Lincoln (2012) hollywood : Steven Spielberg ♥♥♥♥

ไม่ใช่แค่การแสดงของ Daniel Day-Lewis ในบท Abraham Lincoln ที่สมบูรณ์แบบ แต่ทั้งโปรดักชั่นที่ Steven Spielberg ทุ่มเทเพาะบ่มมาตั้งแต่ปี 1999 สวยงามทรงพลังไร้ที่ติ, นำเสนอช่วงเวลาของการลงมติแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งที่สิบสาม ห้ามการมีและซื้อขายทาสตลอดไป ในทุกๆพื้นที่ภายใต้การปกครองของสหรัฐอเมริกา, “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย”

หลายปัจจัยที่ทำให้โปรเจคนี้ล่าช้ามากว่าสิบๆปี ไม่ว่าจะด้วยการสรรหางบประมาณ บทไม่น่าพึงพอใจ เวลาคิวงาน นักแสดง ฯ แต่ผมได้ข้อสรุปส่วนตัว คือ Spielberg รอคอยความพร้อมของตนเอง ช่วงเวลาที่ประสบการณ์ชีวิตและสร้างภาพยนตร์จะสะสมมาถึงจุดสูงสุด

การสร้าง Lincoln ไม่ใช่แค่ภาพยนตร์เรื่องหนึ่ง แต่คือนำเสนอช่วงเวลาสำคัญแห่งประวัติศาสตร์โลก (ไม่ใช่แค่เฉพาะอเมริกานะครับ เพราะการเลิกทาสครั้งนี้ ถือว่าเป็นย่างก้าวแรกที่ทำให้ทั่วโลกต้องดำเนินเดินตาม รวมถึงประเทศไทยสมัยรัชกาลที่ ๕ ด้วย) เลยมีความจำเป็นที่ทุกสิ่งอย่างต้องมีความพร้อมสมบูรณ์ โปรดักชั่น ไดเรคชั่น แม้แต่นักแสดง Liam Neeson รอคอยมานานแต่เหมือนบารมีจะไม่พอ เมื่อถึงจุดๆหนึ่งเลยตัดสินใจไม่รอแล้ว กลายมาเป็น Daniel Day-Lewis น่าจะเป็นนักแสดงหนึ่งเดียวในโลก ที่มี Charisma สูงพอสามารถรับบท Abraham Lincoln เข้าถึงระดับจิตวิญญาณ

แต่สิ่งที่หนังนำเสนอออกมา ไม่ใช่แค่เรื่องราวของ Abraham Lincoln เท่านั้น เน้นกับช่วงเวลาของการโหวตลงมติแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับที่ 13 ‘เลิกทาส’ สะท้อนวิถีประชาธิปไตย บ้างเรียกว่าเกมการเมือง ผมขอเรียกว่า ‘คอรัปชั่น’ เพราะมี ส.ว. ในรัฐสภาเพียงไม่กี่คนเท่านั้น ที่สนใจความเสมอภาคเท่าเทียมของการเป็นมนุษย์ Republican สนแต่ครองเสียงข้างมาก ขณะที่ Democrat สนแค่ทำอย่างไรให้ได้ล้มล้างมติ … นี่นะหรือประชาธิปไตย ระบอบการปกครองที่ได้รับการยกย่องว่ามีความเสมอภาคเท่าเทียมสุดในปัจจุบัน

ผู้กำกับ Spielberg ให้สัมภาษณ์บอกว่า ได้ทำการเปลี่ยนแปลงชื่อจริงของบรรดา ส.ว. หลายคน ที่ออกเสียง NO ในการลงมติครั้งนี้ เพื่อไม่ให้ลูกหลานบรรพบุรุษของพวกเขาที่ยังมีชีวิตอยู่ถึงปัจจุบัน ได้รับความเสื่อมเสียชื่อเสียง

ในปัจจุบัน 36 รัฐของอเมริกา (ที่ประกาศเป็นรัฐแล้วเมื่อปี 1865) ได้ยินยอมรับอนุมัติย้อนหลัง การแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งที่ 13 ทั้งหมดอย่างเป็นทางการแล้ว โดยรัฐสุดท้ายคือ Mississippi เปลี่ยนแปลงมติเห็นชอบด้วยเมื่อวันที่ 16 มีนาคม 1995 แต่เพิ่งได้รับการยืนยันเมื่อ 7 กุมภาพันธ์ 2013 (เห็นว่าเพราะหนังเรื่องนี้แหละ เลยมีคนยื่นหนังสือถามหน่วยงานของรัฐ จึงเพิ่งได้ยืนยันว่ามีการอนุมัติรับรองผลโหวตนี้เรียบร้อยแล้ว)

จุดเริ่มต้นของภาพยนตร์เรื่องนี้ เกิดขึ้นปี 1999 เมื่อ Doris Kearns Goodwin นักเขียนรางวัล Pulitzer Prize สัญชาติอเมริกา มีโอกาสพูดคุยกับ Steven Spielberg กำลังวางแผนเขียนหนังสือชีวประวัติชื่อ Team of Rivals: The Political Genius of Abraham Lincoln แม้ยังไม่เป็นรูปร่างอะไร แต่ถูกรบเร้าขอซื้อลิขสิทธิ์ดัดแปลงภาพยนตร์โดยทันที

ประมาณปี 2001 เมื่อหนังสือเริ่มเป็นรูปเป็นร่างขึ้น สตูดิโอ DreamWorks จัดการเซ็นสัญญาครอบครองลิขสิทธิ์ดัดแปลง Goodwin ส่งเรื่องราวรายละเอียดทีละบทที่เขียนเสร็จกับ Spielberg มอบหมายส่งต่อให้
– แรกสุดเลยคือ John Logan พุ่งเป้าไปที่ความสัมพันธ์ระหว่าง Lincoln กับ Frederick Douglass
– ตามด้วยนักเขียนบทละคร Paul Webb ดัดแปลงเรื่องราวทั้งชีวิตของ Lincoln จากหนังสือของ Goodwin ที่เขียนเสร็จวางขายปี 2005 แต่ Spielberg กลับไม่ค่อยพอใจผลลัพท์นี้สักเท่าไหร่
– สุดท้ายประมาณปี 2008 มาลงเอยที่ Tony Kushner นักเขียนบทละครเจ้าของรางวัล Pulitzer Prize for Drama เริ่มต้นเลือกช่วงเวลา 4 เดือนสุดท้ายในชีวิตของ Lincoln แต่ได้ความยาวบทร่างประมาณ 500 หน้า เลยฉีกออกครึ่งหนึ่งเหลือเพียงแค่ 2 เดือนสุดท้าย แล้วไปมุ่งเน้นช่วงขณะการโหวตลงมติแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งที่ 13

นักวิจารณ์ที่เคยอ่านหนังสือ Team of Rivals ต่างบอกว่า หนังดึงเนื้อหาไปใช่แค่ไม่กี่บทช่วงท้ายเท่านั้น แถมเรื่องราวส่วนใหญ่ที่เกี่ยวกับการลงมติแก้ไขรัฐธรรมนูญ ไม่ได้อยู่ในสายตา/มุมมองของ Lincoln ด้วยซ้ำ (Lincoln เป็นประธานาธิบดี ไม่ใช่สมาชิกวุฒิสภา เลยได้แค่รอคอยมติอยู่ในห้องทำงาน มิสามารถไปเสนอหน้าเป็นส่วนหนึ่งในรัฐสภาได้)

หลังเสร็จจาก Indiana Jones and the Kingdom of the Crystal Skull (2008) ผู้กำกับ Spielberg ประกาศกร้าวว่า Lincoln จะเป็นผลงานถัดไป ติดต่อได้งบประมาณจาก Paramount Pictures สูงถึง $50 ล้านเหรียญ เหมือนเริ่มโปรดักชั่นบางส่วนไปด้วยแล้ว แต่ทุกอย่างต้องชะงักงันเพราะ CEO ดันเกิดความหวาดหวั่นวิตกระแวง กลัวจะได้ผลลัพท์ขาดทุนย่อยยับแบบเดียวกับ Amistad (1997) เลยชะรอโปรเจคนี้ไว้ ทำเอา Spielberg หัวเสียอย่างรุนแรง หนีไปสร้าง War Horse (2011) ให้กับ Touchstone Picture/Walt Disney ที่ยินยอมออกทุนสร้างโปรเจคนี้ร่วมกับ 20th Century Fox

สำหรับนักแสดง แรกสุดเลยจริงๆตั้งแต่ปี 2003 ผู้กำกับ Spielberg ติดต่อเข้าหา Daniel Day-Lewis แต่ได้รับการบอกปัดปฏิเสธผ่านจดหมาย นำเนื้อความมาให้อ่านเต็มๆ

Dear Steven.

It was a real pleasure just to sit and talk with you. I listened very carefully to what you had to say about this compelling history, and I’ve since read the script and found it – in all the detail of which it describes these monumental events and in the compassionate portraits of all the principle characters – both powerful and moving. I can’t account for how at any given moment I feel the need to explore one life as opposed to another. But I do know that I can only do this work if I feel almost as if there’s no choice; that a subject coincides inexplicably with a very personal need and a very specific moment in time. In this case, as fascinated as I was by ‘Abe,’ it was the fascination of a grateful spectator who longed to see a story told rather than that of a participant. That’s how I feel now in spite of myself, and though I can’t be sure this won’t change, I couldn’t dream of encouraging you to keep it open on a mere possibility. I do hope this makes sense Steven. I’m glad you’re making the film. I wish you the strength for it and I send both my very best wishes and my sincere gratitude to you for having considered me.

Daniel.

พอ Day-Lewis ปฏิเสธไป เลยติดต่อ Liam Neeson ที่เคยร่วมงานครั้น Schindler’s List (1993) ตอบตกลงเมื่อเดือนมกราคม 2005 ซึ่งก็ได้เตรียมตัวศึกษาค้นคว้าหาข้อมูลมาเป็นอย่างดี แต่เพราะความล่าช้านานับประการของโปรเจค ทำให้ประกาศถอนตัวไปเมื่อเดือนกรกฎาคม 2010 ให้ข้ออ้างว่ารู้สึกตัวเองแก่เกินไปที่จะรับบทบาทนี้ (ตอนนั้น Neeson อายุ 58 ขณะที่ Lincoln ช่วงเวลาดังกล่าวอายุ 55-56 ปี)

ก็นึกว่าโปรเจคนี้จะล่มไม่เป็นท่าเสียแล้ว แต่เป็นว่าครั้งหนึ่งเมื่อ Spielberg มีโอกาสพูดคุยกับ Leonardo DiCaprio ที่ก็ไม่มีใครรู้พูดคุยเกลี้ยกล่อมอะไรกับ Day-Lewis ถึงได้ยินยอมตอบตกลง ขอเวลา 1 ปีเต็มๆในการเตรียมตัวรับบทบาทยิ่งใหญ่ครั้งสำคัญที่สุดของชีวิต

Sir Daniel Michael Blake Day-Lewis (เกิดปี 1957) นักแสดงสัญชาติอังกฤษ เกิดที่ Kensington, London ลูกของนักกวี Cecil Day-Lewis (1904 – 1972) กับแม่ที่เป็นนักแสดง Jill Balcon (1925 – 2009) ความสนใจในวัยเด็กมีสามอย่างคือ เกี่ยวกับงานไม้, การแสดง และตกปลา, ตัดสินใจเลือกเป็นนักแสดงละครเวทีที่ National Youth Theatre ฝึกหัดอยู่หลายปีจนได้รับโอกาสเข้าเรียน Bristol Old Vic ภายใต้ John Hartoch, ได้รับบทเล็กๆในภาพยนตร์ Gandhi (1982), เสียงวิจารณ์ล้นหลามกับ My Beautiful Laundrette (1985), A Room with a View (1985), ครุ่นคิดแนวทาง Method Acting ของตนเอง สวมบทบาทเป็นตัวละครตลอดการถ่ายทำกับเรื่อง My Left Foot (1989) จนคว้า Oscar: Best Actor ได้เป็นครั้งแรก, โกอินเตอร์ข้ามมาฝั่ง Hollywood ในผลงาน The Last of the Mohicans (1992), The Age of Innocence (1993), Gangs of New York (2002), คว้า Oscar ตัวที่สองจาก There Will Be Blood (2007)

ช่วงเวลาสองเดือนสุดท้ายในชีวิตของ Abraham Lincoln หลังได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาสมัยที่ 2 เมื่อปี ค.ศ. 1865 ต้องการที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับที่ 13 ว่าด้วยห้ามการมีและซื้อขายทาสตลอดไป ในทุกๆพื้นที่ภายใต้การปกครองของสหรัฐอเมริกา ที่เป็นชนวนสำคัญให้เกิดสงครามกลางเมือง (American Civil Wars) แต่เพราะปริมาณสมาชิกวุฒิสมาชิกในรัฐสภาของ Republican มีไม่ถึง 2 ใน 3 ที่จะสามารถยอมรับมติแก้ไขครั้งนี้ได้ จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งต้องล็อบบี้ โน้มน้าวสมาชิกบางส่วนของฝั่ง Democrat เปลี่ยนมาโหวตเห็นด้วย

Lincoln ในการตีความของ Day-Lewis มีความสุขุมลุ่มลึก ใจเย็น อดทน เชื่อมั่นในตัวเองสูง ยินยอมเล่นเกมการเมืองด้วยวิถีของมัน เพื่อให้บรรลุเป้าหมายความต้องการ นี่ไม่ใช่ว่าตัวเขามีทัศนคติต่อความเสมอภาคเท่าเทียม แต่คาดหวังบางสิ่งที่จะเปลี่ยนแปลงแตกต่างออกไป ไม่มีใครรับรู้คาดเดาได้ว่าจักคืออะไร

ผมค่อนข้างชื่นชอบประทับใจลีลา ศิลปะการพูดของ Lincoln มีความยียวนแบบกวนๆ ชวนให้ขบขัน ซึ่งทุกครั้งก่อนจะแสดงความคิดเห็นหรือเข้าสู่ประเด็นสำคัญ มักอ้อมโลกด้วยการเล่าเรื่องอะไรสักอย่างหนึ่งจากที่เคยได้รับฟัง หรือประสบการณ์ชีวิตตนเอง คือมันเจ๋งตรงที่การค้นหาจุดเชื่อมโยงในสิ่งที่เขากำลังจะนำเสนอ ซึ่งหนังจะมีขณะหนึ่งแซวผ่านตัวละคร ‘I don’t believe that I can bear to listen to another one of your stories right now!’ ว่าไปก็จริง ในบางสถานการณ์อันตึงเครียดคับขัน ใครกันจะอยากฟังเรื่องเล่าไร้สาระ แต่ส่วนตัวกลับรู้สึกว่า นี่เป็นเทคนิคที่เจ๋งมากๆเลย สามารถโน้มน้าวดึงดูดความสนใจของทุกคนให้มาจดจ่ออยู่ที่ตนเอง ทั้งยังคลายความวิตกจริตตึงเครียดจากสถานการณ์ขณะนั้นได้ชั่วขณะหนึ่ง

Day-Lewis เตรียมการด้วยการอ่านหนังสือกว่าร้อยเล่มเกี่ยวกับ Lincoln ร่วมงานกับ Lois Burwell และ Kay Georgiou นักออกแบบแต่งหน้าทำผม เพื่อสร้างภาพลักษณ์ให้มีลักษณะใกล้เคียงเหมือนตัวจริงมากที่สุด โน้มศีรษะไปข้างหน้าตลอดเวลา น้ำเสียงเต็มไปด้วยความเหน็ดเหนื่อยเบื่อหน่ายอ่อนล้า และขอให้ทุกคนเรียกเขาในกองถ่ายว่า ‘Mr. President’

หลังจากคว้า Oscar: Best Actor ครั้งที่สามเป็นคนแรกของโลก มีนักวิจารณ์หลายสำนักให้การยกย่องว่า Day-Lewis ว่าคือ ‘the world’s greatest actor’ มีนักข่าวไปสัมภาษณ์ถามเจ้าตัวรู้สึกอย่างไร

“It’s daft isn’t it? It changes all the time”.

เกร็ด: ตอนก่อนหน้าประกาศรางวัล Oscar เห็นว่า Day-Lewis ประกาศว่า ถ้าตนเองได้รางวัลนี้จะขอพักรับงานเป็นเวลา 5 ปี … ก็ครบ 5 ปีพอดิพอดีกับผลงานเรื่องสุดท้ายถัดมา Phantoms Thread (2017)

Sally Margaret Field (เกิดปี 1946) นักแสดงหญิงสัญชาติอเมริกัน เจ้าของสองรางวัล Oscar: Best Actress เรื่อง Norma Rae (1979) และ Places in the Heart (1984) มีความใฝ่ฝันทะเยอทะยานอยากรับบทบาทนี้มาก แม้เจ้าตัวจะแก่เกิน Mary Todd Lincoln ไปกว่า 20 ปี แต่ทั้งดื้อรั้น ตื้อร้องขอ Spielberg ให้ทำการ Audition ตัวเธอร่วมกับ Day-Lewis ที่ยอมบินมาตรงจาก Ireland เพื่อการนี้โดยเฉพาะ

First Lady Mary Todd Lincoln ด้วยความที่สูญเสียลูกชายคนโตจากการสงคราม เก็บกดความเจ็บปวดรวดร้าว แต่ก็เฉพาะเวลาอยู่กับสามีสองต่อสองถึงค่อยระบายความคับแค้นออกมาเท่านั้น (พวกเขาเป็นคู่กัดที่ทั้งรักทั้งเกลียด) ขณะต้องทำหน้าที่สุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งออกงานสังคม ก็สวมหน้ากากยิ้มแย้มมีมิตรไมตรีต่อผู้คน

แม้จะบทบาทไม่เยอะมาก แต่ Field ใส่สีสันเข้าไปในตัวละครได้อย่างเข้มข้น อารมณ์ขึ้นๆลงๆ เดี๋ยวดีเดี๋ยวร้ายเอาแน่เอานอนไม่ได้ตลอดเวลา สร้างความปวดเศียรเวียนเกล้าให้กับทั้ง Lincoln และผู้ชมไม่น้อย (ในชีวิตจริง เธอก็ขึ้นชื่อเรื่องจู้จี้ขี้บ่น มีเรื่องทะเลาะเบาะแว้งกับสามีบ่อยครั้งเช่นกัน)

ชุดสุ่มไก่ของ Field ช่างมีความอลังการโดดเด่นสะดุดตาเหลือเกิน ก็ว่าอยู่ Joanna Johnston หนึ่งในขาประจำของ Spielberg ได้เข้าชิง Oscar: Best Costume Design ด้วยละ (แต่เจ๋ยังไม่เคยได้ Oscar สาขานี้นะ)

Joseph Gordon-Levitt (เกิดปี 1981) นักแสดงสัญชาติอเมริกัน แม้จะอายุกว่าสามสิบแล้ว ยังดูเหมือนเด็กอายุ 17-18 ติดหนวดมองข้างๆแอบเหมือน Heath Ledger อยู่เล็กๆ

รับบท Robert Todd Lincoln ลูกชายคนรองของ Lincoln ได้เข้าเรียนกฎหมายที่ Harvard Law School แต่ก็มิอาจอดรนทนต่อสงครามกลางเมืองที่ประทุขึ้นได้ หวนกลับมาบ้านเพื่อจะบอกพ่อว่า ไม่ว่ายังไงก็ขอสมัครเป็นทหารต่อสู้รับใช้ชาติ

ช็อตนี้ไม่ว่าจะโดยบังเอิญหรือจงใจ มุมเงยในตำแหน่งพระอาทิตย์ตรงขอบหลังคามีความสวยงามมากๆเลยละ เป็นช่วงขณะที่ตัวละครได้พบเห็นบางสิ่งอย่าง และเกิดการตัดสินใจอย่างเด็ดขาดแน่วแน่ ฉันจะไม่มีวันหันหลังให้ (พระอาทิตย์) อีกต่อไป

Tommy Lee Jones (เกิดปี 1946) นักแสดงสัญชาติอเมริกัน โด่งดังกับแฟนไชร์ Men in Black, Batman Forever (1995), No Country for Old Men (2007), Captain America: The First Avenger (2011) ฯ คว้ารางวัล Oscar: Best Supporting Actor จากเรื่อง The Fugitive (1993)

รับบทสมาชิกวุฒิสภา Thaddeus Stevens จากรัฐ Pennsylvania เป็นผู้นำกลุ่ม Radical Republican มีความสุดโต่งในแนวคิด ‘มนุษย์ทุกคนเกิดมามีเสรีภาพเท่าเทียม’ นั่นเพราะเบื้องลึก (นี่อ้างอิงจากประวัติศาสตร์จริงๆเลยนะ) มีข่าวซุบซิบนินทา เห็นว่าอยู่กินฉันสามี-ภรรยา กับคนรับใช้ผิวสี Lydia Hamilton Smith

แต่สิ่งไม่น่าเชื่อก็เกิดขึ้น เมื่อเจ้าตัวต้องขึ้นแสดงความคิดเห็นต่อหน้าที่ประชุมรัฐสภา แทนที่จะแสดงความเห็นออกมารุนแรงสุดโต่งนี้ กลับผ่อนปรนลงมาเหลือแค่ด้วยข้ออ้างทางกฎหมายเท่าเทียม “Only equality before the law!” นี่ทำให้ทุกคนในที่ประชุมเซอร์ไพรส์ประหลาดใจจนพูดหาข้ออ้างอื่นไม่ออก จบมติข้อโต้เถียงวันนั้นอย่างรวดเร็วจี้

ภาพลักษณ์ของ Jones มีส่วนคล้ายคลึงกับ Thaddeus Stevens พอสมควรเลยละ หน้าบึ้งตึงไม่เคยเห็นยิ้ม เดินกระโผกกระเผลก เห็นแล้วเหนื่อยแทน สะท้อนถึงความรุนแรงสุดโต่งทางแนวคิด แต่แค่การยินยอมผ่อนปรนเพียงครั้งเดียว ไม่น่าเชื่อสร้างความแตกต่างได้มากโข ซึ่งหนังค่อยๆเข็นลากพาตัวละครกลับบ้านหลังลงมติเสร็จ เพื่ออธิบายเหตุผลแท้จริงเบื้องลึกของตัวละครนี้ได้อย่างทรงพลังมากๆเลยละ

เกร็ด: Spielberg ใส่สูทมาทำงานตลอดการถ่ายทำ ด้วยเหตุผลว่า ต้องการเป็นส่วนหนึ่งของสิ่งที่กำลังสร้างขึ้นนี้

“I think I wanted to get into the role, more than anything else, of being part of that experience – because we were recreating a piece of history. And so I didn’t want to look like the schlubby, baseball cap wearing 21st century guy; I wanted to be like the cast.”

ถ่ายภาพโดย Janusz Kamiński สัญชาติ Polish ขาประจำของ Spielberg ตั้งแต่ Schindler’s List (1993) จนถึงปัจจุบัน

สถานที่ถ่ายทำ ปักหลักอยู่ที่ Richmond, Fredericksburg และ Petersburg, Virginia โดยเลือก Virginia State Capitol เป็นฉากภายนอกของทำเนียบขาว

ในสไตล์ของ Spielbergian งานภาพอาจไม่ได้มีอะไรเชิงสัญลักษณ์แอบแฝงซ่อนเร้นอยู่มากนัก แต่ผู้ชมจะสามารถเต็มอิ่มหนำกับความสวยงามของโปรดักชั่น การจัดแสงโทนสีความมืด และลายเซ็นต์สำคัญคือการเคลื่อนไหลกล้องมีความเป็นธรรมชาติที่ให้สัมผัสทางอารมณ์กับฉากนั้นๆ

เพราะเรื่องราวมีพื้นหลังค.ศ. 1865 เกือบกว่า 150 ปีที่แล้ว ทำให้ฉากภายในของหนังมีการปรับโทนสีให้ออกน้ำตาลอ่อนๆ เกิดสัมผัสของความเก่าแก่ ขณะที่ฉากภายนอกและสงครามกลางเมืองจะใช้โทนสีฟ้า/น้ำเงิน ให้สัมผัสของความหนาวเหน็บ เย็นยะเยือก

แต่แทบทุกฉากของหนัง สีดำ ‘Low Key’ จักมีอัตราส่วนในภาพค่อนข้างมาก (คิดว่าเฉลี่ยเกิน 60% เลยละ) ถือว่ามืดพอๆกับหนังนัวร์เลยนะ อาจเพราะต้องการสะท้อนถึงทัศนคติเกี่ยวกับทาส ที่ยังเต็มไปด้วยความมืดมิดปกคลุมความคิดอ่านของผู้คนสมัยนั้น

แสงจากภายนอกที่สาดส่องเข้ามาในห้องทำงานของ Abraham Lincoln มีความนุ่มนวล ฟุ้งกระจายไปทั่วห้อง ให้สัมผัสแทนอารมณ์ความรู้สึกของตัวละคร ที่เต็มไปด้วยความเหน็ดเหนื่อยหน่ายอ่อนล้า กำลังเฝ้ารอคอยให้บางสิ่งอย่างเกิดขึ้น

ขณะที่ห้องนอนเต็มไปด้วยความมืดมิด สะท้อนถึงพวกเขาทั้งสองได้ผ่านพานพบเจอเรื่องราวร้ายๆมามาก จิตใจ อารมณ์ความรู้สึกภายใน จึงเต็มไปด้วยความเหน็ดเหนื่อยรวดร้าวทุกข์ทรมาน ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะต้องออกไปพบเจอโลกแห่งแสงสว่างภายนอก

น่าจะแทบทุกเรื่องเล่า/การกล่าวสุนทรพจน์ของ Abraham Lincoln ไดเรคชั่นของ Spielberg จะปล่อยให้เป็นการโชว์ของของ Daniel Day-Lewis มักเป็น Long-Take ที่กล้องจะค่อยๆเคลื่อนหรือซูมเข้าไป อย่างช็อตนี้เริ่มจากปลายโต๊ะ ไปจนถึง Close-Up ใบหน้าของท่านปธน.

ในช่วงของการโหวตลงมติเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ ไดเรคชั่นของฉากนี้มุ่งเน้นนำเสนอเฉพาะฝ่าย Democrat ได้ยินแต่เสียง Nay, No จนพอถึงคิวไส้ศึกคนทรยศแปรพักตร์ ก็มักต้องตัดกลับมาให้เห็นใบหน้าของพวกเขาเต็มๆ และสามารถเรียกเสียงฮือฮาให้เกิดขึ้นโดยทันที

เกร็ด: ในการลงคะแนนเสียงจริงๆ ใช้การเขียนใส่กระดาษ ไม่ได้แบบเรียกชื่อประจานตัวเองออกมาแบบนั้น

ตอนที่ใครๆกำลังง่วงกับผลโหวต สิ่งที่ Lincoln ว่างๆทำอยู่ คือกำลังเปิดหนังสือกับลูกชาย ไปยังหน้าที่มีแมลงหลากหลายพันธุ์ … มีนัยยะราวกับจะสื่อถึง ‘วิวัฒนาการ’ ของสิ่งมีชีวิต (มนุษย์)

การเสียชีวิตของ Abraham Lincoln เป็นสิ่งที่ใครๆคงรับรู้ได้ว่าต้องมีเกิดขึ้น ภายหลังแก้ไขรัฐธรรมนูญเสร็จสิ้น และสงครามกลางเมืองยุติ ซึ่งหนังใช้วิธีการนำเสนอที่สุดแสนคลาสสิก ไม่ได้จำเป็นต้องนำภาพขณะท่าน ปธน. ถูกยิงลอบสังหาร เพียงแค่เดินหันหลังจากไปอย่างมี Death Flag เชื่อว่าหลายคนน่าจะคาดเดาได้อยู่แล้วตั้งแต่เห็นพบเห็นช็อตนี้

ตัดต่อโดย Michael Kahn ขาประจำหนึ่งเดียวของ Spielberg

หนังไม่ได้เล่าเรื่องในมุมมองของ Abraham Lincoln ทั้งหมด แต่ผู้ชมจะสัมผัสรับระลึกรู้ถึงการมีตัวตน อิทธิพลของท่าน ปธน. ที่มีอยู่ในหนังทุกฉากทุกช็อต

ช่วงเวลาในรัฐสภาไม่ว่าขณะไหน การตัดต่อถือเป็นสีสันที่สร้างความครึกครื้นเครงให้กับหนัง ใช้มุมราวกับว่ามองลงมาจากแท่นของท่านประธานวุฒิสภา พอสมาชิกขึ้นแท่นกำลังอภิปราย ก็จะมีตัดสลับไปมาระหว่างเสียงโห่ของ Democrat จากนั้นใครสักคนฝั่ง Republican พูดตอบโต้สวนกลับตามด้วยปรบมือเฮฮา ตัดไปอีกครั้งที่ผู้ชม/สังเกตการณ์/นักข่าว ซุบซิบนินทา

แต่ที่เป็นไฮไลท์สุดๆคือขณะการลงมติโหวต เพราะจะมีการตัดให้เห็นภาพของทหาร/ประชาชน บุคคลภายนอกที่กำลังร่วมลุ้นผลอยู่ด้วย นี่เป็นวิธีการนำเสนอเพื่อไม่ให้เกิดความซ้ำซากจำเจเห็นแต่ใบหน้าของพวก ส.ว. ในรัฐสภาเท่านั้น (นอกจาก 2-3 ตัวละครหลักๆแรงๆของ Democrat และกลุ่มคนทรยศกลับใจที่จะเห็นใบหน้าแบบเต็มๆแล้ว นอกนั้นที่ออกเสียง No จะเห็นแค่ด้านข้าง ไม่ก็เพียงเสียงพูดขึ้น เพื่อไม่ให้ผู้ชมเกิดความรังเกียจปฏิเสธต่อต้านพวกเขามากจนเกินไปด้วย)

ภายหลังจาก Lincoln เสียชีวิตบนเตียง ฉากสุดท้ายของหนังค่อยๆเฟดภาพจากเปลวไฟในตะเกียง ไปสู่ขณะกล่าวสุนทรพจน์รับตำแหน่ง ปธน. สมัยสอง พูดถึงการสูญเสียความตายในสงครามกลางเมือง ถ้านั่นเป็นประสงค์ของพระเจ้าคงมิอาจมีใครแก้ไขได้, ส่วนตัวคิดว่านี่เป็นตอนจบที่ไม่เข้าท่าเท่าไหร่เลยนะ แทนที่จะเลือกสุนทรพจน์ที่เกี่ยวกับความเสมอภาคเท่าเทียม อย่างตอนรับตำแหน่ง ปธน. สมัยแรก ผมไปเจอใน Wikipedia แปลเป็นไทยได้น่าเอาไปใส่ตอนจบของหนังแทนเสียจริง

“พวกเราไม่ใช่ศัตรูกัน เราเป็นเพื่อน เราจะเป็นศัตรูกันไม่ได้ ถึงความรู้สึกจะบอบช้ำไปบ้าง แต่จะให้สิ่งนี้มาทำลายสายใยของมิตรภาพหาได้ไม่ สายพิณที่น่าพิศวงของความทรงจำ ที่โยงเอาทุกสมรภูมิรบ กับหลุมศพของวีรบุรุษ เข้ากับทุกหัวใจที่ยังมีชีวิตอยู่ และหินหน้าเตาไฟของทุกครัวเรือน ทั่วดินแดนกว้างใหญ่นี้ จะยังส่งเสียงประสานของความกลมเกลียวแห่งสหภาพ เมื่อใดที่มันถูกดีดให้ดังขึ้นอีกครั้ง, อย่างแน่นอน, โดยเทวทูตที่ดีกว่าของธรรมชาติเรา ”

– Abraham Lincoln, สุนทรพจน์เข้ารับตำแหน่งครั้งแรก, 4 มีนาคม 1861

เพลงประกอบโดย John Williams บันทึก Orchestra ร่วมกับ Chicago Symphony Orchestra และ Chicago Symphony Chorus ประสานกลมกลืนเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในพื้นหลังของหนังได้อย่างลงตัว โดยที่หลายครั้งผู้ชมอาจไม่ทันสังเกตรู้ตัวด้วยซ้ำ

เริ่มต้นด้วยเสียงเครื่องเป่าโซโล่ ด้วยท่วงทำนองอันโดดเดี่ยวอ้างว้างลำพัง ก่อนค่อยๆตามด้วยเสียงไวโอลิน กระหึ่มด้วย Orchestra ผสมผสานจนกลายเป็นเนื้อเดียวกัน, นี่คือการสะท้อนแนวคิดเริ่มต้นจาก 1 กลายเป็น 2 ทวีขึ้นไปเรื่อยๆจนกลายเป็น People (ทุกคน) หรือจะคือบุคคลหนึ่งตัวลคนเดียว ได้รับเลือกตั้ง กลายเป็นความหวังของประชาชนและมวลมนุษยชาติ

ช่วงเวลาของการไล่ล่าออกค้นหา Democrat ที่จะสามารถซื้อตัว ไส้ศึก ทรยศ เปลี่ยนแปลงเสียงโหวตมาสนับสนุนได้ บทเพลง Getting Out The Vote กลิ่นอายของ American Folk Song ลอยมาแต่ไกล ไม่ยักรู้ Williams สามารถแต่งเพลง Period ลักษณะนี้ได้ด้วย

คำร้องของบทเพลง Battle Cry of Freedom หรือ Rally ‘Round the Flag นำจาก George Frederick Root (1820–1895) ประพันธ์ไว้เมื่อปี 1862 ใช้ในช่วงสงครามกลางเมือง American Civil War เป็นแนวปลุกใจรักชาตินิยม ของทหารฝั่งเหนือ (Union)

คุ้นๆว่าได้ยินหลายครั้งทีเดียวในหนัง แต่วินาทีที่หลายคนคงจดจำได้ คือหลังจากประกาศผลโหวตลงคะแนนเสียงเกิน 2 ใน 3 ของสมาชิกไปเพียง 2 คะแนนเท่านั้น (ถ้าไม่นับประธานวุฒิสภาที่ออกเสียงเพิ่ม ก็ยังถือว่าชนะแบบเฉียวฉิวอยู่)

Lincoln ถึงเป็นภาพยนตร์เกี่ยวกับประธานาธิบดี Abraham Lincoln แต่อำนาจที่ท่านถืออยู่ในมือก็มีแค่ลายเซ็นต์ตามมติของสภา มิอาจออกคำสั่งควบคุมทำอะไรได้ด้วยตนเอง ซึ่งความต้องการ ‘เลิกทาส’ ก็มีเพียงวิสัยทัศน์และประสงค์ มิใช่ตัวท่านที่มีสิทธิ์เสนอแนะหรือออกเสียงใดๆ สมาชิกวุฒิสภาเท่านั้นถึงแก้ไขรัฐธรรมนูญตามระบอบประชาธิปไตย

นี่คือแนวคิดของระบอบประชาธิปไตย การจะแก้ไขอะไรสักอย่างหนึ่งจำเป็นต้องได้รับเสียงโหวต ลงประชามติจากผู้แทนราษฎร/ประชาชน อำนาจมิได้อยู่ในมือของผู้หนึ่งผู้ใด ต่อให้มีวิสัยทัศน์ยิ่งใหญ่กว้างไกลสักแค่ไหน เฉพาะฝักฝ่ายที่มีพวกมากกว่า เป็นเจ้าของเสียงข้างมากในสภา ถึงมีสิทธิ์กุมอำนาจเบ็ดเสร็จทุกสิ่งอย่าง

เกมการเมืองลักษณะนี้ชวนให้เกิดข้อสงสัยว่า นี่นะหรือคือแนวคิดของระบอบประชาธิปไตย? ผมว่ามันไม่ถูกต้องเท่าไหร่เลยนะ!

ประชาธิปไตยที่แท้จริง ส.ส. หรือ ส.ว. ควรที่จะออกเสียงลงมติในสภา จากแนวคิด ประสงค์ต้องการ ความพึงพอใจของตนเอง ไม่ใช่ถูกครอบงำโดยสมัครพรรคหรือพวก ฉันอยู่ Democrat ก็ต้องสนับสนุนมติพรรคตนเองอย่างเป็นเอกฉันท์เท่านั้น ต่อให้ไม่เห็นด้วยก็ต้องประณีประนอมยินยอมคล้อยตาม … ก็นี่แหละครับคือจุดกำเนิดของความคอรัปชั่น ลูกพี่ลูกน้องพ้องพวก นาฬิกาเพื่อนเท่านั้นสำคัญที่สุด

กระนั้นสิ่งที่เราควรต้องยกย่องชื่นชมนับถือ คือโลกทัศนวิสัยของ Abraham Lincoln ความสามารถโน้มน้าวชักจูงผู้อื่น ให้ยินยอมกระทำตามประสงค์ความต้องการของเขาได้ แม้มันอาจดูชั่วร้าย เผด็จการ เห็นแก่ตัว คอรัปชั่น แต่กาลเวลาเมื่อเนินนานผ่านไป กลายเป็นคำเรียก ‘ประวัติศาสตร์’ ค่านิยมของผู้คนรุ่นถัดๆมาจักยกย่อง เห็นด้วย เชิดชู มองข้ามความคอรัปชั่นอื่นๆ กล่าวขานเรียงนามว่า ‘วีรบุรุษ/ผู้ยิ่งใหญ่’ ได้รับการจดจำไปจนกว่าจะถึงจุดสิ้นสุดของมวลมนุษย์ชาตินี้

กฎหมาย/รัฐธรรมนูญ เป็นสิ่งสร้างขึ้นเพื่อกำหนดกฎกรอบ ระเบียบแบบแผน การอยู่ร่วมกันในสังคมได้อย่างสงบสุขสันติ ก็แน่นอนว่าย่อมมีผู้ได้รับประโยชน์และสูญเสีย เห็นด้วยและมิชอบ แต่เมื่อมันคือกติกานั่นหมายถึงการก้มหน้า ยินยอมรับทั้งๆที่อาจไม่เต็มใจ นี่คือวิถีของสังคมประเทศชาติ ในยุคสมัยที่มนุษย์เรียกว่า ‘อารยะชน’

แต่หลังจากรับชมหนังเรื่องนี้ผมเกิดความรู้สึกว่า ประชาธิปไตยมิได้เป็นสิ่งทำให้มนุษย์มีความเป็น ‘อารยะ’ แม้แต่น้อย ‘เกมการเมือง’ โดยเฉพาะวิธีเล่นของนักการเมืองพวกนี้ มองยังไงก็ต้องเรียกว่า ‘คอรัปชั่น’ คดโกงกัดกินกันจนไม่เหลือสิ้นความถูกต้องดีงาม อยากรู้จริงๆเลยว่าความด้านของหน้า จิตใจของคนพวกนี้มันแข็งแกร่งไร้ซึ่งความกลัวเกรงนรกในโลกหลังความตายไปได้อย่างไร

คำว่า ‘อารยะ’ ในความเข้าใจใหม่ของผมเอง คือยุคสมัยที่จิตใจของมนุษย์เต็มเปี่ยมด้วยความบริสุทธิ์ผุดผ่อง ไร้ซึ่งความชั่วร้ายคอรัปชั่นกัดกิน เดินแก้ผ้าโทงๆออกจากบ้าน ถ้าไม่ใช่ผัวเมียก็ไม่คิดหื่นจับข่มขืน เปิดประตูบ้านทิ้งไว้ไม่มีใครคิดขโมยของ อาชญากรรมไม่เกิด ผู้คนไม่พูดโกหกเพ้อเจ้อหลอกลวง ตำรวจไม่มีกฎหมายไม่ต้อง ทุกอย่างอยู่ในความสงบเรียบร้อยสันติสุข … แต่โลกอุดมคติสมัยพระศรีอาริย์นี้ การันตีว่าคงไม่มีวันได้พบเจอในชาตินี้อย่างแน่นอน

ด้วยทุนสร้างสุดท้าย $65 ล้านเหรียญ ทำเงินได้ในอเมริกา $93 ล้านเหรียญ รวมทั่วโลก $275.3 ล้านเหรียญ (คงได้กระแส Oscar หนุนส่งด้วย)

เข้าชิง Oscar 12 สาขา คว้ามา 2 รางวัล
– Best Motion Picture of the Year
– Best Directing
– Best Actor (Daniel Day-Lewis) ** คว้ารางวัล
– Best Supporting Actor (Tommy Lee Jones)
– Best Supporting Actress (Sally Field)
– Best Writing, Adapted Screenplay
– Best Cinematography
– Best Film Editing
– Best Production Design ** คว้ารางวัล
– Best Costume Design
– Best Sound Mixing
– Best Original Score

เพราะปีนั้น Ben Affect ตัวเต็งหนึ่งของสาขา Best Director ไม่ได้เข้าชิง ซึ่ง Spielberg ได้รับการคาดหวังน่าจะได้รางวัลนี้เป็นตัวที่สามสักที คือก็สมควรได้มากๆเลยนะ แต่ Academy กลับยกให้ Ang Lee จาก Life of Pi (2012) ได้รางวัลครั้งที่สองแบบไม่มีใครคาดคิดถึงมาก่อน

ถึง Argo จะคือภาพยนตร์เรื่องที่สมเหตุสมผลจะคว้า Oscar: Best Picture ที่สุดในปีนั้น แต่ก็หาใช่เรื่องได้รับการจดจำนักเมื่องกาลเวลาผ่านไป ซึ่งในบรรดา 9 เรื่องที่เข้าชิงปีนั้น Amour ของ Michael Haneke, Life of Pi ของ Ang Lee และ Lincoln คงได้รับการจดจำสูงสุดเมื่อกาลเวลาผ่านไป

(เหตุผลที่ผมคิดว่า Lincoln จะได้รับการจดจำ เพราะการแสดงของ Daniel Day-Lewis คงไม่มีใครอยากจะลืมเลือนแน่ๆ)

ส่วนตัวแค่ชื่นชอบหนังเรื่องนี้ ประทับใจล้นพ้นในการแสดงสุดยิ่งใหญ่ครั้งรองสุดท้ายของ Daniel Day-Lewis และโปรดักชั่นที่คงจะอ้างอิงใกล้เคียงจากประวัติศาสตร์สุดๆเลย, กระนั้นผมไม่ค่อยสัมผัสถึงความบันเทิงเริงรมย์สักเท่าไหร่ คงเพราะความคอรัปชั่นและเกมการเมือง มันทำให้ผมเกิดความร้าวรานทางจิตใจอย่างยิ่งยวด

“ต้องดูให้ได้ก่อนตาย” เพราะหนังคือการบันทึกช่วงเวลาสำคัญยิ่งที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์โลก และเรียนรู้จักตัวตนแท้จริงของเหล่าบุคคลที่เรียกตัวเองว่า ‘นักการเมือง’

แนะนำกับคอหนังประวัติศาสตร์ เกี่ยวกับประธานาธิบดี Abraham Lincoln ในช่วงเวลา ‘เลิกทาส’, ใครอยากเป็นนักการเมือง ส.ส. หรือ ส.ว. ควรต้องศึกษารับชมทำความเข้าใจเกมการเมืองนี้ให้เป็นอย่างดี, แฟนๆผู้กำกับ Steven Spielberg คลั่งไคล้นักแสดงอย่าง Daniel Day-Lewis, Sally Field, Tommy Lee Jones ไม่ควรพลาด

จัดเรต 13+ กับบรรยากาศ การเมือง และความคอรัปชั่นของมนุษย์

TAGLINE | “Daniel Day-Lewis คงเป็นนักแสดงคนเดียวในประวัติศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่พอจะรับบท Abraham Lincoln ในผลงาน Masterpiece น่าจะเรื่องสุดท้ายของผู้กำกับ Steven Spielberg”
QUALITY | RARE-GENDARY
MY SCORE | LIKE

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: