
Lola Montès (1955)
: Max Ophüls ♥♥♥
Lola Montez (1821–61) คือหญิงสาวที่ถูกสังคมยุคสมัยนั้นตีตรา ตำหนิต่อว่าแสดงพฤติกรรมไม่เหมาะสม เพียงเพราะต้องการเป็นตัวของตนเอง ใช้ชีวิตอย่างอิสรภาพ ครุ่นคิดอยากทำอะไรก็ทำ รวมถึงการเปลี่ยนคนรักไม่ซ้ำหน้า หนึ่งในนั้นคือ King Ludwig I of Bavaria เลยก่อให้เกิดเหตุประท้วงขับไล่ จำต้องอพยพลี้ภัยสู่สหรัฐอเมริกา แล้วนำเรื่องอื้อฉาวทั้งหมดมาขายผ้าเอาหน้ารอด
เกร็ด: ในโปสเตอร์ฉบับฉายสหรัฐอเมริกา มีการเขียนอีกชื่อหนึ่งของหนัง The Sins of Lola Montes
แม้ไม่ได้ตั้งใจให้เป็นผลงานเรื่องสุดท้าย แต่มันคือโชคชะตาของผู้กำกับ Max Ophüls แทบไม่แตกต่างจากตัวละครที่สรรค์สร้าง Lola Montès นับเป็นความสูญเสียครั้งใหญ่ที่ไม่มีใครคาดคิดถีง แต่ก็ทิ้งภาพยนตร์มากมายให้โลกทั้งใบได้อึ้งทึ่ง และกาลเวลาก็ค่อยๆทำให้ชื่อเสียงของ Ophüls ก้าวไปถึงระดับตำนาน
ครั้งแรกครั้งเดียวถ่ายทำด้วยฟีล์มสี Eastmancolor อัตราส่วน CinemaScope (อัตราส่วน 2.55:1) แม้ไม่ใช่ความตั้งใจดั้งเดิม(ที่ครุ่นคิดว่าคงถ่ายภาพขาว-ดำ เหมือนผลงานอื่นๆ) แต่การปรับเปลี่ยนแปลงนั้นได้แสดงให้เห็นถึงอัจฉริยภาพ วิสัยทัศน์ ใช้ประโยชน์จากขอบเขต/ข้อจำกัดใหม่ ได้อย่างทรงประสิทธิภาพสูงสุดๆ … แลกมากับการกลายเป็นภาพยนตร์ทุนสร้างสูงสุดในยุโรปขณะนั้น
Cinemascope, a process here used to the maximum of its potential for the first time!
François Truffaut
แต่ผลลัพท์เมื่อตอนออกฉายกลับล้มเหลวย่อยยับเยิน ผู้ชมสมัยนั้นไม่เข้าความซับซ้อนของหนัง โดยเฉพาะวิธีดำเนินเรื่องด้วยการเล่าย้อนอดีต (Flashback) เพียงนักวิจารณ์นิตยสาร Cahiers du Cinéma และกลุ่มว่าที่ผู้กำกับแห่งยุคสมัย French New Wave แสดงอาการคลั่งไคล้อย่างออกนอกหน้า กลายเป็นอิทธิพล แรงบันดาล ซูฮกถีงความยอดเยี่ยมยิ่งใหญ่
The cinematographic year now ending has been the richest and most stimulating since 1946. It opened with Fellini’s La Strada, and its apotheosis is Max Ophüls’ Lola Montès.
จากบทวิจารณ์ของ François Truffaut ตีพิมพ์ลงนิตยสาร Cahiers du Cinéma
น่าเสียดายที่ผมไม่ค่อยประทับใจหนังสักเท่าไหร่ รู้สีกเหมือนเรื่องราวยังขาดๆหายๆ (นั่นเพราะฟุตเทจบางส่วนสูญหายไปโดยกรรไกรของโปรดิวเซอร์ แม้ได้รับการค้นพบ บูรณะ ก็เหมือนยังไม่ครบถ้วนสมบูรณ์) ในส่วนคณะละครสัตว์ดูสับสนวุ่นวายเกินไป (แต่ก็มีอะไรๆให้ครุ่นคิดวิเคราะห์เยอะมากๆ) และโดยเฉพาะการแสดงของ Martine Carol จืดชืด ไร้ความตราตรึง เพียงหน้าอกใหญ่ที่ชวนให้ถวิลหา
ก่อนอื่นขอกล่าวถึง Lola Montez ชื่อจริง Eliza Rosanna Gilbert (1821-61) เกิดที่ County Sligo, Connacht ประเทศ Ireland เพียงขวบปีกว่าๆ ครอบครัวออกเดินทางสู่ประเทศอินเดีย แต่ไม่ทันไรบิดาก็ล้มป่วยเสียชีวิต มารดาซึ่งอายุเพียง 19 ปี แต่งงานใหม่กับผู้หมวดหนุ่ม หลงใหลตามใจเด็กหญิงจนเสียคน เลยถูกส่งไปอยู่ครอบครัวของพ่อเลี้ยงที่ Scotland แต่ก็ไม่สามารถแก้ไขนิสัยแก่นแก้ว ดื้อรั้น เอาแต่ใจ ย้ายมาอยู่กี่พี่เขยที่ Sunderland, พออายุ 16 ก็หนีตามแฟนหนุ่ม ครองรักอยู่ 5 ปีที่ Calcatta, India จากนั้นทำงานเป็นนักเต้นใช้ชื่อว่า Lola Montez, the Spanish dancer
Lola Montez เริ่มมีชื่อเสียงตั้งแต่ปี 1844 ไม่ใช่เพราะความสามารถด้านการเต้น หรือแสดงละครเวที แต่คือความสัมพันธ์ชู้สาวกับคีตกวีชื่อดัง Franz Liszt จากนั้นเธอก็เริ่มออกเดินทางไปทั่วยุโรป มีข่าวคาวกับนักเขียน Alexandre Dumas, เจ้าของกิจการหนังสือพิมพ์ Alexandre Dujarier, และปี 1846 เมื่อมาถึง Munich ได้กลายเป็นชู้รัก/นางสนมของ King Ludwig I of Bavaria
ข่าวลือเล่าว่า: ครั้งแรกที่ King Ludwig พบเจอกับ Lola Montez สอบถามว่าหน้าอกเธอเป็นของจริงหรือเปล่า? ซึ่งหญิงสาวก็กระชากเสื้อเปิดออกให้เชยชม
เพียงปีกว่าๆที่ Lola Montez ได้กลายเป็น Gräfin von Landsfeld (Countess of Landsfeld) ได้ทำสิ่งต่างๆขัดแย้งต่อขนบวิถี ธรรมเนียมประเพณี สนับสนุนแนวคิดเสรี (liberalism) ต่อต้านคาทอลิก (anti-Catholicism) โจมตีนักบวชคณะ Jesiuts, ไล่ออกรัฐมนตรี Karl von Abel, ทั้งยังสั่งปิดมหาวิทยาลัย Munich University ฯลฯ เป็นเหตุให้เกิดการประท้วงขับไล่ กลายมาเป็นการปฏิวัติ 1848 ผลลัพท์ทำให้เธอต้องหลบหนีภัยสู่ Switzerland ส่วน King Ludwig จำต้องสละราชสมบัติ แล้วแต่งตั้งบุตรคนโต Maximilian II ขึ้นครองราชย์แทน
การเดินทางของ Lola Montez ยังคงไม่สิ้นสุด แต่งงานใหม่กับนายทหารม้า George Trafford Heald แต่ข้อเรียกร้องเมื่อเซ็นใบหย่า ต่างฝ่ายต่างห้ามแต่งงานใหม่ถ้าอีกฝ่ายยังมีชีวิตอยู่ นั่นทำให้เมื่อปี 1851 เธอจึงขึ้นเรือออกเดินทางสู่สหรัฐอเมริกา กลายเป็นนักเต้น นักแสดง พัฒนาบทละคร Lola Montez in Bavaria ติดตามด้วย Who’s Got the Countess? นำเรื่องอื้อฉาวของตนเองมาขายผ้าเอาหน้ารอด กระทั่งหลังจาก Heald เสียชีวิต เลยแต่งงานใหม่กับนักหนังสือพิมพ์ Patrick Hull แล้วก็อยู่ด้วยกันได้ไม่นานอีกนะแหละ
ช่วงบั้นปลายชีวิตเมื่อไม่มีใครว่าจ้างงาน กลายเป็นนักเทศน์สอนจริยธรรม (นำจากประสบการณ์ตนเอง) ทั้งยังเขียนหนังสืออัตชีวประวัติ แต่ก็ยังชอบใช้ชีวิตแบบชาว Bohemian ออกเดินทางไปเรื่อยๆ Australia, เกาะอังกฤษ ฯลฯ จนกระทั่งล้มป่วย syphilis เสียชีวิตที่ Brooklyn, New York ขณะอายุเพียง 39 ปี
อ่านประวัติภาษาไทยเต็มๆได้ที่: https://www.blockdit.com/posts/60f15ce5ca4de90b606def98

รวบรวมอยู่ในอัลบัม Schönheitengalerie (แปลว่า Gallery of Beauties)
จุดเริ่มต้นภาพยนตร์เรื่องนี้มาจากสตูดิโอ Gamma Films ครุ่นคิดอยากสรรค์เรื่องราวอัตชีวประวัติ Lola Montes ว่าจ้างนักเขียนนวนิยาย Cecil Saint-Laurent ให้มาพัฒนาบทจนแล้วเสร็จ จากนั้นทาบทามนักแสดง Martine Carol ที่แม้ฝีมือไม่เท่าไหร่ แต่ชื่อเสียงและความสำเร็จ การันตีว่าจะสามารถสรรหางบประมาณเพิ่มเติมได้ไม่ยาก
สำหรับผู้กำกับ แรกเริ่มติดต่อ Michael Powell เพราะความประทับใจผลงาน The Red Shoes (1948) ติดตามด้วย Christian-Jacque (สามีของ Martine Carol ขณะนั้น) จนกระทั่งส้มหล่นใส่ Max Ophüls ทีแรกก็บอกปัดปฏิเสธ แต่เมื่อครุ่นคิดว่านี่อาจคือโอกาสทวงคืนความสำเร็จหลังความล้มเหลวของ The Earrings of Madame de… (1953) เลยยินยอมตอบตกลง
ความสนใจของผู้กำกับ Ophüls เพิ่มขึ้นเรื่อยๆเมื่อได้อ่านบทของ Saint-Laurent แต่เขาตัดสินใจพัฒนาเรื่องราวขึ้นใหม่หมด โดยพุ่งเป้าไปที่การแสดงคณะละครสัตว์ของ Lola Montes แล้วแทรกใส่นัยยะเชิงสัญลักษณ์(ของการแสดง)ที่สามารถสะท้อนเหตุการณ์ต่างๆบังเกิดขึ้น
ร่วมพัฒนาบทกับ Annette Wademant (1928-2017) นักเขียนหญิงชาว Belgian ที่เคยร่วมงานเมื่อครั้น The Earrings of Madame de… (1953) และเครดิตบทพูด (dialogue by) โดย Jacques Natanson (1901-75) นักเขียนสัญชาติฝรั่งเศส ขาประจำตั้งแต่ La Ronde (1951)
เกร็ด: ไม่รู้เพราะเขียนไว้ในสัญญา หรือสตูดิโอจ่ายค่าจ้างไปมาก เลยจำต้องขึ้นเครดิต Based on La vie extraordinaire de Lola Montès ของ Cécil Saint-Laurent ซึ่งเป็นนวนิยายที่ไม่มีอยู่จริง
Max Ophüls ชื่อจริง Maximillian Oppenheime (1902 – 1957) ปรมาจารย์ผู้กำกับสัญชาติ German เชื้อสาย Jews เกิดที่ Saarbrücken, German Empire ครอบครัวเป็นเจ้าของกิจการขายสิ่งทอทุกรูปแบบ ฐานะมั่งคั่ง แต่ด้วยความสนใจด้านการแสดงเลยเข้าร่วมคณะละครเวที Aachen Theatre ไต่เต้าเป็นผู้กำกับ ผู้จัดการโรงละคร จากนั้นมุ่งสู่วงการภาพยนตร์ กำกับหนังสั้น Dann schon lieber Lebertran (1931), ภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่องแรก Die verliebte Firma (1931), แจ้งเกิดโด่งดัง Liebelei (1933), La signora di tutti (1934) ฯ
หลังจาก Nazi ขึ้นมาเรืองอำนาจ อพยพสู่ฝรั่งเศส หนีไปสวิตเซอร์แลนด์ แล้วลี้ภัยยังสหรัฐอเมริกา เซ็นสัญญาสตูดิโอ Universal-International สรรค์สร้างภาพยนตร์ The Exile (1947), Letter from an Unknown Woman (1948), The Reckless Moment (1949), เมื่อหมดสัญญาหวนกลับมาปักหลักอยู่ฝรั่งเศส กลายเป็นตำนานกับ La Ronde (1950), Le Plaisir (1952), The Earrings of Madame de… (1953), Lola Montès (1955) และผลงานสุดท้ายสร้างไม่เสร็จ Les Amants de Montparnasse (1958)
ความสนใจของ Ophüls มีคำเรียกว่า ‘woman film’ ตัวละครนำมักเป็นเพศหญิง ชื่อขึ้นต้น ‘L’ (มาจาก Lady) เรื่องราวเกี่ยวกับความรัก ชู้สาว นอกใจ ในสังคมชั้นสูงที่ทุกสิ่งอย่างดูหรูหรา ฟู่ฟ่า ระยิบระยับงามตา แต่เบื้องลึกภายในจิตใจคน กลับซุกซ่อนเร้นอะไรบางอย่างอยู่เสมอๆ
ส่วนลายเซ็นต์ ‘สไตล์ Ophüls’ มีความโดดเด่นในการใช้ Long Take กล้องขยับเคลื่อนไหวด้วยเครนและดอลลี่ แม้ในฉากที่ดูเหมือนไม่มีความจำเป็น กลับซุกซ่อนเร้น mise-en-scène เพื่อสร้างความน่าตื่นตาตื่นใจ มลื่นไหลต่อเนื่อง และมักวนไปวนมา กลับซ้ายกลับขวา สิ้นสุดหวนกลับสู่เริ่มต้น
เรื่องราวเริ่มต้นที่ New Orleans, พิธีกร/หัวหน้าคณะละครสัตว์ Circus Master (รับบทโดย Peter Ustinov) แนะนำชุดการแสดงของ Lola Montez (รับบทโดย Martine Carol) หญิงสาวถูกตีตราว่า ‘fallen women’ เคยผ่านเหตุการณ์อื้อฉาวมานักต่อนัก อาทิ ความสัมพันธ์คีตกวี Franz Liszt (รับบทโดย Will Quadflieg), นักศึกษาหนุ่ม (รับบทโดย Oskar Werner), นางสนมของ King Ludwig I of Bavaria (รับบทโดย Anton Walbrook) ฯลฯ
ไคลน์แม็กซ์ของชุดการแสดงนี้ Lola Montez จะต้องปีนป่ายขึ้นไปบนแท่นสูงแล้วกระโดดลงมาโดยไม่มีตาข่ายนิรภัยรองรับ ซึ่งสามารถสื่อถึงชีวิตของเธอที่ได้ไต่เต้าสู่จุดสูงสุด (นางสนมของ King Ludwig) แล้วถูกฉุดคร่าตกลงมาสู่ภาคพื้นดิน
Martine Carol ชื่อจริง Maryse Mourer หรือ Marie-Louise Jeanne Nicolle Mourer (1920-67) นักแสดงสัญชาติฝรั่งเศส เกิดที่ Saint-Mandé, Val-de-Marne ช่วงวัยเด็กมีโอกาสพบเจอ André Luguet เกิดความหลงใหลด้านการแสดง ได้รับการฝึกฝนโดย René Simon เริ่มมีผลงานละครเวทีเมื่อปี 1940 แล้วไปเข้าตาผู้กำกับ Henri-Georges Clouzot ต้องการให้รับบทนำ The Cat แต่โปรเจคถูกล้มเลิก ถึงอย่างนั้นก็ได้สมทบ La ferme aux loups (1943) แย่งซีนโดดเด่นกว่าใครเพื่อน, ด้วยภาพลักษณ์สาวผมบลอนด์ สวยสังหาร ‘femme fatale’ กลายเป็น ‘sex symbol’ เคยได้รับการเปรียบเทียบ Marilyn Monroe ของฝรั่งเศส ก่อนการมาถึงของ Brigitte Bardot
รับบท Lola Montez เริ่มต้นจากความไม่พึงพอใจที่มารดาพยายามจับคู่แต่งงานกับชายสูงวัย เลยตัดสินหนีไปแต่งงานตั้งแต่อายุ 16 เมื่อหย่าร้างก็ออกเดินทางไปตามสถานที่ต่างๆ มีข่าวอื้อฉาวกับผู้คนมากมาย เป้าหมายปลายทางคือกรุง Bavaria ได้รับความสนใจจาก King Ludwig ลุ่มหลงจนมิอาจละวาง แต่เหตุการณ์ปฏิวัติทำให้เธอสูญเสียทุกสิ่งอย่าง ปฏิเสธความรักจากนักศึกษาหนุ่ม ออกเดินทางสู่สหรัฐอเมริกา เข้าร่วมคณะละครสัตว์ และทำการแสดงเพื่อขายความอื้อฉาวของตนเอง
เหตุผลการเลือก Carol เพราะจุดขายที่เป็น ‘sex symbol’ เหมาะกับภาพจำตัวละครนี้ ทั้งยังชื่อเสียงความสำเร็จ ทำให้สรรหางบประมาณเพิ่มเติมได้ไม่ยาก แต่ถึงอย่างนั้นความสามารถด้านการแสดงของเธอ กลับไม่มีความน่าประทับใจใดๆ แข็งทื่อเหมือนหุ่น ไร้การแสดงออกทางอารมณ์ ขาดความทะเยอทะยาน/Charisma ของหญิงสาวนิสัยแรดร่าน แค่มีหน้าอกใหญ่เท่านั้นเอง
ผู้กำกับ Ophüls ตระหนักข้อจำกัดของ Carol เป็นอย่างดี เลยรายล้อมรอบด้วยนักแสดงชายศักยภาพค่อนข้างสูง ทั้งยังหลีกเลี่ยงไม่นำเสนอสิ่งที่เธอไม่ถนัด (เช่นการเต้น เล่นละคร แสดงบนเวที ฯ) รวมถึงสรรหาข้ออ้างคำพูด ‘ฉันไม่สนคนมีความสามารถ เพียงเรื่องอื้อฉาว ข่าวลือ พฤติกรรมเสื่อมเสียเท่านั้นที่สร้างความสนใจให้ผู้คน’ แต่ไม่ว่าจะพยายามขนาดไหนก็ไม่สามารถแก้ปัญหาที่ต้นสาเหตุได้อยู่ดี
Talent doesn’t interest me. Only power and efficiency. The crowds run every night to the theater not to see you dance but to wait for you at the exit!
Circus Master
แซว: บทบาทนี้ชวนให้ระลึกถึง Elizabeth Taylor จาก Cleopatra (1963) ซึ่งถ้าเปรียบเทียบด้านการแสดง น่าจะตระหนักได้ไม่ยากถึงความห่างชั้นไกลลิบ
Sir Peter Ustinov ชื่อเต็ม Peter Alexander von Ustinov (1921 – 2004) นักแสดง นักเขียนสัญชาติอังกฤษ เกิดที่กรุง London พ่อเป็นชาว Russian เชื้อสาย Jewish ตอนแรกไม่ได้มีความสนใจด้านการแสดงมากนัก แต่เพื่อจะไม่ต้องไปโรงเรียนโดนเพื่อนดูถูกรังแก เริ่มต้นกับละครเวทีที่ Players’ Theatre สมัครเป็นทหารในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 จับพลัดจับพลูได้เป็นนักแสดงในหนังชวนเชื่อเรื่อง One of Our Aircraft Is Missing (1942), หลังสงครามรับบทสมทบ We’re No Angels (1955) ตามด้วย Quo Vadis (1951), Spartacus (1960), Topkapi (1964), Logan’s Run (1976), Death on the Nile (1978) ฯ
รับบท Circus Master พิธีกร/หัวหน้าคณะละครสัตว์ ครั้งหนึ่งเดินทางสู่ยุโรปเพื่อชักชวน Lola Montes มาเข้าร่วมการแสดง แต่ตอนนั้นเธอตอบปฏิเสธเพราะมีบางอย่างที่ยังขวนขวายต้องการไขว่คว้าให้ได้ครอบครอง แต่เมื่อสูญเสียทุกสิ่งอย่างจึงออกเดินทางสู่สหรัฐอเมริกา ยินยอมรับ ตอบตกลง เขาจึงจัดให้อย่างเว่อวังอลังการ ผลักดันชุดการแสดงให้ถึงจุดสูงสุดแล้วตกลงมา
ตัวละครนี้ถือเป็นตัวตายตัวแทน Master of Ceremonies จาก La Ronde (1950) [ขณะที่นักแสดงผู้รับบท Anton Walbrook กลายเป็น King Ludwig ไปแล้ว] เดินวนไปเวียนมา พูดพร่ำพรรณา เชื่องโยงเรื่องราว/ช่วงเวลาต่างๆของ Lola Montes ให้สามารถปะติดปะต่อเข้าด้วยกัน
ผมรู้สึกว่า Ustinov ก็คือ Ustinov แค่เดินต้วมเตี้ยมก็ยียวนได้ใจ ใส่พลังการแสดงผ่านน้ำเสียง ตะโกนโหวกแหวกจนแหบแห้ง ถ่ายทอดอารมณ์เดี๋ยวสูงเดี๋ยวต่ำ สั่งให้ลูกน้องไปซื้อเหล้า แล้วจิบสองอึก แค่นั้นนะ? เห็นแล้วเหนื่อยแทนผ้าเช็ดหน้า ซับเหงื่อเท่าไหร่ก็ไม่แห้งสักที
Anton Walbrook ชื่อจริง Adolf Anton Wilhelm Wohlbrück (1896 – 1967) นักแสดงสัญชาติ Austrian เกิดที่กรุง Vienna โตขึ้นได้กลายเป็นลูกศิษย์ของ Max Reinhardt กระทั่งการมาถึงของนาซี ทำให้เขาอพยพสู่สหรัฐอเมริกา ไปๆกลับๆยุโรปช่วงหลังสงครามจบ ผลงานเด่นๆ อาทิ Gaslight (1940), 49th Parallel (1941), The Life and Death of Colonel Blimp (1943), The Red Shoes (1948), La Ronde (1950), Lola Montès (1955) ฯ
รับบท King Ludwig I, King of Bavaria แรกพบเจอก็ลุ่มหลงใหลใน Lola Montes แต่พยายามซุกซ่อนไว้เพื่อรักษาหน้าตา คงสถานะประมุขของประเทศ ถึงอย่างนั้นก็ค่อยๆได้รับอิทธิพล จนสูญเสียความเชื่อมั่นจากประชาชน เลยถูกชุมนุมประท้วง เกิดการปฏิวัติ ที่สุดก็ยินยอมสละบัลลังก์ราชสมบัติ
แซว: ทีแรกผมจดจำใบหน้าของ Walbrook ไม่ได้ด้วยซ้ำนะ พอใส่วิก ไว้หนวดเครา สวมชุดหรูหรา แทบจะกลายเป็นคนละคน
ผมเคยกล่าวไว้เมื่อตอน La Ronde (1950) ว่า Walbrook ปกปิดตนเองว่าเป็นเกย์ ซึ่งสอดคล้องเข้ากับบทบาทนี้ (ไม่ใช่เป็นเกย์นะครับ) เพราะตัวละครพยายามการสร้างภาพภายนอกให้ดูดี มีความเข้มแข็งแกร่ง ขัตติยะผู้เกรียงไกร แต่แท้จริงกลับซุกซ่อนเร้นด้านอ่อนไหว โรแมนติก ลุ่มหลงใหลในตัว Lola Montes ทุกฉากที่อยู่ร่วมกันมักมีสายตาอ่อนโยน เอ็นดูรักใคร่ ยินยอมพร้อมศิโรราบอยู่แทบเท้า พร้อมทำทุกสิ่งอย่างเพื่อเธอโดยไม่สนอะไรอื่นทั้งนั้น
ถ่ายภาพโดย Christian Matras (1903-77) ตากล้องระดับตำนาน สัญชาติฝรั่งเศส เป็นที่รู้จักตั้งแต่ยุคหนังเงียบ ผลงานเด่นๆ อาทิ La Grande Illusion (1938), The Idiot (1946), ร่วมงานผู้กำกับ Max Ophüls ในสี่ผลงานสุดท้ายที่ฝรั่งเศส La Ronde (1950), Le Plaisir (1952), The Earrings of Madame De… (1953) และ Lola Montès (1955)
ดั้งเดิมนั้นผู้กำกับ Ophüls มีวิสัยทัศน์ในการสรรค์สร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ด้วยฟีล์มขาว-ดำ แต่เมื่อนำเสนอบทที่มุ่งเน้นนำเสนอเรื่องราวในคณะละครสัตว์ ทำให้โปรดิวเซอร์ครุ่นคิดถึงภาพยนตร์ The Greatest Show on Earth (1952) เลยถูกรบเร้าให้เปลี่ยนมาใช้ฟีล์มสี Eastmancolor อัตราส่วน CinemaScope (อัตราส่วน 2.55:1) คาดหวังจะขายได้ในระดับนานาชาติ
การตัดสินใจดังกล่าวทำให้ผู้กำกับ Ophüls ต้องปรับเปลี่ยนแปลงอะไรๆมากมาย ตัดฉากที่ใช้ประโยชน์จากแสง-เงา แล้วเพิ่มเติมรายละเอียด ใส่สีสัน ขยายสเกลงานสร้าง นั่นทำให้การเตรียมงานมีระยะเวลาเพิ่มขึ้น ไม่ทันกำหนดการดั้งเดิมที่นัดคิวนักแสดงไว้แล้ว จำต้องเซ็นสัญญาใหม่ ใช้งบประมาณเพิ่มเติมกว่าๆเท่าตัว
แม้ว่าการถ่ายทำส่วนใหญ่จะออกเดินทางไปยังสถานที่จริง (ในประเทศ West German) อาทิ ปราสาท Schloss Weißenstein ตั้งอยู่ Pommersfelden, เมือง Bamberg, ทิวเขา High Tauern, ยกเว้นเพียงเต้นท์คณะละครสัตว์ ทำการสร้างทั้งฉากขึ้นใน Bavaria Studios
Lola Montès เป็นหนึ่งในภาพยนตร์ใช้ประโยชน์จากความกว้างงงของ CinemaScope ได้อย่างชาญฉลาด คุ้มค่าที่สุดเรื่องหนึ่ง ซึ่งผมจะค่อยๆทะยอยกล่าวต่อไปนะครับ ขอเริ่มต้นด้วยเต้นท์คณะละครสัตว์ สามารถเก็บภาพการแสดงได้ทั้งเวทีในช็อตเดียว! แต่นั่นก็สร้างปัญหาเล็กๆ แก้โดยต้องยัดเยียดรายละเอียดน้อยๆ ใส่เข้าไปมากมายเพื่อเติมเต็มพื้นที่ว่างเหล่านั้น
สังเกตบริเวณด้านหลัง ที่นั่งของผู้เข้าชมการแสดง จะถูกปกคลุมด้วยความมืดมิด แทบมองไม่เห็นรายละเอียดใดๆนอกจากเงาลางๆ แต่ผู้ชมภาพยนตร์รู้สึกว่าพื้นที่ว่างได้รับการเติมเต็ม และมอบสัมผัสอันยิ่งใหญ่อลังการของการแสดงชุดนี้ … แต่นี่แค่แนวราบนะครับ

ใบหน้าของ Lola Montes ถูกทำให้กลายเป็นแม่พิมพ์ รูปหล่อสวมมงกุฎ เพื่อผู้เข้าชมสามารถจ่ายเงินสำหรับการตั้งคำถามชีวิต นี่สื่อตรงๆถึงการขายหน้าตา ขายความอื้อฉาว ขายเรื่องราวชีวิตของหญิงสาว แลกกับเศษเงินทอง (ค่าตั๋วหนัง)
ความรู้สึกของผู้ชมทั่วไป นี่เหมือนการประจาน ทำให้อับอายขายขี้หน้า สูญเสียชื่อเสียง หน้าตาในสังคม แต่ถ้าเรามองในอีกแง่มุมภาพยนตร์ ละครเวที นวนิยาย สื่อทั้งหลายเหล่านั้นล้วนนำเรื่องราวชีวิต บางสิ่งอย่างที่ใครบางคนเคยกระทำ ดี-ชั่ว เลิศหรู-อัปลักษณ์ มาเร่ขายผ้าเอาหน้ารอด แตกต่างอะไรกัน?

ผู้ชมสมัยนี้คงสามารถทำความเข้าใจได้ไม่ยากถึงการเล่าเรื่องย้อนอดีต (Flashback) วิธีที่หนังใช้ก็คือ ซ้อนภาพนักแสดงกับสิ่งที่กำลังครุ่นคิด จินตนาการ หวนระลึกถึงการเดินทาง
Life for me is … a movement.
Lola Montez

ไม่ใช่แค่ฉากใหญ่ๆเท่านั้น สถานที่เล็กๆคับแคบอย่างในรถม้า (ของ Franz Liszt) เมื่อถ่ายด้วยความกว้างงงของ CinemaScope ก็มอบผลลัพท์ที่ชวนให้อ้างปากค้างอยู่เล็กๆ ผู้ชมสามารถสัมผัสถึงระยะห่าง/ความแตกต่างขั้วตรงข้ามระหว่างสองตัวละคร แม้อยู่เคียงชิดใกล้ ร่วมรักหลับนอนในตู้รถม้าเดียวกัน แต่กลับมีความเหินห่างไกล มิอาจครองคู่อยู่ร่วม สานความสัมพันธ์ไปมากกว่านี้
ความสัมพันธ์ระหว่าง Lola Montes กับคีตกวี Franz Liszt นั่นเป็นเพียงข่าวลือเท่านั้นนะครับ นักประวัติศาสตร์บางคนอ้างว่าพวกเขาอาจไม่เคยพบเจอกันด้วยซ้ำ แต่มันก็เป็นจินตนาการของผู้สร้าง ความโรแมนติกผู้ชม ผิดอะไรจะให้ playgirl พบเจอคู่ปรับแห่งยุคสมัย (Liszt ก็เลื่องลือชาในความเป็น playboy เจ้าชู้ประตูดินเช่นกันนะครับ)

เมื่อเคลื่อนกล้องใกล้เข้ามาอีก ความกว้างงงของ CinemaScope พอดิบพอดีกับความกว้างของเตียงนอน Franz Liszt นวดฝ่าเท้าให้ Lola Montes สะท้อนถึงการเดินทางที่คงเหน็ดเหนื่อยอ่อนล้า … นี่เป็นเปรียบเปรยเชิงสัญลักษณ์นะครับ เพราะเห็นเธอเอาแต่นอน ไม่ได้ก้าวเดินไปไหนด้วยซ้ำ มันจะเมื่อยฝ่าเท้าได้อย่างไร
แซว: ท่านอนของ Lola Montes ชวนให้นึกถึงภาพวาดนู้ดของ Amedeo Modigliani แบบที่ถ้าสมมติว่าสวมใส่เสื้อผ้า น่าจะมีความยั่วราคะประมาณนี้

ในมุมมองของ Franz Liszt ตั้งใจจะเขียนบทเพลงร่ำลา Lola Montes สังเกตว่ามุมกล้องมักถ่ายให้ติดผนังกำแพง สร้างความรู้สึกแออัดคับแคบ อาจสะท้อนถึงหนทางตัน จุดสิ้นสุดความสัมพันธ์ระหว่างพวกเขา
แต่หลังจากกำลังเก็บข้าวของ เตรียมตัวจะหลบหนีหาย กลับฉีกโน๊ตเพลงดังกล่าวทิ้งไป น่าจะเพราะตระหนักว่านี่ไม่ใช่การร่ำลา ต่างคนต่าง ‘ไก่เห็นตีนงู งูเห็นนมไก่’ เข้าใจธาตุแท้ตัวตนของกันและกัน เมื่อมีโอกาสพบเจอครั้งต่อไปก็สามารถถาโถมเข้าใส่ ร่วมรักหลับนอน เสร็จแล้วก็พลัดพรากแยกจากโดยไม่มีความตะขิดตะขวงอะไรต่อกัน … นี่น่าจะเรียกว่า Sex Friend กะละมัง ในลักษณะความสัมพันธ์ Several-Night Stand (SNS)

ความสัมพันธ์ระหว่าง Franz Liszt และ Lola Montes เป็นสิ่งที่สังคมยุคสมัยนั้นยังไม่สามารถยินยอมรับได้ ด้วยเหตุนี้หนังจึงพยายามซุกซ่อนการกอดจูบ ร่วมรักของทั้งคู่ ภายใต้ลวดลายที่ให้ความรู้สึกเหมือนกรงขัง แต่สังเกตดีๆมันคือลายดอกไม้ (Clover) ส่วนพื้นด้านหลังผ้าม่านสีแดง แทนความพิศวาส ร่านราคะ แล้วนกล้องค่อยๆเคลื่อนลงมายังตำแหน่งที่ Lola วางเนคไทค์ลงบนเตียง ภาพฝั่งขวาถูกทำให้แคบเข้ามา ปกคลุมด้วยความมืดมิด นี่คือโลก/สถานที่ส่วนตัวเพียงเราสอง

ผมชอบช็อตจากลานี้มากๆ Lola Montes พยายามเอื้อมไขว่คว้ามือของ Franz Liszt แต่รถม้ากำลังเคลื่อนออกเดินทางพอดิบพอดี นั่นสะท้อนความสัมพันธ์ของทั้งคู่ที่ไม่มีวันได้จับมือ อยู่เคียงข้าง ครองคู่รัก หรือตกลงแต่งงาน … ความรู้สึกของผู้ชมคงเศร้าสลด หดหู่หัวใจ นำพาความอ้างว้างเดียวดายเกาะกินทรวงใน
รายละเอียดฉากนี้ก็งดงามมากๆ ประดับประดาด้วยดอกไม้ ย้อมสีส้ม (ฤดู Autumn) นัยยะถึงการจากลา แต่นั่นแปลว่าสักพวกเขาอาจได้พบเจอกันอีก

ใครเคยรับชม Citizen Kane (1941) จะมีฉากที่ครอบครัวครุ่นคิดตัดสินใจอะไรบางอย่างให้บุตรที่กำลังเล่นอยู่นอกหน้าต่าง ตรงกันข้ามกับฉากนี้ที่มารดาพยายามจับคู่ให้ Lola แต่เธอนั่งอยู่ด้านหลัง (อีกห้อง) พยายามจะควบคุมครอบงำ บีบบังคับโน่นนี่นั่น แต่หนังโฟกัสภาพด้านหน้าของเด็กหญิง เพื่อสื่อถึงการที่เธอต้องการจะครุ่นคิดตัดสินใจอะไรๆด้วยตนเอง

หลังจาก Lola วิ่งหลบหนี ไม่ยินยอมรับการตัดสินใจของมารดา แต่เธอกลับตอบตกลงแต่งงาน Lieutenant James (ไม่น่าจะด้วยความรัก แค่ต้องการหลบหนีออกจากการถูกควบคุมครอบงำของมารดาเท่านั้นแหละ) มุมกล้องช็อตถ่ายภาพระยะไกล ทั้งสองยืนกอดจูบอยู่ภายในห้องโถงแห่งหนึ่ง แล้วสองฟากฝั่ง(ของภาพ)ก็คับแคบลง ปกคลุมด้วยความมืดมิด ราวกับจะสื่อว่านี่คือโลกส่วนตัวของพวกเขา
ความกว้างงงของ CinemaScope ทำให้ตัวละครสูญเสียโลกส่วนตัวของตนเอง มักรายล้อมด้วยสิ่งโน่นนี่นั่น ด้วยเหตุนี้ผู้กำกับ Ophüls จึงประดิษฐ์ภาษาภาพยนตร์ขึ้นใหม่ ทำให้ภาพคับแคบ เล็กลง ปกคลุมสองฟากฝั่งด้วยความมืดมิด เพื่อสื่อถึงความเป็นส่วนตัว/โลกของตัวละคร อะไรอย่างอื่นรอบข้างไม่มีความสลักสำคัญอีกต่อไป

ชีวิตแต่งงานระหว่าง Lola Montes กับ Lieutenant James ถูกนำเสนอเชิงสัญลักษณ์ในการแสดงที่เธอนั่งอยู่ตรงกลางเวที สวมชุดแต่งงานสีขาว ชายหนุ่มเครื่องแบบเต็มยศนั่งคุกเข่าอยู่เคียงข้าง แล้วสิ่งต่างๆก็เคลื่อนหมุน เวียนวนรอบ 360 องศา ชีวิตดำเนินไป เริ่มต้นและถึงจุดสิ้นสุด

เมื่อหย่าร้างสามี Lola Montes ก็เริ่มต้นได้รับอิสรภาพอย่างแท้จริง ใช้สัญลักษณ์รถไฟแทนการออกเดินทาง กลายเป็นนักเต้น นักแสดง ท่องไปยังสถานที่ต่างๆ ก้าวผ่านเส้นลวด ขึ้นไปยืนอยู่บนสถานที่สำคัญๆ สัญลักษณ์กรุง Madrid, Rome (โคลีเซียม), Warsaw ฯลฯ

นี่เป็นช็อตที่สะท้อนการพบเจอกันระหว่าง Lola Montes กับ Circus Master แม้ว่าครั้งนี้เธอจะบอกปัดข้อเสนอ แต่ภาพในกระจกบ่งบอกถึงความสนใจ ลุ่มหลงใหล คาดหวังว่าสักวันอาจมีโอกาสได้ร่วมงานกัน … และก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ
ความสนใจของ Circus Master จะแตกต่างบุรุษอื่นที่ลุ่มหลงใหล(ในสิ่งรูปธรรม) เรือนร่าง ความงดงาม ต้องการครอบครองเป็นเจ้าของตัวเธอ แต่สำหรับเขาสนเพียง(นามธรรม) ความฉาวโฉ่ เรื่องเสียๆหายๆ พฤติกรรมของเธอที่ทำให้ใครต่อใครตกอยู่ภายใต้ ยินยอมศิโรราบแทบเท้า ใช้ประโยชน์จากตัวตนในกระจกมาเป็นจุดขาย สร้างเงิน ทำกำไร กอบโกยให้ได้รับผลโยชน์สูงสุดร่วมกัน

นำเข้าการแสดงชุดท้ายของ Lola Montes ใช้สัญลักษณ์ของกายกรรมปีนป่าย ขึ้นบันได เพื่อไปให้ถึงจุดสูงสุดของชีวิต เบื้องบนเต้นท์คณะละครสัตว์ จากนั้นนำเข้าเรื่องราวย้อนอดีต เดินทางมาถึงเทือกเขา High Tauern, ทืวเขา Alps (ปัจจุบันอยู่ในคือประเทศ Austria) เพื่อมุ่งสู่กรุง Munich, German Empire

ความวุ่นวายในการเลือกห้องพักของ Lola Montes เดี๋ยวขึ้นเดี๋ยวลง สะท้อนถึงรสนิยม อุปนิสัยของเธอ เปลี่ยนคู่ครองไปเรื่อยๆ ไม่สามารถหาใครสักคน สถานที่แห่งหนใดลงหลักปักฐาน แต่ความตั้งใจลึกๆก็แอบคาดหวังว่า Munich อาจคือสถานที่แห่งสุดท้าย จุดสูงสุด ห้องใต้หลังคา … แต่หนังก็แอบบอกใบ้ตอนจบ ว่าสุดท้ายก็หวนกลับลงมาค้างคืนยังชั้นล่าง (แล้วจะขึ้นไปทำไมละเนี่ย?)

นอกจากความกว้างงงของ CinemaScope ผู้กำกับ Ophüls ยังท้าทายด้วยการนำเสนอภาพมุมลึก ระยะไกล ยังสามารถมองเห็นการควบคู่ม้าของ Lola Montes ฝ่าขบวนพาเรดขึ้นไปถึงพระราชวังด้านหลัง ราวกับเส้นทางมุ่งสู่สรวงสวรรค์ จุดสูงสุด เป้าหมายของชีวิต (ของ Lola)

แทนที่ King Ludwig จะพูดสอบถามออกมาตรงๆ (เรื่องหน้าอกของ Lola Montes) แต่หนังสร้างความพิรี้พิไร เล่นท่าลีลา มารยาสาไถย ให้ผู้ชมครุ่นคิดจินตนาการเรื่องราวที่ทั้งสองสนทนา แล้วจู่ๆหญิงสาวก็หยิบกรรไกรขึ้นมาตัดกระดุม แหกหน้าอก นี่มันเกิดอะไรขึ้นกันแน่?
อีกสิ่งที่น่าสนใจของฉากนี้คือการใช้แถบดำปกปิดด้านซ้าย-ขวา เพื่อสื่อถึงความเป็นส่วนตัว มีเฉพาะเราสอง อยากจะแหกอก เปิดเผยธาตุแท้ตัวตน ก็ไม่มีใครตำหนิต่อว่ากระไร

ใครเคยรับชม The Earrings of Madame de… (1953) น่าจะมักคุ้นเล็กๆกับ Comedy ระหว่างการติดตามหาตุ้มหูที่สูญหายไป ฉากนี้นำเสนอในลักษณะคล้ายๆกัน จากคำสั่งของ King Ludwig ต้องการหาเข็ม-ด้ายเย็บผ้า สั่งผ่านบอดี้การ์ดหน้าห้อง ไล่เรียงตามลำดับไปเรื่อยๆ กว่าจะมาถึงสาวรับใช้ กุรีกุจอ วิ่งไปวิ่งกลับ สร้างความวุ่นวายไปทั่วทั้งปราสาท
นัยยะของฉากนี้สื่อถึงแรงกระเพื่อมจากหยดน้ำเล็กๆ ที่สามารถสั่นพ้องทั่วทะเลสาป หรือคือพฤติกรรม/ความอื้อฉาวของ Lola Montes สะเทือนเลือนลั่นไปทั่วทั้งปฐพี

โดยปกติแล้วที่นั่งของกษัตริย์ต้องอยู่สูงสุดในโรงละครเวที แต่หนังจงใจให้ King Ludwig (และพระมเหสี) นั่งอยู่ชั้นล่าง (ใกล้เวที) เบื้องบนคือประชาชน คนชนชั้นต่ำกว่า เหมือนต้องการสื่อถึงอำนาจ (ของประมุข) ควรจะอยู่ต่ำกว่าประชาชน สามารถกดดัน ก่อเกิดการปฏิวัติ ล้มล้างผู้นำ หรือแม้แต่เปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง
สังเกตว่าหนังไม่นำเสนอภาพการแสดงของ Lola Montes นั่นอาจเพราะข้อจำกัดของนักแสดง Martine Carol แต่แค่เท่านี้ก็เพียงพอให้ผู้ชมเข้าใจถึงเหตุการณ์บังเกิดขึ้นแล้วละ

ภายหลังการแสดงของ Lora Montes สร้างความประทับใจให้ King Ludwig ติดต่อขอพบเจอ บังเกิดความลุ่มหลงใหล เตรียมพร้อมจะแต่งตั้งให้กลายเป็นนางสนม แต่ช็อตนี้ของทั้งคู่ยังถูกกั้นแบ่งด้วยต้นไม้ และสิ่งน่ารำคาญสุดก็คือชิงช้าไกวไปมา สะท้อนอารมณ์ที่กวัดแกว่ง สั่นไหว (ของ King Ludwig) แต่มิอาจเปิดเผยความต้องการภายในออกมา (เพราะตนเองในฐานะประมุขของประเทศ ยังจำเป็นต้องอดกลั้น ต้องรักษาภาพลักษณ์สุดๆ ไม่ให้เกิน 5-7 นาที มิเช่นนั้นจะกลายเป็นข่าวลือ ข้อครหานินทา)

ภายหลังการพบเจอ Lola Montes ก่อนเดินทางกลับ King Ludwig ลากพาเลขาคนสนิทเดินขึ้นบันได ไปถึงจุดสูงสุดแล้ววกเวียนวนกลับลงมา กล้องถ่ายทำ Long Take แพนไปแล้วก็แพนกลับ แสดงถึงการกำลังใช้ความครุ่นคิด ตระเตรียมแผนบางสิ่งอย่าง เมื่อค้นพบคำตอบทำไมไม่ใช้การวาดภาพ เป็นวิธีเหนี่ยวรั้งหญิงสาวไม่ให้หนีจากกรุง Munich ไปอย่างรวดเร็วนัก
วินาทีที่เลขาเสนอแนะการวาดภาพ นั่นคือตำแหน่งสุดท้ายที่ King Ludwig ชะงักงัน หยุดเดินโดยพลัน พบว่ามันเป็นแผนการชั้นเลิศเลยไม่จำเป็นต้องก้าวเดินต่อ ถึงเวลาวกกลับ และขณะสอบถามชื่อหญิงสาวคนนั้น พอดิบพอดีกำลังจะก้าวแรกลงจากบันได (สื่อถึงก้าวลงสู่จุดตกต่ำของประมุขพระองค์นี้)

ผมรู้สึกคุ้นๆภาพวาดแรกนี้อยู่นะ แต่นึกไม่ออกว่าเคยพบเห็นจากแห่งไหน ซึ่งลักษณะการสวมเสื้อกันหนาวขนสัตว์ คลุมทับทั้งร่างกายและศีรษะ (แลดูเหมือน ฮิญาบ) นัยยะถึงการปกปิด ซุกซ่อนเร้น ถูกควบคุมครอบงำ ไม่สามารถเปิดเผยตัวตน แสดงออกธาตุแท้จริง … นี่ไม่ใช่ภาพวาดที่สามารถสื่อแทนตัวตนของ Lola Montes เลยสักนิด!

ภาพเปลือยนี้ต่างหากที่สามารถสื่อถึงตัวตน ธาตุแท้จริงของ Lola Montes ได้ใกล้เคียงมากที่สุด! สื่อถึงอิสรภาพชีวิต ไม่มีอะไรให้ต้องปกปิด ซุกซ่อนเร้น ครุ่นคิดอยากทำอะไรก็ทำ ไม่มีใคร(หรือแม้แต่เสื้อผ้า)คอยควบคุมครอบงำ ใช้เรือนร่างเป็นจุดขาย สร้างความลุ่มหลงใหลให้บุรุษ มิอาจหยุดยับยั้ง หักห้ามใจ
เกร็ด: แรงบันดาลใจภาพวาดนี้คือ La Grande Odalisque (1814) ผลงานนู้ดชิ้นเอกของจิตรกร Jean-Auguste-Dominique Ingres (1780-1867) ที่ทำการละทอดทิ้งสไตล์ถนัด Neoclassicism เพื่อมุ่งสู่ Romanticisim
แซว: ครั้งแรกที่ผมเห็นภาพวาดนี้นึกถึง Nu couché (1917) ของจิตรกร Amedeo Modigliani (เพราะผู้กำกับ Ophüls มีแผนจะสร้าง Les Amants de Montparnasse (1958) อัตชีวประวัติของ Modigliani เป็นผลงานถัดจากเรื่องนี้ … แต่ไม่ได้สร้าง) พอค้นหาข้อมูลถึงค่อยตระหนักว่ามีอีกผลงานของ Jean-Auguste-Dominique Ingres ซึ่งน่าจะเป็นหนึ่งในแรงบันดาลใจ (ของ Modigliani)


King Ludwig มีความผิดปกติทางการได้ยินจริงๆนะครับ (ประวัติศาสตร์บันทึกไว้เช่นนั้น) ซึ่งหนังใช้ประโยชน์ทั้งสร้างความขบขัน (เหมือนแสร้งทำเป็นไม่ได้ยิน) และนัยยะเชิงสัญลักษณ์ถึงความดื้อรั้น เอาแต่ใจ ไม่รับฟังเสียงวิพากย์วิจารณ์ของใคร (ในประเด็นของ Lola Montes) จนนำไปสู่การปฏิวัติ แล้วต้องสละราชบัลลังก์
ในประวัติศาสตร์ King Ludwig เป็นคนเจ้าชู้ประตูดินสุดๆ มีนางสนม ชู้รักมากมาย (แค่คอลเลคชั่นส่วนตัว Schönheitengalerie แปลว่า Gallery of Beauties ก็มีถึง 36 ภาพวาด) Lola Montes ก็แค่เพียงหนึ่งในนั้น

แม้เกิดการปฏิวัติในกรุง Munich แต่ King Ludwig และ Lola Montes กลับเป็นคนท้ายๆที่ได้ล่วงรับรู้ นั้นเพราะทั้งสองต่างไม่ใคร่สนใจอะไรโลกภายนอก จนกระทั่งผู้ชุมนุมขว้างปาสิ่งข้าวของเข้ามาในคฤหาสถ์/รังรักของพวกเขา สร้างความหวาดวิตก หลบซ่อนตัวอยู่หลังผ้าม่าน พรอดคำมั่นว่าคงไม่มีอะไรบังเกิดขึ้น แต่ King Ludwig ก็ก้าวออกมา (จากผ้าม่าน) ส่วน Lola ก็ตัดสินใจหลบหนีออกจากเยอรมัน

ตั้งแต่การเดินทางมาถึง จนกระทั่งหลบหนีออกจากกรุง Munich ของ Lola Montes ต่างมีผู้ร่วมโดยสารคือนักศึกษาหนุ่มนิรนาม (รับบทโดย Oskar Werner) ได้มีโอกาสอยู่ในตู้รถ/โลกส่วนตัวของพวกเขา (สังเกตว่าฝั่งซ้าย-ขวา ของภาพถูกปกคลุมด้วยความมืดมิด) เขาพยายามโน้มน้าวชักชวนให้มาอยู่ร่วมกันอย่างเรียบง่าย สงบสันติสุข แต่หญิงสาวกลับบอกปัดปฏิเสธ มีเสาตรงกึ่งกลางบดบัง/กั้นขวางความรู้สึกของตนเองไว้ จึงมิอาจครอบครองคู่อยู่ร่วม
ในหนังพยายามอธิบายว่า Lola ตกหลุมรัก King Ludwig เลยมิอาจตัดสินใจ มองหารักครั้งใหม่ อันนำไปสู่การตอบตกลง Circus Master ออกเดินทางสู่สหรัฐอเมริกา แล้วกลายเป็นนักแสดงกายกรรมโลดโผน กำลังจะแสดงโชว์ชุดไคลน์แม็กซ์ (เหมือนเป็นการทรมานตนเองจากความอกหัก สูญเสียความรัก ชีวิตจากเคยอยู่จุดสูงสุดทิ้งตัวลงมาตกต่ำ ‘fallen women’)

กระโดดหรือไม่กระโดด? หนังพยายามยืดยื้อยัก ชักแม่น้ำทั้งห้า กว่าที่ Lola Montes จะยินยอมกระโดดลงมาจากจุดสูงสุด เพื่อสะท้อนสภาวะจิตใจของเธอ เต็มไปด้วยความโล้เล้ลังเล สั่นระริกรัว (ตามเสียงกลอง) ถ้าเลือกได้ก็คงขออยู่บนนั้นชั่วนิรันดร์ (เพื่อครองคู่รัก King Ludwig) แต่เพราะโชคชะตา ผลแห่งการกระทำ หรือคือวัฏจักรแห่งชีวิต ท้ายที่สุดก็จำต้องทอดทิ้งตัวลงมา หวนกลับสู่ภาคพื้น … รอดไม่รอด!

เรื่องราวชีวิตของ Lola Montes ถูกเปรียบเทียบเหมือนสัตว์ร้ายในกรงขัง ให้ผู้คนมากมายจ่ายเงินเข้ามาเชยชม จับจ้องมอง เคียงชิดใกล้ สัมผัสลูบไล้ เติมเต็มความอยากรู้อยากเห็นภายในจิตใจ
หลายคนอาจรู้สึกว่าการนำเสนอลักษณะนี้ เป็นการดูถูก เหยียดหยาม ตีตราพฤติกรรมของหญิงสาวมีความโฉดชั่วร้าย อันตราย เป็นภัยต่อสังคม แต่ขณะเดียวกันอย่างที่ผมอธิบายไปตั้งแต่ต้น มันคือการเปรียบเทียบเชิงสัญลักษณ์ถึงภาพยนตร์ ละครเวที นวนิยาย คนมากมายต่อแถวซื้อตั๋วเพื่อมารับชมเรื่องราวอันอื้อฉาว ข่าวคาว ความบันเทิงเริงรมณ์ ไม่เห็นมันจะแตกต่างกันตรงไหน? (อย่าเอาอารมณ์ความรู้สึกส่วนตน มาตัดสินนัยยะแท้จริงที่หนังซ่อนเร้นไว้นะครับ)

เพราะหนังถ่ายทำสามครั้ง สามภาษา จึงต้องมีการแบ่งแยกออกเป็น สามห้องตัดต่อ(ละภาษา) ในเครดิตประกอบด้วย Madeleine Gug (ฉบับภาษาฝรั่งเศส), Jacqueline Sadoul และ Adolf Schlyssleder ทำงานเคียงคู่กันไป ได้ผลลัพท์ที่ชวนฉงนสงสัย (ว่าทำไมตัดต่อได้เวลาไม่เท่ากัน)
- ฉบับภาษาเยอรมัน (น่าจะถือเป็นฉบับดั้งเดิม) นักแสดงทุกคนได้พูดภาษาของตนเอง (ไม่มีการ dub ภาษาอื่น) ความยาว 115 นาที
- ฉบับภาษาฝรั่งเศส (นักแสดงที่พูดฝรั่งเศสไม่ได้ ถึงจะถูก dub พากย์เสียงทับ) ความยาว 113 นาที
- ฉบับภาษาอังกฤษ ความยาว 140 นาที ตั้งใจจะนำออกฉายประเทศอื่นๆ แต่ความล้มเหลวของหนังทำให้ฉบับนี้ไม่เคยถูกนำออกสาธารณะ และน่าจะสูญหายไปเรียบร้อยแล้ว
ความตั้งใจของผู้กำกับ Ophüls ใช้คณะละครสัตว์คือเส้นเรื่องราวหลัก เมื่อพิธีกร (Circus Master) พูดแนะนำการแสดงชุดต่างๆ ก็จะมีแทรกภาพย้อนอดีต (Flashback) พบเห็นเหตุการณ์บังเกิดขึ้นจริงกับ Lola Montes สลับไปมาอยู่หลายครั้ง จนกระทั่งสิ้นสุดลงที่ไคลน์แม็กซ์ การแสดงชุดสุดท้าย
- อารัมบท, พิธีกรแนะนำชุดการแสดงที่น่าหลงใหลสุดแห่งศตวรรษ
- (ย้อนอดีต) ความสัมพันธ์ระหว่าง Lola กับคีตกวีชื่อดัง Franz Liszt
- องก์หนึ่ง, พิธีกรเล่าถึงช่วงวัยเด็กและการเติบโต
- (ย้อนอดีต) เด็กหญิง Lola ขึ้นเรือออกเดินทางมุ่ง Paris ถูกมารดาพยายามจับคู่ แต่เธอกลับหนีไปแต่งงานกับ Lieutenant James
- องก์สอง, ชีวิตและอิสรภาพของ Lola (มักตัดสลับระหว่างการแสดงคณะละครสัตว์ และย้อนอดีต Flashback)
- (ย้อนอดีต) หลังจากหย่าร้าง Lieutenant James กลายเป็นนักเต้นที่ Madrid จากนั้นร้อยเรียงเรื่องราวความรักจากหลากหลายผู้คน
- (ย้อนอดีต) ครั้งหนึ่งได้รับการติดต่อจาก Ring Master ชักชวนมาร่วมคณะละครสัตว์ แต่ในตอนนั้นยังบอกปัดปฏิเสธ
- องก์สาม, ความรักที่จุดสูงสุด
- (ย้อนอดีต) Lola เดินทางมาถึง Munich แล้วได้ครองรักกับ King Ludwig ก่อนถูกขับไล่จนต้องหลบหนีหัวซุกหัวซุนกลับออกมา
- ไคลน์แม็กซ์, หมอพยายามหักห้ามการแสดงชุดสุดท้ายของ Lola แต่เธอก็ตัดสินใจกระโดดลงมาโดยไม่ใช่ตาข่ายนิรภัยอยู่ดี รอดหรือไม่รอด?
โครงสร้างดำเนินเรื่องของหนัง ให้ความรู้สึกละม้ายคล้าย Citizen Kane (1941) ที่ใช้การเล่าย้อนอดีตเป็นช่วงๆ แล้วตัดสลับกลับไปมา (ระหว่างอดีต-ปัจจุบัน) เพื่อเชื่อมโยงความสัมพันธ์ของเหตุการณ์บังเกิดขึ้น
แต่ไฮไลท์ของ Lola Montès (1955) คือชุดการแสดงคณะละครสัตว์ จะมีความสัมพันธ์ในเชิงสัญลักษณ์กับเหตุการณ์ย้อนอดีตที่เพิ่งนำเสนอออกมา นั่นเป็นสิ่งที่มีความลุ่มลึกซึ้ง แสดงถึงอัจฉริยภาพของผู้กำกับ Ophüls (ที่ยิ่งใหญ่กว่า Citizen Kane เป็นไหนๆ)
เพลงประกอบโดย Georges Auric (1899 – 1983) คีตกวีอัจฉริยะชาวฝรั่งเศส เริ่มแต่งเพลงตั้งแต่อายุ 10 ขวบ มีความเชี่ยวชาญเปียโน ชื่นชอบเขียนบัลเล่ต์ กระทั่งการมาถีงของภาพยนตร์ สนิทสนม Erik Satie และ Jean Cocteau ผลงานเด่นๆ อาทิ À nous la liberté (1931), La Belle et la Bête (1946), Moulin Rouge (1952), Roman Holiday (1953), Le Salaire de la peur (1953), Rififi (1955), The Innocents (1961) ฯ
สำหรับ Lola Montès (1955) งานเพลงของ Auric ถูกรังสรรค์ให้มีความกลมกลืนไปกับพื้นหลัง ศตวรรษที่ 19th ด้วยกลิ่นอายดนตรีคลาสสิก Waltz, Minuet, Fandago ให้สอดคล้องเข้ากับการแสดงคณะละครสัตว์ และเหตุการณ์ต่างๆที่ตัวละครพบเจอระหว่างเล่าเรื่องย้อนอดีต คือถ้ามานั่งฟังทีละเพลงก็ไพเราะอยู่นะ แต่พอแทรกใส่เข้าไปในหนัง ผมแทบจดจำอะไรไม่ได้เลยละ (เรียกว่ามีความกลมกลืนอย่างสุดๆ แต่ข้อเสียคือขาดจุดเด่น ไม่น่าจดจำสักเท่าไหร่)
มีบทเพลงหนี่งน่าสนใจมากๆ เมื่อตอน Franz Liszt เล่นเปียโนเกี้ยวพาราสี Lola (ระหว่างการเดินทาง) ซี่งโน๊ตเพลงที่เขาต้องการมอบให้ตั้งชื่อว่า Valse d adieu แปลว่า Waltz of Goodbye (เท่าที่ผมลองค้นหา ไม่น่าใช่บทเพลงที่ Liszt ประพันธ์ขี้นมา) ค้นพบในอัลบัม OST มีอยู่สองเพลงที่ถือว่าใกล้เคียง Farewell Waltz I และ II แต่ผมก็ผิดหวังเล็กๆ เพราะไม่ใช่เดี่ยวเปียโนเพียงอย่างเดียวเหมือนในหนัง
โลกทัศน์ของคนยุคสมัยเก่าก่อน อิสตรีต้องปฏิบัติตัวตามขนบกฎกรอบ ธรรมเนียมประเพณี ศีลธรรมอันดีงามที่สังคมตีตราว่าล้อมไว้ ใครประพฤติตนนอกรีต ไม่ยินยอมถูกควบคุมครอบงำ มักได้รับคำเรียกขาน แม่มด นางปีศาจร้าย จำต้องโดนขับไล่ ผลักไส ตีตนให้ออกห่างไกล
เรื่องราวของ Lola Montes หญิงสาวผู้โหยหาอิสรภาพ มักมากทะเยอทะยาน เพ้อใฝ่ฝันอยากไปให้ถึงจุดสูงสุด ถือเป็นลักษณะบุคคลต้องห้าม ถูกใช้เป็นบทเรียนสอนหญิง ให้รู้จักคำว่าเพียงพอดี อย่าทำตัวอัปรีย์ นอกรีตนอกรอย ต้องรู้จักอดรนทน ปฏิบัติตนอยู่ภายใต้กฎกรอบสังคม กลายเป็นตุ๊กตาให้ใครต่อใครจับขยับเคลื่อนไหว ไร้สิทธิ์เสียงพูดบอกออกไป
มองมุมหนึ่ง การนำเสนอเหตุการณ์อื้อฉาวผ่านการแสดงคณะละครสัตว์ มันดูเหมือนเป็นการประจานตนเอง ทำให้ตัวละครรู้สึกอับอายขายขี้หน้า อยากตกลงมาคอหักตายให้รู้แล้วรู้รอด! สามารถเสี้ยมสอนจริยธรรม ศีลธรรม มโนธรรมอันดีงามให้กับสังคม จงจดจำไว้แล้วอย่าลอกเลียนแบบปฏิบัติตามอย่าง
แต่ครุ่นคิดไปมาเหตุการณ์ต่างๆเหล่านั้นต่างอะไรจากภาพยนตร์ ละครเวที นวนิยาย ฯ ล้วนนำเรื่องราวส่วนตัว ประเด็นสังคม ออกมาขายผ้าหน้ารอด ชักชวนให้ผู้ชมบังเกิดความลุ่มหลงใหล จักได้ครุ่นคิด ตระหนักถูก-ผิด ทบทวนกฎกรอบศีลธรรมเหล่านั้น เป็นสิ่งยินยอมรับในปัจจุบันหรือไม่ เมื่อกาลเวลาเคลื่อนพานผ่าน โลกทัศนคติเปลี่ยนแปลงไป แนวความคิดจะผิดแผกแตกต่างจากเดิมขนาดไหน
มุมมองยุคสมัยปัจจุบัน พฤติกรรมของ Lola Montes คงได้รับการยกย่องนับถือ ต้นแบบอย่างอิสตรี ‘Feminist’ สามารถครุ่นคิด-พูด-กระทำ แหกขนบธรรมเนียมประเพณี ทำลายกฎกรอบข้อปฏิบัติทางสังคม คงความเป็นตัวของตนเอง เรียกว่าใช้ชีวิตอย่างมีอิสรภาพ ถึงจุดสูงสุดทางอุดมคติอย่างแท้จริง
เราสามารถเปรียบเทียบตัวละคร Lola Montes สื่อตรงๆถึงผู้กำกับ Max Ophüls ในแง่มุมมองเสรีภาพแสดงออกทางเพศ เพราะตัวเขาเองมีความลุ่มหลงใหล รักใคร่อิสตรี สาวๆเอาะๆ พรอดรักไม่รู้จักความแก่ ในมุมกลับตารปัตรพวกเธอก็ควรมีอิสรภาพในการเลือก ตกหลุมรัก ครองคู่แต่งงาน หรือแม้แต่เพศสัมพันธ์กับชายแปลกหน้า ไม่มีความจำเป็นใดๆต้องถูกควบคุมครอบงำ จำกัดอยู่ภายใต้กฎกรอบ ขนบธรรมเนียมประเพณี หรือการบีบบังคับของผู้ใด
ความสัมพันธ์อื่นๆอาทิ การหลบหนีออกจากเยอรมัน (Lola หลบหนีการปฏิวัติ, Ophüls หลบหนีจาก Nazi), เชื่อว่าชีวิตคือการเคลื่อนไหว (นำเสนอผ่าน ‘สไตล์ Ophüls’), ลี้ภัยสู่สหรัฐอเมริกา (Lola กลายเป็นนักแสดงละครสัตว์, Ophüls คือผู้กำกับยัง Hollywood) ฯ
ผมชอบคำลงท้ายในบทความวิจารณ์ของ François Truffaut เปรียบเทียบภาพยนตร์ Lola Montès เหมือนกล่องของขวัญช็อกโกแลตวันคริสต์มาส แต่แกะออกมามันกลับมีความงดงาม สิ่งทรงคุณค่ามากกว่านั้น ก็อยู่ที่ผู้ชมจะสามารถครุ่นคิดวิเคราะห์ ทำความเข้าใจอย่างลึกซึ้งได้มากน้อยขนาดไหน
Lola Montes is presented like a box of chocolates given to us as a Christmas present; but when the cover is removed, it comes out as a poem worth an untold fortune.
François Truffaut
ความล้มเหลวย่อยยับเยินของ Lola Montès (1955) ทำให้ผู้กำกับ Ophüls ถูกกดดันจากโปรดิวเซอร์ ลดทอนงบประมาณ เรียกร้องโน่นนั่น ความตึงเครียดระหว่างถ่ายทำอัตชีวประวัติจิตรกร Amedeo Modigliani อาจคือส่วนหนึ่งให้หัวใจล้มเหลว พลันด่วนเสียชีวิตจากไปวันที่ 26 มีนาคม 1957 สิริอายุเพียง 54 ปี … ผู้กำกับ Jacques Becker เข้ามาสายงานต่อ ถ่ายทำให้แล้วเสร็จสิ้น Les Amants de Montparnasse (1958)
[Ophüls] was the most introspective of directors, a watchmaker who had no other ambition than to make the smallest watch in the world and who then, in a sudden burst of perversity, proceeded to place it on the tower of a cathedral.
Peter Ustinov
ทุนสร้างดั้งเดิมของหนังคือ 2 ล้าน Deutschmarks แต่เมื่อเปลี่ยนมาถ่ายทำด้วยฟีล์มสี งบประมาณจีงบานปลายถีงประมาณ 7.2 – 8 ล้าน Deutschmarks (เทียบเท่า $2 ล้านดอลลาร์สมัยนั้น) กลายเป็นภาพยนตร์ทุนสร้างสูงสุดบนผืนแผ่นดินยุโรป ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง
เหตุผลที่ทุนสร้างหนังเพิ่มสูงมากๆ เพราะมีการถ่ายทำ 3 ภาษาไปพร้อมๆกัน (ฝรั่งเศส, เยอรมัน และอังกฤษ) และค่าจ้างผู้กำกับ Ophüls สูงถีง 204,000 Deutschmarks (รวมโบนัสจากการถ่ายทำด้วย CinemaScope พอสมควรเลยละ)
ความล้มเหลวไม่ทำเงินของหนัง ถูกเชื่อมโยงด้วยเหตุผลเดียวกับ Citizen Kane (1941) เพราะวิธีดำเนินเรื่องด้วยการเล่าย้อนอดีต (Flashback) มีความสลับซับซ้อนเกินกว่าที่ผู้ชมยุคสมัยนั้นจะสามารถปะติดปะต่อ ทำความเข้าใจเนื้อหาสาระ เพียงนักวิจารณ์จากนิตยสาร Cahiers du Cinéma จัดอันดับ 4 ภาพยนตร์ยอดเยี่ยมแห่งปี (รองจาก Journey to Italy, Ordet และ The Big Knife)
ด้วยเหตุนี้โปรดิวเซอร์จีงใช้กรรไกรตัดเล็มหนัง โดยไม่สนคำทัดทานผู้กำกับ Ophüls เปลี่ยนลำดับดำเนินเรื่องให้เรียงตามเวลาทั่วๆไป ‘chronological’ นั่นทำให้ฟีล์ม Original Negative สาปสูญหายไปอย่างไร้ร่องรอย
กระทั่งเมื่อปี 1968, โปรดิวเซอร์ Pierre Braunberger ได้ขอซื้อลิขสิทธิ์หนังจากผู้จัดจำหน่ายเดิม แล้วพยายามรวบรวม เรียบเรียง ปะติดปะต่อเรื่องราวให้มีความใกล้เคียงต้นฉบับดั้งเดิมมากที่สุด
สี่ทศวรรษถัดมา, Laurence Braunberger ตัดสินใจสานงานต่อของบิดา ร่วมกับ Fondation Technicolor pour le patrimoine du cinéma และ Cinémathèque Française เป็นตัวตั้งตัวตีในการบูรณะภาพยนตร์เรื่องนี้ ขุดค้นพบฟุตเทจเพิ่มเติม น่าจะใกล้เคียงต้นฉบับดั้งเดิมที่สุดแล้ว แล้วเสร็จสิ้นเมื่อปี 2008 ออกฉาย New York Film Festival ติดตามเทศกาลหนังเมือง Cannes Classics, ปัจจุบันสามารถหาซื้อ/รับชมได้จาก Criterion Collection
ถีงผมจะเข้าใจเหตุผลการเลือกนักแสดง Martine Carol หรือแม้แต่การที่ผู้กำกับ Max Ophüls พยายามกลบปมด้อย/ความไร้สามารถหลายๆอย่างของเธอ แต่มันก็ไม่ประสบความสำเร็จสักเท่าไหร่ ขนาดนักวิจารณ์ชื่อดัง Roger Ebert ยังรู้สีกน่าผิดหวังเพราะการแสดงแข็งทื่อเหมือนไม้ ทำให้หนังสูญเสียโอกาสแห่งความยิ่งใหญ่
Carol was a third-rate actress, and she comes across as wooden, shallow, not even very attractive.
Roger Ebert
มีเพียงโปรดักชั่นงานสร้าง ที่ต้องชมเลยว่าจัดเต็มรายละเอียด ลุ่มลึกล้ำซับซ้อน งดงามระดับวิจิตรศิลป์ และไดเรคชั่นผู้กำกับ Ophüls แสดงอัจฉริยภาพได้อย่างน่าที่งจริงๆ (ปัญหาการดำเนินเรื่อง และนักแสดง เป็นสิ่งไม่สามารถมองข้ามได้จริงๆ)
นี่เป็นหนังสำหรับชาว Feminist ที่จะยกย่องเทิดทูน Lola Montès ในแง่มุมมองสมัยใหม่ ค่านิยมยุคปัจจุบันที่แตกต่างไปจากอดีต, แนะนำกับนักประวัติศาสตร์ แฟชั่นดีไซน์เนอร์ นักออกแบบเสื้อผ้าหน้าผม คนที่หลงใหลการแสดงของคณะละครสัตว์ คอหนังรักโรแมนติก และแฟนๆผู้กำกับ Max Ophüls ไม่ควรพลาดเลยละ!
จัดเรต 15+ กับทัศนคติเปลี่ยนคู่รักไปเรื่อยๆ และการประจานตนเองต่อสาธารณะ
Leave a Reply