Life is Beautiful

Life Is Beautiful (1997) Italian : Roberto Benigni ♥♥♥♥

ครึ่งแรกของภาพยนตร์เรื่องนี้แทบทุกคนจะหัวเราะจนตกเก้าอี้ แต่ครึ่งหลังจะมีคนสองประเภท 1) ยิ้มทั้งน้ำตา 2) สาปแช่งทั้งหัวใจ, ภาพยนตร์ทำเงินสูงสุดตลอดกาลของอิตาลี คว้ารางวัล Grand Prix (ที่ 2) จากเทศกาลหนังเมือง Cannes และ Oscar: Best Foreign Language Film, Best Actor และ Best Score, “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย”

ผมไม่ใช่คนสองประเภทที่ยกมานะ แต่เป็นกลุ่มที่ 3) ทั้งรักทั้งเกลียด เริ่มต้นจากเบือนหน้าหนีรับไม่ได้รุนแรง แต่พอตอนจบก็เหวออ้าปากค้าง นี่มันลักษณะของการ ‘ตบหัวแล้วลูบหลัง’ บอกไม่ถูกว่าจะชอบหรือเกลียดดี เลยเป็นว่าทั้งรักทั้งชังเลยแล้วกัน (คือเห็นตอนจบสวยงามขนาดนั้น แล้วก็ยังรู้สึกไม่ชอบอยู่ดี)

แซว: จริงๆคงมีคนอีกประเภทอยู่ด้วย 4) ไม่รู้สึกอะไร แต่คงมีปริมาณน้อยมากๆ เพราะคนที่ไร้ความรู้สึกคงเป็นพวกตายด้าน หรือไม่ก็ดูหนังไม่เป็น

ทัศนคติของมนุษย์ต่อ’ชีวิต’ ไม่มีใครไหนจะเหมือนกันเปะๆ คล้ายกันได้ ใกล้เคียงกันได้ ขณะเดียวกัน ต่างกันได้ ตรงกันข้ามเลยก็มี มันจึงไม่แปลกสำหรับผู้ชมภาพยนตร์เรื่องนี้ Life Is Beautiful คนหนึ่งจะพูดว่า โอ้! สวยงามจริงแท้ ขณะเดียวกันอีกคนหนึ่งบอกว่า หนังบัดซบอะไรเนี่ย! ไม่จริงรับไม่ได้, ผมเคยชอบที่จะนั่งอยู่ตรงกลางแล้วมองดูคน Ego สูงสองฝ่ายตบตีต่อยกัน เหมือนการเสพดราม่า แต่เดี๋ยวนี้ไม่แล้ว รู้สึกเสียเวลาชีวิตเหลือเกิน รับรู้การมีตัวตนของพวกเขาก็เพียงพอ

Roberto Remigio Benigni นักแสดงตลก นักเขียนบทและผู้กำกับสัญชาติอิตาเลี่ยน, เกิดปี 1952 ที่ Manciano La Misericordia ในครอบครัวคาทอลิกที่เคร่งครัด (เป็น Altar Boy) มีความหลงใหลในการแสดงตั้งแต่เด็ก โตขึ้นเดินทางเข้ากรุง Rome เพื่อเดินตามความฝัน ไม่นานได้เป็นทั้งผู้กำกับและนักแสดงละครเวทีที่ประสบความสำเร็จ ตามมาด้วยภาพยนตร์โทรทัศน์หลายเรื่องมีเรตติ้งสูงมากๆ ส่วนการแสดงภาพยนตร์เรื่องแรก Berlinguer, I Love You (1977) หนังตลกของผู้กำกับ Giuseppe Bertolucci ตามมาด้วย Il Minestrone (1981) [คว้ารางวัล Grolla d’Oro: Best Actor], Down by Law (1986) [คว้ารางวัล Nastro d’Argento: Best Actor], The Voice of the Moon (1990) [หนังเรื่องสุดท้ายของ Federico Fellini], กำกับภาพยนตร์เรื่องแรก Tu mi turbi (1983) [แปลว่า You Upset Me] แนวตลกกวีนิพนธ์แบ่งออกเป็น 4 ตอน ตอนแรกสุดนำแสดงโดยภรรยาสุดที่รัก Nicoletta Braschi รับบทพระแม่มารีย์

สำหรับผลงานกำกับ/นำแสดง ภาพยนตร์เรื่องโด่งดังที่สุด ประสบความสำเร็จที่สุด ก็คือ Life is Beautiful แนว Tragicomedy ได้แรงบันดาลใจจากหนังสือเรื่อง In the End, I Beat Hitler เขียนโดย Rubino Romeo Salmonì ชาวอิตาเลี่ยนเชื้อสายยิว ผู้รอดชีวิตจากค่ายกักกัน Auschwitz II–Birkenau น่าจะเพราะพี่ชายได้สละชีพเพื่อตน, นอกจากนี้ Benigni ยังได้นำแรงบันดาลใจจากเรื่องเล่าของพ่อตนเอง Luigi Benigni ที่ตอนสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นส่วนหนึ่งของกองทัพอิตาเลี่ยน (Italian Army) เดิมอยู่ฝั่ง Nazi แต่ปี 1943 เปลี่ยนฝ่ายไปเข้ากับพันธมิตร ทำให้ต้องใช้ชีวิตอยู่ในค่ายกักกัน Nazi ที่ Bergen-Belsen ถึง 2 ปีเต็ม ซึ่งทุกครั้งเวลาพ่อเล่าประสบการณ์ที่ได้พบเจอนี้ มักเต็มไปด้วยความสนุกสนาน เฮฮา เสียงหัวเราะ เมื่อ Benigni โตขึ้น รับรู้ความจริงทั้งหลาย กล่าวว่านี่กลายเป็นปรัชญาชีวิตของเขาเลย

“to laugh and to cry comes from the same point of the soul, no? I’m a storyteller: the crux of the matter is to reach beauty, poetry, it doesn’t matter if that is comedy or tragedy. They’re the same if you reach the beauty.”

ร่วมพัฒนาบทภาพยนตร์กับ Vincenzo Cerami เสร็จแล้วเกิดข้อกังขา เพราะ Benigni ต้องการนำแสดงเอง แต่เขาไม่ใช่ชาวยิว แถมการเล่าเรื่องราวมีพื้นหลังเหตุการณ์ Holocaust แบบนี้ ใช่ว่าจะมีคนยอมรับโดยง่าย กลัวที่จะกลายเป็นแบบหนังของ Charlie Chaplin เรื่อง The Great Dictator (1940), Benigni จึงยอมสละเวลาเตรียมงานส่วนหนึ่งตลอดการถ่ายทำ เข้าไปคำปรึกษาจากองค์กรต่างๆที่เกี่ยวข้องกับชาวยิว อาทิ Center for Documentation of Contemporary Judaism สัมภาษณ์พูดคุยกับผู้รอดชีวิตทั้งหลาน ฯ เพื่อไม่ต้องการให้ภาพของหนังเกิดรอยช้ำเป็น Trauma ต่อครอบครัวและผู้ประสบผ่านเหตุการณ์เหล่านั้นมา, ความตั้งใจแท้จริงของ Benigni จึงไม่ใช่การนำเสนอภาพของ Holocaust ในมุมของตลกเสียดสี แต่คือวิธีการมองโลกในมุมที่ต่างออกไป

Guido (รับบทโดย Roberto Benigni) ชาวยิวในอิตาลี มีความฝันต้องการเปิดร้านหนังสือของตัวเอง ย้ายเข้ามากับลุงอยู่ที่เมือง Eliseo พบเจอตกหลุมรักกับ Dora (รับบทโดย Nicoletta Braschi) จนได้แต่งงานกันและมีลูกชายชื่อว่า Giosuè (รับบทโดย Giorgio Cantarini) แต่แล้วเกิดเหตุการณ์กวาดล้างชาวยิวในสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยนาซีเยอรมนีลุกลามมาถึงอิตาลี Guido จึงพยายามทำทุกวิถีทาง เพื่อรักษาโลกอันสวยงามให้กับลูกชาย ได้ยังคงมีรอยยิ้มและความหวัง

นี่น่าจะคือบทบาทแห่งชีวิตของ Benigni แสดงถึงปรัชญา อุดมการณ์ ทัศนะ ความคิด และตัวตนของเขาเลย, ถ้าเปรียบแทน Giosuè คือลูกหลานมนุษย์รุ่นถัดไป ตัวละคร Guido จะเสมือน Guide ผู้แนะนำการมองโลกในมุมที่เรียกว่า Positive Thinking มองโลกแง่ดี/ด้านบวก ด้วยคำโกหกโป้ปดที่เป็นการสร้างภาพลวงตา บิดเบือดความจริง ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับผู้ชมเอง จะมองเห็นการกระทำของเขา เป็นความเพ้อเจ้อไร้สาระ หรือศรัทธาอุดมการณ์ที่มาจากใจ

Nicoletta Braschi นักแสดงหญิงสัญชาติอิตาเลี่ยน ภรรยาของ Roberto Benigni, เกิดปี 1960 ที่  Cesena, Braschi เข้าเรียน Academy of Dramatic Arts ณ กรุง Rome ซึ่งได้พบกับ Benigni ที่นั่นเมื่อปี 1980 มีผลงานการแสดงเรื่องแรก ก็จากหนังกำกับโดยสามี Tu mi turbi (1983) และเป็นนักแสดงนำหลักในหนังของเขาเรื่อยมา

บทบาทของ Dora ไม่มีอะไรมาก นอกจากรอยยิ้มและความคับข้องใจของตัวละคร ที่แทบไม่มีอะไรดั่งต้องการสักอย่าง, ครึ่งแรกเพราะถูกครอบครัวพยายามบังคับให้แต่งงานกับคนที่เธอไม่ชอบ ส่วนครึ่งหลังเพราะสามีและลูกถูกจับเป็นเชลยในค่ายกักกัน แต่ด้วยความดื้อด้านหัวรั้นของเธอ ตอนจบจึงได้สมหวังในสิ่งต้องการ

Giorgio Cantarini เด็กชายสัญชาติอิตาเลี่ยน เกิดปี 1992 ตอนรับบทนี้อายุเพียง 4 ขวบเท่านั้น เรียกว่ายังไม่รู้ประสีประสาใดๆแบบตัวละคร Giosuè ซึ่ง Benigni คงต้องประคบประหงม ปกป้องดูแลเอาใจใส่อย่างมาก เพราะหนังมีความล่อแหลมพอสมควร ซึ่งตอนที่เด็กชายได้พบเห็นรถถัง ดวงตาของเขาเป็นประกายยิ้มร่า (ราวกับคนเพิ่งเคยเห็นรถถังครั้งแรกจริงๆ)

เกร็ด: Cantarini เหมือนจะไม่ได้เป็นนักแสดงแล้ว แต่มีอีกผลงานหนึ่งที่โดดเด่น รับบทลูกชายของ Maximus ใน Gladiator (2000)

ถ่ายภาพโดย Tonino Delli Colli ตากล้องสัญชาติอิตาเลี่ยนยอดฝีมือ ที่มีผลงานดังกับ Sergio Leone เรื่อง The Good, the Bad and the Ugly (1966), Once Upon a Time in the West (1968) และ Once Upon a Time in America (1984), กับ Roman Polanski เรื่อง Death and the Maiden (1990), Bitter Moon (1991), รวมถึงหนังของ Federico Fellini สามเรื่องสุดท้าย

อารมณ์ของงานภาพให้สัมผัสแตกต่างกันระหว่างครึ่งแรกกับครึ่งหลัง แต่ต้องใช้การสังเกตพอสมควรถึงจะแยกออก
– ครึ่งแรก งานภาพจะมีสีสันสดใสหลากหลาย ตระการตา เน้นโทนสีอุ่นให้สัมผัสนุ่มนวล เคลิบเคลิ้ม เพลิดเพลิน เป็นสุข
– ครึ่งหลัง จะมีสีไม่ค่อยมาก เน้นโทนเย็นให้สัมผัสหดหู่ รวดร้าว เย็นยะเยือก เป็นทุกข์

หนังปักหลักถ่ายทำที่ Arezzo, Tuscany ในบริเวณ Centro Storico (Historic Centre), ส่วนฉากที่จักรยานล้มทับ Dora อยู่ด้านหน้าโบสถ์ยุคกลาง Badia delle Sante Flora e Lucilla (Abbey of Saints Flora e Lucilla)

ตัดต่อโดย Simona Paggi ขาประจำของ Benigni, หนังใช้มุมมองของ Guido แบ่งเรื่องออกเป็น 2 ส่วนชัดเจน
– ครึ่งแรก เป็นส่วน Rom-Com เริ่มต้นแนะนำตัวละคร Guido ลักษณะนิสัย พฤติกรรม ความสนใจ เมื่อได้พบกับ Dora ตกหลุมรัก พยายามทำทุกอย่างเพื่อให้เธอรู้สึกว่า เป็นโชคชะตาที่ทำให้พวกเขาได้พบเจอกัน
– องก์สอง หลายปีผ่านไป หนังใช้มุมมองของ Guido ที่มีต่อ Giosuè ไม่ว่าขณะไหน โลกทั้งใบก็มีเพียงแค่เขาคนเดียว

ในส่วนขององก์ที่สอง จะเป็นช่วงที่ผู้ชมจะแบ่งแยกออกเป็น 2 กลุ่ม
– มองโลกสวย จะยินยอมรับการกระทำของ Guido ว่าเพื่อ Giosuè จริงๆ มีความตั้งใจให้เด็กชายเติบใหญ่โดยไม่เสียความเป็นเด็ก
– มองโลกร้าย จะรับไม่ได้กับการกระทำของ Guido มีความเห็นแก่ตัว เพ้อเจ้อ ไม่ดูตัวเอง แทนที่จะสอนลูกให้รับสภาพความเป็นจริง กลับสร้างภาพโป้ปดหลอกลวง

ไม่ผิดอะไรนะครับถ้าคุณจะเป็นแบบที่ 1 หรือ 2 เพราะมนุษย์เรามีความคิด ทัศนะ อุดมการณ์ ปรัชญาชีวิตต่างกันอยู่แล้ว ของแบบนี้รับได้รับไม่ได้ ไม่ถือว่าผิดอะไร, แนะนำให้มองทั้งสองโลกให้ออกแล้วคุณจะทึ่งเสียมากกว่า คิดสร้างขึ้นมาได้อย่างไรเรื่องราวที่มีทั้งคนรักคนเกลียด

เพลงประกอบโดย Nicola Piovani นักดนตรีคลาสสิกสัญชาติอิตาเลี่ยน ประพันธ์เพลงประกอบทั้งภาพยนตร์และละครเวที, ผลงานดังๆ อาทิ Intervista (1987), Ginger and Fred (1986), The Voice of the Moon (1990) สามเรื่องสุดท้ายของผู้กำกับ Federico Fellini, Leap in the Dark (1980), The Night of the Shooting Stars (1982), Kaos (1984) ฯ

Piovani ถึงจะมีผลงานเพลงประกอบภาพยนตร์กว่า 100 เรื่อง แต่เหมือนจะชื่นชอบทำเพลงให้กับละครเวทีมากกว่า เคยให้สัมภาษณ์บอกว่า ‘Too many film scores make a composer a hack, but in the theatre music is above all craftsmanship’

ความไพเราะตราตรึงของบทเพลง La Vita è Bella (=Life is Beautiful) คือผู้ฟังสามารถสัมผัสความสนุกสนานและซึมเศร้า สองอารมณ์ร่วมในเพลงเดียวกัน มีไม่เยอะนะครับคีตกวีที่สามารถถ่ายทอดสองอารมณ์ในบทเพลงเดียวกันได้

บทเพลงที่ผมชื่นชอบสุดของหนัง Buon Giorno Principessa แปลว่า Good Morning Princess เครื่องดนตรีไม่กี่ชิ้นประสานเสียงเป็นทำนองคุกกรุ่นยามเช้า ตื่นขึ้นจากเตียงนอน ราวกับกำลังหลับฝันในเทพนิยาย เพราะโลกใบนี้ช่างสวยงามเหลือเกิน

มีคำถามหนึ่งของหมอ (ตอนครึ่งหลัง) ที่คิดถึงแต่เป็ดที่ร้อง ก๊าบ ก๊าบ แคว๊ก แคว๊ก อะไรก็ไม่รู้แล้วเขาไม่สามารถหาคำตอบได้ (ดูแล้วคงหาคำตอบไม่ได้แน่) แต่หนังได้ใส่คำตอบไว้ให้นะครับ คือตอนที่ Guido หยิบแผ่นเสียงขึ้นมาเปิด ถ้าท่านตั้งใจฟังให้ดีๆ บทเพลงนั้นจะมีเสียงดนตรีเหมือน ก๊าบ ก๊าบ แคว๊ก แคว๊ก นั่นคือบทเพลง Belle nuit หรือ Barcarolle (1881) จาก Opera เรื่อง Les contes d’Hoffmann ประพันธ์โดย Jacques Offenbach ที่เราจะได้เห็นการแสดงนี้ตอนครึ่งแรกของหนังด้วย

แซว: ได้ยินกันไหมเอ่ย ก๊าบ ก๊าบ แคว๊ก แคว๊ก

การที่โลกของเรามีทั้งคนมองโลกสวยในแง่ดี และคนมองโลกชั่วในแง่ร้าย เปรียบได้กับเหรียญสองด้านที่ต้องมีเพื่อความสมดุล หรือกฎสากลจักรวาลข้อ 3 ของเซอร์ไอแซค นิวตัน “ทุกแรงกิริยา (action) ย่อมมีแรงปฏิกิริยา (reaction) ซึ่งมีขนาดเท่ากัน แต่มีทิศตรงข้ามกันเสมอ” นี่รวมถึงความดีความชั่ว, สุขทุกข์, เกิดตาย, เด็กแก่ ฯ ทุกสิ่งทุกอย่าง

แต่ความตรงกันข้ามของโลกทั้งสองด้านนี้ จะมีจุดหนึ่งตำแหน่งบางๆอยู่ตรงกึ่งกลาง ที่จะสามารถมองเห็นทั้งสองฝั่งได้เหมือนกันเท่าเทียม นั่นคือแรงเป็นศูนย์หรือทางสายกลาง นิยามหนึ่งคือความไม่มี อีกหนึ่งคือมีทั้งสองฝั่งโดยเท่ากัน นี่เป็นตำแหน่งน่าพิศวง อัศจรรย์ใจที่สุด ไม่ว่าใคร อะไร ที่ไหน อย่างไร สามารถสร้างขึ้น หรือพบเจอสองสิ่งตรงข้ามเกิดขึ้นควบคู่พร้อมกันได้ จะมีความสวยงาม-ไพเราะ-ยิ่งใหญ่ เหนือคำบรรยาย

Life is Beautiful ไม่ใช่ชีวิตเป็นสิ่งสวยงาม แต่หนังเรื่องนี้ต่างหากที่มีความอัศจรรย์ใจ เพราะสามารถทำให้เกิดสองอารมณ์ขึ้นพร้อมกันได้ ผู้ชมแบ่งออกเป็นสองประเภทชัดเจน แทบจะหาภาพยนตร์เรื่องไหนไม่ได้อีกแล้ว ที่มีสองสิ่งนี้เกิดเคียงคู่พร้อมเพียงกัน

อัตถิภาวนิยม (Existentialism) มาจากภาษามคธ อัตถิ = เป็นอยู่ + ภาวะ = สภาพ, ตรงกับคำภาษาอังกฤษ Existence ซึ่งมาจากภาษาละตินว่า Existential (ex = จาก + stare = ยืน ) แปลว่า ความมีอยู่, คือแนวคิดทางปรัชญาที่พิจารณาว่าปัจเจก ตัวตน ประสบการณ์ของปัจเจกแต่ละคน มีความพิเศษอันเป็นหนึ่งเดียว, ปรัชญานี้ยึดถือในความเชื่ออิสรภาพ และยอมรับผลสืบเนื่องจากการกระทำ ที่สำคัญคือจะต้องรับผิดชอบกับทางเลือกที่ได้กระทำไว้ด้วย

Guido เชื่อว่า ชีวิตคือเสรีภาพ สามารถคิดทำอะไรให้เกิดขึ้นก็ได้ ไม่มีใครที่จะบังคับบงการชักใยอยู่เบื้องหลัง เชื่อว่ารอยยิ้มและความสุขคือสิ่งที่จะทำให้ชีวิตมีคุณค่า, เขาทำการส่งต่อความเชื่อนี้สู่ Dora ในครึ่งแรก และ Giosuè ในครึ่งหลัง ทั้งคู่ต่างหลงติดอยู่ในกรอบดั่งนกในกรง แต่เมื่อพบเจอเรียนรู้จักเข้าใจ สุดท้ายจึงมีโอกาสเป็นอิสระโผลบิน
– Dora ตัดสินใจทิ้งคู่หมั้น แต่งงานกับ Guido กลายเป็นอิสระไร้พันธการต่อครอบครัวเธอ
– Giosuè ที่ถูกกักขังอยู่ในความทุกข์ยากลำบากไม่เข้าใจ แต่เมื่อเรียนรู้ตอนจบเป็นจริงดังคำพ่อ ทำให้เขายังคงเต็มเปี่ยมด้วยศรัทธา เป็นอิสระรู้สึกเอาชนะ Nazi ได้โดยไม่รู้ตัว

แน่นอนว่า Guido ต้องรับผิดชอบการกระทำของตนเอง ทั้งสองเรื่องมีผลลัพท์ที่ต่างกัน
– เมื่อแต่งงานกับ Dora สิ่งที่เขาต้องรับผิดชอบคือ การเลี้ยงดูแลเธอ มีลูกกลายเป็นพ่อคน และภาระคือปกป้องดูแลลูกให้เต็มความสามารถ
– กับ Giosuè เพราะครั้งนี้เขาต้องโป้ปดหลอกลวง ปลอมตัว ผลลัพท์คือต้องแลกมาด้วยชีวิตและอิสรภาพ แต่ก็ทำให้ทั้งภรรยาและลูกได้รับอิสระที่แท้จริง

สมัยเรียนผมค่อนข้างชอบแนวคิดของปรัชญาอัตถิภาวนิยม อย่างยิ่งเลยนะครับ เพราะมนุษย์เรามีอิสรภาพที่จะคิดทำอะไรก็ได้ดั่งใจ แต่ก็มีสิ่งหนึ่งที่อาจารย์ทิ้งท้ายไว้เสมอคือ เราต้องรับผิดชอบกับทางเลือกที่ได้กระทำไว้ด้วย นี่กลายเป็นสัจธรรมไปเลยเพราะทำให้ความหมายของอิสรภาพนี้มีน้ำหนักแน่นมาก, ในทางพุทธเมื่อพูดถึงกฎแห่งกรรม หลายคนคงคิดว่ามนุษย์เราถูกกำหนดให้เดินตามผลเวรผลกรรมตั้งแต่ชาติก่อนที่เคยทำมา นี่ใช่แต่ไม่ถูกนะครับ ยังมีหลายอย่างที่ในชาตินี้เราสามารถคิดทำเองได้ กรรมมันไม่ได้ตามหาทวงหนี้เราตลอดเวลา เวลาว่างๆทั้งหลายไม่ได้ทำอะไร นั่นแหละคืออิสรภาพของคุณ ที่จะหาอะไรทำดี ทำกรรมเพิ่ม หรือไม่ทำอะไร

ในโลกความจริงผมว่าหายากนะ กับคนที่จะสามารถคิดได้ หรือบังเอิญเป็นคล้ายแบบ Guido นั่นเพราะศรัทธา อุดมการณ์ของมนุษย์ค่อยๆเจือจางลงไป แต่ผมว่าก็ไม่แน่ คนแบบนี้ย่อมต้องมีอยู่แล้ว (อย่างน้อยก็ Benigni คนหนึ่ง) คนที่มองโลกสวยงามแบบสุดโต่ง ไม่รู้เหมือนกันว่าพวกเขาแบ่งแยกจิตเภทกับคนจิตปกติตรงนี้ยังไง ถ้ายังรู้ตัวได้ว่าโลกความจริงไม่ใช่แบบนั้นคงเป็นคนปกติกระมัง แต่ถ้าไม่…

ด้วยทุนสร้าง $20 ล้านเหรียญ หนังทำเงินในอิตาลีสูงถึง $48.7 ล้านเหรียญ กลายเป็นภาพยนตร์ทำเงินสูงสุดตลอดกาลเป็นเวลา 14 ปี ก่อนถูกโค่นโดย What a Beautiful Day (2011), ทำเงินรวมทั่วโลก $229.1 ล้านเหรียญ เป็นหนังภาษาต่างประเทศทำเงินสูงสุดในโลก ก่อนการมาถึงของ Crouching Tiger, Hidden Dragon (2000)

ออกฉายในเทศกาลหนังเมือง Cannes ได้รางวัล Grand Prix (ที่ 2) ซึ่งตอน Benigni ได้รางวัลก็ได้มอบรอยจูบอันแสนหวานให้ Martin Scorsese ที่เป็นประธาน Jury ในปีนั้น

เข้าชิง Oscar 7 สาขา ได้มา 4 รางวัล
– Best Picture [ผู้ชนะปีนี้คือ Shakespeare in Love แต่เรื่องที่ควรได้คือ Saving Private Ryan]
– Best Director
– Best Original Screenplay
– Best Actor (Roberto Benigni) **ได้รางวัล Won
– Best Foreign Language Film **ได้รางวัล
– Best Editing
– Best Music, Original Dramatic Score **ได้รางวัล

เกร็ด:
– ถือว่าเป็นภาพยนตร์ภาษาต่างประเทศเรื่องที่ 2 ถัดจาก Z (1969) ที่ได้เข้าชิง Best Picture และ Best Foreign Language Film, เรื่องที่ 3 คือ Crouching Tiger, Hidden Dragon (2000)
– Roberto Benigni ถือเป็นนักแสดงชายคนแรกที่ไม่ได้พูดภาษาอังกฤษคว้ารางวัล Best Actor, แต่เป็นคนที่สองถัดจาก Sophia Loren ที่รับรางวัล Best Actress จากเรื่อง Two Women (1960) และเป็นคนที่ 3 ถัดจาก Robert De Niro พูดแต่ภาษาอิตาเลี่ยนใน The Godfather Part II (1974) ในสาขา Best Supporting Actor
– Roberto Benigni เป็นนักแสดงคนที่ 2 ที่ได้รางวัล Best Actor ด้วยการกำกับตนเอง และยังได้เข้าชิง Best Director คนแรกคือ Laurence Olivier จากเรื่อง Hamlet (1948)
– Roberto Benigni เป็นคนที่ 4 ที่ได้เข้าชิง 3 สาขา Best Actor, Best Director, Best Screenplay อีกสามคนคือ Orson Welles เรื่อง Citizen Kane (1941), Woody Allen เรื่อง Annie Hall (1977) และ Warren Beatty เรื่อง Reds (1981)

ตอนที่ Sophia Loren ประกาศรางวัล Best Foreign Language Film ตกเป็นของ Life is Beautiful, Benigni ยืนขึ้นบนเก้าอี้โบกไม้โบกมือ และตอนขึ้นรับรางวัล เขากระโดดสองขาลงบันไดขึ้นเวที นี่เป็นภาพความดีใจที่น่าจะเว่อสุดตลอดกาลของ Oscar เลยละ

ส่วนตัวถือว่าชอบหนังเรื่องนี้แล้วกันนะครับ มันเป็นอารมณ์บอกไม่ถูกระหว่างชอบไม่ชอบ หลงรักหรือเกลียด คือมีส่วนที่ประทับใจมากๆ และไม่พึงพอใจสุดๆ สองอารมณ์ร่วมทุกอย่าง ก็ให้คะแนนกลางๆค่อนไปทางยกผลประโยชน์ให้จำเลย, แต่ในแง่คุณภาพ ผมถือว่าหนังมีความสวยงามอันตราตรึง ไม่เคยมีเรื่องไหนทำได้มาก่อน และไม่รู้ว่าจะมีใครทำได้อีกไหม

“ต้องดูให้ได้ก่อนตาย”
กับคอหนังที่ชื่นชอบเรื่องราวสวยๆงามๆ ลึกซึ้งกินใจ หวานเลี่ยน บ่อน้ำตาซึม มองโลกในแง่ดี
กับคนมองโลกในแง่ร้ายก็เช่นกัน คุณอาจไม่ชอบรังเกียจขยะแขยง แต่มองดูด้านสวยงามของโลกบ้างก็ได้นะครับ

คอหนังอิตาเลี่ยน รู้จักชื่นชอบ Roberto Benigni, สนใจเรื่องราวเกี่ยวกับ Nazi Camp, นักปรัชญา นักคิด ถกเถียงเรื่องการมีตัวตน (Existentialism)

จัดเรต 15+ ถ้าจะให้เด็กดูครึ่งแรกก็พอนะครับ ครึ่งหลังนี่ผู้ใหญ่ยังเครียดเลย

TAGLINE | “Life is Beautiful ของ Roberto Benigni สร้างโลกที่เหมือนเหรียญสองด้าน สวยงามหรือรับไม่ได้ อยู่ที่ตัวคุณเอง”
QUALITY | RARE-GENDARY
MY SCORE | LIKE

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: