Little Buddha

Little Buddha (1993) : Bernardo Bertolucci ♥♡

ความพยายามของ Bernardo Bertolucci ในการให้ชาวตะวันตกเรียนรู้จักพุทธศาสนาเบื้องต้น มีลักษณะไม่ต่างจากนิทานก่อนนอน เต็มไปด้วยความเพ้อฝันแฟนตาซี ไร้แก่นสาสน์สาระจิตวิญญาณ ถ้าตัดเนื้อเรื่องราวปัจจุบันออก หลงเหลือเพียงชีวประวัติเจ้าชายสิทธัตถะ แค่นั้นก็เพียงพอแล้วกระมัง

Little Buddha เป็นภาพยนตร์ที่ทำให้ผมผิดหวังทั้งในฐานะนักดูหนัง นักวิจารณ์ และชาวพุทธ นอกจากงานภาพสวยๆ เพลงประกอบไพเราะ นอกนั้นคือความล้มเหลวโดยสิ้นเชิง โดยเฉพาะจุดประสงค์ในการสร้างความเชื่อศรัทธา หาความน่าเชื่อถือในเรื่องราวไม่ได้สักนิด

สาเหตุเพราะผู้กำกับ Bertolucci ไม่ใช่ชาวพุทธ ไม่ได้นับถือพุทธ แค่ใช้พุทธศาสนาเป็นที่พึ่งในความพึงพอใจตนเองเท่านั้น

“I found there was no contradiction between this religion and what I already believed in. It gives me another way to be allowed to have dreams. The dreams you are no longer allowed to have with socialism”.

– Bernardo Bertolucci

เมื่อถูกถามเรื่องการกลับชาติมาเกิด ตอบว่าไม่เชื่อในแบบอย่างชาวทิเบต

“I don’t believe you can find a reborn person, with an address and phone number. But I love the idea.”

มันอาจโดยไม่รู้ตัว แนวความคิดดังกล่าวได้ถูกถ่ายทอด ซ่อนเร้น ตั้งคำถามผ่านตัวละคร ผลลัพท์คือผู้ชมไม่สามารถเชื่อถือเรื่องราวดังกล่าวด้วยเช่นกัน ทำไมการเกิดใหม่ของพระลามะถึงในร่างเด็กชายชาวอเมริกัน ครอบครัวนับถือศาสนาคริสต์ แสดงออกเต็มไปด้วยอคติ

เกร็ด: ฟังดูไม่น่าเป็นไปได้ แต่สามปีหลังจากหนังฉาย มีเด็กชายอายุ 4 ขวบจาก Seattle ค้นพบร่างเกิดใหม่ของ Lama Deschund Rinpochet ซึ่งก็ได้ออกเดินทางสู่เนปาล และฝึกฝนเป็นพระลามะต่อไป


Bernardo Bertolucci (1940 – 2018) ผู้กำกับ สัญชาติอิตาเลี่ยน เกิดที่ Parma, แม่เป็นครูสอนหนังสือ ส่วนพ่อ Attilio Bertolucci เป็นกวี นักประวัติศาสตร์งานศิลปะ และวิจารณ์ภาพยนตร์, ตั้งแต่เด็กชื่นชอบเขียนหนังสือ วาดฝันโตขึ้นจะกลายเป็นนักกวีเหมือนพ่อ เลือกเรียนสาขาวรรณกรรมยุคใหม่ University of Rome จับพลัดพลูกลายเป็นผู้ช่วยผู้กำกับ Pier Paolo Pasolini ในกองถ่าย Accattone (1961) เกิดความสนใจในภาพยนตร์ ผลงานเรื่องแรก La commare secca (1962), Before the Revolution (1964), โด่งดังระดับนานาชาติกับ The Conformist (1970), Last Tango in Paris (1972), 1900 (1976)

ช่วงทศวรรษ 80s ในประเทศอิตาลี แม้สภาวะเศรษฐกิจมีความเจริญมากขึ้น แต่นั่นทำให้ผู้คนลุ่มหลงใหลในวัตถุนิยม การเมืองก็เต็มไปด้วยความคอรัปชั่น สร้างความเหน็ดเหนื่อยเบื่อหน่ายให้กับ Bertolucci ต้องการออกเดินทางไปเปิดหูเปิดตาโลกกว้าง ด้วยความลุ่มหลงใหลในวัฒนธรรมเอเชีย ต่อรองทางการจีนจนมีโอกาสสร้าง The Last Emperor (1987) ประสบความสำเร็จล้นหลาม คว้ารางวัล Oscar ถึง 9 สาขา รวมถึงภาพยนตร์ยอดเยี่ยมแห่งปี นั่นทำให้เขาได้ทุนแทบไม่อั้นกับสองโปรเจคถัดไป The Sheltering Sky (1990) และ Little Buddha (1993) เหมารวมเรียกว่า Oriental/Eastern Trilogy

“Maybe … I need a utopia. I also like the idea of karma because it is very much Freudian: You know, you are the writer of your own karma. Freud says we are the writers of our destiny too — anything we do, it’s our unconscious which dictates”.

– Bernardo Bertolucci

ความสนใจในพุทธศาสนาของ Bertolucci น่าจะตั้งแต่ขณะสร้าง The Last Emperor (1987) เพราะต้องศึกษาเรียนรู้จักวัฒนธรรมจีนมากมาย และความชื่นชอบส่วนตัวต่อชาวทิเบต พระลามะ เมื่อได้มีโอกาสพูดคุยสนทนา จึงทราบถึงศักยภาพ ความเฉลียวฉลาด ปรัชญาลุ่มลึกล้ำน่าสนใจ

“They’re so witty. They are such a mixture of sophistication and a kind of mountain, strong, physical approach. The Tibetans were mountaineers originally, and yet were able to invent this school of logic and dialectic and philosophy which is extraordinary”.

Bertolucci ร่วมพัฒนาบทภาพยนตร์กับ
– พี่เขย Mark Peploe (ร่วมงานกันตั้งแต่ The Last Emperor, The Sheltering Sky) ที่เมื่อตอนอายุ 18 เคยออกท่องเที่ยวโลกผ่านอัฟกานิสถาน เนปาล ร่ำเรียนประวัติศาสตร์ ปรัชญา ถือว่ามีความรู้ในวัฒนธรรมตะวันออก พุทธศาสนาพอสมควร
– นักเขียนนวนิยาย Rudy Wurlitzer เพื่อแต่งเติมเสริมมุมมองอเมริกัน/ชาวตะวันตก ที่มีต่อพุทธศาสนา

Lama Norbu (รับบทโดย Ying Ruocheng) ได้รับจดหมายส่งมาบอกว่า ค้นพบเด็กชายที่อาจเป็น Lama Norbu กลับชาติมาเกิดใหม่ ออกเดินทางสู่ Settle, สหรัฐอเมริกา เพื่อเจอเด็กชายวัยสี่ขวบ Jesse แต่ครอบครัวเขามีความกลัวๆกล้าๆ เพราะนี่คือสิ่งบ้าๆบอๆ ผิดแผกแปลกประหลาดจากความเชื่อในศาสนาพวกเขาเอง

เรื่องราวจะมีการตัดสลับ ดำเนินเรื่องคู่ขนานกับชีวประวัติเจ้าชายสิทธัตถะ ตั้งแต่ประสูติกาล ได้รับพระทำนาย เติบโตขึ้นแต่งงานพระนางยโสธราพิมพา พานพบเจอเทวทูตทั้งสี่ เมื่อพระโอรสราหุลประสูติ ตัดสินใจทอดทิ้งทุกสิ่งอย่าง ออกเดินทางร่วมกับนายฉันนะพร้อมม้ากัณฐกะ โกนศีรษะลาผนวช บำเพ็ญทุกรกิริยา มารผจญ และตรัสรู้กลายเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า


สำหรับนักแสดง ความตั้งใจแรกเริ่มของ Bertolucci พยายามคัดเลือกนักแสดงชาวอินเดีย หน้าตาคล้าย Satyajit Ray แต่ผ่านไปสองเดือนก็ไม่พบใครน่าสนใจ

“I was really desperate. I couldn’t find any Indian actors; I saw tapes of hundreds. I had a casting director looking for two months”.

จนกระทั่งได้ยินข่าวลือแปลกๆถึง Keanu Reeves ว่าเป็นลูกครึ่งจีน-ฮาวาย เลยนัดพบเจอ แค่เพียงสามนาทีก็ตัดสินใจเลือกมารับบทเจ้าชายสิทธัตถะ

“He emanates such innocence! It shines on his face. … Also, Indian illustrations and Indian epic movies, pop art, the things you see on the walls of the tobacconist of Vishnu and Krishna — they are all like Keanu! He has a kind of beauty that’s not Eastern or Western. You’re not sure what it is, except pure kitsch”.

Keanu Charles Reeves (เกิดปี 1964) นักแสดงสัญชาติ Canadian เกิดที่ Beirut, Lebanon มารดาเป็นคนอังกฤษ, บิดาชาวอเมริกันเชื้อสาย Chinese-Hawaiian ถูกจับขายเฮโรกีน ทอดทิ้งครอบครัวไปเมื่อตอนอายุ 3 ขวบ อพยพตามแม่ไปอยู่ Sydney ตามด้วย New York City เธอแต่งงานใหม่กับผู้กำกับ Paul Aaron นั่นทำให้เขามีโอกาสเป็นผู้ช่วยผู้กำกับพ่อเลี้ยง เคยเป็นผู้รักษาประตูกีฬาฮ็อกกี้น้ำแข็ง เกือบจะได้เล่นทีมชาติแต่ตัดสินใจเป็นนักแสดงดีกว่า เริ่มมีชื่อเสียงจากแฟนไชร์ Bill and Ted, Point Break (1991), My Own Private Idaho (1991), Bram Stoker’s Dracula (1992)

ก่อนหน้าแสดงภาพยนตร์เรื่องนี้ Reeves ไม่ได้มีความสนใจเกี่ยวกับศาสนามากนัก กระทั่งเมื่อเดินทางไปประเทศเนปาล ศึกษาคำสอน บทเรียนชีวิตหลายอย่าง พูดคุยกับชาวเมือง ฝึกฝนนั่งสมาธิ ค้นพบมุมมองความทุกข์ เรื่องของตัวตน จนกระทั่งตัดสินใจบวชเป็นเวลา 3 เดือนที่วัดในประเทศจีน นั่นทำให้ชีวิตของเขาเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิงเลยละ

อุปสรรคเดียวของ Reeves ในการแสดงเป็นเจ้าชายสิทธัตถะ คือการนั่งขัดสมาธิเพชร (Lotus Sitting) แต่ก็อดรนทนฝืนจนถ่ายทำสำเร็จ (ขณะที่ผู้กำกับ Bertolucci เห็นว่านั่งท่านี้ได้สบายมากๆ)

ความเห็นส่วนตัวครุ่นคิดว่า Reeves มีภาพลักษณ์เจ้าชายสิทธัตถะ/พระพุทธเจ้า ในมุมมองสายตาชาวตะวันตก เพราะเมื่อแต่งองค์ทรงเครื่อง เขียนขอบตา ไว้ผมยาว แลดูเปรียบได้กับภาพวาด Mona Lisa เป็นได้ทั้งชาย-หญิง สองเพศในคนเดียว (คือถ้าไม่ถอดเสื้อเปลือยอก ก็อาจไม่รับรู้ว่าคือบุรุษ) นี่สะท้อนถึงความเป็น ‘กลาง’ ในอัตลักษณ์ตัวตน

ซึ่งความทุ่มเทของ Reeves ขณะบำเพ็ญทุกรกิริยา ทำการอดอาหารจริงๆเป็นระยะเวลาถึง 3 สัปดาห์ รับประทานเพียงส้มและน้ำเปล่าประทังชีพเท่านั้น นี่แสดงถึงความทุ่มเทให้กับการงาน เลืองลือชาในหมู่ผู้ร่วมงาน อดไม่ได้จะยกยอปอปั้น จนปัจจุบันได้รับการกล่าวขวัญเป็น #Keanusance

หลังจากภาพยนตร์เรื่องนี้ Reeves โด่งดังทั่วโลกกับ Speed (1994) ซึ่งสตูดิโอ Fox ต้องการสร้างภาคต่อ เอาเงินมาล่อถึง $10 ล้านเหรียญ แต่บทไม่เป็นที่พึงพอใจเลยบอกปัดปฏิเสธ “เงินไม่ได้มีความหมายอะไรเลยสำหรับผม” แม้จะถูกแบนไปเกือบๆสิบปี แต่การมาถึงของ The Matrix (1999) ก็ไม่มีใครฉุดชื่อเสียงความสำเร็จอยู่ [สองพี่น้อง Wachowski เลือก Reeves ก็จากบทบาทเรื่อง Little Buddha นี่แหละ!]

แซว: Marlon Brando เคยแสดงความสนใจแสดงเป็นเจ้าชายสิทธัตถะ แต่ก็น่าคิดนะว่าถ้าพี่แกรับบทบาทนี้ จะยอมผอม อดข้าวอดน้ำได้แบบ Reeves หรือเปล่า


ถ่ายภาพโดย Vittorio Storaro ปรมาจารย์ตากล้องสัญชาติอิตาเลี่ยน ขาประจำผู้กำกับ Bertolucci มีผลงานอมตะอย่าง The Bird with the Crystal Plumage (1970), Last Tango in Paris (1972), Apocalypse Now (1979), The Last Emperor (1987) ฯ

เรื่องราวของหนังแบ่งออกเป็นสองส่วน
– ช่วงเวลาปัจจุบัน ถ่ายทำด้วยกล้องฟีล์มสี 35mm Anamorphic Technovision
– ชีวประวัติเจ้าชายสิทธัตถะ เมื่อ 2500+ ปีก่อน ถ่ายทำด้วยกล้องฟีล์มสี 65mm Todd-AO

สำหรับโทนสีสัน จะมีการแบ่งแยกที่แตกต่างจากเลือกใช้ขนาดกล้อง
– สหรัฐอเมริกา/โลกตะวันตก (และฉากกลางคืน) เน้นโทนน้ำเงิน-เทา มอบสัมผัสอันหนาวเหน็บ แห้งแล้ง ยะเยือกเย็นชา
– เนปาล/โลกตะวันออก (ทั้งช่วงเวลาปัจจุบัน+ชีวประวัติพระพุทธเจ้า) เน้นโทนแดง-ส้ม มอบสัมผัสความอบอุ่น สว่างสดใส เต็มไปด้วยความพลุกพร่าน ร่าเริงสบายใจ

ฉากนำเข้าการเล่าเรื่องชีวประวัติเจ้าชายสิทธัตถะ เริ่มต้นในห้องอาบน้ำขณะที่ Jesse ยกเท้าขึ้นมาวางบนอ่าง … การตีความขึ้นอยู่กับมุมมองของเราเองถึงความเหมาะสม-ไม่เหมาะสม
– สำหรับคนไทยส่วนใหญ่ คงมองว่าไม่เหมาะสมสักเท่าไหร่ เหมือนการเอาส้นตีนยันหน้า ยกของต่ำให้เสมอเท่าเทียมของสูง
– แต่เราสามารถมองนัยยะถึงจุดเริ่มต้น พื้นฐานราก ความมั่นของพุทธศาสนา ทุกสิ่งอย่างล้วนเริ่มต้นจากการย่างเท้าก้าวเดินนี่แหละ (คงต้องการสะท้อนถึง 7 ก้าวย่างแรกของเจ้าชายสิทธัตถะเมื่อครั้นประสูติกาล มีดอกบัวขึ้นมารองรับพระบาท)

สถานที่ถ่ายทำหลักๆในประเทศเนปาลคือ Kathmandu และเมือง Bhaktapur ซึ่งถ้าใครมีโอกาสเดินทางไปท่องเที่ยวสองเมืองนี้ จะมีไกด์คอยแนะนำสถานที่ถ่ายทำหนังด้วยนะครับ

ในช่วงชีวิตแรกๆของเจ้าชายสิทธัตถะ กล้องจะเคลื่อนเลื่อนติดตาม ขยับไหลไปเรื่อยๆแทบไม่มีหยุดนิ่ง บางครั้งก็ใช้เทคนิค Cross-Cutting ให้สัมผัสเหมือนฝัน เหนือจินตนาการ ทุกสิ่งอย่างระยิบระยับงามตา สมบูรณ์แบบทุกสิ่งอย่าง … แต่ในความเป็นจริงเมื่อ 2500+ ปีก่อน ไม่น่าจะมีความเลิศหรูหราอลังการขนาดนี้นะครับ แต่เพราะมิได้มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ใดๆหลงเหลืออยู่ ทั้งหมดนี้จึงคือจินตนาการของฝ่าย Art Director ทำออกมาให้ดูเว่อเกินจริง ดินแดนแห่งความเพ้อฝัน

เกร็ด: ใครเคยรับชมภาพยนตร์เรื่อง Ashoka the Great (2001) นำแสดงโดย Shah Rukh Khan จะตระหนักได้เลยว่า เมื่อประมาณ พ.ศ. 300 จะไม่มีสิ่งก่อสร้าง เสื้อผ้าหน้าผม บัลลังก์ทอง เว่อวังอลังการขนาดนี้

สิ่งหนึ่งที่ผมโคตรรำคาญในไดเรคชั่นผู้กำกับ Bertolucci มักตัดสลับไปมาระหว่างภาพเหตุการณ์-ปฏิกิริยาผู้คนรอบข้าง ซึ่งมักเต็มไปด้วยสีหน้าแห่งความสงสัย ลังเลใจ เชื่อครึ่ง-ไม่เชื่อครึ่ง นี่เป็นการสะท้อนความรู้สึกตัวเขาเองต่อทุกๆเหตุการณ์/ปาฏิหารย์เหนือธรรมชาตินั้นๆ แถมยังมองได้ว่าเป็นการชักจูง ชี้ชักนำ ให้ผู้ชมพบเห็นแล้วรับรู้สึกแบบเดียวกัน

จริงๆแล้วพญานาคมุจลินท์ แผ่พังพาพปกพระพุทธเจ้าเพื่อป้องกันลมฝนมิให้สาดกระเซ็นพระวรกาย เกิดขึ้นหลังจากพระพุทธองค์ทรงตรัสรู้แล้วในสัปดาห์ที่หก ไม่ใช่ขณะบำเพ็ญทุกรกิริยานะครับ นี่คงเป็นความจงใจอย่างยิ่งของ Bertolucci นำเอาสิ่งเหนือธรรมชาติมาเป็นนิทานหลอกเด็ก ให้เกิดความพิศวงอัศจรรย์ใจในพุทธศาสนาเท่านั้นเอง (ผมมองว่าเป็นซีนที่ไม่จำเป็นเอาเสียเลย!)

ท้าววสวัตตีมาร นำเสนาเข้าขัดขวางการตรัสรู้ของเจ้าชายสิทธัตถะก็เช่นกัน เต็มไปด้วย Visual Effect ตื่นตระการตา ผู้ชมชาวตะวันตกพบเห็นคงรู้สึกว่า มันเหนือจินตนาการ เกินเลยความจริงไปเยอะมากๆ

ความน่าสนใจ(ที่ไม่น่าสนใจ)ของฉากนี้ ให้เด็กๆสามคนที่คาดว่าคือพระลามะกลับชาติมาเกิด ร่วมรับรู้เห็น ระลึกชาติ? จินตนาการถึงเจ้าชายสิทธัตถะขณะตรัสรู้ใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์, นัยยะของหนังคือการซ้อนทับ อดีต-ปัจจุบัน-อนาคต เวียนว่ายตายเกิด และสื่อกลายๆว่าเด็กสามคนนี้ ต่างคือการแยกจิตของพระลามะ (พบเห็นอดีตได้เหมือนกัน)

ตัดต่อโดย Pietro Scalia สัญชาติอิตาเลี่ยน ขาประจำของ Oliver Stone และ Ridley Scott เจ้าของสองรางวัล Oscar: Best Film Edited จากเรื่อง JFK (1992) และ Black Hawk Down (2002), ผลงานเด่นอื่นๆ อาทิ Wall Street (1987), Little Buddha (1993), Good Will Hunting (1997), Gladiator (2000), Memoirs of a Geisha (2005), The Amazing Spider-Man (2012) ฯ

หนังดำเนินเรื่องโดยช่วงเวลาปัจจุบันเป็นแกนหลัง เริ่มต้นจาก Lama Norbu ออกเดินทางจากทิเบตสู่สหรัฐอเมริกา เพื่อพบเจอเด็กชาย Jesse Conrad ซึ่งจะได้รับฟังนิทาน เรื่องเล่าชีวประวัติเจ้าชายสิทธัตถะ ตัดสลับไปมาระหว่างรอคอยการตัดสินใจของครอบครัว ตระเตรียมตัวออกเดินทางสู่ธิเบต พานพบเจออีก 2 ว่าที่ผู้มีแนวโน้มเป็นพระลามะกลับชาติมาก่อน

การใส่เรื่องราวกลับชาติมาเกิดของพระลามะ ด้วยจุดประสงค์สร้างปฏิสัมพันธ์จับต้องได้กับผู้ชมชาวตะวันตก บางคนอาจไม่เคยรับรู้จักพุทธศาสนามาก่อนด้วยซ้ำ จักมีโอกาสทำความเข้าใจเบื้องต้น ซึ่งแรกๆคงแสดงออกด้วยปฏิกิริยาไม่แตกต่างจากครอบครั Jesse สักเท่าไหร่ หลังจากนั้นเมื่อพบเห็นการปล่อยวาง ตรัสรู้ หลุดพ้นจากวัฏฏะสังสาร ก็อยู่ที่ตัวคุณเองจะก้าวย่างเข้าไปลิ้มลอง ท้าพิสูจน์ เผื่อสามารถนำมาปรับใช้ในชีวิต วิถีความเชื่อตนเองได้

ซึ่งเรื่องราวในปัจจุบัน จักดำเนินคู่ขนานกับชีวประวัติเจ้าชายสิทธัตถะ
– แรกพบที่ Jesse เรียนรู้จักพุทธศาสนา = ประสูติกาลเจ้าชายสิทธัตถะ
– พ่อ-แม่ ต่างหวงห่วงใย Jesse ไม่ประทับใจการมาถึงของพระลามะสักเท่าไหร่ = ปราสาทสามฤดู เกิดขึ้นเพราะความรักของพระเจ้าสุทโธทนะมีต่อเจ้าชายสิทธัตถุ
– พ่อของ Jesse พบเจอความสูญเสียเพื่อนสนิท = เจ้าชายสิทธัตถะพบเจอเทวทูตทั้งสี่
– ออกเดินทางสู่ทิเบต = เจ้าชายสิทธัตถะตัดสินใจทอดทิ้งทุกสิ่งอย่าง หลบหนีออกจากพระราชวังและทรงผนวก
– Jesse พานพบเจอเพื่อนอีกสอง = ช่วงเวลาแห่งการบำเพ็ญทุกรกิริยา มารผจญ และตรัสรู้กลายเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

ขณะที่ช่วงท้ายของหนัง การจากไปของ Lama Norbu แบ่งอัฐิให้กับว่าที่ลามะทั้งสาม กระจัดกระจายแพร่ขยาย(พุทธศาสนา)ออกไปทั่วโลก แม้จะในช่วงขณะพระอาทิตย์กำลังเคลื่อนคล้อยตกดินก็ตาม (ในบริบทนี้น่าจะสื่อถึงจุดสิ้นสุด ความตายของชีวิตมากกว่า)


เพลงประกอบโดย Ryuichi Sakamoto คีตกวีชื่อดังชาวญี่ปุ่น ได้ร่วมงานผู้กำกับ Bertolucci ตั้งแต่ The Last Emperor (1987) ตามด้วย The Sheltering Sky (1990) และครั้งสุดท้ายกับ Little Buddha (1993)

ถึงหนังจะไม่ค่อยน่าประทับใจสักเท่าไหร่ แต่บทเพลงของ Sakamoto ชางงดงามตราตรึงเสียเหลือเกิน โลกที่เต็มไปด้วยความเหี้ยมโหดร้าย จะมีหนทางไหนไหมที่คือทางออก หลุดพ้นจากความทุกข์ยากลำบาก

ฉากเล่าชีวประวัติพระพุทธเจ้า จะมีการใช้ดนตรีพื้นบ้านอินเดียเป็นส่วนใหญ่ (ได้ยินเสียง Sitar กลอง คำร้องอันโหยหวน) ตรงกันข้ามกับช่วงเวลาปัจจุบัน จะใช้ไวโอลิน เปียโน ดนตรีคลาสสิก

Faraway Song คือบทเพลงที่พอเจ้าชายสิทธัตถะได้ยิน เกิดความใคร่ฉงนสงสัย เธอผู้นั้นทำไมเล่นบทเพลงนี้ได้สุดไพเราะเพราะพริ้ง รำพันท่วงทำนองตนเองไม่เคยรับฟังมาก่อน อยากพบเห็นเสียเหลือเกินว่าโลกนอกปราสาทสามฤดูจะเป็นเช่นไร

บทเพลงทางสายกลาง (The Middle Way) น่าจะไพเราะสุดของหนังแล้วกระมัง

Little Buddha คือภาพยนตร์ที่นำเสนอมุมมองชาวตะวันตก (ของผู้กำกับ Bernardo Bertolucci) ต่อพุทธศาสนา แม้ด้วยความตั้งใจอันดีเพื่อเผยแพร่แนวคิด หลักคำสอน และชีวประวัติเจ้าชายสิทธัตถะ แต่เพราะความไม่เข้าใจถึงแก่นสาระ จึงถ่ายทอดออกมาในลักษณะเหมือนเรื่องราวแฟนตาซี มีความเพ้อฝันจินตนาการ นิทานก่อนนอนหลอกเด็ก โดยเฉพาะปาฏิหารย์เหนือธรรมชาติทั้งหลาย ทำให้ดูไม่ค่อยน่าเชื่อถือสักเท่าไหร่

ชาวพุทธเองก็ไม่แตกต่างกันนะ ยุคสมัยนี้เราถูกปลูกฝัง เสี้ยมสั่งสอน ควบคุมครอบงำ ใครพูดบอกอะไรมาก็เชื่อถือไว้ก่อน ไม่เคยครุ่นคิดถึงสาเหตุผล เพราะอะไร? ทำไม? แค่ว่าเขาเล่าสืบต่อกันมา คนหมู่มากนับหน้าถือตา ก็เห็นพ้องสอดคล้องตาม มิได้ปฏิบัติให้รู้เห็นแจ้งกระจ่างด้วยตนเอง

ปาฏิหารย์ ไม่ใช่เรื่องของความเชื่อ-ไม่เชื่อ แต่คือความรู้-ไม่รู้ เพราะคนยุคสมัยนี้เลือกที่จะ ‘เชื่อในสิ่งที่เฮ็ด’ แล้วอุปโหลกว่าทุกสิ่งที่เห็นนั้นคือสัจธรรมความจริง เฉพาะคนฝึกปฏิบัติอย่างจริงจังเท่านั้นถึงสามารถรับรู้ทั้งหมดทั้งสิ้นว่า จริง-ไม่จริง เฉกเช่นไร … มันก็มีอีกพวกหนึ่งด้วยนะ อ้างว่าฝึกแล้วแต่ปัญญาบารมียังไม่พอเพียง ถูกกิเลสมารลวงล่อหลอกจนสูญเสียสิ้นความตั้งใจ ออกมาพูดจากลับกลอกปอกลอกว่าไม่พบ ไม่เห็น ไม่มีจริง! คนแบบนี้ก็มีมากมายถมไป

ปัญหาใหญ่ๆของหนังอย่างที่ผมบอกไปตั้งแต่ต้น คือความไม่เชื่อในหลายๆอย่างของ Bertolucci ทำให้เขามองพุทธศาสนาในแง่มุมเต็มไปด้วยความสงสัย โล้ลังเลใจ ซ่อนเร้นอคติภายใน แถมพยายามผสมแนวคิดของตนเองลงไป ซึ่งบางอย่างก็ไม่ถูกต้องสักเท่าไหร่ (หนังพยายามนำเสนอว่า เจ้าชายสิทธัตถะทรงมี’ความรัก’ต่อมวลมนุษยชาติ เลยทรงตัดสินออกผนวชเพื่อค้นหาวิธีหลุดพ้นจากวัฎฎะสังสาร … มันใช่เสียที่ไหน!)

จะว่าไปเรื่องราวครอบครัวชาวอเมริกันในหนัง คงไม่ต่างจากชีวิตของ Bertolucci สักเท่าไหร่ ครั้งแรกเมื่อได้ยินเกี่ยวกับพุทธศาสนา พระลามะ การเวียนว่ายตายเกิด ช่างเต็มไปด้วยความพิลึกพิลั่น ฟังดูไร้สาระชอบกล กระทั่งพานพบเจอความทุกข์ทรมานมากมายในชีวิต สูญเสียเพื่อนสนิท เลยยินยอมเปิดรับมุมมองใหม่ๆ เดินทางสู่ทิเบต (สะท้อนช่วงเวลาสร้างภาพยนตร์ฝั่งตะวันออก Oriental/Eastern Trilogy) เลยมีโอกาสให้ได้รับความสงบสุขทางใจขึ้นมาบ้าง

ภาพยนตร์เกี่ยวกับชีวประวัติเจ้าชายสิทธัตถะ/พระพุทธเจ้า ตั้งแต่ผมเคยหามารับชม ไม่มีเรื่องไหนทำออกมาได้ยอดเยี่ยม น่าสนใจ ทรงคุณค่าในแง่มุมศิลปะ และศรัทธาแห่งพระศาสนา … นี่ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจสักเท่าไหร่ เพราะผู้สร้างแทบทั้งนั้นมิได้เข้าถึงแก่นสาระ จิตวิญญาณพุทธศาสนา แถมมักบิดเบือนข้อเท็จจริงทีละเล็กละน้อย และใส่มุมมองทัศนคติส่วนตนเองลงไปด้วย

ถ้าถามว่าผู้กำกับคนไหนในปัจจุบัน ที่ผมครุ่นคิดว่าน่าจะสร้างภาพยนตร์ชีวประวัติพระพุทธเจ้าออกมาได้น่าสนใจมากสุด น่าจะคือคุณเจ้ย อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล ต้องเอาแบบในไดเรคชั่นของพี่แกด้วยนะ มันคงเป็นอะไรที่เกินเอื้อยกล่าวถึงอย่างแน่นอน


ด้วยทุนสร้างสูงถึง $35 ล้านเหรียญ ทำเงินในสหรัฐอเมริกาได้เพียง $4.86 ล้านเหรียญ ขาดทุนย่อยยับเยิน! แต่หนังก็ได้เสียงตอบรับอย่างดีในฝรั่งเศส อิตาลี หลายประเทศในเอเชีย รวมถึงคนไทยส่วนใหญ่ด้วยกระมัง

โปรดิวเซอร์ของหนังแสดงความคิดเห็นแก่ตัวออกว่า

“It was an interest in the story of Siddhartha, and what Tibetan Buddhism meant in Western society after the expulsion from Tibet. It was a very ambitious film, and largely shot in Kathmandu and Bhutan on location. And Bhutan, it was a joy to film in Bhutan … But like many things when you look back of course, trying to promote a film about Buddhism as an epic is maybe a tall order”.

– Jeremy Thomas

สิ่งน่าผิดหวังที่สุดในภาพยนตร์เรื่องนี้คือ Bernardo Bertolucci แม้อาจจะมีความตั้งใจอันดี แต่โดยไม่รู้ตัวซ่อนเร้นไปด้วยอคติ ความคิดเห็นต่าง ผมไม่อยากใช้คำว่า ‘จอมปลอม’ แต่ก็มีนักวิจารณ์หลายคนเอื้อยเอ่ยกล่าวไว้ เป็นผู้กำกับที่แม้มีรสนิยม ความสามารถโดดเด่น สรรค์สร้างงานศิลปะชั้นสูง แต่หลายครั้งก็งี่เง่า หลงตัวเอง อีโก้จัดเกินไป หาได้เพียงพอดี เดินทางสายกลาง คำสอนพุทธศาสนาที่ได้รับจากพระลามะ สุดท้ายคงแค่สายลมพัดผ่าน เข้าหูซ้ายทะลุหูขวาเท่านั้นเองกระมัง

แต่นั่นก็ไม่ใช่ประเด็นที่ผมจะไปเกิดอคติต่อ Bertolucci นะครับ ถ้าเขาสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้แล้ว/มีผู้ชมสามารถเข้าใจในปรัชญาพุทธศาสนา (แม้โดยเบื้องต้นก็เถอะ) พบเจอความสงบสุขภายในจิตใจ นั่นก็ถือเป็นบุญบารมี สร้างไว้ให้วิพากย์ดีแล้ว ชื่นชอบไม่ชอบนั่นอีกประเด็นหนึ่ง

ผมเห็นคลิปใน Youtube ที่มีคน(ไทย)ตัดต่อให้หลงเหลือเพียงเรื่องราวชีวประวัติเจ้าชายสิทธัตถะ แค่นั้นก็ถือว่าเพียงพอแล้วนะครับ

จัดเรต PG กับอคติที่ซ่อนเร้น

คำโปรย | ความล้มเหลวของ Little Buddha สะท้อนความไม่เข้าใจในแก่นแท้พุทธศาสนาของ Bernardo Bertolucci สนเพียงเปลือกภายนอก ตราตรึงในความเวิ้งว่างเปล่าภายใน
คุณภาพ | ตราตรึงในความเวิ้งว่างเปล่า
ส่วนตัว | น่าผิดหวัง

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: