Little Miss Sunshine

Little Miss Sunshine (2006) hollywood : Jonathan Dayton & Valerie Faris ♥♥♥♥

การเดินทางที่จักสร้างความเข้าใจว่า ชัยชนะอันดับหนึ่ง ไม่ใช่ทุกสิ่งอย่างในชีวิต! และเราควรเรียนรู้ที่จะ ‘Fuck Everything!’ ทั้งในเชิงรูปธรรม-นามธรรม, “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย”

ก็ไม่เชิงว่า Little Miss Sunshine เป็นภาพยนตร์แนว Road Movie ดีที่สุด แต่คือเรื่องแฝงข้อคิดสาระประโยชน์ สร้างแรงบันดาลใจ มอบเสียงหัวเราะรอยยิ้มไม่หุบ และอาจได้พลัดตกเก้าอี้เลยเชียว

แต่อาจมีหลายคนรับไม่ได้ เบือนหน้าหนีกับฉากไคลน์แม็กซ์ที่ราวกับอาการ ‘น็อตหลุด’ บ้าบอคอแตก เพี้ยนเสียสติกันทั้งบ้าน! จริงๆผมก็กุมขมับเหมือนกันนะ เป็นฉากกลืนไม่เข้าคายไม่ออก แต่ได้สะท้อนอิทธิพลครอบครัวต่อบุตรหลาน และวิธีการปกป้องพวกเขาจากโลกภายนอกที่ไม่สามารถยินยอมรับการแสดงออกเช่นนั้นได้


จุดเริ่มต้นของภาพยนตร์เรื่องนี้มาจาก Michael Arndt นักเขียนสัญชาติอเมริกัน ประมาณปี 2000 ได้อ่านข่าวหนังสือพิมพ์ พบเห็นบทความของ Arnold Schwarzenegger พูดบอกกับนักเรียนมัธยมปลาย

“If there’s one thing in this world I hate, it’s losers. I despise them”.

– Arnold Schwarzenegger

นั่นเป็นโลกทัศนคติที่เขามองว่าผิดมากๆ จึงครุ่นคิดพัฒนาบทหนังเรื่องนี้ขึ้นในระยะเวลาเพียง 3 วัน

“I thought, there’s something just so wrong with that attitude. There’s something so demeaning and insulting about referring to any other person as a loser, and I wanted to … attack that idea that in life you’re either going up or you’re going down”.

– Michael Arndt

ในตอนแรก Arndt ครุ่นคิดจะกำกับภาพยนตร์เรื่องนี้ด้วยตนเอง ใช้เงินไม่กี่พันดอลลาร์ด้วยกล้อง Camcorder แต่เปลี่ยนใจส่งมอบบทให้โปรดิวเซอร์ Ron Yerxa และ Albert Berger ออกสรรหาผู้กำกับ

Yerxa & Berger มีโอกาสพบเจอ Jonathan Dayton และ Valerie Faris ระหว่างเตรียมงานสร้าง Election (2001) ส่งต่อบทหนังให้ ซึ่งทั้งคู่แสดงความสนใจอย่างมาก นำไปเกลี้ยกล่อมเกลา Marc Turtletaub ซื้อลิขสิทธิ์ดัดแปลงมูลค่า $250,000 เหรียญ ซึ่งถือว่าสูงมากๆสำหรับผลงานแรกของนักเขียนมือใหม่

Jonathan Dayton (เกิดปี 1957) และ Valerie Faris (เกิดปี 1958) สามี-ภรรยา โปรดิวเซอร์/ผู้กำกับสร้างภาพยนตร์ สัญชาติอเมริกัน, Dayton พบเจอกับ Faris ระหว่างเข้าเรียนสาขาภาพยนตร์และโทรทัศน์ที่ UCLA Film School ตกหลุมรัก แต่งงาน ร่วมงานกำกับ/สร้าง Music Video, โฆษณา, สารคดี, ก่อนหน้านี้มีภาพยนตร์หลายเรื่องที่สนใจติดต่อพวกเขา The Mod Squad (1999), Bad Boys II (2003) แต่มาลงเอยตัดสินใจกำกับ Little Miss Sunshine (2006) ผลงานแรกแจ้งเกิดโดยทันที

เรื่องราวของครอบครัว Hoover ประกอบด้วยสมาชิก
– พ่อ Richard Hoover (รับบทโดย Greg Kinnear) นักพูดสร้างแรงบันดาลใจที่ไม่มีใครฟัง ครุ่นคิดค้นเทคนิค ‘9-Step Refuse to Lose’ แต่ตนเองกลับประสบความล้มเหลวเสียเอง แสดงถึงธาตุแท้ดีแค่พูด ไม่สามารถปฏิบัติ/พึ่งพาได้จริง
– แม่ Sheryl Hoover (รับบทโดย Toni Collette) เป็นคนละเอียดอ่อนไหว จริงจังกับทุกสิ่งอย่างในครอบครัว บ้างานหนักจนแทบไม่มีเวลาว่าง คอยเชื่อมประสานความสัมพันธ์ แม้มักทำอะไรไม่ค่อยได้มากก็เถอะ
– ลุง Frank Ginsberg (รับบทโดย Steve Carell) เป็นคนเฉลียวฉลาดรอบรู้ แต่เก็บกดเพราะเป็นเกย์ แถมมีความละเอียดอ่อนไหวกับชีวิต พอพ่ายแพ้ผิดหวังในความรักเลยตั้งใจฆ่าตัวตายกลับยังเอาตัวรอดมาได้
– ปู่ Edwin Hoover (รับบทโดย Alan Arkin) ชีวิตพานผ่านอะไรมามาก แต่ผิดหวังในตนเองเพราะหมกมุ่นอยู่กับภรรยาคนเดียว พลาดโอกาสเต็มที่กับตนเอง ปัจจุบันเลยเต็มไปด้วยความเกรี้ยวกราด ชอบพูดคำหยาบ และเสพเฮโรอีน
– ลูกชายจากสามีคนแรก Dwayne Hoover (รับบทโดย Paul Dano) ด้วยความต้องการเป็นนักบินแต่เหมือนถูกแม่กีดกัน เลยปฏิญาณตนเองว่าจะไม่ปริปากพูดจนกว่าจะสอบเข้าติด
– ลูกสาวคนเล็ก Olive Hoover (รับบทโดย Abigail Breslin) ผ่านเข้ารอบการประกวด Little Miss Sunshine จำต้องเดินทางไปประกวดยัง Redondo Beach, California ภายในระยะเวลาสองวัน

เรื่องราววุ่นๆได้ถือกำเนิดขึ้นระหว่างการเดินทางด้วยรถ Volkswagen Type 2 สีเหลือง จากบ้าน Albuquerque, New Mexico มุ่งสู่ Redondo Beach, California เพื่อให้ทันการประกวด Little Miss Sunshine ในระยะเวลา 2 วัน!


สำหรับนักแสดงขอกล่าวถึงโดยคร่าวๆก็แล้วกัน

Greg Kinnear นักจัดรายการ Talk Show และแสดงภาพยนตร์สัญชาติอเมริกัน เคยเข้าชิง Oscar: Best Supporting Actor จากเรื่อง As Good as It Gets (1997), รับบทพ่อ Richard ผู้มีมโนคติหมกมุ่นใน ‘ชัยชนะคือทุกสิ่งอย่าง’ ซึ่งต้องถือว่าภาพลักษณ์นั้นใช่เลย เหมือนเซลล์แมนขายฝัน โน้มน้าวคนเก่าง แต่พึ่งพาอะไรไม่ค่อยได้เท่าไหร่

Toni Collette นักแสดงหญิงสัญชาติ Australia ที่แจ้งเกิดระดับนานาชาติกับ The Sixth Sense (1999), About a Boy (2002), รับบทแม่ Sheryl ผู้หมกมุ่นจริงจังกับทุกสิ่งอย่าง เป็นที่พึ่งพาให้ทุกคน ยกเว้นคู่กัดขั้วตรงข้าม Kinnear แม้จะเหมือนไม่น่าเข้ากันได้ แต่กลับเข้าใจธาตุแท้ตัวตนอีกฝั่งอย่างถ่องแท้

Steve Carell ที่เพิ่งสร้างชื่อให้ตนเองกับ The 40-Year-Old Virgin (2005) นี่เป็นการรับบทบาทดราม่าเข้มข้นครั้งแรกๆ ลุง Frank ต้องการฆ่าตัวตายเพราะเลิกร้างรากับคู่ขา ตอนนั้นไม่มีใครคาดคิดว่าพี่แกจะสามารถแสดงได้ดี แต่ตอนมาพูดคุยทดสอบหน้ากล้องถูกใจสองผู้กำกับมากๆ และผลลัพท์ออกมาเข้มข้น ‘ตลกหน้าตาย’ นี่กลายเป็นลายเซ็นต์ของ Carell ไปแล้วละนะ

เกร็ด: ก่อนบทบาทนี้จะมาลงเอยกับ Carrell ผู้เขียนบทได้เล็ง Bill Murray, ขณะที่สตูดิโออยากได้ Robin Williams เป็นตัวเลือกน่าสนใจทั้งคู่เลยนะ

Alan Arkin นักแสดงรุ่นใหญ่ โด่งดังจาก The Russians Are Coming, the Russians Are Coming (1966) พลิกล็อกถล่มทลายตอนคว้า Oscar: Best Supporting Actor, รับบทปู่ Edwin ผู้กร้านโลก ชอบใช้คำหยาบคาย รุนแรง ตรงไปตรงมา และเสี้ยมสอนปลูกฝังอะไรผิดๆให้กับลูกๆหลานๆ … คือ Arkin ก็เล่นดีนะ สร้างสีสันจัดจ้าน แต่การแย่งรางวัลจากตัวเต็งอย่าง Eddie Murphy นั่นสร้างความรวดร้าวฉานอย่างยิ่ง

Paul Dano ขณะนั้นเป็นนักแสดงที่ได้รับการจับตามองตั้งแต่เป็นวัยรุ่น L.I.E. (2002) ก็ตั้งแต่ตอนนั้นที่เซ็นสัญญารับบทนี้ ล่วงเลยมาหลายปีถึงเพิ่งได้สร้าง ทุ่มเทสุดตัวกับบทบาท ถึงขนาดปฏิญาณไม่พูดคุยกับใครในกองถ่าย (จนกระทั่งถึงวันสิ้นสุดปฏิญาณของตัวละคร ถึงเริ่มพูดคุยกับใคร)

แซว: ดั้งเดิมตัวละครนี้เขียนไว้ในบทว่ามีทรงผม Mohawk แต่ Dano ปฏิเสธ เพราะมันเป็นการแสดงออก/ต่อต้านสังคมจากภายนอก ไม่ใช่ข้างในจิตใจตนเอง

ท้ายสุดกับ Abigail Breslin (เกิดปี 1996) นักร้องนักแสดงสัญชาติอเมริกัน เคยเป็นนักแสดงโฆษณาตอนอายุ 3 ขวบ ตามด้วยเล่นหนังเรื่องแรก Signs (2002) เข้าตาสองผู้กำกับผ่านการคัดเลือกนักแสดง สวมชุดคนอ้วนเพื่อให้ดูพุงพุ้ย ฟังเพลงจริงๆขณะปู่พูดคำหยาบ และฝึกเต้นสะบัดช่ออยู่เกือบๆ 2 สัปดาห์ ได้รับการยกย่องล้นหลามถึงความสมบทบาท แย่งซีนโดดเด่นไปเต็มๆ

ตัวละครทั้งหก ต่างสะท้อนบางสิ่งอย่างออกมา
– พ่อ ผู้เป็นหัวหน้าครอบครัว แต่เต็มไปด้วยความดื้อรัน ยึดถือมั่นในมโนคติ จึงมักนำพาทุกคนมุ่งไปยังหนทางผิดๆ
– แม่ พยายามเติมเต็มความต้องการของทุกคน ประณีประณอม แต่มักมีเรื่องขัดย้อนแย้งกับพ่ออยู่เสมอ
– ลุง หมกมุ่นจริงจังกับชีวิตมากเกินไป จนหน้านิ่วคิ้วขมวด ค้นหาความสุขของตนเองไม่พบ
– ปู่ ครุ่นคิดทุกสิ่งอย่างได้เมื่อตอนสายเกิน เลยใช้ชีวิตสนองตัณหาตนเองไปวันๆ ไม่แคร์ยี่หร่าอะไรใคร
– พี่ชาย มีความตั้งมั่นทุ่มเทจริงจังกับชีวิตมากเกินไป สุดท้ายพบเจอความผิดหวัง ล้มเหลว พ่ายแพ้
– น้องสาว เอ่อล้นด้วยความเพ้อฝัน มุมานะพยายาม แต่กลับก็แค่เด็กหญิงธรรมดาคนหนึ่ง ไม่ได้มีอะไรพิเศษเหนือใครอื่น


ถ่ายภาพโดย Tim Suhrstedt ตากล้องโฆษณา/Music Video สัญชาติอเมริกัน คงจะเคยร่วมงาน/ขาประขำสองผู้กำกับ Dayton & Faris ซึ่งไดเรคชั่นงานภาพ เต็มไปด้วยความโฉบเฉี่ยว จัดวางตำแหน่ง มุมกล้องสวยๆแนวๆ คงรับอิทธิพลจากสายงานมาไม่น้อยทีเดียว

หนังใช้เวลาถ่ายทำเพียง 30 วัน เดินทางจาก Arizona ถึงตอนใต้ของ California ไล่เลียงตามลำดับ (Chronological Order) โดยรถ Volkswagen T2 Microbus มีทั้งหมด 5 คัน โดย 3 คันมีเครื่องยนต์ขับเคลื่อน อีกสองคันต้องใช้รถลาก ติดกล้องภายนอก (นักแสดงไม่จำต้องขับเอง จะได้มีสมาธิกับบทพูดสนทนา) ซึ่งยังออกแบบให้เกิดปัญหา
– คลัตช์พัง ทำให้สมาชิกในครอบครัวจำต้องร่วมมือร่วมใจ ผลักดันให้สามารถเคลื่อนไปข้างหน้าได้สำเร็จ
– แตรค้าง สะท้อนการกระทำที่สร้างเสียงรบกวน ก่อปัญหารำคาญใจให้ผู้อื่น
– ประตูหลุด คือความไม่สมประกอบของครอบครัว ‘Dysfunctional Family’ เมื่อมองจากมุมบุคคลภายนอก (แต่แค่นี้ก็เพียงพอให้ชีวิตสามารถดำเนินไปได้ มันจะเป็นปัญหาหนักหัวอะไรก็ช่างใครเขา!)

ตัวเลือกรถสีเหลืองถือว่าน่าสนใจไม่น้อย ในวัฒนธรรมตะวันตก เหลืองมักเกี่ยวข้องกับความสุข สนุกสนานร่าเริง มองโลกในแง่ดี การร่วมมือร่วมใจ สะท้อนโอกาสและความหวัง ตลอดจนความระมัดระวังและขี้ขลาด, ในประเทศเยอรมนี หมายถึงความอิจฉา, ขณะที่อียิปต์นั้นหมายถึงความสุขและความมั่งคั่ง ฯ

เกร็ด: ผู้เขียน Arndt ได้แรงบันดาลใจเลือกใช้รถ Volkswagen T2 Microbus จากประสบการณ์ส่วนตัวที่เคยใช้ออกเดินทางท่องเที่ยว

“I remember thinking, it’s a road trip, what vehicle are you going to put them in? And [the] VW bus just seems logical, just because you have these high ceilings and these clean sight lines where you can put the camera. In the front windshield looking back and seeing everybody”.

– Michael Arndt

การจัดวางตำแหน่งนักแสดงมีความโดดเด่นมากๆ เพราะประชากรทั้ง 6 ต้องแออัดยัดเยียดอาศัยอยู่ในเฟรมเดียวกันบ่อยครั้ง ซึ่งก็ไม่ได้จำเป็นว่าพวกเขาต้องเห็นพ้อง ยืน-นั่ง หันหน้าทิศทางเดียวเสมอไป ทุกคนมีความแตกต่างในโลกทัศนคติ/คิดอ่านของตนเอง

ไม่ใช่แค่เฉพาะฉากที่ทั้งหกอยู่ร่วมกันเท่านั้นนะ บางครั้งอาจจะแค่สองคนอย่าง พ่อ-แม่ ค่ำคืนแรกที่พวกเขาทะเลาะเบาะแว้งในห้องพักโรงแรม สังเกตว่าต่างนั่งอยู่คนละริมเตียง หันหน้า-หลัง ตำแหน่งทิศทางตรงกันข้าม นี่ก็สะท้อนมุมมอง/ความคิดเห็นแตกต่างเช่นกัน

การจากไปของปู่ ช่างผิดที่ผิดเวลา แต่ชีวิตจำต้องดำเนินต่อไปอย่างเร่งรีบร้อน หยุดนิ่งไม่ได้!

นี่เป็นช็อตมีการจัดวางและองค์ประกอบแฝงนัยยะอย่างแยบยน สังเกตภาพวาดต้นไม้ซึ่งเป็นนามธรรม ไร้กิ่งก้านใบคือความตาย ตรงกันข้ามกับต้นไม้จริงๆอยู่ด้านหลัง Frank ความหมายคือการยังมีชีวิต ขณะที่โทรทัศน์ด้านบน สะท้อนถึงโลกยังคงหมุนเวียนวนดำเนินต่อไปโดยไม่แคร์ยี่หร่าอะไร

มีสองฉากระหว่างการเดินทางที่โดดเด่นงดงามมากๆ

เมื่อถูกรถคันหนึ่งวิ่งตัดหน้า พ่อบีบแตรขับไล่รำคาญ แต่ปรากฎว่านับตั้งแต่นั้นแตรพัง! ส่งเสียงรบกวนตลอดทาง เป็นเหตุให้ถูกตำรวจเรียกให้จอด ณ ตำแหน่งนี้ มีเครื่องจักรขุดเจาะน้ำมันทำงานอยู่ด้านหลัง

ผมยังคิดไม่ตกว่าเจ้าเครื่องขุดเจาะน้ำมันสื่อความถึงอะไรกันแน่ นัยยะเชิงสัญลักษณ์ทั่วไปอาทิ การสูบเลือดเนื้อจิตวิญญาณ? คอรัปชั่นของตำรวจ? หรือเชื้อเพลิง แรงผลักดันให้รถ/ชีวิตดำเนินต่อไปได้?

หลายคนคงชื่นชอบช็อตนี้ที่สุดในหนัง ใช้เทคนิคคล้ายๆ Deep-Focus ที่สามารถทำให้สองระยะภาพมีความคมชัดกริบ และยังท้องฟากฟ้าสีครามไกลลิบ

ความเสียใจของ Dwayne หลังจากค้นพบว่าตนเองตาบอดสี (นี่อาจเป็นเหตุผลหนึ่งทำให้เราไม่ค่อยเห็นสีเขียวในหนัง) จึงต้องการเว้นช่องว่างระยะห่างจากครอบครัว เหมือนจะไม่มีใครสามารถเข้าใจเขา แต่กลับเป็นน้องสาวตรงเข้ามา … พี่ชายตระหนักได้โดยดีว่าการเดินทางครั้งนี้ จุดหมายไม่ใช่ของตนเองที่จักแสดงความเห็นแก่ตัวออกมา

ผมไม่ได้มีความชื่นชอบสนใจในพวกงานประกวด นางงามสักเท่าไหร่ เพราะเป็นกิจกรรมที่ขาย ‘ภาพ’ หน้าตา รูปลักษณ์ภายนอก หาใช่ตัวตนภายใน สามารถพบเห็นได้จากการสวมใส่ชุดว่ายน้ำโป๊เปลือย

“a child beauty pageant is the epitome of the ultimate stupid meaningless competition people put themselves through”.

– Michael Arndt

ชีวิต -ไม่ว่าจะผู้หญิง/ผู้ชาย- ไม่แตกต่างอะไรกับการประกวดนางงามที่ต้องต่อสู้แข่งขันกับผู้อื่น แสดงความสามารถ พิสูจน์ตนเองว่ามีศักยภาพ เหมาะสมควรจักได้รับชัยชนะ … แต่ขณะเดียวกันมันต้องมีผู้พ่ายแพ้ผิดหวัง ซึ่งคือส่วนใหญ่ของการประกวด (ผู้ชนะย่อมมีเพียงหนึ่งเดียวเท่านั้น) เราจึงไม่ควรหมกมุ่นคลุ้มคลั่งกับที่หนึ่ง แค่ได้ทำสิ่งสนองใจอยากให้สุดกำลัง ก็เหลือเฟือเพียงพอแล้วมิใช่หรือ!

สังเกตว่าหนังพยายามนำเสนอให้ Olive มีความแตกต่าง นอกคอก แค่ท่ายืนของเธอก็เทียบไม่ได้กับเด็กๆคนอื่น ซึ่งเห็นว่าทั้งหมดคือมืออาชีพ เคยผ่านการประกวด ได้รับชัยชนะ ฝึกซ้อมตระเตรียมตัว ปลุกปั้นโดยผู้ปกครอง ให้ลุ่มหลงใหลในความงาม สวยเลิศเชิดหยิ่ง และต้องได้รับชัยชนะเท่านั้น!

เป็นอีกช็อตที่ผมชื่นชอบมากๆ ภาพสะท้อนในกระจกของ Olive และการกระทำเช็คพุงตนเอง ก็เพื่อค้นหาอัตลักษณ์ตัวตน ฉันคือใคร ดีพอจะชนะการประกวดหรือไม่ (พุงยื่นๆนั้นเป็นชุดอ้วนนะครับ ตัวจริงของเธอผมเพรียว โตขึ้นก็น่ารักสุดเซ็กซี่เลยละ!)

ตอนจบของหนังเป็นความว้าวุ่นวายใจของผู้เขียน Arndt ไม่น้อยเลยละ เท่าที่ผมค้นพบเจอมีทั้งหมด 4 Alternate Ending
– แบบแรก, ระหว่างรถกลับ พ่อหยุดพักรถยังร้านอาหาร แต่ละคนหวนระลึกนึกถึงคุณปู่ พูดขอบคุณและเตรียมตัวร่ำลาจาก
– แบบสอง, หลังจากสมาชิกในครอบครัวได้รับการปล่อยตัวจากตำรวจ สัญญาว่าจะไม่ส่งลูกสาวเข้าประกวดนางงามใดๆใน California เป็น Sheryl สวมมงกุฎให้กับ Richard ซึ่งก็ได้ถอดออกแล้วสวทให้กับ Olive และสุดท้ายพ่อถามว่า ‘ใครต้องการไอศกรีมบ้าง?’
– แบบสาม, Olive กำลังซุ่มมองทางซ้ายขวา ขณะที่คนอื่นๆกำลังโต้เถียงเรื่องการขโมยถ้วนรางวัล เมื่อหนทางโล่งจะเห็นว่า Frank สวมมงกุฎ และใครสักคนถือถ้วยรางวัล
– แบบสี่, คล้ายๆแบบสามแต่จะลากยาวไปถึง ทุกคนพากันวิ่งไปที่รถขับกลับบ้าน

ตอนจบแบบในหนังคือ ทุกคนช่วยกันเข็นรถออกเดินทาง และวินาทีนั้นรถสองคัน
– คันขาว กำลังจะจ่ายเงิน ออกแบบวิธีปกติทั่วไป แต่เต็มไปด้วยความชักช้าเสียเวลาา
– มาทีหลังแต่เบรคไม่ได้เลยพุ่งพังเขตกั้น ออกตรงทางเข้า เรื่องอะไรฉันต้องรอคอยให้เสียเวลาชีวิต

ตัดต่อโดย Pamela Martin สัญชาติอเมริกัน ผลงานเด่นๆ อาทิ Little Miss Sunshine (2006), The Fighter (2010), Hitchcock (2012), Battle of the Sexes (2017) ฯ

หนังดำเนินเรื่องโดยไกล่เกลี่ยเรื่องราวของครอบครัว Hoover โดยมีจุดศูนย์กลาง ‘Sunshine’ คือลูกสาวคนเล็ก Olive เพราะความไร้เดียงสาอ่อนเยาว์วัยของเธอ ผู้ใหญ่ทุกคนจึงทะนุถนอมรักใคร่เอ็นดูอย่างที่สุด

“You start off with all these people living their separate lives and the climax of the movie is them all jumping up onstage together. So the story is really about these families starting separately and ending together”.

– Michael Arndt

นั่นคืือไดเรคชั่นของการตัดต่อเลยก็ว่าได้ อารัมบทเริ่มต้นแนะนำตัวละครแบบตัวใครตัวมันแยกกัน จากนั้นค่อยๆเรียนรู้เข้าใจความหมายสำนวน ‘รวมกันเราอยู่’ เมื่อถึงไคลน์แม็กซ์ ทุกคนจักขึ้นไปร่วมเต้นบนเวที ปกป้องความไร้เดียงสาของ Olive ไม่ให้ต้องรู้สึกอับอายขายหน้าต่อการกระทำ อันเป็นผลพวงพลอยได้จากพฤติกรรมแสดงออกของพวกเขาเอง


สำหรับเพลงประกอบ ส่วนใหญ่คือ Remix นำจากบทเพลงมีชื่อ/ศิลปินดัง เว้นเพียง Main Theme บทเพลง The Winner is … แต่งโดย Mychael Danna (เจ้าของรางวัล Oscar จากเรื่อง Life of Pi) ร่วมงานกับ DeVotchKa ส่งมอบสีสัน รอยยิ้ม ท่วงทำนองการออกเดินทางผจญภัย เต็มไปด้วยความตื่นเต้นสนุกสนาน ครึกครื้นเครง อลเวง วาดฝันถึงอนาคตเป้าหมาย แพ้ชนะมิใช่เรื่องสำคัญ ขอแค่พยายามมุมานะ ได้ทำในสิ่งต้องการ แค่นั้นก็เพียงพอสุขใจ

งานเพลงมีลักษณะเสริมสร้างบรรยากาศ เติมเต็มสัมผัสทางอารมณ์ให้กับเรื่องราว ซึ่งนอกจากนี้จักเรียบเรียงนำมาแค่ทำนอง อาทิ
– Sufjan Stevens บทเพลง Chicago และ No Man’s Land
– DeVotchKa บทเพลง Enemy Guns, La Llorona, We’re gonna make it, Till the End of Time
– Jon Ehrlich บทเพลง Information Highway, Change the World
– Pulse บทเพลง Give It Up
– Julie Griffin บทเพลง Let It Go
ฯลฯ

และสำหรับบทเพลงเต้นในงานประกวดของ Olive คือ Super Freak (1981) แต่งโดย Rick James & Alonzo Miller, ขับร้องโดย Rick James

Little Miss Sunshine คือเรื่องอลเวงของครอบครัวครึกครื้นเครง (Dysfunctional Family) ที่บรรดาผู้ใหญ่เต็มไปด้วยความเห็นแก่ตัว ลุ่มหลงใหลในชัยชนะ ปลูกฝังโลกทัศนคติเพี้ยนๆให้กับบุตรหลาน เป็นเหตุให้เขาและเธอดำเนินรอยตามในหนทางผิดๆ ซึ่งพอตระหนักรับรู้ว่านั่นไม่ใช่สิ่งดีแน่ๆ แทนที่จะปล่อยให้น้องคนเล็กถูกสังคมรุมประณาม ทุกคนเลยยินยอมตามเสียสละตนเอง ‘ปกป้อง’ความบริสุทธิ์ของพระอาทิตย์ดวงนี้ไม่ให้มอดดับ

เพราะความยังเด็ก เยาว์วัยไร้เดียงสาของ Olive จึงยังรับอิทธิพลจากครอบครัว พ่อ-แม่-พี่ ปู่-ลุง เลียนแบบในสิ่งที่ตนเองชืื่นชอบหลงใหล ไม่รู้ด้วยซ้ำว่านั่นถูกต้องเหมาะสมควร สังคมยินยอมรับได้ประการใด ทุกสิ่งถ่ายทอดออกมาด้วยความบริสุทธิ์จากใจ เหมือนน้องคนหนึ่งในวง BNK48 พลาดพลั่งสวมใส่เสื้อสัญลักษณ์สวัสดิกะขึ้นบนเวที น่าเสียดายเธอไม่มีเกราะกั้นกันชน เลยโดนสังคมปู้ยี้ระยำ รุมประณามจากความอ้างไม่รู้ ถึงกล่าวขอโทษทรุดร่ำร้องไห้ กลับยังมีอีกมากไม่ยอมหยุดยั้ง นี่จะกดย่ำจมมิดดินไม่อโหสิให้อภัยกันเลยหรืออย่างไร!

ถึงผู้ใหญ่ในครอบครัว Hoover จะมีความบ้าบอคอแตก เพี้ยนคลั่งประการใด แต่ผมก็อดไม่ได้จะต้องยกย่องสรรเสริญ เพราะพวกเขาต่างยังมีสติรับรู้ได้ และพยายามทำบางอย่างเพื่อปกป้องน้องคนเล็กสุดท้อง ผู้เปรียบได้กับ Little Miss Sunshine ไม่ว่าจะถูกสังคมรุมประณามพวกตนเช่นไร ก็เรื่องของหมาเห่าหอน ฉันไม่ใครจองเวรจองกรรมกับพวกมันอยู่แล้ว

สำหรับคนอื่นๆในครอบครัว บทเรียนจากการเดินทางครั้งนี้ อาทิ
– พ่อ-แม่, ชัยชนะอันดับหนึ่ง ไม่ใช่ทุกสิ่งอย่างในชีวิตเสมอไป
– Frank-Dwayne, ความตึงเครียดเข้มข้นจริงจังมากเกินไป ก็หาใช่เรื่องดีเช่นกัน
– ปู่, การมาครุ่นคิดบางสิ่งได้ยามแก่ ทุกอย่างก็สายเกินไปแล้ว ใครยังหนุ่มแน่นแข็งแรง อยากทำอะไรจงเร่งรีบร้อน (จักได้ไม่เสียใจภายหลัง)

รวมๆแล้วสิ่งที่ Little Miss Sunshine นำเสนอถ่ายทอดออกมา เสี้ยมสอนให้ผู้ชมเรียนรู้จักการใช้ชีวิต อย่ารั้งรีรอจนแก่เฒ่า อยากทำอะไรก็ทำไป แต่ระวังอย่างตึงเครียดหรือหย่อนยานมากเกิด ควรรู้จักความเพียงพอดีในชีวิต ‘Fuck Everything!’ เอามันทุกอย่างเท่าที่มีศักยภาพสามารถ นี่จะสามารถส่งอิทธิพลต่อรุ่นลูกหลาน มองเห็นเลียนแบบอย่างตาม (จักได้ไม่ต้องมาเหนียงละอาย ขายขี้หน้าเอาตอนหลัง)

ครอบครัวเป็นสถาบันที่ควรมีความสมัครสมานฉันท์ สามัคคี มีปัญหาร่วมแก้ สุขทุกข์ร่วมเสพ พึ่งพาอาศัยกันและกัน ไม่มีทางที่ใครสามารถเข็นรถคนเดียวแล้วขับเคลื่อนไปข้างหน้า … ขนาดปู่จากไปแล้วยังมีประโยชน์!

ถึงแม้ทุกคนเต็มไปด้วยความแตกต่าง แต่เมื่อไหร่เห็นพ้องในจุดประสงค์ร่วม เชื่อเถอะทุกปัญหาจักได้รับการแก้ไข หวนระลึกมองย้อนกลับไป คงได้หัวเราะยิ่งร่า มีเรื่องเล่าวันวานไม่รู้จักจบสิ้นสุด


เข้าฉายเทศกาล Sundance Film Festival ได้รับการประมูลชนะจาก Fox Searchlight Pictures ยื่นข้อเสนอ $10.5 ล้านเหรียญ + 10% กำไร (ทุนสร้างจริงๆคือ $8 ล้านเหรียญ) ทุบสถิติมูลค่าลิขสิทธิ์สูงสุดของเทศกาลขณะนั้นโดยทันที (เรื่องที่แซงได้คือ The Birth of Nation ที่ $17.5 ล้านเหรียญ)

หนังทำเงินในอเมริกา $59.89 ล้านเหรียญ รวมทั่วโลกได้เลขกลมๆ $100.5 ล้านเหรียญ, เข้าชิง Oscar 4 สาขา คว้ามา 2 รางวัล
– Best Picture
– Best Supporting Actor (Alan Arkin) ** คว้ารางวัล
– Best Supporting Actress (Abigail Breslin)
– Best Original Screenplay ** คว้ารางวัล

ตามระเบียบของ Academy รายชื่อโปรดิวเซอร์ที่สามารถเข้าชิง Best Picture ได้เพียง 3 คน แต่หนังเรื่องนี้มีทั้งหมด 5 คน ผู้โชคดีคือ David T. Friendly, Peter Saraf, Marc Turtletaub ส่วนที่ถูกตัดออก Albert Berger และ Ron Yerxa นั่นทำให้ปีถัดมามีการพิจารณาระเบียบข้อนี้ใหม่ และจะอนุญาตเป็นเรื่องๆไป

ส่วนตัวค่อนข้างชื่นชอบหนังอย่างมาก ประทับใจการใช้คำว่า ‘Fuck’ อย่างเฉลียวฉลาด หลายๆมุกเรียกเสียงหัวเราะจัดหนัก และเนื้อหาแฝงข้อคิดคติสอนใจอย่างมีสาระประโยชน์

“ต้องดูให้ได้ก่อนตาย” เพราะไม่ใช่ทุกคนจะสามารถเป็นผู้ชนะ เราจึงควรเรียนรู้จักความพ่ายแพ้ ยินยอมรับ และให้เกียรติคนอื่น (ทั้งผู้แพ้ผู้ชนะ) มีความสุขพึงพอใจกับผลลัพท์ ถ้าได้ทุ่มเทพยายามอย่างเต็มที่แล้ว

จัดเรต PG เพราะคำหยาบคายของปู่ และความบ้าๆบอๆของครอบครัวนี้

คำโปรย | Little Miss Sunshine แม้ไม่ใช่ที่หนึ่ง แต่มีความตราตรึง และส่องแสงสว่างเจิดจรัสจร้า
คุณภาพ | ขำลิ้ก้อี้
ส่วนตัว | ชื่นชอบ

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: