Limite (1931) Brazilian : Mário Peixoto ♥♥♥♥

Limite ภาษาโปรตุเกส แปลว่า Limit, ขีดสุดความอัดอั้นของชายหนึ่ง-หญิงสอง ล่องลอยคออยู่กลางมหาสมุทร Atlantic คนหนึ่งเป็นอาชญากรหลบหนี อีกคนเบื่อหน่ายสามี ส่วนชายหนุ่มถูกจับได้ว่าคบชู้เมียคนอื่น พวกเขาแทบมิอาจอดกลั้นฝืนทนอยู่บนโลกใบนี้ได้อีกต่อไป

เมื่อปี ค.ศ. 2015 ภาพยนตร์เรื่อง Limite (1931) ได้รับการโหวตจาก Brazilian Film Critics Association (ชื่อย่อ Abraccine) ติดอันดับ 1 ชาร์ท The 100 Best Brazilian Films (เป็นหนังเก่าแก่ที่สุดและติดอันดับสูงสุด)

ผมไม่ได้รับรู้จัก Limite (1931) จากชาร์ทของ Abraccine แต่คือนิตยสาร Sight & Sound: Critic’s Poll 2022 เป็นเพียงหนึ่งในสองภาพยนตร์สัญชาติ Brazilian (ไม่นับเรื่องที่ร่วมทุนสร้าง) ประกอบด้วย Limite (1931) และ Twenty Years Later (1984) ต่างติดอันดับ 211 (ร่วม) … ช่วงเดือนนี้กำลังเขียนถึงหนังเงียบพอดี ก็เลยหยิบ Limite (1931) มารับชมดูก่อน ส่วนอีกเรื่องยี่สิบปีให้หลังค่อยว่ากัน –“

Limite (1931) เป็นภาพยนตร์ที่ต้องบอกเลยว่าแปลกประหลาด เต็มไปด้วยมุมกล้องสุดแสนพิศดาร โอบรับแนวคิด ‘Cinéma Pur’ มีเพียง 3-4 ข้อความสนทนา (Title Card/Intertitles) ปรากฎขึ้นมาเท่านั้น (จริงๆยังมีอีกหนึ่งครั้ง แต่คือคำอธิบายถึงซีนที่สูญหาย) ซึ่งผมเชื่อว่าความตั้งใจของผู้กำกับ ต้องการผลักดัน’ขีดจำกัด’ของสื่อภาพยนตร์ และให้อิสรภาพผู้ชมในการครุ่นคิดตีความว่าหนังต้องการบอกเล่าเรื่องราวอะไร

การรับชม Limite (1931) มีความท้าทายสูงมากๆ ผมดูครั้งแรกก็ไม่ค่อยเข้าใจสักเท่าไหร่ ไม่มีฉากไหนอธิบายว่ามนุษย์ทั้งสามล่องลอยคออยู่กลางทะเลได้อย่างไร?? ลองให้เวลารอบสอง-สาม หาอ่านบทความวิจารณ์ ขบครุ่นคิดนัยยะเชิงสัญลักษณ์ ก็อาจสัมผัสถึงความงดงาม ‘กวีภาพยนตร์’ อีกหนึ่งมาสเตอร์พีซที่เกือบสูญหายตามกาลเวลา


Mário Rodrigues Breves Peixoto (1908-92) นักเขียน นักกวี ผู้กำกับภาพยนตร์ สัญชาติ Brazilian เกิดที่ Brussels, Belgium แล้วกลับมาเติบโต Rio de Janeiro, ครอบครัวมีฐานะร่ำรวย ทำธุรกิจไร่กาแฟส่งออก จึงมีเงินส่งบุตรชายเข้าโรงเรียน(ดีที่สุดในบราซิลขณะนั้น) Colégio Andrews พัฒนาความสนใจในวรรณกรรม บทกวี และงานศิลปะ

ช่วงวันหยุดฤดูร้อนเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1929, Peixoto ออกเดินทางท่องเที่ยวกรุง Paris เพื่อเข้าร่วมงาน International Exhibition of Modern Decorative and Industrial Arts จัดขึ้น ณ Grand Palair ระหว่างวันที่ 28 พฤษภาคม ถึง 25 พฤศจิกายน ค.ศ. 1930

ซึ่งระหว่างพักอาศัยอยู่กรุง Paris นั้นเอง Peixoto ได้พบเห็นหน้าปกนิตยสารรวมภาพถ่ายรายสัปดาห์ VU (ภาษาฝรั่งเศส แปลว่า Seen หรือ Viewed) ฉบับที่ 74 ซึ่งเป็นผลงานถ่ายภาพของ André Kertész หญิงสาวถูกอ้อมโอบโดยชายสวมกุญแจมือ ตั้งชื่อว่า Embrace … นั่นคือจุดเริ่มต้น แรงบันดาลใจในการสรรค์สร้าง Limite (1931)

I was passing by a newspaper stand when I saw a magazine with a photograph of a woman on the cover, with arms wrapped around her chest, handcuffed. A man’s arms. And the magazine was called Vu (No. 74, 14 August 1929).

I carried on walking and I could not get the image out of my mind. And right after that, I saw this sea of fire and a woman clinging to the remnants of a sinking ship

Mário Peixoto

เกร็ด: มีคำเรียก ‘generative image’ หรือ ‘protean image’ หมายถึงรูปภาพที่สามารถสร้างแรงบันดาลใจ ให้ศิลปินสรรค์สร้างผลงานศิลปะ (เหมารวมถึงกวีแต่งกลอน นักเขียนแต่งนิยาย ผู้กำกับภาพยนตร์ ฯ)

ก่อนหน้านี้ Peixoto ที่แทบไม่เคยมีความสนใจสื่อภาพยนตร์มาก่อน เมื่อพบเห็นภาพถ่ายดังกล่าว จู่ๆบังเกิดพลังผลักดันอย่างแรงกล้า ครุ่นคิดพัฒนา ‘scenario’ บทหนังเต็มไปด้วยคำอธิบายภาพถ่าย (collection of visual) ตำแหน่ง ทิศทาง การขยับเคลื่อนกล้อง รวมถึงองค์ประกอบอื่นๆ … ไม่ได้เขียนให้มีเนื้อเรื่องราว (narrative film) ตามแบบบทหนังทั่วๆไป

Shot 73: fusion close up – hand of the woman who has fish and some vegetables in her basket – camera follows her and, once again, close up showing the basket and all of her purchases – woman keeps on walking – camera moves with her.

ตัวอย่างคำอธิบายบทหนัง/ Scenario ช็อตที่ 73 ของ Limite (1931)

จากนั้น Peixoto นำบทดังกล่าวไปพูดคุย ยื่นข้อเสนอสองผู้กำกับชาว Brazilian ชื่อดังขณะนั้น Humberto Mauro และ Adhemar Gonzaga แต่พวกเขาต่างตอบปฏิเสธ เพราะมองว่าโปรเจคนี้มีความเป็น’ส่วนตัว’มากเกินไป และให้คำแนะนำทำไมไม่กำกับหนังด้วยตนเองเลยเสียละ!

ก็เพราะไม่เคยรับรู้อะไรเกี่ยวกับงานสร้างภาพยนตร์ Peixoto จึงเกิดความโล้เล้ลังเล สองจิตสองใจ จนเมื่อถึงจุดๆหนึ่งไม่มีใครยินยอมให้ความช่วยเหลืออะไร เลยเริ่มศึกษาหาความรู้ ตัดสินใจกำกับหนังด้วยตนเอง และพึ่งพาเงินทุนสนับสนุนจากครอบครัว (บ้านรวยอยู่แล้วเลยไม่มีปัญหาเท่าไหร่)


เรื่องราวของหนังเริ่มต้นด้วยชายหนึ่ง-หญิงสอง ล่องลอยคออยู่บนเรือลำน้อยกลางมหาสมุทร Atlantic ทั้งสามต่างดูเหน็ดเหนื่อยอ่อนล้า สีหน้าเอือมละอา จนไม่สามารถลุกขึ้นมาทำอะไร หลังเวลาพานผ่านไปสักพัก พวกเขาก็เริ่มเล่าเรื่องย้อนอดีต (Flashback) ถึงเหตุการณ์ที่ถือเป็น’ขีดสุด’ทำให้ตนเองมีสภาพเลวร้ายดังกล่าว

  • หญิงสาวคนแรก (รับบทโดย Olga Breno) ได้รับความช่วยเหลือจากผู้คุมขังจนสามารถแหกคุกหลบหนี ก่อนมาทำงานเป็นช่างเย็บผ้า แต่ไม่นานก็รู้สึกเบื่อหน่ายกับชีวิต
    • หนังไม่มีคำอธิบายว่าเธอเคยก่ออาชญากรรมอะไร แต่คาดเดาว่าอาจเป็นการลักขโมย เพราะระหว่างทำงานเห็นเปิดดูนิตยสารชุดสวยๆ แสดงถึงความเพ้อใฝ่ฝัน อยากออกไปจากสถานที่ทุรกันดารห่างไกลแห่งนี้
    • ซีเควนซ์นี้ยังไม่มีกล่าวถึงโชคชะตาของตัวละคร แต่เชื่อว่าอาจถูกตำรวจไล่ล่า ล้อมจับกุม และอาจโดนวิสามัญ (ลักขโมยอาจไม่ใช่อาชญากรรมที่รุนแรง แต่สำหรับดินแดนห่างไกลขนาดนั้น มันก็ไม่แน่เหมือนกัน)
  • หญิงสาวคนที่สอง (รับบทโดย Taciana Rey) หลังจากซื้อปลามาเตรียมทำอาหาร แต่พอกลับถึงบ้านพบเห็นสามีขี้เมา/นักเปียโนประกอบหนังเงียบ The Adventurer (1917) หลับนอนซมซานอยู่ตรงบันได จึงเกิดความไม่พึงพอใจอย่างรุนแรง เหมือนว่ากระทำอัตวินิบาตด้วยการกระโดดหน้าผาฆ่าตัวตาย
    • ในหนังอาจดูก้ำๆกึ่งๆว่าหญิงสาวกระโดดหน้าผาฆ่าตัวตายไหม? แต่ภาษาภาพยนตร์สามารถสื่อได้เช่นนั้น
  • สำหรับชายหนุ่ม (รับบทโดย Raul Schnoor) หลังจากสูญเสียภรรยา แอบสานสัมพันธ์หญิงสาวคนหนึ่ง ซึ่งระหว่างเดินทางไปเยี่ยมเยียนหลุมฝังศพ(ของอดีตภรรยา) พบเจอกับชายที่เป็นสามีชู้รักของเขา (รับบทโดย Mário Peixoto) พูดบอกความจริงว่าเธอล้มป่วยโรคเรื้อน นั่นสร้างความรังเกียจ ขยะแขยง รับไม่ได้อย่างรุนแรง
    • ตอนจบของซีเควนซ์นี้ จะมองว่าตรอมใจตายหรือล้มป่วย(โรคเรื้อน)เสียชีวิตก็ได้เหมือนกัน

เมื่อทั้งสามเรื่องเล่าสิ้นสุดลง ก็ถึงเวลาเปิดเผยผลกรรมของทั้งสาม ชายหนุ่มตัดสินใจทอดทิ้งเรือ กระโดดลงน้ำเพื่อไปยังทุ่นแห่งหนึ่ง (แล้วสูญหายตัวไป) ส่วนสองสาวเผชิญคลื่นลมพายุจนเรืออับปางลง คนหนึ่งหายสาปสูญ และอีกคนล่องลอยคออยู่บนขอนไม้


ถ่ายภาพโดย Edgar Brasil ชื่อจริง Edgar Hauschildt (1902–54) ตากล้องสัญชาติ Brazilian-German เกิดที่ Hamburg, Germany แต่มาเติบโตยัง Rio de Janerio, หลังอาสาสมัครทหาร ทำงานเป็นล่ามแปลภาษาให้ผู้ตรวจการกองควบคุมโรคเรื้อนและโรคติดต่ออื่นๆ (Profilaxia da Lepra e das Doenças Venéreas) ก่อนมีโอกาสพบเจอ Haroldo Mauro น้องชายผู้กำกับดัง Humberto Mauro สร้างอิทธิพลจนเกิดความสนใจวงการภาพยนตร์

It was Haroldo who took Edgar to the movies. Haroldo liked Edgar’s drawings, which he drew very well. Around 1925, Edgar bought a camera and Haroldo, who already admired his drawings, also started to like his still photographs.

จากหนังสือ Enciclopédia do Cinema Brasileiro เรียบเรียงโดย Fernão Ramos

Humberto Mauro คือหนึ่งในสองผู้กำกับที่มีโอกาสอ่านบทหนัง Limite (1931) เลยให้แนะนำ Mário Peixoto ให้เลือกใช้บริการตากล้อง Edgar Brasil ซึ่งเคยร่วมงานกันมาแล้วหลายครั้ง

ผมไม่เคยเจอหนังเงียบเรื่องไหนที่มีงานภาพ ‘สุดโต่ง’ ไปมากกว่า Limite (1931) แต่ก็แอบรู้สึกว่ารับอิทธิพลจาก German Expressionism พอสมควร (เฉพาะลีลาการถ่ายภาพนะครับ ไม่ใช่สร้างฉากพื้นหลัง) เต็มไปด้วยภาพถ่ายสุดพิศดาร ไร้พันธนาการเหนี่ยวรั้ง ‘unchained cinema’ มุมก้ม-เงย-เอียง, ตำแหน่งสูง-ต่ำ, ระยะไกล-กลาง-ใกล้, panning, tilting, rotation, บางครั้งกล้องเคลื่อนแซงหน้าตัวละครแล้วค่อยถอยย้อนกลับมา, ไล่ระดับจากพื้นขึ้นถึงหน้าอก อ่านข้อความหนังสือพิมพ์จบ ค่อยลดระดับกลับลงพื้น ฯลฯ สารพัดเทคนิคภาพยนตร์ไม่เพียงสะท้อนสภาวะทางอารมณ์ สภาพจิตใจตัวละคร ยังเป็นการเปิดมุมมอง สร้างประสบการณ์ใหม่ๆในการรับชม ราวกับกล้องคือส่วนหนึ่งของเรื่องราว

The camera is a participant in the film. It creates a rhythm and a movement that transcend the physical world. It is an experience entirely of image.

Mário Peixoto

เห็นว่า Brasil พยายามทำตามคำอธิบายบทหนัง/Scenario ที่ผกก. Peixoto เขียนเอาไว้อย่างเปะๆ ซึ่งบางช็อตเต็มไปด้วยความยุ่งยาก ท้าทาย (เพราะ Peixoto ไม่ได้มีความรู้งานสร้างภาพยนตร์ จึงไม่รับทราบข้อจำกัดเหล่านั้น) มีการประดิษฐ์ไม้กระดานที่สามารถตั้งวางกล้อง แล้วยกขึ้น-ลง ขยับเคลื่อนซ้าย-ขวา รวมถึงทิศทางอื่นๆ (ได้แรงบันดาลใจจาก Metropolis (1927) ของผู้กำกับ Fritz Lang)

หนังเต็มไปด้วยทิวทัศน์ธรรมชาติสวยๆ พระอาทิตย์ทอแสง สะท้อนพื้นผิวน้ำระยิบระยับ เห็นว่าเป็นหนัง Brazilian เรื่องแรกถ่ายทำด้วย ‘panchromatic film’ ผมอ่านคำอธิบายรายละเอียดไม่ค่อยรู้เรื่องเท่าไหร่ แต่เอาเป็นว่ามันคือฟีล์มประเภทหนึ่งที่มีความอ่อนไหวต่อแสงสว่างมากกว่าปกติ ทำให้ภาพออกมาดูมันวาว เปร่งประกาย เฉิดฉายแสง

They are going to look for a kind of shiny, incandescent image, with a lot of brightness, with a very particular contrast, with the insertion of half tones, which is something very unusual for Brazilian cinema at that time.

จากหนังสือ Enciclopédia do Cinema Brasileiro เรียบเรียงโดย Fernão Ramos

สำหรับสถานที่ถ่ายทำ คือหมู่บ้านเล็กๆริมชายฝั่ง Mangaratiba อยู่ห่างจาก Rio de Janerio ประมาณ 50 ไมล์ เจ้าของคือ Victor de Souza Breves เป็นญาติผกก. Peixoto ทำให้เขาสามารถหยิบยืมคนงานมาเป็นตัวประกอบ (แต่ทีมงานและนักแสดงหลัก นำไปจาก Rio de Janerio)

เกร็ด: The Expendables (2010) ของ Sylvester Stallone ก็เคยมาถ่ายทำยังสถานที่แห่งนี้


ช็อตแรกของหนังเริ่มต้นด้วยการ ‘recreate’ ภาพจากนิตยสาร VY ที่สร้างความตราประทับฝังใจให้ผกก. Peixoto สื่อถึงการถูกกักขังหน่วงเหนี่ยว ไม่สามารถหลบหนี ดิ้นหลุดพ้น แล้วจะมีขณะหนึ่งพบเห็นการซ้อนภาพนกบนโขดหิน (ช่วงต้นเรื่องเจ้านกจะแค่เดินไปเดินมา แต่ช็อตสุดท้ายของหนังถึงทำการโบกโบยบิน) สัญลักษณ์แห่งเสรีภาพ จิตวิญญาณเคยถูกพันธนาการ สักวันหนึ่งย่อมได้รับการปลดปล่อย

หนังไม่มีคำอธิบายใดๆว่าชายหนึ่ง-หญิงสอง ต่างมาลงเอยยังเรือลำน้อย ล่องลอยคอกลางมหาสมุทร Atlantic ได้อย่างไร และต่อให้พวกเขาเล่าเรื่องย้อนอดีต มันก็ไม่ได้มีความสัมพันธ์ใดๆกัน นอกเสียจากอาศัยอยู่ยังหมู่บ้านเล็กๆริมชายฝั่ง Mangaratiba เท่านั้นเอง

ไม่ใช่แค่เหตุผลการลงเรือเท่านั้นนะครับ หนังยังเต็มไปด้วยสรรพสิ่งไร้คำอธิบายมากมาย (ชื่อตัวละครก็เช่นกัน) จุดประสงค์เพื่อให้อิสระผู้ชมในการครุ่นคิดตีความ อยากทำความเข้าใจอะไรอย่างไรก็ตามสบาย ผมมีสามเหตุผลที่พอเข้าใจโดยง่าย

  • มันคือโชคชะตาจับพลัดจับพลูให้ทั้งสามลงเรือลำเดียวกัน เพราะพวกเขาต่างถึงขีดสุดกับชีวิต ต้องการดิ้นรน หลบหนี ออกไปให้ไกลจากสถานที่แห่งนี้
  • โลกหลังความตาย เพราะตอนจบของแต่ละเรื่องเล่า มันมีความเป็นไปได้ว่าตัวละครจะถูกวิสามัญ, กระทำอัตวินิบาต และล้มป่วย/ตรอมใจตาย
  • เหตุการณ์บนเรือสามารถมองเป็นจิตใต้สำนึก/ความรู้สึกนึกคิดของผกก. Peixoto โดยเรื่องเล่าทั้งสามคือสิ่งที่เขาเคยพานผ่าน ประสบพบเจอ แล้วเกิดความอัดอั้น เกรี้ยวกราด ถึงขีดสุดต่อวิถีโลกใบนี้

หลังจากหญิงสาวคนแรกได้รับการช่วยเหลือจากผู้คุม (ไม่มีคำอธิบายว่าติดคุกเพราะอะไร? หรือผู้คุมปล่อยเธอออกมาทำไม?) ก้าวออกเดินไปเรื่อยๆ เอื่อยเฉื่อย จนมาถึงเส้นทางมุ่งสู่เทือกเขาห่างไกล ซึ่งระหว่างกล้องกำลังเคลื่อนติดตามด้านหลัง จู่ๆเธอหลบเข้าข้างทาง แต่ภาพก็ยังดำเนินต่อไปอีกสักพักจนเกิดความชะงักงัน แล้วค่อยถอยหลังกลับมาพบเห็นเธอทรุดลงนั่งร้องไห้ ทำไมกัน???

ซีเควนซ์นี้ผมเปรียบการเคลื่อนเลื่อนกล้อง แทนความคาดหวังของชีวิต ที่มักดำเนินไปข้างหน้าจนกว่าจะถึงเป้าหมายปลายทาง แต่ไม่ใช่ทุกคนจะสามารถก้าวเดินไปถึงจุดนั้น บางคนอาจรู้สึกเหน็ดเหนื่อย ท้อแท้สิ้นหวัง ยอมแพ้กลางทาง เหมือนหญิงสาวคนนี้ทรุดนั่งลงร่ำร้องไห้ จริงๆก็ไม่รู้เพราะอะไร แต่เชื่อว่าคงไม่มีอะไรเป็นไปตามความเพ้อฝันของตนเอง

จริงๆเราสามารถมองซีเควนซ์นี้ (นำเสนออาชีพช่างเย็บผ้าของหญิงสาวคนแรก) ในลักษณะ ‘Flashback ซ้อน Flashback’ เหมือนการหวนระลึกความทรงจำ อธิบายเหตุผลว่าทำไมเธอถึงร่ำร้องไห้ ตกอยู่ในสภาพท้อแท้สิ้นหวัง เพราะนี่คือวิถีชีวิตที่น่าเบื่อหน่าย พบเห็นจักรเย็บผ้าในตำแหน่งบดบังใบหน้า และมีการแหงนมองท้องฟากฟ้า โหยหาอิสรภาพ ต้องการไปจากสถานที่แห่งนี้

ระหว่างกำลังใช้จักรเย็บเสื้อผ้า จะมีช็อตหนึ่งถ่ายให้เห็นภาพชุดแฟชั่นฉีกจากนิตยสาร บางคนอาจมองว่านี่คือแบบที่เธอกำลังตัดเย็บ ขณะเดียวกันสามารถสื่อถึงความเพ้อฝันของหญิงสาว อยากร่ำรวย แต่งตัวสวยๆ แต่ด้วยฐานะ สถานะตนเองขณะนี้ จะทำอะไรได้กัน?

หลังจากนั้นเธอหยิบกรรไกรขึ้นมา ขยับซ้ายขวาเพื่อให้พบเห็นแสงสะท้อน มองอย่างผิวเผินก็แค่นำมาตัดเส้นด้าย, แต่บางคนอาจตีความถึงการตัดขาดความสัมพันธ์ ทำลายวิถีชีวิตที่เป็นอยู่ ละเลิกทำงานอาชีพนี้ เพื่อออกเดินทางเติมเต็มความเพ้อฝัน, ผมครุ่นคิดเพ้อไปไกลถึงเหตุการณ์ฆาตกรรม หรือใช้เป็นอาวุธจี้ปล้น (นั่นอาจคือเหตุผลทำให้เธอถูกจับติดคุก)

นี่ถือเป็นข้อความแรกของหนัง (ที่ไม่เชิงว่าเป็น Title Card/Intertitles) นำเสนอในลักษณะหัวข้อข่าวหนังสือพิมพ์ สำหรับคนที่ไม่สามารถหาคำแปล ข้อความที่ปรากฎในซับไตเติ้ลประกอบด้วย …

Prisoner Escapes
HELPED BY JAILER

The police are about to arrest the woman who recently escaped prison. Strangely, this escape took place in broad daylight. The fugigive should be captured soon.

ความน่าพิศวงของซีนนี้ คือการเคลื่อนกล้องจากพื้นขึ้นมาถึงหนังสือพิมพ์ที่หญิงสาวกำลังอ่าน (เธอไม่ใช่คนเดียวกับหญิงสาวคนแรกนะครับ) หลังจากแช่ภาพทิ้งไว้สักพักค่อยเลื่อนกลับลงสู่พื้นดิน … ผมยังครุ่นคิดไม่ออกว่าทำแบบนี้ไปเพื่ออะไร อาจแทนสายตาแห่งความฉงนสงสัย(ของบุรุษ) มักพิจาณาหญิงสาวจากล่างขึ้นบน

หลังภาพหนังสือพิมพ์ จะมีการร้อยเรียงภาพท้องถนนหนทาง ตึกรามบ้านช่องดูว่างเปล่า ไร้ผู้คน (อาจสื่อถึงความหวาดวิตกกังวล เพราะอาชญากรยังคงลอยนวล) ก่อนจบลงด้วยล้อรถไฟกำลังเคลื่อนหมุน (อาจหมายถึงการออกเดินทาง หญิงสาวขึ้นรถไฟหลบหนี)

บางคนอาจตีความว่าหญิงสาวกำลังถูกไล่ล่าโดยตำรวจ เลยเดินทางหลบหนีไปยังสถานที่ต่างๆที่ร้อยเรียงเข้ามา ส่วนภาพล้อรถไฟกำลังเคลื่อนหมุน สื่อถึงวังวนที่ไม่สามารถดิ้นหลุดพ้น รวมถึงการคาดการณ์ว่าเธออาจถูกวิสามัญจากตำรวจ

ก่อนจะเข้าสู่เรื่องเล่าหญิงสาวคนที่สอง จะมีปรากฎข้อความบรรยาย (Title Card/Intertitles) แต่นี่ไม่ใช่บทสนทนาตัวละคร คือคำอธิบายกล่าวถึงซีนที่สูญหาย (สังเกตว่าช่วงระหว่างซีนนี้ก็เต็มไปด้วยร่องรอยฟีล์มเสื่อมสภาพ ยังไม่สามารถฟื้นฟูบูรณะ) โชคดีว่าความยาวแค่เพียงไม่กี่วินาทีเท่านั้น แทบไม่ได้มีความสลักสำคัญใดๆต่อหนัง

This title replaces a section of Limite that has been lost,
In which we see Man#1 give help to Woman#2

เริ่มต้นเรื่องเล่าหญิงสาวคนที่สอง เธอกำลังหาซื้อปลาจากชาวประมง มันจะมีช็อตที่พบเห็นเจ้าปลากำลังหายใจเฮือกสุดท้าย นี่สามารถสื่อถึงขีดสุดและโชคชะตาของทั้งสามตัวละครบนเรือ (มีสภาพไม่แตกต่างจากเจ้าปลา) ต่อให้พยายามกระเสือกกระสน ต่อสู้ดิ้นรน สุดท้ายก็ไม่สามารถหลบหนีพ้น

หลายคนอาจหงุดหงิดรำคาญใจกับภาพการก้าวเดิน ซึ่งมีความเยิ่นยาวนานขึ้นเรื่อยๆ แต่นั่นคือความตั้งใจของผู้สร้างเพื่อให้ผู้ชมสัมผัสถึงความน่าเบื่อหน่าย ท้าทายขีดสุดความอดทน ‘Limit’ ของเราไม่เท่ากัน

เมื่อกลับมาถึงบ้าน หญิงสาวได้พบเห็นสามีหลับนอนตรงบันได (มันจะมีช็อตนิ้วนางสวมแหวน สื่อถึงการแต่งงาน) หนังไม่มีคำอธิบายอะไรใดๆมากกว่านี้ แต่เราสามารถขบครุ่นคิดว่านี่คงเป็นภาพเหตุการณ์บังเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีก น่าจะจากการดื่มเหล้าเมามาย อีกทั้งตำแหน่งเบื้องบนบันได ยังสื่อการวางตัวเหนือกว่า ชอบใช้อำนาจ ความรุนแรง เผด็จการในครอบครัว ฯ หลากหลายเหตุผลทำให้เธอถึง’ขีดสุด’ไม่สามารถอดรนทนรับสภาพดังกล่าวได้อีกต่อไป

หญิงสาวก้าวออกเดินไปนั่งบนโขดหินบริเวณหน้าผาสูง จับจ้องมองลงมาเบื้องล่าง จากนั้นกล้องทำการกวัดแกว่ง ฉวัดเฉวียน สร้างความวิงเวียน ก่อนจบลงด้วยการแพนกล้อง(จากหญิงสาว)สู่พื้นผิวน้ำ … ผมมองว่านั่นคือการคิดสั้นฆ่าตัวตาย แต่สุดท้ายเธอจะกระโดดหน้าผาจริงไหม ก็แล้วแต่ผู้ชมจะขบครุ่นคิดจินตนาการ

The Adventurer (1917) กำกับ/นำแสดงโดย Charlie Chaplin (ภาษาโปรตุเกสมักเรียก Charlie ว่า Carlito) ซึ่งจะมีฉากนักโทษหลบหนี นี่ไม่ใช่แค่ล้อกับเรื่องเล่าหญิงสาวคนแรกนะครับ แต่ยังเหมารวมถึงทั้งสามตัวละครบนเรือลำน้อยล่องลอยคออยู่กลางมหาสมุทร พวกเขาต่างพยายามหาทางดิ้นหลบหนี ออกไปให้ไกลจากสถานที่แห่งนี้

เกร็ด: Carlito Encrencou a Zona แปลว่า Carlito complicates things หรือ Charlie (Chaplin) complicates things

ตากล้อง Edgar Brasil แอบมางีบหลับระหว่างอยู่ในโรงภาพยนตร์

สำหรับเรื่องเล่าของชายหนุ่ม สามารถแบ่งออกเป็นสองส่วน (แยกออกเป็นสอง Flashback), โดยครึ่งแรกร้อยเรียงภาพชาย-หญิง สามี-ภรรยา เดินจับมือ เลียบๆเคียงๆริมหาดทราย ร้อยเรียงภาพท้องทุ่ง ต้นไม้เขียวขจี แสดงถึงความสุขที่มีให้กันอย่างเอ่อล้น

แต่เหมือนจะเกิดเหตุการณ์อะไรบางอย่าง ทำให้ทั้งสองต้องพลัดพราก ภรรยาตายจากไป พบเห็นภาพ Invert Shot, ต้นไม้กลับหัว (ภาพสะท้อนพื้นผิวน้ำ), (จากต้นไม้กลายเป็น)เสาไฟฟ้า, เศษซากปรักหักพัง, (ต้นไม้)เหลือเพียงกิ่งก้าน (ไร้ใบ) ฯ เหล่านี้ล่วนสื่อสัญลักษณ์ถึงความตาย หายนะ ทุกสิ่งอย่างกลับตารปัตรตรงกันข้าม ทำให้ฝ่ายชายต้องทนทุกข์ทรมาน เจ็บปวดรวดร้าวจากความสูญเสีย

หลังจากคลื่นซัดทำลายรอยเท้าบนพื้นทราย (สื่อถึงการหมดสิ้นรักกับอดีตภรรยา) ชายหนุ่มเหมือนว่าจะได้พบเจอรักครั้งใหม่ แต่เมื่อร่ำลาจากเธอไป หนังทำการร้อยเรียงภาพก้าวเดิน พร้อมลมพายุพัดแรง ทำเอาลำต้นไม้เอนเอียง ผืนหญ้าปลิดปลิวตามกระแสแรงลม … ผมมองว่าสื่อถึงความโล้เล้ลังเลใจ ชายหนุ่มไม่รับรู้จะทำอะไรยังไงเพื่อผ่อนคลายอารมณ์คลุ้มคลั่งภายใน

การเดินเรื่อยเปื่อยมาจนถึงสุสาน นั่นแสดงว่าเขายังคงรัก ครุ่นคิดถึง(อดีตภรรยา) เหม่อมองเข้าไปพบเห็นใครสักคนนั่งอยู่ตรงหลุมฝังศพของเธอ

ลีลาการถ่ายภาพซีเควนซ์นี้มีความพิลึกพิลั่นอย่างมากๆ เริ่มจากช็อตนี้ จู่ๆกล้องเคลื่อนเข้าหาด้านหลังตัวละครแล้วหยุดนิ่ง → พบเห็นเขาเดินเข้าไปในรั้ว หยุดเด็ดดอกไม้ → กล้องเคลื่อนเข้าไปยังดอกไม้แล้วเคลื่อนติดตาม → และเมื่อกล้องหยุดนิ่ง ชายหนุ่มก้าวเดินต่อไปจนถึงสุสาน

ตรงกันข้ามกับตอนต้นเรื่องที่กล้องเคลื่อนแซงนักแสดงแล้วถอยหลังกลับมา (สื่อถึงความคาดหวังที่ไม่มนุษย์ไม่สามารถดำเนินไปถึง) ผมมองว่าขณะนี้กล้องไม่สามารถนำหน้านักแสดง ทำได้เพียงจับจ้องมอง ติดตามเบื้องหลัง (ประมาณว่ากล้องไม่สามารถดำเนินไปไกลเกินกว่าจุดหมายปลายทาง/โลกหลังความตาย)

มันเหมือนว่าชายหนุ่มรับรู้ตัวดี ชายแปลกหน้าคนนี้ (รับบทโดย Mário Peixoto) คือสามีของชู้รัก! นั่นทำให้การสนทนาในช่วงแรกยืนค้ำหัว (ตำแหน่งศีรษะสูงกว่า) เพราะครุ่นคิดว่าตนเองถือไพ่เหนือกว่า (คือเชื่อว่าอีกฝ่ายคงไม่รับล่วงรู้ความจริง) แต่หลังจากได้ยินคำบอกกล่าวในสามประโยค (ถือเป็นข้อความสำคัญมากๆของหนัง เลยมีการใช้ Title Card/Intertitles)

You come from the house of a woman that is not yours.
Suppose that she is mine as this says.
What if I told you she has leprosy?

ชายแปลกหน้าลุกขึ้นยืน สังเกตว่ามุมกล้องถ่ายให้เห็นตำแหน่งศีรษะอยู่เหนือกว่า! นั่นเพราะคำกล่าวสามประโยคนั้น ทำให้อีกฝ่ายตระหนักถึงความจริง สิ่งผิดพลาดที่ก่อให้เกิดหายนะกับตนเอง

เหตุการณ์เกิดขึ้นต่อจากนั้น ทำการตะโกนโหวกเหวก ก้าวเดินอย่างคลุ้มบ้าคลั่ง พานผ่านบริเวณพื้นเปียกแฉะ โคลนเลน หนองน้ำ มาจนถึงท่าเทียบเรือลำน้อย (เป็นการสร้างจุดเชื่อมโยงให้กับผู้ชม ครุ่นคิดว่านี่อาจคือจุดเริ่มต้นของการล่องลอยคออยู่กลางทะเลหรือเปล่า?) หลังบอกปฏิเสธการเกี้ยวพาของหญิงสาวคนใหม่ ดำเนินไปถึงรั้วลวดหนาม แล้วทรุดล้มลง ราวกับกำลังหมดสิ้นลมหายใจ

หลังการทรุดล้มลงของชายหนุ่ม กล้องทำการ Tilt Up ขึ้นไปบนท้องฟากฟ้า แล้วช็อตถัดมาพบเห็นไม้กางเขน (จำนวน 2+1) เอาจริงๆแค่นี้ก็บอกใบ้อย่างชัดเจนแล้วว่าตัวละครได้ล้มตาย กลายเป็นจิตวิญญาณ (แต่ถ้าคุณมีความคิดเห็นอื่นก็แล้วแต่นะครับ หนังเปิดอิสระไว้กว้างมากๆ) จากนั้นพวกเขาทั้งสาม ก็ไม่รู้พบเจอกันอย่างไร ถึงร่วมพายเรือออกจากฝั่ง

ช็อตที่ถือเป็น ‘Iconic’ ของภาพยนตร์เรื่องนี้ คือหญิงสาวชะโงกหน้าออกทางกาบเรือ ถ้าตามเรื่องราวขณะนั้นเหมือนเธอกำลังมองหาหนทางเอาตัวรอด เพราะเรือกำลังรั่วซึม แถมพายุลมแรงก็เคลื่อนใกล้เข้ามา แต่เพราะไม่พบเห็นวิถีทางอันใด จึงทำได้เพียงทอดถอนหายใจ ยินยอมรับความตาย

Limite

นี่ไม่ใช่ข้อจำกัดของยุคสมัยนั้นนะครับ แต่คือการสรรค์สร้างงานศิลปะของสื่อภาพยนตร์ ทำการร้อยเรียงภาพพื้นผิวน้ำ กำลังสาดซัดเข้าหาชายฝั่ง จากนั้นกวัดแกว่งกล้องไปมา เพื่อให้เกิดสัมผัสคลื่นลมพายุรุนแรง นั่นคือสาเหตุให้เรือลำน้อยต้องอับปางลง

แซว: ภาพพื้นผิวน้ำมันช่างดูเป็นนามธรรม (Abstraction) ไม่ต่างจากโคตรหนังสั้น H2O (1929) ของ Ralph Steiner

ตัดต่อโดย Mário Peixoto, เรื่องราวเริ่มต้นด้วยชายหนึ่ง-หญิงสอง ล่องลอยคออยู่กลางมหาสมุทร Atlantic จากนั้นพวกเขาก็เริ่มเล่าเหตุการณ์ย้อนอดีต (Flashback) ตัดภาพสลับกลับไป-มา อดีต-ปัจจุบัน จนเมื่อครบทั้งสามเรื่องเล่า ถึงนำเสนอบทสรุปและโชคชะตาเรือน้อยลำนี้

  • อารัมบท, ชายหนึ่ง-หญิงสอง ล่องลอยคออยู่กลางมหาสมุทร Atlantic
  • (Flashback) เรื่องเล่าย้อนอดีตหญิงสาวคนแรก อาชญากรหลบหนี
  • (Flashback) เรื่องเล่าย้อนอดีตหญิงสาวคนสอง เบื่อหน่ายสามี
  • (Flashback) เรื่องเล่าย้อนอดีตชายหนุ่ม ถูกจับได้ว่าคบชู้เมียคนอื่น
    • ย้อนอดีตครั้งแรก รำพันถึงอดีตภรรยา
    • ย้อนอดีตครั้งหลัง คบชู้กับหญิงสาวคนใหม่
  • ปัจฉิมบท, โชคชะตาของทั้งสาม และเรือน้อยลำนี้

สำหรับคอหนังในปัจจุบัน การทำความเข้าใจโครงสร้าง/วิธีเล่าเรื่องย้อนอดีต (Flashback) ไม่ใช่สิ่งยุ่งยาก สลับซับซ้อนสักเท่าไหร่ แต่ยุคสมัยนั้น (ทศวรรษ 20s-30s) ยังถือว่าแปลกใหม่ ผู้ชมส่วนใหญ่จึงไม่สามารถทำความเข้าใจ เกิดความสับสน มึนงง … ทั้งสามเรื่องเล่าไม่ได้มีความสัมพันธ์ใดๆ นอกจากสถานที่พื้นหลังหมู่บ้านเล็กๆริมชายฝั่ง Mangaratiba และจับพลัดจับพลูร่วมหัวจมท้ายลงเรือลำเดียวกัน

สำหรับไฮไลท์ของหนังคือการร้อยเรียงชุดภาพ เพื่อสร้างสัมผัส ‘กวีภาพยนตร์’ สังเกตไม่ยากว่าผกก. Peixoto รับอิทธิพลจาก ‘soviet montage’ แฝงนัยยะเชิงสัญลักษณ์ อธิบาย(บอกใบ้)เหตุการณ์ จุดเด่นคือปริมาณภาพที่แทรกเข้ามา เพื่อท้าทายขีดจำกัด(ความอดทนของ)ผู้ชม ยกตัวอย่างการก้าวเดินของหญิงสาวทั้งสอง (ทั้งเยอะทั้งยาวนาน), กล้องส่ายไปส่ายมา (ระหว่างหญิงสาวคนที่สองกำลังคิดสั้น), ภาพต้นไม้หลากหลายมุมมอง (ระหว่างชายหนุ่มก้าวเดินไปยังสุสาน), กระแสน้ำซัดพาคลื่นลมแรง (เพื่อสื่อถึงเรือกำลังอับปาง) ฯ


ชายหนึ่ง-หญิงสอง ล่องลอยคออยู่กลางมหาสมุทร บ้างว่าโชคชะตานำพาให้พวกเขาลงเรือลำเดียวกัน บางคนตีความโลกหลังความตาย (เพราะตอนจบของแต่ละเรื่องเล่า ล้วนมีเหตุให้ครุ่นคิดว่าพวกเขาอาจเสียชีวิต) แต่คนส่วนใหญ่มักมองในเชิงสัญลักษณ์ถึงจิตใต้สำนึก สภาวะทางจิตใจ เพราะทั้งสามคนต่างมีสีหน้าเหน็ดเหนื่อย เบื่อหน่าย ไร้เรี่ยวแรงพละกำลัง ถึงขีดสุดความอดทนของการมีชีวิต

  • หญิงสาวคนแรกเบื่อหน่ายต่ออาชีพการงาน เพ้อใฝ่ฝันอยากสวมชุดสวยๆ ประสบความสำเร็จ ฐานะร่ำรวย แต่ด้วยสถานะของตนเอง อาศัยอยู่ท้องถิ่นทุรกันดารห่างไกล เหมารวมถึงประเทศบราซิลยุคสมัยนั้น เศรษฐกิจ ความเจริญ มันคงเอื้ออำนวยสักเท่าไหร่
    • ข้อความในหนังสือพิมพ์กล่าวถึงตำรวจกำลังไล่ล่าจับกุมอาชญากรหลบหนี ซึ่งสามารถบอกใบ้แนวโน้มการวิสามัญ ทั้งๆความผิดอาจไม่ได้รุนแรงขนาดนั้น แต่สะท้อนการใช้อำนาจในทางไม่ชอบธรรมของหน่วยงานรัฐบาล (บราซิลเป็นประเทศเลื่องชื่อเรื่องความคอรัปชั่นมาแต่ไหนแต่ไร)
  • หญิงสาวคนสองเบื่อหน่ายต่อชีวิตครอบครัว วันๆพบเห็นสามีเอาแต่กินเหล้าเมามาย แต่เพราะวัฒนธรรมความเชื่อของชาวบราซิล(มั้งนะ) แต่งงานแล้วก็ต้องอดรนทน ด้วยเหตุนี้เธอจึงครุ่นคิดหลบหนีด้วยการฆ่าตัวตาย
    • เราสามารถเปรียบเทียบครอบครัวในเชิงมหภาคกับประเทศบราซิล, หัวหน้าครอบครัว=ผู้นำประเทศ, สามีขี้เมา=ผู้นำลุ่มหลงในอำนาจ เช่นนั้นแล้วจะให้ประชาชน(สมัยนั้น)อดรนทนมีชีวิตได้อย่างไร
  • ชายหนุ่มสูญเสียภรรยา คบชู้หญิงสาวคนใหม่ ถูกสามีของเธอจับได้ พูดบอกความจริงเธอป่วยโรคเรื้อน สร้างความรังเกียจ ขยะแขยง ยินยอมรับความจริงไม่ได้
    • นี่เป็นการคาดเดาล้วนๆนะครับ เพราะเมื่อปี ค.ศ. 1930 ในประเทศบราซิลเกิดเหตุการณ์ Brazilian Revolution of 1930 กลุ่มปฏิวัตินำโดย Getúlio Vargas ทำการโค่นล้มรัฐประหาร Old Republic ของปธน. Washington Luís
    • ผมทำการเปรียบเทียบอดีตภรรยา = Old Republic, ส่วนชู้รักก็คือรัฐบาลใหม่ของ Getúlio Vargas เบื้องหน้าดูเป็นคนดีมีหลักการ แต่หลังจากขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีได้ไม่นานก็กลายเป็นผู้นำเผด็จการ (ไม่ต่างจากผู้ป่วยโรคเรื้อนสักเท่าไหร่)

เรื่องราวของทั้งชายหนึ่ง-สองหญิง ต่างพยายามนำเสนอ’ขีดสุด’ความอดทน ไม่ต้องการต่อสู้ดิ้นรน จมปลักตนเองอยู่ยังสถานที่แห่งนั้น(ประเทศบราซิล) ต้องการดิ้นหลบหนี เริ่มต้นใหม่ ออกเดินทางไปให้แสนไกล

  • สำหรับหญิงสาวคนแรก แม้เป็นบุคคลเดียวที่เคยหยิบใบพาย ใช้มือกวักน้ำ รวมถึงหลังถูกพายุอับปาง ล่องลอยคออยู่บนขอนไม้ นั่นแสดงถึงความต้องการมีชีวิต แต่เพราะไม่สามารถครุ่นคิดทำอะไรด้วยตนเอง เลยปล่อยให้เป็นเรื่องของโชคชะตา
  • หญิงสาวคนที่สอง พบเห็นนอนแผ่พังพาบบนเรือ ไร้ความกระตือรือร้น ไม่คิดอยากต่อสู้ดิ้นรน เพียงเฝ้ารอคอยความตาย จนสุดท้ายก็สูญหายตัวไป
  • ส่วนชายหนุ่มตัดสินใจทอดทิ้งเรือก่อนเผชิญหน้าพายุ นี่ไม่ได้สื่อถึงความเห็นแก่ตัว แต่คือการพยายามต่อสู้ดิ้นรน ทำทุกสิ่งอย่างเพื่อเอาตัวรอด ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน

ขีดสุดความอดกลั้นของผกก. Peixoto แรงบันดาลใจจากภาพถ่าย ‘Embrace’ สามารถรำพรรณถึงวิถีชาวบราซิล บุรุษคือหัวหน้าครอบครัว=ผู้นำประเทศ ต่างลุ่มหลงมึนเมาในอำนาจ ปกครองอย่างเผด็จการ ทำให้เกิดการปฏิวัติ-รัฐประหารนับครั้งไม่ถ้วน (จนกลายเป็นรัฐเผด็จการ) ไม่ต่างจากการเอามือสวมกุญแจมือคล้องคอ ทำให้หญิงสาว/ประชาชนไม่สามารถหลบหนี ดิ้นหลุดพ้น สร้างความอัดอั้น เกรี้ยวกราด แต่แม้งก็ไม่สามารถทำอะไรได้สักสิ่งอย่าง

Limite is a film that is very personal to me. It is a film about my own search for meaning in life. The film is full of images and themes that are important to me, and it is a film that I am very proud of.

Mário Peixoto

เป้าหมายในการสรรค์สร้าง Limite (1931) ของผกก. Peixoto นอกจากท้าทายขีดจำกัดตนเอง/สื่อภาพยนตร์ ยังพยายามค้นหา ‘ความหมายของชีวิต’ นำเสนอผ่านมุมมองสามตัวละคร

  • หญิงสาวคนแรก ตัวแทนความเพ้อฝันกับสภาพเป็นจริง ไม่มีทางที่ทุกสิ่งอย่างจักเป็นไปตามความครุ่นคิด
  • หญิงสาวคนสอง เมื่อตระหนักถึงสภาพเป็นจริง ชีวิตที่เป็นอยู่ ค้นพบว่าไร้หนทางหลบหนี จึงตกอยู่ในความหมดสิ้นหวัง
  • ส่วนชายหนุ่มนำเสนอความล้มเหลว สิ้นหวัง สิ่งต่างๆทำไปล้วนถูกทรยศหักหลัง ทำให้ค้นพบว่าชีวิตไม่ได้มีคุณค่าความหมายอะไร

The meaning of life is a question that has no answer. It is a question that has been asked by philosophers and theologians for centuries, and there is no one answer that will satisfy everyone. However, I believe that the search for meaning is an important part of the human experience. It is something that we all must do for ourselves.

Limite (1931) เป็นภาพยนตร์ที่เปิดกว้างในการตีความมากๆ ก็เหมือนกับ ‘ความหมายของชีวิต’ มันไม่จำเป็นว่าทุกคนต้องมีความคิดเห็นเหมือนกัน สิ่งที่ผมนำเสนอก็แค่มุมมองหนึ่งเท่านั้น ถ้าคุณสามารถนำไปต่อยอด ค้นพบความเข้าใจของตนเอง นั่นคือการมองเห็นความทรงคุณค่าระดับมาสเตอร์พีซของภาพยนตร์เรื่องนี้แล้วละ!


ตั้งแต่หนังถ่ายทำเสร็จเมื่อปี ค.ศ. 1930 เคยถูกนำออกฉายสาธารณะ (publish screening) เพียงสามครั้งเท่านั้น ระหว่างเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1931 ถึงมกราคม ค.ศ. 1932 เสียงตอบรับค่อนข้างเย็นชา ผู้ชมส่วนใหญ่ไม่สามารถทำความเข้าใจอะไร เลยไม่มีใครช่วยโปรโมทหรือแสดงความสนใจนำจัดจำหน่ายวงกว้าง

ตลอดชีวิตของ Peixoto จึงพยายามโปรโมทหนังผ่านสื่อต่างๆ อ้างว่าเคยฉายรอบพิเศษให้ Orson Welles ระหว่างเดินทางมาเยี่ยมเยือนบราซิล ค.ศ. 1942, รวมถึง Sergei Eisentein และ Vsevolod Pudovkin ยังกล่าวยกย่องสรรเสริญ ฯ นั่นทำให้หนังมีสถานะลึกลับ (Mythical) กลายเป็นตำนาน (cult following) คอหนังมากมายพยายามขวนขวายหาโอกาสรับชม แต่หลังจากปี ค.ศ. 1959 ฟีล์มชุดเดียวหลงเหลือกลับเสื่อมสภาพจนไม่สามารถนำออกฉาย

Limite is a luminous pain, which unfolds as rhythm, coordinated to images of rare precision and ingenuity.

Mário Peixoto ในบทความนิตยสาร Realidade เมื่อปี ค.ศ. 1965 กล่าวอ้างว่า Sergei Eisenstein เคยชื่นชมหนังด้วยคำพูดดังกล่าว แต่กลับไม่มีแหล่งข่าวใดๆสามารถยืนยัน

ฟีล์มดังกล่าวเก็บอยู่ยัง Faculdade Nacional de Filosofia (National School of Philosophy) จนกระทั่ง ค.ศ. 1966 ในช่วงระหว่างรัฐบาลเผด็จการทหาร ถูกตำรวจเข้าตรวจยึด เตรียมจะนำไปทำลาย โชคดีได้อดีตนักศึกษา Pereira de Mello ใช้เส้นสายติดต่อขอนำกลับคืนมา แล้วเริ่มต้นทำการฟื้นฟูบูรณะ เฟรมต่อเฟรม กว่าจะแล้วเสร็จก็ทศวรรษถัดมา ค.ศ. 1978 โดยสูญหายแค่ซีนเล็กๆเพียงซีนเดียวกู้คืนไม่สำเร็จ

อีกหนึ่งความลึกลับระดับตำนานของหนัง เกิดขึ้นเมื่อนิตยสาร Filme Cultura ทำการจัดอันดับ Best Brazilian Films of All Time เมื่อปี ค.ศ. 1968 ปรากฎว่า Limite (1931) ติดอันดับสิบ ทั้งๆที่ไม่มีใครสามารถรับชม/เข้าถึงหนังมาหลายทศวรรษ (ขณะนั้นฟีล์มหนังก็ยังอยู่ระหว่างการบูรณะ)

ภายหลังการเสียชีวิตของ Peixoto เมื่อปี ค.ศ. 1992 สิริอายุ 83 ปี ได้มีการค้นพบจดบันทึก/บทหนังที่ครุ่นคิดพัฒนาไว้ หนึ่งในนั้นเหมือนจะเป็นภาคต่อ Onde a terra acaba (แปลว่า Where the Earth Ends) แต่ไม่เคยเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาสักโปรเจค

เมื่อปี ค.ศ. 2010, The Film Foundation ของ Martin Scorsese ได้ทำการแสกนและบูรณะหนัง คุณภาพ 2K สามารถหาซื้อ DVD/Blu-Ray รวบรวมอยู่ใน Martin Scorsese’s World Cinema Project No. 2 (คอลเลคชั่นนี้ประกอบด้วย Insiang (1976), Mysterious Object at Noon (2000), Revenge (1989), Limite (1931), Law of the Border (1966), Taipei Story (1985))

Limite is a truly unique and unforgettable film. It’s a visual poem that uses montage to create a powerful and moving experience for the viewer. The film is a meditation on love, loss, and death, and it’s a testament to the power of cinema to transport us to another time and place.

Martin Scorsese

หนังอาจดูค่อนข้างยาก ให้อิสรภาพผู้ชมมากเกินไป แต่นั่นคือความท้าทายที่ถ้าคุณสามารถขบครุ่นคิด ทำความเข้าใจสิ่งต่างๆด้วยตนเอง (ในการรับชมแต่ละครั้ง อาจมีมุมมองที่ปรับเปลี่ยนแปลงไป) จักค้นพบความงดงาม ทรงคุณค่า เรียกได้ว่ามาสเตอร์พีซแห่งวงการภาพยนตร์

สิ่งที่ผมชื่นชอบมากสุดของหนัง คือความพยายามท้าทายขีดจำกัดในการนำเสนอ (ทั้งตัวละคร เรื่องราว ทิศทางมุมกล้อง และลีลาตัดต่อ) รวมถึงศักยภาพผู้ชมว่าจะสามารถทำความเข้าใจได้มากน้อย ‘Limit’ ระดับไหน

จัดเรต 15+ กับการล่องลอยคอ ขีดสุดความอดทน

คำโปรย | Limite ท้าทายขีดสุดความอดทนของผู้กำกับ Mário Peixoto งดงาม ตราตรึง ชีวิตไร้ซึ่งความหมายใดๆ
คุณภาพ | ร์พี
ส่วนตัว | ขีดจำกัด

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: