์ นั่งรถม้า ท่องเที่ยวรัตติกาล ก่อนลงเอยร่วมรักหลับนอน ตั้งมั่นหมายว่าจะกลับมาพบเจอกันอีก แต่การงานรัดตัวทำให้ทั้งสองพลัดพรากจากกันอีกครั้ง

อีกสิบปีผ่านไป Lisa แต่งงานกับ Johann (รับบทโดย Marcel Journet) วันหนึ่งระหว่างรับชมอุปรากร The Magic Flute พบเห็น Stefan กลายเป็นนักเปียโนตกอับ มิอาจอดกลั้นความรู้สึกของตนเองเลยต้องการหลบหนีกลับบ้าน แต่เขามาดักรอพรอดรักรำพันถึงทรงจำอันเลือนลาง ค่ำคืนถัดมาเธอจึงแอบไปพบเจอยังอพาร์ทเมนท์หลังเก่า แต่เขากลับหลงลืมสนิท จดจำอดีตไม่ได้เลยสักนิด สร้างความเจ็บปวดรวดร้าว หัวใจแตกสลาย


Joan Fontaine ชื่อจริง Joan de Beauvoir de Havilland (1917 – 2013) นักแสดงหญิงสัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Tokyo, Japan บิดาเป็นครูสอนภาษาอังกฤษที่ Imperial University, ส่วนมารดา Lilian Augusta Ruse de Havilland Fontaine (1886–1975) คืออดีตนักแสดงละครเวทีชื่อดัง ต้นตระกูลสืบเชื้อสายขุนนางอังกฤษ หลังจากครอบครัวหย่าร้าง แม่พาเธอและพี่สาว Olivia de Havilland อพยพสู่สหรัฐอเมริกา โตขึ้นเดินตามรอยเท้าเป็นนักแสดงละครเวที ภาพยนตร์เรื่องแรก No More Ladies (1935), เซ็นสัญญากับ RKO Picture เริ่มมีชื่อเสียงจาก The Man Who Found Himself (1937), A Damsel in Distress (1937), Gunga Din (1939), The Women (1939), ย้ายมาสังกัด David O. Selznick แสดงนำ Rebecca (1940), Suspicion (1941)**คว้า Oscar: Best Actress

รับบท Lisa Berndle จากเด็กหญิงสาวอ่อนเยาว์วัยไร้เดียงสา นิสัยขี้เล่นซุกซน จนเมื่อตกหลุมรักแรกพบ Stefan Brand พัฒนาตัวเองให้กลายเป็นสุภาพสตรี คาดหวังจะได้มีโอกาสครองคู่ อยู่เคียงชิดใกล้ แม้สุดท้ายจะเพียงค่ำคืนเดียวก็เพียงพึงพอใจ ใช้เวลาต่อจากนี้เพื่อหลงลืมอดีต แต่งงานใหม่ แต่การหวนกลับมาพบเจอกันอีกครั้ง ทำให้ทุกสิ่งอย่างเคยวาดฝันไว้พลังทลายลงพริบตา

Fontaine ขณะนั้นอายุย่างเข้า 30 ปี (แก่กว่า Louis Jourdan เสียอีกนะ!) แม้จะดูแก่เกินเด็กสาวอายุ 16 แต่เมื่อตัวละครเติบโตขึ้น อคติดังกล่าวก็จะค่อยๆสูญหายไป กลายเป็นความลุ่มหลงใหล น่าประทับใจในพัฒนาการ และการแสดงออกที่สะท้อนความรู้สึกอย่างตรงไปตรงมา (แม้อายุเพิ่มเท่าไหร่ แต่ตัวละครก็ยังทำตัวเหมือนเด็กน้อยอายุ 16 ไม่เปลี่ยนแปลง)

  • เด็กสาวอายุ 16 มีความขี้เล่นซุกซน เต็มไปด้วยความกระตือรือร้น อยากรู้อยากเห็น อยากมีโอกาสเคียงชิดใกล้ชายคนที่ตกหลุมรัก
  • พอเติบโตขึ้นมาหน่อยถูกจับคู่หมั่นหมาย สายตาวอกแวก กระวนกระวาย ก่อนในที่สุดจะพูดบอกปัดปฏิเสธ อ้างว่ามีคนรักอยู่แล้วที่ Vienna
  • อีกปีถัดมากลายเป็นหญิงสาวแรกรุ่น แสดงออกอย่างกุลสตรี มีความทรงเสน่ห์น่าหลงใหล เมื่ออยู่เคียงชิดใกล้ชายคนรัก พบเห็นอมยิ้มกริ่มแทบตลอดเวลา
  • สิบปีถัดมาหลังแต่งงาน เธอพยายามสร้างภาพเหมือนผู้ดี ซุกซ่อนความต้องการแท้จริงไว้ภายใน แต่เมื่อหวนกลับมาเจออดีตคนรัก ก็มิอาจควบคุมความรู้สึกนั้นอีกต่อไป
  • แต่เมื่อเขามิอาจหวนระลึก จดจำเธอได้ แสดงออกด้วยความสิ้นหวัง หมดอาลัย จากไปอย่างเศร้าโศก รวดร้าวระทม

นักวิจารณ์สมัยนั้นต่างยกย่องสรรเสริญการแสดงของ Fontaine สามารถสวมบทบาทเด็ก-หญิงสาว-กลางคน ได้อย่างน่าหลงใหล แต่เมื่อการมาถึงของ Method Acting ทำให้อะไรๆดูเฉิ่มเฉย ล้าหลัง จากเคยสมจริงกลายเป็นฝืนธรรมชาติ แต่ขอเรียกว่าคลาสสิกก็แล้วกัน มันไม่ได้ถึงขั้นย่ำแย่เลวร้ายขนาดนั้น

เกร็ด: ในบรรดาผลงานการแสดงของตนเอง Fontaine บอกชื่นชอบ Letter from an Unknown Woman (1948) มากที่สุด


Louis Jourdan ชื่อเกิด Louis Robert Gendre (1921 – 2015) นักแสดงสัญชาติฝรั่งเศส เกิดที่ Marselle โตขึ้นเข้าเรียนการแสดงยัง École Dramatique จบออกมามีผลงานละครเวที เข้าตาผู้กำกับ Marc Allégret ชักชวนมาเป็นผู้ช่วยตากล้อง แสดงภาพยนตร์เรื่องแรก Le Corsaire (1939) แต่สร้างไม่เสร็จเพราะการมาถึงของสงครามโลกครั้งที่สอง, ข้ามน้ำข้ามทะเลเซ็นสัญญาในสังกัด David O. Selznick แสดงหนัง Hollywood เรื่องแรก The Paradine Case (1947), ผลงานเด่นๆ Letter from an Unknown Woman (1948), Madame Bovary (1949), Gigi (1958), 007: Octopussy (1983) ฯ

รับบท Stefan Brand นักเปียโนได้รับขนานนามว่าเด็กอัจฉริยะ แต่พอเติบโตขึ้นเหมือนว่าค่อยๆสูญเสียอะไรบางอย่าง จนฝีมือการเล่นตกต่ำลงอย่างน่าใจหาย ส่วนหนึ่งอาจเพราะชื่นชอบการใช้ชีวิตสำมะเลเทเมา เที่ยวเตร่พาสาวขึ้นห้องไม่ซ้ำหน้า กระทั่งพบเจอหญิงแปลกหน้าไม่รู้จักชื่อ เธอคือผู้มีความเข้าใจสิ่งขาดหายในหัวใจ แต่แค่เพียงค่ำคืนเดียวก็หายสาบสูญไร้ร่องรอย ต่อให้หวนกลับมาพบเจอสิบปีให้หลังก็มิอาจจดจำได้ สุดท้ายเมื่ออ่านจดหมายลีกลับ ทุกสิ่งอย่างก็สายเกินแก้ไข

บทบาทนี้ถือเป็น ‘ภาพจำ’ ของ Jourdan หนุ่มหล่อเหลา นิสัย playboy แต่ภายในนั้นเวิ้งว่างเปล่า พยายามโหยหาไขว่คว้าบางสิ่งอย่าง เพื่อมาเติมเต็มความต้องการของหัวใจ, ซี่งตัวละครนี้นอกจากพัฒนาการด้านภาพลักษณ์ (จากเต่งตีง เหี่ยวย่น และแซมผมหงอกขาว) น้ำเสียงพูดยังสะท้อนความรู้สีกภายในที่ค่อยๆเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา จากเคยเย่อหยิ่งทะนงตน อ่อนหวานเมื่อตกหลุมรัก หยาบกระด้างหลังจากสูญเสียทุกสิ่งอย่างไป

หลายคนอาจครุ่นคิดว่าสิ่งขาดหายภายในจิตใจตัวละครนี้คือความรักแท้! แต่ผมมองว่ามันเกิดจากความคาดหวัง(ของสังคม) การถูกตีตราตั้งแต่เด็กว่า ‘อัจฉริยะ’ ทำให้เขาต้องแบกภาระ แสดงศักยภาพให้ผู้อื่นเห็นพัฒนาการอยู่ตลอดเวลา จนไม่เคยมีโอกาสได้ยินเสียงเพรียกที่หัวใจร้องเรียกปรารถนา อะไรคือความต้องการแท้จริง? ซี่งมันไม่จำเพาะเจาะแค่ความรักเพียงอย่างเดียวนะครับ


ถ่ายภาพโดย Franz Planer (1894 – 1963) ตากล้องสัญชาติ Austria-Hungary เชื้อสาย Jews มีผลงานตั้งแต่ยุคหนังเงียบในยุโรป ก่อนอพยพสู่ Hollywood ตั้งแต่ปี 1937 ผลงานเด่นๆ อาทิ Holiday (1938), Letter from an Unknown Woman (1948), Death of a Salesman (1951), Roman Holiday (1953), King of Kings (1961), Breakfast at Tiffany’s (1961), The Children’s Hour (1961) ฯ

หนังทั้งเรื่องถ่ายทำในสตูดิโอของ Universal และ Republic เพราะต้องจำลองสร้างฉากเมือง Vienna ค.ศ. 1900 ขึ้นใหม่ทั้งหมด (สถานที่จริงคงหลงเหลือเพียงเศษซากปรักหักพังจากสงคราม)

ปกติแล้ว ‘สไตล์ Ophüls’ งานภาพจะไม่มีหยุดอยู่นิ่งกับที่ ต้องมีการขยับเคลื่อนไหวตลอดเวลาด้วยเครน ไร้ทิศทางซ้าย-ขวา ขึ้น-ลง แต่หนังเรื่องนี้สตูดิโอ Universal พยายามกีดกันเยื้อแย่งไม่ให้ใช้เครนบ่อยจนเกินไป (คงเพื่อประหยัดเวลาและงบประมาณ) แม้ไม่พึงพอใจเท่าไหร่แต่ก็ต้องประณีประณอมยอมความ เพราะยังเหลือสัญญากับ Selznick อีกหลายปีทีเดียว

ถ้าถามว่าสตูดิโอ Universal-International ด้อยค่าผู้กำกับ Max Ophüls ขนาดไหน? ให้ดูจากชื่อบนเครดิตเปลี่ยน ü เป็น u ยังพอรับได้ แต่สูญหายตัวอักษร h กลายเป็น Max Opuls มันไม่น่าให้อภัยจริงๆนะ

ภาพแรกของหนังคือการมาถึงของรถม้า ยามค่ำคืนดึกดื่น ปกคลุมด้วยความมืดมิด แถมยังฝนตกหนัก … ชวนให้นึกถึงภาพยนตร์ The Phantom Carriage (1921) กำลังจะนำพาวิญญาณผู้เสียชีวิตสู่ยมโลก

นี่เป็น Sequence ที่นำเสนอความเป็น ‘สไตล์ Ophüls’ ด้วยการถ่ายทำ Long Take ตั้งแต่รถม้าตรงเข้ามา พระเอกลงจากรถ กล้องถ่ายให้เห็นบริเวณหน้าต่าง(ของรถม้า) พบเห็นการสนทนาทิ้งทาย จากนั้นรถม้าดำเนินต่อไป และเขาเดินเข้าไปในอพาร์ทเม้นท์

วิธีการที่หนังใช้จินตนาการเรื่องราวจากจดหมาย คือทำให้ภาพค่อยๆเบลอ หลุดโฟกัส (นี่เป็นเทคนิคที่ยังพบเห็นไม่บ่อยนักในยุคสมัยนั้น) พอมองอะไรไม่เห็นแล้วค่อยปรับกลับมาให้คมชัด แล้วปรากฎภาพในอดีตขึ้นมาแทนที่

ภาพแรกของ Lisa ก็แสดงถึงความอยากรู้อยากเห็น ยืนเกาะอยู่ตรงหน้าต่างรถม้า จับจ้องมองคนงานกำลังแบกพิณขนาดใหญ่ แต่ไม่ทันไรก็ถูกมารดาตะโกนเรียกขัดจังหวะความสุข (สะท้อนสิ่งที่เกิดขึ้นหลังช่วงท้ายองก์แรก มารดาแต่งงานใหม่ ทำให้ Lisa ต้องร่ำลาจากอพาร์ทเม้นท์หลังนี้อย่างไม่เต็มใจ)

Sequence นี้ก็ถ่ายทำในลักษณะ Long Take เช่นเดียวกัน! เพื่อสื่อถึงความเพลิดเพลิน ลุ่มหลงใหลในสิ่งที่เด็กสาวไม่เคยพานพบเห็น แต่เมื่อถูกขัดจังหวะโดยมารดา ต้องกลับเข้าไปในอพาร์ทเม้นท์ ความสุขเล็กๆดังกล่าวก็เกือบสิ้นสุดลง

เด็กหญิงแกว่งไกวชิงช้า (นัยยะถึงความเพลิดเพลินสนุกสนาน) ระหว่างรับฟังเสียงเปียโนเล่นเพลง Franz Liszt: Un Sospiro แต่ก็ถูกขัดจังหวะโดยเพื่อนสนิท ที่กล่าวตำหนิว่าเป็นเสียงหนวกหูน่ารำคาญ

อาการลุ่มหลงใหลของ Lisa คงจะสะท้อนช่วงเวลาวัยเด็กของผู้กำกับ Ophüls เมื่อค้นพบความประทับใจในดนตรีคลาสสิก และการแสดงละครเวที ยุคสมัยนั้นยังถือเป็นศาสตร์ชั้นสูง ของผู้ดีมีฐานะ ไม่ใช่ประชาชนคนทั่วไปจะสามารถสัมผัสถึง

แม้จะเป็นการเปิดประตูทางออกอพาร์ทเม้นท์ แต่แท้จริงแล้วมันคือการเปิดประตูห้องหัวใจของ Lisa ยินยอมพร้อมจะทำทุกสิ่งอย่าง ตระเตรียมการ ฝึกฝนวิถีผู้ดี ความเป็นกุลสตรี และซักซ้อมเต้นลีลาศ เพื่อสักวันจะได้กลายเป็นหญิงสาวในอุดมคติ มีโอกาสครอบครองรักกับ Stefan

ช็อตนี้นำเสนอในลักษณะคล้ายหนังนัวร์ พบเห็นแสง-เงา อาบฉาบพื้นผนังในลักษณะเหมือนกรงขัง แต่สามารถสื่อถึงสิ่งที่อยู่ภายในของเด็กสาว หรือก็คือการเปิดประตูห้องหัวใจ (อย่างที่อธิบายไปนะแหละ)

นี่เป็นฉากเล็กๆที่น่าสนใจทีเดียว Lisa ซักซ้อมลีลาศโดยไม่มีคู่เต้น และอยู่ภายนอกห้อง จนกระทั่งเมื่อจุดๆหนึ่งก็เดินเข้าไปร่วมวงกับคนอื่น … ซีนนี้จะมองแค่ว่าเป็นการเริ่มต้นซักซ้อม หรือจะสื่อถึงพัฒนาการของ Lisa เมื่อสามารถเริงระบำอย่างคล่องแคล่วง ก็ได้รับการยอมรับเข้าสู่แวดวง

วันทำความสะอาดพรม คือสัญลักษณ์ของการเปิดเผยสิ่งซุกซ่อนเร้นไว้ภายใต้(พรม) สำหรับ Lisa คือสามารถแอบเข้าไปในห้องของ Stefan (ด้วยความอยากรู้อยากเห็น) ขณะเดียวกันก็พบเห็นมารดากอดจูบใครบางคน ก่อนรับรู้ว่าเธอกำลังจะแต่งงานใหม่ และเตรียมย้ายออกจากอพาร์ทเมนท์แห่งนี้ (ถ่ายผ่านช่องระหว่างระหว่างราวบันได ราวกับกรงขังที่จะทำให้ Lisa สูญเสียอิสรภาพในชีวิต)

ทีแรกผมฉงนยสงสัยว่าทำไมท่านั่งของ Lisa ถึงดูแปลกๆ มาครุ่นคิดดูก็พบว่า

  • นั่งกลับด้านทางพนักพิง สะท้อนถึงเรื่องเล่าของมารดา เกิดขึ้นโดยเธอไม่เคยรับล่วงรู้เบื้องหลัง/ข้อเท็จจริงมาก่อน
  • มือของเธอวางตำแหน่งบดบังบริเวณปาก สื่อถึงการไร้สิทธิ์เสียง ไม่สามารถพูดแสดงความเห็นใดๆ

ที่สถานีรถไฟ ขณะกำลังเตรียมตัวออกเดินทางย้ายบ้าน มารดาและสามีใหม่ต่างกำลังวุ่นวายโดยไม่สนใจอะไรใคร (นี่ก็สื่อความหมายอย่างชัดเจนว่า พวกเขาไม่ได้ใคร่สนใจความคิดเห็นใดๆของบุตรสาว) ใบหน้าของ Lisa ขนาบเคียงข้างกระเป๋า เป็นเปรียบเทียบเหมือนเธอเป็นเพียงพัสดุสิ่งข้าวของ ไร้สิทธิ์เสียงพูด ขยับเคลื่อนไหว ครุ่นคิดกระทำอะไร … เมื่อตระหนักได้ดังนั้น เด็กสาวเลยครุ่นคิดกระทำบางสิ่งอย่าง

นี่เป็นฉากที่ผมเคยรู้สึกว่าดูปลอมๆ วอกแวก ไม่เป็นธรรมชาติ แต่ครุ่นคิดไปมาก็ตระหนักว่ามันคืออาการกระวนกระวาย วิตกกังวล อันเป็นอิทธิพลยุคสมัย ช่วงต้นศตวรรษที่ 20th เพศหญิงแทบจะไม่สิทธิ์เสียง ครุ่นคิดตัดสินใจ หรือทำอะไรๆด้วยตนเอง มันจึงไม่ใช่เรื่องง่ายที่เธอจะตอบปฏิเสธ โดยเฉพาะการแต่งงานที่ถูกจัดแจง/คลุมถุงโดยครอบครัว ผู้หมวดคนนี้ดีพร้อมทุกสิ่งอย่าง แต่แค่ทิศทางนั่งตั้งฉากก็สะท้อนความแตกต่าง เข้ากันไม่ได้ (และท่าทางเดิน ไม่ต่างจากหุ่นยนต์สักเท่าไหร่)

ผมว่าผู้ชมสมัยนี้อาจไม่รู้สึกถึงตะขิดตะขวงใจกับการตัดสินใจของ Lisa นั่นเพราะค่านิยมทางสังคมได้ปรับเปลี่ยนแปลงไปแล้วโดยสิ้นเชิง! ในอดีตฉากนี้สร้างความสับสนให้ผู้ชม ด่าทอการตัดสินใจของหญิงสาวว่ามีความโง่งม มันมีประโยชน์อะไรกับความรักไร้ซึ่งความมั่นคง … นั่นคือสิ่งที่ผู้กำกับ Ophüls ชอบวิพากย์วิจารณ์ทัศนคติของสังคม (ตัวเขาเองคงเคยถูกครอบครัวด่าขรม ที่เลือกอาชีพการละคอน/ภาพยนตร์ แทนที่จะธำรงความมั่งคั่งจากธุรกิจของตน)

เมื่อ Lisa ตอบปฏิเสธการแต่งงาน เขาและเธอเดินเคียงข้างวงดุริยางค์บรรเลง Radetzky-Marsch, Op. 228 ท่วงทำนองสนุกสนาน (น่าจะสื่อถึงความดีใจที่ต้องซุกซ่อนไว้ภายในของ Lisa) มาจนถึงโต๊ะที่ครอบครัวพวกเขานั่งรอคอยข่าวดี หนังจงใจใช้เสียงดนตรีกลบเกลือนการสนทนา (น่าจะเป็นฉากขบขันสุดของหนังแล้วมั้งนะ/สไตล์ ‘Ophüls’ มักต้องสอดแทรกความขบขันลักษณะนี้อยู่เสมอๆ) ไม่ให้ได้ยินว่าผู้หมวดพูดอะไรกับนายพล (ก็น่าจะแค่ขอลากลับก่อน เท่านั้นละ)

เมื่อสองพ่อลูกจากไป หญิงสาวนั่งลงตรงเก้าอี้ ถูกมารดา-สามีใหม่ ยืนขึ้นรุมห้อมล้อม พยายามกดดันเรียกร้องขอคำตอบจากบุตรสาว กล้องค่อยๆเคลื่อนเข้าหาจนเหลือเพียงพวกเขาทั้งสาม พอได้รับคำตอบก็ทำการเบลอภาพแล้ว Cross-Cutting กลับสู่ปัจจุบัน

หลังได้รับอิสรภาพจากครอบครัว Lisa เดินทางกลับกรุง Vienna ทำงานเป็นโมเดลลิ่งลองเครื่องแต่งกายสตรี แม้นัยยะของอาชีพนี้เหมือนตุ๊กตาที่ถูกจับแต่งตัว (Doll’s House ค่านิยมของหญิงสาวสมัยก่อน) แต่เธอกลับสามารถขยับเคลื่อนไหว ครุ่นคิดตัดสินใจอะไรๆได้ด้วยตนเอง คาดว่าคงบอกปัดปฏิเสธบุรุษมากมายที่พยายามสู่ขอแต่งงาน

นั่นเพราะทุกค่ำคืน เธอจะมายืนเฝ้ารอคอยชายคนรัก ณ ตำแหน่งรูปปั้นพระแม่มารีย์(โอบอุ้มพระเยซูคริสต์) นี่เป็นการเปรียบเทียบเธอดั่งแม่พระ ยินยอมเสียสละตนเองเพื่อเขา … จะว่าไปจดหมายที่ส่งให้ภายหลังของ Lisa ก็ทำให้ Stefan ตระหนักถึงบางสิ่งอย่าง เปรียบราวกับเธอเป็นผู้มาไถ่(ของเขา)

กลับตารปัตรกับตอนที่ Lisa บอกเลิกราผู้หมวดหนุ่ม, เธอเฝ้ารอคอย Stepan ยามค่ำคืนที่หนาวเหน็บ ในชุดคลุมสีดำขลับ พร้อมรับฟังบทเพลง (ไม่แน่ใจว่าเพลงอะไร) จากวงดนตรีข้างถนนที่มีท่วงทำนองโหยหาอาลัย

บริกรเลื่อนผ้าม่านให้หลงเหลือเพียงโลกส่วนตัว(ที่คับแคบ)ของพวกเขาทั้งสอง ในร้านอาหารที่มีความเลิศหรู ราคาแพง คลอประกอบเสียงเพลง Wiener Blut, Op. 354 กล้องค่อยๆเคลื่อนเลื่อนเข้าหา ยิ่งสนทนายิ่งสร้างความใคร่สนใจให้กับ Stepan

ปล. เมื่อ Lisa ถอดเสื้อคลุมสีดำออก (มุมมองคนอื่นย่อมครุ่นคิดว่าหญิงสาวคนนี้นิสัยเรื่องมาก เล่นตัว ดูชั่วร้าย ผิดแผกแตกต่างจากใครอื่น) จะพบเห็นชุดเดรสของเธอสีขาวผุดผ่อง (สะท้อนความบริสุทธิ์แท้จริงที่อยู่ภายใน ชีวิตนี้ต้องการมอบความรักให้เขาเพียงผู้เดียว)

กุหลาบสีขาว คือสัญลักษณ์ของความรักด้วยใจบริสุทธิ์ ไม่คาดหวังสิ่งใดตอบแทน ถือเป็นตัวเลือกที่เหมาะสมกับ Lisa ทั้งชีวิตนี้ต้องการมอบให้เขาเพียงผู้เดียว

สำหรับผู้กำกับ Ophüls กุหลาบขาวน่าจะเป็นสัญลักษณ์แทนความรักที่มอบให้กับการละคอน/วงการภาพยนตร์ พร้อมอุทิศตนโดยไม่หวังผลตอบแทนใดๆ (Ophüls เกิดในครอบครัวที่ร่ำรวยอยู่แล้ว เขาจึงไม่สนเงินทอง ผลตอบแทนจากหนัง แค่อยากได้อิสรภาพในการสรรค์สร้างผลงานที่ตนรักเท่านั้น)

เอกลักษณ์ของ ‘สไตล์ Ophüls’ คือการเคลื่อนเลื่อนกล้อง Long Take ยาวๆ แต่เมื่อถูกสตูดิโอยึดเครน บีบบังคับให้จำกัดการเคลื่อนไหว ก็ทำไมไม่สร้างฉาก/ภาพพื้นหลัง ‘cyclorama’ ที่สามารถขยับเคลื่อนดำเนินไป!

สะท้อนเข้ากับเรื่องราวความรักของหนุ่ม-สาวคู่นี้ พวกเขาไม่มีเวลาออกเดินทางไปฮันนีมูนแห่งหนไหน เพียงค่ำคืนนี้ นั่งบนขบวนรถไฟ แล้วให้ทิวทัศน์ปลอมๆภายนอกหน้าต่าง (สะท้อนถึงความสัมพันธ์ของพวกเขาที่เป็นเพียงเพ้อฝัน) ขยับเคลื่อนดำเนินไป!

จะว่าไปก็ไม่ต่างจากการรับชมภาพยนตร์ เรานั่งอยู่เฉยๆบนเก้าอี้ พบเห็นสิ่งที่อยู่บนจอภาพขยับเคลื่อนดำเนินไป!

แม้โตเป็นสาวแต่ระหว่างรับฟังบทเพลงที่ Stefan กำลังบรรลงเปียโน (ผมไม่แน่ใจนักว่าเพลงอะไร แต่ครุ่นคิดว่าน่าจะ Johann Strauss แน่ๆ) Lisa ทำตัวเล็กลีบ ลงไปนั่งเกาะอยู่ด้านข้าง(เปียโน) ทำตัวราวกับเด็กน้อย จับจ้องมองด้วยสายตาลุ่มหลงใหล ตกหลุมรัก ภายในมีความกระหยิ่มยิ้ม พึงพอใจ ชีวิตไม่ต้องการอะไรไปมากกว่านี้

หนังจงใจนำเสนอมุมกล้องเดียวกัน เสียงโต้ตอบสนทนาเดียวกัน (Good morning, Mr. Brand.) ถ่ายลงมาจากชั้นบน ขณะ Stefan พาหญิงสาว(คนละคน)เข้ามาในอพาร์ทเม้นท์ กล้องแพนติดตามขณะเดินขึ้นบันได เปิดประตู และเข้าห้องไปร่วมรักหลับนอน

สำหรับ Stefan การได้พบเจอ Lisa ก็ไม่แตกต่างจากหญิงสาวทั่วๆไปที่เคยพามายังอพาร์ทเม้นท์ ร่วมรัก หลับนอน เช้าตื่นขึ้นมาก็พร้อมแยกจาก เพียงแค่ว่าหญิงสาวได้เติมเต็มความเพ้อใฝ่ฝัน กลายเป็นหนึ่งในสตรีคนนั้น แม้เพียงแค่ข้ามคืนก็เพียงแล้วสำหรับความต้องการของเธอ (นี่ก็เป็นแนวคิดที่สังคมสมัยนั้นยินยอมรับไม่ได้ สุภาพสตรีที่เป็นผู้ดีมีสกุล ไม่ควรมักมาก ร่านราคะต่อบุรุษเพียงชั่วข้ามคืน)

ลึกๆภายในจิตใจของ Lisa ก็เหมือนภาพ(แอบ)สะท้อนในกระจกบานนี้ ไม่อยากจะเลิกราจาก Stefan แต่เธอก็ตระหนักถึงสันดาน ธาตุแท้จริงของผู้ชายคนนี้ที่เปลี่ยนหญิงสาวไม่เลือกหน้า เชื่อว่าสักวันเขาคงหลงลืม และตนเองสามารถทำใจได้สำเร็จ (ฟังดูขัดย้อนแย้งกับช่วงท้าย แต่จิตใจของหญิงสาวก็เรรวนปรวนแปร คาดเดาไม่ได้อย่างนี้แหละ)

การหวนกลับมาพบเจอกันอีกครั้งของ Stefan กับ Lisa เริ่มจากเขาแอบจับจ้องมองเธอระหว่างอุปรากร Die Zauberflöte (1791) หรือ The Magic Flute (กลับตารปัตรจากที่ Lisa เคยเอาแต่จับจ้องมอง Stefan) เมื่อทั้งสองมาเผชิญกัน ใบหน้าพวกเขาอาบครึ่งหนึ่งบนความมืดมิด จิตใจต่างโหยหาบางสิ่งอย่าง ซุกซ่อนเร้นความต้องการแท้จริงไว้ภายใน

บทเพลงที่ได้ยินระหว่างอุปรากรคือ Ein Mädchen oder Weibchen (แปลว่า A girl or a woman) อยู่องก์สอง ซีนที่ห้าของ The Magic Flute คือช่วงเวลาท้าพิสูจน์ความซื่อสัตย์ จริงใจในรัก เมื่อมีหญิงสาวเข้ามายั่วยวน ขณะที่ Papageno (เพื่อนพระเอก)มิอาจอดรนทนไหว Tamino (พระเอก) กลับสามารถผ่านบททดสอบนี้ไปอย่างสบายๆ … สำหรับ Lisa มีสภาพรุกรี้รุกรนเหมือน Papageno มิอาจอดรนทนได้อีกต่อไป

สามีของ Lisa ตระหนักได้สิ่งบังเกิดขึ้นกับเธอ พยายามย้ำเตือนสติ ให้รักษาหน้าตา/ความเป็นผู้ดีมีสกุล แล้วเมื่อกลับมาถึงบ้านขณะพูดว่า ถ้าเหตุการณ์บานปลายฉันจะทำทุกสิ่งอย่างเพื่อรักษาเกียรติของตนเอง! พอดิบพอดีพบเห็นดาบ Rapier ตรงผนังกำแพง นี่ชัดเจนมากๆว่าเขาคือบุคคลผู้ท้าดวลกับ Stefan

เอาจริงๆผมรู้สึกว่าพล็อตการแต่งงานของ Lisa มันดูไม่น่าเป็นไปได้สักเท่าไหร่ ขัดย้อนแย้งกับตอนที่เธอพยายามดิ้นให้หลุดพ้นพันธการของครอบครัว ปฏิเสธคู่หมั้นคนก่อน แล้วยินยอมแต่งงานกับหมอนี่เนี่ยนะ?? ไม่สมเหตุสมผลเลยสักนิด!

Lisa มิอาจต่อต้านทานเสียงเพรียกของหัวใจ เธอจึงกลับไปหา Stefan ยังอพาร์ทเมนท์หลังเก่า แต่เมื่อพบว่าเขาหลงลืมตนเองหมดสิ้นแล้วจริงๆ หนังนำเสนอปฏิกิริยาด้วยภาพหน้าตรง ไม่เล่นมุมกล้อง เทคนิค หรือแสงเงา ให้อิสรภาพ Fontaine แสดงออกทางอารมณ์อย่างเต็มที่ … ถือเป็นไฮไลท์การแสดงของ Joan Fontaine เลยก็ว่าได้!

ทรงผมของ Fontaine จะเริ่มจากไม่ได้หวี มัดด้านหลัง ค่อยๆขยับเคลื่อนมาจนฟูฟ่องด้านบนศีรษะ น่าจะสะท้อนถึงพัฒนาการตัวละคร จากเด็กสาวจอมแก่น สู่ผู้ดีมีสกุล และกลายเป็นภรรยาที่ต้องเย่อหยิ่งทะนงในเกียรติ ศักดิ์ศรีของวงศ์ตระกูล

เมื่อมิอาจอดรนทนต่อการถูกหลงลืม Lisa วิ่งหนีออกจากอพาร์ทเม้นท์ของ Stefan มาจนถึงลานกว้างช็อตนี้ ถ่ายภาพมุมสูง แสงไฟสลัวๆ สะท้อนห้วงอารมณ์ความรู้สึกที่หลงเหลือเพียงความเวิ้งว่างเปล่า ครึ่งหนึ่งปกคลุมด้วยเงามืดมิด ทุกสิ่งอย่างเคยวาดฝัน ตระเตรียมการมานั้น พังทลาย สาบสูญหายหมดสิ้น … บรรยากาศของช็อตนี้ สะท้อนความรู้สึกตัวละครได้งดงามมากๆ

ในที่สุดก็มาถึงจุดตั้งต้น Lisa เริ่มเขียนจดหมาย(ให้กับ Stefan) ตั้งแต่บุตรชายล้มป่วย แล้วเธอเองก็ติดโรคไทฟอยด์ หลงเหลือเวลาชีวิตอีกไม่มาก โคมไฟอันนี้มีลักษณะเหมือนไม้กางเขน และใบหน้าของเธออยู่ในกรอบซ้ายบน (มีพระเจ้าเป็นที่พึ่ง จากไปแล้วคงได้อยู่บนสรวงสวรรค์)

การเขียนจดหมาย ไดอารี่ (หรือสร้างภาพยนตร์) ก็เพื่อเก็บบันทึกความทรงจำที่ล้ำค่าของผู้เขียน (ผู้สร้างภาพยนตร์) ให้คงอยู่แม้ตนเองลาจากโลกนี้ไป ยังมีใครบางคนสามารถจดจำ หวนระลึก ตระหนักถึงคุณค่าในการกระทำเหล่านั้น นั่นคือความเป็นอมตะ นิจนิรันดร์

เมื่ออ่านจดหมายลึกลับจบลง Stefan ก็เริ่มประมวล/ทบทวนความทรงจำทั้งหมด (ร้อยเรียงชุดภาพความทรงจำของตนเอง) ในที่สุดก็ค่อยๆตระหนักถึงเรื่องราวต่างๆ และเมื่อยามเช้ามาถึง ล้มเลิกความตั้งใจคิดหลบหนี พร้อมแล้วจะเผชิญหน้าท้าความตาย ก่อนขึ้นรถหันกลับมามองตรงประตู ภาพของเด็กหญิง Lisa (ที่เคยเปิดประตูให้) ค่อยๆเลือนลางจางหาย แม้ชีวิตของเขากำลังใกล้สุดสิ้นลง แต่จะขอจดจำตัวเธอจนเสี้ยววินาทีสุดท้าย

ตัดต่อโดย Ted J. Kent (1901 – 1986) สัญชาติอเมริกัน ในสังกัด Universal Studios ผลงานเด่นๆ อาทิ The Invisible Man (1933), Bride of Frankenstein (1935), My Man Godfrey (1936), Show Boat (1936), Letter from an Unknown Woman (1948) ฯลฯ

หนังเริ่มต้น/อารัมบทด้วยเรื่องราวของนักเปียโน(เคย)ชื่อดัง Stefan Brand ถูกท้าดวลตัวต่อตัวโดยไม่ทราบสาเหตุ ตั้งใจจะหลบหนีเอาตัวรอด แต่หลังจากกลับมายังอพาร์ทเม้นท์ ได้รับจดหมายจากหญิงนิรนาม เปิดออกอ่านได้ยินเสียงบรรยายของ Lisa Berndle เล่าถีงสามช่วงเวลาสำคัญสุดของชีวิต

  • ช่วงแรก, การย้ายเข้ามาอพาร์ทเม้นท์หลังนี้ของ Stefan Brand
    • Lisa มีความฉงนสงสัยกับสิ่งของมากมายระหว่างการขนย้ายขี้นบ้านใหม่ของ Stefan
    • Lisa มีความลุ่มหลงใหลกับเสียงเปียโนที่ได้ยิน
    • วันทำความสะอาดพรม ทำให้ Lisa สามารถแอบเข้าไปในห้องของ Stefan
    • หลังจากมารดาตัดสินใจแต่งงานใหม่ ขณะกำลังจะออกเดินทางโดยสารรถไฟ Lisa หนีกลับมายังอพาร์ทเม้นท์ เฝ้ารอคอย Stefan แต่พบเห็นเขากลับมากับหญิงสาวคนหนี่ง
  • ช่วงสอง, หนึ่งปีถัดมา ค่ำคืนแห่งการพบเจอ พรอดรัก และพลัดพรากจาก
    • Lisa บอกปัดการสู่ขอแต่งงาน
    • Lisa หวนกลับสู่ Vienna ทำงานเป็นนางแบบเสื้อผ้า
    • แต่ทุกค่ำคืนจะแอบไปเฝ้ารอคอย Stefan จนกระทั่งเขาสังเกตเห็น เข้าไปทักทาย ชักชวนไปดินเนอร์ นั่งรถม้า และพาขี้นห้อง
    • วันถัดมาบอกร่ำลาเพราะต้องไปทำการแสดงต่างเมือง แต่เธอก็หนีหายจากเขาไปเลย
  • ช่วงสาม, สิบกว่าปีให้หลัง หวนกลับมาพบเจอกันอีกครั้ง แต่เขากลับหลงลืมจดจำเธอไม่ได้
    • Lisa แต่งงานใหม่ กำลังจะเตรียมตัวไปรับชมอุปรากรกับสามี
    • ระหว่างการแสดงอุปรากร พบเห็นนักเปียโน Stefan มิอาจหักห้ามใจ
    • วันถัดมาตัดสินใจลักลอบแอบไปพบเจอ แต่พอตระหนักว่าเขาจดจำเธอไม่ได้ จีงหลบหนีหายตัวไปอีกครั้ง

ปัจฉิมบทตัดกลับมาหา Stefan Brand หลังอ่านจดหมายจบ เข้าใจเหตุผลที่มาที่ไปของการท้าดวลครั้งนี้ ตัดสินใจไม่หลบหนี พร้อมเผชิญหน้าต่อสู้ เพื่อพิสูจน์ความเป็นลูกผู้ชายของตนเอง


เพลงประกอบด้วย Daniele Amfitheatrof (1901 – 1983) สัญชาติรัสเซีย เปิดที่ Saint Petersburg, มารดาเป็นนักร้อง/นักเปียโน พอเติบโตขี้นตัดสินใจไปร่ำเรียนวิชาดนตรียังประเทศอิตาลี และอพยพสู่อเมริกาในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ผลงานเด่นๆ อาทิ Lassie Come Home (1943), Guest Wife (1945), Song of the South (1946), Letter from an Unknown Woman (1948) ฯ

ผู้กำกับ Ophüls มีความหลงใหลคลั่งไคล้ในบทเพลงคลาสสิก ด้วยเหตุนี้ ‘สไตล์ Ophüls’ จีงมักมีบทเพลงจากคีตกวีชื่อดัง ถูกนำมาเป็นส่วนสำคัญของหนัง ซี่งสำหรับ Letter from an Unknown Woman (1948) ได้ขอให้ Amfitheatrof เรียบเรียง Main Theme โดยนำแรงบันดาลใจจาก Franz Liszt: Un Sospiro (แปลว่า A sigh) ผมไม่ขอเขียนรายละเอียดนะครับ เพราะสามารถคลิกลิ้งค์หาอ่านได้เลย

คนที่รับฟัง Un Sospiro บ่อยครั้งจนติดหู คงจะคุ้นท่วงทำนองท่อนหลักของ Main Theme แต่ Amfitheatrof ก็ไม่ได้แค่คัดลอกเลียนแบบทั้งหมดเพียงอย่างเดียว มีการแต่งเติม แทรกเสริมโน่นนี่นั่น (ใส่ท่วงทำนองอื่นเข้าไป) เพื่อให้สอดคล้องกับเนื้อเรื่องราวของหนัง … บทเพลง Un Sospiro ถูกใช้เพียงเสี้ยวส่วนอารมณ์หนี่งเท่านั้นนะครับ

สำหรับบทเพลงอื่นๆที่ได้ยินในหนัง ประกอบด้วย

  • Franz Liszt: Étude No. 3 in D Flat major (Un Sospiro)
  • Richard Wagner: O du, mein holder Abendstern (แปลว่า Song to the Evening Star) นำจากองก์สามของอุปรากร Tannhäuser (1845)
  • Johann Strauss Sr.: Radetzky-Marsch (แปลว่า Radetzky March), Op. 228
  • Johann Strauss II: Wiener Blut (แปลว่า Viennese Blood), Op. 354
  • Wolfgang Amadeus Mozart: The Magic Flute

Un Sospiro เป็นบทเพลงที่มีความระยิบระยับเหมือนดวงดาวเจิดจรัสบนท้องฟากฟ้า ช่างดูสวยงามอร่ามตา แต่เมื่อรับฟังกลับรู้สีกอ้างว้าง เปล่าเปลี่ยวเดียวดาย เหมือนบางสิ่งอย่างภายในได้สาปสูญหายไป ไม่รู้จะทำอย่างไร ก็ได้แต่ทอดถอนหายใจ … ถือเป็นบทเพลงที่สะท้อนตัวตน ห้วงอารมณ์ ความรู้สีกของตัวละคร Stefan Brand ออกมาได้อย่างใกล้เคียงที่สุด

ฉากที่ Stefan กำลังซักซ้อม Un Sospiro แล้ว Lisa ไกวชิงช้าอยู่เบื่องล่าง มีการใช้ประโยชน์จากท่วงทำนอง ห้วงอารมณ์บทเพลงได้ตราตรึงมากๆ ช่วงแรกๆเด็กหญิงมีความเพลิดเพลิด(ในการไกวชิงช้า) แต่พอเพื่อนสนิทเดินเข้ามาบ่นพรำ เสียงอะไรก็ไม่รู้หนวกหูจัง พอดิบพอดีกับจังหวะเร่งเร้า กระแทกกระทั้น สีหน้าอารมณ์ของชายหนุ่มก็กลัดกลุ้ม ราวกับไม่พึงพอใจการตีความบทนี้สักเท่าไหร่

ความหวาดกลัวไม่ได้รับการยินยอมรับ คงคือเหตุผลหลักที่ทำให้เด็กหญิงไม่เร่งรีบร้อน พูดบอกความใน แสดงออกความต้องการต่อชายคนที่ตกหลุมรักใคร่ ค่อยๆให้กาลเวลาเคลื่อนผ่านดำเนินไป และตนเองเติบโตเป็นสาวเมื่่อไหร่ วันนั้นคงยังไม่สายเกินไป … กระมัง

พฤติกรรมแสดงออกของ Lisa แม้เต็มไปด้วยความเห็นแก่ตัว เอาแต่ใจ แต่ถือว่ามีความครุ่นคิดเป็นของตนเอง ฉันผิดอะไรที่ฉันจะตกหลุมรัก ทำสิ่งต่างๆตามเสียงเพรียกเรียกร้องหัวใจ (จริงๆต้นฉบับนิยาย ตัวละครจะมีความระริกรี้แรดร่านราคะ แต่ถูกตัดทิ้งทั้งหมดเพราะไม่ผ่านกองเซนเซอร์) … ลักษณะดังกล่าวสะท้อนค่านิยม Feminist ไม่ยินยอมให้ใครไหน หรือกฎกรอบทางสังคม เข้ามาควบคุม ครอบงำ บีบบังคับ ให้ต้องปฏิบัติทำตามในสิ่งขัดย้อนแย้งความต้องการของหัวใจ

ขณะที่บุรุษในภาพยนตร์เรื่องนี้ ต่างมองหญิงสาวไม่ต่างอะไรกับ ‘วัตถุทางเพศ’ ต้องการครอบครองเป็นเจ้าของโดยไม่ใคร่สนใจอะไร แถมพยายามควบคุมครอบงำ บีบบังคับให้กระทำตามคำสั่ง

  • Stefan Brand นิสัยเจ้าชู้ประตูดิน เปลี่ยนสาวไม่เลือกหน้า พาขึ้นห้องเพื่อร่วมรักหลับนอน
  • มารดาพยายามจับคู่ให้ Lisa ตอบตกลงแต่งงานกับ Lt. Leopold von Kaltnegger
  • Johann Stauffer ยินยอมรับไม่ได้ถ้าภรรยาลักลอบมีชู้นอกใจ รู้สึกเสียเกียรติ เสียหน้า เสียบารมีในสังคม
    ฯลฯ

Stefan Brand แม้คืออัจฉริยะด้านดนตรี แต่กลับมีโลกทัศนคติอันคับแคบต่อการใช้ชีวิต สิ่งขาดหายไปภายในจิตวิญญาณของเขาคือ ‘ความรัก’ ไม่เคยได้รับการเติมเต็มจากใคร นั่นเพราะเจ้าตัวก็ไม่ครุ่นคิดมอบมันให้ใคร แค่จดจำหญิงสาวคนหนึ่งยังทำไม่ได้ ไร้ความหาญกล้า ลูกผู้ชาย ไม่แปลกอะไรเมื่อถึงจุดหนึ่งฐานะทางสังคมจะค่อยๆตกต่ำลงเรื่อยๆ

ความคาดหวังของ Lisa จากเคยยกยอปอปั้นชายหนุ่มที่ตนหลงใหลคลั่งไคล้ กาลเวลาทำให้ทุกสิ่งอย่างผันแปรเปลี่ยนไป จากอยู่สูงเกินเอื้อม ค่อยๆตกต่ำต้อยค่าลงเรื่อยๆ นั่นเป็นสิ่งยินยอมรับไม่ได้ในทัศนคติของเธอ ทำไมผู้ชายดีๆถึงมีสภาพแบบนี้ ใช้เวลาเฮือกสุดท้ายของชีวิต เขียนจดหมายพรรณาความทรงจำ ช่วงเวลาสุขล้ำค่าที่สุด จากนั้นปล่อยให้เป็นเรื่องของโชคชะตานำพา

ผู้กำกับ Max Ophüls เป็นชาวเยอรมัน เชื้อสายยิว หลบหนีสงครามโลกครั้งที่สองสู่สหรัฐอเมริกา มองมุมหนึ่ง Letter from an Unknown Woman คือจดหมายรักเขียนถึงประเทศเยอรมัน เปรียบตนเองดั่งหญิงสาวเคยตกหลุมรักอดีตอันยิ่งใหญ่เกรียงไกร (ของ German Empire) ปัจจุบันกลายมาเป็นอะไรก็ไม่รู้ตกต่ำไร้ค่า สร้างความเจ็บปวดรวดระทม ขื่นขมจนหัวใจแทบแตกสลาย

ขณะเดียวกันเราสามารถเปรียบเทียบตัวละคร Stefan ได้ถึงผู้กำกับ Ophüls เพราะการอพยพลี้ภัยสู่สหรัฐอเมริกา เซ็นสัญญาทาส Hollywood ค่อยๆทำให้ชีวิตของเขาตกต่ำลงเรื่อยๆ สูญเสียอิสรภาพ ไม่สามารถสรรค์สร้างผลงานด้วยวิสัยทัศน์ ‘สไตล์ Ophüls’ รู้สึกเหมือนหยามเกียรติ หมิ่นแคลนศักดิ์ศรี อยากท้าดวลอีกฝั่งฝ่าย แต่มันเป็นไปได้เสียที่ไหน

หรือเราจะมองตัวละคร Stefan คือตัวแทนวงการภาพยนตร์ Hollywood ก็ได้เช่นกัน (ผมว่าการเปรียบเทียบนี้น่าจะใกล้เคียงสุดแล้วนะ) ในอดีตเคยดูยิ่งใหญ่เกรียงไกร ไม่มีใครทาบรัศมี (ผู้กำกับ Ophüls ก็คือ Lisa จับจ้องมองด้วยสายตาลุ่มหลงใหล) เลยตระเตรียมตัว ฝึกฝนตนเอง (เรียนรู้งานสร้างภาพยนตร์ จนมีชื่อเสียงโด่งดังในยุโรป) พอเติบโตขึ้นก็มีโอกาสเติมเต็มความเพ้อใฝ่ฝัน (เซ็นสัญญากับ Hollywood) แต่เมื่อกาลเวลาเคลื่อนผ่าน ปัจจุบันพบเห็นเพียงความตกต่ำ (Hollywood) กำลังมุ่งหน้าสู่หายนะ ใกล้ถึงจุดจบสิ้น

Hollywood เป็นดินแดนแห่งความเพ้อใฝ่ฝันของบรรดานักสร้างภาพยนตร์ นั่นรวมไปถึง Max Ophüls ก็เคยใคร่อยากมาลองเสี่ยงโชคชะตา กระทั่งได้รับการติดต่อจาก Howard Hughes ให้มาสรรค์สร้าง Vendetta เมื่อปี 1946 แต่ไม่ทันไรก็ถูกขับไล่ออก (ด้วยข้ออ้างสุดคลาสสิก ความครุ่นคิดเห็นต่าง) จับพลัดจับพลูได้เซ็นสัญญากับ Universal-International แต่ความล้มเหลวจากผลงานเรื่องแรก The Exile (1947) ทำให้สตูดิโอขาดความเชื่อมั่นในตัวผู้กำกับ จากนั้นก็เริ่มเข้ามาแทรกแซง ชี้นิ้วสั่ง ไม่ให้ทำโน่นนี่นั่น เลยค่อยๆสูญเสียวิสัยทัศน์ ไดเรคชั่นของตนเอง ถึงขนาดนักแสดง James Mason เขียนบทกวีรำพัน

A shot that does not call for tracks
Is agony for poor dear Max,
Who, separated from his dolly,
Is wrapped in deepest melancholy.
Once, when they took away his crane,
I thought he’d never smile again.

James Mason อุทิศให้ผู้กำกับ Max Ophüls

การมาทำงานอยู่ยัง Hollywood สำหรับผู้กำกับ Ophüls กลายเป็นช่วงเวลาอันเลวร้าย ไม่ย่อหย่อนกว่าตอน Nazi เข้ายึดครองเยอรมัน สองผลงานถัดจาก Letter from an Unknown Woman (1948) ล้วนเป็นหนังนัวร์ (ที่ไม่ใช่สไตล์ถนัดของตนเอง) สังเกตจากชื่อ Caught (1949), The Reckless Moment (1949) ก็สะท้อนอะไรๆได้พอสมควร


เมื่อตอนออกฉาย หนังไม่ประสบความสำเร็จทั้งรายได้และเสียงตอบรับจากนักวิจารณ์ ถูกมองว่ามีความเป็น ‘melodrama’ เกินไป ไร้สาระ ไร้แก่นสาน ขนาดว่าชื่อผู้กำกับบนเครดิตยังสะกดผิดเป็น Max Opuls เลยโดนเก็บเข้ากรุ ใครต่อใครหลงลืม สาปสูญหายไปจากสารบบอยู่หลายทศวรรษ

กระทั่งเมื่อลิขสิทธิ์หนังถูกส่งต่อจาก Universal มาเป็น National Telefilm Associates (NTA) ซึ่งถือครองหุ้นโดย Paramount Pictures จัดจำหน่ายเป็น VHS, Laserdic ถึงค่อยๆถูกการค้นพบ ประเมินค่าใหม่ ได้รับเสียงสรรเสริญแซ่ซ้อง หนึ่งในผลงานยอดเยี่ยมที่สุดของผู้กำกับ Ophüls (เมื่อขณะลี้ภัยมาอยู่สหรัฐอเมริกา)

ปัจจุบันได้รับการบูรณะคุณภาพ 4K โดย Criterion Collection (สามารถหารับชมได้ทาง Criterion Channel) และออกฉายเทศกาลหนังเมือง Cannes Classics เมื่อปี 2021

บอกตามตรงว่าผมไม่ค่อยเข้าใจตนเองเหมือนกัน ทำไมถึงหลงลืมว่าเคยรับชม Letter from an Unknown Woman (1948) ทั้งๆหลายบทความถัดมาเมื่อเขียนถึง Liszt: Un Sospiro ก็ยังอ้างอิงถึงภาพยนตร์เรื่องนี้อยู่เลย … มันคงเป็นเรื่องของโชคชะตาที่ทำให้ต้องหลงลืม เพื่อที่จะหวนกลับมารับชมแล้วตระหนักถึงบางสิ่งอย่าง และกลายเป็นความทรงจำที่ไม่รู้เลือน!

เอาจริงๆแค่บทเพลง Liszt: Un Sospiro ก็ทำให้ผมหลงใหลคลั่งไคล้หนังมากๆแล้วนะ แต่การได้หวนกลับมารับชมอีกครั้งด้วยประสบการณ์ดังกล่าว มันสร้างความตระหนักรู้ เข้าใจความรู้สึกที่แท้จริงของการถูกหลงลืม ทั้งแง่มุมผู้รับและส่งจดหมาย ไม่ต้องรอให้แก่ตัวไป เพียงปีสองปีก็สาแก่ใจแล้วละ!

แนะนำคอหนัง Romance Tragedy รักเขาข้างเดียว, หลงใหลบทเพลงคลาสสิกของ Liszt, Strauss, นักออกแบบ แฟชั่นดีไซเนอร์ เสื้อผ้าหน้าผม งานสร้าง/ฉากพื้นหลัง, โดยเฉพาะแฟนๆผู้กำกับ Max Ophüls คลั่งไคล้นักแสดงนำ Joan Fontaine, Louis Jourdan ไม่ควรพลาดเลยละ!

จัดเรต PG กับความหมกมุ่น มึนเมา แรงแค้นริษยา

คำโปรย | จดหมายรัก Letter from an Unknown Woman ของ Max Ophüls แม้ถูกบิดเบือนไปบ้าง แต่ยังคงความงดงาม เจ็บปวดรวดร้าวทรวงใน
คุณภาพ | ม่รู้ลื
ส่วนตัว |

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: