The White Sheik

Lo Sceicco Bianco (1952) Italian : Federico Fellini ♥♥♥

The White Sheik คือภาพยนตร์ฉายเดี่ยวเรื่องแรกของว่าที่ปรมาจารย์ผู้กำกับ Federico Fellini แม้ยังไม่โดดเด่นชัดสไตล์ Felliniesque แต่ตัวละครก็ราวกับหลุดเข้าไปในโลกแห่งความเพ้อฝัน พานพบเจอบทเรียนแห่งความผิดพลาดนั้น ตื่นเช้ามาสามารถเริ่มต้นเข้าใจอะไรใหม่ๆด้วยตนเอง

มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่ไร้เดียงสา เมื่อเกิดความลุ่มหลงใหลในบางสิ่งอย่าง มักปล่อยตัวกายใจ ให้เคลิบเคลิ้ม ละล่องลอยไป จนกว่าจะสามารถตระหนักได้ถึงความโง่เขลาเบาปัญญา ถึงสามารถปลุกตื่นลืมตา และเฉลียวฉลาดทันคน

ผลงานแรกแจ้งเกิดของผู้กำกับ Federico Fellini อาจไม่ใช่เรื่องที่มีความกลมกล่อมลงตัวสักเท่าไหร่ แต่เนื้อหาแฝงข้อคิดน่าสนใจ เพลงประกอบสุดไพเราะของ Nino Rota และอะไรหลายๆอย่างพบเห็นเป็นสไตล์ลายเซ็นต์เด่นชัดในผลงานถัดๆมา

ก่อนไปเริ่มต้น ขอแนะนำบทเพลงของ Nino Rota คือครั้งแรกที่ร่วมงานกับ Fellini ประทับใจมากๆจนกลายเป็นคู่หูขาประจำ ฟังประกอบไปด้วยจะช่วยเพิ่มบรรยากาศ อรรถรสในการอ่านมากทีเดียว

“I had grown affectionate to that soundtrack and I would not change it. Nino agreed immediately with me, saying the tunes I had used for shooting were really beautiful. It was just what was needed, he said, I couldn’t do better. He said just this, and meanwhile, he was toying with his fingers on the piano keyboard. What was this, I asked after a while? What were you playing? And, looking absent-minded, he replied, when? Now, I insisted, while you were speaking. You played something. Indeed, said Nino? I don’t know, I don’t remember. And he kept caressing the keys, seemingly at random, here and there smiling at me, looking as if he wanted to reassure me”.

– Federico Fellini

เกร็ด: หนังสัญชาติอิตาเลี่ยนแทบทุกเรื่องยุคสมัยนั้น ใช้การพากย์เสียงทับภายหลัง ไม่ใช่ Sound-on-Film ดังนั้นระหว่างการถ่ายทำจึงมักมีการเปิดเพลงบรรเลง สำหรับสร้างบรรยากาศในการทำงานให้กับนักแสดง

Federico Fellini (1920 – 1993) ผู้กำกับภาพยนตร์สัญชาติอิตาเลี่ยน หนึ่งในบุคคลทรงอิทธิพลสุดในวงการภาพยนตร์ เกิดที่ Rimini, Italy ในครอบครัวชนชั้นกลาง อาศัยอยู่บ้านติดทะเล Adriatic Sea ตั้งแต่เด็กมีความชื่นชอบวาดรูป อ่านการ์ตูน เล่นหุ่นเชิด ตอนอายุ 6 ขวบ ได้รู้จักเปิดโลกทัศน์กับ Grand Guignol (โรงละครเวที) พบเห็นการแสดงของตัวตลกคณะละครสัตว์, รับชมภาพยนตร์, การแสดงละครเวที ฯ ในช่วงผู้นำเผด็จการ Benito Mussolini ร่วมกับน้องชาย Riccardo สมัครเป็นสมาชิก Avanguardista (Fascist Youth)

พออายุ 17 เปิดร้านเล็กๆที่ Rimini รับจ้างวาดภาพ Portrait ทำโปสการ์ด เขียน Gag Writer ช่วงหนึ่งเป็นนักเขียนการ์ตูนรายสัปดาห์ สมัครเข้าโรงเรียนกฎหมายที่ University of Rome แต่ไม่เคยเข้าเรียนสักครั้ง เอาเวลาไปเขียนบททความ ตีพิมพ์ลงในนิตยสาร Marc’Aurelio, มีชื่อขึ้นเครดิตเขียนบทครั้งแรก Il pirata sono io (1943) ของผู้กำกับ Mario Mattoli, พบเจอ Giulietta Masino ปี 1942 แต่งงานกันปีถัดมา ลูกคนแรกแท้งเพราะตกบันได ลูกคนที่สองเกิดปี 1945 อายุเพียงเดือนเดียวเสียชีวิตจากโรคสมองอักเสบ (Encephalitis) พวกเขาจึงพอแล้ว อาศัยอยู่ด้วยกันจนแก่เฒ่า

หลังสงครามโลกครั้งที่สอง จับพลัดจับพลูพบเจอร่วมงานกับ Roberto Rossellini เขียนบทภาพยนตร์เรื่อง Rome, Open City (1945) เปิดประตูสู่ Italian Neorealism ตามด้วย Paisà (1946), ร่วมกำกับภาพยนตร์ครั้งแรกกับ Alberto Lattuada เรื่อง Variety Lights (1951)

สำหรับผลงานฉายเดี่ยวครั้งแรก The White Sheik (1952) ดั้งเดิมคือเรื่องราวพัฒนาโดย Michelangelo Antonioni (ว่าที่ผู้กำกับดังสัญชาติอิตาเลี่ยน) ตั้งใจที่จะกำกับสร้างภาพยนตร์ด้วยตนเอง โดยมีแนวคิดเกี่ยวกับ Fumetti นิตยสารรายสัปดาห์ที่มีลักษณะคล้ายการ์ตูนช่อง (Comic Strip) แต่แทนที่จะเป็นรูปภาพวาด ใช้นักแสดงเข้าฉากถ่ายแบบภาพนิ่ง ซึ่งเรื่องราวมักเป็นแนว Romantic ชวนเพ้อฝัน กำลังได้รับความนิยมอย่างสูงในอิตาลีช่วงทศวรรษนั้น

สำหรับคนจินตนาการไม่ออกว่า Fumetti มีลักษณะเช่นไร ดูจากภาพตัวอย่างนะครับ นำนักแสดงมาเข้าฉาก ถ่ายภาพนิ่ง แล้วนำมาตัดปะลงในช่อง ใส่ข้อความสำหรับพูดคุยสนทนา/บรรยาย

แต่ Antonioni ก็ได้เคยสร้างหนังสั้นแนวสารคดี ลักษณะคล้ายๆ Fumetti มาแล้วหลายเรื่อง อาทิ Lies of Love (1949), La funivia del Faloria (1950) ฯ เลยล้มเลิกความตั้งใจนั้น มอบบทที่พัฒนาไว้คร่าวๆให้โปรดิวเซอร์ Carlo Ponti ซึ่งได้ส่งต่อ Fellini และนักเขียนขาประจำ Tullio Pinelli, Ennio Flaiano พัฒนากลายเป็นบทภาพยนตร์

หลังจากแต่งงาน Ivan Cavalli (รับบทโดย Leopoldo Trieste) นำพาภรรยา Wanda (รับบทโดย Brunella Bovo) เดินทางไปกรุงโรมเพื่อฮันนีมูน พบเจอญาติพี่น้อง และเข้าเฝ้าพระสันตะปาปา แต่เช้าวันแรกเมื่อพวกเขาเดินทางมาถึง ระหว่างสามีกำลังงีบหลับพักผ่อน เธอแอบหนีระหว่างแสร้งอาบน้ำ เดินทางไปยังสำนักงานผลิตนิตยสาร Fumetti เพื่อนัดพบเจอกับพระเอกหนุ่มสุดหล่อ The White Sheik (รับบทโดย Alberto Sordi) ผู้นำแสดงในเรื่องราวดังกล่าวนั้น แต่เหตุการณ์จับพลัดพลู อยู่ดีๆเธอถูกผลักขึ้นรถ แล้วไปโผล่ท่ามกลางทะเลทรายห่างไกลจากกรุงโรม 20 ไมล์ กลายเป็นหนึ่งในตัวประกอบเข้าฉากถ่ายทำ ซะงั้น!

ฝั่งของ Ivan Cavalli ตื่นขึ้นมาเมื่อไม่พบเจอภรรยา เต็มไปด้วยความตื่นตระหนกกลัว เหงื่อแตกพลั่กๆ ครุ่นคิดว่าเธอคงทอดทิ้งเขาไป แล้วนี่ฉันจะเอาหน้าไปพบเจอญาติๆ ครอบครัว พระสันตะปาปาได้อย่างไร! พยายามปลิ้นปล้อน กะล่อน เอาตัวรอด โกหกหลอกลวง แม้นั่นจะเป็นสิ่งขัดต่อศักดิ์ศรี เกียรติยศของตนเอง กระทั่งยามค่ำคืนนั้นหมดสิ้นเรี่ยวแรงนั่งร่ำร้องไห้ พานพบเจอสองสาวโสเภณี หนึ่งในนั้นคือ Cabiria (รับบทโดย Giuletta Masina) จะเป็นอย่างไรไปจินตนาการเอาเองแล้วกัน


นำแสดงโดย Alberto Sordi (1920 – 2003) นักร้องนักแสดง สัญชาติอิตาเลี่ยน เกิดที่กรุงโรม โตขึ้นเข้าเรียน Milan’s Dramatic Arts Academy แต่ถูกขับไล่ออกเพราะสำเนียงโรมันหนาเตอะ ระหว่างนั้นเลยไปฝึกหัดเป็นนักร้องโอเปร่า เสียง Bass จากนั้นกลายเป็นนักพากย์ นักแสดงภาพยนตร์ โด่งดังกับ The White Sheik (1952), I Vitelloni (1953), The Great War (1959), The Best of Enemies (1961), Il diavolo (1963) ** คว้ารางวัล Golden Globe: Best Actor – Comedy or Musical

รับบท The White Sheik พระเอกในนิตยสาร Fumetti คารมเป็นต่อ รูปหล่อไม่เท่าไหร่ ร่างกายบึกบึนกำยำ เป็นที่ลุ่มหลงใหลของสาวๆ แต่แท้จริงแต่งงานมีภรรยาอยู่แล้ว แค่เบื่อหน่ายกับความเจ้ากี้เจ้าการ เลยพยายามดิ้นพร่าน ทำตัวเสเพลย์บอย คอยเอารัดเอาเปรียบหญิงสาวอ่อนเยาว์วัย

เกร็ด: Sheik มาจากภาษาอาหรับ (شيخ) แปลตามตัวคือ ผู้อาวุโส‎ แต่มักใช้เรียกคนที่มีตำแหน่งสำคัญๆ หัวหน้าเผ่า ผู้รู้ในศาสนา(อิสลาม)

การปรากฎตัวของ The White Sheik เป็นอะไรที่ตราตรึงมากๆ อยู่สูงเกินไขว่คว้า ไม่สามารถเอื้อมมือจับถึง กระทั่งเมื่อกระโดดตกลงมาบนภาคพื้นดิน พาหญิงสาวไปพร่ำพรอดรักกลางทะเล ช่างล่องลอยราวกับอยู่ในความเพ้อใฝ่ฝัน กระทั่งเมื่อหวนกลับฝั่งเข้ามา พานพบเจอโลกความจริงที่แสนเหี้ยมโหดร้าย

ผมละโคตรพิศวงกับความไม่หล่อของ Sordi แต่สาวๆอิตาเลี่ยนยุคสมัยนั้น กลับชื่นชอบในความกำยำ บึกบึน อวบอ้วน ว่าไปภาพลักษณ์พี่แกแลดูคล้ายๆ Oliver Hardy หนึ่งในนักแสดงตลกคนโปรดของ Fellini สามารถแสดงได้ทั้งโรแมนติกหวานแหวว และคอมเมอดี้ขี้แย


Leopoldo Trieste (1917 – 2003) นักแสดงสัญชาติอิตาเลี่ยน เกิดที่ Reggio Calabria ทีแรกไม่ได้มาเต็มใจคัดเลือกนักแสดง The White Sheik (1952) แต่กลายเป็นบทสร้างชื่อโด่งดัง ผลงานเด่นๆติดตามมา อาทิ I vitelloni (1953), Il peccato degli anni verdi (1960), The Godfather Part II (1974), Cinema Paradiso (1988), L’uomo delle stelle (1995) ฯ

รับบท Ivan Cavalli เสมียนจากครอบครัวชนชั้นกลางที่มีชื่อเสียง หน้าตาในสังคมพอสมควร นั่นเองทำให้เขาเป็นคนเจ้ากี้เจ้าการ ขี้จุกจิก เรื่องมากความ ต้องการทุกสิ่งอย่างให้เหมือนเปะดั่งเผด็จการ แต่ความผิดพลาดจากภรรยาป้ายแดง ทำให้เขาเรียนรู้ที่จะผ่อนปรน ให้อภัย เพราะตนเองก็ได้กระทำบางสิ่งอย่างไม่น่าให้อภัยอยู่เหมือนกัน

หนวดของ Trieste โดดเด่นเป็นสง่า หยาดเหงื่อเม็ดโป้งๆแตกพลักไหลลงมา ดวงตาเอ๋อเหรอเบิกโพลง สะท้อนถึงความเครียด กดดัน ชีวิตคงไม่เคยสับปะรดขนาดนี้ จนต้องหาหนทางวิธีปลิ้นปล้อน กะล่อน ดิ้นรนเอาตัวรอด ช่างดูน่าสงสารเห็นใจ ขณะเดียวกันก็ชวนให้สมน้ำหน้าเหลือทน ขบขันจากการแสดงเน้น Slapstick Comedy ส่วนผสมของ Charlie Chaplin กับ Ben Turpin


Brunella Bovo (1932 – 2017) นักแสดงหญิง สัญชาติอิตาเลี่ยน เกิดที่ Padua แม้ไม่ได้มีชื่อเสียงโด่งดังสักเท่าไหร่ ส่วนใหญ่แสดงภาพยนตร์เกรดบี แต่ผลงานโลกจดจำคือ Miracle in Milan (1951) และ The White Sheik (1952)

รับบท Wanda Giardino Cavalli ภรรยาสาวสุดสวย อ่อนเยาว์วัยไร้เดียงสา ผู้มีความลุ่มหลงใหลพระเอกในความเพ้อฝันจินตนาการ ต้องการพานพบเจอตัวจริง ปล่อยตัวปล่อยใจจนเลยเถิดไป กระทั่งได้รับรู้ว่าชีวิตหาได้ต้องเป็นดั่งฝัน สามีที่เพิ่งแต่งงานด้วยเท่านั้น คือ The White Sheik แท้จริง!

ผมละชื่นชอบความใสซื่อบริสุทธิ์ไร้เดียงสาของ Bovo เสียจริง ปล่อยตัวปล่อยใจ คล้อยตามไปกับวิถีแห่งโลก แรกๆยังพอหักห้ามใจตนเองอยู่ได้บ้าง สุดท้ายก็มิอาจต้านทานคลื่นกระแสลมพัดแรง เมื่อขึ้นฝั่งเลยกลายเป็นพายุคลุ้มคลั่ง ถาโถมภายในรุนแรงถึงขนาดคิดฆ่าตัวตาย ซึ่งเมื่อทุกสิ่งอย่างพัดผ่านไป เลยกลายเป็นบทเรียนแห่งชีวิตทรงคุณค่ายิ่งเหนือสิ่งอื่นใด

น่าเสียดายจริงๆที่ Bovo ไม่ได้มีชื่อเสียงอะไรมากในอิตาลี อาจเพราะประเทศนี้ชื่นชอบนักแสดงในบทบาทหยาบกร้าน กระด้าง เข้มแข็งแกร่งทั้งภายนอก-ใน มากกว่า (แบบเดียวกับผู้ชาย ชอบแนว Macho บึกบึนกำยำ)


ถ่ายภาพโดย Arturo Gallea (1895 – 1959) สัญชาติอิตาเลี่ยน ผลงานเด่นๆ อาทิ Two Cents Worth of Hope (1952), The White Sheik (1952) ฯ

หนังถ่ายทำยังสถานที่จริงทั้งหมด Fregene, Rome, Spoleto และด้านหน้า Vatican City (เหมือนจะขออนุญาตถ่ายทำภายในไม่ได้ เลยแค่ตรงนั้นแหละ)

แม้ว่าสไตล์ Felliniesque จะยังไม่โดดเด่นชัดเท่าที่ควร แต่หนังก็มีภาพแปลกตา การกระทำน่าพิศวง ชวนให้อึ้งทึ่ง ตะลึงงัน ทำไมถึงต้องนำเสนอออกมาอย่างนั้น?

Wanda เปิดน้ำท่วมไหลเจิ่งนองออกมาจากห้อง สะท้อนถึงความสัมพันธ์ ‘น้ำเต็มแก้ว’ กับสามี ที่เต็มไปด้วยความจู้จี้จุกจิกเรื่องมาก ไม่ยินยอมให้เธอพูดบอกความต้องการใดๆออกมา เลยตัดสินใจลักลอบแอบย่องหนีไป จนกลายเป็นปัญหาลุกลามบานปลายขึ้นใหญ่โต

การห้อยโหนชิงช้าของ The White Sheik ผมแทบจะขยี้ตามองซ้ำอีกรอบ เจ้าชายที่อยู่สูงเกินเอื้อมมือไขว่คว้า ก่อนกระโดดลงมาให้สามารถจับต้องได้ ถือว่าเป็นการซ้อนทับระหว่างความจริง-เพ้อฝัน … นี่ถือเป็นจิตวิญญาณของ Fellini เลยก็ว่าได้

ฉากการถ่ายทำ ณ ริมชายหาด ช่างเต็มไปด้วยความสับสนอลม่าน (ให้ความรู้สึกวุ่นๆคล้ายๆ 8½) แต่สนุกสนานเร้าใจเสียเหลือเกิน เมื่อผู้กำกับตะโกน Shoot! Shoot! ตากล้องโยกซ้ายโยกขวา นักแสดงจะขยับเคลื่อนไหวแล้วค้างไว้ นั่นคือการถ่ายทำของ Fumetti ร้อยเรียงการแสดงภาพนิ่งเข้าด้วยกัน

การออกล่องเรือของ The White Sheik และ Wanda สะท้อนถึงช่วงเวลาสองต่อสอง ความฝันที่เคว้งคว้าง ล่องลอยไร้แก่นสาน แค่ว่าได้รับการเติมเต็มเสียงเพรียกเรียกร้องจิตใจ เสพสมหวังร่วมรัก … แม้ในแค่ระยะเวลาสั้นๆ

ทุกชุดของ Wanda จะแฝงนัยยะบางอย่างไว้
– แรกเริ่มเมื่อเดินทางมาถึงกรุงโรม เสื้อคลุมมีความมิดชิด และสวมใส่หมวกตาข่าย สะท้อนถึงชีวิตที่ราวกับอยู่ในกรงขัง เต็มไปด้วยข้อจำกัดเรียกร้องมากมายของสามี
– ชุดสูทสีขาวระหว่างใส่ไปหา The White Sheik สะท้อนถึงความบริสุทธิ์อ่อนเยาว์วัยต่อโลก
– ชุดเดรสเมื่อจับพลัดจับพลูในกองถ่าย Fumetti ราวกับเทพธิดา นางฟ้า ในโลกแห่งความเพ้อใฝ่ฝัน
– ช่วงท้ายสวมสูทสีดำ ชีวิตแปดเปลื้อนไปด้วยมลทิน แต่ปฏิเสธที่จะเอาตาข่ายมาปกปิดบังใบหน้าตนเองอีกต่อไป

ผู้ชมส่วนใหญ่น่าจะรับรู้กันดีว่า บทบาท Cabiria ของ Giulietta Masina จะถูกขยายต่อกลายเป็นภาพยนตร์ Nights of Cabiria (1957) ซึ่งการมาถึงของฉากนี้ ช่วงเวลาตกต่ำสุดในชีวิตของ Ivan Cavalli ได้รับการบำบัดถึงพอใจโดยสองสาวโสเภณี คนหนึ่งหยิบมวนบุหรี่ อีกคนจุดไฟแช็ก (สัญลักษณ์ของการร่วมรัก Swinging ควบสอง) พวกเธอรับฟังแบบไม่แคร์ยี่หร่าอะไร แค่นำพาเขาไปสู่สรวงสวรรค์ในจินตนาการก็แค่นั้น

หนังเลยเถิดไปถึงโรงพยาบาลบ้า! แต่นี่เป็นการสะท้อนถึงกลุ่มคนที่จมปลักอยู่ในความเพ้อฝันตลอดเวลา จนเห็นภาพหลอน หลอกตัวเอง ซึ่งผู้ป่วยรายนี้ถูกลากมาแย่งซีน อยู่ในเตียงที่มีลักษณะเหมือนกรงขัง เฉพาะส่วนศีรษะเท่านั้นออกมาด้านนอก สูบบุหรี่พ่นควันฉุย … อยากรู้จริงว่าป่วยเป็นอะไร ไฉนถึงถูกกักขังไว้เช่นนี้

หลังจากหนุ่ม-สาว พานผ่านช่วงเวลาร้ายๆ ครุ่นคิดได้ถึงความรักแท้จจริง พวกเขาจึงได้ก้าวเดินพาเรดสู่ดินแดนแห่งสรวงสวรรค์ นครวาติกัน ใช้ชีวิตคู่อย่างมีความสุข ยั่งยืนยง ตลอดกาลนาน (กระมัง)

ตัดต่อโดย Rolando Benedetti ที่จะได้ร่วมงานกับ Fellini อีกครั้งเรื่อง I Vitelloni (1953),

หนังดำเนินเรื่องคู่ขนานเหตุการณ์ ผ่านมุมมองสายตาของ Ivan Cavalli และศรีภรรยาป้ายแดง Wanda Giardino Cavalli ซึ่งต่างมีเรื่องวุ่นๆชวนหัว ให้อีกฝั่งฝ่ายต้องหาวิธีแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าเอาตัวรอด

ปัญหาใหญ่ๆของหนังคือจังหวะการเล่นมุก ตบมุก อยู่ดีๆมักมาถึงโดยไม่ทันตั้งตัว ขำบ้างไม่ขำบ้าง, อย่างฉากที่ Ivan Cavalli เริ่มต้นออกติดตามหาภรรยา ขณะกำลังหน้ามืดตามัวหลังจากอ่านจดหมาย อยู่ดีๆมีขบวนพาเรดวิ่งผ่านเข้ามาแบบไม่มีปี่ขลุ่ย แล้วตัวเขาถูกผลักไสให้ออกไปข้างทาง (นัยยะสะท้อนถึงตัวเขา ราวกับถูกภรรยาผลักไสทอดทิ้ง) และตอนจบตบมุกด้วยการเดินไปเก็บหมวก แล้วปรบมือให้ … คือถ้าครุ่นคิดไม่ทัน ก็อาจจะไม่รู้ว่าฉากนี้ควรขำยังไง?

สำหรับเพลงประกอบของ Nino Rota เต็มไปด้วยท่วงทำนองสนุกสนาน หรรษา ครึกครื้นเครง ราวกับอยู่ในคณะละครสัตว์ กำลังเล่นกายกรรม มายากล กระโดดโลดโผนไปมา ช่วยเติมเต็มภาพที่มีความผิดแผกแปลกตา ราวกับแฟนตาซี/ความเพ้อใฝ่ฝันของตัวละคร (และผู้กำกับ)

เกร็ด: หลายๆบทเพลงของหนัง ถูกนำไป Re-use เรื่อง La Strada (1954) ผลงานเรื่องถัดๆไปของ Fellini ด้วยนะ!


The White Sheik คือภาพยนตร์ Romantic Comedy ที่ร้อยเรียงเรื่องราวชวนเพ้อฝันของตัวละคร
– นางเอกตกหลุมรักเจ้าชายสุดหล่อในเทพนิยาย The White Sheik
– พระเอกจมอยู่กับอำนาจเผด็จการ อุดมการณ์ตั้งมั่น มีความตรงต่อเวลา และหมกมุ่นในชื่อเสียงของวงศ์ตระกูล

ทั้งคู่ต่างกำลังได้มีโอกาสพบเจอ เผชิญหน้า และเรียนรู้จักโลกความจริงที่แม้ไม่สวยงามดั่งเพ้อฝันจินตนาการ แต่เราสามารถใช้ชีวิตอยู่กับมันด้วยการเปิดอก ยินยอมรับ เข้าใจอีกฝั่งฝ่าย และสามารถยินยอมยกโทษให้อภัยเรื่องที่ผ่านเลยแล้วมาต่อกัน … นั่นคือสรวงสวรรค์จับต้องได้ของมวลมนุษย์

“Our real life is in our dreams, but sometimes dreams are a fatal abyss”.

– Wanda Giardino Cavalli

ผมครุ่นคิดว่า เราสามารถเปรียบเทียบตัวละคร Ivan Cavalli ได้กับ Fellini ขณะที่ Wanda คงไม่ต่างจากศรีภรรยา Giulietta Masina ทั้งคู่ต่างออกเดินทางสู่กรุงโรมเพื่อเติมเต็มความเพ้อใฝ่ฝันของตนเอง แต่ก็พบว่าชีวิตไม่ได้ง่ายขนาดนั้น พานพบเจอ ผ่านเรื่องร้ายๆมากมาย ตราบใดไม่ยินยอมแพ้ เปิดอกให้อภัย ยินยอมรับความผิดพลาดของอีกฝั่งฝ่าย ก็ไม่มีอะไรในโลกนี้สวยสดงดงามยิ่งกว่า สรวงสวรรค์ล้ำค่าคือสิ่งหลบซ่อนเร้นอยู่ภายในจิตใจเรา

หนังได้รับคำวิจารณ์ตอนออกฉายดีเยี่ยมทีเดียว นักวิจารณ์ชื่นชมในไดเรคชั่นผู้กำกับ Federico Fellini นำเสนอออกมาได้อย่างน่าสนใจยิ่ง แม้ไม่มีรายงานรายรับ แต่ก็น่าจะประสบความสำเร็จพอสมควร

เกร็ด: พล็อตของหนัง เป็นแรงบันดาลใจให้กับ To Rome with Love (2012) กำกับโดย Woody Allen

ส่วนตัวชื่นชอบหนังมากๆ แม้จะขำบ้าง ไม่ขำบ้าง พบเห็นหลายๆจังหวะมุกยังไม่กลมกล่อมลงตัวสักเท่าไหร่ แต่ที่คลั่งไคล้คือจิตวิญญาณ ตัวตน ความสนใจของ Federico Fellini พบเห็นได้ตั้งแต่ผลงานเรื่องแรกๆนี้ และเพลงประกอบของ Nino Rota เคลิบเคลิ้ม สุดฟิน!

The White Sheik คือผลงานที่มักมองข้ามจากแฟนๆผู้กำกับ Fellini แต่ขอแนะนำอย่างยิ่งเลยนะครับ เพื่อจะได้เรียนรู้จักตัวตน แนวความคิด สิ่งสนใจ ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้น วิวัฒนาการ ก่อนก้าวขึ้นสู่ระดับตำนาน … นี่เช่นกันกับคนที่ไม่ใช่แฟนคลับ หารับชมได้ทางช่อง Criterion อาจทำให้คุณตกหลุมรัก คลั่งไคล้ ลุ่มหลงใหลปรมาจารย์ผู้กำกับคนนี้ขึ้นมาก็เป็นได้

จัดเรต PG กับการจับพลัดจับพลู และความใสซื่อไร้เดียงสาต่อโลกของตัวละคร

คำโปรย | Lo Sceicco Bianco เริ่มต้นโลกแห่งความเพ้อฝันของ Federico Fellini พอจะพบเห็นร่องรอย วิวัฒนาการ จิตวิญญาณ แต่ยังไม่กลมกล่อมลงตัวสักเท่าไหร่
คุณภาพ | พอใช้-ยังไม่กลมกล่อมเท่าไหร่
ส่วนตัว | ชื่นชอบมากๆ

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: