Love Is Colder Than Death (1969) German : Rainer Werner Fassbinder ♥♥♥

ภาพยนตร์เรื่องแรกของผู้กำกับ Rainer Werner Fassbinder ที่ทำการทดลองผิดลองถูก (Avant-Garde) แทบไม่มีการขยับเคลื่อนกล้อง ดำเนินไปอย่างเชื่องช้า Long Take รับชมแล้วรู้สึกทุกข์ทรมานยิ่งกว่าความตาย

Love Is Colder Than Death (1969) เป็นภาพยนตร์ที่ผมรู้สึกว่าสร้างขึ้นเพื่อเคารพคารวะ Jean-Luc Godard โดยเฉพาะ Breathless (1960) แม้ไม่มีเคลื่อนกล้อง หรือตัดต่อ Jump Cut แต่การนำเสนอเรื่องราวอาชญากร นักเลงหัวไม้ ออกปล้น-ฆ่า กระทำสิ่งชั่วร้าย แฝงแนวคิดความ ‘หัวขบถ’ และยังเป็นผลงานกำกับเรื่องแรกเหมือนกันอีกต่างหาก!

ใครที่ติดตามอ่าน raremeat.blog น่าจะรับรู้ว่าผมไม่ชื่นชอบ Breathless (1960) เลยสักนิด! แม้ประสบการณ์รับชมภาพยนตร์จะเพิ่มสูงขึ้น สามารถเข้าใจอิทธิพล ความสำคัญ และเหตุผลที่บรรดานักวิจารณ์/คอหนังต่างหลงใหลคลั่งไคล้ ก็ยังคงไม่บังเกิดความประทับใจสักเท่าไหร่ นั่นเพราะไดเรคชั่นของผู้กำกับ Jeac-Luc Godard ทำตัวเป็นนักเลงหัวไม้ ท้าต่อยตีชาวบ้านชาวช่องไปทั่ว (รับชม Breathless เหมือนดูอันธพาลอวดฉลาด สนเพียงพยายามหาเรื่องระรานคนอื่น)

แต่การทดลองผิดลองถูก (Avant-Garde) ของผู้กำกับ Fassbinder ทำให้ไดเรคชั่นหนังออกมาแตกต่างตรงกันข้ามโดยสิ้นเชิง! กล้องที่แทบไม่ขยับเคลื่อนไหว หรือดำเนินไปอย่างเรื่อยๆเปื่อยๆ Long Take อาจเยิ่นยาวเกินกว่าเหตุในบางครั้ง จนกระทั่งมีบางสิ่งอย่างบังเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว กระชับฉับไว มาแบบไม่ทันตั้งตัวแล้วจบสิ้นไป … หนังอาจไม่ได้ดูน่าตื่นเต้น เปี่ยมด้วยชีวิตชีวา เพียงความเยือกเย็นชา ที่ค่อยๆกัดกร่อนทำลายจิตวิญญาณผู้ชม หนาวเหน็บยิ่งกว่าความตาย โดยส่วนตัวรู้น่าหลงใหลกว่า Breathless (1960) เป็นไหนๆ

ผมเลือกรับชม Love Is Colder Than Death (1969) เพื่อเป็นตัวแทนผลงานยุคแรก Avant-garde Period (1969–71) ช่วงเวลาแห่งการลองผิดลองถูกของผู้กำกับ Rainer Werner Fassbinder จริงๆยังมีอีกหลายเรื่อง(ในช่วงเวลานี้)ที่น่าสนใจ อาทิ Katzelmacher (1969), Why Does Herr R. Run Amok? (1970), Beware of a Holy Whore (1971) ฯ ส่วนใหญ่สามารถหารับชมได้ทาง Criterion Channel แต่จะขอเขียนถึงแค่เรื่องนี้ เพราะอยากให้เวลากับผลงานอื่นที่เป็นที่รู้จักในวงกว้างมากกว่า


R. W. Fassbinder หรือ Rainer Werner Fassbinder (1945-82) นักแสดง ผู้กำกับ สัญชาติเยอรมัน เกิดที่ Bad Wörishofen, Bavaria เพียงสามสัปดาห์หลังจากนาซี ประกาศยอมพ่ายแพ้สงครามโลกครั้งที่สอง, บิดาเป็นแพทย์ที่มีความหลงใหลในการเขียนบทกวี ส่วนมารดาทำงานล่ามแปลภาษา (German <> English) ครอบครัวหย่าร้างเมื่อเขาอายุได้หกขวบ อาศัยอยู่กับแม่ที่มักส่งบุตรชายไปดูหนังเพื่อไม่ให้รบกวนเวลาทำงาน (และกุ๊กกิ๊กกับคนรักใหม่) นั่นคือเหตุผลที่ทำให้ Fassbinder ชื่นชอบหลงใหลภาพยนตร์ โดยเฉพาะผลงานของผู้กำกับ Jean-Luc Godard

ช่วงวัยรุ่นถูกส่งไปโรงเรียนประจำ แต่พยายามหลบหนีหลายครั้ง จนบิดาต้องพามาอาศัยอยู่ด้วยกัน กลางวันช่วยทำงานหาเงิน กลางคืนร่ำเรียนหนังสือ และค้นพบความหลงใหลในการเขียนบทกวี ละคร เรื่องสั้น (จากอิทธิพลของบิดา), พออายุ 18 มุ่งหน้าสู่ Munich เข้าเรียนการแสดงยัง Fridl-Leonhard Studio ทำให้พบเจอว่าที่(นักแสดง)ขาประจำ Hanna Schygulla ระหว่างนั้นก็ได้ทำงานผู้ช่วยผู้กำกับ บันทึกเสียง Sound Man เขียนบทละคร สร้างหนังสั้น เคยยืนใบสมัคร Berlin Film School แต่ได้รับการบอกปัดปฏิเสธ, กระทั่งเมื่อปี 1967 มีโอกาสเข้าร่วม Munich Action-Theater ได้เป็นทั้งนักแสดง เขียนบท ผู้กำกับ ไม่นานก็ประสบความสำเร็จ จากนั้นร่วมก่อตั้งคณะการแสดง Aktion-Theater (แปลว่า Anti-Theater) สรรค์สร้างผลงานที่ผิดแผก แหกขนบธรรมเนียมดั้งเดิมของวงการละครเวที!

Fassbinder มีความเพ้อฝันอยากสรรค์สร้างภาพยนตร์มาตั้งแต่เด็ก ค่อยๆเก็บหอมรอมริด สะสมเงินทองที่ได้จากละครเวที จนมีโอกาสสามารถสรรค์สร้างหนังสั้น The City Tramp (1966), The Little Chaos (1967), With Oak Leaves and Fig Leaf (1968), กระทั่งเมื่อร่วมงานสองผู้กำกับ Jean-Marie Straub และ Danièle Huillet นำประสบการณ์จากหนังสั้น The Bridegroom, the Actress and the Pimp (1968) กลายเป็นต้นแบบแรงบันดาลใจเรื่องราวของ Love Is Colder Than Death (1969)

เกร็ด: แรงบันดาลใจหลักๆคือส่วนผสมหนังอาชญากรรม ช่วงทศวรรษ 60s เท่าที่ผมพอสังเกตได้ อาทิ Breathless (1960), Accattone (1961), Le Doulos (1962), A Bullet for the General (1966), Le Samouraï (1967) ฯลฯ


โจรกระจอก Franz (รับบทโดย Rainer Werner Fassbinder) ปฏิเสธเข้าร่วมเครือข่ายอาชญากรแห่งหนึ่ง ระหว่างการถูกโน้มน้าวชักจูงจมูก ได้มีโอกาสพบเจอ Bruno (รับบทโดย Ulli Lommel) เลยชักชวนมาเป็นคู่หูร่วมงานกัน

แต่ในความเป็นจริงนั้น Bruno ได้เข้าร่วมเครือข่ายอาชญากรดังกล่าว แล้วได้รับมอบหมายให้คอยสอดแนม ติดตาม Franz จนพบว่าเขาเป็นแมงดาเกาะกินโสเภณี Joanna (รับบทโดย Hanna Schygulla) กำลังหลบหนีศัตรูคู่ปรับเก่า Turk ที่เข้าใจผิดคิดว่าเป็นคนฆาตกรรมน้องชาย อาสาให้ความช่วยเหลือ นัดพบเจอ แล้วเข่นฆาตกรรมอีกฝั่งฝ่าย

Franz ถูกตำรวจจับกุมตัวข้อหาฆาตกรรม แต่ไร้ซึ่งประจักษ์พยานเพราะเขาฆ่าปิดปากสาวเสิร์ฟไว้เสร็จสรรพ ระหว่างนั้น Bruno ก็ลักลอบคบชู้กับ Joanna ถึงแม้เขาไม่ได้ตำหนิต่อว่าอะไร กลับตระเตรียมแผนออกปล้นธนาคาร และปล่อยให้คู่ปรับหัวใจเผชิญหน้าตำรวจ ถูกยิงเสียชีวิต ก่อนขับรถหลบหนีหายตัวไป


สำหรับนักแสดงทั้งหมดในหนัง ล้วนเป็นสมาชิกของ Aktion-Theater เคยร่วมงานขาประจำผู้กำกับ Fassbinder จึงมีความสนิทสนม มักคุ้นเคย เชื่อไว้วางใจกันดี

  • Franz แมงดาหนุ่มที่เอาแต่เกาะแก่งอยู่กับแฟนสาว Joanna เป็นคนอารมณ์ร้อน ฉุนเฉียว โกรธง่าย หน่ายเร็ว ชื่นชอบใช้กำลังในการแก้ปัญหา มีชีวิตอยู่ไปวันๆด้วยการไปตายเอาดาบหน้า พร้อมเข่นฆ่าโดยไม่สนความถูก-ผิด ชอบ ชั่ว-ดี
    • บทบาทนี้ก็คือตัวตนจริงๆของผู้กำกับ Fassbinder เป็นคนอารมณ์ร้อน เรื่องมาก ขี้เหงาเอาใจ แต่ไม่ใช่ว่าเขาลักขโมย-เข่นฆาตกรรมใครนะครับ นั่นคือการนำเสนอเชิงสัญลักษณ์ที่ผมจะพูดถึงต่อไป
  • Bruno อาชญากรหนุ่มหล่อ ท่าทางสุขุม แต่เป็นนักฆ่าเลือดเย็น ไม่ค่อยพูด-แสดงความรู้สึกอะไร เพียงปฏิบัติตามภารกิจสอดแนม Franz ให้ความช่วยเหลือกำจัดศัตรู จากนั้นลักลอบคบชู้ Joanna โดยไม่รู้ตัวจิตใจค่อยๆผันแปรเปลี่ยน แล้วถูกทรยศหักหลังระหว่างกำลังออกปล้นธนาคาร
    • Ulli Lommel (1944-2017) นักแสดง/ผู้กำกับ สัญชาติ German เกิดที่ Zielenzig, Oststernberg (ปัจจุบันคือ Sulęcin, Lubuskie ประเทศ Poland) ขณยังเป็นทารก ครอบครัวต้องหลบหนีจากกองทัพ Red Army (ช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง) เติบโตขึ้นที่ Bad Nauheim มีความชื่นชอบหลงใหล Elvis Presley เลยตัดสินใจก้าวสู่วงการแสดง ภาพยนตร์เรื่องแรก Fanny Hill (1964), เริ่มมีชื่อเสียงจาก Love Is Colder Than Death (1969) กลายเป็นขาประจำผู้กำกับ Rainer Werner Fassbinder, อพยพสู่สหรัฐอเมริกาเมื่อปี 1977 สนิทสนมกับ Andy Warhol ร่วมสรรค์สร้างภาพยนตร์กันหลายเรื่อง อาทิ Cocaine Cowboys (1979), Blank Generation (1980), The Boogeyman (1980) ฯ
    • บทบาทของ Lommel ไม่ได้ต้องใช้ความสามารถด้านการแสดงอะไรมาก เพียงทำหน้านิ่ง นิ่วคิ้วขมวด เหมือนคนเก็บกด ไร้อารมณ์ร่วม กระทำสิ่งต่างๆตามบทบาท ให้ผู้ชมสัมผัสถึงความเยือกเย็นชาของตัวละครก็แค่นั้น
    • จะว่าไป Franz vs. Bruno มีความแตกต่างขั้วตรงข้ามทั้งภาพลักษณ์ การแสดงออกภายนอก อารมณ์ร้อน-เยือกเย็นชา
  • Joanna เพราะความรักต่อ Franz เลยยินยอมพร้อมมอบทุกสิ่งอย่าง กระทั่งการมาถึงของ Bruno ต้องการลิ้มลองรสที่แตกต่าง แต่กลับพบเพียงความผิดหวัง เลยตัดสินใจทรยศหักหลังด้วยการโทรบอกตำรวจ เข่นฆาตกรรมเขาอย่างเลือดเย็น ส่วนตนเองออกเดินทางไปต่อกับ Franz ไม่ถือสาแม้เขาใช้กำลัง หรือด่าทอว่าเป็นโสเภณี
    • Hanna Schygulla (เกิดปี 1943) นักแสดงสัญชาติ German เกิดที่ Königshütte, Silesia (ปัจจุบันคือ Chorzów, Poland) ช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง บิดาอาสาสมัครทหารถูกจับคุมขังในค่ายกักกัน (ได้รับการปล่อยตัวปี 1948) ส่วนมารดาพาเธอมาลี้ภัยอยู่ Munich, โตขึ้นตัดสินใจเป็นนักแสดง เข้าเรียนยัง Fridl-Leonhard Studio พบเจอ ครองรักผู้กำกับ Rainer Werner Fassbinder กลายเป็นขาประจำในละครเวที และภาพยนตร์หลายๆเรื่อง ผลงานเด่นๆ อาทิ Effi Briest (1974), The Marriage of Maria Braun (1978), Passion (1982), Werckmeister Harmonies (2000), The Edge of Heaven (2008) ฯลฯ
    • บทบาทของ Schygulla มักแสดงท่าทางเหนื่อยหน่าย เหมือนคนเบื่อโลก ดูไม่ออกว่าเพราะอะไรถึงตกหลุมรัก Franz ส่วนการลักลอบคบชู้กับ Bruno เหมือนเพียงแค่แสวงหาความตื่นเต้น แต่พอไม่รับรู้สึกอะไร (เพราะเขาเป็นคนเยือกเย็นชา หรือตายด้านก็ไม่รู้) จึงคิดคดทรยศหักหลัง ปล่อยให้อีกฝั่งฝ่ายถูกเข่นฆาตกรรม แล้วทอดทิ้งบนถนนอย่างเลือดเย็น … ถือเป็นคู่ขาที่เหมาะกับ Franz อย่างยิ่งยวด

ถ่ายภาพโดย Dietrich Lohmann (1943-97) สัญชาติ German ร่ำเรียนการถ่ายภาพที่สถาบัน Staatliche Fachschule für Optik und Fototechnik (SFOF) จากนั้นเข้าทำงานยัง Olympia-Film ร่วมงานขาประจำผู้กำกับ Thomas Mauch และผลงานช่วงแรกๆของ Rainer Werner Fassbinder, ผลงานเด่นๆ อาทิ Love Is Colder Than Death (1969), The Merchant of Four Seasons (1971), The Peacemaker (1997), Deep Impact (1998) ฯ

ด้วยงบประมาณที่จำกัด การถ่ายทำจึงมีความประหยัด เรียบง่าย ไม่มีการซักซ้อมท่องบท แทบทั้งหมดเทคเดียวผ่าน! ยังสถานที่จริงที่ไม่ต้องปรับเปลี่ยนแปลงอะไรมาก และแม้ส่วนใหญ่ตั้งกล้องไว้เฉยๆ แต่ก็มีการจัดวางองค์ประกอบ รายละเอียด ครบถ้วนในสิ่งต้องการนำเสนอ

ในช่วง Avant-garde Period ของผู้กำกับ Fassbinder ใช้การครุ่นคิดแบบละครเวที ตำแหน่งกล้องเปรียบเสมือนด้านหน้า(เวที) ที่จะมีผู้ชมนั่งอยู่ด้านหลัง นักแสดงมักเดินเข้า-ออก กระทำบางสิ่งอย่างภายในกรอบนั้น นานๆครั้งเฉพาะขณะสนทนาถึงมีโคลสอัพใบหน้า และเมื่อตัวละครต้องก้าวเดินไปเรื่อยๆ หรือนั่งอยู่บนรถ ถึงค่อยรู้สึกภาพพื้นหลังมีการขยับเคลื่อนไหว

สำหรับผู้ชมทั่วไป ไดเรคชั่นดังกล่าวทำให้หนังดูจืดชืด น่าเบื่อหน่าย ไร้ชีวิตชีวา แต่สำหรับนักวิจารณ์ คอหนังแท้ๆ มักเกิดความหลงใหลคลั่งไคล้ในการทดลอง (Experiment film) บางครั้งเรียกว่า Avant-Garde ท้าทายขีดจำกัดภาพยนตร์ ค้นพบวิธีนำเสนอใหม่ๆ ซึ่งผมรู้สึกว่าผู้กำกับ Fassbinder ครุ่นคิดพัฒนาออกมาได้อย่างน่าสนใจไม่น้อยเลยละ


ไดเรคชั่นของหนังที่เพียงตั้งกล้องทิ้งไว้เฉยๆ ถ่ายทำในลักษณะ Long Take ทำให้ผู้ชมมีเวลาครุ่นคิด สังเกตรายละเอียดโน่นนี่นั่น อย่างฉากนี้ที่ Franz ถูกควบคุมตัวเครือข่ายอาชญากร พยายามโน้มน้าวชักจูงให้เข้าร่วมสมัครพรรคพวก สังเกตว่า

  • Franz ถูกสายยางรัดตา ไม่ให้มองเห็นใบหน้า (จะได้ไม่สามารถชี้ตัวถูกว่าใครคือสมาชิกเครือข่ายอาชญากร) นี่ยังสื่อถึงการไร้ซึ่งสิทธิ์เสียง ไม่สามารถเป็นตัวของตนเอง ถ้าเข้าร่วมย่อมกลายเป็นขี้ข้า คอยทำตามคำสั่งเจ้านาย สูญเสียอิสรภาพไปโดยสิ้นเชิง
  • บอดี้การ์ดคนหนึ่ง (ฝั่งขวา) ทำไมต้องถอดเสื้อโชว์กล้าม … นี่สะท้อนรสนิยม Homo/Bisexual ของผู้กำกับ Fassbinder ออกมาตรงๆเลยนะ
  • ส่วนภาพวาดด้านหลัง มีลักษณะเหมือนมนุษย์ถือกล่องอะไรบางอย่าง Pandora Box กระมัง?

แว่น แทนสัญลักษณ์ของการปกปิดบัง ซุกซ่อนเร้นตัวตน (คล้ายๆการสวมหน้ากาก) คงแบบเดียวกับ Superman ที่พอสวมแว่นก็กลายเป็น Clark Kent ไม่มีใครจดจำได้ … น่าจะอารมณ์ประมาณนั้นเลยกระมัง

วิธีการของฉากนี้คือการเบี่ยงเบนความสนใจคนขาย จู่ๆมีลูกค้าสามคนเดินเข้ามาจากสามทิศทาง ทำให้เธอเกิดความสับสน หันซ้ายหัวขวา ทำให้มีเวลาสามารถลักขโมยแว่นตาทีเผลอโดยง่าย … วิธีดังกล่าวคือไดเรคชั่นที่ผู้กำกับ Fassbinder ใช้ลวงล่อหลอกผู้ชม หน้าหนังนำเสนออย่างหนึ่ง แต่เนื้อในใจความอาจมีแก่นสาระที่แตกต่างออกไป

หลายคนคงเกิดคำถามเดียวกับตัวละคร ทำไม Bruno ต้องถอดแว่นก่อนเข่นฆาตกรรมเจ้าของร้านขายอาวุธปืน? ถ้าตีความในเชิงจิตวิทยาคงต้องการให้เกิดการจดจำ ท่วงท่าสัญลักษณ์ สไตล์ลายเซ็นต์ (เป็นการอวดอ้างตนเองรูปแบบหนึ่ง) แต่ถ้ามองผ่านเลนส์ภาพยนตร์ ถ้าคุณอยากพบเห็นสาสน์สาระของหนัง จำต้องหาวิธีถอดแว่น นำสิ่งที่บดบังวิสัยทัศน์ภายนอก เปลื้องออกให้ได้เสียก่อน

นี่คือซีนที่ผมถือว่าคือไฮไลท์ของหนังเลยนะ หลังจากกำลังภัยพาล สามสหายออกเดินอย่างเรื่อยเปื่อย สะท้อนถึงชีวิตกำลังดำเนินไปอย่างไร้จุดมุ่งหมาย ซึ่งพวกเขาก้าวเดินนานมากๆ 4-5 นาทีได้กระมัง ก่อนถูกตำรวจเรียกให้หยุด สื่อถึงโชคชะตากรรมที่พวกเขามิอาจหลบลี้หนีพ้น (เพราะได้เคยกระทำสิ่งชั่วร้ายไว้มาก สักย่อมผลกรรมย่อมติดตามทัน)

ระหว่างที่ Franz ถูกตำรวจควบคุมตัวไปสืบสวนสอบสวน Joanna ก็เปลื้องผ้าร่วมรักหลับนอนกับ Bruno แต่แทนที่หนังจะนำเสนอ Sex Scene กลับเป็นภาพทั้งสองกำลังช็อปปิ้งในห้างสรรพสินค้า ด้วยท่วงทำนองเพลงท่วงทำนองเหนือธรรมชาติ มอบสัมผัสราวกับสถานที่แห่งนี้คือสรวงสวรรค์ และพวกเขากำลังเพลิดเพลินระเริงรื่น (ระหว่างถึงจุดไคลน์แม็กซ์ของ Sex)

ทั้งๆเคยเป็นนักฆ่าเลือดเย็น แต่หลังจาก Bruno ได้ร่วมรักหลับนอนกับ Joanna กลับทำให้จิตใจของเขาอ่อนแอลง บังเกิดความอบอุ่นขึ้นภายในจิตใจ เมื่อนำพาใครบางคนมาทิ้งยังเศษซากปรักหักพัง กลับเลือกที่จะไว้ชีวิตอีกฝ่ายฝั่ง ไม่สามารถลั่นไกเข่นฆ่าใครได้อีกต่อไป

ความรัก คือสิ่งที่ทำให้คนเคยเยือกเย็นชา กลับมามีความอบอุ่นทรวงใน แต่ถึงอย่างนั้นเมื่อเขาถูกทรยศหักหลัง ความตายมันจึงหนาวเหน็บยิ่งกว่าครั้งอื่นใด!

Without love there would be no violence. The violence comes from the abuse of love; Love that always claims ownership, love that is colder than death.

Rainer Werner Fassbinder

ใครที่แฟนๆหนังแห่งยุคสมัย French New Wave น่าจะรับรู้ว่าสถานที่พบปะ พูดคุยสังสรรค์ กิจกรรมนิยมทำกันก็คือเล่นพินบอล ปรากฎพบเห็นอยู่ในภาพยนตร์(ของ French New Wave)หลายเรื่องทีเดียว ซึ่งการแทรกใส่ฉากนี้เข้ามา เป็นการเคารพคารวะอย่างชัดเจนมากๆ

การเล่นพินบอล คือพยายามทำให้ลูกเหล็ก(พินบอล) ทำแต้มให้ได้มากที่สุดก่อนตกหล่น ซึ่งสะท้อนถึงการต่อสู้ดิ้นรนของชีวิต มนุษย์ส่วนใหญ่มักต้องการไต่เต้าไปให้ถึงจุดสูงสุด ประสบความสำเร็จ มีชื่อเสียงโด่งดัง ร่ำรวยเงินทอง กระทำทุกสิ่งอย่างให้สำเร็จสมหมาย ก่อนถึงวันหมดสิ้นลมหายใจ

เชื่อว่าหลายคนอาจสงสัยไม่มีหิมะสักก้อน ตัวละครก็ไม่ได้สวมใส่เสื้อกันหนาว แล้วมันจะชื่อหนัง ‘หนาวเหน็บกว่าความตาย’ ยังไง??? ความตั้งใจของผู้กำกับ Fassbinder ไม่ได้ต้องการสื่อถึงอาการหนาวกายนะครับ แต่คือพฤติกรรมการแสดงออกของบรรดาตัวละคร ที่มีความเหี้ยมโหด โฉดชั่วร้าย เข่นฆ่าคนตายอย่างเลือดเย็น และแสดงออกทางสีหน้าอย่างเย็นชา

แต่มันก็ช็อตสุดท้ายของหนังที่หลังจาก Franz และ Joanna สามารถหลบหนีการไล่ล่าจากตำรวจได้สำเร็จ ภาพค่อยๆ Fade-To-White ซึ่งให้ความรู้สึกเหมือนหิมะขาวโพลน เรื่องราวจบลงด้วยความหนาวเหน็บ เจ็บสะท้านถึงขั้วจิตวิญญาณ (เพราะฆาตกรยังคงลอยนอน สร้างความกลัวเกรงไปทั่วทุกสารทิศ)

เครดิตตัดต่อขึ้นชื่อว่า Franz Walsch แท้จริงแล้วคือนามปากกาของผู้กำกับ Rainer Werner Fassbinder,

หนังดำเนินเรื่องผ่านมุมมองตัวละคร Bruno ตั้งแต่แรกพบเจอ Franz ได้รับมอบหมายภารกิจสอดแนมจากเครือข่ายอาชญากรรม ใช้ชีวิตอยู่กับเป้าหมาย ให้ความช่วยเหลือ ตกหลุมรัก Joanna ท้ายสุดถูกทรยศหักหลัง ตกตายอย่างไร้ค่า

  • องก์หนึ่ง, แนะนำตัวละคร
    • Franz พบเจอกับ Bruno ระหว่างถูกชักชวนเข้าร่วมเครือข่ายอาชญากรรม
    • Bruno ได้รับภารกิจให้ออกติดตามหา และสอดแนม Franz
  • องก์สอง, ชีวิตประจำวันของอาชญากร
    • ทั้งสามออกปล้นแว่นตาดำ, ปืนกล
    • มาถึงคาเฟ่ร้านประจำ กำจัดศัตรู Turk
    • Franz ถูกตำรวจเรียกตัว
  • องก์สาม, การปล้นธนาคาร
    • Bruno แอบมีความสัมพันธ์กับ Joanna
    • ตระเตรียมวางแผน กำจัดผู้โชคร้าย
    • และปฏิบัติการที่เต็มไปด้วยความผิดพลาด

หลายครั้งที่หนังทำการแช่ภาพค้างไว้นานๆ Long Take ล้วนเพื่อเฝ้ารอคอยเหตุการณ์บางอย่างที่กำลังจะบังเกิดขึ้นช่วงเสี้ยววินาทีสุดท้าย นี่อาจสร้างความน่าเบื่อหน่ายให้ผู้ชมทั่วไป แต่สำหรับคอหนังแท้ๆจะใจจดใจจ่อ ขบครุ่นคิด เฝ้ารอคอยว่าจะมีอะไรสร้างความประใจ (ใครเคยรับชมหนังของ Josef von Sternberg น่าจะตระหนักถึงไดเรคชั่นดังกล่าวได้แน่)


เพลงประกอบโดย Holger Münzer และ Peer Raben (1940-2007) รายหลังคือเพื่อนสนิท เคยเป็นคู่ขาผู้กำกับ Rainer Werner Fassbinder และหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้ง Aktion-Theater มีผลงานทั้งละครเวที และเพลงประกอบภาพยนตร์

ในส่วนของงานเพลงจะมีแตกต่างจากภาพยนตร์ทั่วไปๆ ไม่ได้สร้างบรรยากาศ หรือขับเน้นอารมณ์ตัวละคร แต่มีลักษณะ ‘Avant-Garde’ เหมือนสร้อยบทกวี ช่วยเติมเต็มเรื่องราว อธิบายภาพที่พบเห็น ตัวละคร สถานที่ หรือเหตุการณ์ที่กำลังบังเกิดขึ้นขณะนั้น ยกตัวอย่าง

  • การปรากฎตัวครั้งแรกของ Bruno ภาพหน้าตรงระยะ Medium Shot พร้อมบทเพลงคลาสสิกท่วงทำนองเหงาๆ เศร้าซึม ดังขึ้นเพื่อสะท้อนความรู้สึกภายใน จนกว่าจะเสียงเพลงจะเบาลง ถึงค่อยเปลี่ยนช็อตฉากต่อไป
  • ระหว่าง Bruno ออกติดตามหา Franz ภาพถ่ายสองข้างทางเคลื่อนพานผ่าน เสียงกีตาร์ไฟฟ้าบรรเลง ด้วยสัมผัสอันล่องลอย เวิ้งว่างเปล่า จนกว่าเสียงเพลงจะเบาลง ถึงค่อยเปลี่ยนช็อตฉากต่อไป
  • Joanna เปิดบทเพลงป็อป ท่วงทำนองสนุกสนาน ตื่นเต้นเร้าใจ เพื่อใช้เกี้ยวพาราสี Bruno ให้เขาทิ้งตัวลงนอนข้างกาย และจนกว่าเธอจะถูก Franz ตบหน้า บทเพลงนั้นถึงเงียบสงัดลง
  • บทเพลงในห้างสรรพสินค้า มีทั้งเสียงร้องคอรัส ผสมกับเครื่องดนตรีไฟฟ้า มอบสัมผัสราวกับสรวงสวรรค์ที่ล่องลอย จนกว่าการช็อปปิ้งจะเสร็จสิ้น พวกเขาถึงหวนกลับสู่โลกความเป็นจริง
    ฯลฯ

เรื่องราวของ Love Is Colder Than Death (1969) นำเสนอความเห็นแก่ตัว เอาแต่ใจของ Franz และผู้กำกับ Fassbinder (แค่ชื่อก็ออกเสียงเดียวกัน) ปฏิเสธเข้าร่วมเครือข่ายอาชญากรรม หรือคือสตูดิโอภาพยนตร์ เพราะต้องการใช้ชีวิตอย่างอิสรภาพ สรรค์สร้างผลงานด้วยวิสัยทัศน์ส่วนตน ปฏิเสธถูกปิดตา ชี้นิ้วออกคำสั่ง บีบบังคับให้ทำโน่นนี่นั่นในสิ่งไม่ใช่ตามใจอยาก

ภาพยนตร์ ในความเข้าใจของผู้กำกับ Fassbinder มีลักษณะไม่ต่างจากโสเภณี! เพราะผู้คนต้องจับจ่าย ใช้เงินซื้อตั๋ว เพื่อเข้าไปรับชมตัวตน พบเห็นความเปลือยเปล่าของผู้สร้าง แล้วกระทำการร่วมรัก เพศสัมพันธ์ (เริ่มจากองก์หนึ่งเล้าโลม องก์สองเข้าจังหวะ องก์สามไคลน์แม็กซ์) กับคนมากหน้าหลายตา ไม่รู้จักจบจักสิ้น … ความหมายดังกล่าวอาจดูสุดโต่ง เข้าใจยากสำหรับใครหลายคน แต่มันก็สะท้อนถึงอัจฉริยภาพทางความคิด โลกทัศนคติ ตัวตนของผู้กำกับ Fassbinder ไม่แตกต่างจากสิ่งที่ต้องการนำเสนอนี้สักเท่าไหร่

เราสามารถวิเคราะห์เรื่องราวของหนังจากความเข้าใจตั้งต้นดังกล่าว ด้วยการให้ Joanna คือตัวแทนสื่อภาพยนตร์ ซึ่ง Franz และผู้กำกับ Fassbinder ต่างใช้ชีวิตด้วยการเกาะแก่ง ทำตัวเหมือนปลิง แมงดา แบมือขอตัง = ผู้ชมยินยอมจับจ่าย ใช้เงินซื้อตั๋วหนัง

สำหรับ Bruno ผมมองว่าคือตัวแทนของผู้ชม บุคคลเข้ามาสอดแนม Franz (ภาพยนตร์ของผู้กำกับ Fassbinder) พบเห็นวิถีชีวิต ตัวตน ให้การช่วยเหลือสนับสนุน และยังมีเพศสัมพันธ์กับแฟนสาว Joanna (ไคลน์แม็กซ์ของหนัง) นำไปสู่การตบตี และวางแผนปิดปากอีกฝั่งฝ่าย

การปล้นธนาคารของ Franz สะท้อนถึงไดเรคชั่นที่ผู้กำกับ Fassbinder ต้องการสรรค์สร้างภาพยนตร์ออกมา กล่าวคือเขาไม่สนความถูก-ผิด ชอบ ชั่ว-ดี ต้องการทำสิ่งที่ตอบสนองความต้องการ พึงพอใจส่วนตน ช่างหัวกฎกรอบข้อบังคับ จริงอยู่มันเป็นอาชญากรรม ขณะเดียวกันมีคำเรียกว่างานศิลปะ! … นี่เป็นการเปรียบเทียบที่ทำความเข้าใจค่อนข้างยากอยู่ แต่ให้ลองไปครุ่นคิดหาเอาเองก็ได้ว่า การปล้นธนาคารมันจะสื่อความเชิงนามธรรมถึงการสรรค์สร้างภาพยนตร์เช่นไร

ความตายของ Bruno ผมมองเป็นคำประกาศกร้าว/เป้าหมายของผู้กำกับ Fassbinder ต้องการสรรค์สร้างภาพยนตร์ที่จักทำให้ผู้ชมรู้สึกเหมือน ‘ตายทั้งเป็น’ แม้ว่า Love Is Colder Than Death (1969) อาจยังไปไม่ถึงจุดนั้น แต่ผลงานยุคหลังๆบอกเลยว่าสามารถให้คุณปางตาย! หัวใจแตกสลาย!

ชื่อหนังแรกสุดจะมีเพียง Kälter als der Tod (Colder Than Death) ก่อนเปลี่ยนมาเป็น Liebe – kälter als der Tod (Love – Colder Than Death) ก่อนท้ายสุดจะมาลงเอย Liebe ist kälter als der Tod (Love Is Colder Than Death) เพื่อจะสื่อถึงความรักเป็นสิ่งเยือกเย็นชาสำหรับผู้กำกับ Fassbinder ทั้งจากประสบการณ์ในชีวิตจริง และต่อสื่อภาพยนตร์ ไม่ใช่เรื่องง่ายจะสรรค์สร้างผลงานสักเรื่องหนึ่ง ซึ่งพอแล้วเสร็จออกฉาย ตัวเขาคงเต็มไปด้วยความหวาดหวั่น สั่นสะพรึงต่อเสียงตอบรับที่ไม่รู้ดี-แย่ อบอุ่น-หนาวเหน็บสักเพียงไร


หนังใช้ทุนสร้าง DM 95,000 ในระยะเวลาถ่ายทำ 24 วัน, เข้าฉายเทศกาลหนังเมือง Berlin ได้รับการโห่ลั่น เสียงตอบรับย่ำแย่ แต่ถึงอย่างนั้นช่วงปลายปีได้เข้าชิง German Film Award และคว้ามาถึงสองรางวัล

  • Best Performance by an Ensemble
  • Best Cinematography

เกร็ด: ผมไม่แน่ใจว่าผู้กำกับ Fassbinder เป็นคนตั้งชื่อเรียก ‘Gangster Film Trilogy’ หรือเปล่านะ แต่มีสามผลงานที่เกี่ยวกับอาชญากร นักเลงหัวไม้ ประกอบด้วย Love Is Colder Than Death (1969), Gods of the Plague (1970) และ The American Soldier (1970)

แม้ไดเรคชั่นของหนังอาจสร้างความทุกข์ทรมานในการรับชม แต่โดยส่วนตัวก็มีความชื่นชอบ ค่อนข้างประทับใจ พบเห็นอะไรหลายๆอย่างจากผู้กำกับ Rainer Werner Fassbinder รวมถึงอัจฉริยภาพในการครุ่นคิด ความซับซ้อนของบุคลิก ชักชวนให้อยากติดตามผลงานเรื่องอื่นๆโดยไว

แนะนำคอหนัง Avant-Garde หลงใหลหนังแนวอาชญากรรม แฟนๆภาพยนตร์ Breathless (1960) แนะนำให้ลองเปรียบเทียบกันเลยนะครับ, โดยเฉพาะนักศึกษาภาพยนตร์ เชื่อว่าน่าจะแรงบันดาลใจอย่างมากในการทำโปรเจคจบ

จัดเรต 13+ อาชญากร ฆาตกรรม และความ Avant-Garde

คำโปรย | Love Is Colder Than Death แม้สร้างความทุกข์ทรมานในการรับชม แต่ถือเป็นการทดลองสร้างความหนาวเหน็บใกล้ถึงความตาย
คุณภาพ | ทุกข์ทรมาน
ส่วนตัว | น่าสนใจ

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: